The Life and Death of Colonel Blimp

The Life and Death of Colonel Blimp (1943) British : Michael Powell & Emeric Pressburger ♥♥♥♥

ก่อนมาถึงปัจจุบันย่อมมีอดีต ก่อนจะแก่ต้องเคยหนุ่ม ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง คือครั้งที่หนึ่งและก่อนหน้า ประวัติศาสตร์ไม่เคยเสี้ยมสั่งสอนอะไรมนุษย์เลย รังแต่ทำให้ทุกสิ่งอย่างเสื่อมทรามเลวร้ายลง ว่าไปมันก็เป็นแบบนี้มานมนากาเล, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

เรื่องราวชีวิตและความตายของ Colonel Blimp … เดี๋ยวก่อนนะ ใครกัน Colonel Blimp ในหนังไม่มีเอ่ยถึงชื่อนี้สักครั้งเดียว? และตัวเอก Clive Wynne-Candy ถึงตอนจบก็ยังมีชีวิตอยู่!

Colonel Blimp คือชื่อตัวการ์ตูนล้อเลียนของ David Low พบเห็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ London Evening Standard เดือนเมษายน 1934 ลักษณะเด่นคือรูปร่างอันอ้วนท้วน ศีรษะล้าน ไว้หนวดช้างน้ำ (Walrus Mustache) ชื่นชอบพูดประโยค ‘Gad, Sir!’ พบเห็นบ่อยครั้งที่ Turkish Bath ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความโง่เขลา ‘a symbol of stupidity’ ตัวแทนชนชั้นปกครองของประเทศอังกฤษ

แค่ชื่อหนังก็มีใจความล้อเลียน ‘Satire’ จัดหนักเลยกับกองทัพทหารอังกฤษ สร้างขึ้นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ทำการเล่าย้อนไปตั้งแต่ Second Boer War (1899 – 1902) ต่อเนื่องถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914 – 1918) นำเสนอวิวัฒนาการของ Clive Wynne-Candy จากดำรงตำแหน่งจากผู้หมวด (Lieutenant) ไต่เต้าเป็นนายพลจัตวา (Brigadier General) ยศสุดท้ายคือพลตรี (Major General) โลกได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ความคิดอ่านยังโบราณล้าหลังคร่ำครึ เฉกเช่นนั้นประเทศเราจะชนะสงครามครั้งใหม่นี้ได้อย่างไร

นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรขณะนั้น Winston Churchill ทั้งๆน่าจะไม่เคยรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่กลับแสดงความต่อต้าน พยายามล็อบบี้สั่งแบนไม่ให้ออกฉาย คาดการณ์ท่านคงคิดว่า หนังสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนตนเอง (ว่าไปเทียบแค่หุ่นก็คล้ายคลึงอยู่นะ)

Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา เรียนจบที่ Dulwich College ทำงานเป็นนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ตัวว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี 1925 เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926) ของผู้กำกับ Rex Ingram ต้วมเตี้ยมเป็นตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928) และ Blackmail (1929) กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)

Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวะที่ Universities of Prague and Stuttgart ไม่ทันจบต้องออกมาเพราะพ่อเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German จากนั้นกลายเป็นนักเขียน อพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ แอบขึ้นเกาะอังกฤษปี 1935 โดยไม่มี Passport ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric เมื่อตัดสินใจปักหลักอยู่ London

Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger เป็นผู้พัฒนาบทภาพยนตร์, ด้วยความที่ทั้งสองมีนิสัยพื้นฐานตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิทเพราะทัศนคติ แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ถึงขนาดมองตาก็รับรู้อีกฝ่ายครุ่นคิดอะไร ปี 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers มีผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางตัวใครตัวมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์

เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งเขียนบทและกำกับ

ผลงานช่วงแรกๆระหว่าง Powell & Pressburger เนื่องจากคาบเกี่ยวอยู่กับยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จึงมักมีใจความรักชาตินิยม ภาคภูมิในผืนแผ่นดิน สำนึกรักบ้านเกิด จริงๆก็คือแนวชวนเชื่อนะแหละ แต่จะไม่โดดเด่นชัดเจนแบบพวก Triumph of the Will (1935), Listen to Britain (1942) หรือ Why We Fight (1942-45)

แรงบันดาลใจของ The Life and Death of Colonel Blimp ไม่ได้เริ่มต้นเกิดจากผลงานการ์ตูนของ David Low แต่คือซีนหนึ่งที่ถูกตัดออกจากผลงานก่อนหน้า One of Our Aircraft Is Missing (1942) ตัวละครพูดว่า

“You don’t know what it’s like to be old”.

David Lean ขณะนั้นคือผู้ตัดต่อ One of Our Aircraft Is Missing เป็นผู้เสนอแนะให้ Powell นำประโยคนี้ไปพัฒนาขยายต่อเรื่องราว/ภาพยนตร์ ดูแล้วน่าจะไม่ธรรมดาเลยละ

การสร้างภาพยนตร์ในประเทศอังกฤษ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จำต้องนำบทไปเสนออนุมัติผ่านรัฐบาลเสียก่อน ซึ่งเรื่องนี้ได้รับอนุมัติจาก Sir James Grigg ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม (Secretary of State for War) พอความทราบเข้าหูนายกรัฐมนตรี Winston Churchill พยายามล็อบบี้ให้ล้มเลิก แต่ Grigg แสดงความเห็นว่า

“Blimp conception of the Army officer would be given a new lease of life”.

– Sir James Grigg

เรื่องราวของ Clive Wynne-Candy (รับบท Roger Livesey) ผู้บังคับบัญชาการ หน่วยรักษาความสงบภายในประเทศ ‘Home Guard’ ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ออกคำสั่งตระเตรียมการซ้อมรบเวลาเที่ยงคืน แต่กับถูกผู้หมวดหนุ่ม Spud Wilson ฝ่าฝืนเริ่มต้นก่อนเวลา สร้างความรวดร้าวฉานให้อย่างมาก มีเรื่องทะเลาะขึ้นเสียงชกต่อย เป็นเหตุให้เขาครุ่นคิดถึงชีวิตตนเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ย้อนอดีตสู่ Second Boer War หรือ South African War (1899 – 1902), ผู้หมวด Clive ระหว่างคำสั่งพักได้รับจดหมายจากหญิงสาว Edith Hunter (รับบทโดย Deborah Kerr) ทำงานอยู่เบอร์ลิน กล่าวถึงทหารเยอรมันชื่อ Kaunitz แพร่ข่าวลือผิดๆต่อต้านทหารอังกฤษ เขาเลยต้ดสินใจตรงดิ่งไปหา เผชิญหน้า ยุแหย่ เป็นเหตุให้ถูกท้าดวลดาบ ต่อสู้กับ Theo Kretschmar-Schuldorff (รับบทโดย Anton Walbrook) จากคนไม่เคยรู้จัก ผลแพ้ชนะเป็นยังไงไม่รู้ แต่ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนรักสนิทสนม พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลเดียวกัน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914 – 1918), นายพลจัตวา Clive ระหว่างอยู่ในสนามรบที่ฝรั่งเศส มีโอกาสพบเจอพยาบาลสาว Barbara Wynne (Deborah Kerr อีกเช่นกัน) ใบหน้าตาละม้ายคล้าย Edith Hunter หลังสงครามจบออกติดตามหา เกี้ยวพาจนได้แต่งงานครองคู่ หวนกลับมาพบเจอ Theo อีกครั้งเช่นกันในค่ายกักกัน ทีแรกเล่นตัวไม่ยอมคุยด้วย ภายหลังมางานเลี้ยงก่อนเดินทางกลับ แต่แท้จริงกลับเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน

ปี 1939 การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้ Theo ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาสู่เกาะอังกฤษ ทีแรกเกือบไม่ได้เข้าประเทศเพราะลูกๆของเขากลายเป็นนาซี แต่ยังคงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากเพื่อนสนิทตลอดกาล พลตรี Clive พบเจอหญิงสาวอีกคนหน้าตาเหมือน Edith คราวนี้เป็นคนขับรถชื่อ Angela Cannon (Deborah Kerr อีกเช่นกัน) ระหว่างกำลังจะออกรายการให้สัมภาษณ์ ถูกเบรคเพราะเนื้อความมีสาระตื้นเขินเกินไป แม้จะโดนจดหมายสั่งให้รีไทร์ แต่ก็อาสาเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยรักษาความสงบภายในประเทศ ‘Home Guard’ หลังจากเรื่องวุ่นๆครั้งนั้นบังเกิดขึ้น สุดท้ายจะเอายังไงดี ถึงวาระสิ้นสุดหน้าที่การงานของตนแล้วแล้วกระมัง?

เกร็ด: ถึงตัวละคร Clive Wynne-Candy จะไม่ได้อ้างอิงจากบุคคลผู้มีตัวตนใดๆ แต่ก็มีพลโท Sir Douglas Brownrigg (1886-1946) เส้นทางสายทหารใกล้เคียงกับตัวละครนี้มาก เริ่มจากเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกสั่งปลดเกษียณหลังจากเหตุการณ์ Dunkirk แต่เลือกเป็นผู้บัญชาการ Home Guard ซึ่งท่านได้ให้ความช่วยเหลือ เป็นที่ปรึกษาทหาร ‘Military Advisor’ ให้กับหนังอีกด้วย

Roger Livesey (1906 – 1976) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Barry, Wales สำเร็จการศึกษา Westminster City School, London โตขึ้นได้เป็น Understudy ของ Italia Conti จนมีโอกาสแสดงละครเวที West End ออกทัวร์แอฟริกา, New York, ขณะที่ภาพยนตร์สร้างชื่อคือ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946), The Master of Ballantrae (1953), The League of Gentlemen (1960) ฯ

รับบท Clive Wynne-Candy จากทหารหนุ่มผู้ชื่นชอบทำอะไรพละการตามอำเภอใจ ได้รับบทเรียนรอยแผลเป็นที่ริมฝีปากเลยไว้หนวดเครา พอเติบโตขึ้นผ่านสงครามหลายครั้งจนอิ่มหนำอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี ไต่เต้าขึ้นถึงระดับผู้บังคับบัญชาการแล้วถูกลูบคมจากทหารรุ่นใหม่ นี่มันแทบจะย้อนรอยอดีตกรรมที่เคยผ่านมา

ตอนสมัยหนุ่ม Clive ตกหลุมรักหญิงสาว Edith Hunter แต่โดยไม่รู้ตัวเสียสละเธอให้กับเพื่อนสนิทชาวเยอรมัน Theo ขณะเดินทางกลับเพิ่งระลึกได้ก็สายเกินไป ใช้ชีวิตอยู่กับตราบาป ปมแห่งความรวดร้าวระทมใจ จับพลัดพลูสงครามครั้งถัดมามีโอกาสพบเจอ Barbara Wynne ถอดแบบมายังกะแกะ เกี้ยวพาจนขอเธอแต่งงานครองคู่ แต่เมื่อเวลาเคลื่อนผ่านไปอีกหญิงสาวพลันด่วนจากไปก่อน ยามสูงวัยยังไม่วายว่าจ้างคนขับรถสาว Angela Cannon พิมพ์นี้เท่านั้นที่ต้องการข้างกาย

ตอนแรก Powell ต้องการ Laurence Olivier ที่เคยร่วมงานกันเรื่อง 49th Parallel (1941) แต่คาดว่าถูกล็อบบี้โดย Churchill ไม่ยอมปล่อยตัวจากการรับใช้ชาติ ส้มหล่นใส่ Roger Livesey ตอนนั้นสมัครเป็นทหารอากาศแต่อายุเกิน กำลังต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อชาติอยู่พอดี

ถึงรูปลักษณ์ภายนอก ยุคสมัยกาลเวลาจะแปรเปลี่ยนไป แต่ตัวตนสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจกลับยังคงเดิม นี่ถือเป็นตัวละครแทนได้สหราชอาณาจักร ชาวอังกฤษทั้งเกาะเลย แทบทั้งนั้นเป็นผู้ยึดถือมั่นในขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี อดีตเคยยิ่งใหญ่ทำอะไรมา ปัจจุบันก็ยังคงหลงระเริงยึดถือมั่นอยู่แบบนั้น ไม่ค่อยรู้จักพัฒนาปรับปรุงตนเองให้ก้าวทันโลกที่วิ่งหนีไปไหนต่อไหนแล้ว

การแสดงของ Livesey ค่อนข้างอ้างอิงจากละครเวทีมากทีเดียว ดูแข็งกระด้างสักหน่อยแต่ถือว่ามีความเป็น ‘Comic’ ถอดแบบออกจากหนังสือการ์ตูนได้เหมือนมาก โดยเฉพาะตอนสูงวัยเรียกได้เต็มปากคือ Colonel Blimp ประสบพบแต่ความหงุดหงิน ฉุนเฉียว อะไรๆก็ไม่เห็นได้ดั่งใจเหมือนอดีตที่เคยผ่านมา น่ารักสุดๆตอนงอนตุ๊บป่องต้องให้แฟนเพื่อนสนิทหนึ่งเดียวเท่านั้นตามงอนง้อ เอาจริงๆก็ไม่รู้จะสงสาร เห็นใจ หรือสมน้ำหน้าตัวละครนี้ดีนะ

Deborah Kerr ชื่อจริง Deborah Jane Trimmer (1921 – 2007) นักแสดงหญิงสัญชาติ Scottish เจ้าของสถิติเข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 6 ครั้งแต่กลับไม่เคยได้, เกิดที่ Glasgow, Lanarkshire, วัยเด็กฝึกหัดเป็นนักเต้นบัลเล่ต์ แต่ต่อมาหันเอาดีด้านการแสดงมากกว่า เข้าเรียน Hicks-Smale Drama School จบออกมาเป็นมีผลงานละครเวที West End, ภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Contraband (1940) แต่ฉากของเธอถูกตัดออก, เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Life and Death of Colonel Blimp (1943) ตามด้วย Black Narcissus (1947), Quo Vadis (1951), From Here to Eternity (1953), The King and I (1956), An Affair to Remember (1957), The Innocents (1961) ฯ

ในตอนแรก Powell ต้องการ Wendy Hiller ให้รับบทนำ แต่เธอถอนตัวออกไปเพราะกำลังตั้งครรภ์ จากนั้นพบเจอ Kerr ที่แม้วัยจะยังละอ่อนเสียหน่อย เกิดตกหลุมหลงใหลรักใคร่ เชื่อมั่นในอนาคตเธอต้องประสบพบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างแน่นอน เลยมอบหมายให้เหมาเล่นสามตัวละคร

สามบทบาทของ Kerr มองภายนอกไม่แตกต่าง (ดูเหมือนจะอ่อนเยาว์ เด็กลงนะ!) แต่นิสัย ตัวตน ความเฉลียวฉลาด เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง
– Edith Hunter หญิงแกร่งที่พยายามทำตัวหัวขบถ นอกคอก แต่ก็ยังยึดถือมั่นในขนบวิถีธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ตกหลุมรัก Clive แต่มิอาจพูดบอกความรู้สึกออกไปได้ จำใจยอมตามพ่อสื่อ แต่งงานครองคู่อยู่กันกับ Theo
– Barbara Wynne สาวน้อยในกรงที่ใฝ่ฝันอยากแต่งงาน เพื่อจะได้กางปีกโบยบินเป็นอิสระจากครอบครัวเสียที
– Angela Cannon สาวแกร่งที่กล้าครุ่นคิดทำอะไรด้วยตนเอง เลิกสนขนบวิถีธรรมเนียมประเพณีที่เคยมีมา

ส่วนตัวชื่นชอบสุดก็ Edith Hunter มีความกลางๆไม่หัวอ่อนหรือดื้อรันเกินไป สามารถเป็นเพื่อนคู่คิด หยอกล้อเล่นโดยรู้กาละเทศะ แต่มันอาจเพราะเธอคือ ‘รักแรกพบ’ ด้วยกระมัง จึงทำให้ Clive มิอาจตัดใจจากเธอได้

ผมว่า Kerr ดูสนุกหรรษากับการแสดงสามบทบาทนี้อย่างมาก ราวกับได้ปลดปล่อยพละพลังของตนเอง กระทำในสิ่งท้าทาย ความแปลกใหม่ให้กับตนเอง ถ้าสมัยนั้นหนังได้เข้าฉายอเมริกาเร็วๆ เชื่อว่าคงได้มีลุ้นเข้าชิง Oscar: Best Actress เป็นตัวที่ 7 แน่ๆ

Adolf Anton Wilhelm Wohlbrück (1896 – 1967) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่ Vienna, Austria โตขึ้นได้กลายเป็นลูกศิษย์ของ Max Reinhardt การมาถึงของนาซี ทำให้เขาอพยพสู่อเมริกา และไปๆมาๆสลับกับยุโรปช่วงหลังสงครามจบ ผลงานเด่นๆ อาทิ Gaslight (1940), 49th Parallel (1941), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), The Red Shoes (1948), La Ronde (1948), Lola Montès (1955)

รับบท Theo Kretschmar-Schuldorff ทหารเยอรมันผู้จับฉลากได้ดวลดาบประลองกับ Clive Wynne-Candy เสี้ยมสั่งสอนความปากหมาด้วยการกรีดรอยแผลเป็นเข้าเต็มปาก ส่วนตัวเขาเองก็ได้รอยบากที่หน้าผาก พวกเขาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งเดียวกัน ไปๆมาๆสนิทสนมชิดเชื้อกลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนตาย แม้กาลเวลาจะทำให้โลกทัศนคติของ Theo เปลี่ยนไป (เพราะตนเองอยู่ฝั่งเยอรมัน เพื่อนสนิทอยู่ฝ่ายอังกฤษ) สุดท้ายเมื่อแก่ตัวเลยได้รับบทเรียนความพ่ายแพ้ อพยพหลบลี้ภัยสู่อังกฤษ ใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตปักหลักอยู่ที่นั่น

ผมว่าภาพลักษณ์ภายนอกของ Theo ไม่เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าไหร่ ถึงเห็นริ้วรอยตีนกา ผมหงอกขาวโพลน แต่รูปร่าง เค้าโครงใบหน้า หนุ่ม-แก่ยังคงเหมือนเดิม ส่วนภายในจิตใจทั้งสามช่วงเวลาราวกับคนละคน (นี่สะท้อนถึงพัฒนาการของเยอรมัน/มุมมองสงครามที่เปลี่ยนแปลงไป)
– Second Boer War เต็มไปด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี จริงใจ น่านับถือ
– สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กลับกลายเป็นคนปลิ้นปล้อน กะล่อนหลอกลวง ต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง ราวกับอสรพิษ(แต่ไร้เขี้ยวเล็บ)
– สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเริ่มแก่ตัวโดนเฉดหัวส่งออกจากกองทัพ ทนเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ชีวิตจมปลักกับความทุกข์โศก โชคดียังมีเพื่อนสนิทเลยพบเห็นประกายความหวังหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งเจ้าตัวก็พยายามให้ความช่วยเหลือ ตอบแทนในบุญคุณน้ำใจ มิตรภาพแท้ที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน

Walbrook ถือเป็นนักแสดงขาประจำของ Powell & Pressburger ร่วมงานกันถึงสี่ครั้งในผลงานเด่นๆทั้งนั้น เรื่องฝีมือถือว่าจัดจ้าน สมจริง โดดเด่นมากกับ Long Take เล่าเบื้องหลังความในใจขณะให้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ศุลกากร ระหว่างรอคอยการมาถึงของเพื่อนสนิท เชื่อว่าอาจมีคนน้ำตาเล็ดกับฉากนี้ได้เลยละ

ถ่ายภาพโดย Georges Périnal (1897 – 1965) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่น อาทิ Sous les toits de Paris (1930), À nous la liberté (1931), The Private Life of Henry VIII (1933), The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A King in New York (1957) ฯ

ส่วนใหญ่ของหนังสร้างฉากถ่ายทำยัง Denham Film Studios และ Denton Hall, Yorkshire ขณะที่อุปกรณ์ประกอบฉาก ชุดทหาร รถบรรทุก ฯ เพราะ Churchill ไม่เซ็นอนุญาตให้หยิบยืมไปใช้ เห็นว่ามีการลักลอบขโมยเสร็จแล้วส่งกลับคืนแบบไม่มีใครจับได้

แม้สีสันของ Technicolor จะมิได้โดดเด่นระดับ Masterpiece เมื่อเทียบกับ Black Narcissus (1947) หรือ The Red Shoes (1948) และขนาดภาพก็เพียง 1.37 : 1 แต่ก็ยังถือว่างดงาม คลาสสิก และภายหลังการบูรณะฟื้นฟูความสดของสีสันออกมาได้ใกล้เคียงตนฉบับที่สุดแล้วกระมัง

หนังเริ่มต้นด้วยความสนุกสนานเร้าใจ ดนตรีมันๆ พบเห็นทหารขับรถ(ส่งเอกสาร)เลี้ยวแยกซ้ายขวา จบที่คนหนึ่งถูกเชือกขึงทำให้ลื่นไถลล้ม หน่วยนี้มันทำอะไรแปลกประหลาดดีแท้ และต่อมาหลังจากอ่านจดหมาย ‘สงครามเริ่มต้นเที่ยงคืน’ แล้วยังไง สมัยนี้ใครไหนเขาเล่นตามกฎกติกากันเล่า กระทำสิ่งนอกคอก หัวขบถ ไม่เคยมีมาก่อน ควบคุมตัวพลตรี Clive Wynne-Candy ในห้องอาบน้ำ Turkish Bath

วิธีการเริ่มต้นเล่าย้อนอดีต, ตอนแรกผู้ชมจะพบเห็นเพียงด้านหลัง/ศีรษะล้านๆของพลตรี Clive เท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากว่านั่นคือนักแสดงแทน กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนจากอ่างฝั่งหนึ่งมาถึงฝั่งนี้ แล้วอยู่ดีๆผู้หมด Clive วัยหนุ่มแน่น ผมดกดำ กำลังเดินขึ้นจากอ่าง (วินาทีนั้น น้ำพุจะเปิดพอดิบพอดีด้วยนะ)

การเลือกใช้ห้องอาบน้ำ Turkish Bath ไม่เพียงเป็นการล้อเลียนตัวละคร Colonel Blimp (ที่ชื่นชอบอาบน้ำ) แต่ยังสะท้อนสิ่งที่สามารถเชื่อมต่อระหว่าง อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต นั่นคือสายน้ำไหลไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ฉากได้รับการกล่าวขวัญที่สุดของหนัง เมื่อเริ่มต้นการดวลดาบระหว่าง Clive Wynne-Candy กับ Theo Kretschmar-Schuldorff กล้องค่อยๆเคลื่อนขึ้นพบเห็นเอ็ฟเฟ็กหิมะตก Cross-Cutting มายังโมเดลจำลองนี้ สภาพภายนอกโรงยิมเนเซียมที่ใช้ในการประลอง

การตีความฉากนี้คือ ‘Season Change’ ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป, การประลองถือเป็นการกระทำของสุภาพบุรุษ ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรีสองประเทศ ผลแพ้ชนะยังไงไม่รู้ละ แต่ทำให้ชายสองกลายเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนรัก เพื่อนกันจนวันตาย ซึ่งนั่นคงถือเป็นครั้งสุดท้าย เพราะต่อจากนี้เมื่อก้าวย่างสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (และสอง) การดวลดาบได้หมดสิ้นความสำคัญ กลายเป็นอดีตดั่งฤดูกาลผันแปรเปลี่ยนไป ไม่มีวันหวนย้อนกลับคืนมา

Ulysses คือชื่อภาษาละตินของมหากาพย์ Odyssey, ฉากสั้นๆที่พบเห็นในหนังนี้ เมื่อมีรายงานถึง Zeus ว่านางไม้ Calypso ใช้เล่ห์เสน่ห์มารยาต่อ Ulysses/Odyssey กักคุมตัวถึง 7 ปี (คือต้องการให้เขาอยู่กับเธอตลอดกาล) ยังมิได้กลับไปหาลูกเมีย กษัตริย์แห่งโอลิมเปียจึงมีพระราชบัญชาส่ง Hermes ให้ไปเกลี้ยกล่อมจนยินยอมปลดปล่อยตัว

ผมคิดว่าฉากนี้คงเป็นการเปรียบเทียบ Clive Wynne-Candy กับ Ulysses/Odyssey จิตใจถูกพันธนาการกักคุมตัวไว้ มิสามารถครองรักแต่งงานกับ Edith Hunter ที่ตนใฝ่ฝันถึง

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายพลจัตวา Clive Wynne-Candy ระหว่างพยายามหาหนทางกลับกรุง London (จากแนวรบฝรั่งเศส) จนแล้วจนรอดไม่สำเร็จสักที และวินาทีที่เขารับรู้ข่าวสงครามสิ้นสุด คือตอนที่รถส่วนตัวพังกลางทางพอดิบพอดี!

ทั้ง Sequence สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชัดเจนเลยว่าเป็นการจำลองสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ ได้ยินเสียงปืน ระเบิด สู้รบอยู่ไกลๆ แต่จักไม่พบเห็นการต่อสู้ ทหารวิ่งเข้าประจันหน้า เพราะนี่ไม่ใช่หนังแนวนั้น แค่ดำเนินตามติดตัวละครว่าได้พานผ่านพบเจอเรื่องราวอะไรๆก็เท่านั้น

ขณะที่สุภาพบุรุษชาวอังกฤษทั้งหลาย สวมสูท พ่นซิการ์ ยึดถือมั่นด้วยขนบธรรมเนียม จะเทเหล้าต้องวนรอบโต๊ะเสียก่อน แต่สำหรับ Theo มางานเลี้ยงนี้ด้วยความเคลือบแฝงไม่บริสุทธิ์ใจ นั่งตัวตรงหลังแข็งทื่อมองคนพวกนี้ด้วยความสมเพศเวทยา โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วไม่รู้หรืออย่างไร การยังจมปลักอยู่กับกฎกติกาแบบนี้ รังแต่จะรนหาความพ่ายแพ้ในสงครามครั้งถัดไป

มุมกล้องวางบนพื้นโต๊ะ นี่เป็นลักษณะช็อตเรียกว่า เปิดไพ่บนหน้าตัก สงครามในมุมมองชาวอังกฤษก็มีแค่นี้แหละ พวกเขายังหลงระเริงครุ่นคิดว่าคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงตลอดชั่วกาลนาน

ผมชอบความอาร์ทเล็กๆของซีนนี้ เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องสร้างฉากถนนหนทาง สี่แยกไฟแดง รถวิ่งสวนไปมาให้สิ้นเปลือง แค่เป็นการถ่ายทำมุมนี้พบเห็นเฉพาะภายในรถ ขณะกำลังรีบเร่งไม่ให้ติดไฟแดง ก็มีแสงเขียว-เหลือง-แดง อาบใบหน้าตัวละคร .. เอากันง่ายๆแบบนี้เลยนะ!

สถานที่ที่พลตรี Clive Wynne-Candy ถูกลูบคม/กระตุกหนวดเสือ โดนเบื้องบนสั่งห้ามกล่าวสุนทรพจน์ออกอากาศ ทั้งๆตระเตรียมการความพร้อมมาอย่างดี

สังเกตฉากนี้ดูมีความ Modern ยุคสมัยใหม่เป็นอย่างมาก เฟอร์นิเจอร์ของใหม่ทันสมัย โซฟานวม โต๊ะเหล็ก ฯ ผิดกับตัวตนของ Clive ที่ถือว่าเป็นคนโบราณ เฉื่อยชา ล้าหลังไปแล้ว

ความพ่ายแพ้ของพลตรี Clive Wynne-Candy มิสามารถต่อกรกับโลกที่ผันแปรเปลี่ยน ทำให้ถึงกับทรุดลงนั่ง ตนเองแก่ทั้งร่างกายและความคิด ผิดกับเพื่อนสนิทที่ตอนนี้เปิดมุมมองโลกทัศน์ใหม่ๆ และหญิงสาวผู้ยังมีความเยาว์แรกรุ่น

สังเกตบ้านพักของ Clive ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ ผนังเต็มไปด้วย Trophy จากการล่าสัตว์โน่นนี่นั่น ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนของความโบราณ เก่าก่อน ล้าหลัง ตกยุคสมัยไปเรียบร้อยแล้ว

ภาษาอังกฤษจะมีวลี ‘Old Leaf’ แปลว่าคนแก่ สูงวัย ควรที่จะพร้อมผลัดใบให้วัยรุ่นหนุ่มสาวก้าวขึ้นมาแทนที่

การได้พบเห็นใบไม้ดังกล่าวลอยอยู่ในอ่างเก็บน้ำฉุกเฉย อดีตเคยเป็นบ้านพักของตนเองถูกทิ้งระเบิดพอดิบพอดี ทำให้ Clive หวนระลึกถึงคำสัญญาต่อภรรยา Barbara Wynne เกิดความเข้าใจในวิถีแห่งชีวิต เพราะตอนนี้บริเวณนี้กลายเป็นทะเลสาปไปแล้ว ถึงเวลาที่ฉันควรเริ่มต้นเปิดอก เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆได้เสียที

“That’s a promise. You stay just as you are till the floods come. And this is a lake”.

ตัดต่อโดย John Seabourne สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ Sweeney Todd (1936), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), A King in New York (1957) ฯ

หนังทั้งเรื่องเล่าผ่านการย้อนอดีต Flashback ของพลตรี Clive Wynne-Candy จากปัจจุบัน (ประมาณ 1941-42) ค่อยๆไล่ย้อนจาก
– Second Boer War (1899 – 1902)
– สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (1914 – 1918)
– สงครามโลกครั้งที่สอง (เริ่มปี 1939)

เพลงประกอบโดย Allan Gray ชื่อจริง Józef Żmigrod (1902 – 1973) สัญชาติ Polish อพยพย้ายสู่อังกฤษในช่วง Nazi เรืองอำนาจ กลายเป็นขาประจำของ The Archer ในช่วงแรกๆ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) ฯ

ลักษณะของบทเพลงจะมีสองห้วงอารมณ์ หนึ่งเต็มไปด้วยความครึ้กครื้นเครงอลเวง ท่วงทำนองเย้ายวนกวนประสาท เพื่อเป็นการล้อเลียน ‘Satire’ รับอิทธิพลเต็มๆจากการ์ตูน Colonel Blimp, สองคือช่วงเวลารักโรแมนติกหวานแหวว แต่ลึกๆจะมีสัมผัสแห่งความทุกข์โศกเศร้า สูญเสียดาย กับหญิงคนอื่นแม้ภาพลักษณ์ใบหน้าเหมือน แต่ตัวตนจิตใจภายในนั้นแตกต่าง ไม่มีทางแทนที่กันได้

บทเพลงที่เล่นกวนประสาททหารเยอรมัน นำจากโอเปร่าสามองก์ Mignon (1866) ท่อน Je suis Titania (แปลว่า I am Titania) ประพันธ์โดย Charles Louis Ambroise Thomas (1811 – 1896) คีตกวีสัญชาติฝรั่งเศส

สำหรับเพลงคลาสสิกคุ้นหู อาทิ
– Franz Schubert: Symphony #8 in B Minor
– Felix Mendelssohn-Bartholdy: Hebrides Overture (Fingal’s Cave)
– Jacques Offenbach: Can Can Polka
ฯลฯ

The Life and Death of Colonel Blimp นำเสนอวิวัฒนาการของสงคราม มุมมองโลกทัศนคติของคนที่เปลี่ยนแปลง แต่สำหรับชาวอังกฤษแม้ใบหน้า/รูปร่างเหี่ยวแห้งแก่ลง แต่อะไรๆก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เสื่อมคลาย

อะไรกันที่ทำให้ชาวอังกฤษมักเป็นพวกหัวโบราณ คร่ำครึ ยึดถือมั่นในขนบวิถีประเพณีดั้งเดิม? ในทัศนะของผมคือระบอบกษัตริย์ที่ฝังรากฐานมาอย่างยาวนาน เป็นสิ่งช่วยขัดเกลา ปูพื้นฐานจารีตประเพณี และความยิ่งใหญ่จากอดีต British Empire เคยเป็นถึงมหาอำนาจโลก เจ้าของอาณานิคม ครอบครองดินแดนเกือบๆ 1 ใน 4 (ของโลก) ถึงขนาดมีวลี

“ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรวรรดิบริติช”

เพราะความที่เคยเป็นมหาอำนาจโลก นั่นมักสร้างความเย่อหยิ่ง จองหอง ‘หลงตัวเอง’ ครุ่นคิดว่าคงไม่มีใคร/ชาติไหน สามารถโค่นล้มทำลาย ประเทศของเรามีความยิ่งใหญ่ตลอดกาลตราบชั่วฟ้าดินสลาย ก็จนกว่าจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือพบความพ่ายแพ้เข้ากับตนเองอย่างจังงัง ถึงค่อยรับล่วงรู้ว่าถึงเวลาต้องรีบวิ่งติดตาม ใครจะไปคาดคิด โลกยุคสมัยนั้นนี้อะไรๆก้าวกระโดดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเกินวิสัย

อะไรกันที่ทำให้โลกก้าวกระโดดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้? มีด้วยกันสองอย่างคือองค์ความรู้ และเทคโนโลยี, นี่ถือเป็นผลพลอยได้จากทำตัวเองของประเทศมหาอำนาจ(นิคม) เพราะการมีจักรวรรดิอันกว้างใหญ่ไพศาล นำพาความเจริญของตนเองมุ่งสู่ดินแดนยากไร้ห่างไกล ทำให้จากคนเถื่อนเริ่มมีสติปัญญาสามารถรู้เท่าทัน จนถึงจุดๆหนึ่งก็พร้อมแสดงความขบถ ต่อต้าน ตีตนออกห่าง

สงครามคือบทเรียนของผู้พ่ายแพ้ ให้รู้จักพัฒนาตนเอง ครุ่นคิดค้นหาวิธีการใหม่ๆ ครั้งต่อไปจักได้พลิกกลับมาคว้าชัย, แต่สำหรับผู้ชนะ มักถูกครอบงำด้วยโลกทัศน์ ศักยภาพของพวกฉันดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แค่เท่านี้ก็เพียงพอให้สงครามครั้งถัดไปสามารถคว้านำชัย ประดับ Trophy เต็มข้างฝาผนังต่อได้!

อดีตสงคราม/ความขัดแย้ง ต่อสู้กันด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี ลูกผู้ชาย ความตายเพื่อชาตินั้นทรงคุณค่า แต่เกิดอะไรขึ้นกับสงครามโลกครั้งที่สอง เต็มไปด้วยความเลวร้าย อัปลักษณ์ ชั่วช้าสามาลย์ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์? คำตอบคงต้องพูดถึงอุดมการณ์ของนาซี การปลุกปั่นของ Adolf Hitler กล่าวอ้างถึงเชื้อชาติพันธุ์ ชาว German มีความแข็งแกร่ง สูงศักดิ์ น่าภาคภูมิใจ ตรงกันข้ามกับชาว Jews ต่ำต้อย ชั่วช้าเลวทราม สมควรเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้หมดสูญสิ้นไป

สรุปสั้นๆของ World Wars 2 มันคือ สงความแห่งความ’เกลียดชัง’ ด้านมืดชั่วร้ายเลวทรามที่สุดของมนุษย์ อาจเกิดขึ้นเพราะความพ่ายแพ้ของชนชาติเยอรมัน สะสมมาหลายครั้งติดๆ สร้างความอึดอัดอั้นทุกข์ทรมาน นี่ประเทศฉันตกต่ำต้อยขนาดนั้นเลยหรือ การมาของ Hitler ปลุกระดมสร้างความภาคภูมิใจ โยนขี้ให้อีกกลุ่มหนึ่งตกเป็นเหยื่อของความโกรธเกลียดเคียดแค้น

องค์ความรู้ เทคโนโลยี เป็นสิ่งพัฒนาก้าวกระโดดขึ้นเรื่อยๆทุกครั้งเมื่อเกิดสงครามต่อสู้รบ แต่ความเจริญทางวัตถุมักสวนทางกับจิตใจ มันชัดเจนเลยว่าการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง คือจุดตกต่ำของคุณธรรม/มนุษยธรรม เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่นั่นใช่ถึงที่สุดแล้วจริงๆนะหรือ

สิ่งที่ The Life and Death of Colonel Blimp ชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตระหนักถึง ในโลกที่กำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เราควรวางทำตัวแสดงออกเช่นไร? หยุดอยู่นิ่งเฉย ยึดถือมั่นในศักยภาพองค์ความรู้ที่มีอยู่ ปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างเคลื่อนหมุนดำเนินไป หรือค่อยๆปรับตัวร่ำเรียนรู้ พัฒนาตนเอง เปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ ก้าวย่างตามให้ทันเทรนด์นำแฟชั่น

ตอนออกฉาย หนังไม่ได้ถูกโจมตีแค่จาก Winston Churchill แต่ยังโดนข้อครหาในการแสดงความเห็นอกเห็นใจทหารเยอรมัน พวกชาตินิยมสุดโต่งตั้งชื่อหัวข้อบทความ The Shame and Disgrace of Colonel Blimp เรียกหนังว่า

“The most disgraceful production that has ever emanated from a British film studio”.

ถึงกระนั้นตอนออกฉายได้รับความนิยมล้นหลาม ทำเงินสูงอันดับ 4 แห่งปีในประเทศอังกฤษ

ความที่รัฐบาลอังกฤษไม่พึงพอใจหนังสักเท่าไหร่ เลยพยายามกีดกันห้ามนำออกฉายต่างประเทศ จนกระทั้งหลังสงครามโลกสิ้นสุด แต่ต้องแลกกับการถูกตัดตอน จากต้นฉบับ 163 นาที หลงเหลือมาถึงสหรัฐอเมริกา 150 นาที และฉบับโทรทัศน์ความยาวเพียง 90 นาทีเท่านั้น

เมื่อปี 1985, The Life and Death of Colonel Blimp ถูกนำออกฉายซ้ำ Re-Release ได้รับการประเมินคุณค่าใหม่ ยกย่องล้นหลามในงานภาพสีสันสดใส การแสดงอันเลิศหรู และอาจเป็นภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษยอดเยี่ยมที่สุด

“may be the greatest English film ever made”.

– Anthony Lane นักวิจารณ์จากหนังสือพิมพ์ The New Yorker

บุคคลผู้เป็นตัวตั้งตี ฟื้นฟูบูรณะภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Martin Scorsese สมัยเด็กคงมีโอกาสรับชมฉายโทรทัศน์ เมื่อโตขึ้นกลายเป็นผู้กำกับประสบความสำเร็จ สนิทสนมนักตัดต่อขาประจำ Thelma Schoonmaker (ภรรยาหม้ายของผู้กำกับ Powell) ทำการระดมทุน ออกติดตามค้นหาฟีล์มเก่าๆของ The Archers ประสบความสำเร็จในการบูรณะออกฉายใหม่ พฤศจิกายน 2011 กลายเป็น DVD & Blu-Ray โดย Criterion Collection

Raging Bull (1980) คือผลงานของ Marty ที่รับอิทธิพลจากหนังเรื่องนี้ไปพอสมควร โดยเฉพาะการเพิ่มน้ำหนักของ Robert De Niro เห็นว่าได้มีโอกาสสนทนาพูดคุย รับประทานอาหารเย็นร่วมกับ Michael Powell สอบถามถึงสมัยนั้นทำอย่างไร ซึ่งได้คำตอบเกิดจากการแต่งหน้า Special Effect Make-Up แต่หลักๆคือนักแสดง ท่วงท่า เคลื่อนไหว ทำอย่างไรให้เหมือนคนอ้วน นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนผอมสามารถลอกเลียนแบบได้โดยง่ายๆ (คุ้นๆว่าสุดท้าย De Niro เพิ่มน้ำหนักเองเลยนะครับ ไม่ได้ใช้การแต่งหน้าหรือสวมใส่ชุดยาง)

มีสามสิ่งที่ผมประทับใจหนังเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
1) การแสดงของ Deborah Kerr รักเลยเธอคนนี้ ชอบสุดก็บทบาท Edith Hunter
2) มิตรภาพระหว่าง Clive Wynne-Candy กับ Theo Kretschmar-Schuldorff มั่นคงไม่เคยเสื่อมคลาย แม้อีกฝ่ายจะแปรสภาพเป็นอะไรฉันไม่สน สุดท้ายเลยต้องยอมความกับจิตใจที่แสนดีงาม
3) วิวัฒนาการของสามสงคราม ที่ทำให้เห็นว่าโลกเรานี้มีแต่จะเลวร้ายลงทุกวี่วัน

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เมื่อโลกหมุนแปรเปลี่ยน กาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน ทำอย่างไรให้ตัวเราไม่กลายเป็นแบบ Clive Wynne-Candy ที่ค่อยๆแปรสภาพสู่ Colonel Blimp ชายแก่อ้วนท้วนเทอะทะ หัวโบราณ ชาตินิยม จมอยู่ในโลกของตนเอง

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สนใจประวัติศาสตร์ สงครามในมุมมองประเทศอังกฤษ, หลงใหลงานภาพสีสันสวยสด และคลั่งไคล้การแสดงของ Deborah Kerr

จัดเรต 13+ กับสงคราม และความหัวโบราณคร่ำครึ

TAGLINE | “The Life and Death of Colonel Blimp คือภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนของชาวอังกฤษ ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: