The Life of Oharu

The Life of Oharu (1952) : Japan – Kenji Mizoguchi

Oharu จะว่าเธอเป็นผู้หญิงโชคร้ายที่สุดในโลกก็ว่าได้ ทั้งชีวิตเธอต้องการแค่ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตกับคนที่เธอรัก แต่โชคชะตากลับเล่นตลกกับเธอได้สุดๆเลย จากผู้กำกับ Kenji Mizoguchi นำแสดงโดย Kinuyo Tanaka หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เพื่อเตือนสติสำหรับคนที่คิดว่าชีวิตตัวเองไร้ค่า ไม่มีอะไรดี การดูหนังเรื่องนี้มันจะทำให้คุณรู้สึกชีวิตฉันไม่มีทางโชคร้ายไปกว่า Oharu เป็นแน่

คนที่ศึกษาประวัติของผู้กำกับ Kenji Mizoguchi จะรู้เลยว่า หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากชีวิตของเขาเอง ตัวละคร Ohara มากจากพี่สาวของเขา ที่ถูกพ่อขายให้เป็น geisha เพื่อใช้หนี้ แต่เชื่อว่าชีวิตของพี่คงไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดในหนัง เนื้อหาส่วนใหญ่มาจาก The Life of an Amorous Woman ของ Ihara Saikaku เป็นเรื่องราวของหญิงสาวลูกขุนนางคนหนึ่ง ที่เคยได้เป็นเมียน้อย (Concubine) ของ Daimyo แต่เพราะความต้องการของเธอ ทำให้ชีวิตตกต่ำไปเรื่อยๆจนกลายเป็นโสเภณี ในญี่ปุ่นมีชื่อเรียกสำหรับนิยายแนวนี้ว่า Ukiyo (Floating World) มันก็ไม่เชิงเป็นนิยาย 18+ นะครับ ออกไปทางนิยายสอนหญิงมากกว่า

Kinuyo Tanaka เธอเป็นนักแสดงของประจำของ Mizoguchi ที่ปรากฏตัวในหนังเขาถึง 14 เรื่อง บท Oharu ในหนังเรื่องนี้ทำให้เธอกลายเป็นนักแสดงเจ้าบทบาท ที่สามารถเล่นบทอะไรก็ได้ เราจะได้เห็น Oharu ในทุกแง่มุมของการแสดง ทั้งสุข เศร้า เหงา ทุกข์ ส่วนใหญ่จะไปทางทุกข์มากกว่า ในหนังมีคนนับว่า Oharu เป็นลม ทั้งหมด 3 ครั้ง มีบทความที่เขียนวิเคราะห์ทำไมเธอถึงเป็นลม เพราะมันเป็นอาการของร่างกายและจิตใจที่ยอมแพ้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อเธอลุกขึ้นทุกครั้ง ก็จะมีภูมิต้านทานที่แข็งแกร่ง ทำให้เธอสามารถต่อสู้อุปสรรคและมีชีวิตอยู่จนแก่ตายได้ ตัวละครนี้ไม่ใช่เธอไม่เคยยอมแพ้นะครับ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นเธอท้อแท้ หมดหวังในชีวิต พร้อมจะฆ่าตัวตาย แต่ก็มีเหตุการณ์ บางอย่างเกิดขึ้นเสมอที่ทำให้เธอทำไม่สำเร็จ เราอย่ามองตัวละครนี้ในมุมเดียวแค่เข้าใจว่าเธอเป็นเสนียดที่ทำให้ผู้ชายโชคร้ายเท่านั้นนะครับ ขณะที่เธอลุกขึ้นตอบสู้กับมัน วิธีการและแนวคิดคือสิ่งที่สำคัญมากๆ และนี่คือเหตุผลที่ผมจัดให้หนังเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมเห็นในเครดิตมี Toshiro Mifune ด้วย ผมมองหาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องก็ไม่เจอ เช็คในเครดิตดูพบว่าเขาคือผู้ชายที่เป็นรักแรกของ Oharu (พี่แกทำทรงผมแบบนี้ จำไม่ได้เลย) การแสดงของพี่แกคล้ายๆช่วงหนึ่งใน Rashomon เลย (สงสัย Mizugochi เลือก Mifune มาด้วยเหตุผลนี้) ในหนังเรื่องนี้ ตัวละครผู้ชายถือว่าไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ ถือเป็นนักแสดงรับเชิญเท่านั้น แต่มีที่ดังๆเพียบ ผมจำหน้าได้หลายคนเลย อาทิ Takashi Shimura, Ichiro Sugai พ่อของ Oharu ผมจำได้จากหนัง Stray Dog (1949), Daisuke Katō เล่นเป็นชายโปรยเงิน ผมจำหน้าได้จาก Seven Samurai, Toshiaki Konoe เล่นเป็น Daimyo ก็หน้าคุ้นๆ

ถ่ายภาพโดย Yoshimi Hirano และ Yoshimi Kono ตั้งแต่หลังสงครามโลก ผมรู้สึก Mizoguchi เปลี่ยนทีมงานหนังสร้างยกชุดแทบทุกเรื่อง อย่างตากล้อง คงเพราะเขาต้องหาคนที่สามารถถ่ายภาพได้ดังใจที่เขาต้องการ The Life of Oharu เป็นหนังที่ Mizoguchi ตั้งใจทำมากๆ เราจึงเห็นฉากสวยๆมากมาย เช่น ตอนต้นเรื่องที่มีการเลื่อนกล้องเดินตามตัวละครอย่างช้าๆ ที่เรียกว่า scroll shots, มีมุมกล้องแปลกๆ อาทิ ภาพถ่ายจากมุมสูง กล้องอยู่บนชั้น 2 ถ่ายลงมาติดคานเห็นตัวละครอยู่ชั้นล่าง, การถ่ายภาพระดับสายตาขณะตัวละครนั่งอยู่บนเสื่อ Tatami ฉากนี้คงได้อิทธิพลมาจากหนังของ Yasujiro Ozu ฉากที่ผมชอบที่สุดคือตอนจบ ที่กล้องคล่อยๆเคลื่อนตาม Oharu เธอเดินไปเคาะประตูบ้านหลังแรกเปิดมาให้เงิน หลังที่สองไม่เปิด หลังที่สามเปิดประตูมาแล้วขับไสไล่ส่ง จากนั้นเธอเดินเข้าหากล้อง Oharu กลายเป็นแม่ชีไปแล้ว ฉากนี้คือบทสรุปของหนังที่สวยงามมากๆ

ตัดต่อโดย Toshio Gotō เขาเคยตัดต่อหนังเรื่อง Sanshiro Sugata (1943) เป็นหนังกำกับเรื่องแรกของ Akira Kurosawa สำหรับ The Life of Oharu ถือว่ามือการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างช้า ช่วง 10 นาทีแรกนี่อืดมาก เป็นการปรับอารมณ์คนดูให้เข้ากับจังหวะหนัง เปิดเรื่องด้วยการนำภาพ Oharu ในวัย 50 ที่ชีวิตตกต่ำ แก่แล้วยังเป็นเดินหาลูกค้า (Streetwalker) จากนั้นจึงเริ่มเล่าย้อนตั้งแต่จุดเริ่มต้น ผมไม่ได้ลองนับนะครับว่า Oharu ผ่านผู้ชายมากี่คน มันเยอะเสียจนลำบากใจที่จะนับ แต่ละคนก็เปรียบได้กับ 1 เรื่องราวที่ไม่ซ้ำกัน ครั้งหนึ่งเป็นคนรวย, ครั้งหนึ่งเป็นคนจน, ครั้งหนึ่งเป็นคนที่รักเธอ, ครั้งหนึ่งเป็นคนที่ไม่รักเธอ ฯ มันมีเยอะจนครั้งหนึ่งผมมองเวลาและตั้งคำถาม หมอนี้จะอยู่ได้สักกี่นาที … (ตอนหัวขโมยฉุด Oharu) ปรากฏว่าเรื่องนี้จบโดยไม่ถึงนาทีเท่านั้น!

เพลงประกอบโดย Ichirō Saitō เห็นว่าได้รางวัล Best Film Score จาก Mainichi Film Concours 1953 หนังใช้เครื่องดนตรี tradition ทั้งหมด เราจะได้ยินเสียงกรีดพิณอยู่เรื่อยๆ เป็นการสร้างบรรยากาศให้รู้สึกตื่นเต้น ลุ้นระทึก และเสียง chorus ที่เหมือนเสียงสวดมนต์ ฟังแล้วอึดอัด โหยหวน ราวกับตัวละครกำลังอยู่ในนรก และกำลังหาทางหนีเอาตัวรอดอย่างไม่คิดชีวิต เสียงร้อง chorus สื่อถึงทางเลือกตอนจบที่ Oharu เลือกด้วย

ถ้าคุณคิดว่าตัวเองโชคร้ายสุดๆ ลองหา The Life of Oharu มาดูนะครับ ผมเชื่อว่าคุณจะพูดไม่ออกแน่ๆถ้าได้เจอกับความโคตรซวยระดับมหากาพย์ของ Oharu ผู้ชายที่คบหาหรือชอบเธอทุกคน มักจะมีอันเป็นไปที่ ถ้าไม่ตายก็จะเจ็บตัวอย่างหนัก หนังไม่พยายามเล่าออกมาให้รู้สึกว่านี่เป็นหนัง 18+ นะครับ มันออกไปทางผู้หญิงที่ไม่สมหวังในรักแท้ มีบางครั้งที่หาเจอ แต่ฟ้าดินก็กลั่นแกล้งไม่ให้เธอสมหวังนานนัก อย่าไปโทษฟ้าดินเลยนะครับ โทษผู้กำกับ Mizoguchi ดีกว่า ที่เขาพยายามยัดเยียดความโชคร้ายสุดๆให้กับตัวละครนี้ เพื่อให้เธอไปถึงจุดที่เชื่อว่า การไม่รักใครเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด ทั้งต่อตัวเธอเองและคนรอบข้าง

หนังเรื่องนี้ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า Mizoguchi ต้องศึกษาหลักศาสนาเป็นแน่ เพราะเราจะเห็นสอดแทรกมา ฉากในวัด รูปปั้นพุทธรูป (ที่ญี่ปุ่นรูปปั้นมักจะเป็นตัวแทนของพระเจ้า) แม่ชี พระสงฆ์ และเพลงประกอบที่เหมือนเสียงสวดมนต์ เหล่านี้เพื่อสร้างบรรยากาศให้ตัวละครมองหาสิ่งที่เป็น “สุขแท้” แต่นี่ไม่ใช่หนังศาสนานะครับ เป็นหนัง Period Drama ที่นำเสนอความยากลำบากในการมีชีวิตที่เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะผู้หญิงญี่ปุ่นในยุคหนึ่ง เธอแค่ต้องการแสวงหาความสุขเพื่อตนเอง แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้หญิงยุคนั้นต้องเดินตามหลังผู้ชายเท่านั้น สังคมเชื่อว่า ผู้หญิงที่ต้องการความสุขเพื่อตนเองคือคนชั้นต่ำ โสเภณี geisha เป็นแค่ที่ผ่อนคลายทางใจเท่านั้น ตอนจบ Oharu เลยรู้ตัวว่า ชีวิตเธอไม่อาจมีความสุขในแบบที่เธอต้องการได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือ ทางสายกลาง ไม่รักใคร และไม่ต้องรอให้ใครรัก เหมือนกับการเคาะประตูบ้านแล้วมีทั้งคนให้เงิน(ให้ความรัก) ไม่สนใจ และขับไล่ (รังเกียจ)

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ที่โตแล้วทุกคนนะครับ ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกเยอะที่พอได้ยินว่านี่เป็นหนังเกี่ยวกับโสเภณี ก็จะกระบิดกระเบี้ยวหาข้ออ้างไม่ดู นี่คือหนังที่ผมแนะนำว่า “ต้องหามาดูให้ได้ก่อนตาย” เพราะเราจะได้เข้าใจเหตุผลของพวกเธอมากขึ้น ผมไม่คิดว่าจะมีใครอยากทำงานแบบนั้นนะครับ แต่เหตุผลของ Oharu เป็นสิ่งที่เธอไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ (พ่อขายเธอให้เป็น geisha) ดูแล้วอย่าไปซ้ำเติมเธอนะครับ ที่ผมอยากให้เห็นคือวิธีการที่ Oharu สามารถเอาตัวรอดมีชีวิตจนแก่ได้ ตอนจบคือคำตอบที่ผมเชื่อว่าชาวพุทธคงเข้าใจได้ จัดเรต 13+ นะครับ ถึงเป็นเรื่องโสเภณี แต่ผมคิดว่าวัยรุ่นดูได้ ดีด้วย พวกเขาน่าจะได้แนวคิดในการใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไปแน่ๆ

คำโปรย : “The Life of Oharu อีกหนึ่ง masterpiece จาก Kenji Mizoguchi นำแสดงโดย Kinuyo Tanaka อย่าเพิ่งยอมแพ้ถ้าคิดว่าตัวเองโชคร้าย ไม่มีใครในโลกที่จะซวยได้มากกว่า Oharu อีกแล้ว”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบLOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: