The Little Mermaid

The Little Mermaid (1989) hollywood : Ron Clements, John Musker 

เงือกสาวน้อยอาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่แต่เหมือนอยู่ในตู้ปลา มีความฝันที่จะได้เห็นแสงสว่าง อาศัยอยู่บนบก ร่วมกับมนุษย์ เธอได้ทำในสิ่งที่ไม่มีชาวเงือกคนไหนคาดคิดมาก่อน!, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ เหตุที่ไม่เคยดูมาก่อนเพราะคิดว่าเป็นแนวคล้ายๆ Shojo เรื่องของหญิงสาว (ตัวเอกเป็นผู้หญิง) มันคงไม่เหมาะเท่าไหร่ถ้าชายหนุ่มแมนๆจะรับชมเรื่องของสาวๆ แต่แล้วก็พบว่าตัวเองคิดผิดถนัด! ผมหยิบอนิเมชั่นเรื่องขึ้นนี้มา เพราะได้เห็นคะแนนวิจารณ์ของ Roger Ebert ที่ให้ 4 ดาวเต็ม แสดงว่ามันต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ และพอได้หลวมตัวดู ก็ตกหลุมรักหลงใหลตั้งแต่ประมาณครึ่งชั่วโมงแรก

มันมีมนต์เสน่ห์บางอย่างของการผจญภัย ที่แม้เป็นเรื่องของหญิงสาว แต่เด็กชาย/ชายหนุ่ม ก็สามารถเกิดความประทับใจได้ คล้ายๆกับ Nausicaä of the Valley of the Wind (1984), คิดว่าเพราะความห้าวหาญที่ไม่เกรงกลัวต่ออันตราย อุดมการณ์ความตั้งใจอันแนวแน่ ทำให้เงือกสาวดูเหมือนผู้ชาย (สาวห้าว) และประเด็น Feminist ที่แอบแฝงใส่มาแบบเนียนๆ ผู้หญิงก็มีสิทธิ์เลือกได้ (คือเรื่องนี้ นางเอกจีบพระเอก เกี้ยวพาราสี แถมช่วยชีวิตเขาไว้ด้วย) เด็กชายหนุ่มเห็นแล้วจึงเกิดความประทับใจลึกซึ้งในตัวเธอ

เอาว่าถ้าคุณเป็นผู้ชาย แล้วคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่อาจเหมาะกับตน ลองเสียเวลาหามาดูสักครึ่งชั่วโมงนะครับ ไม่แน่คุณอาจตกหลุมรักเรื่องนี้เหมือนผมก็ได้

The Little Mermaid เป็นโปรเจคที่อยู่ในแผนความตั้งใจของนาย Walt Disney มาตั้งแต่ยุคแรกๆ (ช่วงปลายยุค 1930s) เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นนิทาน/เทพนิยายของ Hans Christian Andersen แต่ไม่เคยได้รับการสร้างเสียที คงเพราะการวาดภาพใต้น้ำมีความยากท้าทายค่อนข้างมาก ซึ่งนาย Disney ได้ทำการทดลองกับ Pinocchio (1940) ผลลัพท์ไม่เป็นที่พึงพอใจเท่าไหร่ จึงตัดสินใจรอให้เทคโนโลยีต่างๆพัฒนาขึ้นพร้อมเสียก่อน เก็บขึ้นหิ้งรอไว้จนลืมไปแล้ว

ปี 1985, Ron Clements เกิดความสนใจดัดแปลงสร้าง The Little Mermaid ขณะกำลังทำอนิเมชั่นเรื่อง The Great Mouse Detective (1986) ร่วมกับ John Musker ได้เขียน Treatment ส่งให้ผู้บริหารดิสนีย์ Jeffrey Katzenberg พิจารณา, ทีแรก Katzenberg ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เพราะขณะนั้นสตูดิโอกำลังเตรียมสร้างภาคต่อของ Splash (1984) ภาพยนตร์ Live-Action ที่เกี่ยวกับนางเงือก … แต่มันคนละสื่อกันเลย วันรุ่งขึ้นถัดมา Katzenberg คงคิดได้เลยไฟเขียว อนุมัติให้สร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้

ปี 1987, นักแต่งเพลงชื่อ Howard Ashman กับ Alan Menken ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมสร้างโปรเจคนี้ ทั้งสองเป็นคู่หูนักแต่งเพลงชื่อดังของ Broadway ที่พอเข้ามาก็นำเสนอแนวคิดหนังเพลงคล้ายๆกับการแสดง Broadway ใช้บทเพลงขับเคลื่อนเล่าเรื่องราว นี่เป็นสิ่งที่ Disney ห่างหายไปนานนับตั้งแต่นาย Walt Disney เสียชีวิต (คือช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อนิเมชั่นของดิสนีย์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ Musical) ซึ่งได้รับการตอบรับจากสองผู้กำกับเป็นอย่างดี, ต้องถือว่าการเข้ามาของ Ashman กับ Menken ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสตูดิโอ Walt Disney เลยละ

The Little Mermaid ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุค Disney Renaissance (1989-1999) หลังจากทำภาพยนตร์อนิเมชั่นกำไรบ้างขาดทุนบ้างมาหลายเรื่องนับตั้งแต่นาย Walt Disney และ Roy O. Disney เสียชีวิตในปี 1966 และ 1971 (ตามลำดับ), การฟื้นฟูที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการปฏิวัติรูปแบบภาพยนตร์อนิเมชั่น ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างในเรื่องราวที่(อาจ)คุ้นเคย และวิธีการนำเสนอที่ใช้บทเพลงดำเนินเรื่องกลายเป็น Musical Animation นับจากนี้แทบจะไม่มีอนิเมชั่นของสตูดิโอ Disney ที่ขาดทุนอีกต่อไปแล้ว

ภาพยนตร์อนิเมชั่นในยุค Disney Renaissance ประกอบด้วย The Little Mermaid (1989), The Rescuers Down Under (1990), Beauty and the Beast (1991), Aladdin (1992), The Lion King (1994), Pocahontas (1995), The Hunchback of Notre Dame (1996), Hercules (1997), Mulan (1998) และ Tarzan (1999)

เกร็ด: ในยุค Disney Renaissance มีจุดเด่นของการเปลี่ยนแปลงอีก 2 อย่าง ที่ยังไม่เห็นใน The Little Mermaid คือ
1) การเข้ามาของคอมพิวเตอร์ประมวลผล CAPS (เริ่มต้นจาก The Rescuers Down Under)
2) การให้นักแสดงดาราดัง พากย์เสียงตัวละคร (เริ่มต้นจาก Aladdin)

The Little Mermaid ถือว่าเป็นอนิเมชั่นวาดมือลงสีบนเซล (Tradition Animation) เรื่องสุดท้ายของ Disney ก่อนที่จะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผล CAPS เข้ามาช่วยในกระบวนการสร้าง (Rendered) อย่างจริงจัง, กระนั้นก็มีการทดลองใช้เครื่อง CAPS Prototype ครั้งแรกในอนิเมชั่นเรื่องนี้เช่นกัน อาทิ สร้างโมเดลซากเรือจำลองสามมิติเพื่อใช้เป็นแบบ, ปราสาทของ Prince Eric ฯ

สิ่งที่ยากและเสียเวลาสุดของอนิเมชั่นใต้น้ำเรื่องนี้ คือฟองอากาศ (Bubble) ที่ประมาณการณ์ว่ามีกว่า 1 ล้านวง ซึ่งต้องใช้ศิลปินจำนวนมาก ถึงขนาดมีการต่อดาวเทียม ว่าจ้างให้บริษัทผลิตอนิเมชั่นของจีนที่ปักกิ่ง (Pacific Rim Productions) ช่วยกันทำงานจนเสร็จ, ลองสังเกตดูนะครับ แทบทุกขณะที่ตัวละครขยับ เคลื่อนไหว ปากพูด จะต้องมีฟองน้ำเกิดขึ้น เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใต้น้ำ

ตัวละคร Princess Ariel (พากย์เสียงโดย Jodi Benson) ในต้นฉบับของ Hans Christian Andersen เป็นนางเงือกสุดท้องที่ 7 ของ King Triton กับ Queen Athena เป็นหญิงสาวหัวรั้น ไม่ชอบทำตามคำสั่งของใคร (โดยเฉพาะพ่อ) ชื่นชอบการสำรวจ อยากรู้อยากเห็น มีความกล้าหาญที่จะคิดทำสิ่งแตกต่าง แม้หลายครั้งจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์รุนแรง แต่ก็เอาตัวรอดได้ทุกครั้ง

ผมค่อนข้างชื่นชอบตัวละคร Ariel อย่างมาก แม้คนรอบข้างจะมองว่าคือเด็กเจ้าปัญหา แต่เธอมีความกล้าที่จะทำตามความตั้งใจของตนเอง, แลกกับการเป็นมนุษย์ แม้จะมีความเสี่ยงที่อาจถูกกลั่นแกล้งหลอกลวง แต่เธอมองเป็นความตื่นเต้นสนุกสาน ชีวิตคงน่าเบื่อถ้าไม่มีความท้าทายอะไรเลย

Prince Eric (พากย์เสียงโดย Christopher Daniel Barnes) เจ้าชายที่เรืออับปางแล้วได้รับการช่วยเหลือจาก Ariel เขาจดจำใบหน้าของหญิงสาวไม่ได้ แต่น้ำเสียงของเธอตราประทับในจิตใจ

หน้าที่ของเจ้าชายคือหาหญิงสาวครองรักแต่งงาน แต่ล่องเรือข้ามมหาสมุทรก็แล้ว ยังไม่พบใครถูกใจ, คงเเป็นความประทับใจต่อใครคนหนึ่งช่วยชีวิตเขาไว้ รับรู้ได้ยินเป็นเสียงหญิงสาว จึงใคร่ใฝ่เห็น เธอคงคือนางในฝันเป็นแน่

King Triton (พากย์เสียงโดย Kenneth Mars) พ่อของ Ariel ถือสามง่ายคล้าย Poseidon เจ้าทะเล เป็นคนมีความเข้มงวดและจงเกลียดจงชังมนุษย์

ประเด็นการดูถูกเหยียดหยาม (Racist) แม้จะเบาบางลงในยุคสมัยหลังการเสียชีวิตของนาย Walt Disney แต่ก็ยังมีเห็นอยู่ในอนิเมชั่นหลายๆเรื่อง, เหตุผลที่ King Triton จงเกลียดจงชังมนุษย์ อธิบายว่าเพราะพวกเขาไม่เคารพธรรมชาติ ป่าเถื่อน อันตราย ซึ่งเป็นการมองเหมือนว่า เผ่าพันธุ์เงือกสูงศักดิ์กว่ามนุษย์ แต่การอาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรมีนัยยะถึงอาศัยอยู่เบื้องล่างต่ำกว่าพื้นดิน ก็ไม่รู้แบบนี้ใครจะสูงต่ำกว่ากัน

Ursula (พากย์เสียงโดย Pat Carroll) แม่มดทะเล (Sea Witch) หนึ่งในตัวร้ายที่ได้รับการยกย่องว่ามีมิติและน่ากลัวที่สุดในจักรวาลของ Disney มีครึ่งล่างเป็นปลาหมึก (แต่มีหนวด 6 เส้นไม่ใช่ 8) ได้แรงบันดาลใจมาจาก Harris Glenn Milstead นักแสดง นักร้อง ที่เป็นกระเทย (drag queen) มีชื่อในวงการว่า Divine

คงเป็นนิสัยขี้อิจฉาหลงตัวเอง ทำให้ Ursula เข้าหาศาสตร์มืด ชื่นชอบการชักจูงหลอกลวงให้หนุ่มสาวหลงเดินทางผิด คิดว่าทางลัดจะทำให้พวกเขามีความสุข แต่เธอจักพยายามหาทางให้พวกเขาพบเจอแต่ความทุกข์

Ariel ตกหลุมรักแรกพบกับ Eric มีความต้องการเป็นกลายมนุษย์ ถูกชักจูงโดย Ursula ให้ทำสัญญาแลกเปลี่ยน น้ำเสียงของเธอกับการเป็นมนุษย์ 3 วัน แล้วถ้าได้จุมพิตเจ้าชายจะกลายเป็นมนุษย์ถาวร ถ้าไม่ก็จะกลายเป็นทาสถูกสูบพลังวิญญาณออกไป

ผมชอบสัญญา ‘น้ำเสียง’ นี้มากๆ ไม่ใช่ในความตื่นเต้นท้าทายที่ต้องลุ้นว่า Ariel จะจุมพิต Eric ได้ยังไงโดยไม่พูด แต่เสียงคือสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างกายกับใจ (กาย-วาจา-ใจ) คำพูดมักเป็นสิ่งแทนความต้องการและความรู้สึก กับภาษากายถือว่าเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ภาษาใจนั้นลึกล้ำยากจะหยั่งรู้ได้

บทเพลงที่ดีต้องค่อยๆ สร้างบรรยากาศ, Kiss the Girl ขับร้องโดย Samuel E. Wright นี่ไม่ใช่บทเพลงเพราะที่สุดของหนัง แต่มีความตื่นเต้น ลุ้นระทึก Ariel กับ Eric จะได้จุมพิตกันหรือไม่ เมื่อบรรยากาศเสียงเพลงพร้อม ที่เหลือก็แค่ …

แนวเพลงนี้คือ Calypso Pop (มีส่วนผสมทั้ง Reggae กับ Ska) มีต้นกำเนิดจาก Trinidad and Tobago ประเทศแถบทะเล Caribbean ฟังแล้วรู้สึกอยากไปทะเล

มีอีกเพลงหนึ่งที่ Samuel E. Wright ขับร้อง เป็นแนว Calypso เหมือนกัน, Under the Sea นี่เป็นเพลงที่ได้ Oscar, Golden Globe, Grammy ชีวิตใต้ท้องทะเลแสนสุขสันต์ ทำไมต้องโหยหาความเดือดร้อนใส่ตัวเองด้วยการขึ้นไปบนผิวน้ำ … Sebastian ร้องเพลงนี้เพื่อพยายามสอนบอก Ariel แต่เธอฟังเสียที่ไหน

บทเพลงที่ผมชอบที่สุด Part of Your World ขับร้องโดย Jodi Benson เป็นบทเพลงที่ Ariel แสดงความต้องการออกมาว่าอยากจะเป็นมนุษย์, เพลงนี้ได้รับการเปรียบเทียบคล้ายๆกับ Over the Rainbow จาก The Wizard of Oz (1939) ที่ตัวละครของ Judy Garland วาดฝันถึงโลกที่อยู่หลังสายรุ้ง, แถมชะตากรรมทั้งสองเพลงคล้ายกันด้วย คือเกือบถูกตัดออกจากฉบับออกฉาย แต่โปรดิวเซอร์ดื้นรั้นหัวแข็งต้องใส่ไว้ เลยอยู่รอดกลายเป็นหนึ่งในเพลงฮิต

สองสามเพลงที่ผมเลือกมานี้ รู้สึกคุ้นหูทั้งนั้น (ทั้งๆที่ไม่เคยดู The Little Mermaid มาก่อนนะ) สงสัยเพราะแนวดนตรี Reggie/Ska ทำนองมีความคุ้นเคยอย่างมาก ได้ยินแล้วอยากไปเที่ยวทะเลเหลือเกิน ถือว่าเป็นสัมผัสที่ให้บรรยากาศเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ฟังสบายรื่นหู เข้ากับเรื่องราวชิลๆใต้ท้องทะเลเป็นที่สุด

ใจความของอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือการเปิดโลกทัศน์ตนเอง สอนให้มีความกล้า เป็นตัวของตนเอง แต่ไม่ใช่ว่าตามใจฉันแบบไม่ต้องฟังคนอื่น คือต้องสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ใคร แบบนั้นอยากจะทำบ้าบิ่นอะไรก็คงไม่มีใครต่อว่า

ช่วงไคลน์แม็กซ์ Ursula แสดงความโกรธเกรี้ยว ขยายร่างกายใหญ่โต บันดาลให้ฟ้าฝนลมพายุคลั่ง เป็นการแสดงอำนาจบาดใหญ่ (หลงตัวเอง) ทั้งที่ศัตรูของเธอตัวเล็กกระจิดริด, ความพ่ายแพ้เกิดจากถูกซากเรืออับปาง (ที่เธอเสกให้ลอยขึ้นมา) พุ่งเข้าชนที่ท้อง นี่คือการย้อนเข้าตัวพ่ายแพ้เพราะตนเอง

ด้วยทุนสร้าง $40 ล้านเหรียญ ถือว่าเพิ่มขึ้นจากเรื่องก่อนๆเกือบเท่าตัว แม้ไม่ได้มีการคาดหวังจะประสบความสำเร็จ แต่กลับกลายเป็นว่าเป็นอนิเมชั่น Blockbuster เรื่องแรกที่ทำเงินเกิน $100 ล้านเหรียญ, ในอเมริกาทำเงินได้ $84.4 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั่วโลก $211.3 ล้านเหรียญ

เข้าชิง Oscar 3 สาขา ได้มา 2 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Music, Original Score ** ได้รางวัล
– Best Music, Original Song (Under the Sea) ** ได้รางวัล
– Best Music, Original Song (Kiss the Girl)

เหตุผลที่ผมหลงรักอนิเมชั่นเรื่องนี้ คิดว่าเพราะตัวละคร Princess Ariel ที่มีเสน่ห์อันน่าหลงใหล รอยยิ้มอันเย้ายวนชวนให้…เตลิดไปไกล ชื่นชมในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีความต้องการที่ชัดเจนและเป็นตัวของตนเอง, ผมรู้สึกว่าผู้หญิงที่น่าสนใจควรเป็นแบบนี้ คือกล้าคิดกล้าทำ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เป็นเท้าช้างหลังตามผู้ชายตลอดเวลา แต่ต้องมีความพอดีไม่ใช่เอาแต่ใจมากไป (จริงๆ Ariel ถือว่ามีนิสัยเอาแต่ใจมากๆ แต่เฉพาะกับคนที่ไม่เข้าใจตัวตนแท้จริงของเธอถึงจะมองแบบนั้น)

เสียอย่างเดียวตอนจบเว่อเกินไปหน่อย แต่ก็พอให้อภัยได้, ที่ไม่กลายเป็นเรื่องโปรดเพราะช่วงท้ายนี่แหละ ไม่น่าให้เจ้าชายถูกสะกดจิตเลย มันคงยอดเยี่ยมกว่าถ้าให้เขาเลือกระหว่าง หญิงสาวไร้เสียงที่ค่อยๆตกหลุมรัก กับผู้หญิงที่มีเสียงในความฝันของเขา (และถ้าตัดสินใจเลือกหญิงสาวไร้เสียง เรื่องราวจะสมบูรณ์แบบที่สุด)

แนะนำกับคออนิเมชั่นของ Disney ภาพสวย เพลงเพราะ เนื้อเรื่องเยี่ยม แฝงข้อคิด, ชื่นชอบนิทานก่อนนอนของ Hans Christian Andersen

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กๆ (ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นผู้หญิง) อนิเมชั่นเรื่องนี้จะทำให้พวกเขาเปิดโลกทัศน์ กล้าที่จะคิดทำ ค้นหาสิ่งใหม่ๆ

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทั้งครอบครัว

TAGLINE | “The Little Mermaid ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็สามารถตกหลุมรักได้ สวยงาม บรรเจิด คลาสสิก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: