The Lobster (2015) : Yorgos Lanthimos ♥♥♥♡
โลกที่ทุกสิ่งอย่างมีความสุดโต่งไร้กึ่งกลาง ชายโสดมีระยะเวลา 45 วัน ในการค้นหาคู่ครองถูกต้องตามวิถีทางกฎหมาย มิเช่นนั้นจะถูกทำอะไรสักอย่างให้กลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน! แต่เรื่องของความรักหาใช่จะมาเร่งรีบบีบบังคับ จับแพะชนแกะ เพนกวิ้นและหมาป่าย่อมมิอาจครองคู่
ผลงานโกอินเตอร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชาวกรีก Yorgos Lanthimos หลังแจ้งเกิดระดับนานาชาติเรื่อง Dogtooth (2009) ตัดสินใจอพยพย้ายบ้านมาปักหลักตั้งถิ่นฐานยังประเทศอังกฤษ ใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะเรียนรู้ปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่ จุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโลกทัศน์ มุมมองความคิด สร้างภาพยนตร์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดูสิว่าฉันจะสามารถไต่ปีนเขาได้สูงสุดระดับไหนกัน
ความสุดโต่งในผลงานของ Lanthimos เฉกเช่นเดียวกับเป้าหมายชีวิต(ของเขา) เพื่อค้นหาขอบเขตความเป็นไปได้ โดยมุ่งศึกษาตัวตน สภาวะทางจิต สันชาติญาณแสดงออก และปล่อยอิสระให้ผู้ชมครุ่นคิดตัดสินต่อเองว่าคือสิ่งดี-ชั่ว ถูก-ผิด เหมาะสมประการใด
The Lobster เป็นภาพยนตร์ที่ท้าทายความครุ่นคิด โลกทัศนคติของผู้ชม คนสามารถดูรู้เรื่องมักตกหลุมรักคลั่งไคล้ อคติส่วนใหญ่เกิดจากบรรยากาศอึมครึม ไร้ซึ่งมนุษยธรรม และพฤติกรรมอันป่าเถื่อนรุนแรง
ผู้ชมส่วนใหญ่คงพบเห็นคำถามของหนังแค่เพียง ‘มนุษย์จำเป็นต้องมีคู่ครองแต่งงาน ด้วยหรือ?’ แต่เราสามารถขยายใหญ่และย่อหดแนวคิดดังกล่าวได้กับ
– ระดับมหภาค: ประเทศชาติจำเป็นต้องมีกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ขนบวิถีธรรมเนียมสังคม ด้วยหรือ?
– ระดับจุลภาค: คนเราจำเป็นต้องทำตามเสียงเพรียกเรียกร้องของหัวใจ กิเลสตัณหาราคะ ด้วยหรือ?
เฉกเช่นเดียวกับ Dogtooth (2009) มุมมองของผมเองและผู้ชมส่วนใหญ่ ล้วนเกิดจากทัศนคติโลกเสรี เมื่อพบเห็นเรื่องราวเต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อบังคับ แลดูอึดอัดคับข้องใจ! ตรงกันข้ามใครมีชีวิตอยู่ในสังคมเผด็จการ คงเชิดชูยกย่องเรียกอุดมคติเลยก็ว่าได้
จริงๆการเรียกภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า Dystopian ผมว่าไม่ถูกเท่าไหร่นะ เพราะมันคือมุมมองทัศนคติฝั่งโลกเสรีเสียมากกว่า กล่าวคือถ้ามองฝั่งสังคมเผด็จการ พวกเขาอาจเรียกสิ่งทั้งหลายในหนังนี้ว่า Utopian เลยก็ยังได้!, ความคิดเห็นผู้กำกับ Lanthimos ใช้คำเรียกว่า ‘Contemporary World’ ดูจะตรงกว่ามาก
“I don’t even see utopias and dystopias as very, very clearly different places. I think that dystopias sometimes really come from trying to create a kind of utopia, and so I find that these things are very much connected, and it is difficult to see the line between them”.
– Yorgos Lanthimos
Georgios ‘Yorgos’ Lanthimos (เกิดปี 1973) ผู้กำกับสัญชาติกรีก เกิดที่ Pangrati, Athens อาศัยอยู่กับแม่จนเธอเสียชีวิตเมื่อเขาอายุ 17 ปี ร่ำเรียนการตลาดแล้วเปลี่ยนมาสาขาภาพยนตร์ เริ่มต้นทำงานโฆษณา Music Video กำกับละครเวที ทดลองสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก My Best Friend (2001), เริ่มมีชื่อเสียงจาก Kinetta (2005) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Thessaloniki, และแจ้งเกิดระดับนานาชาติกับ Dogtooth (2009)
หลังเสร็จจาก Alps (2011) ผู้กำกับ Lanthimos มีความแน่วแน่ที่จะสร้างภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเป็นลำดับถัดไป เลยตัดสินใจอพยพย้ายมาอยู่กรุงลอนดอน
“I made three films in Greece in a very particular way because that was the only way they could be made. And after the third film I understood I had to start making English-language films, because that was the only way I could progress and evolve and have more choices on certain things”.
จุดเริ่มต้นของ The Lobster เกิดจากการพูดคุยสนทนากับนักเขียนขาประจำ Efthymis Filippou ถึงความจำเป็น ข้อดี-ข้อเสียของมนุษย์ที่ต้องมี ‘ความสัมพันธ์’
“We as a society seem to downgrade those who are not in a relationship with someone. We also talked about the complicated process that people go through in order to be with someone, and we became interested in the trauma and fear that are involved in this process”.
เกร็ด: Lanthimos เมื่อตอนเริ่มพัฒนาบทหนังได้แต่งงานกับ Ariane Labed (นักแสดงรับบท แม่บ้านโรงแรม) ขณะที่ Filippou ยังครองตนเป็นโสด
แนวคิดเริ่มต้นมีเพียง ‘ถ้าคุณเป็นคนโสด ต้องไปยังโรงแรมเพื่อหาคู่ครอง’ จากนั้นสรรค์สร้างโลกทั้งใบเพื่อรองรับ ปรับแต่งทุกสิ่งอย่างให้มีความสอดคล้องด้วยการสังเกตการณ์จากชีวิตจริงรอบข้าง และใส่ตัวละครมีความเป็นกลาง รายล้อมบุคคลที่มีทัศนคติสุดโต่ง จะสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยไปได้ไกลเพียงใด
“It’s about exposing aspects of human life and situations and thoughts that you have. Hopefully people watching will start thinking themselves about those things and come up with their own answers. Whatever we have observed in our behaviour and the way we have constructed this world, we want to make people wonder whether all of those things are true.”
หลังนำโปรเจคไปพูดคุยกับโปรดิวเซอร์ สรรหางบประมาณได้จาก MEDIA funding องก์กรจัดหาทุนสร้างสื่อแห่งสหภาพยุโรป แม้ปริมาณไม่เยอะนักแต่ได้รับอิสรภาพให้การสรรค์สร้างผลงานอย่างเต็มที่
“For some reason I guess people wanted me to prove myself in English-language films”.
สรุปแล้วโปรดักชั่นของหนังคือ Irish-UK-Greek-French-Dutch, ถ่ายทำ: Ireland, ตัดต่อ: อังกฤษ, ใส่สียง: Netherland และ VFX: ฝรั่งเศส
เรื่องราวของ David (รับบทโดย Colin Farrell) หลังจากภรรยาหายตัวไปกับชายคนอื่น ถูกควบคุมตัวส่งยังโรงแรมแห่งหนึ่ง ผู้จัดการอธิบายว่าเขามีเวลา 45 วัน ในการค้นหาคู่ครองใหม่ มิเช่นนั้นจะถูกส่งตัวเข้าห้องลับ แปรสภาพกลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซ
กฎอื่นๆของโรงแรม ประกอบด้วย
– ห้ามช่วยเหลือตนเองไม่ว่าวิธีการใดๆ
– ทุกวันต้องถูกกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ โดยแม่บ้านของโรงแรม
– สมาชิกต้องเข้าร่วมงานเลี้ยง งานเต้น และรับชมการแสดงชวนเชื่อ เรื่องความจำเป็นต้องมีชีวิตคู่
– กิจกรรม/กีฬายามว่างของคนโสดเข้าร่วมได้ จะมี กอล์ฟ, Squash ฯ ส่วนกิจกรรม/กีฬาที่ต้องเล่นสองคน เทนนิส วอลเล่ย์บอล ฯ สงวนไว้สำหรับคนมีคู่เท่านั้น
– กิจกรรมล่าคนโสด (มีคำเรียกว่า Loner) ด้วยปืนยาสลบ ถ้าสามารถยิงถูกศัตรูจะได้รับเวลาพักอาศัยในโรงแรมเพิ่ม ต่อคนละ 1 วัน
– เมื่อคู่รักใดตกลงปลงใจ จะถูกย้ายไปยังห้องคู่ระยะเวลา 2 สัปดาห์ และถ้าถูกชะตากันจริงๆจะได้โบนัสอาศัยบนเรือยอร์ชอีก 15 วัน ก่อนส่งตัวกลับสู่เมืองใหญ่
Colin James Farrell (เกิดปี 1976) นักแสดงสัญชาติ Irish เกิดที่ Castleknock, Dublin ตั้งแต่เด็กวาดฝันเป็นนักร้องแต่ Audition ไม่ผ่าน หลังจากรับชมภาพยนตร์ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) หลั่งน้ำตาให้ Henry Thomas เลยมุ่งมั่นต้องการเป็นนักแสดง เข้าเรียน Gaiety School of Acting ลาออกหลังจากได้รับคัดเลือกแสดงซีรีย์ Ballykissangel (1996-2001), ภาพยนตร์เรื่องแรก The War Zone (1999), เริ่มมีชื่อเสียงกับ Minority Report (2002), Phone Booth (2003), S.W.A.T. (2003), Alexander (2004), The New World (2005), In Bruges (2008), Crazy Heart (2009) ฯ
รับบท David การสูญเสียคนรักทำให้เขาตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าโดยปกติต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งสำหรับทำใจ แต่โลกใบนี้มีกฎระเบียบคู่รัก เลยถูกส่งตัวไปพำนักยังโรงแรมแห่งนี้ แล้วต้องหาคู่ครองใหม่ให้ได้ใน 45 วัน นั่นหาใช่เรื่องง่ายสำหรับเขาเลยสักนิด!
ผู้กำกับ Lanthimos มีความชื่นชอบประทับใจ Farrell มาตั้งแต่ In Bruges, The New World, Total Recall ฯ แต่สิ่งที่ทำให้เลือกมารับบทนำ เกิดจากบุคลิกตัวตนจริงๆ พบเห็นจากบทสัมภาษณ์และตอนพบเจอหน้าพูดคุยกันครั้งแรก
“I like the various qualities that he [Farrell] has as an actor, as a person. When I see him speaking in interviews, I see how smart he is, what a great sense of humor he has”.
แม้ Farrell เป็นนักแสดงที่มีความสามารถสูง แต่โชคชะตาของเขาคล้ายๆ Nicolas Cage พานผ่านอะไรแย่ๆมามาก คือถ้าได้อยู่ในบทบาท/เรื่องราวที่ใช่ ผลลัพท์ก็จักออกมาดีเลิศประเสริฐเลยละ
สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องชมผู้กำกับ Lanthimos คัดเลือก Farrell ได้เหมาะสมทั้งภาพลักษณ์การแสดง ลงทุนเพิ่มน้ำหนัก 40 ปอนด์ (=18.14 กิโลกรัม) แค่พุงย้วยก็เรียกเสียงหัวเราะลั่น จากนั้นคือความอ้ำอึ้งทึ่ง เวิ้งว้างว่างเปล่า เพราะไม่อยากกลายเป็นสัตว์เลยเร่งรีบร้อน ทำในสิ่งไม่มีใครครุ่นคิดคาดถึง เกิดความผิดพลาดพลั้งไปเสียหมด, แต่จี๊ดสุดคือครึ่งหลัง ขณะกำลังนั่งฟังกีตาร์ ถาโถมกอดจูบใส่ตัวละครของ Rachel Weisz ไม่รู้หรือไงมันผิดสังเกต ใครๆย่อมมองออกว่าพวกเขาคลั่งรักกันจริง
เชื่อว่าหลายคนที่ดูหนังไม่เข้าใจ หัวเราะไม่ออก ไม่รู้ว่าขำยังไง นี่คือลักษณะของตลกร้าย Black Comedy อาจต้องใช้ประสบการณ์ชีวิต ครุ่นคิดตาม หรือเคยพบเจอเรื่องราวลักษณะเดียวกัน มันจะอยู่ดีๆเจ็บจี๊ดแทงใจดำ จากนั้นเกิดรอยยิ้มแย้มเสียงหัวเราะหึๆ … ด่าเหี้ยในใจ (ผมว่าถ้าดูหนังรอบสองสามขึ้นไป น่าจะพอสังเกตถึงความผิดแผกแปลกกว่าชาวบ้านของตัวละคร นั่นคือสิ่งที่สร้างความขบขันได้มากทีเดียว)
Rachel Hannah Weisz (เกิดปี 1970) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Westminster, London พ่อเป็นชาว Hungarian แม่เชื้อสาย Austria ทั้งคู่อพยพหนีนาซีสู่อังกฤษช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง, ครอบครัวเลี้ยงดูแบบอิสระ อายุ 14 ได้เป็นนางแบบโมเดลลิ่งแต่ยังไม่ใคร่สนใจรับงานการแสดง เข้าเรียนวิจิตรศิลป์ Trinity Hall, Cambridge จบเกียรตินิยมอันดับสอง จากนั้นเข้าสู่วงการโทรทัศน์ ภาพยนตร์เรื่องแรก Death Machine (1994), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Mummy (1999), คว้า Oscar: Best Supporting Actress เรื่อง The Constant Gardener (2005), The Fountain (2006), The Lobster (2015), Disobedience (2017) ฯ
รับบทหญิงสายตาสั้นไร้นาม อาศัยเอาตัวรอดในป่าอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย แต่โดยไม่รู้ตัวพบเจอตกหลุมรักแรกพบ David ด้วยสาเหตุสายตาสั้นเหมือนกัน ให้ความช่วยเหลือเขา พูดคุย โรแมนติก จนเริ่มอยากอยู่ติดกัน วางแผนตัดสินใจหวนกลับไปใช้ชีวิตเมือง แต่อุปสรรคอยู่ที่หัวหน้าใหญ่ Loner Leader (รับบทโดย Léa Seydoux) คอยอิจฉาริษยารับไม่ได้ เลยกระทำสิ่ง…
Weisz แม้มีความชื่นชอบในบทแต่ก็มีความลังเลพอสมควร เพราะเธอพานผ่านตัวละครลักษณะคล้ายๆกันนี้มาหลายครั้ง สุดท้ายก็มิอาจหักห้ามใจตนเองตอบตกลง เพราะประทับใจความบิดเบี้ยวใน Dogtooth (2009) ใคร่อยากร่วมงานกับ Lanthimos
บทบาทของ Weisz แม้มีเพียงมิติเดียวเท่านั้นคือสนองสันชาติญาณตนเอง แต่เสียงพูดบรรยายเล่าเรื่องที่มีความซื่อตรงไปตรงมาเหมือนเด็กน้อยอ่านหนังสือ และเคมีเข้าขาแทบจะกลืนกินกับ Farrell สร้างเสน่ห์ให้ใครๆตกหลุมรักใคร่ สงสารเห็นใจเมื่อถูกหลอกตาบอด วาดฝันตอนจบอันเป็นสุข … แต่ก็ไม่จำต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปนะ
Léa Hélène Seydoux-Fornier de Clausonne (เกิดปี 1985) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Passy, Paris พ่อแม่หย่าร้างตอนเธออายุสามขวบ เติบโตท่ามกลางความโดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่รายล้อมด้วยเพื่อนๆศิลปินหลากหลาย โตขึ้นเลยเกิดความสนใจด้านการแสดง ทีแรกวาดฝันเป็นนักร้องโอเปร่า เข้าศึกษายัง Conservatoire de Paris ก่อนเปลี่ยนมาโรงเรียนสอนการแสดง Les Enfants Terribles, ภาพยนตร์เรื่องแรก Girldriends (2005), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Beautiful Person (2008), โกอินเตอร์ Inglourious Basterds (2009), Robin Hood (2010), Mission: Impossible – Ghost Protocol (2011), Blue Is the Warmest Colour (2013), Spectre (2015) ฯ
รับบทผู้นำคนโสด (Loner Leader) มีความหัวขบถต่อกฎระเบียบ ขนบวิถีทางสังคม อาศัยอยู่ในป่าคอยซุ่มดักทำร้าย วางแผนทำบางสิ่งอย่างเพื่อตอบโต้ ทำลายภาพลวงตาที่มนุษย์มีให้กับความรัก แต่ลึกๆคงอิจฉาริษยา ทำไมฉันถึงไม่พบเจอคนตกหลุมรักใคร่กับเขาบ้างสักครา
ภาพลักษณ์ของ Seydoux คือนางอิจฉาในละครน้ำเน่า! หัวขบถ ก้าวร้าว ปากอ้างอุดมการณ์ แต่ลึกๆโหยหาบางสิ่งอย่างตรงกันข้าม ตอบโต้ด้วยอารมณ์มากกว่าหลักการ ดีหรือร้ายก็ขึ้นกับมุมมองผู้ชมตัดสินเอง
การพูดภาษาฝรั่งเศสของตัวละครนี้ เพื่อสะท้อนแนวคิด ‘Contemporary World’ ไม่จำเพาะเจาะจงว่าพื้นหลังเกิดขึ้น ณ ประเทศใด เชื้อชาติ สนทนาภาษาอะไร
โดยปกติแล้วไดเรคชั่นของ Lanthimos จะต้องมีการซักซ้อมตระเตรียมการแสดงล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3-4 สัปดาห์ แต่เรื่องนี้เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ แถมนักแสดงระดับนานาชาติจัดหาคิวว่างตรงกันไม่ค่อยได้ ด้วยเหตุนี้ก็ได้เท่าไหร่เท่านั้น เชื่อมั่นในทักษะประสบการณ์ของพวกเขาอย่างเต็มที่
“I was very fortunate that they, as well as other cast members, responded so strongly to the script. I tried to create an environment of trust with the cast on set, and I think they responded to that trust”.
ถ่ายภาพโดย Thimios Bakatakis ตากล้องชาวกรีก ขาประจำของ Lanthimos ร่วมกันตั้งแต่ Kinetta (2005)
สถานที่ถ่ายทำหลักๆคือประเทศ Ireland ประกอบด้วย
– โรงแรม, ภายในถ่ายทำที่ The Eccles Hotel, Glengarriff, County Cork ส่วนฉากภายนอกยัง Parknasilla Hotel, Sneem, Country Kerry
– ฉากในป่า, ถ่ายทำที่ Dromore Wood Nature Reserve, Country Clare
– และเมือง, ถ่ายทำที่กรุง Dublin
หนังถ่ายทำโดยใช้แสงจากธรรมชาติแทบทั้งหมด และมีการปรับโทนสีหลักๆคือ น้ำเงิน, เขียว, แดง เห็นว่าเพื่อให้กลมกลืนเข้ากับสีของ Lobster (เลือดสีน้ำเงิน เปลือกสีแดง) มอบสัมผัสอันแห้งแล้ง รุนแรง เปราะบาง ช่างดูไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย
ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นมาด้วยวันอากาศครึ้มๆ เต็มไปด้วยเมฆหมอกฝนตกปอยๆ หญิงสาว … คาดว่าคือภรรยาของ David ลงจากรถไปยิงสัตว์ตัวหนึ่ง (ลา หรือเปล่า?) เปรียบเทียบแล้วน่าจะคือสามีของเธอเองนั่นแหละ อยากเข่นฆ่าทำร้ายให้ตาย เพื่อจะได้หลบหนีไปคบชู้หาผัวใหม่ใส่แว่นเหมือนกัน
ในโลกที่ไม่สามารถมีอะไรครึ่งๆกลางๆ เคยมีสัมพันธ์กับผู้ชายอยากได้ Bisexual แต่ถูกบีบให้เลือกระหว่าง Homosexual กับ Heterosexual อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกันกับไซส์รองเท้า ปกติใส่ 44.5 แต่ทางโรงแรมมีให้เลือกเพียง 44 กับ 45 (แล้วพี่แกไปหาไซส์ 44.5 ใส่จากไหนกันว่ะ?)
ห้องพัก 101 ของ David ความประทับใจแรกคือเลือกช่วงเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ฝั่งตรงข้ามตึก (ก็ไม่รู้สายหรือบ่ายนะ) แสงสาดส่องผ่านหน้าต่างจึงน้อยนัก โดยรอบจึงมีความมืดมิดแผ่ปกคลุม สะท้อนจิตใจอันหมองหม่นของตัวละคร
กิจกรรมการล่า Loner ด้วยข้ออ้างสามารถเพิ่มจำนวนวันพักอาศัยในโรงแรมแห่งนี้ คงเป็นนัยยะเปรียบเทียบถึงการต่อสู้แข่งขันเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด เลียนแบบสรรพสัตว์กินเนื้อ จำต้องฆ่าตัวอื่นให้ตายเพื่อตนเองอิ่มท้องเอาตัวรอด
หนังมีช่องโหว่หนึ่งที่ค้างคาไว้ ถูกยิงสลบแล้วเกิดอะไรขึ้นต่อ? นำเข้าห้องแปลงร่าง? หรือมีกติการะยะเวลาอาศัยในโรงแรมจะลดลงหรือเปล่า?
เมื่อตอนเจ้าของโรงแรม (รับบทโดย Olivia Colman) เข้ามาอธิบายโน่นนี่นั่นให้ David รับฟัง เจ้าหมาน้อย (ชื่อ Bob) จะทำการเห่าหอนอยู่นั่น สร้างความน่ารำคาญอยู่ไม่น้อย แต่นั่นย่อมมีนัยยะแฝงซ่อนเร้นอยู่แน่นอน เปรียบเทียบคำพูดของตัวละครไม่ต่างอะไรจากเสียงเห่าหอน มันช่างฟังไม่รื่นหู น่ารำคาญเสียจริง
สำหรับการล็อกกุญแจมือ สื่อถึงล่ามโซ่แบบสัตว์ ตรงๆเลยนะครับ
ครั้งแรกของกิจกรรมล่า Loner นำเสนอแบบสโลโมชั่น เคลื่อนไหวช้าเนิบจนแทบจับเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ได้สักเท่าไหร่, ปกติการใช้เทคนิคนี้เพื่อเน้นย้ำ สร้างความสำคัญ โชว์อ๊อฟ VFX แต่ในบริบทนี้เหมือนให้ผู้ชมเกิดความอกสั่นขวัญแขวน หายใจไม่ทั่วท้อง มีเวลาครุ่นคิดจินตนาการ นี่มันเกมล่าบ้าบอคอแตกอะไรใช้มนุษย์เป็นเหยี่อ
มีสามเหตุการณ์ชวนเชื่อ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ใช้การตัดสลับไปมาอย่างมีชั้นเชิง
– แม่บ้านโรงแรมนั่งตักโยกไปมาให้ ทำให้ David หลั่งน้ำอสุจิเกิดความผ่อนคลาย แรงกระตุ้นชวนเชื่อให้มีภรรยาแล้วจะสุขสำราญพึงพอใจ
– กิจกรรมชวนเชื่อบนเวที ชาย: รับประทานอาหารคนเดียวแล้วติดคอ, หญิง: เดินที่เปล่าเปลี่ยวอาจโดนฉุดข่มขืน
– การลงโทษ Robert (รับบทโดย John C. Reilly) แอบไปช่วยตัวเองเลยถูกนำมือจับใส่เครื่องปิ้งขนมปัง
John (รับบทโดย Ben Whishaw) ต้องการจีบสาวเลือดกำเดาไหล สถานที่คือสระว่ายน้ำ ดำผุดดำว่ายระหว่างจิตสำนึก-จิตใต้สำนึก ถ้าฉันต้องการเอาตัวรอดจากสถานที่แห่งนี้ ระหว่างพูดความจริง-โกหก แบบไหนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงกว่า
เช่นเดียวกันกับตอนที่ David ได้ครองคู่(ชั่วคราว)กับหญิงสาวไร้หัวใจ ในอ่างอาบน้ำที่กำลังพ่นฟองปุ๊ๆ เขากำลังหลบซ่อนตัวตนอยู่ภายใต้ เพราะแท้จริงแล้วแค่อาการอ้ำอึ้งคาดคิดไม่ถึง ไม่รู้จะให้ความช่วยเหลือยังไงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเสียมากกว่า … ก่อนรับรู้ว่าเธอมาหลอกฉัน! (ย้อนแย้งเข้าคู่กันดีนักแล)
ผมว่าหลายคนอาจฉงนสงสัย ไม่เข้าใจกับช็อตนี้แน่ๆว่าต้องการสื่อถึงอะไร … เพื่อนสนิทของหญิงเลือดกำเดาไหลที่เหลือเวลาวันสุดท้าย หลังจากตกลงกับเจ้าของโรงแรมว่าจะดูภาพยนตร์เรื่อง Stand By Me (1986) นี่คือสิ่งเกิดขึ้นกับเธอวันถัดมาหลังจากเข้าห้องกลายเป็นสัตว์ น่าจะคือลูกม้ากระมัง เห็นทรงผมสีทองสวยๆเหมือนกัน
ทำไมถึงตบหน้าเพื่อนรัก? ผมว่าเธอรังเกียจอาการสะดีดสะดิ้ง โลกสวยของหล่อนเสียมากกว่า ได้ดีแล้วมาทำแสร้งเห็นใจ ข้างในคงว่างเปล่าไม่รู้สึกอะไรอย่างแน่นอน เช่นนั้นค่ำคืนสุดท้ายของชีวิตขอโดดเดี่ยวลำพัง Stand By Me ยังดีกว่า!
“relationship cannot be built on a lie”.
เอาจริงๆก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะ! บางครั้งอาจเริ่มต้นที่การโกหก แต่เมื่อแปรสภาพเป็นรักจริง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ย่อมสามารถยินยอมรับเข้าใจและให้อภัยกันได้
ว่าด้วยห้องเปลี่ยนร่าง (Transformation Room) นี่คือสัญลักษณ์ของอำนาจ/เทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมปกครองมนุษย์ให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบแบบแผนทางสังคม สร้างความหวาดสะพรังกลัวให้คนที่ไม่อยากตาย กลายเป็นเดรัจฉาน หรือจะมองว่าถูกลดระดับชนชั้น ไม่ได้รับการยอมรับเป็นมนุษย์ เสมอภาคเท่าเทียมกันอีกต่อไป
เกร็ด: รูปภาพวาดในโรงแรมแห่งนี้ เห็นว่าคือดอกไม้ทั้งหมด (แม้ในห้องพัก ข้างๆกระบอกปืน)
มนุษย์ที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามกฎของสังคม สถานที่เดียวเท่านั้นสามารถอาศัยอยู่ได้คือผืนป่า ธรรมชาติ พงไพร ใช้ชีวิตเยี่ยงเดรัจฉาน!
สังเกตว่าแทบทุกฉากครึ่งหลัง มักพบเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งนอกเหนือจากมนุษย์ แอบๆหลบซ่อนเร้น ซึ่งล้วนมีนัยยะสำคัญบางอย่างแทรกอยู่เสมอ
ท่านผู้นำ Loner จับได้หมูป่าตัวหนึ่ง นี่น่าจะเปรียบได้กับ David ที่ขณะนั้นเพิ่งหลบหนีเข้าป่าและมาพบเจอกลุ่มคนโสด รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
สำหรับแม่บ้านโรงแรม สายลับ(จับบ้านเล็ก)ของกลุ่มคนโสด เธอมีนกยูงรำแพนหางยืนอยู่ข้างๆ นัยยะถึงความสวยสง่างาม เริดเชิดหยิ่งยโสโอหัง และท่าเต้นอันเป็นเลิศเหนือกว่าใครในปฐพี
ทุ่งแห่งความเหงา ชวนให้ระลึกนึง Onibaba (1964) แม้ลำต้นหญ้าจะสูงใหญ่โตไม่เท่า แต่เวลาพริ้วไหวไปตามสายลมพัด มันช่างมีความเวิ้งว้างว่างเปล่า โดดเดี่ยวเดียวดายเสียจริง!
หนึ่งในกิจกรรมกลุ่มโสด คือสร้างรอยแตกร้าวให้กับคนมีครอบครัว! เพราะตระหนักถึงคำของอดีตแฟนสาวไร้หัวใจ ‘ความสัมพันธ์ไม่อาจธำรงได้บนพื้นฐานความหลอกลวง’ ขอหัวหน้าเดินทางมายังเรือยอร์ช พูดบอกทุกสิ่งเกี่ยวกับอดีตเพื่อนเก่า John อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปกับว่าที่ครอบครัวนี้ ก็อยู่ที่พวกเขาจะยินยอมรับความจริงนั้นได้หรือเปล่า
ชุดลายขวางของครอบครัวนี้ คือสัญลักษณ์ของการสอดคล้องเห็นพ้อง มีอะไรหลายๆอย่างสามารถอยู่ร่วมด้วยกันได้ ช่างดูน่ารัก อนาคตคงสดใส แต่การกระทำของ David ผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป!
เรือยอร์ช สัญลักษณ์ของการออกเดินทางสู่โลกกว้าง หรือคือเป้าหมายชีวิตคู่ที่สามี-ภรรยา (และลูก) จะดำเนินไปด้วยกันสู่อนาคตวันข้างหน้า กล่าวคือในช่วงเวลาดังกล่าวถ้าพวกเขาสามารถพิสูจน์ว่ายังสามารถครองรักอยู่ได้ กฎหมายเลยบอกให้หวนกลับไปใช้ชีวิตในเมืองได้โดยดี
การเต้นไร้เสียง กิจกรรมคนโสดที่สะท้อนอิสรภาพ ความพึงพอใจ สุขส่วนตน ไม่จำเป็นต้องมีคู่ก็สามารถโลดเต้น ดำรงชีพอยู่ได้ไม่เห็นตาย!
แซว: ท่าเต้นของ Ariane Labed เขวี้ยงให้สิบดาวเลย เลิศร่าน จัดจ้านเสียจริง!
ภาษากาย ไม่สิ่งเกิดขึ้นได้กับคนโสดเท่านั้น คู่รักที่ได้แต่จับจ้องมองนำไปใช้สื่อสารความเข้าใจ ขยับเคลื่อนไหวส่งต่อความรู้สึก สโลโมชั่นแต่เอ่อล้นด้วยพลัง เสี้ยววินาทีสามารถตราฝังลงในจิตใจ
สมุดบันทึกของหญิงสายตาสั้น ก็ไม่รู้ทำอย่างไรถึงตกมาอยู่ในมือของแม่บ้านโรงแรม อ่านให้หัวหน้าคนโสด(และสามี)รับฟัง ช็อตนี้เหมือนจะไม่มีอะไรแต่สัตว์ที่เหมือนอูฐเดินอยู่หลังข้าง สัญลักษณ์ของการเดินทาง เทียบแทนได้ด้วยไดอารี่เล่มนี้ กว่าจะมาถึงจุดนี้คงใช้ระยะทาง/เวลาไม่น้อยทีเดียว
ทำไมต้องทำให้ตาบอด? เพราะกฎของคนโสด/ธรรมชาติ มีความรุนแรงสุดโต่ง คนสองพรอดรักด้วยวิธีใด บทลงโทษย่อมต่อสิ่งนั้นอย่างสาสม นัยยะของการมองไม่เห็นไม่จำเป็นว่าต้องมืดบอดต่ออนาคต ยังหมายถึงการกีดกัด บดบัง ทำให้หมดสิ้นสภาพความสามารถ ต่อจากนี้คงไม่สามารถเอาตัวรอดเองได้ เรียกว่าตายทั้งเป็น
การกระทำที่เป็นการเลียนแบบของหัวหน้าคนโสด แสดงออกถึงความขาดเขลา ตัวตนแท้จริงหลบซ่อนอยู่ภายใน เบื้องหลังคนอื่น จิตใจเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา หาได้บริสุทธิ์ต่ออุดมคติไร้คู่ ต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองเอาตัวรอดบนโลกนี้เสียมากกว่า
จากเคยตั้งใจว่าจะคือ Lobster หลบหนีออกจากโรงแรมกลายมาเป็นหมู ครานี้มีสภาพไม่ต่างจากกระต่ายน้อย บริสุทธิ์ไร้เดียงสา อาจกลายเป็นเหยื่ออันโอชาสำหรับผู้ล่าก็เป็นได้
หนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Lanthimos ทิ้งปริศนาตอนจบให้ผู้ชมครุ่นคิดต่อกันเอง ว่าสุดท้ายแล้ว David จะสามารถกระทำสิ่งนี้เพื่อให้ตนเองมีบางอย่างเหมือนสุดที่รัก/ว่าที่ภรรยา นั่นคือทัศนคติเพี้ยนๆของคนในโลกใบนี้ (จำต้องมีบางอย่างเหมือนกัน ถึงสามารถครองคู่อยู่ร่วมกันได้)
ตัดต่อโดย Yorgos Mavropsaridis สัญชาติกรีก อีกหนึ่งขาประจำของ Lanthimos (แม้ชื่อเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องอะไร), ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองของ David ปรากฎตัวอยู่แทบทุกช็อตฉาก แต่ด้วยเสียงบรรยายของหญิงสาวตาสั้น ค้นพบเจอโดยผู้นำ Loner
แม้สองช็อตแรกของหนังจะเริ่มต้นด้วย Long Take อันเชื่องช้า แต่การมาถึงของคำพูดบรรยาย ทำให้เกิดความเร่งรีบร้อนรวดเร็ว แถมน้ำเสียงกลับมีความรุนแรงหนักแน่น ผู้ชมน่าจะเกิดอาการอ้ำอึ้งคาดไม่ถึง เป็นปฏิกิริยาสับสนมึนงงไม่แตกต่างจากตัวละครสักเท่าไหร่
เราสามารถแบ่งหนังออกเป็นครึ่งแรก-ครึ่งหลัง หลายอย่างสะท้อนตรงกันข้ามแต่ไม่ใช่ทุกสิ่ง
– อารัมบท: ออกเดินทางสู่โรงแรม
– ครึ่งแรก: ชีวิตของ David ภายในโรงแรม ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด แสร้งทำเป็นชื่นชอบหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ภายหลังเมื่อความจริงกระจ่าง เลยต้องดิ้นรนหลบหนีหาทางเอาตัวรอดสู่ป่า
– ครึ่งหลัง: ชีวิตของ David ท่ามกลางป่าดงพงไพร ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด ตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่งแบบจริงจัง แต่เมื่อความกระจ่ายถึงผู้อื่นเป็นเหตุให้เธอถูกลงโทษทัณฑ์ พยายามดิ้นรนหลบหนีหาทางเอาตัวรอดสู่เมือง
– ปัจฉิมบท: ออกเดินทางสู่เมือง
สำหรับเพลงประกอบไม่มีเครดิต เพราะคัดเลือกสรรค์จากผลงานคีตกวีชื่อดังในอดีต อาทิ
– Beethoven: String Quartet in F Major, Op. 18, No. 1; II Adagio Affetuoso Ed Appasionato
– Shnitke: Quintet for Piano and Strings: In Tempo di Valse
– Shnitke: String Quartet No. 2: I Moderato
– Stravinsky: 3 Pieces for String Quartet No. 3
– Shostakovich: String Quartet No. 8 in C Minor, Op. 110; 4. Largo
– Strauss: Don Quixote: Variation I and II
– Britten: String Quartet No. 1 in D, Op. 25: Andante Sostenuto
String Quartet in F Major, Op. 18, No. 1 (1801) ประพันธ์โดยคีตกวีสัญชาติเยอรมัน Ludwig van Beethoven (1770 – 1827) อุทิศให้กับ Joseph Franz von Lobkowitz แบ่งออกเป็น 4 Movement, หนังนำท่อนสอง Adagio Affetuoso Ed Appasionato (D Minor) ได้แรงบันดาลใจจากบทละคร Romeo and Juliet ฉากโศกนาฎกรรมที่สุสาน ด้วยเหตุนี้ท่วงทำนองเลยมีความเศร้าสลดหดหู่ เหมาะกับฉากการสูญเสีย พลัดพรากร่ำลาจากชั่วนิรันดร์ของคนสอง
ไวโอลินประสานเสียงกรีดกราย ช่างบาดหูเสียดแทงเข้าไปถึงส่วนลึกภายใน, นำจาก String Quartet No. 8 in C Minor, Op. 110 (1960) ผลงานของ Dmitri Dmitriyevich Shostakovich (1906 – 1975) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย ใช้เวลาประพันธ์เพียง 3 วัน ในช่วงเวลามีสองเหตุการณ์ Trauma เกิดขึ้นในชีวิต
– ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคสมองฝ่อ (Amyotrophic Lateral Sclerosis)
– ถูกกดดันให้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แบบไม่เต็มใจ
ทีแรกตั้งใจว่าจะเขียนเพลงนี้เป็นบทเพลงสุดท้ายแล้วฆ่าตัวตาย แต่หลังจากได้ระบายออกจากการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ Leningrad ตื้นตันใจจนมือไม้สั้นไม่สามารถทำอะไรได้
บทเพลงมีทั้งหมด 5 Movement หนังนำท่อนสี่ IV. Largo แทรกใส่เข้ามาบ่อยครั้งเพื่อสร้างความตกตะลึงงัน หวาดสะพรึงกลัว คาดคิดไม่ได้ต่อเหตุการณ์บางอย่างกำลังจะบังเกิดขึ้น
ใครเคยรับชมภาพยนตร์เรื่อง Jeux interdits หรือ Forbidden Games (1952) ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ René Clément เสียงโซโลกีตาร์อันนุ่มนวลแต่บาดลึกไปถึงขั้วหัวใจ บรรเลงดังขึ้นระหว่างที่กลุ่ม Loner เดินทางไปเยี่ยมเยือนแม่ของท่านผู้นำ แต่ David และแฟนสาวกลับกำลังเล่นเกมอันตราย กอดจูบดูดดื่มกันจน…
แถมท้ายกับบทเพลงที่ David และแฟนสาว กดฟังพร้อมกันยังเครื่องเล่นซีดี ชื่อเพลง Where The Wild Roses Grow แต่งโดย Nick Cave ขับร้องโดย Nick Cave & The Bad Seeds และ Kylie Minogue
จะมีตอนที่ Colin Farrell ขับร้องรำพันบทเพลงนี้ด้วยนะครับ
กุ้งมังกร, Lobster เป็นสัตว์ทะเลน้ำเค็มขนาดใหญ่ ลักษณะลำตัวมีสีดำปนแดง ชื่อมาจากคำในภาษาอังกฤษโบราณว่า Loppestre สมาสภาษาละติน Locusta แปลว่า ตั๊กแตน และ Loppe แปลว่า แมงมุม, เจริญเติบโตด้วยการลอกคราบ เนื่องจากฟันที่ใช้บดอาหารในกระเพาะอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกภายนอก จึงจำเป็นต้องดึงเอาเนื้อเยื่อของลำคอ กระเพาะ และทวารหนักออกมาด้วย แต่ไม่ใช่ทุกตัวที่จะรอดชีวิตจากกระบวนการลอกคราบนี้ นอกจากนี้ยังถือว่าได้ว่าเป็นครัสเตเชียนที่มีอายุยืนยาวที่สุดด้วย อายุขัยโดยเฉลี่ย 100 ปี
เหตุผลของ David ถ้าต้องกลายเป็นสัตว์ขอเลือก Lobster เพราะอายุยืนยาวกว่าร้อยปี มีเลือดสีน้ำเงินเหมือนขุนนาง/ชนชั้นสูง และอาศัยอยู่ในทะเล ดำผุดดำว่ายไม่รู้จักสิ้นสุด
มีนักข่าวถามผู้กำกับ Lanthimos ถึงนัยยะความหมายของ Lobster เจ้าตัวตอบว่า ‘I don’t know’ อาจเป็นข้ออ้างเลี่ยงไม่ตอบ หรือแค่ ‘on a whip’ ไม่มีความหมายอะไรจริงจังก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังผมว่ามันก็สอดคล้องกับตัวละคร David อยู่เล็กๆเหมือนกันนะ หลังจากต้องถูกภรรยาทอดทิ้ง สถานการณ์ของเขาอยู่ในสภาวะสุญญากาศ แต่ยังต้องการมีชีวิตดำผุดดำว่ายอยู่ในวัฏฏะสังสาร กระทำการลอกคราบไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็สามารถเอาตัวรอดได้เอง
ในโลกอุดมคติที่มนุษย์ต้องครุ่นคิดตัดสินใจเลือกข้าง ไม่ฝั่งซ้าย-ขวา โสด-แต่งงาน เผด็จการ-ประชาธิปไตย ฯ ช่างมีความน่าหวาดสะพรึงกลัว หลอกหลอกสั่นสะท้านยิ่งกว่าหนังผี ทำให้มนุษย์มีความครุ่นคิดเข้าใจอะไรแปลกๆ ทัศนคติคับแคบลงเรื่อยๆ จนไร้ซึ่งเมตตากรุณาปราณี แค่เพียงดิ้นรนมีชีวิตรอดก็ว้าวุ่นวายเกินกว่าจะทำอะไรอื่น
โลกยุคสมัยนี้เหมือนว่าอะไรๆกำลังก้าวเดินไปในทิศทางเสรี แต่เอาเข้าจริงๆกลับรายล้อมด้วยกฎกรอบระเบียบแบบแผนมากมาย รัฐบาลร่าง พรฏ. เพื่อควบคุมชี้นำบริหารประเทศ, พ่อ-แม่พยายามโรยกลีบกุหลาบให้ลูกๆก้าวเดินในหนทางตระเตรียมไว้ อ้างว่าถ้าทำเช่นนี้ได้อนาคตย่อมประสบสำเร็จเจริญรุ่งเรือง
ที่ผมเอ่ยมาย่อหน้าบนไม่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้นะ! คือความพยายามครุ่นคิดแทนผู้อื่นเสียหมด แล้วใช้อำนาจ/เทคโนโลยี ควบคุม ครอบงำ บีบบังคับให้กระทำตาม ใช้ความกลัวเป็นแรงผลักดันให้ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด
มนุษย์ที่อยู่ในโลกใบนี้มีสถานภาพไม่ต่างจากสรรพสัตว์ หลงเหลือเพียงภาพลักษณ์ถ้ายังปฏิบัติตามกฎก็ยังมีเค้าโครงความเป็นคนประเสริฐอยู่ แต่ถ้าไม่แล้วละก็ต้องแปรสภาพสู่เดรัจฉาน, กระนั้นในกรณียังสามารถหลบหนี ใช้ชีวิตท่ามกลางขุนเขาลำเนาแบบสัตว์ป่า ก็อยู่ที่ว่าจะเป็นผู้ล่าต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่ เพราะในห่วงโซ่อาหาร ถึงมนุษย์อยู่สูงสุดก็จริงแต่ก็แค่สติปัญญา ไม่ใช่สันชาติญาณหรือพละกำลังร่างกาย สุดท้ายมีเกิดต้องมีตาย ลอกคาบกลายเป็น Lobster ได้เสียที่ไหนกัน
สุดท้ายแล้วมุมมองของ โสด-แต่งงาน เผด็จการ-ประชาธิปไตย ฯ ล้วนเป็นเรื่องความเชื่อ ทัศนคติความคิดอ่านส่วนตัว ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ว่าฝั่งไหนผิด-ถูก เหมาะสมควร การกระทำก็เฉกเช่นเดียวกัน สนองอุดมการณ์-สันชาติญาณ ดี-ชั่ว แค่เพียงกฎแห่งกรรมสิ่งเดียวเท่านั้นคือสัจธรรม ทำอะไรย่อมได้รับผลลัพท์นั้นตอบคืนสนอง
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes เมื่อปี 2015 คว้ามา 3 รางวัล
– Jury Prize
– Palm Dog – Jury Prize (ให้กับ Bob the Dog)
– Queer Palm – Special Mention (ถึงหนังมิได้มีตัวละครแสดงออกถึงความเป็นเกย์ชัดเจน แต่การต้องเลือกระหว่าง Homosexual กับ Heterosexuality สะท้อนวิถีทางสังคมที่สุดแสนอัปลักษณ์พิศดาร)
“It doesn’t include a gay narrative, but with the dearth of overtly gay films at the festival, this film stood out as an allegory, poking fun at the absurd societal rules and regulations around mating”.
– คำนิยมสำหรับรางวัล Queer Palm – Special Mention
ด้วยทุนสร้าง $4 ล้านเหรียญ ทำเงินในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา $9.2 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $18 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
สำหรับรางวัลปลายปีที่ได้ลุ้น ประกอบด้วย
– Oscar: Best Original Screenplay พ่ายให้กับ Manchester by the Sea (2016)
– Golden Globe: Best Actor – Musical or Comedy (Colin Farrell) พ่ายให้กับ Ryan Gosling จาก La La Land (2016)
– BAFTA Awards: Best British Film พ่ายให้กับ Brooklyn (2015)
เกร็ด: แม้หนังออกฉายทั่วยุโรปตั้งแต่ปี 2015 แต่เพิ่งมาถึงสหรัฐอเมริกาหนึ่งปีเต็มหลังจากนั้น พฤษภาคม 2016 (เมืองไทยยังได้ฉายก่อน พฤศจิกายน 2015)
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้อย่างมาก ประทับใจพล็อตเรื่องอันสุดแสนวิปริตพิศดาร ท้าทายการใช้สมองครุ่นคิดตีความ, ซาบซึ้งความรัก เคมีระหว่าง Colin Farrel, Rachel Weisz และไดเรคชั่นผู้กำกับ Yorgos Lanthimos พัฒนาการจาก Dogtooth (2009) หลายเท่าตัวเลยละ!
แนะนำคอหนัง Black Comedy, Romance, Sci-Fi แนว Survival ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดจากกฎระเบียบแบบแผนทางสังคม, หนุ่ม-สาวที่เพิ่งอกหักรักคุด, นักปรัชญา สังคม การเมือง ครุ่นคิดถึงแนวโน้มความเป็นไปได้, จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ศึกษาสภาวะทางจิตใจ, แฟนๆผู้กำกับ Yorgos Lanthimos และนักแสดงนำ Colin Farrell, Rachel Weisz, Léa Seydoux ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ บรรยากาศอันอึมครึม โจ่งครึ่ง ค่านิยมการแต่งงาน Sex และความรุนแรงป่าเถื่อน
Leave a Reply