The Lodger: A Story of the London Fog (1927) British : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡

ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับที่ 3 ของ Alfred Hitchcock แต่คือเรื่องแรกที่สไตล์ Hitchcockian ได้ปรากฎขึ้นเด่นชัด, ลุ้นระทึกไปกับการตามไล่ล่าหาฆาตกร Jack the Ripper ที่ตอนจบจะทำให้คุณคาดคิดไม่ถึง

และนี่เป็นครั้งแรกของ Hitchcock ที่ได้ปรากฎตัว Cameo ในหนังของตนเอง ซึ่งมีถึง 2 ฉาก
– กับครั้งแรกหลายคนคงไม่สังเกตกันแน่ (ประมาณนาทีที่ 5.33) เพราะหันหลังให้กล้อง คือคนที่นั่งอยู่ขณะกำลังต่อสายโทรศัพท์, จริงๆการ Cameo นี้เกิดโดยบังเอิญไม่ได้ตั้งใจ เพราะนักแสดงตัวประกอบที่รับบทดันไม่ปรากฏตัวมา ก็ไม่รู้จะเอาใครเลยแสดงแทนเอง นับจากนั้นนี่กลายเป็นมาตรฐานหนึ่ง ต้องมีสักเสี้ยววินาทีที่ Hitchcock ปรากฏตัวในหนังของตนเอง

– อีกฉากอยู่ช่วงท้ายของหนัง เป็นหนึ่งในฝูงชน (mob scene) ที่ทำการไล่ล่าฆาตกร Jack the Ripper นี่คือครั้งแรกที่เราจะเห็นหน้า Hitchcock แบบชัดๆ แต่หลายคนอาจจะจดจำไม่ได้ เพราะพี่แกยังหุ่นดีอยู่เลย

Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899 – 1980) ผู้กำกับสัญชาติอังกฤษ ได้รับการฉายาว่า ‘The Master of Suspense’ บุกเบิกหนังแนวใคร่สงสัย Suspense และระทึกขวัญจิตวิทยา Psychological Thriller, เกิดที่ Leytonstone เป็นลูกคนที่สามสุดท้องของครอบครัว โตขึ้นเข้าเรียนที่ London County Council School of Engineering and Navigation จบมาเป็นนักเขียนแบบ (draftsman) และออกแบบโฆษณา (advertising designer), ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกเรียกให้รับใช้ชาติ แต่เพราะน้ำหนักตัวมากเกินเลยถูกจัดให้ไปอยู่ฝ่ายวิศวกรรม ซ่อมแซมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์

ด้วยความชื่นชอบภาพยนตร์ตั้งแต่แรกเริ่มได้รับความนิยมในอังกฤษ ตอนอายุ 20 ทำงานเป็นนักออกแบบ Title Card ให้กับสตูดิโอสาขาของ Paramount Pictures ก้าวหน้าขึ้นเป็น Art Director, นักเขียนบท, ผู้ช่วยผู้กำกับ, เคยมีโอกาสไปเรียนรู้การกำกับจาก Fritz Lang น่าจะหนังเรื่อง Destiny (1921) ที่ทำให้เขาเกิดความอึ้งทึ่งประทับใจรับอิทธิพลการทำงานจากปรมาจารย์ผู้กำกับดังมาพอสมควร, ได้รับความเชื่อมือกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Number 13 (1922) แต่โชคไม่ดีถูกยกเลิกกลางคันเพราะเงินทุนไม่พอ แต่ยังได้รับโอกาสต่อมา The Pleasure Garden (1925) ตามมาด้วย The Mountain Eagle (1926) เรื่องแรกล้มเหลวไม่เป็นท่า เรื่องสองฟีล์มสูญหายไปแล้ว

ผลงานลำดับที่สาม ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Lodger: A Story of the London Fog เขียนโดย Marie Belloc Lowndes นักเขียนหญิงสัญชาติอังกฤษ ตีพิมพ์ปี 1913 เรื่องราวเกี่ยวกับการตามล่าหาฆาตกรต่อเนื่อง Jack The Ripper ที่ออกล่าฆ่าเหยื่อหญิงสาวผมบลอนด์ในเขต Whitechapel กรุง London ช่วงปี 1888

ด้วยอิทธิพล Expressionist ที่ได้จาก Fritz Lang ทำให้ Hitchcock สร้างหนังเรื่องนี้ให้ผู้ชมเกิดความพิศวงลึกลับ (Suspense) ลุ้นระทึกไปกับการค้นหาฆาตกร (ที่จะได้ยินแค่ชื่อ แต่จะไม่เห็นการฆาตกรรม หรือใบหน้าอาชญากร) ตอนแรกตั้งให้จบแบบคลุมเครือ ไม่รู้ว่าตัวละครที่ถูกจับได้นั้นคือผู้ต้องหาคือผู้บริสุทธิ์ แต่เพราะหนังได้ Ivor Novello นักแสดงหนุ่มหน้าหล่อขวัญใจสาวๆและประชาชน มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะจบแบบนั้น โดนใบสั่งจากสตูดิให้เปลี่ยนแปลงตอนจบ

“They wouldn’t let Novello even be considered as a villain. The publicity angle carried the day, and we had to change the script to show that without a doubt he was innocent.”

ผลลัพท์ที่ออกมานี้ทำให้เกิดสไตล์ ‘Hitchcockian’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการจับพลัดพลู ใจความจับแพะชนแกะ (wrong man) ชักจูงผู้ชมให้เกิดความเข้าใจผิด ตบหัวแล้วลูบหลัง อันเป็นหนึ่งในแนวทางที่มักพบเห็นได้บ่อยครั้งในหนังของ Hitchcock

The Lodger แปลว่า ผู้พักอาศัย, ในหนังตัวละคร Jonathan Drew (รับบทโดย Ivor Novello) เป็นชายที่มีภาพลักษณ์น่าพิศวงสงสัย ขอเข้าพักในห้องเช่าของ Mr. และ Mrs. Bunting ที่มีลูกสาวผมบลอนด์คนสวย Daisy Bunting (รับบทโดย June Tripp) พักอาศัยอยู่ด้วย, ขณะนั้นฆาตกรต่อเนื่องนามว่า The Avenger ยังคงลอยนวลในกรุง London มีความสนใจฆ่าเฉพาะหญิงสาวผมบลอนด์เท่านั้น Jonathan จึงถูกสงสัยโดยทันที และ Daisy อาจจะกลายเป็นเหยื่อคนต่อไป

เกร็ด: The Avenger ก็คือ Jack the Ripper นะครับ

Ivor Novello ชื่อจริงคือ David Ivor Davies (1893 – 1951) นักแสดงและนักแต่งเพลงสัญชาติ Welsh เป็นหนึ่งในบุคคลได้รับความนิยมสูงสุดของอังกฤษ ช่วงต้นศตวรรษ 20, เกิดที่ Cardiff, Wales เป็นลูกของ Clara Novello Davies นักร้องคอรัสที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทำให้ Novello มีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก โด่งดังขึ้นจากการเขียนบทเพลง Keep the Home Fires Burning (1914) แสดงความรู้สึกรวดร้าวเจ็บปวดใจ ของทุกครอบครัวที่มีลูกชายไปสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่นเดียวกันกับละครเวทีในช่วงสงครามโลกเรื่อง Theodore & Co (1917) ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง

นอกจากแต่งเพลง ยังมีความสนใจด้านการแสดง สำหรับผลงาน debut เดินทางไปหา Louis Mercanton ถึงประเทศ Swiss ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องแรก The Call of the Blood (1920) ตามมาด้วย Miarka (1920), ผลงานหนังอังกฤษเรื่องแรก Carnival (1921) จากนั้นไปอเมริกา เล่นหนังของ D. W. Griffith เรื่อง The White Rose (1923) และมีผลงานอีกหลายๆเรื่อง

ก็ไม่รู้โปรดิวเซอร์ไปติดต่อขอคิวงานว่างของ Novello ได้อย่างไร ซึ่งทำให้ความตั้งใจแรกสุดของ Hitchcock ในการสร้างหนังเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง แต่นั่นไม่ถือเป็นปัญหาเพราะเป็นกระบวนการหนึ่งของการทำงาน

รับบท Jonathan Drew หรือ The Lodger คงเพราะการแต่งกายที่ปกคลุมมิดชิด เอาผ้าพันปิดปากเห็นเพียงใบหน้าท่อนบนราวกับคาวบอย โลกมันยุคไหนแล้ว ใครเห็นย่อมต้องเกิดความพิศวงสงสัยแน่ แถมยังมีพฤติกรรมแปลกๆมากมาย อาทิ ทนมองรูปภาพหญิงสาวไม่ได้, เดินวนไปมากระแทกเท้าอยู่ในห้อง, แต่กลับเดินย่องลงบันไดยามค่ำคืน ฯ นี่เป็นความพยายามชักชวนให้ผู้อื่น/ผู้ชม เกิดความใคร่สงสัย มันต้องมีอะไรบางอย่างแอบซ่อนอยู่ในตัวละครนี้แน่

ฉากปรากฎตัวของ Jonathan ใครเห็นคงต้องเกิดความรู้สึกหวิวๆกายใจ จินตนาการ-คาดการณ์-ครุ่นคิดเลยว่า หมอนี่ต้องมีลับลมคมในอะไรบางอย่างแน่ สังเกตว่าขณะเปิดประตูออก จะมีหมอกควันพัดผ่าน ราวกับข้างนอกนั้นเกิดเหตุการณ์สับสนอลม่านวุ่นวาย หรือพายุคลั่ง

การแสดงของ Novello ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ผู้ชมสามารถรับรู้ถึงสีหน้า สายตา พฤติกรรม และการแสดงออกที่มีความผิดปกติ บางอย่างแอบซ่อน มีลับลมคมใน นี่พาลให้ยิ่งชวนสงสัย บางคงอาจถึงขั้นการันตีแน่ใจ ด่วนสรุปหมอนี่ต้องเป็นฆาตกรต่อเนื่องแน่ๆ

สำหรับนักแสดงประกอบอื่น
– ที่แย่งซีนสุดๆเลยคือ The Landlady (Mrs. Bunting) รับบทโดย Marie Ault ความสอดรู้สอดเห็นของเธอเป็นเลิศ แม้จะมีอายุมากแล้วแต่ยังหูดีและดื้อด้านเป็นที่สุด นี่ค่อนข้างแอบชัดนะครับว่าคล้ายกับแม่ของ Hitchcock
– June Tripp รับบทหญิงสาวผมบลอนด์ Daisy Bunting ก็ไม่รู้เธอหลงเสน่ห์อะไร Jonathan Drew ให้เดาคงเพราะความหล่อเหลาอันเย่ายั้วยวน แต่ขณะเดียวกันเธอก็มีความเชื่อมั่นว่าชายหนุ่มคนรักต้องไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่องแน่ … น่าจะรู้โดยสันชาติญาณเพศหญิง
– Malcolm Keen คือนักแสดงที่ร่วมงานกับ Hitchcock มาตั้งแต่เรื่องแรก รับบท Joe Chandler สารวัตรตำรวจที่พยายามขายขนมจีบให้ Daisy แต่เธอนอกจากไม่สนใจดันไปหลงรัก Jonathan ทำให้เกิดความอิจฉา มโนแรงกล้าคิดว่าเขาคือฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อความจริงได้รับการเปิดเผย …

ถ่ายภาพโดย Gaetano di Ventimiglia เริ่มต้นถ่ายทำเดือนกุมภาพันธ์ 1926 ใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์

ลักษณะของ German Expression ที่ถือเป็นอิทธิพลสำคัญในหนังเรื่องนี้คือการ Close-Up ใบหน้าของตัวละคร ที่เป็นความพยายามให้ผู้ชมมองเห็นจิตวิทยา สิ่งที่อยู่ภายในของตัวละคร แต่ช็อตที่ผมรู้สึกว่าสวยที่สุดคือ ฉากจูบระหว่าง Jonathan กับ Daisy ก่อนจะถึงช็อตนี้จะมีการเคลื่อนกล้องเข้าหา (คล้ายๆ Zoom In) ใบหน้าของทั้งสอง ก่อนที่จะตัดมาให้เห็นประกบจุมพิตบดขยี้ เหมือนภาพวาดอะไรสักอย่างหนึ่ง

และช็อตที่มีชื่อว่า ‘God’s Eye’ ถ่ายจากชั้นล่างมองเงยขึ้นไป เห็นราวกับภาพทะลุกำแพงได้ เท้าของ Jonathan Drew กำลังเดินไปเดินมา (ฉากนี้ถ่ายโดยใช้กระจกหนาวางเป็นพื้น แล้วให้นักแสดงเดินไปมา)

เห็นว่า Hitchcock มีความต้องการถ่ายฉากฆาตกรรมในหนังให้มากกว่านี้ แต่ติดที่ Scotland Yard ไม่อนุญาติให้ถ่ายยังสถานที่จริง (หนังไม่มีงบมากพอสำหรับสร้างฉากขึ้นมาด้วย) เพราะหนังต้องถ่ายกลางคืน ส่งเสียงดัง รบกวนเวลานอนของผู้คน

ตัดต่อโดย Ivor Montagu ต้องชื่นชมวิธีการเล่าเรื่องเลยว่า ได้ทำการครอบงำความคิดของผู้ชม ชี้ชักจูงให้เกิดความเข้าใจตามสิ่งที่หนังนำเสนอ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งถูกต้องหรือผิด ก็อยู่ที่ผู้เขียนบท/ผู้กำกับ จะตัดสินใจตอนจบอย่างไร โอกาสที่ผู้ชมจะสามารถคาดเดาได้มีน้อยนัก แต่เชื่อว่าหนังเรื่องนี้คงมีหลายคนที่สามารถคาดเดาได้อยู่ ผมก็บังเอิญทายตอนจบถูก เพราะคิดว่านี่เป็นครั้งแรกๆของการทดลองนำเสนอแบบนี้ Hitchcock เลยยังไม่มีลูกเล่นสลับซับซ้อนเกินไป แค่ชั้นเดียวนี้ ผู้ชมสมัยนั้นหลายคนก็จะตามไม่ได้ไล่ไม่ทันแล้ว

จริงๆแล้ว Montagu ไม่ใช่นักตัดต่อคนแรกของหนัง เพราะฉบับแรกที่ Hitchcock นำไปฉายให้ Michael Balcon รับชม ปรากฏว่าโปรดิวเซอร์เกิดความเกรี้ยวกราดโมโหโทโสอย่างรุนแรง ทั้งประเด็นเรื่อง Homosexual, Incest ถึงขนาดจะนำหนังขึ้นหิ้งไม่เอาออกฉาย โชคดีได้เพื่อนนักวิจารณ์ Montagu นี่แหละถูกว่าจ้างมาให้ช่วยแก้ไขปรับปรุงตัดต่อหนังใหม่ ซึ่งเขามีวิสัยทัศน์มองเห็นจุดเด่นของ Hitchcock จึงทำแค่คอมเมนต์แก้ไขปรับปรุงอะไรนิดหน่อย และถ่ายซ่อมเพิ่มเติมเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่ง Title Card/Intertitles ถือเป็นปัญหาหลักของหนังตอนนั้น คงเป็นความหวาดกลัวถึงขั้นไม่เข้าใจ Hitchcock แทรกข้อความเข้าไปถึง 400-500 ใบ เยอะเว่อเลยละ Montagu แนะนำให้รู้จัก Edward McKnight Kauffer ร่วมกันแก้ไขปรับปรุง นำคำพูดบทสนทนาที่ไม่สำคัญตัดทิ้งออกไป ใส่ภาพที่มีลักษณะเหมือน Expressionist และทำอนิเมชั่นเพิ่มให้ สุดท้ายเลยเหลือไม่ถึงร้อยใบ และมีลักษณะแปลกตากว่าปกติพอสมควร บางอันเหมือนป้ายนีออน, ป้ายบอกทาง ฯ สร้างสีสันให้เป็นมากกว่าแค่คำบรรยายเฉยๆ

ผมค่อนข้างทึ่งกับหนังเรื่องนี้นะ แม้จะไม่ได้มีอะไรให้พูดถึงเท่าไหร่ ใจความสำคัญก็ไม่มี แค่ชวนล่อหลอกให้ผู้ชมใจจดใจจ่อ ครุ่นค้นหาเรื่องราวความจริงที่เกิดขึ้น ถือเป็นหนังเต็มไปด้วยบรรยากาศ ความตึงเครียด ระทึก อกสั่นขวัญผวา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Hitchcockian ที่โด่งดังได้

คงเพราะผู้ชมสมัยนั้นต้องการภาพยนตร์เรื่องราวรูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถกระแทกกระทั้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง หนีออกจากโลกความทุกข์ (ยุคนั้นยังอยู่ในสมัย Great Depression) ซึ่งหนังเรื่องนี้พอถึงตอนจบได้ทำการพลิกตลบหลักหักมุม มันเลยกลายเป็นสิ่งช็อคโลก คนส่วนใหญ่คาดคิดไม่ถึง ไม่เคยพบเจอเห็นมาก่อน มันเลยมีความทรงพลังยิ่งใหญ่ ผลลัพท์ของหนังจึงประสบความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง (นี่ถือเป็นหนังเรื่องแรกของ Hitchcock ที่ทำเงินได้ด้วยนะครับ)

มีความพยายามสร้างใหม่ remake และทำภาคต่อ The Lodger หลายครั้งทีเดียว
– The Lodger (1932) ถือเป็นการ remake เป็นหนังพูด โดยผู้กำกับ Maurice Elvey ซึ่งได้ Ivor Novello กลับมารับบทเดิม ผลลัพท์ก็คือ ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง!
– The Lodger (1944) ฉบับภาพสีสร้างใหม่ของ Hollywood โดยผู้กำกับ John Brahm นำแสดงโดย Merle Oberon, George Sanders และ Laird Cregar, เห็นว่าฉบับนี้ตอนแรก Hitchcock ให้ความสนใจด้วย ตั้งใจสร้างหลังเสร็จจาก Saboteur (1942) แต่ไม่สามารถคว้าลิขสิทธิ์สร้างได้ เลยต้องยอมปล่อย
– Man in the Attic (1953) กำกับโดย Hugo Fregonese นำแสดงโดย Jack Palance ไม่มีอะไรน่าพูดถึงเท่าไหร่
– ครั้งล่าสุด The Lodger (2009) นำแสดงโดย Alfred Molina, Rachael Leigh Cook ก็ไม่รู้จะสร้างทำไม

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังนะ ออกไปทางทึ่งประทับใจมากกว่า หลงใหลในความที่หนังสามารถชักจูงอารมณ์ร่วมของผมไปด้วยได้ ทั้งๆที่เนื้อหาเรื่องราวก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่  แต่บรรยากาศชวนให้ปล่อยตัวปล่อยกายใจล่องลอนเพลิดเพลินไป ถือว่าเป็นความบันเทิงชั้นเยี่ยม ไม่ได้ดีเลิศประเสริฐ พบเจอข้อตำหนิมากมาย แต่ผู้คลั่งใน Hitchcock คงกระหยิ่มยิ้มเลยละ

แนะนำกับคอหนังเงียบ ชื่นชอบแนว Suspense, Thriller ลุ้นระทึกตื่นเต้นกับฆาตกรต่อเนื่อง, ชื่นชอบนักแสดงนำ Ivor Novello และแฟนคลับผู้กำกับ Alfred Hitchcock ห้ามพลาดเลย

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศ ความตึงเครียด และความเข้าใจผิด

TAGLINE | “The Lodger จุดเริ่มต้นของตำนาน Alfred Hitchcock ที่จะทำให้คุณอกสั่นขวัญผวา ไม่คิดว่าหนังเงียบก็สามารถตื่นเต้นลุ้นระทึก มีหักมุมแบบนี้ได้”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: