The Lost Weekend

The Lost Weekend (1945) hollywood : Billy Wilder ♥♥♥♥♡

ขี้เมาทั้งหลายดูหนังเรื่องนี้ ผมการันตีว่าไม่มีใครเลิกเหล้าได้แน่นอน แต่คนรอบข้างใกล้ตัวจะสามารถเข้าใจ อดทน ให้อภัย รับรู้ว่ามันต้องมีข้ออ้างบางอย่าง เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเขา ค้นหาสิ่งนั้นให้พบ จับมือเดินไปด้วยกัน โอกาสเลิกสำเร็จถึงมี, หนัง Hollywood เรื่องแรกที่สามารถคว้า Grand Prix (Palme d’Or) ควบ Oscar: Best Picture “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

สมัยวัยรุ่นผมเป็นคนหนึ่งที่ติดเหล้าเข้ากระแสเลือด ปาร์ตี้ถึงเช้าแล้วไปหลับในห้องเรียน แต่มันมีเหตุผลของการกินนะ เพราะเราเป็นนักกิจกรรม ดื่มเพื่อละลายน้ำแข็งเข้าสังคม หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเรียนจบออกมาก็นานๆครั้งเมื่อพบเพื่อน พอสูงวัยถ้าไม่มีใครชวนก็ไร้เหตุผลหยิบยกแก้วกระดกเองอีก, ทุกครั้งที่ดื่มเหล้าผมรู้ตัวเองอยู่เสมอ มันต้องมีเหตุผลข้ออ้างในการกิน อย่างเลวสุดคือเพื่อสัมผัสรสชาติให้เกิดความสนุกสนาน หลายคนคงคิดเจ้าน้ำอมฤตแสนขมเนี่ยนะอร่อย? มันคือรสนิยมของคนมีระดับ คล้ายๆกับนักจิบไวน์ คือถ้าลิ้นคุณไม่ถึง(และเงินไม่มี) ก็คงไม่มีทางรับรู้เข้าใจอะไรพวกนี้ได้

คงด้วยเหตุผลประการนี้กระมัง ผมเลยไม่ติดการกินเหล้า คือไม่ได้ใช้มันเป็นเพื่อนสำหรับระบายความโศก เข้าหาเฉพาะเวลาต้องการความสุขสำราญ ผิดกับ Don Birnam ตัวละครในหนังเรื่องนี้ ข้ออ้างการดื่มเพื่อหลงลืม ล่องลอย คลายความทุกข์เศร้า ใครๆย่อมรู้ได้ว่านี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะเมื่อหมดฤทธิ์ยาทุกอย่างก็หวนกลับคืน ความเจ็บปวดกระหนำซ้ำกว่าเดิมเสียอีก จำต้องวกมาเริ่มใหม่กลายเป็นวงเวียนวัฏจักร จากดื่มกลายเป็นเสพติดขาดไม่ได้ แบบนี้เวลาจะเลิก ย่อมต้องเสียค่าผ่านทางชดใช้ที่รุนแรงเกินจินตนาการ

Billy Wilder (1906 – 2002) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน ประทับใจการร่วมงานกับนักเขียนนิยาย Raymond Chandler จากหนังนัวร์เรื่อง Double Indemnity (1944) มีต้องการที่จะร่วมงานกันอีก แต่ขณะนั้น Chandler ที่เพิ่งได้รับการบำบัดรักษาหายจากโรค Alcoholic เกิดความเครียดหนักระหว่างการทำงาน (ก็เพราะร่วมงานกับ Wilder นี่แหละ) ทำให้เขาหวนกลับไปดื่มสุราอีก, หนังเรื่องนี้สามารถมองได้คือ ความพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Chandler ให้ตัวเขาเองได้เข้าใจ ‘to explain Chandler to himself.’

เกร็ด: Raymond Chandler มีผลงานที่หลายคนอาจรู้จัก อาทิ The Big Sleep (1939) [นิยาย], The Blue Dahlia (1946) [เข้าชิง Oscar: Best Writing, Original Screenplay.], Strangers on a Train (1951) [บทหนัง กำกับโดย Alfred Hitchcock]

ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Lost Weekend โดย Charles R. Jackson ตีพิมพ์ปี 1944 ค่อนข้างชัดเจนว่า ได้แรงบันดาลใจจากตัวผู้เขียนเองเป็นเรื่องกึ่งอัตชีวประวัติ, นิยายขายดี Best-Seller แทบจะโดยทันที ได้รับการยกย่องว่า ‘masterpiece of psychological precision.’

เกร็ด: เห็นว่าจริงๆแล้ว Jackson ต้องการให้ชื่อนิยายว่า The Last Weekend แต่เพราะพิมพ์ผิดจาก Last เลยกลายเป็น Lost ก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน

พื้นหลัง Manhattan, New York City ปี 1936 เรื่องราว 5 วันสุดสัปดาห์ของ Don Birnam (รับบทโดย Ray Milland) ที่ตั้งใจจะใช้เวลาเขียนนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของตนเอง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถทำได้ ติดข้ออ้างขอเหล้าเข้าปากสักแก้วก่อนไอเดียจะได้บรรเจิด แต่มันเคยจบแค่แก้วเดียวเสียทีไหน, ครั้งหนึ่งจับพลัดจับพลูเกิดอุบัติเหตุตกบันได ทำให้เข้าไปอยู่ใน alcoholic ward สถานที่คุมขังสำหรับคนติดสุราเรื้อรัง จำต้องให้ญาติมารับตัวเท่านั้น

“There isn’t any cure, besides just stopping. And how many of them can do that? They don’t want to, you see. When they feel bad like this fellow here, they think they want to stop, but they don’t, really. They can’t bring themselves to admit they’re alcoholics, or that liquor’s got them licked.”

หลังจากที่ Wilder ได้อ่านนิยายเล่มนี้ เขามีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า กำลังจะได้สร้างภาพยนตร์เรื่องที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน

“Not only did I know it was going to make a good picture, I also knew that the guy who was going to play the drunk was going to get the Academy Award.”

ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์เกี่ยวกับคนขี้เมา มักถูกทำให้เป็นหนังตลกเริ่มต้นจาก The Cure (1917) ของ Charlie Chaplin ตัวละคร Little Tramp กลายเป็นขี้เมา ก่อความวุ่นวายตลกขบขันเป็นอย่างมาก, หรือหนังของ W. C. Fields ที่ภาพลักษณ์ประจำตัวคือ ขี้เมา เอาแต่ใจ อีโก้สูง ชอบคำรามใส่หมาและเด็ก ฯ ซึ่ง The Lost Weekend ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สะท้อนปัญหาของผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังอย่างจริงจัง อันทำให้ขี้เมาสมัยนั้นหวาดกลัวขนหัวลุกซู่ (แต่ก็ไม่มีใครทำการสำรวจ ว่ามีคนสามารถเลิกเหล้าหลังจากดูหนังเรื่องนี้ได้มากน้อยเท่าไหร่)

บท Don Birnam ทีแรก Wilder คาดหวังให้ José Ferrer นักแสดงสัญชาติ Puerto Rican รับบทนำ (ตอนนั้น Ferrer มีชื่อเสียงจากการแสดงละครเวที) แต่เขาปฏิเสธ คงเพราะยังไม่อยากรับเล่นหนัง ซึ่งกว่าที่ Ferrer จะมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ Joan of Arc (1948) ประกบ Ingrid Bergman, สุดท้ายจึงมาตกที่ Ray Milland (1907 – 1986) นักแสดง/ผู้กำกับสัญชาติ Welsh ที่พอจะมีชื่อเสียงประสบความสำเร็จประปราย แต่ยังไม่กลายเป็นอมตะ

Don Birnam ถือว่าเป็นขี้เมากาก ไร้รสนิยม ดื่มด้วยข้ออ้างโน่นนี่นั่นควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็นวิธีหนึ่งของผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องการหลบลี้หนีโลก ลงโทษตัวเองที่ไร้ความสามารถ รับไม่ได้กับการถูกคาดหวังและติเตียน

ปมปัญหาของ Birnam จุดเริ่มต้นคงตั้งแต่ตอนตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน เพื่อกลายเป็นนักเขียนนิยายเต็มตัว ทั้งๆที่สมัยเรียนทำอะไรก็ประสบความสำเร็จเก่งเป็นอันดับ 1 แต่พอออกมาพบโลกกว้าง กลับไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ประสบความสำเร็จเทียบเท่าสมัยก่อน จิตใจไม่พร้อมรับความล้มเหลว แต่ก็ไม่มีเรี่ยวแรงลุกขึ้นต่อสู้ จึงหันหน้าพึ่งพิงทางเลือกอื่น ดื่มสุราย้อมใจคลายความรวดร้าว สุดท้ายติดหนับกู่ไม่กลับ

บทบาทนี้ถือเป็นจุดพลิกผันสุงสุดในอาชีพการทำงานของ Milland หลังได้อ่านนิยายก็เกิดความวิตกกังวลอย่างมาก เพราะนี่เป็นบทบาท ‘serious action’ ที่เขาไม่เคยแสดงมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกท้าทายที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ, หลังจากได้เมาแบบเละเทะครั้งแรกในชีวิต ก็รู้สึกว่าตนเองยังขาดความเข้าใจผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรังอยู่มาก ตัดสินใจค้างคืนใน psychiatric ward ที่ Bellevue Hospital กลับออกมาตอนตี 3 สภาพคงหลอนเข้ากระดูกดำแบบที่ตัวละครพบเจอในหนัง ถ่ายทำเสร็จ Milland น้ำหนักลดไป 8 ปอนด์

ความโดดเด่นของ Milland คือการแสดงออกทางใบหน้า สีหน้า ดวงตา และริมฝีปาก ที่ไม่ใช่เแค่เห็นว่าเมา แต่ยังอมเก็บความทุกข์สิ้นหวัง เจ็บปวดรวดร้าวทรมาน เหมือนเขาต้องการตะโกนบอกโลกว่า ‘ถ้าชีวิตฉันไม่เกิดความผิดพลาด คงไม่วันกลายเป็นแบบนี้แน่’

รางวัลที่ Milland คว้าจากการรับบทบาทนี้ เรียกว่าครบทุกสถาบันที่มีขณะนั้น
– Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
– Golden Globe Award: Best Actor
– Oscar: Best Actor

สำหรับผลงานอื่นๆที่พอมีชื่อเสียงของ Ray Milland อาทิ Reap the Wild Wind (1942), The Thief (1952),  Dial M for Murder (1954), Love Story (1970) ฯ

สำหรับบท Helen St. James หญิงสาวคนรักของ Birnam ความต้องการแรกของผู้กำกับคือ Charles Brackett บอกปัด ตามด้วย Olivia de Havilland ติดปัญหาเรื่องกฎหมาย, สุดท้ายลงเอยที่ Jane Wyman (1917 – 2007) นักร้องนักแสดงสัญชาติอเมริกัน ภรรยาคนแรกของ Ronald Reagan ก่อนจะกลายเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

Helen St. James เป็นผู้หญิงที่มีความตั้งมั่น ทุ่มเท เสียสละ มอบความรักกายใจให้กับ Birnam คงเพราะโชคชะตาจับพลัดพลูให้มาพบเจอ เช่นนั้นไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่มีวันที่เธอจะทอดทิ้งความรักแท้ไว้เบื้องหลัง, ผมมองว่า St. James เป็นผู้หญิงที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว อยากได้อะไรก็ต้องได้ไม่ต้องการสิ่งอื่น คงเพราะวัยเด็กได้รับการประคบหงมเลี้ยงดูแบบตามใจของพ่อแม่ ทำให้ความต้องการผู้ชายที่ตนรัก(ดูแล้วน่าจะคนแรกของเธอด้วย) ต่อให้มีคู่แข่งคือแก้วสุรา ฉันก็ไม่มีวันยอมแพ้

การแสดงของ Jane Wyman แม้จะมีไม่เยอะแต่ถือว่าเป็นผู้หญิงเด็ดเดี่ยว กล้าคิดทำพร้อมเป็นผู้นำ ติดภาพลักษณ์ลูกคุณหนูเล็กๆที่ชอบเอาแต่ใจ กระนั้นนี่สามารถมองอีกมุมหนึ่งได้ คือความเชื่อมั่นจริงใจในรักแท้ ถ้าฉันสามารถช่วยเหลือเขาได้ คงไม่มีใครอื่นจะมาแย่งผู้ชายคนนี้ไปได้แน่ (การันตีว่าเธอคิดผิดแน่นอน)

ผมชอบการแสดงของ Wyman ช่วง 10 นาทีสุดท้ายของหนังมาก ความหวาดกลัวเกาะแน่นในหัวใจ ทำให้เกิดอาการวอกแวกร้อนรนสั่นสะท้าน ในใจรู้ว่าต้องกำลังมีบางสิ่งอย่างเกิดขึ้นแน่ จึงพยายามที่จะเกลี้ยกล่อม ยินยอม รั้งรีรอ ทำทุกอย่างให้ Birnam เข้าใจ เห็นคุณค่าของชีวิต, ผมมองฉากนี้เหมือนเด็กหญิงสาวที่รู้ตัวว่ากำลังต้องสูญเสียของเล่น จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อไม่ให้ต้องพรากจากของรักของหวง

Jane Wyman ถือเป็นอีกหนึ่งนักแสดงยอดฝีมือแห่งยุค เข้าชิง Oscar: Best Actress ถึง 4 ครั้ง ได้มา 1 รางวัลจากหนังเรื่อง Johnny Belinda (1948) ส่วนที่เข้าชิง ประกอบด้วย The Yearling (1946), The Blue Veil (1951), Magnificent Obsession (1954)

ถ่ายภาพโดย John F. Seitz หนึ่งในตำนานตากล้องที่มีผลงานตั้งแต่หนังเงียบ แต่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดก็จากการเป็นขาประจำของ Wilder ในหนังเรื่อง Double Indemnity (1944), Sunset Boulevard (1950) ฯ

The Lost Weekend เป็นหนังนัวร์นะครับ, เชื่อว่าหลายคนคงเกิดข้อสงสัย เพราะคิดว่า noir มักเป็นหนังแนวสืบสวนสอบสวน ฆาตกรรมอำพราง แต่ไม่จำเป็นนะครับ ใจความของ film noir คือ ตีแผ่ด้านมืดของจิตใจมนุษย์, กับหนังเรื่องนี้ถือว่าโคตรตรง เพราะนำเสนอจิตวิทยาของตัวละครที่ ติดเหล้าเมามายไร้สติ ซึ่งก็คือหนึ่งในด้านมืดของมนุษย์

ฉากแรกของหนัง เป็นการแพน (panning) เห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบป่าคอนกรีตเมือง New York เคลื่อนมาจบที่หน้าต่างห้องแห่งหนึ่ง ภายนอกมีเชือกห้อยขวดเหล้าต่องแต่ง จิตใจของชายหนุ่มไม่ได้อยู่กับกระเป๋าที่กำลังแพ็ก ทริปที่กำลังจะเดินทาง แต่คือขวดสุรานี้แหละ เมื่อไหร่พี่ชายตัวดีจะหายตัวไปสักที ขอสักกรึบนึงก่อนได้ไหม, เราจะเห็นฉากนี้เป็น Déjà Vu แบบสะท้อนย้อนกับตอนจบของหนังอีกครั้ง มีนัยยะถึงความความคิดเพ้อฝัน ต้องการ ตั้งใจ ของ Birnam ที่ต้องการเลิก เอาขวดเหล้าออกไปจากชีวิต (โดยห้อยไว้นอกห้อง)ช

ความโดดเด่นของหนังนัวร์ ก็คือบรรยากาศและการจัดแสงอันมืดมัวร์ โดยเฉพาะขณะกลางคืนที่แสงไฟมีจำกัด เงาที่เห็นเป็นพื้นหลังหรือสะท้อนสาดส่องตัวละครมักมีนัยยะสำคัญบางอย่าง เช่น ใน alcoholic ward เงาของกรงลวดหนามสาดส่องบนใบหน้าของ Birnam มีนัยยะถึงการติดกับอยู่ในกรงขัง (ของตนเอง), ช็อตหนึ่งที่ Birnam ซ่อนอีกขวดเหล้าไว้บนหลอดไฟ ตัวเองกลับลืมหาให้ตายก็ไม่พบ แต่แล้วราวกับแสงแห่งสวรรค์ หลอดไฟสะท้อนขวดแก้วสุราขึ้นบนเพดาน สวยงามดั่งประกายแสงแห่งชีวิต

ฉากไฮไลท์คือตอนเช้าที่ Don Birnam ตื่นขึ้นมาเงินหมด ไม่มีเหล้ากิน ตัดสินใจเอาเครื่องพิมพ์ดีดไปขายจำนำ ออกเดินตุปัดตุเป๋เซไปเซมา ร้านแรกไม่เปิด ร้านสองสามปิดหมด เกิดอะไรขึ้น! มีช็อตหนึ่ง ตัวละครจะเดินหน้าเข้าหากล้อง เห็นสองข้างทางเคลื่อนผ่านไป (ดูแล้วเป็น Rear-Projection ฉายขึ้นฉากด้านหลัง) ถัดมามีการ Cross-Cutting ซ้อนให้เห็นป้ายโน่นนี่นั่น … ฉากนี้คือครั้งแรกของเทคนิคที่มีชื่อว่า ‘character walking toward the camera as neon signs pass by’ มีนัยยะถึงความมึนเมา ล่องลอย ลุ่มหลงในโลกแห่งอบายมุข

ตัดต่อโดย Doane Harrison ขาประจำของ Paramount Picture และเพื่อนสนิทของ Billy Wilder ที่มีผลงานเด่นอย่าง Five Graves to Cairo (1943), Sunset Blvd. (1950) ฯ

การเล่าเรื่องใช้มุมมองของ Don Birnam เป็นหลัก เริ่มต้นจากเตรียมตัวไปทริปแต่สุดท้ายไม่ได้ไป วันถัดมาหาคนปรับทุกข์ เล่าเรื่องราวย้อนอดีตของตนเองเป็นภาพ Flashback เพื่ออธิบายการพบเจอกับ Helen St. James จริงๆยังมีอดีตเก่ากว่านั้นที่เป็นปมเหตุการณ์ให้เกิดการติดสุราเรื้อรัง แต่หนังใช้แค่การพูดเล่าเรื่องเฉยๆ ไม่นำเสนอภาพย้อนอดีตซ้อนเข้าไปอีกให้วุ่นวาย, พอส่วนย้อนอดีตจบลง เรื่องราวดำเนินต่อไปข้างหน้า มีการตัดสลับมุมมองของหญิงสาวแทรกเข้ามาด้วย เพื่อแสดงความห่วงต่อการหายไปของชายหนุ่ม ก่อนมาบรรจบขณะได้พบเจอ ชายหนุ่มเห็นภาพเพ้อรู้ตัวเองแล้วว่าทนต่อไปไม่ได้แล้ว

การตัดต่อ โดดเด่นมากเรื่อง Cross-Cutting มักใช้ช่วงขณะที่ Birnam กำลังมึนเมามาย สติสัมปชัญญะไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เหมือนว่าหลายสิ่งอย่างเคลื่อนผ่านตัวเขาไป ไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น ค่อยๆวูบเข้าและวูบออก เหมือนตากำลังหลับแล้วสะดุ้งตื่น จะมีช่วงขณะที่ความทรงจำ/ภาพ เว้นว่างหายไป ไม่รู้อะไรเกิดขึ้นบ้าง ณ ตอนนั้น

เพลงประกอบโดย Miklós Rózsa นักประพันธ์เพลงในตำนานที่มีผลงาน Ben-Hur (1959) ฯ

เดิมทีผู้กำกับ Wilder ตั้งใจไม่ใส่เพลงประกอบให้กับหนัง แต่เพราะรอบทดลองฉาย มีผู้ชมหัวเราะกับการกระทำหลายอย่างของ Birnam ซึ่งนี่ผิดจุดประสงค์ความตั้งใจโดยสิ้นเชิง จึงได้ว่าจ้าง Miklós Rózsa ให้เขียนเพลงประกอบเพื่อควบคุมโทนอารมณ์ สร้างบรรยากาศให้กับหนัง

ปกติหนังนัวร์ เพลงประกอบจะไม่หลอนหลอกขนาดนี้นะ คือจะเป็นประมาณแค่สะท้อน จิกกัด เจ็บแสบ แต่ไม่เขย่าขวัญสั่นประสาท, สาเหตุเพราะเสียงของ Theremin เครื่องดนตรีไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ที่ผู้เล่นจะทำการโบกมือไปมาในอากาศเพื่อสร้างและควบคุมเสียง ประดิษฐ์โดยวิศวกรชาวรัสเซีย Léon Theremin ในปี 1928, หลายคนอาจจดจำว่าเป็นเสียงของ UFO แต่จุดเริ่มต้น (ใน Hollywood) มาจากหนังเรื่องนี้ที่ใช้เป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จล้นหลาม จนได้รับความนิยมแพร่หลาย

เกร็ด: Miklós Rózsa ยังได้ใช้เครื่อง Theremin ประกอบหนังอีกสองเรื่องคือ Spellbound (1945), The Red House (1947)

เกร็ด2: ภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการใช้ Theremin คือ Alone (1931) สัญชาติรัสเซียที่ Dmitri Shostakovich ทำเพลงประกอบให้ แต่เพราะหนังไม่ประสบความสำเร็จ เลยไม่มีใครจดจำคุ้นหู

ผมนำคลิปเพลง Over The Rainbow ที่บรรเลงโดยใช้เครื่อง Theremin มาให้รับชมกัน จะได้เห็นด้วยว่าเขาเล่นกันอย่างไร, เห็นแล้วต้องชื่นชมปรบมือให้ผู้สร้างเลย คิดได้ยังไง! นักดนตรีราวกับ Conductor โยกมือโบกสะบัด ลีลาชดช้อยเข้ากับเสียงทีออกมาทีเดียว (มือขวาเล่นโน้ต มือซ้ายเหมือนควบคุมความดังของเสียง)

เสียง Theremin ในหนังเรื่องนี้ ได้สร้างสัมผัสอันหลอนหลอกสั่นสะท้าน หวาดหวั่นขนหัวลุก นี่ทำให้เกิดความกลัวตราตรึงฝังใจ โดยเฉพาะกับคนที่ไม่เคยแตะต้องดื่มสุราเมามายมาก่อน เชื่อว่ารับชมหนังเรื่องนี้จะมีความคิด ‘ชาตินี้จะไม่ขอมีวันกลายเป็นแบบนั้นเด็ดขาด’ แต่กับคนที่แอลกอฮอล์เข้าเส้นกระแสเลือดไปแล้ว บ้างอาจมีความกลัวจนอยากเลิก แต่สุดท้ายก็จะทำไม่สำเร็จอยู่ดี

น้ำจัณฑ์เป็นเครื่องดื่มที่มีมานมนานกาเล ไม่มีใครรู้จุดเริ่มต้นว่ามาจากไหน ใครคิดค้นหรือบังเอิญพบเจอ หลักฐานเก่าแก่สุดในโลก อย่างภาพวาดตามผนังถ้ำ พีระมิดอิยิปต์ เมโสโปเตเปีย ฯ ล้วนต้องมีภาพการเฉลิมฉลอง มือยกแก้วใส่น้ำทิพย์ ดื่มกินสนุกสนานสำราญขาดสติ

สุราคือยาพิษ ที่ถ้าดื่มชิมเพียงน้อยนิดมีประโยชน์ เลือดลมเคลื่อนไหวขับสะดวกคล่อง แต่ถ้าซดดื่มปริมาณมากจะขาดสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง สูญเสียการทรงตัว พูดไม่ชัด มองเห็นภาพหมุนหลอน กระทั่งหมดสติไม่รู้ตัว

สำหรับคนไม่เคยร่ำสุราคงมีข้อสงสัยประการหนึ่ง ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นยาพิษไฉนยังดื่มกินกันเป็นนิจ, ขอยกสำนวนโบราณของจีน ‘สุรานารีเป็นของคู่กัน’ ตราบใดที่มนุษย์ยังเต็มไปด้วยกิเลสราคะ ย่อมต้องเกิดความลุ่มหลงใหลเมามัวมาย หลงรักอิสรตรีก็เหมือนดื่มด่ำสุรายามราตรี มีอาการหน้ามืดตามัวขาดสติสมประดี ถ้าชีวิตขาดสุรายังมีนารี ขาดสตรียังมีสุรา แต่ถ้าขาดสองอย่างยามราตรี มนุษย์คงมอดม้วยชีวีดับดิ้นสิ้นลมลงทันที

ทำไมสิ่งที่เรียกว่ายาพิษนี้ ถึงได้มีวางขายเกลื่อนกลาด เป็นของถูกกฎหมายของหลายๆประเทศ, คำตอบนั้นแสนง่าย เพราะภาษีมหาศาลที่รัฐได้จากบริษัทสุรา เป็นจำนวนเงินที่เอาไปทำอะไรได้เยอะแยะมากมาย ต่อให้กลายเป็นของผิดกฎหมาย มีหรือประชาชนจะไม่ลักลอบทำเถื่อน ซึ่งมีความเสี่ยงอันตรายควบคุมไม่ได้ การยินยอมให้สุราเป็นของถูกกฎหมายและมีการควบคุม ยังพอที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าสั่งห้ามเป็นไหนๆ

องค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อปี 2013 เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2,000 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เฉลี่ยคนละ 6.13 ลิตร, ในประเทศไทยมีปริมาณผู้ดื่ม 16.2 ล้านคน เป็นอันดับ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่นมากเป็นอันดับ 5 ของโลก เฉลี่ยดื่มคนละ 58 ลิตรต่อปี (มากกว่าค่าเฉลี่ยโลกเกือบ 10 เท่า)

อย่าคิดนะครับว่า ถ้าสุรากลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายแล้ว โลกใบนี้จะเกิดความสงบสุข คุณธรรมของมนุษย์จะสูงขึ้น ผมว่าตรงกันข้าม อาชญากรจะเพิ่มขึ้น (เพราะไม่มีที่ระบาย ผ่อนคลาย หลีกหนีความทุกข์ยาก) กลางคืนจะยาวนานขึ้น (เพราะไม่รู้จะทำอะไร) และคนที่มีปัญหาทางจิตจะเพิ่มขึ้นมากแน่นอน

สิ่งที่คนธรรมดาๆอย่างเราๆสามารถทำได้ในยุคสมัยนี้ คือมองไปรอบๆตัว ข้างกายเห็นใครที่ติดเหล้าสุราหนักๆหรือเปล่า ลองพยายามทำความเข้าใจเขาดูนะครับ เหตุผลอะไรที่ทำให้ดื่ม มีอะไรที่ช่วยแบ่งเบาผ่อนคลายความทุกข์เครียดลงได้บาง

ใจความของหนังเรื่องนี้ ในอดีตคงเพื่อให้ผู้หลงใหลดื่มกินสุราเกิดความหวั่นวิตก ตระหนก หวาดกลัว รับรู้เข้าใจในปัญหาของตนเอง, แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน คนขี้เมาสมัยนี้คงไม่รู้สึกสะพรึงใดๆเป็นแน่แท้ ซึ่งมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองเห็นจากตัวละคร Helen St. James คือเธอเป็นคนข้างตัวที่คอยดูแลเอาใจใส่ Don Birnam ในระดับถึงไหนถึงกัน แสดงว่าหนังมีใจความถึงคนรอบข้างพวกเขาด้วย ‘จงอย่ามองว่าขี้เมาคือขี้เมา พยายามทำความเข้าใจเหตุผลการเมาของพวกเขาด้วย’ ทุกคนมันต้องมีแน่ๆนะครับ ถ้าค้นหาพบเจอก็มีโอกาสรักษาหายขาด ถ้าไม่ก็ขอให้โชคดี

ตอนจบของหนังได้ทิ้งความหวังเอาไว้ ในนิยายเห็นว่าจบแบบปลายเปิด ไม่บอกว่า Don Birnam เลิกเหล้าได้จริงไหม จริงๆในหนังก็ไม่ได้บอกว่าเลิกสำเร็จหรือเปล่า แค่วินาทีนั้นมีความตั้งใจอันแรงกล้าว่าจะเลิก ทิ้งก้นบุหรี่ลงแก้วเหล้า มีแฟนสาวยิ้มแย้มจับมือคอยอยู่เคียงข้าง ลองดูอีกสักครั้งเป็นไร เริ่มต้นเขียนนิยาย The Bottle ขวดเหล้า ขี้เมาและหญิงสาว (ส่วนพี่ชายของ Birnam ถือว่าทิ้งน้องไปแล้วนะครับ)

ชีวิตจริงของเจ้าของนิยาย Charles R. Jackson น่าเศร้ามากๆ กลายเป็นว่าเมื่อชีวิตประสบความสำเร็จแล้วเครียดหนักกว่าเดิม (เพราะผู้คนย่อมคาดหวังผลงานต่อๆไปออกมาต้องดีเยี่ยมขึ้นไปอีก) กลับมาติดเหล้าอีกครั้ง จนครานี้ร่างกายทรุดหนัก ถึงขนาดต้องเข้าโรคพยาบาลโรคจิตเวช เคยมีความตั้งใจจะเขียนนิยายภาคต่อของ The Lost Weekend แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายทนไม่ไหวแล้วกินยา Barbiturate เกินขนาดฆ่าตัวตาย

ถ้าสังเกตปีที่สร้าง 1945 จะพบว่าหนังมีนัยยะสะท้อนวิถีโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยนะครับ, ถึงหนังจะไม่มีบริบทพูดถึงสงครามสักครั้งเดียว แต่เพราะปีที่สร้าง เป็นช่วงย่างการมาของ Great Depression โรคระบาดหลังสงครามที่จะทำให้ชีวิตผู้คนเต็มไปด้วยความยากลำบาก เศรษฐกิจถดถอย ไม่มีการจ้างงาน ผู้คนอดอยากขาดแคลน สิ้นหวังหดหู่ วิธีหนึ่งที่ผู้คนนิยมทำกันก็คือ ดื่มสุราให้เมามายขาดสติ นำพาให้ตัวเองหลงลืมความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น … เรียกได้ว่าช่วงเวลานั้นจะมีผู้คนจำนวนมาก ที่กลายเป็นพิษสุราเรื้อรัง ก็ไม่รู้หนังเรื่องนี้ทำการป้องกัน (prevent) ชี้นำ ได้มากแค่ไหน แต่ถ้ามองวิเคราะห์จากอิทธิพลของภาพยนตร์สมัยนั้น ผมว่าน่าจะทำให้ผู้คนชะงักหงุดคิด ช่วยได้มากเลยทีเดียว

หนังออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้า 2 รางวัล
– Grand Prix (Palme d’Or)
– Best Actor (Ray Milland)

ด้วยทุนสร้าง $1.25 ล้านเหรียญ หนังทำเงิน $11 ล้านเหรียญ กำไรล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 4 รางวัล
– Best Picture **ได้รางวัล
– Best Director **ได้รางวัล
– Best Actor (Ray Milland) **ได้รางวัล
– Best Writing, Screenplay **ได้รางวัล
– Best Cinematography – Black and White
– Best Film Editing
– Best Music, Scoring of a Dramatic or Comedy Picture

Ray Milland น่าจะเป็นนักแสดงคนแรกคนเดียวที่ตอนได้รางวัล Oscar ขึ้นไปรับแต่ไม่พูดอะไรเลย โค้งคำนับแล้วเดินหายหลังเวที (ไม่รู้พี่แกตื่นเต้นจนลืมไปเลยหรือเปล่า)

The Lost Weekend ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก 1 ใน 2 เรื่อง ที่สามารถคว้า Palme d’Or และ Oscar: Best Picture อีกเรื่องหนึ่งที่ทำได้คือ Marty (1955)

แซว: ในรอบฉายรอบทดลอง มีผู้ชมคนหนึ่งเดินออกจากโรงภาพยนตร์ ผู้กำกับ Wilder เข้าไปถาม
ผู้ชม: “I’ve sworn off. Never again.”
Wilder: “You’ll never drink again?”
ผู้ชม: “No, I’ll never see another picture again,”

เกร็ด: ก่อนหนังฉายมีบริษัทสุรารายใหญ่ในอเมริกา ยื่นข้อเสนอ $5 ล้านเหรียญไม่ให้ Paramount ฉายหนัง, Wilder แซวว่า ถ้าบริษัทนั้นยื่นข้อเสนอให้กับเขา จะรับแล้วทำให้หนังไม่ได้ฉายแน่

ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้มากเลยละ จดจำได้ว่าเคยประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รับชม มาครั้งนี้เห็นเพิ่มคือความสวยงามของ film noir ลีลาการกำกับของ Billy Wilder และบทเพลงของ Miklós Rózsa ทำได้สะท้านหัวใจเหลือเกิน

แนะนำกับคอสุราทั้งหลาย และคนรอบข้าง (รวมแล้วก็ทุกคนนะแหละ) จัดว่า “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ตราบใดที่โลกยังมีสุรา เหตุการณ์แบบหนังเรื่องนี้ย่อมต้องเกิดขึ้น วิธีการและความหวัง มองโลกในแง่บวกเข้าไว้ แล้วคุณจะไม่กลายเป็นดั่งพวกเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอ จิตแพทย์ รักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง มันอาจดูไร้สาระน่าเบื่อ ไม่มีความน่าเห็นใจสักนิด แต่ขอว่าอย่าท้อนะครับ ลองคิดว่าถ้าเพื่อน ญาติ หรือพ่อแม่คุณเป็นแบบนั้น ปฏิบัติต่อพวกเขาดีๆละ

จัดเรต 13+ ถึงตัวละครจะเมามายขาดสติ ติดเรต 17+ แต่คิดว่าวัยรุ่นโตพอระดับนี้ ควรที่จะ”ต้อง”เรียนรู้แล้วนะครับ

TAGLINE | “The Lost Weekend ของผู้กำกับ Billy Wilder ได้ทำให้สุดสัปดาห์นี้เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่า ทุกคนต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: