The Love Eterne (1963) : Li Han Hsiang ♥♥♥♥♡
จากนิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อๆกันมาในประเทศจีน ‘ม่านประเพณี’ หรือ Butterfly Lovers เวอร์ชั่นที่ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ และได้รับความนิยมสูงสุดเป็น Musical แบบ Huangmei Opera (งิ้ว) ของ Shaw Brothers กำกับโดย Li Han Hsiang ที่ว่ากันว่าเป็นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลขณะนั้นของ Hong Kong, Taiwan และหนังกวาด 6 รางวัลจากงานประกาศรางวัล Golden Horse รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี
หนึ่งในสี่นิทานพื้นบ้านคลาสสิกของจีน ประกอบด้วย
– เมิ่งเจียงหนี่ ร้องไห้หน้า กําแพงเมืองจีน (Lady Meng Jiang)
– หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า (The Cowherd and the Weaving Maid, Niulang Zhinü)
– นางพญางูขาว (Legend of the White Snake, Baishezhuan)
– และม่านประเพณี (Butterfly Lovers) ถือเป็นปรัมปราคลาสสิคของจีนในยุคราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 265 – 420) เรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาวที่เป็นพี่น้องร่วมสาบาน โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าพ่อแม่ของทั้งคู่มีความอาฆาตพยาบาทต่อกัน ท้ายที่สุดทั้งคู่ติดสินใจฆ่าตัวตาย และวิญญาณกลายร่างเป็นผีเสื้อสองตัวบินจากไป เรื่องราวนี้ได้รับการเปรียบเทียบคล้ายกับ โรมิโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) ของ William Shakespeare ซึ่งแท้จริง Shakespeare เกิดหลังจากปรัมปราเรื่องนี้นานมาก (จริงๆควรเป็น Romeo and Juliet คล้ายกับ Butterfly Lovers ด้วยซ้ำ)
สำหรับม่านประเพณี ถือว่าได้รับการดัดแปลงบ่อยครั้ง มีทั้งเวอร์ชั่น Opera, Classic, Series และหนังใหญ่, เคยมีการสร้างมาก่อนหน้านี้นะครับ ผมเช็คดูมี 2-3 เวอร์ชั่น ปี 1935 และปี 1954 ที่สร้างโดยรัฐบาลจีน เป็นภาพยนตร์สีเรื่องแรกๆ, สำหรับเวอร์ชั่นของ Shaw Brothers นี้ถือว่าใกล้เคียงกับต้นฉบับมากๆ แต่ใช้การเล่าเรื่องด้วยการแสดงงิ้วที่เรียกว่า Huangmei Opera และมีการจัดฉากทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ ให้สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้ครบถ้วน
Li Han-hsiang ผู้กำกับในสังกัด Shaw Brothers ที่ขณะนั้นกำลังได้รับการจับตามองอย่างมาก ตั้งแต่ The Enchanting Shadow (1960) ได้รับเลือกให้ไปฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ทำให้อีกสองเรื่องถัดมา The Magnificent Concubine (1962) และ Empress Wu Tse-Tien (1963) ก็ได้ไปฉายที่เทศกาลหนังด้วย, จึงได้รับความไว้วางใจจาก Run Run Shaw ให้ดัดแปลงนิทานพื้นบ้านคลาสสิคเรื่องนี้เป็นเรื่องถัดมา
Zhu Yingtai รับบทโดย Betty Loh Ti ชื่อจริงคือ Hsi Chung-yi เป็นนักแสดงสาวสัญชาติ Hong Kong ที่ได้รับฉายาว่า ‘Classic Beauty’ เธอเริ่มต้นการแสดงตั้งแต่ 1952 แต่เพิ่งมาเริ่มดังก็ตอนได้ไปเทศกาลหนังเมือง Cannes จากหนังเรื่อง The Enchanting Shadow (1960) หนังจีนภาษา Mandarin ภาพสีเรื่องแรกที่ได้ไปฉายเทศกาลระดับนานาชาติ และ Betty Loh Ti ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ว่า ‘The Most Beautiful Star of the East’, หลังจากได้เล่น The Love Eterne ทำให้เธอได้รับรางวัล Best Actress จาก Golden Horse Award กลายเป็นดาวค้างฟ้า น่าเสียดายที่เธอเสียชีวิตเมื่อปี 1968 อายุ 31 ปีเท่านั้น (ว่ากันว่าเธอฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในรัก)
Liang Shan Bo รับบทโดย Ivy Ling Po เดี๋ยวก่อน Liang Shan Bo เป็นบทผู้ชายนะครับ แต่ Ivy Ling Po เป็นผู้หญิง, นี่ถือเป็นเรื่องปกติของหนังจีนสมัยนั้น ที่บางครั้งให้นักแสดงหญิงรับบทชาย หรือนักแสดงชายรับบทหญิง งิ้วก็เป็นแบบนี้ (ลองไปหาดู Farewell, My Concubine จะเข้าใจว่าทำไม), Ivy Ling Po ชื่อจริงคือ Huang Yu-chun เธอเป็นนักแสดงงิ้วที่มีผลงานหนังมากว่าสิบปี แต่ก็ยังไม่มีเรื่องไหนฮิต พอมารับบทเป็นชายใน The Love Eterne กลับฮิตถล่มทลาย, เห็นว่า Hung Niang หนังของเธอที่ได้ถ่ายทำจบไปก่อนแล้วและเตรียมออกฉายต้องถูกระงับ เพราะเรื่องนี้ Ling Po แต่งเป็นหญิง Shaw Brothers ไม่ต้องการให้ผู้ชมไขว้เขวกับภาพลักษณ์บทพระเอกของเธอที่ประสบความสำเร็จ, หนังอีกหลายเรื่องถัดมา เธอก็เป็นบทผู้ชาย(ในคราบผู้หญิง) อาทิ ฮัวมู่หลาน Lady General Hua Mu-Lan (1964), 7 นางฟ้า A Maid from Heaven (1963), มัจฉาปาฏิหาริย์ The Mermaid (1965), สามยิ้มพิมพ์ใจ Three Smiles (1969) ฯ
บอกตามตรงผมรู้สึกแปลกๆตอนดูหนังเรื่องนี้ เพราะเห็นก็รู้ว่าคู่พระนางเป็นหญิงกับหญิง (เชื่อว่าคงมีคนดูไม่ออก ถ้าคุณเป็นแบบนั้นก็โชคดีไปนะครับ) การแสดงของ Ling Po ผมว่าดูอ้อยอิ่งไปหน่อยไม่ค่อยเหมือนกับผู้ชายเท่าไหร่ แต่เธอก็มีความห้าวบางอย่าง ที่ทำให้พอมองเห็นว่ามีส่วนเหมือนผู้ชายอยู่บ้าง, กระนั้นการที่เป็นหญิงกับหญิง ทำให้ passion ระหว่างตัวละครของหนังลดลงมาก แม้สายตาของทั้งสองจะจิกกันได้แบบจะกลืนกิน แต่การแสดงความต้องการทางร่างกายมันไม่เหมือนหนังหญิงรักหญิงแบบปัจจุบัน ที่เราสามารถสัมผัสได้ถึง passion ความต้องการที่รุนแรง (อาทิ Carol หรือ Blue is the warmest color ฯ), ผมว่าคนจีนสมัยนั้นคงมองเห็นเป็นความสดใสน่ารักของเธอ และสายตาที่ส่งถึงกันระหว่างหญิง-หญิง ทำให้ลดความรู้สึกรุนแรงที่เกิดจากแนวคิด และการกระทำของทั้งสอง (การฆ่าตัวตาย) ที่ดูไม่หนักเกินไปกับความรักระดับที่ยอมตายแทนกันได้
LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender) ไม่ใช่ประเด็นของหนังเรื่องนี้ในสมัยนั้นแน่ๆ และยิ่งจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ ย่อมไม่มีความเป็นไปได้เลย ปัจจุบันการจะสร้างหนังที่ให้ผู้หญิงแต่งเป็นชายเล่นเป็นพระเอก และ/หรือ ผู้ชายแต่งหญิงเล่นเป็นนางเอก ไม่หลงเหลือปรากฏให้เห็นอีกแล้ว เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ LGBT ก็จะถูกยกขึ้นมาอ้างทันที ว่าเป็นการแฝงประเด็นกีดกันทางเพศที่น่ารังเกียจ, ส่วนตัวผมไม่ได้กีดกัน LGBT นะครับ แต่เมื่อดูหนังเรื่องนี้แล้วก็อดพูดถึงไม่ได้ ให้ลองสมมติเหตุการณ์ว่าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างในปัจจุบัน และให้บทพระเอกนำแสดงโดยผู้หญิง ยังไงก็ต้องถูกพาดพิงถึงประเด็น LGBT แน่นอน
ในงานประกาศรางวัล Golden Horse Award คณะกรรมการคงหนักใจ ถ้าจะให้รางวัล Best Actor แก่ Ivy Ling Po จึงมอบรางวัล Special Award: Outstanding Performance ให้เธอ, ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีผู้คนเดินประท้วงเรียกร้องให้ Ling Po ได้เข้าชิง Best Actor เป็นแน่
ถ่ายภาพโดย Tadashi Nishimoto ชาวญี่ปุ่น มีชื่อจีนคือ Ho Lan-shan ผมได้ยินว่า Shaw Brothers จับมือกับค่ายหนังจากญี่ปุ่น เพื่อร่วมพัฒนาวงการภาพยนตร์ของจีน หนึ่งในความร่วมมือนั้นคือการให้เช่ายืมกล้องถ่ายภาพ และตากล้องเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่ง Nishimoto ได้เป็นตากล้องให้กับหนังของ Shaw Brothers หลายเรื่อง ที่ดังๆอาทิ The Way of the Dragon (1972) นำแสดงโดย Bruce Lee และ Come Drink with Me (1966) ของผู้กำกับ King Hu, ทั้งชีวิตของ Nishimoto ไม่ได้รางวัลอะไร และผมรู้สึกว่างานประกาศรางวัล Golden Horse ครั้งนี้ถูกปล้นชัยชนะไปด้วย นี่เป็นหนังที่มีการถ่ายภาพสวยมากๆ สามารถถ่ายทอดความสวยงามของฉากในสตูดิโอออกมาได้อย่างงดงาม และมีจังหวะการเคลื่อนกล้องที่ไหลลื่นลงตัว แต่ที่คิดว่าไม่ได้รางวัลเพราะ Nishimoto เป็นคนญี่ปุ่นไม่ใช่คนจีน!
ตัดต่อโดย Chiang Hsing-lung นี่เด่นไม่เท่างานภาพ แต่กลับไม่พลาดรางวัล Golden Horse สาขา Best Editing, นอกจากเปลี่ยนฉาก และตัดสลับมุมมอง ผมก็ไม่เห็นการตัดต่อของหนังที่มีการโดดเด่นอะไรนะครับ เพราะหนังใช้การเล่าเรื่องด้วยภาพและการขับร้องงิ้ว ขายการแสดงมากกว่าเทคนิค แต่การตัดต่อถือว่าลงตัวดีไม่ทำให้หนังสะดุด, หนังอาจจะถือว่ายาวเกินค่าเฉลี่ยของหนัง Shaw Brothers ไปพอสมควร (ความยาวเฉลี่ยของหนัง Shaw Brothers คือ 90 นาที) หนังเรื่องนี้ความยาว 122 นาที กระนั้นก็ไม่มีช่วงเวลาที่เบื่อเลย อาจจะเลี่ยนไปบ้างเมื่อฟังงิ้วนานๆ เพราะมันเหมือนได้ยินเสียงอยู่ความถี่เดียว พอจบชั่วโมงก็กด Stop พักครึ่งไปเข้าห้องน้ำ เอามือแคะขี้หูหน่อยก็ได้นะครับ ปกติงิ้วก็น่าจะมีพักครึ่งนะครับ เพื่อไม่ให้คนดูเบื่อเกินไป ดูหนังก็พักแปปหนึ่ง จะได้ไม่เลี่ยน
ผมชอบวิธีการนำเสนอเรื่องของหนังนะครับ ไม่ใช่อยู่ดีๆนักแสดงจะร้องงิ้วก็ขึ้นมาเลย มีการเกริ่นด้วยเรื่องราวด้วยคำพูดอะไรสักอย่างก่อน จากนั้นเมื่อต้องการพูดถึงสาระสำคัญ เช่น หญิงสาวกำลังจะบอกความลับบางอย่างกับอีกคนหนึ่ง พอกำลังจะบอก ก็ร้องงิ้วขึ้นทันที กรีดมือ โบกพัด เดินย่อง จิกหน้า จิกตา เล่นแง่ ครบเครื่องจัดเต็มดูรู้ว่าเป็นงิ้วสด (ที่ไม่ได้แต่งหน้า), ผมคงต้องขอเปรียบกับหนังเพลงของอเมริกัน รื่อง West Side Story ที่จะมีการเกริ่นอะไรสักอย่างขึ้นมาก่อน พอเข้าสู่ช่วงสำคัญก็จะเปลี่ยนเป็นร้องเล่นเต้น คล้ายกันเลย (ที่ผมเลือก West Side Story มาเปรียบเทียบ เพราะหนังมีเรื่องราวคล้าย Romeo and Juliet เหมือนกันด้วยนะครับ)
West Side Story: การเต้นจะสนุกสุดเหวี่ยง เต็มกำลัง ประกอบเข้ากับจังหวะ แสดงออกผ่านการกระทำ และคำพูด
The Love Eterne: งิ้วจะมีความชดช้อย งดงาม อ่อนไหว เคลื่อนไหวน้อยได้แต่มาก แสดงออกทางอารมณ์ผ่านสีหน้า ท่าทางและคำพูด
เปรียบเทียบแบบนี้จะเห็นชัดเลยในแนวคิดหนังเพลงของ ชาติตะวันตกกับชาติตะวันออก (แต่ตะวันออกให้เว้นอินเดียไว้นะครับ เพราะถือว่าเป็นประเทศเดียวที่ผสมผสานหนังแนว Musical ระหว่างตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกันแล้ว), ชอบแบบไหนมากกว่า? เชื่อคนไทยแน่นอนเห็นงิ้วสวยกว่าแน่นอน ผมก็เช่นกัน (แต่แอบอิจฉา หนังไทยมี Musical บ้างไหมนี่!)
เพลงประกอบโดย Zhou Lan-ping (แน่นอนว่าต้องได้ Golden Horse สาขา Best Music) เสียงขับร้องงิ้วของ Liang Shan Bo นั้น Ling Po ร้องเองนะครับ เพราะเธอโตขึ้นมาจากการเป็นนักแสดงงิ้ว ส่วน Zhu Yingtai นั้น Betty Loh Ti ไม่ได้ร้อง เสียงของเธอถูกพากย์ทับโดย Tsin Ting เป็นนักร้องงิ้วให้กับนางเอกของ Shaw Brother อยู่หลายเรื่อง, สำหรับเพลงที่ดังที่สุดในหนังเรื่องนี้ 十八相送 (Eighteen Miles Away) เป็นเพลงขณะนางเอกกำลังจะกลับบ้าน และกำลังเกี้ยวพระเอก (ที่ไม่รู้ตัวว่าสหายรักคนนี้เป็นผู้หญิง)
ผมเคยดูอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง The Butterfly Lovers (2008) นำแสดงโดย Wu Chun และ Charlene Choi ซึ่งใช้การต่อสู้ (ฟันดาบ, กำลังภายใน) เป็นพื้นหลังของหนัง สำหรับคนที่ชอบหนัง Action หรือนิยายกำลังภายในคงจะชอบ ส่วนตัวผมเฉยๆ (คงเพราะดูหนังของ Shaw Brothers มาเยอะ) เมื่อเทียบกับประเด็น สิทธิสตรี ที่ The Love Eterne พยายามพูดถึงนั้น ต้องบอกว่าคนละชั้นเลย, ประเด็น LGBT ที่ผมยกขึ้นมาตั้งแต่ต้น ไม่ได้มีที่มาแค่นักแสดงหญิงรับบทผู้ชายนะครับ แต่ประเด็นรองของหนังที่พูดถึงความบทบาทของผู้หญิงต่อสังคมจีนสมัยก่อน ที่ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ออกเสียงอะไรทั้งนั้น, ตั้งแต่ต้นเรื่องที่พ่อไม่อยากให้ Zhu Yingtai ไปเรียนหนังสือ พบกับผู้ชาย เพราะกลัวว่า ผู้หญิงจะฉลาดกว่าผู้ชาย และเธอจะเลือกคู่ครองเองโดยไม่ยอมปฏิบัติตามธรรมเนียม ที่พ่อต้องเป็นคนเลือกสามีให้ลูกสาว, ประเด็นนี้ก็คล้ายๆกับ LGBT เรื่องสิทธิเสรีภาพของการเลือกคู่ครอง และพอพระเอกในหนังเป็นผู้หญิง มันตีความมาทางนี้ได้เลย แต่ผมคงไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ อยากให้มองเห็นว่าหนังน่าจะมีประเด็นนี้แอบแฝงอยู่ด้วย เป็นประเด็นที่ อดีตไม่มีความสำคัญ แต่ปัจจุบันถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ความรักใน The Love Eterne ถือว่าขัดต่อประเพณีอันเก่าแก่ของจีน การที่ชายหญิงสองคนรักกันแต่ไม่สามารถครองคู่กันได้ เป็นการสอดแทรกประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สังคมจีนได้อย่างน่าทึ่ง นี่ถือเป็นจุดที่ต่างจาก Romeo and Juliet โดยสิ้นเชิง เพราะเรื่องนั้นพระนางเสียชีวิตเพราะความเข้าใจผิดระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย แต่ม่านประเพณี ทั้งสองรู้ตัวกันอยู่แล้วว่าไม่มีวันได้คู่กัน และนางเอกไม่สามารถเลือกได้, ตอนจบที่ Butterfly Lovers กลายเป็นชื่อของเรื่องราวทั้งหมดนี้ ด้วยการตายแล้วกลายเป็นผีเสื้อ จะว่าเป็นวิญญาณ ภพหน้า ชาติหน้า ฯ นี่แสดงถึงความเชื่อที่ต่างกันของคนฝั่งตะวันตกและตะวันออก ฝั่งเราเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ถึงชาตินี้ไม่ได้เคียงคู่กัน ชาติหน้า ภพหน้ายังมี, Romeo and Juliet อาจมีพูดถึงเรื่องชาติภพหน้า แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ความสำคัญเทียบเท่ากับม่านประเพณีฝั่งเอเชียนะครับ
6 รางวัล Golden Horse Award ประกอบด้วย Best Film, Best Director: Li Han Hsiang, Best Actress: Betty Loh Ti, Special Award Outstanding Performance: Ivy Ling Po, Best Music และ Best Editing, นอกจากนี้หนังยังเป็นตัวแทนของ Hong Kong ส่งเข้าชิง Oscar แต่ไม่เข้ารอบใดๆ
ตอนที่หนังฉายปี 1963 ว่ากันว่าเป็นหนังที่ทุบสถิติ Box Office ทั้ง Hong Kong และ Taiwan ขนาดว่า Ling Po เดินทางไป Taiwan ปีถัดมาเพื่อโปรโมทหนังอีกเรื่อง มีแฟนๆมารอรับกว่า 200,000 คน จนเธอเรียก Taipei ว่าเป็น Crazy City, ใน Taiwan มีคนที่อ้างว่าดูหนังเรื่องนี้เกิน 500 รอบ จำบทสนทนาได้ทุกประโยค และคนที่ดูเกิน 50-100 รอบมีจำนวนมาก จน Run Run Shaw ต้องออกมาประกาศ ตอบแทนแฟนกลุ่มนี้ถ้าใครดูหลายรอบมากๆ หรือดูจนคนขายตั๋วจำหน้าได้ก็ไม่ต้องจ่ายค่าตั๋ว, บางคนขนาดเอาข้าวกล่องเข้าโรงหนัง ดูตั้งแต่เช้ายันค่ำ, Ang Lee เคยพูดเล่าให้ฟังว่า พ่อแม่ของเขาก็ไปดูบ่อย ครั้งหนึ่งจำได้ว่าวันนั้นพายุเข้า พวกเขายังออกจากบ้านไปดูหนัง, ถ้าเทียบกับอเมริกาแล้ว ปรากฎการณ์ของหนังเรื่องนี้เทียบเท่ากับ The Birth of Nation หรือ Gone With The Wind เลย
กับคอหนังจีน นี่เป็นหนังที่ “ต้องหามาดูให้ได้” อาจต้องตั้งใจหาหน่อยเพราะมักจะซ่อนอยู่ในกองหนังจีนราคาถูกๆ 3 แผ่นร้อย (หรืออาจถูกกว่านั้น), กับคนที่ไม่ใช่คอหนังจีน ถ้ามีโอกาสแนะนำต้องลองหามาดูนะครับ, ใครชอบ Romeo and Juliet ควรจะหา Butterfly Lovers เพื่อเปรียบเทียบวรรณกรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก, จัดเรต PG ถึงจะมีฉากฆ่าตัวตาย แต่หาได้มีความรุนแรงเหมือนหนังฝั่งตะวันตกไม่
Leave a Reply