The Maltese Falcon

The Maltese Falcon (1941) hollywood : John Huston ♥♥♥♥♡

รูปปั้นเหยี่ยวจากประเทศ Malta คือสิ่งที่ใครๆใฝ่ฝันหมายปอง ต่างแสดงออกโดยไม่สนดี-ชั่ว ถูก-ผิด ศีลธรรม-จรรยา เพื่อให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว, ผลงานแรกแจ้งเกิดผู้กำกับ John Huston สร้างเอกลักษณ์การแสดงให้ Humphrey Bogart และถือเป็นจุดกำเนิด Film Noir สู่กระแสหลักแห่งวงการภาพยนตร์

ฟิล์มนัวร์, Noir ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ดำ หรือคือ ‘Genre’ ภาพยนตร์ที่สะท้อนด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์ออกมา ส่วนใหญ่ผสมผสานกับแนวอาชญากรรม สืบสวนสอบสวน ตำรวจ-ผู้ร้าย ไม่ก็สะท้อนปัญหาสังคม, จุดเด่นจากยุคคลาสสิก นิยมใช้แสงหรือความมืดมิด ‘Low Key’ มุมกล้องแปลกๆ และมักดำเนินเรื่องโดยใช้หญิงสาวพราวเสน่ห์ล่อหลอกผู้ชายให้ติดกับดัก

จุดเริ่มต้นของ Noir ได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ยุคหนังเงียบ German Expressionism ต่อยอดสู่ยุคหนังพูด อาทิ M (1931), Scarface (1932), Shanghai Express (1932), The Devil Is a Woman (1935), ฝั่งฝรั่งเศสคือทศวรรษของ Poetic Realism อาทิ Pépé le Moko (1937), Le Quai des brumes (1938) ฯ มีข้อถกเถียงกันอย่างเยอะ ว่าภาพยนตร์เรื่องไหนสมควรจัดให้เป็นหนังนัวร์เรื่องแรกของโลก
–  ถ้าเป็นนักวิจารณ์จากฝรั่งเศส จะเริ่มนับที่ Le Quai des brumes (1938)
– ฝั่ง Hollywood ยกให้ Stranger on the Third Floor (1940) คือหนังนัวร์เรื่องแรกแท้จริง

แต่สำหรับครั้งแรกของโลกที่มีการพูดเอ่ยถึง ‘Film Noir’ ได้ยกจุดเริ่มต้นให้ The Maltese Falcon (1941) คือภาพยนตร์นำเข้ากระแสหลักของ Hollywood ประสบความสำเร็จล้นหลามในยุคคลาสสิก ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 40s – 50s

The Maltese Falcon (1930) ต้นฉบับคือนวนิยายสายสืบ แต่งโดย Dashiell Hammett (1894 – 1961) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเคยทำงานเป็นนักสืบเอกชนสังกัด Pinkerton Detective Agency, San Francisco นำเอาประสบการณ์ดังกล่าวมาพัฒนาผลงานหลายๆชิ้น ประสบความสำเร็จขายดี จนได้รับยกย่อง ‘one of the finest mystery writers of all time’

ก่อนหน้านี้ The Maltese Falcon เคยได้รับดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึงสองครั้ง
– The Maltese Falcon (1931) กำกับโดย Roy Del Ruth, นำแสดงโดย Bebe Daniels, Ricardo Cortez
– Satan Met a Lady (1936) กำกับโดย William Dieterle นำแสดงโดย Bette Davis, Warren William

John Marcellus Huston (1906 – 1987) นักเขียนบท กำกับ แสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Nevada, Missouri, พ่อของเขา Walter Huston สมัยนั้นเป็นนักแสดงแร่ สร้างอิทธิพลให้อย่างมาก หลงใหลในภาพยนตร์ ยกย่อง ‘Charlie Chaplin was a god.’ โตขึ้นมุ่งสู่ New York ได้งานนักแสดง Broadway ต่อมากลายเป็น Dialogue Writer (เขียนบทพูด) ในหนังของผู้กำกับ William Wyler กลายเป็นทั้งอาจารย์ เพื่อนสนิท ช่วยแนะนำอะไรหลายๆให้, ผลงานเด่นๆในช่วงเป็นนักเขียน อาทิ Jezebel (1938), Dr. Ehrlich’s Magic Bullet (1940) ** เข้าชิง Oscar: Best Original Screenplay, High Sierra (1941) ฯ

ด้วยความชื่นชอบนวนิยาย The Maltese Falcon เป็นการส่วนตัว แต่กลับผิดหวังอย่างยิ่งยวดกับการดัดแปลงทั้งสองครั้ง โดยเฉพาะรอบหลังมีการปรับเปลี่ยนแปลงโน่นนี่นั่นมากมายเพื่อให้ผ่านกองเซนเซอร์ Hays Code ด้วยเหตุนี้ Huston เลยต้องการท้าทายข้อจำกัดดังกล่าว ซุ่มพัฒนาบทใหม่ละเอียดยิบ พร้อมวาด Storyboard ทุกช็อตฉาก (รับอิทธิพลวิธีทำงานจาก Alfred Hitchcock) ได้รับการอนุมัติโดย Jack L. Warner ให้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต

พื้นหลัง San Francisco ปี 1941, นักสืบเอกชน Sam Spade (รับบทโดย Humphrey Bogart) และคู่หู Miles Archer (รับบทโดย Jerome Cowan) ได้รับการติดต่อว้าจ้างโดยลูกค้าหญิงรายหนึ่ง Ruth Wonderly (Mary Astor) ให้ช่วยติดตามน้องสาวหายตัวไป โดยชายชื่อ Floyd Thursby [เป็น Mac-Guffin ที่ไม่พบเห็นใบหน้าหรือนักแสดง] ค่ำคืนนั้นโดยไม่รู้ตัว Miles ถูกยิงเสียชีวิต มันเกิดเหตุการณ์บ้าบอคอแตกอะไรขึ้นกันแน่

นำแสดงโดย Humphrey DeForest Bogart (1899 – 1957) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ New York City เป็นเด็กหัวขบถตั้งแต่เด็ก พี่แม่วางแผนอะไรไว้ให้ไม่เคยใคร่สน เหมือนจะจงใจสอบตกให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน สมัครเข้าเป็นทหารเรือ เดินทางไปฝรั่งเศสขณะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพื่อหลีสาว ปลดประจำการออกมากลายเป็นนักแสดงละครเวทีอยู่หลายปี จนกระทั่ง Wall Street Crash เมื่อปี 1929 มุ่งหน้าสู่ Hollywood มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกหนังสั้น 2 reel เรื่อง The Dancing Town (1928) [ฟีล์มสูญหายไปแล้ว] ผลงานหนังพูดเรื่องแรก Up the River (1930), เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่สนิทสนม John Huston แสดงนำใน High Sierra (1941) [Huston ดัดแปลงบท] และตามมาด้วย The Maltese Falcon (1941) [Huston กำกับเรื่องแรก]

รับบท Sam Spade นักสืบเอกชนที่มีความเฉลียวฉลาด ไหวพริบปณิธานดีเยี่ยม สามารถไขปริศนาต่างๆได้อย่างรวดเร็วไว แต่กลับสนใจเพียงชื่อเสียง เงินทอง และการอยู่รอดปลอดภัยของตนเอง เรียกว่ามีความเลือดเย็นเห็นแก่ตัวสุดๆ ขนาดเพื่อนคู่หูนักสืบถูกฆาตกรรมเสียชีวิต ก็ไม่ได้ใคร่โศกสนใจสักเท่าไหร่ สั่งให้เลขาขนย้ายโต๊ะทำงานออก เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นของตนเองโดยพลัน

นักแสดงที่อยู่ในความสนใจแรกของโปรดิวเซอร์คือ George Raft ถือเป็นตัวเลือกใช้ได้ แต่เจ้าตัวบอกปัดปฏิเสธเพราะไม่อยากร่วมงานผู้กำกับหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์ โอกาสเลยตกมาเป็นของ Humphrey Bogart เพิ่งประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก High Sierra ยินดีอย่างยิ่งยวดเพราะอยากรับบทที่มีความคลุมเคลือ เหมือนจะเป็นคนดีแต่ก็โฉดชั่วเห็นแก่ตัวสุดๆเช่นกัน

สิ่งโดดเด่นมากๆในการแสดงของ Bogart คือสีหน้า ดวงตา และจังหวะคำพูดจา รวดเร็วเหมือนสาดปืนกล จนสามารถทำให้ผู้ชมเกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก หยุดกลั้นหายใจชั่วขณะหนึ่ง, ไฮไลท์คือช่วงท้ายเมื่อเหลือเพียงตนเองกับหญิงสาว ‘turn to dark-side’ จ้องหน้า ทำตาโตแทบถลนออกจากเบ้า เรื่องอะไรที่ฉันจะต้องเสียสละติดคุกแทนผู้อื่นในเมื่อผู้ต้องหาปรากฎอยู่ต่อหน้า

ในบรรดาผลงานการแสดงของตนเอง เหมือนว่า Bogart จะภาคภูมิใจกับเรื่องนี้ที่สุดแล้ว มันทำให้เขาขนลุกเนื้อเต้นกับพฤติกรรมตัวละคร หลังจากนี้พยายามสรรหาบทบาทอื่นที่สามารถกระตุ้นพลังในตนเอง จนแล้วจนรอดก็ไม่พบเจออีก

“It is practically a masterpiece. I don’t have many things I’m proud of … but that’s one”.

– Humphrey Bogart

ภาพลักษณ์/การแสดงของ Bogart จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้กลายเป็น ‘Archtype’ แม่แบบพิมพ์ตัวละครสายสืบเอกชน ให้กับหนังนัวร์หลังจากนี้ เส้นแบ่งบางๆระหว่างดี-ชั่ว ถูก-ผิด ได้ลบเลือนลางจางหายไปแล้ว

เกร็ด: หลังจาก Ingrid Bergman ได้แสดงนำ Casablanca (1942) บอกว่ารับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อศึกษาการแสดงของ Bogart เตรียมตัวเพื่อตอบโต้รับส่ง จักได้มีความเป็นธรรมชาติที่สุด

Mary Astor ชื่อจริง Lucile Vasconcellos Langhanke (1906 – 1987) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Quincy, Illinois ครอบครัวอพยพจาก Germany ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเล่นเปียโน ตอนอายุ 15 ปี ได้รับคัดเลือกแสดงละครเวที ต่อมาเข้าตาแมวมองสตูดิโอ Paramount กลายเป็นนักแสดงยุคหนังเงียบ The Man Who Played God (1923), Beau Brummel (1924), Don Juan (1926) ฯ การมาถึงของยุคหนังเงียบก็สามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างฉลุย The Maltese Falcon (1941), The Great Lie (1941) ** คว้า Oscar: Best Supporting Actress, Across the Pacific (1942), Meet Me in St. Louis (1944) ฯ

รับบท Ruth Wonderly/Brigid O’Shaughnessy หญิงสาวผู้มีลิ้นพันกันเหมือนปลวก ชอบปั้นน้ำเป็นตัว โกหกหลอกลวง กะล่อนปลิ้นปล้อน สร้างภาพให้เหมือนเด็กไร้เดียงสา แต่แท้จริงเชี่ยวกรากกร้านโลก, ครั้งหนึ่งได้รับการติดต่อจาก Joel Cairo (รับบทโดย Peter Lorre) ให้ใช้มารยาเสน่ห์ลักขโมยรูปปั้นเหยี่ยวจาก Floyd Thursby ทั้งๆก็ไม่รู้หรอกว่ามูลค่าเท่าไหร่ แค่รู้สึกค่าจ้างน้อยไปเลยเล่นตัว ซ้อนแผนตั้งใจตลบหลัง สุดท้ายกลับโดนลงโทษทัณฑ์เสียเอง

การแสดงของ Astor สังเกตไม่ยากว่าปั้นแต่งฝืนธรรมชาติ ซึ่งนั่นเป็นความจงใจให้ตรงกับพฤติกรรมตัวละครที่มีความกะล่อนปลิ้นปล้อน โกหกหลอกลวง ‘สร้างภาพ’ ซึ่งลวดลายพรางแท้จริงจะปรากฎครั้งแรกเมื่อพบเจอสนทนากับ Joel Cairo น้ำเสียง ท่าทาง เปลี่ยนไปราวกับคนละคน, ไฮไลท์อยู่ช่วงท้าย เมื่อหญิงสาวไม่สามารถหนีกฎแห่งกรรมของตนเองพ้น หยาดหยดน้ำตานั่นกลั่นออกมาจากภายใน ของจริงแท้แน่นอน (ประมาณว่าฉันมันก็คนเลวแล้วนะ แต่มีสัตว์นรกที่โฉดชั่วยิ่งกว่าอีก!)

ช่วงประมาณกลางเรื่อง สังเกตเสื้อผ้าของหญิงสาว ลวดลายขวางราวกับชุดนักโทษ นี่เป็นการพยากรณ์สิ่งจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต (มู่ลี่/เฟอร์นิเจอร์หลายๆชิ้นในห้องของเธอ ก็มีลักษณะเหมือนซี่กรงขังคุก)

สำหรับสองนักแสดงสมทบที่กลายเป็นเพื่อนสนิท คู่หู ร่วมงานกันอีกหลายครั้ง คือ

Sydney Hughes Greenstreet (1879 – 1954) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Sandwich, Kent ออกจากบ้านเอาตัวรอดด้วยตนเองตอนอายุ 18 ปี เริ่มจากคนงานดูแลต้นชา Ceylon ต่อด้วยหมักเหล้า ไปๆมาๆเข้าเรียนการแสดง ได้รับคัดเลือกมีผลงานละครเวทีนับไม่ถ้วน ด้วยความมิได้ใคร่สนใจสู่วงการภาพยนตร์ เคยมีหลายสตูดิโอติดต่อก็บอกปัดปฏิเสธไป จนกระทั่งได้รับการชักชวนจาก John Huston เซ็นสัญญากับ Warner Bros. แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Maltese Falcon (1941) ตอนอายุ 62 เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor น่าเสียดายอยู่ในวงการเพียงไม่ถึงสิบปีเท่านั้น ผลงานเด่นอื่นๆ Across the Pacific (1942), Casablanca (1942), The Verdict (1946), Malaya (1949) ฯ

รับบท Kasper Gutman ฉายา ‘Fat Man’ ดูเป็นนักธุรกิจ ชนชั้นสูง ฐานะดีพอสมควร ความสนใจมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ต้องการครองครองเป็นเจ้าของรูปปั้นเหยี่ยว สิ่งล้นค่าประเมินราคามิได้ พยายามทุกวิถีทางไม่ว่าดี-ชั่ว ถูก-ผิด แต่เจ้าของขณะนั้นคือ Sam Spade บุคคลเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ฉ้อฉล สนแค่เงิน $10,000 เหรียญ และหาแพะรับบาปที่ฆ่าคู่หูของตนเท่านั้นเอง

สำเนียงการพูดลงท้ายด้วย Sir แสดงถึงความเป็นผู้ดีอังกฤษ แต่จิตใจกลับหาความงามไม่ได้สักนิด โลภละโมบเห็นแก่ตัวเหมือนหุ่นตุ้ยนุ้ยของตนเอง และเพื่อเป้าหมายต้องการ เสียสละได้แม้กระทั่งลูกน้องตนเองให้กลายเป็นแพะรับบาป

เกร็ด: ชื่อของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกทิ้งยัง Nagasaki ตั้งชื่อว่า ‘Fat Man’ เห็นว่าได้แรงบันดาลใจจากตัวละครนี้แหละ

Peter Lorre ชื่อเกิด László Löwenstein (1904 – 1964) นักแสดงสัญชาติ Austro-Hungarian เกิดที่ Rózsahegy, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Ružomberok, Slovakia) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนอายุสิบขวบเกิดสงคราม Second Balkan War (1913) กลายเป็นยุวชนทหารสังกัดหน่วยรบด้านตะวันออก แต่เพราะหัวใจไม่ค่อยแข็งแรงเลยได้งานเป็นผู้คุมนักโทษในช่วงปี 1914-15 ผ่านพ้นสงครามมุ่งสู่ Vienna ตามด้วย Berlin กลายเป็นนักแสดงละครเวทีมีชื่อเสียงพอสมควร เข้าตาผู้กำกับ Fritz Lang จับมาแสดงภาพยนตร์เรื่อง M (1931) โด่งดังไปทั่วโลก! เข้าตาผู้กำกับ Hitchcock นัดพบเจอยังกรุง London (หนี Nazi ออกมาได้อย่างหวุดหวิดพอดี) แม้ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ แต่ถูกใจจนยอมยกบทตัวร้ายให้

รับบท Joel Cairo ลูกน้องของ Gutman ที่ดูพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่พอมองออกว่าเป็น Homosexual มีความแต๋วๆ พกผ้าเช็ดหน้ากลิ่น Gardenias และโวยวายเมื่อเสื้อเปื้อนเลือด (นี่คือวิธีการเลี่ยงไม่นำเสนอออกมาตรงๆเพื่อให้ผ่าน Hays Code)

การแสดงของ Lorre ถือว่าเป็น Typecast มาตั้งแต่ M (1930) กระนั้นก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงทีเดียว เพราะเมื่อผู้ชมพบเห็นใบหน้าภาพลักษณ์ แทบจักรู้ได้ทันที หมอนี่ไม่น่าใช่คนมาดีแน่

แซว: Greenstreet กับ Lorre แสดงหนังร่วมกันทั้งหมด 9 เรื่อง พอๆกับคู่ขวัญพระนาง Fred Astaire กับ Ginger Rogers ที่ร่วมงานกัน 10 ครั้ง!

ถ่ายภาพโดย Arthur Edeson (1891 – 1970) ตากล้องในตำนาน สัญชาติอเมริกัน มีผลงานตั้งแต่ยุคหนังเงียบ Robin Hood (1922), The Thief of Bagdad (1924), The Lost World (1925), และยิ่งใหญ่กับหนังพูด Frankenstein (1931), The Maltese Falcon (1941), Casablanca (1942) ฯ

หนังเรื่องนี้สร้างขึ้นหลังการมาถึงของ Citizen Kane (1941) ประมาณครึ่งปี คงต้องถือว่าได้รับอิทธิพลมาไม่มากก็น้อย
– การจัดแสง Low Key ให้ความมืดมิดเป็นส่วนใหญ่ของภาพ ซึ่งมักสะท้อนสิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจตัวละคร
– ทิศทางของภาพ โดยเฉพาะมุมเงยขึ้นจากพื้นจนเห็นเพดาน นี่เป็นการแสดงอำนาจ สะท้อนนิสัย/พฤติกรรม/ธรรมชาติของตัวละครนั้นๆออกมา

ใน Casablanca ก็มีซีนคล้ายๆกันนี้ แสงสว่างจากภายนอกสาดส่องเข้ามาผ่านกระจก พบเห็นเงาของชื่อ(ร้าน)ปรากฎอยู่บนพื้น นี่ถือเป็นการสะท้อนความตารปัตรของเรื่องราว อะไรควรเป็นกลับไม่ตรงกันข้าม ดี-ชั่ว ถูก-ผิด บ่งบอกไม่ได้เลยว่าใครอยู่ฝั่งฝ่ายไหนกันแน่

มุมเงยที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากสุดของหนัง ช็อตนี้เป็นการแสดงพลังอำนาจของตัวละคร บ่งบอกด้วยภาษาภาพยนตร์ว่าตนอยู่ตำแหน่งสูงส่ง ถือไพ่เหนือกว่า, ช็อตลักษณะนี้ใน Citizen Kane (1941) พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง แต่จุดเริ่มต้นนั้นมีมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ผมเคยพบเห็นเก่าสุดก็ Zvenigora (1928) ของผู้กำกับ Alexander Dovzhenko

หนึ่งในฉากได้รับการกล่าวขวัญถึงมากสุดในหนัง คือ Kasper Gutman มอมเหล้า Sam Spade, กับคนที่ตามอ่านเกร็ดหนังจากหลายๆเว็บ อาจเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าคือ Long Take ความยาว 7 นาที แต่ผมว่าไม่ใช่อย่างแน่นอน เพราะผู้กำกับ Huston ตระเตรียมการวาด Storyboard มาอย่างเปะๆ คงเป็นครั้งที่ทุกช็อตถ่ายทำเทคเดียวผ่านหมด เวลาเหลือเลยนัดหมายกันไปตีกอล์ฟหลังจากนี้

“On one of these days, Huston had set aside an entire day to shoot one elaborate moving camera sequence. The sequence lasted about seven minutes, and they nailed it perfectly in one take; the rest of the day was spent at the golf club”.

ความลื่นไหลของฉากนี้ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่อาจไม่ทันสังเกต เมื่อไหร่ที่ตัวละคร Sam Spade จิบเหล้าจนถูกมอมเมาหมดสติ? คือขณะที่ Kasper Gutman พูดประโยค

“I will give you $25,000 when you deliver the falcon to me”.

ซึ่งถ้าใครจดจำการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ Gutman จะพูดเตือนไว้ประโยคหนึ่ง

“I distrust a man who say ‘when‘. He’s got to be careful not to drink too much because he’s not to be trusted when he does”.

ได้ยินครั้งแรกเหมือนการแนะนำสอนสั่ง คำเตือนให้รู้จักระวังตัว แต่ภายหลังกลับกลายเป็นเขาเองที่คือคนกลับกลอก และพระเอกก็ปล่อยตัวพลาดพลั้งเผลอเรอไปเอง

ว่ากันด้วยเรื่องของเหยี่ยว Maltese Falcon ออกแบบแกะสลักโดย Fred Sexton (1907 – 1995) สัญชาติอเมริกัน ถูกขอให้สร้างสรรค์ขึ้น 3 ตัว ได้แรงบันดาลใจจาก Kniphausen Hawk เหยี่ยวแกะสลักจากหิน ประดับโกเมนสีแดง (Red Garnets), พลอยสีม่วง (Amethysts), มรกตสีเขียว (Emeralds) และไพลินสีน้ำเงิน (Blue Sapphires) ของเฉลิมฉลองวาระดำรงตำแหน่ง Count of the Holy Roman Empire ของ George William von Kniphausen เมื่อปี ค.ศ. 1967 ปัจจุบันเป็นของสะสมของตระกูล Chatsworth House

สำหรับเหยี่ยวแกะสลักที่ใช้ในหนัง ความสูง 11.5 นิ้ว (29 เซนติเมตร) น้ำหนัก 45 ปอนด์ ตัวแรก Bogart เผลอทำตกหล่นเกิดรอยถลอกเสียหายเล็กน้อย เลยต้องใช้อันที่สองเพื่อขูดลอกพิสูจน์เนื้อใน หลงเหลือไม่ได้ถูกทำอะไรเพียงอันเดียว, เมื่อปี 1994 มีการนำออกประมูลได้ราคาสูงถึง $398,500 เหรียญ (มากกว่าทุนสร้างหนังอีกนะ!), และเมื่อปี 2013 ราคาเพิ่มขึ้นถึง $4 ล้านเหรียญ! น่าจะถือว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากประมูลด้วยราคาแพงที่สุดในโลกแล้วกระมัง

อีกช็อตหนึ่งช่วงท้ายได้รับการกล่าวขวัญไม่ย่อหย่อนกว่ากัน, เมื่อหญิงสาวถูกส่งตัวให้ตำรวจจับกุมตัว ขณะกำลังลงลิฟท์ประตูเลื่อนปิด มีลักษณะเหมือนกรงขัง และเงาที่อาบฉาบใบหน้าของเธอมีสามแฉก ว่าไปเหมือนตีนเหยี่ยว/อีกา เรียกว่าถูกย่ำเหยียบ หมดสิ้นสูญศรัทธา ความฝันเคยมีมาพังทลายไม่หลงเหลืออะไร

ตัดต่อโดย Thomas Richards (1899 – 1946) สัญชาติอเมริกัน น่าเสียดายอายุสั้นไปหน่อยเลยมีผลงานไม่เยอะ ที่เด่นๆจึงมีเพียง Each Dawn I Die (1939), The Maltese Falcon (1941), The Seventh Cross (1944) ฯ

99.9% เล่าเรื่องในมุมมองสายตาของ Sam Spade (เข้าสูตรหนังนัวร์เปะๆ) แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นคือการเสียชีวิตถูกยิงตายของคู่หู Miles Archer เห็นว่าเป็นคำร้องขอของสตูดิโอให้ใส่เข้ามา ไม่ใช่ความตั้งใจของ Huston ซึ่งเอาจริงๆจะมีหรือไม่มีซีนนี้ ก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อหนังสักเท่าไหร่

เพราะความที่ Huston ตระเตรียมการวาด Storyboard ของหนังมาแบบเปะๆ ทำให้การถ่ายทำ/ตัดต่อ มีความรวดเร็ว กระชับ ฉับไว แทบไม่มีอะไรสูญเสียเปล่า เสร็จสิ้นก่อนกำหนดการณ์ แถมยังใช้ทุนสร้างต่ำกว่าที่ตั้งใจไว้อีก (เรียกว่าถูกใจผู้บริหาร Warner Bros. อย่างมาก และเมื่อหนังทำกำไรก็เลยมอบอิสระผู้กำกับอย่างเต็มที่)

เพลงประกอบโดย Adolph Deutsch (1897 – 1980) สัญชาติอังกฤษ อพยพย้ายมาอเมริกา เริ่มจากเป็นวาทยากรกำกับวงออเครสต้าในโรงฉายหนังเงียบ, แต่งบทเพลงการแสดง Broadway, สู่วงการภาพยนตร์ยุคหนังพูด คว้า Oscar สามครั้งจาก Annie Get Your Gun (1950), Seven Brides for Seven Brothers (1954), Oklahoma! (1955) ผลงานเด่นอื่นๆ High Sierra (1941), The Maltese Falcon (1941), Show Boat (1951), The Wand Wagon (1953), Some Like It Hot (1959), The Apartment (1960) ฯ

สัมผัสบทเพลงประกอบ เต็มไปด้วยความลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ชวนให้พิศวงสงสัย ใคร่อยากค้นหาคำตอบว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรกันขึ้นแน่

ผมคงไม่สรุปเนื้อหาของหนังว่าเกิดความว้าวุ่นวายอะไรขึ้นบ้าง ให้เป็นความท้าทายของผู้ชมเองแล้วกันว่า จะมีศักยภาพสามารถเข้าใจได้มากน้อยเพียงไหน ถึงดูไม่รู้เรื่องแต่ถ้ามันสนุกก็ถือว่าเป็นหนังดี … รึเปล่า?

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของหนังอยู่ที่รูปปั้นเหยี่ยว และคำพูดสุดท้ายของตัวละคร Sam Spade ติดดันดับ 14 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Movie Quotes:

“The stuff that dreams are made of”.

– Sam Spade

คำพูดประโยคนี้ได้แรงบันดาลใจจากบทละคร The Tempest ของ William Shakespeare  กล่าวโดย Prospero ในองก์ 4

We are such stuff as dreams are made on, and our little life is rounded with a sleep”.

– Prospero

เหยี่ยว คือนกที่โบยบินอยู่บนเวหา ดวงตาของมันมองเห็นอะไรไกลๆ เรียกว่าเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคต หรือคือความเพ้อใฝ่ฝันของมนุษย์ อยากประสบความสำเร็จ ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของ ซึ่งสำหรับบางคนยินยอมพร้อมแลกทุกสิ่งอย่าง หาได้สนความถูก-ผิด ดี-ชั่ว แค่ชัยชนะเหนือกว่าผู้อื่น ก็พึงพอสุขแล้วแห่งใจ

การมาถึงของยุคสมัยหนังนัวร์ พอดิบพอดีระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งการสะท้อนด้านมืด/สิ่งชั่วร้ายภายในจิตใจมนุษย์ ยังสามารถสื่อความได้ถึงระดับมหภาค ประเทศชาติ/โลกขณะนั้น เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ฉ้อฉล เส้นแบ่งบางๆระหว่างดี-ชั่ว เริ่มค่อยๆพร่ามัวเลือนลาง อะไรจริง อะไรเท็จ สุดท้ายคือผลประโยชน์ส่วนตัว-ประเทศชาติ ศัตรูใครอื่นช่างหัวมันฉันไม่แคร์

มีอีกสิ่งหนึ่งที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจของหนังหรือเปล่า ธงชาติเยอรมันสมัยก่อนจะมีรูปนกอินทรีปรากฎอยู่ ซึ่งการที่หนังเรื่องนี้ The Maltese Falcon แท้จริงแล้วคือ … นี่ถือเป็นการสะท้อนตัวตนแท้จริงของนาซี, เยอรมันนี หาใช่สิ่งที่พวกเขาครุ่นคิด เพ้อฝัน ใฝ่สูง ว่าตนเองยิ่งใหญ่อหังการเหนือกว่าชนชาติอื่น

ด้วยทุนสร้าง $375,000 เหรียญ ทำเงินในอเมริกา $967,000 เหรียญ รวมทั่วโลก $1.772 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จกำไรอย่างดงาม, เข้าชิง Oscar 3 สาขา ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Supporting Actor (Sydney Greenstreet)
– Best Writing, Screenplay

ถือว่าหนังโดน SNUB หลายสาขาทีเดียวนะ Best Actor, Best Cinematography, Best Film Edited ไม่รู้เพราะมี Citizen Kane (1941) ให้เปรียบเทียบหรือเปล่า เลยถูกมองข้ามเสียส่วนใหญ่

ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ เพราะความหวาดหวั่นสั่นสะพรึง’กลัว’ที่เกิดขึ้นช่วงท้าย คาดคิดไม่ถึงว่าเพื่อการดิ้นรนเอาตัวรอด มนุษย์จะสามารถยินยอมแลกกับทุกสิ่งอย่าง คลุ้มคลั่งเสียสติแตกขนาดนั้นเลยหรือ … นี่ถ้าไม่ติดว่าผมชอบความเบาสมองของ Humphrey Bogart จาก The African Queen (1951) มากกว่า จะยกให้เรื่องนี้สมบูรณ์แบบที่สุดเลย

และสิ่งที่ต้องยกย่องชื่นชมสุดๆเลย คือไดเรคชั่นท่ายากของผู้กำกับ John Huston สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ ไม่ย่อหย่อนไปกว่า Citizen Kane (1941) ของ Orson Welles

ข้อคิดสอนใจของหนังที่อยากชักชวนให้ตั้งคำถาม, เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของบางสิ่งอย่าง(แต่เพียงผู้เดียว) มนุษย์เราจะสามารถเสียสละแลกกับทุกสิ่งอย่าง ไม่สนถูก-ผิด ดี-ชั่ว ศีลธรรม-จริยธรรม-มโนธรรม ได้จริงๆหรือเปล่า? และถ้าเป็นคุณจะเลือกทำเช่นนั้นเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอดหรือไม่!

แนะนำคอหนังนัวร์ ชื่นชอบแนวอาชญากรรม สืบสวนสอบสวน ซับซ้อนซ่อนเงื่อน, งานภาพสวยๆ ตัดต่อเจ๋งๆ การแสดงที่เป็นตำนานของ Humphrey Bogart, Sydney Greenstreet, Peter Lorre และแฟนๆผู้กำกับ John Huston ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับด้านมืดมิดของมนุษย์

คำโปรย | “The Maltese Falcon เติมเต็มความฝันแรกของ John Huston ส่งให้ Humphrey Bogart โบยบินท่ามกลางฟากฟ้านภาดาว”
คุณภาพ | เตร์พี
ส่วนตัว | ตกหลุมรักคลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: