The Man Who Knew Too Much

The Man Who Knew Too Much (1934) British : Alfred Hitchcock ♥♥♥♡

แม้ส่วนใหญ่จะมองว่า Hollywood Remake ฉบับปี 1956 มีความยอดเยี่ยมกว่าหลายเท่า ถึงกระน้้นภาพลักษณ์ตัวร้าย รับบทโดย Peter Lorre ไม่มีใครเทียบแทนได้แน่ และหลายๆลายเซ็นต์ของ Alfred Hitchcock ปรากฎโดดเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในลายเซ็นต์ของ Hitchcock ที่โดดเด่นชัดมากกับ The Man Who Knew Too Much (1934) คือจังหวะการแทรกใส่ Comedy เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับเรื่องราว และเพื่อผู้ชมจักไม่เกิดความตึงเครียดมากเกินไป แม้หลายครั้งอาจยังดูขาดๆเกินๆล้นๆ แต่เว้ยเห้ย!คลาสสิกว่ะ

มุกหนึ่งที่หลายคนอาจเฉยๆ แต่ผมถึงกลับขำกลิ้ง, เมื่อตำรวจนายหนึ่งพูดขึ้นว่า ‘Looks like an all-night job to me.’ ด้วยน้ำเสียงแบบเบื่อหน่าย ไม่ทันไรเขาถูกเรียกตัวจากหัวหน้าสั่งให้ไปเคาะประตูบ้านหลังหนึ่ง ขณะกำลังเดินยังไม่ทันถึงหน้าประตู เสียงปืนดังขึ้น หมอนี้กลายเป็นศพแรกของวัน ว่าไปตำรวจนายนี้ผู้ทำตัวเฉลียวฉลาดรู้มาก ‘The Man Who Knew Too Much’ เลยได้รับผลกรรมตอบแทนอย่างสาสมควร

แถมให้อีกมุกหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตเท่าไหร่ ตอนต้นเรื่องยัง Switzerland เด็กหญิงสาว Betty อุ้มสุนัขตัวหนึ่งที่ดิ้นหลุดจากอ้อมกอด แล้วกลายเป็นชนวนเกิดอุบัติเหตุกับนักเล่น Ski jumping, ลองติดตามค้นหาเจ้าหมาตัวดื้อตัวนี้ให้ดีๆนะครับ มันห่างหายไปจากหนังทั้งเรื่องเลย! หรือว่าถูก ‘The Dog Who Knew Too Much’ ไปเรียบร้อยแล้ว

The Man Who Knew Too Much ชื่อหนังที่สามารถมองได้เหมือนคำกริยาหนึ่ง สะท้อนถึงคน-สัตว์-สิ่งของ รับล่วงรู้บางสิ่งอย่างมากเกินไป ในสิ่งไม่สมควรจะทราบได้ หรือพูดทำบางอย่างเพื่อแสดงการอวดรู้ เป็นสาเหตุให้ตนเอง-ผู้อื่น ตกอยู่ในสภาวะอันตราย เฉียดตาย อุบัติเหตุ และฆาตกรรม

Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899 – 1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ ในยุคหนังพูดกำกับผลงานลำดับที่สิบ Blackmail (1929) ได้รับเสียงยกย่องล้นหลาม [เป็นหนัง Talkie เรื่องแรกของประเทศอังกฤษด้วย] แต่หลังจากนั้นอยู่ในช่วงขาลง อาจเพราะยังต้องอาศัยการปรับตัวสู่เทคโนโลยีใหม่ค่อนข้างมาก ครั้งหนึ่งกำกับหนังเพลง Waltzes from Vienna (1934) ประสบความล้มเหลวย่อยยับเยิน

“I hate this sort of stuff [Waltzes from Vienna], Melodrama is the only thing I can do”.

Hitchcock ให้สัมภาษณ์กับ François Truffaut ถึงการสร้างหนังเพลงเรื่องแรกเรื่องเดียว Waltzes from Vienna (1934) คือช่วงเวลา/ประสบการณ์ตกต่ำสุดในชีวิตการทำงาน (และไม่เคยคิดจะสร้างหนังเพลงอีกเลย)

เกร็ด: ประเทศอังกฤษ Talkie ยุคแรกๆช่วงทศวรรษ 30s มีแนวหนังหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ Operetta film ซึ่งระหว่างที่ Hitchcock หาโปรเจคน่าสนใจไม่ได้ สตูดิโอนำเสนอ Waltzes from Vienna ก็เลยทดลองเสี่ยงดู แต่มันกลับไม่คุ้มค่าความเสียหายแม้แต่น้อย

ด้วยเหตุนี้ Hitchcock เลยหวนกลับไปหาความสนใจดั้งเดิม โปรเจคในอดีตที่เคยพัฒนาไว้แต่ถูกนำขึ้นหึ้งยังไม่ได้รับการสร้าง หนึ่งในนั้นคือนวนิยายซีรีย์อาชญากรรม Bulldog Drummond (1920-37) แต่งโดย H. C. McNeile ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Charles Bennett

The tale was pure suspense. Bulldog, in Switzerland with his wife, inadvertently learns that a terrible assassination will shortly take place in London. But the ‘heavies’ know that he knows, with the result that Drummond’s five-year-old daughter is kidnapped. She will die unless Drummond holds his tongue. Meanwhile, the story stalks relentlessly toward the assassination – at a certain time and place.

–  Charles Bennett

Bennett พัฒนาเรื่องราวดังกล่าว ผสมผสานจากประสบการณ์ของตนเองขณะทำงานเป็น British Intelligence Service ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตั้งชื่อโปรเจคว่า Bulldog Drummond’s Baby ขณะนั้นสังกัดสตูดิโอ British International Pictures (BIP) แต่ถูกขึ้นหิ้งไว้เพราะโปรดิวเซอร์มองว่าทุนสร้างคงสูง และเรื่องราวเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็ก อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนไหวเกินไปของผู้ชมสมัยนั้น

หลังจาก Hitchcock ย้ายมาสังกัดสตูดิโอ Gaumont-British เมื่อปี 1933 แม้จะได้ลิขสิทธิ์ Bulldog Drummond’s Baby ที่พัฒนาไว้กับ BIP แต่กลับไม่ได้ลิขสิทธิ์ดัดแปลงนวนิยาย Bulldog Drummond เขาเลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพื้นหลัง ตัวละคร แต่คงไว้ซึ่งเค้าโครงเรื่องเดิม ตั้งชื่อหนังใหม่ The Man Who Knew Too Much นำจากชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของ G.K. Chesterton ที่ตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (แต่เรื่องราวหนังไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนี้เลยนะ)

สามี-ภรรยาและลูกสาว สัญชาติอังกฤษ ออกเดินทางไปพักร้อนยังประเทศ Switzerland บังเอิญกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมชายแปลกหน้า Louis Bernard (รับบทโดย Pierre Fresnay) โดยไม่รู้ตัวเขาถูกฆ่าเสียชีวิต ก่อนหมดลมหายใจพูดบอกความลับบางอย่างกับ Jill Lawrence (รับบทโดย Edna Best) นำไปบอกต่อสามี Bob Lawrence (รับบทโดย Leslie Banks) ถูก Blackmail จากฆาตกร ถ้าความลับดังกล่าวนั้นถูกแพร่งพรายเปิดเผยออกไป ลูกสาว Betty จะถูกเข่นฆ่าโดยทันที ด้วยความไม่สามารถแจ้งตำรวจได้ Bob และ Jill จึงตัดสินใจออกติดตามหาผู้ร้าย หาวิธีช่วยเหลือลูกสาวด้วยตัวของพวกเขาเอง!

Leslie James Banks (1890 – 1952) นักแสดง/ผู้กำกับ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ West Derby, Liverpool ตอนเด็กอยากจะเป็นนักเทศน์ แต่เปลี่ยนใจเข้าร่วมคณะของ Frank Benson กลายเป็นนักแสดงละครเวที ได้ออกทัวร์อเมริกา แคนาดา ตามด้วย West End สมัครเป็นทหารบก ได้รับบาดเจ็บครึ่งซีกพิการ ตั้งใจนำเอาภาพลักษณ์นั้นเป็นจุดขายในวงการแสดงจะประสบความสำเร็จล้นหลาม การมาถึงของยุคหนังพูดทำให้เกิดความสนใจด้านภาพยนตร์ The Most Dangerous Game (1932), The Man Who Knew Too Much (1934), Jamaica Inn (1939), Haunted Honeymoon (1940), Henry V (1944), Madeleine (1950) ฯ

รับบท Bob Lawrence เป็นคนนิสัยขี้เล่น ชื่นชอบกระเซ้าเย้าแหย่ภรรยา แต่เมื่อเกิดวิกฤตก็สามารถเป็นที่พึ่งพา พร้อมเสียสละตนเองเพื่อให้ได้ลูกสาวสุดที่รักกลับคืนมา

การแสดงของ Banks ค่อนข้างออกไปทางละครเวที ทุกลีลาเคลื่อนไหว คำพูดจา ล้วนมีจังหวะท่วงท่าของมันอย่างเปะๆ ผ่านการครุ่นคิดด้วยสติ ดูแข็งกระด้างไม่ค่อยลื่นไหบเมื่อเทียบกับบรรดานักแสดง Method Acting แต่นี่คือที่เรียกว่า Classic Actor ภาพลักษณ์ คารม การเคลื่อนไหว สามารถใช้อธิบายสิ่งที่อยู่ภายใน ‘Expression’ ของตัวละครออกมาได้

Edna Best (1900 – 1974) นักแสดงหญิง สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hove, Sussex โตขึ้นได้เป็นลูกศิษย์ของ Miss Kate Rorke ณ Guildhall School of Music and Drama, London เริ่มจากเป็นนักแสดงละครเวที เข้าสู่วงการภาพยนตร์ในยุคหนังเงียบ แต่มามีชื่อเสียงกับยุคหนังเงียบ อาทิ The Man Who Knew Too Much, Intermezzo: A Love Story (1939), Swiss Family Robinson (1940), The Ghost and Mrs. Muir (1947), The Late George Apley (1947), The Iron Curtain (1948) ฯ

รับบท Jill Lawrence นักแม่นปืนสาวแต่งงานแล้วยังสวย ชื่นชอบกระเซ้าเย้าแหย่เล่นกับสามีให้หึง ห่วงหวงลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนอย่างที่สุด แม้งานแสดงคอนเสิร์ตเธอตัดสินใจเลือกไม่ได้ว่าอะไรสำคัญกว่า แต่วินาทีแห่งความเป็นความตายของลูกรัก แม่นยำที่สุดแบบไม่ต้องมีนัดสองสาม

การแสดงของ Best ก็เช่นกัน รับอิทธิพลจากละครเวทีมาค่อนข้างเยอะ ทั้งลีลาการพูด และท่วงท่าทางแสดง แต่หลายๆช็อต Close-Up ใบหน้าของเธอ สามารถถ่ายทอดความกระวนกระวายว้าวุ่นใจ พอจะสัมผัสได้บ้างถึงความปั่นป่วนคลุ้มคลั่งภายใน

Peter Lorre ชื่อเกิด László Löwenstein (1904 – 1964) นักแสดงสัญชาติ Austro-Hungarian เกิดที่ Rózsahegy, Austria-Hungary (ปัจจุบันคือ Ružomberok, Slovakia) ในครอบครัวเชื้อสาย Jews ตอนอายุสิบขวบเกิดสงคราม Second Balkan War (1913) กลายเป็นยุวชนทหารสังกัดหน่วยรบด้านตะวันออก แต่เพราะหัวใจไม่ค่อยแข็งแรงเลยได้งานเป็นผู้คุมนักโทษในช่วงปี 1914-15 ผ่านพ้นสงครามมุ่งสู่ Vienna ตามด้วย Berlin กลายเป็นนักแสดงละครเวทีมีชื่อเสียงพอสมควร เข้าตาผู้กำกับ Fritz Lang จับมาแสดงภาพยนตร์เรื่อง M (1931) โด่งดังไปทั่วโลก! เข้าตาผู้กำกับ Hitchcock นัดพบเจอยังกรุง London (หนี Nazi ออกมาได้อย่างหวุดหวิดพอดี) แม้ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้สักคำ แต่ถูกใจจนยอมยกบทตัวร้ายให้

รับบท Abbott หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้าย ปลอมตัวหลบซ่อนอยู่ในโบสถ์ลัทธิบูชาพระอาทิตย์ (The Tabernacle of the Sun) เพื่อเตรียมวางแผนฆาตกรรมผู้นำประเทศในยุโรปคนหนึ่ง ขณะคอนเสิร์ตจัดขึ้นที่ Royal Albert Hall, London

ภาพลักษณ์ของ Abbott ราวกับคนผ่านโลก/ประสบการณ์เสี่ยงตายมาอย่างโชกโชน รอยบากแผลตรงหน้าผากฝั่งขวา ทรงผมขาวโพลนแสกตรงกลาง แม้ภายนอกดูเหี้ยมโหดร้าย แต่ลึกๆก็มีด้านอ่อนไหวกับเขาเหมือนกัน

แม้การแสดงของ Lorre เรื่องนี้จะเทียบไม่ได้กับ M (1930) ฆาตกรโรคจิตที่ภายในกลับมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่ช็อตนี้แหละที่ทำให้ผู้ชมสัมผัสถึงอีกด้านหนึ่งของตัวละคร เขาไม่ใช่บุคคลผู้เหี้ยมโหดร้าย เลวทรามบัดซบ จนหามุมดีๆอะไรไม่ได้เลย อย่างน้อยก็มิอาจทนเห็นบุคคลที่ตนรักตายจากไป พอมีความเป็นคนอด้านอ่อนไหวอยู่บ้างก็น่าเห็นใจ

ถ่ายภาพโดย Curt Courant (1899 – 1968) ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ German แต่เพราะตนเองเชื้อสาย Jews เมื่อถึงช่วง Nazi เรืองอำนาจ อพยพย้ายสู่เกาะอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Peter the Great (1922), Quo Vadis (1924), The Csardas Princess (1927), Woman in the Moon (1929), The Man Who Knew Too Much (1934) ฯ

หนังแทบทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอ Lime Grove Studios, London โดยกองสองยกไปถ่ายทำยัง St. Moritz, Switzerland และฉากคอนเสิร์ตยังสถานที่จริง Royal Albert Hall, London

กับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการภาพยนตร์ อาจเกิดความพิศวงงงงวย ทีมงานไม่ได้เดินทางไปถ่ายทำยัง Switzerland จริงๆนะเหรอ คำตอบคือไปแค่กองสองนะครับ ขณะที่นักแสดง ผู้กำกับ ปักหลักอยู่ในสตูดิโอ ดูจากภาพเบื้องหลังก็น่าจะไขข้อกระจ่างได้แน่

ผมมีความพิศวงในไดเรคชั่นหนึ่งของหนัง ซึ่งดูแล้วมีความสอดคล้องกับชื่อ ‘The Man Who Know Too Much’ อยู่พอสมควรเลย นั่นคือการเริ่มต้น Establish Shot ด้วยภาพอะไรสักอย่าง ช็อตนี้คือเทือกทิวเขา St. Moritz, Switzerland จากนั้นกล้องค่อยๆถอยห่างออกไปเรื่อยๆ ผู้ชมถึงรับรู้ว่าสถานที่แห่งนี้คือห้องโถงงานเลี้ยงหลังการแข่งขัน Ski Jumping (ซึ่งภาพช็อตนี้จะหวนกลับมาพบเห็นอีกครั้งในวินาทีสำคัญ นั่นคือร่องรูกระสุนปืน!)

ไดเรคชั่นคือการค่อยๆเปิดเผยบางสิ่งอย่างให้ผู้ชมได้พบเห็นทีละเล็กละน้อย จากมุมเล็กๆขยายวงกว้างภาพรวม แต่ก็แอบแฝงนัยยะความสำคัญบางสิ่งอย่างไว้ ซึ่งบางคนก็จะครุ่นคิดจนเพ้อคลั่ง แอบอ้างว่าล่วงรู้ทั้งหมด แท้จริงคือ ‘ตาบอดคลำช้าง’ เพียงบางส่วนเท่านั้นที่สัมผัสต้อง กลับอ้างว่าเข้าใจทุกสิ่งอย่าง

ผมมีความพิศวงกับเจ้านิตติ้งแกล้งเล่นนี้เหลือเกิน เพื่ออะไร? สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งๆก่อนหน้านี้เคยเป็นคนแปลกหน้า วินาทีนี้กลับสนิทสนมพัวพันถึงขนาดแก่งแย่งชิงภรรยากันเลย

หรือจะมองที่ผลลัพท์ของการกระทำก็ได้ เชื่อมโยงใยอย่างเยิ่นยืดยาว ทำให้ต้องติดตามสาวถึงต้นตอ ทุกสิ่งอย่างถึงได้รับการเปิดเผยไขปริศนา

จะมองว่านี่คือ MacGuffin ก็ยังได้ ใครกันคือฆาตกรฆ่า Louis Bernard? เนื้อหาข้อความนี้หมายถึงอะไร? เป็นสิ่งทำให้ตัวละครหลัก (พระเอก-นางเอก) ต้องออกติดตามค้นหา ทั้งๆไม่รู้ว่ามันจะมีอยู่จริงหรือเปล่า?

เกร็ด: หนังของ Hitchcock ที่มีลักษณะของ MacGuffin พบเห็นได้ตั้งแต่ Blackmail (1929), Number Seventeen (1932), The Man Who Knew Too Much (1934), The 39 Steps (1935) ฯ แต่ครั้งแรกที่ผู้กำกับอธิบายคำนี้ เมื่อปี 1939 ขณะบรรยายให้นักศึกษาที่ Columbia University

“[We] have a name in the studio, and we call it the ‘MacGuffin’. It is the mechanical element that usually crops up in any story. In crook stories it is almost always the necklace and in spy stories it is most always the papers”.

เห็นพื้นหลังภาพวาดช็อตนี้แล้วอดไม่ได้ที่จะนำมาอธิบาย ลักษณะเหมือนปลาเล็กกินปลาใหญ่ ไม่รู้เป็นฝีมือวาดเล่นของเด็กหญิง Betty หรือเปล่า แต่สะท้อนลักษณะทางสังคมของหนัง ต่างฝ่ายเข่นฆ่ากัน มีผู้แพ้-ชนะ ได้ประโยชน์-สูญเสียประโยชน์

ว่าไปของเล่นรางรถไฟก็สามารถสื่อความหมายได้เช่นกัน ชีวิตเคลื่อนไปบนลางแต่พบเจอทางแยกมากมาย ขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจเลือกอะไร? (ระหว่างชีวิตลูกสาว กับคนแปลกหน้าที่มีอำนาจทางการเมือง?)

Establish Shot ปรากฎภาพแบบนี้ หลายคนน่าจะคาดเดาได้ทันทีว่าเรื่องราวดำเนินขึ้นต่อไป น่าจะในร้านหมอฟันเป็นแน่! กล้องค่อยๆเคลื่อนออก พบเห็นพระเอกและผู้ช่วย ยืนอยู่หน้าร้านหมอฟันจริงๆนะแหละ (ไดเรคชั่นเดียวกับทิวเขา St. Moritz ที่อธิบายไปก่อนหน้า)

เดิมนั้น Sequence นี้ ผู้กำกับ Hitchcock ตั้งใจให้เป็นร้านตัดผม แต่เพราะก่อนหน้านีมีภาพยนต I Am a Fugitive from a Chain Gang (1932) ของผู้กำกับ Mervyn LeRoy เรื่องราวคล้ายๆกันที่ใช้พื้นหลังคือร้านตัดผมไปแล้ว เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาร้านหมอฟันแทน

ผมว่าการเลือกร้านทันตกรรม นัยยะความหมายค่อนข้างสอดคล้องกับ ‘The Man Who Knew Too Much’ มากกว่าร้านตัดผม เพราะบุคคลที่รู้มากเกินไป มักจะ’พูดมาก’อ้างอวดดี ฝีปากนี่แหละบ่อเกิดเหตุแห่งหายนะอย่างแท้จริง

ในบรรดา Cameo ของ Alfred Hitchcock ใครสามารถค้นพบเจอในเรื่องนี้ ยกโล่แฟนพันธุ์แท้ให้ได้เลยนะ ผมเองก็ว่าช่างสังเกตแล้วยังจนปัญญา มารับรู้จากการอ่านเกร็ดเบื้องหลัง อยู่ในช็อตนี้แหละหาเจอกันหรือเปล่า?

ลัทธิบูชาพระอาทิตย์ (The Tabernacle of the Sun) แต่การกระทำของพวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ในเงามืดแห่งความตาย ช่างเป็นสิ่งขัดแย้ง แอบอ้าง หลอกลวง มีผู้คนมากมายที่หลงคารมเข้าร่วม

ผมไม่คิดว่านี่เป็นการโจมตีศาสนาของผู้กำกับ Hitchcock หรอกนะ แต่คือการแสดงทัศนะว่า บางสิ่งอย่างที่เจิดจรัสจร้าโดดเด่นเกินไป ย่อมมักมีมุมมืดหลบซ่อนอยู่เสมอ

Royal Albert Hall หอประชุมใหญ่สำหรับจัดคอนเสิร์ต ตั้งอยู่ที่ South Kensington, London บรรจุผู้ชมได้ 5,272 ที่นั่ง เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1871 สมัย Queen Victoria สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้พระสวามี Prince Albert (1840 – 1861)

เกร็ด: Hitchcock เคยใช้บริการของ Royal Albert Hall ทั้งหมดสามครั้ง The Ring (1927), และทั้งสองฉบับของ The Man Who Knew Too Much

Sequence การดวลปืนระหว่างตำรวจกับอาชญากร ได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงเมื่อวันที่ 3 มกราคม 1911 ที่ Stepney, London ระหว่างฝ่าย Anarchists หัวรุนแรง Sidney Street Gang กับตำรวจ London ที่พอควบคุมไม่อยู่เพราะมีการใช้อาวุธหนัก รีบติดต่อกองทัพ Scots Guards ผลลัพท์มีนักเลงเสียชีวิตสองคน ขณะที่ตำรวจสิ้นลมไปสาม

กับคนที่ดูหนังสมัยใหม่มาเยอะ อาจรู้สึกน่าเบื่อหน่าย ไม่เห็นสนุกตื่นเต้นเร้าใจเลยสักนิดกับฉากนี้ แต่นี่มันเมื่อเกือบๆร้อยปีก่อนโน่นเลยนะ สมัยนั้นเป็นอะไรโคตรลุ้นระทึก หวาดเสียว เสี่ยงตาย … แบบไม่รู้ตัวเหมือนตำรวจนายโปรดของผมคนนี้

ผมเห็นไดเรคชั่นของ Sequence นี้ เกิดความเข้าใจโดยทันทีเลยว่า Hitchcock สามารถสร้าง Psycho (1960) ให้กลายเป็นตำนานโคตรอาร์ทเช่นนั้นได้อย่างไร!

นี่เป็นช่วงเวลาที่หนึ่งในอาชญากร ไล่ล่าติดตาม Betty ขึ้นไปบนหลังคาตึก บรรดาตำรวจนักแม่นปืนทั้งหลายต่างปอดแหกไร้ความกล้า กลัวกระสุนลูกหลงจะถูกโดนเด็กหญิงเข้า แต่ไม่ใช่กับแม่ผู้เป็นนักแม่นปืนมืออาชีพ เริ่มจากแก่งแย่งปืนจากตำรวจนายหนึ่ง ภาพตัดไปให้เห็นลูกสาวกล้องแพนไปหาโจร และเสี้ยววินาทีใบหน้าที่ดูใสสื่อบริสุทธิ์ช็อตนี้ ปัง! แล้วชายผู้นั้นก็ล้มลงตกตึกตาย สุดท้ายคือภาพเธอถือปืนควันออกจากปลายกระบอก

เหตุผลที่ทำฉากนี้ออกมาให้โคตรอาร์ท เพื่อไม่ให้ถูกกองเซนเซอร์สั่งแบนในยุคสมัยนั้น ลดทอนความรุนแรง และปล่อยให้เป็นจินตนาการของผู้ชมครุ่นคิดไปเองว่าเกิดอะไรขึ้น … นี่ถือเป็น Sequence น่าจะเจ๋งสุดในหนังแล้ว!

มีอะไรอยู่หลังประตู? นี่คือความพยายามที่จะเอาชนะตำรวจ คงด้วยการครุ่นคิดหลายตลบถึงสถานที่หลบซ่อนปลอดภัย แต่เพราะความ ‘The Man Who Knew Too Much’ เลยมิอาจรอดพ้นบุคคลผู้มีประสบการณ์เหนือกว่า เพราะโลกใบนี้ ‘เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า’ ต่อให้รู้อะไรมามาก ย่อมมีคนรู้มากมาก รู้มากมากมาก เฉลียวฉลาด/อัจฉริยะยิ่งกว่าเรา

ตัดต่อโดย Hugh Stewart สัญชาติอังกฤษ, ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของสองสามีภรรยา Bob & Jill Lawrence ผู้จับพลัดจับพลูล่วงรู้ความลับบางสิ่งอย่าง จึงถูกศัตรูใช้แผนการ Blackmail อันชั่วช้าเลวทราม ลักพาตัวลูกสาว Betty ไปจากอ้อมอก

การตัดต่อในหนังของ Hitchcock ได้มีการวางแผน คำนวณ จับเวลาอย่างแม่นยำเปะๆ เห็นว่าเสร็จสิ้นตั้งแต่กระบวนการ Pre-Production เขียนบท/วาด Storyboard ด้วยเหตุนี้หน้าที่ของนักตัดต่อ จึงแค่นำฟีล์มมาร้อยเรียงตามทุกสิ่งอย่างที่กำหนดไว้เท่านั้นเอง

นอกจาก Opening/Ending Credit และตอนงานแสดงคอนเสิร์ต หนังเรื่องนี้ไร้ซึ่งเพลงประกอบใดๆ (คงกำลังมี ‘Trauma’ จากเพลงประกอบหลังความล้มเหลวของ Waltzes from Vienna กระมัง)

สำหรับการแสดงคอนเสิร์ต ณ Royal Albert Hall ฉบับ 1934 และ 1956 ต่างใช้บทเพลงเดียวกันคือ Arthur Benjamin: Storm Clouds Cantata (1934) สงสัยเพราะมันมีจังหวะลงฉาบใหญ่ที่สุดมหัศจรรย์อยู่กระมัง

The Man Who Knew Too Much คือเรื่องราวจับพลัดจับพลูของคนที่มิได้มีส่วนล่วงรับรู้อะไรกับใครเขาด้วยเลย กลายเป็นผู้โชคร้ายที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่ารู้มาก อันเป็นเหตุให้ต้องไล่ล่าติดตามหา เพื่อรับทราบสิ่งต่างๆที่ตนยังไม่รู้ เพื่อว่าเมื่อเข้าใจแล้วจักได้แก้ไขสถานการณ์เอาตัวรอดได้อย่างทันท่วงที

เรื่องราวของหนังไม่ถือว่ามีสาระอะไรมากหรอกนะ เน้นขายความคิดสร้างสรรค์ ตื่นเต้นลุ้นระทึก ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Alfred Hitchcock เสียมากกว่า แต่ผมค่อนข้างชอบชื่อหนังที่ชวนให้ครุ่นคิดต่อได้มาก

การอวดอ้างรู้มาก ไม่ใช่สิ่งดีงามสร้างสรรค์แม้แต่น้อย เป็นการแสดงความเย่อหยิ่งยโส จองหอง ทะนงตน พาลให้คนหมู่มากรู้สึกรังเกียจเดียจฉันท์ หงุดหงิดรำคาญใจ อย่าให้ขุดคุยพบเจอข้อผิดพลาดแล้วกัน จักถีบส่งไสหัวให้หลุดกระเด็น!,

ตรงกันข้าม เราควรที่จะอ่อนน้อมถ่อมตน ถึงรู้เยอะเฉลียวฉลาดก็ควรแสร้งโง่ในบางเพลา นี่ไม่ใช่การดูถูกเหยียดหยามตนเอง แต่คือประณีประณอมเพื่อให้ผู้อื่นเคารพนบน้อม เพราะเมื่อไหร่พวกเขารับรู้ว่าเรานี่แหละตัวจริง เก่งจริง ฉลาดจริง ย่อมมีคนมากมายยกย่องสรรเสริญ ‘คมในฝัก’ นอกจากพวกวิกลดัดจริตมองโลกในแง่ร้ายชอบเสียดสีอ้างว่าสร้างภาพ อิจฉาริษยาเพราะตนเองตกต่ำต้อยกว่าในทุกๆด้าน

การตัดสินใจเลือกของตัวละคร ว่าไปเป็นสิ่งที่ ‘Too Few’ รายละเอียดข้อมูลน้อยเกินไป! ผู้ชมไม่ล่วงรับรู้ถึงสาเหตุผล ทำไมกลุ่มอาชญากรถึงต้องการปลิดชีพชายอาวุโสผู้นำประเทศ? เขากระทำความผิดชั่วร้ายแรงอันใด? มันกลายเป็นเรื่องของมนุษยธรรมจรรยา ระหว่างลูกสาวสุดที่รักของตนเอง vs. ใครสักคนที่กำลังถูกปองร้ายฆาตกรรม นั่นอาจเพราะผู้กำกับ Hitchcock มองว่า การที่ผู้ชมรู้มาก ‘Too Much’ เกินไป จะทำให้อรรถรสในการรับชมเปลี่ยน เพราะบางคนอาจคิดเห็นต่าง สนับสนุนส่งเสริมให้ชายคนนั้นถูกเข่นฆาตกรรมไปเลยเสียดีกว่า ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสมนัก

นี่ก็แปลว่าความซับซ้อนในรายละเอียด สติปัญญาของมนุษย์ ได้บิดเบือนสร้างข้ออ้าง/ข้อยกเว้น มองข้ามหลักมโนธรรมถูกต้องให้กับการกระทำบางอย่าง เช่นว่าชายคนหนึ่งกำลังจะถูกฆาตกรรม
– ถ้าเรามองเพียงผิวเผินในเรื่องมนุษยธรรม ศีลธรรมจรรยา จักบอกว่า นั่นไม่ใช่เรื่องถูกต้องเหมาะสมควรแม้แต่น้อย
– แต่เมื่อใดล่วงรับรู้ถึงรายละเอียดเบื้องลึก สมมติว่าหมอนี่เป็นอภิมหาโคตรโกงกินคอรัปชั่น หรือยกตัวอย่าง Adolf Hiter ใครๆย่อมเห็นพ้องเลยว่า สมควรถูกเข่นฆ่าให้ตาย … นี่เท่ากับเป็นการมองข้ามมนุษยธรรม ศีลธรรมจรรยา ถูกต้องเหมาะสม ไปโดยสิ้นเชิง!

เฉกเช่นนั้นแล้ว การรู้มาก เป็นสิ่งดีหรือเปล่า? ในความครุ่นคิดของผมเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งเลยนะ เพราะทำให้มนุษย์สามารถล่วงรู้ทันคนทันโลก แต่ไม่เห็นด้วยกับการเอาข้ออ้างซับซ้อนมาบดบังการกระทำถูก/ผิดตามหลักศีลธรรม มโนธรรม อย่างการฆ่าคนนั่นไม่ใช่สิ่งดีงามอย่างแน่นอน ต่อให้ Adolf Hitler ตายแล้วจะทำให้โลกสงบสันติสุขขึ้นโดยทันที แต่ผมคนหนึ่งละที่คงขอผ่านถ้ามีโอกาส ปล่อยให้มันเป็นเรื่องกฎแห่งกรรมเวร ทำอะไรใครไว้เดี๋ยวก็ได้รับกลับคืนสนองตอบเอง

ด้วยทุนสร้างประมาณ £40,000 ไม่มีรายงานรายรับ แต่ได้ยินว่าประสบความสำเร็จสูงมากๆในประเทศอังกฤษ (ไม่เช่นนั้น Hitchcock จะสร้างใหม่ฉบับ Hollywood เมื่อปี 1956 ทำไมกัน!)

โดยส่วนตัวก็เห็นพ้องกับที่ใครๆบอกว่า The Man Who Knew Too Much (1956) มีความสลับซับซ้อน โดดเด่นในแง่งานสร้างกว่าหลายขุม แต่ก็มีสองสามสิ่งที่หนังเรื่องนี้โดดเด่นกว่า
– ตัวร้ายของ Peter Lorre แม้ไม่ถึงขนาดบทบาท Masterpiece ของพี่แกเรื่อง M (1930) แต่ก็ถือว่ายังอยู่ท่ามกลางดวงดาว
– การจัดแสงเงาให้สัมผัสนัวร์ ด้านมืดภายในจิตใจมนุษย์, ขณะที่ฉบับปี 1956 ภาพสีสันฉูดฉาดตระการตา สวยเกิ้น!
– ไคลน์แม็กซ์ต่อสู้ดวลปืนบนท้องถนน แม้จะดูเชยๆแต่ก็มีสีสันกว่าฉบับปี 1956 ที่กลายเป็นอย่างอื่นไปเลย

แนะนำคอหนังอาชญากรรม Mystery Thriller Suspense แนวลักพาตัว ฆาตกรรมอำพราง, แฟนๆผู้กำกับ Alfred Hitchcock และนักแสดงนำ Leslie Banks, Edna Best, Peter Lorre ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความนัวร์ เรื่องราวอาชญากรรม ความตาย

TAGLINE | “The Man Who Knew Too Much ฉบับปี 1934 ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ลุ่มลึก มืดหม่น สอนใจคนอย่าอวดเก่งรู้มาก แล้วจะเจอดีโดยไม่รู้ตัว”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: