The Man Who Knew Too Much (1956)
: Alfred Hitchcock ♥♥♥♥
Doris Day ตอนแรกไม่อยากจะขับร้องบทเพลง Que Sera, Sera อวดรู้มากว่าเพลงเด็กๆ เดี๋ยวใครๆคงหลงลืมเลือน แต่กลับกลายเป็นเพลงสัญลักษณ์ประจำตัว คว้า Oscar: Best Original Song และไต่ถึงอันดับ 2 ชาร์ท Billboard Hot 100 โด่งดังได้รับการจดจำมากกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อีกมั้งนะ!
ในชีวิตของผู้กำกับ Alfred Hitchcock มีเพียง The Man Who Knew Too Much เรื่องแรกเรื่องเดียวเท่านั้นที่ทำการสร้างใหม่ Remake จากฉบับ 1934 กลายมาเป็น 1956 ช่างน่าฉงนสงสัยทีเดียวว่าทำไมเป็นเช่นนั้น?
เหตุผลทั่วๆไปที่หลายคนคงทำความเข้าใจได้ คือวิวัฒนาการยุคสมัยของภาพยนตร์ สังเกตได้จาก
– 1934 ถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ โดดเด่นกับการจัดแสง-เงา, 1956 ภาพสีสันสวยงามตระการตา พบเห็นการใช้ Rear Projection เป็นว่าเล่น
– 1934 สร้างขึ้นที่ประเทศอังกฤษ นักแสดงไม่คุ้นชื่อสักเท่าไหร่, 1956 ย้ายมา Hollywood ได้นักแสดงเกรดเอ James Stewart, Doris Day
– 1934 เรื่องราวมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนงำน้อยกว่า 1956
– ประสบการณ์สร้างภาพยนตร์ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock ก็เช่นกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะเพิ่มเติมให้คือนัยยะแฝงของหนัง
– 1934 นำเสนอความรู้มาก เย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี หลงตัวเองของสหราชอาณาจักร
– 1956 สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ Jimmy เป็นตัวแทนสหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจที่เริ่มทำตัวรู้มาก แสดงความเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี หลงตัวเอง
The Man Who Knew Too Much ชื่อหนังที่สามารถมองได้เหมือนคำกริยาหนึ่ง สะท้อนถึงคน-สัตว์-สิ่งของ ล่วงรับรู้บางสิ่งอย่างมากเกินไป ในสิ่งไม่สมควรจะทราบได้ หรือพูดทำบางอย่างเพื่อแสดงการอวดรู้ เป็นสาเหตุให้ตนเอง-ผู้อื่น ตกอยู่ในสภาวะอันตราย เฉียดตาย อุบัติเหตุ และฆาตกรรม
Sir Alfred Joseph Hitchcock (1899 – 1980) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เจ้าของฉายา ‘Master of Suspense’ หลังประสบความสำเร็จล้มหลามในประเทศบ้านเกิด เซ็นสัญญาทาสกับ David O. Selznick ย้ายมาอยู่ Hollywood สร้างผลงานเรื่องแรก Rebecca (1940) คว้า Oscar: Best Picture เข้าชิง Best Director เป็นครั้งแรก, ตามด้วย Foreign Correspondent (1940) ได้เข้าชิงอีกหลายสาขา
น่าจะนับตั้งแต่ตอนนั้นที่ Hitchcock รับรู้ความเอ้อละเหยลอยชายของชาวอเมริกัน ทั้งๆสงครามใหญ่ในยุโรปปะทุถือกำเนิดขึ้นแล้ว แต่คนทั้งทวีปนี้กลับยังมองว่าเป็นเรื่องห่างไกลตัวไม่เกี่ยวกัน ใคร่สนใจอยากสร้างใหม่ The Man Who Knew Too Much เพื่อสะท้อนความอ้างอวดดี เย่อหยิ่งทะนงตน กระนั้นหลังเหตุการณ์โจมตี Pearl Harbor วันที่ 7 ธันวาคม 1941 เลยจำต้องขึ้นหิ้งยกโปรเจคนี้ไว้ก่อน หาใช่เวลาเหมาะสมแม้แต่น้อย
หลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านพ้น ก็ไม่รู้ตอนไหนที่ Hitchcock เกิดความใคร่สนใจนำโปรเจคนี้มาปัดฝุ่นใหม่ มอบหมายให้ John Michael Hayes นักเขียนที่ร่วมงานกับมาสามเรื่องติดๆ Rear Window (1954), To Catch a Thief (1955), The Trouble with Harry (1955) โดยมีข้อแม้ห้ามรับชมต้นฉบับ The Man Who Knew Too Much (1934) และพัฒนาเรื่องราวตามคำบอกเล่าของตนเท่านั้น
สามี-ภรรยาและลูกชาย สัญชาติอเมริกัน ออกเดินทางไปพักร้อนยังยุโรป ต่อด้วย Marrakesh, Morocco บังเอิญกลายเป็นเพื่อนสนิทสนมชายแปลกหน้า Louis Bernard (รับบทโดย Daniel Gélin) โดยไม่รู้ตัวเขาถูกฆ่าเสียชีวิต ก่อนหมดลมหายใจพูดบอกความลับบางอย่างกับ Dr. Benjamin (รับบทโดย James Stewart) นำไปบอกต่อภรรยา Josephine (รับบทโดย Doris Day) ถูก Blackmail จากฆาตกร ถ้าความลับดังกล่าวนั้นถูกแพร่งพรายเปิดเผยออกไป ลูกชาย Hank ที่เพิ่งถูกลักพาตัวไป จะถูกกระทำร้ายโดยทันที! ด้วยความไม่สามารถพึ่งพาตำรวจได้ Ben และ Joe จึงออกติดตามหาผู้ร้าย หาวิธีช่วยเหลือลูกชายด้วยตัวของพวกเขาเอง!
ความแตกต่างระหว่างฉบับ 1934 กับ 1956
– หลายๆอย่างจงใจให้สลับกัน อาทิ ลูกสาว -> ลูกชาย, Louis Bernard คายความลับก่อนตายกับภรรยา -> สามี, คู่รักสัญชาติอังกฤษ -> อเมริกัน (รวมถึงชื่อพวกเขาด้วยนะ)
– สถานที่พื้นหลังองก์แรก เปลี่ยนจากเมืองหนาว/หิมะตก Switzerland มาเป็นเมืองร้อน/ใกล้ๆทะเลทราย Morocco
– ช่วงท้ายเปลี่ยนจากการต่อสู้ดวลปืน ตำรวจvsผู้ร้าย มีคนล้มตายจำนวนมาก กลายมาเป็นสู้กันทางไหวพริบ ความเฉลียวฉลาด ความตายเกิดเฉพาะผู้หวังร้าย จากอุบัติเหตุ (ทำตัวเอง)
James Maitland Stewart (1908 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania พ่อเป็นเจ้าของร้าน Hardware Store คาดหวังให้เขาสืบต่อกิจการ ส่วนแม่เป็นนักเปียโน ทำให้ Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Princeton University โดดเด่นในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินจนได้ทุนการศึกษา แต่กลับสนใจชมรมการแสดง สนิทสนามรู้จักกับ Henry Fonda, Margaret Sullavan กลายเป็นนักแสดง Broadways แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ได้มีแมวมองของ MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938), พลุแตกกับ Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Shop Around the Corner (1940), คว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Philadelphia Story (1940), It’s a Wonderful Life (1946), แม้ช่วงหลังสงครามโลกปีแรกๆ จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่พอได้ร่วมงานกับ Hitchcock กลับมาโด่งดังค้างฟ้าอีกครั้ง Rope (1948), Rear Window (1954), The Man Who Knew Too Much (1956) และ Vertigo (1958)
รับบท Dr. Benjamin ‘Ben’ McKenna นายแพทย์สัญชาติอเมริกัน หลังเสร็จจากประชุมสัมมนาที่ Paris นำพาครอบครัวไปพักร้อนต่อยัง Casablanca ตามด้วย Marrakesh ด้วยความอัธยาศัยงาม มองโลกในแง่ดี มิตรไมตรีต่อทุกๆคน จึงไม่ค่อยระมัดระแวงภัย แม้ภรรยาจะให้ข้อสังเกตกลับไม่ค่อยสนใจคำเตือน ยึดถือความคิดตนเองตั้งมั่น นั่นทำให้เมื่อเกิดความผิดพลาดพลั้ง ไม่รู้จะทำยังไงอะไรต่อไปดี แต่โชคชะตากลับเข้าข้าง และไหวพริบปณิธานให้สามารถเอาตัวรอดพ้นเหตุการณ์ร้ายๆครั้งนี้ไปได้
ผู้กำกับ Hitchcock เรียก Stewart ว่า ‘creative partner’ อาจเพราะความงอนที่ไม่ได้แสดงใน To Catch a Thief (1955) เลยได้แก้ตัวกับผลงานเรื่องใหม่ ซึ่งถ้าใครสังเกตดีๆ จะพบเห็นหลายๆความสัมพันธ์เชื่องโยง Vertigo (1958) เสียด้วยนะ!
ช่วงแรกๆ ผมค่อนข้างหงุดหงิดกับโลกทัศน์/ความเห็นแก่ตัวเองของตัวละครนี้เป็นอย่างมาก แต่เมื่อครุ่นคิดว่าเขาคือ ‘The Man Who Knew Too Much’ ชายผู้ชอบทำตัวอวดรู้ เย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี หลงตนเอง ก็พบว่าใช่เลยละ ภาพลักษณ์การแสดงของ Jimmy สะท้อนเข้ากับบทบาทนี้ได้อย่างเปะๆ ซึ่งนี่ยังสามารถเหมารวมได้ถึงอเมริกันชนสมัยนั้น (จนถึงปัจจุบัน) เพราะประเทศชาติได้รับชัยชนะจากสงครามโลกจนกลายเป็นมหาอำนาจจ้าวโลก ฉันจึงสามารถเอ้อละเหยลอยชาย ทำตัวฉลาดเก่งกาจรู้มาก ไม่ต้องเหลียวแลสนใจวัฒนธรรมของชาติใดใครอื่น แค่ความพึงพอใจส่วนตัวของฉันก็เพียงพอเหลือเฟือแล้ว
Doris Day ชื่อเกิด Doris Mary Kappelhoff (เกิดปี 1922) นักร้อง นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cincinnati, Ohio ปู่ทวดอพยพจาก German พ่อเป็นครูสอนดนตรี/กำกับวงคอรัส ตั้งแต่เด็กเพ้อฝันอยากเป็นนักเต้น แต่ประสบอุบัติเหตุทางรถเลยเปลี่ยนใจเป็นนักร้อง เรียนร้องเพลงจาก Grace Raine แค่เพียงสามครั้งก็พบเห็นพรสวรรค์อันน่าทึ่ง ได้งานเป็นนักร้องรายการวิทยุ บันทึกเพลงแรก Sentimental Journey (1945) กลายเป็นเพลงชาติของเหล่าทหารหาญขณะเดินทางกลับบ้านหลังสงครามจบ, เมื่อเริ่มประสบความสำเร็จก็ได้จัดรายการของตนเอง รับงานแสดงเล่นหนังเพลงสังกัด Warner Bros. มีชื่อเสียงจาก I’ll See You in My Dreams (1951), Love Me or Leave Me (1955), The Man Who Knew Too Much (1956), Pillow Talk (1959)** เข้าชิง Oscar: Best Actress, Lover Come Back (1961), The Glass Bottom Boat (1966) ฯ
รับบท Josephine ‘Jo’ Conway McKenna อดีตนักร้องแสดง Broadway/West End คงจะมีชื่อเสียงดังพอสมควร ปัจจุบันรีไทร์มาเป็นภรรยา/แม่บ้านขี้สงสัย ช่างสังเกต ไหวพริบเป็นเลิศ (คงเพราะประสบการณ์นักแสดง ทำให้เธอสามารถอ่านตัวตนคนอื่นออกได้โดยง่าย) เพราะความรักลูกมากๆ จึงทำใจไม่ได้รุนแรงเมื่อขณะรับรู้ว่าถูกลักพาตัวไป หวาดหวั่นวิตกกลัวไม่รู้จะทำอย่างไร ส่งเสียงกรีดร้องน่าจะโดยสันชาติญาณ สบสายตากับสามีเมื่อได้ยินเสียงผิวปากดังลอยมา ถึงจะขับร้องเพลง Que Sera, Sera แต่คงรับไม่ได้แน่ถ้าบางสิ่งอย่างจะเกิดขึ้น
เห็นว่า Day เป็นตัวเลือกแรกของผู้กำกับ Hitchcock ประทับใจการแสดงจากเรื่อง Storm Warning (1951) แต่โปรดิวเซอร์กลับรู้จักเธอแต่ในฐานะนักร้อง เสนอนักแสดงอย่าง Lana Turner, Grace Kelly, Kim Novak หรือแม้แต่สาวผมน้ำตาลอย่าง Jane Russell, Gene Tierney, Ava Gardner แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงความตั้งใจแรกสุดได้
โดยไม่รู้ตัวผมเกิดความหลงใหลใน Doris Day อย่างยิ่งทีเดียว พบเห็นความพยายามที่จะแทรกตัวตนเองขึ้นมาให้โดดเด่น แม้จะมีความกล้าแต่ยังขลาดหวาดกลัวอยู่มาก ต้องให้สามีเป็นช้างท้าวหน้าเดินนำ ลึกๆคงจะสะท้อนโลกทัศนคติผู้หญิงในยุคสมัยนั้น ต้องการมีบทบาทเสมอภาคเท่าเทียม(ผู้ชาย) แต่คงยังต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจักสามารถพึงพิงพา ทำอะไรๆได้ด้วยตนเองแบบยุคสมัยปัจจุบัน
ระหว่างการถ่ายทำ Day มีความหวาดหวั่นวิตกต่อการแสดงตนเอง เพราะพบเห็นผู้กำกับ Hitchcock เหมือนไม่ค่อยสนใจอะไรเธอเลย เอาแต่ยุ่งวุ่นอยู่กับการจัดแสง มุมกล้อง ครั้งหนึ่งเลยเข้าไปพูดคุยสอบถาม ได้รับคำตอบ
“My dear Miss Day, if you weren’t giving me what I wanted, (then) I would have to direct you!”
เกร็ด: ระหว่างถ่ายทำฉากที่ตลาด Marrakesh ทำให้ Day พบเห็นตัวประกอบสัตว์ ได้รับการเลี้ยงดูแลค่อนข้างย่ำแย่จนรับไม่ได้ ทำให้เธอรู้สึกสงสารเห็นใจ ออกมาเรียกร้องไม่ยอมเข้าฉากถ้าทีมงานไม่ปฏิบัติต่อพวกมันให้ดีกว่านี้ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นหนังเรื่องนี้ก็ได้กลายเป็นนักสิทธิสัตว์ ไปโดยปริยาย
ถ่ายภาพโดย Robert Burks (1909 – 1968) ขาประจำของ Hitchcock เริ่มตั้งแต่ Strangers on a Train (1951) จนถึง Marnie (1964) [เว้น Psycho เรื่องเดียว] คว้า Oscar: Best Cinematography, Color จากเรื่อง To Catch a Thief (1955)
ส่วนตัวค่อนข้างเชื่อว่าหนังแทบทั้งเรื่องถ่ายทำใน Paramount Studios, Hollywood ด้วยการใช้ Rear Projection เสียส่วนใหญ่ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกองสอง เดินทางไปถ่ายทำพื้นหลังยัง Marrakech, Morocco และ London, England แต่อาจจะเว้น Royal Albert Hall ไว้สถานที่หนึ่ง
ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะจะทะนุถนอมผิวพรรณของนักแสดงไม่ให้ถูกแดดร้อนจัด แต่เพราะฉากอย่างบนรถประจำทาง, รถม้า, หรือท่ามกลางฝูงชน จะได้ไม่ต้องวุ่นวายเสียสมาธิ รอคอยตัวประกอบหลักร้อย และยังควบคุมปัจจัยทำงานอื่นได้ง่ายกว่า
ช็อตแรกของหนัง เริ่มต้นมาก็ชวนให้นึกถึง To Catch a Thief (1955) [เปลี่ยนจาก Cary Grant เป็น James Stewart] สองสามีภรรยาสัญชาติอเมริกัน นั่งอยู่เบาะหลังสุดบนรถโดยสาร มีเด็กชายลูกของพวกเขาแทรกอยู่กึ่งกลาง, สังเกตว่าด้านหลังรถเมล์คันนี้ มีการจัดแบ่งกระจกออกเป็นสองด้านซ้าย-ขวา คงเพื่อสะท้อนสองมุมมองที่แตกต่าง ระหว่างชาย-หญิง สามี-ภรรยา
ผู้กำกับ Hitchcock ในชีวิตเคยกำกับหนังเพลง Musical เพียงเรื่องเดียวคือ Waltzes from Vienna (1934) แล้วเกลียดเข้ากระดูกดำ [คือตนเองเป็นผู้กำกับแนว Melodrama/Suspense/Thriller ให้ทำหนังโลกสวยมัน… เป็นไปไม่ได้] วิธีการของเขาในการถ่ายทำบทเพลง Que Sera, Sera เลยไม่มีอะไรมาก Long Take แบบไม่มีตัด ให้ Doris Day กับ Hank (รับบทโดย Christopher Olsen) เดินไปเดินมาอยู่ในห้องนอนแค่นั้นแหละ คลาสสิก!
ผมว่าช็อตจบของ Sequence นี้ รอยยิ้มของทั้งสองราวกับเป็นการประชดประชัน แกล้งเล่นผู้กำกับ Hitchcock ที่ไม่ค่อยเห็นยิ้มหรือหัวเราะกับใครสักเท่าไหร่
แสงสีเขียวเป็นอะไรที่น่าหวาดสะพรึงกลัวมากเลยนะ Louis Bernard (รับบทโดย Daniel Gélin) รับโทรศัพท์ช็อตนี้ เป็นการพยากรณ์ หายนะ ความตาย ของตัวละครได้เลยทีเดียว
หลายคนอาจรู้สึกว่า Sequence รับประทานอาหารพื้นเมือง เป็นอะไรที่ไร้สาระและเสียเวลามากๆ แต่โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชอบประทับใจเป็นพิเศษ (ถึงผมไม่เคยเดินทางไป Morocco แต่ร้านอาหารอาหรับนี่เข้าบ่อย เลยล่วงรู้จักวัฒนธรรมการกินพอสมควร) ประเพณี พิธีรีตรองของการกินอาหาร จะค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนแตกต่างจากปกติพอสมควร ซึ่งทั้งฉากนี้เป็นการสะท้อนลักษณะนิสัย (สันดาน) ของชาวอเมริกัน ที่ไม่ค่อยเคารพพิธีรีตอง ปรับตัวตามวัฒนธรรมท้องถิ่น พอหมดความอดทนก็ไม่สนอะไรแม้งแล้ว เขาให้กินเฉพาะมือขวา พี่แกเล่นจับสองมือฉีกกินโดยทันที T_T
Cameo ช็อตนี้หาไม่ยากเท่าไหร่นะ แม้จะเห็นแค่ด้านหลังหลายคนก็คงพอเดาได้จากศีรษะ
หลายคนน่าจะดูออกว่าฉากนี้ถ่ายทำในสตูดิโอ ด้วยการฉายภาพจาก Rear Projection (ที่ไปถ่ายทำยัง Morocco) ขึ้นฉากพื้นหลัง แล้วให้นักแสดงยืนเรียงสองแถวหน้า ใช้กล้องอีกตัวบันทึกภาพ, น่าเสียดายที่หลายๆฉากของหนังที่ใช้เทคนิคนี้ ดูไม่ค่อยแนบเนียนเรียบร้อยสักเท่าไหร่ คือถ้าเป็นฟีล์มขาว-ดำ มันจะมีความกลมกล่อมกว่ามาก พอเป็นภาพสีเลยกลายเป็นตำหนิข้อบกพร่อง แต่คุณประโยชน์ของมันสำคัญกว่า นั่นคือทำให้นักแสดงไม่ต้องเสียเวลา(และเงิน)เดินทางไปยังสถานที่จริงถ่ายทำ
นี่เป็น Sequence ที่ผมชื่นชอบสุดในหนัง ประทับใจในการประชัน/ถ่ายทอดอารมณ์ของสองนักแสดงนำอย่างมาก โดยเฉพาะใบหน้านิ่วคิ้วขมวดของ James Stewart ชักชวนให้ผู้ชมหมกมุ่นเครียดตามตัวละคร ถึงขนาดจ่ายยากล่อมประสาทล่วงหน้าให้ภรรยากิน นี่สร้างความคาดหวังต่อผู้ชมพบเห็นปฏิกิริยาของ Doris Day ว่าคงต้องคลุ้มคลั่งแน่ๆเมื่อรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น
นี่เป็นสถานการณ์กระทำที่มีความ ‘Too Much’ เกินไป มันต้องถึงขนาดวางยากล่อมประสาทกันเลยหรือ? ต่อให้อ้างว่ารู้จักภรรยาของตนเป็นอย่างดี เธอต้องคลุ้มคลั่งเสียสติแตกอย่างแน่นอนเมื่อรับรู้เข้าใจ จึงตระเตรียมการพร้อมรับมือในสิ่งที่อาจเกิดขึ้น แต่ผมว่ามันคือการแก้ปัญหาแบบมักง่ายและที่ปลายเหตุ … นี่สะท้อนแนวความคิดชาวอเมริกันแท้ๆเลยละ ตนเองจะได้ไม่ต้องวุ่นวายมาก ตัดตอนปัญหา ไม่ให้ผู้อื่นยินยอมรับความจริง ตื่นขึ้นมาอีกทีความว้าวุ่นวายก็จักเริ่มผ่อนคลายลง
เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เดือดเนื้อ เป็นตาย สิ่งที่วัฒนธรรมอเมริกันชนเสี้ยมสั่งสอนปลูกฝังกันมา คือให้รู้จักพึ่งพาตนเองโดยไม่ขอความช่วยเหลือจากใครอื่น! นี่เป็นสิ่งมองได้หลายแง่มุม
– ให้รู้จักการพึงพิงเอาตัวรอดด้วยตนเอง เรียกผูกย่อมต้องเรียนแก้ ไม่มีใครอื่นจะเข้าใจปัญหาได้เท่ากับผู้ก่อ
– มองเป็นความเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี หลงตัวเอง ว่าฉันเก่งเหนือใคร ใหญ่คับฟ้า การยินยอมให้ผู้อื่นเข้ามาชาวยแก้ปัญหา ก็เท่ากับเป็นการดูถูกเหยียดหยาม หมิ่นในศักดิ์ศรี ตนเองไร้ศักยภาพ
ฯลฯ
การถ่ายภาพมุมก้ม เป็นการสะท้อนสภาพการณ์ของพวกเขา ถูกอาชญากรควบคุมครอบงำ ตกต่ำต้อย ไม่หลงเหลืออะไรให้เป็นเครื่องมือต่อรอง
ถ้าเป็นฉบับ 1934 จะไม่มี Sequence นี้ที่เป็นการเข้าใจผิดอย่างแรงต่อบุคคลชื่อ Ambrose Chappell (ต้นฉบับเป็นการเข้าร้านหมอฟัน) เจ้าของกิจการร้านสตัฟฟ์สัตว์ (Taxidermist) ซึ่งหลายๆช็อตจะมีการถ่ายใบหน้าตัวละคร เคียงคู่กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
สตัฟฟ์สัตว์ คือ ศิลปะของการตระเตรียม เก็บรักษาผิวหนังสัตว์ที่เสียชีวิตไปแล้วอย่างถาวร เป็นเทคนิคที่ทำให้ซากสัตว์คงสภาพเหมือนมีชีวิต โดยเฉพาะสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง เพื่อการจัดแสดง เก็บสะสม หรือการศึกษา
นัยยะของการเลือกสถานที่นี้ คือการเสียดสีล้อเลียน เพราะตัวละครของ James Stewart หมายมั่นปั้นมือ เชื่อสนิทใจ! อ้างว่าล่วงรู้เบื้องลึกหนาบางของสถานที่นี้อย่างถ่องแท้ แต่แท้จริงกลับเกิดความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง นึกว่าราชสีห์จริงๆกลับเป็นของเก๋ตัวปลอม … ฮาตรงที่ มันสามารถแว้งกัดเขาได้ซะงั้น!
Ambrose Chapel ใช้สถานที่ของ St Saviour’s Church, Brixton, London ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว (ว่าไปฉากนี้น่าจะถ่ายทำยังสถานที่จริงนะ)
ขณะที่ฝั่งพระเอกมั่นใจเต็มร้อยกลับพบเจอของเก๋ นางเอกโดยไม่รู้ตัวได้ยินจากเพื่อนฝูง รับรู้ว่า Ambrose Chappell อาจเป็นชื่อสถานที่ โบสถ์แห่งหนึ่ง ซึ่งวินาทีที่ตัวละครเดินทางมาถึง บางสิ่งอย่างสามารถบ่งบอกโดยสันชาติญาณ [แบบตอนสุดท้ายของ True Detective ซีซันแรก] ข้างในต้องเป็นที่ซ่องสุมโจรแน่ๆ คือถ้าเธอเป็นหญิงแกร่งคงไม่กลัวเกรงอะไร แต่หนังทำให้หญิงสาวเป็นช้างเท้าหลัง เลยต้องเฝ้ารอคอยสามีให้เดินนำเข้าไปก่อน
เกร็ด: คำว่า Ambrose ภาษากรีกแปลว่า Immortal, อมตะ
ช็อตลักษณะนี้พบเห็นได้บ่อยในหนังของ Hitchcock เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ทางแยกมุมมอง’ หรือจุดหมุน
– ฝั่งผู้ร้าย พบเห็นนักแม่นปืนกำลังเดินออกประตูหลัง ขึ้นขับรถไปทำภารกิจ
– นางเอกยืนอยู่ไกลลิบๆ เฝ้ารอคอยสามีให้มาถึง จะได้เข้าไปพร้อมกันในโบสถ์ดังกล่าว
ใครช่างสังเกต ให้ลองเทียบกันระหว่างภาพนี้กับภาพบน จะพบว่ามันไม่น่าใช่สถานที่เดียวกันแน่ๆ ซึ่งคงจะเกิดจากการซ้อนภาพสองสามชั้น แค่นี้ยังจิ๊บจ้อยเมื่อเทียบกับภาพสุดท้ายของ The Bird (1963)
“From whence these dire Portents around,
That Earth & Heav’n amaze?
Wherefore do Earthquakes cleave the Ground?
Why hides the Sun his rays?Let Sin no more my Soul enslave;
Break, Lord, the Tyrant’s Chain:
O save me, whom thou cam’st to save;
Nor bleed, nor die in vain”.
ผมตัวหนาคำร้องเพลงขณะทำพิธีมิสซาในฉากนี้ ‘ทำไมซ่อนตัวอยู่ภายใต้รังสีอาทิตย์’ นี่สะท้อนกับการพยายามหลบมุมเสาบังของพระเอก เพื่อไม่ให้ผู้ร้ายลักพาตัวลูกชายของเขาทันสังเกตเห็น นี่ยังเป็นการสะท้อนพฤติกรรมของอาชญากรกลุ่มนี้ ใช้ศาสนาเป็นสิ่งบดกำบังการกระทำชั่วร้ายของตนเอง สหรัฐอเมริกาก็ไม่ต่างหรอกรึ?
กับหนังฉบับ 1934 แม้จะใช้โบสถ์คือสถานที่หลบซ่อนตัวเช่นกัน แต่พวกนั้นนับถือลัทธิบูชาพระอาทิตย์ ไม่สะท้อนเสียดสีตรงๆว่าเป็นหมาป่าในคราบนักบุญ ‘Wolf in sheep’s clothing’.
แซว: ตัวประกอบ ผู้มาเข้าร่วมพิธีมิสซาในฉากนี้ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้หญิงและสูงวัย นี่ก็สะท้อนเสียดสีอะไรหลายๆอย่างเช่นกัน
จริงๆฉากนี้ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แค่เป็นการพยากรณ์การมาถึงของ Vertigo (1958) ที่จะทำให้ตัวละครของ James Stewart กลัวความสูง
และชุดของนางเอก หลายคนอาจรู้สึกคุ้นๆว่ามันใช่แบบเดียวกับ Vertigo (1958) หรือเปล่า? คำตอบคือไม่ใช่นะครับ
– เรื่องนี้ Josephine สวมใส่สูทไหม Dupioni Silk มีกระดุม 6 เม็ด
– ขณะที่ Madeleine สูททำจากขนสัตว์ (Wool) และมีกระดุม 5 เม็ด
เห็นว่า Edith Head จงใจออกแบบให้แตกต่างเล็กน้อย ตำแหน่งกระเป๋าก็คนละจุด … แต่คนไม่ใช่แฟชั่นดีไซเนอร์ ถ้าไม่สังเกตจะดูออกไหมละ??
Bernard Herrmann ไม่เพียงเป็นผู้แต่งเพลงประกอบ แต่ยังมารับเชิญเป็น Conductor วาทยกรกำกับวง Orchestra แสดงที่ Royal Albert Hall ประสบการณ์ชีวิตสุดยิ่งใหญ่ขนาดนี้ พลาดไปได้อย่างไร
มันจะมีช็อตนี้ที่โคตรหลอน! สังเกตกันให้ดีๆ ไหนละมือของคนถือฉาบ – คุณภาพของภาพก็ดูจะผิดแผกด้อยกว่าปกติอย่างมาก คงเพราะมีการใช้ Rear Projection แล้วใช้เชือกห้อยฉาบทั้งสองอันให้ลอยๆดังภาพ ออกมามีลักษณะเหมือนมุมมองบุคคลที่ 1
เกร็ด: เรื่องราวของนักฉาบคนนี้ เหมือนผู้กำกับ Hitchcock จะได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนเรื่อง The One-Note Man แต่งโดย H. M. Bateman วาดลงหนังสือพิมพ์ Punch วันที่ 14 ธันวาคม 1921 ใครอยากอ่านคลิกโลด https://mcns.wordpress.com/2011/04/22/the-one-note-man/
มุมกล้องนี้รับอิทธิพลเต็มๆจาก Citizen Kane (1941) อย่างแน่นอน ชายผู้นี้คือใครหนังไม่ได้บอกกล่าวไว้ แต่ถ่ายภาพเงยขึ้นและมีภาพวาดใครสักคนผมหงอนสูงวัยอยู่ตำแหน่งเหนือกว่า นี่สะท้อนถึงความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยาน อยากเป็นของหมอนี่อย่างแน่นอน
ผมอยากรู้เหมือนกันนะว่า ลวดลายครอสติสของโซฟานี้คืออะไร? ได้แรงบันดาลใจจากไหน? แต่สังเกตคร่าวๆคือตัวตลกกำลังเสี้ยมสั่งสอนสุนัขตัวหนึ่งให้เชื่อง ทำตามคำสั่งของตนเอง
นี่เป็นช่วงขณะที่แม่กำลังเล่นเปียโนขับร้องเพลง Que Sera, Sera แล้วลูกชายคนนี้พอได้ยินระลึกขึ้นได้ … เอิ่ม นี่สื่อความได้ตรงๆถึง Hank คือเจ้าสุนัข จดจำน้ำเสียง/คำสั่งของเจ้านายได้ เช่นนั้นนะหรือ??
หนึ่งในลายเซ็นต์ของผู้กำกับ Hitchcock มันต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นตรงบันได สถานที่แห่งการเปลี่ยนแปลง ขึ้น-ลง ระหว่างชั้น (หนังปี 1934 ก็มีบางอย่างเกิดขึ้นตรงบันไดเหมือนกันนะ)
จุดจบของสองตัวร้ายในหนังเรื่องนี้ ต้องเรียกว่าเกิดจากกระทำตัวเอง จากเคยอยู่ตำแหน่งสูงๆชั้นบน กลับผิดพลาดพลั้ง ม้วยมรณะลงมายังเบื้องบ้างตกต่ำทราม
ตัดต่อโดย George Tomasini สัญชาติอเมริกัน ขาประจำของ Hitchcock ในช่วงทศวรรษยุคทอง Rear Window (1954), Vertigo (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960), The Birds (1963) ฯ
หนังเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Dr. Benjamin และ Josephine ส่วนใหญ่พวกเขาจะอยู่ใกล้ชิดติดปาท่องโก๋ แต่เมื่อไหร่แยกกันอยู่คนละสถานที่ ก็จะนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาแยกเล่าทีละคน เพื่อเติมเต็มข้อมูลของอีกฝั่ง
ถึงจะไม่ได้มีการตัดต่อหวือหวาระดับ Psycho (1960) แต่มีสองครั้ง Montage ถือว่าเจ๋งเป้งระเบิดเถิดเทิง
– 12 นาทีเต็ม 124 ช็อตกับการแสดงคอนเสิร์ต ไร้ซึ่งเสียงพูดสนทนาใดๆ ร้อยเรียงภาพตัดสลับไปมาสร้างบรรยากาศตึงเครียด ความตายค่อยๆคืบคลานใกล้เข้ามา
– อีกครั้งคือขณะ Josephine กำลังเล่นเปียโนขับร้องเพลง Que Sera, Sera ให้ผู้ชมในสถานทูตแห่งหนึ่งรับฟัง ความกึกก้องกังวาลย์ล่องลอยไปเรื่อยๆผ่านการร้อยเรียงภาพสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งมาถึงห้องคุมขัง Hank ค่อยๆลืมตาขึ้นระลึกได้ นั่นมันเสียงแม่ของฉันนิ!
Hitchcock ไม่ได้บีบบังคับ Bernard Herrmann ให้ใช้บทเพลงประกอบดั้งเดิม Storm Clouds Cantata ของ Arthur Benjamin ในฉากการแสดงคอนเสิร์ตช่วงไคลน์แม็กซ์ แต่เจ้าตัวกลับมีความหลงใหลในบทเพลงดังกล่าว และทำการเรียบเรียงเพิ่มเติมให้มีความยิ่งใหญ่อลังการขึ้นไปอีก (ทั้งยังมา Cameo รับเชิญเป็นวาทยากรกำกับวงเองด้วย)
แซว: ฉากนี้ Stewart มีบทพูดหนึ่งหน้ากระดาษเต็มๆ เพื่อบอกเหตุผล รปภ. ทำไมถึงต้องหยุดการแสดงคอนเสิร์ตลง แต่ Hitchcock กลับบอกว่า
“You’re talking so much, I’m unable to enjoy the London Symphony”.
Que Será, Será (Whatever Will Be, Will Be) ทำนองโดย Jay Livingston, คำร้องโดย Ray Evans, ขับร้องโดย Doris Day เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ, คำว่า Que Será, Será กลายเป็นที่ถกเถียงกันว่า ต้นกำเนิดคือภาษาสเปน ฝรั่งเศส หรืออิตาลี แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้แน่นอน พบเจอเก่าแก่สุดคือบทกลอนในบันทึกเอกสาร Battle of Barnet (1471) ใครสนใจอ่านบทความวิจัยยาวเหยียด http://mypage.siu.edu/lhartman/quesera1.html
ความเจ๋งเป้งของบทเพลงนี้ คือการว่ายเวียนวนของคำถาม “What will I be?” หรือ “What lies ahead?” อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถัดไป ซึ่งคำตอบล้วนสรุปได้ด้วยประโยคเดียว “What will be, will be.” อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด
ครั้งแรกที่ได้ยินบทเพลงนี้ในหนัง แม่ลูกร้องเล่นกันอย่างสนุกสนานหรรษา แต่อีกครั้งหนึ่งที่ดังขึ้นช่วงท้าย คือสถานการณ์อันหวาดวิตก น่าสะพรึงกลัว เป็นตายร้ายดียังไงไม่รู้ คงไม่ใช่ความตั้งใจของตัวละครแน่ๆที่จะสื่อแทนความหมาย อะไรจะเกิดก็ขอให้มันเกิด! แต่เพราะบทเพลงนี้คงทำให้ลูกชายได้ยินแล้วหวนระลึกขึ้นมาได้ ว่าแม่สุดที่รักกำลังอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเขา
เกร็ด: Que Será, Será ติดอันดับ 48 ชาร์ท AFI’s 100 Years…100 Songs
The Man Who Knew Too Much คือเรื่องราวจับพลัดจับพลูของคนที่มิได้มีส่วนล่วงรับรู้อะไรกับใครเขาด้วยเลย กลายเป็นผู้โชคร้ายที่ถูกเข้าใจผิดคิดว่ารู้มาก อันเป็นเหตุให้ต้องไล่ล่าติดตามหา เพื่อรับทราบสิ่งต่างๆที่ตนยังไม่รู้ เพื่อว่าเมื่อเข้าใจแล้วจักได้แก้ไขสถานการณ์เอาตัวรอดได้อย่างทันท่วงที
ผมได้เคยอธิบายไปแล้วในบทความ The Man Who Knew Too Much (1934) ชี้ชักนำว่า การอวดอ้างรู้มาก เป็นสิ่งไม่น่าพึงประสงค์เอาเสียเลยในสังคม เพราะมักเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้ง รังเกียจเดียจฉันท์ หงุดหงิดรำคาญใจต่อผู้พบเห็น ซึ่งการที่หนังฉบับนี้เปรียบ ‘The Man’ กับสหรัฐอเมริกา ชัดเจนเลยว่าเป็นการเสียดสีล้อเลียน ประชดประชัน ประเทศที่กำลังหลงตัวเองว่าคืออภิมหาอำนาจหลังชัยชนะจากสงครามโลก อวดอ้างบารมีสุดยิ่งใหญ่ แต่แท้จริงไม่ต่างอะไรจาก Ambrose Chappell ร้านขายของเก๋ หรืออาชญากรผู้หลบซ่อนตัวท่ามกลางแสงอาทิตย์
การวิพากย์สังคมของ Hitchcock แบบหนังเรื่องนี้ มองมุมหนึ่งเป็นการดูถูก เดียจฉันท์ หมิ่นแคลน ขายชาติ แต่แน่นอนว่าเขาไม่ได้ครุ่นคิดรู้สึกอย่างนั้นแม้แต่น้อย เพราะภาพยนตร์/งานศิลปะ คือศาสตร์ที่สะท้อนมุมมอง ‘ความจริง’ ในสังคม/โลกยุคสมัยนั้นออกมา … การพูดความจริงมันผิดอะไร?
โลกเสรี คือดินแดนที่ทุกสิ่งอย่างสามารถทำการวิพากย์ วิจารณ์ ไม่ว่าจะดี-ชั่ว ถูก-ผิด ต่อว่า-ชื่นชม ทั้งสร้างสรรค์-ไร้สาระ การปกปิดบังหรือกีดกั้นขวางความคิด นั่นเรียกว่าเผด็จการ สังคมใดที่ผู้นำมองเรื่องพรรค์นี้แบบเข้าข้างตนเอง ไม่สนหัวเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถือว่ามีความเชื่องช้าล้าหลัง หลอกตัวเอง ยึดติดในอำนาจ ถูกความคอรัปชั่นคดโกงกัดกร่อนกินไปถึงขั้วหัวใจ สะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสถานการณ์บ้านเมืองได้เป็นอย่างดี
ระหว่างการเป็นคนรู้มากกับรู้น้อย ผมว่าอย่างหลังแสดงออกยากกว่ากันมาก เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการค้นหาคำตอบโน่นนี่นั่น เป้าหมายชีวิต ความลับจักรวาล ฯ แต่น้อยคนที่จะครุ่นคิด รู้ไปทำไม? รู้เยอะแล้วมีประโยชน์อะไร? บางอย่างไม่รู้เสียเลยยังจะดีกว่า!
บุคคลผู้ชอบแสดงความอวดรู้ แทบทั้งนั้นในยุคสมัยนี้คือการเรียกร้องความสนใจ ฉันต้องเก่ง ฉันต้องดัง มีชื่อเสียง ฝูงชนนับหน้าถือตา สังคมให้การยกย่อง ไต่ขึ้นไปให้ถึงจุดสูงสุดแห่งความหนาวเหน็บ จากนั้นเมื่อถึงจุดๆหนึ่งก็กลิ้งตกลงมาให้ถูกเหยียบย่ำยี จนกว่าจะป่นปี้กลายเป็นผุยผง
ถึงเราเป็นผู้มากรู้ ก็มิจำเป็นต้องแสดงความจำอวดออกมา เพราะทุกสิ่งอย่างในโลก ‘เหนือฟ้ายังมีฟ้า’ ไม่มีทางที่เราจะล่วงรับรู้ทุกสิ่งอย่าง การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน ย่อมทำให้ใครๆตกหลุมรักใคร่เอ็นดู และเมื่อเขารู้ว่าเราคนจริง เก่งจริง ‘คมในฝัก’ จักยิ่งยกย่องสรรเสริญ ตกตะลึงงัน สร้างความประทับตราตรึงให้มากกว่าพวกแสดงนิสัยเย่อหยิ่งจองหองทะนงตนเป็นไหนๆ
สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันนี้ยังคงอยู่ในภาพมายาของหลายๆคนว่าคือมหาอำนาจจ้าวโลก วัดกันด้วยตัวเลข สถิติ ก็อาจยังจริงอยู่ แต่มันใช่ดัชนีชี้วัดที่ถูกต้องเหมาะสมจริงๆนะหรือ หันมามองจีน รัสเซีย ก็ไม่เชิงว่าเสือสุ่ม แต่ความรู้สึกหลายๆคนย่อมบอกได้ มีอนาคตยิ่งใหญ่ก้าวไกลกว่าเป็นไหนๆ
วินาทีที่คนรู้มากได้รับการเปิดโปง หรือถูกถีบตกจากยอดเขาสูง นั่นไม่ใช่เหตุการณ์โศกนาฎกรรมน่าสงสารเห็นใจ แต่คือสมน้ำหน้าประชาชีเพราะกระทำตัวตนเอง ถือเป็นบทเรียนสอนชีวิตให้รู้จักสำนึกโอนอ่อนน้อมถ่อมตน เลิกทะนงเสียทีว่าฉันต้องเป็นที่หนึ่งเหนือใคร ถ้าครุ่นคิดแบบนั้นได้ตั้งแต่ตอนแรก เรื่องราวร้ายๆเศร้าสลดเจ็บตัวย่อมไม่ถือกำเนิดขึ้นโดยง่าย
François Truffaut เคยสอบถาม Hitchcock ถึงการสร้าง The Man Who Knew Too Much ทั้งสองฉบับ ชัดเจนว่าปี 1956 มีพัฒนาการโดดเด่นกว่ามาก
“Let’s say the first version is the work of a talented amateur and the second was made by a professional”.
หนังเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยม แต่ไม่ได้คว้ารางวัลอะไรติดไม้ติดมือกลับมา, ด้วยทุนสร้าง $1.2 ล้านเหรียญ ทำเงินได้ $11.3 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบกว่าต้นฉบับ ประกอบด้วย
– สองนักแสดงนำ James Stewart กับ Doris Day เรื่องฝีมือ ความเป็นธรรมชาติ และเคมีของพวกเขา สร้างสีสันให้เรื่องราวมากกว่า
– ไดเรคชั่นไคลน์แม็กซ์ Royal Albert Hall ร้อยเรียงภาพ Montage ได้อย่างเจ๋งเป้งสุดๆ
– นัยยะแฝงของ ‘The Man Who Knew Too Much’ สะท้อนเสียดสีชาวอเมริกัน โดดเด่นชัดรุนแรงกว่า
แนะนำคอหนังอาชญากรรม Mystery Thriller Suspense แนวลักพาตัว ฆาตกรรมอำพราง, แฟนๆผู้กำกับ Alfred Hitchcock และนักแสดงนำ Leslie Banks, Edna Best, Peter Lorre ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความนัวร์ เรื่องราวอาชญากรรม ความตาย
Leave a Reply