The Manchurian Candidate (1962)
: John Frankenheimer ♥♥♥♥
ทหารอเมริกันถูกจับกุมในสงครามเกาหลี โดนล้างสมองโดยคอมมิวนิสต์ให้กลายเป็นสายลับ ‘sleeper agent’ เป้าหมายคือจัดการคู่แข่งชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่อหวังยึดครอบครองอำนาจให้อยู่ในกำมือ
ก่อนหน้าการมาถึงของ Dr. Strangelove (1964) ต้องถือว่า The Manchurian Candidate (1962) เป็นภาพยนตร์อ้างอิงถึงสงครามเย็น (Cold Wars) ได้อย่างเจ็บแสบกระสันต์ โดนหมดทั้ง Communism, McCarthyism แถมยังพยากรณ์เหตุการณ์ลอบสังหารนักการเมืองคนสำคัญ แค่เพียงหนึ่งปีถัดมาเท่านั้นผู้โชคร้ายคือ ปธน. John F. Kennedy วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1963
ใกล้เคียงสุดเท่าที่ผมสามารถเปรียบเทียบได้คือโคตรหนังเงียบ The Cabinet of Dr. Caligari (1920) ลักษณะของสายลับ ‘Sleeper Agent’ มีความคล้ายคลึงกับตัวละคร Cesare ถูกสะกดจิตจนกลายเป็น Somnambulist ครึ่งหลับ-ครึ่งตื่น ไม่มีหน้าที่อื่นนอกจากปฏิบัติตามคำสั่งของ Dr. Caligari
ความ Masterpiece ของ The Manchurian Candidate คือการผสมผสานคลุกเคล้าหลากหลายแนวคิด ทำให้ไม่มีประเภทของหนังแน่นอน เป็นได้ทั้ง Film Noir, Horror, War Film, Science Fiction, Black Comedy/Satire, Suspense-Thriller, Political Melodrama รวมไปถึง Action, Romance หรือจะ Surrealist เลยก็ได้!
ขณะที่เป้าหมายของผู้กำกับ John Frankenheimer คงคือการสะท้อนบรรยากาศของสหรัฐอเมริกายุคสมัยนั้น อันเต็มไปด้วยความมืดหม่น หวาดระแวง สั่นสะพรึงไม่ใช่เพราะอากาศ แต่คือความกลัวที่กัดกร่อนจิตใจ
John Michael Frankenheimer (1930 – 2002) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Queens, New York พ่อเป็นชาวเยอรมันเชื้อสาย Jews ส่วนแม่ Irish Catholic, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจในภาพยนตร์ เรียนจบคณะภาษาอังกฤษจาก Williams College สมัครทหารอากาศสังกัดหน่วยข่าวกรอง ประจำอยู่ Burbank, California ได้รับโอกาสถ่ายทำสารคดี ปลดประจำการออกมาทำงานกำกับซีรีย์โทรทัศน์ให้สถานี CBS เคยเป็นผู้ช่วย Sydney Lumet, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Young Stranger (1957), ต่อมาเกือบได้กำกับ Breakfast at Tiffany’s (1961) แต่ถูก Audrey Hepburn บอกปัดเพราะไม่รู้จัก เลยหันไปสร้าง Birdman of Alcatraz (1962) และ The Manchurian Candidate (1962) กลายเป็นตำนานโดยทันที!
Frankenheimer เป็นผู้กำกับเลื่องลือชาในฐานะ ‘master craftsman’ นำประสบการณ์จากทำซีรีย์โทรทัศน์มาปรับใช้ในภาพยนตร์ ลุ่มหลงใหลประเด็น Social Drama โดยมักมีลักษณะ Action Thriller-Suspense ทั้งยังบุกเบิก Modern-day Political Thriller ประสบความสำเร็จล้นหลามในทศวรรษของสงครามเย็น
ระหว่างกำลังมองหาโปรเจคถัดไป Frankenheimer ได้พบเจอนวนิยาย The Manchurian Candidate (1959) แต่งโดย Richard Thomas Condon (1915 – 1996) นักเขียนแนว Political สัญชาติอเมริกัน หลังจากได้ลิขสิทธิ์ส่งต่อให้ George Axelrod (1922 – 2003) ดัดแปลงบทภาพยนตร์
ช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันกองหนึ่งนำโดย Captain Bennett Marco (รับบทโดย Frank Sinatra) ถูกจับกุมตัวที่ Manchuria ทุกคนโดนล้างสมอง แต่เฉพาะ Staff Sergeant Raymond Shaw (รับบทโดย Laurence Harvey) ได้รับการเสี้ยมสั่งสอนให้กลายเป็นนักฆ่า หวนกลับมาสหรัฐอเมริกาได้ประดับเหรียญเกียรติยศ (Medal of Honor) ตระเตรียมตัวเฝ้ารอคอยปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน Captain Marco ทุกค่ำคืนวันเอาแต่ฝันร้ายๆ ตระหนักได้ว่ามีความผิดปกติเลยพยายามออกค้นหาความจริง จนกระทั่งพบว่า…
เกร็ด: หนังค่อนข้างจะซื่อตรงต่อนวนิยาย แตกต่างเพียงประเด็นเดียวคือตัดทิ้งประเด็น Incest ระหว่างแม่ Mrs. Iselin กับลูกชาย Raymond Shaw ซึ่งเธอสั่งให้เขาร่วมรักหลับนอนระหว่างกำลังถูกสะกดจิต
นำแสดงโดย Francis Albert Sinatra (1915 – 1998) นักร้อง/นักแสดง ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 เกิดที่ Hoboken, New Jersey ตั้งแต่เด็กมีความสนใจด้านดนตรี แจ๊ส Big Band หลงใหลใน Gene Austin, Rudy Vallée, Russ Colombo, Bob Eberly, และไอดอลคือ Bing Crosby ด้วยนิสัยเกเรทำให้ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ เริ่มต้นร้องเพลงตามคลับต่างๆ ต่อด้วยรายการวิทยุ จนกระทั่งได้รับการค้นพบโดย John Quinlan เป็นผู้สอนร้องเพลงให้, เซ็นสัญญากับค่าย Columbia ปี 1943 ออกอัลบั้มแรกในชื่อ The Voice of Frank Sinatra (1946) แล้วห่างหายไปช่วงหนึ่งก่อนหวนกลับมาในนามวง Rat Pat ประกอบกับคว้า Oscar: Best Supporting Actor เรื่อง From Here to Eternity (1953) กรุยทางสู่ความเป็นอมตะ
รับบท Major Bennett Marco ค้นพบความผิดปกติของตนเองหลังกลับจากสงครามเกาหลี จนไม่เป็นการเป็นงาน สายตาเหม่อล่องลอยไร้เป้าหมาย ออกเดินทางสู่ New York City เพื่อนัดพบเจอลูกน้องเก่า Raymond Shaw คาดหวังว่าเขาจะสามารถช่วยเหลือไขปริศนา ก่อนพานพบสาเหตุต้นตอแท้จริงว่าถูกล้างสมอง จึงพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อหยุดยับยั้ง มิให้บังเกิดหายนะขึ้นอีก
ในตอนแรก Frankenheimer มีความลังเลที่จะเลือก Sinatra ให้รับบทนำ เพราะเสียงลือเล่าขานถึงความเรื่องมาก ยียวนกวนประสาท แต่หลังจากได้พบเจอพูดคุยฟังข้อเรียกร้อง ฉันไม่ชอบตื่นเช้าขอเริ่มงานตอน 11 โมงได้หรือเปล่า? แค่นี้เองทุกอย่างราบเรียบไร้ปัญหาใดๆ
ภาพลักษณ์ของ Sinatra ถือว่าเหมาะสมกับบทบาท สวมเครื่องแบบวางมาดแล้วดูดี แต่ก็มีความลึกลับหลบซ่อนเร้นภายใน เรื่องการแสดงถือว่ายอดเยี่ยมสุดเท่าที่ศักยภาพจะไปถึง เห็นว่าแทบทั้งหมดคือเทคแรก (คือพี่แกไม่ชอบเล่นซ้ำๆหลายเทค เหมือนการขึ้นเวทีแล้วร้องเพลงเดิมมากกว่าหนึ่งรอบ มันชวนให้หงุดหงิดหัวเสีย)
Laurence Harvey ชื่อจริง Laruschka Mischa Skikne (1928 – 1973) นักแสดงสัญชาติ Lithuania เกิดที่ Joniškis ครอบครัวเชื้อสาย Jews เมื่ออายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่ Johannesburg, South Africa เติบโตขึ้นที่นั่นจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ย้ายอีกครั้งมาปักหลังกรุง London เพื่อสมัครเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art แต่อยู่ได้แค่สามเดือนลาออกมาหางานทำ แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก House of Darkness (1948), โด่งดังกับ Room at the Top (1959) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor เลยโกอินเตอร์สู่ Hollywood ผลงานเด่นๆอย่าง The Alamo (1960), BUtterfield 8 (1960), The Manchurian Candidate (1962) ฯ
รับบท Raymond Shaw ชายหนุ่มผู้มีความเยือกเย็นชา แข็งกระด้าง ไม่ค่อยเป็นมิตรสนิทสนมกับใคร ลึกๆมีปม Opeidus โกรธเกลียดแม่ที่พยายามควบคุมบีบบังคับให้ทำโน่นนี่นั่น ด้วยเหตุนี้จึงพยายามกระทำสิ่งขัดแย้งแตกต่าง สมัครทหารไปสงครามเกาหลี ถูกล้างสมองกลับมากลายเป็นมือสังหาร มิอาจรับรู้ตนเองว่าได้กระทำอะไรเมื่อถูกสะกดจิต
ความยะเยือกเย็นชาของ Harvey ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้าดวงตา ท่าทางอารมณ์ ได้อย่างทรงพลังมากๆ เก็บสะสมความอึดอัดอั้น ขัดแย้งภายใน แม้ถูกสะกดจิตไม่อาจจดจำอะไรได้ น้ำตายังหลั่งออกมาเมื่อต้องกระทำการเข่นฆ่า … แต่ผมรู้สึกว่าน้ำเสียงพี่แกฟังดูทะแม่งๆ แปลกๆ สงสัยคงไม่ชินชาภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันสักเท่าไหร่
Janet Leigh ชื่อเกิด Jeanette Helen Morrison (1927 – 2004) นักร้อง/นักแสดงหญิง สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Stockton, California ครอบครัวอพยพจาก Denmark ฐานะค่อนข้างยากจน เป็นนักร้องคอรัสในโบสถ์ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียนดนตรีและจิตวิทยาที่ College of the Pacific ได้รับการค้นพบโดย Norma Shearer แนะนำให้กับแมวมองที่ MGM
“that smile made it the most fascinating face I had seen in years. I felt I had to show that face to somebody at the studio”.
– Norma Shearer
แม้ไม่มีประสบการด้านการแสดง แต่มาทดสอบหน้ากล้อง ได้เล่นหนังเรื่องแรก The Romance of Rosy Ridge (1947), เริ่มมีชื่อเสียงจาก If Winter Comes (1947), Little Women (1949), Touch of Evil (1958), กลายเป็นตำนานกับ Psycho (1960) และ The Manchurian Candidate (1962)
รับบท Eugénie Rose Chaney หญิงสาวแปลกหน้า อยู่ดีๆก็มาพบเจอ Major Bennett Marco บนรถไฟกำลังเดินทางไป New York City ก็ไม่รู้ลุ่มหลงใหลอะไร ทั้งๆที่เขาก็แสดงสีหน้าไม่ใคร่สนใจ แต่กลับเชื่อมั่นว่าต้องมีโอกาสพบเจอกันอีก ซึ่งไม่นานเพิ่งกลับถึงบ้าน ก็ได้รับโทรศัพท์เรียกตัวไปสถานีตำรวจ เป็นความโรแมนติกชวนหัวเล็กๆ
เอาจริงๆบทบาทของ Janet Leigh แทบไม่มีอะไรให้พูดถึงสักเท่าไหร่ แต่เธอกลับบอกว่า นี่เป็นตัวละครเล่นยากที่สุดในชีวิต จึงความภาคภูมิใจมากเป็นพิเศษ
“the character was plunked down in the middle of the script, with no apparent connection to anyone, transmitting non sequiturs while sending meaningful rays through her eyes”.
– Janet Leigh
ผมว่ามันยากมากๆเลยนะ กับตัวละครที่บทบาทเพียงสมทบ จะทำอย่างไรให้มีความโดดเด่นน่าจดจำ ซึ่งต้องชมว่า Leigh สามารถทำออกมาได้ดี ปรับแต่งบทพูดสนทนาจนฟังดูดีน่าสนใจ ทั้งๆไม่มีอะไรแต่ได้ท้าทายศักยภาพของตนเอง
เกร็ด: ก่อนเข้าฉากบนรถไฟ เช้าวันนั้น Janet Leigh เพิ่งได้รับใบหย่าจากสามี Tony Curtis
Dame Angela Brigid Lansbury (เกิดปี 1925) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Regent’s Park, London, แม่เป็นนักแสดงละครเวที ส่วนพ่อเคยเป็นนายกเทศมนตรี และนักการเมืองสังกัด Communist Party of Great Britain, โตขึ้นเข้าเรียนการแสดงที่ Webber Douglas School of Singing and Dramatic Art ตามด้วยได้รับทุนต่อ Feagin School of Drama and Radio มีผลงานละครเวที ออกทัวร์การแสดง ย้ายมาปักหลัก Hollywood สมทบ Gaslight (1944), The Picture of Dorian Gray (1945), State of the Union (1948), The Manchurian Candidate (1962) ฯ
รับบท Mrs. Eleanor Iselin แม่ของ Raymond Shaw ผู้มีความเรื่องมาก เจ้ากี้เจ้าการ พยายามชักใยบงการอยู่เบื้องหลัง เพ่อให้ทุกสิ่งอย่างอยู่ในกำมือของตนเองเท่านั้น, ปากอ้างว่าโกรธเกลียดต่อต้านคอมมิวนิสต์ แท้จริงกลับได้รับการสนับสนุนหลัง แต่เมื่อทราบความจริงเกี่ยวกับมือสังหาร ว่าคือลูกชายแท้ๆของตนเอง เฝ้ารอคอยเวลาไต่เต้าสู่อำนาจ สาบานว่าจักทำลายล้างทุกสิ่งอย่างให้ราบเรียบเป็นหน้ากอง
ตอนแรก Sinatra อยากให้ Lucille Ball มารับบทบาทนี้ แต่ผู้กำกับ Frankenheimer เพิ่งเคยร่วมงานกับ Lansbury เรื่อง All Fall Down (1962) ส่งฟุตเทจการแสดงของเธอไปให้ พบเห็นแล้วเกิดความประทับใจมากๆ เลยเห็นพ้องยินยอมตกลง
จริตของ Lansbury ช่างมีความจัดจ้าน ร่าน เร่าร้อนแรง ดูเหมือนคุณหญิงคุณนาย ‘โอปป้า’ นิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ ทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสนองความต้องการพึงพอใจส่วนตนเท่านั้น! ซึ่งยุคสมัยก่อนผู้หญิงยากยิ่งจะได้รับการยอมรับ เลยใช้วิธีผลักดันสามีแล้วตนเองคอยชักโยงใยอยู่เบื้องหลัง นี่สามารถเรียกได้ว่าผู้ร้ายตัวจริง!
ถ่ายภาพโดย Lionel Lindon (1905 – 1971) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Going My Way (1944), The Blue Dahlia (1946), Around the World in 80 Days (1956) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, I Want to Live! (1958), The Manchurian Candidate (1962) ฯ
ถึงได้รับ Oscar จากการถ่ายหนังฟีล์มสี แต่ผมว่า Lindon โดดเด่นกับงานภาพขาว-ดำ สไตล์นัวร์เสียมากกว่า พบเห็นอิทธิพลจาก Citizen Kane (1942) โดยเฉพาะการจัดแสงเงา ทิศทาง มุมกล้อง และองค์ประกอบภาพซ่อนเร้นนัยยะบางสิ่งอย่าง
เทคนิคแรกที่พบบ่อยคือ Deep-Focus พบเห็นใบหน้าตัวละครคมชัดระยะใกล้-ไกล (แต่มันอาจดูเบลอๆสักหน่อยกับตำแหน่งคนอยู่ใกล้) อย่างฉากนี้คงมุมกล้องไว้ระหว่างสามตัวละครหลังตรงเข้ามาหา สร้างความตื่นตาให้กับคนเข้าใจข้อจำกัดยุคสมัยนั้นไม่น้อยทีเดียว
มุมก้ม-เงย พบเห็นพื้นหรือเพดาน เป็นอีกเทคนิคหนึ่งพบเห็นบ่อยครั้งในหนัง ซึ่งมักสะท้อนสภาพจิตวิทยาของตัวละคร, อย่างช็อตนี้ตีความได้ถึง นิสัยเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง ฉันจะไม่ยินยอมฟังคำร้องขอ ควบคุมครอบงำของแม่อีกต่อไป! และเงาด้านหลัง เสมือนว่ามีบางอย่างชั่วร้าย ปกคลุมครองงำ/อยู่เหนือการควบคุมของเขาซ่อนเร้นอยู่
ช็อตนี้เหมือนจะไม่ได้ใช้เทคนิค Deep-Focus แต่ก็ซ่อนเร้นนัยยะบางอย่าง
– แม่นั่งอยู่ข้างหน้า แต่สถานะจริงๆของเธอคือผู้บงการชักใยอยู่เบื้องหลัง
– พ่อเลี้ยงยืนอยู่ด้านหลัง แม้ระยิบระยับเจิดจรัสท่ามกลางแสงดาว (คือคนอยู่เบื้องหน้าฉากของครอบครัว) แต่ภาพเบลอๆคือหาได้อยู่ในความใคร่สนใจ มีบทบาทสลักสำคัญอะไร
แซว: เครื่องบินลำนี้เจ้าของคือ Frank Sinatra ให้หยิบยืมใช้ถ่ายทำโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ฉากในความฝัน มีชื่อว่า ‘Brainwashing Sequence’ ประกอบด้วยสองสถานที่ สร้างขึ้นทั้งสองฉากในสตูดิโอ
– ชมรมพืชสวน (Garden Club) รายล้อมด้วยสุภาพสตรี (และคนผิวสี)
– เวทีการทดลอง พื้นหลังปรากฎรูปของผู้นำคอมมิวนิสต์ และผู้ชมนั่งอยู่อัฒจรรย์ชั้นบน
ยุคสมัยสงครามเย็น มนุษย์ยังมีมุมมองทัศนคติสุดโต่งซ้าย-ขวา ซึ่งการให้สัมภาษณ์ของกองทัพเรือ (ขวาจัด) ทั้งไม่รู้เรื่องแถมปฏิเสธฟังคำบอกเล่าของสมาชิกวุฒิสภารายนี้ กล่าวอ้างถึงหนอนบ่อนไส้คอมมิวนิสต์หลบซ่อนเร้นภายใน (ซ้ายจัด)
ช็อตนี้อีกเช่นกันที่แม่ Mrs. Iselin ปรากฎอยู่ตำแหน่งระยะใกล้ แต่คือคนชักใยบงการ มิใช่ผู้ออกเบื้องหน้าอยู่ท่ามกลางฝูงชนนักข่าว, ขณะที่อีกฝั่งตรงข้ามปรากฎเพียงภาพในจอโทรทัศน์ สะท้อนการสื่อสารด้านเดียวที่ต่างฝ่ายไม่รับฟังคำใดๆต่อกัน!
การนำภาพวาดงานศิลปะปรากฎอยู่เคียงข้างตัวละครลักษณะนี้ สะท้อนรสนิยมชั้นสูงของผู้กำกับ Frankenheimer เพื่อสะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร เป็นเช่นไรก็ลองจับจ้องมองภาพแล้วทำความเข้าใจกันเองดูนะครับ
สภาพอันดูไม่ได้ของ Bennett Marco ออกเดินทางขึ้นรถไฟ ตั้งใจไปพักร้อนยัง New York City แต่ภาพช็อตนี้พบเห็นบานเกล็ดด้านหลังดูเหมือนกรงขัง จิตใจคงโหยหาอิสรภาพ ต้องการไขปริศนาให้พ้นทุกข์ทรมานนี้เสียที!
สะท้อนความหลงตัวเองของ Senator John Yerkes Iselin (รับบทโดย James Gregory) จินตนาการตนเองว่าจะสามารถเป็นได้เหมือน Abraham Lincoln แต่สุดท้ายก็เลืือนลางเหมือนภาพนี้ ยังห่างไกลพร้อมไม่ได้ซ้อนทับ … ไม่มีวันเป็นได้อย่างแน่นอน!
Senator Thomas Jordan (รับบทโดย John McGiver) คนนี้นี่ชัดเจนเลยว่าคืออเมริกันแท้ๆ (แต่ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่ามีความคิดเหมือนคอมมิวนิสต์) เพราะตำแหน่งการยืนช็อตนี้ ตรงกับปีกอินทรี (สัตว์สัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกา)
ผมว่าช็อตนี้นี่ชัดเจนเลยนะว่า Mrs. Iselin ไม่ได้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยสักเท่าไหร่ สังเกตจากภาพวาด Abraham Lincoln ด้านหลัง ถูกบดบังปิดหน้า ขณะที่รูปปั้นก็หันข้าง ตัวเองก็แสดงพฤติกรรมเผด็จการ ไหนละความเสมอภาคเท่าเทียมในครอบครัว
ฉากนี้ถ่ายทำยัง Central Park Lake, New York เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1962 ซึ่งถูกจารึกไว้ว่า หนาวที่สุดในรอบ 30 ปี น้ำแข็งหนามากๆถึงขนาดต้องใช้รถ Bulldozer เพื่อให้เกิดร่องหลุมสามารถเดินตกน้ำ … สงสารแทน Laurence Harvey ท่าทางการเดินของเขา ไร้จิตวิญญาณ ราวกับกำลังจะไปพบยมบาลอย่างงั้นเลยละ
หนังเล่นกับไพ่ Queen ช็อตนี้ได้เจ๋งเป้งมากๆ คือมันคาดไม่ถึงเลยนะว่าแฟนสาวของ Raymond Shaw จะกล้าสวมใส่ชุดคอสเพลย์ดังกล่าว, ซึ่งมันมีนัยยะชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ความรักที่ชายหนุ่มมีให้หญิงสาวต่อจากนี้ คือตัวตนแท้จริงของเขา หรือกำลังต้องมนต์สะกดกันแน่?
หนังใช้ความมืด/ถ่ายย้อนแสง ช็อตนี้ถูกจังหวะมากๆ คือขณะที่ Raymond Shaw หลังจากถูกสะกดจิต ได้รับคำสั่งให้ไปทำภารกิจบางอย่างต่อชายคนนี้ … เรียกว่า ปักธงแห่งความตาย
นี่เป็นวินาทีที่ Bennett Marco รับทราบถึงการตัดสินใจอันผิดพลาดของเขา เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฎกรรมที่มิอาจตระเตรียมใจพร้อมรับ สังเกตว่าถ่ายทำด้วยมุมเอียง (Dutch Angle) สะท้อนสภาพทางจิตวิทยาอันบิดเบี้ยว ตุปัดตุเป๋ เล่นเอาเดินไม่ตรงเลย
ผมว่าช็อตนี้ได้รับการพูดถึงจากผู้กำกับ/นักแสดง มากกว่าไฮไลท์ไคลน์แม็กซ์ที่ Old Madison Square Garden เสียอีกนะ!
ประเด็นคือว่า Sinatra เป็นนักแสดงประเภท เทคแรกเท่านั้นเล่นดีสุด แต่ช็อตนี้คือความผิดพลาดเพราะเบลอๆ หลุดโฟกัส ซึ่งเมื่อมีการแก้ไข พี่แกก็ไม่มีอารมณ์เล่นให้ดีเท่า ผู้กำกับเลยจำยอมเลือกใช้เทคดีสุดนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าได้รับคำชื่นชมล้นหลาม เพราะนำเสนอมุมมองมึนๆเบลอๆของ Raymond Shaw ขณะนั้นยังไร้ซึ่งสติสตางค์สมประดี จับจ้องมองอะไรไม่ชัดเจนเท่าไหร่
แม้ Hays Code จะเริ่มเสื่อมศรัทธาลงแล้วในยุคสมัยนั้น แต่ประเด็น Incest ถือว่าละเอียดอ่อนเกินไป แต่ผู้กำกับก็ยังอดไม่ได้ด้วยภาพไพ่ Queen ขนาดใหญ่ และแม่บรรจงจูบลูกชาย แค่นั้นแหละก็ชวนให้จิ้นไปไกลลิบลับ
ฉากที่กลายเป็นตำนานของหนัง ถ่ายทำยัง Old Madison Square Garden แต่การ Close-Up เหตุการณ์บนเวที กลับไปใช้สตูดิโอที่ Hollywood ไม่ได้ถ่ายทำพร้อมๆกันไปเลย
วิธีการถ่ายทำฉากนี้ของผู้กำกับ Frankenheimer นำแรงบันดาลใจจากถ่ายทอดสดรายการโทรทัศน์ ที่ใช้กล้องหลายสิบตัวประจำตำแหน่งโดยรอบ และเชื่อมต่อเข้ากับจอ Monitor ยังห้องควบคุม แค่เพียงเท่านี้ก็สามารถจัดเก็บบรรยากาศท่ามกลางความสับสนอลม่านของตัวประกอบหลายพันได้อย่างสบายๆ
เกร็ด: Old Madison Square Garden แห่งนี้ ได้ถูกรื้อถอนทำลายไปแล้วเมื่อปี 1968
แถมท้ายกับช็อตนี้ ถ้าสังเกตให้ดีๆก็จะพบว่าพื้นหลังไม่ได้มีความคล้าย Old Madison Square Garden เลยสักนิด ก็อย่างที่บอกไปย้ายมาถ่ายทำยังสตูดิโอ Hollywood เรื่องอะไรจะต้องเสียเวลาวุ่นวายไปพร้อมๆกับฝูงชน
ช็อตนี้ว่าไปค่อนข้างน่าสนใจเหมือนกันนะ เพราะโดยปกติ Citizen Kane-like มักนำภาพของผู้สมัคร/หาเสียง รูปเดียวขนาดใหญ่ยักษ์ประดับพื้นหลัง แต่ครานี้กลับพบเห็นภาพขนาดเท่ากันชูเหนือศีรษะแต่ยังต่ำกว่าตัวละคร … ราวกับจะสะท้อนว่า บุคคลนี้ไร้ซึ่งความเย่อหยิ่ง ทะนงตน อวดดี แต่มีทัศนคติอยู่ท่ามกลางฝูง ฝักใฝ่ความเสมอภาคเท่าเทียม
ตัดต่อโดย Ferris Webster (1912 – 1989) ยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆคือ The Picture of Dorian Gray (1945), Blackboard Jungle (1955), Forbidden Planet (1956), Cat on a Hot Tin Roof (1958), The Magnificent Seven (1960), The Manchurian Candidate (1962), The Great Escape (1963) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสองตัวละครหลัก Bennett Marco กับ Raymond Shaw โดยจะมีแทรกภาพในความฝัน (ของ Marco) และหวนระลึกความทรงจำจากอดีต (ของ Shaw)
ไฮไลท์การตัดต่อมีสอง Sequence ใหญ่ๆ, ฉากในความฝันของ Bennett Marco จะมีการสลับฉากไปมาขณะสาธิตสะกดจิต ซึ่งผู้ชมแทบจะดูไม่รู้เรื่องเลยว่า ใครกันคือพิธีกร? ฉากพื้นหลังคืออะไร? ผู้ชมนั่งคือใครนั่งตำแหน่งไหน? ทั้งหมดนี้สะท้อนจินตนาการอันสับสน ความจดจำพร่ามัวเลือนลาง จากการถูกชะล้างสมองให้หลงลืมทุกสิ่ง (แต่มันก็ไม่หายไปแท้จริงจากความทรงจำ)
อีกหนึ่งไฮไลท์คือฉากไคลน์แม็กซ์ ตัดสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ด้านล่าง Old Madison Square Garden ควบคู่ไปกับ Shaw หลบซ่อนอยู่เบื้องบนกำลังตระเตรียมการลอบสังหาร ให้สัมผัสลุ้นระทึกสไตล์ Hitchcock-ian ผู้พันจะสามารถติดตามทันหรือไม่? แล้วใครบ้างจะถูกยิง?
เพลงประกอบโดย David Amram นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน เลื่องลือชาในการผสมผสาน Jazz เข้าไปในบทเพลงพื้นบ้าน และ World Music, ผลงานภาพยนตร์เด่นๆ อาทิ Splendor in the Grass (1961), The Manchurian Candidate (1962)
จัดเต็มวงออเครสต้า สร้างทำนองประสานเสียงให้สัมผัสอันซึมเศร้า อมทุกข์ สะท้อนความเจ็บปวดรวดร้าวที่เก็บกดซ่อนเร้นไว้ภายใน เด่นขึ้นมาด้วยเสียงคาริเน็ต ตามด้วยไวโอลิน ปิดท้ายด้วย French Horn แห่งโอกาสและความหวัง ถ้ายังมีชีวิตก็ต้องดิ้นรนสู้ต่อไป
The Manchurian Candidate ไม่เพียงมีใจความต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่ยังปรปักษ์ต่อทัศนคติจากกลุ่มสุดโต่งของประชาธิปไตย โดยเฉพาะการล่าแม่มดของ McCarthyism หากคุณไม่อยู่ข้างเดียวกับฉันต้องเป็นศัตรูเท่านั้น! ครุ่นคิดแบบนี้เมื่อถึงจุดๆหนึ่งมันจะหลงเหลือหนทางออกเดียว คือเข่นฆาตกรรมทำลายบุคคลฝั่งตรงข้ามให้หมดสิ้นซาก
ใครก็ตามที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ในทัศนคติชาวอเมริกันสมัยนั้นราวกับถูก ‘ล้างสมอง’ เอาจริงๆก็ไม่จำเป็นเสมอไปนะครับ ก็แค่ความคิดเห็นต่างระดับสุดโต่ง ซ้าย-ขวา พวกเขาเหล่านั้นคงพบเห็นว่า ประชาธิปไตยที่อ้างว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม แต่ไฉนบรรดาผู้นำกลับมากด้วยอภิสิทธิ์ชน คนรวยมีเงินก็พยายามเอารัดเอาเปรียบประชาชน นี่มันโกหกหลอกลวงกันชัดๆ และเมื่อพบเห็นแนวความคิดใหม่ของคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์ที่พยายามให้ทุกคนเสมอภาคเท่ากันจริงๆ มีหรือจะไม่อยากลิ้มลองไขว่คว้าหา
ขณะเดียวกัน นักการเมือง/บุคคลผู้ที่ใครๆเชื่อว่าคือตัวแทนของประชาธิปไตยจริงๆ อาจมีเบื้องหลังชักโยงใยหลบซ่อนเร้นอยู่ก็เป็นได้! กำลังตระเตรียมวางแผนกระทำการณ์ ไต่เต้าสู่เป้าหมายแห่งอำนาจ ซึ่งเมื่อไหร่ตกอยู่ในกำมือของคนกลุ่มนี้เบ็ดเสร็จ ธาตุแท้คงจักค่อยๆถูกเปิดเผยแสดงออกมาทีละเล็ก
มันคือผลกรรมของบุคคลชื่นชอบการครอบงำผู้อื่น สักวันหนึ่งจักถูกย้อนแย้ง กลายเป็นผู้ถูกครอบงำเข้าหาตนเอง, เมื่อลูกชายสุดที่รักกลายเป็นเครื่องจักรสังหาร หัวอกคนเป็นแม่ย่อมทุกข์ทรมาน เช่นกันเมื่อถูกกระทำมามาก เขาจึงตัดสินใจแน่วแน่กระทำบางสิ่งอย่าง แม้ถูกเรียกว่าอกตัญญู แต่บางครั้งอุดมการณ์ก็สูงส่งเหนือกว่าสิ่งใด
ผู้กำกับ John Frankenheimer ลงเอยภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยเจตนารมณ์ชวนเชื่อรักชาติ ถึงฉันจะถูกล้างสมองก็ไม่ใช่หัวอกจิตวิญญาณ กระทำการมิให้ศัตรูแห่งประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ เสียสละแม้มารดาผู้ให้กำเนิด แต่การกระทำดังกล่าวสร้างความรวดร้าวเกินกว่าจักธำรงชีพอยู่ สวมใส่เหรียญเกียรติยศอย่างภาคภูมิ อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตนี้ ได้กระทำสิ่งทรงคุณค่าตอบแทนผืนแผ่นดินจริงๆเสียที
ทุนสร้าง $2.2 ล้านเหรียญ แต่แค่ค่าตัวของ Frank Sinatra ก็สูงถึง $1 ล้านเหรียญ ตอนออกฉายเหมือนจะไม่ทำเงินสักเท่าไหร่ (ไม่มีรายงานรายรับ) กระนั้นก็ยังได้เข้าชิง Oscar สองสาขา
– Best Supporting Actress (Angela Lansbury)
– Best Film Editing
ข่าวลือหนาหูว่า หลังเหตุการณ์สังหาร JFK ทำให้ Sinatra ขอซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังจาก United Artist แล้วนำออกจากสารบบ ไม่เคยถูกฉายในโรงภาพยนตร์อีกเลยจนกระทั่งการ Re-Release เมื่อปี 1987
การนำออกฉาย Re-Release เมื่อปี 1987 สร้างความตื่นตะลึงให้ผู้ชม/นักวิจารณ์รุ่นใหม่อย่างล้นหลาม ต่างยกย่องขึ้นหึ้งเรียกว่า Masterpiece เพราะยังคงงดงามตราตรึง เหนือกาลเวลา และเห็นว่าทำเงินรอบนี้ได้ $7.7 ล้านเหรียญ ก่อเกิดกำไรขึ้นโดยทันที
มีการนำมาสร้างใหม่ The Manchurian Candidate (2004) โดยผู้กำกับ Jonathan Demme นำแสดงโดย Denzel Washington, Meryl Streep, Liev Schreiber, Jon Voight และปรับเปลี่ยนพื้นหลังเป็น Persian Gulf War (1990-91) คุณภาพกลางๆ แต่ทุนสร้างสูงมาก $80 ล้านเหรียญ ทำเงินได้เพียง $96.1 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับ!
ส่วนตัวชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ หลงใหลในลีลาถ่ายภาพ แนวคิด/เนื้อเรื่องราว การตัดต่อ และไดเรคชั่นผู้กำกับ John Frankenheimer น่าสนใจมากๆทีเดียว
แนะนำคอหนังการเมือง แนวเสียดสีสงครามเย็น, ส่วนผสมของ Thriller-Suspense, กลิ่นอาย Film-Noir ถ่ายภาพสวยๆ, แฟนๆผู้กำกับ John Frankenheimer และนักแสดงนำ Frank Sinatra, Laurence Harvey, Janet Leigh ไม่ควรพลาด
จัดเรต 18+ กับบรรยากาศอันมืดหมองหม่นของสงครามเย็น
Leave a Reply