The Martian (2015) : Ridley Scott ♥♥♥♥
โลกยุคสมัยก่อนแบบ Robinson Crusoe หรือ Cast Away (2000) อาจใช้เพียงสันชาติญาณก็สามารถเอาตัวรอดได้ แต่ปัจจุบันนี้และอนาคตกับ The Martian (2015) ทำให้ Matt Damon ต้องเค้นองค์ความรู้ กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ดิ้นรนให้ถึงที่สุดเพื่อยังคงมีชีวิตอยู่ได้, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
The Martian ถึงไม่ใช่นิยาย/ภาพยนตร์ ท้าทายให้ผู้ชมขบครุ่นถึงวิธีแก้ปัญหาเอาตัวรอด แต่กระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ของตัวละคร น่าจะสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ให้ย่นย้อท้อต่ออุปสรรคขวากหนาม และตราบใดยังหลงเหลือ’สติ’ในสถานการณ์เป็น-ตาย ย่อมสามารถกระทำการใดๆเสร็จสำเร็จสมหวังดั่งฝัน
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวคราวออกมาเยอะถึงแผนการสำรวจดาวอังคาร เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ถือว่าก้าวไปไกลน่าจะถึงระดับนั้นได้สบายๆแล้ว แต่การจะสร้างยานอวกาศสักลำ หรือออกเดินทางระหว่างดาวเป็นระยะเวลานานๆ ยังคงเป็นที่วิตกกังวลถึงอุปสรรคเบื้องหน้าไม่มีใครคาดไม่ถึง และทัศนคติ ‘ชีวิตคน สำคัญกว่าองค์ความรู้’ คำถามเชิงมนุษยธรรมที่คนสมัยนี้ดัดจริตกันไปต่างๆนานา
นักบินอวกาศทุกคนย่อมรับรู้ตัวเองอยู่แล้วว่ามีความเสี่ยง ได้รับการตระเตรียมกายใจให้เพรียบพร้อมอยู่แล้ว ไม่ใช่สุ่มสี่ห้าก็กระโดดขึ้นกระสวยทะยานไป ยังไงฉันต้องสามารถรอดกลับมาได้แน่! แต่เป็นสาธารณะชนเสียมากกว่าที่พอได้ยินข่าวคาวหายนะ อุบัติเหตุ มีปฏิกิริยาโต้ตอบสะดีดสะดิ้ง หวาดหวั่นสะพรึง รับไม่ได้! ตำหนิต่อว่าองค์กรนั้นๆส่งคนไปตาย ขุดคุ้ยเรื่องเสียๆหายๆ นำพาให้ทุกสิ่งอย่างแทนที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยบทเรียนแห่งความผิดพลาด กลับถดถอยหลังลงคลองเพราะอ้างจริยธรรมสังคม
ความยุ่งยากของการสำรวจอวกาศในยุคสมัยปัจจุบัน ผมว่ามันอยู่ที่ตรงนี้แหละ เพราะอะไรๆยังถือว่าเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้น ‘บุกเบิก’ มันจึงขาดบทเรียน ประสบการณ์ ความผิดพลาดพลั้งก็ยังไม่มี ทุกสิ่งอย่างเกิดจากจินตนาการในมุมมองของมนุษย์ด้วยกันเอง จนกว่าจะพานพบเจออุปสรรคปัญหาเข้าจริงๆ และหรือมีบุคคลผู้เสียชีวิต อะไรๆมันถึงจะได้รับการพัฒนาต่อยอดไปให้ถึงจุดปลอดภัยยินยอมรับได้
เหตุการณ์แบบ The Martian ก็เช่นกัน ไม่มีใครคาดคิดหรอกนะว่า Mark Watney จะสามารถเอาตัวรอดอยู่บนดาวอังคารได้นานขนาดนั้น แต่ทุกอย่างต้องมี ‘ครั้งแรก’ ขึ้นมาก่อน ถึงจักกลายเป็นบทเรียนเสี้ยมสั่งสอน ตระเตรียมการให้คนรุ่นถัดๆไป เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอย
จุดเริ่มต้นของ The Martian คือนวนิยายออนไลน์แต่งโดย Andy Weir อดีตนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (แต่เรียนไม่จบ) ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์พัฒนาเกมอยู่หลายปี ก่อนตัดสินใจออกมาเป็นนักเขียนนิยายบนเว็บ เริ่มต้นปี 2009 ค่อยๆได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงรวมเล่มตีพิมพ์ขายเองและทำเป็น E-Book เมื่อปี 2011 กระทั่งมีสำนักพิมพ์ Crown Publishing ติดต่อขอซื้อวางขายตามร้านหนังสือปี 2014 กลายเป็น Best-Seller โดยทันที
สำหรับภาพยนตร์ได้รับความสนใจโดยโปรดิวเซอร์ Simon Kinberg แห่งสตูดิโอ Fox ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เมื่อมีนาคม 2013 มอบหมายให้ Drew Goddard (เขียนบท Cloverfield, กำกับ The Cabin in the Woods) พัฒนาดัดแปลงบท ทีแรกตั้งใจจะกำกับเองด้วยแต่ก็เปลี่ยนไปสนใจโปรเจค Sinister Six รวมตัวร้ายของ Spider-man แต่สุดท้ายโปรเจคนั้นกลายเป็นหมัน และตนเองสูญเสียโอกาสกำกับเรื่องนี้ให้ Ridley Scott
Sir Ridley Scott (เกิดปี 1937) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ South Shields, County Durham, พ่อเป็นทหารบกเดินทางไปรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาศัยอยู่กับแม่และพี่น้องสามคน ต้องคอยย้ายหนีหลบระเบิดไปตามเมืองต่างๆ จนหลังสงครามค่อยสามารถหวนกลับไปปักหลักยังถิ่นฐานบ้านหลังเก่า ตั้งแต่เด็กชื่นชอบอ่านนวนิยายไซไฟ โดยเฉพาะ H. G. Welles หลงใหลในการวาดภาพ โตขึ้นเข้าเรียน Royal College of Art จบออกมาเป็นนักออกแบบฉากให้ซีรีย์ฉายโทรทัศน์, จนได้รับโอกาสกำกับบางตอน, ร่วมกับน้องชาย Tony Scott ตั้งบริษัท Ridley Scott Associates (RSA) รับงานโฆษณาจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Duellists (1977) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Best Debut Film
เมื่อพูดถึง Ridley Scott คนส่วนใหญ่มักนึกถึงผลงานแนว Sci-Fi หรือ Epic อาทิ Alien (1979), Blade Runner (1982), Gladiator (2000), Black Hawk Down (2001) ฯ คร่ำหวอดในวงการมาหลายทศวรรษ แต่ไม่น่าเชื่อเข้าชิง Oscar: Best Director ถึงสามครั้งแต่ยังไม่เคยคว้ารางวัล (ยังไม่ได้ Honorary Award ด้วยนะ!)
หลังเสร็จจาก Exodus: Gods and Kings (2014) ทีแรก Scott หมายมั่นปั้นมือจะกำกับภาคต่อของ Prometheus (2011) ที่พัฒนาบทเสร็จสิ้นแล้ว แต่เมื่อได้รับการติดต่อจาก Kinberg แนะนำให้อ่านนวนิยาย The Martian เกิดความชื่นชอบประทับใจในมุมมองสมจริงทางวิทยาศาสตร์ เลยตัดหน้าขอกำกับโปรเจคนี้ก่อน ทำการติดต่อ NASA ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก James L. Green ผู้อำนวยการ Planetary Science Division ให้คำแนะนำ ตอบคำถาม พาทัวร์ Johnson Space Center และ Jet Propulsion Laboratory นั่นเพราะเล็งเห็นผลประโยชน์อันดีในการประชาสัมพันธ์โครงการสำรวจดาวอังคาร ที่กำลังจะมีขึ้นในอีก 1-2 ทศวรรษข้างหน้านี้
อนาคตอันใกล้ 2035 ลูกเรือยาน Ares III ได้รับมอบหมายทำภารกิจยังดาวอังคาร ณ บริเวณ Acidalia Planitia เป็นระยะเวลา 31 วัน แต่เพียงวันที่ 18 เกิดพายุฝุ่นลูกใหญ่ เป็นเหตุให้จรวด Mars Ascent Vehicle (MAV) อาจสูญเสียการทรงตัว จึงจำเป็นต้องยกเลิกภารกิจ ระหว่างเดินทางกลับ Mark Watney (รับบทโดย Matt Damon) ประสบอุบัติเหตุไร้สัญญาณตอบรับ จนใครๆต่างคาดคิดว่าคงเสียชีวิตไปเลย กัปตันยาน Melissa Lewis (รับบทโดย Jessica Chastain) เลยตัดสินใจทอดทิ้งเขาไว้เบื้องหลัง เพื่อความปลอดภัยของลูกเรืออีก 4 คนที่เหลือ
เกร็ด: Ares คือชื่อเทพเจ้าแห่งสงครามของกรีก (God of Wars) ซึ่งตรงกับโรมันคือ Mars, ขณะที่ยานอวกาศเดินทางระหว่างโลก-ดาวอังคาร Hermes ของกรีกคือเทพเจ้าผู้ส่งสาร/นักการทูต ที่คอยปกปักษ์ช่วยเหลือนักเดินทาง แต่ถ้าเป็นโรมันจะคือชื่อของดาวพุธ (Mercury)
Matthew Paige Damon (เกิดปี 1970) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Cambridge, Massachusetts ตอนเด็กอาศัยอยู่กับแม่เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ Lesley University ไม่ค่อยมีเพื่อนเท่าไหร่จมอยู่ในกองหนังสือ กระทั่งเข้าเรียน Cambridge Rindge and Latin School กลายเป็นเพื่อนสนิทของ Ben Affleck ทำให้สนใจในการแสดง สอบเข้าได้ Havard University พัฒนาบทหนังและแสดงนำแจ้งเกิด Good Will Hunting (1991) ทั้งยังคว้า Oscar: Best Original Screenplay, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ The Rainmaker (1997), Saving Private Ryan (1998), The Talented Mr. Ripley (1999), Ocean’s Triloge, Bourne Franchise, The Departed (2006), Invictus (2009), True Grit (2010), Interstellar (2014), The Martian (2015) ฯ
รับบท Mark Watney ต้นฉบับนิยายบอกว่าจบสองปริญญา พฤกษศาสตร์ (Botany) และวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) แม้จะมีระดับยศต่ำสุด แต่ถือเป็นคนสร้างสีสันบรรยากาศผ่อนคลาย ด้วยลีลาคำพูดเย้ายียวนกวนประสาท ที่รักใคร่ๆของทุกๆคนในทีม
ก็ไม่รู้จะเรียกความโชคดีหรือโชคร้าย เพราะอุบัติเหตุครั้งนั้นมิได้คร่าชีวิตของ Watney แต่ทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
– ไม่สามารถหาทางติดต่อสื่อสารกับยาน Ares III หรือ NASA ได้เลย
– เสบียงประทังชีวิตมีอยู่จำกัด
– แถมทีมสำรวจดาวอังคารชุดต่อไป Ares IV กว่าจะมาถึงก็อีกเป็นปีๆ
นี่ยังไม่รวมอุบัติเหตุนอกเหนือที่ไม่สามารถคาดครุ่นคิดได้อีก จะมีวิถีหนทางใดบ้างรึเปล่าทำให้ Watney สามารถดำรงชีพอยู่บนสภาพแวดล้อมดาวอังคารที่แสนหฤโหดให้ยาวนานที่สุด!
เกร็ด: ชื่อตัวละคร Mark ตรงกับภาษาละติน Marcus ซึ่งแปลว่า of Mars.
Damon มีความสนใจในโปรเจคนี้ตั้งแต่ตอน Drew Goddard ติดต่อไป แต่พอเว้นว่างหลายปีและเพิ่งแสดง Interstellar (2014) ในบทนักบินอวกาศเช่นกัน ก็เกิดความลังเลใจพอสมควรขณะพบเจอสนทนากับ Ridley Scott
“I went in to meet [Ridley Scott], then I signed on really quickly. I went in and I said, I really love this script, but my only hesitation is I’ve just done ‘Interstellar’, in which I played a dude stranded on a planet, it might be weird if, after taking a year and a half off, I played another dude stranded on a planet. Then I explained ‘Interstellar’ to him, and he said ‘The movies are totally f***ing different, this is going to be f***ing fun. Let’s do this!’ He was so infectious, I couldn’t really say no to him”.
ภาพลักษณ์ของ Damon มีสองฝั่งที่โดดเด่นมาก ไม่เครียดคลั่งจริงจัง ก็บ้าบอติ๊งต๊อง เมื่อหนังเรื่องไหนสามารถหาจุดสมดุลของพี่แกได้ ผลลัพท์ออกมาถือว่าโคตรเจ๋งมากๆ ซึ่งตัวละครนี้คำนิยามที่ให้ไว้คือ ‘raging narcissist’ เพื่อความอยู่รอดของตนเอง อะไรอื่นช่างมันฉันไม่แคร์!
ฉากที่น่าจะทำให้ Damon คว้า Golden Globe/เข้าชิง Oscar: Best Actor คือขณะกระสวย MAV ของ Ares IV กำลังพุ่งทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ได้ยินเสียงเพื่อนๆทีม Ares III ครั้งแรกในรอบปี โดยไม่รู้ตัวร้องไห้หลั่งน้ำออกมาอย่างซาบซึ้งตื้นตันใจ, ประเด็นคือการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ Damon แทบจะฉายบินเดี่ยวแบบ นักแสดงคนอื่นพอหมดคิวก็แพ็กเก็บของกลับบ้าน ทอดทิ้งเขาไว้กับ Scott ที่ Budapest และพอฉากนี้ผู้กำกับก็แอบแทรกเสียงเพื่อนๆใส่ลำโพงหูฟัง โดยไม่รู้ตัวน้ำตามันคลั่งทะลักออกมา
“The other actors had already wrapped. They’d gone home, so it was just Ridley and I in Budapest shooting that scene, and as we started to do the scene, Ridley did something kind of tricky: He put the sound of the other actors inside my helmet. It just struck me that it was the first time I’d heard anybody’s voice in almost two years,”
สำหรับนักแสดงอื่นๆ ขอกล่าวถึงเพียงคร่าวๆแล้วกัน
– Commander Melissa Lewis (รับบทโดย Jessica Chastain) สังกัดทหารเรือ กัปตันยาน Ares III และเป็นนักธรณีวิทยา, หญิงแกร่งที่มีรสนิยมย้อนยุค 70s แต่ต้องตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะมิอาจล่วงรู้สถานะของ Watney จึงจำต้องทอดทิ้งเขาไว้เบื้องหลังบนดาวอังคาร ซึ่งพอรับทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ ลึกๆคงรู้สึกผิดอย่างรุนแรง มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่พร้อมที่จะเสียสละ และไม่ต้องการให้ใครอื่นแบกรับภาระหน้าที่เสี่ยงตายแทนตนเอง, การแสดงของ Chastain ไม่สามารถนำเสนอความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครออกมาได้อย่างเด่นชัดนัก อาจเพราะไดเรคชั่นเล่าเรื่องด้วยกระมังที่เต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย จึงทำให้ส่วนนี้จึงมิอาจขยี้คั้นให้ผู้ชมสามารถรับสัมผัสทางความรู้สึกได้มากนัก
– Theodore ‘Teddy’ Sanders (รับบทโดย Jeff Daniels) ผู้อำนวยการของ NASA ที่สนเพียงแต่ภาพลักษณ์/ผลประโยชน์ขององค์กร ไร้ซึ่งความกล้าที่จะเสี่ยง ท้าทายตนเอง หรือแม้แต่รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น, ผมค่อนข้างประทับใจการแสดงของ Daniels ทำหน้านิ่งๆ คำพูดจาก็ดูธรรมดาทั่วไป แต่มีความโหดลุ่มลึก โดยเฉพาะหลังจากล่วงรู้แผนการก่อกบฎของ Ares III พูดกับตัวละครของ Sean Bean หลังเสร็จงานนี้ฉันขอให้นายยื่นใบลาออก ว๊าว!
– Vincent Kapoor (รับบทโดย Chiwetel Ejiofor) ผู้อำนวยการภารกิจสำรวจดาวอังคารของ NASA (Director of Mars Missions) พ่อนับถือฮินดู แม่เป็นคนผิวสีได้รับการจุ่มศีล (Baptism) ไหวพริบความเฉลียวฉลาดของ Vincent สามารถครุ่นคิดทำความเข้าใจทุกสิ่งอย่างที่ Watney แสดงออกได้อย่างน่าทึ่ง ถือเป็นบุคคลสำคัญมากๆในภารกิจให้การช่วยเหลือนี้, ในตอนแรกผู้กำกับติดต่อ Irrfan Khan แต่พี่แกติดถ่ายทำ Piku (2015) เลยบอกปัดปฏิเสธไป Ejiofor เลยสวมรอยแทน ถึงกระนั้นก็ถูกต่อต้านจาก Media Action Network for Asian-Americans (MANAA) ว่าเป็นการคัดเลือกนักแสดง’อเมริกัน’ มากกว่าที่เชื้อสายจริงๆ … นี่มันเริ่มเข้าขั้นไร้สาระแล้วนะ!
– Mitch Henderson (รับบทโดย Sean Bean) ผู้อำนวยการภารกิจ Ares III ความสนใจของเขามีเพียงสวัสดิการ และสภาพจิตใจของลูกเรือ เป็นคนกล้าคิดกล้าเสี่ยง หัวขบถพร้อมแหกคอกได้อยู่ตลอดเวลา, คงถือเป็นมรณะกรรมของ Bean ไปแล้ว เพราะใครๆต่างคาดหวังว่าพี่แกต้องประสบพบความตายในหนังทุกเรื่องที่เล่น แต่พอเรื่องนี้รอดก็จะรู้สึกทะแม่งๆนะ ><
เพราะหนังมีแต่ฝั่งพระเอกไร้ซึ่งผู้ร้าย บ้างเลยมองว่า ดาวอังคาร คืออุปสรรคขวากหนาม แต่ตัวละครหนึ่งที่เป็นผู้ขัดขวางความเจริญ หวาดขลาดกลัวเกรงต่อการเผชิญหน้า Teddy Sanders ผู้อำนวยการ NASA ถืออภิสิทธิ์ตนมีตำแหน่งใหญ่โตสูงสุดในองค์กร พยายามควบคุมครอบงำบงการ ปฏิเสธรับฟังความคิดเห็นเป็นไปได้ แต่โลกสมัยนี้แนวคิดหัวขบถล้มเจ้า การปฏิวัติไม่เห็นด้วยถือว่าเป็นเรื่องปกติมากๆ บุคคลผู้มีสิทธิ์เลือกต่างหาก เหมาะสมควรต่อการตัดสินใจนั้นๆ
ถ่ายภาพโดย Dariusz Wolski ตากล้องสัญชาติ Polish ผลงานเด่นๆ อาทิ The Crow (1994), แฟนไชร์ Pirates of the Caribbean, Alice in Wonderland (2010), ร่วมงานกับ Scott ตั้งแต่ Prometheus (2012)
ลักษณะของดางอังคาร ตามคำอธิบายของ NASA
– พื้นผิวสีส้มแดง ดูเหมือนจะเรืองแสงในตอนกลางวันจากฝุ่น
– ขณะพระอาทิตย์ขึ้น-ตกดิน จะออกสีน้ำเงิน เพราะดาวอังคารแทบไม่มีชั้นบรรยากาศ
– 1 วันบนดาวอังคาร ยาวกว่าบนโลก 37 นาที ร่างกายของมนุษย์ไม่น่ามีปัญหากับการปรับตัว
– แต่ 1 ปีบนดาวอังคาร ยาวเกือบๆ 2 เท่าของโลก เพราะระยะห่างไกลกว่า
– บนพื้นผิวตอนกลางคืนอุณหภูมิติดลบ -80 องศาฟาเรนไฮต์ (-62 องศาเซลเซียส) ถ้าฤดูหนาวก็อาจลดไปถึง -195 องศาฟาเรนไฮต์ (-126 องศาเซลเซียส) ขณะที่ตอนกลางวันสบายๆที่ 68 องศาฟาเรนไฮต์ (20 องศาเซลเซียส)
– แรงโน้มถ่วงที่ดาวอังคาร ประมาณ 40% น้อยกว่าโลก น้ำหนักตัวลเบาลงประมาณ 60% แต่ไม่กระโดดหยองๆแบบบนดวงจันทร์
– พายุฝุ่นถือเป็นปรากฎการณ์ปกติ สามารถพยากรณ์ได้เช่นกัน แต่จะไม่รุนแรงเว่อแบบในหนัง (หนังทำให้มันเว่อๆ จะได้ดูตื่นเต้นเร้าใจ)
สถานที่ถ่ายทำของหนังประกอบด้วย
– ฉากภายใน ถ่ายทำที่ Korda Studios ทางตะวันตกของ Budapest, Hungary ที่นี่มีโรงถ่ายขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สร้างฉากประมาณ 20 ฉาก รวมถึงโรงปลูกมันฝรั่งด้วยนะ
– ฉากภายนอกดาวอังคาร เดินทางไปยังมรดกโลก Wadi Rum หรือ Valley of the Moon, Jordan สถานที่นี้เริ่มมีชื่อตั้งแต่ Lawrence of Arabia (1962) และหนังเกี่ยวกับดาวอังคารทั้งหลายล้วนใช้สถานที่นี้ Mission to Mars (2000), Red Planet (2000), The Last Days on Mars (2013) ฯ
แน่นอนว่าเพื่อให้เกิดความสมจริงใกล้เคียงสภาพแวดล้อมบนดาวอังคารที่สุด ดูแล้วคงเป็นการปรับสีช่วงในช่วง Post-Production เพื่อให้ภาพออกถ่ายภายนอกมามีโทนแดง-ส้ม และเพื่อให้เกิดสัมผัสอันแปลกแตกต่าง ถ่ายทำด้วยกล้องอัตราเร็ว 48 fps (กล้องปกติจะเพียง 24 fps) แต่มันก็ดู Surreal อย่างมากเลยนะโดยเฉพาะก้อนเมฆ (ดาวอังคารมีเมฆด้วยเหรอ??)
การที่ดวงตาเห็นแสงสีส้ม-แดง นานเกินไปย่อมทำให้เกิดการอ่อนล้า ซึ่งฉากอื่นๆตอนกลางคืน หรือเมื่อตัดไป NASA, บนยานอวกาศ Hermes จึงใช้โทนสีเย็นน้ำเงิน-ขาว (ที่ตรงกันข้ามกับส้ม-แดง) เพื่อให้มีความผ่อนคลายลงบ้าง
เพราะความที่ตัวละครอยู่ตัวคนเดียวเป็นส่วนใหญ่ หลายครั้งมุมกล้องจึงเลือกใช้จาก Spy Cam ที่ติดอยู่โดยรอบแคมป์ HAP (Mars Lander Habitat) ซึ่งจะมีขึ้นรายละเอียดวันเวลา ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป และมีการใส่ Pattern เพื่อรับรู้ความแตกต่าง
ร่างกายอันผอมเพรียวของ Watney คงทำให้หลายๆคนทึ่งในความทุ่มเทของ Matt Damon แต่เดี๋ยวก่อน ที่เห็นนั่นไม่ใช่ร่างกายของเขานะครับ เป็นนักแสดงแทน!
ก่อนหน้านี้ Damon เคยเล่นหนังที่ต้องลดน้ำหนักตัว Courage Under Fire (1996) คิดว่าคงไม่มีปัญหากับตัวละครนี้ที่ต้องอาศัยอยู่บนดาวอังคารยาวนาน คงต้องผอมกะร่องอย่างแน่นอน แต่ Scott บอกว่าอย่าเปลืองตัวเลย
“I talked to Ridley about [losing weight for The Martian] because I’ve lost weight before for movies. We had about six months. And I said, ‘That’s perfect. I’ll lose about 30 or 40 pounds, and we’ve got to shoot all that stuff first.’ And he went, ‘F*ck that.”.
ผู้เขียนนิยาย Andy Weir ให้สัมภาษณ์เล่าถึงวิธีการเขียนเรื่องราวของเขา คือครุ่นคิดถึงปัญหาต่างๆที่สามารถเกิดขึ้น แล้วเอาวิทยาศาสตร์เข้าช่วยหาหนทางแก้ไข แต่ก็มีสามสิ่งที่ถ้าเกิดความล้มเหลวเมื่อไหร่ Mark Watney คงได้ตายแน่ๆโดยทันที ประกอบด้วย
– เมื่อเครื่อง Oxygenator ไม่ทำงาน
– Water Reclaimer เสีย
– และ RTG (Radioisotope Thermoelectric Generator) ล้มเหลว
ช่วงระหว่างการเดินทางของ Watney มุ่งสู่ Ares IV จริงๆแล้วมีอุปสรรคขวากหนามมากมาย โดยเฉพาะพายุฝุ่นลูกใหญ่โต แต่ผู้กำกับ Scott เลือกที่จะตัดออก เพราะเวลาเล่าเรื่องแทบจะหมดแล้ว ไม่เช่นนั้นอาจได้หนัง 3-4 ชั่วโมงอย่างแน่แท้, นำเอาภาพร่างออกแบบหนึ่งมาให้ดู ทำเอาผมโคตรอยากเห็นฉากนี้เลยนะ นึกถึง Mad Max: Fury Road (2015) ขึ้นมาโดยพลัน
ขอพูดถึงฉากนี้สักหน่อย ในฉบับนิยาย Watney ไม่ได้กลายเป็น Iron Man และบุคคลผู้เพ้อเจ้อความคิดนี้คือ Commander Lewis, ในความเป็นจริงคือแทบเป็นไปไม่ได้เลยนะที่จะสามารถควบคุมทิศทาง/การเคลื่อนไหว เมื่อเกิดรอยรั่วในชุดอวกาศ และอีกอย่างคือแรงดันอากาศมันก็ไม่ได้มีปริมาณมากมายเหลือเฟือขนาดนั้น โอกาสที่จะออกซิเจนจะหมดขาดอากาศหายใจ มันแปปเดียวเท่านั้นเอง … เอาเป็นว่าใครอยากเป็นนักบินอวกาศ นี่คือวิธีการฆ่าตัวตายที่โคตรเท่ห์ ตรงไหน!
สายระโยงระยาง สะท้อนความสัมพันธ์อันหลวมๆของ Watney และทุกคนที่ต้องการให้ความช่วยเหลือเขา แต่มันไม่ได้ม้วนมัดโอบรัด แค่ล่องลอยท่ามกลางอวกาศไร้แรงดึงดูด ก็อยู่ที่ตัวเขาจะสามารถไขว่คว้า เลือกจับต้องเพื่อเอาตัวรอดด้วยตนเอง
ตัดต่อโดย Pietro Scalia สัญชาติอิตาเลี่ยน ขาประจำของ Oliver Stone และ Ridley Scott เจ้าของสองรางวัล Oscar: Best Film Edited จากเรื่อง JFK (1992) และ Black Hawk Down (2002), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Wall Street (1987), Little Buddha (1993), Good Will Hunting (1997), Gladiator (2000), Memoirs of a Geisha (2005), The Amazing Spider-Man (2012) ฯ
เรื่องราวของหนังมีทั้งหมด 3 กลุ่ม ซึ่งจะดำเนินเรื่องสลับไปมา ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเรื่องราว
– บนดาวอังคาร นำโดย Mark Watney
– บนยาน Hermes นำโดย Commander Melissa Lewis และลูกเรืออีก 4 ชีวิต
– องค์การ NASA นำโดย Teddy Sanders (ในระดับบริหาร) และ Vincent Kapoor (ระดับปฏิบัติการ)
หนังมีการเล่นกับ Dynamic Cut หลายครั้งทีเดียว เช่นว่า Teddy Sanders พูดบอกขอให้ไม่เกิดอะไรเลวร้ายขึ้น ตัดไปหา Mark Watney เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิดขึ้นโดนพลัน!
ฉบับตัดต่อแรกของหนังความยาว 2 ชั่วโมง 45 นาที เล็มโน่นนี่นั่นออกจนเหลือ 144 นาทีตอนลงโรงฉาย และมีการทำ Extended Cut ความยาว 151 นาที น่าจะสมบูรณ์สุดแล้วมัง (คงไม่แบบ Blade Runner เมื่อครบรอบ 10 ปี 20 ปี จะมี Ultimate Cut ออกมาอีกหรอกนะ!)
เพลงประกอบโดย Harry Gregson-Williams สัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆอย่าง The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005), แฟนไชร์ Shrek, X-Men Origins: Wolverine (2009), The Martian (2015) ฯ
ถัดจาก Narnia ก็ The Martian กระมัง ที่ Gregson-Williams ได้รับคำชื่นชมมากๆ ด้วยสัมผัสอันเวิ้งว้างว่างเปล่า ตัวละครใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวลำพัง เพลงประกอบเน้นความลุ่มลึก คลอเบาๆ เพื่อสะท้อนความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังอยู่ภายใน แต่ไม่ให้มันปรากฎเด่นชัดมากจนเกินไป
บทเพลงที่ผมว่าโคตรเจ๋งสุดในหนัง Science the Shit out of this ประกอบด้วยเสียงเคาะระฆัง ที่ให้สัมผัสแห่งความทรงภูมิ สูงส่ง เพราะทุกสิ่งอย่างที่ Watney กระทำขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติบนดาวเคราะห์ดวงนี้
I Got Him! ก็เป็นบทเพลงที่เจ๋งอยู่นะ แต่ลักษณะของดนตรีทำให้ผมนึกถึง Interstellar (2014) เยอะๆเลยละ ขาดความ Original ไปเสียหน่อย ถึงกระนั้นมันก็ทรงพลัง เอ่อล้นด้วยอารมณ์ร่วม ย่อมทำให้หลายๆคนซาบซึ้งกินใจ อยากที่จะเก่ง ฉลาด แบบเดียวกับนาย Watney บ้าง!
นอกจาก Soundtrack ยังมีการนำบทเพลงมีชื่อ (ส่วนใหญ่เป็น Disco ในคอลเลคชั่นของ Commander Lewis) แทรกใส่เป็น Diegetic ร่วมสร้างสีสันให้กับหนัง อาทิ
– Turn the Beat Around (Love to Hear Percussion) ขับร้องโดย Vicki Sue Robinson, เพลงแรกที่ Watney เปิด แล้วบนรำคาญถึงรสนิยม Commander Lewis
– Hot Stuff ขับร้องโดย Donna Summer, นี่ตอน Watney เก็บเอา RTG เพื่อใช้สร้างความร้อนในยาน Rover
– Rock the Boat ขับร้องโดย The Hues Corporation, เมื่อตอน Watney อ้างว่าตนเองได้ดาวอังคารเป็นอาณานิคม เพราะปลูกมันฝรั่งขึ้น
– Don’t Leave Me This Way ขับร้องโดย Thelma Houston, หลังจากเกิดอุบัติเหตุกับมันฝรั่งที่ปลูก วันเวลาของ Watney บนดวงจันทร์ก็เริ่มนับถอยหลัง
– Starman ขับร้องโดย David Bowie (ไม่แน่ใจว่ามีเฉพาะในฉบับ Extended Cut) ร้อยเรียงขณะ Watney เตรียมการออกเดินทางสู่ Ares IV และลูกเรือ Ares III ร่ำลาครอบครัวเพื่อออกเดินทางสู่ดาวอังคารอีกรอบ
– Waterloo ขับร้องโดย ABBA, ขณะเตรียมยาน Ares IV ด้วยการโยนโน่นนี่นั้นทิ้งให้หลงเหลือน้ำหนักเบาสุดๆ
– และ Ending Credit เพลง I Will Survive ขับร้องโดย Gloria Gaynor
นอกจากดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้สูงที่มนุษยชาติจะสามารถขึ้นไปสร้างอาณานิคมอาศัยอยู่ได้ ก็คือดาวอังคาร แถมไม่ต้องปรับตัวอะไรมากด้วย หลายๆอย่างมีความคล้ายคลึงกันโลก แถมเมื่อตอนสัปดาห์ก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ฉาย NASA ได้เปิดเผยภาพถ่ายจาก Mars Reconnaissance Orbiter ค้นพบธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้ของดาวอังคาร (นี่เป็นการช่วยโปรโมทหนังในทางอ้อมเลยนะ)
วัตถุประสงค์ของการสำรวจดาวอังคาร หลักๆคือสำรวจ ศึกษา ค้นหาแนวโน้ม ความเป็นไปได้ถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาว แต่ในระบบสุริยะคงคาดหวังมีรูปร่างหน้าตาสติปัญญาเหมือนมนุษย์คงไม่ได้อยู่แล้ว แค่ว่าพบเจอหลักฐาน ฟอสซิล ธารน้ำ เซลล์ สปอร์ แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากๆแล้ว
เรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดของ Mark Watney คือบทเรียนเปรียบได้กับชีวิตประวันของมนุษย์โลก สิ่งสำคัญสุดคือการควบคุม ‘สติ’ ตั้งมั่นอย่างแน่วแน่ ไม่ย่นย่อท้อยอมแพ้ต่ออุปสรรคขวากหนาม ใช้วิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ครุ่นคิดค้นหาทางออกของปัญหา และยุคสมัยนี้ถ้าเราขบปริศนาบางอย่างไม่ออก ตัวช่วย(บนโลกอินเตอร์เน็ต)สามารถให้คำตอบได้แทบทุกสิ่งอย่าง
The Martian แม้จะเทียบความยิ่งใหญ่ไม่ได้เลยกับสองผลงานไซไฟชิ้นเอกของ Ridley Scott อย่าง Alien และ Blade Runner กระนั้นคุณค่าของหนังอยู่ที่กระบวนการคิด จินตนาการจับต้องได้ วิทยาศาสตร์ใกล้เคียงข้อเท็จจริง ซึ่งคงมีความสดใหม่ไปอย่างน้อยอีก 1-2 ทศวรรษ จนกว่าการสำรวจดาวอังคารจะบังเกิดขึ้น หลังจากนั้นคงแปรสภาพเป็นบทเรียนหนึ่งของมนุษยชาติเหมือนฉากจบของหนังที่ผู้กำกับคาดคิดไว้ วิชาความรู้ศึกษาเพื่อตระเตรียมตัวและสร้างแรงบันดาลใจ ใครจะไปรู้อนาคตอาจเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นก็ได้!
ด้วยทุนสร้าง $108 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $228.4 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $630.2 ล้านเหรียญ แม้จะไม่สูงเท่า Gravity (2013) หรือ Interstellar (2014) แต่ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม, เข้าชิง Oscar 7 สาขา ไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Actor (Matt Damon)
– Best Adapted Screenplay
– Best Production Design
– Best Sound Mixing
– Best Sound Editing
– Best Visual Effect
น่าเสียดายแทบ Ridley Scott ที่ถูก SNUB สาขา Best Director ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ลุ้นรางวัลอะไรอยู่ดีนะ เพราะตัวเต็งหนึ่งคือ Alejandro G. Iñárritu ที่กำลังจะคว้ารางวัลนี้เป็นปีที่สองติดต่อกัน
ขณะที่ Golden Globe Award กลายเป็นข้อถกเถียงถึงความไม่เหมาะสม เพราะโปรดิวเซอร์เลือกผลักดันหนังให้อยู่ในสาขา Comedy and Musical ทั้งๆสมควรเป็นฝั่ง Drama เสียมากกว่า (สาเหตุเพราะ Comedy and Musical ศักยภาพคู่แข่งน้อยกว่า)
– Best Motion Picture – Comedy or Musical ** คว้ารางวัล
– Best Director
– Best Actor – Comedy or Musical (Matt Damon) ** คว้ารางวัล
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้นะ ทึ่งในความคิดแก้ปัญหาของผู้เขียน Andy Weir แม้จะมิได้ชักชวนให้ผู้ชมร่วมไขปริศนาไปด้วย แต่ก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจอีกอย่างที่แตกต่าง, ไดเรคชั่นผู้กำกับ Ridley Scott ต้องชมการวางแผนมาดีมากๆ, และลีลาของ Matt Damon เพลิดเพลินสุดๆ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงจะไม่ใช่คนสายวิทย์แต่ก็สามารถเกิดแรงบันดาลใจ ในกระบวนการครุ่นคิดที่มีระบบ-เหตุผล-หลักการ เพราะไม่ว่าชีวิตจะตกอยู่สถานการณ์ลักษณะไหน ตราบใดยังมีสติไม่ย่นย้อท้อต่ออุปสรรค ย่อมหาหนทางออกแก้ปัญหาเอาตัวรอดได้เสมอ
แนะนำโดยเฉพาะกับคอหนังไซไฟ เพ้อฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ สำรวจดาวอังคาร, นักวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา ดาราศาสตร์, แฟนๆผู้กำกับ Ridley Scott และรวมนักแสดง Matt Damon, Jessica Chastian ฯ
จัดเรต 13+ กับคำสถบหยาบคาย และสถานการณ์ตื่นเต้นระทึกขวัญ
Leave a Reply