The Mother and the Whore (1973) : Jean Eustache ♥♥♥♡
หนังฝรั่งเศสที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดนับจาก The Rules of the Game (1939) เป็นผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ Jean Eustache, แต่เดี๋ยวก่อน เห็นชื่อหนังคงมีคนคิดเตลิดไปไกล นี่เป็นหนัง All-Talk (แบบเดียวกับ Before Sunrise) ชายหนุ่ม นำแสดงโดย Jean-Pierre Léaud มีหญิงสาวสองคนที่ตกหลุมรัก และเข้ามาพัวพันในชีวิต คนหนึ่งเปรียบได้กับ Mother (แต่ไม่ใช่แม่จริงๆนะ) และอีกคนหนึ่งเปรียบได้กับ Whore (ก็ไม่ใช่โสเภณีจริงๆเช่นกัน)
นี่เป็นหนังที่ผมขอปรามาสผู้ชมไว้ก่อนเลยว่า ความยาว 219 นาที สามารถฆ่าคุณให้ตายแบบเบื่อโลกได้เลย (ผู้กำกับ Jean Eustache ฆ่าตัวตายอีก 8 ปีถัดมา) นี่เป็นหนังที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากการคุยกัน (มีชื่อเรียกหนังประเภทนี้ว่า Minimalist) และต่อให้คุณตั้งใจฟังการสนทนาอย่างจดจ่อแค่ไหน เข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมด ก็ไม่แน่ว่า จะเข้าใจนี่มันหนังเกี่ยวกับอะไร!, ตอนผมดูก็ไม่เข้าใจนะครับ อ่านบทวิจารณ์ต่างประเทศเยอะมากก็ยังไม่เข้าใจ คือมันมีองค์ความรู้บางอย่างที่ต้องรู้ให้ได้ ก่อนที่จะสามารถเข้าใจหนังเรื่องนี้ ซึ่งพอผมค้นพบก็เข้าใจสาเหตุ ว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงได้รับการยกย่องจากชาวฝรั่งเศสสูงมากๆ แต่อาจไม่ใช่กับคนทั่วโลกเป็นแน่
ก่อนจะดูหนังเรื่องนี้คุณต้องมีความรู้/ความสามารถพื้นฐาน 2 ประการที่จำเป็นอย่างมาก
1) เคยดูหนังประเภทที่เป็น All-Talk มาก่อน อาทิ Before Sunrise Trilogy, A Streetcar Named Desire (1951), 12 Angry Men (1957), Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966), The Breakfast Club (1985), Certified Copy (2010) ฯ ความยากของหนังประเภทนี้ คือเราต้องจดจ่ออยู่กับหัวข้อการสนทนา แทบไม่มีเรื่องราวการ กระทำอื่นใดให้ได้พักเหนื่อยตลอดความยาวหนัง มีอารมณ์เดียวแทบจะทั้งเรื่อง เหมือนตอนเราฟังอาจารย์สอนในคาบ 2 ชั่วโมงไม่มีหยุด, แม้หนังเรื่องที่ผมยกมานี้ จะถือว่าดูยากแล้วนะ แต่ส่วนใหญ่ความยาวไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ The Mother and the Whore ที่ยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง เลยนะครับ
2) ความรู้พื้นฐานต่อเหตุการณ์ Mai 68 หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 1968 ที่เป็นเหตุการณ์ปฏิวัติทางอุดมคติครั้งสำคัญที่สุดของประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 20 ที่แม้ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการล้มล้างรัฐบาล แต่ได้เปลี่ยนวิถี สังคมจารีต ของฝรั่งเศสไปโดยสิ้นเชิง
เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม ปี 1968 นักเรียน นักศึกษาในกรุง Paris ลุกขึ้นแสดงความขบฏต่อสังคมจารีตของฝรั่งเศสที่มีความล้าหลัง อาทิ สิทธิเสรีภาพของสตรี ผู้หญิงที่ไปทำงานถูกห้ามสวมกางเกง, ต้องได้รับคำอนุญาติจากสามีเพื่อเปิดบัญชีธนาคาร, นักศึกษาชายถูกไล่ออกจากหอ เพียงเพราะนำนักศึกษาหญิงขึ้นไปบนห้องพัก ฯ เหล่านี้ก่อให้เกิดข้อคำถามทางสังคมของคนรุ่นใหม่ ทำไมฉันทำแบบนี้ไม่ได้! ทำไมต้องถูกห้าม! ความคับข้องใจในวิถีชีวิต กฎระเบียบเดิม ทำให้นักศึกษาได้รวมตัวกัน ออกเดินประท้วงเรียกร้อง จากหลักสิบกลายเป็นหลักร้อย หลักพัน ให้สังคมยอมรับ เปลี่ยนแปลงวิถี ทัศนคติให้กลายเป็นยุคสมัยใหม่
จากเหตุการณ์เล็กๆของเหล่านักศึกษา แผ่ขยายลุกลามไปในวงกว้าง สู่ชนชั้นแรงงานกรรมาชีพ ที่มีปัญหาเรื่องการทำงาน ถูกกดขี่จากนายจ้าง กรรมกรเข้ายึดโรงงาน ประกาศหยุดงาน ออกเดินขบวนร่วมประท้วงเพิ่มจากหลักหมื่นเป็นแสน จนว่ากันว่าเป็นล้านๆคน หยุดงานออกมารวมตัวตามท้องถนน เรียกร้องรัฐต่อสิทธิพื้นฐานของพลเมือง อาทิ เพิ่มเงินเดือน, ลดเวลาการทำงาน, มีสวัสดิการสังคม ฯ
การเดินขบวนประท้วง ลุกลามเข้าไปถึงเทศกาลหนังเมือง Cannes ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม บรรดาผู้กำกับชื่อดัง อาทิ François Truffaut, Jean-Luc Godard, Roman Polanski, Claude Lelouch และอีกหลายคน ทนไม่ได้กับการที่คณะกรรมการยังฝืนจัดเทศกาลหนังต่อไป พวกเขาได้ลุกขึ้นยึดห้องฉายภาพยนตร์และเรียกร้องให้ยุติการจัดงานโดยทันที เพื่อแสดง ‘จิตสำนึกทางสังคม’ ต่อเหตุการณ์ต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนที่กำลังดำเนินอยู่ภายนอก
กลุ่มผู้กำกับหัวก้าวหน้านี้ถูกขนานนามว่า Nouvelle Vague ซึ่งแปลว่าคลื่นลูกใหม่ โดยทั้งหมดได้แสดงความไม่พอใจต่อ ‘ภาวะเพิกเฉย’ ของวงการภาพยนตร์ต่อความเป็นไปของสังคม, Godard ได้กล่าวบนเวทีว่าเทศกาลหนังปีนั้น ไม่มีหนังแม้แต่เรื่องเดียวที่จะพูดถึงการต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาและผู้ใช้แรงงานที่กำลังดำเนินอยู่ในชีวิตประจำวัน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ร้อนระอุในฝรั่งเศส ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ที่โกงกิน คอรัปชั่น อยู่ในอำนาจยาวนานกว่า 10 ปี ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ ทอดทิ้งให้รัฐบาลจำต้องขายผ้าหน้ารอด ยอมรับข้อเรียกร้องของเหล่าผู้ชุมนุมประท้วงทั้งหมด ยอมขึ้นค่าแรง เพิ่มสวัสดิการ ให้สิทธิเสรีภาพกับผู้หญิงมาขึ้น ตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสตรี ฯ และประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยอมสลายตัว แรงงานกลับไปทำงาน นักศึกษากลับไปเรียนหนังสือ ทุกสิ่งอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
กระนั้นผลการเลือกตั้งในเดือนถัดมา ประธานาธิบดี Charles de Gaulle ยังคงได้รับชัยชนะอีกครั้ง อย่าล้นหลามเช่นเดิม และว่ากันว่ากลับมาครานี้ รัฐบาลแข่งแกร่งยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
อ่าว! แล้วยังไง การประท้วงครั้งนี้ล้มเหลวไม่ใช่เหรอ? ใช่ครับ ถ้ามองในเรื่องการเมืองของประเทศฝรั่งเศส จะถือว่าเหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ถ้ามองในมุมของวิถี สังคมจารีต วัฒนธรรม ศีลธรรม นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ชนชั้นแรงงานได้อิสระเสรีภาพมากขึ้น ทำงานน้อยลงได้เงินมากขึ้น ผู้หญิงมีอิสระในการคิดทำ ไม่ถูกจำกัดสิทธิ์เหมือนแต่ก่อน ฯ, หนึ่งในผู้นำของกลุ่มนักศึกษา Mai 68 ได้กล่าวประกาศชัยชนะที่ว่า ‘การเคลื่อนไหวครั้งนี้ พวกเราประสบความสำเร็จในการปฏิวัติสังคม (Social Revolution) ไม่ใช่ด้านการเมือง (Political)’
เมืองไทยเราก็มี ‘การปฏิวัติทางสังคม’ เกิดขึ้นเหมือนกันนะครับ แต่จะเห็นไม่ชัดเท่าการปฏิวัติทางการเมือง (เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475) การปฏิวัติล้มล้างอำนาจ เปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ, หรือการประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงาน, การปฏิวัติอุตสาหกรรม ฯ การปฏิวัติพื้นฐานทางสังคมที่เห็นได้ชัด อาทิ การเลิกทาส แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด เพราะพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้วางแผนเตรียมการมาเป็นอย่างดี จนทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในสังคม, คงมีไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่การปฏิวัติทางสังคม เกิดขึ้นแบบค่อยเปลี่ยนค่อยไป ตามยุคสมัยและกาลเวลา ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันด่วนเหมือนประเทศฝรั่งเศสที่ผมเล่าให้ฟังนี้นะครับ
กับคนที่ดู The Mother and the Whore มาแล้วแล้วคงสงสัย ว่าหนังเกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ Mai 68 ที่ผมจะยกขึ้นนี้ ทั้งๆที่เรื่องราวของหนังไม่ได้มีส่วนร่วม หรือคาบเกี่ยวช่วงเวลานั้นแม้แต่น้อย!, ผมอ่านบทวิจารณ์ต่างประเทศของหนังเรื่องนี้มาหลายแห่ง แทบทุกสำนักล้วนอ้างอิงเหตุการณ์ Mai 68 นี้เสมอ ในใจความที่ว่า…
The Mother and the Whore เป็นหนังที่นำเสนอเรื่องราว วิถีชีวิต ทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ของหนุ่ม-สาวชาวฝรั่งเศส หลังจากเหตุการณ์ Mai 68 ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมจารีต ประเพณี ศีลธรรม
Jean Eustache (1938-1981) ผู้กำกับสัญชาติฝรั่งเศส, เขาเป็นคนไม่เคยเปิดเผยเรื่องราวชีวิตวัยเด็กของตนเองเลย แต่จากที่เคยให้สัมภาษณ์ ‘หนังทั้งหลายที่ฉันสร้าง เปรียบเสมือนอัตชีวประวัติ ที่เป็นเรื่องแต่งขึ้น’ (The films I made are as autobiographical as fiction can be.) ซึ่งความน่าเบื่อของ The Mother and the Whore นี่น่าจะแสดงถึงพื้นฐานชีวิตของผู้กำกับคนนี้ได้เป็นอย่างดี, Eustache มีผลงานไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นหนังสั้นหรือไม่ก็สารคดี มีภาพยนตร์ที่เป็น Feature Length ในกำกับคงเหลืออยู่เพียง 2 เรื่องเท่านั้น และต้องนับว่า The Mother and the Whore คือภาพยนตร์เรื่องแรก และเป็น Masterpiece หนึ่งเดียวของ Jean Eustache
ในปี 1981 เห็นว่า Eustache ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง จนทำให้เขากลายเป็นอัมพาตบางส่วน ด้วยความที่ไม่อยากทรมานเป็นแบบนี้ไปจนแก่ตายและเป็นภาระให้คนอื่น เขาจึงเลือกฆ่าตัวตายด้วยปืน ในอพาร์ทเมนท์ส่วนตัวที่ Paris, การสูญเสีย Jean Eustache ได้รับการเปรียบเทียบ เท่ากับการจากไปของ Jean Vigo (ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ที่เสียชีวิตตอนอายุ 29) แม้จะคนละสาเหตุการเสีชีวิต แต่ทั้งสองคือผู้กำกับอนาคตไกล ที่สูญเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร
ความตั้งใจของ Eustache ในการสร้างหนังเรื่องนี้คือนำเสนอ ‘เหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นโดยทั่วๆไป ในชีวิตประจำวัน’ ครั้งหนึ่งเขาก็เปรยๆไว้ว่า อยากทำหนังที่ไม่มีอะไรอื่นเลยนอกจากการพูดคุยกัน ดูสิว่าจะสามารถยืดขยายออกไปได้มากน้อยแค่ไหน ผลลัพท์ออกมาได้บทหนังความยาว 300 กว่าหน้า แน่นอนว่ามีแต่บทพูดเป็นส่วนใหญ่
Jean-Pierre Léaud รับบท Alexander ชายหนุ่มที่อาศัยอยู่กินกับหญิงสาวคนหนึ่ง แต่ปล่อยตัวปล่อยใจให้หลงรักผู้หญิงอีกคนหนึ่ง พูดภาษาบ้านๆก็คือ นอกใจเมียหลวงแล้วไปมีเมียน้อย, การแสดงของ Léaud กลายเป็นว่าหลังจาก The 400 Blows (1959) เขาไม่สามารถสร้างการแสดงที่โดดเด่นไปกว่านั้นได้ แต่เพราะความเท่ห์ หล่อเหลา สาวๆหลง ทำให้สามารถอยู่ในวงการได้อย่าง ยาวนานไม่จางหายไป (จนแก่แล้วปัจจุบันก็ยังโด่งดังอยู่) กับหนังเรื่องนี้ ผมว่าการแสดงของพี่แกก็ดูไม่มีอะไร แต่บทพูดมันยาวววและเยอะมากๆ น้ำไหลไฟดับ ไม่รู้จักจบจักสิ้น
ว่ากันว่า Eustache เป็นผู้กำกับที่เปะมากๆ เขาไม่ให้โอกาสนักแสดงได้เปลี่ยนแปลง หรือดั้นบทสดเลย สำหรับฉากที่มีบทพูดยาวๆ เขาจะมี Cardboard ที่เขียนประโยคข้อความไว้ให้นักแสดงอ่านตาม ไม่ต้องจดจำทั้งหมด
Bernadette Lafont รับบท Marie เมียหลวง ที่ตามใจแฟนหนุ่ม Alexander ได้ทุกอย่าง เลี้ยงดูเขาอย่างดี เปรียบเสมือนแม่ (Mother) ที่พร้อมให้อภัยทุกการกระทำ, Marie เป็นตัวละครที่ค่อนข้างน่าสงสาร เพราะเธอเหมือนจะไม่เคยทำอะไรผิดเลย แต่ผิดเสียทุกสิ่งอย่าง, ว่าไป Lafont แก่กว่า Léaud หลายปีเลยนะครับ อาจมีนัยยะถึงวุฒิภาวะที่สูงกว่าของ Marie ด้วย การแสดงของ Lafont ถือว่าดูเป็นธรรมชาติมาก ตัวจริงของนางคงเป็นแบบนี้แหละ
Françoise Lebrun รับบท Veronika พยาบาลสาว แฟนใหม่ (เมียน้อย) ที่ได้พบกับ Alexander โดยบังเอิญ ถูกเกี้ยวพาราสีจนตกหลุมรัก และเปิดอกเปิดใจ พร้อมทุ่มเทให้กับเขาทุกสิ่งอย่าง, Lebrun คือแฟนเก่าของ Eustache ที่เลิกรากันไปแล้ว และเขาเขียนบทนี้เพื่อเธอโดยเฉพาะ ทีแรก Lebrun ก็ไม่อยากรับเล่น เธอไม่เคยแสดงหนังมาก่อน แต่เพราะนี่เป็นบทของเธอ Eustache บอกว่าถ้าเธอไม่เล่นเขาก็จะไม่สร้างหนังเรื่องนี้ เธอเลยยอมตกลงเล่น, นี่เป็นตัวละครที่ เหมือนว่าจะแสดงความต้องการของ Eustache ออกมา ที่ทำให้ผมพอจะเข้าใจสาเหตุที่เธอเลิกกับเขาเลยนะครับ เพราะความเจ้ากี้เจ้าการ เรื่องมากรุนแรง และสิ่งที่เขาอยากให้เธอแสดงออกมา มันไม่ใช่ตัวเธอ จึงรับไม่ได้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ พวกเขาเลยเลิกกัน
ถ่ายภาพโดย Pierre Lhomme, ผมไปอ่านเจอที่ไหนไม่ทราบได้ (นี่ไม่ยืนยันนะครับ) หนังถ่ายทำด้วยฟีล์ม 16mm ขาวดำ แล้วไปขยายเป็น 35mm นี่ทำให้ภาพของหนังดูเก่ามากๆ สาเหตุหนึ่งที่ทำเช่นนี้อาจเพราะงบประมาณที่จำกัด (แต่ทุน 700,000 francs นี่ก็เยอะอยู่น่ะ อย่างน้อย ภาพขาวดำ 35mm มันก็น่าจะพอถ่ายได้อยู่ไม่ใช่เหรอ) ส่วนอีกเหตุผล คงเพราะต้องการให้บรรยากาศของหนังออกมา เก่าๆ บางทีก็สว่างมากไป บางทีก็มืดมากไป ไม่เข้าใจเหตุผลเหมือนกันว่าทำไม, งานภาพของหนัง All-Talk ก็ไม่มีอะไรมากนะครับ ส่วนใหญ่เป็น mid-shot ของตัวละคร นานๆจะโผล่ long-shot มาสักที แต่รู้สึกจะไม่มี close-up เลย
ตัดต่อโดย Denise de Casabianca และ Jean Eustache, เรื่องราวทั้งหมดเป็นมุมมองของ Alexander เพียงคนเดียว ที่ได้เลิกกับกิ๊กเก่า พบเจอกิ๊กใหม่ ที่ภายหลังเราจะได้รู้ว่าเขามีเมียหลวงอยู่แล้ว สิ่งที่หนังทำให้เราเห็นเป็นโรแมนติกนั่นคือเมียน้อย เพื่อนของพระเอกก็โผล่มาแค่ตอนช่วงแรกๆ ตอนที่อกหัก และยังจีบกิ๊กใหม่ไม่สำเร็จ แต่พอได้แฟนแล้วเพื่อนก็หายหัวไปเลย (หมดความสำคัญ) ช่วงครึ่งหลังก็เห็นแค่ 3 ตัวละครนี้แหละครับ ไปๆมาๆ เขาแนะนำให้เมียหลวงรู้จักเมียน้อย จากนั้น เมียหลวงกับเมียน้อยก็มีชู้กันต่อหน้าสามี … เอิ่ม
หลายคนคงมีคำถาม คือต้องทำให้หนังมันยาวขนาดนั้นเลยเหรอ เพื่อ? คำตอบคือ จำเป็นนะครับ เพื่อให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ ความรู้สึกหนึ่งขึ้นกับหนัง ผมจะยังไม่เฉลยย่อหน้านี้ว่าคืออะไร (ถ้าไม่อยากโดนสปอย ก็ไปสัมผัสในหนังดูเองนะครับ) ซึ่งเมื่ออารมณ์นั้นเกิดขึ้น จะทำให้เราเข้าใจว่า เป้าหมายของหนังคืออะไร ใบ้ให้ว่า อารมณ์ของหนังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องราวของหนังเลยนะครับ แต่เป็นความรู้สึกของผู้กำกับที่ต้องการสื่อออกมา แทนถึงเรื่องราวในชีวิตจริง (เป็นความรู้สึกที่เขามีต่อชีวิต และการเลิกกับ Lebrun)
เพลงประกอบ ถือว่าไม่มีนะครับ แต่เราจะได้ยินจากแผ่นเสียง เพลงคลาสสิก อาทิ Jacques Offenbach: La Belle Hélène, Mozart: Requiem ฯ เพลงอื่นดังๆ ที่ผมหาเครดิตได้ อาทิ Marlene Dietrich: Falling in Love Again, Damia: un souvenir, Fréhel: La chanson des fortifs ฯ และเพลงสุดท้ายของหนัง ที่จะได้ยินเต็มๆเพลงคือ Édith Piaf: Les Amants de Paris (แปลว่า Lovers In Paris)
อะไรของฝรั่งเศสเปลี่ยนไปบ้างหลังจาก Mai 68?, ขอแยกเป็นข้อๆแล้วกัน อาจจะเห็นได้ชัดขึ้น
1) ทัศนคติเรื่องการทำงานของชาย/หญิง สมัยก่อน ผู้ชายคือช้างเท้าหน้าหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ผู้หญิงคือช้างเท้าหลังเป็นแม่บ้านอยู่บ้าน แต่หนังเรื่องนี้ ผู้หญิงทั้ง 3 เป็นคนที่มีอาชีพการงานดี (คนหนึ่งเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้า, แฟนเก่าเป็นอาจารย์สอนหนังสือ, แฟนใหม่เป็นพยาบาลเข้ากะ) ในขณะที่พระเอก เป็น… อะไรหว่า? คนตกงาน? คือเขาหาเงินใช้เองไม่ได้นะครับ ต้องให้ผู้หญิงเลี้ยง ทำตัวเหมือนเด็กยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมแม่ (Mother), ผู้หญิงกลายเป็นช้างเท้าหน้าก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินตามผู้ชายเสมอไป
2) ทัศนคติเรื่อง Sex, กับผู้หญิงร่านๆ ที่มีความต้องการสูง ใครๆคงคิดว่ามีแต่โสเภณี (Whore) กับหญิงสาวธรรมดาทั่วไปคงไม่มีใครกล้าพูด กล้าเปิดเผยความต้องการออกมา, ซึ่งกับหญิงสาวในหนังเรื่องนี้ เธอเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม ดูยังไงก็ไม่ใช่โสเภณี แต่ในร้านกาแฟ ข้างทาง บนรถ มันมีอะไรที่เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ให้พูด/แสดงความรู้สึก หรือความต้องการออกมา นี่คืออิสระเสรีภาพทางเพศที่เกิดขึ้นหลังจาก Mai 68 ถ้าฉันมีความต้องการ ทำไมจะต้องควบคุมตนเอง อยากมี Sex กับใครมันผิดตรงไหน
3) ทัศนคติเรื่องการหาคู่ครอง แต่งงาน ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เธอกล้าที่จะขอผู้ชายแต่งงาน/บอกปัดผู้ชายที่ไม่ชอบ มองหาคู่ครองที่มีอนาคต (แบบแฟนเก่าพระเอก ที่ไปแต่งงานกับผู้ชายมีฐานะ ไม่เลือกพระเอกที่เป็นใครก็ไม่รู้ มีแค่คารม สุขใจแต่ไม่สบายท้อง ผู้หญิงเขาก็ไม่เอา)
ประเด็นอื่นๆ อาทิ การศึกษา, รสนิยมทางงานศิลปะ/ดนตรี ฯ ว่าไปก็ทุกสิ่งอย่างในหนัง ล้วนได้รับผลกระทบอิทธิพลจาก Mai 68 แทบทั้งสิ้น, ขนาดมีนักวิจารณ์คนหนึ่ง พูดยกย่อง ‘The Mother and the Whore เป็นหนังที่ทำให้คนรุ่นหลัง จดจำไม่มีวันลืมถึงความสำเร็จจากเหตุการณ์การปฏิวัติครั้ง Mai 68’ นี่เป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงแม้แต่น้อย ถ้าคุณสามารถเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้นต่อหนังเรื่องนี้ได้
แต่ผมกลับรู้สึกว่า คนรุ่นเราที่ไม่ได้ผ่านช่วงเวลานั้นมา จะไม่มีทางเข้าใจ มองเห็นแก่นแท้ สาระสำคัญของหนังได้เป็นแน่, คือผมก็เข้าไม่ถึงบรรยากาศของหนังเลยนะครับ ในบริบททั่วไปก็รับรู้ได้อยู่ แต่อิทธิพลของ Mai 68 ที่บอกว่าแทรกอยู่ในหนัง กับคนที่ไม่เคยรู้เบื้องหลังเหตุการณ์นั้นมาก่อน ไม่มีทางเข้าใจหรือสัมผัสได้จากหนังแน่ๆ, ที่ผมวิเคราะห์มานั้น เป็นสิ่งที่ได้จากการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมหลังหนังจบนะครับ ต้องถือว่าโชคดีด้วยที่ผมสามารถจับจุดที่เป็นข้อสังเกตของหนัง เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้ นี่ถ้ากับผู้ชมทั่วไป เชื่อว่าคงไม่มีใครพยายามทำเช่นนั้นแน่ เข้าใจแค่ว่า หนังเป็นเรื่องราวรักสามเส้า ที่เกิดขึ้นในวันธรรมดาๆ ในสถานที่ทั่วๆไป ที่แสนน่าเบื่อหน่ายก็เท่านั้น
มีนักวิชาการหลายคนจะไม่ได้มองเหตุการณ์ Mai 68 ว่าประสบความสำเร็จนะครับ โดยเฉพาะประเด็น Sexual Freedom ที่เห็นได้ชัดพอสมควรกับหนังเรื่องนี้ คือบางอย่างมันก็เกินเลยไปมาก เช่น ชายหนุ่มคบหากับหญิงสาวสองคนพร้อมกัน แล้วให้อิสระต่อพวกเธอ พบเจอกัน หลับนอนด้วยกัน จากรักสามเส้ากลายเป็น Threesome นี่คงเป็น paradise ของชายหนุ่ม แต่จิตใจของหญิงสาว พวกเธอจะคิดยังไงกัน! … นี่เรียกว่า ดื่มด่ำกับอิสรภาพจนเกินกว่าขอบเขตความเหมาะสม
ใจความของหนัง ไม่เชิงเป็นการเปรียบเทียบระหว่างเก่าvsใหม่ (ทีแรกตอนดูหนังผมก็พยายามมองหาความสัมพันธ์นี้ แต่ไปๆมาๆก็คิดได้ว่ามันไม่ใช่) แต่เป็นการสำรวจความเป็นไปได้ทุกรูปแบบของความสัมพันธ์ชาย-หญิง ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ อาทิ เลิกกัน/แต่งงาน/นอกใจ-สามีมีชู้/ภรรยามีชู้, นี่รวมถึงการยอมรับ/ไม่ยอมรับ เมียหลวง/เมียน้อย ของผู้หญิงด้วยนะครับ
ผมได้ยินอยู่ 2-3 ครั้ง ที่เมียน้อยพูดกับพระเอก ‘นายเป็นผู้ชายที่โชคดีและมีความสุขที่สุดในโลก เพราะมีผู้หญิงสองคนรักและยอมอยู่ร่วมเตียงนอนเดียวกัน’ กับบางคนคงใช่ แต่หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกนี่เป็นสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผู้หญิงสองคนไม่มีใครยอมใคร, ตั้งแต่แรก พระเอกคงคิดว่า สองสาว ยังไงต้องมีสักคนที่ถอย แต่เมื่อทั้งสองสู้ไม่ถอย เมื่อถึงเวลาตัดสินใจ เขากลับไม่สามารถทำอะไรได้เลย, นี่ถ้าสังเกตกันหน่อย กว่า 3 ชั่วโมงที่เราจะได้ยินพระเอกพูดหูดับตับแลบ แต่พอครึ่งชั่วโมงสุดท้าย บทพูดเขาแทบไม่มี คือพูดไม่ออก เมื่อความสัมพันธ์ก้าวมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจแล้ว ก็ไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป จากผู้ชายปากดี กลายเป็นลูกหมาตาบ้องแบ้ว ทำอะไรไม่เป็นเลยทีเดียว
มีสิ่งหนึ่งที่ Roger Ebert ชี้แนะในบทวิจารณ์ของเขา บอกว่า ผู้หญิงชอบที่จะเก็บผู้ชายลักษณะนี้ไว้ใกล้ตัว มันมีความพิศวงบางอย่าง ในความช่างพูด ช่างคิด ช่างเจรจา มันเสน่ห์น่าหลงใหลยังไงชอบกล, นี่ท่าจะเป็นประสบการณ์ตรงของ Ebert เลยหรือเปล่า ส่วนตัวก็เคยเห็นเพื่อนที่ปากหวาน โม้เก่งๆ ก็มักมีสาวมาติดเยอะ ดังคำโบราณที่ท่าจะจริงว่า คารมเป็นต่อ รูปหล่อเป็นรอง, กับหนังเรื่องนี้ ไม่ผิดเลย หนังจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นเหมือนสาวๆ ที่ต้องมานั่งฟังคารมของพระเอก มีสาระบ้าง/ไร้สาระบ้าง ตั้งใจฟังบ้าง/ไม่ตั้งใจฟังบ้าง ถ้าคุณรู้สึกหลงในคารมของพระเอก แสดงว่าเป็นพวก คารมเป็นต่อนะครับ ผมละเบื่อบรมเลย ถ้าเจอผู้หญิงคนไหนพร่ามยาวๆไม่ยอมหยุดนะ จะลุกขึ้นเดินหนีเลยละ (ผมเป็นพวก พูดน้อยต่อยหนัก)
กับตอนจบ ทำไมต้องจบขณะนี้ ผู้กำกับบอกว่า เมื่อเขาทำให้พระเอก รู้สึกตัว ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่รู้จะทำยังไงต่อไป เมื่อนั้นทุกสิ่งอย่างก็ควรจบลง, นี่คงเป็นประเด็นสงสัยของใครหลายคน ว่าสรุปแล้วพระเอกจะทำยังไงต่อไป เลิกกับภรรยา/แล้วแต่งงานใหม่ ทิ้งไว้ให้เป็นปริศนา … ไม่รู้สิครับ ใครจะไปจินตนาการตามได้ แต่ความรู้สึกเขา กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตามจุดประสงค์ของผู้กำกับ ตรงไหมละ เป็นผมก็เลือกไม่ถูกเลยว่าจะทำยังไงต่อ!
ส่วนตัวไม่ชอบหนังเรื่องนี้นะครับ ถึงผมจะชอบ Before Sunrise Trilogy อย่างมาก แต่ไม่มีการันตีว่าจะชอบหนังเรื่องนี้ได้ เพราะความยาว 219 นาที คือทำเอาผมปางตายแทบสิ้นลมหายใจ, ผมใช้เวลาดูหนังเรื่องนี้ 2 วัน (มันมี 2 ไฟล์คล้าย dvd 2 แผ่น) ทีแรกตั้งใจจะดูวันเดียวให้หมด แต่พอจบครึ่งแรก ก็ทำใจดูต่อไม่ไหว มันน่าเบื่อเกินคำบรรยาย เลยไปหาบทวิเคราะห์หนังอ่านดู ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าหนังยอดเยี่ยมยังไง แต่ก็ยอมแพ้ไม่ได้ ต้องเข้าใจให้ได้ว่าหนัง Overrated หรือเปล่า ยังไง ไม่แน่อาจมีตอนจบที่โคตรเซอร์ไพรส์ซ่อนอยู่ก็ได้, หลายวันถัดมาย้อมใจตนเองดูครึ่งหลังต่อได้ พอถึงตอนจบ … มันคือจุดที่ทำให้ผมเบื่อหน่ายถึงขีดสุด ไม่มีอะไรเลยนี่หว่า! แต่แล้วผมก็เข้าใจจุดประสงค์ของหนังขึ้นมาได้ ‘นี่เป็นหนังที่ทำให้คุณเกิดความรู้สึกเบื่อ ที่(โคตรเบื่อ)สุดในโลก’ ทำให้จากที่โคตรเกลียด กลายมาเป็นโอเค ชอบนิดๆ
ถ้าคุณดูหนังเรื่องนี้แล้วไม่เบื่อ ถือผิดจุดประสงค์ของหนังแล้วนะครับ, แต่ถ้าคุณสามารถชื่นชม หลงใหลในความน่าเบื่อของหนังได้ นั่นแสดงว่าคุณเข้าใจหนังเรื่องนี้แล้วนะครับ
แนะนำกับคนชอบหนังแนว All Talk (Minimalist) นักแสดงพูดแบบน้ำไหลไฟดับ นี่เป็นหนังที่ห้ามพลาดเลย, หนังบันทึกใจความสำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ นักประวัติศาสตร์ หรือคอหนังฝรั่งเศสไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง, แฟนหนัง Jean-Pierre Léaud และ Jean Eustache ต้องหามาดูให้ได้
จัดเรต 15+ กับบทพูดที่ส่อเสียด ล่อแหลม และสื่อไปทางเพศ, มีฉากโป๊เปลือยเล็กน้อย แต่ดูแล้วคงไม่เกิดอารมณ์อะไร
Leave a Reply