The Naked and the Dead (1958) hollywood : Raoul Walsh ♥♥♥♡

ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีเปลือย หรือหญิงสาวเปลื้องผ้า แต่คือการเปิดโปงธาตุแท้ของสงคราม ว่าเป็นเพียงกลเกม ความทะเยอทะยานของใครบางคน ต้องการไปให้ถึงจุดสูงสุดบนยอดเขา เข้าครอบครองตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยไม่สนว่าต้องแลกมาด้วยชีวิต หรือความตายของผู้อื่นใด

แต่มนุษย์ไม่ใช่พระเจ้า! คำสั่งจากหัวหน้า ผู้บังคับบัญชาการ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ไม่สมเหตุสมผล ทุกคนล้วนมีสิทธิ์บอกปัดปฏิเสธ! ต่อให้ถูกบีบบังคับ ใช้ข้ออ้างโน่นนี่นั่น เอาปืนจ่อศีรษะ ก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่อยู่ภายในจิตวิญญาณ … สั่งให้ไปตาย คงมีแต่ควายถึงยินยอม (แต่ผมว่ามันไม่ยอมเหมือนกันนะ)

สักประมาณครึ่งเรื่องผมเริ่มเอะใจ ใคร่ระลึกถึงภาพยนตร์ The Thin Red Line (1998) ของผู้กำกับ Terrence Malick แม้ว่าดัดแปลงจากคนละต้นฉบับนวนิยาย แต่กลับมีความละม้ายคล้ายยังกะแกะ เปลือกภายนอกต่างเป็นเรื่องราวของกองทหารที่ได้รับคำสั่งให้เข้ายึดเนินเขาลูกหนึ่ง ถึงอย่างนั้นนัยยะแท้จริงกลับชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามปรัชญา ครุ่นคิดถึงความไร้สาระของสงคราม ชีวิต-ความตาย จุดสูงสุดที่ไม่มีใครสามารถยึดครองครอบเป็นเจ้าของได้อย่างแท้จริง

ถ้าไม่มีหนังของ Malick ผมอาจเพิ่มคะแนน The Naked and the Dead (1958) อีกสักครึ่งดาว เพราะสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับสงครามและชีวิต ได้อย่างน่าสนใจมากๆ แต่ความลุ่มลึกล้ำในไดเรคชั่นของ The Thin Red Line (1998) ถือว่าดำเนินไปได้ใกล้ยอดเขากว่า (The Thin Red Line สามารถยึดครอบครองยอดเขาได้สำเร็จ ส่วน The Naked and the Dead ไม่สามารถไปถึงจุดนั้น)


ก่อนอื่นขอกล่าวถึง The Naked and the Dead (1948) นวนิยายขายดี (Best-Selling) ผลงานเรื่องแรกแจ้งเกิด Nachem ‘Norman’ Malech (1923-2007) นักข่าว นักเขียน สัญชาติอเมริกัน

Mailer เกิดที่ Long Branch, New Jersey ในครอบครัวเชื้อสาย Jews, ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการอ่าน-เขียน สามารถสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ Harvard College ตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่ก็ลงเรียนวิชาการเขียน ฝึกฝนความชอบส่วนตัว และมีโอกาสส่งเรื่องสั้น The Greatest Thing in the World คว้ารางวัลชนะเลิศนิตยสาร Story เมื่อปี 1941

หลังสำเร็จการศึกษาปี 1943 แต่งงานภรรยาคนแรก Beatrice ‘Bea’ Silverman ยังไม่ทันครบปีโดนเรียกตัวเกณฑ์ทหาร สงครามโลกครั้งที่สอง ส่งไปประจำการยังประเทศ Philippines เริ่มต้นเป็นคนพิมพ์ดีด สังกัดหน่วยสื่อสาร ก่อนอาสาเข้าร่วมกองสอดแนม/ลาดตระเวน (Reconnaissance Platoon) กลายเป็นพ่อครัวหัวป่า หลังสงครามสิ้นสุดประจำการอยู่ญี่ปุ่นช่วงระยะหนึ่ง จนกระทั่งครบกำหนดปลดประจำการ

the worst experience of my life, and also the most important.

Norman Malech กล่าวถึงประสบการณ์การเป็นทหาร

ระหว่างอยู่ในกองทัพ Norman เขียนจดหมายถึงภรรยากว่า 400 ฉบับ (วันละฉบับ) ซึ่งกลายมาเป็นแรงบันดาลใจนวนิยายเล่มแรก The Naked and the Dead ตีพิมพ์(ครั้งแรก) 200,000 เล่มหมดเกลี้ยงในระยะเวลาเพียงสามเดือน ติดอันดับ Best-Selling ของหนังสือพิมพ์ New York Times ยาวนานถึง 62 สัปดาห์

เกร็ด: นวนิยาย The Naked and the Dead ติดอันดับ 51 ชาร์ท “100 best English-language novels of the 20th century”


จากความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึงของนวนิยาย Mailer ตัดสินใจออกเดินทางสู่ Hollywood คาดหวังจะขายลิขสิทธิ์สำหรับดัดแปลงสร้างภาพยนตร์ แต่กลับไม่มีสตูดิโอใหญ่ให้ความสนใจ จนกระทั่ง Burt Lancaster แสดงความต้องการรับบทนำ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถหาเงินทุนจากแห่งหนไหน

ช่วงปี 1955, Charles Laughton ระหว่างอยู่ในช่วงโปรดักชั่น The Night of the Hunter (1955) แสดงความสนใจนวนิยายเล่มนี้ จ่ายค่าลิขสิทธิ์ล่วงหน้าสูงถึง $250,000 เหรียญ พัฒนาบทร่วมกับสองพี่น้อง Denis & Terry Sanders, มองหาสถานที่ถ่ายทำกับตากล้อง Stanley Cortez, เลือกนักแสดงนำ Robert Mitchum, และเพลงประกอบโดย Walter Schumann เตรียมพร้อมแล้วจะเริ่มต้นงานสร้างหนัง แต่ความล้มเหลวย่อยยับเยินของ The Night of the Hunter (1955) ทำให้แผนการทั้งหมดพลันล่มสลาย

ลิขสิทธิ์ดัดแปลงหนังเลยตกมาเป็นของ Warner Bros. ที่ไม่ค่อยสนใจต้นฉบับนวนิยายสักเท่าไหร่ มอบหมายผู้กำกับ Raoul Walsh ให้เป็นโปรเจคทิ้งท้ายก่อนหมดสัญญา(ทาส)กับสตูดิโอ

Raoul A. Walsh (1887 – 1980) นักแสดง/ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City, ครอบครัวอพยพจากประเทศอังกฤษ สนิทสนมกับตระกูล Barrymore (โดยเฉพาะ John Barrymore) หลังเรียนจบจาก Seton Hall College เริ่มต้นจากเป็นนักแสดงละครเวที ติดตามมาด้วยผู้ช่วยผู้กำกับ D. W. Griffith, รับบท John Wilkes Booth เรื่อง The Birth of a Nation (1915), ผันมาเบื้องหลังกำกับ The Thief of Bagdad (1924), What Price Glory? (1926), Sadie Thompson (1928), ก้าวสู่หนังพูดกับ The Big Trail (1930), The Roaring Twenties (1939), High Sierra (1941), White Heat (1949) ฯ

Walsh เป็นผู้กำกับที่ได้รับฉายา ‘blood and guts’ คือจอมเผด็จการในกองถ่าย ชอบขึ้นเสียง ด่ากราดเวลาใครทำอะไรไม่พึงพอใจ ด้วยเหตุนี้เลยสร้างความขัดแย้งไปทั่ว แต่เพราะทำหนังประสบความสำเร็จมาเยอะ ใครกันจะกล้าหือรือ แต่เมื่อกำลังจะหมดสัญญากับ Warner Bros. รอบนี้คงถึงจุดอิ่มตัวสักที เลยไม่ยินยอมขยายสัญญาต่อไปอีก (หลังจากเรื่องนี้ Walsh ย้ายไปอยู่สตูดิโอ Fox เพียงแค่ 2-3 ปี ก่อนหวนกลับมาสร้างหนังเรื่องสุดท้ายกับ Warner Bros. ปิดฉากหนึ่งในผู้กำกับระดับตำนาน)

เมื่อก้าวเข้ามาคุมบังเหียร The Naked and the Dead สิ่งแรกที่ Walsh กระทำก็คือ นำบทที่ Laughton ร่วมพัฒนากับสองพี่น้อง Denis & Terry Sanders มาเปลี่ยนแปลงแก้ไขโน่นนี่นั่น เพิ่มเติมหญิงสาวระบำเปลื้องผ้า (ให้สอดคล้องกับชื่อหนัง) ใส่รถถัง โยนระเบิด เข่นฆ่าทหารญี่ปุ่น (เหล่านี้ไม่มีในนวนิยายเลยนะ) และยังปรับเปลี่ยนให้ Lieutenant Robert Hearn สามารถรอดชีวิตตอนจบ หวนกลับมาถกปรัชญากับ General Cummings เรียกว่าไม่มีความเคารพต้นฉบับนวนิยายเลยสักนิด!


พื้นหลังเกาะสมมติแห่งหนึ่ง กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องราวของ Lieutenant Hearn (รับบทโดย Cliff Robertson) ทำงานเป็นผู้ช่วย General Cummings (รับบทโดย Raymond Massey) ซึ่งให้การดูแลเหมือนบุตรชาย แต่ทัศนคติต่อสงครามของทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

  • General Cummings มองว่าทหารต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ตามลำดับขั้น ห้ามโต้ตอบขัดขืน ราวกับ god-like
  • Lieutenant Hearn มองว่าไม่ว่าจะทหารระดับไหนควรมีความเคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน (mutual respect)

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ Lieutenant Hearn ถูกส่งเข้าร่วมหน่วยลาดตระเวน นำโดยจ่า Sergeant Croft (รับบทโดย Aldo Ray) เพื่อปฏิบัติภารกิจเข้ายึดครอบครองเนินเขาลูกหนึ่ง ตั้งเป็นฐานที่มั่นสำหรับสอดแนมทหารญี่ปุ่น แต่มันมีเหตุผลบางอย่างที่กองทหารหน่วยนี้ไม่เคยมีทหารระดับผู้บังคับบัญชามาก่อน ซึ่งเกือบจะทำให้ผู้หมวดหนุ่มสูญเสียชีวิต รอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด


Clifford Parker Robertson III (1923-2011) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ La Jolla, San Diego ครอบครัวหย่าร้างเมื่อเขาอายุเพียง 1 ขวบ อาศัยอยู่กับย่าที่ California ตั้งแต่เด็กชื่นชอบด้านการแสดง ถึงขนาดได้รับฉายา ‘The Walking Phoenix’ อาสาสมัครทหารเรือช่วงสงครามโลกครั้งสอง จากนั้นได้เข้าร่วม Actors Studio ช่วงต้นทศวรรษ 50s ทำงานวงการโทรทัศน์ กระทั่งได้เซ็นสัญญา Columbia Pictures แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก Picnic (1955), Autumn Leaves (1956), The Naked and the Dead (1958), PT 109 (1963), Charly (1968) ** คว้า Oscar: Best Actor, ผู้ชมสมัยนี้อาจมักคุ้นในบทบาท Uncle Ben ในไตรภาคแรก Spider-Man (2002-07)

รับบท First Lieutenant Robert Hearn ผู้หมวดหนุ่มได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยงาน General Cummings มีความสนิทสนม สามารถพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ยกเว้นเพียงทัศนคติเกี่ยวกับการใช้อำนาจ ซึ่งเขาเห็นว่าผู้บังคับบัญชา-ลูกน้องในสังกัด ควรมีความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่ใช่บีบบังคับให้อีกฝั่งฝ่ายทำในสิ่งไม่ยินยอมพร้อมใจ ซึ่งเขาก็พยายามพิสูจน์ในเชิงรูปธรรม เลยส่งไปให้เป็นผู้นำกองสอดแนมเข้าร่วมภารกิจอันตราย

ในการปฏิบัติภารกิจนี้ Lieutenant Hearn พยายามจะไม่เข้าไปก้าวก่ายหน้าที่ของ Sergeant Croft หลายครั้งสอบถามความคิดเห็นก่อนจะทำอะไร แต่การตัดสินใจนั้นเป็นสิทธิ์/อำนาจของตนเอง ซึ่งโดยไม่รู้ตัวสร้างความไม่พึงพอใจให้อีกฝั่งฝ่าย จึงถูกตลบหลังด้วยการส่งไปเกือบตาย รอดมาได้เพราะลูกน้องรู้สึกสงสารเห็นใจ ปฏิเสธจะรับฟังคำสั่งของเขาจนกว่าจะหวนกลับฐานทัพได้สำเร็จ

มาดของ Robertson ดูเป็นคนหัวขบถ ดื้อรั้น ไม่ชอบก้มหัวให้ใคร แต่ก็มีความเฉลียวฉลาด พูดอย่างมีวาทะศิลป์ หนักแน่นมั่นคง ซึ่งเขาก็สามารถทำให้ตัวละครมีความถูกต้องชอบธรรม (righteous) ยึดมั่นในแนวความคิด อุดมคติส่วนตัว ต้องการแสดงออก(ต่อหน่วยทหาร)อย่างที่เคยว่ากล่าวไว้ ก่อนได้รับบทเรียนที่แสนสาหัสสากัน ไม่ผิดจากที่เคยเข้าใจสักเท่าไหร่

เกร็ด: หลายคนอาจมองว่า Lieutenant Hearn คือตัวแทนของผู้แต่งนวนิยาย Norman Mailer แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์บอกว่า ไม่ได้เทียบแทนตนเองด้วยตัวละครใด ทั้งหมดเป็นมาจากบุคคลเคยประสบพบเจอ นำมาปรุงปั้นแต่งขึ้นในจินตนาการ


Raymond Hart Massey (1896-1983) นักแสดงสัญชาติ Canadian เกิดที่ Toronto, Ontario บิดาเป็นเจ้าของธุรกิจ Massey-Harris Tractor Company ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย โตขึ้นได้เข้าเรียน University of Toronto ทั้งยังเป็นสมาชิก Kappa Alpha Society จากนั้นอาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากนั้นกลับมาสานต่อกิจการครอบครัวอยู่สักพัก ก่อนผันตัวมาเป็นนักแสดงละครเวที ภาพยนตร์เรื่องแรก High Treason (1928), ก้าวสู่หนังพูดอย่างไม่มีปัญหากับ The Speckled Band (1931), ผลงานเด่นๆ อาทิ Things to Come (1936), Abe Lincoln in Illinois (1940), 49th Parallel (1941), The Woman in the Window (1944), A Matter of Life and Death (1946), Possessed (1947), East of Eden (1955), How the West Was Won (1962) ฯลฯ

รับบท Brigadier General Cummings ได้รับมอบหมายให้ยึดครอบครองเกาะแห่งหนึ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ครุ่นคิดแผนการให้หน่วยสอดแนมลักลอบเข้าไปยึดครองฐานที่มั่นสำคัญ แล้ววิทยุรายงานความเคลื่อนไหวของศัตรู แต่วิธีใช้อำนาจของเขาสนเพียงความถูกต้อง ต้องเป็นไปลำดับขั้นเท่านั้น แต่หลังจากภารกิจสำเร็จลุล่วงโดยที่เขาไม่มีส่วนร่วม ผู้ใต้บังคับบัญชาตัดสินใจโดยไม่รอฟังคำสั่ง นั่นสร้างความสับสนถึงสิ่งที่ตนเคยยึดถือ เชื่อมั่น มันถูกต้องแล้วหรือไร

Massey เป็นนักแสดงที่มี Charisma เพิ่มขึ้นตามอายุ เวลาเป็นนายพลจะวางท่าอย่างดุดัน เอาจริงเอาจัง ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ใส่อารมณ์อย่างเกรี้ยวกราด แต่เมื่อไหร่อยู่สองต่อสองกับบุคคลสนิทชิดเชื้อ จะมีความนุ่มนวล น้ำเสียงเป็นห่วงเป็นใย … นี่อาจดูเหมือนบุคคลสองหน้า แต่มันคือการสร้างภาพ/แสดงออกด้วยอุดมการณ์เชื่อมั่น vs. ตัวตนแท้จริง ก็มีจิตวิญญาณเหมือนคนทั่วไป

ผมชื่นชอบวิธีการของตัวละครนี้ เมื่อตอนพยายามเสี้ยมสอนเรื่องมวนบุหรี่ ไม่ใช่แค่เรียก Lieutenant Hearn แล้วสั่งให้เก็บสิ่งที่เขาจงใจทอดทิ้งไว้ แต่เริ่มจากขอบุหรี่มวนหนึ่ง สูบไปพร้อมพูดพร่ำอะไรบางอย่าง ให้เกิดการครุ่นคิด ทบทวนสิ่งที่กระทำ จากนั้นก็ให้เลือกว่าจะเก็บก้นบุหรี่ที่ตนกำลังจะทิ้งลงพื้นหรือไม่ … หลายคนอาจรู้สึกว่ามันเป็นการเล่นลีลาที่ยุ่งยาก วุ่นวาย แต่การจะเสี้ยมสอนบุคคลที่มีความเฉลียวฉลาด ย่อมมีเพียงวิธีการที่จะทำให้เขาครุ่นคิด และตัดสินใจด้วยตนเองเท่านั้นนะครับ (แต่ถ้าเอาวิธีการดังกล่าวไปเสี้ยมสอนกับคนที่ไม่เฉลียวฉลาดนัก มันก็ไม่ประโยชน์อะไรหรอกนะ เพราะบุคคลนั้นย่อมไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกมา)


Aldo Ray หรือ Aldo Da Re (1926-91) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Pen Argyl, Pennsylvania ในครอบครัวเชื้อสาย Italian ตั้งแต่เด็กชื่นเล่นกีฬา ว่ายน้ำ อเมริกันฟุตบอล อาสาสมัครทหารเรือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, เมื่อปี 1950 สตูดิโอ Columbia Studios มีการประกาศคัดเลือกนักแสดง พี่ชายพบเห็นข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์เลยขอให้น้องขับรถไปส่ง แต่ผู้กำกับ David Miller กลับให้ความสนใจลีลาเสียงพูด(ของน้องชาย) เลยจับเซ็นสัญญาทั้งๆเจ้าตัวไม่ได้มีความสนใจด้านนี้เลยสักนิด แล้วได้รับบทสมเล็กๆ Saturday’s Hero (1951), The Marrying Kind (1952), Pat and Mike (1952),ได้รับบทนำ Let’s Do It Again (1953), Battle Cry (1955), Men in War (1957) ฯ

รับบท Staff Sergeant Sam Croft แม้มีเพียงอำนาจเล็กๆที่ได้ปกครองลูกน้องใต้สังกัด แต่ก็ทำตัวราวกับพระเจ้า (god-like) ชี้นิ้วออกคำสั่ง ไม่หวาดกลัวเกรงอะไรทั้งนั้น ‘บ้าอำนาจ’ กระทั่งการมาถึงของ Lieutenant Hearn ทำให้ตนเองสูญเสียอภิสิทธิ์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อเขาพยายามล้มเลิกภารกิจ จึงครุ่นคิดแผนการกำจัดอีกฝั่งฝ่ายให้พ้นทาง แล้วนำพาตนเองไปให้ถึงจุดสูงสุด เป้าหมายปลายทาง

เกร็ด: Marlon Brando เคยได้รับการทาบทามบทบาทนี้ แต่ผู้กำกับ Raoul Walsh เคยร่วมงานกับ Aldo Ray มาแล้วหลายครั้ง เลยอยากได้นักแสดงขาประจำมากกว่า

การแสดงของ Ray อาจไม่ใช่ระดับ Superstar โด่งดังค้างฟ้า แต่ต้องถือว่ามีภาพลักษณ์ที่น่าจดจำ ร่างกายกำยำบึกบึน (เพราะเป็นนักกีฬา) โดยเฉพาะน้ำเสียงที่ไม่รู้ไปโกรธอะไรใครมา เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด ใบหน้าบึ้งตึง และเห็นว่าตลอดการถ่ายทำ ดื่มสุราต่างน้ำ อยู่ในสภาพมึนเมาเหมือนคนคลุ้มบ้าคลั่ง แต่โดยไม่รู้ตัวเหมาะสมกับบทบาทโคตรๆ

Aldo Ray was drunk the entire time. He was a very sweet guy, but he was gone. He drank drank drank. Raoul Walsh would say, “Let’s get him in the morning ’cause in the afternoon it’s over.”… I just could not get used to it, actors who got all this money and then didn’t behave professionally.

โปรดิวเซอร์ Paul Gregory

ถ่ายภาพโดย Joseph LaShelle (1900-89) สัญชาติอเมริกัน หลังเรียนจบมัธยมตัดสินใจหางานทำเป็นผู้ช่วยห้องแลป Paramount West Coast Studio จากนั้นกลายเป็นตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ Hollywood Metropolitan Studios ก่อนมาปักหลักอยู่ Fox Film ผลงานเด่นๆ อาทิ Laura (1944) ** คว้า Oscar: Best Cinematography, Fallen Angel (1945), Marty (1955), The Apartment (1960), How the West Was Won (1962), A Child Is Waiting (1963) ฯ

แม้ว่า LaShelle จะโด่งดังจากการเป็นตากล้องหนังนัวร์ แต่เมื่อก้าวสู่ยุคหนังสีก็มีผลงานภาพยนตร์ระดับ Epic อยู่หลายเรื่อง อาทิ Run for the Sun (1956), The Conqueror (1956) ฯ

เมื่อตอนที่ Charles Laughton ยังคุมบังเหียรโปรเจคนี้ ร่วมกับตากล้อง Stanley Cortez ออกสำรวจสถานที่ถ่ายทำยัง Hawaii ตระเตรียมงานสร้างอยู่ถึงแปดเดือน แต่พอหนังเปลี่ยนมือมายังผู้กำกับ Raoul Walsh ก็ย้ายสถานที่ไปประเทศ Panama (คงตั้งใจไปท่องเที่ยวด้วยกระมัง) ใช้เวลาถ่ายถ่ายทำเพียงแค่ 3 เดือน (ระหว่างธันวาคม 1958 – กุมภาพันธ์ 1959)

หนังถ่ายทำด้วยอัตราส่วนที่ชื่อว่า Academy Ratio (1.37:1) ก่อนที่จะนำไปครอบตัดเป็น WarnerScope (2.36:1) ภายหลังการถ่ายทำ … นี่เป็นวิธีการทั่วๆไปของยุคสมัยนั้น เพื่อเก็บรักษารายละเอียดของภาพให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด


LST-1079 เรือบรรทุกรถถัง (Tank Landing Ship) ประกอบเสร็จเดือนเมษายน 1945 ยังไม่ทันใช้ปฏิบัติภารกิจใดๆ (เลยยังไม่ได้ตั้งชื่อ) จอดเทียบท่าอยู่ Pearl Harbor สงครามโลกครั้งที่สองก็สิ้นสุดเสียก่อน! แต่ต่อมาก็ได้เข้าร่วม Korean War (1950-53) ออกเดินทางตั้งแต่เดือนตุลาคม 1950 ได้รับการตั้งชื่อ U.S.S. Payette County และถูกแยกชิ้นส่วนเมื่อปี 1961

หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่ามีการใช้ตัวประกอบ ทหารจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ประจำการอยู่ Panama จำนวน 250 คน รวมถึงทหารสัญชาติ Japanese-American เล่นเป็นกองกำลังญี่ปุ่นอีกหลายสิบกว่าคน

หนังมีรายละเอียดเพียงแค่ว่าถ่ายทำยังประเทศ Panama แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดลึกไปมากกว่านี้ นั่นทำให้ผมค่อนข้างสองจิตสองใจว่าเกาะแห่งนี้มีอยู่จริง หรือใช้ Visual Effect สรรค์สร้างขึ้นมา ซึ่งระหว่างการเดินเท้าของหน่วยสอดแนม สังเกตว่าจะมีส่วนผสมจากทั้งสถานที่จริง และสร้างฉากขึ้นในสตูดิโอ (ฉากระหว่างการปีนป่ายขึ้นเขา)

แต่ถ้าสังเกตจากแผนที่ด้านหลัง ผมครุ่นคิดว่าน่าจะเป็นหมู่เกาะประเทศ Philippines

ฉากปีนเขาชวนให้ระลึกถึง North by Northwest (1959) [แต่เรื่องนี้สร้างก่อนนะ] ทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ Warner Bros. สร้างโขดหินสำหรับปีนป่าย (อัตราส่วนเท่าของจริง) แต่ภาพพื้นหลังที่เป็นทิวทัศน์ ท้องฟ้า เห็นอยู่ไกลลิบๆ ถ้าไม่มาจากเครื่องฉาย Rear Projection ก็เป็นการวาดภาพบนกระจก Matte Painting (สังเกตว่าช่วงขณะปีนป่าย กล้องจะตั้งอยู่เฉยๆไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้สูญเสียองศาของภาพลวงตา)

หนังไม่ได้มี Mise-en-scene ให้พูดถึงมากนัก แต่ช็อตสุดท้ายของหนังเมื่อ General Cummings เสร็จสิ้นการสนทนาปรัชญากับ Lieutenant Hearn ก้าวออกมานอกเต้นท์ พบเห็นกองทัพ รถถัง กำลังเคลื่อนพล ออกเดินทางมุ่งสู่ … แห่งหนใดกัน?

นี่เช่นกันคือคำถามเชิงปรัชญา พวกประเทศมหาอำนาจทำสงครามด้วยจุดประสงค์อะไร? เป้าหมายปลายทางอยู่แห่งหนไหน? ยึดเกาะแห่งนี้สำเร็จก็ใช่ว่าสงครามจะสิ้นสุดลง ต้องการจะไปให้ถึงจุดสูงสุดของทุกยอดเขาเลยหรือไร?

ตัดต่อโดย Arthur P. Schmidt (1912 – 1965) ขาประจำของ Wilder ตั้งแต่ Sunset Boulevard (1950) ถึง Some Like It Hot (1959) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Blue Dahlia (1946), Sayonara (1957), Witness for the Prosecution (1957), The Old Man and the Sea (1958) ฯ

เรื่องราวของหนังนำเสนอผ่านมุมมอง Lieutenant Hearn และ Sergeant Croft ซึ่งจะมีการตัดต่อสลับไปมาระหว่างฝั่งผู้บังคับบัญชา (Lieutenant Hearn กับ General Cummings) และสมาชิกหน่วยสอดแนม/ลาดตระเวน (Sergeant Croft กับนายทหารในสังกัด) รวมทั้งยังมีการแทรกภาพความฝัน/ย้อนอดีตในความทรงจำ (Flashback) จากนั้นทั้งสองถูกส่งเข้าร่วมภารกิจเดียวกัน เข้ายึดครอบครองเนินเขาสูงลูกหนึ่ง เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นสำหรับสอดแนม รายงานการเคลื่อนไหวของศัตรู

  • องก์หนึ่ง, ออกเดินทางมุ่งสู่เกาะแห่งหนึ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก
    • วันพักผ่อนของ Sergeant Croft และลูกน้องในสังกัด
    • ออกเดินทางโดยเรือดำน้ำ มุ่งสู่เกาะแห่งหนึ่งกลางมหาสมุทรแปซิฟิก
    • ยกพลขึ้นบก การเผชิญหน้าครั้งแรกระหว่าง Lieutenant Hearn กับ Sergeant Croft
  • องก์สอง, ภารกิจของหน่วยสอดแนม
    • (Flashback) ความฝันของ Sergeant Croft
    • ภารกิจผลักไสทหารญี่ปุ่นไม่ให้ข้ามผ่านเส้นแบ่งเขตแดนแม่น้ำ
    • มุมมองเกี่ยวกับอำนาจในวงเหล้าของ Sergeant Croft และลูกน้องในสังกัด
  • องก์สาม, ภารกิจของผู้บังคับบัญชา
    • (Flashback) ความฝันของ Lieutenant Hearn
    • มุมมองเกี่ยวกับอำนาจของ Lieutenant Hearn และ General Cummings
    • ตระเตรียมภารกิจสอดแนม มอบหมายให้หน่วยของ Sergeant Croft เป็นผู้ปฏิบัติการ
    • ความหัวขบถของ Lieutenant Hearn เลยทำให้ General Cummings ส่งตัวไปเป็นผู้บังคับบัญชาภารกิจดังกล่าว
  • องก์สี่, ภารกิจเข้ายึดครอบครองเนินเขาลูกหนึ่ง
    • เริ่มต้นด้วยดี จากเดินทางด้วยเรือ ยกพลขึ้นบก ว่ายข้ามแม่น้ำ มาจนถึงเผชิญหน้าทหารเวียดนาม
    • ความคิดเห็นต่างระหว่าง Lieutenant Hearn กับ Sergeant Croft ทำให้เกิดรอยบาดหมาง และความคาดไม่ถึง
    • นำเสนอคู่ขนานระหว่าง
      • Lieutenant Hearn ถูกส่งตัวกลับฐานทัพ
      • Sergeant Croft ยังคงดื้อรั้นไปต่อ
    • เดินทางกลับ หวนกลับสู่จุดเริ่มต้น
  • ปัจฉิมบท, แม้ภารกิจสำเร็จลุล่วงแต่ก็สร้างความขื่นข่มให้ General Cummings และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งสุดท้ายกับ Lieutenant Hearn

เชื่อว่าหลายคนอาจบังเกิดความสับสนในช่วงแรกๆ เพราะยังสังเกตไม่ออกว่าใครคือตัวละครหลัก เพราะหนังมีการปรับเปลี่ยนมุมมองตัวละครไปเรื่อยๆ เพื่อแนะนำให้รู้จักสมาชิกในหน่วย สร้างความสนิทสนม มักคุ้นเคย จนกระทั่งเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อมีการแบ่งแยกหน่วยทหาร vs. ผู้บังคับบัญชา ก็น่าจะเริ่มแยกแยะความสำคัญ ลำดับขั้นของการใช้อำนาจ

พอหนังขมวดปมเข้าสู่ภารกิจหลัก เรื่องราวก็จะดำเนินเป็นเส้นตรงไปอีกสักพักใหญ่ๆ จนกระทั่งเมื่อเกิดความแตกแยก Lieutenant Hearn ได้รับบาดเจ็บสาหัส เลยมีการแบ่งเรื่องราวคู่ขนาน ฝั่งหนึ่งถูกส่งตัวกลับฐานทัพ อีกฝั่งฝ่ายยังคงดื้อรั้นไปต่อให้ถึงจุดสูงสุด ตัดสลับกลับไปกลับไปมาได้อย่างน่าประทับใจมากๆเลยละ! … ผมถือว่าการตัดต่อเป็นไฮไลท์ของหนังเลยนะ มีความหลากหลาย สร้างสรรค์ ทำออกมาได้ลงตัวสุดๆ


เพลงประกอบโดย Bernard Herrmann ชื่อจริง Maximillian Herman; (1911-75) วาทยากร นักแต่งเพลง สัญชาติอเมริกัน บิดาเป็นชาว Ukraine เชื้อสาย Jewish พยายามผลัดดันบุตรชายให้มีความหลงใหลในดนตรี ร่ำเรียนไวโอลินจนชนะการแข่งขันเมื่อตอนอายุ 13 ปี จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อ Juilliard School จบออกมาเป็นวาทยากรให้กับ Columbia Broadcasting System (CBS) ไต่เต้าจนกลายเป็นหัวหน้า (chef conductor) แล้วได้รับการชักชวนจาก Orson Welles ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก Citizen Kane (1941) และปีเดียวกันนั้นคว้า Oscar: Best Score ครั้งแรกครั้งเดียวจากเรื่อง The Devil and Daniel Webster (1941)

คนส่วนใหญ่คงจดจำ Herrmann คือขาประจำผู้กำกับ Alfred Hitchcock สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง Vertigo. (1958), North by Northwest (1959), Psycho (1960) ฯ แต่ก็มียังโคตรผลงานเด่นๆอีกมา อาทิ Jane Eyre (1944), Anna and the King of Siam (1946), The Day the Earth Stood Still (1951), Cape Fear (1962), Taxi Driver (1976), Obsession (1967) ฯลฯ

สำหรับ The Naked and the Dead รับฟังครั้งแรกๆอาจไม่ไพเราะ เสนาะหู ก็ดูธรรมดาๆทั่วไป แต่หนังใช้วิธีการย้ำคิดย้ำทำ ใส่ท่วงทำนอง Main Theme แทรกเข้ามาให้ได้ยินซ้ำๆอยู่ตลอดทั้งเรื่อง จนทำให้ผู้ชมเริ่มเกิดความสนิทสนม มักคุ้นเคย ด้วยสัมผัสอันน่าตื่นเต้นเร้าใจเมื่อออกผจญภัย และรู้สึกวาบหวิวสยิวกายถึงภยันตรายคืบคลานเข้ามาใกล้

กลายเป็นว่างานเพลงของ Herrmann ทำตัวเหมือนสร้อยของบทกวี ไม่ได้มุ่งเน้นสร้างสัมผัสทางอารมณ์ แต่คอยตบแต่งเรื่องราวให้มีความเชื่อมโยง ลื่นไหลระหว่างฉาก และเติมเต็มบรรยากาศให้สอดคล้องกับแอ็คชั่นที่กำลังจะบังเกิดขึ้น … นี่คือวิธีการนำบทเพลงของ Herrmann มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนะครับ ใครเคยรับชมหนังของ Hitchcock มามาก ก็น่าจะเข้าใจหลักการได้ไม่ยาก

The Naked ไม่ได้จะสื่อถีงชีเปลือย หรือหญิงสาวเปลื้องผ้า (แต่ผู้กำกับ Walsh ก็จงใจเพิ่มฉากเต้นระบำ วับๆแวมๆ เข้ามาตอนต้นเรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหนัง) แต่แฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของการปลดเปลื้อง เปิดเผยสิ่งถูกปกปิดซ่อนเร้น (หรือก็คือร่างกายที่ถูกปกคลุมด้วยเสื้อผ้า) ซี่งในบริบทของหนัง การสงครามแท้จริงแล้วคือกลเกมของผู้มีอำนาจ ใช้การบีบบังคับ ออกคำสั่งผู้ใต้บังคับบัญชา มองพลทหารแค่เพียงเบี้ยบนกระดาน จับโยกตำแหน่ง ปฏิบัติภารกิจโน่นนี่นั่น เพียงเพื่อตอบสนองเป้าหมายส่วนตัว จุดสูงสุดคือเส้นชัยชนะ

The Dead ความตายในสงคราม เป็นสิ่งที่ชนชั้นผู้นำสมัยก่อนมักสรรหาข้ออ้าง ฟังแล้วเลิศหรูดูดี ‘สิ้นชีพเพื่อชาติ’ เสียสละด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี สมฐานะลูกผู้ชาย ครอบครัวจะได้สุขสบาย รอดพ้นจากศัตรูผู้มารุกราน แต่ความจริงแล้ว ‘ความตายก็คือความตาย’ การสูญเสียคือสิ่งมิอาจประเมินมูลค่าได้ ยิ่งถ้าต้องจ่ายค่าโง่ๆอย่าง ตกหน้าผา, ถูกงูกัด, โดนพวกพ้องทรยศหักหลัง ฯ เรียกว่าขาดทุนย่อยยับเยิน

ภารกิจหลักของหนังคือการเข้ายีดครอบครองพิกัดทางยุทธศาสตร์ ‘จุดสูงสุด’ บนเนินเขาที่สามารถสอดแนมการเคลื่อนไหวศัตรูทั่วทุกสารทิศ นี่คือการนำเสนอในเชิงสัญลักษณ์ถีงความทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง เป้าหมายปลายทางของบุคคลผู้มีอำนาจ เชื่อว่าการครองครองยอดเขานั้น จักสามารถได้รับชัยชนะเหนือศัตรูผู้มารุกราน

แต่ในความเป็นจริง มันไม่มีความจำเป็นที่มนุษย์ต้องไปให้ถีงจุดสูงสุด หรือเป้าหมายปลายทาง สมาชิกหน่วยสอดแนมแค่พบเห็นการเคลื่อนไหวของศัตรู วิทยุรายงานสิ่งบังเกิดขี้น เพียงเท่านั้นก็สามารถจู่โจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว ไปยังไม่ทันถีงยอดเขา ไม่ต้องรอการสนับสนุนของกองหนุนด้วยซ้ำ ก็สามารถคว้าชัยชนะจากการสู่รบสงครามครั้งนี้

และไม่ใช่ทุกคนอยากจะไปให้ถีงจุดสูงสุดบนยอดเขา สมาชิกหน่วยสอดแนมเมื่อตระหนักว่ากำลังต้องเผชิญหน้าอันตรายร้ายแรง ตั้งคำถามถีงความจำเป็นที่ต้องเอาชีวิตท้าเสี่ยง ตรงเข้าไปถูกกราดยิง นั่นเป็นสิ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะอันใด แล้วยังจะทำไปเพื่ออะไร? เพราะความดื้อรั้น ทะเยอะทะเยอ ต้องการไปให้ถีงจุดสูงสุด ปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย แล้วไงต่อ? บังเกิดความภาคภูมิใจ ฉันได้ทำบางสิ่งอย่างที่ยิ่งใหญ่ ได้รับชัยชนะจากสงคราม

General Cummings และ Sergeant Croft ต่างคือตัวแทนบุคคลที่เมื่อมีอำนาจอยู่ในกำมือ พร้อมจะใช้มันเพื่อตอบสนองความพีงพอใจของตนเอง ไปให้ถีงจุดสูงสุดโดยไม่สนวิธีการ ความสูญเสีย หรือการยินยอมรับของลูกน้องในสังกัด ขอแค่เพียงบรรลุผลลัพท์ สำเร็จเป้าหมายภารกิจ อะไรอย่างอื่นไม่มีความสลักสำคัญใดๆ

Lieutenant Hearn แม้มียศเป็นผู้บังคับบัญชา แต่ยังต้องลงมาปฏิบัติภารกิจภาคสนาม (ถือเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งกี่งกลางระหว่าง General Cummings และ Sergeant Croft) ด้วยเหตุนี้จีงสามารถเข้าใจมุมมองของการรับคำสั่ง-ออกคำสั่ง ตระหนักว่าวิธีปกครองดีที่สุดคือประชาธิปไตย รับฟังเสียงเสนอแนะ หาข้อสรุปร่วมกัน แค่การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของเขา (ตามลำดับบัญชาการ) นั่นจะทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วง และทุกคนอยู่รอดปลอดภัย

ทัศนคติของ Lieutenant Hearn (และผู้กำกับ Raoul Walsh) มองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่มีใครมีพลังอำนาจเหนือกว่าใคร การบีบบังคับ ออกคำสั่ง (โดยเฉพาะสตูดิโอ Warner Bros.) ให้ผู้อื่นต้องปฏิบัติ กระทำตาม ถ้าเขาไม่ยินยอมพร้อมใจแล้วยังอ้างสัญญา(ทาส)ที่เคยตกลงกันไว้ นั่นเป็นการสร้างความขัดแย้ง บ่อนทำลายความเชื่อมั่น ศรัทธาเคยมีให้จักพลันสูญสลาย

ผมไม่รู้ว่าผู้กำกับ Walsh มีปัญหาคาราคาซังอะไรกับสตูดิโอ Warner Bros. ถีงไม่ได้รับการต่อสัญญา (ทั้งๆก็ยังถือว่าเป็นมือทอง ทำหนังประสบความสำเร็จไม่น้อย) แต่ในมุมมองของเขาที่นำเสนอผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ (ส่วนที่แต่งเพิ่มเติมจากนวนิยาย) ล้วนเกี่ยวกับการใช้อำนาจในทางมิชอบ บีบบังคับ ออกคำสั่ง ไม่ใคร่สนความต้องการของอีกฝั่งฝ่าย … นั่นแทบจะเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไปที่สตูดิโอใหญ่ๆสมัยนั้นนิยมกระทำกัน ใครสร้างผลประโยชน์ก็ส่งเสริมสนับสนุนผลักดัน เมื่อหมดมูลค่าก็พร้อมขับไล่ ถีบไสส่ง

ผู้กำกับ Walsh สร้างหนังพูดทั้งหมด 69 เรื่อง (ถ้ารวมหนังเงียบก็น่าจะเกินกว่าร้อยเรื่อง!) มีทั้งประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว ผ่านจุดสูงสุด-ต่ำสุดมาก็บ่อยครั้ง คงทำให้เขาตระหนักว่าตำแหน่งยุทธศาสตร์บนยอดเขานั้นไม่มีอยู่จริง! ไม่ใช่ว่ามันเต็มไปด้วยภัยอันตราย เสี่ยงตายแบบในหนังนะครับ แต่เพราะไม่มีอะไรในโลกที่จีรังยั่งยืนยาว The Birth of the Nation (1915) ถูกโค่นบัลลังก์โดย Gone With the Wind (1939) แล้วเปลี่ยนมาเป็น Sound of Music (1965) บลา บลา บลา Titanic (1997) สู่ Avatar (2009) อีกไม่นานก็จะมีภาพยนตร์เรื่องใหม่พิชิตยอดเขาที่สูงกว่า เช่นนั้นแล้วมีประโยชน์อะไรจะไขว่คว้า ทั้งหมดอยู่ที่ความปรารถนาของเราเองจะรู้จักเพียงพอดี ก้าวกลับลงมาเมื่อตระหนักว่าฉันคงไปต่อไม่ไหวอีกแล้ว … การมีชีวิตย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด


หนังใช้ทุนสร้างประมาณ $3 ล้านเหรียญ (หมดไปกับค่าลิขสิทธิ์นวนิยาย $250,000 เหรียญ) แม้กระแสตอบรับจะไม่ค่อยดีมากนัก แต่กลับสามารถทำเงินถล่มทลาย รายรับจากโปรดิวเซอร์ประมาณไว้ $11 ล้านเหรียญ ปีนั้นน่าจะเป็นรองเพียงหนังเพลง South Pacific (1958) ที่ $16 ล้านเหรียญ [เป็นปีแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกโดยแท้!]

คนเคยอ่านต้นฉบับนวนิยายก่อนรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ล้วนแสดงความคิดเห็นทิศทางเดียวกันว่าห่างชั้นอย่างเทียบกันไม่ติด แต่ผมเห็นต่างออกไป นวนิยายก็นวนิยาย ภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์ มันเป็นสิทธิ์ของผู้กำกับที่จะปรับแก้ไขทุกสิ่งอย่างให้สอดคล้องวิสัยทัศน์ ความต้องการส่วนตน

เกร็ด: ผู้แต่ง Norman Mailer เมื่อมีโอกาสรับชม แสดงความไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง “worst movie I had ever seen!”

ผมไม่เคยอ่านนวนิยายเลยบอกไม่ได้ว่ายอดเยี่ยม-ย่ำแย่ แตกต่างกันขนาดไหน แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ใครต่อใครว่าไว้ ไดเรคชั่นของ Raoul Walsh อาจดูยากสักหน่อย ไม่ค่อยเน้นแอ็คชั่นเหมือนหนังสงครามทั่วไป เป็นแนวที่ต้องครุ่นคิดติดตามการสนทนาแฝงแนวคิด ปรัชญา แล้วต้องนำมาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจอะไรหลายๆอย่าง ถึงค้นพบเป้าหมาย นัยยะจริงต้องการสื่อถึงอะไร

แนะนำคอหนัง War Drama ที่ชื่นชอบการครุ่นคิด วิเคราะห์ ซ่อนเร้นนัยยะเชิงปรัญาเกี่ยวกับชีวิต ความตาย เหตุผลของการสู้รบสงคราม (ใจความ Anti-Wars), ถ้าคุณชื่นชอบ The Thin Red Line (1998) อยากให้ลองหา The Naked and the Dead (1958) มาเปรียบเทียบกันดูนะครับ

จัดเรต 18+ กับความคลุ้มบ้าคลั่งของสงคราม

คำโปรย | The Naked and the Dead คือสภาพอันเปลือยเปล่าของ Raoul Walsh ที่เหมือนจะไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไปคุณภาพ | สงคราม-คลาสสิก
ส่วนตัว | ชื่นชอบ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: