The New Gulliver (1935) : Aleksandr Ptushko ♥♥♡
Puppet Animation ขนาดยาวเรื่องแรกของโลก สร้างขึ้นที่สหภาพโซเวียต โดยผู้กำกับ Aleksandr Ptushko ดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่อง Gulliver’s Travels (1726) ของนักเขียนชาวไอริช Jonathan Swift, แม้โดยรวมอนิเมะเรื่องนี้คุณภาพจะไม่ดีมากเท่าไหร่ แต่การได้เห็นหุ่นขนาดจิ๋วเคลื่อนไหวได้ พร้อมๆกับมนุษย์ (ผสม Live-Action) ดูแล้วน่าทึ่งไม่น้อย
Puppet Animation เดิมทีนั้นคิดกันว่าถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดย J. Stuart Blackton และ Albert Smith ในหนังสั้นเรื่อง The Humpty Dumpty Circus (1908) แต่เมื่อปี 2009 ฝั่งรัสเซียมีการค้นพบชายผู้หนึ่ง Aleksander Shiryayev ที่ว่ากันว่าอาจเป็นคนแรกที่คิดสร้าง Puppet Animation ขึ้นมา, Shiryayev เป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนสอน Ballet ที่ Imperial Russian Ballet และเป็นนักออกแบบท่าเต้น (choreographer) ซึ่งได้ประดิษฐ์ตุ๊กตาหุ่น (Puppet) ใช้ประกอบการสอน ออกแบบท่าเต้น Ballet และในช่วงระหว่างปี 1906-1909 ได้มีการบันทึกบนแผ่นฟีล์มไว้ด้วย แต่ก็ไม่ได้นำเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ มีเพียงคนสนิทและลูกศิษย์ลูกหาเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับชม
ก่อนที่ Shiryayev จะกลายเป็นที่รู้จัก คนที่ถือเป็นผู้บุกเบิก Puppet Animation คนแรกของรัสเซีย คือ Vladislav Starevich หรือ Ladislas Starevich (1882-1965) นักชีววิทยาและนักการศึกษา เขามีต้องการบันทึกภาพการศึกษาเกี่ยวกับแมลง และได้สร้างหนังเรื่อง The Beautiful Lukanida (1912) เป็นเรื่องราวของแมลงตัวหนึ่งที่แต่งตัวล้อเลียนเป็นอัศวิน นี่กลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จระดับ Blockbuster ได้รับความนิยมอย่างสูงมากในสมัยนั้น ก่อนตามมาด้วย The Cameraman’s Revenge (1912), The Ant and the Grasshopper (1913), The Insects’ Christmas (1913), Amusing Scenes from the Life of Insects (1913) จะเห็นว่าแทบทุกเรื่องต้องเกี่ยวข้องกับแมลงทั้งหมด และหนังเรื่อง The Night Before Christmas (1913) [ที่เป็นแรงบันดาลใจของ Tim Burton] Starevich ได้ทำมีการถ่าย 1 ช็อตที่นักแสดงจริงๆ อยู่ในฉากร่วมกับ Puppet Animation นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการผสม Live-Action เข้ากับ Puppet Animation
Starevich ภายหลังที่ Russia เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เขาอพยพย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส และยังคงทำหนังอนิเมชั่นต่อไป The Tale of the Fox (1937) ถือเป็น Puppet Animation ขนาดยาวที่เขาตั้งใจสร้างขึ้น (เพื่อเป็นขนาดยาวเรื่องแรก) ก่อน The New Gulliver จะเริ่มคิดทำด้วยซ้ำ แต่ได้ออกฉายทีหลัง กระนั้น The Tale of the Fox ถือว่าเป็นอนิเมะเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศฝรั่งเศส (ที่ผมจะเขียนรีวิวเรื่องถัดไป)
ในช่วงทศวรรษ 20s นัก Animator ของรัสเซียได้ทำการทดลองต่างๆนานา มีหนัง(ขนาดสั้น) ที่สร้างโดย Puppet จำนวนมาก จนมาถึงยุคของ Aleksandr Ptushko (1900-1973) เขาเป็นสถาปนิก (architect) เคยทำงานเป็นช่างเครื่อง (mechanical engineer) ภายหลังสมัครเข้าทำงานในฝ่าย Puppet Animation ของ Mosfilm Studio ที่เขาเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสำ สำหรับประยุกต์เครื่องยนต์กลไกสู่ความเป็นเลิศทางศิลปะ, เขาได้เพิ่มความท้าทาย ของ Puppet Animation ด้วยต้องการผสมผสานการเคลื่อนไหวของหุ่น เข้ากับภาพการเคลื่อนไหวของมนุษย์จริงๆ (Live-Action) นี่คือจุดเริ่มต้นของ The New Gulliver ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรก ของ Russia และของโลก ที่ใช้เทคนิค Stop-Motion ผสมกับภาพการแสดง (Live-Action)
Gulliver’s Travels การเดินทางของกัลลิเวอร์ เป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดย Jonathan Swift นักเขียนและนักบวชชาวไอริช ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1726 เป็นวรรณกรรมเสียดสีพฤติกรรมมนุษย์ วิจารณ์สังคม การเมืองของประเทศอังกฤษ และล้อเลียนวรรณกรรมแนวผจญภัยที่เป็นที่นิยมในขณะนั้น (Satire) เช่นเรื่อง Robinson Crusoe (1719), ชื่อเต็มของนวนิยายเรื่องนี้ คือ Travels into Several Remote Nations of the World, in Four Parts. By Lemuel Gulliver, First a Surgeon, and then a Captain of Several Ships แบ่งเรื่องราวออกเป็น 4 ภาค กล่าวถึงการผจญภัยของ Lemuel Gulliver นายแพทย์ผู้ชื่นชอบการเดินทางทางเรือ เดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังดินแดนต่างๆ ซึ่งภาคแรก Gulliver เรืออัปปางและไปอยู่ในดินแดนของคนแคระ
สำหรับเรื่องราวของหนัง ดัดแปลงโดย Aleksandr Ptushko, Grigori Roshal และ Sigizmund Krzhizhanovsky (ไม่ได้รับเครดิต) ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดเริ่มต้นเล็กน้อย คือเริ่มด้วยฉาก Live-Action เด็กชายหนุ่มน้อยคนหนึ่ง ผู้ชื่นชอบนวนิยาย Gulliver’s Travels ขณะที่ฝันกลางวัน จินตนาการเห็นตัวเองกลายเป็นนักผจญภัย Gulliver เรืออัปปางเพราะต่อสู้กับโจรสลัดและได้ไปเกยตื้น ณ เกาะประเทศ Lilliput ที่เต็มไปด้วยคนแคระ (เคลื่อนไหวด้วย Puppet Animation)
กับคนที่เคยรู้จักวรรณกรรม Gulliver’s Travels ไม่ว่าจากการอ่านนวนิยาย หรือดูหนัง (มีการสร้างหลายครั้ง และหลายเวอร์ชั่นมากๆ) คงสามารถรู้ได้ว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นเช่นไร ผมจะไม่ขอสปอยเนื้อเรื่องนะครับ แต่มีจุดหนึ่งที่อยากชี้ให้เห็นว่า การเลือกดัดแปลงวรรณกรรมเรื่องนี้ มีเหตุผลอะไรรองรับบ้าง
การเดินทางของ Gulliver สามารถเปรียบได้กับการบุกเบิก (pioneer) ค้นพบอะไรใหม่ๆ เหมือนกับอนิเมชั่นเรื่องนี้ ที่ถือเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวประเภท Puppet Animation เรื่องแรก จัดได้ว่าเป็นการเริ่มต้น บุกเบิกอะไรใหม่ๆเหมือนกัน
ในมุมมองของ Communist อุดมการณ์ว่าด้วยความเท่าเทียมของคนทุกระดับชั้น โดยเฉพาะคนชนชั้นแรงงานที่ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกข่มเหงกดขี่จากผู้มีอำนาจเหนือกว่า ไม่ว่าระดับเมืองหรือประเทศ ถ้ามีความคอรัปชั่นเกิดขึ้น ก็จะสนับสนุนให้คนชั้นแรงงานลุกฮือขึ้นต่อต้าน ต่อสู้ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียม, ตัวละคร Gulliver สามารถเปรียบได้กับแนวคิด อุดมการณ์สูงสุดของโซเวียตสมัยนั้น ที่มีพลังอำนาจ ความยิ่งใหญ่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด เขาให้การสนับสนุนหนุนหลังคนชั้นแรงงาน ให้เอาชนะผู้นำของประเทศที่มีความคอรัปชั่น ‘Free Liliputiya!’
จากย่อหน้าที่แล้ว แสดงให้เห็นว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Russia ในยุคของสหภาพโซเวียต มักจะออกไปในแนวแฝงแนวคิดอะไรบางอย่าง เพื่อปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติให้กับคนรุ่นใหม่ (มองเป็น Propaganda ประเภทหนึ่งก็ได้) แต่หลังจากสิ้นสุดยุคของสหภาพโซเวียต วงการอนิเมชั่นของ Russia ถือว่าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เห็นว่ามีสตูดิโอใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย (ในยุค 90s) จนแทบจะกลายเป็นคู่แข่งของญี่ปุ่นและอเมริกาเลย (น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่ค่อยนำเข้าอนิเมชั่นของ Russia มาฉายเท่าไหร่) ทัศนคติของคน Russia ต่อหนังอนิเมชั่นสมัยปัจจุบัน กลายเป็นเสมือนความฝัน เทพนิยาย (Fairy tale) ที่สร้างจากนิทาน พื้นบ้าน folklore ฯ ซึ่งอนิเมชั่นที่ทำเงินสูงสุดในประเทศปัจจุบัน (2016) คือ Three Heroes on Distant Shores (2012) ทำรายได้ $31.5 ล้านเหรียญ
การสร้างคนแคระในหนัง เห็นว่ามีจำนวนหุ่นที่ใช้กว่า 3,000 ตัว ซึ่งทุกตัวจะต้องถอดเปลี่ยนหัวได้ เพื่อที่จะให้แสดงอารมณ์ความรู้สึกและขยับปากพูดได้, หุ่นที่เป็นตัวละครหลักมี 6 ตัว (Abbott, Dandy, Financier, King, Chief of Police และ Prime Minister) แต่ละตัวจะมีหัวประมาณ 2-300 ชิ้นที่ใช้สลับสับเปลี่ยน, สำหรับนักแสดง ก็มีการสร้างหุ่นขนาดเท่าตัวจริง ใช้กับฉากที่เด็กชายไม่ต้องเคลื่อนไหวมาก ให้นักแสดงตัวจริงปรากฎอยู่ในฉากที่ต้องใช้ Stop-Motion น้อยที่สุด, สำหรับเสียงพากย์ คนแคระจะให้ผู้ใหญ่พูดช้าๆ แล้วทำงานเร่งความเร็วเสียง (น้ำเสียงจะแหลมๆ และเหมือนจะพูดเร็วๆ)
ตอนที่หนังเรื่องนี้ฉาย ได้เสียงตอบรับที่ดีมากๆ ทำเงินเยอะด้วย ทำให้ Ptushko ได้สิทธิ์จาก Mosfilm ตั้งแผนกของตัวเองขึ้นมาเพื่อรอบรับการสร้าง Stop-Motion Animation โดยเฉพาะเป็นที่รู้จักในชื่อ The Ptushko Collective หรือ Soyuzdetmultfilm Studio รับผลิต Stop-Motion ทุกประเภท อนิเมชั่นที่ดังที่สุดของสตูดิโอคือ The Golden Key (1939)
ปัญหาของอนิเมะเรื่องนี้ที่ทำให้ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ คือส่วนของ Live Action ที่ทำออกมาได้ไม่น่าสนใจเลย (ทั้งๆที่กินเวลา 1 ใน 3 ของหนัง) นี่เหมือนกับตอนผมดู King Kong (1933) เลยนะครับ คือครึ่งแรกที่เป็นเรื่องราวฝั่งมนุษย์ มันหาความสนุกไม่ได้เท่าไหร่ แต่พอถึงช่วงปล่อยของ กับหนังเรื่องนี้คือขณะ Gulliver ติดเกาะ เมื่อได้เห็นคนแคระตัวเล็กเคลื่อนไหวได้ บอกเลยว่า รู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก ถึงภาพมันจะไม่สวยเท่าไหร่ (เพราะคุณภาพค่อนข้างเก่าๆ) แต่การเคลื่อนไหวดูมีชีวิตชีวา จับต้องได้เหมือนที่เราเห็นจากอนิเมชั่น Stop-Motion สมัยใหม่ ไม่ต่างกันเลย เพียงแต่ถ้าคิดว่า นี่เป็นอนิเมชั่นเรื่องแรกๆ ก็จะอึ้งทึ่ง! สร้างขึ้นมาได้ยังไง
ถ้าคุณเป็นคนชอบ Puppet Animation, วรรณกรรม Gulliver’s Travels และอยากเห็นหนังแนวนี้ที่สร้างขึ้นเป็นเรื่องแรกของโลก ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรต PG ฉากต่อสู้แฝงความรุนแรง
[…] The New Gulliver (1935) : Aleksandr Ptushko ♥♥♡ […]