The Night of Counting the Years

The Night of Counting the Years (1969) egyptian : Shadi Abdel Salam ♥♥♥♥

ในยุคสมัย Khedivate of Egypt (1867-1914) ระหว่างเป็นเมืองขึ้นของ Ottoman Empire ชนเผ่าแห่งหนึ่งทำการขุดสุสาน The Mummy นำเอาสิ่งของมีค่าไปขายแลกเงิน … การหากินกับคนตาย มันช่างเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่ต่างจากพวกขายชาติ!

ได้รับการโหวตจากเทศกาล Cairo International Film Festival (CIFF) ติดอันดับ #3 ชาร์ท Top 100 Egyptian Films (1996) แต่สิ่งที่ทำให้ผมโคตรๆสนใจ The Night of Counting the Years (1969) คือผ่านการบูรณะโดย World Cinema Project ของผกก. Martin Scorsese และยังให้คำนิยมไว้อย่างน่าหลงใหล

[It] has an extremely unusual tone – stately, poetic, with a powerful grasp of time and the sadness it carries. The carefully measured pace, the almost ceremonial movement of the camera, the desolate settings, the classical Arabic spoken on the soundtrack, the unsettling score by the great Italian composer Mario Nascimbene – they all work in perfect harmony and contribute to the feeling of fateful inevitability.

Martin Scorsese

The Night of Counting the Years (1969) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างความวาบหวิว สั่นสยิวกาย กล้องมักไม่ค่อยขยับเคลื่อนไหว นักแสดงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพลงประกอบราวกับเสียงสวดมนต์ เพื่อให้ผู้ชมซึมซับบรรยากาศโบราณสถานที่มีความเก่าแก่ โบร่ำราณ ประวัติศาสตร์อันยาวนานของ Egypt และเมื่อรับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการหากินกับมัมมี่/คนตาย มันจะยิ่งปั่นป่วนมวนท้องไส้ สะท้านถึงทรวงใน กล้าทำลงไปได้อย่างไร?

ผกก. Shadi Abdel Salam สรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้หลังความพ่ายแพ้ย่อยยับจากสงคราม 1967 Arab-Israeli War หรือ Six-Day War (5-10 มิถุนายน ค.ศ. 1967) ทำให้ประชาชนเริ่มไม่พึงพอใจการบริหารประเทศของปธน. Gamal Abdel Nasser ที่เอาแต่มุ่งไปข้างหน้า นำพาความเจริญ ก้าวเข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่ (Modern Era) โดยไม่สนใจอดีต ให้ค่าประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาว Egyptian

I think that the people of my country are ignorant of our history and I feel that it is my mission to make them know some of it. I regard cinema not as a consumerist art, but as a historical document for the next generations.

Shadi Abdel Salam

شادي عبد السلام, Shadi Abdel Salam (1930-86) ผู้กำกับภาพยนตร์ นักออกแบบศิลป์ สัญชาติ Egyptian เกิดที่ Alexandria, Kingdom of Egypt วัยเด็กชื่นชอบการอ่าน-เขียน-วาดรูป หลังเรียนจบมัธยม Victoria College ออกเดินทางมุ่งสู่ Paris, London, Rome ตั้งใจจะหาสถานที่ร่ำเรียนการละคอน ก่อนหวนกลับมา Cairo เข้าศึกษาสถาปัตยกรรม Cairo University แล้วเดินทางสู่อังกฤษเพื่อเติมเต็มความฝัน เรียนต่อด้านการละคอนอย่างจริงจัง

จบออกมาเริ่มจากทำงานเป็นผู้ช่วยสถาปนิก Hassan Fathy ที่มีความหลงใหลใน Ancient Egypt, ก่อนมีโอกาสรับรู้จักผกก. Salah Abou Seif ที่พักอาศัยอยู่ใกล้ๆกัน ชักชวนมาร่วมงานเป็นผู้ช่วยกำกับ The Tough (1957) มีความสามารถโดดเด่นด้านการวาดเค้าโครง ภาพร่าง ออกแบบงานสร้าง ก่อสร้างฉาก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯ โด่งดังจากอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อย่าง Saladin the Victorious (1963), Pharaoh (1966) ฯ

เมื่อปี ค.ศ. 1967, Abdel Salam ได้มีโอกาสออกแบบฉาก เครื่องแต่งกาย ซีรีย์โทรทัศน์ Fight for Survival (1970-71) ของผกก. Roberto Rossellini ซึ่งบรรดาภาพร่าง งานออกแบบ สร้างความประทับใจอย่างมากๆ จึงได้รับคำแนะนำให้ลองสรรค์สร้างภาพยนตร์ และยังอาสาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ด้วย

ตั้งแต่เมื่อตอนมีส่วนร่วมสรรค์สร้าง Pharaoh (1966) เพราะต้องปักหลักอาศัยอยู่ประเทศ Poland บ่อยครั้งทำให้ผกก. Abdel Salam ครุ่นคิดถึงบ้านเกิด (Home Sick) ใช้เวลาว่างแต่งบทกวีชื่อว่า Buried Again และ Wanys รำพันถึงความตายและการเกิดใหม่ตามความเชื่อเรื่องมัมมี่ของชาว Egyptian

I had longing for Egypt during one very cold winter night [which] drove me to think about the idea. I thought to myself: ‘Where is this aspect of Egypt?’ From then the journey of “The Night of Counting the Years” took off in my mind.

In 1965, its first form appeared: a poem about forty lines long which I wrote in a foreign tongue. It’s not a poem in the real sense of the word but it is a composition closely resembling poetry. After that I started writing the scenario. At first it was a traditional realist film that I called Buried Again, and then Wanys. But I wasn’t in a hurry and was searching for the form that would mesh completely with how I expressed myself.

Shadi Abdel Salam

สำหรับพล็อตเรื่องราวของ المومياء อ่านว่า Al-mummia ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Night of Counting the Years หรือย่อๆ The Mummy นำแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงยังหมู่บ้าน القرنة อ่านว่า Kurna, Qurna ได้รับฉายา ‘village of looters’ ประมาณการว่าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 เมื่อนักสำรวจชาวยุโรปออกเดินทาง ล่องแม่น้ำไนล์ มีความลุ่มหลงใหลโบราณสถานที่ถูกทอดทิ้งขว้าง เสาะแสวงหาสิ่งของมีค่าไว้เก็บสะสม ชาวบ้านจึงเริ่มรวมกลุ่ม ขุดค้นหา กลายเป็นโจรปล้นสุสาน นำเอาวัตถุโบราณมาค้าขายแลกเงิน

The foreigners wanted as many antiquities as they could find, and so people started to live in the mountain to work for them. That’s how it was.

ผู้จัดการโรงแรม Ahmed Abdul Rasool ที่เคยมีบรรพบุรุษเป็นโจรปล้นสุสาน

เกร็ด: ทางการ Egypt ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 40s ทำการกวาดล้าง ขับไล่ ผลักไสชาวบ้าน Kurna เพื่อกอบกู้โบราณสถาน วัตถุโบราณที่ถูกซุกซ่อน ลักขโมย แล้วทำการก่อสร้างเมืองใหม่ ออกแบบโดยสถาปนิก Hassan Fathy ไม่แน่ใจว่าตอนนั้น Abdel Salam เข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงไหน … และล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2006 ทางการ Egypt ตัดสินใจใช้รถไถทำลายหมู่บ้านแห่งนี้ให้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง เพื่อปรับปรุงพื้นที่ ทำการก่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ (แต่ยังคงโบราณสถานที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้เป็นแห่งท่องเที่ยว)

LINK: https://www.smithsonianmag.com/history/greatest-clash-egyptian-archaeology-fading-anger-lives-on-180967452/

ในตอนแรก Abdel Salam นำเอาบทหนัง ภาพการออกแบบ และ Storyboard มาพูดคุยผกก. Rossellini ต้องการยื่นข้อเสนอให้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เพราะการมาถึงของ Six-Day War (1967) บีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องออกจาก Egypt เลยได้รับคำแนะนำ ทำไมไม่กำกับเองเสียเลยละ?

ซึ่งก่อนเดินทางกลับ Rossellini ยังได้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม Tharwat Okasha ช่วยต่อรองของบประมาณส่วนหนึ่งจาก General Egyptian Cinema Organisation, GOC (ปัจจุบันคือ Egyptian General Organization for Cinema and Television) และทุนอีกก้อนสำหรับหลังโปรดักชั่นเป็นของ Merchant Ivory Productions


พื้นหลัง ค.ศ. 1881 ในยุคสมัย Khedivate of Egypt (1867-1914) ระหว่างเป็นเมืองขึ้น/รัฐบรรณาการของ Ottoman Empire, เรื่องราวของสองพี่น้อง หลังเสร็จงานศพบิดา ได้รับการเปิดเผยจากผู้นำชนเผ่า Horabat ถึงความลับของหมู่บ้าน อาศัยอยู่ได้ด้วยขุมทรัพย์ฟาโรห์ สุสานมัมมี่ที่ขุดค้นพบ ซุกซ่อนอยู่ในภูเขาละแวกนั้น

ทั้งสองพี่น้องเมื่อล่วงรู้ความลับของชนเผ่า ต่างบังเกิดอคติ ต่อต้าน รับไม่ได้อย่างรุนแรง พี่ชายแสดงเจตจำนงค์ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวข้องแว้ง แต่ระหว่างเดินทางออกจากหมู่บ้าน ถูกลอบสังหาร ฆ่าปิดปาก, ส่วนน้องชาย Wannis ไม่รู้จะทำอะไรยังไง เลยใช้ชีวิตอย่างเตร็ดเตร่ เร่ร่อน ดำเนินไปอย่างไร้จุดมุ่งหมาย

นักโบราณคดีชาว Egyptian จากกรุง Cairo ต่างมีความฉงนสงสัยในบริเวณละแวกนี้ เพราะยังสำรวจไม่พบเจอสุสานฟาโรห์เสียที คาดการณ์ว่าต้องซุกซ่อนอยู่สักแห่งหนไหน ทีมนักสำรวจและทหารฝรั่งเศสจึงออกเดินทางโดยเรือจักรไอน้ำ มาเยี่ยมเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครคาดคิดถึง และได้พบเจอกับ Wannis


นอกจาก Nadia Lutfi (รับบทโสเภณี Zeena) นักแสดงส่วนใหญ่ล้วนเป็นมือสมัครเล่น ตัวประกอบก็คือชาวบ้าน Kurna ไม่เคยพานผ่านประสบการณ์ภาพยนตร์ ซึ่งหนังก็ไม่ได้ขายการแสดง บทพูดถือว่าน้อย เน้นท่าทางขยับเคลื่อนไหว การสื่อสารภาษากาย นักแสดงไม่ต่างจากหุ่นเชิดชักสักเท่าไหร่

ถ่ายภาพโดย عبد العزيز فهمي, Abdel-Aziz Fahmy (1920-88) สัญชาติ Egyptian หลังเรียนจบทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพนิ่ง Hassan Murad ให้กับหนังสือพิมพ์ Misr Al-Talaquq, เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1948 ผลงานเด่นๆ อาทิ The Impossible (1965), The Night of Counting the Years (1969), Return of the Prodigal Son (1978) ฯ

หนังเลือกใช้อัตราส่วน Academy Ratio (1.37:1) คาดว่าน่าจะรับอิทธิพลมาจากผกก. Roberto Rossellini เพราะผลงานยุคหลังๆที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ หรือสารคดี มักนิยมเลือกใช้อัตราส่วนนี้ (เหตุผลจริงๆเพราะส่วนใหญ่เข้าฉายทางโทรทัศน์ เลยจำเป็นต้องเลือกใช้อัตราส่วนดังกล่าว) ผมลองสอบถามเหตุผลกับ AI Bard ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ

The academy ratio was the standard aspect ratio for filmmaking from the silent era until the late 1950s. Using this format can evoke a sense of authenticity and immerse viewers in the period the film depicts.

อัตราส่วนดังกล่าวทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนถูกห้อมล้อม ด้วยกฎกรอบ ขนบวิถี ประเพณีวัฒนธรรม และยังสื่อถึงสังคมแบบปิด (ชาวบ้านไม่ต้องการเปิดเผยความลับชนเผ่า) รายละเอียดต่างๆจะถูกจัดวาง กำหนดทิศทาง ระยะกลาง-ไกล ขยับเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าเนิบ (ทั้งนักแสดงและการเลื่อนกล้อง) เห็นว่าในแต่ละวันจะถ่ายทำเฉพาะช่วงเช้าหรือเย็น คาบเกี่ยวระกว่างกลางวัน-กลางคืน (4-6 AM และ/หรือ 4-6 PM) แสงอาทิตย์ไม่สว่างจร้าจนเกินไป เพื่อให้โทนสีมีความหมองหม่น บรรยากาศทะมึน อึมครึม ยามค่ำคืนช่างมืดมิด เสียงลมโหยหวนสร้างสัมผัสหนาวเหน็บ สั่นสยิวร่างกาย-จิตวิญญาณ

ด้วยความที่ผกก. Abdel Salam มาจากสายออกแบบ (Art Direction) เคยฝึกงานสถาปนิกกับ Hassan Fathy (ผู้ออกแบบเมืองใหม่ Kurna) ทิศทางมุมกล้องจึงถูกออกแบบให้สามารถเก็บรายละเอียดพื้นหลัง บันทึกภาพวัตถุ/โบราณสถาน และขยับเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เพื่อให้ผู้ชมสามารถซึมซับความงดงามสถาปัตยกรรม Ancient Egypt … มีนักวิจารณ์ให้คำนิยามศิลปะอนุเสาวรีย์ (Monumentalism)

เกร็ด: วิหารหลังนี้คือ Temple of Seti I อนุสรณ์สถานของ Pharaoh Seti I (ครองราชย์ 1294/90-1279 BC) ปัจจุบันเห็นว่ายังเก็บรักษาไว้ในสภาพดี ไม่ได้ถูกทุบทำลาย เพราะใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จุดเช็คอินของเมือง Kurna

ตัดต่อโดย Kamal Abou-El-Ella ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blazing Sun (1954), Cairo Station (1958), The Night of Counting the Years (1969) ฯ

หนังเริ่มต้นด้วยการประชุมของนักโบราณคดี มอบหมายภารกิจติดตามหาสุสาน/มัมมี่ ณ หมู่บ้าน Kurna จากนั้นการดำเนินเรื่องจะสลับเปลี่ยนมาใช้มุมมองของพี่-น้อง Wanis หลังสูญเสียบิดา ได้รับการเปิดเผยความลับชนเผ่า จากนั้นต้องครุ่นคิดตัดสินใจ ว่าจะทำอะไรยังไงต่อไป?

  • อารัมบท, การประชุมของนักโบราณคดี
  • ความลับของชนเผ่า Horabat
    • สมาชิกชนเผ่า Horabat เข้าร่วมงานศพของอดีตผู้นำ
    • สองพี่-น้อง Wanis ได้รับการเปิดเผยความลับชนเผ่า
    • หลังจากพบเห็นความลับชนเผ่า พี่ชายแสดงความไม่พึงพอใจ ต้องการจะไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ แต่ระหว่างล่องเรือออกเดินทาง ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
  • การมาถึงของพวกนักสำรวจ โบราณคดี
    • ระหว่างที่ Wanis ยังเตร็ดเตร่ ร่อนเร่ ไม่รู้จะตัดสินใจอะไรยังไง
    • เรือจักรไอน้ำ ของนักสำรวจ โบราณคดี มาถึงอย่างไม่มีใครคาดคิดถึง
    • Wanis ยังคงใช้ชีวิตดำเนินไปอย่างเรื่อยเปื่อย จนกระทั่งพบเจอกลุ่มพ่อค้าที่ก็เป็นโจรปล้นสุสาน แต่นำสิ่งของมีค่าเหล่านั้นมาบำเรอความสุขสบาย กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตน
    • Wanis พยายามขับไล่พ่อค้ารับซื้อวัตถุโบราณ แต่ก็ไม่เป็นผลอะไร
  • การตัดสินใจของ Wanis
    • หลังจากเตร็ดเตร่อยู่อีกสักพักใหญ่ Wanis จึงตัดสินใจบอกกล่าวความจริงแก่นักโบราณคดี
    • ค่ำคืนนั้นเดินทางไปยังสุสานลับ ขนย้ายมัมมี่ วัตถุโบราณ
    • ชาวบ้าน Kurna ทำได้แค่ชำเลืองมองด้วยความเกรี้ยวกราด

เพลงประกอบโดย Mario Nascimbene (1913-2002) สัญชาติอิตาเลี่ยน เกิดที่ Milan ร่ำเรียนการแต่งเพลงและกำกับออร์เคสตราจาก Milan Conservatory จบออกมาประพันธ์เพลง Ballet, Chamber Music, ก่อนผันตัวมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ตั้งแต่ Love Song (1941), เลื่องชื่อในการเป็นบุคคลแรกๆที่นำเอาเครื่องดนตรีที่ไม่ใช่ออร์เคสตรา (non-Orchestral Instrument) อาทิ Jaw Harp, Harmonica, เสียงนาฬิกา, กระดิ่งจักรยาน, เครื่องพิมพ์ดี ฯ มาผสมผสานเข้ากับบทเพลง ผลงานเด่นๆ อาทิ Rome 11:00 (1952), Too Young for Love (1953), The Barefoot Contessa (1954), That Night! (1957), The Vikings (1958), Room at the Top (1959), The Night of Counting the Years (1969) ฯ

แม้หนังจะให้ความสำคัญกับเสียงประกอบ (Sound Effect) โดยเฉพาะสายลมพัดโหยหวน สร้างความวาวหวิว สั่นสยิวกาย สัมผัสอันตราย ใกล้ชิดความตาย แต่งานเพลงก็พยายามแทรกซึมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ผสมผสานกลมกลืน เกือบจะเป็น ‘Ambient Music’ เพียงบางขณะที่จะโดดเด่นชัดเจนขึ้นมา เพื่อให้ผู้ชมบังเกิดปฏิกิริยาอารมณ์ร่วมต่อเหตุการณ์ขณะนั้นๆ

งานเพลงของ Nascimbene ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นดนตรีพื้นบ้าน Egyptian หรือ Persian ยกตัวอย่าง Opening Credit ทำการผสมผสานเข้ากับเครื่องดนตรีตะวันตก ขอแค่เพียงสามารถกำหนด Mood & Tone บรรเลงออร์เคสตราเสียงเบส ทุ้มต่ำ สร้างบรรยากาศทะมึน อึมครึม ปกคลุมด้วยความมืดหมองหม่น

I think that the people of my country are ignorant of our history and I feel that it is my mission to make them know some of it. I regard cinema not as a consumerist art, but as a historical document for the next generations.

Shadi Abdel Salam

นิยามภาพยนตร์ในมุมมองผกก. Abdel Salam คือสื่อสำหรับบันทึกประวัติศาสตร์ เอกสารภาพเคลื่อนไหว สำหรับเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นถัดไปได้มีโอกาสศึกษา เรียนรู้ ชื่นเชยชมสิ่งที่กำลังเลือนหายตามกาลเวลา

Egypt ประเทศที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ ยาวนาน เคยมีอารยธรรมยิ่งใหญ่ ทั้งมหาพีระมิด (ยุคโบราณ) รวมถึงสุสานฟาโรห์ (ยุคกลาง) ล้วนได้รับยกย่องหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่อาจเพราะสิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นทั่วๆไป เลยเป็นเหตุให้ชาว Egyptian ไม่ได้ใคร่สนใจทำนุบำรุง รักษาสมบัติสาธารณะ ปล่อยปละละเลยจนชำรุดทรุดโทรม เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน มันจึงกลายเป็นสิ่งไร้มูลค่า ไม่มีความสำคัญใดๆต่อการดำรงชีวิต

การมาถึงของพวกนักสำรวจ จักรวรรดินิยม เมื่อพบเห็นสิ่งแปลกใหม่ มันช่างน่าตื่นตา มหัศจรรย์ใจ เลยอยากได้บางสิ่งอย่างเป็นของที่ระลึกกลับไป ซึ่งเมื่อมีอุปสงค์ย่อมตามด้วยอุปทาน โจรปล้นสุสานจึงบังเกิดขึ้น เพราะอย่างที่บอกไป วัตถุโบราณเหล่านี้ไม่ได้มีความสลักสำคัญ มูลค่าใดๆต่อชีวิตประจำวัน แม้อาจขัดต่อหลักคำสอนศาสนา ความเชื่อศรัทธาเกี่ยวกับคนตาย แต่ถ้ามันสามารถทำให้ท้องอิ่ม ชีวิตสุขสบาย มนุษย์ก็ยินยอมพร้อมทำทุกสิ่งอย่าง โดยไม่สนถูกผิดดีชั่วประการใด

(จะว่าไปวัด/เจดีย์ ที่มีเกลื่อนกลาดทั่วเมืองไทย พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงเมื่อไหร่ คงมีสภาพไม่ต่างจากพีระมิด ขโมยกะโจรขุดทำลาย ลักขโมยสิ่งข้าวของมีค่าภายใน)

เอาจริงๆไม่ใช่แค่ชาว Egyptian ที่ไม่เห็นคุณค่าประวัติศาสตร์ วัตถุ/โบราณสถาน แทบทุกประเทศในโลกล้วนเคยพานผ่านช่วงเวลาคล้ายๆเดียวกัน โด่งดังสุดคงคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (Cultural Revolution, 1966-76) มุ่งทำลายสิ่งเก่าทั้งสี่ ขนบธรรมเนียมเก่า, วัฒนธรรมเก่า, อุปนิสัยเก่า และความคิดเก่า ทุบทำลายสิ่งเก่าแก่จนแทบไม่หลงเหลือชิ้นดี

โชคยังดีที่กาลเวลาทำให้มนุษย์เรียนรู้จักข้อผิดพลาด ตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ ก่อกำเนิดองค์กรเกี่ยวกับการอนุรักษ์ บูรณะ ทำนุบำรุงรักษาโบราณสถาน ค่อยๆแปรสภาพจากสิ่งไร้ค่า กลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มรดกทางวัฒนธรรม สร้างมูลค่ากลับคืนมามากมายมหาศาล

ช่วงทศวรรษที่ผกก. Abdel Salam สรรค์สร้าง The Night of Counting the Years (1969) แม้พวกโจรปล้นสุสานถูกไล่ล่า กวาดล้างแทบหมดสิ้น แต่ก็ใช่ว่าชาว Egyptian จะตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ วัตถุ/โบราณสถาน ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก หลายทศวรรษ กว่าแนวคิดการอนุรักษ์จะค่อยๆซึมซับสู่จิตวิญญาณคนรุ่นใหม่ บังเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่น

แม้ว่าเรื่องราวของหนังจะเกี่ยวกับโจรปล้นสุสาน/มัมมี่ เพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ แต่เราสามารถมองสะท้อนถึงวงการภาพยนตร์ กำลังอยู่ในช่วงยุคทองแห่งการบูรณะ “Golden Age of Film Restoration” และผมคิดเห็นว่า The Night of Counting the Years (1969) สามารถเป็นตัวแทนการทูต (Ambassador of Film Restoration) รับชมแล้วตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของหนังเก่าๆ ที่กำลังเฝ้ารอคอยการค้นพบโลกใบใหม่


เมื่อเข้าฉายใน Egypt ได้เสียงตอบรับดีล้นหลาม จึงมีโอกาสเดินทางไปฉายตามเทศกาลหนังทั่วโลก และเป็นตัวแทนประเทศส่งลุ้นรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film น่าเสียดายไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ (จนถึงปัจจุบัน ค.ศ. 2024 ก็ยังคงไม่มีภาพยนตร์จาก Egypt เข้าชิง Oscar สักครั้ง)

ผกก. Martin Scorsese มีโอกาสรับชม The Night of Counting the Years (1969) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 70s แม้ด้วยฟีล์ม 16mm แต่ก็บังเกิดความประทับใจ ตื่นตระการตา ประสบการณ์ไม่รู้ลืมเลือน หลังจากก่อตั้ง World Cinema Foundation เมื่อปี ค.ศ. 2007 ก็พยายามขวนขวายออกติดตามหาฟีล์มหนังเรื่องนี้ จนสามารถบูรณะเสร็จสิ้น ออกฉายเทศกาล 2009 Cannes Classics

[The Night of Counting the Years]’s commonly and rightfully acknowledged as one of the greatest Egyptian films ever made … A rich theme, and an astonishing piece of cinema. The picture was extremely difficult to see from the 70s onward. I managed screen a 16mm print, which, like all the prints I’ve seen since, had gone magenta. Yet I still found it an entrancing and oddly moving experience, as did many others. I remember that Michael Powell was a great admirer.

Martin Scorsese

แต่จนถึงปัจจุบัน กลับยังไม่ค่ายไหนซื้อไปจัดจำหน่าย Blu-Ray ฉบับที่ผมหารับชมได้นั้นเป็นไฟล์ WEBRip จากเว็บ archive.org ก็ไม่รู้ใครเอามาปล่อย น่าจะยังไม่ใช่สื่อสาธารณะ (Public Domain) รีบหาดูเสียก่อน Criterion ได้กำหนดจัดจำหน่าย

มันไม่ใช่ว่าผกก. Abdel Salam ไม่ได้อยากสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องถัดไป จริงๆมีโปรเจควางแผนไว้เกี่ยวกับ Pharaoh Akhenaten ตั้งชื่อว่า The Tragedy of the Great House แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ จึงพยายามเก็บหอมรอมริด ตระเตรียมงานสร้างนานกว่าสิบปี น่าเสียดายพี่แกพลันด่วนเสียชีวิตจากไปเมื่อปี ค.ศ. 1986 เลยมีเพียงหนังสั้น/สารคดีจำนวน 6 เรื่อง และหนึ่งในนั้น The Eloquent Peasant (1970) ความยาว 21 นาที ผ่านการบูรณะโดย World Cinema Foundation

ส่วนตัวมีความชื่นชอบ หลงใหล ราวกับต้องมนต์ บางสิ่งอย่างสร้างแรงดึงดูด แทบมิอาจละสายตา บังเกิดความวาบหวิว สยิวกาย สั่นสะท้านทรวงใน หากินกับมัมมี่/คนตาย มันช่างเป็นเรื่องน่าอับอาย นี่ถ้าผมเป็นชาว Egyptian ย่อมต้องรู้สึกเจ็บปวด เกรี้ยวกราด ตระหนักถึงความสำคัญประวัติศาสตร์อย่างแน่แท้!

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศตึงเครียด ความคอรัปชั่นของมนุษย์

คำโปรย | The Night of Counting the Years ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Shadi Abdel Salam ที่จักช่วยปลูกฝังจิตวิญญาณนักอนุรักษ์
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | สั่นสยิวกาย

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: