The Night of the Hunter

The Night of the Hunter (1955) hollywood : Charles Laughton 

Charles Laughton ทั้งชีวิตกำกับหนังแค่เรื่องเดียว ตอนฉายล้มเหลวทั้งคำวิจารณ์และรายได้ แต่ 40 ปีให้หลัง ได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece, The Night of the Hunter คือนิทานก่อนนอนชั้นเลิศ สอนเด็กๆได้สาระ สอนผู้ใหญ่ได้ปัญญา สะท้อนเรื่องราวทางสังคมได้ทุกระดับ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ผมเคยดู The Night of the Hunter มาครั้งหนึ่งเมื่อนานมากแล้ว เพราะหนังติดอันดับในชาร์ทของ AFI: Greatest American Films Of All Time โดยรวมค่อนข้างสนุกมีสาระ แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่า หนังเรื่องนี้ยิ่งใหญ่อย่างไร, จนกระทั่งได้เริ่มทำบล็อคนี้ รู้จักนักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert ที่ยกย่องหนังเรื่องนี้ว่าเป็น Greatest of All American Films และเป็นหนังเรื่องโปรดของเขาด้วย แสดงว่าต้องมีอะไรดีที่ผมยังมองไม่เห็นแน่

รับชมครั้งนี้ก็สัมผัสได้ ไม่ผิดเลย The Night of the Hunter คือหนึ่งในหนังที่ยอดเยี่ยมเหนือกาลเวลา แต่อาจไม่ใช่ยิ่งใหญ่ที่สุด กระนั้นผมก็พอเข้าใจเหตุผลที่ทำไม Ebert ยกหนังเรื่องนี้เป็นความมหัศจรรย์อันดับ 1 ในใจของเขา

ดัดแปลงมาจากนิยายระทึกขวัญ (Thriller) ชื่อ The Night of the Hunter โดยนักเขียนชาวอเมริกัน Davis Grubb ตีพิมพ์เมื่อปี 1953 ขายดีมากจนติดอันดับ Bestseller, เป็นนิยายขนาดยาวเรื่องแรกของผู้เขียน ได้รับอิทธิพลมาจากช่วงเวลาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ที่แม่ของเขาต้องทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยยากลำบาก เพื่อหาเงินมาจุนเจือเลี้ยงดูลูกๆและครอบครัว, Grubb ได้แรงบันดาลใจเรื่องราวมาจากเหตุการณ์จริงของ Harry Powers ชายที่ถูกประหารชีวิตแขวนคอในปี 1932 จากการฆาตกรรมหญิงหม้าย 2 คน และลูกๆอีก 3 คน เหตุเกิดที่ Quiet Dell, West Virginia

Charles Laughton หนึ่งในนักแสดงสัญชาติอังกฤษชื่อดัง มีผลงานการแสดงอย่าง The Private Life of Henry VIII (1933) [ได้รางวัล Oscar: Best Actor], Mutiny on the Bounty (1935) [Oscar: Best Picture], The Hunchback of Notre Dame (1939), Witness for the Prosecution (1957) ฯ

นักแสดง Daniel Day-Lewis ยกให้ Charles Laughton คือไอดอล แรงบันดาลใจ และเคยพูดยกย่องว่า

“He was probably the greatest film actor who came from that period of time. He had something quite remarkable. His generosity as an actor, he fed himself into that work. As an actor, you cannot take your eyes off him.”

Daniel Day-Lewis

แต่มีครั้งหนึ่ง ครั้งเดียวในชีวิตที่ Charles Laughton เป็นผู้กำกับภาพยนตร์, หลังจากโปรดิวเซอร์ Paul Gregory ได้อ่านนิยายเรื่อง The Night of the Hunter จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ แล้วไปพูดคุยชักชวน Laughton ให้มาร่วมสร้างหนัง, ในใจของ Laughton หลังจากอ่านนิยาย ไม่ชอบมากถึงขั้นเกลียด แต่ก็ถูกโน้มน้าวจนความรู้สึกแปรสภาพ จากความเกลียดกลายเป็นแรงบันดาลใจ ร่วมกับนักเขียนบท James Agee ดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยนำอิทธิพลของ German Expressionist จากยุค 1920s พัฒนาขึ้นเป็นพื้นหลังของเรื่องราว และสุดท้ายก็ตัดสินใจกำกับหนังด้วยตนเอง

เรื่องราวของฆาตกรที่แอบอ้างเป็นบาทหลวง Harry Powell ได้ถูกจับในข้อหาขโมยรถ (ตำรวจยังไม่รู้เรื่องฆาตกรรม) บังเอิญอยู่ในห้องขังเดียวกับชายผู้ขโมยเงิน $10,000 เหรียญ ซึ่งกำลังจะถูกประหารชีวิตแขวนคอ, หลังออกจากคุก Powell ได้เข้าไปตีสนิท คลุกคลีกับหญิงหม้าย (ภรรยาของชายคนที่ขโมยเงิน) ถึงขั้นแต่งงานกัน เพื่อหาทางล่อลวงเอาเงินที่เก็บซ่อนไว้ แต่หารู้ไม่เป็นเด็กชายหญิงพี่น้อง ที่เป็นผู้เก็บซ่อนเงินของพ่อไว้

นำแสดงโดย Robert Mitchum รับบท Reverend Harry Powell, พ่อพระคนนี้ เชื่อว่าผู้ชมส่วนใหญ่ สามารถคาดเดาได้ว่าคือหมาป่าจอมเจ้าเล่ห์ ที่ตะล่อมค่อม วางกัปดักอย่างใจเย็น แล้วรอวันตะครุบเหยื่อ ด้วยลักษณะภายนอกเป็นเหมือนผู้ดีมีชนชั้น น่านับถือหลงใหล แต่นั่นเป็นแค่ภาพลักษณ์ภายนอก มีลูกหมู ลูกแมวน้อย มากมายที่หลงตกเป็นเหยื่อ บางคนตระหนักรู้ตัวได้ บางคนไร้เดียงสาเกินไป บางคนรู้ทั้งรู้แต่ก็ยังยอม

ตัวละครนี้ตรงข้อนิ้วซ้าย/ขวา จะมีรอยสักเป็นตัวอักษรอยู่ 2 คำคือ H-A-T-E และ L-O-V-E มีเรื่องเล่าคือ

“Would you like me to tell you the little story of right hand, left hand? H-A-T-E. It was with this left hand that old brother Cain struck the blow that laid his brother low. L-O-V-E. You see these fingers, dear hearts? These fingers has veins that run straight to the soul of man – the right hand, friends, the hand of love.”

นี่แสดงถึงคนที่มี 2 สิ่งอยู่ในตัวเอง รัก-เกลียด, ดี-ชั่ว, ข้างนอกสุกใส-ข้างในเป็นโพรง, ปากอย่าง-ใจอย่าง, มือถือสาก-ปากถือศีล ฯ เช่นกันกับไม้กางเขน ที่แอบซ่อนมีดเล่มเล็กไว้ คนประเภทนี้ กระล่อน ปลิ้นปล้อน ยากที่คนทั่วไปจะรู้ความต้องการแท้จริงของคนประเภทนี้, แต่เพราะนี่เป็นหนัง ที่จงใจให้ผู้ชมสังเกตออกได้ง่าย เราจึงสามารถแยกออกได้ว่า ชายคนนี้มันเลวทรามต่ำช้า แปลกที่แทบไม่มีใครในหนังมองออกเลยทั้งๆที่เห็นเด่นชัดขนาดนี้

ในชีวิตจริง การมองหาคนประเภทนี้ให้ออกยากมากๆนะครับ เพราะคนสมัยนี้เก็บความรู้สึก สีหน้า ความคิดเก่ง ต้องตอนเมา อกหัก ทำธุรกิจเจ้ง หรือสิ้นหวังสุดๆ ถึงจะแสดงธาตุแท้หมาป่าของตนเองออกมา

ก่อนที่บทนี้จะตกเป็นของ Mitchum เห็นว่า Laughton เคยสนใจติดต่อกับ Gary Cooper แต่ถูกบอกปัด (เพราะกลัวชื่อเสียงตัวเองหม่นหมอง) นักแสดงอื่นที่แสดงความสนใจ อาทิ Laurence Oliver, John Carradine ฯ สุดท้ายตกเป็นของ Robert Mitchum นักแสดงฟีล์มนัวร์ชื่อดัง ที่ Roger Ebert ยกย่องว่าเป็น ‘the soul of film noir’ การแสดงของ Mitchum กับหนังเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องว่า เป็นการแสดงยอดเยี่ยมที่สุด (ของเขา) เป็นตัวร้ายที่น่ากลัว หลอนที่สุดแห่งศตวรรษ, ด้วยโครงหน้าแหลม น้ำเสียงหล่อเหลา สาวๆคงตกหลุมหลงใหล นี่ทำให้เขาเหมาะกับบทที่ใช้รูปลักษณ์ คำพูดป้อยอ หลอกล่อให้เหยื่อตายใจหลงเชื่อ แล้วเอาธนูปักเขา มีดแทงข้างหลังโดยไม่รู้ตัว

Shelley Winters รับบท Willa Harper หญิงหม้ายลูกสองที่ได้แต่งงานกับ Powell แล้วถูกฆ่า, เปรียบตัวละครนี้เหมือนลูกแกะน้อย ที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสา ถูกชักจูงพาไปโน่นนี่ได้ง่าย พอตัดขนแกะออกแล้วก็ไม่เหลืออะไร รอวันโดนเชือดอย่างเดียว, ในห้องนอนคืนวันแต่งงานกับหมาป่า เจ้าแกะน้อยพร้อมยอมพลีกาย แต่เจ้าหมาป่าหาได้เหลียวแล กับป้อยอ ปั้นคำหลอกลวง

“This morning we were married … and now you think I’m going to kiss you, hold you, call you my wife!”

เอิ่ม… นี่เป็นคำพูดที่น่าหัวร่อมาก แต่ใครกันจะหัวเราะ มีแต่ เอิ่ม… (อะไรว่ะ!)

ฉากการตายของเธอเป็นการนำเสนอประเภท Expressionist แทนความรู้สึกออกมาได้สวยมาก จมอยู่ในน้ำ ผมปลิวสยาย ลอยไหลขนานไปกับสาหร่าย แสงสว่างส่องมาจากด้านบน ร่างถูกมัดติดอยู่กับรถ ไม่สามารถลอยไปไหนได้ (จมลึกอยู่ในจิตใจของตนเอง, บัวใต้น้ำ)

Lillian Gish รับบท Rachel Cooper หญิงหม้ายผู้ห้าวหาญ เธอเป็นผู้พบเจอเด็กชายหญิงที่เรือลอยคอมาถึงฝั่ง แล้วเจ้ากี้เจ้าแจง จัดการทุกสิ่งอย่าง รับเลี้ยงเด็กชายทั้งสอง (รวมอีก 3 ที่มี กลายเป็น 5 คน), เปรียบตัวละครนี้ได้กับแม่เป็ด/แม่ไก่ มากประสบการณ์ ที่สามารถจำแนกหมาป่าออก และปกป้องลูกๆของตนได้ (ผมชอบตอนเธอเดินนำ แล้วมีลูกเป็ด/ลูกไก่ [เด็กๆทั้ง 5] เดินตามเรียงเป็นแถว)

ถ้าคุณเป็นแฟนหนังเงียบ ต้องรู้จัก Lillian Gish นะครับ เธอคือ First Lady of American Cinema นางเอกคนแรกแห่งวงการภาพยนตร์อเมริกา รับบทนำในหนังเรื่อง The Birth of a Nation (1915) หนัง Blockbuster ทำเงินสูงสุดเรื่องแรกของโลก ของผู้กำกับ D.W. Griffith ไม่น่าเชื่อผ่านมา 40 ปีแล้ว แม้ผิวหนังจะแห้งเหี่ยว แต่ความสวยของเธอยังคงตราตรึง, Gish เสียชีวิตเมื่อปี 1993 รวมอายุ 99 ปี

เด็กชายหญิง ที่เป็นนักผจญภัยในหนังเรื่องนี้
– Billy Chapin รับบท John Harper, ขณะเล่นหนังเรื่องนี้ Chapin อายุ 10-11 ขวบ เคยมีผลงานการแสดงหนังมาแล้วหลายเรื่อง เป็นนักแสดงเด็กที่มีชื่อเสียงพอสมควร (แต่พอโตแล้วก็หายไปจากวงการ เพราะติดเหล้า และพี้ยา) การแสดงของ Chapin ถือว่าเขาเข้าใจตัวละครเป็นอย่างดี ทำตัวได้ถูกต้อง แบบที่ไม่เกินเด็กชาย
– Sally Jane Bruce รับบท Pearl Harper, ขณะเล่าหนังเรื่องนี้เธออายุ 5 ขวบ และไม่รับเล่นหนังเรื่องไหนอีก (โตขึ้นเป็นเกษตรกร รับมรดกที่ดินจากครอบครัว) การแสดงของเธอถือว่า ดื้อด้านแบบไร้เดียงสา ไม่รู้ว่าเธอรู้ตนเองหรือเปล่าตอนแสดง โตขึ้นมาคงเป็นเด็กที่แก่นแก้วเอาแต่ใจเป็นแน่

ถ่ายภาพโดย Stanley Cortez เป็นตากล้องที่ได้รับการพูดถึงว่า ถ่ายหนังได้แปลกประหลาดมาก, เคยร่วมงานกับ Orson Welles ถ่ายหนัง Masterpiece เรื่อง The Magnificent Ambersons (1942) นอกจากนี้หนังที่ดังๆ อาทิ The Three Faces of Eve (1957), Shock Corridor (1963) และ The Naked Kiss (1964), คำนิยามงานภาพของหนังเรื่องนี้ก็ไม่ผิดเพี้ยนตามคำกล่าว ‘แปลกประหลาด!’ เนื่องจากการออกแบบฉาก พื้นหลังเป็นแบบ German Expressionism มีการสร้างฉากในสตูดิโอ ทำให้สามารถควบคุมการออกแบบ กำหนดแสงเงาทิศทาง และการจัดองค์ประกอบของภาพได้ตรงใจผู้กำกับ

German Expressionism ขึ้นชื่อในเรื่อง การใช้แสงเงาสร้างบรรยากาศ, บทพูดที่เก๋ไก๋, งานสร้างที่มีรูปทรงบิดเบี้ยว, ออกแบบฉากที่เกินจริง, และมุมกล้องที่แปลกประหลาด ฯ สองภาพแรกถ่ายในสตูดิโอ ใช้การจัดแสงเงา ให้ภายนอกมืดมิด เห็นเฉพาะอาณาบริเวณที่อยากให้เห็น ส่วนรูปที่สาม คืองานออกแบบบ้านผีสิงในตำนาน

กับช็อตที่ได้รับการยกย่องกล่าวถึงมากที่สุด คือตอน Rachel Cooper ถือปืน เฝ้ายามมอง Harry Powell ที่รอจังหวะฉวยโอกาสอยู่ข้างนอก (ในค่ำคืนของการล่า-The Night of the Hunter) ช็อตนี้มีการจัดวาง ฉายแสงไม่ให้เห็นหน้าของคุณนาย Cooper ภายในบ้าน ขณะที่ภายนอก แสงจันทร์สาดส่องฉายให้เห็นใบหน้าของ Powell, ความหมายของฉากนี้คือ การเฝ้ามองของผู้ล่า ที่จับจ้องแต่ศัตรู

แต่แล้วเด็กหญิงสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมกับเทียนไข ซึ่งทำให้แสงที่สาดส่องเปลี่ยนไป ในตำแหน่งที่ Powell ยืนอยู่พอดี ซึ่งจังหวะนี้ พอคุณนาย Cooper รู้ตัวก็เป่าเทียบดับ และปรากฎว่า Powell ได้หายตัวไปแล้ว

หลายครั้งในงานภาพ มีการใส่สิ่งสัญลักษณ์ อาทิ กบ กระต่าย ใยแมงมุม ฯ บางทีในช็อตเดียวกับเรื่องราวที่ดำเนินไป บางครั้งใช้การตัดต่อสลับไปมา (แบบ Montage) การวิเคราะห์ความหมายก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา อาทิ

ใยแมงมุม = การติดกับ

กบ/อึ่งอาง = ขอบเขต โลกที่ถูกจำกัดไว้ (กบในกะลา)

กระต่าย 2 ตัว = เด็กน้อย 2 คน ผู้ไร้เดียงสา (กระต่ายตัวสั่นเทา)

ผมรู้สึกมันน่ารักดีนะครับ การใส่อะไรพวกนี้เข้ามา ทำให้ เด็กๆ สามารถดูได้ มองเห็นเป็นการเดินทางผจญภัยพบเจอสิ่งต่างๆ เหมือนนิทานสอนเด็ก, แม้หนังจะมีความโฉดชั่วร้ายบางอย่าง แต่ตัวละครนั้นก็ออกแบบมาให้เด็กๆมีความหวาดกลัว ซึ่งได้ผลชะงักเลยละ ดูแล้วเป็นภาพหลอนติดตา กลัวจนตัวสั่น จดจำโดยสันชาติญาณว่าคนประเภทนี้ไม่ควรคบหา

การออกแบบ สร้างฉากที่ไม่ได้อิงจากสถานที่จริง ทำให้หนังเรื่องนี้มีความคลาสสิก ‘เหนือกาลเวลา’ ดูแล้วไม่เก่าเลย เพราะบ้าน/ฉาก/สถานที่ มันดูแปลกตาเป็นของใหม่ ไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน เลยไม่รู้สึกว่าเชย ล้าหลัง ยังดูสดใหม่ เหมือนของใหม่ที่เพิ่งสร้าง

ตัดต่อโดย Robert Golden, ในช่วงแรกที่หลัง Opening Credit จบลง มีการทำ Visual Effect บนท้องฟ้าดวงดาวระยิบระยับ มีหญิงสูงวัย (ที่ภายหลังจะรู้ว่าคือ Miss Cooper) กำลังเล่านิทานสอนเด็ก เกี่ยวกับ หมาป่าในคราบลูกแกะ (The Wolf in sheep’s clothing.) ให้เด็กๆ 5 คนฟัง เป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทานก่อนนอน, จากนั้นตัดภาพมา ถ่ายจากมุมสูง (ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์แน่ๆ กล้องสั่นมาก) เสมือนเป็นมุมมองของพระเจ้า คนบนสวรรค์มองลงมา นี่อาจมองเป็นการเล่าเรื่องของ Miss Cooper ก็ยังได้ เพราะตอนจบเรื่องราวจักไปบรรจบที่เธออีกหลัง หลังจากได้รับเลี้ยงดูเด็กๆทั้ง 5 คน

การเล่าเรื่อง จะไม่มีมุมมองที่แน่นอน แต่เรื่องราวจะดำเนินไปตามเด็กชายหญิง เหมือนการผจญภัย พบผ่านสถานการณ์ต่างๆ เพื่อการเอาตัวรอด และทำทุกวิถีทางไม่ให้ Powell ได้เงินที่พ่อให้เก็บซ่อนเอาไว้, แต่เจ้าเงินนี้ถือว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่เด็กๆยังไม่สามารถรับรู้ได้ มันนำความตายมาสู่พ่อ/แม่ ทำให้พวกเขาต้องหนีหัวซุกหัวซุน แต่เด็กชายจดจำภาพที่พ่อถูกตำรวจจับแล้วไม่มีวันได้กลับมาหาพวกเขาอีก ตะโกนว่า ‘Don’t hurt him!’ ภาพนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งตอนจบ ทั้งๆที่เป็นศัตรูที่เขาเกลียด แต่เพราะนั่นคือภาพจำติดตา วินาทีนั้นเขาเลยรู้ว่า เงินก้อนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่นำความสุขเข้ามาในชีวิตแม้แต่น้อย

เพลงประกอบโดย Walter Schumann ที่ส่วนใหญ่จะทำเพลงประกอบให้ละครโทรทัศน์/ละครเวที, กับเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ มีการเน้นเสียงเครื่องเป่าที่ชัดเจน แทนความรู้สึกที่แสดงออกมา (Expressionistic Orchestral) มีทำนองที่จะได้ยินซ้ำๆ (Recurring) เป็นเสียงฮัมที่สามารถจดจำทำนองได้ง่าย ให้บรรยากาศหลอนสยอง ตื่นเต้น เร้าระทึก

เพลงที่เด็กหญิง ร้องขณะล่องเรือลอยไหลไปตามลำน้ำ ชื่อเพลง Pretty Fly บันทึกเสียงใหม่โดย Betty Benson เนื้อเพลงเกี่ยวกับ แมลงวันสวยๆ แต่ไฉนทำนองมันโหยหวน ล่องลอย ไร้จุดหมายเช่นนี้ (เป็นการเปรียบเทียบเหมือนตัวเองเป็นแมลงวัน บินไปติดกับใยแมงมุม, ถูกกบกิน ฯ)

เพลง Leaning on the Everlasting Arms เป็นเพลงฮัมพื้นบ้าน แต่งทำนองโดย Anthony J. Showalter เนื้อร้องโดย Showalter และ Elisha Hoffman เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1887 ได้แรงบันดาลใจจาก Book of Deuteronomy 33:27 [หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ หนังสือเล่มที่ 5 ของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ (พันธสัญญาเก่า)]

“The eternal God is thy refuge, and underneath are the everlasting arms”

หนังเรื่องนี้อาจมีหลายสิ่งที่ดูติดๆขัดๆ เหมือนหนังที่มีตำหนิเล็กๆน้อยๆมากมาย แต่ทุกการนำเสนอถือว่าออกมาตรงตามความต้องการของผู้กำกับ ที่ใส่แนวคิด ความหมายไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ (ถือว่าโปรดักชั่น เป็นข้อจำกัดของยุคสมัย) สำหรับไฮไลท์ที่ถือว่าเป็นจุดขายโดดเด่นที่สุดของหนัง คือใจความสำคัญ ที่พูดถึง ‘หมาป่าในคราบลูกแกะ’

หนังนำเสนอเรื่องราวระดับจุลภาค ชายผู้น่าสงสัย ทำตัวเป็นคนดีออกนอกหน้า แต่จิตใจแฝงความชั่วร้าย และกระทำการในสิ่งที่อยู่ในความสนใจเท่านั้น, มองในระดับมหภาค ลองเปลี่ยนตัวละครให้เป็นประเทศ สมมติหมาป่าคือ อเมริกา/จีน/รัสเซีย แล้วลูกแกะคือประเทศโลกที่สาม อาทิ อิรัก/ปาเลสไตล์/ไทย ฯ ประเทศมหาอำนาจทำตัวเป็นเหมือนพ่อพระ อ้างจะทำโน่นนี่เพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม แต่จิตใจกลับสนเฉพาะสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ตัวเองเท่านั้น … ไปวิเคราะห์กันต่อเองได้นะครับ ว่าเป็นยังไง ผมตั้งใจจะแค่ชี้โพรงให้ดูเฉยๆ

อาจมีบางคนคิดแล้วติดขัด ถ้า Powell แทนด้วยประเทศมหาอำนาจ แล้วแม่พระ Cooper จะแทนด้วยอะไร? นี่เป็นหนังชาติอเมริกัน สร้างในยุคหลังสงครามโลก เราสามารถแทน Powell ด้วยฮิตเลอร์ (เยอรมัน), สตาร์ลิน (รัสเซีย) ฯ ที่เข้าไปยุ่งยากในประเทศต่างๆ แต่แท้จริงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่จะมีคนหนึ่งที่จริงใจเสมอเหมือนแม่พระ (อเมริกา) ที่ให้การช่วยเหลือด้วยความจริงใจ ไม่มีลับลมคมใน … เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึก ไม่ช่ายยยย! แต่ผมก็คิดว่าคงเป็นประมาณนี้แหละครับ ไม่เช่นนั้น Ebert จะยกย่องหนังเรื่องนี้เป็น Greatest of All American Films ได้ยังไง

แต่เราอย่าไปมองการตีความหนังแค่เรื่องระดับประเทศอย่างเดียวเลยนะครับ ลดลงมาในสังคม จะเห็นว่า คนประเภท Powell นี้มีอยู่เยอะ รอบตัวเลย ปากพูดดีหวังดี แต่ใจสนแต่จะแสวงหาผลประโยชน์, ถึงหนังเรื่องนี้จะไม่ได้สอนวิธีที่จะให้เราค้นพบคนประเภทนี้ แต่เป็นการให้เราจดจำลักษณะ รู้ทันว่ามีคนประเภทนี้อย่างมากในสังคมที่ต้องระวังไว้ ถ้าจำแนกไม่ได้ ก็อย่าพยายามชักศึกเข้าบ้าน ใช้สติปัญญาแก้ปัญหา ไม่ใช่ใช้อารมณ์ความต้องการ หรือเชื่อตามเสียงหมูหมากาไก่

มีคนกลุ่มหนึ่งในหนังที่ทำให้ผมรู้สึก เกลียด จับใจขึ้นมาทันทีเลย คือกลุ่มคนแก่ปากดีทั้งหลาย อ้างว่าตัวเองผ่านโลกมามาก สามารถดูคนออก แต่พอรู้ความจริง กลับแสดงออกมาแบบรับไม่ได้ (คนพวกนี้จริงๆคือรับตัวเองไม่ได้ที่โง่ ไม่ใช่รับหมอนั่นไม่ได้เพราะมันเลว) อีกคนรับปากว่าจะช่วย แต่ในเวลาที่คับขันที่สุดกลับเมาหัวราน้ำทำอะไรไม่ได้, นี่เป็นการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ ให้ต่อต้านคนรุ่นเก่าอย่างรุนแรงมากนะครับ คือถึงผมจะไม่ชอบ แต่ยังก็รู้ตัวเอง คิดได้ มองออกว่าคนพวกนี้มันก็แค่หมาแก่ตายยาก แต่คนที่มองไม่ออก ก็ไม่ต่างอะไรกับเหยื่อของหมาป่า ที่เดี๋ยวคงถูกเชือด (แต่ก็อาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ)

การทำหนังออกมาในเชิง Expressionist ถือว่าเป็นความกล้าที่ท้าทายของผู้สร้าง (จริงๆคือไม่มีงบเพื่อถ่ายยังสถานที่จริง/สร้างฉากเองถูกกว่าในสมัยนั้น) เพราะลัทธิการแสดงพลังอารมณ์ จักทำให้ผู้ชมเกิดความสะพรึง หลอกหลอนในบรรยากาศ และจดจำรูปลักษณะเหตุการณ์แบบนี้ไว้ไม่ลืมเลือน, โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ดูแล้วต้องเกิดความกลัว Powell มากๆแน่ บรรยากาศแบบนี้ทำให้พวกเขาจดจำความกลัว เรียนรับรู้ถึงความชั่วร้ายของคนประเภทนี้ไว้ประทับในจิตใจไม่ลืมเลือน

นี่เป็นหนังที่ดูจบแล้วเขียนสนุกมากเรื่องหนึ่ง คือมีเรื่องให้อยากพูด อยากคุยเยอะมาก (แต่ก็ยั้งๆตัวเองไว้) แน่นอนว่าต้องหลงรัก แต่ไม่ถึงขั้นเป็นหนังโปรด เพราะผมไม่ชอบหนังเด็ก และการมีตัวละครที่เกลียดมากๆอยู่ด้วย ทำให้เกิดอคติต่อหนัง จึงไม่มีวันเป็นหนังโปรดไปได้

นิทานก่อนนอนเรื่องนี้ สาระเยอะมาก ดูจบแล้วมีข้อคิดอะไรดีๆมากมาย มองในหลากหลายมุมมองก็จักได้แนวคิดที่ต่างออกไป, แต่กว่าที่หนังเรื่องนี้จะถูกค้นพบและได้รับการยอมรับก็กว่า 40 ปีให้หลัง คนที่จุดชนวนความยิ่งใหญ่ ก็คือ Roger Ebert ด้วยการยกขึ้นเป็นหนังโปรดส่วนตัว เหตุที่เขาหลงใหลเรื่องนี้ที่สุด เพราะ ความมหัศจรรย์ของหนัง จะมีผู้กำกับคนไหน ทำหนังแค่เรื่องเดียวทั้งชีวิต ตอนฉายถูกด่ายับ ทำเงินไม่ได้ แต่เวลาผ่านไปกลับมาดูแล้วกลับยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ มันจึงเป็นหนังที่ล้ำค่าอย่างยิ่งสูงสุดที่ได้รับการค้นพบ ควรค่าอย่างยิ่งที่ต้องจดจำและบอกต่อ

แนะนำให้หาหนังเรื่องนี้มาดูกันทั้งครอบครัว เด็กๆดูได้มีสาระ ผู้ใหญ่ดูแล้วมีปัญญา ระหว่างชมก็สอนกันไปด้วยนะครับ คนแบบนี้เป็นยังไง เด็กๆจะเรียนรู้จดจำ มีประโยชน์แน่

นักเรียน คนทำงานสายภาพยนตร์ สมควรอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้ ศึกษาหนังเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียน

จัดเรต PG ผู้ใหญ่ควรนั่งดูกับเด็ก

TAGLINE | “The Night of the Hunter คือนิทานก่อนนอนชั้นเลิศ สอนเด็กๆได้สาระ สอนผู้ใหญ่ได้ปัญญา สะท้อนเรื่องราวทางสังคมได้ทุกระดับ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: