The Night of the Shooting Stars (1982)
: Taviani brothers ♥♥♥
ชื่อหนังและโปสเตอร์ดาวตกนี้ ช่างมีความสวยงามน่าสนใจเหลือเกิน สงสัยจะเกี่ยวกับเทพนิยายแฟนตาซีเพ้อฝัน แต่แท้จริงแล้วคือเรื่องราวกึ่งชีวประวัติของสองพี่น้องผู้กำกับ Taviani ในความค่ำคืนทรงจำที่พวกเขาประจักษ์เห็นเพื่อนบ้านถูกทหารนาซีกราดยิงสังหารหมู่, คว้ารางวัล Grand Prix จากเทศกาลหนังเมือง Cannes
บอกตามตรงว่าผมโคตรจะหัวเสียมากกว่าชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ การเปรียบเทียบดาวตก (Shooting Stars) กับการกราดยิง (Shooting) เป็นอะไรที่คาดคิดไม่ถึง กวนประสาทส้นสุดๆ แต่นั่นคงต้องถือว่าเป็นความผิดของตัวเองที่จินตนาการเพ้อไปเช่นนั้น ถ้าคุณคิดจะรับชมหนังเรื่องนี้แนะนำบริหารตับไว้ให้พร้อมก่อน แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ทรงพลังขนาด Come and See (1985) ก็อาจทำให้ค่ำคืนหลับฝันร้ายได้
Paolo Taviani (เกิดปี 1931) และ Vittorio Taviani (1929 – 2018) สองพี่น้อง Taviani brothers เกิดที่ San Miniato, Tuscany วัยเด็กวิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางท้องทุ่งชนบท หลังเรียนจบจาก University of Pisa (Paolo เรียน Liberal Arts, Vittorio เรียนกฎหมาย) เริ่มทำงานเป็นนักข่าว Journalist ตามด้วยเขียนบทละครเวทีร่วมกับ Valentino Orsini แต่ความสนใจจริงๆของพวกเขาคือการเป็นผู้สร้างภาพยนตร์หลังจากมีโอกาสรับชม Paisan (1946) ของผู้กำกับ Roberto Rossellini
“If cinema has this strength, this power to reveal to ourselves our own truths, then we will make movies!”
ได้มีโอกาสร่วมงานกับ Joris Ivens กำกับสารคดีเรื่อง L’Italia non è un paese povero (1960) [Italy is not a poor country], ตามด้วยคำชักชวนของ Orsini สร้าง Un uomo da bruciare (1962) [A Man for the Burning], I fuorilegge del matrimonio (1963) [Outlaws Love], ฉายเดี่ยวของสองพี่น้องเรื่องแรก I sovversivi (1967) [The Subversives], โด่งดังกับ Sotto il segno dello scorpione (1969), Padre padrone (1977) ** คว้า Palme d’Or, La notte di San Lorenzo (1982), Kaos (1984), Caesar Must Die (2012) ** คว้า Golden Bear
สำหรับ La notte di San Lorenzo (แปลว่า The Night of San Lorenzo) ถือเป็นเรื่องราวกึ่งๆชีวประวัติของสองพี่น้อง Taviani นำเสนอในรูปแบบความเพ้อฝัน แฟนตาซี ความทรงจำ ใช้ชื่อเมืองสมมติ San Lorenzo แต่ก็แทนได้ด้วย San Miniato บ้านเกิดของพวกเขาเองนะแหละ
เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของ Rosanna ขณะพบเห็นดาวตกนอกหน้าต่าง หวนระลึกถึงความทรงจำสมัยเป็นเด็กหญิงอายุหกขวบ เมื่อเดือนสิงหาคม 1944 ขณะอาศัยอยู่ในเมือง San Lorenzo ที่ตอนนั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
– กลุ่มแรกเชื่อฟังคำของบาทหลวงและทหารเยอรมัน เข้าไปหลบลี้หนีภัยในโบสถ์ประจำเมือง ก่อนที่ทั้งเมืองจะถูกระเบิดทำลายแหลกละเอียดเป็นจุน
– ขณะที่อีกกลุ่มตัดสินใจนำโดย Galvano (รับบทโดย Omero Antonutti ที่ร่วมงานกับพี่น้อง Taviani เรื่อง Padre Padrone) หลบลี้หนีออกนอกเมือง เพื่อตามหาทหารอเมริกันให้มาช่วยปลดแอกต่อสู้กับนาซี
สำหรับ Rosanna ได้ติดตามครอบครัวหนีออกนอกเมือง แม้โลกภายนอกจะโหดร้ายแต่เธอมองมันเป็นการผจญภัยที่ตื่นเต้นเร้าใจ พานพบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย และประจักษ์การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านกับทหารอิตาเลี่ยน (ที่เข้าฝ่ายเยอรมัน) จินตนาการเห็นภาพ …
วิเคราะห์: จริงๆนายคนนี้ ถูกปืนยิงรัวหลายนัดกำลังจะล้มลงเสียชีวิต แต่ Rosanna จินตนาการแปรสภาพลูกปืนกลายเป็นหอกหาว ถูกทหารโรมันโรมรันเขวี้ยงขว้าง … นี่มันหนังเรื่อง 300 หรือเปล่าเนี่ย
ปกติแล้วคนที่สามารถมีชีวิตเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกมาได้ มักป่วยเป็นโรค Shell Shock หรือเกิด Trauma จดจำฝังใจกับภาพความโหดร้ายมิอาจลบลืมเลือนโดยง่าย แต่สำหรับ Rosanna อาจเพราะยังเด็กเกินไป เลยจินตนาการสิ่งต่างๆกลายเป็นแฟนตาซี ภาพที่ผู้ใหญ่พบเห็นเต็มไปด้วยความรุนแรงโหดร้าย เธอกลับมองมันแบบโลกสวยและไม่เคยติดใจอะไร
นี่มันสะท้อนกับสองพี่น้อง Taviani ด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าบวกลบตัวเลขย้อนหลัง ช่วงขณะนั้นพวกเขาเพิ่งจะอายุ 13 กับ 15 ปี? ผมคิดว่าไม่นะ Paolo และ Vittorio น่าจะโตพอรับรู้สิ่งต่างๆ อะไรๆได้มากแล้ว แต่มุมมองความทรงจำเมื่อหวนระลึกครุ่นคิดถึงต่างหาก มันคงน่าสนใจท้าทายกว่า เพราะยังไม่เคยมีใครนำเสนอภาพความโหดร้ายของสงคราม ในลักษณะ ‘โลกสวย’ มาก่อน
แต่เพราะปีก่อนผมรับชมอนิเมะรางวัลเรื่อง In This Corner of the World (2016) คลั่งไคล้มากๆกับภาพคลื่นกลายเป็นกระต่าย, ระเบิดปูพรมกลายพลุ สีสันสดใส ฯ หญิงสาวจินตนาการภาพความโหดร้ายทุกข์ทรมานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ให้กลายเป็นแรงผลักดันต่อสู้มีชีวิตเอาตัวรอด จะบอกเลยว่างดงามตราตรึงกว่าเป็นไหนๆ สงสัยเพราะอนิเมชั่นช่วยสร้างเสริมจินตนาการของผู้ชมได้มากกว่าภาพ Surrealist หลับตาเพ้อฝันของเด็กหญิงเป็นไหนๆ
ถ่ายภาพโดย Franco Di Giacomo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติอิตาเลี่ยน ที่เคยเป็น Camaraman ให้กับ The Good, the Bad and the Ugly (1966) ผลงานเด่นๆ อาทิ Oci ciornie (1987), Il postino (1994), La cena (1998), Concorrenza sleale (2001) ฯ
ด้วยสัมผัสของ Neorealist ส่วนใหญ่เป็นนักแสดงสมัครเล่น ถ่ายทำจากสถานที่จริง ไม่ค่อยมีการจัดแสงปรับแต่ง (ธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่) ผนวกเข้ากับลีลาสไตล์ของพี่น้อง Taviani ชื่นชอบ Long Shot พบเห็นทิวทัศน์ชนบท ทุ่งหญ้า ท้องฟ้า ภูเขาไกลลิบลับ ซึ่งเรื่องนี้จะมีขณะเกี่ยวข้าว รวงทอง งดงามอร่าม
หนึ่งในลายเซ็นต์ของสองพี่น้อง Taviani ผู้ชมจะได้ยินเสียงความคิดของตัวละคร ขณะกำลังระลึกโหยหาถึงบ้านที่กำลังจะถูกระเบิดทำลาย จากนั้นตัดให้เห็นภาพความทรงจำเมื่อครั้นวิ่งเล่นกระโดดโลดเต้นอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น
ฉากระเบิดในโบสถ์ ถ้าใครรับชมภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเยอะ (อาทิ Come and See, The Reader) คงรับรู้ได้ว่านั่นคือเหตุการณ์จริงๆ ซึ่งสองพี่น้อง Taviani เหมือนว่าจะมีโอกาสได้รับรู้พบเห็นด้วนตนเอง เพราะหนึ่งในโบสถ์ที่ถูกระเบิดนั้นคือ San Miniato บ้านเกิดของพวกเขาเอง
เกร็ด: แต่หลังจากหนังเรื่องนี้ออกฉายประมาณ 2 ทศวรรษถัดมา มีการค้นพบว่าโบสถ์ที่ San Miniato แท้จริงแล้วเป็นระเบิดลูกหลงของทหารอเมริกัน ไม่ใช่ของ Nazi, Germany
Sequence ที่ผมมองว่าคือไฮไลท์ของหนัง คือเรื่องราวของเด็กชายหน้าใสอายุ 15 ปี สมาชิกของ Italian Fascists (เข้าข้างกับ Nazi) ทุกครั้งที่กระทำการโหดเหี้ยม ตะโกนกร่าง ทรมานผู้อื่น อวดอ้างว่าตนเองแน่ เก่งแกร่ง ดีเลิศประเสริฐศรีกว่า แต่แท้จริงแล้วก็แค่ไอ้เด็กเมื่อวานซืนยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมด้วยซ้ำ มีพ่อคอยหนุนหลังสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ แม้ตอนถูกจับได้ก็เป็นพ่อที่ร้องขอชีวิต ก่อนที่…
ตัดต่อโดย Roberto Perpignani, ถึงจะบอกว่าหนังใช้การเล่าเรื่องผ่านความทรงจำของ Rosanna แต่หลายครั้งเป็นภาพที่เด็กหญิงไม่ได้พบเห็นกับตา/ไม่ได้อยู่ในสถานที่แห่งนั้น ก็ให้คาดว่าเป็นหนึ่งในจินตนาการแฟนตาซีของเธอเองแล้วกัน
เพลงประกอบโดย Nicola Piovani เจ้าของรางวัล Oscar: Best Original Score จากเรื่อง Life Is Beautiful (1997), เสียงฟลุตมอบสัมผัสที่ชวนให้เพ้อฝัน โลกสวย แฟนตาซี สะท้อนเข้ากับเรื่องราวและจินตนาการของเด็กหญิงสาวได้เป็นอย่างดี ถ้าคุณยังไม่เคยรับชมหนังแล้วได้ยินเพลงนี้ เชื่อว่าคงหลับฝันดีแน่ แต่ถ้าดูมาแล้วก็คง…
ผมไปเจอคลิปที่ Piovani เดี่ยวเปียโนโชว์เล่นเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ช่างงดงามไพเราะจับใจเสียจริง
บทเพลง Battle Hymn of the Republic ที่ดังขึ้นจากเครื่อง Phonographer ของเจ้าของบ้าน/คนชั้นสูงที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก Italian Fascists นี่สะท้อนถึงความหลอกลวงประชาชน ชาวบ้านตาดำๆ ต่างหลงเชื่อตาลายว่าทหารอเมริกันได้เข้ามากอบกู้ช่วยเหลือพวกเขาแล้ว นี่เป็นการแสดงทัศนะของสองพี่น้อง Taviani ที่ชัดเจนมาก รังเกลียดพวก Facism อย่างที่สุด
ซึ่งสุดท้ายกรรมก็ตอบสนองพวกเขา เพราะเจ้าของบ้าน/คนชั้นสูง ผู้เปิดเพลงหลอกหลวงประชาชีนั้น ตัดสินใจเชื่อมั่นในบาทหลวงและทหารเยอรมัน เข้าไปหลบอาศัยอยู่ในโบสถ์ สุดท้ายก็ถูกทรยศหักหลัง …
สำหรับ Sound Effect ถ้าใครเคยรับชม Padre Padrone (1977) จะรับรู้ว่าสองพี่น้อง Taviani ชื่นชอบการปรุงแต่งส่วนนี้มาก (เพราะหนังอิตาเลี่ยนสมัยนั้นไม่นิยม Sound-On-Film นี่จึงคือส่วนที่สร้างสรรค์เพิ่มเข้าไป) โดดเด่นกับฉากระเบิดเมือง เงียบจากเสียงจิ้งหรีดเรไร ความดังของเสียงระเบิด สะท้อนระยะทางได้เป็นอย่างดี,
ใจความของหนังเรื่องนี้ ผมมองว่าคือการ ‘เลือก’ ที่จะครุ่นคิด ตัดสินใจ และจินตนาการ
– ชาวเมือง San Lorenzo แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม เลือกในสิ่งที่คิดว่าตนเองจะสามารถมีชีวิตเอาตัวรอดผ่านสงครามโลกครั้งนี้ไปได้
– ชาวอิตาลี ต้องเลือกที่จะเข้าข้าง Italian Fascists หรือสนับสนุนกลุ่มกบฏต่อต้าน
– Rosanna เลือกที่จะหลับหูปิดตา จินตนาการสิ่งที่ตนพบเห็นด้วยความเพ้อฝันแฟนตาซี
ฯลฯ
ในเมื่อตัวเลือกมักมีสองหนทางอยู่เสมอ ทุกครั้งเลยเป็นเรื่องของโชคชะตาและโอกาส ที่ฝ่ายหนึ่งจะตัดสินใจเลือกข้างถูก และตรงกันข้ามอาจพบจุดจบของชีวิต
นอกจากประเด็นชื่อและความคาดหวังต่อหนังแล้ว ใจความเกี่ยวกับการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่ผมอยากเขวี้ยงมะเขือเน่าใส่เหลือเกิน บอกเลยว่านั่นไม่ถูกต้อง คงเพราะสองผู้กำกับ Taviani คือพี่น้องที่ทั้งเหมือนและแตกต่าง ทุกครั้งเวลาตัดสินใจอะไรจำต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จากความคิดของใครคนใดคนหนึ่งเสมอ ทัศนคติการมองโลกของพวกเขาเลยเป็นไปในทิศทางความเชื่อนี้
จริงอยู่เหรียญมีสองด้าน อุดมการณ์มีซ้าย-ขวา หยิน-หยาง เติมเต็มกันและกัน แต่ทุกสิ่งอย่างบนโลกล้วนมีหนทางสายกลางเสมอ การจมปลักอยู่ในทางเลือกถูก-ผิด อย่างหนึ่งอย่างใดเพราะคุณไม่สามารถนำพาตัวเองหลุดออกนอกกฎกรอบจากข้างในกล่องได้ ผมคงไม่ขอเสียเวลาอธิบายความแตกต่างระหว่างปรัชญาโลกตะวันตกกับตะวันออก ถ้าคุณเป็นชาวพุทธเรื่องพรรค์นี้ก็ควรเข้าใจเองได้แล้วนะ
เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ามา 2 รางวัล
– Grand Prize of the Jury (ที่ 2)
– Prize of the Ecumenical Jury
ได้เป็นตัวแทนประเทศอิตาลี ส่งชิงชัยรางวัล Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ผ่านเข้ารอบใดๆ
แนะนำคอหนังสงคราม, แนว Survival ต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอดในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ของชาวชนบทประเทศอิตาลี, สนใจกึ่งๆชีวประวัติของสองผู้กำกับ Taviani
จัดเรต 18+ กับความบ้าคลั่ง ปวดตับ
Leave a Reply