The Nightingale's Prayer

The Nightingale’s Prayer (1959) egyptian : Henry Barakat ♥♥♥♥

หญิงบ้านนอกถูกบังคับให้ต้องเดินทางเข้าเมือง ทำงานเป็นคนรับใช้ พบเห็นพี่สาวถูกนายจ้างทำให้สูญเสียเกียรติ ครุ่นคิดวางแผนแก้ล้างแค้น ด้วยการอาสาดูแลงานบ้านชายคนนั้น แล้วละเล่นกลเกมให้เขาตกหลุมรัก แต่โดยไม่รู้ตัวเธอกลับค่อยๆมีใจ

The Nightingale’s Prayer หรือ The Curlew’s Cry โคตรๆภาพยนตร์เมโลดราม่า โศกนาฎกรรมแห่งรัก แม้มีความน้ำเน่าจัดๆ แต่ลีลาการดำเนินเรื่องที่ค่อยๆเปิดเผยรายละเอียดออกทีละเล็กละน้อย ชวนให้ผู้ชมต้องคอยเกาะติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ เนื้อหานำเสนอความแตกต่างระหว่างวิถีชนบท vs. สังคมเมือง นำสู่ความขัดแย้ง อาฆาตแค้น แต่เมื่อไหร่ทั้งสองฟากฝั่งสามารถสานสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกันและกัน นั่นคือจุดกำเนิด เริ่มต้นความรัก ก่อนหัวใจจักแตกสลาย

ซึ่งสิ่งที่ถือว่ามีความเจิดจรัส เปร่งประกาย ทำให้ผมตกหลุมรัก แทบมิอาจละสายตา คือการแสดงของ Faten Hamama เจ้าของฉายา “The Lady of Egyptian and Arabic Cinema” เปรียบดั่งเจ้านกน้อย Nightingale ส่งเสียงขับขานเมื่อก้าวย่างฤดูใบไม้ผลิ ด้วยความร่าเริง เบิกบาน ธรรมชาติบริสุทธิ์

เอาจริงๆมันมีภาพยนตร์สัญชาติ Egyptian อีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคือหาดูค่อนข้างยาก และไม่ค่อยมีซับอังกฤษ ผมใช้เวลาพอสมควรในการขวนขวายค้นหา The Nightingale’s Prayer (1959) เพราะพบเห็นติดอันดับชาร์ทภาพยนตร์ Egypt/Africa แทบจะทุกสำนัก ผลลัพท์ถือว่าคุ้มค่าแก่การเสียเวลา งดงาม คลาสสิก ถ้ามีโอกาสแนะนำให้ลองหามารับเชยชม


هنري أنطون بركات, Henry Antoun Barakat (1914-97) ผู้กำกับภาพยนตร์ สัญชาติ Egyptian เกิดที่ Shubra, Cairo ในครอบครัว Syro-Lebanese นับถือ Melkite Greek Catholic โตขึ้นสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมาย จากนั้นเดินทางสู่ฝรังเศสเปลี่ยนมาร่ำเรียนสายกำกับภาพยนตร์ Paris College of Art (PCA) กลับมา Egypt เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ก่อนได้รับการผลักดันโดยนักแสดง/โปรดิวเซอร์ Asia Dagher กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก The Stray (1942), The Suspect (1942) ฯ

Barakat ถือเป็นผู้กำกับระดับ ‘High Profile’ ของประเทศ Egypt มีผลงานกว่า 80+ เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นแนว Romance, Social Drama, Historical มักร่วมงานนักแสดงขาประจำอย่าง Farid al-Atrash, Leila Mourad, บ่อยครั้งที่สุดคือ Faten Hamama จำนวน 17-18 เรื่อง อาทิ The Nightingale’s Prayer (1959), The Open Door (1963), The Sin (1965) ฯ

สำหรับ دعاء الكروان อ่านว่า Doaa al-Karwan แปลตรงตัว The Call of the Curlew (หรือ The Curlew’s Cry) ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ The Nightingale’s Prayer ต้นฉบับคือนวนิยายตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1934 แต่งโดย Taha Hussein (1889-1973) นักเขียนชาว Egyptian หนึ่งในผู้บุกเบิกนวนิยาย Modernist ได้รับฉายา “The Dean of Arabic Literature” เห็นว่าเคยเข้าชิง Nobel Prize สาขาวรรณกรรมถึง 21 ครั้ง!

เกร็ด: จุดโดดเด่นของนวนิยาย The Nightingale’s Prayer เห็นว่าคือวรรณกรรมภาษา Arabic เรื่องแรกๆที่นำเสนอด้วยวิธีการเล่าย้อนอดีต (Flashback) แทนการดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง (Linear Narrative)

ผกก. Barakat ร่วมงานนักเขียน Youssef Gohar ในการดัดแปลงนวนิยาย The Nightingale’s Prayer โดยพยายามรักษาโครงสร้างดำเนินเรื่อง (ที่เป็นการเล่าย้อนอดีต) แค่เพียงปรับปรุงบทสนทนา รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ให้มีความเหมาะสมเข้ากับสื่อภาพยนตร์ และเปลี่ยนแปลงตอนจบเสียใหม่ (เพื่อสร้างความประหลาดใจให้คนเคยอ่านนิยาย) ผ่านการตรวจอนุมัติโดย Hussein ทั้งยังรับเชิญมาเป็นผู้ให้เสียงบรรยายบทสรุปช่วงท้าย


ภายหลังจากบิดาเสียชีวิต ครอบครัวสามใบเถา มารดา พี่สาว และ Amna (รับบทโดย Faten Hamama) ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน จำต้องออกเดินทางร่อนเร่ เตร็ดเตร่มาถึงเมืองใหญ่ สองพี่น้องถูกส่งตัวไปทำงานสาวรับใช้ ได้เรียนรู้ เปิดโลกกว้าง สังคมเมืองที่ผิดแผกแตกต่างจากชนบท

เรื่องวุ่นๆเกิดขึ้นเมื่อนายจ้างที่เป็นวิศวกรของพี่สาว กระทำการข่มขืน สูญเสียความบริสุทธิ์โดยไม่ยินยอมพร้อมใจ นั่นสร้างความอัปยศให้กับตนเองและครอบครัว มารดาจึงพาบุตรสาวทั้งสองหลบหนีออกจากเมือง ตั้งใจจะหวนกลับบ้านเก่า แต่ระหว่างทางพบเจอกับลุงผู้มีความจงเกลียดจงจัง ตัดสินใจเข่นฆาตกรรมพี่สาว โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้วงศ์ตระกูลต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง

ด้วยความอาฆาตของ Amna จึงครุ่นคิดวางแผนล้างแค้นนายจ้างวิศวกรคนนั้น ด้วยการอาสาเข้าทำงานเป็นสาวรับใช้ แล้วทำการหยอกเย้า ละเล่นเกมให้เขาเกิดความลุ่มหลงใหล ยั่วให้อยากแล้วจากไป ไม่ยินยอมให้ล่วงเกินเลย เอาตัวรอดอย่างหวุดหวิดอยู่หลายครั้ง นานวันทั้งสองจึงเริ่มเรียนรู้จักความรัก แต่สัมพันธ์ของพวกเขาจะมีโอกาสไปต่อได้หรือไม่?


فاتن حمامه, Faten Ahmed Hamama (1931-2015) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Mansoura, Kingdom of Egypt เมื่อตอนหกขวบ ครอบครัวพาไปรับชมภาพยนตร์ของ Assia Dagher บังเกิดความชื่นชอบหลงใหล ปีถัดมาเข้าประกวดนางงามเด็ก ได้รับรางวัลชนะเลิศ บิดาส่งภาพถ่ายของเธอให้ผู้กำกับ Mohamed Karim ผ่านการคัดเลือกมาแสดงภาพยนตร์ A Happy Day (1939) ขณะนั้นได้รับฉายา “Egypt’s own Shirley Temple” ทั้งยังมีผลงานติดตามมา Bullet in the Heart (1944), รับบทนำครั้งแรก Angel of Mercy (1946) ประสบความสำเร็จโด่งดัง จนทำให้ครอบครัวสามารถย้ายมาปักหลักอยู่ Cairo แล้วเข้าศึกษาต่อ High Institute of Acting, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Blazing Sun (1954), Sleepless (1957), The Nightingale’s Prayer (1959), The Open Door (1963), The Sin (1965), Mouths and Rabbits (1977) ฯ

รับบท Amna น้องสาวคนเล็ก มีความสวยสดใส ละอ่อนเยาว์วัย ยังเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น เมื่อได้ทำงานเป็นสาวรับใช้ สร้างความประทับใจให้ครอบครัวนายจ้าง รักเอ็นดู ราวกับบุตรสาว แต่ด้วยพื้นหลังมาจากบ้านนอกคอกนา มารดายังยึดติดกับขนบวิถี ประเพณีวัฒนธรรม พบเห็นพี่สาวหลังจากสูญเสียพรหมจรรย์ ตกอยู่ในสภาพชอกช้ำ กลายเป็นภาพจดจำฝังใจ โลกทั้งใบแทบพังทลาย ความตายยิ่งสร้างความโกรธเกลียด อาฆาตแค้น ต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อโต้ตอบเอาคืนนายจ้างคนนั้นให้สาสม

แม้อายุของ Hamama จะย่างเข้า 24-25 แต่ยังคงความละอ่อนวัย ไร้เดียงสา ท่าทางระริกระรี้เมื่อได้พบเจอของเล่นใหม่ เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น มันช่างดูน่ารักน่าชัง น่าเอ็นดูทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม ซึ่งพอตัวละครต้องประสบพบเจอเรื่องร้ายๆ เอาตัวเองเข้าเสี่ยง ละเล่นเกมกับนายจ้าง ผู้ชมคงเกิดอาการสั่นไหว หัวใจวาบหวิว ลุ้นระทึก เป็นกำลังใจให้สามารถสามารถเอาตัวรอดปลอดภัย

บทบาท Amna ชวนให้ผมนึกถึง Vivien Leigh จากภาพยนตร์ Gone with the Wind (1939) ต่างเริ่มต้นด้วยความน่ารักสดใส แต่หายนะบางอย่างส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ จำต้องเปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นคนกร้านโลก ใช้มารยาหญิงลวงล่อหลอกบุรุษ จนบังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน

ผมอ่านบทความวิจารณ์จากหลายๆสำนัก ต่างยกให้ The Nightingale’s Prayer (1959) คือบทบาทการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Hamama นอกจากวิวัฒนาตัวละคร จากน่ารักสดใสกลายเป็นอาฆาตเคียดแค้น ก่อนบังเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน (ทั้งรักทั้งเกลียด) ไฮไลท์คือการใช้ภาษากาย ท่าทางขยับเคลื่อนไหว สามารถเปรียบดั่งเจ้านกน้อย Nightingale ล่องลอยไปมา พยายามดิ้นรน กระเสือกกระสน หาหนทางเอาตัวรอด ไม่ยินยอมตกเป็นเหยื่อของผู้ล่า/นายจ้าง


أحمد حافظ مظهر, Ahmed Hafez Mazhar (1917-2002) นักแสดงสัญชาติ Egyptian เกิดที่ Abbasiya, Cairo สำเร็จการศึกษาจาก Egyptian Military Academy รุ่นเดียวกับว่าที่ปธน. Gamal Abdel Nasser และ Anwar Sadat จากนั้นสมัครเป็นทหารราบ ตามด้วยทหารม้า เข้าร่วมสงคราม 1948 Palestine War หลังปลดประจำการหันเหความสนใจสู่วงการแสดง แจ้งเกิดกับ Return My Heart (1957), Jamila, the Algerian (1958), The Nightingale’s Prayer (1959), Saladin the Victorious (1963) ฯ

รับบทวิศวกร ไม่ค่อยหนุ่มเท่าไหร่ แต่มีความหล่อเหลา ทรงเสน่ห์ มาดเพลย์บอย ครองตัวเป็นโสดเพราะไม่ต้องการพันธนาการตนเองกับใคร กลับบ้านมาทีไรต้องละเล่นเกมกับสาวใช้ มองพวกเธอดั่งวัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองตัณหากามารมณ์ จนกระทั่งกำลังจะได้พบเจอคู่ปรับ Amna ครั้งแรกเรียนรู้คุณค่าความรัก

แม้ผมจะรู้สึกว่า Mazher ดูแก่เกินตัวละครไปนิด (บทบาทนี้เหมาะกับนักแสดงอายุ 30 ต้นๆ ส่วน Mazher ล่วงเลยไป 40 กว่าๆ) แต่ก็ยังมีภาพลักษณ์ชายวัยกลางคน เต็มไปเสน่ห์ เล่ห์กล ทั้งการแสดงออกทางสีหน้า ดวงตา ถ้อยคำพูดยั่วเย้า รวมถึงกิริยาท่าทาง พยายามรุกล้ำ ล่วงเกิน เพื่อให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ร่วมรักหลับนอน

แต่พอถูกมารยาหญิงของ Hamama เล่นเนื้อเล่นตัว ยั่วให้อยากแล้วจากไป สร้างความอัดอั้น ทุกข์ทรมาน พยายามใช้รุนแรง ฉุดกระชาก อยากจะข่มขืน กลับมิอาจฝืนใจตนเอง รู้สึกห่อละเหี่ยว พยายามจะขับไล่ หลบหนีไปให้ไกล สุดท้ายกลับมิอาจหลงลืมเธอได้ลง ตกหลุมรักครั้งแรก หัวใจแทบแตกสลาย เข้าใจความหมายของคำว่ารักเสียที


ถ่ายภาพโดย وحيد فريد, Wahid Farid (1919-98) เจ้าของฉายา “Sheikh of Cinematography” เกิดที่ Alexandria ในครอบครัวเชื้อสาย Turkish เดินทางมาเปิดกิจการร้านถ่ายภาพในกรุง Cairo, โตขึ้นได้ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง Mohamed Abdel Azim และ Hassan Dahesh ก่อนกลายเป็นช่างภาพขาประจำนักแสดง Faten Hamama ผลงานเด่นๆ อาทิ The Leech (1956), The Nightingale’s Prayer (1959), Between Heaven and Earth (1959), The Open Door (1963), Cairo 30 (1966), Mouths and Rabbits (1977) ฯ

งานภาพของหนังคละคลุ้งด้วยกลิ่นอาย ‘Hollywood Classic’ กล้องมีการเคลื่อนเลื่อนไหล พบเห็นการดำเนินไปของตัวละคร พยายามจัดวางองค์ประกอบให้อยู่กึ่งกลางภาพ ละเล่นกับระยะห่าง มุมก้ม-เงย แสงสว่าง-เงามืด ใครชื่นชอบ ‘mise-en-scène’ คงเพลิดเพลินอยู่ไม่น้อย

สไตล์การกำกับของผกก. Barakat สังเกตไม่ยากว่าให้ความสำคัญต่อนักแสดงอย่างมากๆ เพราะทุกช็อตฉากล้วนมีรายละเอียดที่ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดอารมณ์ หรือบทพูดสนทนา แต่ยังท่าทางขยับเคลื่อนไหว สื่อสารด้วยภาษากาย เต็มไปด้วยความละมุน นุ่มนวล ผ่านการครุ่นคิดมาโดยรอบคอบ ทุกสิ่งอย่างล้วนอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับ

Henry Barakat was all about gentleness, beauty and deep emotions.

Faten Hamama

มันคงไม่ใช่ความบังเอิญสักเท่าไหร่ ที่หลายๆภาพถ่าย มุมกล้อง เมื่อตอนที่สาวๆอาศัยอยู่ในเมือง ทำงานเป็นคนรับใช้ มักให้ความรู้สึกเหมือนนกในกรง ถูกห้อมล้อมรอบด้วยกรอบ ผนังกำแพง เงามืด คานไม้ ราวบันได (ที่ดูเหมือนซี่กรงขัง) มองไม่เห็นทิวทัศน์กว้างใหญ่ไพศาล

ตั้งแต่ที่ Amna ยินยอมเข้ามาอยู่ในกรงขัง ทำงานสาวรับใช้นายจ้างวิศวกร ตลอดทั้งซีเควนซ์แพรวพราวไปด้วย ‘mise-en-scène’ นักแสดงทั้งสองเดินไปเดินมา หยอกล้อเล่นเกม ผู้ล่า-เหยื่อ สังเกตว่ามักมีอะไรมาคั่นหว่างกลาง ระยะห่างใกล้-ไกล ภายนอก-ใน หันซ้าย-ขวา มุมก้ม-เงย ความสูง-ต่ำ แสงสว่าง-เงามืด ฯ เป็นลีลาการถ่ายภาพที่มีความงดงาม คลาสสิก ขบครุ่นคิดได้อย่างเพลิดเพลินใจ

ทุกครั้งที่ถ่ายฉากภายนอก พบเห็นทิวทัศน์ ท้องฟ้ากว้างใหญ่ ให้ความรู้สึกราวกับอิสรภาพ เจ้านกน้อยกางปีกโบยบิน, อย่างภาพช็อตนี้ช่วงท้ายของหนัง หลังจากหญิงสาว Amna คลายความอาฆาตแค้น เฉกเช่นเดียวกับนายจ้างวิศวกรเลิกมองหญิงสาวเป็นเพียงของเล่น/วัตถุทางเพศ สะพานด้านหลังสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองบุคคล ปรับเปลี่ยนความคิดเห็น บังเกิดความเข้าใจกันและกัน

ตลอดทั้งเรื่องจะได้ยินเสียงนกร้องดังขึ้นบ่อยครั้งมากๆ แต่ครั้งที่ถือว่าโดดเด่นชัดเจน เคลือบแฝงนัยยะซ่อนเร้นอย่างทรงพลัง คือขณะพี่สาวถูกลุงฆาตกรรม (พี่สาว = นกไนติงเกล) เธอทำอะไรผิดถึงต้องตกตาย เพียงขัดต่อหลักศาสนา เกียรติของวงศ์ตระกูลเท่านั้นฤา? … ตอนจบที่นายจ้างวิศวกรเสียชีวิต ก็ได้ยินเสียงนกร้องจิบๆ นั่นอาจสื่อถึงอิสรภาพชีวิต จิตวิญญาณล่องลอยออกจากร่างได้ด้วยกระมัง

อีกครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจ คือยามเช้าระหว่างนายจ้างวิศวกรสนทนาในสวนกับ Amna โดยปกติแล้วเขาไม่เคยตื่นทัน เลยไม่เคยได้ยินเสียงร้องของเจ้านกน้อย นี่ถือเป็นการเปิดมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ เรียนรู้ในสิ่งไม่เคยสนใจ นัยยะเดียวกับการตกหลุมรัก รู้จักเอาใจเขามาใส่เรา รับฟังสรรพเสียงรอบข้าง (ทั้งธรรมชาติและความคิดเห็นของผู้อื่น)

ตัดต่อ … ไม่มีเครดิต, หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Amna โดยสองสามองก์แรกนำเสนอในลักษณะเล่าย้อนอดีต หวนระลึกความทรงจำ (Flashback) ผ่านเสียงบรรยายของหญิงสาว จนกระทั่งเรื่องราวดำเนินมาบรรจบถึงปัจจุบัน องก์สุดท้ายถึงดำเนินสู่ไคลน์แม็กซ์

  • อารัมบท, Amna นั่งอยู่ในความมืด เฝ้ารอคอยนายจ้างกลับบ้านดึกดื่น พอมาถึงก็พยายามขืนใจ แต่กลับถูกผลักไส ไม่ยินยอมให้เขาได้สมดั่งใจหวัง
  • (Flashback) การเดินทางของ Amna
    • ตั้งแต่สูญเสียบิดา ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ออกเดินทางเร่ร่อนพร้อมกับมารดาและพี่สาว
    • ได้ทำงานเป็นคนรับใช้ เปิดโลกทัศน์ เรียนรู้จักสิ่งใหม่ๆ
    • แต่แล้วพี่สาวกลับถูกนายจ้างวิศวกรทำให้เสียเกียรติ พวกเธอจึงต้องกลับไปเร่ร่อนอีกครั้ง
    • ระหว่างทางพบเจอลุง ไม่ต้องการให้ครอบครัวเสียเกียรติ จึงฆ่าปิดปากพี่สาว
  • (Flashback) ฉันต้องการทำบางสิ่งอย่าง
    • Amna ตัดสินใจทอดทิ้งครอบครัว หวนกลับมาทำงานเป็นสาวใช้
    • พยายามสรรหาวิธีให้บุตรสาวนายจ้าง ไม่ต้องแต่งงานกับวิศวกร (นายจ้างที่ทำให้พี่สาวสูญเสียเกียรติ)
    • Amna ตัดสินใจอาสาเข้าทำงานยังบ้านของนายจ้างวิศวกร เพื่อแก้ล้างแค้นในสิ่งทำไว้กับพี่สาว
  • Amna กับนายจ้างวิศวกร
    • นายจ้างวิศวกรพยายามใช้เล่ห์เพทุบาย ล่อหลอก Amna ให้ยินยอมร่วมเพศสัมพันธ์ แต่เธอกลับหลบหนีเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง
    • นานวันเริ่มสร้างความไม่พึงพอใจให้นายจ้างวิศวกร จึงใช้ความรุนแรง ต้องการข่มขืน แต่ก็มิอาจกระทำลง
    • พยายามหลบหนี สร้างระยะห่าง แต่กลับยิ่งทำให้ครุ่นคิดถึง
    • Amna เองก็เริ่มมีใจ ใกล้ที่จะไม่สามารถควบคุมตนเอง
    • ลุงของ Amna ติดตามมาพบเจอ ต้องการเข่นฆ่าเธอ แต่กระสุนกลับพุ่งไปโดน …

การเล่าเรื่องย้อนอดีตลักษณะนี้ ยุคสมัยนั้นถือว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ น่าตื่นตาตื่นใจ ในวงการภาพยนตร์โลกก็ยังพบเห็นไม่มากนัก จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดความอยากรู้อยากเห็น อยากติดตามว่ามันเกิดเหตุการณ์ห่าเหวอะไร มีที่มาที่ไป ทำไมหญิงสาวถึงตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น?

และเมื่อทุกสิ่งอย่างกระจ่างแจ้ง ทิศทางต่อไปของหนังคือมุ่งสู่ไคลน์แม็กซ์ ตอนจบ ผู้ชมเกิดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก ให้กำลังใจ หญิงสาวจะสามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์เลวร้าย แก้ล้างแค้นให้พี่สาวได้สำเร็จหรือไม่?


เพลงประกอบโดย Andre Ryder ชื่อจริง Andreas Anagnostou, Ανδρέας Αναγνώστου (1908-71) นักแต่งเพลงสัญชาติ Greek ไม่มีรายละเอียดชีวิตมากนัก เพียงรับรู้ว่าเดินทางสู่ Egypt ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 50s ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ A Ripple in the Pond (1952), Windfall in Athens (1954), The Nightingale’s Prayer (1959), The Open Door (1963) ฯ

ด้วยความที่ Ryder มีเชื้อสาย Greek/Egypt จึงไม่จำเพาะเจาะจงสไตล์เพลงหนึ่งใด เลือกใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน+คลาสสิก รังสรรค์ท่วงทำนองที่คละคลุ้งกลิ่นอาย Egyptian เริ่มต้นด้วยบรรยากาศทะมึน อึมครึม สะท้อนโชคชะตาหญิงสาว Amna ตลอดทั้งเรื่องราวกับอยู่ในขุมนรก ไม่ต่างจากนกในกรง พยายามต่อสู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน แต่มิอาจโบกโบยบิน ดิ้นหลบหนี ชีวิตไร้ซึ่งอิสรภาพ

แม้ตัวตนของ Amna จะมีความระริกระรี้ จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ แต่กลับมีเพียงบทเพลงสั้นๆ นอกนั้นได้ยินแต่เสียงไวโอลินกรีดบาดแทง ท่วงทำนองระบายความเจ็บปวดรวดร้าว อึดอัดอั้น ทุกข์ทรมานกาย-ใจ ร้อยเรียงสารพัดหายนะบังเกิดขึ้นกับหญิงสาว พานผ่านโศกนาฎกรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ยินยอมติดอยู่ในกับดัก กรงขัง เพื่อทำการแก้ล้างแค้น แต่แล้วกลับเป็นเธอเองที่จมปลักอยู่ในนั้น ไม่สามารถเอาตัวรอด ดิ้นหลบหนี ชีวิตตกอยู่ในความสิ้นหวังอาลัย

Nightingale’s Prayer หรือ Curlew’s Cry ต่างคือนกตัวเล็กๆ ไร้พิษภัย ไม่เคยสร้างปัญหาใดๆ ส่งเสียงร้องยามเช้า ต้อนรับรุ่งอรุณวันใหม่ แต่มนุษย์กลับชื่นชอบจับมาใส่กรงขัง ทำให้พวกมันสูญเสียอิสรภาพ พยายามหาหนทางดิ้นหลบหนี ก่อนตกอยู่ในความหมดสิ้นหวังอาลัย

The Nightingale’s Prayer (1959) นำเสนอเรื่องราวของสตรีเพศที่ถูกกดขี่ข่มเหง ควบคุมครอบงำโดยบุรุษ ในสังคมชายเป็นใหญ่ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) ทำให้ไร้ซึ่งสิทธิ์เสียง ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น ครุ่นคิดตัดสินใจอะไรๆด้วยตนเอง เพียงทาสรับใช้ วัตถุทางเพศ สำหรับตอบสนองความพึงพอใจ

  • การจากไปของบิดา แม้ทำให้มารดากลายเป็นผู้นำครอบครัว แต่เธอก็มิอาจต่อต้านคำสั่งผู้นำหมู่บ้าน หรือแม้แต่ลุง นั่นทำเมื่อเธอสูญเสียบุตรสาวทั้งสอง ไม่หลงเหลือที่พึ่งพักพิง กลายเป็นคนคลุ้มบ้าคลั่ง ไม่สามารถควบคุมตนเอง ราวกับตายทั้งเป็น
  • พี่สาวถูกนายจ้างลวงล่อหลอก ทำให้สูญเสียเกียรติ นั่นเป็นสิ่งขัดแย้งต่อขนบวิถี ธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อศรัทธาศาสนาสืบต่อกันมา ทำให้ไม่สามารถยินยอมรับเหตุการณ์บังเกิดขึ้น ตกอยู่ในความท้อแท้สิ้นหวัง ก่อนถูกเข่นฆาตกรรมโดยลุง ที่ไม่ต้องการให้วงศ์ตระกูลต้องเสื่อมเสีย ขายขี้หน้า

น้องสาวคนเล็ก Amna เริ่มต้นด้วยความน่ารักสดใส ละอ่อนวัย มาจากบ้านนอกคอกนา แต่เมื่อพบเห็นความไม่เป็นธรรมที่บังเกิดขึ้นกับพี่สาว+มารดา เธอจึงเกิดความโกรธเกลียด อาฆาตแค้น ต้องการโต้ตอบเอาคืน ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ครุ่นคิดจะทำการล้างแค้น (Revenge Film) … แนวคิดดังกล่าวสามารถมองในเชิง Feminist ได้ด้วยกระมัง

แต่ความพยายามที่ Amna จะล้างแค้นเอาคืนนายจ้างวิศวกร กลับค่อยๆผันแปรเปลี่ยน เรียนรู้จัก ทำความเข้าใจตัวตนของอีกฝ่าย นี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาขัดแย้ง สามารถคลี่คลายได้ด้วยการพูดคุย เปิดรับฟัง ปรับความเข้าใจระหว่างคนสอง ชาย-หญิง นายจ้าง-ลูกจ้าง สังคมเมือง-ชุมชนบท (หรือจะตีความถึงผู้นำ-ประชาชน) โดยไม่รู้ตัวจากเคยโกรธเกลียด อาฆาตแค้น อาจแปรสภาพสู่รักเอ็นดู ยินยอมรับ เข้าใจกันและกัน

โศกนาฎกรรมตอนจบของหนัง เหมือนเพื่อเป็นการย้ำเตือนสติผู้ชม แม้คนสองจะสามารถเรียนรู้ ปรับความเข้าใจ แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนส่วนใหญ่ยังมีความดื้อรั้น เห็นแก่ตัว ยึดติดกับวิถีทาง ความเชื่อส่วนบุคคล มันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยังต้องใช้เวลาอีกมาก กว่าสังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่คนสองฟากฝั่งจะสามารถเข้าใจกันและกัน

ความสนใจของผกก. Barakat ดูแล้วต้องการสะท้อนปัญหาสังคมมากกว่าการเมือง พยายามจะปลูกฝังแนวคิด ค่านิยมสมัยใหม่ให้กับผู้ชมชาว Egyptian อย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีทั้งสิทธิสตรี เสมอภาคเท่าเทียม ให้โอกาสผู้อื่น เปิดรับฟังความคิดเห็น ไม่ปิดกั้นตัวตนเอง และเรียนรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา


ด้วยเสียงตอบรับดีล้นหลามเมื่อเข้าฉายใน Egypt จึงมีโอกาสเดินทางไปฉายยังเทศกาลหนังเมือง Berlin และเป็นตัวแทนประเทศส่งเข้าชิงชัย Oscar: Best Foreign Language Film แต่ไม่ได้มีลุ้นรางวัลใดๆ

ปัจจุบันหนังยังไม่มีข่าวคราวการบูรณะ ฉบับที่ผมรับชมคือ DVD ของค่าย Arab Film Distribution หรือถ้าคุณมีความสามารถหาฉบับฉายออนไลน์ของ Studio Masr คุณภาพ HD พอดูแก้ขัดไปก่อน

ถึงส่วนตัวจะไม่ค่อยชอบแนวเมโลดราม่า น้ำเน่าๆ แต่ถ้าหนังมีการกำกับดีๆอย่าง The Nightingale’s Prayer (1959) ลีลาการของผกก. Barakat เต็มไปด้วยลูกเล่น ชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และแทบมิอาจละสายตาจากนักแสดง Faten Hamama เธอช่างมีความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา น่าเอ็นดูทะนุถนอม ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม จะไม่ให้ตกหลุมรักแรกพบได้อย่างไร

จัดเรต pg กับชีวิตทุกข์ยากลำบาก อาฆาตแค้น นำสู่โศกนาฎกรรมแห่งรัก

คำโปรย | The Nightingale’s Prayer ความอาฆาตแค้นของ Faten Hamama ผันแปรสู่โศกนาฎกรรมแห่งรัก ผลงานชิ้นเอกของผู้กำกับ Henry Barakat งดงาม คลาสสิก เหนือกาลเวลา
คุณภาพ | ร์พี
ส่วนตัว | รวดร้าวทรวงใน

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: