
The Old Man and the Sea (1999)
: Aleksandr Petrov ♥♥♥♥♡
หนึ่งในอนิเมชั่นงดงามที่สุดในโลก! วาดภาพสีน้ำมันด้วยมือ ทีละเฟรม ลงบนกระจก ด้วยสัมผัส Romantic Realism ดัดแปลงจากโคตรวรรณกรรมของ Ernest Hemingway คว้ารางวัล Oscar: Best Animated Short Film, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
The Old Man and the Sea (1999) เป็นอนิเมชั่นที่ผมเพิ่งรับรู้จักเมื่อปีก่อน ระหว่างพยายามทำตัวเองให้มักคุ้น Ōfuji Noburō Award รางวัลอนิเมชั่นที่ถือว่าเก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น … แต่เอ๊ะ? เรื่องนี้สร้างโดยผู้กำกับชาวรัสเซีย เป็นไปได้ยังไงกัน!
(ญี่ปุ่นเป็นประเทศเลื่องลือชาในความ ‘ชาตินิยม’ แต่รางวัลนี้ ปีนั้น กลับมอบให้อนิเมชั่นจากต่างประเทศ ครั้งแรก ครั้งเดียว มาจนถึงปัจจุบัน!)
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมต้องขวนขวายหามารับชม แล้วบังเกิดความโคตรๆประทับใจ ทุกช็อตฉากงดงามราวกับภาพวาดงานศิลปะ (Impressionism) พร้อมเรื่องราวสุดแสนเรียบง่ายแต่โคตรๆทรงพลัง แฝงสาระข้อคิดลุ่มลึกล้ำ ใกล้สิ้นปี 2022 ก็เลยเอาว่าตอนนี้แหละ เขียนถึงสักที!
Aleksandr Konstantinovich Petrov (เกิดปี 1957) นักอนิเมเตอร์ ผู้กำกับอนิเมชั่น สัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Prechistoye, Yaroslavl Oblast เมื่อตอนอายุ 10 ชนะรางวัลเกี่ยวกับการวาดรูป จึงมีความมุ่งมั่นเอาจริงจังด้านศิลปะ โตขึ้นเข้าศึกษายัง Gerasimov Institute of Cinematography (VGIK) จบมาทำงานแผนกอนิเมชั่น Armenfilm ตามด้วย Sverdlovsk film studio จนมีโอกาสกำกับภาพยนตร์คนแสดง Marathon (1988), จากนั้นหันมาสรรค์สร้างอนิเมชั่นขนาดสั้น ด้วยการวาดภาพสีน้ำมันบนกระจก
- The Cow (1989) เข้าชิง Oscar: Best Animated Short Film
- ดัดแปลงจากเรื่องสั้น The Cow (1938) ของ Andrey Platonov
- The Dream of a Ridiculous Man (1992)
- ดัดแปลงจากเรื่องสั้น The Dream of a Ridiculous Man (1877) ของ Fyodor Dostoevsky
- Mermaid (1997) เข้าชิง Oscar: Best Animated Short Film
- ดัดแปลงจากบทกวี Mermaid (1902) ของ Alexander Pushkin
- The Old Man and the Sea (1999) คว้ารางวัล Oscar: Best Animated Short Film
- ดัดแปลงจากวรรณกรรม The Old Man and the Sea (1951) ของ Ernest Hemingway
- My Love (2006) เข้าชิง Oscar: Best Animated Short Film
- ดัดแปลงจากวรรณกรรม A Love Story (1927) ของ Ivan Shmelev
(ผมคงไม่เขียนถึงเรื่องอื่นนะครับ ใครอยากรับชมก็ลองค้นหาใน Youtube น่าจะมีครบทุกเรื่อง)
หลายคนอาจมองว่าสไตล์ของ Petrov มีลักษณะของ Impressionism แต่บรรดานักวิจารณ์กลับจัดเข้าพวก Romantic Realism นั่นเพราะรายละเอียดของธรรมชาติ สรรพสัตว์ และผู้คน ล้วนถูกนำเสนอออกมาให้มีความสมจริง (Realist) ดูจับต้องได้มากที่สุด
ผลงานของ Petrov มักเลือกดัดแปลงจากวรรณกรรมเลื่องชื่อ เป็นที่รู้จัก เรื่องราวไม่ได้สลับซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ แฝงข้อคิดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมทุกเพศวัย (เคยบอกว่าก็อยากทำ ‘Feature Length’ แต่เพราะไม่สามารถสรรหางบประมาณ และลูกมือที่มีความเชี่ยวชาญการวาดภาพลงบนกระจก)
The Old Man and the Sea (1951) คือวรรณกรรมขนาดยาวเรื่องสุดท้ายของ Ernest Miller Hemingway (1899-1961) นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัล Pulitzer Prize for Fiction และ Nobel Prize in Literature
เรื่องราวของชาวประมงสูงวัย Santiago ออกหาปลาไม่ได้มา 84 วัน จนกระทั่งวันนี้พบเจอกับปลากระโทงตัวใหญ่ ต้องใช้เล่ห์เหลี่ยม ความอดทน พละกำลังที่มีอยู่ ฉุดเหนี่ยวรั้งจนสามารถใช้ฉมวกทิ่มแทง ต่อสู้เอาชนะมาได้ แต่เพราะออกทะเลมาไกล ระหว่างทางกลับถูกฝูงฉลามรุมทึ้งปลากระโทง พยายามหาหนทางขับไล่กลับไม่สามารถต่อกรอะไร มาถึงฝั่งหลงเหลือเพียงโครงกระดูก ทิ้งตัวลงนอน ทอดถอนลมหายใจ
Hemingway เป็นคนชื่นชอบการท่องเที่ยวผจญภัย หลงใหลการแล่นเรือออกหาปลามาตั้งแต่เด็ก พอเติบโตขึ้นมักหาเวลาว่างจัดทริปออกทะเลกับผองเพื่อน ประสบการณ์ถือว่าโชกโชน มีรูปถ่ายให้เห็นอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะปลากระโทงหัวแหลม (Marlin Fish) ซึ่งขึ้นชื่อลือชาในหมู่ชาวประมง ว่าเป็นหนึ่งในปลาทรงพลังที่สุดในโลก (ตัวเต็มวัยขนาดหลายร้อยกิโลกรัม สามารถล่มเรือขนาดเล็กของชาวประมงได้สบายๆ)


มีนักวิจารณ์ให้ข้อสังเกตว่า Hemingway อาจได้แรงบันดาลใจ Santiago จากชายสูงวัย/ไกด์ออกหาปลาคนหนึ่งที่พบเจอระหว่างอาศัยอยู่ Cuba แต่ผมรู้สึกว่าตัวละครนี้สามารถเปรียบเทียบแทนตัวเขาได้ตรงๆ เมื่อตอนเริ่มเขียน The Old Man and the Sea อายุย่างเข้า 51-52 ปี (ก็ถือว่าเป็นผู้สูงวัยแล้วนะ) และผลงานเรื่องก่อนหน้า Across the River and into the Trees (1950) ได้เสียงตอบรับที่ย่ำแย่ จึงต้องการท้าพิสูจน์ให้ใครต่อใครเห็นว่า ถึงฉันแก่แต่ยังไม่หมดไฟ ใช้เวลาเพียง 8 สัปดาห์ในการเขียนนวนิยายฉบับแรก และยังบอกว่า “the best I can write ever for all of my life”
เกร็ด: ภาพถ่ายขวามือด้านบนคือ Ernest Hemingway และเพื่อนสนิท Henry “Mike” Strater กับสภาพปลากระโทงที่ถูกฉลามกินไปครึ่งหนึ่ง น้ำหนักที่ชั่งได้ 500 ปอนด์/226 กิโลกรัม (คาดว่าตอนล่าน่าจะน้ำหนักไม่น้อยกว่า 1,000 ปอนด์/453 กิโลกรัม) ระหว่างทริปที่ Bahamas เมื่อปี ค.ศ. 1935
The Old Man and the Sea เริ่มต้นตีพิมพ์ลงนิตยสาร Life ฉบับเดือนกันยายน 1952 ขายหมดเกลี้ยง 5 ล้านเล่มในระยะเวลาเพียง 2 วัน เช่นกันกับหนังสือฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก 50,000 เล่ม กลายเป็น Best-Selling โดยทันที!
ด้วยความนิยมอย่างล้นหลาม แน่นอนว่าต้องถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็น
- ภาพยนตร์ The Old Man and the Sea (1958) กำกับโดย John Sturges, นำแสดงโดย Spencer Tracy เข้าชิง Oscar สามสาขา คว้ารางวัล Best Original Score (เข้าชิงอีกสองสาขาคือนำชาย และถ่ายภาพ)
- มินิซีรีย์ The Old Man and the Sea (1990) ฉายช่อง NBC นำแสดงโดย Anthony Quinn แม้เสียงตอบรับจะผสมๆ แต่ก็ได้เข้าชิง Emmy Award สามสาขา (เพลงประกอบ, ผสมเสียง, ตัดต่อเสียง)
- อนิเมชั่นขนาดสั้น The Old Man and the Sea (1999) คว้ารางวัล Oscar: Best Animated Short Film
- ฉบับ Audio Book เมื่อปี 2007 ให้เสียงโดย Donald Sutherland คว้ารางวัล Audie Award: Best Male Narrator
โปรเจคอนิเมชั่นของ The Old Man and the Sea เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 เมื่อสตูดิโอ Pascal Blais Studio ติดต่อเข้าหาผกก. Petrov อาสาออกทุนสร้าง โน้มน้าวชักชวนมาร่วมทำงานที่แคนาดา ทีแรกก็เต็มไปด้วยความโล้เล้ลังเลใจ เพราะไม่เคยออกจากรัสเซียไปอยู่ที่ไหนนานๆ แต่หลังเสร็จจากโปรเจค Mermaid (1997) ก็ตัดสินใจมุ่งสู่ Montreal พร้อมครอบครัว ปักหลักอาศัยอยู่สองปีเต็ม ตั้งแต่เดือนมีนาคม 1997 ถึงเมษายน 1999
วิธีการทำงานของ Petrov คือลงสีน้ำมันบนกระจกใส บางครั้งก็ใช้แปรงวาด แต่เห็นว่าส่วนใหญ่ใช้นิ้วเพราะสะดวกกว่ามาก และเมื่อภาพเสร็จก็ต้องหยุดพักรอให้สีแห้ง ถึงสามารถเริ่มต้นเฟรมถัดไป (เพราะการทำอนิเมชั่น ต้องนำเอาภาพจากเฟรมก่อนมาเปรียบเทียบกับเฟรมปัจจุบัน) ระยะเวลา 20 นาที อัตราเร็ว 24 fps รวมแล้วประมาณ 29,000+ เฟรม (โดยเฉลี่ยวันหนึ่งวาดได้ประมาณ 14-15 ภาพ)
เกร็ด: เทคนิคดังกล่าวมีคำเรียกว่า Paint-on-Glass Animation
ผลงานก่อนหน้านี้ ขนาดเฟรมภาพที่ Petro ทำการแต่งแต้มลงสีเท่ากับแค่กระดาษ A4 แต่เพราะอนิเมชั่นเรื่องนี้วางแผนจะฉายในโรง IMAX จึงจำเป็นต้องขยายขนาดขนาดภาพขึ้นกว่า 4 เท่า (น่าจะเทียบเท่ากระดาษ A1 เลยกระมัง) แถมยังต้องสร้างเครื่อง Rotoscoping (สำหรับทำอนิเมชั่น)ที่สามารถรองรับขนาดกล้อง IMAX ขึ้นมาโดยเฉพาะ
เพลงประกอบโดย Denis L. Chartrand และ Normand Roger ใช้ออร์เคสตราเต็มวงสรรค์สร้างบทเพลงขับเน้นพลังและอารมณ์ ฟังดูเรียบง่าย ธรรมดาๆทั่วไป แต่รู้สึกซาบซ่าน สั่นสะท้านทรวงใน
- ช่วงครึ่งแรกแทบจะได้ยินแต่เครื่องเป่า เสียงขลุ่ยมีความโหยหวนล่องลอย แทนความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ชายสูงวัยกำลังหวนระลึกความทรงจำ เมื่อครั้นยังหนุ่มแน่น เข้มแข็งแกร่งไม่เป็นสองรองใคร
- ระหว่างการต่อสู้กับปลากระโทง ท่วงทำนองรุกเร้า กระหึ่มอลังการ สร้างความตื่นเต้นเร้าใจ ราวกับมันคือการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
- และขณะเผชิญหน้าฝูงฉลาม เสียงเครื่องสาย เชลโล่ ไวโอลิน แทนความเจ็บปวดรวดร้าว เสียดแทงทรวงใน ทุกสิ่งอย่างที่ฉันอุตส่าห์ทำมา หมดสิ้นสูญคุณค่า ไม่หลงเหลืออะไร
No good book has ever been written that has in it symbols arrived at beforehand and stuck in …. I tried to make a real old man, a real boy, a real sea and a real fish and real sharks. But if I made them good and true enough they would mean many things.
Ernest Hemingway
มองผิวเผิน The Old Man and the Sea คือเรื่องราวของชายสูงวัยที่ยังไม่อยากแก่ ต้องการพิสูจน์ให้ใครต่อใครเห็นว่าตนเองยังมีความเข้มแข็งแกร่ง ใช้ประสบการณ์ต่อสู้เอาชนะปลากระโทงยักษ์ ล้มล้างคำสาป 84 วัน แต่ความฝันดังกล่าวก็พลันล่มสลาย พังทลายเหลือเพียงโครงกระดูก เพราะความดื้อรั้น ไม่เจียมสังขาร ล่องเรือออกทะเลไกลเกินไป ทำให้ระหว่างทางกลับพบเจอฝูงฉลาม มิอาจตอบโต้กระทำสิ่งใดๆ โชคดีขนาดไหนสามารถเอาตัวรอดถึงฝัง
นี่คือเรื่องราวของบุคคลผู้มากด้วยทิฐิ เย่อหยิ่งทะนงตน ครุ่นคิดว่าฉันเก่ง ต้องการพิสูจน์ตนเองว่ายังสามารถทำอะไรๆได้ทุกสิ่งอย่าง แต่ชีวิตไม่ต่างจากคลื่นลม มีขึ้นมีลง เดี๋ยวพายุ-เดี๋ยวลมสงบ เมื่อเคยไต่เต้าถึงจุดสูงสุด ก็ต้องหวนกลับสู่สามัญ ไม่มีใครอยู่ยงคงกระพัน พอสังขารเริ่มไม่เที่ยง ก็ควรเรียนรู้จักเพียงพอแล้วได้แล้วหรือยัง!
สิ่งแท้จริงที่ชายสูงวัยพยายามต่อสู้นั้น ไม่ใช่แค่ปลากระโทง หรือฝูงฉลาม แต่คือธรรมชาติของชีวิต เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย นั่นคือสัจธรรมความจริงที่ไม่มีผู้ใดสามารถเอาชนะ ต่อให้พยายามดื้อรั้นดึงดันสักเพียงไหน ท้ายที่สุดทุกคนเกิดมาย่อมต้องแก่ตาย แล้วว่ายเวียนวนอยู่ในวัฎฎะสังสาร
จู่ๆผมนึกถึง Cristiano Ronaldo (คงเพราะยังอยู่ในช่วงกระแสฟุตบอลโลกกระมัง) จริงอยู่ว่าคือนักฟุตบอลระดับตำนาน GOAT (Greatest of All-Time) แต่อายุอานามที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ศักยภาพร่างกายค่อยๆลดน้อยถอยลง ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับทีมเมื่อเทียบกับเด็กๆรุ่นใหม่ พอถูกโค้ชลดบทบาทเป็นตัวสำรองก็แสดงอาการไม่พึงพอใจ แถมแฟนคลับหนุนหลังก็ยิ่งหลงระเริงเข้าไปใหญ่ แบบนี้เรียกว่าไม่รู้จักเจียมสังขาร ต่างอะไรกับชายสูงวัย Santiago
นวนิยาย The Old Man and the Sea คือความดื้อรั้นของ Hemingway เพราะผลงานก่อนหน้าได้เสียงตอบรับที่ย่ำแย่ จึงต้องการท้าพิสูจน์ตนเองว่ายังมีศักยภาพ ความสามารถในการครุ่นคิดเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ แถมทำตัวเหมือนวัยสะรุ่น ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน โดยไม่ดูแลสังขารเลยสักนิด!
ตอนผมพบเจอว่า The Old Man and the Sea คือนวนิยายขนาดยาวเล่มสุดท้ายของ Hemingway ก็ตระหนักว่าเขาคงรับรู้ตัวเองถึงศักยภาพในการเขียนหนังสือที่ถดถอยลงมากๆ แม้ผลงานเล่มนี้จะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่เจ้าตัว(เมื่อเขียนเสร็จ)คงมีสภาพไม่ต่างจาก Santiago เหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า หมดสิ้นเรี่ยวแรงกาย-ใจ ไม่ใคร่อยากหวนกลับมาครุ่นคิดเขียนอะไรยาวๆอีกต่อไป
ปล. จริงๆแล้ว Hemingway ยังเขียนเรื่องสั้น วางแผนนวนิยายขนาดยาว แต่เพราะประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกสองครั้งที่แอฟริกา เลยต้องนอนซมซานอยู่บนเตียงหลายเดือน จึงหลงเหลือเพียงสมุดจดบันทึก (memoir) ก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่อปี ค.ศ. 1961
ทั้งอาชีพนักเขียน และนักทำอนิเมชั่น ต่างเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวลำพัง ไม่ต่างจากอาชีพชาวประมงหาปลาของ Santiago (จริงๆชาวประมงออกเรือใหญ่ก็ได้ แต่เรื่องราวจงใจนำเสนอแบบนี้เพื่อสะท้อนถึง Hemingway และ Petrov อย่างตรงไปตรงมา)
ภาพยนตร์อนิเมชั่นของผกก. Petrov แม้มีความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ แต่กลับไม่ได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ นั่นเพราะวิธีการอันยุ่งยาก ต้องใช้การฝึกฝน อดรนทน และประสบการณ์ทำงานค่อนข้างมาก จึงมีนักอนิเมเตอร์เพียงไม่กี่คน ค่าจ้างก็คงไม่ดีเท่าไหร่ (เมื่อเทียบกับอนิเมะหรือ 3D ที่ถือเป็นกระแสหลักของวงการอนิเมชั่น) คงยากจะพบเห็นการเติบโตไปมากกว่านี้
แต่ผกก. Petrov ยังไม่ได้แก่เกินแกงเหมือน Santiago นะครับ (ตอนสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้อายุยังแค่ 40+ ปี) และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือบุตรชายของเขา Dmitri Petrov เป็นส่วนหนึ่งของทีมอนิเมเตอร์ นี่อาจสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชายสูงวัยกับเด็กชาย Manolin ได้เลยกระมัง
The Old Man and the Sea (1999) คืออนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้ฉายบนจอภาพยนตร์ IMAX (ก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยมีอนิเมชั่นได้ฉาย เพราะถูกมองว่าไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับระบบ IMAX) ตั้งแต่รอบปฐมทัศน์ที่ Bradford Animation Festival ณ ประเทศอังกฤษ, จากนั้นก็ออกเดินทางไปกวาดรางวัลจากทั่วโลก
- คว้ารางวัล Oscar: Best Animated Short Film
- เข้าชิง BAFTA Award: Best Animated Short Film
- คว้ารางวัล Ōfuji Noburō Award
ปัจจุบันอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังมีจัดจำหน่ายเพียง DVD หรือหารับชมออนไลน์ได้ทาง Youtube (รวมถึงผลงานอื่นๆของผกก. Aleksandr Petrov) แต่คุณภาพไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ หวังว่าสักวันคงจะมีฉบับสมบูรณ์กว่านี้ออกมา
เมื่อตอนผมรับชมอนิเมชั่นเรื่องนี้ครั้งแรก แม้มีความชื่นชอบประทับใจอย่างมากๆ แต่ยังไม่ตระหนักถึงเนื้อหาสาระ ความงดงามแท้จริงว่าคืออะไร? หวนกลับมารอบนี้ในที่สุดก็สามารถทำความเข้าใจหลายๆสิ่งอย่างเพิ่มเติม จึงเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ยกย่องให้คือหนึ่งในผลงาน/วรรณกรรมยอดเยี่ยมที่สุดของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้!
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จากความงดงาม เรียบง่าย แต่โคตรๆทรงพลังของอนิเมชั่นเรื่องนี้ เต็มไปด้วยสาระข้อคิดอันเป็นประโยชน์ต่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รับชมได้ทุกเพศวัย (จัดเรตทั่วไป) ความยาวแค่ยี่สิบนาทีเอง อย่าให้เสียชาติเกิด!
Leave a Reply