The Omen

The Omen (1976) hollywood : Richard Donner ♥♥♡

ผลงานจากว่าที่ผู้กำกับ Superman (1978), Lethal Weapon (1987) นำแสดงโดย Gregory Peck, Lee Remick เมื่อลูกชายของพวกเขาเกิดวันที่ 6 เดือน 6 เวลา 6 โมงเย็น ตามคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ถือว่าเป็นลูกของซาตาน (Antichrist) เป้าหมายของเด็กเวรนี่เกิดมาทำไม?

สำหรับคนที่อ่านพระคัมภีร์คงสามารถรับรู้ได้ ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของวันสิ้นโลก (Judgement Day) แต่ถ้าไม่รู้ไม่ได้สนใจ ตอนจบของหนังเรื่องนี้จะค้างคาใจคุณอย่างสุดๆ จนอาจอยากขวนขวายหาภาคต่อมารับชมโดยทันที ถ้าคุณมีความชื่นชอบหนังระดับนั้นก็หามาดูให้ครบทั้ง 4-5 ภาคนะครับ แต่ถ้าไม่เท่าไหร่จะช่างหัวมันก็ได้ ผมไม่คิดว่าแฟนไชร์นี้จะมีคุณประโยชน์สาระอะไรมากมายนอกจาก ความบันเทิงหลอนๆ การตายแปลกๆ และตีความจากหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation)

สำหรับ 3 ภาคหลักของ The Omen ประกอบด้วย
– The Omen (1976)
– Damien: Omen II (1978) นำแสดงโดย William Holden
– Omen III: The Final Conflict (1981) นำแสดงโดย Sam Neill

ฉบับภาพยนตร์โทรทัศน์
– Omen IV: The Awakening (1991)

ฉบับ remake
– The Omen (2006)

ฉบับซีรีย์ช่อง A&E เนื่องจากคำวิจารณ์ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน เช่นกันกับเรตติ้ง ทำให้มีเพียงซีซันเดียวเท่านั้น
– Damien (2016)

ใครสนใจอ่านที่มาที่ไปของหนังโดยละเอียด ผมไปเจอกระทู้ใน pantip ที่ถ่ายรูปบทความจากนิตยสาร PULP สนใจคลิกอ่านเองเลย LINK: https://pantip.com/topic/30617400

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากคำแนะนำแนวคิด Antichrist ของ Bob Munge ที่หลังจากได้อ่านหนังสือวิวรณ์ (Book of Revelation) เล่มที่ 27 หรือเล่มสุดท้ายในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ ซึ่งในตอนที่สี่ที่เป็นการพยากรณ์เสนอแนะแนวคิด ‘ถ้าศัตรูแห่งพระคริสต์มีตัวตนจริง และกำลังเดินอยู่บนโลกใบนี้ในร่างของเด็กคนหนึ่ง เรื่องน่าสะพรึงกลัวแบบไหนจะตามมา’

นำเสนอแนวคิดนี้ต่อโปรดิวเซอร์เพื่อนสนิท Harvey Bernhard ที่เกิดความสนใจอย่างยิ่ง เขียนบทร่างคร่าวๆเพื่อส่งให้กับนักเขียนหลายๆคน แต่ส่วนใหญ่ล้วนปฏิเสธเพราะไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับเรื่องศาสนา ก่อนมาลงเอย David Seltzer ที่ตอนแรกปฏิเสธ แต่เปล่ยนใจเพราะมาระลึกได้ว่าตัวเองไม่เคยอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ลสักครั้ง นี่น่าจะเป็นโอกาสดี ใช้เวลา 1 ปีเต็มในการพัฒนาบท (คงเสียเวลากับการศึกษาข้อมููล และอ่านพระคัมภีร์แบบจริงจัง)

หลังจากบทหนังเสร็จสิ้น Bernhard นำโปรเจคไปเสนอ Warner Bros. เพราะเป็นผู้อนุมัติสร้าง The Exorcist แต่เพราะสตูดิโอมีแฟนไชร์นี้อยู่แล้ว กำลังง่วงกับการทำภาคต่อ มีหรือจะสนใจโปรเจคลูกเมียน้อย, จนกระทั่งบทหนังส่งผ่านไปถึงมือผู้กำกับ Richard Donner ที่ล้มเหลวกับการสร้างหนังมาหลายเรื่อง เลยหันไปเอาดีกับภาพยนตร์โทรทัศน์จนโด่งดังกับซีรีย์ The Twilight Zone (1963) และ The Wild Wild West (1965) หลังจากอ่านบทก็ถึงกับวางไม่ลง นำโปรเจคนี้ไปเสนอต่อกับสตูดิโอ Fox ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติทุนสร้างโดยทันที (คงตั้งใจให้เป็นคู่แข่งกับ The Exorcist ตรงๆเลยละ)

Richard Donner (เกิดปี 1930) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York ในครอบครัวชาว Jews เข้าสู่วงการด้วยความตั้งใจเป็นนักแสดง แต่ได้เริ่มต้นจากเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก X-15 (1961) ตามด้วย Salt and Pepper (1968) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จนกระทั่ง The Omen (1976) เพราะความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ทำให้เขาได้สร้าง Superman (1978), The Goonies (1985), Lethal Weapon Series ฯ

แซว: Superman ผลงานชิ้นเอกของ Donner ว่ากันตามตรงมีใจความแฝงเรื่อง พระเจ้า/ปีศาจ หนักๆพอๆกับเรื่องนี้เลยนะครับ

ความตั้งใจของ Donner กับ The Omen ไม่อยากทำออกมาให้เป็นเรื่องผีๆสางๆ เต็มไปด้วยเวทย์มนตร์คาถา ปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ตายเว่อๆเป็นไปไม่ได้ ต้องการที่จะสร้างมีความสมจริง น่าเชื่อถือ จับต้องได้ เป็นการตายโดยบังเอิญที่เหมือนจะมีเหตุผลรองรับ นี่ต่างหากจะเป็นสิ่งกระแทกกระทั้นอารมณ์ผู้ชมได้ลึกกว่า

เห็นว่า Donner มีความหวาดกลัวในตำนาน ‘Omen curse’ เป็นอย่างยิ่ง เพราะเขามีความเชื่อ ศรัทธา ในศาสนาอย่างแรงกล้า ตลอดการถ่ายทำก็รู้สึกหวาดกลัวขนหัวลุก โชคดีที่ตอนจบของหนังเลือกให้…รอดชีวิต ตัวเขาในฐานะผู้กำกับจึงไม่ถูกอาถรรพ์นี้ครอบงำ

ที่กรุงโรม นักการทูตชาวอเมริกัน Robert Thorn (รับบทโดย Gregory Peck) อยู่ในโรงพยาบาลกับภรรยา Katherine (รับบทโดย Lee Remick) ที่ได้ให้กำเนิดบุตรชายในวันที่ 6 เดือน 6 ปี เวลา 6 โมงเย็น แต่กลับเสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ ขณะนั้นบาทหลวงคนหนึ่ง เข้ามาแนะนำให้เขารับเลี้ยงเด็กชายอีกคนหนึ่งที่คลอดลูกในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน แต่แม่ของเด็กเสียชีวิตกลายเป็นกำพร้า ด้วยความปรารถดีจึงยินยอมรับ แต่หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังมีเรื่องราวความชั่วร้ายแฝงอยู่

นำแสดงโดย Gregory Peck (1916 – 2003) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ La Jolla, California ในครอบครัว Catholic โตขึ้นมีความตั้งใจที่จะเป็นหมอ แต่ไปๆมาๆกลายเป็นนักแสดง เริ่มต้นมีผลงานละครเวที ตามด้วยภาพยนตร์เรื่องแรก Days of Glory (1944) ได้เข้าชิง Oscar: Best Actor ถึง 5 ครั้ง โดย 4 ครั้งแรกไม่เคยได้รางวัล มาจากช่วง 5 ปีแรกในวงการ The Keys of the Kingdom (1944), The Yearling (1946), Gentleman’s Agreement (1947), Twelve O’Clock High (1949)

สำหรับผลงานที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ได้รับการจดจำสูงสุด และทำให้คว้า Oscar สำเร็จคือ To Kill a Mockingbird (1962)

Robert Thorn จากนักการทูตกลายเป็นท่านทูตประจำกรุง London ประเทศอังกฤษ เป็นคนมีฐานะ มีหน้าตาทางสังคมสูง ทำให้พอได้พบเจอเรื่องราวผิดปกติแปลกประหลาดมากมาย ก็มีหลายคน -บาทหลวง, ตากล้อง- พยายามให้คำแนะนำช่วยเหลือ แต่ด้วยความเป็นคนไม่เชื่ออะไรใครง่ายๆ ทำให้ทุกสิ่งอย่างล่าช้าเสียโอกาส จนคนรอบข้างจากไปหมดแล้ว ถึงค่อยมารู้ตัวเมื่อตอนสาย

สำหรับบทบาทนี้ ทีแรกผู้สร้างมองหานักแสดงที่มีหน้าตาคล้ายออกมาจากพระคัมภีร์ เล็ง Charlton Heston แต่ได้รับการปฏิเสธด้วยความยโสโอหัง, William Holden ปฏิเสธเพราะไม่ชอบบทหนัง [แต่เขายินยอมรับบทในภาคต่อ Damien: Omen II (1978)], ก่อนมาลงเอย Gregory Peck ที่ตอนนั้นกึ่งๆรีไทร์ ชีวิตกำลังตกต่ำไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ลูกชาย Jonathon ฆ่าตัวตาย นี่เป็นบทบาทของพ่อจิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ขัดแย้งด้วยความสำนึกผิดของตนเอง

Peck ตัดสินใจหั่นค่าตัวลงอย่างเยอะเพื่อให้หนังสร้างได้ เหลือเพียง $250,000 เหรียญ แลกกับ 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อหนังทำกำไร ปรากฎว่าหลังจากหนังประสบความสำเร็จ นี่เป็นภาพยนตร์ที่รวมแล้ว Peck ได้ค่าตัวสูงสุดในชีวิตของเขา

Lee Ann Remick (1935 – 1991) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Quincy, Massachusetts ลูกของนักแสดง Gertrude Margaret ทำให้เธอมีความสนใจด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เข้าเรียนเต้นที่ Swaboda School of Dance การแสดงที่ Barnard College และ Actors Studio เริ่มต้นมีผลงานละครเวที Broadway เรื่อง Be Your Age (1953) เข้าตาผู้กำกับ Elia Kazan สมทบเรื่อง A Face in the Crowd (1957)

Remick เข้าชิง Oscar: Best Actress จากเรื่อง Days of Wine and Roses (1962) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Anatomy of a Murder (1959), Wild River (1960), The Detective (1968), The Europeans (1979) ฯ

Katherine Thorn ภรรยาที่รักสามียิ่ง วาดฝันเห็นเขากลายเป็นประธานาธิบดี แม่ที่รักลูกยิ่งกว่าสิ่งใด ตอนแรกไม่รู้ว่านั่นไม่ใช่ลูกจริงๆของเธอ แต่ด้วยสัญชาตญาณเพศแม่ ทำให้รับรู้ความจริงได้โดยไม่ต้องเอ่ยกล่าว

มีฉากหนึ่งของ Remick ที่แสดงความตกตะลึงสะพรึงกลัวอย่างมาก ขณะฝูงลิง Baboon โจมตีรถของเธอ ดวงตาท่าทางมีปฏิกิริยาออกมาโดยธรรมชาติไม่มีปรุงแต่ง, วิธีการที่ใช้คือ จับลูก Baboon ตัวหนึ่งใส่ในรถ ทีแรกพวกลิงก็ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาอะไร แต่พอยกขึ้นให้พวกมันเห็นเต็มๆ กรูเข้ามารุมล้อมรถอย่างบ้าคลั่ง

สำหรับนักแสดงที่ถือว่าหายากสุดของหนัง คือเด็กชายผู้จะมารับบท Damien Thorn ผู้กำกับใช้วิธีการบอกกับเด็กๆที่มาสัมภาษณ์ ให้วิ่งเข้ามาโจมตีเขาอย่างรุนแรงที่สุด ซึ่งก็ได้ Harvey Spencer Stephens เด็กชายวัย 4 ขวบ ที่ทั้งกรีดร้อง มือสองข้างตะกรุตระกาย ขาเตะเข้าที่หน้าแข้ง ด้วยความบ้าระห่ำเหลือเกิน เลยได้รับเลือก

Stephens เป็นคนผมสีบลอนด์โดยธรรมชาติ จำต้องย้อมผมดำเพื่อให้เข้ากับบทบาท รวมถึงสวมคอนแทคเลนส์เพื่อให้นัยน์ตามีสีดำ, ว่าไปบทบาทของ Stephens แทบไม่มีอะไรเลยนอกจากจ้องมอง แสดงออกว่าเหมือนเด็กเกเร ซึ่งในชีวิตจริงเขาก็เป็นเช่นนั้น ค่อนข้างเกเรซุกซนเอาแต่ใจ หลังจากเรื่องนี้เคยได้บทตัวประกอบเล็กๆ แล้วก็ไม่ข้องแวะในวงการภาพยนตร์อีกเลย

สำหรับนักแสดงที่ถือว่าเป็นตัวแย่งซีนคือ Mrs. Baylock (รับบทโดย Billie Whitelaw) พี่เลี้ยงที่ตัวจริงเป็นผู้พิทักษ์บุตรแห่งปีศาจ, ตั้งแต่ฉากแรกที่ปรากฎตัว ก็สร้างความพิศวงให้กับผู้ชมว่าจะมาดีมาร้าย จนกระทั่งได้พบกับ Damien ใครๆคงบอกได้ว่าเธอไม่มาดีแน่

Billie Honor Whitelaw (1932 – 2014) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Coventry, Warwickshire กลายเป็นนักแสดงเด็กตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ตามโรงละครและรายการวิทยุ มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก The Sleeping Tiger (1954) ไม่ได้โด่งดังมีชื่อเสียงเท่าไหร่ ชื่นชอบการแสดงละครเวทีมากกว่า ผลงานพอคุ้นหูบ้าง อาทิ Mr. Topaze (1961), Frenzy (1972), Hot Fuzz (2007) ฯ

สำหรับหนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นผลงานได้รับเสียงชื่นชมที่สุดของเธอ ทำให้ Mrs. Baylock มีความพิศวงร้ายลึก ท่าทางสงบเสงี่ยมแต่มารยาเฉไฉ ทำทุกอย่างเพื่อปกป้อง Damien โดยไม่สนว่าจะชั่วร้ายยังไง มีความน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เจอที่ไหนอย่าเอามาให้ดูแลเลี้ยงลูกของคุณนะครับ

ถ่ายภาพโดย Gilbert Taylor ตากล้องในตำนานสัญชาติอังกฤษ ที่ตอนนั้นอยู่ในช่วงกึ่งพักร้อนอยู่หลายปี กลับมารับงานถ่ายภาพอีกครั้ง แถมยังแนะนำให้ผู้กำกับถ่ายทำด้วยระบบ Panavision, ผลงานในตำนานของ Taylor อาทิ A Hard Day’s Night (1964), Dr. Strangelove (1964), Repulsion (1965), Macbeth (1971), Frenzy (1972), Star Wars (1977) ฯ

หนังมีช็อต Close-Up ระยะใกล้บ่อยครั้งทีเดียว เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นปฏิกิริยา สีหน้า รอยยิ้ม นัยน์ตา (มองเข้าไปในดวงตา จะเห็นแสงสว่างดวงหนึ่งเสมอ) สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของตัวละคร อารมณ์ความรู้สึก ตัวตนดีชั่ว สังเกตได้โดยทันทีว่าใครมาดีมาร้าย หวาดกลัวขี่เยี่ยวเล็ดราด

สำหรับช็อตที่ผมชอบสุดของหนังอยู่ตรงบันไดบ้าน Katherine สั่งให้ Mrs. Baylock พา Damien ไปแต่งตัว แต่เธอพยายามหาข้ออ้างขัดขืน, ช็อตนี้เลือกตำแหน่งตรงบันได มุมกล้องมีความลึกสูงต่ำสามเส้า (สามเหลี่ยม) สะท้อนบางสิ่งอย่างของตัวละครได้อย่างน่าสนเท่ห์

ตัดต่อโดย Stuart Baird ขาประจำของ Donner ผลงานเด่น อาทิ Superman (1978), Lethal Weapon (1987), Die Hard 2 (1990), Casino Royale (2006), Skyfall (2012) ฯ

เล่าเรื่องโดยใช้มุมมองของ Robert Thorn แทบทั้งหมด ยกเว้นบางครั้งในฉากการตาย ก็จะใช้ในมุมมองของตัวละครนั้น, ผมชอบฉากหนึ่งในสุสาน หนังใช้สายตาของฝูงสุนัข Rottweiler จับจ้องมองพระเอกและเพื่อนร่วมชะตา ผ่านดงพุ่มไม้โดยรอบ มีลักษณะเหมือนปีศาจที่กำลังแอบมองเหยื่อ ให้สัมผัสที่หลอนๆสะพรึงยังไงชอบกล

เกร็ด: เดิมทีทีมงานฝึกสุนัขพันธุ์ German Shepard ไว้ แต่พอเอาไปถ่ายทำที่อังกฤษติดขัดเรื่องกฎหมาย จึงต้องไปหาสุนัขพันธุ์ใหม่จนได้ Rottweiler ที่โหดดุกว่าหลายเท่า

เกร็ด 2: คำเรียกที่ไม่เป็นทางการของสุนัขประเภทนี้คือ Hellhound ใครเล่นเกมบ่อยน่าจะคุ้นๆอยู่บ้าง

สำหรับเพลงประกอบ Bernhard และ Donner มีความเห็นตรงกัน ต้องการว่าจ้าง Jerry Goldsmith หลังจากได้รับฟังการแสดงคอนเสิร์ตที่ Hollywood Bowl เมื่อต้นปี รู้สึกว่ามีกลิ่นอายสไตล์ เข้ากับหนังเรื่องนี้เป็นมาก จึงเข้าไปขอเงินเพิ่มกับ Alan Ladd Jr. ผู้บริหารสูงสุดของ Fox ขณะนั้น ได้เงินมาถึง $25,000 เหรียญ จะว่าความสำเร็จของหนัง ครึ่งหนึ่งเกิดจากเพลงประกอบของ Goldsmith นี้แหละ

งานเพลงของ Goldsmith สร้างบรรยากาศความตึงเครียด สั่นประสาท ขวัญผวา โดยเฉพาะกับการขับร้องประสานเสียง Choral และบทสวดภาษาละติน, สำหรับบทเพลง Ave Satani (หรือ Ave Satana) เป็นการล้อกับบทเพลงสรรเสริญพระแม่มารีย์ Ave Maria ลองฟังดูนะครับ หลอนแบบขนลุกขนพองทีเดียว
– sanguis bibimus แปลว่า We drink the blood
– corpus edimus แปลว่า We eat the body
– tolle corpus Satani แปลว่า Raise the body of Satan
– ave, ave Versus Christus! แปลว่า Hail, Hail Antichrist!
– ave Satani! แปลว่า Hail Satan!

ขอที่จะไม่วิเคราะห์ วิพากย์ถึงการตีความพระคัมภีร์ของหนังนะครับ เพราะผมไม่ใช่ผู้รอบรู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ต่อให้เขียนไปก็อาจไม่ถูกต้องเหมาะสม จะเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นเสียเปล่าๆ กระนั้นจะพูดถึงอีกใจความสำคัญหนึ่งที่ผู้ชมทั่วไปต่างศาสนาก็สามารถมองเห็นพอเข้าใจได้

หัวอกของคนเป็นพ่อ ที่ต้องแบกรับภาระตัดสินใจบางอย่าง
– ตอนที่ภรรยาให้กำเนิดบุตรแล้วเสียชีวิต มันเป็นความเศร้าโศกผิดหวังยากจะทำใจ แต่เมื่อใครสักคนยื่นข้อเสนอทางมนุษยธรรมให้ ราวกับพระเจ้าประทานมา (แต่เป็นซาตานประทานให้) คนส่วนใหญ่คงยินยอมรับ ไม่มีใครคาดคิดถึงอนาคตหรอก เพราะเด็กเกิดใหม่ไม่มีหรอกดีชั่ว ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งกายใจ
– เมื่อ Damien โตขึ้น หนังอ้างว่าเป็นผู้กระทำให้ทุกสิ่งอย่างบังเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเราสามารถมองว่าเป็นอุบัติเหตุ ความบังเอิญ โชคชะตา ซึ่งพ่อจะค่อยๆถูกโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมจนหลงเชื่อ สิ่งการันตีปานเกิด 666 ก็ใช่ว่าจะแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่วินาทีสุดท้ายนั้น เขากลับเลือกตัดสินใจ แบกรับภาระการเสียสละด้วยตนเอง

ผลลัพท์ตอนจบของหนังสร้างความคับข้องใจให้ผมเล็กน้อย เพราะเหมือนว่า การตัดสินใจที่ถูกต้องของพ่อ ได้ถูกสังคมต่อต้าน ปฏิเสธ ขัดขวาง ทำให้เกิดความพ่ายแพ้ ไม่สามารถกระทำสิ่งนั้นสำเร็จลงได้ (ถูกความมีมนุษยธรรมครอบงำสิ่งไม่มีมนุษยธรรม)

มองใจความนี้ได้อีกอย่างคือ ความล่าช้าชะล่าใจในการคิดตัดสินของพ่อ/มนุษย์ ปล่อยปะละเลยเถิด จนทุกสิ่งอย่างไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ทันแล้ว ถึงค่อยมาสำนึกคิดได้ ซึ่งมันคงไม่มีประโยชน์อะไรแล้วอีกต่อไป

ชื่อหนังแรกสุดตั้งว่า The Anti-Christ แต่สตูดิโอ Fox แนะนำให้หาชื่อที่มีความเบากว่านี้ ตอนแรกได้เป็น The Birthmark ก่อนลงเอยที่ The Omen ถือว่าเข้ากับหนังมากไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

หนังใช้วิธีการประชาสัมพันธ์เลียนแบบความสำเร็จของ Jaws (1975) จัดฉายรอบ Sneak Previews วันที่ 6 มิถุนายน 1976, โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์เต็มไปด้วยเลข 666, และคำโปรยประมาณว่า
– Good morning. You are one day closer to the end of the world.
– Remember … you have been warned.
– It is a warning foretold for thousands of years. It is our final warning. It is The Omen.

ด้วยทุนสร้าง $2.8 ล้านเหรียญ ประเมินว่าใช้ทุนโฆษณาเท่าๆกันอีก $2.8 ล้านเหรียญ ออกฉายพร้อมกันทั่วอเมริกา ผลลัพท์สัปดาห์แรกโกยเงินเข้ากระเป๋า $4.27 ล้านเหรียญ รวมรายรับทั้งหมดเฉพาะอเมริกา $60.9 ล้านเหรียญ กำไรมหาศาล (ทำให้สตูดิโอมีเงินให้ George Lucas สร้าง Star Wars เพียงพอ)

หนังเข้าชิง Oscar 2 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Music, Original Score ** คว้ารางวัล
– Best Music, Original Song บทเพลง Ave Satani

สาขาเพลงในปีนั้นถือว่าเซอร์ไพรสพอสมควร เพราะตัวเต็งคือเรื่อง A Star Is Born (1976) ซึ่งคว้า Best Original Song จากบทเพลง Evergreen (Love Theme from A Star Is Born) แต่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้เข้าชิง Best Original Score เพราะบทเพลงส่วนใหญ่ไม่ใช่ Original

กระนั้นการที่ The Omen คว้า Best Original Score ก็มีข้อกังขาเล็กๆ เพราะ Bernard Herrmann ที่เพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้าประกาศรางวัล มีชื่อเข้าชิงถึง 2 เรื่องคือ Obsession (1976) และ Taxi Driver (1976) คาดว่าไปตัดคะแนนโหวตกันเอง ทำให้ Jerry Goldsmith ที่ไม่คิดจะไปร่วมงานประกาศรางวัลด้วยซ้ำ (เพราะพลาดมาหลายครั้งแล้ว) สามารถคว้า Oscar ได้ครั้งแรกแถมเป็นครั้งเดียวในชีวิต จากการเข้าชิงทั้งหมดถึง 18 ครั้ง

ส่วนตัวรู้สึกเฉยๆ ไม่ค่อยอินกับหนังเรื่องนี้เสียเท่าไหร่ คงเพราะเรื่องราววันสิ้นโลกตามคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนศาสนาอื่นเช่นผม และเมื่อเทียบกับ Rosemary’s Baby (1968) หรือ The Exorcist (1973) ที่เป็นแนว Evil Child เด็กชาย Damien แทบจะไม่มีความน่ากลัวสยดสยองแม้แต่น้อย น้ำนิ่งไหลลึกมว๊ากก

แต่ที่ค่อนข้างชอบอย่างมาก คือบทเพลงประกอบของ Jerry Goldsmith สร้างสีสันความแปลกใหม่ และรสสัมผัสที่ลงตัวให้กับหนัง ในแบบที่คาดไม่ถึงเลยละ (รู้สึกว่า Goldsmith จะทำเพลงให้กับไตรภาคแรกของ The Omen ทุกเรื่องนะครับ)

แนะนำกับคอหนังแนว Horror เหนือธรรมชาติ อิงพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์, ชื่นชอบเพลงประกอบของ Jerry Goldsmith, แฟนๆผู้กำกับ Richard Donner นักแสดง Gregory Peck และ Lee Remick ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความตาย เด็กเวร และเรื่องราวอิงความเชื่อศาสนา

TAGLINE | “The Omen คือความพยายามตีความวันสิ้นโลกตามคัมภีร์ไบเบิ้ล แล้วคนศาสนาอื่นจะมีความเข้าใจได้ยังไง!”
QUALITY | THUMB UP
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: