The Passion of Joan of Arc

The Passion of Joan of Arc (1928) French : Carl Theodor Dreyer ♠♠♠♠♠

(13/12/2016) มี 2 สิ่งที่ทำให้ La Passion de Jeanne d’Arc หนังเงียบสัญชาติฝรั่งเศสเรื่องนี้ ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก, หนึ่งคือการแสดงของ Renée Jeanne Falconetti มีความสมจริง สัมผัสได้ถึงภายใน และสองคือ แนวทางการกำกับของ Carl Theodor Dreyer ที่ประดิษฐ์ภาษาภาพยนตร์ นำเสนอออกมาได้เป็นสากลที่สุด

The Passion of Joan of Arc เป็นหนังเงียบเรื่องแรกๆที่ผมมีโอกาสดู แล้วอึ้งทึ่งในประสิทธิผลของหนัง ไม่เคยคิดมาก่อนว่า หนังเงียบที่ไม่มีเสียง แต่กลับสามารถทำให้รู้สึกหวาดกลัว ใจหวิวๆ ทุกข์ทรมานได้เพียงนี้ นั่นทำให้ผมไม่ค่อยอยากรับชมหนังเรื่องนี้บ่อยครั้งนัก ยกขึ้นหิ้งเอาไว้ เพราะหยิบมาดูทีไร ได้รู้สึกปวดใจเสียทุกที

กับบทความที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อปีก่อน จริงๆก็ถือว่าใช้ได้อยู่แล้ว แต่ที่อยาก Revisit เรื่องนี้ เพราะต้องการนำเสนอ เทคนิค/ภาษา ที่หนังนำมาใช้ เพื่อผู้อ่านจะได้ชื่นชม เข้าใจ ศรัทธาหนังในมุมลึกขึ้นได้

Jeanne d’Arc (1412 – 1431) หญิงสาวคนใช้ธรรมดาๆ อ้างว่าได้ยินเสียงของพระเจ้า แต่งตัวเป็นชาย ก้าวขึ้นมานำกองทัพฝรั่งเศส ต่อสู้รบขับไล่ รบชนะทหารของอังกฤษในสงครามร้อยปี (Hundred Years War) แต่ภายหลังเธอถูกทหารฝรั่งเศสที่เข้าข้างอังกฤษจับกุม ส่งตัวให้ฝ่ายอังกฤษทำการพิพากษาเธอ

Carl Theodor Dreyer (1889 – 1968) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาว Danish เกิดที่ Copenhagen, Denmark เริ่มต้นจากการเป็นผู้กำกับหนังสั้นในช่วงต้นทศวรรษ 20s ต่อมาได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์ขนาดยาว ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือ Master of the House (1925) มีหนัง 2 เรื่องที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece คือ The Passion of Joan of Arc (1928) และ Ordet (1955)

หลังความสำเร็จจากหนังเรื่อง Master of the House (1925) ที่ Denmark, Dreyer ได้รับเชิญจาก Société Gėnėrale des Films ของฝรั่งเศส ที่ขณะนั้นคัดเลือกผู้กำกับยอดฝีมือจากทั่วยุโรป ให้มาช่วยกำกับ/พัฒนาวงการหนังฝรั่งเศส มีทุนสร้างให้ไม่อั้น ตัวเลือกขณะนั้น ประกอบด้วย Marie Antoinette, Catherine de Medici และ Jeanne d’Arc (เห็นว่า Dreyer ตัดสินใจโดยการจับฉลาก)

Joan of Arc ในฝรั่งเศส เพิ่งเป็นที่รู้จัก กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ตอนช่วงเวลาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เนื่องเพราะคริสตจักร Roman Catholic Church ในปี 1920 ได้แต่งตั้งให้เธอเป็น นักบุญ (Saint) [Joan เสียชีวิตไปนานแล้วนะครับ นี่เป็นการยกย่องย้อนหลัง], Dreyer ใช้เวลาปีกว่าๆ ทำการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลเพื่อใช้ในอ้างอิงในการสร้างหนัง จนได้พบกับ บันทึก (transcripts) ที่จดรายละเอียดขณะผู้พิพากษาของอังกฤษ ทำการสืบสวน ไต่ความ ซักทอด ทรมาน Joan of Arc เห็นว่ามีทั้งหมด 29 ครั้ง ในระยะเวลา 18 เดือน ก่อนประหารชีวิตด้วยการเผาทั้งเป็น

บันทึกการพิพากษา Joan of Arc นี้ได้ถูกเผยแพร่ ตีพิมพ์สู่สาธารณะเมื่อปี 1921 โดยนักประวัติศาสตร์ Pierre Champion ที่ Dreyer ได้จ้างให้เป็นที่ปรึกษาของหนังด้วย

Dreyer ขึ้นชื่อในแนวทางการกำกับนักแสดงที่สมจริง เช่นว่า ถ้าตัวละครกำลังถูกน้ำร้อนสาด แสดงความตกใจ เพื่อเก็บภาพความหวาดวิตกกลัวที่สมจริงที่สุด Dreyer ใช้น้ำร้อนจริงๆสาดใส่นักแสดง, เช่นกันกับหนังเรื่องนี้ วิธีที่เขาใช้กำกับนักแสดง Renée Jeanne Falconetti บังคับให้เธอนั่งคุกเข่านานหลายชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายแสดงความเจ็บปวดออกมา ถ่ายฉากเดิมซ้ำๆ จนภายนอกไม่หลงเหลืออะไร สิ่งที่เห็นล้วนออกมาจากข้างใน

นั่นทำให้ Renée Jeanne Falconetti หลังเสร็จจากหนังเรื่องนี้ สาบานตนว่า จะไม่รับเล่นภาพยนตร์เรื่องใดอีก

Renée Jeanne Falconetti (1892 – 1946) สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Pantin, Seine-Saint-Denis โตขึ้นได้เป็นนักแสดงละครเวทีที่ Paris ตั้งแต่ปี 1918 จนมีชื่อเสียงโด่งดัง, ครั้งหนึ่ง Dreyer ได้มีโอกาสเห็นการแสดงของเธอจากเรื่อง La Garçonne เกิดความหลงใหลในใบหน้า ‘มันเหมือนมีจิตวิญญาณ ซ่อนอยู่ภายใต้’ (There was a soul behind that facade.) เรียกเธอมาทดสอบหน้ากล้องโดยไม่แต่งหน้า แล้วได้พบสิ่งที่เขาค้นหา หญิงสาวที่มีความสามัญบ้านๆ แต่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส

Falconetti เคยแสดงหนังมาแล้วเรื่องหนึ่ง La comtesse de Somerive (1917) [ฟีล์มน่าจะสูญหายไปแล้ว] ตอนรับบท Joan of Arc เธออายุ 35 แต่ตัวละคร คือเด็กสาวอายุ 19 ปี แม้จะได้รับกระแสต่อต้านบ้าง แต่การแสดงของเธอลบทุกคำสบประมาณ ทุกอารมณ์ความรู้สึก ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้า แววตา การเคลื่อนไหว กิริยาท่าทางเล็กๆน้อยๆ ล้วนมีความหมายนัยยะสำคัญทั้งหมด นี่ถึงขนาดได้รับยกย่องว่า เป็นการแสดงที่สมจริง ‘ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก’

ถ่ายภาพโดย Rudolph Maté
ตัดต่อโดย Marguerite Beaugé และ Carl Theodor Dreyer

ช็อตส่วนใหญ่ของหนังจะเป็น Mid-Shot และ Close-Up (บางครั้งก็ระดับ Extreme Close-UpX ซึ่งเราจะเห็นใบหน้าของแทบทุกตัวละครระยะเผาขน เห็นสิว ไฝ ฝี คราบน้ำตา รูขุมขน แทบจะสัมผัสจับต้อง สิ่งที่อยู่ไม่ใช่แค่ภายนอก แต่ถึงข้างในจิตใจ

“The human is of central importance to all art, and, of all things human, the human face is what has greatest interest. It is, so to speak, a declaration of content for the soul, and in its delicate shifts one can read the most delicate nuances of the emotions, which words and gestures are incapable of expressing. The significance of the cinema as a new art form resides in the ability to reproduce and conserve these shifts of facial expression.”

-Carl Theodor Dreyer

ทิศทางของภาพ มีทั้งมุมก้มเงย ครบทุกทิศทาง ซ้าย/ขวา หน้า/หลัง เช่นว่า ขณะ Joan นั่งคุกเข่า ภาพจะถ่ายมุมก้ม ให้เธอรู้สึกเหมือนเป็นคนต่ำต้อย, ตรงข้ามกับภาพของเหล่าผู้พิพากษา ที่จะถ่ายมุมเงย ให้ความรู้สึกเหมือน เป็นผู้มีอำนาจ ควบคุมบงการสั่งการคนอื่นได้

การเคลื่อนกล้องเข้า-ออก เป็นการสร้างความรู้สึกให้ผู้ชม อาทิ
– เคลื่อนเข้า รู้สึกถึงแรงดึงดูด อิทธิพล พลังอำนาจ (มีอำนาจเหนือผู้อื่น)
– เคลื่อนออก รู้สึกเหินห่าง ทอดทิ้ง ทำลาย กำลังแยกจาก

ในฉากไต่สวน พิจารณาคดีต้นเรื่อง บรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย ล้วนเป็นคนแก่ อ้วนเทอะทะ สิวไฝเต็มหน้า ดูอัปลักษณ์ น่าขยะแขยง นี่เป็น Expressionist แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ในจิตใจคนพวกนี้ (ทั้งกายและใจดูวิปริต) กล้องมักจะมีการเคลื่อนผ่านพวกเขาไปรอบๆ (จิตใจรวนเร เร่าร้อน) แต่พอตัดมาที่ใบหน้าของ Joan กล้องมักจะสงบนิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ (จิตใจนิ่งสงบ)

จริงๆจิตใจของ Joan ถือว่าค่อนข้างรวนเรเหมือนกันนะ แค่ทางทางเธอสงบนิ่งมากกว่า เพราะสีหน้าที่แสดงออกมาจะค่อยๆมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งหนังได้บันทึกความรู้สึกนั้นไว้ได้ทุกวินาที (ก็เล่น Close-Up ระยะใกล้ขนาดนั้น)

ฉากทรมาน ถึงหนังจะไม่ทำให้เราเห็นขณะ Joan ถูกทรมาน แต่จะมีอุปกรณ์ต่างๆนานามากมาย ที่เราสามารถจินตนาการได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น, วิธีที่หนังนำเสนอคือ กงล้อที่มีซี่เหล็กแหลมยื่นออกมา หมุนด้วยความเร็ว ตัดสลับกับสีหน้าความหวาดกลัวขี้เยี่ยวราดของหญิงสาว ก่อนที่เธอจะเป็นลมหมดแรงสลบไป, ตอนผมเห็นฉากนี้ครั้งแรก เกิดความหวาดเสียวรุนแรง ใจหายวาบ ทั้งๆที่มันก็เป็นแค่ภาพ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เราสามารถรับรู้ความเจ็บปวด ทรมาน รู้สึกเหมือนตนเองถูกกระทำทารุณได้ทันที

กับฉากเผาทั้งเป็น ใช้การตัดสลับ (เหมือน Montage) ภาพใบหน้าของหญิงสาวที่ดิ้นรนทุกข์ทรมาน ซ้อนกับภาพควัน/เปลวไฟ ที่กำลังค่อยๆลุกโชติช่วงชัชวาลย์, ผมเห็นฉากนี้ก็รู้สึกรุ่มร้อน ท้องไส้ปั่นป่วน เหมือนกำลังถูกเผาทั้งเป็นอยู่ด้วย

นอกจากงานภาพที่โดดเด่นแล้ว การออกแบบฉากก็ถือว่ายิ่งใหญ่ไม่ใช่เล่น, Dreyer นำงบประมาณที่ได้ไม่อั้น มาสร้างโบสถ์ขึ้นทั้งหลัง ซึ่งการออกแบบก็อ้างอิงมาจากสถาปัตยกรรมของฝรั่งเศสในยุคก่อน แล้วใส่องค์ประกอบที่เป็นเชิงสัญลักษณ์เข้าไป จนมีลักษณะของ German Expressionist ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยนั้น

อย่างกางเขน เราจะเห็นได้ในแทบทุกฉาก บ้างครั้งเห็นเป็นเงา, บ้างครั้งเห็นเป็นรูปทรง แค่ไม้ไขว้กัน (เหมือนพระเจ้าสถิตย์อยู่ทุกหนแห่ง)

เมื่อครั้งที่ใบหน้าของตัวละครไม่ได้ปรากฎอยู่เต็มจอ เราจะเห็นพื้นที่ว่างด้านหลัง ซึ่งมีนัยยะแสดงถึงอารมณ์ตัวละคร ความอ้างว้าง ลำพัง บางทีก็อยากเป็นอิสระเหมือนฝูงนก

ทุกช็อต/ฉาก ของหนัง มีหลายสิ่งหลายอย่าง แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งมักมีลักษณะเป็น Expressionist แสดงออกมาแบบตรงไปตรงมา แทบทั้งนั้นกับทุกตัวละคร อากัปกิริยาท่าทางที่แสดงออกมา ล้วนคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของพวกเขา (ไม่มีแบบหลบซ่อน โกหก หน้าด้านๆ) ด้วยเหตุนี้หนังจึงชื่อ The Passion นะครับ

สำหรับคนที่ทนดูหนังเงียบโดยไม่มีเพลงประกอบไม่ได้ ผมเจอฉบับหนึ่งของ The Criterion Collection ที่ใส่เพลงของ Richard Einhorn ชื่อ Voices of Light (แต่งชึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่องนี้) ใช้วง Orchestra ขนาดเล็ก, เสียงร้อง Chorus และมี Soloists นี่น่าจะเป็นเพลงประกอบฉบับยอดเยี่ยมที่สุด ตั้งแต่ผมเคยได้ยินมา เพราะเสียง Chrous มันช่างโหยหวนบาดใจ ราวกับจะขึ้นสวรรค์ไปหาพระเจ้าจริงๆ, เอาน้ำจิ้มมาฝากนะครับ

ใจความของหนังเรื่องนี้ คือการตั้งคำถาม การมีตัวตนของพระเจ้า, เมื่อมีคนที่อ้างว่า พบเห็น/ได้ยิน คำพูดของพระองค์ เป็นคุณจะเชื่อหรือเปล่า? แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่คงไม่เชื่อ คิดว่าหมอนั่นแอบอ้าง เพ้อเจ้อ ไร้สาระ นี่เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ทั้งๆที่พวกเขาก็เชื่อในพระเจ้า แต่กลับต่อต้านคนที่ เห็น/ได้ยิน/พบกับพระเจ้า

มันเหมือนว่า เพราะตนไม่มีโอกาสรับรู้ มองเห็น ได้ยิน พบเจอกับพระเจ้า จึงเกิดความอิจฉาริษยาในบุคคลที่สามารถสัมผัสได้, รู้สึกตัวเองเหมือนเป็นคนต่ำต้อยด้อยค่า ที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสพระผู้สร้าง แล้วบุคคลนั้นมันเป็นใคร มีสิทธิ์อะไรที่ได้พบเจอพระองค์ ความต่อต้าน ไม่ยอมรับทั้งตนเองและผู้อื่น เขาจึงทำทุกอย่างเพื่อปฏิเสธความจริงนั้น

เหตุการณ์เรื่องการพิสูจน์ศรัทธา เชื่อไม่เชื่อ จริงไม่จริง เกิดขึ้นกับศาสนา/ลัทธิ ที่ไม่พบเห็นกับ ‘ความจริง’ เป็นสัจธรรมเท่านั้น, เพราะคำว่า ‘ศาสนา’ ในมุมของพวกเขาคือ ‘ความเชื่อ’ ไม่มีหลักสากล หรือวิธีการใดที่จะสามารถใช้พิสูจน์สิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ได้ สิ่งที่พวกเขาค้นหาไม่ใช่ความจริง แต่เป็นแค่ความเชื่อ ความเข้าใจ ที่เถียงกันไปก็ไม่มีวันจบ… นี่เป็นสิ่งที่ผมหงุดหงิดใจทุกครั้งเวลาดูหนังเกี่ยวกับศาสนาอื่น เพราะสิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้โลกไม่มีวันสงบสุข

ส่วนตัวเคยชื่นชอบ หลงรักหนังเรื่องนี้สุดใจ แต่ต่อมาเมื่อได้รู้ความจริงหลายๆอย่างในกระบวนการสร้าง ความชื่นชอบเริ่มลดน้อยลง ในใจลึกๆรู้สึกต่อต้านด้วย, ปัจจุบันผมวางตัวเป็นกลาง ไม่ชื่นชอบ ไม่รังเกลียดหนัง ยกย่องแต่ไม่สรรเสริญ

แนะนำคนที่เรียกตัวเองว่าคอหนังทุกท่าน ในชีวิตนี้ครั้งหนึ่งต้องหามาดูชมให้จงได้, หนังอาจไม่สนุกแถมมีโอกาสเครียดจับลมใส่ แต่นี่คือเรื่องที่ เปรียบถ้าคุณมาเที่ยวกรุงเทพฯ ต้องไปวัดพระแก้ว, เที่ยวเชียงใหม่ ต้องขึ้นดอยสุเทพฯ คนรักหนังต้องดู The Passion of Joan of Arc เพราะคุณจะเข้าใจภาษา/เรื่องราว (วัฒนธรรม) ของหนัง โดยไม่รู้ตัวว่านั่นเรียก ภาษาภาพยนตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียน/คนทำงานสายภาพยนตร์ มีเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมากแน่

จัดเรต R กับทัศนคติอันสุดอัปลักษณ์ของคน และความเจ็บปวดของตัวละครที่แผ่ซ่านออกมาจนสัมผัสได้

TAGLINE | “อย่าริอาจเรียกตัวเองว่าคอหนัง ถ้ายังไม่เคยดู The Passion of Joan of Arc”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO


La Passion de Jeanne d'Arc

The Passion of Joan of Arc (1928)

(10/12/2015) หนังเงียบสัญชาติฝรั่งเศส ที่ได้ชื่อว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก ก่อนการมาถึงของ Citizen Kane และ Vertigo โดยผู้กำกับชาวเดนมาร์ก Carl Theodor Dreyer หนังเรื่องนี้หาดูไม่ยากครับ ค้นใน Youtube ก็เจอ

หนังเรื่องนี้ก่อนฉายก็ได้รับการวิพากย์วิจารณ์มากมาย ถึงขนาดว่า Archbishop ของ Paris ณ ขณะนั้นต้องลงมาตัดหนังด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้หนังถูกตราหน้าอย่างเสียๆหายๆ เมื่อตอนออกฉายก็ถือว่าหนังประสบความสำเร็จทำเงินอย่างมาก กาลเวลาก็ทำให้หนังเรื่องนี้สูญหายไป มีความพยายามค้นหาฟีล์มต้นฉบับเรื่องนี้ แม้จะมีความเสียหายบ้างแต่ก็ค้นพบในที่สุด โดยผู้กำกับเองก็ได้เข้ามาช่วยใน final cut ซึ่งเป็นฉบับที่หาดูได้ทั่วไปในปัจจุบัน

ผู้กำกับ Carl Theodor Dreyer ผมก็เคยได้ดูหนังของพี่แกก็แค่เรื่องนี้แหละ แต่เห็นว่าพี่แกได้ Golden Lion รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองเวนิซเมื่อปี 1955 กับหนังเรื่อง Ordet ไว้จะลองหามาดูนะครับ

นักแสดง Renée Jeanne Falconetti ที่เล่นเป็น Joan of Arc ในเรื่อง นี่เป็นหนังฟีล์มเรื่องที่ 2 ของเธอ ที่ว่ากันว่าการแสดงของเธอนั้น เป็นที่สุดของสุดยอดการแสดงออกซึ่งอารมณ์ และความรู้สึกที่ไม่มีนักแสดงหญิงคนใดสามารถทำได้อีกแล้ว ว่ากันว่า การแสดงอันทรงพลังของเธอนั้นเกิดจากการที่ผู้กำกับ Dreyer สั่งให้เธอนั่งคุกเข่าอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะนำอารมณ์ของตัวละครออกมาได้ ไม่รู้ว่านานแค่ไหน แต่ความเจ็บปวดทางกายของเธอได้ถูกนำถ่ายทอดลงในแผ่นฟีล์ม ที่ทำให้คนดูรู้สึกถึงความทรมานอย่างแสนสาหัสของตัวละครที่เธอเล่น คงเพราะเหตุนี้กระมังเราเธอจึงไม่อยากที่จะแสดงหนังเรื่องอื่นอีก (จริงๆแล้วไม่มีหลักฐานความซาดิสของผู้กำกับ Dreyer นะครับ แค่เป็นเรื่องเล่าลือกัน แต่จะจริงหรือไม่เราคงไม่มีทางรู้ได้)

หนังเรื่องนี้ดียังไง เมื่อพูดถึงหนังเงียบแล้ว เราอาจจะคุ้นกับการแสดงออกทางการกระทำ อย่างหนังของ Charlie Chaplin หรือ Buster Keaton แต่กับหนังเรื่องนี้ นำเสนอการแสดงผ่านอารมณ์ สีหน้า และองค์ประกอบของภาพ ครึ่งหนึ่งต้องชมการแสดงของ Falconetti ที่เธอถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาได้เจ็บปวดรวดร้าวมาก แม้จะไม่มีเสียงใดๆออกมา แต่คนดูทุกคนต้องรู้สึกได้ อีกครึ่งหนึ่งคือเทคนิคการใช้ถ่ายภาพ Rudolph Maté คนนี้ก็ถือว่าเป็นตำนานคนหนึ่ง ในยุคหนังขาว-ดำ เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับ Alfred Hitchcock และได้เข้าชิง Academy Award สาขา Best Cinematography 5 ปีซ้อน สำหรับหนังเรื่องนี้ เทคนิคการถ่ายภาพของเขาคือ การใช้องค์ประกอบของสิ่งต่างๆที่อยู่ในหนัง ถ่ายทอดออกมาอย่างถึงอารมณ์และมีความหมาย

ใครจะไปคิดว่า การเอาล้อที่มีหนามแหลม มาหมุนๆใส่กล้อง จะทำให้คนเกิดความรู้สึกกลัว นี่เป็นการทดลองครับ การเห็นแบบนั้นทั่วๆไปอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่เมื่อมีการ close-up แล้วค่อยๆ zoom ภาพเข้าไป ตัดสลับกับภาพของนักแสดงที่มีสีหน้าหวาดกลัว ต่อให้เงียบแค่ไหน แต่เห็นภาพแค่นี้ความรู้สึกมาแน่นอน นี่เป็นตัวอย่างสุดยอดเทคนิคการถ่ายภาพของหนังเรื่องนี้ ในยุคที่ภาพเคลื่อนไหวยังไม่มีเสียง แต่เขาและผู้กำกับสามารถสร้างอารมณ์ให้กับคนดูได้ หนังเน้นถ่ายภาพ close-up กับทุกตัวละคร เพื่อให้คนดูเข้าถึงอารมณ์ตัวละครอย่างแท้จริง ต้องยกนิ้วให้กับ Rudolph Maté เลยครับ

ว่ากันว่า นี่เป็นหนังที่ใช้ทุนในการสร้างฉากสูงที่สุดในยุโรปในสมัยนั้น เพราะ Dreyer ต้องการสถานที่จริงในการถ่ายทำ จึงต้องทำการสร้างตึกทั้งหลังโดยอ้างอิงจากยุคสมัยที่เกิดขึ้นจริงในเรื่อง นับว่าเป็นการทุ่มทุนสร้างสถานที่ถ่ายจริงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ (เลยกระมัง)

บทหนังเรื่องนี้ Carl Theodor Dreyer เขียนร่วมกับ Joseph Delteil ว่ากันว่า Dreyer ใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาต้นฉบับที่เขียนจากบันทึกของ Joan of Arc จริงๆ และเขาต้องการนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์นั้นออกมาด้วยความรู้สึกที่เขามีต่อ Joan จากการศึกษานั้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องตลกเพราะเขาไม่นำสิ่งที่เกิดขึ้นในบันทึกใส่ลงไปในหนังเลย ทุกเหตุการณ์เป็นเรื่องแต่งล้วนๆ คงไว้แต่ซึ่งอารมณ์ที่เขารู้สึกต่อ Joan เท่านั้นที่ยังเหมือนเดิม

คงไม่มีอะไรกล่าวชื่นชมความยอดเยี่ยมของ The Passion of Joan of Arc ได้ นอกจากคำชมนี้ “คุณไม่มีทางพูดว่าได้รู้จักกับหนังเงียบ ถ้าไม่เคยดู The Passion of Joan of Arc” บอกตามตรงนะ ตอนผมดูครั้งแรกก็ช็อคเลย หนังเงียบบ้าอะไรมันสร้างอารมณ์ได้โหดเหี้ยมขนาดนี้ คือมันรู้สึกเลยว่าตัวละครรู้สึกยังไง การแสดงของ Falconetti สุดยอดมากๆ แต่พอผมได้ศึกษาประวัติหนังเรื่องนี้ ความชอบก็ลดลงเรื่อยๆครับ เพราะความที่ผู้กำกับ Dreyer เป็นผู้กำกับที่นิสัยแย่มากๆ Tyrant สุดๆ ยิ่งกว่า Michael Bay หลายเท่า ความสวยงามที่เกิดจากหนังเรื่องนี้ คือความเจ็บปวดที่เกิดจากการแสดงที่ถูกถ่ายทอดออกมาจริงๆ เมื่อเป็นแบบนั้นมันไม่สนุกแล้วละครับ เหมือนกับว่าเรายิ้มหัวเราะให้กับความเจ็บปวดของคนอื่น ผมชื่นชมสิ่งที่อยู่บนแผ่นฟีล์ม แต่ไม่ชอบคนที่สร้างหนังเรื่องนี้มา

ก็อยากแนะนำให้ลองดูนะครับเมื่อมีโอกาส ถ้าทนฟังความเงียบไม่ได้จริงๆ มีเวอร์ชั่นที่เพลงประกอบเป็นเปียโนคลอ ทำให้พอดูได้ และเร้าอารมณ์ขึ้นไปอีก แต่ผมไม่แนะนำให้คุณชอบหนังเรื่องนี้นะครับ ความรุนแรงของหนัง ผมขอจัดเรตที่ 15+ ไม่ควรเอาเรื่องนี้ให้เด็กดูเป็นอันขาด ถึงจะมองว่านี่เป็นหนังเก่า แต่อารมณ์จากหนังมันรุนแรง จะจัดเป็นหนัง 18+ ยังได้เลย เพราะมันกระชากอารมณ์ ดึงเราไปสู่จุดที่ความอัดอั้น ความเจ็บปวด ที่ทำให้คนดูรู้สึกได้จริงๆ เด็กกว่านี้ดู ได้นอนไม่หลับไป 3 วัน 7 วันแน่

คำโปรย : “คุณไม่มีทางพูดว่าได้รู้จักกับหนังเงียบ ถ้าไม่เคยดู The Passion of Joan of Arc”
คุณภาพLEGENDARY
ความชอบSO-SO

2
Leave a Reply

avatar
2 Comment threads
0 Thread replies
4 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…] The Passion of Joan of Arc (1928)  : Carl Theodor Dreyer ♠♠♠♠♠ […]

trackback

[…] The Passion of Joan of Arc (1928)  : Carl Theodor Dreyer ♠♠♠♠♠ […]

%d bloggers like this: