The Phantom of Liberty

The Phantom of Liberty (1974) French : Luis Buñuel ♥♥♥♥

โคตรหนัง Surrealist ราวกับฝันกลางวันของ Luis Buñuel นำเสนอเรื่องราวแบบ Non-Linear ไม่ได้มีความต่อเนื่อง แต่ใช้การส่งต่อราวกับไม้คฑาวิ่งผลัด กำลังถึงไคลน์แม็กซ์ตอนหนึ่งก็มีเหตุให้เปลี่ยนเรื่องโดยพลัน ช่างมีความกวนประสาทดีแท้ แต่แม้งเจ๋งชิบหาย

Luis Buñuel (1900 – 1983) ในวัย 70+ กว่าๆ ตั้งใจจะรีไทร์เลิกสร้างภาพยนตร์มาแล้วหลายรอบ แต่เมื่อถูกรบเร้าโดยโปรดิวเซอร์ Serge Silberman ไม่ก็พบเจอความท้าทายใหม่ร่วมกับนักเขียนขาประจำ Jean-Claude Carrière ก็อดใจได้ที่ไหน จำต้องหวนกลับคืนมาทำในสิ่งที่ตนรักยิ่งจนได้

ช่วงบั้นปลายชีวิตมีภาพยนตร์ 3 เรื่อง ไม่ใช่ภาคต่อ ไม่มีใครเรียกว่า Trilogy แต่บางสิ่งอย่างให้สัมผัสคล้ายคลึงกันเสมือนไตรภาค ประกอบด้วย
– The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972)
– The Phantom of Liberty (1974)
– That Obscure Object of Desire (1977)

ราวกับว่าคือการประมวลผลองค์ความรู้ ประสบการณ์ (ชีวิต+สร้างภาพยนตร์) ที่ได้สะสมมาทุกสิ่งอย่าง กลายเป็นภาพยนตร์สามเรื่องสุดท้ายในชีวิต, ทั้งๆที่ปกติผมจะไม่ค่อยชอบหนังของ Buñuel สักเท่าไหร่ แต่ยกเว้นสามเรื่องนี้กลับตกหลุมรัก หลงใหล คลั่งไคล้ ในความลึกล้ำ เฉียบแหลม คมคาย และโคตรเxยสุดๆไปเลย

“Chance governs all things; necessity, which is far from having the same purity, comes only later.”

– Luis Buñuel

Le Fantôme de la liberté หรือ The Phantom of Liberty เป็นภาพยนตร์ที่มีลักษณะเป็นเหตุการณ์สั้นๆนำมาร้อยเรียงต่อกัน ไม่ได้มีความต่อเนื่องของเรื่องราวและนักแสดง โดยความสัมพันธ์ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการส่งต่อ ตัวละครหนึ่งบังเอิญอยู่ในเรื่องราวก่อนหน้า พอเดินออกจากห้องกล้องเคลื่อนติดตามเข้าสู่เรื่องราวของเขาถัดไป ไม่มีการหวนกลับย้อนคืน หรือตัวละครกลับมาโผล่ซ้ำใหม่

จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ ในหนังจะมีตัวละครหนึ่งที่พูดออกมาเลยว่า

 “I am sick of symmetry.”

นี่คือ Buñuel ที่เป็นคนคิดและพูดออกมา ด้วยความหัวขบถของเขา ไม่ต้องการทำอะไรเหมือนใคร เลยคิดสร้างบางสิ่งอย่างที่ไร้ซึ่งโครงสร้าง ขาดความสมมาตร คาดเดาเรื่องราวไม่ได้ โลกที่ทุกอย่างกลับหัวตารปัตร, ขณะที่ตัวละครพูดประโยคนี้ เขาลุกขึ้นเดินมาหยิบจับเคลื่อนย้ายวัตถุนั้น จัดวางใหม่ตามใจฉัน จะว่านี่คือการชักชวนผู้ชม ให้เข้ามาสู่โลกอันไร้ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วง ความเพ้อฝันของผู้กำกับ Buñuel ก็ว่าได้

ลักษณะของเรื่องราวต่างๆที่พบเจอในหนัง คือ ‘โอกาสของความเป็นไปได้’ (notion of chance encounters) ที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด จู่ๆก็เกิดขึ้นแล้วจู่ๆก็จบลงแบบค้างคา ผู้ชมจะเกิดความคับข้องหงุดหงิดใจอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์ชีวิต สิ่งที่ Buñuel ได้พบเจอ ไม่มีอะไรทำคิดอะไรได้ก็จดบันทึกไว้ รวบรวมนำมาร้อยเรียง ค้นหาเหตุผลความหมายไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

กระนั้น Buñuel ก็มอบ outlines เค้าโครงของหนังให้ทั้งหมด 5 ข้อ ประกอบด้วย

  • การค้นหาความจริง และความจำเป็นที่จะต้องละทิ้งสิ่งนั้นทันทีเมื่อค้นพบมัน
    (The search for truth and the need to abandon the truth as soon as you have found it.)
  • ความไม่โอนอ่อนต่อธรรมชาติพื้นฐาน ธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม
    (The implacable nature of social rituals.)
  • ความสำคัญของการบังเอิญ
    (The importance of coincidence.)
  • สิ่งสำคัญคือคุณธรรมประจำใจ
    (The importance of personal morality.)
  • ความลึกลับของทุกสิ่งอย่าง
    (The essential mystery of all things.)

แต่ละเรื่องราวของหนังยังมีลักษณะสไตล์เด่นของ Buñuel คือการสะท้อนเสียดสี จิกกัด นำเสนอประเด็นต้องห้าม Taboo หลากหลายรูปแบบ อาทิ Sado-Masochist, Necrophilia (ร่วมรักกับศพ), Pedophilia (เฒ่าหัวงู คนแก่รักเด็ก), Incest (ร่วมรักกับคนในครอบครัว), Flagellation (มีอารมณ์กับการถูกเฆี่ยนตี), Voyeurism (ถ้ำมอง), Fetishism (มีอารมณ์กับสิ่งของ) ฯลฯ

นักแสดงในหนังมีกว่า 40 รายชื่อ ทั้งหมดรับบทคนชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ไม่มีใครที่มีบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยของตนเอง ทั้งหมดเป็น Stereotypes ตัวแทนของสถาบัน-อาชีพ-ศาสนา อาทิ พระ, ครู, หมอ, พยาบาล, ทหาร, ตำรวจ, ทนายความ ฯ แค่สวมหน้ากากหัวโขน แต่ไม่ได้กลายเป็นตัวละครนั้นๆ

สำหรับชื่อ The Phantom of Liberty นำมาจากประโยคคำพูดหนึ่งในหนังของ Buñuel เองเรื่อง The Milky War (1969)

“I experience in every event that my thoughts and my will are not in my power. And that my liberty is only a phantom.

มีแนวโน้มเป็นการกล่าวถึง กลุ่มการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movements) อันประกอบด้วยสิทธิเด็ก, สิทธิสตรี, สิทธิคนผิวสี, LGBT ฯ มุ่งเน้นโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียม สร้างกระแสโด่งดังไปทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 60s ซึ่งขณะนั้นกลับถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคมขั้นรุนแรง (อิสรภาพของมนุษย์ เป็นเพียงภาพลวงตา ทุกสิ่งอย่างเกิดขึ้นโดยโชคชะตา ถูกควบคุมด้วยโอกาส ความเป็นไปได้)

ขณะเดียวกันก็อาจเป็นการเคารพคารวะ Karl Marx และ Friedrich Engels ผู้นำลัทธิ และแต่งตำรา Communist Manifesto (1848) โดยประโยคแรกในหนังสือขึ้นว่า ‘A spectre is haunting Europe — the spectre of Communism’ (ภาษาฝรั่งเศส คำว่า spectre แปลว่า fantôme หรือ Phantom) นี่คือแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการโจมตีทุกองค์กร-สถาบัน-ศาสนา ว่ามีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคเท่าเทียมในสังคม, คงเพราะ Buñuel และพรรคพวก Surrealists อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 30s มีแนวโน้มสูงว่าจะเคยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง แต่ภายหลังก็ออกมาเพราะรู้ว่ามันเป็นสิ่งนำไปใช้จริงไม่ได้

เกร็ด: ภาพโปสเตอร์ของหนัง สังเกตว่ามันคือแก้มก้น ยกมือขึ้นถือโคมไฟโค้งย้อย สวมหมวกที่ล้อเลียนกับเทพีเสรีภาพ (เป็นการเสียดสีว่า เทพีเสรีภาพได้กลายเป็นตูดไปแล้ว) ส่วนขาของนกกระจอกเทศ (นัยยะ คือการวิ่งหนีหาย) รวมๆแล้วสื่อความหมายถึงชื่อหนัง The Phantom of Liberty อิสระภาพเป็นเพียงภาพลวงหลอก วิ่งหนีหายไปนานแล้ว

ต่อจากนี้จะขอนำเสนอการวิเคราะห์ค้นหาใจความ เรื่องราว ประเด็นที่ผู้กำกับต้องการสื่อถึงออกมาแยกเป็นฉากๆ จะได้พอมองเห็นเข้าใจแต่ละเรื่องราวอย่างชัดๆ

พื้นหลัง Opening Credit ภาพวาด The Third of May 1808 (1814) วาดโดย Francisco Goya จิตรกรเอกสัญชาติ Spanish, Goya ต้องการรำลึกถึงความเสียสละของกลุ่มผู้ต่อต้าน (Spanish Resistance) กองทัพของนโปเลียน (Napoleon Army) ในช่วงการถูกยึดครองปี 1808 เกิดเป็นสงคราม Peninsular War (1807–1814)

นัยยะของฉากนี้ กลุ่มผู้ต่อต้านพยายามต่อสู้เพื่ออิสรภาพ จะมีตัวละครหนึ่งก่อนถูกยิงตายพูดประกาศว่า ‘ความตายคืออิสรภาพ’ (Down with freedom) ในทัศนะของผู้กำกับ Buñuel นี่เป็นเรื่องไร้สาระโดยสิ้นเชิง

ฉากการจุมพิตกับรูปปั้น ดัดแปลงได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น The Kiss/El beso (1863) ของ Gustavo Adolfo Bécquer นักเขียนสัญชาติสเปนในยุค Post-Romanticist ผู้ชมอาจใคร่สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นต่อ พระเอกในเรื่องนี้มันตกหลุมรักหญิงสาวที่เพิ่งเสียชีวิต ถูกรูปปั้นสามีของเธอทำร้าย เลยกระทำการข่มขืนศพ (Necrophilia) ต่อหน้าตรงนั้นเลย

นี่เป็นการล้อกับเรื่องราวก่อนหน้า ‘ความตายคืออิสรภาพ’ รูปปั้นกับศพคือสิ่งไร้ซึ่งชีวิต มิอาจตอบโต้ทำอะไรใครได้อีกแล้ว ย่อมมีแนวโน้มถูกมนุษย์ผู้ตะกละตะกลามด้วยกิเลส กระทำการสัมผัสลูบไล้ข่มขืน นี่นะหรือที่เรียกว่าเสรีภาพ

ชายแปลกหน้าทำท่าทางน่าสงสัย (Pedophile) นำรูปภาพที่อ้างว่าสวยงามสุดในโลกมาหลอกล่อให้เด็กหญิงทั้งสองดู … ผู้ชมจะเกิดอาการใคร่สงสัย อยากรู้เห็นว่ามันรูปอะไร ย้ำนักย้ำหนาว่าอย่านำไปให้ผู้ใหญ่ดู แต่เด็กหญิงสนใจเสียที่ไหน

เมื่อกลับถึงบ้าน พวกเธอส่งรูปเหล่านั้นให้แม่ดู พอพิิจารณาเห็นถึงขนาดพูดตำหนิต่อว่าไม่ให้รับของจากคนแปลกหน้า พร้อมทั้งขับไล่คนใช้ออกด้วยนะ, ขณะที่จ้องมองดูภาพนี้ ราวกับเกิดอารมณ์ทางเพศ (Fetishism) กอดจูบสามีอย่างยั่วเร้าอารมณ์ ถึงจุดนี้ใครๆย่อมต้องคิดว่าเป็นภาพโป๊เปลือยแน่ๆ แต่แท้จริงแล้ว … ไม่สปอยดีกว่า

นี่เป็นครั้งแรกๆมีการนำเสนอบอกว่า สิ่งที่ผู้ชมครุ่นคิดเข้าใจไปเองนั้น ไม่จำเป็นต้องถูกต้องเสมอไปในบริบทของหนังเรื่องนี้

สี่ความฝันในห้องนอนประกอบด้วย
– เวลาตี 1: ไก่, ถ้าคุณรับชมหนังของ Buñuel มาหลายเรื่อง น่าจะพอคาดเดาได้ว่านี่เป็นสัญลักษณ์ของ ‘จิตใต้สำนึก’ หรือความฝัน
– เวลาตี 2: หญิงชุดดำถือเทียน จ้องมองนาฬิกาแล้วเป่าดับ ราวกับเป็นสัญลักษณ์ของความตาย หญิงสาวคือยมทูต เทียนไขคือชีวิต
– เวลาตี 3: บุรุษไปรษณีย์ จอดจักรยานส่งจดหมายถึง นัยยะถึงการส่งสาสน์ สื่อสาร
– เวลาตี 4: นกอีมู (Emu) นัยยะถึงการจับจ้องมอง จะไปอธิบายอีกทีตอนช็อตสุดท้ายของหนัง

รวมๆแล้วราวกับเป็นการสะท้อนถึงความชราภาพใกล้วันตายของ Buñuel สร้างหนังเรื่องนี้จากจิตใต้สำนึก ความฝันของตนเอง เพื่อสื่อสารอะไรบางสิ่งอย่างต่อผู้ชม ที่เขาไม่ใช่เพียงผู้สร้างแต่ยังคือผู้จ้องมอง

นางพยาบาลสาวขอลาพักร้อน ออกเดินทางไปหาพ่อที่ Argenton ระหว่างทางเจอรถถังที่ออกตามล่าสุนัขจิ้งจอก (เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ตามตำนานความเชื่อ ชอบที่จะจำแลงกาย หลอกลวงผู้อื่น)

นี่เป็นการออกตามล่าที่เว่อมาก แค่สุนัขจิ้งจอกตัวกระเปี๊ยกแต่ต้องใช้ถึงรถถัง คงเป็นการสะท้อนลักษณะนิสัยของคน และเสียดสีการทำงานของภาครัฐ เล็กๆไม่ใหญ่ๆทำ ต่อปัญหาจริงๆมันแค่กระจิดริดก็เถอะ

เดินทางต่อ ติดฝนต้องเข้าพักโรงแรมกลางทางแห่งหนึ่ง พบเจอบาทหลวงคณะ Carmelites จำนวน 4 องค์ ที่น่าเคารพนับถืออย่างมาก ขนาดว่านำรูปศักดิ์สิทธิ์ของ St. Joseph มาสวดอธิษฐานในห้อง แต่ฉากถัดมากลับสูบบุหรี่ควันโขมง เล่นโป๊กเกอร์ (เกมไพ่ที่ต้องอาศัยเทคนิคการลวงหลอกคู่ต่อสู้ ว่าไพ่ในมือตนเองเหนือกว่า) ต่อหน้าตรงนั้นเลย!

ใครเคยอ่านชีวประวัติของผู้กำกับ Buñuel ย่อมรับทราบถึงประเด็นนี้ได้ทันที วัยเด็กของเขาเป็นคนเคร่งศาสนามาก ไปโบสถ์เข้าร่วมพิธีมิสซา รับศีลทุกวันจนกระทั่งถึงอายุ 16 ล่วงรู้ความชั่วร้ายบางอย่างของบาทหลวง ทำให้จากนั้นกลายเป็นคนต่อต้านปฏิเสธคริสตจักรไปโดยสิ้นเชิง

ต่อด้วยเด็กหนุ่ม กับน้า/ป้า (อ้างว่าเป็นแม่) เห็นกันมาตั้งแต่แบเบาะ พอโตขึ้นกลายเป็นหนุ่ม ขณะอยู่ในพิธีมิสซา ทั้งสองเกิดอารมณ์ความใคร่ตรงกัน ในที่สุดพวกเขาก็มีโอกาสอยู่สองต่อสอง, เพราะน้า/ป้า เหมือนว่าจะยังบริสุทธิ์ผุดผ่อง เรือนร่างของเธอเมื่อเปลือยเปล่ายังมีความสาวเต่งตึง (ทั้งๆที่ผิวหน้าเหี่ยวย่น) สุดท้ายแล้วพวกเขาจะได้ Incest กันหรือไม่

นัยยะของฉากนี้ Incest คือข้อห้ามทางจริยธรรมของมนุษย์ ก็ช่างหัวมันประไร นี่คือปรัชญาชีวิตของผู้กำกับ Luis Buñuel พบเจอได้ในภาพยนตร์หลายๆเรื่อง, อีกทั้งยังสะท้อนถึงแม่ของ Buñuel ที่ถึงจะมีอายุมากแล้ว ยังชอบทำตัวเหมือนวัยรุ่นหนุ่มสาว

ไฮไลท์สุดท้ายในโรงแรมแห่งนี้ มีคู่รักหนึ่ง พยายามที่จะชักชวนผู้พักค้างแรงจากทุกห้อง ให้มาร่วมดื่มสังสรรค์ โดยมีเป้าหมายแท้จริงคือ โชว์ความวิปริต Sado-Masochist จากการถูกเฆี่ยนตี (Flagellation) สร้างความตกตะลึงตาลุกวาว (Voyeurism) ให้กับทุกคนที่มองเห็น รวมถึงบาทหลวงทั้งสี่

ฉากนี้คือเหตุผลในความสนใจการสร้างภาพยนตร์ของ Buñuel นำเสนอตีแผ่สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ออกมา มันอาจมีความอัปลักษณ์ชั่วร้ายจนผู้คนทั่วไปยินยอมรับไม่ได้ แต่มันคือความสัตย์จริง ของแบบนี้จะโกหกปกปิดกันไปทำไม, นอกจากนี้ยังสะท้อนชีวิตคู่ของ Buñuel ทั้งๆที่ทำหนังแบบไม่สนหัวจริยธรรม แต่ตัวเขาซื่อสัตย์มั่นคงต่อภรรยามาก อยู่กินกันจนวันตายไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งพรากจาก

ความพยายามสอนกฎหมายให้กับตำรวจ ช่างเป็นสิ่งไร้สาระเสียเหลือเกิน เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ก็มิได้ใคร่สนใจจริงจัง วุ่นวายอลม่านกับหน้าที่ประจำวัน สุดท้ายเมื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ก็ใช่ว่าจะยึดหลักตามกฎหมายอะไร เอาความรู้สึกตนเองเป็นที่ตั้งล้วนๆ

เรื่องราวนี้ช่างสะท้อนความจริงในชีวิตประจำวันได้ตรงอย่างเจ็บแสบมากๆ คงไม่ต้องยกตัวอย่างตามก็น่าจะเห็นภาพอยู่แล้วนะ

เรื่องเล่าหนึ่งของอาจารย์สอนตำรวจ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ สมมติเหตุการณ์ที่เขาและภรรยาได้รับเชิญไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้าน แทนที่พวกเขาจะนั่งพูดคุย (Chitchat/Shit Chat) บนโต๊ะหาอาหาร ก็เปลี่ยนเป็นนั่งโถส้วมขับถ่าย พูดคุยเรื่องขี้ๆขยะมูลฝอยล้นโลก ตรงกันข้ามเวลาหิวจะไปกินข้าวไม่ควรพูดดังให้เสียมารยาท ต้องแอบๆไปคนเดียว (ราวกับการกินอาหารในห้องส้วม)

นัยยะของฉากนี้เป็นการมองโลกนอกกรอก ตรงกันข้ามกับสำนวน ‘ไฟในอย่านําออก ไฟนอกอย่านําเข้า’ นี่เป็นอีกลักษณะการทำหนังสไตล์ Buñuel สิ่งที่ผู้ชมเข้าใจอาจไม่ใช่ในบริบทของหนัง

ชายคนหนึ่งไปหาหมอ แรกๆก็พูดดีเชียว เกร็ดเลือดดี คอเลสเตอรอลปกติ ภาพ X-Ray จุดดำๆมีนิดหน่อยไม่เป็นไร แล้วจุดขาวๆใหญ่ๆนั่นละไม่ต้องสนใจ

บั้นปลายชีวิตของ Buñuel ไม่สบายหนักไปหาหมอที่พยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดตรงๆว่าเป็นโรคอะไร สบายๆเดี๋ยวก็หาย แต่กลับบอกว่าตรวจพบเป็นมะเร็งตับ … นี่จากประสบการณ์ตรงเลยสินะ

เด็กหญิงสาวหายตัวไป พ่อแม่ ครูอาจารย์ วุ่นวายออกตามหา แถมยังติดต่อตำรวจให้ช่วยเหลือ ทั้งๆที่ตัวเธอก็ยืนอยู่ตรงนั้น แต่ใครอื่นทำเป็นมองไม่เห็น, จะบอกว่าฉากนี้ผมหัวเราะหนักมากจนท้องแข็ง เข้าสำนวน ‘เส้นผมบังภูเขา’ บางสิ่งอย่างของมีค่าอยู่ใกล้ตัวแต่กลับมองไม่เห็น ‘invisible and yet not invisible’

เห็นว่า Buñuel คิดเรื่องราวนี้จดบันทึกไว้ในสมุดโน๊ตตอนอยู่ว่างๆที่ Los Angeles ช่วงทศวรรษ 40s เพราะไม่มีสตูดิโอ โปรดิวเซอร์ไหนสนใจให้เขาสร้างภาพยนตร์สักเรื่อง, ซึ่งนัยยะเด็กหญิงที่ไม่มีใครมองเห็นนี้ แท้จริงก็คือ Buñuel เองนะแหละ ที่ถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิงจากผู้สร้างหนัง Hollywood

 

ชายคนหนึ่งหลังจากขัดรองเท้าเสร็จ เดินขึ้นตึกกลายเป็นมือปืนซุ่มยิงคนตายเป็นเบือ ศาลตัดสินโทษประหารชีวิต แต่กลับได้รับการปล่อยตัว กลายเป็นเซเลปโด่งดังมีคนมาขอลายเซ็น, ข้อคิดของเรื่องราวนี้ ชวนให้นึกถึง อีเปรี้ยวคดีฆ่าหั่นศพขึ้นมา มันใช่เรื่องที่ไหนกันนะ!

นี่ก็ Buñuel อีกเช่นกัน เป็นการประชดตนเอง ทำหนังเxยๆไร้สาระ แต่กลับได้รับการยกย่องสรรเสริญ กลายเป็นเซเลปโด่งดังทั่วโลก

เกร็ด: ฉากนี้มักถูกตัดออก แบนในหลายๆประเทศ เพราะถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนฆาตกร

หัวหน้าตำรวจ/ผู้ตรวจการ ใช้ข้ออ้างนัดด่วนทิ้งงาน แต่แท้จริงกลับเข้าผับเพื่อหวนระลึกถึงความทรงจำของน้องสาวที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ในจินตนาการเธอกลับนั่งเล่นเปียโนเพลง ด้วยความโป๊เปลือย และมีช็อตหนึ่งแสร้งทำเป็นบุหรี่ตกเพื่อถ้ำมอง (Voyeurism), นี่มักเป็นความคอรัปชั่นในความทรงจำของมนุษย์ เวลาเราคิดถึงหรือตกหลุมรักใคร ก็มักคิดถึงเขา/เธอ ในลักษณะที่เปลือยเปล่า ไม่มีเสื้อผ้ามาปกปิดบังเรือนร่าง กำลังบรรเลง Brahms Rhapsody, Op. 79 No. 2 in G minor

ต่อมาน้องสาวคนนี้ที่เสียชีวิตไปแล้ว กลับโทรหาเขาที่บาร์ หลายคนอาจเริ่มคิดว่าสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดโป้ปดหรือเปล่า ก็ถึงขนาดเดินทางไปพิสูจน์ที่สุสาน ปรากฎว่ามีโทรศัพท์อตั้งยู่หน้าโลงศพ ทรงผมของเธอยาวออกมาด้านนอก, Buñuel เล่าว่า ครั้งหนึ่งตอนที่เป็นนักเรียนที่ Madrid เห็นทรงผมของศพยาวออกมานอกโลงศพแบบนี้ท่ามกลางแสงจันทร์ ช่างเป็นภาพที่ตราติดตรึงฝังใจไม่รู้ลืม

มันจะบังเอิญไปไหมที่มีผู้ตรวจการถึงสองคน หน้าตาก็ไม่ได้เหมือนแต่พอพบเจอกลับร่วมกันวางแผนจัดการกับพวกประท้วงต่อต้าน ด้วยการใช้ความรุนแรง แต่พวกเขากลับเดินทางไปที่สวนสัตว์ เต็มไปด้วย ช้าง ฮิปโป แรด หมี เสือ ฯ แต่ Sound Effect ฉากนี้กลับเป็นเสียงปืนดังลั่น

การเปรียบเทียบมนุษย์เป็นสัตว์ มักเพื่อสะท้อนลักษณะนิสัย ตัวตนที่มีความแตกต่างกันออกไป, นัยยะฉากนี้ Buñuel คงต้องการเปรียบเทียบผู้ชมเหมือนกับสรรพสัตว์ ที่มักถูกจำกัดกรอบ ครอบงำ ควบคุมทางความคิดโดยบางสิ่งอย่างอยู่เสมอ และการประท้วงต่อสู้ ความขัดแย้ง มองได้คือการพยากรณ์อนาคตจุดจบของโลก ที่นอกจากประเด็นต้องห้าม Taboo ทั้งหลายถูกนำเสนอแล้ว ยังมีพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่จะหวนกลับคืนมาทำลายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

ช็อตจบกับภาพ Close-Up ใบหน้าของนกกระจอกเทศ (Ostrich) ที่จ้องตามายังที่ผู้ชม ดวงตาของมันใสซื่อบริสุทธิ์ ราวกับดวงตาของ Buñuel ที่จ้องมองผู้ชมย้อนกลับ ราวกับการตั้งคำถาม นายเห็นอะไรจากหนังเรื่องนี้?

 “somewhere between chance and mystery lies imagination, the only thing that protects our freedom, despite the fact that people keep trying to reduce it or kill it off altogether”

สรุปแล้ว Buñuel สร้างหนังเรื่องนี้เพื่ออะไรกันแน่? เรื่องราวต่างๆที่ถูกนำมาเรียงร้อยต่อกันนี้ รวบรวมประมวลผลจากการพบเจอ(ด้วยตนเอง) ประสบการณ์ แนวคิดทัศนคติ ปรัชญาชีวิต ถือว่ามีความใกล้เคียงกับ ‘ชีวประวัติ’ ของผู้กำกับเป็นอย่างยิ่ง

‘อิสรภาพ’ ในทัศนะของ Buñuel คือบางสิ่งอย่างที่อยู่ระหว่างโอกาสกับความลึกลับ มันคือจินตนาการความเป็นไปได้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ผู้ชมจะสามารถครุ่นคิดวิเคราะห์ ตีความหมาย ทำความเข้าใจได้หลากหลายโดยไร้ขอบเขตจำกัด นี่แหละคืออิสรภาพที่ Buñuel แสวงหา

เพราะเหตุนี้ที่ทำให้ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังพอสมควร ราวกับว่าได้มีโอกาสเข้าไปในหัว มันสมองของผู้กำกับ Buñuel ทำความเข้าใจแนวคิด ทัศนคติ ปรัชญาชีวิต ความเxย จิตวิปริตพิศดารของชายคนนี้ ที่ได้ถูกถ่ายทอดนำเสนอ เปิดเผยธาตุแท้ตัวตนออกมา

ไม่แปลกเลยที่ถ้า Buñuel จะบอกว่า The Phantom of Liberty คือภาพยนตร์ที่ตัวเขาชื่นชอบมากสุด แต่พี่แกก็ไม่พูดออกมาตรงๆนะ ใช้คำว่า ‘soft spot’

“If I have a soft spot for any one of my movies, it would be for The Phantom of Liberty, because it tries to work out just this theme.”

– Luis Buñuel

แนะนำกับคอหนัง Surrealist, นักคิด นักปรัชญา ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์ตีความเชิงสัญลักษณ์, นักเรียน ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ทั้งหลาย, แฟนๆของผู้กำกับ Luis Buñuel ไม่ควรพลาด

จัดเรต 15+ กับความแปลกประหลาดพิศดาร การกระทำผิดมนุษย์มนา

TAGLINE | “The Phantom of Liberty อิสรภาพในการสร้างภาพยนตร์ของผู้กำกับ Luis Buñuel ไม่ใช่ภาพลวงตาอย่างแน่นอน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
1 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
ร.น.ก. Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
ร.น.ก.
Guest
ร.น.ก.

จริงๆ หนังที่ดำเนินเรื่องแบบส่งต่อเรื่องราวจากคนนึงไปอีกคนนึงเป็นส่งไม้วิ่งผลัด ยังมีหนังฝรั่งเศสเรื่อง La Ronde (1950) ของ Max Ophüls มาก่อนด้วยนะ แต่เรื่องนั้นจะวนเป็นวงกลม คนสุดท้ายจะมาบรรจบกับคนแรกตามชื่อเรื่อง (และจะมีสัญลักษณ์ของการวนเป็นวงกลม “La Ronde” อยู่ตลอดทั้งเรื่อง)
เป็นหนึ่งในหนังที่น่าสนใจในเรื่องไดเร็กชั่นและองค์ประกอบศิลป์มากเรื่องนึง

%d bloggers like this: