The Philadelphia Story

The Philadelphia Story (1940) hollywood : George Cukor ♥♥♥♥♡

เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกเรียกว่า ‘Box-Office Poison’ แม่หญิง Katharine Hepburn ว่าจ้าง Philip Barry พัฒนาบทละครเวที The Philadelphia Story (โดยมี Howard Hughes ส่งน้ำเลี้ยงอยู่เบื้องหลัง) เกลี้ยกล่อมให้ Louis B. Mayer ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลง เลือกผู้กำกับ ติดต่อนักแสดง ทำทุกสิ่งอย่างด้วยตนเองจนประสบความสำเร็จล้นหลาม แม้จะพลาด Oscar: Best Actress แต่ก็สามารถหลุดจากคำสาปอันชั่วร้ายนี้เสียที

“My prize is my work”.

– Katharine Hepburnให้สัมภาษณ์หลังพลาดรางวัล Oscar: Best Actress ให้ Ginger Rogers เรื่อง Kitty Foyle (1940) ที่เจ้าตัวปฏิเสธรับเล่นเพราะต้องการทุ่มเวลาให้ The Philadelphia Story อย่างเต็มที่

ในบรรดา 3 นักแสดงนำ พวกเขาได้กำไรจากหนังเรื่องนี้แตกต่างกัน
– Cary Grant เรียกค่าตัวสูงสุด $137,500 เหรียญ ด้วยการมีบทบาทน้อยที่สุด
– Katharine Hepburn ค่าตัว $75,000 เหรียญ และค่าลิขสิทธิ์บทหนัง $175,000 เหรียญ แต่กำไรจริงๆมาจากสิ้นสุดฉายา ‘Box-Office Poison’
– James Stewart ผู้น่าเศร้า ค่าตัวของเขาเพียง $15,000 เหรียญ แต่คว้า Oscar: Best Actor เป็นรางวัลปลอบใจ

The Philadelphia Story (1940) เป็นภาพยนตร์แนว Romantic Comedy (ไม่ถึงขั้น Screwball) ที่มีเนื้อเรื่องราวน่าจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่สุด! โครงสร้างใจความผมว่าไม่ได้มีอะไรเท่าไหร่หรอกนะ แต่เพราะการ All-Talk บทสนทนาเต็มไปด้วยภาษาดอกไม้ คมคาย อุปมาอุปไมย ต้องคนเก่งภาษาอังกฤษระดับคล่องแคล่ว ‘Fluent’ ถึงน่าจะสามารถเอาตัวรอดจนจบได้ (แต่ถ้าหาดูซับไทยได้ ก็คงมีแนวโน้มพอดูรู้เรื่องอยู่นะ)

ที่แนะนำแบบนี้เพราะผมเคยรับชมหนังน่าจะเกือบๆ 10 ปีก่อน แล้วก็หงุดหงิดหัวเสียดูไม่รู้เรื่อง! รอบนี้แอบหวาดหวั่นวิตกอยู่เล็กๆเหมือนกัน แต่ยังสามารถพอเอาตัวรอดมาได้ และตกหลุมรักคลั่งไคล้ คาดไม่ถึงเลยว่าจะถ้อยสนทนาเหล่านั้น จะมีความยียวนกวนประสาทขั้นรุนแรงสาหัสสากรรจ์เพียงนี้


ก่อนอื่นคงต้องเอ่ยพูดถึง Katharine Houghton Hepburn (1907 – 2003) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Hartford, Connecticut สมัยเด็กตัดผมสั้นเรียกตัวเองว่า Jimmy มีนิสัยทอมบอย ชื่นชอบว่างน้ำ ขี่ม้า ตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส แต่ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ สนใจการแสดงเพราะจะได้ไม่ต้องเข้าโรงเรียน กลายเป็นนักแสดงละครเวทีจนไปเข้าตาแมวมองของ Hollywood จับมาเซ็นสัญญากับ RKO ภาพยนตร์เรื่องแรก A Bill of Divorcement (1932), Little Women (1933), ยังไม่ทันไรก็คว้า Oscar: Best Actress ตัวแรกจากเรื่อง Morning Glory (1933), นั่นทำให้ช่วงระหว่างปี 1934-38 แม้มีผลงานดีๆอย่าง Bringing Up Baby (1938), Holiday (1938) กลับล้มเหลวไม่ทำเงิน จนได้รับการตีตรา ‘box office poison’ เมื่อปี 1938

“No other star has emerged with greater rapidity or with more ecstatic acclaim. No other star, either, has become so unpopular so quickly for so long a time”.

– Andrew Britton นักวิจารณ์ให้คำนิยาม ‘box office poison’ ถึง Katharine Hepburn

ด้วยสัญญาที่ยังคงผูกมัดกับสตูดิโอ RKO อีกหลายปี เลยได้รับข้อเสนอให้เล่นหนังเกรด B เรื่อง Mother Carey’s Chickens (1938) แต่แม่หญิงบอกปัดปฏิเสธ ซื้อคืนสัญญาตนเองที่เหลือคืน จ่ายเงินไป $75,000 เหรียญ (ว่ากันว่าเป็นเงินของ Howard Hughes ขณะนั้นกำลังขายขนมจีบให้เธออยู่) แล้วพักงานภาพยนตร์หนึ่งปีเต็ม เปลี่ยนบรรยายกาศสู่การแสดงละครเวที Broadway

Hepburn ว่าจ้าง Philip Barry (1896 – 1949) นักเขียนบทละครเวที เจ้าของต้นฉบับภาพยนตร์ Holiday (1938) ที่เธอแสดงนำเรื่องล่าสุด (ประกบ Cary Grant) มีโอกาสพูดคุยสนทนา สนิทสนมถูกคอ เลยชักชวนให้พัฒนา The Philadelphia Story โดยมีตนเองเป็นจุดศูนย์กลางแสดงนำ

เรื่องราวได้แรงบันดาลใจจาก Helen Hope Montgomery Scott (1904 – 1995) ไฮโซสาว นักการกุศล ทายาทเจ้าของธุรกิจ The Pennsylvania Railroad ซึ่งนิตยสาร Vanity Fair ตั้งฉายาให้เธอว่า ‘the unofficial queen of Philadelphia’s WASP oligarchy’

Barry ไม่ได้ล่วงรู้จัก Helen Hope Montgomery Scott เป็นการส่วนตัว แต่เขามีความลุ่มหลงใหลในข่าวซุบซิบคนดังที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงขณะนั้น และเพื่อนสนิท Edgar Scott เคยเรียนด้วยกันที่ Harvard University ทำงานเป็นนักเขียน/ขายข่าว เล่าให้ฟังว่าเจ้านายชื่นชอบการ Blackmail ไฮโซพวกนี้อย่างมาก ยินยอมจ่ายค่าปิดปากไม่อั้น เพื่อมิให้เรื่องอื้อฉาวบานปลาย (สมัยนั้นยังไม่มีคำเรียก Paparazzi ต้องหลังจากปี 1960 การมาถึงของภาพยนตร์ La Dolce Vita)

ละครเวที The Philadelphia Story ได้ทุนสนับสนุนจาก Theatre Guild (ว่ากันว่าป๋า Hughes อีกนะแหละที่ออกเงินให้) กำกับโดย Robert B. Sinclair นำแสดงโดย Hepburn รับบท Tracy Lord, Joseph Cotten รับบท Dexter Haven, Van Heflin รับบท Mike Connor, Shirley Booth รับบท Liz Imbrie, เปิดการแสดงยัง Shubert Theatre ปฐมทัศน์วันที่ 28 มีนาคม 1939 จำนวน 417 รอบการแสดง ประสบความสำเร็จล้นหลาม! และยังได้ออกทัวร์ทั่วประเทศต่ออีกหลายเดือน 250 รอบ ทำรายรับเกินกว่า $1 ล้านเหรียญ

Howard Hughes ถือลิขสิทธิ์ดัดแปลงภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ ระหว่างความตั้งใจแท้จริงของ Hepburn ออกติดตามหาสตูดิโอให้ความสนใจ กระทั่งได้ Louis B. Mayer เจ้าของ MGM ยินยอมจ่ายค่ากฎหมายสูงถึง $250,000 เหรียญ (Hepburn อมยิ้ม  $175,000 เหรียญ ที่เหลือมอบให้ Barry เจ้าของบทละครต้นฉบับ) แถมให้สิทธิ์เต็มที่ในการสรรหาผู้กำกับ นักแสดง ทีมงานอย่างอิสระเสรี


สำหรับผู้กำกับ Hepburn ขอเลือก George Cukor แม้เพิ่งถูกไล่ไร้เครดิตจากกองถ่าย Gone With the Wind (1939) และ The Wizard of Oz (1939) แต่ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกันเรื่อง A Bill of Divorcement (1932) และ Little Women (1933) ชื่นชอบประทับใจในวิสัยทัศน์อย่างมากล้น

George Dewey Cukor (1899 – 1983) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Manhattan, New York ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจากประเทศฮังการี ตั้งแต่เด็กชื่นชอบการเต้น การแสดง เป็นเพื่อนสนิทกับว่าที่โปรดิวเซอร์ดัง David O. Selznick โตขึ้นหนีจากโรงเรียนกฎหมาย ออกมาทำงานผู้ช่วยผู้จัดการโรงละคร เคยได้กำกับ Broadway ที่มี Bette Davis นำแสดง (แต่ทั้งสองไม่เคยร่วมงานภาพยนตร์กัน เพราะ Cukor ไล่เธอออกจากละครเวทีเรื่องนั้น) การมาถึงของยุคหนังพูด เลือกเซ็นสัญญากับ Paramount Pictures แต่ผลงานแรกกลับถูกยืมตัวไปให้ Universal Pictures ทำงาน Screen Test และกำกับบทพูดให้ All Quiet on the Western Front (1930), กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกจริงๆคือ Grumpy (1930), เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Royal Family of Broadway (1930), What Price Hollywood? (1932), Little Women (1933), ผลงานเด่นตามมา อาทิ The Philadelphia Story (1940), Gaslight (1944), Adam’s Rib (1949), Born Yesterday (1950), A Star Is Born (1954), My Fair Lady (1964) ฯ

ผมครุ่นคิดว่า สาเหตุแท้จริงสำคัญที่ทำให้ Hepburn ตัดสินใจเลือก Cukor เพราะเป็นผู้กำกับมีความเข้าใจในผู้หญิงเป็นอย่างดี จัดว่คือ ‘Woman’s Director’ (ส่วนหนึ่งเพราะ Cukor เป็นเกย์ เลยมีความละเอียดอ่อนไหวทางเพศสูง) สังเกตผลงานส่วนใหญ่ของเขาล้วนมีผู้หญิงแสดงนำ ในความบอบบางอ่อนแอ แฝงซ่อนเร้นจิตใจอันเข้มแข็งแกร่ง!

สำหรับการดัดแปลงบทภาพยนตร์ มอบหมายให้ Donald Ogden Stewart (1894 – 1980) นักเขียนขาประจำของผู้กำกับ Cukor เห็นว่าเจ้าตัวเคยเป็นนักแสดงละครเวทีเรื่อง Holiday (1928) เลยมีความคุ้นเคยกับบทของ Barry เป็นอย่างดี ซึ่งในหนังสืออัตชีวประวัติเล่าว่า

“The original play was so perfect, adapting it was the easiest job I ever had to do in Hollywood”.

– Donald Ogden Stewart

เรื่องราวของ Tracy Lord (รับบทโดย Katharine Hepburn) ลูกสาวคนโต ทายาทเจ้าของธุรกิจ Philadelphia Main Line แต่งงานครั้งแรกเพื่อนสนิทตั้งแต่เด็ก C.K. Dexter Haven (รับบทโดย Cary Grant) อยู่ร่วมกันไม่นานกลับหย่าขาด แถมขับไล่ไสส่งโยนข้าวของทิ้งออกจากบ้าน!

สองปีผ่านไปพบรักใหม่ กำลังจะแต่งงานกับ George Kittredge (รับบทโดย John Howard) ก่อนหน้าวันเข้าพิธีสมรส อดีตสามี Dexter อยู่ดีๆก็หวนกลับมา พร้อมสองตัวละครปริศนาไม่คุ้นหน้า Macaulay Connor (รับบทโดย James Stewart) และ Elizabeth Imbrie (รับบทโดย Ruth Hussey) สืบทราบว่าคือนักข่าว-ช่างภาพ ถูกสั่งมาให้เกาะติดงานแต่งงานของเธอ อยากจะขับไล่แต่กลับถูก Blackmail เลยแสร้งแกล้งเล่นละครตบตา

นั่นทำให้ Mike ค่อยๆรับล่วงรู้ถึงสาเหตุผล ข้อเท็จจริง การเลิกร้างราของ Tracy กับ Dexter ทั้งยังมีความเห็นว่า George มิได้เหมาะสมประการใดต่อเธอ หลังจากเกิดอาการมึนเมาหลังงานเลี้ยงปาร์ตี้ เสนอตัวเองเป็นเจ้าบ่าว มือที่สาม-สี่ แทนผู้ชายไร้ศักยภาพพวกนั้น เอิ่ม… มันจะเป็นไปได้ไหมเนี่ย!


Hepburn รับบท Tracy Samantha Lord เพราะถือกำเนิดในครอบครัวมหาเศรษฐี วัยเด็กคงมีแต่คนเอาใจ เติบโตขึ้นเลยไม่รับฟังคำใคร โลกทั้งใบต้องหมุนรอบฉัน ได้รับการเปรียบเทียบราวกับองค์หญิง นางฟ้า เทพธิดา ทำตัวหัวสูงเลิศเลอค่า โหยหาความรักแต่กลับปฏิเสธมอบมันให้ใคร เคยตกหลุมรักคลั่งไคล้ Dexter ไม่สนแม้พิธีรีตอง แต่กลับครองคู่อยู่ร่วมไม่ได้ ‘ไก่เก็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ทนไม่ไหวเลยต้องขับไล่ไสส่ง มิอาจปลักปลงยอมรับโลกความจริง

การเลือกแต่งงานใหม่กับ George Kittredge เหมือนว่าต้องการประชดประชันตนเอง(และสามีเก่า) เลือกบุคคลผู้มีชนชั้นฐานะต่ำต้อยกว่า จักได้คงความไฮโซหัวสูงไม่ต้องก้มหัวให้ใคร แต่เธอรักเขาจริงไหมหรือแค่หุ่นเชิดไล่กา ซึ่งพอถูกกระแนะกระแนจนคนนอกพบเห็นสังเกตได้ จี้จุดแทงใจดำที่สุดก็กระจ่างแจ้ง รับรู้ว่ามีเพียงชายคนเดียวเท่านั้นเหมาะสมเคียงคู่กับตน

ความแก่นก้าวร้าว เย่อหยิ่งทะนง ไฮโซหัวสูงของ Hepburn ถือเป็นภาพลักษณ์ติดตา ลายเซ็นต์ประจำตัว และคือธาตุแท้ของเธอเอง แทบทุกวินาทีต้องมีการพูดคุย ขยับเคลื่อนไหว หรือแสดงสีหน้าปฏิกิริยา มิอาจยืนหยุดนิ่งเฉยๆ ต้องล่องลอยพริ้วไหวเอวบางราวกับนางฟ้า สายตาจิกกัด ปากจัด แต่สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจน้อยคนจะรับรู้ได้ ช่างมีความบริสุทธิ์ใสเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสา อ่อนเยาว์วัยต่อโลกเสียเหลือเกิน

ต้องถือว่า Cukor เป็นผู้ค้นพบและปลุกปั้น Hepburn ให้โด่งดังกลายเป็นตำนานระดับนี้ ทั้งคู่ไม่เพียงร่วมงาน (ถึง 10 เรื่อง!) แต่ยังสนิทสนมเพื่อนตายในชีวิตจริง (คือเป็นเพื่อนจริงๆนะ ไม่ได้มีเรื่องชู้สาวใดๆ)

“There was this odd creature, she was unlike anybody I’d ever heard. I thought she was very talented in that action”.

– George Cukor พูดถึง Katharine Hepburn


สำหรับสองนักแสดงนำชายที่ Hepburn เล็งไว้คือ Clark Gable (ไม่ถูกกับผู้กำกับ Cukor ตั้งแต่ Gone With the Wind) กับ Spencer Tracy (ติดเล่นหนัง Dr. Jekyll and Mr. Hyde) เมื่อทั้งคู่บอกปัด เลยมาลงเอยที่ Cary Grant (ขอค่าตัวสูงสุด และเลือกบทน้อยๆ) และ James Stewart (ประทับใจจาก Mr. Smith Goes to Washington)

Cary Grant ชื่อจริง Archibald Alec Leach (1904 – 1986) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เกิดที่ Bristol, Horfield ในครอบครัวที่พ่อติดเหล้า แม่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ก็พยายามสอนเขาให้ยิ้มไว้ ร้องเพลง เล่นเปียโน โตขึ้นได้ทุนเข้าเรียน Fairfield Grammar School แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ แต่ตัวเองกลับโดดเรียนจนถูกไล่ออก ใช้เวลาอยู่หลังเวทีที่ Hippodrome ต่อมากลายเป็นนักแสดงออกทัวร์ ตอนอายุ 16 ขึ้นเรือ RMS Olympic เดินทางไปที่อเมริกา ดิ้นรนไปเรื่อยๆจนพอมีชื่อเสียงใน Broadway แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก This is the Night (1932), เซ็นสัญญากับ Paramount Picture ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ต่อมากับ Columbia Picture โด่งดังกับ The Awful Truth (1937), Bringing Up Baby (1938), His Girl Friday (1940), The Philadelphia Story (1940), กลายเป็นตำนานกับ Notorious (1946), North by Northwest (1959), Charade (1963) ฯ

รับบท C.K. Dexter Haven อดีตสามีของ Tracy ที่ยังคงรักและเข้าใจตัวตนแท้จริงของเธอเป็นอย่างดี ดูแล้วคงไม่ได้อยากหวนกลับมางานแต่งสักเท่าไหร่หรอก แต่ถูกเจ้านาย Blackmail เลยต้องตีเนียนส่งไม้ต่อให้ Mike กับ Elizabeth เป็นม้าโทรจันไส้ศึก ลึกๆคงแอบหวังคืนดีอดีตภรรยาอยู่เหมือนกัน พยายามชี้ชักนำให้เธอเห็นความผิดพลาดของการเลือกสามีใหม่ George Kittredge ผลลัพท์สุดท้ายเป็นอย่างไรคงต้องไปลุ้นกัน

บทบาทนี้ในฉบับละครเวทีเห็นว่ามีน้อยนิดกระจิดริด พี่ชายของ Tracy ที่ชื่อ Junius ยังโดดเด่นสำคัญมากกว่า แต่สังเกตว่าหนังตัดตัวละครนั้นทิ้งออกไปเลยแค่กล่าวถึง ยกทั้งหมดปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น Dexter ก็แน่ละเพราะค่าตัว Grant สูงลิบลิ่ว จะให้โผล่มาแวบเดียวก็ใช่เรื่องกระไรอยู่

ผมว่า Grant ฉลาดมากๆเลยนะที่เลือกรับบทนี้ เพราะไม่ต้องประชันฝีมือแก่งแย่งชิงความโดดเด่นกับ Hepburn ยังคงภาพลักษณ์หล่อเข้มมาดแมน เป็นตัวของตนเอง ไม่ต้องใช้การแสดงอะไรมากมาย สนุกสนานสุขสำราญเต็มที่ แถมได้ค่าตัวสูงสุดอีกต่างหาก

Grant กับ Hepburn เป็นคู่ทุกข์คู่ยากร่วมงานกันมาหลายปี ตั้งแต่ Sylvia Scarlett (1935), Bringing Up Baby (1938), The Awful Truth (1937) สามเรื่องนี้ Flop ไม่ทำเงินทั้งหมด แต่ Grant กลับไม่ถูกตีตราว่าเป็น ‘Box-Office Poison’ เพราะมีผลงานทำเงินแทรกสลับอยู่หลายเรื่อง ทั้งรู้ว่าบทบาทนี้ตนเองคงไม่โดดเด่นอะไร ถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อนรักเพื่อนสนิท นำเงินค่าตัวที่ได้บริจาคทั้งหมดให้ British War Relief Society สำหรับผู้ตกทุกข์ได้ยากจากการมาถึงของสงครามในยุโรป


James Maitland Stewart (1908 – 1997) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Indiana, Pennsylvania พ่อเป็นเจ้าของกิจการร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า คาดหวังให้เขาสืบต่อกิจการ ส่วนแม่เป็นนักเปียโน ทำให้ Jimmy เล่นดนตรีเก่งมาตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเข้าเรียน Princeton University โดดเด่นในวิชาสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการออกแบบเครื่องบินจนได้ทุนการศึกษา แต่กลับสนใจชมรมการแสดง สนิทสนามรู้จักกับ Henry Fonda, Margaret Sullavan กลายเป็นนักแสดง Broadways แม้จะไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็ได้มีแมวมอง MGM จับเซ็นสัญญา รับบทนำครั้งแรก Speed (1936), เริ่มมีชื่อเสียงจาก You Can’t Take It with You (1938), พลุแตกกับ Mr. Smith Goes to Washington (1939), The Philadelphia Story (1940), It’s a Wonderful Life (1946), Rear Window (1954), Vertigo (1958), Anatomy of a Murder (1959), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ

รับบท Macaulay ‘Mike’ Connor นักเขียนไส้แห้งที่เหมือนจะไม่มีฝีไม้ลายมือสักเท่าไหร่ เอาตัวรอดไปวันๆด้วยการรับงานเขียนข่าวซุบซิบ ขัดต่ออุดมการณ์ความตั้งใจ ถูกเจ้านายส่งตัวมาทำข่าวแต่งงานยังคฤหาสถ์ Tracy Lord เป็นเหตุให้ธาตุแท้ตัวตน ความต้องการแท้จริงค่อยๆเปิดเผย ‘ปากว่าตาขยิบ’ พูดบอกรังเกียจสังคมไฮโซ ชนชั้นสูง กลับดื่มด่ำเมามายในงานเลี้ยง ยกยอปอปั้นความงามของหญิงสาว แถมยังเอ่ยปากขอแต่งงานหน้าด้านๆ ไม่ครุ่นคิดถึงหญิงสาวคนข้างๆ Elizabeth Imbrie ที่ตกหลุมรักเขาอยู่ห่างๆ

Jimmy เป็นนักแสดงที่มีความเป็นธรรมชาติ มนุษย์ธรรมดาจับต้องได้ สีหน้าท่าทางล้วนสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในอย่างชัดเจน ช่วงแรกเหมือนว่าบางสิ่งอย่าง คุณธรรม? ฉุดเหนี่ยวรั้งตัวเขาไว้ เต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วน กระวนกระวาย อึดอัดคับข้อง แต่หลังจากเหล้าเข้าปากเมามาย น้ำแข็งละลาย ครุ่นคิดอะไรก็พูดออกมาตรงๆ ไร้ยางอาย เผยธาตุแท้ของตัวละครออกมา

วิวัฒนาการของตัวละครนี้สร้างความตกตะลึงให้ผมไม่น้อยเลยนะ เริ่มมาดูเป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิธานหนักแน่น แต่ไปๆมาๆกลับเปลี่ยนแปลงไปเป็นคนละคน นี่ย้อนแย้งเข้ากับ Tracy Lord ทำให้เธอรับรู้สึกซึ้งเข้าใจตนเอง นี่ฉันเป็นคนหลอกตัวเองแบบนี้เหมือนกันสินะ ตอนจบเธอเลยปฏิเสธคำขอแต่งงานของเขา อารมณ์ชั่ววูบหรือจะสู้รักนิรันดร์

ส่วนตัวยังคงชื่นชอบการแสดงของ Jimmy จาก Mr. Smith Goes to Washington มากกว่า The Philadelphia Story แม้วิวัฒนาการตัวละครจะลุ่มลึกพอๆกัน แต่เรื่องนี้เมื่อธาตุแท้ได้เปิดเผยออก ต้องการเป็นมือที่สาม-สี่ นั่นสร้างความผิดหวังเล็กๆ หมอนี่มันพวก ‘ปากว่าตาขยิบ’ พูดไม่ตรงกับใจ ถึงแสดงออกด้วยความซื่อตรงแค่ไหน ก็หาได้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ดั่งที่ควรเป็น


Ruth Carol Hussey (1911 – 2005) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Providence, Rhode Island โตขึ้นเข้าเรียนสาขาการแสดงละครเวที University of Michigan จบออกมาเป็นนักแสดง ‘Summer Stock’ อยู่ Michigan พอรู้ว่าเอาตัวไม่รอดหวนกลับบ้านได้งานจัดรายการวิทยุ ต่อมากลายเป็นนักแสดงที่ Providence Playhouse ค่ำคืนหนึ่งได้รับการติดต่อจากแมวมอง เซ็นสัญญาสตูดิโอ MGM ไต่เต้าจากหนังเกรด B กระทั่งได้สมทบ The Philadelphia Story (1940) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress โอกาสเลยไหลมาเทมาก่อนผันสู่วงการโทรทัศน์หลังจากทศวรรษ 50s ผลงานเด่นๆ อาทิ Our Wife (1941), The Uninvited (1944), The Great Gatsby (1949) ฯ

รับบท Elizabeth Imbrie ตากล้องประจำตัวของ Mike เธอเป็นคนเหนือยๆ ชอบทำน้ำเสียงเหนื่อยๆ แสดงสีหน้าเบื่อหน่าย กร้านโลก ทนฟังคำบ่นของเขา แล้วตบมุกด้วยสัจธรรมชีวิต สาเหตุที่ยอมอยู่ติดไม่ห่างกาย เพราะลึกๆภายในตกหลุมรักใคร่ คาดหวังว่าสักวันคงตระหนักขึ้นได้ แต่พี่แกก็ทึ่งทื่อบื้อเกินห้ามใจ กระทั่งได้รับการส่งเสริมผลักดันโดย Tracy Lord หลังจากนี้น่าจะคงมีความหวังโอกาสขึ้นบ้าง ตอนนี้เป็นแค่เพื่อนเจ้าสาวไปก่อน รอลุ้นรับดอกไม้โยน … จะได้หรือเปล่านะ!

แม้เพียงบทสมทบเล็กๆแต่ได้สร้างสีสันให้หนังอย่างมาก เป็นคนคอยตบมุกของ Stewart เล่นเข้าขากันได้อย่างเมามันส์สุดๆ น่าแปลกไม่มีใครจับพวกเขามาเข้าคู่สานต่อซะงั้น เสียดายเคมีระหว่างกันนี้จัง


ถ่ายภาพโดย Joseph Ruttenberg (1899 – 1983) ตากล้องสัญชาติ Russian เชื้อสาย Jews อพยพมุ่งสู่อเมริกัน เริ่มจากเป็นนักข่าวถ่ายภาพ ก่อนได้งานตากล้องถ่ายทำหนังเงียบ สู่ยุค Talkie สามารถคว้า Oscar: Best Cinematography ถึง 4 ครั้ง จาก The Great Waltz (1938), Mrs. Miniver (1942), Somebody Up There Likes Me (1956) และ Gigi (1958)

งานภาพเหมือนจะไม่มีอะไรหวือหวา เพราะเต็มไปด้วยการสนทนาของตัวละคร แต่ถ้าสังเกตให้ดีๆจะพบเห็นความงดงามระดับ Masterpiece การเคลื่อนไหลกล้องอย่างเป็นธรรมชาติ จัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่งนักแสดง และสัมผัสเวลา Close-Up ใบหน้านักแสดง (แต่ระยะภาพส่วนใหญ่คือ Medium Shot)

หนังทั้งเรื่องสร้างฉากถ่ายทำในสตูดิโอ MGM ที่ Hollywood ไม่ได้ก้าวย่างเดินทางไปเพ่นพ่านแถว Philadelphia เลยแม้แต่น้อย

อารัมบทของหนังเป็น Slapstick เล็กๆระหว่าง Hepburn กับ Grant ทั้งคู่เล่นจริงไม่มีสตั้น ใส่อารมณ์อย่างเต็มที เธอชอบให้เขาผลักล้มเล่นกันหลายเทคทีเดียว และเห็นว่าครั้งหนึ่ง Grant หกล้มเกิดเป็นแผลถลอก กลับโดน Hepburn แซวเล่น

“That’ll serve you right, Cary, for trying to be your own stuntman”.

แซว: Grant เรียกตัวละครของ Hepburn ว่า Red นี่ไม่มีในบท แต่สื่อถึงผมสีแดงของเธอ

หลายช็อตของหนังมีการเล่นรายละเอียดกับแสง-เงา สาดส่องผ่านร่องบานเกล็ด แลดูเหมือนกรงขัง, อย่างช็อตนี้ในห้องทำงานของ บก. นิตยสาร Spy Magazine พวกเขาทั้งหลายราวกับถูกจองจำ เพราะกำลังโดน Blackmail จากเจ้านายตัวแสบ ให้ไปทำข่าวที่พวกเขาไม่ใคร่สนใจพิศวาสสักเท่าไหร่

ช็อตนี้นี่ผมขำหนักมากๆ เมื่อตัวละครของ Stewart ออกสำรวจรอบบ้านตระกูล Lord มาถึงห้องหนึ่งวางเรียงรายข้าวของขวัญแต่งงาน เริ่มต้น Jimmy ยังไม่ทันมองเห็นรู้ตัวว่ามีบอดี้การ์ดจับจ้องเฝ้ามองอยู่ กล้องก็ไม่ถ่ายติดหมอนี่ในเฟรม แต่หลังจากลูบๆคลำๆหยิบโน่นนี่นั่น ราวกับจิตสังหารที่จับต้องได้ หันมองกล้องเคลื่อน โอ้โห! คิดได้ไง เป็นไดเรคชั่นที่แสนธรรมดา แต่เจ๋งเป้งมากๆอันหนึ่งเลยละ!

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำด้วยระยะ Medium Shot พบเห็นนักแสดงเกือบๆเต็มตัว (บางช็อตก็หัวจรดเท้า) หันหน้าไม่ก็หันข้าง เรือนร่างพริ้วไหวเดินไปมา มีการจัดวางองค์ประกอบ ตำแหน่ง ทิศทางเคลื่อนไหวเป็นอย่างดี และกล้องมักติดตามเหมือนการกวาดสายตาซ้าย-ขวา หน้า-หลัง

นี่ถือเป็นไดเรคชั่นรับอิทธิพลจากละครเวที ปล่อยให้นักแสดงมีอิสระเคลื่อนไหวเต็มที่ งานภาพเก็บรายละเอียดมุมกว้าง ขึ้นอยู่กับผู้ชมอยากจับจ้องมองสังเกตอะไรใคร

การพบเจอครั้งแรกของ Tracy กับ Mike และ Elizabeth ทุกคนต่างแสดงละครตบตา พยายามปกปิดซ่อนเร้นตัวตนแท้จริงไว้ภายใน สังเกตชุดของ Hepburn ดูเป็นตุ๊กตายังไงชอบกล และเธอจุดไฟให้กับแขกมาเยือนทั้งสอง (แฝงนัยยะ Bisexual) ซึ่งการที่ Jimmy ใช้ไม้ขีดจุดไฟของตนเอง (คือพยายามเป็นตัวของตนเอง) แต่เมื่อถูกยื่นไฟแช็คให้ เลยรับของฟรีดีกว่า (ลึกๆก็คืออยากได้รับบริการ เป็นคนไฮโซชนชั้นสูงแบบนั้นบ้าง)

ทำไมไฮโซถึงชอบว่ายน้ำ มีสระน้ำในบ้าน? ผมครุ่นคิดในเชิงสัญลักษณ์ มันเป็นการโชว์อ๊อฟอย่างหนึ่ง เพราะปกติการจะลงไปว่ายน้ำต้องสวมใส่ชุดว่ายน้ำ เปิดเผยเรือนร่างกาย แสดงออกซึ่งธาตุแท้ตัวตน จิตวิญญาณภายในออกมา … จริงๆมันแค่ค่านิยมของงานเลี้ยงปาร์ตี้ สายน้ำช่วยเสริมสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย อารมณ์เหมือนการไปท่องเที่ยวทะเล เบื่อๆร้อนๆก็กระโดดตูมตาม เย็นกายสบายจิต

ช็อตนี้สังเกตว่าประตูห้องแต่งตัวด้านหลังมีสามบานเทียบเท่าสามตัวละคร ลักษณะเหมือนซี่กรงขัง เปิดออกกว้าง เปิดออกกลาง และปิดสนิท สะท้อนสิ่งที่อยู่ภายในของพวกเขาสามคนพอดิบพอดี!
– Grant เปิดออกกว้าง ไม่มีอะไรจะปกปิดบัง
– Hepburn อ้างว่าเปิดเผย แต่ข้างในยังซุกซ่อนบางสิ่ง
– Stewart ขณะนั้นยังไม่เมา เลยซุกซ่อนตัวตนแท้จริงไว้ภายใน

แซว: ชุดนี้ของ Hepburn ดูเหมือน ‘High Priest’ เทพเทพีจากปกรณัมกรีก จะมีช็อตหนึ่งที่เธอยืนเคียงคู่รูปปั้นในสระน้ำ เป็นการสะท้อนคำยกยอปอปั้นของ Grant ในฉากนี้ได้้เป็นอย่างดี

น่าจะเป็นฉากนี้กระมังที่ทำให้ Jimmy คว้า Oscar: Best Actor เป็นการเผชิญหน้าตัวต่อตัวครั้งแรกครั้งเดียวของทั้งคู่ แต่ในสภาพเมามายจริงๆและสะอึก อย่างหลังไม่มีในบทแต่สมจริงมากๆจนผู้กำกับต้องเก็บเทคนี้ไว้ใช้จริง แม้แต่ Grant ก็คาดคิดไม่ถึงพยายามก้มหน้าเกือบหลุดหัวเราะ แต่เขาก็เรียกคืนสติอย่างมืออาชีพ พูดขึ้นว่า Excuse Me! แล้วไปต่อ

ขวดแชมเปญที่อยู่บนโต๊ะ กึ่งกลางระหว่างพวกเขา มันช่างโด่เด่ สัญลักษณ์ของลึงค์ แต่สามารถมองได้คือสิ่งเชื่อมความสัมพันธ์ลูกผู้ชาย ดื่มเหล้าเมามายจึงมักเปิดเผยธาตุแท้ตัวตนออกมา

เกร็ด: เมื่อตอนที่ Grant กล่าวสดุดีก่อนมอบรางวัล Honorary Award ให้กับ Jimmy เมื่อปี 1985 เขาเล่าความประทับใจการร่วมงานกันฉากนี้ เป็นอะไรที่ไม่รู้ลืมจริงๆ [LINK]

น้อยครั้งจริงๆกับการ Close-Up มักพบเห็นในช่วงเวลาอินจัดๆ ตัวละครมีความซาบซึ้ง ดีใจ-เศร้าโศก ซึ่งต้องถือว่าผู้กำกับ Cukor มุ่งเน้นมากๆ ใส่ความระยิบระยับงามตา Back-light สาดส่องจากด้านหลังให้ทรงผมมีความฟุ้งๆ แสงจากด้านหน้าจัดเต็มไร้เงา ใบหน้าหันเอียงเล็กน้อย เอิบด้วยรอยยิ้ม และระยิบระยับด้วยเครื่องประดับแฟชั่นเสื้อผ้า ให้ตายเถอะ! นี่น่าจะเป็นช็อตสวยงามที่สุดของ Katharine Hepburn จริงๆนะแหละ

หลายๆครั้งของหนัง จะพบเห็นวัตถุบางอย่างกินพื้นที่ราวกับเป็นกรอบขอบภาพ โดดเด่นชัดมากๆ, ผมเลือกช็อตท้ายๆของหนังนี้ เมื่อตัวละครของ Hepburn กำลังใกล้คืนดีกับ Grant บนโต๊ะอาหารรายล้อมด้วยเค้กแต่งงาน เทียน และดอกไม้ ราวกับเป็นการพยากรณ์สิ่งกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปของพวกเขาได้เลยละ

ว่ากันว่าช็อตสุดท้ายของหนังที่เป็นการ Freeze Frame (ทำเป็นเหมือนภาพถ่ายของ Paparazzi) อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ François Truffaut เลียนแบบตอนจบใน The 400 Blows (1959)

แซว: น่าครุ่นคิดนะว่า ปกติแขกที่มาร่วมงานครึ่งหนึ่งน่าจะเป็นฝั่งเจ้าบ่าว แต่เมื่อคู่ของ Tracy เปลี่ยนไป Dexter มันจะเกิดความฉงน สันสน ว้าวุ่นวายประการใดขึ้นบ้าง!

ตัดต่อโดย Frank Sullivan (1896 – 1972) สัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่นๆ อาทิ Mata Hari (1931), Fury (1936), Babes in Arms (1939), The Philadelphia Story (1940), Woman of the Year (1942), Joan of Arc (1948) ฯ

หนังไม่ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองใครเป็นพิเศษ มักสลับไปมาระหว่างสามตัวละคร Tracy Samantha Lord, Macaulay Connor และ C.K. Dexter Haven โดยมีจุดหมุนคือบ้าน/คฤหาสถ์ของตระกูล Lord ในระยะเวลา 2-3 วัน (ไม่นับอารัมบทเมื่อ 2 ปีที่แล้ว)

ในฉบับละครเวที มีทั้งหมด 3 องก์ ซึ่งล้วนดำเนินเรื่องภายในบ้านตระกูล Lord, สำหรับภาพยนตร์ คงสามารถมองเป็น 3 องก์ได้เช่นกัน แบ่งโดยใช้เวลาเป็นตัวกำหนด
– อารัมบท เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และ 2 วันก่อนหน้า
– องก์แรก กลางวันก่อนหน้าวันแต่ง, รวมพลที่บ้านตระกูล Lord พบเจอพูดคุย พลัดพลูที่ห้องสมุด ต่อที่สระว่ายน้ำ เรียกว่าเป็นช่วงแนะนำตัวละคร ทำความรู้จัก’ภาพ’ลักษณ์ของพวกเขา
– องก์สอง กลางคืนก่อนหน้าวันแต่ง, งานเลี้ยงปาร์ตี้ บ้านของ Dexter กลับมาบ้านตระกูล Lord ช่วงเวลาเปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ค่อยๆเรียนรู้ทำความเข้าใจผู้อื่น
– องก์สาม กลางวันแต่งงาน, ตื่นเที่ยงรับรู้ความจริง ตัดสินใจบางสิ่ง จบสิ้นที่พิธีสมรส


เพลงประกอบโดย Franz Waxman สัญชาติเยอรมัน ผลงานเด่นอาทิ Rebecca (1940), The Philadelphia Story (1940), Sunset Boulevard (1950), A Place in the Sun (1951), Taras Bulba (1962) ฯ

งานเพลงมีลักษณะคล้ายสร้อยของบทกวี คอยแต่งแต้มเมื่อขณะตัวละครหยุดพักสนทนาหายใจ ขณะกำลังครุ่นคิดหรือวางแผนทำอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างความต่อเนื่องและส่งต่อเรื่องราวให้มีความลื่นไหล

การที่ Jimmy ขับร้องเพลง Somewhere Over the Rainbow ไม่เพียงอ้างอิงถึง The Wizard of Oz (1939) ที่ผู้กำกับ Cukor เข้าไปมีส่วนร่วมนิดหน่อย แต่ยังสื่อถึงอารมณ์เพ้อใฝ่ฝันของตัวละคร และสถานที่แห่งนี้ คฤหาสถ์ตระกูล Lord ราวกับดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Oz ซึ่งเขาผู้ขับร้องเพลงแทนตัวเองได้กับ Dorothy กำลังเดินเลียบกระเบื้องริมน้ำ มุ่งสู่ Emerald City ขับไล่ภัยพาล Wicked Witch of the West (George Kittredge?) สำเร็จเสร็จแล้วตื่นขึ้นจากความฝัน หวนกลับสู่โลกความเป็นจริง

The Philadelphia Story นำเสนอโลกของไฮโซ ชนชั้นสูง มหาเศรษฐี ชีวิตเลิศหรูสะดวกสบายมั่งมี หาต้องลุกรี้ดิ้นรนต่อสู้ทำงานอะไร ถึงกระนั้นไม่วายประสบพบเรื่องวุ่นๆ ชุลมุนมิแตกต่างจากสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป

พอได้ชื่อว่าไฮโซ มหาเศรษฐี อาจเพราะมีปริมาณส่วนน้อย 1-5% ของประชากรทั้งหมด เลยมักได้รับความสนใจ สอดรู้สอดเห็น ซุบซิบนินทาจากสามัญชนทั่วไป ส่วนหนึ่งอิจฉาริษยา บ้างเพ้อใฝ่ฝัน อยากเป็นหนูตกถังข้าวสารแบบนั้นบ้าง ด้วยเหตุนี้ข่าวลือ ลับๆลวง ‘Scandal’ จึงขายดีเทน้ำเทท่า เพราะใครๆก็อยากรับรู้ว่า โลกคนรวยมันแตกต่างจากจักรวาลคนจนเช่นไร!

ตัวละครใน The Philadelphia Story ประกอบด้วย
– Tracy Lord เป็นตัวแทนคนชนชั้นสูงตั้งแต่กำเนิด
– C.K. Dexter Haven ไม่รู้พ่อแม่ระดับชนชั้นไหน แต่เห็นเป็นเพื่อนสนิทสนมกับ Tracy มาตั้งแต่เด็ก ก็เท่ากับเติบโตในสังคมไฮโซมาแต่ไหนแต่ไร วันดีคืนดีถูกขับไล่ สถานะปัจจุบันน่าจะคือคนชนชั้นกลาง (อารมณ์ประมาณ เทวดาตกสวรรค์)
– Macaulay Connor เป็นคนชนชั้นกลาง-ล่าง ปากแสดงความรังเกียจเดียดฉันท์ไฮโซชนชั้นสูง แต่ลึกๆแท้จริงแล้วใฝ่ฝันโหยหา เฝ้ารอคอยโอกาสวันเวลา ประสบความสำเร็จเมื่อไหร่จักได้ดื่มด่ำน้ำจัณฑรา (น้ำจัณฑ์+จันทรา)
– Elizabeth Imbrie เป็นคนชนชั้นกลาง-ล่าง เพ้อใฝ่ฝันอยากเป็นไฮโซชนชั้นสูง แต่ก็ไม่หลงใหลภาพมายา อยู่กับโลกความจริง เพราะต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้ได้ก่อนไปวันๆ
– George Kittredge เป็นคนชนชั้นกลาง-ล่าง ยกย่องเทิดทูน Tracy เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ดูแล้วถึงจะได้แต่งงานเลื่อนวิทยฐานะ แต่ตัวตนจิตใจก็ยังคงชนชั้นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องราววุ่นๆของไฮโซ ชนชั้นสูง มหาเศรษฐี ส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับความเบื่อหน่าย อ้างว่างเปล่า ไร้จุดมุ่งหมายแห่งชีวิต เพราะร่ำรวยสุขสบายจนวันๆไม่ต้องดิ้นรนอะไรเลยก็ได้ แล้วจะทำอย่างไรฆ่าเวลาให้มันผ่านๆไป

วันๆของ Tracy Lord ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำอะไร เห็นตะแล๊ดแต๊ดแต๋ สลิดไปสลัดมา ยกยอปอปั้นตนเองดั่งนางฟ้า โหยหาต้องการความรัก แต่ไม่เรียนรู้จักที่จะแบ่งปัน แสดงความเห็นแก่ตัว โลกต้องหมุนรอบตนเอง

ความเห็นแก่ตัว มักทำให้มนุษย์มีโลกทัศน์อันคับแคบ มองไม่เห็นสิ่งผิดพลาดในตนเอง ต่อให้ใครพยายามพูดแนะนำ ตักเตือน เสี้ยมสอนสั่ง เรื่องอะไรจักเชื่อถือฟังคำ ไม่แตกต่างกับ ‘กบในกะลาคลอบ’ จนกว่าเขา/เธอจะประสบพบเห็น ย้อนแย้งสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเข้ากับตนเอง คล้ายๆกับ ‘กรรมสนองกรรม’ ถ้ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาดล้ำ ย่อมสามารถตระหนักครุ่นคิดเข้าใจ ก้าวออกจากกะลาคลอบ ยอมรับฉันนี่แหละผิดไป เมื่อนั้นอาจพบเจอความสุขสมหวังในชีวิตขึ้นบ้าง

คนส่วนใหญ่ก็มักแบบ Mike, Elizabeth และ George เพ้อใฝ่ฝัน ตะเกียกตะกายไขว่คว้า สุดท้ายได้แค่เฝ้าชะเง้อมอง ‘หมาเห่าเครื่องบิน’ แต่มันผิดอะไรที่จินตนาการตนเองให้ล่องลอยอยู่บนฟากฟ้า ถ้าฉันเกิดมามีฐานะร่ำรวย บลา บลา บลา


ด้วยทุนสร้าง $914,000 เหรียญ ทำเงินในอเมริกา $2.374 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $3.3 ล้านเหรียญ ประสบความสำเร็จกำไรล้นหลาม สร้างความโล่งอกผ่อนคลายให้ Katharine Hepburn เอาตัวรอดต่อในวงการภาพยนตร์เสียที

เข้าชิง Oscar 6 สาขา คว้ามา 2 รางวัล
– Outstanding Production
– Best Director
– Best Actor (James Stewart) ** คว้ารางวัล
– Best Actress (Katharine Hepburn)
– Best Supporting Actress (Ruth Hussey)
– Best Writing, Screenplay ** คว้ารางวัล

แม้หลายคนจะมองว่า Cary Grant ถูก SNUB เนื่องจากไม่ได้เข้าชิง แต่ผมว่าบทบาทพี่แกก็ไม่ได้โดดเด่นขนาดนั้น แม้ขึ้นชื่อนำหน้า แต่จะให้เข้าชิง Best Supporting Actor ก็กระไรอยู่

“I’d have to blacken my teeth first before the Academy will take me seriously”.

– Cary Grant พูดถึงความผิดหวัง ไม่ได้เข้าชิง Oscar จาก The Philadelphia Story

Jimmy หลังพลาด Oscar จากเรื่อง Mr. Smith Goes to Washington (1939) ก็ไม่ได้คาดหวังว่าตนเองจะคว้ารางวัลปีนี้ เจ้าตัวโหวตให้ Henry Fonda เต็งหนึ่ง The Grapes of Wrath (1940) ทีแรกคิดจะเบี้ยวไม่เข้าร่วมงาน แต่ได้รับคำแนะนำผ่านบุคคลไร้นามของ Academy เกิดความชะล่าใจเลยยินยอมไป ขึ้นรับรางวัลจาก Alfred Lunt แบบไม่มีใครคาดคิดถึง

เกร็ด: ป้ายรางวัล Oscar ของ Jimmy สลักชื่อหนังผิดเป็นคำว่า The Philidelphia Story (i ตัวที่สองต้องเป็น a)

เกร็ด 2: Jimmy ส่งรางวัล Oscar กลับไปให้พ่อตั้งโชว์ในตู้กระจกยังร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่ Philadelphia Street ณ Indiana, Pennsylvania ปัจจุบันย้ายมาเก็บรักษา The Jimmy Stewart Museum

สิ่งที่โดยส่วนตัวคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สุด คือการประชันบทบาทของ 3+1 นักแสดงนำ Cary Grant, Katharine Hepburn, James Stewart และ Ruth Hussey ต่างโดดเด่นในสไตล์ กินกันไม่ลงสักคำเดียว, นอกจากนี้ก็ไดเรคชั่นผู้กำกับ George Cukor ความซับซ้อนของบทชวนให้น่าค้นหา และการถ่ายภาพออกมางดงามตามากๆ เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบเลยละ

แนะนำคอหนัง Romantic Comedy แนวรักๆใคร่ๆ แต่งงานใหม่ ไฮโซชนชั้นสูง, นักข่าว นักเขียน ชื่นชอบเรื่องราวซุบซิบคนดัง, แฟนๆผู้กำกับ George Cukor และนักแสดงนำ Cary Grant, Katharine Hepburn, James Stewart ไม่ควรพลาด!

จัดเรต 13+ กับความมึนเมา ชู้รัก นอกใจ

คำโปรย | The Philadelphia Story คือการกลับสู่วงการภาพยนตร์ที่สวยหรูหราของ Katharine Hepburn โดยมีหนุ่มๆ(และสาว)สยบอยู่แทบเท้า
คุณภาพ | บูณ์
ส่วนตัว | ตกหลุมรักคลั่งไคล้

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: