The Pianist

The Pianist (2002) : Roman Polanski ♥♥♥♡

เด็กชาย Roman Polanski ตอนอายุ 6 ขวบ ถูกพ่อผลักออกจากรั้วลวดหนามค่ายกักกันนาซี ประเทศ Poland เร่ร่อน หิวกระหาย ดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเองใน Krakow และ Warsaw ได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้คนแปลกหน้าหลายตา จนสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งสงครามไปได้ เติบใหญ่ขึ้นกลายเป็นผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ คว้ารางวัล Palme d’Or กับผลงานชีวประวัติของ Władysław Szpilman (รับบทโดย Adrien Brody) นักเปียโนเชื้อสายยิว ที่เรื่องราวแทบไม่ต่างอะไรกับตัวเขาเอง

สิ่งน่าเสียดายมากๆในปีนั้นของ The Pianist แม้จะได้เข้าชิง Oscar ถึง 7 สาขา คว้ามาสามรางวัลใหญ่ แต่กลับพลาดภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้กับ Chicago (2002) คาดคิดว่าเพราะการเกิดขึ้นของ 9/11 เมื่อปี 2001 ซึ่งหนังเรื่องนี้ทำให้เกิด Trauma ที่รุนแรงต่อคณะกรรมการ Academy หลายคนมิอาจทนรับชมดูจนจบเลยสูญคะแนนไปมาก ผู้คนโหยหาความผ่อนคลายเลยเทใจไปให้หนังเพลงเรื่องนั้นเสียส่วนใหญ่

แต่ความสำเร็จสูงสุดของหนังเรื่องนี้คือ Palme d’Or จากเทศกาลหนังเมือง Cannes นับว่ามีความยิ่งใหญ่เพียงพอให้ได้รับการจดจำกล่าวขาน ไม่ย่อหย่อนไปกว่า Night and Fog (1956), Shoah (1985) และ Schindler’s List (1993) ที่ต่างถือเป็น Milestone ของภาพยนตร์แนว Holocaust

ครั้งแรกที่ผมรับชม The Pianist รู้สึกเหมือนถูกหลอกพาลงนรก หลงคิดไปว่าคงแบบ Amadeus (1984) ชีวประวัตินักดนตรี มีบทเพลงคลาสิกเพราะๆมากมาย แต่กลับกลายเป็นนักเปียโนคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือไม่ได้เตรียมตัวมาพบเจอความตึงเครียดหนักหัวขนาดนั้น ก็ทนดูจนจบแล้วเขวี้ยงแผ่นหนังทิ้ง จิตตกหดหู่โดยทันที

ผ่านมาหลายสิบปีถือว่าเป็นอีกเรื่องต้องห้าม เขตแดนเดียวกับ Schindler’s List ไม่อยากหยิบมารับชมบ่อยๆให้ปวดกระโหลก แต่ก็ตั้งใจว่ายังไงก็ต้องหามาดูหลังจากเขียนบทความวิจารณ์เรื่องนั้น คือมันคงไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่ากันมากสักเท่าไหร่

ถ้าคุณสามารถเอาตัวรอดผ่าน Night and Fog (1956) หรือ Schindler’s List (1993) ผมว่าก็มีแนวโน้มเอาตัวรอดกับหนังเรื่องนี้ได้แน่ รุนแรงสุดคือจ่อยิงศีรษะระยะประชิด เลือดไหลเป็นทาง ซากศพเกลื่อนกลาดตามท้องถนน โยนคนพิการลงมาจากตึก ฯ คือหนังไม่มีภาพชวนให้สะอิดสะเอียนอ๊วกแตกลำไส้ทะลัก แต่ก็ไม่แน่จะสร้างความปั่นป่วนหนักอึ้ง เพราะความสมจริงจับต้องได้มันจะเข้าปะทะคุณอย่างจังงัง อาจทำให้หงายหลังตึงท้องแข็งได้ทันที

Rajmund Roman Thierry Polański (เกิดปี 1933) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Polish-French เกิดที่กรุง Paris มีเชื้อสาย Jews ปี 1936 ครอบครัวเดินทางกลับกรุง Kraków ประเทศ Poland อาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังเอาตัวรอดผ่านพ้น สถานที่เดียวจะนำพาเขาหลีกหนีความทุกข์ทรมานเจ็บปวดรวดร้าวทางใจคือโรงภาพยนตร์

“Movies were becoming an absolute obsession with me. I was enthralled by everything connected with the cinema—not just the movies themselves but the aura that surrounded them.”

หนังเรื่องโปรดชื่นชอบที่สุดคือ Odd Man Out (1947) หนังนัวร์ของผู้กำกับ Carol Reed เป็นแรงผลักดันสำคัญให้ Polański กลายเป็นผู้สร้างภาพยนตร์

“I still consider it as one of the best movies I’ve ever seen and a film which made me want to pursue this career more than anything else… I always dreamt of doing things of this sort or that style. To a certain extent I must say that I somehow perpetuate the ideas of that movie in what I do.”

ช่วงทศวรรษ 50s เข้าเรียนที่ National Film School in Łódź เลือกสาขาการแสดง รุ่นเดียวกับผู้กำกับดัง Andrzej Wajda มีผลงานเรื่องแรกเป็นหนังสั้น Rower (1955) [น่าจะสูญหายไปแล้ว], หนังยาวเรื่องแรก Knife in the Water (1962) ได้เข้าชิง Oscar: Best Foreign Language Film, ผลงานเด่นๆ อาทิ Repulsion (1965), Rosemary’s Baby (1968), Macbeth (1971), Chinatown (1974) ฯ

วันที่ 11 มีนาคม 1977 ผู้กำกับ Polanski ถูกจับในข้อหาลวนลาม/ข่มขืน (Sexual Assault) เด็กหญิง Samantha Gailey อายุ 13 ปี ระหว่างเป็นโมเดลลิ่งถ่ายแบบลงนิตยสาร Vogue ระหว่างรอคำตัดสินที่จริงๆควรจะเป็นภาคทัณฑ์ หรือจำคุกไม่กี่วัน แต่เหมือนว่าผู้พิพากษาจะถูกซื้อหรืออะไรสักอย่าง ตั้งใจตัดสินโทษจำคุก 50 ปี ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจหลบหนีลี้ภัยออกจากอเมริกา ไม่เคยหวนคืนกลับไปอีกเลย, หลายปีผ่านไป แม้ Gailey จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ข้อกล่าวหาของเธอต่อ Polanski ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด มีการตกลงไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังมองว่า Polanski คืออาชญากรหลบหนี ไม่สมควรได้รับการยกย่อง หรือแม้แต่คว้า Oscar: Best Director จากภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยซ้ำ (เจ้าตัวก็ไม่ได้มารับรางวัลใดๆในอเมริกาเลยนะ)

เมื่อประมาณกลางทศวรรษ 80s ผู้กำกับ Steven Spielberg เดินทางไปยุโรป ทาบทาม Polanski ให้มากำกับภาพยนตร์เรื่อง Schindler’s List แต่เจ้าตัวตอบปัดปฏิเสธ คงเพราะเหตุการณ์นี้ในอดีตยังคงฝังตราตรึงอยู่ในจิตใจ Trauma ที่มิอาจลบลืมเลือนลงได้ แต่หลังจากได้รับชมหนังเรื่องนั้นก็ทำให้โลกทัศน์ของเขาแปรเปลี่ยนไป มองหาโปรเจคที่มีลักษณะคล้ายๆกัน

จนพบเจอหนังสือบันทึกความทรงจำ (memoir) ของ Władysław Szpilman (1911 – 2000) นักเปียโนสัญชาติ Polish-Jewish เล่าถึงความทรงจำชีวิตขณะอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ใน Warsaw ช่วยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขียนโดย Jerzy Waldorff (ในเครดิตจะขึ้นว่าเป็นบรรณาธิการ แต่เขาคือคนเรียบเรียงเขียนขึ้น) แรกสุดใช้ชื่อว่า Śmierć Miasta. Pamiętniki Władysława Szpilmana 1939–1945 (Death of a City: Memoirs of Władysław Szpilman 1939–1945) วางขายปี 1946, ได้รับการแปลครั้งแรกเป็นภาษาเยอรมัน โดย Karin Wolff ใช้ชื่อ Das wunderbare Überleben: Warschauer Erinnerungen (The Miraculous Survival: Warsaw Memories) วางขายปี 1998 และฉบับภาษาอังกฤษแปลโดย Anthea Bell ใช้ชื่อ The Pianist: The Extraordinary Story of One Man’s Survival in Warsaw, 1939–45 วางขายปี 1999

เหมือนว่า Polanski พบเจอหนังสือบันทึกความทรงจำเรื่องนี้ ภายหลังจาก Szpilman เสียชีวิตเมื่อปี 2000 รีบติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ และสรรหาร่วมทุนสร้างจากสตูดิโอของประเทศฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน และโปแลนด์

ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดย Sir Ronald Harwood (เกิดปี 1934) นักเขียนนิยาย บทละคร ภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ โด่งดังกับผลงาน The Dresser (1983), The Pianist (2002), Oliver Twist (2005), The Diving Bell and the Butterfly (2007) ฯ

เรื่องราวดำเนินขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งต่างๆที่ Władysław Szpilman (รับบทโดย Adrien Brody) ได้พบเจอเห็นกับตา
– กันยายน 1939, เมื่อ Nazi เริ่มรุกรานเข้าสู่ประเทศโปแลนด์ จนสามารถเข้ายึดครองได้สำเร็จ
– 31 ตุลาคม 1940, ชาวยิวทุกคนใน Warsaw ถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้าน เข้าอาศัยที่ Warsaw Ghetto ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก
– 16 สิงหาคม 1942, ครอบครัวของเขาถูกนำพาให้ขึ้นรถไฟมุ่งสู่เมือง Treblinka (เพื่อเข้าสู่ Gas Chamber ถูกเผาให้ตายทั้งเป็น) แต่ Szpilman ได้รับการช่วยเหลือให้เอาตัวรอดออกมาได้ และหลบหนีไปพึ่งพิงเพื่อนสนิท Andrzej Bogucki และภรรยา Janina เพื่อเอาตัวรอดใน Warsaw
– เมษายน 1943, มองลงมาจากหน้าต่าง พบเห็นเหตุการณ์ Warsaw Ghetto Uprising แต่ชาวยิวเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และเพื่อนๆของเขาถูกจับข้อหาสนับสนุนกบฎ ทำให้ต้องดิ้นรนหนีเอาตัวรอดไปยังที่ซ่อนหลบภัยแห่งที่สอง
– สิงหาคม 1944, ระหว่างเหตุการณ์ Warsaw Uprising ฝ่ายเยอรมันใช้รถถึงโจมตีตึกที่เขาหลบซ่อนอาศัยอยู่ จำต้องหลบลี้หนีออกมา ได้ที่ใหม่เป็นบ้านของเจ้าหน้าที่ทหาร Wilm Hosenfeld (รับบทโดย Thomas Kretschmann) ซึ่งหลังจากรับรู้ว่า Szpilman เป็นนักเปียโนยอดฝีมือ ก็ให้การช่วยเหลืออย่างลับๆ
– มกราคม 1945, เมื่อทหารเยอรมันล่าถอย สงครามใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ได้รับการช่วยเหลือจากทหารรัสเซีย

Adrien Brody (เกิดปี 1973) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York City พ่อเป็นชาว Polish เชื้อสาย Jews ส่วนแม่เป็น Catholic แต่ตัวเขาเติบโตขึ้นไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, วัยเด็กชื่นชอบการเล่นมายากล หลงใหลการแสดง ปรากฎตัวในละครเวที Off-Broadway ซีรีย์โทรทัศน์, เริ่มมีชื่อเสียงจาก Restaurant (1998) ตามด้วย The Thin Red Line (1998), Summer of Sam (1999), กลายเป็นตำนานกับ The Pianist (2002) ขณะอายุ 29 ปี น้อยสุดที่คว้า Oscar: Best Actor

Władysław Szpilman เป็นนักเปียโนยอดฝีมือ (น่าจะระดับโลก) แต่กลับทำอะไรอย่างอื่นไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่ เก้งๆก้างๆ ซุ่มซ่าม อ่อนแอ พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ คงเพราะโชคชะตาบารมีสะสมไว้มาก มีผู้คนมากหน้าให้การช่วยเหลือ ถึงกระนั้นเขาก็ต้องดิ้นรนด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ อดทนอดกลั้นต่อความหิวกระหาย ล่องลอยไปเรื่อยๆด้วยสันชาติญาณราวกับสัตว์ป่า ณ หายนะวันสิ้นสุดโลก

เกร็ด: คำว่า Szpilman อ่านออกเสียงภาษาเยอรมันได้ว่า Spielmann แปลว่า bandsman, นักดนตรี ซึ่งมีคนหนึ่งในหนังพูดแซวขึ้นว่า ‘good name for a pianist.’

นักแสดงตัวเลือกแรกคือ Joseph Fiennes แต่เจ้าตัวขอทุ่มเวลาให้กับบทบาทละครเวทีที่รับไว้ก่อนหน้าแล้ว, ทีมงานเลยจัดการคัดเลือกนักแสดงกว่า 1,400 คน ณ London แต่ยังไม่เป็นที่พึงพอใจ ก่อนมาลงเอย Adrien Brody เคยพบเจอกับ Polanski ที่ Paris พูดคุยกันไม่นานก็ตอบตกลงโดยทันที

การเตรียมตัวของ Brody หัดเล่นเปียโนจนคล่องแคล่ว (มือที่เห็นเล่นคือของ Brody จริงๆ แต่เสียงดนตรีมาจากอีกคน) ลดน้ำหนัก 29 ปอนด์ (13 กิโลกรัม) เลิกกับแฟนสาว (นี่ไม่เกี่ยวนะ คงเพราะความหมกมุ่นส่วนตัวของพี่แกเอง)

Brody เป็นนักแสดงที่เหมาะกับการเล่นบทตลก Comedy ใบหน้าของพี่แกโดยเฉพาะจมูก มันโด่งแบบชวนให้น่าหัวร่อเสียเหลือเกิน อย่างสีหน้ากำลังร้องไห้ฉากนี้ขณะตัวเองผู้เดียวมีชีวิตรอด แต่ทั้งครอบครัวถูกพาขึ้นขบวนรถไฟมุ่งสู่ความตาย มันน่าขบขันมากกว่าจะซึมหนัก,

แต่ฉากที่สมจริงมากๆ คือตอนกลายเป็นสัตว์ป่าผู้หิวกระหาย ออกล่องท่องไร้ซึ่งจิตวิญญาณไปยังซากปรักหักพังวันสิ้นโลก มีเพียงสันชาติญาณเอาตัวรอดเท่านั้นหลงเหลืออยู่ กระนั้นใครจะไปคิดเมื่อถูกขอให้เล่นเปียโน กลับสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของบทเพลง Chopin: Ballade No. 1 in G minor, Op. 23 ได้อย่างทรงพลัง ตราตรึง สมบูรณ์แบบ

ถ่ายภาพโดย Paweł Edelman ตากล้องสัญชาติ Polish ที่หลังจากหนังเรื่องนี้ กลายเป็นขาประจำของ Polanski ไปโดยทันที

หนังถ่ายทำหลักๆยังสองประเทศ
– สตูดิโอ Babelsberg Studio ที่เมือง Potsdam, Germany สร้างทั้งฉาก Warsaw Ghetto ขึ้นมา รวมถึงห้องที่อยู่อาศัยของพระเอก
– อีกสถานที่หนึ่งคือ Warsaw, Poland เลือกบริเวณตึกเก่าๆแถว Praga ทุบทำลายให้ปรักหักพังดูเหมือนวันสิ้นโลก

(ถ่ายทำเสร็จแล้วนำไป Post-Production ต่อที่ Paris, France)

หนังแทบไม่พบเห็นสีเขียวหรือโทนสดใสเลย (นอกจากช่วงท้ายหลังสงครามจบแล้ว) ก็แน่ละหนังทั้งเรื่องเล่าถึงความลำบากยากเข็น ทุกข์ทรมานกายใจแสนสาหัสของชาวยิว อันจะทำให้ผู้ชมรู้สึกคอแห้งหิวกระหายน้ำ ทุกสิ่งอย่างไร้ซึ่งชีวิตชีวา แต่ผมก็บังเอิญไปพบเห็นช็อตหนึ่ง ต้นไม้สีเขียวมองเห็นลิบๆอยู่หลัง Ghetto เป็นการแอบซ่อนความหวังไว้อยู่นอกกำแพง

บ่อยครั้งที่หนังใช้มุมมองภาพบุคคลที่หนึ่งแทนสายตา ถ่ายจากชั้นบนลงมา ลอดผ่านกระจกห้องน้ำ หรือข้ามหัวไหล่/มือของ Szpilman มีนัยยะบ่งบอกว่า หนังดำเนินเรื่องผ่านตัวละครนี้

ซากปรักหักพังราวกับวันสิ้นโลกของ Warsaw, Poland อันเนื่องจากผลพวงสงครามสู้รบระหว่างทหารนาซีกับฝ่ายสัมพันธมิตร ยังสะท้อนถึงสภาวะสภาพจิตใจของตัวละคร และผู้กำกับ Polanski บอบช้ำระกำทรวง แทบจะหมดสิ้นแรงซึ่งอารยธรรมความเป็นมนุษย์ ดำรงชีวิตด้วยสันชา่ติญาณของสัตว์ป่า

ช็อตนี้น่าจะสวยงามที่สุดของหนังแล้วกระมัง แสงจันทร์สาดส่องลงมาพอดิบพอดีขณะ Szpilman กำลังบรรเลงเล่นเปียโน ถึงขนาดทำให้ผู้บัญชาการทหารนาซีอึ้งทึ่งตราตรึง ทั้งๆที่จะฆ่าทิ้งก็ยังได้ แต่กลับให้การช่วยเหลือ หลบซ่อน แถมแอบส่งมอบอาหารพร้อมเสื้อกันหนาว นั่นคงเพราะสิ่งที่เขาพบเห็นได้ยิน ราวกับเพชรแท้ในโคลนตม ที่พระเจ้าสรรสร้างขึ้นมา อย่างน้อยก็ขอให้ชายผู้นี้ได้มีชีวิตรอดผ่านสงครามที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุด คงเป็นคุณธรรมดีงาม ‘มนุษยธรรม’ ที่สุดจะแสดงออกได้

ตัดต่อโดย Hervé de Luze สัญชาติฝรั่งเศส ขาประจำของ Polanski ตั้งแต่ Pirates (1986)

หนังทั้งเรื่องใช้มุมมองของ Władysław Szpilman ในการเล่าเรื่องทั้งหมด ทุกอย่างผ่านสายตา/จินตนาการของเขา กระโดดข้ามช่วงเวลาไปเรื่อยๆ โดยมีข้อความขึ้นบอกวันเวลา ทุกสิ่งอย่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว (มากๆ)

สำหรับคนที่รับชมหนังเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเยอะ หรือรับรู้ Timeline ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ น่าจะเกิดความเข้าใจพื้นหลังในช่วงเวลาต่างๆของหนังที่ปรากฎขึ้นได้เป็นอย่างดี, ผมไม่ได้แฟนพันธุ์แท้ แต่ก็จดจำช่วงเวลา 1939-1945 จนขึ้นใจแล้วละ ระหว่างดูก็นั่งลุ้นระทึก อีกนานแค่ไหนที่ตัวละครต้องอดทนรอความช่วยเหลือ เสี้ยววินาทีในหนังที่ผ่านไป แต่ชีวิตจริงไม่ได้กินข้าววันเดียวก็หิวทรมานโคตรๆเลยนะครับ

มี Sequence หนึ่งที่หนังให้เวลากับมันมากๆ ณ ลานกว้างเต็มไปด้วยชาวยิวขณะรอขึ้นรถไฟ หลายคนคงรับรู้ได้โดยไม่ต้องบอก ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาต่อจากนี้ไป, ไดเรคชั่นของฉากนี้ มีการแทรกใส่เรื่องราวเล็กๆน้อยๆเข้าไปมากมาย อาทิ ชาวยิวสองสามคนกำลังพูดคุยกันเกี่ยวกับการลุกฮือ, หญิงสาวพูดซ้ำๆ ‘ไม่น่าเลย’, เด็กชายเดินมาขายคาราเมล ฯ เพราะโดยไม่รู้ตัว ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในฉากนี้ คือครั้งสุดท้ายจริงๆในชีวิตของพวกเขา

สำหรับเพลงประกอบที่ใช้ในหนัง เกือบทั้งหมดเป็นของ Frédéric Chopin (ก็แน่ละ Chopin เป็นชาว Polish เกิดที่ Żelazowa Wola ทางตะวันตกของ Warsaw) มือที่เห็นเล่นเปียโนในหนังเป็นของ Adrien Brody แต่เสียงที่ได้ยิน บรรเลงเล่นโดย Janusz Olejniczak (เกิดปี 1952) นักเปียโนสัญชาติ Polish

เพลงแรกและรองสุดท้ายที่ได้ยินในหนัง (ขณะกำลังอยู่ในห้องบันทึกเสียง) Chopin: Nocturne No. 20 in C-sharp minor, Op. posth. ประพันธ์ขึ้นปี 1830, ครั้งแรกที่ได้ยิน จะมีการตัดให้เห็นภาพ Archive Footage ขาว-ดำ ของชาว Polish เมื่อปี 1939 จะเรียกนั่นว่าคือภาพในหัว หรือจินตนาการของตัวละคร Szpilman ก็ยังได้

ผมจินตนาการเพลงนี้คือความว่างเปล่า ชีวิตที่ไร้ซึ่งสีสัน ขาว-ดำ โลกเต็มไปด้วยความเศร้าโศก ฝุ่นควัน ปรักหักพังมอดไหม้ ไร้ซึ่งต้นไม้ใบหญ้าสีเขียว แต่ท่ามกลางความบัดซบนั้น ยังมีความทรงจำที่สวยสด อดีตที่งดงามแอบซ่อนเร้าไว้อยู่ จินตนาการคงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถเพ้อฝันถึงช่วงเวลานั้นได้

บทเพลงที่ Szpilman เล่นให้ Hosenfeld คือ Chopin: Ballade No. 1 in G minor, Op. 23 (1831) ความยาวจริงๆของเพลงนี้เกือบสิบนาที แต่ถูกตัดตอนเหลือแค่ไม่เท่าไหร่ในหนังเท่านั้น

นี่คือบทเพลงที่พรรณาอารมณ์ความรู้สึก สรุปทุกสิ่งอย่างนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ในสายตา Szpilman ระบายถ่ายทอด ใส่จิตวิญญาณลงไปในบทเพลง ทำให้มีความทรงพลังบ้าคลั่งตราตรึง จินตนาการเห็นความสับสนวุ่นวาย ท้อแท้สิ้นหวังอยากตาย แต่โชคชะตาก็นำพาชีวิตให้ยังคงอยู่รอดจนถึงปัจจุบันนี้ ถึงแม้หิวปางตาย แต่เมื่อได้เล่นเปียโนก็มีความอิ่มหนำสำราญใจ ถ้าตอนนั้นถูกฆ่าตายก็คงพึงพอใจถึงที่สุด

เกร็ด: ในชีวิตจริง Szpilman ไม่ได้เล่นบทเพลงนี้ให้ Hosenfeld ฟังนะครับ แต่เป็น Chopin: Nocturne No.1 in C# Minor

บทเพลง Ending Credit คือ Chopin: Andante Spianato Et Grande Polonaise Brillante in E-flat Major, Op. 22 (เรียกย่อๆว่า Grande Polonaise Brillante ภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Great Polish Brilliant) ประพันธ์ขึ้นระหว่างปี 1830-1834 ถือว่าเป็นบทเพลงที่ Chopin แต่งขึ้นเพื่อยกย่องสรรเสริญประเทศบ้านเกิดของตนเอง เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์บรรเจิดเลิศ รู้สึกอยากลุกขึ้นมาเล่นเต้นเท้าไฟ ซึ่งนักเปียโนที่จะเล่นบทเพลงนี้ได้ ต้องมีเทคนิคความสามารถสูงมากๆ ก็ขนาดว่า Franz Liszt เมื่อได้ยินครั้งแรก เอ่ยปากชมเลยว่า

“hats off, gentlemen, a genius.”

ในบรรดาผลงานเลื่องชื่อของ Frédéric Chopin ต้องถือว่า Grande Polonaise Brillante ได้รับการยกย่องคือ Masterpiece ที่มีความซับซ้อน ท้าทาย ยิ่งใหญ่ ทรงพลังที่สุด

The Pianist คือเรื่องราวของชาวยิวธรรมดาทั่วไป ที่พยายามต่อสู้ดิ้นรนให้มีชีวิตผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยตนเองอย่างเดียวย่อมมิอาจเพียงพอ ความช่วยเหลือเกิดจากโชคชะตาบารมี ฟ้าดินกำหนดไว้ให้ต้องรอด

หนังเรื่องนี้คือทัศนะมุมมอง ความทรงจำของผู้กำกับ Polanski ต่อเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี มันยากที่จะต่อสู้ดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยตนเอง การช่วยเหลือมักได้รับมาทีละนิดละเล็กละน้อย ฮีโร่อย่าง Oskar Schindler ไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขา (นี่คงคือเหตุผลหนึ่งที่ Polanski ปฏิเสธไม่สร้าง Schindler’s List)

การเปรียบเทียบ Władysław Szpilman กับ Roman Polanski ทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นศิลปินที่สามารถถ่ายทอด ใส่ความเป็นตัวของตนเองลงในผลงานเพลง/ภาพยนตร์, ซึ่งขณะ Szpilman บรรเลงเล่น Ballade No. 1 ให้ Hosenfeld/ผู้ชมฟัง ก็เทียบได้กับ Polanski สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ สะท้อนทุกสิ่งอย่างในชีวิตออกมา

ทัศนะแนวคิดหนึ่งที่พวกเขาเหมือนว่าจะเห็นตรงกัน, การยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ครอบครัว ญาติมิตร บุคคลรอบข้างต่างถูกเข่นฆ่าตายอย่างเลือดเย็น ราวกับคำสาปที่ทำให้เขาต้องค้นหาเป้าหมายชีวิต ทำตัวให้มีคุณค่าคุ้มกับทุกสิ่งอย่างที่ใครๆต่างแลกเสียสละมา ไม่ให้อะไรๆต้องสูญเสียเปล่า

สำหรับ Władysław Szpilman หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวเขาอุทิศทุกสิ่งอย่างของตัวเองหลังจากนั้น แม้มิอาจทำอะไรได้นอกจากเล่นดนตรี แต่เป้าหมายกลายเป็นถ่ายทอดทุกอารมณ์ความรู้สึกของตนเองสู่บทเพลง เพื่อให้ทุกคนที่ฟังได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิต ไม่ยินยอมพ่ายแพ้ท้อแท้ต่อปัญหาอุปสรรคขวากหนามใดๆ

ขณะที่ Polanski เหมือนว่าความซวยของเขายังไม่เคยจบสิ้น แค่หนังเรื่องนี้นำพาเขามาถึงจุดสูงสุดของชีวิต ได้รับการยกย่องจากทุกคนทั่วโลกในวงการ ผลงานเท่านั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไป จะเป็นสิ่งตัดสินคุณค่าของคน

เกร็ด: Polanski เคยให้สัมภาษณ์ว่า The Pianist คือภาพยนตร์ที่เขาสร้างขึ้นแล้วมีความภาคภูมิใจที่สุด

“If any film cannisters were to be placed on my grave, I’d like them to be The Pianist’s”.

เดิมนั้นหนังต้องการออกฉายปลายปี 2001 เริ่มโปรดักชั่นถ่ายทำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถ่ายทำเสร็จสิ้นกรกฎาคม (ปี 2001) แต่พอเกิดเหตุการณ์ 9/11 เลยต้องข้ามไปฉายอีกปีหนึ่ง รอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Palme d’Or และจัดฉายประเทศแรกยังโปแลนด์ บ้านเกิดของ Polanski (นอกจากผลงาน Debut ของผู้กำกับ ก็แทบไม่เคยหวนกลับมาทำงาน หรือฉายหนังรอบปฐมทัศน์ในประเทศตนเองเลย จนกระทั่งเรื่องนี้) นี่เรียกความสนใจได้เป็นอย่างมาก มีผู้ชมที่เป็นอดีตคอมมิวนิสต์(ของโปแลนด์)เดินทางมามากมาย ทั้งนั้นยกย่องประทับใจเป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมทรงพลังอย่างยิ่ง

ด้วยทุนสร้าง $35 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $32.5 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $120.1 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar 7 สาขา คว้ามา 3 รางวัล ประกอบด้วย
– Best Picture
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Adrien Brody) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Adapted Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Film Editing
– Best Costume Design

ก่อนหน้านี้ Adrien Brody แม้จะเคยมีชื่อเข้าชิงหลายสถาบัน แต่ไม่เคยได้รับรางวัลใดๆมาก่อน ไม่ได้เตรียมฝึกซ้อมคำกล่าวสุนทรพจน์ด้วยซ้ำ แล้วอยู่ดีๆก็ฟลุ๊กได้ Oscar ขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดถึง (ตัวเต็งปีนั้นคือ Jack Nicholson กับ Daniel Day-Lewis แต่ทั้งคู่ก็เคยคว้า Oscar มาแล้วทั้งนั้น) ซึ่งในประวัติศาสตร์มีเพียง Brody และ Marcia Gay Harden จากเรื่อง Pollack (2000) ที่ไม่เคยได้รางวัลใดๆมาก่อนคว้า Oscar (นับแค่ Critics Choice Awards, Golden Globe, SAG, BAFTA)

คนที่รับแทน Polanski คือผู้ประกาศรางวัล Harrison Ford ที่เคยร่วมงานกันเรื่อง Frantic (1998) ซึ่งเจ้าตัวได้นำ Oscar ไปมอบให้ยังเทศกาลหนัง Deauville Film Festival ห้าเดือนถัดจากนั้น

ถึงหนังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในอเมริกา แต่เกือบทั่วยุโรปทำเงินมหาศาล รวมถึงกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ BAFTA Award (อังกฤษ), César Award (ฝรั่งเศส), Polish Film Award (โปแลนด์) เกือบครบทุกประเทศที่ร่วมออกทุนสร้าง

ส่วนตัวไม่ค่อยชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะการนำเสนอความรุนแรงในรูปแบบสมจริงจับต้องได้ คือมันไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องทำการตอกย้ำเรื่องราว Holocaust ด้วยวิธีการลักษณะนี้

โชคชะตากรรมของผู้กำกับ Polanski น่าเห็นใจเสียเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ Holocaust รวมถึงการถูกฆาตกรรมของภรรยา Sharon Tate, กลายเป็นแพะในคดีที่ไม่ได้ก่อ ฯ เหล่านี้ปลูกฝังให้เขากลายเป็นคนไม่สน ไม่แคร์ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมไปโดยสิ้นเชิง สร้างภาพยนตร์หลายๆเรื่องเพื่อสนองตัณหาความต้องการ แทรกใส่ภาพรุนแรงเว่อๆ เพื่อบำบัดความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของตนเอง ผู้ชมจะรู้สึกชื่นชอบอย่างไรก็เป็นเรื่องของพวกเขา

เมื่อเทียบกับ Schindler’s List ผมมองว่า Steven Spielberg ยังมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า ใช้หลายๆวิธีเพื่อลดความรุนแรงของหนังลง ดูจบแล้วรู้สึกถึงบางสิ่งอย่างที่มี ‘มนุษยธรรม’ แต่กลับ The Pianist คือเรื่องส่วนตัวในทัศนะของ Polanski ที่ต้องใช้ความเห็นแก่ตัวและโชคชะตาบารมี ถึงสามารถดิ้นเราเอาตัวรอดผ่านช่วงเวลาแห่งหายนะไปได้

ก็ถ้า Szpilman ไม่ใช่นักเปียโนยอดฝีมือ (ได้รับการอุปถัมภ์จากหลายๆคน) หรือ Polanski ขณะนั้นยังเป็นเด็กชายตัวกระเปี๊ยก คิดหรือว่าพวกเขาจะสามารถดิ้นรนหาทางเอาตัวรอด ผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปได้

สำหรับคนที่สงสัยว่า ทำไมภาพยนตร์ของ Polanski ถึงเต็มไปด้วยความรุนแรงมากยิ่งเหลือเกิน รับชม The Pianist น่าจะเกิดความเข้าใจไม่ยาก เพราะวัยเด็กได้พบเจอเหตุการณ์แบบหนังเรื่องนี้ เติบโตขึ้นไม่ให้กลายเป็นคนแรงๆ บ้าเลือด ไม่แคร์โลกก็กระไรอยู่

แนะนำกับคอหนังสายโหด สนใจประวัติศาสตร์ ชีวประวัติบุคคล การต่อสู้เอาตัวรอดของชาวยิวในโปแลนด์ ต่อเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Holocaust ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, ชื่นชอบเปียโน บทเพลงคลาสสิก Chopin, Bach, Beethoven, แฟนๆผู้กำกับ Roman Polanski และนักแสดง Adrien Brody ไม่ควรพลาด

จัดเรต R กับความตาย ความรุนแรงแบบตรงไปตรงมา

TAGLINE | “The Pianist ทุกตัวโน๊ตคือบทเพลงชีวิตของ Roman Polanski สวมใส่ Adrien Brody ให้เอาตัวรอดมาได้ด้วยความเห็นแก่ตัว และโชคชะตาบารมี”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | SO-SO

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: