The Piano

The Piano (1993) New Zealand : Jane Campion ♥♥♥♥♡

สิ่งที่ผู้หญิงต้องการจากผู้ชาย ไม่ใช่อิทธิพลครอบงำเหนือกว่า แค่คือความนุ่มนวลทะนุถนอมเอาใจใส่ อันจักกลายเป็นอำนาจต่อรองที่สามารถสานต่อไปถึงสัมพันธ์ร่วมรักทางกาย, คว้ารางวัล Palme d’Or และ Holly Hunter กวาดเรียบทุกรางวัล Best Actress “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

ถึงส่วนตัวจะรับชมหนังแนว Feminist มาไม่เยอะเท่าไหร่ และยังไม่เคยดู Jeanne Dielman, 23, quai du commerce, 1080 Bruxelles (1975) [ว่ากันว่าคือหนัง Feminist เรื่องทรงคุณค่าที่สุด] แต่จิตวิญญาณมันเรียกร้องให้พูดว่า ‘The Piano (น่าจะ)คือหนัง Feminist เรื่องเยี่ยมที่สุดในโลก’ จะจริงไหมก็ต้องรอดูว่ามีวันที่ผมเข้ามาแก้ไขข้อความประโยคนี้หรือเปล่า

หลายวันก่อนอ่านบทความหนึ่งของ Variety พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของเว็บ Rottentomatoes ที่มีการเพิ่มความหลากหลายในกลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์มากขึ้น ทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติพันธ์ุ และมีย่อหน้าหนึ่งจากคำพูดของนักแสดงหญิง Brie Larson

“I do not need a 40-year-old white dude to tell me what didn’t work for him about ‘A Wrinkle in Time,’”

นี่ทำให้ผมมานั่งคิดว่า การจะเขียนบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์แนว Feminist ที่ดี ควรจะมองหนังลักษณะอย่างไร? ในฐานะผู้ชาย สมมติตนเองว่าคือผู้หญิง หรือบุคคลที่สาม (ไม่ใช่ทั้งชาย-หญิง), คือยังไม่ได้คำตอบหรอกนะ เพราะเอาจริงๆเขียนแบบไหนมันก็ได้หมด แต่จะลองเพิ่มสองมุมมองดังกล่าวเข้ามาด้วย ไหวหรือเปล่าค่อยว่ากันอีกที

LINK: https://variety.com/2018/film/markets-festivals/rotten-tomatoes-1202918736/

The Piano คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความต้องการของอิสตรีเพศออกมาจากภายในจิตใจ สร้างโดยผู้กำกับ/ทีมงาน(แทบทั้งหมด)เป็นผู้หญิง ในพื้นหลังแวดล้อมไปด้วยขุนเขา ป่าไม้ โคลนเลน และคลื่นลมมหาสมุทร โลกปิดที่ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้พ้น พบเจอผู้ชายสองคน หนึ่งภายนอกเฉลียวฉลาดมาดบุรุษแต่ภายในแปรปรวนคลุ้มคลั่ง สองดิบเถื่อนชนเผ่าเมารีตรงกันข้ามจิตใจนุ่มนวลอ่อนไหวศรัทธารักมั่นคง การเลือกของหญิงสาวถือเป็นนิทานสอนชายได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว

แทบทุกองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้คือความสมบูรณ์แบบ การแสดงอันไร้ที่ติของ Holly Hunter, เด็กหญิง Anna Paquin (น่าจะคือนักแสดงเด็กสมบทบาทที่สุดในโลก), โทนสีเย็นยะเยือกถ่ายภาพโดย Stuart Dryburgh, เปียโนประกอบอันลุ่มลึกของ Michael Nyman (ลบภาพ The Draughtsman’s Contract ไปโดยสิ้นเชิง), และเด่นสุดคงเป็นบทภาพยนตร์/ไดเรคชั่นของ Jane Campion ได้สร้างตำนานผู้กำกับหญิงคนแรกคว้ารางวัล Palme d’Or (และเป็นผู้หญิงคนที่สองเข้าชิง Oscar: Best Director)

Dame Elizabeth Jane Campion (เกิดปี 1954) ผู้กำกับ/เขียนบท สัญชาติ New Zealand เกิดที่ Waikanae พ่อ Richard M. Campion คือผู้กำกับละครเวที/โอเปร่า รุ่นบุกเบิกของประเทศ ส่วนแม่ก็เป็นนักแสดงนำ แม้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมดังกล่าวแต่วัยเด็กก็ไม่ได้ใคร่สนใจในวงการแสดง เข้าเรียนมนุษยศาสตร์ที่ Victoria University of Wellington เดินทางท่องเที่ยวยุโรป หลงใหลในผลงานศิลปะของ Frida Kahlo, Joseph Beuys ร่ำเรียนวาดรูปอยู่สักพักแต่ฝีมือไม่ถึงขั้น เลยหันมาสนใจภาพยนตร์ เข้าเรียนการกำกับยัง Australian Film, Television and Radio School สร้างหนังสั้นเรื่องแรก Peel (1982) คว้ารางวัล Short Film Palme d’Or จึงหันมาเอาดีด้านนี้ และผลงานขนาดยาวเรื่องแรก Sweetie (1989) ตามด้วย An Angel at My Table (1990)

Campion พัฒนาบทภาพยนตร์ The Piano ตั้งแต่ปี 1984 ด้วยความสนใจในอดีตยุคอาณานิคมบุกเบิกเกาะ New Zealand ช่วงศตวรรษ 19 (Victorian Era) สถานที่ที่เรื่องราวสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง 1 หญิง 2 ชาย ถูกตัดขาดจากโลกศิวิไลซ์ภายนอก และผู้คนยังมีความบริสุทธิ์ต่อสันชาติญาณทางเพศของตนเอง

รับแรงบันดาลใจเต็มๆจากวรรณกรรม Wuthering Heights (1847) [ชื่อแปลไทย ต้นรักดอกโศก] ผลงานชิ้นเอกชิ้นเดียวของนักเขียนสัญชาติอังกฤษ Emily Brontë (1818 – 1848) เรื่องราวความรักมีให้กันตั้งแต่เด็กระหว่าง Heathcliff กับ Catherine แต่พอพวกเขาเติบใหญ่ หญิงสาวกลับเลือกแต่งงานกับ Edgar Linton ชายผู้มีฐานะร่ำรวย ชนชั้นสูงศักดิ์กว่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ Heathcliff เกิดความอาฆาตจนครุ่นคิดล้างแค้นเอาคืน

เกร็ด: ต้นรักดอกโศก เป็นหนึ่งในสำนวนไทย หมายถึง ช่วงแรกรักกันดี แต่ตอนท้ายกลับข่มขื่นผิดหวัง

ถึงจะมี Wuthering Heights ตั้งไว้ในใจ แต่ Campion ได้ทำการต่อยอด ปรับเปลี่ยนแปลงพื้นหลังและเรื่องราวของ The Piano โยนโศกนาฎกรรมความตายทิ้งไปเลย เลือกนำเสนอสิ่งที่เป็น ‘สันชาติญาณ’ ของทั้งชายหนุ่ม-หญิงสาว และใส่เปียโน (แทนเสียงพูด) เป็นจุดเชื่อมระหว่างความสัมพันธ์

ถึงจะพัฒนาบทเสร็จสิ้นนานแล้ว แต่ Campion ยังขาดประสบการณ์ในการสร้างภาพยนตร์ ค่อยๆสะสมจากการทำหนังสั้น หนังยาวถึงสองเรื่อง จากนั้นเมื่อคิดว่าตนเองพร้อม นำโปรเจคนี้ไปคุยกับโปรดิวเซอร์ Jan Chapman ที่หลังจากได้อ่านเกิดความสนใจอย่างแรงกล้าที่จะสรรหาทุนสร้างให้

“I read a short treatment [of The Piano], and I responded to it very strongly. There was an essence that went back to Emily Brontë and Wuthering Heights in its expression of female desire. It’s ironic, because it is about male and female attraction and sexuality, but it’s also about a private insight into the female version of that. It ignited me, and I thought it was enough to ignite other people.”

นำโปรเจคไปพูดคุยกับหลายสตูดิโอใน Hollywood แต่ไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไหร่ (เพราะทศวรรษนั้นยังไม่ค่อยมีใครเชื่อใจภาพยนตร์ที่มีผู้หญิงเป็นแกนนำ) กระทั่งมีโอกาสพบกับ Pierre Rissient แมวมองจากเทศกาลหนังเมือง Cannes ซึ่งก็ได้แนะนำให้พบเจอ Francis Bouygues เจ้าของสตูดิโอ Ciby 2000 ที่เคยออกทุนสร้างให้ High Heels (1991) ของ Pedro Almodóvar, Twin Peaks: Fire Walk with Me (1992) ของ David Lynch

“We didn’t believe we had a chance, but in the end that was the way the film was financed. We suddenly had a champion who gave us incredible creative freedom. He believed in the filmmakers vision, and he believed in Jane.”

แซว: โปรดิวเซอร์ Jan Chapman เมื่อปี 2017 ยังมีชีวิตอยู่ แต่เกิดความสับสนเนื่องจากภาพของเธอปรากฎขึ้นในช่วงไว้อาลัย ‘In Memoriam’ ที่งานประกาศรางวัล Academy Awards สลับกับภาพของ Janet Patterson ซึ่งภายหลังก็ออกมาให้สัมภาษณ์บอกว่า ‘Alive and well, and was given an apology.’

พื้นหลังประมาณ ค.ศ. 1850s, Ada McGrath (รับบทโดย Holly Hunter) สาวหม้าย ลูกติด เป็นใบ้ สัญชาติ Scottish ถูกพ่อขายให้กับชายที่ไม่เคยพบเจอหน้า Alisdair Stewart (รับบทโดย Sam Neill) ออกเดินทางสู่เกาะ New Zealand พบเจอสภาพภูมิประเทศ ป่าเขา โคลนเลน เต็มไปด้วยความยากลำบาก นำติดตัวมาด้วยคือเปียโนหลังโปรด แต่สามีกลับไร้ซึ่งรสนิยมชมชอบ ตรงกันข้ามกับ George Baines (รับบทโดย Harvey Keitel) ชายพื้นเมืองเมารี ที่แม้รอยสักใบหน้าจะดูหน้าเกรงขาม แต่กลับหลงใหลในรูปลักษณ์ความงามของทั้ง Ada และบทเพลงบรรเลง

นำแสดงโดย Holly Hunter (เกิดปี 1958) นักแสดงหญิงยอดฝีมือสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Conyers, Georgia จบสาขาการแสดงที่ Carnegie Mellon University, Pittsburgh เริ่มต้นเป็นมีผลงานละครเวที อาศัยอยู่ห้องเช่าเดียวกับ Frances McDormand แสดงภาพยนตร์เรื่องแรก The Burning (1981), แจ้งเกิดกับเรื่อง Raising Zrizona (1987), คว้า Oscar: Best Actress เรื่อง The Piano (1993) และเข้าชิงอีก 3 ครั้งจาก Broadcast News (1987), The Firm (1993), Thirteen (2003) ฯ

รับบท Ada McGrath สาวใบ้ผู้มีความหลงใหลในการเล่นเปียโน สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของตนเองผ่านท่อนทำนองตัวโน๊ต เคยตกหลุมรักแต่งงานครูสอนเปียโนจนมีลูกสาวน่ารักแต่เขาพลันด่วนเสียชีวิตจากไป พ่อแท้ๆเลยจับแต่งงานใหม่กับใครไม่รู้ออกเดินทางสู่ New Zealand ปฏิเสธร่วมรักกับสามีทำให้เขาขายเปียโนหลังโปรดของเธอทิ้งขว้าง ต่อมายินยอมเป็นครูสอนดนตรีชายพื้นเมืองเผ่าเมารี รับข้อตกลงทุกหนึ่งแป้นกดแลกกับอะไรบางอย่าง หลังหนึ่งมีทั้งหมด 88 คีย์ เป็นปริมาณมหาศาลทีเดียวกว่าจะได้ของรักของหวงชิ้นนี้กลับคืนมา

Ada ไม่ได้เป็นใบ้ตั้งแต่กำเนิด ด้วยเหตุผลไม่ทราบได้ทำให้เธอหยุดพูดตอนอายุ 6 ขวบ คาดว่าคงเกิดเหตุการณ์สั่นสะเทือนจิตใจแสนสาหัส จนมิอาจขยับเขยื้อนเอื้อยคำพูดออกมาจากปากได้ (คงถือเป็นอาการทางจิตใจ มากกว่าปัญหาทางร่างกาย) ด้วยเหตุนี้เลยใช้การเล่นเปียโนถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมา … ว่าไปนี่ชวนให้ผมนึกถึงนิทานชาดก พระเตมีย์ใบ้ เพราะพบเห็นและตระหนักได้ถึงกรรมที่ตนเคยตกอยู่ในนรกภูมิ เลยไม่ต้องการสืบราชสมบัติต่อจากพระบิดา เสแสร้งทำเป็นบ้าใบ้-ง่อยเปลื้อย-หูหนวก เอาช้างมาฉุด เอางูมารัด เอาหญิงมาล่อ ก็ทำเฉยทองไม่รู้ร้อน พออายุครบ ๑๖ ปี ถูกนำไปทิ้งป่าช้าผีดิบนอกเมือง ร่างกายยังสามารถขยับเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ทรงตัดสินใจออกผนวชละทางโลกโดยสิ้นเชิง

ผู้กำกับ Campion มีโอกาสพูดคุยกับนักแสดงหญิงมากมาย อาทิ Sigourney Weaver, Anjelica Huston, Jennifer Jason Leigh, Isabelle Huppert, Juliette Binoche, Madeleine Stowe, เห็นว่าทีแรก Hunter ก็ไม่ได้อยู่ในข่ายความสนใจ เพราะรูปร่างเล็กของเธอตรงข้ามกับภาพลักษณ์สาวมั่นสูงใหญ่ที่คาดหวังไว้ แต่ความโดดเด่นปรากฎตอนทดสอบหน้ากล้อง คือการแสดงออกทางใบหน้าสายตา สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างเด่นชัดเจน

Hunter ทั้งร่ำเรียนภาษามือ และเล่นเปียโนเองทุกฉาก (แต่เสียงที่ได้ยิน เป็นนักเปียโลเล่นนะครับ) ซึ่งสิ่งน่าอัศจรรย์สุดของเธอ คือสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ออกมาทั้งขณะใช้ภาษามือ และบรรเลงเปียโน ได้ราวกับมืออาชีพจริงๆ, วินาทีที่ถือเป็นไฮไลท์แห่งชีวิต คือหลังจากโดนตัดนิ้ว จะมี Long-Take ภาพ Close-Up ใบหน้า กลิ้งกลอกตาไปรอบๆมองหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ทิศทางจะไล่จากสามี -> ลูกสาว -> คนรัก ก่อนเดินไปทรุดลงนั่ง จมปลักหมดสิ้นความหวังแห่งชีวิต

รางวัล Best Actress ที่ Hunter กวาดเรียบประกอบด้วย
– เทศกาลหนังเมือง Cannes: Best Actress
– Academy Award: Best Actress
– Golden Globe Award: Best Actress in Drama
– BAFTA Award: Best Actress
(ปีนั้นยังไม่มี SAG Award นะครับ เริ่มต้นครั้งแรกปีถัดมา 1994)

Harvey Keitel (เกิดปี 1939) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Brooklyn, New York City ครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก Romania และ Poland พออายุ 16 สมัครเป็นทหารเรือ ประจำการอยู่ Lebanon ปลดประจำการออกมาทำงานเป็นผู้สื่อขาวในศาล ก่อนผันตัวมาเป็นนักแสดง เข้าเรียน HB Studio ลูกศิษย์ของ Stella Adler กับ Lee Strasberg ได้รับบทเล็กๆในการแสดง Off-Broadway มาทดสอบหน้ากล้องหนังของ Martin Scorsese ภาพยนตร์เรื่องแรก Who’s That Knocking at My Door (1967), แจ้งเกิดกับ Mean Streets (1973), Alice Doesn’t Live Here Anymore (1974), Taxi Driver (1976), The Last Temptation of Christ (1988), Thelma & Louise (1991), Bugsy (1991) ** เข้าชิง Oscar: Best Actor, Reservoir Dogs (1992), Bad Lieutenant (1992), Pulp Fiction (1994)

George Baines ชายพื้นเมืองเผ่าเมารี มีรอยสักเขียนที่ใบหน้า แม้จะเป็นคนไร้การศึกษาแต่ก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรับรู้คุณค่าของสิ่งสวยๆงามๆและจิตใจคน ทีแรกก็ไม่ได้อยากยุ่งเกี่ยวอะไรกับ Ada แต่เมื่อมิอาจทนฟังคำคะยั้นคอยอ จนได้มีโอกาสได้ยินการบรรเลงเปียโนของเธอ ทำให้เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ ใช้อำนาจเงินที่มีแลกเปลี่ยนซื้อหา ต่อรองกับเธอด้วยราคาแป้นเปียโน จ่ายครบเมื่อไหร่จะส่งมอบคืนให้ แต่ไม่ทันไรพูดอย่างสุภาพบุรุษแมนๆ นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการแท้จริง

ภาพลักษณ์ของ Keitel ถูกสร้างโดยผู้กำกับ Marty คือชายร่างใหญ่บึกบึน บ้าพลัง ชอบใช้ความรุนแรง หรือที่เรียกว่า Macho แต่ลึกๆแล้วตัวเขาน่ารัก นิสัยเป็นกันเอง นุ่มนวลอ่อนหวาน ไม่มีปัญหาใดๆในการร่วมงานกับผู้กำกับหญิง หรือแม้แต่เปลือยร่างกายเข้ากล้อง นั่นคือเหตุผลที่ Campion เลือกให้มารับบท (เห็นว่าได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้งทีเดียว)

บอกตามตรงว่า ผมก็เพิ่งเคยเห็น Keitel ในบทบาทลักษณะนี้ (ปกติก็เห็นแต่ความ Macho ของพี่แก) เลยอึ้งทึ่งคาดคิดไม่ถึง โดยเฉพาะตอนล้มป่วยด้วยโรคความรัก น้ำเสียงอันนุ่มนวลตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ ลามต่อไปถึงขณะร่วมรัก ว๊าว! ความเป็นลูกผู้ชายของเขา เหนือกว่าทุกบทบาทที่เคยได้รับมา นี่น่าจะเป็นบทบาทได้รับการจดจำสูงสุดของ Kietel แล้วละ

น่าเสียดายที่บทบาทนี้ของ Keitel ถูกมองข้ามแทบทุกสถาบัน คงเพราะถูกกลบด้วยการแสดงของ Hunter และ Paquin กระมัง

Nigel John Dermot Neill หรือ Sam Neill (เกิดปี 1947) นักแสดงสัญชาติ New Zealand เกิดที่ Omagh, Northern Ireland พออายุได้ 7 ขวบ ย้ายตามครอบครัวสู่ New Zealand โตขึ้นเข้าเรียนวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ University of Canterbury จบโทที่ Victoria University, ต่อมาเกิดความสนใจในภาพยนตร์ ได้รับบทนำเรื่องแรก Sleeping Dogs (1977), กลายเป็นลูกศิษย์ของ James Mason มีผลงานระดับนานาชาติเรื่องแรก Omen III: The Final Conflict (1981), Possession (1981), Evil Angels (1988), Death in Brunswick (1990), The Hunt for Red October (1990), Jurassic Park (1993), The Piano (1993) ฯ

รับบท Alisdair Stewart สามีผู้ไม่เอาอ่าวของ Ada ภายนอกดูปวกเปียกอ่อนแอพึ่งพาไม่ได้เท่าไหร่ แต่เพราะความภูมิฐานมาดบัณฑิตทำให้ใครๆในเกาะแห่งนี้เคารพยังเกรงขาม ซึ่งแท้จริงแล้วภายในเป็นคนคลุ้มคลั่งโรคจิตเผด็จการ มักควบคุมสติตนเองต่อความเกรี้ยวกราดโกรธไว้ไม่อยู่ ปากอ้างหลักการศีลธรรมจรรยา กลับไม่เคยคิดรับฟังคำร้องขอโหยหาจากใคร

ตรงกันข้ามกับ Keitel ภาพลักษณ์ของ Neill คือชายผู้มีความอ่อนไหวนุ่มนวล เฉลียวฉลาดทรงภูมิ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าภายในของเขาไม่ค่อยมีลักษณะของคนสามารถคลุ้มคลั่งเสียสติแตกสักเท่าไหร่ กระนั้นนี่คงเป็นทัศนคติของผู้กำกับ Campion ชายแบบนี้แม้รูปหล่อแต่หาความน่าสนใจอะไรไม่ได้สักนิด

Anna Helene Paquin (เกิดปี 1982) นักแสดงสัญชาติ New Zealand-Canadian เกิดที่ Winnipeg, Manitoba แล้วไปเติบโตยัง Wellington, New Zealand ตั้งแต่เด็กมีความสนใจหลากหลาย ทั้งดนตรี กีฬา ระหว่างเข้าเรียน Raphael House Rudolf Steiner School ตอนอายุ 9 ขวบ พี่สาวพบเห็นโฆษณาหานักแสดง เลยส่งใบสมัครให้ ได้รับโอกาสเข้าทดสอบหน้ากล้องต่อหน้าผู้กำกับ Campion จากกว่า 5,000 คน ได้รับเลือกเพราะความกล้าแสดงออก ตรงไปตรงมา สีหน้าสายตา ไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวอะไร

รับบท Flora McGrath (ในหนังจะไม่มีเอ่ยชื่อเธอ) ลูกติดของ Ada นิสัยร่าเริงสนุกสนาน ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยตามประสาสมวัย นิสัยช่างสังเกตแต่ยังไม่ค่อยรับรู้เรื่องประสีประสา นั่นทำให้ตอนเธอพบเจอ Trauma หลังจากคิดทรยศแม่ผู้บังเกิดเกล้า กลายเป็นตราบาปสิ่งตราฝังใจจนวันตาย

น่าจะเป็นตัวละครที่มีบทพูดมากสุดของหนัง แต่ไม่ใช่แค่ท่องจำ Paquin ยังสามารถถ่ายทอดสีหน้าอารมณ์ความรู้สึกออกมาได้สมวัยเด็ก วิ่งเล่นเรื่อยเปื่อยตามประสา โดยเฉพาะช็อตนี้ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด น่ารักน่าชังเป็นบ้า!

กับรางวัล Oscar: Best Supporting Actress และคำยกย่องคือ ‘นักแสดงเด็กสมบทบาทที่สุดในโลก’ ผมมองว่าค่อนข้างเกินตัวไปสักนิด เพราะคิดว่าบทบาทนี้น่าจะคือตัวตนของ Paquin เองเลย และผู้กำกับ Campion รู้วิธีกลั่นเอาศักยภาพความสามารถของเธอออกมาได้อย่างสมจริงทรงพลัง เลยได้ใจทุกคนไปตามๆกัน

เห็นว่า Paquin ไม่ได้รับอนุญาตให้รับชมหนังเรื่องนี้จนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ซึ่งเธอก็เฝ้ารอคอยโอกาสนั้นและก็คาดคิดไม่ถึงว่า นั่นฉันหรือนี่, มักถูกซักถามบ่อยๆ เรื่องการปรับตัวหลังได้รับรางวัล ซึ่งเธอก็ไม่ได้ยึดติดอะไรมากกับมัน ครอบครัวอนุญาตให้รับงานแสดงที่ไม่สูญเสียเวลาการเรียนเท่านั้น ค่อนข้างเลือกมากเสียด้วยละ ซึ่งพอโตขึ้นถึงวัยเลยสามารถไปต่อได้เองโดยไม่มีปัญหาอะไร ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Fly Away Home (1996), Jane Eyre (1996), Amistad (1997), The Member of the Wedding (1997), A Walk on the Moon (1999), Almost Famous (2000), ซีรีย์ True Blood (2008–2014), แฟนไชร์ X-Men ฯ

ถือเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจทีเดียวสำหรับ Paquin เพราะปกติแล้วโชคชะตากรรมของนักแสดงเด็ก มักไม่สามารถก้าวข้ามผ่านช่วงวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงสู่ผู้ใหญ่ แถมยังถือว่าได้รับโอกาสต่อเนื่อง ยังคงมีผลงานการแสดงดีๆ ประสบความสำเร็จพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆ นี่คงต้องยกย่องชื่นชมวิธีการของพ่อ-แม่ ที่ก็ไม่รู้ทำได้อย่างไรให้ลูกสาว ไม่หลุดล่องลอยเสียคน เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ … น่าจะถือว่าอนาคตไกลทีเดียว

ถ่ายภาพโดย Stuart Dryburgh สัญชาติ English-New Zealand ขาประจำของ Campion (ผู้ชายคนเดียวในทีมงานของเธอ) ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Bridget Jones’s Diary (2001), The Painted Veil (2006), Blackhat (2015), Alice Through the Looking Glass (2016), The Great Wall (2016) ฯ

ความโดดเด่นสวยล้ำ นอกจากมุมกล้อง การเคลื่อนไหล และทิวทัศนียภาพสวยๆของประเทศ New Zealand ยังเกิดจากการเลือกใช้โทนสีของภาพ
– เมื่อไหร่เป็นโทนสีน้ำเงิน ให้สัมผัสยะเยือกเย็นชา หนาวเหน็บไปถึงขั้วหัวใจ
– เมื่อไหร่โทนสีน้ำตาลอ่อนๆ ให้สัมผัสอบอุ่นนุ่มนวล อิ่มเอิบสุขสันต์

ช็อตแรกของหนัง แทนด้วยสายตามองลอดผ่านนิ้วมือ ภาพที่ปรากฎถือได้ว่าเป็นการมองเห็นด้วย ‘จิตใจ’ (ลอดผ่านนิ้วมือ ที่ใช้เป็นอวัยวะเล่นเปียโน-ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใจของหญิงสาวออกมา)

สองแม่ลูกถูกทอดทิ้งให้ค้างคืน ณ ริมชายหาด Karekare Beach, Waitakere, Auckland โทนภาพสีน้ำเงิน มอบสัมผัสเย็นยะเยือกหนาบเหน็บ (และเปียกปอน) นี่ฉันมาทำอะไรยังสถานที่แห่งนี้ ไหนละสามีที่ซื้อฉัน, นี่เป็น Sequence ที่มีหลายๆช็อตสวยงามมากๆ กระเป๋าเสื้อผ้าทุกสิ่งอย่างกระจัดกระจายอยู่เต็มชายหาด หลายภาพเป็น Long Shot ผืนทราย คลื่นลมกระทบฝั่ง และท้องฟ้าเมฆครึ้ม ตัดขาดทุกสิ่งอย่างจากความศิวิไลซ์ภายนอก

Bonnet Hat ของสองแม่ลูก ได้รับความนิยมอย่างสูงในศตวรรษที่ 19 มีลักษณะบานออกไปด้านหน้า นี่แฝงนัยยะถึงการมองเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฎอยู่ต่อหน้าตนเองเท่านั้น อะไรอื่นลับหลังจักถูกปิดกั้นหาได้ใคร่สนใจเหลียวหลังหันแลดู

ใครไหนจะถ่ายภาพแต่งงานวันฝนตก (คงเพราะนัดช่างภาพมาวันนั้น ถ่ายวันอื่นไม่ได้) โทนสีน้ำเงินแสดงถึงความไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ ขณะที่ Ada แต่งหน้าขาวโพลนดูเหมือนตุ๊กตา, Alisdair สวมสูทพร้อมหมวก Top Hat ทรงสูง (วางอำนาจบาดใหญ่เหนือกว่า)

เปียโน คือสิ่งเดียวที่ทำให้ชีวิตของ Ada เป็นสุขเบิกบาน แม้เพียงมุมเล็กๆ Extreme-Long Shot เศษเสี้ยวหนึ่งของท้องฟ้าคลื่นลมกระทบฝั่ง แต่สามารถทำให้เกิดโทนสีน้ำตาลมอบสัมผัสอันอบอุ่น มีชีวิตชีวา

นี่เป็นตอนขากลับ โทนสีสลับเป็นน้ำเงินมอบสัมผัสอันเย็นยะเยือก (ที่ต้องลาจากเปียโนสุดที่รักยิ่ง), ม้าน้ำ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทาง ล้อกับตอนต้นของ Sequence นี้ที่มีภาพ Close-Up ใบหน้าของม้า (หมายถึงการเดินทางเช่นกัน)

คงประมาณว่า ม้าปกติ คือสัญลักษณ์การเดินทางทางกาย, นำเปลือกหอยมาเรียงรายกลายเป็นรูปม้าน้ำ ย่อมสื่อถึงสัญลักษณ์การเดินทางจมดิ่งลงสู่ภายในจิตใจ

ถือเป็นกลกามของ George Baines ใช้เปียโนอันนี้คือสิ่งต่อรองแลกเปลี่ยนกับ Ada ถอดเสื้อคลุมคิดราคา 2 คีย์, นอนด้วย 5 คีย์, เปลือยกาย 10 คีย์ แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขาก็รับรู้ตัวเอง ความรักไม่ใช่สิ่งของสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยน ที่ฉันต้องการคือความจริงใจจากเธอเท่านั้น! (ไม่ขอยอมเป็นแบบ Alisdair ที่ซื้อเธอมาเฉพาะกาย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับจิตใจตอบแทน)

Sequence การเล่นเปียโนในบ้านของ George Baines โดดเด่นกับแสงภายนอกที่สาดส่องมาตามร่องรูฝาผนัง (ซึ่งคนภายนอกสามารถแอบมองเข้ามาได้ด้วย) นี่สื่อถึงต่อให้ในป่าดงพงไพรไร้ความศิวิไลซ์ แต่ไม่มีอะไรที่เป็นความลับสามารถปกปิดมิดชัดจากผู้อื่นได้

ดัดแปลงจากเรื่องเล่าพื้นบ้าน French Folktale เรื่อง Bluebeard ฉบับมีการจดบันทึกเก่าแก่สุด เป็นผลงานของ Charles Perrault (1628 – 1703) นักเขียนเอกสัญชาติฝรั่งเศส ผลงานอมตะที่ใครๆย่อมต้องรู้จัก อาทิ The Sleeping Beauty, Little Red Riding Hood (หนูน้อยหมวกแดง), Cinderella, Puss in Boots ฯ

เรื่องราวของ Bluebeard เกี่ยวกับเศรษฐีผู้มากด้วยทรัพย์ แต่มีพฤติกรรมชอบเข่นฆ่าภรรยาของตนเอง เสร็จแล้วก็แต่งงานใหม่ วนเวียนซ้ำอยู่อย่างนี้เรื่อยไปจนถูกจับได้ โดนรุมประชาทัณฑ์, นี่ถือว่าสอดคล้องใกล้เคียงเรื่องราวของหนังพอสมควรเลยนะ

และวิธีนำเสนอละครเวทีเรื่องนี้ คือการใช้แสงเงาสะท้อน เพราะถือว่ามีความอัปลักษณ์รุนแรง (ใครคิดกันนำบทละครนี้มาจัดแสดงให้เด็กเล่นเนี่ย!) นี่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดของผู้ชมชาวพื้นเมืองที่ถือว่ามีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา (ทางใจ) เห็นเพียงแค่นี้กลับคิดว่าเป็นเรื่องจริงไปเสียได้!

แซว: ขวานตัดนิ้ว เริ่มจากเห็นเป็นเงาเล่นละคร และสุดท้ายก็ได้ตัดนิ้วจริงๆ (ช็อตนี้เทวดามีปีกเป็นผู้ถือขวานสับ)

แป้นที่สูญหายไปคือ คีย์ขาว โน๊ตตัวลา, คนไม่เคยเล่นเปียโนคงไม่สามารถรับรู้นัยยะของการเลือกโน๊ตตัวนี้อย่างแน่แท้ คนที่เคยเล่นย่อมตระหนักว่า นิ้วที่มักได้กดคีย์ลาบ่อยๆ คือนิ้วกลางกับนาง (นิ้วที่สวมแหวน) จะถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความรักก็ว่าได้

เมื่อ Alisdair Stewart ล่วงรู้ความจริงว่าภรรยามิได้มีความจงรักซื่อสัตย์ต่อตนเอง ราวกับพระเจ้า (Zeus) ลงจากยอดเขาโอลิมปัส เพื่อมาจัดการธุระกับมนุษย์โลก, ฉากนี้โคตรเจ๋งมากๆ ด้วยการถ่ายมุมเงย เอียงข้างนิดๆให้เกิดสัมผัสว่า ตัวละครกำลังวิ่งลงจากยอดเขาสูง แถมเลือกช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆครึ้ม ฝนกำลังจะตก

สาเหตุที่ผมมองฉากนี้ว่าราวกับ Zeus ลงจากยอดเขาโอลิมปัส ให้สังเกตเด็กหญิง Flora เธอสวมปีกราวกับทวยเทพแห่งสรวงสวรรค์ ระหว่างทางคาบข่าวมาบอกกล่าว ผ่านป่าดงรกชัญ ตรงทางแยกมีแบ่งซ้ายขึ้นสู่สวรรค์ และขวาย่อมหมายถึงลงนรก

เสื้อผ้าของผู้หญิงในยุคสมัย Victorian กระโปรงมีลักษณะสุ่มไก่ สำหรับ ‘ครอบ’ งำเรือนร่างของหญิงสาวไว้ (ให้อยู่ในกฎกรอบระเบียบทางสังคม) ซึ่งขณะที่ Ada ทรุดตัวลงนั่งจากการสูญเสียนิ้ว นี่ราวกับเป็นการจมปลักลงสู่โคลนตม ชีวิตท้อแท้หมดอาลัยสิ้นหวัง จุดตกต่ำสุดของชีวิต

อะไรกันที่ทำให้สุดท้าย Alisdair Stewart ยินยอมปล่อยภรรยาให้ไปกับชู้รัก? นี่เป็นสิ่งที่หนังสร้างความคลุมเคลือให้ครุ่นคิด ตัวละครพูดถึงเสียงที่แม้จะไม่เคยได้ยินจากปาก Ada แต่กลับดังกึกก้องกังวาลย์อยู่ในหัว/จิตวิญญาณของเขา ราวกับฝันร้ายที่มิอาจลบเลือนลางจางหาย จนกว่าจะยินยอมปลดปล่อยเธอไปให้เป็นอิสระจากพันธนาการของตนเอง

มันจะมีช็อตหนึ่งก่อนการออกเดินทาง พบเห็นปีกนางฟ้า (ที่ Flora เคยสวมใส่) ถูกนำมาชะล้างในลำธาร, ผมตีความว่าคือการเติบโตของเด็กหญิง หมดสิ้นสภาวะใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา นั่นเพราะการได้พบเห็น Trauma ความผิดพลาดของตนเองที่คงจักฝังลึกในใจตราบจนวันตาย, ซึ่งขณะเดียวกันก็สะท้อนเข้ากับแม่ Ada สื่อความถึงการที่เธอกำลังจะได้เรียนรู้จักตัดสินใจ เลือกใช้ชีวิตที่เป็นไปตามประสงค์ต้องการของตนเอง

เสี้ยวหนึ่งทางความคิดของ Ada หลังสูญเสียนิ้ว (ทิศทางชีวิต) และกระทำการขัดแย้งต่อหลักศีลธรรมจรรยาของสังคม (เลือกไปอยู่กับชู้รัก ทอดทิ้งสามี) ต้องการจมน้ำฆ่าตัวตายไปพร้อมกับเปียโนสุดที่รักยิ่ง ขณะกำลังค่อยๆดิ่งลงสู่ขุมนรกมืดมิดสนิทของโลก ครุ่นคิดขึ้นมาได้ว่า นี่มันชีวิตของฉัน! เรื่องอะไรจักทิ้งๆขว้างๆหรือสนใจในดีกับข้อครหาของสังคม ดิ้นจนหลุดพ้นพันธนาการ แหวกว่ายกลับขึ้นไปสูดอากาศบริสุทธิ์หายใจ แสร้งทำเป็นว่าเกิดอุบัติเหตุ และจากนั้นชีวิตของเธอก็ได้เสวยสุขดั่งใจปรารถนา

การทอดทิ้งเปียโนสุดที่รักให้จมดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทร เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยสิ่งยึดเหนี่ยวรั้งอารมณ์ของหญิงสาว เพราะเจ้าเครื่องดนตรีนี้มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สึกแทนคำพูดของเธอออกมา เมื่อไร้มันก็แปลว่าถึงเวลาเริ่มต้นออกเสียงด้วยตนเอง หรือคือการเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง

ทำไมถึงตัดนิ้วชี้ แทนที่จะเป็นนิ้วนาง? ผมคิดว่านิ้วชี้น่าจะคือสัญลักษณ์ของ ‘ทิศทางของชีิวิต’ การตัดออกเพื่อบ่งบอกครอบงำของบุรุษเพศว่า เธอเป็นของฉันแต่เพียงผู้เดียว บีบบังคับให้หญิงสาวเกิดการสูญเสียทิศทาง ไปต่อไม่ถูก เดินตุปัดตุเป๋อยู่สักพักหนึ่งก่อนทรุดตัวลงนั่ง

ขณะที่นิ้วปลอม มองได้ทั้งทิศทางหลอกๆจอมปลอม ขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา (เพราะในกรณีนี้ถือว่า นางเอกมีชู้นอกใจสามี เลิกราแต่งงานใหม่ ขัดกับขนบธรรมเนียมโดยปกติทั่วไปของยุคสมัยนั้น), ขณะเดียวกันยังตีความได้ว่า ต่อให้สูญเสียนิ้วชี้ที่คือทิศทางของชีวิต ก็ยังสามารถเริ่มต้นได้ใหม่ เพราะทิศทางของหัวใจไม่มีวันสูญสลายแปรเปลี่ยน

ตัดต่อโดย Veronika Jenet สัญชาติ Australian ขาประจำของผู้กำกับ Campion ผลงานเด่นๆ อาทิ The Black Balloon (2008), Snowtown (2011) ฯ

ดำเนินเรื่องในมุมมองของ Ada McGrath โดยเริ่มต้น-สิ้นสุด (Prologue-Epilogue) จะมีเสียงบรรยายสำเนียง Scottish ของ Holly Hunter แต่อ้างว่าดังขึ้นในหัว/ความคิดของตัวละคร (คือมันก็น่าคิดนะว่า คนที่พูดไม่ได้ เวลาครุ่นคิดจะมีลักษณะ/ภาษาเช่นไร)

สำหรับคนที่กลัวว่าจะไม่เข้าใจภาษามือก็ไม่ต้องวิตกไป แทบทุกการเคลื่อนไหวของ Hunter จะถูกแปรเป็นคำพูดด้วยลูกสาว ไม่ก็เป็นข้อความเขียน แต่ขณะอยู่กับชู้รัก นั่นไม่ต้องใช้ภาษาพูดใดๆสนทนา มองตาก็ใช้จิตวิญญาณสัมผัส/อ่านภาษากายกันออก

เพลงประกอบโดย Michael Nyman สัญชาติอังกฤษ ก่อนหน้านี้เป็นขาประจำของผู้กำกับ Peter Greenaway โดดเด่นอย่างมากในการใช้เครื่องสาย/ไวโอลิน สร้างสไตล์ Minimalist ผลงานดังอาทิ The Draughtsman’s Contract (1982),The Cook, the Thief, His Wife & Her Lover (1989) แต่ความสนใจของผู้กำกับ Campion ต้องการเพียงสัมผัสเปียโนนุ่มๆ สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมา [ไม่ใช่ชี้ชักนำพาโดดเด่นเกินหน้าเกินตาแบบของผู้กำกับ Greenaway]

ในบทสัมภาษณ์ของ Nyman เรียกหนังเรื่องนี้ว่าคือจุดเปลี่ยนอาชีพของเขาเลย แบ่งเป็น pre-The Piano และ post-The Piano เพราะความสำเร็จอันล้นหลาม อัลบัม Soundtrack ติดอันดับขายดี Best-Seller กว่าสามล้านก็อปปี้ ทำให้ใครๆต่างใคร่สนใจในสไตล์ดนตรีลักษณะนี้ มากกว่าที่เคยทำกับ Greenaway เป็นไหนๆ

บทเพลงได้รับความนิยมสูงสุดของอัลบัม The Heart Asks Pleasure First จะได้ยินท่วงทำนองนี้เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาจนจดจำได้ แค่ชื่อก็บ่งบอกใจความหมาย เต็มเปี่ยมด้วยอารมณ์พึงพอใจของตัวละคร กึกก้องสะท้อนความรู้สึกต้องการภายในออกมา

เกร็ด: Nyman เป็นคนเล่นเปียโนเองทั้งอัลบัม ขณะที่ Orchestra ร่วมกับวง Munich Philharmonic Orchestra

The Piano คือเรื่องราวของการเรียนรู้/วิวัฒนาการ/เติบโตของอิสตรีเพศ จากที่เคยต้องก้มหัวทำตามรับคำสั่งจากบุรุษ ค่อยๆเรียนรู้จักความกล้า จนสามารถตั้งมั่นตัดสินใจ เลือกทำบางสิ่งอย่างตามเสียงเพรียกเรียกร้อง สัญชาติญาณของตนเอง

เมื่อเริ่มต้นมา Ada McGrath เป็นผู้หญิงที่ไร้สิทธิ์เสียง มิสามารถพูดบอกแสดงความคิดเห็นอะไรออกมาได้ มีเพียงแต่เปียโนบรรเลงถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก กลั่นออกมาอย่างลุ่มลึกเสียดบาดแทงเข้าไปถึงหัวใจของผู้ฟัง, ขณะที่สามีแปลกหน้าของเธอ Alisdair Stewart เป็นคนปิดกั้นไม่เคยยินยอมเรียนรู้ ตั้งใจรับฟังเสียงจากภายนอกรอบข้าง นั่นทำให้โดยไม่รู้ตัวเขาได้ยินซุ้มเสียงบางอย่างจากภายใน ค่อยๆกัดกร่อนกินหลอกหลอนทำลายความเป็นมนุษย์ลงไปอย่างช้าๆ

วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปของ Ada จากไม่เคยมีสิทธิ์เสียงกลายมาเป็นเริ่มต้นหัดพูดใหม่ เทียบได้กับการเจริญเติบโตข้ามผ่านพ้นวัยไร้เดียงสาของลูกสาว Flora McGrath แรกแย้มเบิกบานขึ้นทันทีเมื่อพบเห็นบางสิ่งอย่าง การตัดสินใจผิดพลาดของตนเองที่แม้ทำให้แม่สูญเสียนิ้วชิ้ทิศทางไป เสี้ยมสอนขัดเกลาให้เธอเติบโตขึ้น แน่นอนว่าย่อมไม่ยินยอมรับผู้ชายให้เป็นใหญ่เหนือตนเองแน่แท้

อิสรภาพเรื่อง Sex ก็เช่นกัน อดีตของผู้หญิงถูกจำกัดด้วยเรื่องของการแต่งงาน คลุมถุงชน พ่อแม่จัดหาคู่ครองให้ ซึ่งเมื่อถึงจุดๆหนึ่งของวิวัฒนาการมนุษย์ ชาวชาติตะวันตกก็ค่อยๆเรียนรู้ว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม หาใช่สิ่งจำเป็นต้องยึดถือมั่นติดแต่ครั้นโบราณกาล ทุกสิ่งอย่างล้วนมีความเป็นไปได้ ในเมื่อผู้ชายมีสิทธิ์เสียง ทำไมผู้หญิงจะมีไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับความต้องการกาย-ใจ เพราะเขา-เธอก็คือมนุษย์ สิ่งมีชีวิต สัตว์ผู้ประเสริฐไม่แตกต่างกัน

ก็จากใจความพวกนี้ ถ้ายังดูไม่ออกว่าคือหนัง Feminist ก็กระไรอยู่ นำเสนอ ณ จุดเปลี่ยนผ่านการได้รับอิสรภาพของเพศหญิง จากที่เคยถูกคุมขังกักตัวอยู่ในคุก/พันธการแห่งจิตใจ ได้รับการปลดปล่อยแหวกว่ายขึ้นหายใจเหนือน้ำ ถึงเวลาแล้วที่อิสตรีทั้งหลาย ควรลุกขึ้นมาครุ่นคิดตัดสินใจทำอะไรด้วยความต้องการประสงค์ของตนเอง ไม่จำเป็นต้องถูกกดขี่ข่มเหงจากบุรุษอีกต่อไป

มองหนังเรื่องนี้ในมุมของบุรุษ ส่วนตัวนับถือความตั้งใจของผู้กำกับ Campion เป็นอย่างมาก เห็นภาพยนตร์เรื่องนี้คือโอกาสอันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย หลักไมล์สำคัญของความเสมอภาคเท่าเทียม และประเด็น Feminist ซึ่งก็ทำให้ผมครุ่นคิดถึงวิธีการแสดงออกที่เหมาะสม และความต้องการในทัศนคติของเพศหญิง เหล่านี้เป็นสิ่งที่(ผู้ชาย)มักมองข้ามไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ ถือเป็นเปิดโลกทัศน์สอนใจทั้งบุรุษและสตรีได้เป็นอย่างดี

ในมุมมองที่ไม่ใช่ทั้งชาย-หญิง, สันชาติญาณเอาตัวรอดของมนุษย์เป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ล้นพ้น นั่นเพราะแรงผลักดันทางเพศ Sex Drive บีบบังคับให้การเลือกคู่ครอง ควรต้องตอบสนองทั้งทางกายและจิตใจ สิ่งสำคัญสุดจึงไม่ได้แค่พบเห็นด้วยตาหรือคำพูดจากภายนอก แต่คือตัวตนแท้จริงที่หลบซ่อนอยู่ภายใน ภาษากาย ทัศนคติ การแสดงออก โดยเป้าหมายสุดท้ายคือสนองความอยู่รอดพงษ์เผ่าพันธุ์สปีชีย์มนุษย์

เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้รับการยืนปรบมือนานถึง 20 นาที และคว้ามาได้ 2 รางวัล
– Palme d’Or คู่กับ Farewell My Concubine (1993)
– Best Actress (Holly Hunter)

ด้วยทุนสร้างประมาณ $7 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $40.1 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $140 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar ถึง 8 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actress (Holly Hunter) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actress (Anna Paquin) ** คว้ารางวัล
– Best Original Screenplay ** คว้ารางวัล
– Best Cinematography
– Best Costume Design
– Best Film Editing

คลิปตอน Anna Paquin คว้า Oscar: Best Supporting Actress ท่าดีใจของ Hunter แบบว่าสุดๆไปเลย! แต่ไม่ใช่ว่าเธอคือนักแสดงเด็กอายุน้อยสุดที่คว้ารางวัลนี้นะ สถิติอยู่ที่ Tatum O’Neal จากเรื่อง Paper Moon (1973) ได้รับตอนอายุ 10 ขวบ 148 วัน, ขณะที่ Paquin ตอนนั้น 11 ขวบ 240 วัน

ในปีนั้นสาขานักแสดงหญิงค่อนข้างแปลกประหลาดทีเดียว เพราะ Holly Hunter นอกจาก The Piano ยังได้เข้าชิง Best Supporting Actress เรื่อง The Firm (1993) และ Emma Thompson คู่แข่งสำคัญก็เข้าชิงนำหญิง The Remains of the Day (1993) และสมทบ In the Name of the Father (1993)

สำหรับเรื่องที่คว้ารางวัลใหญ่อย่างเป็นเอกฉันท์ปีนั้นคือ Schindler’s List (1993) ของผู้กำกับ Steven Spielberg ไร้ข้อกังขา แต่ก็ต้องถือว่า The Piano คือมือวางอันดับสอง แต่ก็โดน SNUB เต็มๆกับสาขา Best Original Score พลาดเข้าชิงไปได้อย่างไร!

สิ่งที่โดยส่วนตัวคลั่งไคล้หลงใหลภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างยิ่งยวด คือการแสดงของ Holly Hunter มิอาจละสายตาไปจากเธอได้สักวินาทีเดียว และความลุ่มลึกล้ำในบทภาพยนตร์ของ Jane Campion เปิดโลกทัศน์ใหม่ ถ่ายทอดความต้องการของอิสตรีเพศ ออกมาได้อย่างงดงามสมบูรณ์แบบ

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงเป็นหนัง Feminist แต่จะขอแนะนำโดยเฉพาะบุรุษ พยายามทำความเข้าใจถึงสาเหตุผล ทำไมนางเอกถึงเลือกกระทำแสดงออกเช่นนั้น? ถ้าคุณสามารถเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ย่อมล่วงรู้ถึงความละเอียดอ่อนทางอารมณ์ของผู้หญิง และปฏิบัติต่อพวกเธอด้วยความละมุ่นไมมากกว่านี้ได้

แนะนำคอหนัง Erotic Drama, พื้นหลังอยู่ในป่า เกาะ New Zealand, หลงใหลในเสียงเปียโนเพราะๆ, แฟนๆผู้กำกับ Jane Campion และนักแสดงนำ Holly Hunter, Harvey Keitel, Sam Neil และแจ้งเกิด Anna Paquin ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย Erotic และความรุนแรงทางอารมณ์/การกระทำ

TAGLINE | “The Piano (น่าจะ)คือหนัง Feminist เรื่องเยี่ยมที่สุดในโลก”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: