The Piano Teacher (2001) : Michael Haneke ♥♥♥♡
ครูสอนเปียโนสาวโสด (Isabelle Huppert) อาศัยอยู่กับมารดา (Benoît Magimel) มีความชื่นชอบ Schubert เลยมักทำตัวหัวสูง เริดเชิดหยิ่ง แต่ในใจเก็บกดเพราะขาดการตอบสนองทางเพศ ครั้งหนึ่งมีเด็กหนุ่มนักเรียนดนตรีพยายามยั่วยวนให้หลงใหล จึงตอบสนองเขาด้วยตัณหาอันวิปริต, หนัง 18+ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทนดูได้
ผมเคยดูหนังเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อน แล้วก็ส่ายหัวไม่เข้าใจ มันมีความลึกล้ำบางอย่างที่ตอนนั้นยังเข้าไม่ถึง และเรื่องราว 18+ ที่ชวนเบี่ยงเบนความสนใจเป็นอย่างอื่น, มารับชมครานี้แม้จะพอเข้าใจเรื่องราวอย่างคร่าวๆ แต่ยังมีอีกมากที่ต้องครุ่นคิดหาคำตอบ ซึ่งมีสิ่งหนึ่งที่ผมใคร่สนใจ และตั้งใจให้เป็นเป้าหมายค้นหาคำตอบในบทความนี้ ‘เพลงคลาสสิกทั้งหลายที่ได้ยิน มีนัยยะสื่อถึงอะไรหรือเปล่า?’
- Franz Schubert (1797 – 1828) คีตกวีสัญชาติ Austrian ร่ำเรียนไวโอลินตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เปียโนให้ตอนอายุ 11 ขวบ, โตขี้นมีชีวิตที่ไม่สมหวังในรักนัก เลยอุทิศให้กับดนตรี แต่งเพลง และการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เสียชีวิตตอนอายุ 32 หลังตรวจสอบพบสารปรอทในร่างกาย อาจมีสาเหตุจากการรักษาอาการป่วยโรคซิฟิลิส (Syphilis) ที่บ่งบอกว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ
– Robert Schumann (1810 – 1856) คีตกวีชาว German, ถูกพ่อบังคับให้เรียนกฎหมายแต่ลาออกไปเป็นนักเปียโน หมายมั่นจะเป็นยอดฝีมือแต่เกิดอุบัติเหตุทำให้มือเจ็บเล่นไม่ได้ ผันตัวกลายมาเป็นนักแต่งเพลง, แต่งงานกับ Clara Wieck อย่างลับๆโดยพ่อของเธอไม่รู้ไม่อนุญาตและไม่ยอมรับ, ช่วงบั้นปลายชีวิตป่วยเป็นโรคทางจิต (mental disorder) เห็นภาพหลอน พยายามฆ่าตัวตาย เข้ารักษาใน mental asylum ตรวจพบว่าเป็นโรคซึมเศร้า (psychotic melancholia) และเสียชีวิตตอนอายุได้ 46 ปี
เห็นความคล้ายกันเล็กๆไหมเอ่ย? คีตกวีเก่งๆสมัยก่อน (ที่หนังเรื่องนี้พูดถึง) มักจะมีปัญหาเรื่องผู้หญิง ความหมกมุ่น ชีวิตที่ไม่เป็นสุขและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สะท้อนกับตัวผู้แต่งนิยาย ซึ่งเจาะจงความชื่นชอบของตนเอง (เธอชอบ Schubert และ Schumann) แต่บทเพลงต่างๆที่ใช้ในหนัง ผู้กำกับเป็นคนเลือกเองทั้งหมด
บทความนี้จะแตกต่างจากรูปแบบปกติพอสมควร เพราะผมไปอ่านเจอรีวิวหนึ่งที่เขียนดีเหลือเกิน จนไม่คิดว่าตัวเองจะสามารถวิเคราะห์ประเด็นเหล่านั้นของหนังได้ลึกซึ้งกว่า นี่คือเหตุผลด้วยว่าทำไมผมถึงเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอในบทความนี้ แทรกลิ้งค์ไว้ให้ด้วยเผื่อคนสนใจเข้าไปอ่านดูนะครับ
LINK: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aloneagain&month=02-2008&date=17&group=1&gblog=64
ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง The Piano Teacher (ภาษา German: Die Klavierspielerin) เขียนโดยเจ้าของรางวัล Nobel Prize สาขาวรรณกรรม Elfriede Jelinek สัญชาติ Austrian ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 1983 แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Joachim Neugroschel
เห็นว่านิยายเรื่องนี้เป็นอัตชีวประวัติของผู้เขียน Jelinek หญิงสาวที่เติบโตขึ้นในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเสียชีวิตในโรงพยาบาลผู้ป่วยทางจิตเภท แม่เป็นคาทอริกที่เข้มงวดและอยากให้เธอเป็นนักเปียโนแสดงคอนเสิร์ต, แต่สิ่งที่นิยายต่างจากหนัง คือจะไม่มีเรื่องราวย้อนอดีต (Flashback) ที่ผู้กำกับรู้สึกว่าไม่น่าสนใจเท่าไหร่ และการเปรียบเทียบตัวละครที่เป็นนัยยะแทนชาว Austrian ซึ่งในหนังตัดประเด็นนี้ทิ้งไปเลย
เป็นภาพยนตร์โดยปรมาจารย์ผู้กำกับ Michael Haneke ชาว Austrian ผู้มีผลงานดังอย่าง Funny Games (1997), Caché (2005), The White Ribbon (2009) [คว้า Palme d’Or] และ Amour (2012) [คว้า Plame d’Or และ Oscar: Best Foreign Language Film]
มันมีเหตุผลที่ Haneke ต้องตัดประเด็นที่เกี่ยวประเทศของตนทิ้งไป เพราะตั้งแต่เขาทำหนังเรื่องแรก The Seventh Continent (1989) มักถูกถามคำถามหนึ่งเสมอ ‘Is Austria that terrible?’ สิ่งที่ผู้กำกับพยายามนำเสนอคือความเป็นสากลที่มีอยู่ทุกหนแห่งในโลก แต่ผู้ชมมักมองแค่ในฐานะประเทศที่สร้างเป็นพื้นหลัง เขาเลยไม่ต้องการให้ผู้ชมมัวแต่คิดถึงเรื่องพรรณนั้น ‘It would have been too easy for them to blame Viennese musical culture for Erika’s problems, so that’s why I didn’t want to exaggerate Viennese musical elements.’
มีบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Michael Haneke ที่อธิบายลักษณะหนังที่เขาสร้างขึ้น
“My films are intended as polemical statements against the American ‘barrel down’ cinema and its dis-empowerment of the spectator. They are an appeal for a cinema of insistent questions instead of false (because too quick) answers, for clarifying distance in place of violating closeness, for provocation and dialogue instead of consumption and consensus.”
– Michael Haneke ในหนังสือ Film as catharsis
บทเพลงแรกที่ได้ยินในหนัง ขณะเครดิตต้นเรื่องขึ้น Chopin: Fantaisie in F minor, Op. 49 เขียนขึ้นปี 1841, ชื่อเพลงค่อนข้างตรงตัวอยู่แล้วว่าคือ ‘fantasy’ โชแปงแต่งเพลงนี้ด้วยอิสรภาพที่ปราศจากกฎเกณฑ์ ไม่ยึดหลักการตามประเพณีใดๆ เพื่อเป็นการแสดงออกจุดเริ่มต้นของยุค Romanticism
การที่หนังเลือกเพลงนี้เปิดเรื่อง ผู้กำกับย่อมต้องการสื่อความหมายถึง นี่เป็นเรื่องราวเชิงแฟนตาซีเพ้อฝัน (ในจิตใจของนางเอก) มีอิสรภาพเสรีการเล่าเรื่อง ที่ไม่ยึดติดอ้างอิงกับธรรมเนียมรูปแบบใดๆของสื่อภาพยนตร์ที่เคยมีมา
จะเห็นว่าถ้าคุณไม่เคยได้ยินได้ฟังรู้จักเพลงนี้มาก่อน จะไปสามารถรับรู้เข้าใจว่าบทเพลงมีความหมาย นัยยะอะไร ใส่เข้ามาทำไม เพราะบังเอิญผมจดจำเพลงนี้ได้ เลยรู้สึกอึ้งทึ่งไม่น้อย ที่มีการใช้เพลงเป็นอีกส่วนหนึ่งภาษาภาพยนตร์, กับบทความนี้จะขอเขียนเป็นลักษณะนี้นะครับ วิเคราะห์บทเพลงว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง สะท้อนกับเรื่องราวอย่างไร นี่น่าจะไม่มีใครเคยคิดเขียนมาก่อนแน่ๆ
มีทั้งหมด 4 เพลงใน Open Credit แต่ผมจะนำเสนอแค่อีกเพลงที่ชื่อ Im Dorfe (In The Village) เป็นบทเพลง/กวี ลำดับที่ 17 จาก Winterreise (Winter Journey) Op.89, D.911 ประพันธ์โดย Franz Schubert เมื่อปี 1827 มีลักษณะเป็น song cycle มีทั้งหมด 24 เพลง/กลอน ได้แรงบันดาลใจคำร้องจากบทกวีของ Wilhelm Müller
เราจะได้ยินเพลง Winterreise หลายครั้งทีเดียว บางครั้งพร้อมเสียงนักร้อง Baritone (โทนเสียงกลางของนักร้องชาย เทียบเท่าเสียงร้อง Mezzo-Soprano ของผู้หญิง)
Winterreise เป็นบทเพลงที่มีความหดหู่ เศร้าสลด เยือกเย็น ฟังตอนอยู่คนเดียวจะรู้สึกหลอนๆขนหัวลุก นั่นเพราะนี่เป็นเพลงที่แต่งขึ้นจากความรู้สึกของ Schubert ขณะที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการป่วยโรคซิฟิลิส (ว่ากันว่าตั้งแต่ปี 1822) อันทำให้ร่างกายและจิตใจอ่อนล้าใกล้ตาย แต่เพราะยังคงมีชีวิตอยู่ จึงสามารถเขียนบทเพลงถ่ายทอดความรู้สึกของตนเองออกมาได้อย่างลึกซึ้ง
สำหรับ Im Dorfe มีคำร้องแบ่งเป็น 3 ท่อน ใจความของบทเพลงนี้พูดถึงความจริงกับความฝัน ในฝันนั้นทุกสิ่งอย่างเป็นจริงสมดั่งใจหมายปอง แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม,
– ท่อนแรกเสียงเปียโนมีลักษณะกดซ้ำๆของโน๊ตสองชุด ให้สัมผัสคล้ายการเขย่าตัวให้ตื่นขึ้นจากความฝัน เงียบเสียงคือสัปหงกหลับไปอีกครั้ง
– ท่อนสองของบทเพลงจะละทิ้งทำนองในช่วงแรก เริ่มตั้งแต่ Und morgen früh ist alles zerflossen. (And the next morning, all is vanished,) คือการตื่นขึ้นจากความฝัน พบกับชีวิตจริง
– และท่อนสามกลับไปคล้ายกับท่อนแรกอีกครั้ง ในค่ำคืนถัดมาก็ยังวนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้อีก อย่าเลยได้ไหมไม่ให้ฉันหลับกลับไปเพ้อฝันอีก แต่สุดท้ายก็คงไม่มีทางทำได้
reference: http://ericaannsipes.blogspot.com/2010/09/unsuccessful-attempt-at-resisting-sleep.html
Es bellen die Hunde, es rasseln die Ketten; Es schlafen die Menschen in ihren Betten, Träumen sich manches, was sie nicht haben, Tun sich im Guten und Argen erlaben;Und morgen früh ist alles zerflossen. Je nun, sie haben ihr Teil genossen Und hoffen, was sie noch übrig ließen, Doch wieder zu finden auf ihren Kissen. Bellt mich nur fort, ihr wachen Hunde, |
Dogs are barking, chains are rattling, People are asleep in their beds, Dreaming of things that they have not, Enjoying both good and evil.And the next morning, all is vanished, But then, they have enjoyed their share, And hope that what they left behind On their pillows they will find it again. Bark me away, you watchful dogs, |
นอกจาก Im Dorfe หนังยังเลือกมาอีกหลายท่อน อาทิ Der Wegweiser (The Signpost), Der stürmische Morgen (The Stormy Morning) ฯ แต่ผมไม่ขอเขียนรายละเอียดเพิ่มเติมแล้วกัน รู้จักเพลงเดียวก็พอเข้าใจภาพรวมทั้งหมดแล้ว
Winterreise ถือว่าเป็นบทเพลงที่มีลักษณะ psychological นำเสนออารมณ์ความรู้สึกของผู้ประพันธ์ออกมาได้อย่างลึกล้ำสมจริง ผสมผสานเข้ากับบทกวี/คำกลอน ได้อย่างไพเราะเสนาะหู จัดว่าเป็นบทเพลงในยุคสมัย Romanticism (ยุคนี้ไม่จำเป็นว่า บทเพลงต้องออกแนวสวยๆงามๆรักโรแมนติกนะครับ แต่มีลักษณะคล้ายๆ Expressionist คือแสดงออกทางความรู้สึกและอารมณ์ของผู้แต่ง)
ครูสอนเปียโนสาว Erika Kohut (รับบทโดย Isabelle Huppert) อาศัยอยู่กับแม่ (รับบทโดย Annie Girardot) ในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง ด้วยวัยที่น่าจะกว่า 40 ปีแล้ว แต่ยังไม่แต่งงาน ไม่ย้ายออกไปไหน แถมนอนเตียงเดียวกันอีก ในสังคมยุโรปถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติมาก (บางสำนักวิเคราะห์เป็นนัยเรื่อง Incest) ซึ่งหมายความว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างกักขังทั้งสองไว้ให้ต้องอยู่ร่วมหัวร่วมหางกันไปเรื่อยๆ
– แม่เป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ชอบบงการควบคุมบังคับ ห่วงหวงไม่ยอมปล่อยให้ลูกห่างกายไปไหน เพราะพ่อเข้าโรงพยาบาลบ้าเหมือนว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของแม่เพียงคนเดียว (คาดว่าตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก) เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ทะนุถนอมดั่งของรักของหวงมากเกินไป ไม่สนว่าโตขึ้นจะสามารถมีชีวิตเอาตัวรอดเองได้หรือเปล่า
– Erika เพราะเติบโตขึ้นมาดั่งนกในกรงจึงเกิดความอึดอัดอั้น เพ้อฝันสักวันจะได้เป็นอิสระโบยบินด้วยปีกของตนเอง แต่ในระหว่างที่แม่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่สามารถทำได้ จึงเก็บกดสะสมความต้องการไว้ในใจ แปรสภาพกลายเป็นความอัปลักษณ์พิศดาร ติดนิสัย masochist ชอบการถูกทรมาน เจ็บปวดด้วยตนเอง, ส่วนนิสัยชอบควบคุมบงการ ถือว่าเป็นอิทธิพลมาจากแม่ เพราะคือแบบอย่างเดียวที่ตนรับรู้ ความชั่วร้ายทุกสิ่งอย่างในใจ เกิดจากการเลี้ยงดู จาก”แม่” ของตนเองทั้งนั้น
อิทธิพลของแม่ต่อลูกในหนังเรื่องนี้ ถือว่าเกินขอบเขตความเหมาะสมไปมาก แม่ที่หวงลูกเกินไป ไม่ต่างอะไรกับพ่อขี้เมาชอบทุบตีทำร้ายลูก ฯ แต่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าพอเปลี่ยนจากพ่อเป็นแม่ ผลกระทบต่อลูกจะต่างกันมาก เพราะเพศหญิงมักจะไม่ได้แสดงความรุนแรงออกมาชัดเจน … แต่ถ้าเปรียบเทียบว่า พ่อมักกระทำร้ายลูกทางกาย ส่วนแม่กระทำร้ายลูกทางใจ ฝั่งไหนเลวร้ายกว่ากันน่าจะพอมองเห็นได้ (ฝั่งแม่แน่ๆ)
ตอน Erika ไปแสดงดนตรี บรรเลง Bach: Concerto in C major, BWV 1061 เพลงคู่ที่ปกติต้องบน Harpsichords แต่ปัจจุบันมักนำมาเล่นบนเปียโนมากกว่า เพลงนี้ไม่ได้มีนัยยะแฝงอะไรในบทเพลง แค่ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ถ้าเรื่องดนตรีเธอสามารถเล่นคู่กับคนอื่นได้ดี และกับคนที่ฟังเป็น ส่วนที่เธอเล่นถือว่านำอีกคนหนึ่งนะครับ (การ Duet เปียโน จะต้องมีคนหนึ่งเป็นผู้นำเสมอ เหมือนการเต้นลีลาศที่ผู้ชายต้องนำผู้หญิง)
ในการแสดงครั้งนั้นมีชายหนุ่มคนหนึ่ง Walter Klemmer (นำแสดงโดย Benoît Magimel) เกิดความหลงใหลในความเพลิดเพลิน เคลิบเคลิ้ม และการเล่นนำของ Erika จนต้องการแสดงออกออกว่าตนมีความเข้าใจในบทเพลงที่เธอเล่นอย่างลึกซึ้ง ด้วยการเล่นเพลง Schubert: Piano Sonata in A major, D. 959
ในช่วงบั้นปลายชีวิตเดือนสุดท้ายของ Franz Schubert ได้ประพันธ์ Sonata ขึ้นมาพร้อมกัน 3 บทเพลง D. 958, D. 959 และ D. 960 (จนมีชื่อเรียกว่า Schubert’s Last Sonatas) เขียนขึ้นปี 1828 แต่กว่าจะได้เผยแพร่ก็หลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ประมาณช่วง 1838-1839
ทั้ง 3 บทเพลงนี้จะมีรูปแบบที่คล้ายกันคือแบ่งออกเป็น 4 Movement และมีสัมผัสเกี่ยวกับชีวิต พบเจอ พลัดพราก และตายจาก มี 2 บทเพลงที่จะได้ยินในหนัง
– D. 959 Mvt. 2 มีชื่อเรียกว่า Andantino ทำนองนุ่มๆเบาๆ ให้สัมผัสคร่ำครวญโศกเศร้าจากการพลัดพรากแยกจาก โหยหวนต้องการกลับมาพบเจอกันอีก ช่วงกลางจะมีลักษณะเหมือนแฟนตาซี เพ้อฝัน ในจินตนาการ จบด้วยการตื่นขึ้นโดยไม่ได้พบกับอะไร
– D. 959 Mvt. 3 มีชื่อเรียกว่า Scherzo and Trio ลักษณะของบทเพลงจะมีตัวโน๊ตที่กระโดดไปมาอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินใจ ช่วงกลางของบทเพลง ให้สังเกตมือซ้ายของนักเปียโน จะมีการเคลื่อนสลับไปมาเดี๋ยวฝั่งซ้ายเดี๋ยวฝั่งขวา (มือขวาจะอยู่กับที่ไม่ได้ขยับไปไหน) อารมณ์ของเพลงให้สัมผัสของความรื่นเริงสำราญใจ
กับบทเพลงนี้ ถือว่าเป็นการสื่อสารกันระหว่าง Walter กับ Erika พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาพูดคุยกัน แต่ใช้เสียงดนตรีแทนความรู้สึกโต้ตอบกัน, เมื่อชายหนุ่มได้พบได้ฟังบทเพลงของหญิงสาว เกิดความเคลิบเคลิ้มคลั่งไคล้หลงใหล เล่นเพลง D. 959 Mvt. 3 เพื่อแสดงความตื่นเต้นดีใจอย่างที่สุด
สำหรับ Erika ดูจากสีหน้าแล้ว (หนังใช้การตัดต่อภาพ Close-Up ตัดสลับใบหน้าของทั้งสอง ให้เหมือนว่ากำลังสื่อสารกันอยู่) เธอเข้าใจความต้องการของ Walter เป็นอย่างดี ซึ่งเหตุการณ์หลังจากนั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นครั้งแรกของเธอ (ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเธอยังบริสุทธิ์อยู่นะครับ) ในการ …
– เข้าร้านขายหนังโป๊ เพื่อไปศึกษา/ช่วยตัวเอง
– การใช้มีดโกนกรีดอวัยวะเพศ นั่นน่าจะคือเยื่อพรหมจรรย์ (เพื่อเวลามี Sex กับ Walter เขาจะได้ไม่รู้ว่าเธอยังบริสุทธิ์อยู่)
– แอบดูคนอื่นเอากันในโรงฉายหนังกลางแจ้ง
ฯลฯ
คนทั่วไปอาจมองว่านี่คือความวิปริตที่อยู่ในจิตใจของเธอ … แต่ผมมองว่ายังไม่ใช่นะครับ มันคือ Sex Drive แรงขับเคลื่อนทางเพศที่บอกว่า ฉันต้องการมี Sex กำลังดิ้นรนต้องการเป็นอิสระจากกรงนกที่ขังเธอไว้ก็เท่านั้น
ในฉากที่ Walter เล่นเปียโนเพื่อ Audition จะได้เข้าเรียนส่วนตัวกับ Erika มี 4 บทเพลงที่เขาเล่น หนังใช้ภาพ 1 ช็อต แทน 1 บทเพลง โฟกัสที่ Erika และจะตัดภาพเข้าไปใกล้ขึ้นเรื่อยๆ จาก Long Shot –> Medium Long Shot –> Medium Shot –> Close-Up
เพลงแรก Schoenberg: Zwei Klavierstücke, Op. 33 (Zwei Stücke) ชื่อภาษาอังกฤษคือ Two Piano Pieces หรือ Two Pieces แต่งขึ้นระหว่างปี 1928-1931, นี่เป็นเพลงอะไรก็ไม่รู้ที่มีความสะเปะสะปะ มั่วซั่ว สับสนวุ่นวายอลม่าน
เปรียบได้กับชีวิตของ Walter ก่อนหน้าที่จะพบกับ Erika มันคืออะไรก็ไม่รู้แบบนี้แหละ
เพลงที่ 2 Rachmaninoff: Prelude in G minor, Op. 23, No. 5 (ประพันธ์ขึ้นปี 1901)
ผมไม่เคยได้ยินเพลงนี้มาก่อน พอฟังในหนังแล้วตะหงิดๆในใจ เพราะกลิ่นอายสัมผัส สไตล์การเล่นมันคล้ายกับบทเพลงจากคีตกวีคนโปรดของผม Sergei Rachmaninoff พอมาหาข้อมูลดูก็พบว่าไม่ผิดเลย ความหนักแน่น ทรงพลังของบทเพลง แสดงถึงความมั่นคงจริงจัง เปรียบเสมือนรากฐานที่แข็งแกร่งจะช่วยต่อยอดให้ด้านบนมีความคงทนถาวร
สำหรับบทเพลงนี้ในภาษาของหนัง เป็นการบอกถึงความตั้งใจจริงของ Walter เขาไม่ได้มาเล่นๆ รักชอบชื่นชมหลงใหลเธอจริงๆ, ในบทเพลงนี้ตอนแรก Erika จะไม่ได้หันมามองกล้องแบบในภาพนะครับ เธอหันหน้าหนีก่อน แต่พอถึงจุดๆหนึ่งก็จะหันมา มือเคลื่อนมาวางที่กระโปรง (คือเกิดความอยาก)
เพลงที่ 3 Schubert: Piano Sonata in A major, D. 959 Second Movement
สังเกตว่าช็อตนี้เธอกุมมือแน่น แสดงถึงความต้องการที่อัดอั้น และมองเขาไม่คลาดสายตา
บทเพลงสุดท้าย Schubert: Piano Sonata in A major, D. 959 Third Movement มันจะมีขณะหนึ่งที่เธอเหมือนกำลังจะยิ้ม แต่แล้วก็หุบปากลง … คงประมาณเก็บความตื่นเต้นดีใจไว้แทบไม่ได้ (ในใจคงจินตนาการเพ้อไปไกล)
แต่ก็น่ะ เมื่อหญิงสาวโดนเกี้ยวพาราสีขนาดนั้นมีหรือจะกล้าปริปากยอมรับง่ายๆ ทำเป็นเล่นตัวหาข้ออ้างโน่นนี่ไปเรื่อย(ที่ฟังไม่ขึ้น) เพื่อผลักไสชายหนุ่มคนนี้ให้ออกห่าง แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
ครั้งแรกในคอร์สส่วนตัวระหว่างทั้งสอง แน่นอนต้องเกิดความกระอักกระอ่วน ชายหนุ่มแสดงความต้องการของตนเองออกมาชัดเจน ส่วนครูสาวแสร้างทำเป็นยื้อยักเล่นตัว บ่ายเบี่ยง เพราะต้องการให้ตัวเองเป็นผู้นำ ผู้ล่า เป็นผู้ออกคำสั่ง
ขณะที่มีการแสดงในหอประชุม Erika เห็น Walter เข้าไปพูดอะไรบางอย่างกับลูกศิษย์สาวของเธอ (ที่เป็นคนเล่นเพลง Im Dorfe) เอาอกเอาใจ หัวเราะคิกๆ จนเกิดความอิจฉาริษยา เลยทำการแก้แค้น/เรียกร้องความสนใจ, ผมถือว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความอัปลักษณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของ Erika นะครับ เพราะเธอมีความต้องการครอบครอง Walter แต่เพียงผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมาแย่งของของตน
นั่นทำให้เกิดฉากอมตะของหนังต่อมา Sex Scene ในห้องน้ำ
คุณผู้หญิงทั้งหลาย รู้จักสำนวน ‘อย่าเล่นกันไฟ’ ไหมเอ่ย กับผู้ชายทั่วไปถ้าเขามีความต้องการ อัดอั้น จนถึงขีดสุด ก็เสมือนเปลวไฟ(ราคะ)ที่ลุกไหม้อย่างร้อนแรงกล้า เข้าใกล้ไม่ได้เลย (เพราะความร้อนมันแผ่ซ่านออกมา) เทียบกับไฟเปลวเล็กๆ อย่างเทียนไข มันคนละเรื่อง!, ถ้าคุณเล่นกับอารมณ์(ราคะ) สุภาพบุรุษแบบในหนังมันแทบไม่มีหรอกครับ จะเป็นแบบตอนท้ายของหนังมากกว่า คือมึงเล่นตัวมากใช่ไหม ต้องเจอดีแบบนี้แหละ!
บทเพลงที่จะได้ยินคลอเบาๆ ประกอบฉากนี้ เมื่อ Erika เปิดประตูออกคือ Bach: Brandenburg Concertos (ชื่อเดิมคือ Six Concertos With several Instruments) สไตล์ Baroque เพลงนี้มีทั้งหมด 6 Concerto ไม่รู้เหมือนกันในหนังใช้เพลงไหนประกอบ ประมาณการว่าแต่งขึ้นในปี 1721
สัมผัสของบทเพลงนี้คือความสนุกสนาน ครื้นเครงราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ก็ไม่รู้ paradise ของ Erika หรือ Walter นะครับ
ผมเลือก Concerto No.2 มาให้ฟัง เห็นว่าคือเพลงมีชื่อเสียงที่สุดของ Concerto นี้ นักดนตรีบรรเลงกันได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินมาก เหมือนพวกเขาอยู่บนสวรรค์จริงๆ
กับสิ่งแลวร้ายที่สุดในพฤติกรรมของ Erika ไม่ใช่จดหมายที่เธอเขียนบรรยายความต้องการของตนเองออกมาแน่ๆ นั่นผมยังมองว่าคือพฤติกรรมสามัญของคนที่ต้องการ Sex ในแบบที่ต้องการ, ความวิปริตเกิดที่พอเธอไม่ได้สิ่งต้องการ กลับดิ้นทุรนทุราย เอาหัวชนกรงนกรีดตัวออกมา นั่นคือพลีกาย พลีใจ ยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้มี Sex กับ Walter
นี่เป็นการกระทำที่บัดซบรุนแรงมากๆ เธอไม่สามารถหักห้ามความต้องการของตนเองได้อีกแล้ว ทำทุกวิถีวาง ละทิ้งทิฐิ ตัวของตนเอง เพื่อให้ได้สนองกามารมณ์ที่โหยหามานาน แบบไม่สนใจอะไร, สภาพของเธอตอนเดินออกไปจากห้องนักกีฬาสู่ลานหิมะ ตุปัดตุเป เอียงกระเทเร่ หมดสิ้นแล้วความเป็นผู้หญิง
จริงอยู่เธอได้เขามาครองสมใจอยาก แต่มันทุเรศทุรัง ไม่เหลือสภาพนกสวยสง่าที่เคยอยู่ในกรงขัง ประมาณว่าต้องหักปีกรีดขนให้ร่วงหล่นไปจนเหลือตัวเปล่าๆ จึงสามารถมุดรอดซี่กรงออกมาได้ นั่นแปลว่านกตัวนี้ไม่หลงเหลืออะไรอีกแล้ว กลายเป็นเศษซากเนื้อนก ที่หลงคิดว่าพอตัวเองไม่มีปีกไม่มีขนแล้วจะยังบินได้ ผลลัพท์ก็คือถูกจับไปต้มยำทำแกง เพราะคิดว่าคงตายไปแล้วไม่มีประโยชน์ใดๆอื่นอีก
ผลลัพท์จากการทำตัวสนองใจอยากนี้ กลายเป็นกรรมสนองกรรม อยากได้นักใช่ไหม จัดให้ เป็นไงละ นี่คือที่เธอต้องการตั้งแต่แรกไม่ใช่เหรอ, ถึงตรงนี้ก็คงมีทั้งคนสมน้ำหน้าและเห็นใจ แต่ผมไม่รู้สึกอะไรเลยเพราะไม่รู้จะรู้สึกอะไร วินาทีที่เธอถูกข่มขืน ร่างกายราวกับไร้ชีวิตไร้วิญญาณ กลายเป็นหุ่นซากศพ (คุณจะพบ Déjà Vu ฉากนี้ในหนังเรื่อง Elle-2016)
ณ ตอนจบ หญิงสาวทำไมถึงเอามีดปักอกตัวเอง? ในนิยายมีคำบรรยายเขียนว่า
The knife should dig into her heart and twist around! The remainder of the necessary strength fails. Her eyes alight on nothing, and, with no burst of rage, fury, or passion, Erika Kohut stabs a place on her shoulder, which instantly shoots out blood. The wound is harmless, but dirt and pus must not get in. The world, unwounded, does not stand still.
ความตั้งใจของหญิงสาวคือ มีดปักเข้าไปที่อกแล้วบิดหมุน แต่ด้วยเรี่ยวแรงที่อ่อนล้า จึงปักได้แค่ที่บ่า ค่อยๆมีเลือดไหลออกมา, บาดแผลไม่เพียงพอให้เธอเสียชีวิต แต่มีลักษณะคล้ายลูกกุญแจที่ใช้ปิดขังตัวเอง จากโลกแฟนตาซีที่เคยเพ้อวาดฝันไว้ กลับสู่กรงนกที่เคยอาศัยอยู่(กับแม่), สายตาของเธอไม่มีความโกรธเคือง เกรี้ยวกราว เมื่อเห็น Walter ที่เคยหมกมุ่นคลั่งกลับเป็นอิสระโบยบิน ผิดกับตนที่ยังติดกับอยู่ในโลกของตนเอง มันทำให้เธอต้องเดินหนีออกไป ทิ้งทุกสิ่งอย่าง (กลับสู่โลกของตนเอง)
ในวงการดนตรี/งานศิลปะสมัยก่อน น้อยมากที่คีตกวี/ศิลปินจะเป็นผู้หญิง แทบทั้งนั้นเป็นผู้ชาย, นี่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม อาจเพราะทัศนคติ โอกาส ความเชื่อของคนสมัยนั้นที่ว่า ผู้หญิงต้องเป็นเพศที่เก็บตัว มีหน้าที่เรียนรู้สืบทอดสิ่งที่ผู้ชายวางรากฐานไว้เท่านั้น เป็นช้างเท้าหลังเดินตามผู้ชาย, นี่ถือเป็นประเด็น feminist ของหนัง สะท้อนสภาพการถูกกดขี่ของผู้หญิงในสังคม ที่เหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้ถือว่าตรงเผย ผู้หญิงต้องการมีอำนาจเหนือการควบคุมของผู้ชาย แต่กลับก็ไม่สามารถทำได้ สุดท้ายถูกกระทำกลับ/ตอบโต้อย่างรุนแรง (ถึงสิ่งที่หญิงสาวขอมันออกจะวิปริตไปหน่อย คนทั่วไปคงรับไม่ได้ แต่สิ่งที่ผู้ชายกระทำกลับมา ไม่ได้เลวร้ายกว่ากันหรอกเหรอ!)
สไตล์ของผู้กำกับ Haneke มักนำเสนอเรื่องราวความบกพร่องทางการสื่อสาร ความเข้าใจของชนชั้นกลาง และความรุนแรงทางสังคมที่ส่งผลต่อจิตใจมนุษย์, Erika เป็นผู้หญิงชนชั้นกลางมีหน้ามีตาในสังคม แต่ในใจกลับเต็มไปด้วยความเก็บกดอัดอั้นต้องการ เมื่อมีคนรักก็ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจ แสดงออกในเรื่องความรักได้อย่างถูกต้องถูกวิธี, เหมือนว่าหญิงสาวสามารถเล่นดนตรีดีเยี่ยม สอนคนอื่นได้ดี แต่กลับฟังเพลงไม่เป็นไม่เข้าใจ (คือไม่สามารถเข้าใจจิตใจของคนอื่นได้)
ใจความของหนังเรื่องนี้ ผมขออ้างจากคำนักวิจารณ์ชื่อดัง Roger Ebert มาแล้วกันนะครับ
“There is an old saying: Be careful what you ask for, because you might get it. The Piano Teacher has a more ominous lesson: Be especially careful with someone who has asked for you.”
มีสำนวนหนึ่งประมาณว่า ‘ให้ระวังสิ่งที่ขอ เพราะคุณอาจได้มา’ ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้ให้สร้อยต่อท้ายอีกนิด ‘โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องระวังคนที่คุณขอด้วย’ เพราะเขาอาจสนองคืนในแบบคาดไม่ถึงทีเดียว
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ ใน direction แนวทางของผู้กำกับ, ได้รู้จักบทเพลงคลาสิกเพราะๆเพิ่มอีกมากมาย, การแสดงของ Huppert สมจริงมากๆ สายตาท่าทาง เริดเชิด ต้องเรียกเธอว่า ‘เจ้าแม่’ เสียแล้วสิ, และความลึกซึ้งซับซ้อน ที่ถ้าอยากเข้าใจหนังจริงๆ จักต้องคิดวิเคราะห์อย่างละเอียดจริงๆ
กระนั้นนี่ไม่ใช่หนังที่ดูง่ายเลยนะครับ แนะนำเฉพาะกับผู้มีประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ค่อนข้างสูง ชื่นชอบหนัง Indy คิดวิเคราะห์เป็น ฟังเพลงคลาสสิกได้ เข้าใจพื้นฐานของดนตรี ถ้าเป็นไปได้ให้หาหนังของ Haneke เรื่องอื่นมารับชมก่อน อาจทำให้คุณเข้าใจสไตล์ของผู้กำกับมากขึ้น และแฟนหนังของ Isabelle Huppert กับ Benoît Magimel ห้ามพลาดเด็ดขาด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุ อะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวละครในหนัง
จัดเรต 18+ จิตอันวิปริตและการข่มขืน
Leave a Reply