The Place Promised in Our Early Days (2004) : Makoto Shinkai ♥♥♥♡
เหนือเมฆา… ที่แห่งสัญญาของเรา, ภาพยนตร์อนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของผู้กำกับ Makoto Shinkai กับงานภาพสวยสมจริง การตัดต่อรวดเร็วฉับไว และเพลงประกอบที่สุดแสนไพเราะ ถึงเรื่องราวจะสลับซับซ้อนจนดูไม่รู้เรื่อง แต่แค่นี้ก็เพียงพอให้คุณดื่มด่ำ เพลิดเพลินกับอารมณ์ความรู้สึกที่ล่องลอย เหมือนกำลังนอนหลับฝันกลางวันไม่อยากตื่น
อนิเมะของ Makoto Shinkai แทบทุกเรื่องจะเป็นแบบนี้ ระหว่างชมให้ความรู้สึกหวิวๆ ดูจบแล้วจะมีอาการ ‘ฟิน’ อารมณ์มวลรวมก่อตัวในท้อง ทำให้ปั่นปวน อลม่าน รู้สึกอยากให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์แบบในเรื่องบ้าง คงจะรู้สึกเป็นสุขได้อย่างดี, ผมว่านี่คงเป็นทฤษฎีของ Shinkai ที่เชื่อว่า ภาพยนตร์คือสื่อที่ทำให้คนผ่อนคลายจากความเครียด เหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยากลำบาก เขาจึงนำเสนอโลกที่มีความสวยงามเหมือนดั่ง Paradise สรวงสวรรค์ ทุกวินาทีของความงดงาม ทำให้เกิดภาพติดตา ตราประทับในจิตใจ รู้สึกหลงใหล เคลิบเคลิ้ม จนต้องการเข้าไปอาศัยหลบอยู่
เกร็ดน่ารู้: คำว่า ‘ฟิน’ เป็นคำวัยรุ่นที่มาจากคำว่า finish (ฟินนิช) ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจาก อารมณ์หลังมี Sex สำเร็จเสร็จ (finish) เป็นการเปรียบเทียบแทนอารมณ์ความรู้สึกอิ่มเอม พึงพอใจ สุขสมหวัง เหมือนตัวล่องลอยอยู่บนสรวงสวรรค์, ยกตัวอย่างเช่น ได้กินอาหารอร่อยๆแล้วรู้สึกฟิน … คือประทับใจมากๆ
ผมดูหนังของ Shinkai มาก็หลายเรื่อง เป็นประเภทหนังที่ไม่ค่อยอยากดูบ่อยสักเท่าไหร่ คือเหมือนหนังของ Jean-Luc Godard และ Wong Kai-Wai ที่ดูจบแล้วต้องใช้สมองคิดเยอะมากถ้าอยากเข้าใจทั้งหมด ทั้งที่จริงๆหนังของผู้กำกับดังพวกนี้ จะไม่คิดเลยก็ได้ ให้อารมณ์สัมผัสเรื่องราวความรู้สึก ความสวยงามที่มองเห็นก็เข้าใจได้ ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลประกอบ … แต่ผมมันพวกคิดเยอะนะครับ ยิ่งเราเห็นความหมาย ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในเรื่องราว องค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ มันจะทำให้เราชื่นชม ชื่นชอบในมุมมอง แนวคิดของผู้กำกับมากขึ้น
ถ้าคุณเป็นพวกอยากรู้ อยากเห็น อยากเข้าใจหนังเรื่องนี้ ก็ลองอ่านต่อนะครับ แต่ถ้าคิดว่าอารมณ์ที่ตนสัมผัสได้ เพียงพอต่อความเข้าใจแล้ว แนะนำว่าอย่าอ่านต่อ เพราะมันจะทำให้ทัศนคติของคุณต่อหนังเรื่องนี้เปลี่ยนไปโดยทันที
Makoto Shinkai หลังเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ เอกญี่ปุ่นจาก Chuo University หลังเรียนจบเข้าทำงานในบริษัทออกแบบเกม Falcom เป็น Graphic Designer เป็นเวลา 5 ปี แล้วออกมาทำอนิเมชั่นเรื่องแรกคือ She and Her Cat ในปี 1999 เป็นอนิเมะ monochrome ความยาว 5 นาที ซึ่งสามารถคว้ารางวัลต่างๆมากมาย (อนิเมะเรื่องนี้สามารถโหลด/ชมได้ทั่วไป แต่ถ้าอยากได้ของถูกลิขสิทธิ์ มีอยู่ในแผ่นอนิเมะเรื่อง Voices of a Distant Star)
จากความสำเร็จเล็กๆนี้ทำให้ Shinkai รู้สึกว่าตนเองมีโอกาสก้าวหน้าในสายงานนี้ จึงสานต่อความความฝัน สร้างอนิเมะขนาดสั้นเรื่อง Voices of a Distant Star ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการวาดภาพ หญิงสาวใน Cockpit กำลังถือโทรศัพท์มือถือ พัฒนาอยู่เป็นปี ใช้นักพากย์ 2 คน คือตัวเองกับแฟนสาว และมี Atsushi Shirakawa หรือ Tenmon เพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่ทำเกม มาทำเพลงประกอบให้ กลายเป็น OVA ความยาว 25 นาที โดยมี CoMix Wave Inc. ออกทุนให้
จุดเริ่มต้นของ Kumo no Mukou หรือ The Place Promised in Our Early Days คือความท้าทายที่จะสร้างอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องแรกของ Shinkai เขาไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์ในสายงานมากนัก แต่มีแนวคิด สไตล์ที่เป็นของตนเอง รู้ว่าอยากได้อะไร อยากเห็นอะไร จึงนำเสนอออกมาเช่นนั้น และหนังได้ทุนสนับสนุนจาก CoMix Wave Inc. (ที่หลังจากประสบความสำเร็จกับอนิเมะเรื่องนี้ จึงได้แยกตัวออกมาเป็น CoMix Wave Films)
ในปี 1974 ประเทศญี่ปุ่นเกิดการแบ่งแยกออกเป็นสองส่วน, ฝ่ายใต้ รวมถึงจังหวัด Honshū และ Kyūshū ถูกปกครองภายใต้ United States, ฝ่ายเหนือ Hokkaidō (ในอนิเมะเรียก Ezo) ปกครองโดย Union (หรือ Soviet Union) ซึ่งในปีเดียวกันนั้น ฝ่ายเหนือได้เริ่มต้นสร้างหอคอยที่สูงเสียดฟ้า โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Ekusun Tsukinoe
อนิเมะแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วน ด้วยความยาว 90 นาที สามารถแบ่งออกเป็นองก์ละ 30 นาทีได้เกือบๆพอดี
The early days, ปี 1996 กลุ่มเด็กวัยรุ่น 3 คน ชาย 2 อัจฉริยะ Hiroki Fujisawa (พากย์โดย Hidetaka Yoshioka) กับ Takuya Shirakawa (พากย์โดย Masato Hagiwara) และ 1 หญิงสาว Sayuri Sawatari (พากย์โดย Yūka Nanri) ทั้งสามมีความสนใจในหอคอยสูงเสียดฟ้าที่มองเห็นไกลลิบๆ สองหนุ่มมีความฝันสร้างเครื่องบินเพื่อบินไปถึง เด็กหญิงได้รู้เข้าก็เกิดความสนใจ อยากที่จะร่วมผจญภัยไปกับพวกเขา จึงสร้างสัญญาผูกมัดทางใจ เพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายนี้ให้สำเร็จจงได้
วิธีการเล่าเรื่องในช่วงนี้ เหตุการณ์จะดำเนินไปพร้อมๆกันของวัยรุ่นทั้ง 3 มีหลายฉากที่ทุกคนจะอยู่ในเฟรมเดียวกัน งานภาพจะมีความสวยสดงดงามแจ่มใส สว่างจ้าเป็นประกายสดชื่น โทนสีอบอุ่นผ่อนคลาย เพลงประกอบไวโอลินคลอเบาๆ ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม
Three years later, มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อ Sawatari หายไป ทำให้สองหนุ่มกระจัดกระจาย กอปรกับการเรียนจบ ม.ต้น (middle school) ทำให้ต่างคนต่างแยกย้าย, Fujisawa ไปเรียนต่อ ม.ปลาย (high school) ที่ Tokyo, Shirakawa เข้าร่วมกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เพื่อทำการทดลองวิจัย parallel universes, ส่วนหญิงสาวที่หายตัว กายเธออยู่ในโลกใบนี้ แค่สลบไสล แต่จิตใจก้าวข้ามผ่านโลก ไปหลบซ่อนตัวยังสถานที่แห่งใดไม่มีใครรู้ คงสักจักรวาลใดแห่งหนึ่ง
วิธีการเล่าเรื่องในช่วงนี้ เนื่องจากทั้ง 3 ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว จึงแยกกันเล่าเรื่องทีละคนเรียงลำดับจนจบแล้วถึงเริ่มคนใหม่ เริ่มต้นจาก Shirakawa ที่กลายเป็นอัจฉริยะด้านฟิสิกส์ มีมันสมองที่เฉลียวฉลาดอัจฉริยะ ทางกายไม่ยอมแสดงออกความเจ็บปวด แต่จิตใจรวดร้าว, จากนั้นเป็น Fujisawa ที่มีชีวิตอย่างอ้างว้าง หดหู่ ถึงรอบข้างจะเต็มไปด้วยผู้คน แต่จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว แสดงความเจ็บปวดรวดร้าวออกมา
เมื่อถึงจุดนี้เราจะเริ่มมองเห็นชัดว่า Shirakawa สามารถแทนด้วยความคิด (ใส่แว่น)/physically (ทางกาย)/Software/ทำอะไรด้วยสมอง, Fujisawa แทนด้วยการกระทำ/mentally (ทางใจ)/Hardware/ทำอะไรด้วยความรู้สึก, เป็นสองคนที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง นี่ทำให้การสร้างเครื่องบินที่เป็นเป้าหมาย จำเป็นต้องใช้ทั้งสองคนนี้เพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกัน (คอมพิวเตอร์จะทำงานได้ ต้องมีทั้ง Hardware และ Software มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่สามารถทำงานได้)
Fullfill their promise, กายกับใจมักมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งมีสิ่งที่ใจอยากทำแต่กายไม่อยาก จึงเกิดการโต้เถียงจนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด(ต้องมีผู้)ชนะ เมื่อนั้นการแสดงออกจึงคือ ทั้งกายและใจ, ในเครื่องบินขนาด 2 ที่นั่ง Fujisawa พาร่างของ Sawatari ไปกับเขาด้วย เพื่อเติมเต็ม รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ ซึ่งเมื่อกายไปถึง จิตใจที่ไม่ว่าอยู่แห่งหนจักรวาลไหนย่อมสัมผัสได้ เมื่อนั้นกายและใจจะกลับมารวมเป็นสิ่งเดียวกันอีกครั้ง
วิธีการเล่าเรื่องช่วงนี้ ยังคงแยกเล่าเป็นฝั่งๆ แต่จะเริ่มผสมปนเป ไม่เป็นแบบของใครของมันเหมือนช่วงองก์ 2 แล้ว, เริ่มจาก Shirakawa และ Fujisawa รู้ความจริงที่เกิดขึ้นกับ Sawatari เมื่อทั้งสองพบกันก็มีเรื่องทะเลาะต่อยตี จากนั้นเมื่อเข้าใจกัน ทั้งสองจึงร่วมมือร่วมใจ Sawatari ขโมยร่างของ Sawatari มา และ Fujisawa เป็นผู้เติมเต็มฝัน ขับเครื่องบินพาเธอไปสู่หอคอยที่เป็นเป้าหมาย
ที่เล่ามานี่คือคร่าวๆเองนะครับ ผมขอแนะนำถึงเทคนิควิธีการดูอนิเมะเรื่องนี้ให้เข้าใจก่อนแล้วกัน, ก่อนอื่นเลยต้องมองให้เห็นวิธีการตัดต่อ ซึ่งจะมีอยู่ 2 รูปแบบ
1) ตัดแบบห้วนๆ ธรรมดาทั่วไป ใช้สำหรับการเปลี่ยนช็อต/มุมภาพ
2) การเฟดเข้าออก ใช้สำหรับการเปลี่ยนฉาก/เริ่มต้น-จบเรื่องราว
ลักษณะแบบนี้เหมือนลมหายใจ เข้า-ออก (ภาพเฟดเข้า เริ่มต้นซีน เหมือนหายใจเข้า, ภาพเฟดออก จบซีน เหมือนหายใจออก) ถือเป็นการสร้างจังหวะให้กับหนัง, ซึ่งในแต่ละลมหายใจ ก็มีลูกเล่นลีลา เช่น หายใจเข้าแบบติดๆขัดๆ หรือพ่นออกด้วยความช้าเร็ว ฯ เทียบกับการตัดต่อแบบแรก บางครั้งเนิบนาบ ช้าๆ ให้กล้องแพนภาพหมุนไปรอบๆ ซึมซับบรรยากาศความสวยงาม, บางครั้งก็ตัดเปลี่ยนภาพอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นอารมณ์เร่งเร้า ร้อนรุนแรง
เมื่อมองเห็นวิธีการตัดต่อได้แล้ว จะเห็นเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ ยิบย่อยเต็มไปหมด ลำดับต่อไปคือมองหาใจความสำคัญ มองภาพกว้างๆให้ออกว่าเรื่องราวมีลักษณะยังไง จุดไหนที่แบ่งออกเป็น 3 องก์ (ดังที่ผมเล่ามาก่อนหน้า) ยังไม่ต้องสนว่า ฉากนี้อดีต, ฉากนี้ปัจจุบัน, หรือในความฝัน เพราะการเห็นภาพรวม จะทำให้เราเข้าใจ ‘ใจความหลัก’ จากนั้นอยากจะรู้เข้าใจอะไรก็ตามสะดวกเลย
ใจความของอนิเมะเรื่องนี้คือ ‘คำสัญญา’ และ ‘การรักษาสัญญา’ นี่สามารถมองเป็นอะไรก็ได้ อาทิ
– ‘ความฝัน’ และ ‘การทำให้ได้ตามฝัน’
– ‘เป้าหมาย’ และ ‘การทำเพื่อบรรลุเป้าหมาย’
– ‘ความทรงจำ’ และ ‘การระลึกถึง’
– ‘อนาคต’ และ ‘เวลาที่ดำเนินไป’
ปรัชญาของชีวิตมนุษย์ เกิดมาคนเราต้องมี ‘เป้าหมาย’ อะไรสักอย่าง, บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตค้นหาเป้าหมาย, บางคนรู้ว่าเป้าหมายของตนเองคืออะไร แต่ไม่สามารถไปให้ถึงได้, เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชนทำลายไปให้ถึง มนุษย์ที่ไม่มีเป้าหมายชีวิต ก็เปรียบเสมือนสัตว์ ที่ใช้ชีวิตโดยสันชาติญาณ ดำรงชีพอยู่ไปวันๆ … ก็ไม่รู้จะเกิดมาทำไม (จริงๆทุกสิ่งมีชีวิตที่เกิดมาโดยไร้เป้าหมาย ต่างก็มีเป้าหมายนะครับ คือไร้เป้าหมาย)
หอคอยสูงเสียดฟ้า คืออะไร? คำตอบเชิงนามธรรมคือ ‘เป้าหมาย’ ที่ต้องสร้างให้สูงๆ เพื่อให้มองเห็นเด่นชัด (เป้าหมาย)สูงสุด ไม่ว่าจากมุมไหน หรือแม้แต่ตอนไม่อยากมองก็ยังเห็นได้ นี่ถือเป็นสิ่งสัญลักษณ์ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเชิงรูปธรรมว่าคืออะไร กระนั้นอนิเมะก็ใส่คำอธิบายเชิง Sci-Fi เข้าไป ว่ามันคือสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่าง กายและจิต ของมนุษย์, การเดินทางไปถึงหอคอยแห่งนี้ ก็เสมือนว่า กายและจิตได้หลอมรวมเข้าด้วยกัน ประหนึ่งเป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือ เมื่อเป้าหมายได้ถูกกระทำให้บรรลุ มันจักคือ ‘ความสำเร็จ’
2 ตัวละครหนุ่ม ต่างมีความมุ่งหวังสู่เป้าหมายชีวิต ด้วยวิธีที่ต่างกัน, หนึ่งคือทางกายต้องการไปถึงให้เร็วที่สุด (Shirakawa วิ่งด้วย Ice Skate ที่มีความเร็วสูงมาก) อีกหนึ่งคือใช้ทางใจเพื่อไปถึง (Fujisawa เล่น Kyūdō ที่ใช้ใจยิงให้โดนเป้า ไม่ใช่ลูกธนู) แต่การที่มนุษย์เราจะไปถึงเป้าหมายความสำเร็จได้ กายและใจ ต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีทางที่ กายไปถึงแต่ใจไม่ หรือใจถึงแล้วแต่กายยังอยู่กับที่
เรือบินหน้าตาประหลาด? ผมจะไปเข้าใจจิตใจของคนออกแบบได้ยังไงกัน! แต่มีสิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วน่าประทับใจมากๆคือ ใบพัดที่เป็น 2 อันหมุนคนละทิศทางกันกางขึ้นเหนือเมฆ (Beyond the Cloud) นี่ไม่ใช่ ‘กาย’ & ‘ใจ’ ที่รวมพลังร่วมประสานกันหรอกหรือ (อยู่เหนือก้อนเมฆ คือจุดสูงสุด), สงสัย Shinkai ต้องการเลียนแบบแนวคิดเครื่องร่อน (Mehve) ใน Nausicaä of the Valley of the Wind (1984) แน่เลย
สำหรับเรื่องเวลา ที่เดี๋ยวๆก็เหมือนเล่าย้อนอดีต บางครั้งเล่าความฝัน บางครั้งตัดสลับไปไม่เรียงลำดับ, นี่เรียกว่าลีลาการตัดต่อ ถ้าใครได้เคยอ่าน/รู้จัก หนังสือ Sculpting in Time เขียนโดย Andrei Tarkovsky อธิบายง่ายๆคือ เวลาการดำเนินเรื่อง ไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องไหลลื่น ต่อเนื่องกัน (time is a non-chronological) เราสามารถกำหนดให้ อะไรจะเกิดขึ้นก่อนหลัง สลับซ้ายขวา กระโดดหน้าถอยหลัง ยืดหด ยังไงก็ได้ นี่มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเกิดสัมผัสในเวลา ว่าเวลาผ่านไป สูญเสียไป และความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่เกิดขึ้น, สรุปสั้นๆคือ ตามอารมณ์ของผู้กำกับ (อยู่ที่คุณเองแล้ว จะมองออก เข้าใจหรือเปล่า ว่าทำไมผู้กำกับถึงมีอารมณ์เช่นนั้น)
การตัดต่อแบบ non-chronological ถือว่าสะท้อนประเด็น Parallel Universe ได้ด้วยนะครับ คือมันอาจเป็นช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันทางอารมณ์, อย่างตอนที่ Shirakawa ทะเลาะชกต่อยกับ Fujisawa ในปัจจุบัน ฉากถัดมาคือย้อนอดีต ที่ทั้งสองก็เคยทะเลาะชกต่อยกันมาก่อน นี่คือความต่อเนื่องของอารมณ์ ไม่ใช่ความต่อเนื่องของเหตุการณ์หรือช่วงเวลา
Parallel Universe ใส่มาเพื่ออะไร? หอคอยในความฝันของ Sawatari นั้นมีมากมาย หลากหลายเต็มไปหมด นั่นอาจสื่อถึง เป้าหมายที่มีหลากหลาย แตกต่างกันไป ด้วยรูปทรง วิธีการ ความตั้งใจ และรูปแบบ, Sawatari คือตัวละครที่เป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างแต่ละเป้าหมาย (เป็นคนเดียวที่จิตใจเชื่อมต่อกับ Parallel Universe) เธอมีชีวิตไม่ใช่เพื่อทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่เป็นผู้สร้างเป้าหมาย แล้วรอคอยให้ผู้หนึ่งผู้ใด สามารถพิชิตเป้าหมายนั้นได้
ยิ่งอ่านยิ่งงง ไม่ใช่ว่านี่เป็นอนิเมะเกี่ยวกับ ความรัก พลัดพราก และการพยายามหาต่อสู้เพื่อให้ได้คนรักกลับคืนมา หรอกหรือ? มองในมุมนั้นก็ไม่ผิดนะครับ เพราะนี่คือสิ่งที่เนื้อเรื่อง หน้าหนังนำเสนอมา ผมเตือนไว้แล้วก่อนจะมาอ่านบทความนี้ นี่อาจเป็นสิ่งที่คุณเคยเข้าใจ ซึ่งมันไม่ถูกและไม่ผิด, การมองหนังแบบผม เรียกว่า ‘การตีความ’ มันมีโอกาสที่จะถูกผิด เป็นไปได้ เป็นไปไม่ได้ ผมพยายามมองอนิเมะเรื่องนี้ในแบบความตั้งใจจริงของผู้กำกับ … คืออนิเมะ/หนัง ที่ดี การเล่าเรื่องราวหนึ่ง สามารถมอง/ตีความได้หลากหลายเรื่องราว, อนิเมะของ Miyazaki ทุกเรื่องก็เป็นแบบนี้นะครับ ลึกซึ้ง แฝงแนวคิด ปรัชญา ตีความได้หลากหลายไม่ต่างกัน
ผมนั่งดูเครดิตของอนิเมะ พบว่า Shinkai มีหน้าที่ประกอบด้วย โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับ, เขียนบท, Storyboard, Director of Photography (ถ่ายภาพ), Edited (ตัดต่อ), Background Art, CG, Color Design, Sound Director, Theme Song Lyrics (แต่งทำนอง) ฯ ว๊าว ขนาด Miyazaki ยังไม่สามารถอยู่ในทุกกระบวนการของการสร้างอนิเมะได้เลย หมอนี่มันระดับอัจริยะนะเนี่ย
การที่ Shinkai เรียนจบคณะอักษรศาสตร์มา ทำให้เขารู้จักคำกลอน บทกวีเพราะๆ มากมาย ซึ่งในอนิเมะผมเชื่อว่าบทกลอนที่นางเอกอ่าน ย่อมต้องคือ กวีโปรดของผู้กำกับเป็นแน่, Eiketsu no Asa (Morning of the Last Farewell) บทกลอนจากคอลเลคชั่น Haru to Shura (Spring and Asura) แต่งโดย Kenji Miyazawa (1896–1933)
In the dream, I am alone in an empty universe. In that dream, my whole body… fingers, cheeks, fingernails, heels, and even the tips of my hair are painful with loneliness. Those warm days we spent together seem more like a dream. But as long as I don’t lose those memories, I think I might be able to keep a grip on reality in the future.
บทกลอนนี้พูดถึงความฝัน ความทรงจำ ระยะเวลา ฯ นี่ถือเป็นใจความสำคัญ หรือลายเซ็นต์ที่เราจะเห็นได้ในทุกผลงานของ Makoto Shinkai เลยนะครับ, ตราบในที่ยังไม่สูญเสียความทรงจำ/ตราบใดที่มนุษย์ยังมีเป้าหมาย ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่าอนาคตจะยังจับต้องได้
เกร็ด: ชื่อแมว Chobi เป็นชื่อแมวจากอนิเมะ She and Her Cat (สงสัยเป็นแมวตัวที่ Shinkai เคยเลี้ยงและตั้งชื่อให้)
เพลงประกอบของ Tenmon เน้นไวโอลิน เชลโล่ และเปียโนเป็นหลัก เน้นสร้างอารมณ์ให้กับอนิเมะ, มีหลายครั้งที่ใช้เสียงเพลงรับกับการตัดต่อ หรือการกระทำของตัวละครนั้นๆด้วย, เดี่ยวไวโอลิน มี 2 เพลง Sayuri’s Melody (Sayuri no Senritsu) และ Hiroki’s Melod บรรเลงโดย Emiko Shiroyama
เสียงไวโอลินอันโหยหวน ทำให้เราหวนระลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง อาจเป็นความทรงจำ ความคาดหวัง เป้าหมาย, หวนระลึกถึงความสุขทุกข์ ยากลำบาก, หวนตระหนักถึงการมีชีวิต กว่าจะมาถึงวันนี้ต้องผ่านอะไรๆมา ฯ แรกเริ่มของเพลงนี้คือเดี่ยวไวโอลิน แสดงถึงความโดดเดี่ยว พอผ่านครึ่งหนึ่งไปก็จะเป็นสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่นเข้ามาประสานด้วย (เพลงนี้คือ กีตาร์/เชลโล่) ชีวิตเราคงไม่ได้อยู่คนเดียวจนวันตายนะครับ จริงอยู่อาจจะเกิดคนเดียว แต่โตขึ้นมีเพื่อนมีแฟน มีเป้าหมาย มีอนาคต ความโดดเดี่ยวอ้างว้างย่อมจางหายไป (ถ้าไม่ทำตัวเองไม่คบใคร ก็คงไม่รู้สึกเช่นนั้นแน่)
The Place Promised in Our Early Days ชื่ออนิเมะแบบนี้ทำให้ผมนึกคิดถึงตัวของผู้กำกับ ว่าเขาอาจมีความทรงจำ เรื่องราว ความฝันที่เคยสัญญากับใครไว้ และเมื่อตัวเองออกเดินทางถึงเป้าหมาย ก็เสมือนการได้เติมเต็มคำสัญญาที่ให้ไว้วันนั้น, ผมวิเคราะห์คาดเดาถึงเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ มันอาจจะคือความฝันวัยเด็กของ Shinkai ว่าโตขึ้นต้องการเป็นผู้กำกับทำอนิเมชั่น นี่เปรียบได้กับหอคอยที่เป็นเป้าหมาย –> เมื่อเรียนจบก็ไปทำงานหาประสบการณ์ พอแล้วจึงออกมาร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัทตนเอง เก็บสะสมประสบการณ์ จนสามารถสร้างอนิเมะขนาดยาวเรื่องแรก (เรื่องนี้) นี่คือการกำลังเดินทางมุ่งไปสู่หอคอย/ความฝัน –> ซึ่งเมื่อจุดที่อนิเมะสร้างเสร็จสำเร็จแล้วออกฉาย ก็เปรียบเสมือนหอคอยได้ถูกพิชิต สัญญาวัยเด็กได้ถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์ –> แต่ชีวิตมันยังไม่จบสิ้น การทำลายหอคอยก็เพื่อแสดงว่า คำสัญญา/ความฝัน ได้ถูกพิชิตลงแล้ว จุดสิ้นสุดคือการเริ่มต้นใหม่ มองหาเป้าหมายถัดไป อะไรๆมันเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
ย่อหน้าที่แล้วยืนยันความเชื่อของผมที่ว่า Makoto Shinkai เป็นผู้กำกับที่มีความเป็น ‘ศิลปิน’ สูงมากๆ เขานำเสนอเรื่องราวจากที่ประสบพบเจอในชีวิต แนวคิด ความฝันของตัวเอง ใส่ไว้ในภาพยนตร์อนิเมชั่นทุกเรื่องที่ตนสร้างขึ้น แบบเดียวกับ Hayao Miyazaki, ถ้าจะไม่ให้เปรียบกับปรมาจารย์ผู้กำกับคนนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะ Shinkai ได้รับฉายาว่า The New Miyazaki แต่ผมเคยพูดไว้ใน 5 Centimeters Per Second ที่ว่า Shinkai ก็คือ Shinkai ไม่มีทางที่เขาจะแทน Miyazaki ได้ ซึ่งจนถึงวันนี้ Shinkai ก็ไปเกือบถึงจุดนั้นแล้ว เขาประสบความสำเร็จอย่างมากกับ Your name อนิเมชั่นเรื่องล่าสุด ซึ่งก่อนที่จะไปดูเรื่องนั้น ผมแนะนำให้หยิบเรื่องนี้มาดูก่อนนะครับ จะได้เห็น เข้าใจว่า จุดเริ่มต้นของตำนาน มีที่มาจากอะไร
ส่วนตัวก็ชอบอนิเมะเรื่องนี้นะ แต่ไม่หลงรักเท่าไหร่ เพราะความซับซ้อนไร้สาระ ที่ว่ากันตามตรง ไม่ต้องใส่ลึกล้ำขนาดนั้นก็ได้ เหมือนผู้กำกับแค่การโชว์ของ ว่าฉันก็สามารถคิดอะไรยากๆแฝงปรัชญาระดับนี้ได้, อีกปัญหาของหนังเรื่องนี้คือ งานภาพที่ทุกอย่างสวยงามเกินไป จนทำให้ไม่มีช็อตไหนที่ สวยเว่อๆ โดดเด่นกว่าฉากอื่นๆ นี่ทำให้การดูนานๆ มันจะรู้สึก ‘เบื่อ’ ทั้งๆที่มีการตัดต่อรวดเร็วฉับไว เพลงประกอบเพราะๆ แต่เมื่อรับชมนานๆก็สามารถรู้สึกเหนื่อยอ่อนล้าได้, ผมเกิดความรู้สึกนี้เมื่อดูอนิเมะผ่านไปสักชั่วโมงหนึ่ง ความยาว 90 นาที เทียบกับ 5 Centimeters Per Second ที่ยาวเพียง 63 นาทีแล้ว เหมือนหนังยาวกว่ามากๆ หาวแล้วหาวอีก รอดูว่าจะจบยังไงเท่านั้น (คงเพราะผมนอนน้อยด้วยกระมังช่วงนี้ เลยไม่สามารถรับสัมผัสอารมณ์ได้เต็มอิ่มอย่างเต็มที่)
แนะนำสำหรับคนที่เป็นแฟนเดนตายของผู้กำกับ Makoto Shinkai นี่ไม่ใช่อนิเมะเรื่องที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเขา แต่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เราจะเห็นพัฒนาการแรกสุดของผู้กำกับ ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของตำนาน
คออนิเมชั่น งานภาพสวยๆ ตัดต่อเยี่ยม เพลงเพราะๆ, ใครชอบแนวโรแมนติกไซไฟ โลกอนาคต จักรวาลคู่ขนาน ไม่ควรพลาดเลย
จัดเรตทั่วไป ไม่มีฉากรุนแรง
ผมชอบการตีความของคุณมากเลยครับ เปิดมุมมองอะไรหลายๆอย่างให้ผมเลยจริงๆ