The Plague Dogs

The Plague Dogs (1982) : Martin Rosen ♥♥♥♡

ขณะที่ภาพยนตร์อนิเมชั่นเกี่ยวกับหมาๆของ Hollywood มีความน่ารักน่าชังน่าเอ็นดู ทางฝั่งยุโรปกลับพบเจอแต่ความเหี้ยมโหดร้ายทารุณ, สุนัขสองตัวหลุดจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในมุมของพวกมันก็แค่พยายามหาทางดิ้นรนเอาตัวรอด แต่เหล่ามนุษย์กลับมองว่าคือภัยอันตราย ประกาศเตือนอ้างว่าติดเชื้อโรคระบาด จำต้องไล่ล่าเข่นฆ่าให้ดับสิ้นสูญ

คนรักสัตว์คงได้หัวใจสลาย เมื่อพบเห็นการทดลองที่มีความเหี้ยมโหดร้ายทารุณ อาทิ ผ่าตัดสมองหมา ทดสอบสมรรถภาพให้ว่ายน้ำในสระจนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงจมลงแล้วค่อยปั๊มหัวใจช่วยชีวิต ฯ แต่เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การทดลองเกี่ยวกับสัตว์(และมนุษย์)ลักษณะนี้ มีอยู่จริง! เพราะมันคือวิถีหนทางเดียวที่จะทำให้วิทยาศาสตร์บางแขนง อาทิ ด้านการแพทย์ ฯ มีความเจริญรุดหน้า เทคนิคเพื่อให้หมอสามารถผ่าตัดรักษาคนไข้ได้ผลสำเร็จ, ยารักษาโรคที่ไม่มีพิษภัยข้างเคียง ฯ

ใช่ว่าปัจจุบันสมัยนี้การทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่อสัตว์(และมนุษย์) จะหมดสิ้นลงไปนะครับ ก็อย่างที่บอกนะแหละ บางอย่างมันคือความจำเป็นที่ต้องมีผู้เสียสละ/หนูทดลอง แต่อย่างน้อยก็มิได้เหี้ยมโหดทารุณเท่าสมัยก่อน คงเพราะจุดเริ่มต้นแบบ The Plague Dogs เมื่อบางสิ่งอย่าง/ข้อมูลความลับหลุดรั่วไหลออกสู่สาธารณะ ทำให้เกิดข้อครหาพิพาทขัดแย้ง วิวัฒนาการจึงเกิดในจุดที่เป็นข้อตกลงกฎเกณฑ์ทางสังคมยินยอมรับได้
– แรกสุดเลยกับการกระทำรุนแรกต่อสัตว์ Cruelty to Animals Act 1849 ของสหราชอาณาจักร
– ประเทศอเมริกา ตามมาติดๆกับ Cruelty to Animals Act 1876 และการทดลองเกี่ยวกับสัตว์เพิ่มเริ่มต้นที่ Animal Welfare Act of 1966
– ขณะที่เมืองไทยเพิ่งจะมีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ตามด้วย พระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๕๘ (หรือ พรบ. สัตว์ทดลอง) นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝังเสริมสร้างจรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง อาทิ ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ ไม่ขัดต่อกฎหมาย และต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

Martin Rosen (เกิดปี 1936) โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ The Bronx, New York City ก่อนเข้าวงการภาพยนตร์ทำงานเป็นแมวมอง (Scout) หานักแสดงละครเวที แต่พอตกหลุมรักแต่งงานกับ Elisabeth Payne Rosen สัญชาติอังกฤษ ติดตามเธอมาอยู่ London กลายเป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ อาทิ A Great Big Thing (1968), Women in Love (1969), ไม่ได้ตั้งใจนักแต่ก็กลายเป็นผู้กำกับอนิเมชั่น Watership Down (1978) แทน John Hubley ที่พลันด่วนเสียชีวิตไป, เพราะความประทับใจในผลงานของนักเขียน Richard Adams เลยติดต่อขออีกเรื่องกลายมาเป็น The Plague Dog (1982)

Richard George Adams (1920 – 2016) นักเขียนนิยายสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Wash Common, Newbury, Berkshire โตขึ้นสอบเข้า Worcester College, Oxford สาขา Modern History ถูกเรียกเป็นทหารสังกัด Royal Army Service Corps ประจำการอยู่ Palestine, หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าร่วม British Civil Service ทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ กระทรวงเคหะและรัฐบาลท้องถิ่น ตามด้วยกรมสิ่งแวดล้อม, ด้วยวัย 50+ ถูกคะยั้นคะยอจากลูกสาวสองคนให้เขียนนิยาย Watership Down (1972) ประสบความสำเร็จล้มหลามแบบไม่เคยคิดฝันมาก่อน ลาออกจากงานเก่ากลายเป็นนักเขียนเต็มตัว มีผลงานเด่นๆถัดมา อาทิ Shardik (1974), The Plague Dogs (1977), The Ship’s Cat (1977), Traveller (1988) ฯ แทบทุกเรื่องใช้มุมมองของสัตว์พูดได้เป็นตัวแทนบางสิ่งอย่างของมนุษย์

สำหรับนิยายลำดับที่สาม The Plague Dogs ผู้เขียน Adams ให้คำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นไว้ว่า

“There is no such place in the Lake District as Animal Research. In reality, no single testing or experimental station would cover so wide a range of work as Animal Research. However, every ‘experiment’ described is one which has actually been carried out on animals somewhere.”

เรื่องราวของสุนัขเพศผู้สองตัว Rowf (พากย์โดย Christopher Benjamin) และ Snitter (พากย์โดย John Hurt) ที่สามารถหลุดหลบหนีออกจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แถวๆ Lake District ด้วยความทรงจำที่แสนโหดเหี้ยมทารุณ ให้ตายก็ไม่ขอกลับไป แต่การจะดิ้นรนอาศัยในโลกภายนอกช่างลำบากยากเข็น บริเวณแถวนั้นเต็มไปด้วยโขดเนินหิน ภูเขาสูงใหญ่ อาหารการกินไม่ค่อยมี จำต้องออกล่าแพะ/ไก่ ของชาวบ้านแถวนั้น โชคดีพบเจอสุนัขจิ้งจอก Tod (พากย์ฺเสียงโดย James Bolam) ให้คำแนะนำอะไรหลายๆอย่างเพื่อเอาตัวรอด

แต่แล้วความวุ่นวายร้ายแรงก็เกิดขึ้นเมื่อ Snitter พลาดพลั้งทำให้ปืนลั่นฆ่าคนตาย อีกทั้งนักแม่นปืนที่ติดตามไล่ล่าพวกมันถูกผลักตกเขาเสียชีิวิต ด้วยความหิวโหยเลยกินไม่เลือก จนเมื่อพบทางการพบเห็นสภาพศพ ถึงขนาดส่งกองทัพไล่ล่าติดตามตัว, Tod กลายเป็นผู้เสียสละให้ทั้งสองได้ขึ้นรถไฟมุ่งสู่หมู่บ้านริมทะเล Ravenglass พบเห็นลิบๆท่ามกลางหมอกควันกลางทะเล นั่นอาจเป็นสรวงสวรรค์ของพวกมัน The Isle of Dog ก็เป็นได้

Rowf สุนัขพันธุ์ผสม Labrador ลำตัวสีดำท้องขาว ร่างกายกำยำแข็งแรง สามารถว่ายน้ำเอาตัวรอดได้เป็นชั่วโมงๆ พากย์เสียงโดย Christopher Benjamin ด้วยน้ำเสียงทุ้มใหญ่ สะท้อนการชอบใช้กำลังแก้ปัญหา สติปัญญาไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ระหว่างถูกจับกับสู้ตายขอแบบหลังไม่เอาอีกแล้ว

Snitter สายพันธุ์ Smooth Fox Terrier ตัวเล็กกว่า Rowf ผิวขาว ด่างจุดน้ำตาล ศีรษะมีผ้าปิดแผล แท้จริงคือร่องรอยจากการผ่าตัดสมอง ทำให้สติสตางค์ไม่ค่อยเต็มเท่าไหร่ มองเห็นภาพหลอน และมักเอาแต่คิดถึงเจ้านายเก่า พากย์เสียงโดย John Hurt พูดมากแบบไหลลื่นดั่งชื่อสายพันธุ์ (Smooth)

Tod สุนัขจิ้งจอกจอมเจ้าเล่ห์ คบหา Rowf กับ Snitter เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทนจากการช่วยชี้ช่องทางหาอาหารให้ (เพราะอาศัยอยู่บริเวณนี้มานานเลยล่วงรู้ทางหนีทีไล่) พากย์เสียงโดย James Bolam ด้วยสำเนียง Geordie ทางตอนอีสานของประเทศอังกฤษ สะท้อนความกระล่อนปลิ้นปล่อนออกมาได้เด่นชัดเจน

มิตรภาพของสุนัขทั้งสามสายพันธุ์ ถือว่าค่อนข้างแปลกประหลาดทีเดียว จำต้องอยู่ร่วมพึ่งพาอาศัยกันเท่านั้นถึงสามารถเอาตัวรอดในโลกกว้างอันโหดร้ายนี้ได้
– Rowf คือผู้มีพละกำลังแข็งแกร่ง
– Snitter เฉลียวฉลาดรอบรู้ มีสติปัญญา
– Tod ไหวพริบเป็นเลิศ รู้จักช่องทางหนีทีไล่

ในการทำงานของผู้กำกับ Rosen เพราะเขามาจากสายโปรดิวเซอร์ ถึงเคยกำกับ Watership Down (1978) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคลุกคลีกับงานสร้างมากนัก เพียงกำหนดไดเรคชั่น ทิศทางของอนิเมะ และเน้นประสานงานเสียมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นการร่วมทุนของสตูดิโอที่อังกฤษและอเมริกา
– London ใช้ทีมงานแทบยกชุดจาก Watership Down อาทิ Tony Guy (ได้เครดิตเป็น Animator Director), Arthur Humberstone, Alan Simpson, Colin White
– San Francisco หลายคนมาจากสตูดิโอ Disney อาทิ Brad Bird, Phil Robinson, Retta Scott (เธอคือผู้วาดหมาล่าเนื้อใน Bambi)

เกร็ด: เห็นว่าทุกช็อตฉากของอนิเมะเรื่องนี้ใช้การวาดมือทั้งหมด ไม่ได้แม้แต่จะใช้ Rotoscoping (เครื่องมือที่ช่วยให้สามารถวาดภาพการเคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง)

สิ่งที่งดงามแต่น่าสะพรึงกลัวมากๆของอนิเมชั่นเรื่องนี้คือภาพพื้นหลัง เนินเขาเต็มไปด้วยโขดหิน ขรุขระ ต้นไม้มีแต่กิ่งก้านไร้ใบ (ใกล้ฤดูหนาวหิมะตก) ใช้โทนสีเข้ม ท้องฟ้าน้ำเงินครึ้ม มอบสัมผัสความอันตราย ราวกับภัยพิบัติหายนะ วันสิ้นโลกยังไงชอบกล, น่าเสียดายที่คุณภาพฉบับ DVD ที่ผมรับชมไม่ได้ดีมากมาย (แต่ก็ไม่รู้ได้ออก Blu-Ray หรือมีการ Remaster หรือยังนะ)

มีหลายๆไดเรคชั่นการถ่ายภาพ ที่ผิดแปลกประหลาดกว่าอนิเมชั่นทั่วไป นี่ต้องยกเครดิตให้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Rosen เต็มๆเลย
– หลายครั้งมุมกล้องจะมีลักษณะบิดเบี้ยว เอียงกระเท่เร่ Dutch Angle คงเพื่อสะท้อนถึงโลกในมุมมองของสองสุนัขที่ผิดแผกแปลกไปจากความจริง
– มีช็อตหนึ่ง ขอตั้งชื่อว่า U-Panning ขณะที่ภาพเคลื่อนติดตามสามสุนัขกำลังเดินผ่านป่าด้วยมุมสูง (ก่อนต่อสู้กับกวาง) ในตอนแรกจะค่อยๆเลื่อนลงมาเป็นเส้นตรง จากนั้นค่อยๆเข้าโค้งหมุนครึ่งวงกลม แล้วเคลื่อนต่ออีกด้านของป่าขึ้นเป็นเส้นตรง (คือมันดูเหมือนกล้องเคลื่อนเป็นรูปตัว U)
– ความพยายามไม่ให้เห็นใบหน้า/ปฏิกิริยาแสดงออกของมนุษย์ จับจ้องอยู่แต่มุมมองระดับสายตาของสองสุนัข ‘Dog Eye View’ มากสุดก็แค่คอหรือด้านหลังศีรษะ
– ฉากย้อนอดีตของ Snitter และภาพหลอนจินตนาการของมัน สังเกตว่าเฉพาะพื้นหลังกลายเป็นขาว-ดำ แบบ Invert Color (หรือ Negative) สะท้อนถึงสิ่งที่มองเห็นตรงกันข้ามกับความจริง

ตัดต่อโดย Richard Harkness, อนิเมะทั้งเรื่องถือว่าใช้มุมมองของสองสุนัข Rowf และ Snitter ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ (ต้องถือว่าเริ่มต้นที่ Rowf เพราะกำลังถูกทดลองสมรรถนะ ให้ว่ายน้ำจนกว่าจะหมดเรี่ยวแรงจมลง) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่สามารถหลบหนีออกจากห้องทดลองวิทยาศาสตร์ จะมีการขึ้น Title Card บ่งบอกวันและระยะเวลาที่พวกมันมีชีวิตอยู่ในโลกปกติ

ลีลาการตัดต่อถือว่าไม่ธรรมดาเลยนะ ตอนที่สองสุนัขอยู่ในเตาเผาขยะ (กำลังจะเผาหมาตัวหนึ่งที่เสียชีวิต) อะไรก็ไม่รู้ดลใจพวกมันรีบมุดลอดออกมา ซึ่งอนิเมะได้ทำการเร่งเร้าลุ้นระทึกจะหนีทันหรือเปล่า ด้วยการตัดสลับไปมากับมือมนุษย์ที่กำลังเตรียมกดปุ่มจุดไฟเผา วินาทีนั้นพอไฟลุกพรึบก็ใจหายวาบลงตาตุ่ม

หลายครั้งทีเดียวมีการแทรกภาพลิงทดลอง จับจ้องมองด้วยดวงตาไร้จิตวิญญาณ นี่มักขณะระหว่างเปลี่ยนซีนของสองหมา ได้ยินเสียงโทรศัพท์สนทนาระหว่าง Dr. Boycott (ผู้บริหารห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์แห่งนี้) กับใครสักคนหนึ่งที่มีอำนาจสั่งการ, นัยยะของภาพลิงทดลอง คงต้องการสะท้อนถึงตัวมนุษย์เองนะแหละ (เพราะลิงคือสัตว์ที่เป็นวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายก่อนกลายมาเป็นมนุษย์) ที่ก็มีสภาพไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

เพลงประกอบโดย Patrick Gleeson สัญชาติอเมริกัน หนึ่งในผู้บุกเบิกเครื่อง Synthesizer เพื่อใช้บรรเลงร่วมกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการนำสไตล์นี้มาปรับใช้ในอนิเมะ สร้างสัมผัสบรรยากาศอันหลอกหลอนสะพรึงได้อย่างน่าขนลุกขนพอง สอดคล้องเข้ากับสไตล์ภาพพื้นหลัง หลับฝันร้ายทีเดียวคืนนี้

Ending Song ชื่อ Time & Tide ขับร้อง/แต่งโดย Alan Price, สิ่งที่เกิดขึ้นกับตอนจบของอนิเมะ เปิดกว้างอิสระให้ผู้ชมครุ่นคิดเข้าใจไปเอง อาทิ
– สองหมาว่ายถึงฝั่งฝัน
– มองเชิงสัญลักษณ์ นั่นคือเกาะแห่งความเพ้อฝันของ Rowf เพื่อสร้างกำลังใจให้กับ Snitter จนต่างจมน้ำเสียชีวิตทั้งคู่
– ถ้าตามฉบับนิยาย เจ้านายเก่าของ Snitter ยังไม่เสียชีวิต พ่ายเรือมารับพวกมันทั้งสองกลับไปเลี้ยง
ฯลฯ

สุนัขสองตัวหลุดออกจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ พวกมันกระทำสิ่งที่ในสายตามนุษย์มองว่าคือความชั่วร้าย บังเอิญฆ่าคนตาย ฆ่าแกะ ขโมยไก่/ไข่ นั่นช่างไร้อารยะเดรัจฉาน เป็นเหตุต้องสร้างข่าวลือข้ออ้างว่ามีเชื้อโรคระบาดมรณะไม่ควรเข้าใกล้ ใครๆเกิดความหวาดหวั่นสะพรึงกลัว เมื่อเรื่องเลวร้ายถึงขีดสุดต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด แต่สุดท้ายกลับจับได้เพียงสุนัขจิ้งจอกไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย

ความน่า่สนใตของอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือการเล่าเรื่องในมุมมองของสองสุนัข ผู้ชมจะได้รับรู้เข้าใจความรู้สึกนึกคิดอ่าน และเหตุผลการกระทำแสดงออก ที่สะท้อนสติปัญญาเฉลียวฉลาดราวกับมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรทำความเข้าใจอนิเมะด้วยโลกทัศนคติแบบหมาๆ ความต้องการของพวกมันคืออะไร?

ในมุมมองของผู้กำกับ Martin Rose สร้าง The Plague Dogs ให้เป็นเรื่องราวการผจญภัยของสองสุนัข มิตรภาพผองเพื่อน การเสียสละ และต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด ในโลกกว้างที่เต็มไปด้วยความภยันตรายรอบทิศทาง

สำหรับผู้เขียนนิยาย Richard Adams เป้าหมายปลายทางของ The Plague Dogs แทบไม่ต่างอะไรกับ Watership Down คือการออกเดินทางเพื่อค้นหาพบสถานที่ หรือ ‘บ้าน’ เหมาะสมสำหรับพวกตนได้ปักหลักอาศัยอยู่ มีความสุขสบายผ่อนคลายกายใจ ไม่มีอะไรให้ต้องทนทุกข์เจ็บปวดรวดร้าว ซึ่งต้นฉบับของนิยายเห็นว่าจบลงแบบ Happy Ending ขัดใจผู้อ่านอย่างยิ่งเลยละ

ส่วนตัวมอง The Plague Dogs คือความพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดของสองสุนัข (หรือคือตัวแทนกาย-ใจ ของมนุษย์) ในโลกที่พวกเขามิอาจปรับตัวเข้าหาอาศัยอยู่ได้ เป็นเหตุให้ถูกสังคมปฏิเสธต่อต้าน ก่อเกิดอารยะขัดขืน ไล่ล่าติดตามเข่นฆ่าล้าง จนต้องแหวกว่ายน้ำหนีออกทะเล มุ่งแสวงหาผืนแผ่นดินที่อยู่ใหม่ โลกที่อดีตจะไม่หวนระลึก ปัจจุบันเท่านั้นสำคัญสุด

สิ่งที่ผมชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้อย่างมาก คือไดเรคชั่นของผู้กำกับ Martin Rosen ในการเลือกทิศทางมุมกล้อง ภาพสถานที่พื้นหลัง และการใช้เพลงประกอบ สามารถสร้างบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว สัมผัสที่ทำให้หัวใจวูบวาบหวิว รวดร้าวระทมทุกข์ทรมาน และเกิดความลุ้นระทึกเอาใจเชียร์ให้เจ้าหมาทั้ง 2+1 สามารถหลบหนีเอาตัวรอดได้สำเร็จ

แนะนำคออนิเมชั่นสายโหด แนวต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด, จิตรกร/นักวาดภาพ หลงใหลในความมืดหมองหม่น, นักวิทยาศาสตร์ สัตวแพทย์ หรือคนทำงาน Animal Right เกี่ยวกับสัตว์ ไม่ควรพลาดเลย

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีความโหดเหี้ยมทารุณ

TAGLINE | “โลกของสองสุนัขใน The Plague Dogs สะท้อนด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ออกมาได้อย่างตรงเผง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: