The Post

The Post (2017) hollywood : Steven Spielberg ♥♥♥

สรุปแล้วนี่คือภาพยนตร์เกี่ยวกับการตีแผ่เอกสารลับ Pentagon หรือยกย่องเชิดชูสิทธิสตรี Feminist กันแน่? เพราะในขณะที่ Meryl Streep เจิดจรัสเฉิดฉาย Tom Hanks และผู้กำกับ Steven Spielberg กลับกำลังเดินถอยหลังลงคลองอย่างไม่น่าให้อภัย

ปัญหาใหญ่ที่ผมพบเจอในหนังเรื่องนี้ คือการไร้ซึ่งอารมณ์ความรู้สึก ‘impact’ ใดๆต่อการรั่วไหลของเอกสารลับ Pentagon ทั้งๆที่มันควรจะเกิดความเกรี้ยวกราด โกรธแค้น ไม่พึงพอใจที่รัฐบาลทำการปกปิดข้อเท็จจริงเหล่านั้นต่อประชาชน ถึงขนาดว่าหนังสือพิมพ์ The New York Times (เจ้าแรกที่ตีพิมพ์เอกสารลับ ไม่ใช่ The Washington Post ที่เป็นพื้นหลังเรื่องราวของหนัง) สามารถคว้ารางวัล Pulitzer Prize: Public Service

แต่สิ่งที่คุณจะได้จากการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้
– สำหรับผู้หญิง คงเกิดความภาคภูมิใจในความกล้าหาญของ Katharine Graham ที่สามารถลุกขึ้นก้าวเดินออกมาจากคอกล้อมของเหล่าสุภาพบุรุษ ในโลกยุคที่ผู้ชายยังคงเป็นช้างเท้าหน้ากับทุกสิ่งอย่าง
– สำหรับผู้ชาย ฝั่งซ้ายคงชื่นชม ยกย่อง เคารพในเสรีภาพเท่าเทียม ขณะที่ฝั่งขวาจัดๆ คงรู้สึกว่าหนังมันถ่อยมากๆ นำเสนอราวกับบุรุษทั้งโลกคือผู้ร้าย อาชญากร

ทั้งๆที่ใจความของทั้งสองเรื่องราวคู่ขนานนำเสนอสิ่งคล้ายๆกัน (เสรีภาพสื่อ = ความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ) แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าผลลัพท์ทางอารมณ์มันไม่ใช่ เมื่อนำมาเปรียบเทียบสะท้อนกันแล้ว ทำให้ได้สิ่งที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง กลายเป็นสองเรื่องราวเอกเทศ คลุกเคล้าไม่ค่อยลงตัวสักเท่าไหร่

The Post เสมือนว่าเป็น Prequel ของ All the President’s Men (1976) ดำเนินเรื่องด้วยการใช้พื้นหลังของหนังสือพิมพ์ The Washington Post (Editor-in-Chef ยังคือ Ben Bradlee) หลายครั้งมีการแทรกใส่บันทึกเทปสนทนาทางโทรศัพท์ของ ปธน. Richard Nixon และตอนจบลงเอยเหตุการณ์ Watergate Scandal ไปดูต่อหนังเรื่องนั้นได้เลย จะได้มีความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับอเมริกาในทศวรรษนั้น

จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดจาก Liz Hannah นักเขียนสัญชาติอเมริกัน ได้มีโอกาสอ่าน Personal History (1997) หนังสือชีวประวัติ Katharine Graham อดีตผู้บริหาร/เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ The Washington Post [หนังสือเล่มนี้ คว้ารางวัล Pulitzer Prize for Biography or Autobiography], ได้รับคำท้าจากแฟนหนุ่ม ให้ทำการดัดแปลงเรื่องราวนี้กลายเป็นนิยายหรือบทภาพยนตร์ กว่าจะเสร็จสิ้นเป็นรูปเป็นร่างก็เมื่อเดือนตุลาคม 2016 นำออกเร่ขายแต่ไม่มีสตูดิโอไหนสนใจจนได้รับการโหวตให้เป็นบทหนัง Black List เมื่อปี 2016 (บทดีๆแต่ยังไม่ได้ถูกนำไปสร้าง)

เกร็ด: The Post เป็นชื่อบทหนังดั้งเดิมที่ Hannah ตั้งขึ้น แต่ระหว่างโปรดักชั่นเปลี่ยนไปใช้ The Papers สุดท้ายถึงค่อยเปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิม

กระทั่ง Amy Pascal อดีตผู้บริหารของ Sony Picture ประมูลซื้อลิขสิทธิ์มาได้ ส่งต่อให้ Steven Spielberg ที่แม้กำลังง่วนอยู่กับ Ready Player One (2018) ปล่อยงาน Post-Production ที่หลงเหลือแต่ Visual Effect แล้วมารีบเร่งมาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยทันที

“The level of urgency to make the movie was because of the current climate of this administration, bombarding the press and labelling the truth as fake if it suited them.”

– Steven Spielberg

เนื่องจากระยะเวลามีจำกัด Hannah ถูกขอให้จับคู่กับ Josh Singer ที่เพิ่งมีผลงานล่าสุดคว้า Oscar: Best Original Screenplay เรื่อง Spotlight (2015) ซึ่งเป็นแนว Journalist คล้ายๆกัน ช่วยนำประสบการณ์เทคนิคความรู้ในการทำข่าวมาปรับประยุกต์ใช้ในกองถ่าย จักสามารถเร่งงานให้เสร็จเร็วไวขึ้นได้

หลังจากอ่านบท Spielberg เล็งสองนักแสดงนำ Meryl Streep กับ Tom Hanks หลังจากติดต่อพูดคุย ต่างตบปากรับคำโดยทันที นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่พ่อมดแห่ง Hollywood ยังรู้สึกทึ่งแปลกใจ เพราะตั้งแต่อยู่ในวงการมา แทบไม่เคยมีครั้งไหนได้รับการตอบตกลงจากนักแสดงตัวเลือกแรกที่ติดต่อไป

“All my first choices said yes. They were also miraculously available, so that was the other thing that made it come together quicker.”

Katharine Graham (รับบทโดย Meryl Streep) รับช่วงต่อเจ้าของกิจการ The Washington Post เธอเป็นผู้หญิงไฮโซในสังคมชั้นสูง ไม่เคยมีความต้องการเป็นผู้บริหารหรือคิดตัดสินใจอะไรที่มีผลกระทบต่อคนอื่น แต่เมื่อสามี Philip Graham ฆ่าตัวตาย ทุกสิ่งอย่างเลยตกทอดมาถึงเธอ แรกๆเต็มไปด้วยวิตกกังวลขาดความมั่นใจในตนเอง แต่ค่อยๆเกิดความเชื่อมั่นด้วยแรงผลักดันจากครอบครัวและการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ทำให้เมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถกล้าคิดตัดสินใจทำอะไรๆด้วยตนเอง เจิดจรัสเฉิดฉายในยุคสมัยที่โลกยังเป็นของผู้ชายเท่านั้น

**เหตุผลที่ Phillip Graham ฆ่าตัวตาย คงเพราะอาการเครียด กดดัน ติดเหล้า ถูกภรรยาจับได้ว่ามีชู้นอกใจ กำลังจะทำเรื่องหย่า พาลรับไว้ไม่ไหวเสียสติแตก (Nervous Breakdown) พึ่งจิตแพทย์ก็ไม่หาย สุดท้ายเป่าสมองด้วยปืนลูกซองวันที่ 3 สิงหาคม 1963

แม้อยู่ในวงการกันมามากว่า 40 ปี แต่ Streep ไม่เคยร่วมงานแบบจริงจังกับทั้ง Tom Hanks และ Steven Spielberg (เคยพากย์เสียง The Blue Fairy เรื่อง A.I. Artificial Intelligence ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรมาก) เมื่อได้รับการติดต่อพูดคุยรู้สึกเนื้อเต้นอยากร่วมงานกันมากๆ

“What surprised me was how collaborative, free and open it was. I wasn’t prepared for the openness. … I told my husband, ‘I can’t wait to go to work!’”

– Meryl Streep

ถ้าเทียบกับผลงานคว้า Oscar อย่าง Kramer vs. Kramer (1979), Sophie’s Choice (1982) หรือ The Iron Lady (2011) การแสดงของ Streep ในหนังเรื่องนี้ไม่ได้มีช่วงเวลาเล่นของใหญ่อลังการมากนัก มุ่งเน้นความปั่นป่วนขัดแย้งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจ สะท้อนออกมาผ่านสีหน้าสายตาและคำพูด ถ้าคุณพอฟังภาษาอังกฤษออกน่าจะรับรู้ได้ตั้งแต่ฉากแรกๆ ตอนเธอซ้อมพูดกล่าวสุนทรพจน์ เสียงสั่นๆฟังไม่ได้สดับเลย

วินาทีที่เป็นไฮไลท์ของตัวละครนี้
– ในด้านการแสดง ขณะที่ตัวละครตอบอนุญาตผ่านทางโทรศัพท์ สายตาของ Streep ที่ภาพกำลังค่อยๆเคลื่อนเข้าไป ทำเหมือนกำลังจะร้องไห้ แล้วอยู่ดีๆ…อะไรจะเกิดก็ช่างแม้ง! นี่น่าจะเป็นสันชาตญาณที่ผลักดันให้เธอตอบไปเช่นนั้น
– ในด้านศิลป์ ขณะต้องยืนยันการตัดสินใจนั้นอีกครั้ง กลางดึกดื่นบรรดาหนุ่มๆทั้งหลายมายืนห้อมล้อมรอบเธอที่กำลังนั่งอยู่ แล้วอยู่ดีๆก็ยืนขึ้นเดินออกมา พูดยืนยันการตัดสินใจด้วยเหตุและผล ก่อนหาข้ออ้างปลีกตัวหนีไปนอน, ฉากนี้สื่อนัยยะถึงก้าวออกมา จากการถูกครอบงำในโลกของผู้ชาย สังเกตว่าหนุ่มๆที่ห้อมล้อมต่างสวมสูทสีเข้ม ตัวละคร Hanks สวมเสื้อลาย (ไม่ได้เข้าไปมุงล้อมด้วย แต่มีทัศนคติเป็นกลาง) ส่วนขุ่นแม่สวมชุดนอนสีขาว (บริสุทธิ์ชัดเจน)

“My decision stands, and I’m going to bed. “

ลูกจ้างที่เป็นหัวหน้าบรรณาธิการข่าว (Editor in Chef) ของหนังสือพิมพ์ The Washington Post คือ Ben Bradlee (รับบทโดย Tom Hanks) มีนิสัยชอบยกเท้าขึ้นวางบนโต๊ะ สูบบุหรี่จัด และเป็นจอมเผด็จการเลือดเย็น ที่ต่อสู้ทำทุกอย่างเพื่อธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพของสื่อ, แม้จะเป็นเพียงที่สองรองจาก The New York Times ในการตีพิมพ์เอกสารลับ Pentagon แต่เมื่อ Times ถูกหน่วยงานรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้ตีพิมพ์ และพอเขาได้ครอบครองข้อมูลดังกล่าว ก็รับรู้หน้าที่ของตนเองโดยทันที มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมจะสามารถโน้มน้าว Katharine Graham ให้อนุญาตตีพิมพ์บทความข่าวนี้ได้

ใครเคยรับชม All the President’s Men (1976) น่าจะมีความคุ้นเคย จดจำตัวละครนี้ได้แน่ รับบทโดย Jason Robards ที่สามารถคว้า Oscar: Best Supporting Actor มาครองได้, Hanks บอกว่าแอบวิตกทีเดียว เพราะรู้ตัวเองว่าต้องถูกเปรียบเทียบกับ Robards แต่เพราะเขาเคยรู้จักพบเจอตัวจริงของทั้งสอง จึงใช้วิธีการผสมผสานให้กลายเป็นบุคลิกใหม่เข้าด้วยกัน

“I was lucky in that I had met both guys, I do not have the same countenance as Jason, so I was going to have to find another way into the character that had nothing to do with me doing an imitation of Jason or an imitation of Ben.”

– Tom Hanks

กระนั้นโดยส่วนตัวมองว่าไม่เวิร์คเลยละครับ Hanks เป็นนักแสดงที่ไร้ Ego ภาพลักษณ์เหมาะกับตัวละครบ๊องๆซื่อๆแบบ Forrest Gump (1994), The Terminal (2004) ฯ แต่สำหรับชายชื่อ Ben Bradlee คนที่สามารถยกเท้าขึ้นวางบนโต๊ะประชุมแบบไม่แคร์มารยาท Hanks ทำให้ความลุ่มลึก ดุดัน Egoist ของตัวละครหายไปโดยสิ้นเชิง หลงเหลือเพียงความหนักแน่น มั่นใจในตัวเอง และ Charisma ที่สามารถควบคุมสั่งงานคนอื่นได้เท่านั้น

ภาพตัวจริงของ Katharine Graham กับ Ben Bradlee

สไตล์การทำงานของ Spielberg ขึ้นชื่อเรื่องถ่ายทำน้อยครั้ง (ไม่ค่อยเกิน 2-3 เทค) ไม่มีการซักซ้อมล่วงหน้า หรือวาดภาพร่าง Storyboard ใช้การครุ่นคิดค้นหาไดเรคชั่นวันต่อวัน ให้อิสระเชื่อมือในตัวทีมงานทุกคน, นี่เป็นเทคนิคที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้กำกับเอง เคยเล่าว่าครั้งหนึ่งระหว่างการซักซ้อมบท นักแสดงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างสมจริงมากๆ แต่เมื่อถึงคราต่อหน้ากล้องกลับไม่สามารถดึงความรู้สึกนั้นออกมาได้ ด้วยเหตุนี้เลยหมดศรัทธาใน Rehearsal ใช้การเล่นจริงสถานเดียว

ขณะที่ Hanks ผู้เคยชินกับไดเรคชั้นของ Spielberg ร่วมงานกันมาถึงครั้งที่ 5 จงใจไม่บอกอะไรแก่ Streep มาถ่ายทำวันแรกสร้างความ ‘shock’ ตกใจอย่างมาก แต่ไม่นานก็เคยชินแล้วทั้งคู่ก็เข้าขากันได้ดิบดี, เห็นว่า Spielberg ต้องใช้ความอดกลั้นอย่างมาก ที่จะไม่พูดชื่นชมการแสดงของ Streep ในแทบทุกเทค เพราะมันช่างสมบูรณ์แบบเสียเหลือเกิน

ถ่ายภาพโดย Janusz Kamiński สัญชาติ Polish ขาประจำของ Spielberg ตั้งแต่ Schindler’s List (1993) จนถึงปัจจุบัน

แทบจะกลายเป็นลายเซ็นต์ของ Spielberg นับตั้งแต่ร่วมงานกับ Kamiński มีความโดดเด่นเรื่องการจัดแสงสีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (ในห้อง Newsroom โทนสีน้ำเงินอ่อน, บ้านของ Graham สีส้มอบอุ่น) และความฉวัดเฉวียนของกล้อง Hand Held แม้ทั้งเรื่องจะถ่ายทำในสตูดิโอสร้างฉากขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ก็ยังสามารถหาพื้นที่ว่าง นำเสนอลีลาเคลื่อนไหลอันโฉบเฉี่ยวสร้างอารมณ์และพลังขับเคลื่อนให้กับหนัง

อีกจุดสังเกตเล็กๆที่น้อยคนจะเห็นคือการเลือกใช้มุมกล้องก้ม-เงย เพราะไม่ได้มีองศาที่โดดเด่นชัดนัก แต่ยังพอให้เกิดสัมผัสความรู้สึกบางอย่างได้ พบบ่อยกับอย่างฉากผู้ชายเป็นฝูงล้อมรอบเอาเปรียบผู้หญิงตัวคนเดียว ถ่ายจากมุมสูงเห็นภาพก้มลงมาเล็กน้อย ให้รู้สึกเหมือนว่าหญิงสาวกำลังถูกกดดันจากหนุ่มๆรอบข้าง

น่าเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายทำด้วยระบบฟีล์ม เพราะเรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 60s ซึ่งชื่อของ Spielberg มีอำนาจต่อรองได้อยู่แล้ว แต่อาจด้วยเหตุผลต้องการให้เกิดสัมผัสร่วมสมัย เพราะความต้องการสะท้อนเรื่องราวนี้จากอดีต กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ดังสำนวน ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’

เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสับสนงงงวย ในฉากที่เห็นชายคนหนึ่งในทำเนียบขาว ทำท่าทางกำลังพูดคุยโทรศัพท์อย่างใส่อารมณ์ นั่นเป็นเสียงจากเทปจริงๆของปธน. Richard Nixon ซึ่งได้รับการค้นพบเผยแพร่จากการไต่สวนในอีก 2-3 ปีถัดจากเหตุการณ์ของหนัง เปิดโปงอะไรหลายๆอย่างจนกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Nixon ต้องลาออกจากตำแหน่ง

ในบรรดาไดเรคชั่น ผู้ชายเป็นฝูงล้อมรอบเอาเปรียบผู้หญิงตัวคนเดียว ครั้งที่โดยส่วนตัวอึ่งทึ่งตราตรีงสุด คือตอนประกาศผลการตัดสินของผู้พิพากษา นักข่าวหญิงคนหนึ่งรับโทรศัพท์ ประกาศเรียกให้ทุกคนหยุดรอฟัง แต่คนที่ชิงพูดตัดหน้า คือชายร่างท้วมอ่านผลการลงคะแนนจากโทรเลข (หรืออะไรสักอย่าง) … กระนั้นหญิงสาวกลับเป็นผู้ตบท้ายด้วยประโยคจากผู้พิพากษา

“In the First Amendment the Founding Fathers gave the free press the protection it must have to fulfill its essential role in our democracy. The press was to serve the governed, not the governors.”

ตัดต่อโดย Michael Kahn ขาประจำหนึ่งเดียวของ Spielberg ด้วยวัยย่างเข้า 80 กว่าแล้ว จึงต้องขอให้ Sarah Broshar มาร่วมด้วยช่วยเหลือ

Prologue: เกริ่นเริ่มต้นปี 1966 ภาพความโหดร้ายของสงครามเวียดนาม และการลักลอบขโมยเอกสารลับ Pentagon ของ Daniel Ellsberg

เข้าสู่เรื่องราวจาก Katharine Graham ตื่นเช้า ซักซ้อมบทพูดสุนทรพจน์ ทานข้าวกับ Ben Bradlee จากนั้นใช้การตัดต่อสลับไปมาแบบคู่ขนานของทั้งคู่
– Graham ในโลกของผู้บริหาร ชนชั้นสูง ผู้หญิง
– Bradlee ในโลกของคนทำงาน ชนชั้นกลาง ผู้ชาย

ไฮไลท์ของการตัดต่ออยู่ที่ตอนโทรศัพท์ตัดสินใจ ก็ไม่รู้กี่สายพันกันวุ่นวาย แต่เมื่อตัดต่อวนรอบเห็นหน้าครบทุกคนแล้ว สุดท้ายมาลงเอยการตัดสินใจ จุดศูนย์กลางอยู่ที่ Katharine Graham

เนื่องจากเป้าหมายใจความหลักของหนัง จะหมุนวนเวียนอยู่แค่ Katharine Graham มากกว่าเนื้อหาข่าว ไคลน์แม็กซ์ของหนังจึงอยู่ที่ เมื่อเธอตัดสินใจและยืนกรานว่าจะตีพิมพ์ข่าวนี้ เรื่องราวหลังจากนั้นมีลักษณะก้าวกระโดดไปมาอย่างรวดเร็วเว่อ ตัดทิ้งทั้ง Sequence การพิพากษา (มีแค่เริ่มต้น โต้เถียงไปมาเล็กๆน้อยๆ และผลสรุปเลย) ไร้ซึ่งปฏิกิริยาของผู้คน/ผู้อ่านข่าว (แต่มีนำข่าวเดียวกันนี้จากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นมาวางเรียงราย) และผลกระทบต่อเนื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

Epilogue: ตบท้ายด้วยเหตุการณ์ Watergate Scandal วันที่ 17 มิถุนายน 1972 ชาย 5 คน บุกเข้าไปยังสำนักงานใหญ่ของพรรค Democratic ตั้งอยู่ที่ Watergate Office Complex, Washington D.C. แล้วถูกตำรวจจับได้ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหารับชมหนังเรื่อง All the President’s Men (1976)

เพลงประกอบโดย John Williams เดิมนั้นปู่แกกำลังจะทำ Ready Player One (2018) แต่เพราะ Post-Production ทั้งสองเรื่องเกิดพร้อมกัน และด้วยวัย 84 ปี ให้เหมาคงไม่ไหว เลยขอเลือกความท้าทายกับ The Post (แล้วให้ Alan Silvestri รับทำ Ready Player One) เพราะเห็นว่าเจ้าตอนพูดคุยโปรเจคนี้ ยังจินตนาการไม่ออกจะให้บทเพลงในห้องข่าวออกมายังไง

“When Steven first approached me about [The Post], we talked about Kay Graham and Ben Bradlee and what opportunities the film might present for me. When I’ve thought about it, I’ve never been in a newsroom – you know, with the clattering of a thousand typewriters in those days… Now no one’s using them, it’s all silent. But it must have been quite a noisy environment, really – everyone running back and forth. So I thought, ‘Well, how are you gonna get any music in a newsroom?'”

– John Williams

ผลลัพท์ที่ออกมา เป็นส่วนผสมของเต็มวง Orchestra กับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้สัมผัสนุ่มๆเบาๆ เกิดเป็นสัมผัสของความลุ่มลึกลับ พิศวง ราวกับอันตรายที่ค่อยๆคืบคลานเข้ามาทีละน้อย แบบเป็นห้วงๆ หนักเบาสลับกันไปมา

บทเพลง The Presses Roll ใช้เสียงไวโอลินในวง Orchestra เล่นซ้ำๆไปมาโน๊ตตัวเดิม ให้สัมผัสคล้ายกับเสียงของเครื่องพิมพ์ดีด แต่ไม่วุ่นวายอลม่านระดับเดียวกับห้อง Newsroom

ช่วงเวลาที่แม้แต่ Williams ยังบอกว่ามีความชื่นชอบ ประทับใจสุดของหนัง คือขณะรอคอยการตัดสินของผู้พิพากษา เมื่อผลคะแนนโหวตออกมา เสียงดีใจเชียร์ลั่นของผู้คน กลมกลืนเข้ากับบทเพลงที่ดังขึ้นมาอย่างลงตัว ราวกับกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว

ความอัจฉริยะของ John Williams คือการทำให้แทบทุกบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น มีความคลาสสิกขึ้นมาโดยทันที น่าเสียดายที่ปีนี้พลาดโอกาสได้เข้าชิง Oscar นึกว่าจะทุบสถิติของตนเองได้อีกสักรอบ

เหตุผลในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ของ Spielberg คือการตอบโต้ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นมีอยู่ในยุคสมัยของปธน. Donald Trump

“I felt that, my goodness, this is an opportunity to be part of the national conversation,”

นำเสนอเรื่องราวของหญิง-ชาย ผู้มีความ ‘กล้าหาญ’ ที่จะตัดสินใจกระทำบางสิ่งอย่าง ไม่ใช่เพื่อพวกพ้องผลประโยชน์ของตน (partisan) แต่ด้วยความรักชาติยิ่งชีพ (patriots) นำเสนอ ‘ความจริง’ ออกสู่สาธารณะ

จากการรับชมหนังเรื่องนี้ เชื่อว่าใครๆก็น่าจะรับรู้ได้ Spielberg-Hanks-Streep ต่างเลือกฝั่ง Democrat ปฏิเสธ Tramp กันทั้งนั้น

ผมเคยเขียนวิพากย์ไปเมื่อหลายเรื่องก่อน Nixon คือปธน. ที่ถ้าให้ชาวอเมริกันโหวต คงติดอันดับรั้งท้ายแห่งความยอดแย่ แต่เชื่อว่าเขากำลังมีคู่แข่งที่สูสีสมน้ำสมเนื้อ เลวร้ายดื้อด้านไม่ต่างกัน ซึ่งดูแล้วมีแนวโน้มที่อีกทศวรรษต่อจากนี้ เราอาจได้เห็นภาพยนตร์จากยุคสมัยนั้นเกิดขึ้นอีก เพราะสามารถใช้เปรียบเทียบบรรยากาศนำเสนอความตึงเครียดของคนในประเทศ ขณะที่มีผู้นำแห่งความฉ้อฉลไม่ต่างกัน

“The facts are the foundation of the truth.”

ข้อเท็จจริงคือสัจธรรม แต่มันอาจไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้โดยง่าย, ผู้คนในยุคสมัยนี้ต่างหลงใหลในรูปลักษณ์ข่าวลวง บางครั้งแค่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งก็ปักใจเชื่อมั่น ก่อนหน้าแหกแตกหมอไม่รับเย็บ ไร้ซึ่งวิจารณญาณ สามัญสำนึกและการหักห้ามใจตัวเอง คงเพราะโลกมีความเสรี เทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ความรวดเร็วในข่าวสารทำให้มนุษย์เร่งรีบใจร้อนรน อยากเด่นดังติดทันเทรนด์ขึ้นหน้าหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงพัวพันหลงติดกับอยู่ในภาพลวงตาของมโนทัศน์ที่สร้างขึ้นมา

ว่าไปข่าวลวงในเมืองไทยยังไม่จุดสร้างความเสียหายมากยิ่งเท่ากับอเมริกา โดยเฉพาะกับการเลือกตั้ง ปธน. ครั้งที่ผ่านมา เห็นเค้าว่ากันว่า คือปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ Trump เอาชนะการเลือกตั้งได้อย่างขัดใจคนครึ่งโลก เพราะคนอีกครึ่งที่เหลือ หลงงมงายอยู่ในสิ่งที่ก็ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า แล้วอะไรคือข้อเท็จจริงละ?

แซว: อาจต้องรอให้เมืองไทยถึงการเลือกตั้งเสียก่อน เราถึงค่อยจะเข้าใจว่า ‘ข่าวลวง’ มีอิทธิพล ผลกระทบมากน้อยแค่ไหนต่อประเทศชาติ

ในทศวรรษ 70s เรียกได้ว่ายุคทองแห่ง ‘เสรีภาพสื่อ’ เพราะทั้งเหตุการณ์นี้ Pentagon Papers กับ Watergate Scandal คือไฮไลท์ของวงการหนังสือพิมพ์/สื่อสารมวลชน ประเทศอเมริกา (และทั่วโลก) แต่ในปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคที่ เส้นแบ่งบางๆระหว่างความจริงกับภาพลวงตา เบลอเข้าหากัน เริ่มแยกแยะหาความน่าเชื่อถือไม่ได้อีกแล้ว ข่าวไหนจริง ข่าวไหนเท็จ ไม่ใช่ว่า เสรีภาพของสื่อ ได้จางหายไป แต่คือ ‘จรรยาบรรณ’ ของคนได้เปลี่ยนแปลงไป

ข่าวลวง เกิดจากอะไร? ความคึกคะนองของคน? ความจงใจ? ข้อสรุปที่ผิดพลาด? นี่ผมก็ให้คำตอบไม่ได้นะ แต่รับรู้ว่ามันเป็นวิวัฒนาการหนึ่งของโลกยุคข่าวสาร ใครก็มิอาจหลีกเลี่ยงหนีพ้น แนะนำสั่งสอนกันก็ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า ปล่อยวางมันเสียบ้างคงเป็นคำแนะนำดีสุดที่จะให้ได้

เสรีภาพของสิ่งหนึ่ง ก่อให้เกิดเสรีภาพของสิ่งต่อๆไป, ผมคิดว่าเราสามารถเหมารวม ความเท่าเทียมของสตรี, คนผิวสี, รักร่วมเพศ ฯ เกิดขึ้นต่อยอดมาจากเสรีภาพของสื่อ ถ้าไม่เพราะโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ฯ ไม่นำเสนอข่าว ตีพิมพ์แนวคิด หรือเกิดวิวัฒนาการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ โลกทัศน์แนวคิดของความเสรีคงไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นคู่ขนานของหนังนอกจาก Pentagon Papers คือการก้าวออกมา มีบทบาท กล้าคิดตัดสินใจในสิ่งสำคัญของอิสตรีเพศหญิง ที่แม้อาจไม่ได้เกิดจากความเต็มตั้งใจนัก แต่ก็ถือว่าใช้โอกาสนั้นได้อย่างคุ้มค่า น่าเคารพยกย่อง

เท่าที่ผมสังเกต ภาพยนตร์แนว Feminist ที่กำกับโดยบุรุษแท้ๆ (ไม่ใช่เกย์หรือไบ) มักนำเสนอภาพ หรือความรุนแรงบางอย่าง ที่สะท้อนเสียดสีค่านิยมของผู้ชายออกมาตรงๆ อย่างหนังเรื่องนี้ ก็ให้ผู้หญิงตัวคนเดียวถูกห้อมล้อมด้วยชายหนุ่มแก่ พยายามกดดัน บีบบังคับ ใช้คำพูดตรงไปตรงมา ฯ เพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพ เกิดความรู้สึกบางสิ่งอย่างขึ้นมาภายในจิตใจ แต่ถ้าเป็นอิสตรีหรือหนุ่มสีรุ้งกำกับหนัง Feminist มันจะมีความกลมกล่อมลงตัว สุภาพนุ่มนวลแนบเนียนกว่ามาก นี่สะท้อนมุมมองแนวคิดอะไรหลายๆอย่าง แต่ไม่ได้แปลว่าผู้ชายไม่ควรกำกับหนัง Feminist นะครับ แค่ความละเอียดอ่อนไหวในการนำเสนอ สะท้อนถึงตัวตนของผู้สร้างเอง

นี่คงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งกระมัง ทำให้ผมมองว่า The Post เป็นหนังที่ขาดความกลมกล่อมเสียเหลือเกิน เพราะ Spielberg เป็นผู้ชายแท้ๆ ลูก 7 คน พยายามกำหนดทิศทางหนังเรื่องนี้ให้กลายเป็น Feminist มากกว่าเนื้อหาข่าว แต่เพราะแทรกใส่ภาพเต็มไปด้วยความก้าวร้าวรุนแรง อารมณ์ที่ออกมาจึงขัดแย้งกันเอง ผู้หญิงรู้สึกอย่าง ผู้ชายแบ่งฝั่งกันเลยซ้าย-ขวา แต่ผมเป็นอีกพวก อยากมาทำความรู้จักเข้าใจ Pentagon Papers แต่กลับได้อย่างอื่นคืนสนอง

เกร็ดเล็กน้อยที่ Spielberg ทิ้งท้ายไว้: น้อยคนจะล่วงรู้ว่า เพราะการเกิดขึ้นของเอกสารลับ Pentagon ทำให้ทีมข่าว The Washington Post มีความกล้าที่จะขุดคุ้ยนำเสนอเหตุการณ์ Watergate Scandal อันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในไม่กี่ปีถัดจากนั้น

ด้วยทุนสร้างสูงถึง $50 ล้านเหรียญ ดูแล้วน่าจะคืนทุนยากสักหน่อย ไม่ใช่ว่าชื่อของ Spielberg-Hanks-Streep ขายไม่ได้หรืออย่างไร แต่เพราะเนื้อเรื่องมีความอเมริกันมากเกินไป ต่างชาติคงไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ (ขนาดว่าหนังโดนแบนห้ามฉายในประเทศเลบานอน)

ขณะที่ในอเมริกาเอง ผมว่ามันยังเร็วเกินไปนิด เพราะปธน. Donald Trump เพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งได้เพียงปีกว่าๆเท่านั้น ประชาชนเกิน 50% ที่เลือกเขาเข้ามายังคงมีทัศนคติค่อนข้างดีเยี่ยม แม้จะมีข่าวรั่วๆเสียๆหายๆออกมามาก แต่นั่นแสดงว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังรับได้อยู่ถึงผู้นำคนนี้

อีกเหตุผลหนึ่ง เพราะเป็นการชวนให้ผู้ชมเกิดความสับสนมึนงง มันควรจะเป็น The New York Times ไม่ใช่หรือที่เปิดเผยเอกสารลับ Pentagon แต่หนังกลับเลือก The Washington Post เป็นพระเอก แถมดันเรื่องราวไปในทิศทางประเด็น Feminist

ทั้งๆที่หนังได้เข้าชิง Golden Globe ถึง 7 สาขา แต่กลับเข้าชิง Oscar เพียง 2 สาขา ดูแล้วคงจะไม่ได้สักรางวัลติดมือกลับไปแน่
– Best Picture
– Best Actress (Meryl Streep)

ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังต่อหนังพอสมควร เพราะความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะได้เห็นเรื่องราวของห้องข่าว (Newsroom) เต็มไปด้วยวุ่นวายซับซ้อนระดับเดียวกับ All the President’s Men (1976) หรือ Spotlight (2015) แต่กลับลงเอยที่ Spielbergian หมดสิ้นความน่าสนใจไปโดยสิ้นเชิง

แนะนำกับคอหนัง Politic Thriller, นักข่าว Journalist/Reporter สื่อสารมวลชนทุกประเภท, คนทำงานเกี่ยวกับสิทธิสตรี หรือความเสมอภาคเท่าเทียม, ชื่นชอบผู้กำกับ Steven Spielberg นักแสดง Tom Hanks, Meryl Streep ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศความตึงเครียด

TAGLINE | “The Post ทำให้พลัง Feminist ของ Meryl Streep เจิดจรัสเฉิดฉาย ขณะที่ Tom Hanks และผู้กำกับ Steven Spielberg กลับถดถอยหลังลงคลอง”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | SO-SO

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
1 Comment authors
tantawanpanda Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
tantawanpanda
Guest

ได้ดูแล้วรู้สึกถึงความพลังหญิงที่ผกกใส่มาในเรื่องจริงๆค่ะ แอบเหมือนตรงที่ก่อนเข้าไปดู คิดต้องได้หนังฟีลเดียวกับ ออล ปธน เมน กับสปอตไลต์แน่ๆ ชอบคุณเบนเวอร์ชั่นเดิมมากกว่าค่ะ แฮงคส์ไม่ค่อยเหมาะกับไรงี้เท่าไหร่ เขาดูเป็นคนซอฟต์ค่ะ เลยประทับใจผลงานก่อนของผกกอย่างthe bridge of spiesมากกว่าค่ะ
(ขอบคุณสำหรับเกร็ดในเรื่องคุณสามีเจ้าของที่ฆ่าตัวตายนะคะ
เราก็สงสัยตอนดูอยู่เหมือนกัน )
เป็นอีกรีวิวที่ตรงใจมากค่ะ

%d bloggers like this: