The Private Life of Henry VIII (1933) : Alexander Korda ♥♥♡
Charles Laughton ในบทบาทคว้า Oscar: Best Actor สวมวิญญาณเป็น King Henry VIII of England (1491-1547, ครองราชย์ 1509 – 1547) เลืองลือนามจากการสมรสถึงหกครั้ง แต่กาลเวลาไม่ทำให้เรื่องดังกล่าวน่าหัวร่อสักเท่าไหร่
เมืองไทยคงไม่มีใครกล้าสร้างภาพยนตร์ล้อเลียนกษัตริย์ แบบสหราชอาณาจักร/ประเทศอังกฤษอย่างแน่แท้ เหมือนว่าจุดเริ่มต้นก็จาก The Private Life of Henry VIII (1933) เรื่องนี้นี่แหละ! กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แฟนไชร์ Monty Python ที่โคตรจะไร้กาละเทศะโดยสิ้นเชิง!
นอกจากนี้ The Private Life of Henry VIII ได้กลายเป็นภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษเรื่องแรก ประสบความสำเร็จทำเงินในสหรัฐอเมริกา รวมถึงสามารถเข้าชิง Oscar: Best Picture และนักแสดงนำ Charles Laughton คว้ารางวัล Oscar: Best Actor ได้เป็นคนแรกอีกด้วย
Sir Alexander Korda ชื่อเกิด Sándor László Kellner (1893 – 1956) โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ เกิดที่ Pusztatúrpásztó, Austria-Hungary ครอบครัวเชื้อสาย Jews มีน้องสองคน Zoltan กับ Vincent, หลังจากพ่อเสียชีวิต ในฐานะพี่คนโตจึงต้องเริ่มหาเลี้ยงดูแลครอบครัว เขียนวิจารณ์ลงนิตยสาร พัฒนาบทหนัง ก่อตั้งสตูดิโอ จนมีโอกาสกำกับหนังเงียบ, หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อพยพหลบหนีคอมมิวนิสต์สู่ Vienna ต่อด้วย Berlin ไป Hollywood กระทั่งย้ายมาปักหลักตั้งถิ่นฐานถาวรยังประเทศอังกฤษ ก่อตั้งสตูดิโอ London Film และผลงานสร้างชื่อ The Private Life of Henry VIII (1933)
ผู้กำกับ Korda มีความประทับใจในลีลาการแสดงของ Charles Laughton (และภรรยา Elsa Lanchester) เลยมองหาโปรเจคที่สามารถร่วมงานกัน ได้ข้อสรุปคือการแต่งงานระหว่าง King Henry VIII กับภรรยาคนที่สี่ Anne of Cleves แต่เรื่องราวค่อยๆขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็น King Henry VIII กับภรรยาทั้งหก
พัฒนาบทภาพยนตร์โดย Lajos Bíró (The Last Command, The Private Life of Don Juan, The Thief of Bagdad) และ Arthur Wimperis (The Private Life of Don Juan, Mrs. Miniver)
เรื่องราวเริ่มต้นพฤษภาคม ค.ศ. 1536, วันประหารชีวิตภรรยาคนที่สอง Anne Boleyn (รับบทโดย Merle Oberon) ของ King Henry VIII (รับบทโดย Charles Laughton) ซึ่งก็สมรสใหม่โดยทันทีกับ Jane Seymour (รับบทโดย Wendy Barrie) แต่เมื่อเธอเสียชีวิตหลังคลอดบุตรชาย จำต้องหาภรรยาใหม่คนที่สี่ Anne of Cleves (รับบทโดย Elsa Lanchester) แต่ไม่ทันได้ร่วมรักหลับนอน ก็ตกลงเลิกร้างรากันเสียก่อน จากนั้นไปเกี้ยวพาราสี Katherine Howard (รับบทโดย Binnie Barnes) แต่งงานครั้งที่ห้า และหก…
นำแสดงโดย Charles Laughton (1899 – 1962) นักแสดงร่างใหญ่ สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Scarborough, North Riding of Yorkshire, โตขึ้นเข้าเรียน Royal Academy of Dramatic Art โดยมีอาจารย์ Claude Rains, เริ่มต้นแสดงละครเวที Barnes Theatre มุ่งสู่สหรัฐอเมริกาเล่น Broadways, สมทบหนังเงียบ ก้าวสู่หนังพูด The Old Dark House (1932), The Sign of the Cross (1932), The Private Life of Henry VIII (1933) ** คว้า Oscar: Best Actor, Mutiny on the Bounty (1935), The Hunchback of Notre Dame (1939), Witness for the Prosecution (1957) ฯ
รับบท King Henry VIII of England แห่งราชวงศ์ Tudor รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ ชอบวางมาดท่าทางสง่างาม น่าเกรงขาม แต่จิตใจกลับเต็มไปด้วยความเวิ้งว้างว่างเปล่า อดรนทนต่อเสียงวิพากย์วิจารณ์ที่ไม่สามารถให้กำเนิดทายาทชายสืบราชบังลังก์ เป็นเหตุให้ต้องแต่งงานใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนจิตใจหมดสิ้นเยื่อใยอาธรแห่งรัก
Laughton ได้สร้างภาพที่เป็นเอกลักษณ์ให้ King Henry VIII โดยเฉพาะท่วงท่าอันสง่างาม ยืนกางขาเท้าสะเอวอย่างโก้หรูหรา (เหมือนในภาพวาดเหมือนของพระองค์ตัวจริง) ขณะที่นิสัยการแสดงออกก็โคตรกร่าง ใช้ความอภิสิทธิ์ชนอย่างมักมาก สุรุ่ยสุร่าย ไม่ยำเกรงใคร แรกเริ่มต้นเอ่อล้นด้วยอารมณ์สนุกสนานครึกครื้น สุดท้ายแทบไม่ฟื้นจากความสูญเสีย ภายในว่างเปล่าแทบไม่เหลืออะไร
เอาจริงๆผมว่าบทบาทอื่นๆของ Laughton โดดเด่นกว่าเรื่องนี้มีถมไหน ทั้งใน Munity of the Bounty, The Hunchback of Notre Dame หรือแม้แต่ Witness for the Prosecution แต่เพราะทศวรรษนั้นนั่นคือการแสดงที่สดใหม่ ฮาขี้แตกขี้แตน มีลักษณะของ Method Acting สวมวิญญาณการแสดงได้อย่างสมจริง
Elsa Sullivan Lanchester (1902 – 1986) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Lewisham, London, โตขึ้นเข้าเรียนเต้นยังกรุงปารีส แต่การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ต้องย้ายมาลอนดอน โดดเด่นจนได้รับโอกาสแสดง Children’s Theatre ต่อด้วย Cave of Harmony พอโตขึ้นฉายแววคาบาเร่ ไนท์คลับ พานพบเจอ Charles Laughton ร่วมเล่นละครเวที Mr Prohack (1927) แต่งงานกันสองปีถัดมา, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Scarlet Woman (1925), เริ่มมีชื่อเสียงกับ The Private Life of Henry VIII (1933), กลายเป็นไอคอนใน Bride of Frankenstein (1935), เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress สองครั้งเรื่อง Come to the Stable (1949) และ Witness for the Prosecution (1957)
รับบท Anne of Cleves (1515 – 1557) เกิดที่ Düsseldorf, Holy Roman Empire มีศักดิ์เป็นเจ้าหญิงแห่งเยอรมัน ได้รับการหมั้นหมายแต่งงานกับ King Henry VIII แต่เพราะไม่ได้รักเลยใช้มารยาเสน่ห์ล่อหลอก โกงไพ่จนได้รับอิสรภาพเลิกราหย่าร้างโดยไม่สูญเสียความบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายสงบสันติ
ขณะที่ Lanchester คือภรรยาตัวจริงของ Laughton แต่บทบาทในหนัง เธอพยายามปั้นหน้า ดัดจริต ทำตัวสะดีดสะดิ้งเล่นตัว เพื่อไม่ให้ตนเองต้องร่วมรักหลับนอน กลายเป็นสามีภรรยากับ King Henry VIII … ผมว่าทั้งสองเป็นคู่กัดที่สมน้ำสมเนื้อ เข้าขา โคตรจะเหมาะสมกันโดยแท้
ถ่ายภาพโดย Georges Périnal (1897 – 1965) สัญชาติฝรั่งเศส ผลงานเด่นๆ อาทิ Le Sang d’un poète (1930), The Private Life of Henry VIII (1933)The Four Feathers (1939), The Thief of Bagdad (1940) ฯ
เพราะหนังไม่ได้มีทุนสร้างมากมาย หลายฉากจึงถ่ายทำยังสถานที่จริง Hampton Court Palace, Tower of London, The Manor House ขณะที่ฉากภายใน British and Dominions Studios และ Denham Studios
งานภาพอาจไม่มีเทคนิคอะไรหวือหวา รับอิทธิพลจากละครเวทีมาค่อนข้างเยอะ (นักแสดงมักหันเข้าหากล้อง) แต่โดดเด่นกับฉากพื้นหลัง สถาปัตยกรรม ภาพวาดฝาผนัง ลวดลายรายละเอียดงดงามวิจิตร ทั้งยังเสื้อผ้าหน้าผม ข้าวของเครื่องใช้ ตรงต่อยุคสมัย Renaissance (แต่เพราะเพียงภาพขาวดำ มันเลยไม่ชวนให้ตราตะลึงสักเท่าไหร่)
ตัดต่อโดย Stephen Harrison, หนังมีการดำเนินเรื่องที่ค่อนข้างสะเปะสะปะทีเดียว แรกเริ่มมานำเสนอมุมมองสาวรับใช้/นางใน Catherine Howard ที่ได้พูดจาเข้าหู King Hevry VIII ก็นึกว่าเธอจะคือศูนย์กลางที่ทำให้พระราชาได้สมหวังหฤทัย พานผ่านมเหสี Jane Seymour, Anne of Cleves กระทั่งได้เสพสมหวังลงเอยแต่งงานครั้งที่ห้า แต่สุดท้ายกลับมีโชคชะตากรรมไม่แตกต่างจาก Anne Boleyn แถมยังมีทิ้งท้าย/ปัจจิมบทกับ Catherine Parr มาจากไหน!
เพลงประกอบโดย Kurt Schröder (1888 – 1962) สัญชาติ German ในสังกัด Alexander Korda, ค่านิยมของงานเพลงยุคสมัยนั้น มักดังขึ้นพร้อมกับ Title Card ไม่นิยมบรรเลงระหว่างเรื่องราวหรือขณะตัวละครพูดคุยสนทนา เว้นเสียแต่มีการขับขานร้องเพลง ในลักษณะ Diegetic Music
สำหรับเพลง Alas! what shall I do for love? คือบทกวีแต่งโดย King Henry VIII
“Alas! what shall I do for love?
For love, alas! what shall I do?
Sith now so kind,
I do you find,
To keep you me unto. Alas!”
The Private Life of Henry VIII นำเสนอเรื่องราวชวนหัวของ King Henry VIII คงเพราะโชคชะตาจึงไม่สามารถให้กำเนิดรัชทายาทบุตรชายสืบทอดราชบัลลังก์ หมดสิ้นหวังกับมเหสีพระองค์แรก ตัดสินใจเลิกร้างราแต่งงานใหม่ องค์สองก็แล้ว สาม สี่ ห้า หก นั่นเกินกว่าที่ชนชาวตะวันตกจะยินยอมรับได้
น่าเสียดายที่หนังแทบจะไม่ลงรายละเอียดตื้นลึกหนาบาง ความสัมพันธ์ใดๆต่อพระมเหสีทั้งหกพระองค์ ซึ่งรวมถึงรอยบาดหมางกับคริสตจักร และมุมมองด้านอื่นของ King Henry VIII นั่นย่อมสร้างความเข้าใจผิดๆให้ผู้ชมยุคสมัยนั้น จนทรงได้รับการขนานนามกษัตริย์ผู้มักมากในการบริโภคและกามคุณ … นี่มันน่ารังเกียจไปสักหน่อยหรือเปล่า
ความบันเทิงลักษณะนี้ผมเรียกว่า ‘Cheap Entertainment’ นำเอาจุดด้อยขนาดเท่าเส้นผ ขยายขนาดใหญ่โตเท่าเทือกเขาเลากา แถมเล่าเรื่องมุมมองเดียวเพื่อให้เกิดความขบขันหรรษา ไม่ต้องถึงระดับกษัตราก็ถือว่าไร้กาละเทศะอันสมควร
ความสำเร็จของหนังเป็นอะไรที่ทำให้ผมเกาหัวอย่างมาก เพราะมันแปลว่าผู้ชมยุคสมัยนั้นชื่นชอบเรื่องราวพรรค์นี้ ชวนหัวไร้สาระ คบชู้สู่ชาย/หญิง แต่งงานหลายหน หมิ่นเหม่ศีลธรรมจรรยา … เหตุนี้หนังเลยได้รับการจัดในหมวดหมู่ Pre-Code ก่อนการมาถึง Hays Code
ด้วยทุนสร้าง £65,000 ปอนด์ ทำเงินในสหรัฐอเมริกาประมาณ £500,000 ปอนด์ รวมทั่วโลก £750,000 ปอนด์ ถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลามทีเดียว
เข้าชิง Oscar 2 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Outstanding Production พ่ายให้กับ Cavalcade (1933)
– Best Actor (Charles Laughton) ** คว้ารางวัล
เกร็ด: Laughton ไม่ได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Leslie Howard หนึ่งในผู้เข้าชิงขึ้นรับแทน
นอกจากการแสดงของ Charles Laughton, Elsa Lanchester และ Binnie Barnes ก็ไม่มีอะไรให้ผมชื่นชอบประทับใจหนังสักเท่าไหร่ ขำหึๆบ้างแต่โดยรวมบึงตึงเสียมากกว่า
แนะนำคอหนัง Comedy เกี่ยวกับกษัตริย์ การแต่งงาน, ภาพยนตร์ในยุค Pre-Code, นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ จัดเต็มทางประวัติศาสตร์, และหลงใหลการแสดงของ Charles Laughton, Elsa Lanchester ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG กับความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม ล้อเลียนขบขันอย่างไร้กาละเทศะ
Leave a Reply