The Purple Rose of Cairo (1985) : Woody Allen ♥♥♥♥♡
อยู่ดีๆเมื่อตัวละครในภาพยนตร์ที่กำลังฉาย เดินทะลุออกมานอกจอ กลับกลายขึ้นมามีชีวิต ความสับสนวุ่นวายอลม่านจึงได้บังเกิดขึ้น, หนังตลกแฝงสาระ น่าจะดูง่ายที่สุดของผู้กำกับ Woody Allen ระหว่างชีวิตจริงกับความเพ้อฝัน นักแสดงนำ Mia Farrow จะเลือกอะไร?, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
ภาพยนตร์ลำดับที่ 13 ของผู้กำกับ Woody Allen เป็นเรื่องที่เจ้าตัวชื่นชอบโปรดปรานมากที่สุด เพราะมีความใกล้เคียงกับแนวคิดต้นฉบับ วิสัยทัศน์ และความตั้งใจที่จะสร้าง ‘fairly close to what I wanted to do.’
แนวคิดหลักของ The Purple Rose of Cairo คือ ตัวละครเดินออกมาจากภาพยนตร์ นี่ถือเป็นความคิดแรกของของ Woody Allen ต่อหนังเรื่องนี้ด้วย พัฒนาเรื่องราวประมาณ 50 หน้ากระดาษ ว่าจะทำอะไรบ้างกับเรื่องราวนี้ดี แต่ยังหาเป้าหมายหลักของหนังไม่ได้
“I wrote fifty pages and gave up on it and put it away. I only came back to it when it dawned on me that the real actor is troubled by this.”
สิ่งที่ทำให้เขากลับมาเขียนบทต่อ คือการค้นพบเป้าหมายของเรื่องราว ‘ชายหนุ่มเดินออกจากภาพยนตร์ เพราะตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่ง เธอก็เช่นกันตกหลุมรักตัวละครนั้น เรื่องราวจะมุ่งไปสู่การต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างชีวิตจริงกับความฝัน’
“So he comes to town and the girl falls in love with him as well as his character from the screen and is forced to choose, and chooses the real one and he hurts her—that’s what made the story for me.”
คำตอบตอนจบของหนังคงเป็นอะไรที่หลายคนคาดเดาได้อยู่แล้ว หญิงสาวจำใจต้องเลือกในสิ่งที่จับต้องได้มีตัวตน คนส่วนใหญ่คงมองว่านี่เป็น Sad Ending แต่ไม่เลย ความกล้าที่จะคิดตัดสินใจด้วยตัวเอง เริ่มต้นก้าวออกมาสู่โลกภายนอก นี่คือตอนจบ Happy Ending ที่สุดแล้วของเรื่องราวนี้
“Cecilia had to decide, and chose the real person, which was a step up for her. Unfortunately, we must choose reality, but in the end it crushes us and disappoints. My view of reality is that it has always been a grim place to be, but it’s the only place you can get Chinese food.”
พื้นหลังของหนังอยู่ที่ New Jersey ปี 1935 ช่วงเวลาแห่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Great Depression งานการหายาก เงินทองฝืดเคือง, เรื่องราวของ Cecilia (รับบทโดย Mia Farrow) หญิงสาวเสิร์ฟซุ่มซ่าม ชื่นชอบการรับชมภาพยนตร์เพื่อหลีกหนีชีวิตอันน่าเบื่อหน่าย ซ้ำซากจำเจ แต่งงานแล้วกับสามี Monk (รับบทโดย Danny Aiello) สำมะเลเทมา ตกงาน มีชู้ ไม่เห็นค่าของภรรยา วันหนึ่งหลังหญิงสาวถูกไล่ออกจากงาน นั่งดูหนังเรื่อง The Purple Rose of Cairo ซ้ำรอบที่ 5 จนตัวละคร Tom Baxter (รับบทโดย Jeff Daniels) จดจำเธอได้ จึงตัดสินใจก้าวออกจากภาพยนตร์สู่โลกความจริงเพื่อบอกรักต่อเธอ
María de Lourdes ‘Mia’ Villiers Farrow (เกิดปี 1945) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles เป็นลูกคน 3 จาก 7 คนของผู้กำกับ John Farrow สัญชาติ Austrialian กับแม่ Maureen O’Sullivan นักแสดงสัญชาติไอริช, ตอนอายุ 9 ปีติดเชื้อโปลิโอ รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด, เริ่มอาชีพนักแสดงจากเป็นตัวประกอบ Guns at Batasi (1964) คว้ารางวัล Golden Globe Award: New Star of the Year – Actress รับบทนำครั้งแรก Rosemary’s Baby (1968) ของผู้กำกับ Roman Polanski
ได้รู้จักกับ Woody Allen เมื่อปี 1979 จากนั้นอาศัยอยู่ด้วยกันในเมือง Manhattan ถึง 12 ปีแบบไม่ได้แต่งงาน มีผลงานร่วมกัน 13 เรื่อง อาทิ Zelig (1983), Broadway Danny Rose (1984), The Purple Rose of Cairo (1985), Hannah and Her Sisters (1986), Radio Days (1987), Crimes and Misdemeanors (1989), Alice (1990), Husbands and Wives (1992) ฯ จนกระทั่งเดือนมกราคม 1992 วันหนึ่งเมื่อ Farrow กลับมาถึงบ้าน พบเจอภาพเปลือยของลูกสาว Soon-Yi Previn ที่ถ่ายโดย Allen ทำให้ค้นพบว่า คนรักของตนมีความสัมพันธ์ชู้กับลูกสาวบุญธรรม เป็นเหตุให้ทั้งสองมองหน้ากันไม่ติดอีกเลย
รับบท Cecilia หญิงสาวดวงตาเหม่อลอย จิตใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว เพ้อฝันถึงชีวิตที่เลิศหรู แต่ตัวเองกลับจมอยู่ในความทุกข์ ชีวิตแต่งงานไร้ซึ่งความสุข ไม่เคยกล้าคิดตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง, จนกระทั่งได้พบกับเหตุการณ์เพ้อฝันคาดไม่ถึง อันเป็นจุดเริ่มต้น ค้นความต้องการแท้จริงในจิตใจ ทำให้กล้าที่จะคิดทำอะไรด้วยตนเองเป็นครั้งแรก
การแสดงของ Farrow ปั้นแต่งจนมีความเป็นธรรมชาติจับต้องได้ โดยเฉพาะสายตาที่พอภาพ Close-Up จะเห็นเป็นประกาย สะท้อนความต้องการภายในจิตใจออกมาได้อย่างลึกล้ำ, ไม่รู้ทำไม Oscar ถึงมองข้ามการแสดงของ Farrow นี้ไปได้ ทำให้ตลอดชีวิตของเธอยังไม่เคยเข้าชิงสักครั้ง (ขณะที่ Golden Globe เข้าชิง 8-9 ครั้งแล้ว)
Daniel Louis Aiello Jr. (เกิดปี 1933) นักแสดงสัญชาติอเมริกา เกิดที่ Manhattan พ่อมีเชื้อสายอิตาเลี่ยน ถือเป็นนักแสดงตัวประกอบที่มีผลงานหลากลาย อาทิ Tony Rosato ใน The Godfather Part II (1974), The Front (1976), Once Upon a Time in America (1984), Moonstruck (1987), Hudson Hawk (1991), Léon: The Professional (1994) ฯ กับหนังเรื่อง Do the Right Thing (1989) ได้เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actor
รับบท Monk สามีร่างใหญ่ที่ถูกไล่ออกจากงาน ด้วยความเบื่อหน่ายในชีวิตจึงไม่คิดหางานทำ เกาะภรรยากินไปวันๆแต่ก็มิได้แยแสสนใจดูแล เก่งแต่พูดและใช้กำลัง ไม่รู้เหมือนกัน Cecilia เห็นอะไรดีของชายคนนี้จึงยอมแต่งงานด้วย (สงสัยหลงคารม ปากหวานเป็นแน่)
Jeffrey Warren ‘Jeff’ Daniels (เกิดปี 1955) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Athens, Georgia เติบโตขึ้นในครอบครัว Methodist โตขึ้นเข้าเรียน Central Michigan University สาขาการแสดง เริ่มมีผลงานละครเวทีที่ New York, Off Broadways, Broadways มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Ragtime (1981) ตามมาด้วย Terms of Enderment (1982) กับ The Purple Rose Of Cairo ได้เข้าชิง Golden Globe Award: Best Actor
Daniels ถือเป็นอีกหนึ่งนักแสดงยอดฝีมือ เคยเข้าชิง Tony Award, Golden Globe, Emmy แต่กลับยังไม่เคยได้เข้าชิง Oscar สักครั้ง ผลงานที่คุ้นหน้าคุ้นตา อาทิ Something Wild (1956), Speed (1994), 101 Dalmatians (1996), The Hours (2002), Good Night, and Good Luck (2005), Looper (2012), Steve Jobs (2015), The Martian (2015) ฯ
สำหรับหนังเรื่องนี้มี 2 บทบาท ตัวละครในภาพยนตร์ Tom Baxter และนักแสดงเจ้าของบทบาท Gil Shepherd แต่แท้จริงแล้วชายคนนี้ชื่อ Herman Bardebedian (ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า)
– Tom Baxter คือหนุ่มในฝันของ Cecilia ยินยอมทำตามคำขอทุกอย่างเพื่อเธอ แต่เขาเอาตัวรอดได้แค่ในโลกของภาพยนตร์ ในชีวิตจริงมันจะเป็นไปได้อย่างไร
– Gil Shepherd คือนักแสดงหนุ่มที่กำลังไต่เต้าขึ้นเป็นดาวดารา ตอนนี้เป็นเพียง Minor Character ยังไม่ได้รับโอกาส ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเท่าไหร่ เมื่อเกิดเหตุการณ์บ้าบอคอแตกนี้ขึ้น จึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ตัวเองรอดพ้นจราจลครั้งนี้ไป แม้จะต้องสวมบทบาท หลอกล่อหลวงหญิงสาวให้หลงเชื่อใจ (แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เขาคิดพูด น่าจะมีความจริงใจแฝงอยู่บ้างนะ)
บทบาทนี้ของ Daniels ต้องถือว่าเป็นการแจ้งเกิดให้เขาเลยละ สองตัวละครที่มีใบหน้าคล้ายคลึง แต่กลับมีความตรงกันข้ามทุกสิ่งอย่าง ซึ่งการกระทำตอนจบของตัวละครนี้ ถือว่าสะท้อนค่านิยม Hollywood สำหรับคนหนุ่มสาวผู้มีความใฝ่ฝัน จำต้องทอดทิ้งหลายสิ่งอย่างเพื่อให้ตัวเองไปสู่ความสำเร็จ
เดิมนั้นบทนี้ ผู้กำกับเลือก Michael Keaton ให้มานำแสดง และเหมือนจะมีการถ่ายทำบางฉากไปแล้วด้วย แต่ที่ต้องตัดสินใจเปลี่ยนตัว เพราะใบหน้าของ Keaton เหมือนนักแสดงยุค 80s ไม่ใช่ Movie Idol หน้าใสๆยุค 30s
เกร็ด: Jeff Daniels ชื่นชอบหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงขนาดตั้งบริษัทสร้างละครเวทีของตัวเองชื่อ Purple Rose Theatre Company
ถ่ายภาพโดย Gordon Willis ร่วมงานกับ Allen เรื่องที่ 8 ครั้งสุดท้าย, กับหนังเรื่องนี้ไม่มีมุมมืดเลยนะครับ แม้แต่ในโรงฉายภาพยนตร์ยังสว่างจ้า เพราะโทน Comedy ของหนัง จึงไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำให้เข้มข้นจริงจังขนาดนั้น
ซีนที่ Tom Baxter อยู่ดีๆก็เดินออกจากจอฉายภาพยนตร์ น่าจะทำให้ผู้ชมหลายคนเหวอออก (อาจมีคนกรี๊ดแล้วสลบแบบในหนังก็เป็นได้) เทคนิคที่ใช้แทบไม่มีอะไรเลยนะครับ แค่การเฟดจากภาพขาว-ดำกลายเป็นสี แล้วใช้การตัดต่อเล่นมุมกล้องสักหน่อย ไม่ได้ให้นักแสดงเดินทะลุออกมาจากฉากจริงๆเสียหน่อย แต่ก็ให้ความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆใช่ไหมละ
ฉากที่ผมหัวเราะหนักสุดในหนัง มีตัวละครหนึ่งพยายามเบียดตัวออกมาจากภาพยนตร์แบบ Baxter แต่กลับหน้าบู้บี้ติดกระจก/หน้ากล้อง ทำให้ไม่สามารถหลุดออกมาได้
มีอีกฉากหนึ่งตอนที่
ตัดต่อโดย Susan E. Morse จากเคยเป็นผู้ช่วย Ralph Rosenblum ตอน Annie Hall (1977) เลื่อนขึ้นมาเป็นนักตัดต่อใน Manhattan (1979) จนกลายเป็นขาประจำของ Allen เรื่อยมา,
ครึ่งชั่วโมงแรกของหนัง ดำเนินไปข้างหน้าในมุมมองของ Cecilia ไม่มีลูกเล่นลีลาย้อนเวลากลับไปกลับมา แต่เมื่อ Tom Baxter เดินออกจากภาพยนตร์ ความสับสนวุ่นวายอลม่านจึงเริ่มเกิดขึ้น ตัวละครต่างๆบนจอโรงหนังสามารถสนทนากับผู้ชมได้ จากนั้นมีการตัดไปหากลุ่มของโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักแสดง ที่ต่างร้อนตัวแสดงปฏิกิริยาบ้าคลั่ง เล่าคู่ขนานไปกับสัมพันธ์โรแมนติกของ Cecilia
เพลงประกอบโดย Dick Hyman มีลักษณะเป็น ‘incidental music’ แนว Rag, Jazz เน้นความสนุกสนาน เติมเต็มบรรยากาศของหนัง มีทั้งที่แต่งขึ้นใหม่ และนำมาจากบทเพลงดังในอดีต
Theme From The Purple Rose Of Cairo เพลงนี้ Hyman แต่งขึ้นใหม่ประกอบหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทำนองสนุกสนานกวนๆ โยกหัวไปมา แต่ละเครื่องดนตรีจะมีช่วงเวลาเด่นของตนเอง ทั้งแซ็กโซโฟน, ทรัมเป็ต, เปียโน ฯ
Cheek to Cheek (1935) คำร้องทำนองโดย Irving Berlin ขับร้องโดย Fred Astaire นำฟุตเทจจากหนังเพลงคลาสสิกเรื่อง Top Hat (1935), ฉากการเต้นระหว่าง Astaire กับ Ginger Rogers ที่ปรากฎขึ้นในหนัง มีความโรแมนติกเพ้อฝัน ทำให้ความเครียดทุกข์ยากในชีวิตจริงของคนสมัยนั้นพลันมลายหายไป พึงพอใจผ่อนคลายที่ได้เห็นความสุขแสนหวานแบบนี้ (นี่คือลักษณะของ Escapist/Escapism) คือเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จล้นหลามในยุคสมัยนั้นด้วยนะครับ
The Purple Rose of Cairo ตามตำนานในหนังเล่าว่าฟาโรห์สั่งให้ทาสีม่วงดอกกุหลาบ เพื่อประดับตกแต่งหลุมฝังศพภรรยาสุดที่รัก แต่ไปๆมาๆมันกลับแพร่ขยายพันธุ์ขึ้นเองจนไม่สามารถควบคุมได้, เราสามารถเปรียบเทียบตำนานนี้กับเรื่องราวเพ้อฝันจินตนาการ ที่ไปๆมาๆมากเกินเลยเถิดจนไม่สามารถควบคุมแก้ไขอะไรได้
ชีวิตจริงมักไม่ได้สวยงามเลิศหรูดั่งความฝัน แต่ใช่ว่าเราจะไม่มีสิทธิ์คิดจินตนาการถึงอะไรๆที่อยากให้เกิดขึ้นจริง เพียงแค่ต้องระวังไม่ให้หลงใหลยึดติดเลยเถิด จนไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองอีกต่อไป
นี่เป็นข้อคิดที่มีสาระมากๆ โดยเฉพาะกับวัยรุ่นผู้ยังเต็มเปี่ยมด้วยความเพ้อฝันทะเยอทะยาน แต่ยังมีความหวาดกลัวเกรงไม่กล้าที่จะเริ่มต้นกระทำสิ่งอย่างให้เกิดขึ้น, รับชมหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการปิดทางโลกแห่งจินตนาการ แค่เป็นการเตือนสติให้รับรู้ไว้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การคิดเพ้อฝัน แต่คือการเริ่มต้นกระทำ มันอาจเป็นสิ่งยากถึงขั้นที่สุด แต่เมื่อได้เริ่มขึ้นแล้ว ก็มักไม่มีอะไรหยุดยั้งได้
สำหรับ Woody Allen ความจริง/ความฝัน เป็นส่วนผสมที่คาบเกี่ยวในผลงานของเขามานักต่อนัก ซึ่งหนังเรื่องนี้เป็นการแสดงทัศนคติของตนเอง เป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นเลยว่า ‘ฉันคือคนแห่งโลกความจริง’ ไม่ได้ชื่นชอบที่จะใช้ชีวิตอยู่ในความฝัน นี่เป็นสัจธรรมที่คงไม่มีใครเถียงขึ้นแน่นอน แต่ขณะเดียวกันก็สามารถมองได้ว่า ‘โลกใบนี้มันช่างน่าผิดหวังเสียเหลือเกิน’
ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ หมดไปกับค่าสร้างฉาก แต่หนังทำเงินในอเมริกาได้เพียง $10.6 ล้านเหรียญ ถือว่าน่าผิดหวังทีเดียว ได้เข้าชิง Golden Globe 4 สาขา ได้มา 1 รางวัล
– Best Picture – Comedy or Musical
– Best Actress – Comedy or Musical (Mia Farrow)
– Best Actor – Comedy or Musical (Jeff Daniels)
– Best Screenplay ** ได้รางวัล
ส่วน Oscar ได้เข้าชิงเพียงสาขาเดียวไม่ได้รางวัล
– Best Original Screenplay
ถึงผมไม่ชื่นชอบในตัวผู้กำกับ Woody Allen แต่ไม่ได้แปลว่าจะต่อต้านหนังของเขานะครับ, สำหรับ The Purple Rose of Cairo ถือเป็นผลงานที่ผมตกหลุมรักหลงใหลตั้งแต่ครั้งแรกที่รับชม ในสายตาอันใสซื่อบริสุทธิ์จริงใจของ Mia Farrow กลิ่นอายยุค 30s และความสนุกสนานขบขันขัดแย้งของเรื่องราว เพลิดเพลินเริงรมย์พร้อมแฝงสาระประโยชน์
ถ้าไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ความเห็นแก่ตัว แก้ต่างปัญหาชีวิต หรือปลูกฝังทัศนคติไร้ซึ่งศีลธรรม ผมก็จะไม่มีอคติต่อต้านหนังเรื่องนั้นๆ หรอกนะครับ
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” กับคนรักหนังทุกคน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงเพ้อฝันหวาน, หวาดกลัวเกรงที่จะเติบโตใช้ชีวิต ออกจากบ้าน, หมกหมุ่นต่อบางสิ่งอย่างมากเกิน, Hikikomori ฯ รับชมหนังเรื่องนี้น่าจะทำให้เขากล้าที่จะคิด รู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่างให้กับชีวิต
จัดเรต PG เด็กๆดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี
Leave a Reply