The Quiet Man (1952) : John Ford ♥♥♥♥
ผู้กำกับ John Ford พา John Wayne ไปยังประเทศ Ireland ถ่ายภาพชนบทสวยๆ (คว้า Oscar: Best Cinematography, Color) แต่งงานกับ Maureen O’Hara แต่เธอกลับเล่นตัวไม่ยอมให้เข้าห้องหอ เพราะยังไม่ได้เงินค่าสินสอดจำนวน 350 ปอนด์จากพี่ชาย Victor McLaglen กลายเป็นคู่มวยนัดหยุดโลก Tradition vs. Modernity, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
The Quiet Man เป็นหนังแนวรอม-คอมแบบผู้ใหญ่ ฮาเบาๆเงียบๆ หัวเราะหึๆ ยิ้มกว้างบางที มีเรื่องราวการต่อสู้ระหว่าง ความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี vs แนวคิดของคนยุคสมัยใหม่ นี่ถือเป็นสไตล์ถนัดของผู้กำกับ John Ford โดดเด่นมากถึงขนาดคว้า Oscar: Best Director ตัวที่ 4 กลายเป็นสถิติที่อาจไม่มีใครสามารถทุบทำลายลงได้
John Ford (1894 – 1973) กับ John Wayne (1907 – 1979) ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคู่หู ผู้กำกับ-นักแสดงนำ ที่เป็นมากกว่าแค่เพื่อนร่วมงาน แต่ในระดับพ่อ-ลูก (Ford ถือเป็น Father-Figure ให้กับ Wayne), ศิษย์-อาจารย์ (Ford เป็นผู้ทำให้ Wayne มีชื่อเสียงโด่งดัง), ตัวตายตัวแทน (Wayne ในหนัง มักคือร่างอวตาร Screen Personality ของ Ford) มองตารู้ใจ แถมยังดูหน้ากันก่อน(Ford)ตาย มีผลงานร่วมกันทั้งหมด 18 เรื่อง ตั้งแต่ Mother Machree (1928) จนถึง Donovan’s Reef (1963) โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนังแนว Western อาทิ Stagecoach (1939), Fort Apache (1948), Rio Grande (1950), The Searchers (1956), The Man Who Shot Liberty Valance (1962), How the West Was Won (1962) ฯ
ชื่อเดิมของ John Ford คือ John Martin ‘Jack’ Feeney เกิดที่ Cape Elizabeth, Maine พ่อและแม่ของเขาเกิดต่างที่ประเทศ Ireland อพยพย้ายมาอยู่อเมริกาช่วงปี 1872 พบเจอแต่งงานกันปี 1875 มีลูกทั้งหมด 11 คน โดยเขาเป็นลูกคนที่ 10 แต่น้องคนสุดท้องเสียชีวิตตอน 2 ขวบ ทำให้กลายเป็นลูกคนเล็กของครอบครัว
หนึ่งในพี่ชายของเขา Francis Feeney มีความสามารถด้านการแสดง ออกเดินทางกับคณะทัวร์ Vaudeville กรุยทางมาถึง Hollywood ใช้ชื่อว่า Francis Ford เป็นหนึ่งในนักแสดงหนังเรื่อง The Birth of a Nation (1915), น้องคนเล็กตัดสินใจเดินตามพี่ไปติดๆ เลือกใช้ชื่อการแสดงเปลี่ยนตามเป็น John Ford เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยพี่ชาย, Stuntman, นักแสดงสมทบ แล้ว Universal จับเซ็นสัญญาให้กลายเป็นผู้กำกับ ผลงานหนังสั้นเรื่องแรก The Tornado (1917) [สูญหายไปแล้ว] ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงกับ The Iron Horse (1924), Three Bad Men (1926) มีผลงานหนังพูดเรื่องแรก Mother Machree (1928) เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ John Wayne แต่ไม่มีชื่อขึ้นเครดิต
เกร็ด: Ford เข้าชิง Oscar: Best Director ทั้งหมด 5 ครั้งได้มา 4 รางวัล จาก The Informer (1935), Stagecoach (1939)*ครั้งเดียวที่พลาดรางวัล, The Grapes of Wrath (1940), How Green Was My Valley (1941)**เรื่องเดียวที่คว้า Best Picture, The Quiet Man (1952)
ชื่อจริงของ John Wayne คือ Marion Mitchell Morrison ชอบให้เพื่อนๆเรียกว่า Duke เกิดที่ Winterset, Iowa พ่อเป็นทหารผ่านศึก American Civil War ส่วนแม่มีเชื้อสาย Scottish, Irish โตขึ้นเคยสมัครเป็นทหารเรือแต่สอบไม่ผ่าน ได้ทุนเข้าเรียน University of Southern California สาขากฎหมาย จากการเป็นนักกีฬาทีมฟุตบอล แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องถอนตัวหมดสิทธิ์ได้ทุนจำต้องออกกลางคัน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากโค้ช ทำให้ได้รู้จักกับนักแสดง Tom Mix และผู้กำกับ John Ford เข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มงานจากเป็น Prop Boy, Stuntman, ตัวประกอบ ฯ มีชื่อขึ้นเครดิตเรื่องแรก Words and Music (1929), ผู้กำกับ Raoul Walsh เห็นแววเลยจับมาแสดงนำใน The Big Trail (1930), แต่หนังที่ทำให้ Wayne มีชื่อเสียงโด่งดังกลายเป็น Superstar คือ Stagecoach (1939) ไม่ใช่ของใครอื่น ผู้กำกับ John Ford นี่แหละ
เกร็ด: Wayne เข้าชิง Oscar สาขาการแสดง 2 ครั้ง Sands of Iwo Jima (1949), True Grit (1969)**ได้รางวัล
ผู้กำกับ Ford ได้มีโอกาสอ่านเรื่องสั้น The Quiet Man แต่งโดย Maurice Walsh นักเขียนสัญชาติ Irish ตีพิมพ์ลงใน The Saturday Evening Post เมื่อปี 1933 รวมเล่มเป็นตอนหนึ่งในหนังสือ Green Rushes (1935), มีความชื่นชอบสนใจเป็นอย่างมาก ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงตั้งแต่ตอนนั้นด้วยเงินเพียง $10 เหรียญ และให้สัญญาจะจ่ายเพิ่มเมื่อมีการสร้างเป็นภาพยนตร์จริงๆ, เห็นว่า Walsh ได้เงินค่าลิขสิทธิ์ $3,750 เหรียญ
คงเพราะ Ford มีเชื้อสาย Irish แต่ไม่เคยไปเยือนดินแดนบ้านเกิดของพ่อแม่ตนสักครั้ง ฟังคำเรื่องเล่าต่างๆนานา ก็ได้แต่หวังว่าสักครั้งในชีวิตจะมีโอกาสเดินทางไป, ภาพยนตร์เรื่องนี้คงได้เติมเต็มฝันนั้นของ Ford ให้สมบูรณ์ แต่ก็ไม่รู้เขามีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้เฒ่าผู้แก่ บ้านเกิดของพ่อ-แม่ที่เคยพรรณาเล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กหรือเปล่า
พื้นหลังทศวรรษ 1920s, Sean Thornton (รับบทโดย John Wayne) -เกิดที่ Innisfree เมืองสมมติประเทศ Ireland แต่ไปเติบโตยังต่างแดน Pittsburgh, อเมริกา- ด้วยวัย 35 ปีเดินทางกลับสู่ดินแดนบ้านเกิด พบเจอตกหลุมรักกับหญิงสาวจอมแก่น Mary Kate Danaher (รับบทโดย Maureen O’Hara) อาศัยอยู่กับพี่ชายจอมโหด Squire ‘Red’ Will Danaher (รับบทโดย Victor McLaglen) ทั้งๆที่เหมือนว่าทั้งสองจะตกหลุมรักกัน แต่เธอมิอาจคิดกระทำอะไรนอกจากประเพณีท้องถิ่นที่เคยมีมา สร้างความเบื่อหน่าย อัดอั้นให้กับคนหัวรุ่นใหม่อย่าง Thornton เป็นอย่างมาก การต่อสู้วางมวยระหว่าง Tradition vs. Modernity จึงบังเกิดขึ้น
นี่เป็นพล็อตที่เชยระเบิดในมุมมองสตูดิโอทั้งหลายของ Hollywood ชาวอเมริกันที่ไหนจะมาสนใจเรื่องราวของชาว Irish นี่ทำให้ผู้กำกับ Ford เก็บความอัดอั้นอยากสร้างมานานหลายปี จนกระทั่งได้มีโอกาสนำไปเสนอสตูดิโอเล็กๆ(ขณะนั้น) Republic Pictures ก่อตั้งโดย Herbert J. Yates เมื่อปี 1935 ช่วงแรกๆสนใจแต่หนังทุนต่ำเกรด B แนว Western แต่พอเซ็นสัญญาผูกขาดกับนักแสดง John Wayne ก็ได้ดึงตัวผู้กำกับ John Ford มาด้วย, เมื่อยื่นเสนอโปรเจคนี้ไป สตูดิโอบอกพร้อมยินดีอนุมัติ ถ้า Ford, Wayne และ O’Hara ยินยอมสร้างหนัง Western ให้ก่อนเรื่องหนึ่ง หลังเสร็จจาก Rio Grande (1950) ทั้งสามก็ขึ้นเครื่องตรงไปประเทศ Ireland เริ่มการถ่ายทำหนังเรื่องนี้โดยทันที
John Wayne รับบท Sean Thornton อดีตนักมวยเก่า มาดหนุ่ม Yankee เดินทางกลับมาบ้านเกิด Innisfree เพราะได้กระทำเรื่องบางอย่าง เงินทองน่าจะมีมากเหลือพอสมควร (ก็ไม่เห็นทำงานอะไร) ด้วยความเป็นคนหัวรุ่นใหม่ ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้เข้ากับธรรมเนียมวัฒนธรรมของคนพื้นบ้าน แต่เขาก็ยินยอมอดทนรอคอย เพราะบางสิ่งอย่างมันย่อมคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปอยู่แล้ว
Wayne บอกว่า นี่เป็นบทยากที่สุดในชีวิต เพราะตลอดระยะเวลาถ่ายทำ 9 สัปดาห์ ต้องรับบทคนดีมีความซื่อตรง มันยากมากเลยนะ!, ก็ปกติ Wayne มักได้รับบทพระเอกหัวขบถ คิดทำอะไรก็ได้ตามใจ มีจิตสำนึกดีแต่มักไม่แคร์อะไรใครเท่าไหร่ หล่อเท่ห์ยิงคนชั่วตายได้แบบไม่รู้สึกผิด
“For nine weeks I was just playing straight man to those wonderful characters, and that’s really hard.”
ผมว่านี่เป็นบทที่หล่อดีเกินไปสำหรับ Wayne คือภาพลักษณ์ของเขาไม่ใช่ผู้ชายแบบนี้ แต่ครึ่งหลังเมื่อเขาตัดสินใจว่า ช่างแม้งประไร ก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย ตัวตนแท้จริงของเขาได้ถูกเปิดเผยออกมา … เออจริง อึดอัดทรมานแทน Wayne รับบทที่ไม่ใช่ตัวตนของเขา แต่ว่าไปคงสนุกไม่น้อย
เห็นว่าการเดินทางไปเที่ยวถ่ายทำหนังเรื่องนี้ Wayne พาลูกๆทั้ง 4 ของเขาไปด้วย -ปิดเทอมกระมัง- ผู้กำกับ Ford เลยจับพวกเขาให้มามีบทบาทสมทบเล็กๆ ในฉากแข่งม้า ลุ้นเชียร์พ่อตนเองควบเข้าเส้นชัย
Maureen O’Hara ชื่อเดิม Maureen FitzSimons (1920 – 2015) นักร้องนักแสดงสัญชาติ Irish เจ้าของฉายา ‘red-headed O’Hara’ เกิดที่ Ranelagh, County Dublin, ประเทศ Ireland เป็นลูกคนที่ 2 จาก 6 คน (เป็นคนเดียวที่ผมสีแดง) รับความงามและลูกคอจากแม่ที่เป็นอดีตนักร้อง Contralto ปรากฎพรสวรรค์ด้านการแสดงตั้งแต่เด็ก เข้าเรียน/เป็นนักแสดงละครเวทีที่ Rathmines Theatre Company ตามด้วย Abbey Theatre มีอาจารย์คือ Lennox Robinson, สู่วงการภาพยนตร์ มีผลงานตัวประกอบเล็กๆเรื่องแรก Kicking the Moon Around (1938) ถูกผลักดันโดย Charles Laughton ให้ได้รับบทสมทบ My Irish Molly (1938) แสดงนำเรื่องแรก Jamaica Inn (1939) กำกับโดย Alfred Hitchcock ตามด้วย The Hunchback of Notre Dame (1939) [ทั้งสองเรื่องนำแสดงโดย Laughton]
ร่วมงานกับ John Ford ครั้งแรกในหนัง Oscar: Best Picture เรื่อง How Green Was My Valley (1941) ตั้งชื่อเล่นให้เธอว่า Rosebud, การมาถึงของ Technicolor ทำให้เธอได้อีกฉายา Queen of Technicolor เพราะผมสีแดง ตาสีเขียว เป็นภาพลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ตราตรึงอย่างมาก (ด้วยเหตุนี้กระมัง Ford จึงพยายามล็อบบี้ Republic Pictures ให้ถ่ายทำด้วย Technicolor), ร่วมงานกับ John Wayne ครั้งแรก Rio Grande (1950) และอีก 4 ครั้งถัดมา
ทั้งๆที่มีผลงานอมตะมากมาย แต่ O’Hara กลับไม่เคยได้เข้าชิง Oscar เลยสักครั้ง เพิ่งจะเมื่อปี 2014 ได้รับมอบ Honorary Award
รับบท Mary Kate Danaher หญิงสาวชนบท แก่นแก้วหัวขบถ แข็งนอกอ่อนใน ใครแรงมาก็แรงตอบ มีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ/ความต้องการของตนอย่างเหนียวแน่นมั่นคง ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามผู้ใด
นี่เป็นหนึ่งในการแสดง น่าจะยอดเยี่ยมที่สุดของ O’Hara โดดเด่นมากับสายตาจิกกัด พยายามแย่งชิงความโดดเด่นจาก Wayne ในทุกๆฉาก ขณะที่พระเอกนิ่งเงียบ (Quiet Man) แต่หญิงสาวกลับต่อสู้ ขัดขืน ไม่ยินยอม ต้องถือว่าเป็นทั้งสองมีเคมีเข้าขากันอย่างที่สุด (เกิดมาเป็นคู่กัดกันโดยแท้), มีฉากหนึ่งที่ Sean มอบจูบแรกให้ Mary Kate เธอตบเขาอย่างแรงแต่ติดแขนยกกันไว้ เห็นว่านั่นทำให้กระดูกข้อมือร้าวเลยละ เข้าเฝือกอ่อนไว้ตลอดการถ่ายทำ
ฉากที่ O’Hara ถูก Wayne ดึงลากไปกับพื้น เธอต้องเล่นเองไม่มีนักแสดงแทน พยายามดิ้นรนให้ยากเข้าไว้ นี่เป็นฉากที่ยากและ Ford มีการเตี้ยมกับทีมงานไม่ให้เตรียมน้ำและผ้าไว้เช็ดหน้า ซึ่งเธอต้องทนความเปลอะเปลื้อนเลอะเทอะเช่นนั้นไว้ตลอดทั้งวัน
“For years I wondered why John Ford grew to hate me so much. I couldn’t understand what made him say and do so many terrible things to me. I realize now that he didn’t hate me at all. He loved me very much and even thought that he was in love with me”.
– Maureen O’Hara หวนระลึกถึง John Ford
เกร็ด: นี่เป็นหนังโปรดของ O’Hara ในบรรดาเรื่องที่เธอเล่นทั้งหมด และตอนเสียชีวิตก็นอนฟังเพลงประกอบของ Victor Young จากไปทั้งๆแบบนั้น
เกร็ดที่น่าตกตะลัง: ได้ยินว่า George A. Romeo ก็เช่นกัน เสียชีวิตขณะนอนฟังเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเรื่องโปรดของเขา
Victor Andrew de Bier Everleigh McLaglen (1886 – 1959) นักแสดงสัญชาติ British เกิดที่ Stepney, East London ในครอบครัวมีพี่น้อง 8 คน ตอนอายุ 14 แอบไปสมัคร British Army ได้ประจำการเป็น Life Guards อยู่ที่ Windsor Castle แต่ถูกบังคับให้ออกเมื่อมีการสืบค้นรู้อายุที่แท้จริง, ย้ายมาอยู่ Canada เป็นนักมวยปล้ำ นักมวยรุ่น Heavyweight มีชื่อเสียงพอสมควร ต่อมาเข้าสู่วงการภาพยนตร์ Hollywood เริ่มจากรับบทขี้เมา นักเลง มีผลงานดังอย่าง What Price Glory? (1926), ร่วมงานกับ John Ford ครั้งแรก The Lost Patrol (1934), คว้า Oscar: Best Actor จากเรื่อง The Informer (1935)
รับบท Squire ‘Red’ Will Danaher พี่ชายของ Mary Kate Danaher ไม่ได้มีความหึงหวงน้องสาวเท่าไหร่หรอก แค่ไม่ชอบขี้หน้า Sean Thornton ที่ตัดหน้าซื้อที่ดินบ้านหลังที่เขามีความต้องการอาศัยอยู่ จึงเกิดความก้าวร้าวฉาน บ้าบอคอแตก หาเรื่องต่อยตี, ปัญหาของลูกผู้ชาย บางครั้งต่อให้พยายามพูดคุยสนทนาซึ่งๆหน้า ก็ยากที่จะสื่อสารเข้าใจกัน มันต้องกำหมัดปั้น ชกดวลวัดกันไปเลยว่าลูกผู้ชายตัวจริงหรือเปล่า
ด้วยวัย 60+ กว่าๆของ McLaglen ว่าไปน่าจะรับบทเป็นพ่อมากกว่าพี่ชาย แต่แค่ภาพลักษณ์อย่างเดียวก็ชวนให้อยากหาเรื่องต่อยตี ท่าทางกวนประสาท คำพูดคำจาวกวนสับสน แสดงถึงความไม่ค่อยเฉลียวฉลาดนักของตัวละคร แต่กลับชอบคุยโวโม้โอ้อวด วางมาดนักเลงหัวไม้ คนแบบนี้จำต้องได้รับการชกหน้าสั่งสอนเสียบ้างถึงจะหลากจำ
ถึงจะเป็นคู่มวยที่สมศักดิ์ศรีระหว่าง Wayne vs McLaglen แต่เพราะความสูงวัยของทั้งคู่ และรายหลังก็ใช่ว่าจะร่างกายแข็งแรงดี มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องล้มลุกคลุกโคลนขี้ดินเลน, สังเกตเวลาชก พวกเขาจะง้างหมัดกว้างๆให้ดูเหมือนทรงพลัง โดนทีก็กลิ้นสามสี่ตลบ แต่จริงๆหมัดอย่างนี้ไร้สาระ นักเลง Fight Club ที่ไหนจะต่อยกันแบบนี้ ให้มองว่าเป็นความตั้งใจให้ดูอลังการเว่อๆเข้าไว้ สำหรับผลลัพท์ … ก็ไม่รู้สิครับ หาใช่สาระสำคัญของหนังเสียเท่าไหร่
แถมให้กับอีกหนึ่งนักแสดงสัญชาติไอริช Barry Fitzgerald (1888 – 1961) เกิดที่ Portobello, Dublin ประเทศ Ireland เรียนจบทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง พร้อมๆไปกับแสดงละครเวทีที่ Abbey Theatre เมื่อไปได้ดีจึงหันมาทุ่มกับการแสดง เดินทางมา Hollywood เล่นหนังเรื่องแรก The Plough and the Stars (1936) กำกับโดย John Ford ได้ร่วมงานกันอีกหลายเรื่อง The Long Voyage Home (1940), How Green Was My Valley (1941), And Then There Were None (1945), The Naked City (1948)
ผลงานเอกของ Fitzgerald ที่ทำให้เขากลายเป็นอีกตำนานได้รับการจดจำคือ Going My Way (1944) ที่ได้เข้าชิง Oscar ทั้งสาขา Best Actor และ Best Supporting Actor (ได้รางวัลหลัง) ก็ไม่รู้เกิดความผิดพลาดประการใด เป็นเหตุให้ Academy จำต้องออกกฎเพิ่มเพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก
รับบท Michaeleen ‘Óg’ Flynn สารถี, พ่อสื่อ, รับแทงคู่มวย ฯ เรียกว่าเป็นคนกลางในทุกๆอย่าง คอยออกมาแย่งซีน เรียกเสียงหัวเราะ ด้วยท่าทาง การวางมาด คำพูดที่ติดทั้งสำเนียง Irish และพยายามพูดแบบผู้ดีอเมริกัน
ผมประทับใจการแสดงของ Fitzgerald อย่างมาก เป็นคนเฮฮาปาร์ตี้ จิตใจหวังดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นความสุขของคนอื่นคือความสุขส่วนตน เป็นมิตรได้กับทุกคน สร้างสีสันให้โลกน่าอยู่ขึ้น, น่าเสียดายหนังไม่ได้นำเสนอประวัติพื้นหลังของตัวละครนี้เท่าไหร่ งานสารถีก็เหมือนคนแจวเรือ พาผู้โดยสารไปส่งให้ถึงปลายทาง แล้วตัวเองย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นรับคนใหม่
เกร็ด: คำว่า Óg หรือ Oge ภาษา Irish แปลว่า young, หนุ่มแน่น มีลักษณะการใช้คล้ายกับคำภาษาอังกฤษ Sr. กับ Jr. ในชื่อ อาทิ Robert Downey Jr.
ถ่ายภาพโดย Winton C. Hoch (1905 – 1979) สัญชาติอเมริกา เดิมเป็นนักเคมีอยู่ที่ California Institute of Technology ต่อมาเข้าร่วมวิจัยพัฒนา three-color Technicolor ต่อมาผันตัวเป็นตากล้อง ได้รับยกย่องว่าเป็น ‘นักถ่ายภาพสีคนแรกของ Hollywood’ (เจ้าตัวไม่เคยถ่ายหนังขาว-ดำ เลยนะครับ) ร่วมงานกับ John Ford หลายครั้งทีเดียว อาทิ 3 Godfathers (1948), She Wore a Yellow Ribbon (1949), The Searchers (1956) ฯ คว้า Oscar: Cinematography 3+1 ครั้ง จากเรื่อง Joan of Arc (1948), She Wore a Yellow Ribbon (1949), The Quiet Man (1952) อีกครั้งเป็น Technical Achievement Award เมื่อปี 1940 จากการผลิตคิดค้นเทคนิคการถ่ายภาพสี Technicolor
ปกติแล้วหนังของ Republic Pictures มักใช้การถ่ายทำด้วย Trucolor ซึ่งเป็นฟีล์มสีคุณภาพด้อยกว่าราคาถูก แต่เพราะ Ford ยืนกรานร้องขอผู้บริหาร จนได้รับยินยอมอนุญาตให้ใช้ฟีล์ม Technicolor ได้เป็นการเฉพาะกิจ ผลลัพท์ออกมาต้องชมเลยว่า เป็นหนึ่งในหนังที่มีงานภาพสวยสดที่สุดในโลก เห็นว่าทุกช็อต/ฉาก จะต้องมีสีเขียวเป็นองค์ประกอบหลักเสมอ (เขียว เป็นสีประจำชาติ Ireland และยังคือชื่อหนังสือ Green Rushes ที่รวมเรื่องสั้น The Quite Man)
สถานที่ถ่ายทำ ประกอบด้วย
– หมู่บ้าน Cong อยู่ระหว่างเมือง County Mayo กับ เมือง County Galway ทางตะวันตกของประเทศ Ireland
– สถานีรถไฟ Ballyglunin ใกล้หมู่บ้าน Ballyglunin เมือง County Galway
– หาด Lettergesh ฝั่งทะเลตะวันตก เมือง County Galway
– สะพาน Quiet Man Bridge เมือง County Galway
– สำหรับหลายฉากภายใน หรือบนรถม้า/หลังม้าที่มีการเคลื่อนไหว จำต้องกลับมาถ่ายทำในสตูดิโอของ Republic ที่ Hollywood เพื่อใช้ Rear Projection ฉายขึ้นฉากด้านหลัง
ฯลฯ
การถ่ายทำยังสถานที่จริงประเทศ Ireland ประสบพบเจอปัญหาค่อนข้างมาก เพราะเป็นดินแดนเกาะ ใกล้ริมฝั่งทะเล ในรอบ 6 สัปดาห์ที่ไปถ่ายทำ มีเพียงประมาณ 6 วันเท่านั้นที่แดดแรง ส่วนใหญ่จะฟ้ามืดขลัวและฝนตก ซึ่งจะทำให้สีที่ล้างออกมามีความเข้มแตกต่างกันพอสมควร
“Most of the time the clouds were moving across the sky, and the light was constantly changing, I had to light each scene three different ways: for sunshine, for clouds, for rain. I worked out a set of signals with the gaffer, and we were ready no matter what the light was.”
– Winton C. Hoch
นี่ถือเป็นความท้าทายแรกๆในยุคสมัยนั้น ต่อการถ่ายภาพสียังสถานที่จริง เพราะแต่ละภูมิภาคของโลก จะมีแสงอาทิตย์ที่ให้สัมผัส อารมณ์ความรู้สึก ล้างออกมาได้ผลลัพท์แตกต่างกันออกไป, นอกจากหนังเรื่องนี้ที่ถ่ายภาพชนบทของประเทศ Ireland ได้สวยมากๆแล้ว ขอแนะนำ Ryan’s Daughter (1970) ของผู้กำกับ David Lean อีกเรื่อง แต่รายนั้นเน้นภาพระยะไกลลิบสุดลูกหูลูกตา ส่วนเรื่องนี้จะเน้นระยะใกล้ๆจับต้องได้มากกว่า
ตัดต่อโดย Jack Murray อีกหนึ่งขาประจำของ John Ford ที่มีผลงานเด่นคือ The Quiet Man (1952) กับ The Searchers (1956), เหมือนว่าหนังจะเล่าเรื่องโดยใช้เสียงบรรยาย มุมมองของ Father Peter Lonergan (รับบทโดย Ward Bond) แต่ผมรู้สึกว่าหนังน่าจะเล่าผ่านมุมมองของ Michaeleen Flynn เสียมากกว่า เพราะเป็นตัวละครเดียวที่ปรากฎอยู่ครบทุกฉาก มีบทมากกว่าพระเอกนางเอกเสียอีกนะ
การตัดต่อของหนังชวนให้ง่วงมากๆ ใช้การ Cross-Cutting เป็นส่วนใหญ่ แสดงถึงเรื่องราวเวลาดำเนินผ่านไปอย่างไร้นัยยะสำคัญ, ไม่ค่อยมีอะไรให้ตื่นเต้นหวือหวา จนกว่าจะถึงฉากแข่งขัน ต่อสู้ ไคลน์แม็กซ์ ซึ่งก็ดันจงใจไม่บอกผลลัพท์ของคู่มวยนัดหยุดโลกเสียอีก นี่มีนัยยะถึงการไม่ตัดสินว่า Tradition vs. Modernity ฝั่งไหนถูกผิด เป็นผู้ชนะ แล้วแต่ความคิด/รู้สึก ของผู้ชมเองเลย อยากให้ใครชนะก็ตามใจเถิด
มีเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของหนังเรื่องนี้, เพราะสตูดิโอ Republic Pictures มีข้อตกลงกับ Ford ต้องตัดต่อหนังให้ได้ความยาวต่ำกว่า 2 ชั่วโมง เพราะกลัวผู้ชม/นักวิจารณ์ จะนั่งทนดูกับหนังความยาวเกินสองชั่วโมงไม่ได้ แต่ผลลัพท์ออกมา 129 นาที เปิดฉายให้ผู้บริหารดู สั่งให้ไปตัดออก 9 นาที เจ้าตัวยืนกรานบอกตัดอีกไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครยอมฟัง เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ Ford บอกกับพวกเขาว่าตัดต่อใหม่เสร็จแล้ว แต่จริงๆไม่ได้แก้ไขทำอะไร ขณะฉายจ้องมองนาฬิกา พอครบ 120 นาทีปุ๊ป สั่งให้ปิดโปรเจคเตอร์เปิดไฟ ขณะกึ่งกลาง Climax ฉากตอนท้าย สร้างความอลม่านปั่นป่วนให้กับผู้ชมรอบนั้นอย่างมาก Ford ประกาศกร้าวว่า
“As you can plainly see, there is nothing left to cut out. So, I give you ‘The Quiet Man’ at exactly 120 minutes! Now, you’re begging me for the last nine minutes! Do you honestly think the audience will be any different?”
มีหรือสตูดิโอจะไม่ยินยอมปล่อยให้ฉายเต็ม 129 นาที
เพลงประกอบโดย Victor Young (1900 – 1956) นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกา มีหลายผลงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Reap the Wild Wind (1942), For Whom the Bell Tolls (1943), So Evil My Love (1948), Shane (1953), September Affair (1952), Around the World in Eighty Days (1957) ฯ
บทเพลงมีส่วนผสมพื้นบ้าน Irish อยู่พอสมควร ประสานเข้ากับวงออเครสต้าสุดอลังการของ The Dublin Screen Orchestra กำกับวงโดย Kenneth Alwyn ให้สัมผัสอันผ่อนคลาย ล่องลอย เพลิดเพลิน ฟังสบาย กอปรกับงานภาพที่มีความสวยสดงดงาม ราวกับสรวงสวรรค์บนพื้นดินกลิ่นโคลนเลน
Main Theme & Castletown นำพาผู้ฟังให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม หลงใหล เป็นสุขสราญใจ นี่คือดินแดนไม่มีที่แห่งไหนเสมอเหมือน ราวกับจะเป็นนิรันดร์ กาลเวลามิอาจพรากทำลายได้ (ด้วยเหตุนี้ก็ หลายสิ่งยังเต็มไปด้วย Traditional มากมายเต็มไปหมด Modernity ยังเข้าไม่ถึง)
This Way! / Journey to Innisfree & Humble Cottage, เริ่มต้นด้วยเสียงทรัมโบนสร้างความพิศวงสงสัย เรียกให้มาหา This Way! ไวโอลินประสานเสียงคือการออกเดินทางผจญภัย Journey to Innisfree และเสียงพิณช่วงท้ายเมื่อมาถึง Humble Cottage กล่อมให้เราเข้านอนหลับสบายเชียวละ
Sean Sees Mary Kate for the First Time เสียง Oboe เริ่มต้นนำพาผู้ฟังขึ้นสวรรค์ ราวกับได้เห็นนางฟ้าลงมาจุติ จากนั้นออเครสต้าประสานเสียง เพิ่มความอัศจรรย์ให้กับสิ่งที่พบเห็น แค่เพียงครั้งแรกก็ตราติดตรึง จดจำฝั่งอยู่ในความทรงจำมิรู้ลืม
สำหรับบทเพลงคำร้อง มีการนำเองเพลงพื้นบ้าน Tradition Song เก่าแก่ของชาว Irish มาปรับใช้ อาทิ Rakes of Mallow, The Wild Colonial Boy (สองเพลงที่ร้องในบาร์ มี Accordion ประกอบ) ส่วนบทเพลงที่ Maureen O’Hara ขับร้อง The Isle of Innisfree คู่กับเปียโน นี่คือทำนองเดียวกับ Main Theme เราจะได้ยินเป็น Leitmotif ตลอดทั้งเรื่อง
ภาพสวย เพลงเพราะ นักแสดงเป็นที่รัก การกำกับยอดฝีมือ รวมแล้วถือเป็นอีกหนึ่งผลงานระดับ Masterpiece ใกล้หัวใจที่สุดของผู้กำกับ John Ford เลยก็ว่าได้ เพราะทุกสิ่งอย่างในหนังเรื่องนี้ มีแต่ความสวยงาม ดีงาม สมบูรณ์แบบ (Good, Great and Perfect) ชวนให้เกิดความเคลิบเคลิ้มหลงใหล ราวกับความเพ้อฝันที่อยากให้กลายเป็นจริง จินตนาการถึงความสรวงสวรรค์ ในโลกที่ทุกคนมีแต่ความจริงใจต่อกัน แม้กับคนที่เป็นศัตรูพูดคุยธรรมดากันไม่รู้เรื่อง กำหมัดต่อยหน้าก็ยังสามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ มันคงไม่มีแล้วละครับโลกแบบนั้นในปัจจุบัน เงินทองไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิต ความสุข ความเพียงพอ ความพึงพอใจ เท่านั้นที่พวกเขาแสวงหา
เราสามารถมองหนังเรื่องนี้ได้ว่าเป็น Idealized ในอุดมคติของอิสรภาพที่แท้จริง ผู้คนไม่มีแบ่งชนชั้นวรรณะฐานะ เชื้อชาติหรือศาสนา ขนาดว่าบาทหลวง Catholic กับ Protestant ยังเป็นเพื่อนสนิทกันเสียอย่างงั้น, เห็นว่าที่ประเทศ Ireland มีหลายหมู่บ้านที่เคยเป็นแบบนี้จริงๆ ผู้คนเป็นมิตรมากๆ อาศัยอยู่อย่างเรียบง่ายธรรมดา แต่มีความสุขเหลือล้น ในปัจจุบันไม่รู้ยังหลงเหลืออยู่ไหม อะไรๆคงเปลี่ยนไปเยอะมาก
สำหรับการต่อสู้ระหว่าง Tradition vs. Modernity มาถึงตรงนี้คงน่าจะเห็นชัดแล้วว่าผมหมายถึงอะไร เปรียบเทียบก็คือมวยคู่เอกระหว่าง Will Danaher กับ Sean Thornton จริงๆในสงครามนี้มันไม่ควรมีผู้แพ้ผู้ชนะด้วยซ้ำ คำตอบฟังขึ้นที่สุดในยุคสมัยนี้คือ ‘ร่วมสมัย’ พบกันครึ่งทาง ซึ่งหนังก็เหมือนพยายามชี้ชักนำไปในทางนี้ด้วย คือบางอย่างพระเอกยอมรับ Tradition ได้ บางอย่างนางเอกยอมรับ Modernityได้ แค่ว่าตอนจบสุดท้าย มันอาจดูกระแทกกระทั้นรุนแรงพอสมควร เพราะหญิงสาวใช้’ใจ’บังคับชายหนุ่ม ทำให้เขาต้องใช้กำลัง’กาย’ตอบโต้ลากเธอกลับมา ผลลัพท์มันจึงออกมา … ค่ำคืนนั้นพวกเขาคงมีความสุขมากๆ และคงรักกันตราบจนวันตายเลยละ
ซีนสุดท้ายของหนังขณะสองคู่พระนางยืนโบกมือบ้ายบายผู้ชม O’Hara กระซิบกระซาบอะไรบางอย่างข้างหู Wayne แต่นั่นไม่มีใครในโลกนอกจากทั้งสองและผู้กำกับ Ford ที่รู้ว่าพูดอะไร, ซึ่งสีหน้าความเซอร์ไพรส์ของ Wayne ต้องบอกว่า priceless (Wayne ไม่รู้มาก่อนด้วยว่าเธอจะกระซิบอะไร พอได้ยินก็เกิดอาการตกตะลึงแบบนั้น) ทั้งสามตกลงกันว่าจะไม่บอกกับใครอื่นถึงประโยคที่พูดวันนั้น จนกระทั่งการเสียชีวิตของ O’Hara ก็ไม่หลงเหลือใครให้พูดออกมาได้อีกแล้ว กลายเป็น Holy Grail ประโยคความลับที่สูญหายไปชั่วนิรันดร์
ด้วยทุนสร้าง $1.75 ล้านเหรียญ (สูงสุดของ Republic Pictures ขณะนั้น) หนังทำเงินในการฉายครั้งแรก $3.2 ล้านเหรียญ (สูงสุดของ Republic Pictures ขณะนั้นเช่นกัน) เข้าชิง Oscar 7 สาขา ได้มา 2 รางวัล
– Best Picture
– Best Director ** ได้รางวัล
– Best Supporting Actor (Victor McLaglen)
– Best Adapted Screenplay
– Best Cinematography ** ได้รางวัล
– Best Art Direction
– Best Sound
ปีที่หนังเข้าชิง ถือเป็นเต็งสองในการคว้า Best Picture รองจาก High Noon แต่ผู้ชนะกลับเป็น The Greatest Show on Earth ของ Cecil B. DeMille อย่างไม่มีใครคาดคิดถึง [เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกว่า เป็นการ SNUB ครั้งร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ Oscar]
ส่วนสาขา Best Director เหมือนว่าผู้กำกับ John Ford จะนอนมาเพราะเพิ่งได้ DGA (Directors Guild of America) มาก่อนหน้านี้ จึงเป็นที่คาดการณ์อยู่แล้วว่าน่าจะคว้ารางวัล กลายเป็นสถิติสูงสุดของสาขาผู้กำกับ โดยมีเพียง 2 ผู้กำกับที่คว้ารางวัลสาขานี้ 3 ครั้งรองลงมาคือ Frank Capra และ William Wyler
ผมค่อนข้างชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ประทับใจในแทบทุกอย่างเลยละ นักแสดง งานภาพ เพลงประกอบ แต่ตำหนิหนึ่งเดียวที่ทำให้ไม่หลงรักหรือคลั่งไคล้เรื่องโปรด เพราะความที่มันอุดมคติเพ้อฝันเกินไป โลกสวยสำหรับบางคน มันอาจดูน่าขยะแขยง ต่อต้าน รับไม่ได้ ผมไม่ถึงขั้นนั้นแต่ก็หงุดหงิดๆ เบื่อๆพอสมควร
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” จริงๆผมแอบลังเลพอสมควรนะ เพราะหนังเรื่องนี้มันโลกสวยเกินไปนิด แต่คิดว่าประเด็นของคู่มวยนัดหยุดโลกที่่ทุกตัวละครออกมาพนันขันต่อ Tradition vs. Modernity มันน่าสนใจมากๆเลยนะครับ แนะนำให้ไปครุ่นคิดหาคำตอบต่อยอดเอาเองจะเป็นประโยชน์แน่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนเคยไปหรือมีแฟนเป็นชาว Irish, ผู้ชื่นชอบงานภาพสวยๆ เพลงเพราะๆ, แฟนคลับ John Wayne, Maureen O’Hara และผู้กำกับ John Ford ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG ก็พอกระมัง รุนแรงเล็กน้อย ต่อยกันแบบไม่รู้สึกอะไร
[…] The Quiet Man (1952) : John Ford ♥♥♥♥ […]