The Reader (2008) : Stephen Daldry ♥♥♥♥
ถ้าคุณชื่นชอบใครสักคนหนึ่ง อดีตของเขาหรือเธอจะเป็นปัจจัยต่อความรักนั้นหรือไม่? Kate Winslet ในบทบาทคว้า Oscar: Best Actress คืออดีตเจ้าหน้าที่หญิง Nazi ผู้ผลักดันชาวยิวเข้าห้องรมแก๊ส กักขังพวกเขาไว้ในโบสถ์แล้วเผาให้ตายทั้งเป็น … คนที่มีอดีตชั่วร้ายขนาดนี้ จะยังมีใครรักลงอีกไหม
ตอนที่ผมรับชมหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ เกิดความเจ็บจี๊ดๆรวดร้าวเล็กๆในใจ แต่ยังมิสามารถให้คำตอบกับตัวเอง จะรับได้ไหมถ้าพบเจอผู้หญิงแบบนั้นในชีวิตจริง จนกระทั่งเมื่อวันก่อน จะบอกว่าน้ำตาไหลพรากๆ เกิดความซาบซึ้งกินใจ ทั้งๆที่ก็ดูหนังแนว Holocaust มาเป็นสิบๆ แต่ไม่มีเรื่องไหนกระแทกกระทั้นอารมณ์ความรู้สึกได้รุนแรงมากคลั่งขนาดนี้
โทษว่ากล่าวคงเป็นความผิดของ The Shape of Water (2017) ที่ทำให้ส่วนตัวมีทัศนคติต่อสัตว์ประหลาดเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง ต่อให้เธอมีอดีตอันย่อยยับเยิน เคยเข่นฆ่าคนผู้บริสุทธิ์ตายนับหมื่นแสนล้าน มีภาพลักษณ์พิศดารขนดกรกรุงรัง แต่ถ้าตัวตนแท้จริงภายใน มีความรู้สำนึกดีชอบ เกิดความละอายใจต่อบาปที่เคยกระทำชั่วมา ยังไงผมก็คงรักมากๆ และไม่คิดจะลังเลเปลี่ยนใจง่ายๆด้วย
ตรงกันข้ามกับชาวยิว พวกเขาอาจเคยเป็นผู้น่าสงสารเห็นใจในทศวรรษของการถูกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมา หลายคนยังคงความเกลียดชังยึดถือมั่นไม่คิดให้อภัย แถมเสี้ยมสอนคนรุ่นหลังไม่ให้หลงลืมเลือน แปรสภาพสู่ความเย่อหยิ่งทะนงตน ยโสโอหังอวดดี กลายเป็นบุคคลผู้มีจิตใจอัปลักษณ์เลวทราม ยิ่งกว่าเจ้าหน้าที่นาซีหลายคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสัตว์ประหลาดเสียอีก
แต่ใจความจริงๆของ The Reader ไม่ได้เกี่ยวกับความรักของสาวรุ่นใหญ่ กับเด็กหนุ่มไร้เดียงสาเลยนะ มีนัยยะแฝงถึงชาวเยอรมันสองรุ่น ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2,
– การที่ Hanna Schmitz ไม่สามารถอ่านเขียนหนังสือได้เหมือนปกติ สะท้อนความรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (สูญเสียสิ่งที่เรียกว่าอารยะ คุณค่าของความเป็นมนุษย์) ต้องการปฏิเสธลืมเลือนสิ่งที่คนรุ่นตนกระทำมา แต่มันสามารถเจือจางสูญหายไปได้เสียที่ไหน
– ขณะที่ Michael คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ถัดมา เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นจากไม่เคยรับรู้อดีตความจริงใดๆ แต่เมื่อทราบแล้วก็มีปฏิกิริยาแสดงออกแตกต่างออกไป เริ่มต้นคือแข็งทื่อ (Paralyze) ปฏิเสธต่อต้านยินยอมรับไม่ได้ แต่เพราะความสัมพันธ์ที่แนบแน่นเฟ้น จึงค่อยๆเรียนรู้ปรับตัวอาศัยอยู่ร่วมกับมัน และสุดท้ายคิดตัดสินใจทำบางสิ่งอย่าง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่แม้ไม่ใช่หน้าที่ของตนเอง แต่คือผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ครั้งนั้น
ลองจินตนาการครุ่นคิดตามดูนะครับ ถ้าคุณเป็นชาวเยอรมันรุ่นใหม่ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรับรู้เรื่องราวอดีต การกระทำอันเลวชั่วร้ายผิดมนุษย์มนาของบรรพบุรุษชนชาติตนเอง หรืออาจจะพ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทหรือคนรัก ฆ่าคนตาย ขายเสพยา หรือฉ้อฉลคอรัปชั่น จะแสดงออกมีปฏิกิริยาความรู้สึกเช่นไร?
ว่าไปหนังเรื่องนี้มีหลายๆโครงสร้าง องค์ประกอบคล้ายๆกับ Sophie’s Choice (1982) เริ่มต้นด้วยการไม่พูดบอกอธิบายตรงๆ ว่าหญิงสาวเคยมีอดีตพบเจออะไรมา แต่จักค่อยๆเปิดเผยออกในช่วงครึ่งหลัง ซึ่งตัวละครของทั้ง Meryl Streep และ Kate Winslet ต่างต้องแบกรับความทุกข์ทรมานจากสิ่งที่เคยพบเจอหรือกระทำไว้ในอดีต ซึ่งการได้พบเจอชายคนหนึ่ง ได้ทำให้พวกเธอเกิด ‘ความหวัง’ เล็กๆขึ้นมาในชีวิต และเพราะมิอาจมีอะไรแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก ท้ายสุดจึงลงเอยด้วยเหตุการณ์โศกนาฎกรรม
The Reader (Der Vorleser) ต้นฉบับคือนิยายเขียนโดย Bernhard Schlink (เกิดปี 1944) ทนายความ อาจารย์สอนกฎหมาย และนักปรัชญา สัญชาติ German ตีพิมพ์ปี 1995 โด่งดังขายดีกลายเป็น Bestseller ระดับนานาชาติ ในเยอรมันได้รับการยกย่องเทียบเท่า The Tin Drum (1959) ขายได้เกินกว่า 500,000 เล่มในปีแรก และได้รับการโหวตติดอันดับ 14 ของ 100 Favorite Books of German Readers เมื่อปี 2007
ประมาณปี 1998 สตูดิโอ Miramax Films สามารถติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์นิยายเล่มนี้ได้ มอบหมายให้นักเขียนหลายคนแต่ยังไม่ได้บทที่น่าพึงพอใจ ก่อนมาลงเอยที่ Sir David Hare (เกิดปี 1947) นักเขียนบทละครเวที West End ที่โด่งดังจนกลายเป็นตำนาน ซึ่งเคยพัฒนาบทภาพยนตร์ The Hours (2002) ได้เข้าชิง Oscar: Best Adapt Screenplay
เกร็ด: ในสัญญาของการขายลิขสิทธิ์ดัดแปลง Schlink ต้องการให้หนังสร้างออกมาเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผล แต่คงเพื่อให้ลดความรุนแรงสมจริง มากกว่าจะสื่อถึงชาวเยอรมันตรงๆ
คงเป็น Hare แนะนำโปรดิวเซอร์ให้เลือก Stephen Daldry ที่เคยร่วมงาน The Hours (2002) มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งก็กว่าจะเซ็นสัญญาลุข้อตกลงก็ล่วงมาปี 2007
Stephen David Daldry (เกิดปี 1960) สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Dorset ตั้งแต่เด็กเข้าร่วมกลุ่ม Youth Theatre เป็นนักแสดงสมัครเล่น พออายุ 18 ได้ทุนจากกองทัพอากาศเข้าเรียน University of Sheffield สาขาภาษาอังกฤษ และยังเคยเป็นประธานชมรม Theatre Group ของมหาวิทยาลัย, จบออกมาออกเดินทางทัวร์ Italy กลายเป็นตลกฝึกหัด กลับมาอังกฤษทำงานเบื้องหลังละครเวทีจนประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง กำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Billy Elliot (2000) ตามด้วย The Hours (2002), The Reader (2008) และ Extremely Loud & Incredibly Close (2011)
ความสนใจในเรื่องราวนี้ของ Daldry คือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชาว Germany ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“I don’t think this is really about WWII-era Germany, but post-war Germany. It’s much more about the consequences of Germans feeling they’re born guilty, rather than an investigation of the actual actions of the time. “The Reader” is about a country, and in particular one person, trying to live under the shadow of the past as she comes out of a situation with a society tearing itself apart through genocide.”
เรื่องราวของ Michael Berg ตอนอายุ 15 (รับบทโดย David Kross) มีโอกาสพบเจอสาวใหญ่ Hanna Schmitz (รับบทโดย Kate Winslet) ที่ได้ให้การช่วยเหลือจนเกิดความประทับใจ หลังหายจากอาการป่วยกลับมาเยี่ยมเยียนถามหา ไม่นานนักก็ได้ตกหลุมรักมีสัมพันธ์รักชู้สาว เปิดบริสุทธิ์ตนเอง แต่แล้วเมื่อถึงจุดๆหนึ่งเธอกลับหนีหายจากเขาไป ไร้ซึ่งคำร่ำลา
เมื่อ Michael เติบใหญ่ขึ้นเป็นหนุ่ม เลือกเรียนวิชากฎหมาย บังเอิญได้เข้าฟังการตัดสินคดีความหนึ่ง จำเลย Hanna Schmitz แท้จริงแล้วเธอคืออดีตเจ้าหน้าที่หญิง Nazi คัดเลือกนำพาชาวยิวสู่ห้องรมแก๊ส และเคยขังพวกเขาไว้ในโบสถ์ ปล่อยให้ไฟไหม้ตายทั้งเป็น, ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ Michael จะยินยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เช่นกันกับการยอมรับความสัมพันธ์ของพวกเขา
หลายปีผ่านไป Michael กลายเป็นผู้ใหญ่กลางคน (รับบทโดย Ralph Fiennes) แต่งงาน มีลูกสาว แล้วเลิกรา เพราะไม่สามารถหลุดพ้นจากอดีตรักที่จมปลัก พยายามค้นหาคำตอบทำความเข้าใจตัวเองแต่ก็มิอาจหาข้อสรุปใดได้ ตัดสินใจช่วยเหลือ Hanna ที่ติดคุกอยู่ ทำให้เธอมีความหวังและพลังในการใช้ชีวิตอยู่ จนกระทั่งถึงช่วงเวลาปล่อยตัว …
Kate Elizabeth Winslet (เกิดปี 1975) นักแสดงหญิงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Reading, Berkshire ปู่ของเธอเป็นนักแสดงและเจ้าของโรงละครเวที ด้วยความสนใจด้านนี้เลยตัดสินใจกลายเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็ก อายุ 11 เข้าเรียน Redroofs Theatre School รับบทนำการแสดงโรงเรียนทุกปี จนมีโอกาสแสดงซีรีย์โทรทัศน์ Dark Season (1991), ภาพยนตร์เรื่องแรกแจ้งเกิด Heavenly Creatures (1994) ของผู้กำกับ Peter Jackson, ตามด้วย Sense and Sensibility (1995) เข้าชิง Oscar: Best Supporting Actress, กลายเป็นดาวค้างฟ้ากับ Titanic (1997), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Iris (2001), Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004), Little Children (2006) ฯ
ถ้าฟังจากคำปรักปรำให้การในชั้นศาลของพยาน อดีตของ Hanna Schmitz น่าจะคือหัวหน้าเจ้าหน้าที่หญิง ผู้มีความโหดเหี้ยม เลือดเย็นชา ร้ายลึก ยึดมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่เคยเอนอ่อนผ่อนปรนให้ใคร คงคาดหวังไต่เต้าสูงๆ ชีวิตจะได้พบเจอความสะดวกสบาย
แต่ก็ไม่รู้เกิดอะไรขึ้นหลังสงครามสิ้นสุด ทำให้เธอเกิดความละอายต่อสิ่งที่ทำ กลายเป็น Trauma ฝังใจจนมิอาจจับปากกาเขียนอ่านหนังสือ เลยชอบให้ผู้อื่นอ่านออกเสียง เกิดเป็นภาพจินตนาการเพ้อฝันหวาน เคลิบเคลิ้มหลงใหล แต่เมื่อผลกรรมตามติดมาทันทำให้ถูกตัดสินพิพากษาจำคุก ก็แทบไม่หลงเหลืออะไรในชีวิตให้เป็นหลักพึ่งพิง
ในมุมของเด็กหนุ่ม ครึ่งแรกของหนัง Hanna Schmitz เหมือนกับอาจารย์แม่ (หญิงสาวที่ขึ้นครู เปิดบริสุทธิ์ให้หนุ่มๆ) เรียกเขาว่าเด็กน้อย เสี้ยมสอนท่วงท่า ลีลา และสร้างข้อตกลง เพื่อให้เขาตอบสนองความสุขต่อเธอ กระนั้นเราจะแทบไม่เคยเห็นรอยยิ้มของเธอ ชมชอบความเจ็บปวดทรมาน ก็ขนาดว่าท่ายกขาข้างหนึ่งพาดบ่า เหมือนมันจะดันเข้าไปลึกเจ็บมาก แต่ก็สร้างความพึงพอใจให้เหลือล้น
เกร็ด: เท่าที่ผมไปค้นกามสูตรมา ใกล้เคียงสุดคือ ท่าผ่ากระบอกไม้ไผ่ (The Splitting Bamboo) ภาษาสมัยนี้เรียกว่า ยกล้อข้างเดียว
ช่วงกลางเรื่อง จากสายตาของชายหนุ่มมองลงมาจากแท่นผู้สังเกตการณ์ด้านบน Hanna Schmitz เต็มไปด้วยความสับสนว้าวุ่นวายใจ แม้ตัวเองจะรู้สำนึกผิดในสิ่งที่ทำ แต่ไม่ใช่ในมุมมองของใครคนอื่น ท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัยตายอยาก
ตอนท้ายกับการได้พบเจอกันอีกครั้ง สายตาของชายวัยกลางคนพยายามที่จะเบือนหน้าหนี Hanna Schmitz ที่กลายเป็นหญิงชราร่วงโรยรา ไม่มีอะไรหลงเหลือจะแลกมาหรือพึ่งพิงได้อีกต่อไป จากที่เคยเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง เลยหมดสิ้นอาลัยทุกสิ่งอย่าง
Winslet คือตัวเลือกแรกของผู้กำกับ Daldry ซึ่งเธอก็สนใจมากด้วย แต่เพราะคิวไม่ว่างติดถ่ายทำ Revolutionary Road (เธอคงอยากร่วมงานกับเพื่อนเก่าแก่ Leonardo DiCaprio มากกว่าสินะ) เลยจำต้องบอกปัดปฏิเสธไป ทีมงานได้ติดต่อ Nicole Kidman เซ็นสัญญากันแล้วเรียบร้อย ถึงขนาดหยุดกองถ่ายรอเธอให้ถ่ายทำ Australia (2008) ถ่ายทำเสร็จสิ้น แต่ภายหลังขอถอนตัวเพราะกำลังตั้งครรภ์ ทำให้ Winslet ซึ่งกำลังว่างอยู่พอดี หวนกลับมาได้รับบทสำคัญที่สุดในชีวิตนี้
ฉากที่น่าจะคือไฮไลท์ของ Winslet ทำให้ผมน้ำตาคลอเบ้าโดยไม่รู้ตัว คือขณะตัวละครเปิดฟังเทปม้วนแรก สีหน้าในตอนแรกเต็มไปด้วยความสับสนงุนงง จากนั้นค่อยๆบังเกิดความเข้าใจ ร่ำร้องไห้ด้วยความยินดี (จริงๆผมแอบหงุดหงิดไดเรคชั่นของฉากนี้สุดๆเลยนะ คือถ้าจับจ้อง Long Take ใบหน้าของ Winslet ขณะอารมณ์ความเข้าใจกำลังเปลี่ยนแปลงนี้ มันคงสมบูรณ์แบบมากๆเลยละ แต่แค่นี้ก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว)
เกร็ด: ทีมงานใช้เวลาแต่งหน้า Winslet ให้ดูแก่เหมือนคนอายุ 60 ประมาณ 7 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน ผมว่าสมัยนี้ 2-3 ชั่วโมงก็น่าจะเสร็จแล้วนะ
David Kross (เกิดปี 1990) นักแสดงสัญชาติ German เกิดที่ Henstedt-Ulzburg ตอนเด็กมีโอกาสแสดงภาพยนตร์บทเล็กๆใน Hilfe, ich bin ein Junge (2002) เลยตัดสินใจเอาดีด้านนี้ เริ่มจาเข้าร่วมกลุ่มละครเวที Children’s Theatre, คัดเลือกนักแสดงได้รับบท Tough Enough (2005), โด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลกจาก The Reader (2007), ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ War Horse (2011) ฯ
Michael Berg วัยเด็กหนุ่ม เต็มไปด้วยความใคร่อยากรู้อยากลอง ชื่นชอบ Hanna ในความน้ำใจงามของเธอ แต่ก็เพ้อคลั่งเฝ้าแอบมองอยู่ไม่ห่าง จนกระทั่งได้สุขสมหวัง ยินยอมเป็นของเล่นตามใจเธอทุกสิ่งอย่าง แต่เมื่อถูกทิ้งขว้างก็ทุกข์ทรมานแสนสาหัส รักครั้งแรกก็แบบนี้ พอพรากจากเลยเจ็บที่สุด
เติบโตขึ้นเป็นชายหนุ่ม เมื่อพบเห็นอดีตคนรัก (ที่ก็ยังรักอยู่) รับรู้ความจริงทุกอย่างของเธอ มันทำให้เขาอ้ำอึ้ง ทุกข์ทรมานแสนสาหัส ให้คำตอบไม่ได้ ไปต่อไม่ถูก อยากที่จะให้การช่วยเหลือแต่มิกล้า สุดท้ายเลยกลายเป็นตราบาปฝังใจ นำตัณหาและความคับข้องแค้นนั้น ลงเอยระบายกับหญิงสาวคนหนึ่ง ให้กลายเป็นของเล่นของเขาแทน
Kross เริ่มถ่ายทำหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 17 ปี เดิมพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ร่ำเรียนจนชำนาญพูดคล่อง แต่สำหรับฉาก Sex Scene ทีมงานรอจนเขาอายุครบ 18 ก่อนค่อยเริ่มถ่ายทำ (เพื่อไม่ให้มีปัญหาข้อกฎหมาย พรากผู้เยาว์) ซึ่ง Winslet ก็มิได้ปกปิดของลับของสงวนตัวเองต่อหน้าหนุ่มน้อยด้วยนะ ความเก้ๆกังๆ กระอักกระอ่วนที่ปรากฎเห็น มันก็คือความไร้เดียงสาแตกเนื้อหนุ่มจริงๆนะแหละ
ผมว่าเก้งก้างคงหลงใหลในเรือนร่างของ Kross อย่างยิ่งเลยละ มีจงใจถ่ายให้เห็นไอ้จ้อนน้อยของเขาด้วย คงได้เกิดความฟินไปตามๆกัน แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์คือการแสดงอารมณ์สองขั้วตรงข้า ช่วงเด็กหนุ่มมีเพียงความไร้เดียสาอ่อนเยาว์วัย พอเติบโตขึ้นอีกนิดกลายเป็นชายหนุ่ม สูบบุหรี่มวนต่อมวน เครียด เงี่ยน คลั่งแค้น สับสนปั่นป่วน เป็นวัยรุ่นมันช่างวุ่นวายเสียวจริง
Ralph Nathaniel Twisleton-Wykeham-Fiennes (เกิดปี 1962) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Ipswich, Suffolk, สืบเชื้อสาย English, Irish, Scottish ตอนแรกมีความสนใจด้านการวาดรูป เข้าเรียน Chelsea College of Art แต่ไปๆมาๆย้ายสู่ Royal Academy of Dramatic Art กลายเป็นนักแสดงละครเวที ตามด้วย Royal Shakespeare Company, ภาพยนตร์เรื่องแรก Emily Brontë’s Wuthering Heights (1992), โด่งดังกับ Schindler’s List (1993), The English Patient (1996), The Constant Gardener (2005) ฯ
Michael Berg วัยผู้ใหญ่กลางคน เคยแต่งงานมีลูกสาว แล้วหย่าร้าง ยังคงมีความทรงจำตราติดตรึงฝังใจถึงอดีต ครุ่นคิดถึง Hanna Schmitz รักแรกหนึ่งเดียวไม่ลืมเลือน อยากที่จะทำบางสิ่งอย่างให้ เดินทางกลับบ้านบันทึกเทปเสียงอ่านส่งให้ ไม่ได้อยากให้เป็นภาระเพราะอีกใจยังรู้สึกคับแค้น แต่เมื่อเธอจากไป ตัวเขาก็ร้องไห้เสียใจอย่างที่สุด
ภาพลักษณ์ของ Fiennes มาด้วยความสุขุม สงบนิ่ง เยือกเย็น (ผสมหล่อเท่ห์) ลอยๆแบบจับต้องไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ แต่ว่าไปไม่ได้มีความละม้ายคล้าย David Kross สักเท่าไหร่ คงต้องถือเสียว่า หนังต้องการให้ภาพลักษณ์เป็นสิ่งสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ภายในของตัวละครออกมามากกว่า กระนั้น Charisma ของ Fiennes ก็มีความมากล้นเกินไปอยู่ดี ด้วยความดูเป็นผู้ดีมากไป จินตนาการไม่ออกเลยว่าสมัยเด็กจะไปหลงคารมรักกับหญิงสูงวัยกว่าได้อย่างไร
แถมให้กับนักแสดงคนหนึ่ง Professor Rohl อาจารย์สอนวิชากฎหมายของ Michael เห็นว่าในบทคือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจาก Holocaust เสียด้วย รับบทโดย Bruno Ganz นักแสดงที่รับบท Adolf Hitler เรื่อง Downfall (2004) เป็นความน่าฉงนที่ทำไมผู้กำกับถึงเลือก Ganz ให้มาแสดง นี่ผมก็ไม่รู้นะ แต่คิดว่าคงอยากให้เขามีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปในสายตาชาวโลกบ้าง (ไม่ใช่จดจำเขาว่าคือ Hitler แต่เพียงอย่างเดียว)
หนังมีเครดิตตากล้องสองคน, แรกสุดคือ Roger Deakins ถ่ายทำฉากของ Ralph Fiennes ที่ไม่มีตัวละคร Hanna ปรากฎอยู่เลยจนเสร็จสิ้น แต่เพราะตอนนั้น Nicole Kidman ยังติดการถ่ายทำหนังอีกเรื่องอยู่ Deakins เลยหนีไปถ่ายทำ Doubt จากนั้นก็คิวไม่ว่าง เลยต้องเปลี่ยนตากล้องเป็น Chris Menges อีกหนึ่งตำนานของอังกฤษ ที่มีผลงานดังอาทิ Kes (1968), The Killing Fields (1984), The Mission (1986), Notes on a Scandal (2006) ฯ
สิ่งโดดเด่นในงานภาพคือการจัดโทนแสงและใช้สี ซึ่งมีการเลือกให้เหมาะสมกับเรื่องราวเหตุการณ์ในฉากนั้นๆ อาทิเช่น
– ตอนที่ Michael เดินทางไปค่ายกักกันนาซี หรือทุกช็อตในคุก เต็มไปด้วยความมืดมิด และการจัดแสงใช้โทนอ่อน สีน้ำเงิน ให้สัมผัสที่เย็นยะเยือก แห้งแล้ง เจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน
– ขณะที่ห้องของ Hanna แม้จะมีสภาพซ่อมซ่อร่อแร่ แต่ใช้แสงโทนอบอุ่นสีส้ม มีความจ้าเล็กๆ ราวกับในความฝันแฟนตาซีของเด็กชายหนุ่ม
ฯลฯ
หลายคนอาจมีข้อสงสัย ทำไมครึ่งแรกถึงต้องให้นักแสดงร่างกายเปลือยเปล่าแทบจะตลอดเวลา?, มองในเชิงสัญลักษณ์ เสื้อผ้าอาภรณ์คือสิ่งที่ปกปิดเนื้อหนังมังสา บางอวัยวะที่ไม่อยากให้ผู้อื่นพบเห็น การปลดเปลื้องเปลือยเปล่า ก็เสมือนว่าคนสองได้เปิดเผยตัวตนแท้จริงออกมาให้พบเห็น แม้ว่าช่วงขณะนั้น Michael จะมิรับรู้เบื้องหลังของ Hanna แต่พวกเขาก็อยู่ในสถานะเข้าใจความต้องการของกันและกัน
ผมชอบฉากที่ Hanna อาบน้ำเช็ดตัวให้กับ Michael เพราะสิ่งเลอะเทอะเปรอะเปื้อนภายนอกสามารถล้างออกได้อย่างง่ายดาย แต่ความชั่วร้ายที่สะสมหมักหมมอยู่ภายใน ต่อให้ทำความสะอาดอย่างไรก็ไม่มีวันขัดออกได้สำเร็จหมด
สังเกตว่าเวลาอยู่กับเพื่อนฝูง เราจะไม่เห็น Michael กระโดดลงเล่นน้ำเลยนะ เขาจะนั่งอยู่ริมฝั่งเท้าเตะน้ำไปมา เฝ้ารอคอยวันเวลาที่จะไปหาคนรัก Hanna จนกระทั่งครั้งสุดท้าย เมื่อถูกทิ้งหลงเหลือเพียงตัวคนเดียว เปลื้องผ้าเปลือยเปล่าทิ้งตัวลงน้ำ เริ่มต้นดำดิ่งสู่ความทุกข์โศกเศร้า ที่จักติดตัวเขาไปจนวันตาย
ตัดต่อโดย Claire Simpson ยอดฝีมือสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่น อาทิ Platoon (1986) ** คว้า Oscar: Best Edited, Wall Street (1987), The Constant Gardener (2005), The Reader (2008), All the Money in the World (2017) ฯ
หนังมีลีลาการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนเสียเหลือเกิน แม้ทั้งหมดจะเป็นในมุมมองของ Michael Berg แต่เริ่มต้นที่วัยกลางคน ทำการหวนระลึกความทรงจำสมัยวัยรุ่นหนุ่ม ค่อยๆเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตัดกลับมาปัจจุบันบ้าง 2-3 ครา (ถ้าไม่เพราะมีนักแสดงสองคน คงได้อาจมึนตึบเลยละ ซีนไหนย้อนอดีต ซีนไหนปัจจุบัน) แล้วดำเนินมาบรรจบกันที่ Michael ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากสถานคุมขัง บอกว่า Hanna กำลังใกล้พ้นโทษแล้ว ต้องการให้เดินทางมารับและดูแลช่วยเหลือปรับตัว
ความซับซ้อนในการเล่าเรื่องอาจถือว่าไม่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ Sequence ที่ทำให้ผมหงุดหงิดใจมากๆ คือขณะที่ Michael ส่งเทปบันทึกเสียงให้กับ Hanna ก็ไม่รู้จะเร่งรีบรวบรัดไปถึงไหน แถมใช้การ Cross-Cutting นำเสนอแบบผ่านๆ ล่องลอยไปเรื่อยๆ กระโดดข้ามวันเดือนปี รู้ตัวอีกทีก็เทปเต็มห้อง แทนที่จะให้เวลากันสักนิด เพื่อเห็นปฏิกิริยาสีหน้าของผู้รับ กลับสนแต่ในมุมมองการกระทำของผู้ส่ง ราวกับว่าเขาไม่ได้สนใจอะไรเธอเลย ทำสิ่งนี้เพื่อชดใช้การตัดสินใจผิดพลาดครั้งนั้นเท่านั้น
ฉากที่โคตรชอบก็พอมีอยู่นะ ตอนที่ Michael ระหว่างร่วมรักครั้งแรกกับ Hanna ตัดสลับกับภาพที่เขาจับจ้องมองพี่ๆน้องๆบนโต๊ะอาหาร ริมฝีปากที่กำลังขยับกลืนกิน เทียบกับรอยจูบจุมพิตที่เขา(ถูก)ประทับ รอยยิ้มกริ่มสะท้อนความสุขหรรษาถึงจุดไคลน์แม็กซ์ นี่เป็นการเปรียบเทียบสองสิ่งนี้ว่าคืออย่างเดียวกัน, ตอนสมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย มีอาจารย์สอนจิตวิทยา อธิบายถึงทุกสิ่งอย่างในโลกที่คือการกระทำ สามารถใช้คำว่า Sex ได้ทั้งหมด เช่นว่า กำลังกินข้าว นั่นหมายถึงเรากำลังมีปฏิสัมพันธ์ ร่วมรักมี Sex กับอาหารที่กิน!
เห็นว่าต้นฉบับนิยาย ใช้การเล่าเรื่องด้วยคำบรรยายของ Michael เป็นส่วนใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่นักเขียน David Hare นำออกจากบทภาพยนตร์โยนทิ้งไปเลย เพราะมันจะทำให้หนังมีความเยิ่นเยิ้อยืดยาวกว่านี้อีก ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาษาภาพในการเล่าเรื่องจะดีเสียกว่า, ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม แต่ไดเรคชั่นการลำดับเรื่องราว โดยรวมกลับไม่ค่อยโอเคสักเท่าไหร่
เพลงประกอบโดย Nico Muhly สัญชาติอเมริกัน ที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Contemporary Classic
ลักษณะของบทเพลง มักใช้เปียโนเป็นองค์ประกอบหลัก เสริมพื้นหลังคลอด้วย Orchestra ให้สัมผัสที่นุ่มนวล ลุ่มลึก โหยหวนล่องลอย ขณะเดียวกันก็ชวนให้เสียวสันหลังวูบวาบ สะท้อนถึงเบื้องหลังของสิ่งที่พบเห็นนี้ มีอะไรบางอย่างที่น่าหวาดสะพรึงกลัวแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่
The First Bath ให้สัมผัสที่เหมือนความฝันของเด็กชายหนุ่ม ในโลกที่ตัวเขายังไม่เคยไปมาก่อน ช่างมีความน่าพิศวงหลงใหล อัศจรรย์ใจ นั่นรวมถึง First Sex สำหรับเขาด้วย อันจะทำให้ยิ้มกริ่มไปได้ทั้งวัน
มีบทเพลงหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าเจ๋งมากๆ ใช้อธิบายถึงเหตุผลที่ Michael ตัดสินใจไม่เข้าเยี่ยม Hanna ในคุกได้อย่างสวยงามแฝงความหมาย
The Failed Visit ด้วยเสียงอันโหยหวนของ Oboe (ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของ Michael) หลังจากโซโล่บรรเลงไปสักพักด้วยความแน่วแน่มั่นคง อยู่ดีๆค่อยๆถูกกลบเกลื่อนด้วยไวโอลินประสานเสียง จนแทบไม่ได้ยินอะไรอีก จากนั้นไม่นานก็ทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจหันหลังกลับออกมา
อาจารย์วิชาสังคมศึกษา ชอบถามคำถามหนึ่ง ‘เราเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร?’ คำตอบสุดคลาสสิกก็คือ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก แต่การรับชมหนังเรื่องนี้ทำให้ผมพบเจออีกคำตอบหนึ่ง เพื่อคนรุ่นหลังรับผิดชอบต่อสิ่งที่บรรพบุรุษได้ริเริ่มสร้างกระทำทิ้งไว้
ช่วงเวลาหลายทศวรรษที่คนรุ่นใหม่สัญชาติเยอรมัน ทั้งๆมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลยกับการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาซี เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กลับถูกทั่วโลกตีตราจ่าหัว เพราะคนรุ่นพ่อ-แม่ ปู่-ย่า บรรพบุรุษ นาซี ได้กระทำสิ่งชั่วช้าสามานย์อัปรีย์ต่อมวลมนุษย์ ลูกหลานคนในประเทศชาตินี้มีหรือจะถือว่าเป็นคนดี
ถึงผมไม่ใช่คนที่ชอบเหมารวมทัศนคติของสังคม ‘เด็กเทคนิคมันชอบรวมกลุ่มยกพวกตีกัน’ แต่บางครั้งอคตินี้ก็ยังสามารถเกิดขึ้นในใจได้ ทั้งๆก็รู้อยู่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักเลงโฉดชั่ว เด็กเรียนคนดีก็มีถมไปกลับถูกเหมารวมรวบยอดไปหมด ‘ปลาตายตัวเดียวเน่ายกเข่ง’ นี่แสดงถึงอิทธิพลของสังคมที่มีพลังพลานุภาคยิ่ง สามารถชี้ชักครอบงำ บงการนำความคิดของคนได้โดยง่ายเสียเหลือเกิน
หลายคนที่รับชมหนังเรื่องนี้ เชื่อว่ายังคงมีทัศนคติต่ออดีตเจ้าหน้าที่นาซีเยอรมัน ผู้นำพาชาวยิวพาเรดเดินเข้าสู่ความตายในห้องรมแก๊ส จำต้องเป็นชั่วช้าเลวต่ำทรามสิ้นดี มิสมควรได้รับโอกาสให้อภัยหรือมีชีวิตอยู่, มีภาพยนตร์อยู่หลายเรื่องที่นำเสนอแนวคิดประมาณว่า ถ้าผู้บัญชาการ เจ้าหน้าที่ทหารนาซีเหล่านี้ ได้รับการปฏิบัติย้อนแย้งสู่ตนเอง พวกเขาคงรับรู้ซึ้งถึงความโง่เขลาเบาปัญญาในการกระทำของตน แต่ถ้าเรามองย้อนกลับขึ้นไปอีกชั้น แล้วคนที่เป็นนาซีละ กระทำสิ่งชั่วร้ายด้วยคำสั่ง หน้าที่ ความจำเป็น ถูกตราหน้าตัดสินโทษว่าคือสัตว์ประหลาด อมนุษย์ ชดใช้ความผิดจนสาสม แล้วจะมีใครไหมที่เห็นอกเข้าใจ ยกโทษให้อภัยกันได้
การกระทำของ Hanna Schmitz คงเป็นสิ่งที่หลายคนมิอาจสามารถยกโทษให้อภัย แต่มันไม่ได้จริงๆนะหรือ? กับคนที่เป็นชาวพุทธแท้ๆ น่าจะตอบกันได้ว่า “ไม่มีอะไรในโลกที่ไม่สามารถยกโทษให้อภัยกันไม่ได้” ทุกสิ่งอย่างอยู่ที่จิตใจของเรา ความยึดติดถือมั่นในอารมณ์เป็นสิ่งค่อยๆกัดกร่อนบ่อนทำลาย จนทำให้บุคคลผู้นั้นค่อยๆสูญเสียจิตวิญญาณและทุกสิ่งอย่าง ‘การปล่อยวาง’ ไม่ใช่การมองข้าม หรือพยายามทำให้หลงลืม แต่คือการครุ่นคิด ปุจฉา-วิปัสนา จนเกิดความเข้าใจเห็นแจ้ง โกรธแล้วได้อะไร? โกรธแล้วมีความสุขไหม? จะโกรธเกลียดเคียดแค้นไปจนถึงเมื่อไหร่?
ใจความของหนังเรื่องนี้ เป็นการสะท้อนผลกระทบต่อเนื่องของชาวเยอรมันรุ่นใหม่ (เล่าเรื่องในมุมมองของ Michael Berg) ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากบรรพบุรุษของพวกเขา ถึงฉันจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย แต่นั่นเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบได้เสียที่ไหน
การเพิกเฉยถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะกาลเวลาจะทำให้ผู้คนค่อยๆหลงลืมเลือนสิ่งชั่วร้ายนั้นไปได้เอง แค่ว่าอาจหลายทศวรรษ หรือจนกว่าคนรุ่นนั้นจะสูญเสียสิ้นชีวิตตายจากไปจนหมด (นี่คือเหตุผลการตายของ Hanna การจากไปของคนรุ่นเธอ จะทำให้ทุกสิ่งอย่างดำเนินหน้าต่อไปได้)
แต่สำหรับชาวเยอรมันบางคน การเพิกเฉยเป็นสิ่งที่มิอาจกระทำได้ ดูอย่าง Michael ครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธโอกาสการช่วยเหลือ Hanna (Hanna เพิกเฉยต่อการตายของชาวยิว <> Michael เพิกเฉยต่อการช่วยเหลือ Hanna) นั่นทำให้กลายเป็นตราบาปฝังจิตฝังใจ (Hanna มิอาจเขียนอ่านหนังสือได้ <> Michael มิสามารถใช้ชีวิตแต่งงาน หย่าร้างกับภรรยา) เมื่อถึงจุดๆหนึ่งทั้งสองก็เกิดความเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นผ่านไปมิอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้ วิธีการเดียวที่หลงเหลืออยู่คือกาเริ่มต้นใหม่ มอบสิ่งที่เป็น ‘ความหวัง’ เสียงอ่านนิยายวรรณกรรม (ตัวแทนของความมีอารยธรรม จินตนาการเพ้อฝันแฟนตาซี) มันอาจไม่ได้มีคุณค่าอะไรมากมาย แต่ก็ทำให้ชีวิตของพวกเขามีความหมายขึ้นโดยทันที
สำหรับตอนจบที่แตกต่างจากฉบับนิยาย หนังใช้การเล่าเรื่องอดีตของพ่อ Michael ส่งต่อให้ลูกสาวที่ถือว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นถัดๆไปอีก มันอาจไม่ได้มีความรู้สึกลึกซึ้งตราตรึงน่าจดจำเท่า แต่การถ่ายทอดนำพาไปยังสถานที่แห่งความทรงจำ นั่นคือวิธีการเดียวที่จะสืบสานเล่าต่อประวัติศาสตร์ ไม่ให้อดีตอันเลวร้ายหวนย้อนกลับมาบังเกิดขึ้นอีก
ด้วยทุนสร้าง $32 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาได้ $34.2 ล้านเหรียญ รวมทั้วโลก $108.9 ล้านเหรียญ, แม้เสียงวิจารณ์จะค่อนข้างก้ำกึ่ง แต่หนังเข้าชิง Oscar ถึง 5 สาขา คว้ามา 1 รางวัล
– Best Motion Picture of the Year
– Best Directing
– Best Actress (Kate Winslet) ** คว้ารางวัล
– Best Writing, Adapted Screenplay
– Best Cinematography
สำหรับ Golden Globe ในปีนี้ มีเรื่องพิลึกพิลั่นบังเกิดขึ้น เพราะ Winslet คว้าได้ทั้ง Best Actress for Drama จากเรื่อง Revolutionary Road (2008) และ Best Supporting Actress จาก The Reader (2008) ก็สร้างความประหลาดใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งพอ Oscar สตูดิโอ Weinstein เลยเลือกผลักดันเพียง The Reader ให้เข้าชิงนำหญิง (คงเพราะ Oscar มีกฎเขียนไว้ ห้ามนักแสดงเข้าชิงซ้ำสาขาเดียวกัน)
The Reader ไม่ใช่ผลงานการแสดงยอดเยี่ยมที่สุดของ Winslet แต่ถึงวาระต้องมอบให้สักที เพราะขณะนั้นเธอถือครองสถิติ เข้าชิง Oscar ครั้งที่ 6 ยังไม่ได้รางวัล (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ผลโหวตเลยล้นหลามกวาดเรียบแทบทุกสถาบัน,
มีคนให้ข้อสังเกตว่า Winslet เหมือนจะจงใจไม่เอ่ยชื่อของ Harvey Weinstein ในสุนทรพจน์กล่าวขอบคุณ ไม่ใช่เพราะเธอเคยถูกลวนลามข่มขืน แต่ไม่ชอบพฤติกรรมคุกคามที่คงได้มีโอกาสพบเจอเข้ากับตัวเอง
สิ่งที่ทำให้ผมตกหลุมรักหนังเรื่องนี้ มิใช่เรือนร่างอันเซ็กซี่ใหญ่ยานของ Kate Winslet หรือใจความการสำนึกรู้ผิด แต่คือการแสดงออกซึ่งความมีมนุษยธรรม รับผิดชอบต่อสิ่งที่แม้ตนเองไม่ได้ทำ แต่เพราะฉันเป็นส่วนหนึ่ง มันจึงเหมือนหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก่อให้เกิดประกายแห่งความหวัง จุดเริ่มต้นของอนาคตแสงสว่าง เช้าวันใหม่ที่สดใสกำลังเฝ้ารอคอยพวกเขาอยู่
แนะนำกับคอหนังรักโรแมนติก อีโรติก, นักกฎหมาย ทนายความ นักประวัติศาสตร์ศึกษาการตัดสินโทษของอาชญากรรมสงคราม (War Crime), นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ พยายามทำความเข้าใจตัวละคร, หลงใหลในการแสดงของ Kate Winslet, ความยะเยือกเย็นชาของ Ralph Fiennes และความไร้เดียงสาบริสุทธิ์ของ David Kross
จัดเรต 18+ กับภาพโป๊เปลือย ทัศนคติสุดโต่งของบางตัวละคร และผลลัพท์โศกนาฎกรรม
Leave a Reply