
The Red Shoes (1948)
: Powell & Pressburger ♠♠♠♠♠
(17/3/2023) เกือบสิบปีที่ Powell & Pressburger สรรค์สร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อ ต่อสู้เพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย มาวันนี้สงครามได้สิ้นสุดลง ถึงเวลาสรรค์สร้างผลงานสะท้อนอุดมการณ์ส่วนบุคคล เป้าหมายสูงสุดของศิลปินนั้นคือ ‘ตายเพื่อศิลปะ’
We had all been told for ten years to go out and die for freedom and democracy … and now the war was over, The Red Shoes told us to go out and die for art.
Michael Powell
บุคคลที่เรียกตนเองว่า ‘ศิลปิน’ มักมีความเชื่อมั่น อุดมการณ์อันแรงกล้า เป้าหมายสูงสุดในชีวิตคือการยินยอมตายเพื่อศิลปะ! คนธรรมดาทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ บ้าบอคอแตก ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ห่าเหวอะไร แต่ใครที่สามารถเข้าใจเหตุผล บรรลุศาสตร์ขั้นสูง (High-Art) จักค้นพบความทรงคุณค่า(ของงานศิลปะ)ที่ต่อให้เอาทั้งชีวิตเข้าแลก ก็ไม่รู้สึกสูญเสียดายถ้าต้องตายจากไป
ผมขอเปรียบเทียบกับสิ่งที่อาจทำให้หลายคนส่ายหัว การตัดเศียรถวายเป็นพุทธบูชา ยินยอมสละสิ่งล้ำค่าสำคัญที่สุด นั่นก็คือชีวิต อุทิศให้พุทธศาสนา … ชาวพุทธในสมัยพุทธกาลที่ค้นพบความตั้งใจอันแน่วแน่ บังเกิดจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า พร้อมกระทำด้วยใจอันบริสุทธิ์ ต่อหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ครบถ้วน) ถึงจะได้รับบารมีขั้นสูงสุดจากการถวายทานครั้งนี้ (ไอ้พวกลัทธิที่ทำกันในปัจจุบันมันคือการแอบอ้างทั้งนั้นนะครับ)
แต่อย่างไรก็ตาม ‘ตายเพื่อศิลปะ’ กับ ‘ตายเพื่อพุทธศาสนา’ มันมีความแตกต่างกันมากๆอยู่นะครับ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองจะตระหนักถึงคุณค่า เข้าใจความหมายของชีวิต เป้าหมายสูงสุดอยู่แห่งหนใด? สามารถมองการณ์ไกลได้ถึงขนาดไหน? โลกนี้-โลกหน้า ความเป็นอมตะนิรันดร์ของเราไม่เท่ากัน!
The Red Shoes (1948) คือผลงานมาสเตอร์พีซ ยอดเยี่ยมที่สุดในการร่วมงานระหว่าง Powell & Pressburger ชักชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงเป้าหมายสูงสุดของศิลปิน จักมีสักกี่คนที่สามารถยินยอมตายเพื่อศิลปะ ‘Arts vs. Life’ ผ่านการแสดงบัลเล่ต์อันน่าตื่นตระการ ด้วยลูกเล่นลีลา วิธีนำเสนอที่ไม่ใช่แค่ตั้งกล้องบันทึกการเต้นสไตล์ Astaire & Rogers แต่ยังเข้าไปมีส่วนร่วม กลายเป็นส่วนหนึ่ง (แบบเดียวกับ Raging Bull (1980) ของ Martin Scorsese นำกล้องเข้าไปในเวทีมวย บางครั้งแทนมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) และยังผันแปรจากรูปธรรมสู่นามธรรม … รับชมรอบนี้ผมรู้สึกว่า The Red Shoes (1948) เป็นภาพยนตร์ Musical ที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า Singin’ in the Rain (1952) เสียอีกนะ!
Michael Latham Powell (1905 – 1990) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Bekesbourne, Kent เป็นลูกชาวนา สำเร็จการศึกษา Dulwich College แล้วทำงานนายธนาคาร National Provincial Bank พอรู้ว่าไม่ใช่สิ่งชื่นชอบ ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์เมื่อปี ค.ศ. 1925 ด้วยการฟากฝังจากบิดายัง Victorine Studios ที่ Nice, ฝรั่งเศส เริ่มจากเป็นเด็กรับใช้ กวาดพื้น ชงกาแฟ ส่งของ รับบทตัวประกอบเล็กๆในหนังเงียบเรื่อง The Magician (1926), ต่อด้วยตากล้องภาพนิ่งให้กับ Alfred Hitchcock เรื่อง Champagne (1928), Blackmail (1929) และได้รับโอกาสกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Two Crowded Hours (1931)
Emeric Pressburger (1902 – 1988) ชื่อเดิม Imre József Pressburger นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์สัญชาติ Hungarian เกิดที่ Miskolc, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Jews เก่งคณิตศาสตร์ วรรณกรรมและดนตรี เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ Universities of Prague and Stuttgart แต่ต้องลาออกเพราะบิดาเสียชีวิต, เริ่มต้นทำงานเป็นนักข่าวอยู่ใน Hungary และ German แล้วอพยพสู่ Paris เมื่อ Nazi เริ่มเรืองอำนาจ และลักลอบขึ้นเกาะอังกฤษปี ค.ศ. 1935 โดยไม่มีพาสปอร์ตทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Emeric
Powell พบเจอกับ Pressburger เมื่อปี ค.ศ. 1939 ผ่านโปรดิวเซอร์ Alexander Korda ที่ว่าจ้างให้ Powell กำกับหนังเรื่อง The Spy in Black (1939) และ Pressburger พัฒนาบทภาพยนตร์, แม้ทั้งสองมีอุปนิสัยแตกต่างตรงกันข้าม แต่กลับกลายเป็นเพื่อนสนิท เพราะทัศนคติ/แนวคิดต่อการสร้างภาพยนตร์มีทิศทางเดียวกัน เพียงมองตาก็รับรู้ความต้องการอีกฝั่งฝ่าย, เมื่อปี ค.ศ. 1943 จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers สรรค์สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948) ฯลฯ รวมแล้วทั้งหมด 19 เรื่อง ก่อนแยกทางใครทางมัน ถือเป็นการร่วมงานของคู่หูเพื่อนรัก ที่ยิ่งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์
เกร็ด: ในช่วงแรกๆของการร่วมงาน Powell จะถือเครดิตผู้กำกับ Pressburger คือคนเขียนบท แต่ภายหลังจะยกขึ้นมาเทียบเท่า เป็นเครดิตร่วมทั้งกำกับและเขียนบท
เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1934 โปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ Alexander Korda ครุ่นคิดอยากสร้างภาพยนตร์ชีวประวัติ นักบัลเล่ต์ชายชื่อดัง Vaslav Nijinsky (1889/90-1950) ที่ได้รับยกย่อง “Greatest male dancer of the early 20th century” แตยังไม่ทันเริ่มทำอะไร กลับหมดความสนใจลงไป
ต่อมาปี ค.ศ. 1937, Korda หวนกลับมาสนใจภาพยนตร์เกี่ยวกับบัลเล่ต์อีกครั้ง สำหรับนำแสดงโดยว่าที่ภรรยา Merle Oberon มอบหมายให้ Pressburger พัฒนาบทโดยดัดแปลงวรรณกรรมเทพนิยาย (Fairy Tale) เรื่อง De røde sko หรือ The Red Shoes (1845) ประพันธ์โดย Hans Christian Andersen (1805-75) นักเขียนชาว Danish, เห็นว่ามีฟุตเทจลองถ่าย (Screen Test) รวมถึงการเต้นบัลเล่ต์ของ Oberon ที่ไม่ค่อยน่าประทับใจสักเท่าไหร่ แต่สาเหตุแท้จริงเกิดจากการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้โปรเจคแฟนซีลักษณะนี้ถูกยกเลิกงานสร้างโดยทันที!
ขอกล่าวถึงสักหน่อยถึง เทพนิยายรองเท้าสีแดง (The Red Shoes) นำเสนอเรื่องราวเด็กสาวชาวบ้าน Karen ได้รับการอุปการะจากหญิงสูงวัยผู้มั่งคั่ง เลี้ยงดูอย่างตามอกตามใจจนเติบโตเป็นหญิงสาวดื้อรั้น ยิ่งหลังจากซื้อรองเท้าสีแดงคู่ใหม่มาให้เป็นของขวัญ สวมใส่โดยไม่สนงานบุญงานบวชหรืองานอะไร แม้รับฟังคำทัดทานห้ามสวมเข้าโบสถ์แต่ก็อดไม่ได้ โดยไม่รู้ตัวถูกนายทหารสูงวัยหนวดแดงพูดคำสาปแช่ง “ขอให้สวมรองเท้าแดง และเต้นรำจนวันตาย” จู่ๆรองเท้าคู่นั้นพลันขยับเคลื่อนไหว ไม่สามารถถอดออก ทั้งกลางวัน-กลางคืน ตอนหลับ-ตื่น ฝนพรำ-ฟ้าใส ในทุ่งหญ้า-ป่าดง-พงไพร ได้รับบาดเจ็บทุกขเวทนา จนไม่สามารถเข้าร่วมงานศพแม่บุญธรรม … เรื่องราวหลังจากนี้มันโหดเหี้ยมเหี้ยมเกิ้น ผมเลยเปลี่ยนสีอักษรสีขาว ใครอยากอ่านก็ทำแถบดำดูเองนะครับ
Karen ตัดสินใจขอให้เพชฌฆาตตัดเท้าทั้งสองข้าง แต่เท้าที่อยู่ในรองเท้าแดงยังคงเต้นระบำเวียนวนอยู่เคียงข้าง พยายามขัดขวางไม่ให้หญิงสาวหวนกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติ เมื่อเธอเกิดความสาสำนึกผิดจึงสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้า นางฟ้าจึงปรากฎกาย รับฟังคำอธิษฐาน และจิตวิญญาณก็ได้โบยบินสู่สรวงสวรรค์
เกร็ด: Hans Christian Andersen ตั้งชื่อตัวละคร Karen ตามลูกพี่ลูกน้อง Karen Marie Andersen ที่เขามีความจงเกลียดจงชังเป็นพิเศษ, ส่วนเรื่องราวมาจากประสบการณ์วัยเด็ก (ไม่ได้เกี่ยวกับ Karen นะครับ) พบเห็นบิดาที่เป็นช่างทำรองเท้า ได้รับงานจากเศรษฐีนีคนหนึ่งนำผ้าไหมแดงมาให้ตัดเย็บรองเท้า เป็นของขวัญสำหรับบุตรสาว แต่ผลลัพท์กลับสร้างความไม่พึงพอใจ ‘You done nothing but spoil silk!’ นั่นเองทำให้ทำให้บิดาใช้กรรไกรตัดรองเท้าคู่ดังกล่าวต่อหน้าต่อตา ‘In that case, I may as well spoil my leather too!’
ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด Korda หย่าร้าง Oberon เลยไม่ได้มีความสนใจโปรเจคนี้อีก! แต่เป็น Pressburger ยังคงต้องการสานต่อสิ่งเคยพัฒนาไว้ ขอซื้อต่อลิขสิทธิ์ £9,000 ปอนด์ แล้วปรับแก้ไขรายละเอียดร่วมกับ Powell วางแผนโปรดักชั่นหลังเสร็จสร้าง Black Narcissus (1947)
บทหนังใหม่นี้นำแรงบันดาลใจมาจาก Sergei Diaghilev (1872-1929) ผู้เป็น Impresario (หรือคือ Artistic Director) ก่อตั้งคณะ Ballets Russes รวมถึงเคยเป็นหัวหน้าของ Nijinsky แต่พอรับรู้ว่าแอบแต่งงานกับนักแสดงนำ Romola de Pulszky จึงขับไล่ออกทั้งคู่เมื่อปี ค.ศ. 1923
สำหรับเรื่องราวนักเต้นบัลเล่ต์สาวตกหลุมรักนักดนตรีหนุ่ม ได้แรงบันดาลใจจาก Diana Gould (1912-2003) นักเต้นชาวอังกฤษ ที่ว่ากันว่าเคยเข้าตาของ Diaghilev พยายามชักชวนมาร่วมคณะการแสดง Ballets Russes แต่เขาพลันด่วนเสียชีวิตไปก่อนเมื่อปี ค.ศ. 1929, ขณะที่ Gould ค่อยๆสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักในยุโรป กระทั่งพบรักนักไวโอลิน/วาทยากร Yehudi Menuhin (1916-99) แต่งงานกันเมื่อปี ค.ศ. 1947
เรื่องราวของ Boris Lermontov (รับบทโดย Anton Walbrook) ผู้เป็น Impresario และก่อตั้งคณะ Ballet Lermontov ระหว่างทำการแสดงยัง Covent Garden Opera House หนึ่งในผู้เข้าชม Julian Craster (รับบทโดย Marius Goring) เกิดความตระหนักว่าบทเพลงที่ประพันธ์โดยอาจารย์ Professor Palmer ทำการลอกเลียนแบบผลงานของตน! จึงพยายามติดต่อเข้าหา Lermontov โดยไม่รู้ได้รับการว่าจ้างเป็นผู้ช่วงกำกับวง
ในงานเลี้ยงค่ำคืนเดียวกันนั้น Lermontov ถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมงานเลี้ยง แล้วได้รับรู้จัก Victoria ‘Vicky’ Page (รับบทโดย Moira Shearer) เกิดความชื่นชอบประทับใจ เลยชักชวนเข้าร่วมคณะ Ballet Lermontov แต่เพื่อไม่ให้เป็นถูกมองว่าเป็นเด็กเส้น จึงปล่อยเธอค่อยๆไต่เต้าจากตัวสำรอง นักเต้นประกอบ จนกระทั่งการจากไปแต่งงานของ Irina Boronskaya จึงมอบหมายบทบาทแสดงนำ The Ballet of the Red Shoes ประพันธ์เพลงโดย Craster
ความสำเร็จของ The Ballet of the Red Shoes ทำให้ชื่อเสียงของ Page และ Craster โด่งดังไกลทั่วยุโรป แต่โดยไม่รู้ตัวพวกเขาแอบชื่นชอบ ตกหลุมรักกันและกัน นั่นสร้างความไม่พึงพอใจต่อ Lermontov ถึงขนาดขับไล่ทั้งสองออกจากคณะ แม้เหมือนว่าต่างฝ่ายต่างไปได้ดีกับเป้าหมายใหม่ Page กลับยังคงโหยหาการแสดง The Red Shoes ราวกับว่าเธอไม่สามารถถอดรองเท้าแดงออกได้สักที
Anton Walbrook ชื่อจริง Adolf Anton Wilhelm Wohlbrück (1896 – 1967) นักแสดงสัญชาติ Austrian เกิดที่กรุง Vienna โตขึ้นได้ร่ำเรียนกับ Max Reinhardt กระทั่งการมาถึงของนาซี ทำให้ตัดสินใจอพยพสู่สหรัฐอเมริกา ไปๆกลับๆยุโรปช่วงระหว่างสงคราม ก่อนลงหลักปักถิ่นฐานยังประเทศอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Gaslight (1940), 49th Parallel (1941), The Life and Death of Colonel Blimp (1943), The Red Shoes (1948), La Ronde (1950), Lola Montès (1955) ฯ
รับบท Boris Lermontov ผู้เป็น Impresario ก่อตั้งคณะ Ballet Lermontov ภายนอกดูเริดเชิดเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตัวเอง แต่ต้องยอมรับในความเก่ง สามารถปลุกปั้นใครต่อใครจนประสบความสำเร็จมากมาย กระทั่งได้พบเจอกับ Vicky Page พร้อมผลักดันให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า ต่างฝ่ายต่างให้คำมั่นสัญญา แต่ต่อมาเธอกลับทรยศหักหลังด้วยการตกหลุมรักนักแต่งเพลงหนุ่ม Julian Craster สร้างความโกรธ รังเกียจ อิจฉาริษยา จึงขับไล่พวกเขาออกจากคณะ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงเฝ้ารอคอย เพราะเชื่อว่าฝ่ายหญิงจักต้องหวนหาตนเองอย่างแน่นอน
Anton conceals his humility and his warm heart behind perfect manners that shield him like suit of armor. He responds to clothing like the chameleon that changes shape and color out of sympathy with its surroundings.
Michael Powell กล่าวถึง Anton Walbrook
Walbrook เป็นคนมาดนิ่งๆ บุคลิกเข้มขรึม สีหน้าเอาจริงเอาจัง ไม่ชอบพบปะสุงสิง หรือเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ (ตัวจริงเห็นว่าก็เป็นเช่นนั้น Shearer เรียกเขาว่า ‘loner’ ชอบสวมแว่นตาดำ รับประทานอาหารคนเดียว) ขณะเดียวกันก็มารยาทเนี๊ยบสุดๆ แบบผู้ดี(รัสเซีย) มีความเริดเชิดเย่อหยิ่ง ทะนงตน หลงตนเอง เด็ดขาดในการตัดสินใจ เป้าหมายชีวิตต้องการอุทิศทุกสิ่งอย่างให้กับศิลปะการแสดง
เกร็ด: การพูดสองภาษาสลับไปมาของตัวละครนี้ ถือเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ภาพยนตร์ของ Powell & Pressburger (แม้ว่า Pressburger อยู่อังกฤษมาเป็นทศวรรษ ก็ยังคงชอบพูดสองภาษาสลับไปมา)
หลายคนมองความสัมพันธ์ระหว่าง Lermontov กับ Vicky (และ Craster) ในเชิงโรแมนติกสามเศร้า ส่งสายตาอิจฉาริษยา แต่สิ่งที่อยู่ภายในจิตใจตัวละคร ไม่ได้มีเรื่องเพศเจือปนอยู่เลยสักนิด! มันคืออาการไม่พึงพอใจ รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง เพราะฝ่ายหญิงละทอดทิ้งคำมั่นสัญญา ‘ตายเพื่อศิลปะ’ สำหรับชายคนนี้ไม่มีอะไรอื่นสำคัญยิ่งกว่า
The motives of the ballerina and her lover are transparent. But the impresario defies analysis. In his dark eyes we read a fierce resentment. No, it is not jealousy, at least not romantic jealousy. Nothing as simple as that.
นักวิจารณ์ Roger Ebert
มุมมองของนักวิจารณ์ Roger Ebert เปรียบเทียบ Lermontov กับปีศาจ Mephisto จากปรัมปรา Faust ที่พยายามล่อหลอกให้มนุษย์ขายวิญญาณ/ทำสัญญาทาส เพื่อเติมเต็มเป้าหมายความต้องการ
My notion is that Lermontov is Mephistopheles. He has made a bargain with Vicky: “I will make you the greatest dancer the world has ever known.” But he warns her: “A dancer who relies upon the doubtful comforts of human love will never be a great dancer — never.” Like the Satan of classical legend, he is enraged when he wins her soul only to lose it again. He demands obedience above all else.
Marius Re Goring (1912-98) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Newport, Isle of Wight บิดาคือนักวิจัยอาชญากรชื่อดัง Dr. Charles Buckman Goring (1870-1919) ส่วนมารดาเป็นนักเปียโนอาชีพ, ช่วงระหว่างเข้าศึกษา The Perse School, Cambridge สนิทสนมเพื่อนผู้กำกับ Humphrey Jenning ได้รับผลักดันให้เป็นนักแสดง โด่งดังจากฟากฝั่งละครเวที ส่วนภาพยนตร์ร่วมงานขาประจำ Powell & Pressburger อาทิ The Spy in Black (1939), A Matter of Life and Death (1946), The Red Shoes (1948) ฯ
รับบท Julian Craster นักเรียนดนตรีที่ตระหนักว่าถูกอาจารย์ขโมยเพลง จับพลัดจับพลูได้รับการว่าจ้างจาก Boris Lermontov เลยมีโอกาสทำเพลงประกอบ The Ballet of the Red Shoes แล้วตกหลุมรักนักเต้นสาว Vicky Page หลังจากถูกขับไล่พยายามจะเริ่มต้นใหม่ แต่ก็ตระหนักว่าต้องเลือกระหว่างทุ่มเทความรักต่อแฟนสาว หรืออาชีพการงานเพื่อเติมเต็มความเพ้อฝัน
ผมรู้สึกว่า Goring ดูแก่เกินแกงไปมากๆ เจ้าตัวขณะนั้นอายุ 34-35 ขณะที่ตัวละครน่าจะแค่ 20 กว่าๆ อยู่ในช่วงวัยร่ำเรียนมหาวิทยาลัย แต่เพราะผู้กำกับ Powell ชื่นชอบวิธีเข้าถึงตัวละคร ‘tact and unselfish approach to his craft’. ด้วยความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง หน้าไม่ให้แต่ใจไม่ยอมแพ้
สิ่งที่ผมรู้สึกประทับใจกับ Goring คือปฏิกิริยาแสดงออกที่มีความชัดเจน ตรงไปตรงไปมา ไม่มีอะไรซุกซ่อนเร้นภายใน (เหมือนตัวละครของ Walbrook) แสดงถึงความบริสุทธิ์จริงใจ พานผ่านช่วงเวลาสุข-ทุกข์ ดีใจ-เศร้าโศก ทั้งรัก-ทั้งเกลียด สามารถใช้เป็นบทเรียนชีวิต และครุ่นคิดถึงเป้าหมายปลายทาง
ความที่หนังมีฉากการเต้นจำนวนมาก Powell & Pressburger จึงตัดสินใจเลือกนักบัลเล่ต์แทนที่จะเป็นนักแสดงอาชีพ ‘dancers who could act rather than actors who could dance’. ติดต่อขอความช่วยเหลือ (Sir) Robert Helpmann (1909-86) จาก The Royal Ballet ซึ่งเคยร่วมงานภาพยนตร์ One of Our Aircraft Is Missing (1942) เป็นทั้งนักออกแบบท่าเต้น (Choreographer) และรับบทบาท Ivan Boleslawsky
นอกจากนี้ Helpmann ยังเป็นผู้นำแนะ Moira Shearer ซึ่งเคยร่วมงานโปรดักชั่น Miracle in the Borbals ให้มารับบทนำ Victoria Page แต่เธอกลับบอกปัดปฏิเสธ เพราะครุ่นคิดว่าภาพยนตร์อาจทำลายอาชีพนักเต้นของตนเอง
The Red Shoes was the last thing I wanted to do. I fought for a year to get away from that film, and I couldn’t shake the director off.
Moira Shearer
จริงๆหลังจากที่ Shearer บอกปัดปฏิเสธ ก็มีนักเต้นหลายคนเข้ามาทดสอบหน้ากล้องอย่าง Nana Gollner, Edwina Seaver รวมถึงนักแสดง Hazel Court, Ann Todd แต่กลับไม่ใครเป็นถูกใจ Powell & Pressburger
Her cloud of red hair, as natural and beautiful as any animal’s, flamed and glittered like an autumn bonfire. She had a magnificent body. She wasn’t slim, she just didn’t have one ounce of superfluous flesh.
Michel Powell กล่าวชื่นชม Moira Shearer
เหตุผลที่ Shearer เปลี่ยนใจยินยอมตอบตกลง เพราะได้รับการโน้มน้าว(เชิงครอบงำ)จาก Ninette de Valois ผู้ร่วมก่อตั้งคณะ Sadler’s Wells Dance Company ซึ่งเป็นต้นสังกัด(ของ Shearer) ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำให้เธอสูญเสียโอกาสในคณะ หลังเสร็จสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
Moira Shearer King (1926-2006) นักเต้นบัลเล่ต์สัญชาติ Scottish เกิดที่ Dunfermline, Fife ตั้งแต่เด็กมีโอกาสได้ร่ำเรียนการเต้นกับ Enrio Cecchetti พอครอบครัวย้ายมาปักหลักกรุง London กลายเป็นลูกศิษย์ Nicholas Legat สามารถส่งเธอเข้าโรงเรียน Sadler’s Wells Ballet School แต่การมาถึงของสงครามโลกจึงจำต้องลี้ภัยสู่ Scotland แล้วได้เข้าร่วมคณะ International Ballet ออกแสดงทัวร์ตามต่างจังหวัด มีชื่อเสียงจากเป็นนางแบบรองเท้า Ballet Shoes ในหนังสือของ Noel Streatfeild นั่นคือเหตุผลหนึ่งกระมังที่ไปเข้าตา Powell & Pressburger พยายามโน้มน้าวชักชวนมาร่วมแสดงภาพยนตร์ The Red Shoes (1948)
รับบท Victoria ‘Vicky’ Page นักเต้นสาวถูกฟากฝังเข้าร่วมคณะของ Boris Lermontov ค่อยๆไต่เต้าจากตัวสำรอง นักเต้นประกอบ จนกระทั่งการจากไปของ Irina Boronskaya จึงได้รับมอบหมายบทบาทแสดงนำ The Ballet of the Red Shoes ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่หลังจากตกหลุมรัก Julian Craster ถูกขับไล่ออกจากคณะ ถึงอย่างนั้นเธอยังใคร่ครวญโหยหา ต้องการหวนกลับมาทำการแสดง The Red Shoes อีกสักครั้ง
ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ หรือลีลาการเต้นของ Shearer ที่สร้างความโดดเด่น ติดตาตรึงใจผู้ชม แต่การแสดงในส่วนดราม่าก็สามารถถ่ายทอดความรู้สึกขัดแย้งภายในได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่แรกพบเจอ Lermontov แสดงสีหน้าไม่ค่อยพึงพอใจ, พอเข้าไปในคณะก็เกิดความงุนงงสับสน, ตอนกลายเป็นนักแสดงนำ เอ่อล้นด้วยรอยยิ้มอิ่มเอมหฤทัย, ไฮไลท์ไคลน์แม็กซ์ ฉันจะตัดสินใจอย่างไรระหว่าง Arts vs. Life สับสนกระวนกระวาย โล้เล้ลังเลใจ แล้ววิ่งออกไป …
ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff (1914-2009) ตากล้องสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Great Yarmouth, Norfolk ครอบครัวเป็นเจ้าของ Music Hall ทำให้รับรู้จักโปรดักชั่นภาพยนตร์มาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ พออายุ 15 ทำงานเป็นผู้ช่วยตากล้อง เด็กตอกสเลท หนึ่งในนั้นคือ The Skin Game (1931) ของผู้กำกับ Alfred Hitchcock, ค่อยๆไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมกล้อง (Camera Operator) ในสังกัด London Films ทำให้มีโอกาสถ่ายทำ Wings of the Morning (1937) ภาพยนตร์ Technicolor เรื่องแรกของประเทศอังกฤษ, หลังสงครามได้มีโอกาสร่วมงานผู้กำกับ Powell & Pressburger ตั้งแต่ควบคุมกล้อง The Life and Death of Colonel Blimp (1943), ได้รับเครดิตถ่ายภาพ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The African Queen (1951), The Barefoot Contessa (1954), War and Peace (1956), Death on the Nile (1978), Conan the Destroyer (1984) ฯ
ในตอนแรก Cardiff ไม่ได้มีความชื่นชอบบัลเล่ต์สักเท่าไหร่ เลยตั้งใจจะบอกปัดโปรเจคนี้ แต่หลังจากบีบบังคับตนเองให้รับชมการแสดง สังเกตการณ์เบื้องหลังโปรดักชั่นอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ค้นพบความลุ่มหลงใหล และพยายามครุ่นคิดหาวิธีถ่ายทำการแสดงบัลเล่ต์บนเวที ที่ไม่ใช่แค่ตั้งกล้องบันทึกภาพสไตล์ Astaire & Rogers
เกร็ด: สไตล์การถ่ายภาพในหนังของ Astaire & Roger คือตั้งกล้องไว้เบื้องหน้า แล้วบันทึกภาพการเต้นระบำต่อเนื่องหลายนาทีโดยไม่มีการตัดต่อ/สลับสับเปลี่ยนมุมกล้อง วิธีการดังกล่าวมุ่งเน้นขายความสามารถของนักเต้น เห็นว่าต้องถ่ายทำหลายสิบ-ร้อยเทค เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดแม้แต่น้อย
ก่อนหน้านั้นไม่นาน Cardiff มีโอกาสเดินทางไปดูงานสามเดือนยัง Hollywood ได้พบเห็นอุปกรณ์ให้กำเนิดแสงรุ่นใหม่ Mole Richardson Type 450 Molarcs มอบผลลัพท์อันน่าทึ่ง ถึงขนาดสั่งซื้อนำกลับอังกฤษ สำหรับใช้ถ่ายทำซีเควนซ์การเต้นบัลเล่ต์โดยเฉพาะ … หน้าตาเป็นยังก็ตามรูป มีชื่อเล่น ‘Brute’

ส่วนใหญ่ของหนังถ่ายทำยังสถานที่จริง ตามโรงแรม โรงละคร คฤหาสถ์หรู ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และโมนาโก ขณะที่ฉากภายกลับมายัง Pinewood Studios ณ กรุง London
- England
- Royal Opera House, Covent Garden (โรงละครที่ใช้ซักซ้อม ถ่ายทำเบื้องหลังคณะบัลเล่ต์)
- The Mercury Theatre, Notting Hill Gate (โรงละครที่ Vicky ทำการแสดง Swan Lake)
- ปิดกิจการไปเมื่อปี ค.ศ. 1987 ปัจจุบันถูก Renovate เป็นอย่างอื่นไปแล้ว
- France
- Villa Leopolda, Alpes-Maritimes
- ติดกับ French Riviera (คฤหาสถ์ของ Lermontov)ราคาขายเมื่อปี 2008 สูงถึง $750 ล้านเหรียญ!
- Opéra National de Paris Palais Garnier, Paris
- สถานีรถไฟ Gare de Lyon, Paris (ฉากร่ำลา Irina)
- Villa Leopolda, Alpes-Maritimes
- Monaco
- Hotel de Paris Monte-Carlo
- Monte Carlo Railway Station
- Theatre de Monte-Carlo
โปรดักชั่นของหนังเริ่มต้นวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1947 โดยมีแผนการถ่ายทำประมาณ 15 สัปดาห์ แต่ความยุ่งยากและท้าทายเกิดขึ้นระหว่างซีเควนซ์การแสดงบัลเล่ต์ ใช้เวลายาวนานถึง 6 สัปดาห์ ซึ่งล้าช้ากว่ากำหนดไปมากๆ ผลลัพท์ทำให้กว่าจะปิดกล้องก็ 21 พฤศจิกายน รวมๆแล้วประมาณ 24 สัปดาห์ (มีหยุดพัก 2 สัปดาห์ช่วงเดือนกันยายน)


ถ้าไม่นับ Opening Credit ช็อตแรกของหนังคือการที่พนักงาน Royal Opera House กำลังเดินลงบันได นี่แฝงนัยยะความหมายอะไรไหม? ช่วงกลางเรื่องจะมีฉากที่ Vicky เดินขึ้นบันไดคฤหาสถ์ Villa Leopolda (ของ Lermontov) นั่นคือช่วงเวลาไต่เต้าสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงาน (ครั้งแรกที่ได้รับโอกาสเป็นนักแสดงนำ) เช่นนั้นแล้วอารัมบทขณะนี้อาจจะสื่อถึงการหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น และเปิดโอกาสให้ Julian Craster ได้เรียนรู้บางสิ่งอย่าง

แรกพบเจอระหว่าง Vicky กับ Lermontov มีรายละเอียดเล็กๆที่น่าสนใจ
- ด้านข้างของ Vicky คือเทียนไข เปลวไฟ แสงแห่งชีวิต หรือก็คือหญิงสาวที่มีความเจิดจรัส สร้างความสนใจแรกพบให้กับ Lermontov หญิงอื่นที่อยู่ด้านหลังดูเลือนลาง ไร้ความน่าสนใจโดยทันที
- ทางฟากฝั่งของ Lermontov แม้รายละเอียดด้านหลังจะเบลอๆ (แสดงถึงความไม่สนใจอะไรอย่างอื่น) แต่พอสังเกตออกว่าจงใจถ่ายติดดอกไม้ อาจสื่อถึงจิตใจอันงดงาม เพราะความต้องการ/เป้าหมายของชายคนนี้ สนเพียงอย่างหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่เคยมีความชั่วร้ายอื่นเจือปน
บ่อยครั้งที่ Lermontov จะพูดคำถามเชิงปรัชญา “Why do you want to dance?” ซึ่งคำตอบที่ได้รับเดียวกับ “Why do you want to live?” นั่นแปลว่า dance=live การเต้นทำให้ฉันรู้สึกเหมือนมีชีวิต (นามธรรม) และในทางกลับกันการมีชีวิตทำให้ฉันต้องเต้นระบำ (รูปธรรม)


ความมหัศจรรย์แรกของ The Red Shoes (1948) ก็คือการเต้นบัลเล่ต์ Swan Lake ของ Vickey ช่วงไคลน์แม็กซ์จะมีการหมุนตัว 360 องศา ซึ่งจะมีการแทรกภาพ ‘Point-of-View’ แทนสายตาหญิงสาวด้วยเทคนิค Whip-Pan (ทำการหมุนกล้องด้วยความเร็ว จนเห็นสิ่งต่างๆเคลื่อนพานผ่านเพียงเสี้ยววินาที) มองไปรอบๆผู้ชมจากระยะ Long Shot → Medium Shot → Close-Up Shot แล้วสบสายตากับ Lermontov นั่นทำให้หญิงสาวบังเกิดรอยยิ้มกริ่มเล็กๆ (ขยับใบหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ชมสามารถสัมผัสได้ว่ามันคือรอยยิ้มแห่งความดีใจ)



ณ ห้องซ้อมยัง Opéra National de Paris ระหว่างที่ Irina Boronskaya กำลังซักซ้อมการแสดง Giselle, ou les Wilis (1841) จู่ๆเธอก็หยุดเต้น ป่าวประกาศว่ากำลังจะแต่งงาน ทำให้ทุกคนที่ยืนอยู่ห่างๆ กรูเข้าห้อมล้อมรอบตรงกลาง ยกเว้นเพียง Lermontov แสดงสีหน้าไม่พึงพอใจ แล้วหนีหายจากสถานที่แห่งนี้
เกร็ด: Giselle หรือ Giselle, or The Wilis การแสดง ‘ballet-pantomime’ หรือ Romantic Balle ความยาวสององก์ ประพันธ์โดย Adolphe Adam นำเสนอเรื่องราวของผู้ดีหนุ่มปลอมตัวมาชื่อ Albrecht ตกหลุมรักหญิงสาวชาวบ้าน Giselle แต่ความจริงถูกเปิดโปงโดยคู่แข่งหัวใจ Hilarion ทำให้ฝ่ายหญิงกลายเป็นบ้า หัวใจล้มเหลวเสียชีวิต, องก์สองวิญญาณของ Giselle ถูกปลุกขึ้นจากหลุมศพโดย Wilis (วิญญาณชั่วร้ายที่เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น ต้องการเกี้ยวพาบุรุษให้เต้นรำจนเหนื่อยตาย) เป้าหมายของหญิงสาวก็คือ Albrecht ที่มาเคารพสุสาน แต่สุดท้ายก็ความรักก็สามารถปลดปล่อยทั้งสองให้เป็นอิสระ
สองช็อตนี้มองผิวเผินเหมือนไม่มีอะไร แต่สามารถสะท้อนความสนใจของคนรอบข้างต่อ Irina
- ระหว่างซ้อมเต้น ในฐานะนักแสดง ทุกคนเพียงยืนมอง รักษาระยะห่าง
- แต่เมื่อประกาศว่าจะแต่งงาน แทบทุกคนกรูเข้าหา แสดงความยินดี กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจ
นี่แสดงถึงความสนใจของคนทั่วๆไป พวกเขาไม่ได้ลุ่มหลงใหลมายาคติ ‘ตายเพื่อศิลปะ’ แต่คือพยายามมองหาจุดสมดุลระหว่างชีวิต-การงาน พอประกาศว่าจะแต่งงาน ทุกคนจึงล้อมวงเข้ามาแสดงความยินดี ไม่มีอีกแล้วที่ต้องตื่นเช้า ซ้อมเต้น ฟังคำพร่ำบ่น เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทนขาด


การแสดงครั้งสุดท้ายของ Irina ก็คือเรื่อง Giselle (1941) น่าจะเป็นช่วงขณะองก์สอง เพราะเห็นหลุมฝังศพ และมีเรื่องราวของนักเต้นหญิง (Giselle) พยายามเกี้ยวพานักเต้นชาย (Albrecht) ขณะเดียวกัน Lermontov ก็พร่ำบ่นด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้น (ไม่พึงพอใจที่ Irina กำลังจะทอดทิ้งคณะไปแต่งงาน) ราวกับพวก Wilis วิญญาณชั่วร้ายที่ปลุก Giselle ขึ้นจากหลุมศพ

Vicky แต่งตัวราวกับเจ้าหญิง จำต้องเดินขึ้นบันไดสู่คฤหาสถ์ Villa Leopolda สถานที่ดูราวกับพระราชวังบนสรวงสวรรค์ จุดสูงสุดแห่งอารยธรรม ซึ่งสามารถสื่อถึงการไต่เต้า ก้าวสู่จุดสูงสุด หรือคือการที่หญิงสาวและ Julian Craster (ที่มาถึงก่อน นั่งรออยู่เบื้องบน) กำลังจะได้รับโอกาสครั้งสำคัญของชีวิต รับบทแสดงนำ และประพันธ์เพลงประกอบการแสดงชุดใหม่


การพบเจอกับบรรดาทวยเทพของ Vicky และ Craster มีวิธีการนำเสนอ/ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างตรงกันข้าม
- สำหรับ Vicky จะเต็มไปการตัดต่อสลับไปมา ระยะภาพไกล → กลาง → ใกล้ อีกทั้งยังได้รับการเอาใจใส่จาก Lermontov เดินเข้าหา จับมือ พาไปส่งตรงประตู แต่สมาชิกคนอื่นกลับยังคงยืนรักษาห่างๆ (เพราะพวกเขายังไม่พบเห็น/ยืนยันความสามารถแท้จริงของเธอ)
- ตรงกันข้าม Craster ตลอดทั้งซีนไม่มีการตัดต่อสักครั้งเดียว (ถ่ายทำแบบ Long Take) ถ่ายภาพจากระยะไกลตั้งแต่เข้าห้อง เดินมาเล่นเปียโน สร้างความประทับใจให้ทุกคน ต่างเข้าห้อมล้อมรอบ กล่าวคำชื่นชม Lermontov จึงมอบหมายหน้าที่ แล้วเขาก็ออกจากเฟรมไป (ไม่มีใครไปส่งตรงประตู)



ผมครุ่นคิดว่าผู้กำกับ Powell ไม่ได้อยากถ่ายทำในสตูดิโอสักเท่าไหร่ แต่เหมือนว่า Moira Shearer จะติดปัญหาบางอย่างจึงไม่ได้เดินทางไป Monaco (อันนี้เกิดจากการสังเกตของผมเองนะครับ) ด้วยเหตุนี้เลยจำต้องใช้วิธีการเดียวกับ I Know Where I’m Going! (1945) คือใช้นักแสดงแทนสำหรับช็อตระยะไกล(ไม่เห็นใบหน้า) ส่วนการโคลสอัพก็ถ่ายทำในสตูดิโอ ประกอบด้วยฉากสนทนายามค่ำคืนตรงระเบียง (สถานที่เดียวกับที่ตัวละครกระโดดจะฆ่าตัวตาย) และผู้คนเข้าห้อมล้อมตรงรางรถไฟ
แต่โดยไม่รู้ตัวการถ่ายทำในสตูดิโอของฉากสนทนายามค่ำคืนตรงระเบียง กลับเข้ากันได้ดีมากๆกับหนัง เพราะก่อนหน้านี้ตัวละครทั้งสองเพิ่งได้รับโอกาสครั้งสำคัญ กลายเป็นนักแสดงนำ/ทำเพลงประกอบการแสดงชุดใหม่ มันช่างเป็นความรู้สึกเหนือจริง ราวกับจินตนาการเพ้อฝัน
และไคลน์แม็กซ์ระหว่างที่ Vicky ตัดสินใจกระโดดลงจากระเบียงฆ่าตัวตาย ภาพทิวทัศน์สถานที่จริง ยังให้ความรู้สึกเหมือนการกลับสู่โลกความจริงที่โหดร้าย


นี่น่าจะเป็นฉากแรกๆที่ถ่ายติดรูปปั้นด้านหลัง ลักษณะเหมือนเทวดาติดปีก แสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้ราวกับสรวงสวรรค์ พระราชวังของพระเจ้า หรือคือจุดสูงสุดในอาชีพการงานของทั้ง Vicky และ Craster ได้รับบทนำ/ทำเพลงประกอบการแสดง เหม่อมองออกไปพบเห็นทิวทัศน์แห่งความสำเร็จ
จะว่าไปห้องแห่งนี้ (ห้องทำงานของ Lermontov) ออกแบบให้มีความหรูหรา ลวดลายงามตา เฟอร์นิเจอร์น่าจะราคาแพงๆทั้งนั้น แสดงถึงความร่ำรวย ชื่อเสียง-ความสำเร็จ จุดสูงสุดในอาชีพการงาน

รองเท้าแดงไม่อยู่ที่นี่ แล้วมันอยู่ตรงไหน? นี่อาจดูเป็นการละเล่นตลก นำเสนอความวุ่นๆวายๆก่อนการแสดงรอบปฐมทัศน์ แต่เราสามารถขบครุ่นคิดในเชิงปรัชญา ชักชวนให้ตั้งคำถาม รองเท้าแดงคืออะไร? สวมใส่แล้วจะเกิดสิ่งใด?
ขณะที่รองเท้าแดงในเทพนิยายของ Hans Christian Andersen ต้องการเสี้ยมสอนมารยาทสังคม ความถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้ลุ่มหลงในสิ่งยั่วเย้ายวนจนเกิดความหลงผิด, รองเท้าแดงในภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) ผมมองว่าคือสัญลักษณ์ของความหมกหมุ่น ลุ่มหลงใหล (Obsession) อุดมคติของศิลปินในการสรรค์สร้างผลงานศิลปะ (เหมารวมศาสตร์ทุกๆแขนง) เมื่อสวมใส่จักทำให้กลายเป็นนิจนิรันดร์

Ballet of the Red Shoes ความยาวประมาณ 16 นาที ใช้นักแสดงทั้งหมด 53 คน ระยะเวลาถ่ายทำประมาณ 6 สัปดาห์ ดูแลงานสร้างโดย Hein Heckroth ตระเตรียมฉากพื้นหลังประมาณ 120 ภาพวาด!
Shearer เล่าถึงความยุ่งยากในการถ่ายทำซีเควนซ์นี้ เพราะมันไม่ใช่แค่เต้นครั้งเดียวผ่านแบบการแสดงสดบนเวที ซีนหนึ่งใช้เวลาเตรียมการหลายชั่วโมง กว่าจะถ่ายทำเสร็จก็อีกหลายชั่วโมง แถมยังต้องเต้นท่าเดิมซ้ำๆจนกว่าผู้กำกับจะพึงพอใจ นี่ทำให้แม้แต่นักเต้นอาชีพบางคนยังรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยหน่าย
[ballet sequence was] so cinematically worked out that we were lucky if we ever danced for as long as one minute.
Moira Shearer
ซีเควนซ์ Ballet of the Red Shoes ถือได้ว่าเป็น ‘มาสเตอร์พีซ’ ของหนังเพลง (Musical) แพรวพราวด้วยเทคนิค ลูกเล่นภาพยนตร์ ไม่เพียงบันทึกภาพการแสดงบัลเล่ต์ แต่ยังเติมเต็มจินตนาการเพ้อฝัน จากรูปธรรมสู่นามธรรม ทั้งการขยับเคลื่อนเลื่อนกล้อง บางครั้งเพียงแช่ภาพไว้เฉยๆเพื่อสร้างระยะห่างใกล้-ไกล-ไกลออกไป, ใช้แสง-สีสัน-เงามืด, ภาพซ้อน (Double Exposure), Fade In-Out, Whip Pan, Slow-Motion, Reverse Shot ฯลฯ … แค่เพียงซีเควนซ์นี้ก็ตื่นตระการตากว่า Singin’ in the Rain (1952) ทั้งเรื่องเสียอีกนะ!


ความมหัศจรรย์แรกของซีเควนซ์นี้ คือขณะสวมใส่รองเท้าแดง ผมแนะนำให้ลองจับจ้องแบบไม่กระพริบตา จะสังเกตเห็นด้ายสีดำเส้นเล็กๆ แต่การฉายภาพช็อตนี้น่าจะเป็น Reverse Shot (คือใช้เส้นด้ายดึงเชือกรองเท้าที่ผูกออก แล้วทำการฉายภาพย้อนกลับจากหลังไปหน้า)

หลังจากสวมใส่รองเท้าแดง หญิงสาวก็เริงระบำไปเรื่อยๆ จากร้านหนึ่งสู่ร้านหนึ่ง จนกระทั่งพบเห็นเศษกระดาษหนังสือพิมพ์ร่วงหล่น ผู้คนทอดทิ้งตัวลงหลับนอน ค่ำคืนนี้ไม่หลงเหลือผู้อื่นใดบนท้องถนน แต่เธอยังคงโลดเต้นต่อไปไม่หยุดไม่ย่อน และเมื่อมาถึงบ้านของตนเอง กลับถูกเงามืดฉุดกระชากลากพา ทำให้ล่องลอยปลิดปลิวไปกับสายลม



เงามืดที่พยายามฉุดกระชากลากพาหญิงสาวนั้น เมื่อหันกลับไปมองจะพบเห็นภาพของคนสองคน นั่นคือ Lermontov และ Craster นี่เป็นความพยายามซ้อนทับระหว่างการแสดง ⇔ ชีวิตจริง พวกเขาพยายามจะครอบครอง Vicky ด้วยเป้าหมายแตกต่างกันไป


จากนั้นการเริงระบำของหญิงสาว ก็ล่องลอยสู่ดินแดนนามธรรม (Abstraction) ผมเองก็จนปัญญาที่จะบอกว่ามันคือสถานที่แห่งหนไหน แต่เราสามารถเพลิดเพลินไปกับความงดงามภาพวาดสวยๆ เทคนิคภาพยนตร์ที่น่าตื่นตระการตา



‘มนุษย์หนังสือพิมพ์’ มันคือการเปลี่ยนแปรสภาพจาก รูปธรรม ⇔ นามธรรม กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ Vicky เคยย่ำเหยียบ (ทั้งตอนหลังจากสนทนากับ Craster ตรงระเบียง, และขณะเต้นบัลเล่ต์ยามดึกดื่นผู้คนหลับนอน) จู่ๆก็กลายสภาพมีรูปร่างเหมือนมนุษย์ (นักแสดงสวมใส่ชุดลวดลายหนังสือพิมพ์) ซึ่งอาจสื่อถึงชื่อเสียง ความสำเร็จ การได้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ (จากเคยเพ้อใฝ่ฝัน วันหนึ่งก็สามารถทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง/ฝันกลายเป็นจริง)
เกร็ด: ผมอ่านเจอว่ามนุษย์หนังสือพิมพ์ตนนี้ ขยับเคลื่อนไหวโดยใช้สลิง/ลวดเหล็ก ควบคุมทิศทางจากเบื้องบน

หลังจากเริงระบำพานผ่านสถานที่/ผู้คนในเชิงนามธรรม โดยไม่รู้ตัวหญิงสาวดำเนินมาจนถึงฉากเวที นี่คือลักษณะของฝันซ้อนฝัน ‘story within story’ ตัวละครกำลังทำการแสดงอยู่บนเวที แล้วก็เริงระบำมาจนถึงเวที(ซ้อนเวที) ผมเปรียบเทียบกับการหันกระจกสองบานเข้าหากัน ภาพพบเห็นจะเกิดการซ้อนซับซ้อนไม่รู้จักจบจักสิ้น (Infinite) นั่นสามารถเรียกว่าความอมตะนิรันดร์
จะมีขณะหนึ่งที่วาทยากร Craster เดินขึ้นเวที แต่พอมาถึงแสงไฟกลับเปลี่ยนเป็นอีกนักแสดงบัลเล่ต์ (แล้วเขาก็หวนกลับมาปรากฎตัวอีกครั้งตำแหน่งเดิม) นี่คือการสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่าง รูปธรรม ⇔ นามธรรม ชีวิตจริง ⇔ การละคอน ก่อนหน้านี้ตอนภาพเงาก็เคยเปรียบเทียบให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของตัวละครมาแล้ว
นอกจากนี้ยังมีการแปรเปลี่ยนจากที่นั่งผู้ชม กลายเป็นคลื่นลมซัดโถมเข้าชายฝั่ง ผมมองว่านั่นคือทิวทัศน์แห่งความสำเร็จ (ล้อกับตอนที่อธิบายรูปปั้นเทวดาติดปีก) เสียงตอบรับ/ปรบมือจากผู้ชมเปรียบดั่งคลื่นลม กำลังถาโถมใส่การแสดงชุดนี้ (จริงๆมันมองได้ทั้งคลื่นลมแห่งความสำเร็จและหายนะ)


ก่อนหน้านี้ Craster เคยสนทนากับ Vicky กล่าวถึงการเปลี่ยนแปรสภาพ เมื่อคู่เต้นยกเธอขึ้นบนอากาศ จักทำให้กลายเป็นดอกไม้ปลิดปลิว นกสีขาวโบยบิน และก้อนเมฆล่องลอยบนท้องฟ้า เหล่านี้ล้วนคือสัญลักษณ์ของอิสรภาพ ได้รับการปลดปล่อย ทุกสรรพสิ่งอย่างล้วนคืออันหนึ่งเดียวกัน!
And when you’re lifted into the air by your partner, my music will transform you.
A flower… swaying in the wind.
A cloud… drifting in the sky.
A white bird… flying.




หลังเสร็จจากเริงระบำในโลกแห่งนามธรรม แทนที่ดำเนินต่อเนื่องโดยทันที กลับมีการตัดมาด้านหลังเวทีเพื่อทำการเปลี่ยนซีน/เปลี่ยนเสื้อผ้านักแสดง นี่ถือเป็นวิธีปลุกตื่นตัวละครให้หวนกลับสู่โลกความจริง โดยใช้ลูกเล่นละครเวทีได้อย่างชาญฉลาดมากๆ … คล้ายๆกับ Persona (1966) ที่จู่ๆฟีล์มขาด ภาพหยุดฉาย นั่นคือการใช้ลูกเล่นภาพยนตร์ที่เคลือบแฝงนัยยะบางอย่างต่อเรื่องราว

ต้นฉบับของ Hans Christian Andersen หญิงสาวทำการตัดเท้าของตนเองสำเร็จ! แต่สื่อภาพยนตร์ยุคสมัยนั้นย่อมไม่สามารถทำตามเทพนิยาย วิธีการของ Powell & Pressburger ต้องชมว่าล่อหลอก (คนที่เคยอ่านต้นฉบับ) ได้อย่างเสียวสันหลัง จู่ๆใบมีดกลับกลายเป็นกิ่งก้านใบ ได้อย่างไรคงไม่มีใครตอบได้
ผมคิดว่าน่าจะยกเครดิตให้กับ Pressburger เพราะการตัดทิ้งเรื่องราวอันสุดโต่งจากต้นฉบับเทพนิยาย ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดของหนังลงได้ระดับหนึ่ง … แต่เหตุผลหลักๆน่าจะหลีกเลี่ยงกองเซนเซอร์เสียมากกว่านะครับ

หลังจาก Vicky ไม่สามารถตัดเท้าตนเอง เธอจึงลุกขึ้นมาโลดเต้นด้วยความสุดเหวี่ยง คลุ้มบ้าคลั่ง ราวกับคนกำลังสูญเสียสติแตก ให้สังเกตฉากด้านหลังจะค่อยๆปกคลุมด้วยความมืดมิดจนกลายเป็นพื้นดำสนิท หลงเหลือเพียงแสงสีแดง(และเหลือง) กระพริบ เคลื่อนหมุน ราวกับไฟ Disco … สะท้อนสภาพจิตใจของหญิงสาวที่หมดสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง


หลังการแสดงรอบปฐมทัศน์สิ้นสุดลง เช้าวันถัดมา Vicky เข้าห้องซ้อมที่ยังคงว่างเปล่า (สถานที่แห่งนี้ไม่ได้หรูหราอลังการเหมือนตอน Irina ซักซ้อมการแสดงชุดสุดท้าย) ภาพสะท้อนในกระจกยิ่งทำให้ช็อตนี้ดูเคว้งคว้าง เวิ้งว้าง … เหมือนต้องการสื่อว่า ณ จุดสูงสุด/ความสำเร็จในอาชีพการงาน กลับทำให้เธอรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง

หลังจากความสำเร็จของ The Red Shoes จะพบเห็นชุดการแสดงอื่น ซึ่งแม้ปรากฎเพียงไม่กี่เสี้ยววินาที แต่ก็เคลือบแอบแฝงนัยยะอยู่เหมือนกัน
- Petrushka (1911) ประพันธ์โดย Igor Stravinsky สำหรับการแสดงคณะ Ballets Russes รอบปฐมทัศน์ยัง Théâtre du Châtelet, Paris นำแสดงโดย Vaslav Nijinsky และ Tamara Karsavina
- เล่าเรื่องราวความรัก อิจฉาริษยาของหุ่นสามตัว ถูกสร้างขึ้นให้มีชีวิตโดย Charlatan เมื่อปี ค.ศ. 1830 เหตุการณ์วุ่นๆเกิดจาก Petrushka ตกหลุมรัก Ballerina แต่เธอกลับชื่นชอบพอ Moor สร้างความโกรธเกลียดเคียดแค้น สองหนุ่มเลยต่อสู้ท้าดวล Petrushka ถูกฆ่าแล้วกลายเป็นวิญญาณร้ายหวนกลับมาหลอกหลอนในโรงละครเวที
- จากเรื่องราวดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบตรงๆกับ
- Petrushka = Lermontov
- Ballerina = Vicky
- Moor = Craster
- แต่จากฉากที่พบเห็นในหนังคือหญิงสาวกำลังโลดเต้น เริงระบำ สามารถสื่อถึงความยินดีปรีดาจากความสำเร็จที่เพิ่งได้รับ กระมัง
- La Boutique fantasque หรือ The Magic Toyshop หรือ The Fantastic Toyshop (1919) บัลเล่ต์หนึ่งองก์แต่งโดย Léonide Massine สำหรับคณะการแสดง Ballets Russes รอบปฐมทัศน์ยัง Alhambra Theatre, London
- นำเสนอเรื่องราวของนักสร้างของเล่น (Toymaker) ที่ทำการสรรค์สร้างหุ่นสาวสวย (Dancing Doll) ให้ขยับเคลื่อนไหวตามคำสั่ง แต่พอยามค่ำคืนเธอกลับลุกขึ้นมาโยกเต้นได้ด้วยตนเอง
- เราสามารถเปรียบเทียบตรงๆกับ
- นักสร้างของเล่น = Lermontov
- หุ่นสาวสวย = Vicky
- ฉากที่พบเห็นในหนัง นักสร้างของเล่นกำลังทำให้หุ่นสาวสวยขยับเคลื่อนไหว หรือก็คือ Lermontov พยายามควบคุมครอบงำ Vicky ให้ดำเนินไปตามวิถีทางของตนเอง
- Les Sylphides (1907) คือการแสดง ‘ballet blanc’ แบบไม่มีเนื้อเรื่องราว แต่มอบสัมผัสของ ‘romantic reverie’ เริงระบำไปตามห้วงอารมณ์ โดยทำดัดแปลงจากหลายๆบทเพลง(ที่โคตรๆโรแมนติก)ของ Frédéric Chopin ออร์เคสตราโดย Alexander Glazunov โด่งดังจากคณะการแสดง Ballets Russes เมื่อปี ค.ศ. 1909 นำแสดงโดย Vaslav Nijinsky และ Tamara Karsavina … เป็นหนึ่งในชุดการแสดงว่ากันว่าโด่งดังที่สุดของคณะ
- สังเกตจากความอ่อนช้อย งดงาม สามารถพรรณาความรู้สึกของ Lermontov ที่มีต่อ Vicky ขณะเดียวกันนักเต้นชายก็ยังคงพยายามจะควบคุม ครอบงำ กำหนดทิศทางการเต้นของฝ่ายหญิง
เกร็ด: ในโบรชัวร์ยังมีกล่าวถึงอีกชุดการแสดง Carnaval (1910) ดัดแปลงจาก Robert Schumann: Carnaval, Op. 9 (1834-35) ซึ่งก็โด่งดังพราะ Ballets Russes แต่เพราะไม่มีการแสดงให้เห็น เลยไม่ขอกล่าวถึงแล้วกัน



Swan Lake (1875–76) หนึ่งในผลงานชิ้นเอก การแสดงบัลเล่ต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ประพันธ์โดย Pyotr Ilyich Tchaikovsky, นำเสนอเรื่องราวของเจ้าชาย Prince Siegfried ระหว่างกำลังเตรียมตัวฉลองวันเกิด ชักชวนเพื่อนๆไปล่าหงส์ ยามค่ำคืนพลัดหลง ระหว่างกำลังเหนี่ยวคันธนู พบเห็นหงส์ตนหนึ่งแปลงกายเป็นหญิงสาวสวยชื่อ Odette เล่าว่าตนเองและเพื่อนๆถูกคำสาปโดยพ่อมดร้าย Rothbart กลางวันเป็นหงส์ กลางคืนถึงกลับเป็นคน
วันถัดมางานวันเกิดของเจ้าชาย แขกเหรื่อมากมาย รวมถึงพ่อมด Rothbart ปลอมตัวมาพร้อมบุตรสาว Odile ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเปี๊ยบกับ Odette จนทำให้ Prince Siegfried ครุ่นคิดเข้าใจผิด แทบมิอาจละสายตา แล้วประกาศว่าจะแต่งงานกับเธอ แต่หลังความจริงเปิดเผยทำให้ Odette ตัวจริงรู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง ทั้งสองตัดสินใจกระโดดลงทะเลสาป กระทำอัตวินิบาตกรรมร่วมกัน
พอสังเกตเห็นความละม้ายคล้ายระหว่างบัลเล่ต์ Swan Lake กับ The Red Shoes (1947) ไหมเอ่ย? เรื่องราวเกี่ยวกับการถูกทรยศหักหลัง และยินยอมตายเพื่ออุดมการณ์แห่งรัก แต่ซีนที่พบเห็นในหนังดังขึ้นพร้อม Main Theme ของบทเพลงนี้คือ Act II – No. 14 Scène (Moderato) ช่วงระหว่างการร่ำลาระหว่าง Prince Siegfried กับ Odette เพราะรุ่งอรุณใกล้มาถึง หญิงสาวกำลังจะกลายร่างกลับเป็นหงส์ ซึ่งตรงกับเรื่องราวระหว่างที่ Lermontov แสดงความอิจฉาริษยาต่อทั้งสอง เตรียมขับไล่ Craster และ Vicky ออกจากคณะ (ช่วงเวลาแห่งการพลัดพรากจาก)


แทนที่ฉากพรอดรักโรแมนติกระหว่าง Vicky กับ Craster จะเลือกสถานที่ที่โรแมนติก ทิวทัศน์สวยงาม พวกเขากลับนั่งอยู่บนรถม้า หลบซ่อนตัวอยู่ในความมืดมิด ราวกับหวาดกลัวใครบางคนจะพบเห็น แล้วทำให้ช่วงเวลาแห่งรักครั้งนี้จบสิ้นลง


หลังจากที่ Vicky ตัดสินใจบอกลาจาก Lermontov มุมกล้องถ่ายจากเบื้องบน สามารถสื่อถึงความตกต่ำ(ในอาชีพการงาน)ของเธอได้โดยทันที ขณะที่ฟากฝั่ง Craster ก็ยินยอมทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง ลดตัวลงมาเพื่อจะครอบครองรักกับเธอ


การทุบกระจกถือเป็นสัญลักษณ์สุดคลาสสิก แสดงถึงจิตใจแตกร้าว สูญเสียตัวตนเอง ทุกสิ่งอย่างสร้างมาพังทลาย ความใฝ่ฝันล่มสลาย ซึ่งในกรณีของ Lermontov สะท้อนความผิดหวังต่อ Vicky ที่ราวกับได้ทรยศหักหลัง ทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเคยร่วมงานกันมา สร้างความเจ็บปวดทั้งร่างกาย(หมัดทุบกระจก)และรวดร้าวจิตวิญญาณ

โดยปกติแล้ว Lermontov จะเป็นคนที่คอยควบคุม ครอบงำ บงการทุกสิ่งอย่าง แต่หลังจากสูญเสีย Vicky อย่างปัจจุบันทันด่วน ทำให้เขาตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศ ไม่รู้จะทำอะไรยังไงต่อไป โชคยังดีได้ยินข่าวคราวว่า Irina แวะเวียนมาแถวๆ Paris จึงแสวงหาโอกาสบังเอิญพบเจอ
ภาพช็อตนี้มองผ่านๆเหมือนจะไม่มีอะไร แต่สังเกตว่า Irina เป็นคนจูงเจ้าหมา (ชิวาว่ามั้ง?) สื่อว่าเธอสามารถบงการชีวิตตัวเอง และภาพพื้นหลังประตูชัยฝรั่งเศส แทนชัยชนะของหญิงสาว นั่นเพราะ Lermontov ยินยอมแบกหน้ามาร้องขอความช่วยเหลือ (นั่นเป็นสิ่งที่เขาน่าจะไม่เคยทำมาก่อนอย่างแน่นอน)

หวนกลับมาชุดการแสดง Les Sylphides (1907) แต่คราวนี้นักแสดงนำไม่ใช่ Vicky เปลี่ยนมาเป็น Irina และสังเกตจากการแสดงจะพบเห็นชายสองคนกำลังคลอเคลีย เหมือนพยายามแก่งแย่งชิงหญิงสาว ชัดเจนมากๆว่าต้องการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง Vicky กับ Lermontov และ Craster

สำหรับ Vicky และ Craster ทั้งสองเริงระรื่นกันได้ไม่นาน ค่ำคืนหนึ่งในห้องนอนที่มืดมิด เต็มไปด้วยความวังเวง เวิ้งว่างเปล่า (ผิดกับห้องนอน/ห้องทำงาน คฤหาสถ์ของ Lermontov ที่หรูหรา ราคาแพง) คุ้มแล้วหรือกับสิ่งที่ฉันทอดทิ้งมา เปิดตู้เสื้อผ้าพบเห็นรองเท้าแดง แสดงถึงความต้องการลึกๆภายใน ยังคงโหยหาแสงสี เสียงปรบมือ อยากหวนกลับไปเริงระบำบนเวทีอีกสักครั้ง


สำหรับ Craster ออกจากห้องนอนไปยังห้องทำงาน สังเกตมุมกล้องสองช็อตนี้มอบสัมผัสที่แตกต่างตรงกันข้าม
- ช็อตถ่ายจากด้านหลังของ Vicky มองเข้าไปในห้องทำงานของ Craster มีโทนสีส้มอ่อนๆ แสดงถึงกิจกรรม(เล่นเปียโน/แต่งเพลง)ที่สร้างความสุข รู้สึกอบอุ่นหฤทัย
- ช็อตถ่ายจากฟากฝั่งของ Craster เมื่อ Vicky เปิดประตูเข้ามา แสงสว่างจากหน้าต่างด้านหลังโทนสีน้ำเงิน แทนด้วยอิสรภาพของชีวิต (ที่ไม่ต้องทำงาน) มันช่างหนาวเหน็บ เย็นยะเยือก สั่นสะท้านทรวงใน


ทั้งขณะร่ำลาและหวนกลับมาของ Vicky ช่วงระหว่างพูดคุยกับ Lermontov ในห้องโดยสารบนขบวนรถไฟ ทั้งสองซีเควนซ์มีการนำเสนอที่แตกต่างตรงกันข้าม
- ขณะร่ำลาตอนรถไฟใกล้จะออกจากสถานี Monte Carlo
- การสนทนามักจะตัดสลับไปมาระหว่าง Lermontov และ Vicky นั่งอยู่คนละฟากฝั่งตรงกันข้าม แสดงถึงความครุ่นคิดเห็นที่แตกต่าง
- ทางฟากฝั่ง Vicky จะถ่ายติดหน้าต่างด้านหลัง สามารถสื่อถึงเสรีภาพที่เธอโหยหา ยืนกรานว่าถ้า Craster ถูกไล่ออก ตนเองก็จะติดตามไปแล้ว
- ทางฟากฝั่ง Lermontov ด้านหลังติดประตูทางออก สวมใส่แว่นดำ แสดงถึงความปิดกั้น ไม่ยินยอมรับฟังความต้องการของ Vicky และรีบออกไปเมื่อรถไฟกำลังจะเคลื่อนออกจากสถานี
- เมื่อตอนหวนกลับมา การสนทนาเกิดขึ้นหลังจากรถไฟเคลื่อนออกจากสถานี (ในหนังมีกล่าวถึงเมือง Cannes)
- แทบตลอดทั้งซีเควนซ์ Vicky อยู่ร่วมเฟรมเดียวกับ Lermontov หลังจากได้ข้อตกลงทั้งสองก็นั่งหันไปทางทิศทางเดียวกัน
- ผมรู้สึกว่าช็อตนี้ สะท้อนความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่าง Lermontov กับ Vicky ที่ไม่ใช่การควบคุมครอบงำ บงการชี้นิ้วสั่งเหมือนเก่าก่อน แต่คือการนั่งอยู่เคียงข้าง Lermontov ยังคงอยู่เบื้องหน้า แต่ Vicky ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่คอยติดตามด้านหลัง ปฏิบัติตามคำสั่งเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
- แม้ครานี้ไม่พบเห็นทิวทัศน์นอกหน้าต่าง แต่แสงสว่างจากภายนอกจะสาดส่องเข้ามาในตู้โดยสาร (แสดงถึงความโหยหาของหญิงสาว ต้องการหวนกลับมาเป็นนักแสดงอีกครั้ง)
- (เงาของ)หมวกใบใหญ่ของ Vicky พาดผ่าน/บดบังส่วนหนึ่งบนใบหน้าของ Lermontov นี่ก็แสดงถึงอิทธิพลของหญิงสาวที่มีต่อตัวเขา รู้สึกเหมือนขาดเธอไม่ได้
- แทบตลอดทั้งซีเควนซ์ Vicky อยู่ร่วมเฟรมเดียวกับ Lermontov หลังจากได้ข้อตกลงทั้งสองก็นั่งหันไปทางทิศทางเดียวกัน


Vicky ต้องการทำการแสดง The Red Shoes อีกสักครั้ง! แต่ยังไม่ทันได้เริ่มต้น Craster เข้ามางอนง้อ ขอคืนดี ยินยอมศิโรราบแทบเท้า ฉันอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ! พอดิบพอดี Lermontov เดินเข้ามาในห้อง พบเห็นภาพสะท้อนในกระจกเงา จากนั้นบุรุษทั้งสองก็ยืนขึ้นเผชิญหน้ากัน เพื่อให้หญิงสาว/รองเท้าแดง ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาใครคนไหน?
- Lermontov ตัวแทนของอาชีพการงาน ศิลปะการแสดง เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝันส่วนตน สักวันจักกลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า
- Craster ตัวแทนความรัก ครอบครัว วิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบสุข เติมเต็มความต้องการของกันและกัน


แม้ตอนจบในชุดการแสดง The Ballet of the Red Shoes นางเอกจะสิ้นใจตาย แต่เรื่องราวของหนังหลังจาก Vicky กระโดดลงจากระเบียง ดูมีความก้ำๆกึ่งๆ รอดหรือไม่รอด? นี่เป็นการให้อิสรภาพผู้ชมในการครุ่นคิดตีความ … แต่สำหรับใครที่เข้าใจในศาสตร์ภาพยนตร์/บทละคอน ย่อมเกิดความตระหนักได้อยู่แล้วว่าผลลัพท์ควรต้องเป็นเช่นไร
ไม่ใช่ว่ารองเท้าแดง ต้องสวมใส่ระหว่างการแสดงไม่ใช่หรือ? นี่เป็นสิ่งที่แม้แต่ Pressburger ก็ไม่เข้าใจความต้องการของ Powell ยืนกรานในฐานะผู้กำกับ เธอต้องสวมใส่มันระหว่างกำลังกระโดดลงจากระเบียง เพื่อสร้างความคลุมเคลือต่อสาเหตุการตาย ว่าเกิดจากจิตใจสันสนวุ่นวาย หรืออิทธิพลรองเท้าแดง (แบบในชุดการแสดงบัลเล่ต์)
I was a director, a storyteller, and I knew that she must. I didn’t try to explain it. I just did it.
Michael Powell


สำหรับการแสดงที่ยังดำเนินต่อแม้ไร้นักแสดงนำ ผมมองว่านี่คือการแปรสภาพ รูปธรรม ⇔ นามธรรม, บทละคอน ⇔ ชีวิตจริง (vice versa) นำเสนอคู่ขนานกับเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะตอนจบที่ Craster ถอดรองเท้าแดงของ Vicky แล้วจู่ๆมันมาปรากฎบนเวที นี่คือลักษณะการผสมผสานระหว่าง ชีวิตจริง ⇔ ศิลปะ สำหรับศิลปินมักถือว่าคือสิ่งหนึ่งเดียวกัน


ตอนจบของหนัง ณ ร้านขายรองเท้าแดง นี่สื่อถึงวังเวียนวน หวนกลับจุดเริ่มต้น สูงสุดสู่สามัญ! เรื่องราวของ The Red Shoes จักดำเนินต่อไป ตราบใดที่มนุษย์ยังคงเพ้อใฝ่ฝัน โหยหาความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง ลาภยศสรรเสริญ ต้องการไต่เต้าให้ถึงจุดสูงสุด และความเป็นนิรันดร์

ตัดต่อโดย Reginald Mills (1912-90) สัญชาติอังกฤษ จากเคยเป็นผู้ช่วยตัดต่อของ David Lean หลังสงครามมีโอกาสร่วมงานกับ Powell & Pressburger เริ่มตั้งแต่ A Matter of Life and Death (1946), Black Narcissus (1947), เข้าชิง Oscar: Best Edited เรื่อง The Red Shoes (1948), The Tales of Hoffmann (1951), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Servant (1963), Romeo and Juliet (1968), Jesus of Nazareth (1977) ฯ
หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองสามตัวละครหลัก Boris Lermontov, Julian Craster และ Victoria Page โดยมีการแสดงบัลเล่ต์ชุด The Ballet of the Red Shoes ถือได้เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว
- อารัมบท, แนะนำตัวละคร
- Craster รับชมการแสดง Heart of Fire แล้วเกิดความตระหนักถึงบางสิ่งอย่าง
- Lermontov ถูกบังคับให้มางานเลี้ยงต้อนรับ แล้วมีโอกาสพบเจอกับ Vicky
- Craster พยายามติดต่อหา Lermontov ต้องการให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าบทเพลงของตนเองถูกขโมยมาใช้ประกอบการแสดง Heart of Fire จับพลัดจับพลูได้รับการว่าจ้างงาน
- Craster และ Vicky แรกพบเจอกันในคณะบัลเล่ต์
- ไต่เต้าจากดินสู่ดาว
- การไต่เต้าของ Craster และ Vicky ในคณะบัลเล่ต์
- Lermontov แอบไปรับชมการแสดง Swan Lake ของ Vicky เกิดความชื่นชอบประทับใจ
- Craster ปรับแก้ไขบทเพลงของ Heart of Fire จนได้รับคำชื่นชม
- จนกระทั่งวันหนึ่ง นักแสดงนำ Irina Boronskaya ตัดสินใจลาออกจากคณะเพื่อไปแต่งงาน
- Vicky ได้รับเลือกให้กลายเป็นนักแสดงนำคนใหม่
- Craster ได้รับมอบหมายเรียบเรียงบทเพลงประกอบการแสดงชุดใหม่
- ซักซ้อม เตรียมพร้อม ก่อนเริ่มการแสดงรอบปฐมทัศน์
- การไต่เต้าของ Craster และ Vicky ในคณะบัลเล่ต์
- การแสดงชุด The Ballet of the Red Shoes
- ความสำเร็จทำให้ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไป
- ความสำเร็จของ The Ballet of the Red Shoes สร้างชื่อเสียงให้ Vicky และ Craster
- Lermontov ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่าง Vicky และ Craster เลยตัดสินใจขับไล่ทั้งสองออกจากคณะ
- การตัดสินใจของ Vicky
- Lermontov หวนกลับหา Irina ชักชวนมาร่วมงานกันอีกครั้ง
- ระหว่างที่ Craster ก็กำลังมีผลงานชิ้นใหม่ แต่กลับสร้างความลังเลใจให้กับ Vicky ยังคงโหยหาชุดการแสดง The Red Shoes
- Lermontov พยายามโน้มน้าว Vicky ให้หวนกลับมาทำการแสดง The Red Shoes ซึ่งเธอก็ได้ตัดสินใจ …
บทหนังดั้งเดิม (ที่ Pressburger เคยพัฒนาไว้เมื่อปี ค.ศ. 1937) เห็นว่ามีบทสนทนามากมาย แต่ฉบับขัดเกลาใหม่ตัดทิ้งไปกว่าครึ่ง (อาจเพราะนักแสดงส่วนใหญ่เป็นนักเต้นบัลเล่ต์ นี่เป็นวิธีที่ทำให้พวกเขาแสดงออกด้วยภาษากายมากกว่าถ้อยคำพูด) หันมามุ่งเน้นดำเนินเรื่องด้วยภาพ ร้อยเรียงกิจวัตร การซักซ้อม ตระเตรียมงาน เบื้องหลังการแสดงบัลเล่ต์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโปรดักชั่น … เรียกได้ว่าบันทึกรายละเอียดเบื้องหน้า-เบื้องหลัง งานทำงานของคณะบัลเล่ต์ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
เกร็ด: ค่อนข้างชัดเจนว่า All That Jazz (1979) ของผู้กำกับ Bob Fosse ได้รับอิทธิพลอย่างล้นหลามจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ปรับเปลี่ยนจากบัลเล่ต์เป็นละครเพลง (Musical) ที่ตอบสนองตัณหาของตนเอง
ในตอนแรกผู้กำกับ Powell ใช้บริการของ Allan Gray ที่เคยร่วมงานกันมาหลายครั้งตั้งแต่ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Canterbury Tale (1944), I Know Where I’m Going! (1945), A Matter of Life and Death (1946) แต่เพราะอีกฝ่ายไม่สามารถปรับประยุกต์งานเพลงให้มีความทันสมัยใหม่ ผลลัพท์ดัดแปลงออร์เคสตรา The Red Shoes ดูธรรมดาเกินไป ‘utterly commonplace’ สุดท้ายเลยถูกไล่ออก
His main gift was a dramatic one. He had the capacity to enter into the idea of a scene or a situation, but it was still film music in the traditional way, applied on, as it were, mixed into the sound-track and the dialogue of the actors, like glazing on a rich ham.
Michael Powell กล่าวถึงการไล่ออก Allan Gray
เพลงประกอบโดย Brian Easdale (1909-95) คีตกวีสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Manchester เข้าศึกษายัง Royal College of Music เป็นลูกศิษย์ของ Armstrong Gibbs และ Gordon Jacob แต่งอุปรากรเรื่องแรกเมื่อตอนอายุ 17 ปี! ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองได้เข้าร่วม Crown Film Unit แล้วถูกส่งไปประเทศอินเดีย ทำให้ค้นพบความชื่นชอบใน Indian Music ทั้งยังมีโอกาสรับรู้จัก Rumer Godden และผู้กำกับ Carol Reed แนะนำให้ Powell & Pressburger ร่วมงานขาประจำตั้งแต่ Black Narcissus (1947), The Red Shoes (1948)**คว้า Oscar: Best Original Score, The Battle of the River Plate (1956), Peeping Tom (1960) ฯ
ความต้องการของ Powell ไม่ได้ต้องการ Soundtrack ในลักษณะ ‘dramatic score’ ที่เขามองว่าเฉิ่มเชยล้าหลัง ใคร่อยากได้บทเพลงที่สามารถ ‘fit the cinematic design’ มีความสอดคล้องกับเทคนิค ลูกเล่นภาพยนตร์ รวมถึงท่วงท่าทางการเต้น (choreographer) ซึ่งวิธีการของ Easdale เขียนเพลงโดยอ้างอิงจากรายละเอียด Storyboard สร้างท่วงทำนองให้มีความสอดคล้อง ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนมีการรับ-ส่งระหว่างภาพและเพลงได้อย่างกลมกลืน
เกร็ด: Brian Easdale ยังเป็นคนกำกับวง Royal Philharmonic Orchestra แทบทุกบทเพลงยกเว้น The Ballet of the Red Shoes รับหน้าที่โดย Sir Thomas Beecham
Heart of Fire แม้เป็นการแสดงสมมติ (fictional ballet) แต่ไม่ผิดจากที่ Julian Craster เคยกล่าวเอาไว้ เพราะว่า Easdale ทำการเรียบเรียงขึ้นใหม่จาก Le Corsaire (1856) การแสดงบัลเล่ต์สามองก์ สร้างโดย Jules-Henri Vernoy de Saint-Georges ดัดแปลงจากบทกวี The Corsair ประพันธ์โดย Lord Byron
หลายคนอาจครุ่นคิดเข้าใจผิดว่ามันเคยมีชุดการแสดงบัลเล่ต์ชื่อ The Red Shoes จริงๆแล้วมีแค่เทพนิยายของ Hans Christian Andersen เท่านั้นนะครับ The Ballet of the Red Shoes คือบทเพลงประกอบการแสดงบัลเล่ต์ที่แต่งขึ้นใหม่โดย Brian Easdale เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ
ซึ่งก่อนนำเข้าสู่การแสดง มันจะมีออร์เคสตราโหมโรง (Overture) บทเพลง On the Monte Carlo Opera’s Backstage โดยหนังยังทำการร้อยเรียงความวุ่นๆวายๆเบื้องหลังฉาก รวมพลนักแสดง ตรวจสอบความพร้อมครั้งสุดท้าย และคำพูดให้กำลังใจของ Lermontov ก่อนที่ Vicky จะก้าวขึ้นเวที
บทเพลงความยาว 16 นาที แต่อัดแน่นด้วยเรื่องราวที่ผันแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ท่วงทำนองก็มีความสอดคล้องทั้งลีลา ท่วงท่าเต้น และภาษาภาพยนตร์ เอาจริงๆสามารถแบ่งรายละเอียดได้คร่าวๆดังนี้
- อารัมบท เริ่มต้นที่ร้านขายรองเท้า หญิงสาวเกิดความลุ่มหลงใหล ตัดสินใจซื้อมาสวมใส่
- ท่วงทำนองแห่งความอยากรู้อยากเห็น อยากลิ้มลอง ด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา
- เมื่อสวมใส่ บังเกิดความสนุกสนานหรรษา ร่าเริงระบำจากร้านหนึ่งสู่อีกร้านหนึ่ง กลางวันสู่กลางคืน ดึกดื่นผู้คนหลับนอนก็ยังไม่หยุดหย่อน บ้านช่องก็ไม่สามารถหวนกลับ ถูกเงามืดฉุดกระชากลากออกมา
- เริ่มต้นด้วยความสนุกสนาน ครื้นเครง อลเวงสุดเหวี่ยง ใช้เครื่องดนตรีมากมายคอยประสานเสียง จนกระทั่งร้านรวมปิดให้บริการ ท้องถนนไร้ผู้คน หลงเหลือเพียงเสียงขลุ่ย (แทนหญิงสาว) ที่ยังคงร่าเริงระบำไม่หยุดหย่อน ต้องการหวนกลับเข้าบ้านนอน แต่เสียงแห่งความชั่วร้ายฉุดกระชากลากออกมา
- หญิงสาวยังคงต้องเริงระบำต่อไป ล่องลอยในโลกเหมือนฝัน เหนือจินตนาการ สถานที่แห่งหนไหนก็ไม่รู้ พานผ่านสวรรค์-นรก หรือแม้บนเวที กลายร่างเป็นนกโผบิน ดอกไม้พัดปลิดปลิว และก้อนเมฆบนท้องฟ้า (จากรูปธรรมสู่นามธรรม)
- การผจญภัยในโลกแฟนตาซีของหญิงสาวเริ่มต้นด้วยความหวาดระแวง สะพรึงกลัว ไม่รู้จะต้องพบเจออะไร แต่เมื่อพานผ่านไปสักพักก็จักเริ่มสามารถปรับตัว ยินยอมรับสิ่งบังเกิดขึ้น โบยบิน ปลิดปล่อย ราวกับชีวิตได้รับอิสรภาพ
- เมื่อหวนกลับมายังบ้านเกิดพบเห็นงานศพของมารดา แต่ไม่สามารถเข้าร่วมพิธีในโบสถ์ จึงเกิดอาการตรอมใจ ต้องการถอดรองเท้าแดงก่อนสิ้นใจตาย และจบลงที่ร้านขายรองเท้าอีกครั้งสุดท้าย
- เสียงระฆังคือสัญญาณปลุกตื่นจากความเพ้อฝัน ให้มาเผชิญหน้าโลกความจริงที่แสนโหดร้าย ความตายของมารดา สร้างความหมดสิ้นหวังอาลัย ตระหนักได้ถึงความผิดพลาดของตนเอง ต้องการปรับตัวเปลี่ยนแปลง แต่ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินแก้ไข
เทพนิยาย The Red Shoes ต้องการเสี้ยมสอนข้อคิดเกี่ยวกับความเห็นแก่ตัว หลงตนเอง หญิงสาวสวมใส่รองเท้าแดงในทุกๆโอกาส โดยไม่สนงานบุญงานบวชหรืองานอะไร นั่นเรียกว่าการไม่รู้จักความถูกต้องเหมาะสม ไร้กาละเทศะ ทั้งยังเป็นการไม่ให้เกียรติผู้อื่น สนแต่จะทำสิ่งตอบสนองเสรีภาพ ความต้องการส่วนบุคคล ผลกรรมเลยถูกลงโทษสาปส่งให้ไม่สามารถถอดรองเท้าแดง แล้วต้องเริงระบำไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน สร้างความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า เจ็บปวดทรมานทั้งร่างกาย-จิตใจ ทำให้ตระหนักว่านั่นไม่ใช่สิ่งถูกต้อง และบังเกิดความสาสำนึกผิดขึ้นภายใน
แต่ในบริบทสังคมปัจจุบัน โลกยุคสมัยเสรีนิยม ข้อคิดคติสอนใจของ The Red Shoes อาจไม่ได้รับการยินยอมรับสักเท่าไหร่ มันผิดอะไรที่หญิงสาวจะเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจ สวมใส่รองเท้าแดงตลอดเวลา เข้าวัดเข้าโบสถ์ งานบุญงานศพ แต่งตัวโป๊เปลือยผิดอะไร? มันคือสิทธิ เสรีภาพของฉัน ปฏิเสธการถูกบีบบังคับ ควบคุมครอบงำโดยกฎกรอบทางสังคม, และบทลงโทษด้วยการไม่สามารถถอดรองเท้าแดง ต้องเริงระบำไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน คนสมัยนี้อาจมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทารุณกรรมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ปลูกฝังทัศนคติอันเลวร้ายให้กับเยาวชน
สำหรับภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) ไม่ได้ต้องการเสี้ยมสอนข้อคิดดังกล่าว แต่ใช้เรื่องราวเทพนิยายในเชิงเปรียบเทียบถึงความหมกมุ่น มุ่งมั่น อุทิศตัวตนเองให้กับบางสิ่งอย่าง การแสดงบัลเล่ต์ ละครเวที/ภาพยนตร์ เหมารวมถึงสรรค์สร้างผลงานศิลปะ สำหรับบุคคลที่เรียกตนเองว่าศิลปิน จะต้องเลือกระหว่างทุ่มเทเสียสละเพื่อความเป็นนิจนิรันดร์ หรือมองหาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว/ครอบครัว
Boris Lermontov คือตัวแทนบุคคลผู้มีความหมกมุ่น ทุ่มเท ยินยอมเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่ออาชีพการงาน พร้อมปลุกปั้น Vicky Page ให้กลายเป็นดาวดาราค้างฟ้า ส่องแสงเจิดจรัสเหนือกว่าผู้ใด แต่ท้ายสุดเธอกลับตัดสินใจเลือกชายคนรัก/นักแต่งเพลง Julian Craster แล้วทอดทิ้งทุกสิ่งอย่างเคยสร้างมา
นี่ไม่ได้หมายความว่า Powell & Pressburger มองว่าชีวิตสำคัญกว่าศิลปะนะครับ! ทั้งสองพยายามนำเสนอประเด็นปลายเปิด ให้เกิดการโต้ถกเถียง Arts vs. Life รวมถึงตั้งคำถามว่าว่า ศิลปินจำต้องเสียสละทุกสิ่งอย่างเพื่อกลายเป็นตำนานหรือไม่?
‘ตายเพื่อศิลปะ’ นี่คืออุดมการณ์อันเลิศหรู สุดโต่ง แต่ในความเป็นจริงมีน้อยคนมากๆจะยินยอมตายเพื่อศิลปะ ส่วนใหญ่พยายามมองหาสมดุลกับการใช้ชีวิต เพราะไม่มีทางที่เราจะกิน-ขี้-ปี้-นอน หมกมุ่นอยู่กับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และการจะเป็นนิรันดร์ ไม่ได้เกิดจากความตายของศิลปิน! … แต่มันก็พอมีบ้างที่ความตายทำให้กลายเป็นนิรันดร์
Immortal, ความเป็นอมตะของศิลปะ เกิดจากผลงานที่สะท้อนตัวตนศิลปิน อย่างเหตุผลที่คอหนังยกย่องบรรดาผู้กำกับอย่าง Alfred Hitchcock, Stanley Kubrick, Akira Kurosawa, Ingmar Bergman ฯลฯ ล้วนมาจากผลงานที่พวกเขาสรรค์สร้าง แนวคิด วิธีการ อุดมการณ์ อัตลักษณ์ตัวตน ทุกสิ่งอย่างล้วนปรากฎพบเห็นในสื่อภาพยนตร์ และเมื่อผู้คนให้การยินยอมรับ กาลเวลายังคงได้รับพูดกล่าวถึง ชื่อผู้กำกับเหล่านี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความอมตะนิรันดร์
แต่ความเป็นอมตะของสื่อศิลปะ มันก็แค่ประมาณหลายร้อยพันปีเท่านั้นนะครับ ยังไม่ถึงเศษเสี้ยวทุลีแห่งจักรวาล เพียงสำคัญกับคนกลุ่มหนึ่ง สถานที่แห่งหนึ่ง ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง และเมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน ทุกสิ่งอย่างก็สูญสลาย นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
ความเป็นนิรันดร์ที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินหรือผลงานศิลปะชิ้นไหนสามารถอาจเอื้อมถึง เพราะแนวคิดของคนกลุ่มนี้สนเพียงการยกย่อง ยินยอมรับ ได้รับการจดจำ ฝากผลงาน/รอยเท้าเอาไว้บนพื้นปฐพี … การฝึกฝนจิตวิญญาณ ให้เรียนรู้จักปล่อยละวาง นิพพานคือการก้าวออกจากวัฎฎะสังสาร ไม่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย นั่นต่างหากใกล้เคียงความเป็นอมตะที่สุดแล้ว
ทุนสร้างตั้งต้นของหนังคือ £300,000 ปอนด์ ระยะเวลาถ่ายทำ 15 สัปดาห์ แต่ด้วยความท้าทายในการนำการแสดงบัลเล่ต์สู่ศาสตร์ภาพยนตร์ ทำให้เกิดความล่าช้าไปถึง 24 สัปดาห์ งบประมาณพุ่งสูง £100,000 ปอนด์ ต่อรองหั่นค่าจ้าง Powell & Pressburger ถึง £10,000 ปอนด์ (และทำให้ The Archers ตัดสายสัมพันธ์สตูดิโอ The Rank Organisation)
เพราะงบประมาณบานเบิกเกือบเท่าตัว จึงถูกคาดการณ์ว่าเจ๊งแน่ๆ แต่พอเข้าฉายในอังกฤษ กลับทำเงินสูงสุดอันดับ 6 ของปี (ไม่มีรายงานรายรับ) จากนั้นพอไปถึงสหรัฐอเมริกา รอบปฐมทัศน์ยัง Bijou Theatre, New York City สามารถยืนโรงถึง 107 สัปดาห์! นั่นทำให้ Universal Pictures ขอซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย(ในสหรัฐอเมริกา) ทำเงินสูงถึง $5 ล้านเหรียญ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
แม้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะค่อนข้างดี แต่ฟากฝั่งบัลเล่ต์กลับมองว่า หนังทำลายมนต์เสน่ห์ของการแสดง “corrupting the integrity of the ballet” ด้วยการใส่ฉากที่ดูเหนือจริง ขายฝัน สูญเสียสัมผัสของโลกความจริง
หนังได้เข้าชิง Oscar จำนวน 5 สาขา สามารถคว้ามาสองรางวัล นอกจากนี้ยังได้ลุ้น Golden Globe และ BAFTA Award ประกอบด้วย
- Academy Award
- Best Picture พ่ายให้กับ Hamlet (1948)
- Best Story
- Best Film Editing
- Best Art Direction ** คว้ารางวัล
- Best Original Score ** คว้ารางวัล
- Golden Globe Award
- Best Original Score ** คว้ารางวัล
- BAFTA Award
- Best British Film พ่ายให้กับ The Fallen Idol (1948)
กาลเวลายิ่งทำให้ The Red Shoes (1948) มีความทรงคุณค่าขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติอังกฤษยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล และกลายเป็นหนังเรื่องโปรดของผู้กำกับดังๆอย่าง Brian De Palma, Martin Scorsese, Francis Ford Coppola, Steven Spielberg ฯลฯ
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2012 ติดอันดับ 117 (ร่วม)
- Sight & Sound: Critic’s Poll 2022 ติดอันดับ 67 (ร่วม)
- ถ้านับเฉพาะสร้างโปรดักชั่นของประเทศอังกฤษ จะเป็นรองแค่ The Third Man (1949) ติดอันดับ 63 (ร่วม)
- Sight & Sound: Director’s Poll 2022 ติดอันดับ 72 (ร่วม)
- BFI: Top 100 British films (1999) ติดอันดับ 9
- TIMEOUT: The 100 Best British Films ติดอันดับ 5
แต่ข้อเสียของกาลเวลาคือทำให้ฟีล์มหนังเสื่อมสภาพลงมากๆ ทั้งริ้วรอย จุดด่างดำ เชื้อรา และสีตก ช่วงต้นทศวรรษ 2000s นำโดยผู้กำกับ Martin Scorsese ทำการระดมทุนก่อตั้ง Film Foundation ร่วมกับ UCLA Film and Television Archive เพื่อทำการบูรณะ The Red Shoes (1948) ใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะได้นำออกฉายยังเทศกาลหนัง Cannes Classic เมื่อปี 2009
และเมื่อปี ค.ศ. 2021, Criterion ยังได้ประกาศการบูรณะ 4K Ultra HD โดยภาพยนตร์ The Red Shoes (1948) คือหนึ่งในหกเรื่องแรกของค่าย สามารถซื้อหาและรับชมออนไลน์ได้ทาง Criterion Channel
แซว: ผู้กำกับ Martin Scorsese โปรดปรานภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างมากๆ และได้สะสมสิ่งของหลายอย่าง อาทิ รองเท้าแดงพร้อมลายเซ็นต์ของ Moira Sheara, บทภาพยนตร์พร้อมลายเซ็นต์ของ Powell & Pressburger, ต้นฉบับ Storyboard, รวมถึงโปสเตอร์ทุกฉบับทุกภาษาที่มีการตีพิมพ์ ฯลฯ
ในบรรดาผลงานคู่หู Powell & Pressburger แม้ส่วนตัวจะหลงใหลคลั่งไคล้ The Tales of Hoffmann (1951) แต่ในแง่คุณภาพและความสมบูรณ์แบบ The Red Shoes (1948) มาอันดับหนึ่งอย่างไร้ข้อกังขา ทั้งเทคนิคภาพยนตร์ อิทธิพลต่อวงการ และการตั้งคำถาม Arts vs. Life นั่นเทียบเท่าปริศนาอภิปรัชญา มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร?
แนะนำคอหนังเพลง (Musical) ชื่นชอบบัลเล่ต์, นักออกแบบ ดีไซเนอร์ จิตรกรวาดภาพ ทำงานโปรดักชั่นละครเวที, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลเรียกตนเองว่าศิลปินสรรค์สร้างผลงานศิลปะ นี่คือภาพยนตร์ที่จะชักชวนครุ่นคิดตั้งคำถาม คุณพร้อมจะทุ่มเททุกสิ่งอย่าง ‘ตายเพื่อศิลปะ’ หรือหาความสมดุลให้กับชีวิต, อยากเป็นนิจนิรันดร์ หรือแค่คนธรรมดาสามัญ
จัดเรต 15+ กับความสุดโต่ง อิจฉาริษยา เกือบจะคลุ้มบ้างคลั่ง
คำโปรย | The Red Shoes รองเท้าแดงของ Powell & Pressburger สวมใส่จนกลายเป็นนิรันดร์
คุณภาพ | มาสเตอร์พีซ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ
The Red Shoes (1948) : Michael Powell, Emeric Pressburger
(6/4/2016) หนึ่งในหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของอังกฤษ The Red Shoes เป็นนิทานเทพนิยาย (Fairy Tale) ของ Hans Christian Andersen เรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวนักเต้นบัลเล่ต์ (Ballet) ที่ใส่รองเท้าวิเศษสีแดงแล้วจะไม่สามารถหยุดเต้นได้ กำกับโดย Michael Powell และ Emeric Pressburger นี่เป็นหนังเรื่องโปรดของ Martin Scorsese และ Brian De Palma การันตีด้วยอันดับ 117 จากนิตยสาร Sight & Sound
ผมดูบัลเล่ต์ไม่เป็นนะครับ เคยดูหนังเกี่ยวกับบัลเล่ต์มาเรื่องหนึ่ง คือ Black Swan (2010) ผมเป็นเหมือนตัวละคร Julian Craster ที่สามารถฟังเพลงเพราะๆได้ แต่ไม่เข้าใจความสวยงามของบัลเล่ต์ เต้นแบบนี้มีความหมายอะไร? กระนั้นในหนังได้มีการใส่คำอธิบายว่าบัลเล่ต์ที่เต้นมีเรื่องราวยังไงไว้ด้วย ทำให้พอจะดูเข้าใจการแสดงได้ สำหรับ The Red Shoes ผมเคยได้ยินชื่อหนังเรื่องนี้มานานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาสได้ดูสักที ไปเจอว่านี่เป็นหนังเรื่องโปรดของ Marty เลยรีบหามาดู ผมดูต่อจาก The River ที่รีวิวไปเมื่อวาน “นี่เป็นหนังภาพสีที่สวยที่สุด” อืม… เกือบๆเห็นด้วยนะครับ ผมเผลอไปคาดหวังกับหนังมากไปเสียหน่อย เลยผิดหวังนิดๆ คิดว่ารองเท้าสีแดงน่าจะโดดเด่นมากกว่านี้ ประเด็นคือ ผมดันไปจำภาพติดตามาจากหนังเรื่อง Sin City ที่มีภาพหนังขาว-ดำทั้งเรื่อง แต่จะมีสีแดงซึ่งถูกเน้นเข้มขึ้นมา ทำให้ผมนึกว่า The Red Shoes จะเป็นแบบนั้น … ไม่ใช่เลยนะครับ จินตนาการจากชื่อเรื่องเพ้อไปไกลมากทีเดียว … กระนั้นองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้ถือว่าสุดยอดในทุกๆด้าน ภาพสวย เพลงเพราะ ออกแบบฉากยอดเยี่ยม การแสดงเลิศ ตัดต่อแจ่ม ติดอยู่ที่ผมยังคิดไม่ตกว่าจะจัดหนังเรื่องนี้ให้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” หรือเปล่า ปกติหนังที่ผมเลือกให้เข้าชาร์ทนี้ จะเน้นที่เนื้อเรื่องและแนวคิดหนังที่มีคุณค่าต่อการเสียเวลาดู The Red Shoes ถือว่าโดดเด่นในแง่ศิลป์ แต่ในประโยชน์ต่อคนดูคิดว่ามันยังไม่ดีพอถึงระดับนั้น
จากนิทานเทพนิยาย Fairy Tale ของ Hans Christian Andersen ชื่อนี้นักอ่านวรรณกรรมเยาวชนน่าจะรู้จักนะครับ เขาเขียน The Little Mermaid, The Nightingale, The Snow Queen ฯลฯ มีหลายเรื่องที่ดังๆ บางเรื่องได้ดัดแปลงมาเป็นหนัง/อนิเมชั่น แล้วด้วย สำหรับ The Red Shoes เป็นเรื่องราวที่หนังนำมาใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ช่วงหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญมากๆต่อหนัง จนกลายมาเป็นชื่อหนัง ดัดแปลงโดย Michael Powell, Emeric Pressburger และ Keith Winter เขียนบทสนทนา
พูดถึง Michael Powell และ Emeric Pressburger สักนิด ทั้งสองได้ร่วมงานกันครั้งแรกในปี 1939 ระหว่างที่ Powell สร้างหนังเรื่อง The Spy in Black และ Pressburger เป็นคนเขียนบท จากนั้นก็ได้ร่วมงานกันอีกจนได้ก่อตั้งบริษัทชื่อ The Archers ในปี 1943 ช่วงแรกๆ Pressburger จะเขียนบท และ Powell จะกำกับ ต่อมาจึงถือเครดิตร่วมกัน ทั้งเขียนบทและกำกับ ว่ากันว่าทั้ง 2 เป็นคนที่มีนิสัยและพื้นฐานที่ตรงกันข้ามเลย แต่ที่กลายเป็นเพื่อนสนิทกันเพราะทัศนคติ แนวคิดต่อหนังไปในแนวทางเดียวกัน หนังเรื่องดังๆที่สร้างในชื่อ The Archers อาทิ The Life and Death of Colonel Blimp (1943), A Matter of Life and Death (1946) และ Black Narcissus (1947) รวมแล้วถึง 19 เรื่อง ก่อนที่เมื่อปี 1957 จึงแยกย้ายไปตั้งบริษัทของตนเอง ทั้งสองไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกันนะครับ ที่แยกกันเพราะมีถึงจุดที่ความสนใจต่างกัน กระนั้นพวกเขาก็ยังเป็นเพื่อนสนิทกันอยู่ ว่ากันตามตรง Michael Powell จะได้รับการพูดถึงจากนักวิจารณ์ ผู้กำกับ นักเรียนภาพยนตร์มากกว่า Eneric Pressburger เพราะแนวคิดและวิธีการกำกับหนังของเขา มีอิทธิพลต่อผู้กำกับรุ่นใหม่มากกว่า กระนั้นใน BFI Top 100 British Movie มีหนังของ Powell ติดชาร์ท 5 เรื่อง โดย 4 เรื่องกำกับร่วมกับ Pressburger
ผมรู้จัก Powell มานิดหน่อยแต่ยังไม่มีโอกาสได้ดูหนังของเขาเท่าไหร่ จึงยังบอกไม่ได้ถึงสไตล์การกำกับของเขาว่ามีอะไรที่โดดเด่น หลายสำนักยกย่อง Powell ว่าเป็นผู้กำกับชาวอังกฤษที่ยอดเยี่ยมและโด่งดังพอๆกับ Alfred Hitchcock, David Lean และ Carol Reed (Powell เคยได้ทำงานร่วมกับ Hitchcock ในช่วงเริ่มต้นอาชีพด้วยนะครับ) ช่วงหลังๆของอาชีพถ้า Powell ไม่สร้างหนังเรื่อง Peeping Tom ซึ่งสร้าง controversial(ด้วยภาพที่รุนแรงและโป๊เปลือย) ก่อให้เกิดปัญหาต่อเขาอย่างมาก ถึงขนาดสตูดิโอไม่ไว้ใจให้ทุนสร้างหนังกับเขาอีก
Moira Shearer เป็นนักแสดงบัลเล่ต์ที่พอจะมีชื่อเสียงในสมัยนั้น ได้มีโอกาสเล่นหนังครั้งแรกในบท Victoria Page คิดว่าเหตุผลที่เธอเข้าตาผู้กำกับเพราะผมสีแดงที่เข้ากับสีของรองเท้า ตอนที่ Shearer ถูกรับเลือกมาให้แสดงหนัง เธอไม่มั่นใจว่ามันจะออกมาดีนัก หลังจากถ่ายหนังเสร็จก็กลับไปแสดงบัลเล่ต์ต่อ ไม่รู้เธอมีโอกาสได้เห็นการแสดงของตนเองในหนังหรือเปล่า การแสดงของเธอถือว่าตราตรึง โดดเด่นมาก ช่วงเต้นบัลเล่ต์ก็งดงามสุดๆ ผลงานหลังจาก The Red Shoes เธอรับงานภาพยนตร์บ้างไม่มาก หนึ่งในนั้นคือหนังเรื่อง Peeping Tom ของ Powell
Anton Walbrook ผู้รับบท Boris Lermontov เขาเป็นนักแสดงชาว Austrian เดิมชื่อ Adolf แต่เปลี่ยนชื่อเป็น Anton เพราะเขาเป็นลูกครึ่งยิว ย้ายมาอยู่อังกฤษเมื่อปี 1936 (น่าจะหนีนาซี) ได้มีโอกาสร่วมงานจนกลายเป็นขาประจำของ Powell และ Pressburger ใน The Red Shoes เชื่อว่าคงมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับ Lermontov ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เขาต้องการกับ Victoria Page คืออะไรกันแน่ ความรัก? สุดยอดการแสดง? หรืออะไร เท่าที่ผมสังเกตเห็น คือเขาเป็นคนที่มีความเข้มงวด เอาจริงเอาจัง มีความฝันที่จะเป็นที่สุด และยึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเองอย่างสูงมาก แนวคิดที่ว่านี้คือ ‘นักแสดงที่ดีจะต้องทุ่มเททั้งกายและใจ ถึงจะนำเอาที่สุดของการแสดงออกมาได้’ เพราะเหตุนี้เขาจึงมีอคติต่อผู้หญิงที่มีความรัก เพราะใจเธอจะไม่เหลือที่ว่างเหลือให้กับการแสดงเพื่อเป็นที่สุดอีก ผมถือว่าเขาเป็นตัวละครที่มีแนวคิดสุดโต่ง เพราะมีความเชื่อในสิ่งเดียวที่เป็นที่สุด ไม่โอนอ่อนผ่อนปลนให้กับอะไรทั้งนั้น ความรู้สึกต่อ Victoria Page จึงถือเป็นความต้องการในสุดยอดการแสดง มันอาจจะมีความรู้สึกอื่นแฝงอยู่บ้าง แต่ไม่มากเกินการแสดงแน่นอน
พูดถึงแนวคิดที่สุดโต่งสักนิด (Idealist, Perfectionist) มันจำเป็นต้องทำให้ได้ขนาดนั้นเพื่อให้ได้ความเป็นที่สุดเลยเหรอ … เชื่อว่าหลายคนจะตอบว่าไม่จำเป็น คำตอบนี้ไม่ถูกและไม่ผิดนะครับ ว่าก็ว่าเถอะ มันอยู่ที่แนวคิดและพื้นหลังของแต่ละคนเลย คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่เคร่งครัด เขามองชีวิตที่ไม่รีบเร่งว่านี่แหละดีที่สุดแล้ว (Realistic) ในขณะคนที่เกิดมาในครอบครัวสุดโต่ง ทุกอย่างต้องเปะๆ ความผิดพลาดเล็กน้อยคือความล้มเหลว ชีวิตเขาต้องสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) จะเห็นว่าระดับที่ใช้วัดความสำเร็จของคนสองกลุ่มนี้ต่างกันราวฟ้ากับเหว ผมไม่ขอตอบนะครับว่า แนวคิดสุดโต่งจะดีกว่าแนวคิดที่ผ่อนคลาย เรามักไปคิดแทนคนอื่นว่าการทำแบบนั้นไม่น่ามีทางเป็นที่สุดได้ แต่นั่นคือที่สุดของเขา อย่าเอาระดับการมองความจริงของเราไปวัดกับคนอื่นนะครับ เหมือนกับการเปรียบหนังเรื่อง Boyhood กับ Birdman ถึง Oscar จะให้ Birdman ชนะ แต่ Boyhood ได้ Golden Globe เรื่องไหนดีกว่ากันบอก … ไม่รู้สิครับ มันเทียบกันไม่ได้หรอก!
Marius Goring อีกหนึ่งนักแสดงขาประจำของ Power & Pressburger รับบท คีตกวีหนุ่ม Julian Craster บทของเขานี้ถือว่าเด่นน้อยที่สุดใน 3 ตัวละครหลักแล้ว แต่ก็เป็นตัวละครที่มีความสำคัญ ผมไม่รู้หนังได้ตัดฉากของ Craster ออกไปบ้างหรือเปล่า หรือมีแค่นั้นจริงๆ เพราะมันเหมือนว่ามีเรื่องราว Off-Screen เกิดขึ้นเยอะมาก หนังไม่มีฉากที่ Craster กับ Page จีบกันเลย มีแค่คุยกันเล็กน้อย แล้วอยู่ดีๆเซอร์ไพรส์กลายเป็นคู่รักไปเลย มันอาจเป็นความจงใจของผู้กำกับก็ได้นะครับ ไม่รู้สิ
ถ่ายภาพโดย Jack Cardiff เขาเพิ่งได้ Oscar มาสดๆร้อนๆกับหนังเรื่อง Black Narcissus (1947) ก็จากผลงานกำกับของ Powell & Pressburger นี่แหละ ใน The Red Shoes น่าเสียดายที่ไม่ได้เข้าชิง งานภาพของหนังเรื่องนี้ถือว่าสวยงาม โดดเด่นมากๆ โดยเฉพาะฉากแฟนตาซีการแสดงบัลเล่ต์ความยาว 15 นาที เป็นการถ่ายภาพที่ยากมากๆ มีทั้งการซ้อนภาพ เล่นกับแสงเงา การเคลื่อนกล้องจะต้องให้ลื่นไหลต่อเนื่อง การหยุดกล้องในแต่ละจังหวะต้องเปะๆ สมัยนั้นมันไม่มี Computer ช่วยนะครับ ฉากที่ตัวละครกำลังเต้นๆอยู่แล้วพลันเปลี่ยนกลายเป็นกระดาษ วิธีที่ทำกันคือหยุดกล้อง ค้างทุกอย่างไว้ นักแสดงห้ามขยับ แล้วสลับคนกับสิ่งของ เคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง จากนั้นกล้องถึงเริ่มถ่ายต่อ ใช้การตัดต่อทำให้ 2 ช่วงเวลาต่อเนื่องกัน ความยอดเยี่ยมของซีนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่อง An American in Paris สร้างฉากเต้นในความฝันด้วยนะครับ
การออกแบบฉากที่อลังการงานสร้างมากๆ โดย Hein Heckroth, Arthur Lawson ทั้งสองได้รางวัล Oscar สาขา Best Art Direction ส่วนคนที่ออกแบบท่าเต้นบัลเล่ต์ (Choreographer) คือ Robert Helpmann และ Léonide Massine คนหลังร่วมแสดงเป็นช่างทำรองเท้าด้วย ทั้งคู่ในวงการบัลเล่ต์ถือว่าดังมากๆนะครับ คนชอบดูบัลเล่ต์น่าจะรู้จักไว้
ตัดต่อโดย Reginald Mills เขาเริ่มทำงานเป็นนักตัดต่อก็กับ Powell & Pressburger นี่แหละ หนังเรื่องนี้ทำให้เขาได้เข้าชิง Oscar สาขา Best Edited ด้วยแต่ไม่ได้ เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น 2 เหตุการณ์คู่ขนานกัน (เรื่องหนึ่ง)เกี่ยวกับชายหนุ่มนักดนตรีที่ผลงานถูกขโมย ได้เข้าทำงานแต่งเพลงและเป็นคอนดักเตอร์ให้กับวงบัลเล่ต์ (เรื่องสอง) หญิงสาวผู้ใฝ่ฝันเป็นนักบัลเล่ต์ที่มีชื่อเสียง ได้รับโอกาสให้แสดงนำเรื่อง The Red Shoes สองเรื่องนี้มาบรรจบกันที่ ทั้งสองตกหลุมรัก หนังเรื่องนี้เราสามารถมอง 2 เหตุการณ์คู่ขนานในอีกรูปแบบหนึ่ง คือ [เรื่องหนึ่ง] ชายหนุ่มนักแต่งเพลงและหญิงสาวนักเต้นบัลเล่ต์ที่ตกหลุมรักกันในคณะบัลเล่ต์ [เรื่องสอง] ผู้กำกับบัลเล่ต์ที่ต้องการความสมบูรณ์แบบในการแสดง เขาทำทุกอย่างเพื่อให้การแสดงออกมายอดเยี่ยมที่สุด ผมถือว่าหนังเรื่องนี้ตัดต่อยอดเยี่ยมมากๆ มีหลายๆอย่างในหนังที่เป็นคู่ขนานกัน เช่นรองเท้า 2 ข้างคือ 1 คู่, นักแสดงหญิงมี 2 คน, คนที่มาฟังเพลงกับคนที่มาดูบัลเล่ต์ นอกจากนี้หนังยังใช้เทคนิคการตัดต่อแบบห้วนๆ ตัดข้ามเหตุการณ์หลายๆอย่างไปมากมาย แต่เรายังสามารถเข้าใจได้เพราะมีการพูดอธิบายย้อนหลังถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เทคนิคนี้ทำให้หนังดูสดใหม่ไม่ล้าสมัยเลย ความฉับไวนี้ถ้าไม่บอกว่านี่หนังปี 1948 ผมจะคิดว่าเป็นหนังยุค 70s-80s นะครับ
เพลงประกอบโดย Brian Easdale อีกหนึ่งขาประจำของ 2 ผู้กำกับ ทุกเพลงในหนังยกเว้นบัลเล่ต์ The Red Shoes แต่งโดยเขา ซึ่งได้รางวัล Best Music จาก Oscar ด้วยนะครับ สำหรับเพลงประกอบบัลเล่ต์แต่งโดย Sir Thomas Beecham เขาเป็นคนก่อตั้ง Royal Philharmonic Orchestra (RPO) เขาได้รับเกียรติให้เป็น Sir และได้ Hall of Fame ของนิตยสาร Gramophone
บัลเล่ต์ The Red Shoes เป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว มีคนวิเคราะห์ว่า รองเท้าเป็นของต่ำ สีแดงคือสีเลือด ดังนั้น รองเท้าสีแดง มันคือ พรหมจรรย์ของหญิงสาวบริสุทธิ์ … เอิ่ม วรรณกรรมเยาวชนเหรอนี่ … หญิงสาววัยแรกรุ่นเห็นรองเท้าสีแดงก็อยากได้ รองเท้ามหัศจรรย์ใส่แล้วจะต้องเต้น เต้นๆๆ ไม่สามารถหยุดได้ คนอื่นหยุดแล้วแต่เธอหยุดไม่ได้ หมดแรงก็หยุดไม่ได้ ต้องเต้นไปกว่าจะตายถึงจะถอดรองเท้าคู่นี้ออกได้ … เห็นอะไรไหมเอ่ย? … หนังได้นำเอาการแสดงบัลเล่ต์ทั้งเรื่องความยาว 15 นาทีใส่ลงไปในหนังไม่มีตัดเลย เป็นช่วงเวลาการชมบัลเล่ต์ที่เต็มอิ่มมากๆ คนที่ไม่เคยดูบัลเล่ต์มาก่อนก็จะพอเข้าใจได้ด้วย เพราะหนังมีการอธิบายเรื่องราวมาก่อนหน้านั้นไว้ล่วงหน้า ไม่เพียงเท่านี้ เรื่องราวในหนังยังอ้างอิง และดำเนินเรื่องไปคล้ายๆกับเรื่องราวบัลเล่ต์ด้วย เมื่อหญิงสาวเลือกที่จะเต้นบัลเล่ต์แล้ว เธอไม่สามารถหยุดได้ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เธอต้องเลือก ระหว่างจะเต้นต่อไป หรือหยุดเต้น คำตอบเชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะคาดเดาได้ว่าเป็นยังไง (เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวคู่ขนานระหว่าง1.การแสดงบัลเล่ต์ กับ2.เรื่องราวในหนัง) ผมชอบช่วงเวลานี้มาก มันบีบคั้นอารมณ์สุดๆ คงมีคนตั้งคำถามกับตัวเองในขณะนี้เยอะ ถ้าต้องเลือกระหว่าง 1 กับ 2 ระหว่าง Idealist กับ Realistic ไม่ต้องถามว่าผมจะเลือกอะไรนะครับ คำตอบนี้ของใครของมัน แบบไหนดีกว่าเถียงให้ตายก็ไม่จบ
มีสิ่งที่เพี้ยนๆช่วงท้ายของหนัง ไม่ใช่ความผิดพลาดแต่เป็นความจงใจของผู้กำกับ ในการแสดง The Red Shoes นั้น Victoria Page จะใส่รองเท้าแดงระหว่างการแสดง แต่ฉากนั้นเธอใส่รองเท้าสีแดงก่อนเริ่มการแสดง Powell บอกว่า มันไม่มีเหตุผลอะไร แต่รู้สึกว่าขณะนั้นเธอต้องใส่ “I was a director, a storyteller, and I knew that she must. I didn’t try to explain it. I just did it.” ใครคิดมากก็ขอให้อดทนกับมันนะครับ เหตุผลที่เธอต้องใส่ ณ ขณะนั้นในหนังผมว่ามันสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะแสดงถึงสิ่งที่เธอเป็นอยู่ คือสวมรองเท้าแดง เธอถอดมันไม่ได้ มันสวมอยู่กับเธอตลอดเวลา
ตอนผมดู Black Swan ผมรู้จักเพลง Swan Lake และชอบเป็นการส่วนตัวมาก่อนหน้านั้นนะครับ (เพลงนี้ใน The Red Shoes ก็มีนะครับ) ทำให้ผมพอเข้าใจเรื่องราวของบัลเล่ต์ Swan Lake ได้ไม่ยาก หนังก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก ถ้าจับประเด็นได้ก็น่าจะเข้าใจหนังได้ นางเอกเอาตัวตนของตัวละครในบัลเล่ต์ ออกมาสับสนกับชีวิตจริง The Red Shoes ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน แถมตอนจบลงเอยคล้ายๆกันด้วย ผมไม่แน่ใจมีหนังเกี่ยวกับบัลเล่ต์สร้างก่อน The Red Shoes หรือเปล่า เรื่องราวแบบนี้เริ่มเห็นบ่อยแล้วนะครับ
การแสดง ถ่ายภาพ ฉาก ตัดต่อ เพลง ทุกองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้ถือว่ายอดเยี่ยมมากๆ แต่สิ่งที่ยับยั้งใจผม ไม่ให้จัดหนังอยู่ในลิส “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ก็เพราะเนื้อเรื่องที่ขาดคุณค่าที่เป็นประโยชน์นอกจากความบันเทิง บางคนอาจสามารถวิเคราะห์หนังได้ถึง ‘การเลือกระหว่างความฝันกับสิ่งที่เป็นอยู่’ (Idealist vs Realistic) กับคนที่มองได้เป็นประเด็นนี้ก็ถือว่าใช้ได้เลยนะครับ แต่จุดจบของหนังผมว่ามันโหดร้ายเกินไปนิด มันคือผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างความฝันกับความจริง และถ้าวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์ของหนัง ผมได้อธิบายไว้ย่อหน้าก่อนแล้วว่า รองเท้าสีแดง หมายความว่ายังไง นี่ยิ่งไม่ใช่บริบทที่ผมสามารถแนะนำคนดูให้คิดตามได้เลย ผมเลยตัดสินใจเว้น “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ของหนังเรื่องนี้ไว้นะครับ แต่ถ้ามีโอกาสแนะนำเลย Hightly Recommend
ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคอหนังเก่า หนังดีมีคุณภาพ และใครอยากรู้จักหนึ่งในสุดยอดผู้กำกับ Michael Powell แนะนำให้เริ่มจากหนังเรื่องนี้ จัดเรต 15+ ภาพไม่มีความรุนแรง แต่ตัวละครถือว่ามีแนวคิดที่สุดโต่งเกินไปนิด อาจปลูกฝังแนวคิดผิดๆให้กับเด็กได้
คำโปรย : “The Red Shoes หนังที่สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน ภาพสวย เพลงเพราะ ตัดต่อฉับไว ออกแบบฉากอลังการ โดยผู้กำกับ Michael Powell & Emeric Pressburger พบกับสุดยอดการแสดงบัลเล่ต์ของ Moira Shearer และการแสดงของ Anton Walbrook ที่ลึกล้ำ คอหนังไม่ควรพลาด”
คุณภาพ : RARE-GENDARY
ความชอบ : LOVE
[…] The Red Shoes (1948) : Michael Powell, Emeric Pressburger ♥♥♥♥♡ […]