
The Red Snowball Tree (1974)
: Vasily Shukshin ♥♥♥♥
อาชญากรลักทรัพย์หลังจากหมดโทษทัณฑ์ อยากที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ใช่ว่าสังคมจะให้การยินยอมรับ ต้องอดรนทนต่อเสียงซุบซิบ ติฉินนินทา เมื่อไหร่กันหนามนุษย์จะเรียนรู้จักการยกโทษให้อภัย, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
The Red Snowball Tree (1974) คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่มียอดจำหน่ายตั๋วสูงสุดตลอดกาลของสหภาพโซเวียต! แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของผู้ชมทั่วไป (เหมือนจะไม่เคยเข้าฉายสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำนะ!) ผมเองก็เคยผ่านๆตาเมื่อตอนเขียนถึง Awaara (1954) และ Mera Naam Joker (1972) กระทั่งเมื่อพบเห็นในลิสหนังโปรดของผู้กำกับ Rainer Werner Fassbinder ถึงมีโอกาสหามารับชม
แล้วก็รู้สึกอึ้งทึ่งไปกับลีลา ไดเรคชั่นของผู้กำกับ Vasily Shukshin แม้เรื่องราวไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร กลับเต็มไปด้วย mise-en-scène ที่น่าหลงใหล คำสนทนาคมคาย เพลงประกอบหลากหลาย แฝงข้อคิดที่เป็นสาระประโยชน์ แต่เนื่องจากผมยังไม่เคยรับชมผลงานเรื่องอื่นๆของ Shukshin เลยไม่กล้าเรียกอย่างเต็มปากเต็มคำว่า มาสเตอร์พีซ
และสิ่งชวนให้อ้าปากค้างสุดๆก็คือ Shukshin เล่นเองกำกับเอง ภาพลักษณ์พี่แกเหมือนโจรห้าร้อยจริงๆ ต่อให้แต่งตัวโก้ สวมสูทหรู ก็ไม่สามารถกลบเกลื่อนออร่าแห่งความชั่วร้ายที่แผ่ออกมา … ว่าไปใบหน้าดูละม้ายคล้าย Ed Harris อยู่บางมุม
Vasily Makarovich Shukshin (1929-74) เกิดที่หมู่บ้านเล็กๆ Srostki, Siberian Krai (ปัจจุบันคือ Altai Krai, Russia), เมื่ออายุ 4 ขวบ บิดาถูกจับกุมข้อหา ตัดสินโทษประหารชีวิตจากต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรอุตสาหกรรมในช่วง Soviet Collectivization (1928-40), เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานสมัยนั้น เข้าเรียนวิทยาลัยเทคนิคเครื่องยนต์ เพียงปีกว่าๆก็ออกมาทำงานช่างเหล็ก โรงงานผลิตกังหัน ตามด้วยโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์, เมื่อปี 1949 ถูกเรียกตัวเป็นทหารเรือ สังกัดแผนกสื่อสาร (Radio Operator) แต่หลังจากตรวจพบโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) ตัดสินใจกลับบ้านเกิดเป็นครูสอนภาษารัสเซีย
ช่วงปี 1954, Shukshin เดินทางสู่ Moscow เข้าศึกษา Gerasimov Institute of Cinematography (VGIK) ตอนแรกตั้งใจร่ำเรียนการเขียนบทละคร แต่ไม่นานเปลี่ยนมาเป็นสาขากำกับ ระหว่างนั้นมีโอกาสแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก And Quiet Flows the Don (1958), จากนั้นได้งานเขียนบท ผู้กำกับหนังยัง Gorky Film Studio ผลงานเด่นๆ อาทิ There Is Such a Lad (1964), Happy Go Lucky (1972), The Red Snowball Tree (1974) ฯ
Shukshin มีความต้องการดัดแปลงนวนิยาย I Came to Give You Freedom (1971) เรื่องราวเกี่ยวกับ Stepan Razin ผู้นำกลุ่ม Cossack ที่สามารถปลุกระดมประชาชน ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านชนชั้นขุนนางและระบอบ Tsarist ช่วงปี ค.ศ. 1670-71 แต่เมื่อนำไปเสนอต่อ State Committee for Cinematography ตระหนักว่านี่เป็นโปรเจคใหญ่ ใช้เงินทุนค่อนข้างสูง เลยยื่นข้อเสนอให้เปลี่ยนมาสรรค์สร้างภาพยนตร์ขนาดเล็กๆ สะท้อนปัญหาสังคมในยุคสมัยนั้นเสียก่อน ถ้าประสบความสำเร็จก็จะอนุญาตให้เป็นโปรเจคถัดไป
การโดนบอกปัดโปรเจคที่นำเสนอ คงสร้างความตึงเครียดให้ Shukshin ถึงขนาดล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล (จากโรคแผลในกระเพาะ กลับมากำเริบอีกครั้ง) ใช้เวลาช่วงพักรักษาตัวพัฒนาบทหนังเรื่องนี้ ครุ่นคิดถึงบิดา วิถีชีวิตบ้านนอกคอกนา โดยศรีภรรยา Lidiya Fedoseyeva-Shukshina เป็นคนตั้งชื่อให้ว่า Kalina krasnaya ได้แรงบันดาลใจจากชื่อบทเพลงของ Yan Frenkel ทีแรกต้องการนำมาใส่ในหนังด้วยแต่เงินไม่เพียงพอจ่ายค่าลิขสิทธิ์
คลิปนี้คือบทเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจชื่อหนัง Kalina krasnaya ขับร้อง/บรรเลงโดย Yan Frenkel น่าเสียดายไม่มี Subtitle แต่ฟังเฉยๆก็ไพเราะอยู่นะ
เรื่องราวของ Yegor Prokudin (รับบทโดย Vasili Shukshin) หัวขโมยเจ้าของฉายา Gorye หรือ Grief หลังจากได้รับโทษจำคุก 5 ปี เมื่อกลับออกมายังไม่รู้ว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไรดี ตัดสินใจออกเดินทางสู่ชนบทเพื่อติดตามหา Lyuba (รับบทโดย Lidiya Fedoseyeva-Shukshina) เพื่อนทางจดหมาย (penpal) รู้จักกันจากคำแนะนำของผู้คุม
แม้ในตอนแรกครอบครัวฝ่ายหญิง และสมาชิกในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้จะปฏิเสธต่อต้าน ไม่ต้องการให้อาชญากรมาปักหลักพักอาศัย แต่เมื่อได้ชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันสักพัก จึงค่อยๆสามารถปรับตัว เรียนรู้จักกันและกัน จนกระทั่งพรรคพวกเก่าของ Yegor หวนกลับมาโน้มน้าว ชักจูงจมูก ต้องการให้ร่วมแผนการปล้นครั้งใหม่ เขาพยายามบอกปัดปฏิเสธ กลับบังเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ Yegor Prokudin ตัดสินใจหนีออกจากบ้านเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน กลายเป็นอาชญากร ลักเล็กขโมยน้อย จนได้รับฉายา Gorye หรือ Grief เพราะใบหน้าดูมีความโศกเศร้า อมทุกข์อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อรวมกลุ่มผองเพื่อน กลายเป็นจอมโจรมืออาชีพ แต่ถูกล้อมจับกุมเมื่อ 5 ปีก่อน ได้รับตัดสินโทษจำคุก และกำลังจะครบกำหนดปล่อยตัว
ระหว่างห้าปีในเรือนจำ Yegor มีโอกาสเขียนจดหมายถึง Lyuba ทำให้สามารถพานผ่านวันเวลาอันเลวร้ายด้วยความหวัง เมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงออกเดินทางไปหาเธอที่ต่างจังหวัด แม้ถูกผู้คนในหมู่บ้านปฏิเสธต่อต้าน ไม่ต้องการให้อาชญาการมาปักหลักพักอาศัย แต่หญิงสาวกลับยังคงช่วยเหลือ สนับสนุน ต้องการให้เขาอาศัยอยู่เคียงข้าง และเมื่อโอกาสจับพลัดจับพลูพบเจอน้องสาวและมารดา (ที่ไม่ได้พบเจอหน้ากว่า 20 ปี) เลยตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าต่อจากนี้จะเปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่หวนกลับไปก่ออาชญกรรมซ้ำอีก
ทีแรกผมไม่รู้หรอกนะว่าผู้กำกับ Shukshin เล่นเอง กำกับเอง นักเลงพอ! มาค้นหาข้อมูลเลยเกิดความอึ้งทึ่ง คาดไม่ถึงว่าพี่แกจะใช้ภาพลักษณ์หน้าตาเหมือนโจร กลายเป็นจุดขายความสมจริง ทั้งยังการแสดงที่โคตรสมบทบาท จับต้องได้ อาจเพราะเรื่องราวนี้มาจากเสี้ยวส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ชีวิตจริงด้วยกระมัง!
บทบาทของ Shukshin ต้องใช้ความเข้มข้นทางอารมณ์สูงมากๆ แสดงสีหน้านิ่วคิ้วขมวด ตึงเครียดอยู่แทบตลอดเวลา ชีวิตทำสิ่งเลวร้ายมามากจนเริ่มรู้สึกเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย ต้องการสักวันพักผ่อนแต่ไม่รู้จะไปหาที่พึ่งพักพิงจากแห่งหนไหน กระทั่งเมื่อสามารถค้นพบใครบางคน ตระหนักถึงความสำคัญบางสิ่งอย่าง น่าเสียดายผลกรรมติดตามทันเสียก่อน
Lidiya Nikolayevna Fedoseyeva-Shukshina (เกิดปี 1938) นักแสดงสัญชาติรัสเซีย เกิดที่ Leningrad ตั้งแต่ยังเด็กเข้าร่วมชมรมการแสดง House of Cinema ภายใต้การนำของ Matvey Dubrovin พอโตขึ้นได้ศึกษาต่อยัง Gerasimov Institute of Cinematography (VIGK) รุ่นเดียวกับ Sergei Gerasimov และ Tamara Makarova มีผลงานการแสดงตั้งแต่ปี 1955, รับบทนำครั้งแรก Peers (1959), มีโอกาสพบเจอ ร่วมงานว่าที่สามี Vasily Shukshin เรื่อง What is it, the sea? (1964) จากนั้นแสดงหนัง(ของสามี)เรื่อง Happy Go Lucky (1972) และ The Red Snowball Tree (1973)
รับบท Lyuba Baykalova สาวใหญ่หัวใจเหงา อาศัยอยู่กับครอบครัว ถูกสามีขี้เมาทอดทิ้งขว้าง บังเอิญได้แลกเปลี่ยนจดหมายกับ Yegor แม้รับรู้ว่าเขาเป็นอาชญากร กระทำผิดติดคุกติดตาราง แต่ก็ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ลุ่มหลงในคารม ถ้อยคำพริดรักหวานฉ่ำ ด้วยเหตุนี้เลยชักชวนมาอาศัยอยู่ร่วมโดยไม่สนเสียงครหา คำทัดทานจากผู้ใด พยายามให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนผลักดัน คาดหวังจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ไปด้วยกัน
สายตาที่ Fedoseyeva จับจ้องมองสามี Shukshin เป็นเคมีที่ไม่ต้องสรรหาถ้อยคำมาอธิบาย เพราะนั่นไม่ใช่การแสดง แต่คือความรู้สึกจากภายใน ด้วยรักและห่วงใย ทั้งบทบาทภาพยนตร์และชีวิตจริง มันจึงมีความหวานฉ่ำ โรแมนติก ผู้ชมสามารถสัมผัสจับต้องโดยง่ายดาย
บอกตามตรงว่าเมื่อแรกพบเจอ ผมแอบอ้ำอึ้งในรูปร่างหน้าตาของ Fedoseyeva ไปชั่วขณะหนึ่ง เพราะถ้าเป็นหนัง Hollywood จะต้องคัดเลือกนักแสดงให้สวยหล่อไว้ก่อน แต่ไม่ใช่กับฝั่งยุโรปและสหภาพโซเวียต มุ่งเน้นความสามารถด้านการแสดงเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อหญิงสาวค่อยๆเปิดเผยธาตุแท้ตัวตน ความงดงามจากภายใน พร้อมให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุนชายแปลกหน้า อาชญากร เชื่อมั่นว่าเขาจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ นั่นทำให้ผมชื่นชอบหลงใหล บังเกิดความประทับใจ … อย่าไปมองแค่ความแรดร่าน สนองตัณหากามารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่จิตใจที่บริสุทธิ์ งดงาม เปี่ยมด้วยเมตตา นั่นคือสิ่งที่เราควรให้ค่าเหนือรูปร่างหน้า ความหรูหรา สิ่งข้าวของภายนอกใดๆ
ถ่ายภาพโดย Anatoliy Zabolotskiy ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Vasily Shukshin เรื่อง Happy Go Lucky (1972),
งานภาพของหนังมีความโฉบเฉี่ยว ฉวัดเฉวียน โดยใช้เพียงสามเทคนิคหลักๆ แพนนิ่ง (Panning) แทรกกิ้ง (Tracking) และซูมมิ่ง (Zooming) แถมด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถถ่ายทำหลายเทค (เพราะเปลืองฟีล์ม) จึงต้องพึ่งประสบการณ์ของตากล้องไม่น้อยเลยนะ (ผู้กำกับก็เป็นนักแสดงอยู่หน้ากล้อง ไม่สามารถให้คำแนะนำใดๆระหว่างถ่ายทำ)
หนังยกกองถ่ายไปปักหลักยังหมู่บ้านชนบท Sadovaya (ตอนที่ถ่ายทำยังใช้ชื่อ Merinovo), จังหวัด Belozersk, แคว้น Vologda Oblast ขณะนั้นมีบ้านพักอยู่เพียง 10 หลัง! ตัวประกอบก็ชาวบ้านละแวกนั้นนะแหละ, ส่วนฉากร้านน้ำชา ต้องไปถ่ายทำอีกหมู่บ้าน Timonino เพราะมีบ้านหลังใหญ่ สำหรับปรับปรุงให้กลายเป็นนั่งร้าน
เกร็ด: ในเรือนจำของประเทศรัสเซีย ทุกๆปีจะมีการประกวดขับร้องเพลง ตั้งชื่อโครงการว่า Kalina krasnaya (จัดมากว่า 20-30 ปีแล้ว) เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้นักโทษ และมอบโอกาสสำหรับผู้ชนะจะได้ลดหย่อน พักโทษ
ดูเหมือนว่า Yegor Prokudin จะไม่ค่อยเต็มใจเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงประสานเสียงนี้สักเท่าไหร่ นั่นอาจเพราะเขาใกล้จะพ้นโทษทัณฑ์ เลยไม่ต้องโหยหาบทเพลงชื่อว่า Evening Ringing อีกไม่นานก็ได้รับอิสรภาพ

เทคนิคซูมมิ่ง (Zooming) เป็นกระแสนิยมในภาพยนตร์ช่วงทศวรรษ 60s – 70s เป้าหมายหลักๆคือสร้างจุดสังเกต บีบบังคับให้ผู้ชมจับจ้องมองตามทิศทางที่กล้องดำเนินไป โดยเฉพาะขณะตัวละครกำลังพูดคุยเอ่ยกล่าวเนื้อหาสำคัญ มักเคลื่อนเข้าหาระยะใกล้ โคลสอัพใบหน้า จนกว่าจบการสนทนาจบสิ้นถึงค่อยซูมถอยหลังออกมา
พฤติกรรมชอบสนทนากับต้นไม้ของ Yegor สะท้อนถึงความโดดเดี่ยว ตัวคนเดียว ไม่มีบุคคลใดสามารถเป็นที่พึ่งพิง เขาจึงต้องหาใครสักคนสำหรับพูดคุย ระบายความรู้สึกนึกคิด สร้างเพื่อนในจินตนาการ … นี่ไม่ได้หมายความว่า Yegor เป็นคนวิกลจริต จิตเภท เห็นภาพหลอนนะครับ มันคืออาการของคนเบื่อโลก หน่ายชีวิต เลยต้องการหาใครสักคน/อะไรบางอย่างสำหรับพักพิง

ฉากม้าหมุน/เก้าอี้หมุน แฝงนัยยะได้อย่างลึกซึ้งมากๆ ถึงการดำเนินชีวิตเปรียบกับโลกที่กำลังเคลื่อนหมุนไป
- ในตอนแรก Yegor ก้าวเดินสวนทิศทางม้าหมุน สื่อถึงมนุษย์ส่วนใหญ่ต้องการต่อสู้ดิ้นรน เผชิญหน้ากับโลกใบนี้ แต่มันก็เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา (Rat Race) ไม่มีวันจบสิ้น กล้องถ่ายจากภายนอกพบเห็นเขาก้าวเดินผ่านภาพวาดสรรพสัตว์ (สามารถสื่อถึงตัวตนของมนุษย์ที่แตกต่างกันไป)
- กระทั่งเมื่อเขาหยุดเดิน นั่งลง แล้วปล่อยให้ตนเองเคลื่อนตามทิศทางของโลก กล้องถ่ายจากบนม้าหมุน พบเห็นทิวทัศน์ด้านหลังที่ผันแปรเปลี่ยน แต่เขาไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย ออกแรง ก็สามารถเพลิดเพลินไปกับทุกสรรพสิ่งรอบข้าง


สำหรับคนช่างสังเกต ผู้กำกับ Shukshin ชอบจะแทรกใส่การเปรียบเทียบเหตุการณ์ ตัวละคร ด้วยภาพวาด รูปปั้น หรือสิ่งสัญลักษณ์แอบซ่อนอยู่ในช็อตนั้นๆ ยกตัวอย่างเมื่อ Yegor ตัดสินใจออกเดินทางไปหา Lyuba พบเห็นรูปปั้นม้า (มั้งนะ) และเมื่อตอนพบเจอหน้า มีรูปภาพเด็กชายกำลังควบขี่ม้าแปะอยู่ด้านหลัง
แซว: บ่อยครั้งที่ Yegor หันมาสบตาหน้ากล้อง ‘breaking the fourth wall’ มักเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นจะกระทำบางสิ่งอย่าง ซึ่งการหันมามองผู้ชม เหมือนเพื่อตั้งปณิธานอันแน่วแน่ว่าจะปรับเปลี่ยนแปลงตนเอง (และแฝงความขบขันอยู่เล็กๆด้วยนะ)


นี่เป็นการเปรียบเทียบอย่างตรงไปตรงมาถึงสถานะทางสังคมของ Lyuba ยืนตำแหน่งสูงกว่า Yegor แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเธอเป็นคนดีกว่า จิตใจสูงส่งกว่าหรืออย่างไร ในขณะนี้คือการมองตนเองของตัวละคร
- Lyuba สามารถยินยอมรับ Yegor ไม่ว่าเขาจะเคยกระทำสิ่งชั่วร้ายใดๆ
- Yegor ยังคงจมปลักอยู่กับตนเอง อาชญากรอย่างฉันจะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไร (นี่เป็นช่วงที่เขายังไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิตต่อไป)

เหตุการณ์เล็กๆอย่าง Yegor ด้วยความเข้าใจผิดราดน้ำร้อนใส่พี่ชายของ Lyuba จนต้องวิ่งออกจากกระโดดลงสระน้ำ (ถ้ารับชมฉบับบูรณะ จะเห็นบริเวณผิวหนังแดงที่ถูกน้ำร้อนราดด้วยนะครับ) ล้อกับตอนจบของหนังที่พี่ชาย(ของ Lyuba) ด้วยความตั้งใจแก้ล้างแค้น(แทน Yegor) ขับรถพุ่งชนอีกฝั่งฝ่ายจนพุ่งตกน้ำ … รอบหลังน่าจะมีคนตายจริงๆ

เสื้อผ้าของตัวละครก็มีความหมายซ่อนเร้นอยู่ไม่น้อย ขอยกตัวอย่างเพียงคร่าวๆแล้วกันนะ
- Yegor เมื่อออกจากห้องขัง สวมใส่เสื้อแดง คลุมด้วยโค้ทหนังดำ พยายามซุกซ่อนเร้นความโฉดชั่วร้ายของตนเองไว้ภายใต้
- เสื้อลายสก็อตของ Yegor คือกฎกรอบที่ควบคุมครอบงำความคิด ทัศนคติ ยังไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสรภาพ
- ชุดลายดอกของ Lyuba แสดงถึงความสดชื่น เริงรื่น เบิกบาน (เหมือนดอกไม้)
ฯลฯ

หลังจากพานผ่านค่ำคืนที่ไม่มีใครหลับนอน Yegor ก็ตัดสินใจบอกร่ำลาจาก Lyuba ยังห้องเก็บของที่มีเพียงพวกเขาทั้งสองสามารถพูดคุยสนทนา (เพราะไม่ว่าจะไปแห่งหนไหนในชนบทแห่งนี้ มันราวกับ ‘หน้าต่างมีหูประตูมีช่อง’ ใครสักคนต้องคอยสอดส่องแนม จับจ้องมองพวกเขาอย่างไม่คาดสายตา) ที่น่าสนใจของฉากนี้คือกงล้อด้านหลัง ให้ความรู้สึกเหมือนชีวิต(ของทั้ง Yegor และ Lyuba) ต่างหมุนวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง
และเมื่อ Yegor ก้าวเดินออกจากห้องแห่งนี้ พอเปิดประตูแสงจากภายนอกสาดส่องมาตำแหน่งที่นั่งของ Lyuba พอดิบพอดี ราวกับว่าเขาคือบุคคลผู้นำพา(แสงแห่ง)ความหวัง มอบความสว่างให้กับตนเอง (จะสามารถก้าวออกจากความมืดมิดในจิตใจ/ห้องแห่งนี้)


แม้ว่า Yegor จะตัดสินใจทอดทิ้ง Lyuba แล้วหวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมา แต่หลังจากพยายามเกี้ยวพาราสีสาวๆ กลับไม่มีให้แลเหลียว (เหมือนจะสื่อว่าผู้คนจากชนบท ต่างจังหวัด ไม่ได้มีความระร่านเหมือนคนเมือง ที่ไปไหนก็สามารถอ่อยเหยื่อ ใช้เงินซื้อได้ทุกสิ่งอย่าง) ครั้งหนึ่งมานั่งอยู่ริมคลอง พบเห็นเรือขนท่อนซุงล่องผ่านหน้าไป … สะท้อนพฤติกรรมของเขาขณะนั้น เป็นสิ่งขวางหูขวางตา เหมือนจระเข้ขวางคลอง

นี่เป็นช็อตที่กล้องพยายามเหลือเกินจะถ่ายศีรษะของ Yegor ให้ติดกับภาพวาดด้านหลัง นักรบกำลังควบขี่ม้า ซึ่งสามารถสื่อถึงความคึกคะนอง ติดต่อบริกรอยากได้สาวๆมาห้อมล้อม แล้วดื่มด่ำมึนเมามาย เหมือนสมัยเคยอาศัยอยู่ยังเมืองใหญ่ แต่ผลลัพท์กลับ…

นี่เป็นฉากเล็กๆที่ผมชื่นชอบมากๆ แม้วันก่อนหน้า Yegor จะมีเรื่องให้เข้าใจผิด ราดน้ำร้อนใส่พี่ชายของ Lyuba แต่ค่ำคืนนี้ (หลังผิดหวังจากสาวๆ Orgy) เมื่อใช้หม้อใบเดียวกัน (กับที่ราดน้ำร้อน) เปลี่ยนมารินสุรา/ไวน์ ความขัดแย้งวันก่อนก็ไม่ได้มีความหมายอะไรอีกต่อไป
คนต่างจังหวัดก็อย่างนี้กระมัง ลืมง่าย หายโกรธไว อีกไม่กี่วันหลังจากนั้นก็แทบไม่มีใครพูดจาเสียๆหายๆต่อ Yegor (หมดเรื่องซุบซิบ) ขอแค่ถ้าไม่ก่อเรื่อง ก็ไม่มีใครขุดคุ้ยอดีตขึ้นมาตอกย้ำ

Yegor เริ่มมีความตั้งใจที่จะตั้งต้นชีวิตใหม่ ได้รับคำชักชวนจากหัวหน้าชุมชนเพื่อไปเป็นคนขับรถให้เจ้าหน้าที่ทัณฑ์บน แต่ก่อนอื่นต้องเดินผ่านหน้าฝูงวัวที่กำลังก้าวไปข้างหน้า สามารถสื่อถึงการข้ามผ่านเส้นแบ่งของการเปลี่ยนแปลง จากฝากหนึ่งสู่อีกฝั่งหนึ่ง ทอดทิ้งวิถีเก่าเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

ภาพวาดด้านหลังสะท้อนสองตัวละครนี้อย่างตรงไปตรงมาเลยละ
- ฝั่งของ Yegor เทียบได้กับคนควบขี่ม้า นำพาผู้โดยสารออกเดินทางไปส่งถึงเป้าหมาย
- ส่วนเจ้าหน้าที่ทัณฑ์บน ยืนกอดอก วางท่าทางเหมือนสาวๆทั้งสามคน

คุณยายคนนี้คือ Ovfimiya Evfimiya Bystrov (1892-1976) ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน Merinovo (ปัจจุบันคือ Sadovaya) ได้รับคำแนะนำให้พูดเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเอง ขอแค่ไม่หันมามองหน้ากล้องเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เธอกล่าวออกมา สูญเสียบุตรชายสามคนจากสงคราม Great Patriotic War ส่วนอีกคนหายตัวไป 20 กว่าปีไม่เคยพบเจอหน้า เหมาะเจาะกับเรื่องราวของหนังพอดิบดี!
นอกจากนี้ยังพร่ำบ่นเรื่องค่าเบี้ยเลี้ยงคนชรา เห็นว่ามีถูกตัดออกไปบางส่วนเพราะไม่ผ่านการอนุมัติของกองเซนเซอร์ ซึ่งหลังจากหนังออกฉาย คุณยายก็กลายเป็นคนดัง ได้รับเงินบริจาค มีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือดูแล แต่ถึงอย่างนั้นเธอกลับเสียชีวิตเพราะหนาวตายโดยลำพัง ในบ้านหลังนี้เลยกระมัง T_T

หนังจงใจไม่ถ่ายคุณยายร่วมเฟรมกับนักแสดง เพื่อว่าผู้กำกับ Shukshin จะได้มีพื้นที่ในการดั้นสด (Improvised) นำเสนอปฏิกิริยาของ Yegor เมื่อตระหนักว่าเธอคนนี้คือมารดาของเขา เต็มไปด้วยท่าทีลุกลี้ลุกรน กระวนกระวาย ไม่สามารถสงบนั่งนิ่งอยู่กับที่ได้ พบเห็นผ่านประตู หน้าต่าง เพื่อสื่อถึงความต่ำต้อยด้อยค่าของตนเอง
แซว: เอาจริงๆช็อตสุดท้ายของคุณยาย เหม่อมองออกมานอกหน้าต่างด้วยรอยยิ้มเล็กๆ น่าจะเป็นการสื่อว่าเธอจดจำได้บุตรชายตนเองอย่างแน่นอน!

สถานที่ที่ Yegor หยุดรถแล้วทิ้งตัวร่ำไห้บนพื้นหญ้า อาคารด้านหลังน่าจะคือโบสถ์ของศาสนาคริสต์ ซึ่งพอดิบพอดีกับการที่เขากำลังจะตั้งปณิธานว่าต่อจากนี้ ไม่ขอลักเล็กขโมยน้อย เลิกเป็นอาชญากร หันมาประกอบอาชีพสุจริต เพื่อสักวันจักสามารถหวนกลับหามารดา โดยไม่รู้สึกอับอายขายขี้หน้าแบบวันนี้

ผมพยายามมองหาว่า kalina ผลของดอก viburnum หรือที่เรียกว่า red snowball จะปรากฎพบเห็นฉากไหน? ในที่สุดก็พบเจอช็อตนี้ที่เด็กชายโยนลูกเบอรี่สีแดง (ย่อมคือ kalina) เหมือนจะตั้งใจให้เป็นอาหารปลา แต่พวกมันกลับไม่มีใครสนใจ
ซีนนี้ต่อจากคำปฏิญาณตนของ Yegor ตั้งใจว่าจะเปลี่ยนแปลงตนเอง เริ่มต้นใหม่ แต่การที่ไม่มีปลาตัวไหนกินผล kalina เหมือนต้องการสื่อว่า(การกลับตัวกลับใจ)เป็นสิ่งสายเกินไปสำหรับเขา เพราะต่อจากนี้จะต้องเผชิญหน้ากับ…

สามีเก่าของ Lyuba เมื่อลากพา Yegor ออกมาจากบ้าน ช็อตนี้กล้องเคลื่อนขึ้นแนวดิ่ง ถ่ายจากมุมสูงเห็นดอกและใบ บดบังการต่อสู้ระหว่างพวกเขา นี่ราวกับมุมกล้องของพระเป็นเจ้า จับจ้องถึงสิ่งที่เขาไม่สามารถหลีกเลี่ยง หลบหนีพ้น ต้องเผชิญหน้าผลกรรมจากสิ่งเคยทำไว้ … แต่ครานี้ยังพอเอาตัวรอดมาได้

แต่เมื่อต้องเผชิญหน้าพรรคพวกเก่า นั่นเป็นสิ่งที่ Yegor ไม่สามารถหลบหลีกหนี หรือหาใครอื่นรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ซึ่งหนังนำเสนอด้วยภาพจากระยะไกล Extreme Long-Shot กล้องไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ไม่ให้รับรู้ว่าพวกเขากำลังพูดคุยอะไรกัน เพียงความเงียบงัน ตัดมาอีกทีได้ยินเสียงปืน นั่นคือจุดจบ โศกนาฎกรรมที่มิอาจหนีพ้น
การนำเสนอทั้งสองการเผชิญหน้านี้ เพื่อสร้างสัมผัสให้ผู้ชมถึงสิ่งที่ Yegor มิอาจหลบหลีกหนี คือโชคชะตา ฟ้ากำหนด ผลกรรม ไม่มีใครสามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยว ก้าวก่าย (มุมกล้องจึงถ่ายจากไกลๆ พบเห็นเพียงเลือนลางว่าบังเกิดอะไรขึ้น)

แม้เครดิตตัดต่อจะขึ้นชื่อ Ye. Mikhalkova แต่ผู้กำกับ Vasily Shukshin เป็นดูแลงานส่วนนี้ทั้งหมด ขนาดว่าหลบหนีออกจากโรงพยาบาล (โรคแผลในกระเพาะกำเริบระหว่างเร่งงานตัดต่อ) เพื่อเลือกตัดฉากที่กองเซนเซอร์ State Committee for Cinematography (Goskino) ไม่อนุมัติให้ผ่านด้วยตนเอง
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองสายตาของ Yegor Prokudin ตั้งแต่เตรียมตัวออกจากเรือนจำ หวนกลับไปหาเพื่อนฝูง ก่อนมุ่งสู่ชนบทพบเจอกับ Lyuba แล้วตัดสินใจลงหลักปักฐาน เตรียมพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่
- อารัมบท, กิจกรรมขับร้องประสานเสียงในเรือนจำ
- องก์หนึ่ง, ชีวิตในเมืองของ Yegor
- เมื่อได้รับการปล่อยตัว เลยออกติดตามหาพรรคพวกเก่า
- แต่ก็ไม่ใครสามารถเป็นที่พักพิง ถูกตำรวจไล่ล่า ไร้ที่ซุกหัวนอน
- องก์สอง, ก้าวแรกสู่ชนบทที่ไม่มีใครยินยอมรับ
- ตัดสินใจออกเดินทางสู่ชนบท นับพบเจอ Lyuba นั่งคุยกันยังร้านน้ำชา
- พามาที่บ้านพบเจอบิดา-มารดา ต่างแสดงอาการหวาดกลัว ใช้เวลาสักพักกว่าจะเริ่มพูดคุยอย่างเปิดอก
- พบเจอพี่ชายของ Lyuba และเรื่องวุ่นๆในห้องอาบน้ำ
- มื้อเย็นที่เต็มไปด้วยเสียงเพลง ความครึกครื้นและเศร้าโศกเสียใจ
- ค่ำคืนที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวง
- องก์สาม, ที่ชนบทไม่มีอะไรให้ Yegor ได้พักผ่อนหย่อนใจ
- Yegor ต้องการจะทอดทิ้ง Lyuba ใช้เงินซื้อเสื้อผ้า เกี้ยวพาราสีสาวๆ จับจ่ายเงินซื้อไวน์หรู แต่กลับไม่มีสิ่งไหนสร้างความพึงพอใจ
- ค่ำคืนนั้นหวนกลับมาตายรัง และสามารถสานสัมพันธ์กับพี่ชายของ Lyuba
- องก์สี่, ความต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิด
- วัดถัดมาได้งานเป็นคนขับรถ นำพาผู้ตรวจการไปยังสถานที่ต่างๆ ก่อนพบเจอน้องสาวแท้ๆ
- Yegor ลากพา Lyuba มายังบ้านหลังหนึ่ง (ที่น้องสาวบอกให้ไปหา) ก่อนตระหนักว่านั่นคือมารดาแท้ๆของตนเอง
- แต่เมื่อกลับบ้านมาพบเจออดีตสามีของ Lyuba ต้องการรุมกระทำร้าย Yegor
- และวันถัดมาพรรคพวกเก่าของ Yegor ต้องการลากพาเขากลับไปเป็นโจรอีกครั้ง
- ปัจฉิมบท, พี่ชายของ Lyuba ตัดสินใจแก้ล้างแค้นแทน Yegor
เพลงประกอบโดย Pavel Chekalov ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ Vasily Shukshin เรื่อง There Is Such a Lad (1964) และ Happy Go Lucky (1972)
งานเพลงของหนังมีความหลากหลายมากๆ ตั้งแต่นักแสดงขับร้อง คอรัสประสานเสียง เปิดจากวิทยุ กระโดดโลดเต้น ทั้งท่วงทำนองร่วมสมัย คลาสสิก แต่โดยหลักๆจะเป็นดนตรีพื้นบ้านรัสเซีย (Folk Song) เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ สะท้อนเข้าอารมณ์ตัวละครขณะนั้น สุข-เศร้า ตื่นเต้น-เคล้าน้ำตา
ดั้งเดิมนั้นผู้กำกับ Shukshin อยากใช้บทเพลง Kalina krasnaya แต่อย่างที่บอกไปว่าไม่สามารถจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ จึงเปลี่ยนมาเป็นบทเพลง Abendglocken แปลว่า Evening Ringing ได้ยินตั้งแต่เริ่มต้น Opening Credit นักโทษขับร้องประสานเสียง โหยหวนถึงอิสรภาพ เพราะปัจจุบันถูกกักขังอยู่ในเรือนจำ เฝ้ารอคอยวันเวลาแห่งแห่งความสุขที่สักวันย่อมต้องมาถึง (หลังสิ้นสุดรับโทษทัณฑ์)
Вечерний звон หรือ Abendglocken แต่งคำร้องโดย Ivan Kozlov, ทำนองโดย Alexander Alyabyev ประมาณว่าน่าจะถูกเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1827-28 แปลมาจากบทกวีภาษาอังกฤษ Those Evening Bells ประพันธ์โดย Thomas Moore (1779-1852) รวบรวมอยู่ใน National Airs ตีพิมพ์ปี 1818
Those evening bells! Those evening bells!
How many a tale their music tells
of youth, and home and that sweet time,
When last I heard their soothing chime.Those joyous hours are past away,
And many a heart that then was gay
Within the tomb now darkly dwells
And hears no more these evening bells.And so ’twill be when I am gone;
That tuneful peal will still ring on
while other bards will walk these dells,
and sing your praise, sweet evening bells.
บทเพลงนี้นำคำร้องจากบทกวี Письмо к матери หรือ Pis’mo k materi แปลว่า A Letter to Mother (1924) ประพันธ์โดย Sergei Yesenin (1895-1925) คีตกวีสัญชาติรัสเซีย ไม่มีรายละเอียดว่านักร้องในคลิปคือใคร ผู้กำกับ Shukshin เล่าว่าพบเจอจากคลังเก็บ (Video Archive) คอมเมนต์ Youtube ก็ตอบไม่ได้ แต่ทุกคนล้วนสรรเสริญว่านี่คำร้องที่ไพเราะ ทรงพลังที่สุด (ของบทเพลงนี้)
สำหรับเนื้อคำร้อง ก็คือคำรำพันของตัวละคร Yegor Prokudin กำลังครุ่นคิดถึงมารดา ที่แม้ได้พบเจอแต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยตนเอง ด้วยความรู้สึกผิดที่ทอดทิ้งไปกว่ายี่สิบปี หวังว่าค่ำคืนนี้ยังคงมีความสุข อย่าจมปลักอยู่กับบุตรเนรคุณนี้เลยนะ
Are you still alive, my dear granny?
I am alive as well. Hello! Hello!
May there always be above you, honey,
The amazing stream of evening glow.I”ve been told that hiding your disquiet,
Worrying about me a lot,
You go out to the roadside every night,
Wearing your shabby overcoat.In the evening darkness, very often,
You conceive the same old scene of blood:
Kind of in a tavern fight some ruffian
Plunged a Finnish knife into my heart.Now calm down, mom! And don”t be dreary!
It”s a painful fiction through and through.
I”m not so bad a drunkard, really,
As to die without seeing you.I”m your tender son as ever, dear,
And the only thing I dream of now
Is to leave this dismal boredom here
And return to our little house. And how!I”ll return in spring without warning
When the garden blossoms, white as snow.
Please don”t wake me early in the morning,
As you did before, eight years ago.Don”t disturb my dreams that now have flown,
Don”t perturb my vain and futile strife
For it”s much too early that I”ve known
Heavy loss and weariness in life.Please don”t teach me how to say my prayers!
There is no way back to what is gone.
You”re my only joy, support and praise
And my only flare shining on.
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเห็นแก่ตัวโดยสันดาน มองโลกในแง่เดียว ใครคิดเห็นต่างก็พร้อมตีตราว่าคือศัตรู อะไรไม่เข้าใจก็พยายามผลักไส ขับไล่ให้ออกห่าง ไม่ต้องการจะเรียนรู้ เปิดรับ ทำความเข้าใจอีกฝั่งฝ่าย ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’
แต่โดยพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิต ไม่มีใครอยากกระทำสิ่งเลวร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น โดยเฉพาะครอบครัว ญาติมิตรสหาย ปัญหาเกิดความไม่เท่าเทียม ทัศนคติผู้คน และสภาพแวดล้อมในสังคม ล้วนเป็นสิ่งเสี้ยมสอน หล่อหลอมให้เรา-เขากลายมาเป็นตัวตนปัจจุบัน … สำนวน ‘ดี-ชั่วขึ้นอยู่กับตัวเรา’ ถูกเพียงครึ่งเดียวนะครับ อีกครึ่งหนึ่งมาจากบริบทรอบข้างที่จะสร้างมุมมอง โลกทัศนคติ กำหนดกรอบชีวิต ความเชื่อ และศรัทธา เช่นว่าเด็กคนหนึ่งเติบโตท่ามกลางหมู่โจร ย่อมมีความเข้าใจว่าการลักเล็กขโมยน้อยเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่มีทางตระหนักว่านั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องจนกว่าจะถูกจับกุม หรือไปอยู่อาศัยร่วมกับสังคมอื่น
พื้นฐานของ Yegor Prokudin ก็ไม่ใช่บุคคลโฉดชั่ว เลวร้าย แต่เติบโตผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบาก สูญเสียพี่ชายจากสงคราม เลยตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านมุ่งสู่เมืองใหญ่ วาดฝันว่าคงมีโอกาสได้ดิบดี ประสบความสำเร็จร่ำรวยเงินทอง สักวันจักหวนกลับไป แต่กลายเป็นต้องต่อสู้ดิ้นรน ค้นพบหนทางเอาตัวรอดด้วยวิธีลักเล็กขโมยน้อย ทำซ้ำบ่อยครั้งจนติดนิสัย กลายเป็นจอมโจร เลยโดนจับกุมควบคุมขังนานถึง 5 ปี
เรื่องราวของ Yegor แน่นอนว่ามีความสัมพันธ์หลายๆอย่างกับผู้กำกับ Vasily Shukshin ต่างเป็นเด็กบ้านนอกที่ตัดสินใจออกเดินทางสู่เมืองหลวง วาดฝันว่าจะประสบความสำเร็จ สักวันจักได้หวนกลับมา แต่เขากลับเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น ไม่สามารถลงหลักปักฐาน มีสภาพไม่ต่างจากขโมยกะโจรสักเท่าไหร่ (นี่ไม่ได้แปลว่า Shukshin กลายเป็นโจรนะครับ เป็นการเปรียบเทียบในเชิงสัญลักษณ์เฉยๆ)
หลังจาก Shukshin ล้มป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร (ระหว่างถูกเกณฑ์ทหาร) จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ทำให้เขาเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัว ความรักจากมารดาคือสิ่งประเมินค่าไม่ได้ เมื่อกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ก็มักพัฒนาเรื่องราวเกี่ยวกับชนบท สร้างสำนึกรักบ้านเกิด เคยทำอะไรผิดพลาด และกำลังได้รับโอกาสครั้งใหม่ (Second Chance)
I would not want the audience to see in Kalina Krasnaya a sort of “criminal story” about a reforged criminal. This is a story about each of us, about the eternal search for one’s place in life, a kind of dialogue between a person and his conscience. Indeed, in art, as in medicine, the main thing is the struggle for the salvation of a person until the last minute of his life. The fate of Prokudin should evoke in the viewer not just a feeling of compassion (although this is important), but arouse an irreconcilable, active attitude towards evil, indifference, parasitism – the sources of many crimes.
Vasily Shukshin
ความตั้งใจของผู้กำกับ Shukshin ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมมอง The Red Snowball Tree (1974) เพียงแค่เรื่องราวของอาชญากรกลับใจ มนุษย์ทุกคนล้วนเคยกระทำสิ่งผิดพลาด มันไม่จำเป็นว่าต้องได้รับการยกโทษให้อภัย ชดใช้ความผิดติดคุกติดตาราง หรือออกเดินทางไปแห่งหนไหน เพียงแค่เราค้นพบความสงบสุขจากภายใน ‘ให้อภัยตนเอง’ ก็จักสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ทุกที่ทุกเวลา
โชคชะตากรรมของ Yegor คือสิ่งที่ผู้กำกับ Shukshin เชื่อว่าจะสร้างความรู้สึกสงสาร เห็นอกเห็นใจ ตระหนักถึงการกระทำชั่วย่อมได้รับผลเลวร้าย (กรรมสนองกรรม) เราจึงควรหลีกเลี่ยง ใช้สติหยุดยับยั้งคิด อย่าปล่อยตัวให้หลงระเริงไปกับมายาคติ
ชื่อหนังภาษารัสเซีย Калина красная หรือ Kalina krasnaya ภาษาอังกฤษเรียกว่า Red Snowball มาจากส่วนผสมของ
- kalina = ผลของดอก Viburnum Opulus ลักษณะคล้ายๆลูกเบอรี่ (หนึ่งในดอกไม้ประจำชาติ Russia/Ukraine)
- krasnaya = สีแดง, หน้าแดง(เขินอาย)
รวมแล้วคือสัญลักษณ์ของเลือด สายเลือด ผืนแผ่นดินบ้านเกิด, ในวัฒนธรรมชาว Eastern Slavic ยังหมายถึงหญิงสาวแรกรุ่น ความรักที่ลุ่มร้อน อารมณ์อันรุนแรง (passion) ขณะที่รสชาติขมๆยังสื่อถึงความเจ็บปวด ระทมทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ
ส่วนนัยยะกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เอาจริงๆผมก็ไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ ครุ่นคิดว่าน่าจะสื่อชีวิตที่เต็มไปด้วยรสชาติหวาน-ขมของ Yegor Prokudin (และผู้กำกับ Vasily Shukshin) เคยกระทำสิ่งผิดพลาดจนไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เลยออกค้นหาสถานที่ที่จะทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นภายใน แต่เมื่อพบเจอแล้วกลับต้องสูญเสียทุกสิ่งอย่างไป (คงเหมือนปลาที่เมื่อได้ลิ้มลองเมล็ดของ Kalina krasnaya แล้วตระหนักว่ารสชาดไม่อร่อยสักเท่าไหร่)
หนังใช้ทุนสร้างเพียง 289,000 รูเบิล ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ (ถ้าเทียบค่าเงินปัจจุบันแค่ประมาณ 2,200 ดอลลาร์เท่านั้นเองนะครับ) แต่สามารถประสบความสำเร็จล้นหลาม เฉพาะปี 1974 มียอดจำหน่ายตั๋ว 62.5 ล้านใบ หลังจากนั้นมีการฉายซ้ำ (Re-Release) อีกนับครั้งไม่ถ้วน จนตัวเลขถึงปัจจุบันพุ่งสูงเกินกว่า 140+ ล้านใบ (มาจากบทสัมภาษณ์ของ Boris Pavlenok ที่ฟังดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่)
หนังได้เข้าฉายหลายประเทศในยุโรป รวมถึงเทศกาลหนังเมือง Berlin (ขณะนั้นคือ West Germany) ในสายการประกวด Forum of New Cinema (ไม่ใช่สายหลักนะครับ) สามารถคว้ามาถึงสามรางวัล
- FIPRESCI Prize – Recommendation
- Interfilm Award – Recommendation
- OCIC Award – Recommendation
ด้วยความสำเร็จอันล้นหลามของหนัง Mosfilm ได้ทำการบูรณะ ปรับปรุง (Digital Restoration) คุณภาพ 4K แล้วเข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice Classic เมื่อปี 2019, อาจหาซื้อแผ่นเก็บยากสักหน่อย แต่สามารถหารับชมบน Youtube ช่องของ Mosfilm
Shukshin managed to touch the living nerve of human life, showed an extraordinary personality, a tragic conflict. He showed passionately, talentedly, breathed into the picture his own deep thoughts about life, about a person.
ผู้กำกับ Andrei Konchalovsky กล่าวชื่นชมหนังในบทความ Creating a portrait of the Era
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบหนังมากๆ หลงใหลในลีลา ไดเรคชั่น โดยเฉพาะการแสดงของผู้กำกับ Shukshin แม้ด้วยทุนสร้างน้อยนิดกลับเต็มไปด้วยรายละเอียด ‘เรียบง่ายแต่ซับซ้อน’ และเรื่องราวแฝงข้อคิดที่เป็นสาระประโยชน์ต่อผู้ชม แม้จนถึงยุคปัจจุบันก็ยังคงความคลาสสิก
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปมาก แต่โลกทัศน์อันคับแคบของมนุษย์ยังคงไม่แตกต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ เราควรเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่น ไม่ใช่โกรธเกลียดแค้นฝังหุ่น มองคนแค่เพียงเปลือกภายนอก แล้วแสดงพฤติกรรมเหยียดหยาม ดูหมิ่นแคลน ‘bully’ ทำไมไม่คิดบ้างว่าถ้าเกิดบุคคลนั้นอดรนทนไม่ไหวแล้วแว้งกัด มันน่าสงสารเห็นใจหรือสมน้ำหน้า(คนที่ถูกกระทำโต้ตอบกลับ)
มันไม่ผิดอะไรหรอกนะที่เราจะหวาดกลัวอาชญากร เพราะบางคนแม้พ้นโทษก็ไม่ได้แปลว่าสามารถกลับตัวกลับใจ แต่หาใช่เรื่องที่จะไปพูดจาดูถูก แสดงออกด้วยความรังเกียจเดียดชัง ตีตราว่าเป็นสัตว์ร้าย เดรัจฉาน! เหล่านั้นเป็นการสะท้อนสันดานธาตุแท้ของเรา ที่ก็ไม่ได้กว่าคนเหล่านั้นสักเท่าไหร่
ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เราไม่สามารถยกโทษให้อภัย การปล่อยวางความรู้สึกอาจเป็นสิ่งยากยิ่งสำหรับคนสมัยนี้ที่เอาแต่หมกมุ่น มักมาก ต้องการโน่นนี่นั่น เรียกร้องต้องให้ได้อย่างใจฉัน แต่ถ้าคุณไม่คิดจะเริ่มต้น ไม่อยากจะเรียนรู้ จนวันตายก็ไม่มีทางที่เราจะค้นพบความสงบ สันติสุขที่แท้จริง
จัดเรต 15+ เสียงซุบซิบที่สะท้อนความอัปลักษณ์ของผู้คน
Leave a Reply