The Red Turtle (2016) : Michaël Dudok de Wit ♥♥♥♥
เต่า คือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิด้วยปัญญา เชื่องช้าแต่มั่นคง, สีแดง คือเลือดและชีวิต, La Tortue Rouge คือภาพยนตร์อนิเมชั่นร่วมสร้างระหว่าง Wild Bunch และ Studio Ghibli ของญี่ปุ่น นำเสนอการดิ้นรน พึ่งพา ใช้ชีวิต และเอาตัวรอด เรียกได้ว่าคือ ‘ปรัชญาชีวิต’
บทความนี้จะเน้นการวิเคราะห์ปรัชญาของหนังเป็นหลัก เหมาะสำหรับคนที่รับชมหนังมาแล้ว ต้องการทำความเข้าใจมองเห็นโลกในอีกมุมหนึ่ง
ชายหนุ่มไร้ชื่อลอยคออยู่ในทะเล ท่ามกลางพายุฝนฟ้าคลื่นคลั่ง ดิ้นรนตะเกียกตะกายหาทางเอาตัวรอด, ตอนเช้าตื่นขึ้นเกยตื้นบนชายหาดแห่งหนึ่ง ออกเดินสำรวจทั่วเกาะไม่พบว่ามีใครอยู่ จึงได้สร้างเรือแพเพื่อหาทางล่องออกไป กลับคืนสู่… โลกอารยธรรม?
การมีตัวตนของเกาะแห่งนี้ เปรียบเสมือนโลกใบหนึ่งที่ตัดขาดทุกสิ่งอย่างจากภายนอก ไม่มีร่องรอยสิ่งก่อสร้างอารยธรรม ไร้ผู้คนหรือสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ (เห็นแค่เต่ากับปู) จะเรียกว่าเป็นโลกใบเปล่าๆที่มีเพียงสิ่งธรรมชาติ ป่าไผ่ ก้อนหิน และเนินเขา
สถานการณ์เรือแตกแล้วติดเกาะ คือการพลัดพรากกับชีวิตรูปแบบเดิมๆ จากโลกอารยธรรม หรือสรวงสวรรค์ ฯ สู่ดินแดนที่เป็นจุดกำเนิดเริ่มต้นของชีวิต, ในมุมของโลกภายนอก เมื่อชายคนนี้หายตัวไปคงคิดว่าจมน้ำ’เสียชีวิต’ไปแล้ว แต่ในมุมมองของเกาะนี้ การมาของเขาเปรียบกับ’การเกิด’ มีตัวตนแรกของชีวิต
ชายหาดเป็นสถานที่รอยต่อเชื่อมระหว่างแผ่นดินกับมหาสมุทร มักได้รับการเปรียบเทียบกับจุดกำเนิดของชีวิต เต่าใช้เป็นที่วางไข่ สัตว์น้ำวิวัฒนาการขึ้นเป็นสัตว์บก ปูหากินในรู, เรื่องราวส่วนใหญ่ของหนังเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ ชายหนุ่มเกยตื้นขึ้นบนชายหาด ชอบที่จะเหม่อลอยมองออกไปเห็นขอบฟ้า ปลายทะเล ดวงดาว นี่เป็นสถานที่ใกล้สุดที่เขาจะสามารถเอื้อมคว้า สัมผัสกับเป้าหมาย สิ่งที่อยู่ไกลออกไปอีกด้านหนึ่งของท้องทะเลได้
สำหรับปูทั้งหลาย เป็นตัวแทนของวิถีธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไร, เหมือนว่าปูเหล่านี้จะสะท้อนวิถีชีวิตของตัวละครมนุษย์ที่อยู่บนเกาะ แต่ผมรู้สึกใส่มาเพื่อสร้างสีสันให้กับเรื่องราว ไม่ให้น่าเบื่อเกินไปมากกว่า
มีครั้งหนึ่งระหว่างสำรวจเกาะ ชายหนุ่มตกลงไปในแอ่งน้ำ วิธีรอดทางออกเดียวต้องมุดดำลงไป ผ่านช่องแคบหัวขวดระหว่างโขดหิน, เปรียบการตกลงแอ่งน้ำได้กับการติดเกาะ(ทางความคิด) ทางออกมีหนึ่งเดียวคือสร้างเรือ (จมมุดลงไปในความคิดของตนเอง) ทีแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นใช่ทางออกหรือเปล่า ต้องใช้ความกล้าเสี่ยงดู โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดไปได้ (คำตอบที่ถูกต้องอาจมีเพียงเส้นทางเดียว เล็กๆแบบนี้)
ความโหยหาเป็นสันชาติญาณหนึ่งของมนุษย์ เมื่อติดเกาะก็ต้องการกลับไปสู่สถานที่อันคุ้นเคย บ้านที่อยู่อาศัย ผู้คนอารยธรรมที่เป็นของตน ที่แห่งนั้นจะสุขหรือทุกข์ก็ไม่รู้แต่กระหายที่จะหวนคืน, เราสามารถมองสิ่งที่อยู่ปลายทางขอบฟ้านั้นคือ เส้นชัย จุดสิ้นสุด เป้าหมายชีวิต หรือนิพพาน
การต่อแพด้วยลำไม้ไผ่ ผูกมัดประสานกันด้วยเถาวัลย์อย่างหลวมๆ และใช้ใบไผ่เป็นผ้าใบเรือ เปรียบประหนึ่งวิธีการที่มนุษย์ใช้ในการเดินทาง/แก้ปัญหา/เอาตัวรอด สู่เป้าหมายที่วาดฝันไว้, แต่หารู้ไม่ ลำไผ่ข้างในนั้นกลวงโบ๋ เปรียบกับความคิดของมนุษย์ที่เปลือกนอกที่ดูแข็งแกร่งแต่ข้างในว่างเปล่าไร้แก่นสาน เมื่อจับสิ่งปลอมๆพวกนี้มาผูกมัดรวมกัน แล้วปิดปกคลุมด้วยความสดใหม่ จริงอยู่มันพอไปวัดไปวาได้ แต่จะแข็งแกร่งมั่นคงตลอดการเดินทางได้อย่างไร?
แพลำนี้ได้รับการทดสอบ ถูกขัดขวางด้วยบางสิ่งอย่าง ครั้งแรก ครั้งที่สอง เพราะมันยังไม่แข็งแกร่งพอหรืออะไรกันที่เหมือนจะทำลายความตั้งใจของชายหนุ่ม, มาพบในครั้งที่สาม ว่าคือเต่าสีแดงขนาดใหญ่ ไม่ว่าแพจะแข็งแกร่งขนาดใหญ่แค่ไหน ก็มิอาจต้านพละกำลังกระแทกทำลายของมันได้
เต่าเป็นสัตว์อายุยืน เชื่องช้า ปกติจะไม่ค่อยชอบใช้ความรุนแรง เว้นแต่ใครไปทำอะไรให้มันโกรธจัด ทีนี้ละแค้นน่าดู, การมีตัวตนของเต่า มองได้คืออุปสรรค กิเลส ตัวขัดขวางไม่ให้มนุษย์ทำบางสิ่งอย่างไปถึงเป้าหมายสำเร็จ, มองได้ว่าคือข้อจำกัดทางความคิดของมนุษย์ (เต่า เป็นตัวแทนของสัตว์ทรงภูมิความรู้ เป็นสัญลักษณ์ขององค์ความรู้) ไม่ใช่ว่าชายหนุ่มจะเอาชนะผ่านเต่าไม่ได้ แต่เขาไม่สามารถเอาชนะกรอบความคิด/ความต้องการ/กิเลส ของตัวเองได้
จนครั้งหนึ่งเมื่อเต่าขึ้นบก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ชายหนุ่มแก้แค้นด้วยการคว่ำกระดอง ช่วงนั้นความคิดของเขาได้เกิดการกลับตารปัตรโดยสิ้นเชิง, ขณะชายหนุ่มต่อแพเป็นครั้งที่ 4 (ครั้งสุดท้าย) เกิดความลังเลใจขึ้น ครานี้เขาสามารถแล่นหนีกลับสู่ดินแดนแห่งเป้าหมายได้แล้ว แต่ดันไม่ทำ (นั่นเพราะเขาเริ่มคิดถึงสิ่งอื่น นอกจากการกลับบ้าน) ว่าไปอยู่แบบนี้ก็ไม่เลว การคิดแบบนี้มุมมองต่อโลก/เกาะ แห่งนี้เปลี่ยนไป ทำให้มีเรื่องราวแฟนตาซีเกิดขึ้น
เต่าแดงกระเทาะกระดองออกกลายเป็นหญิงสาวผมแดง, การมีตัวตนของเธอ เป็นแปรสภาพของชีวิตจากนามธรรมเป็นรูปธรรม บางทีเต่าตัวนั้นอาจเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว แต่ชายหนุ่มมองเห็นเธอเป็นเต่าเพราะการกระทำที่ขัดขวางการไปสู่เป้าหมายปลายทาง/ความสำเร็จ เมื่อครั้นมุมมองความคิดทัศนะต่อโลกเปลี่ยนไป เขาจึงมองเห็นรูปร่างตัวตนแท้จริงของสิ่งนั้น
นอกจากการกลับมามีชีวิตของเต่าแดงกลายเป็นหญิงสาวแล้ว ภาพตอนกลางคืนของหนังยังมีสีสันชีวิตชีวาขึ้นด้วย (ตอนแรกฉากในความฝัน/กลางคืน จะเป็นภาพสีขาว-ดำ-เทา อึมครึมมืดหม่นมาก)
เมื่อชายหนุ่มตัดสินใจปล่อยแพที่สร้างให้ล่องลอยออกไป นั่นคือการปลดปล่อยตัวเองจากความยึดติดในความต้องการ/เป้าหมาย/ความสำเร็จ ยอมรับพอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน, ในมุมหนึ่งของการยอมรับนี้คือ ความพ่ายแพ้ ในทางพุทธเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือ นิพพานหลุดพ้น การที่ชายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจยุติการดิ้นรนเพื่อหนีออกจากเกาะแห่งนี้ ถือเป็นการยอมแพ้ต่อกิเลส เลือกจะจมอยู่วนเวียนในวัฏจักรสังสารนี้ต่อไป
นี่คือสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างปรัชญาตะวันตก กับปรัชญาตะวันออก, คือทางตะวันตกมุ่งเน้นที่การใช้ชีวิตในปัจจุบันบนโลกใบนี้ แต่ทางตะวันออกของเรา ชีวิตชาตินี้คือเสี้ยวหนึ่งของการเดินทาง มุ่งสู่วิถีหลุดพ้นเพื่อจักไม่กลับมาเกิดอีก
สำหรับครึ่งหลังของหนัง นำเสนอปรัชญาชีวิตในวิถีของครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก, เด็กชายค่อยๆเติบโตขึ้นจากทารกจนเติบใหญ่ ส่วนพ่อ-แม่ จะเริ่มสูงวัยชราภาพ ครั่งหนึ่งลูกต้องพึ่งพาพ่อแม่ แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เหตุการณ์(อาจ)กลับตารปัตรพ่อแม่พึ่งพาลูก
เด็กตัวเล็ก ครั้งหนึ่งเคยพลัดตกลงในแอ่งน้ำ พ่อแม่เป็นห่วงวิตกกังวลแทบตาย แต่เด็กชายกลับสามารถหาทางมุดออก ดำผ่านช่องแคบคอขวดได้อย่างง่ายดาย (นั่นเพราะคนรุ่นใหม่ ยังไม่มีอะไรมากมายที่ทำให้ความคิด/ตัวตนคับแคบติดคอขวดนั้น)
การมาของสึนามิ ภัยธรรมชาติจากกระแสน้ำที่พัดพาทำลายทุกสิ่งอย่างในเส้นทางของมัน เปรียบได้กับการชะล้างทางความคิด นี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กหนุ่ม (ที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่) เกิดความใคร่สนใจในสิ่งที่อยู่ปลายฟ้า ไกลเกินขอบเขตสายตาที่ตนมองเห็น มีอะไรอยู่ที่นั่นบ้าง?, คนเป็นพ่อคงระลึกถึงตัวเองครั้นเมื่อติดเกาะแรกๆ จึงยินยอมปล่อยให้ลูกได้แสวงหาทาง เรียนรู้ ออกผจญภัยด้วยตนเอง นี่เปรียบได้กับลูกๆที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ สักวันหนึ่งพวกเขาต้องออกจากอ้อมอกของพ่อแม่ หาทางเอาตัวรอดในโลกกว้างด้วยตัวเอง
เมื่อลูกจากไป สิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่สำหรับชีวิตชายชราผมขาวคือ ความตาย ก่อนสิ้นลมเขาเหม่อมองออกไปยังปลายขอบฟ้า เห็นพระจันทร์กำลังขึ้น(หรือตกดินก็ไม่รู้) ราวกับนั่นยังคงคือความฝัน ปลายทาง เป้าหมายที่เขายังคงโหยหา วาดฝันที่จะกลับไปอีกสักครั้ง
การกลับคืนของหญิงสาวผมแดงสู่การเป็นเต่าแดง คือการแปรสภาพกลับจากรูปธรรมเป็นนามธรรม ทุกสิ่งอย่างเมื่อมีเกิดต้องมีดับเป็นสัจธรรม มาจากธรรมชาติก็ต้องกลับคืนสู่ธรรมชาติ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยบนผืนทราย (ขณะที่เต่าแดงเคลื่อนตัวลงสู่ท้องทะเล)
วิธีการเล่าเรื่องของอนิเมะเรื่องนี้ ใช้แนวคิดที่เรียกว่า Minimalist เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ หรือสมถะ เหมือนจะไม่ค่อยมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าคุณคิดวิเคราะห์ตามจะพบว่ามีมากมายมหาศาล
การออกแบบตัวละคร ปกติแล้วอนิเมะของญี่ปุ่นจะเน้นการวาดตัวละครตาโตๆ ซึ่งนัยน์ตาเปรียบเป็นหน้าต่างสะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ แต่เรื่องนี้วาดดวงตาเป็นจุดดินสอดำเล็กๆ ราวกับว่าพวกเขาไม่คิด/รู้สึกอะไรทั้งนั้น (แต่เราสามารถสัมผัสสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจ ได้จากการกระทำภายนอกของพวกเขา)
ภาพธรรมชาติพื้นหลัง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ว่างแต่มีรายละเอียดที่แทบจะทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะดวงดาวบนท้องฟ้าที่เหมือนจะสื่อสารกับผู้ชมเป็นภาษาความรู้สึกบางอย่างได้, ความโดดเด่นคือโทนสี ซึ่งจะมีความหลากหลาย ใช้แทนอารมณ์ของตัวละคร เช่น กลางคืนขาว/เทา/ดำ แสดงความหดหู่ อ้างว้าง โดดเดี่ยว, สีน้ำเงิน/ฟ้า คือการเดินทาง, สีเขียว/ส้ม อบอุ่น ฯ
การถ่ายภาพแทบจะไม่มีช็อต Close-Up ระยะใกล้เลย (คือไม่ต้องการให้สัมผัสอารมณ์ของตัวละคร) ส่วนใหญ่เป็นระยะ Medium-Long Shot จนถึง Extreme Long Shot เหมือนว่าต้องการให้ผู้ชม สัมผัสบรรยากาศของธรรมชาติที่อยู่รอบข้างด้วย ประหนึ่งตัวละครที่มีเรื่องราวและภาษาของตนเอง, ผมเรียกว่า ภาษาธรรมชาติ
การตัดต่อ มีการเล่าภาพในความฝัน ที่บางครั้งสะท้อนความต้องการ, ความอ้างว้าง, เพ้อฝันของตัวละคร ฯ ส่วนใหญ่แล้วฉากความฝันจะสังเกตง่ายคือ เป็นสิ่งที่เกินจริง (แต่ก็มีครั้งหนึ่งคือ เต่ากลายเป็นหญิงสาว ที่เหมือนความจริงซ้อนทับความฝัน)
เพลงประกอบโดย Laurent Perez del Mar, เสียงเพลงจะมีหน้าที่สร้างบรรยากาศ (Mood) ให้กับเหตุการณ์ อารมณ์ของตัวละคร มีลักษณะเหมือนบทกวี/คำพูด ของหนังที่เล่าเรื่องไปด้วยในตัว
ใจความภาพรวมของอนิเมชั่นเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่านำเสนอ ‘วิถี’ ของชีวิตมากกว่า ‘แนวคิด’ ทางปรัชญา ใช้ภาษาภาพยนตร์เล่าเรื่อง เปิดอิสระให้ผู้ชมคิดวิเคราะห์ตีความ ตามโลกทัศน์ความเข้าใจของตนเอง ไม่เชิงเป็นปรัชญาชีวิตแท้ๆ แต่เหมือนบทกวีพรรณามากกว่า, โดยสามารถแบ่งองค์ประกอบออกเป็นสองส่วน
1) กับตัวเอง, เป็นเรื่องราวของการต่อสู้ดิ้นรน อุดมการณ์เป้าหมาย ความจริงความฝัน การยอมรับปรับตัว พอเพียง เข้าใจตนเอง ฯ
2) กับคนรอบข้าง/ครอบครัว, การค้นพบ ยอมรับ เฝ้ามองเติบโต ยึดติดปล่อยวาง ให้โอกาส อิสรภาพ ฯ
ส่วนตัวแค่ชอบอนิเมะเรื่องนี้ เพราะปรัชญาของหนังค่อนไปทางฝั่งตะวันตกมากกว่าฝั่งตะวันออก และไม่มีความแปลกใหม่ของเรื่องราวที่ถ้าคุณเป็นคอหนังตัวยง จะพบเห็นเรื่องราวลักษณะนี้มานักต่อนักแล้ว (อาทิ Robinson Crusoe, Cast Away ฯ)
แนะนำกับคออนิเมชั่น งานภาพสวยๆ เรียบง่ายแนว Minimalist และผู้ชื่นชอบเรื่องราวเชิงปรัชญา สอดไส้แนวคิดเกี่ยวกับชีวิต
จัดเรตทั่วไป
The ending is bittersweet – not at all the kind of conclusion Disney would champion – but appropriate to the material.