The Red Violin (1998)
: François Girard ♥♥♥♥
เล่าเรื่องในมุมมองไวโอลินสีเลือด อายุกว่า 300 ปี เปลี่ยนผ่านมือเจ้าของนับครั้งไม่ถ้วน ถูกยิง กลบฝังดิน รอดพ้นการโดนเผา เดินทางจากอิตาลี, ปรัสเซีย, อังกฤษ ข้ามโลกไปสาธารณรัฐจีน สุดท้ายกลายมาเป็นของประมูลล้ำค่ายังแคนาดา เพราะพริ้งกับการเดี่ยวไวโอลินของ Joshua Bell คว้ารางวัล Oscar: Best Original Score
Joshua David Bell (เกิดปี 1967) นักไวโอลินสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Bloomington, Indiana ครอบครัวเชื้อสาย Jews หลังจากมีโอกาสเรียนไวโอลินตอนอายุ 4 ขวบ เกิดความชื่นชอบแต่ยังมิใคร่หลงใหลมากนัก เพราะบ้านรวยเลยมีโอกาสได้ครูเก่งๆ จนกระทั่งกลายเป็นลูกศิษย์ของ Josef Gingold ผลักดันจนเริ่มคิดจริงจัง, อายุ 14 แสดงเดี่ยวครั้งแรกกับ Philadelphia Orchestra, โตขึ้นเข้าเรียน Jacobs School of Music ที่ Indiana University ไม่ทันจบก็ได้รับโอกาสแสดงใน Carnegie Hall, Manhattan [สถานที่แสดงคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก เลื่องลือนามสุดในอเมริกัน]
ไม่เพียงทักษะและเทคนิคที่ถึงระดับอัจฉริยะ ความโดดเด่นของ Bell คือการตีความอารมณ์ทางดนตรี ถ่ายทอดออกมาผ่านสีหน้า ท่าทาง ท่วงทำนองเต็มเปี่ยมด้วยพลัง ‘Passion’ ในทุกตัวโน๊ตบรรเลงลงอย่างตั้งใจ มีความต่อเนื่องลื่นไหลดั่งสายน้ำ สัมผัสจิตวิญญาณผู้ชมให้สั่นพ้อง หลุดลอยล่องเคลื่อนคล้อยตามเสียงของบทเพลง
สำหรับวงการภาพยนตร์ The Red Violin คือการลองของครั้งแรกของ Bell ได้รับการติดต่อจาก John Corigliano ให้มาเดียวไวโอลินประกอบ ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณของบทเพลงคลาสสิกออกมาได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง งดงามสมบูรณ์แบบ และยังร่วมแสดงแทน (Stand-in) ปรากฎตัวในฉากหนึ่งของหนังอีกด้วย (คนขวามือ ยังหน้าละอ่อนอยู่เลยนะ)
Bell มีไวโอลินคู่ใจชื่อ Gibson ex Huberman สร้างขึ้น ค.ศ. 1713 โดย Antonio Stradivari (1644 – 1737) ช่างทำเครื่องดนตรีฝีมืเอก สัญชาติอิตาเลี่ยน ลูกศิษย์ของ Nicolò Amati ร่วมรุ่นเดียวกับ Giuseppe Guarneri ว่ากันว่าไวโอลินชิ้นนี้เคยถูกขโมยไปสองครั้ง แต่โจรก็นำมาคืนให้ภายหลัง, ก่อนหน้าตกถือมือ Bell เจ้าของคือ Norbert Brainin อนุญาตให้ Bell แสดงในงาน The Proms ที่ London ปี 2001 ต่อมาถูกขายให้นักสะสมชาวเยอรมันจึงรีบติดต่อขอซื้อ มูลค่าเกือบๆ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ บันทึกเสียงครั้งแรกในอัลบัม Romance of the Violin (2003) ติดอันดับ 1 ชาร์ท Billboard Classical
ไม่ใช่ว่าเรื่องราวของ Gibson ex Huberman เป็นแรงบันดาลใจให้หนังนะครับ (นี่เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้) แค่จะชี้ให้เห็นความบังเอิญชวนขนหัวลุก สำหรับนักดนตรีฝีมือระดับโลก การได้คู่ครองกับเครื่องดนตรีชิ้นเอก ถือว่าสาสมกันยิ่งกว่ากิ่งทองใบหยก ถ้ามีโอกาสสักครั้งในชีวิตก็ขอแนะนำให้ไปรับชมการแสดงสดของ Joshua Bell ดูนะครับ
สำหรับไวโอลินสีเลือดจริงๆที่เป็นแรงบันดาลใจของหนังคือ Red Mendelssohn สร้างโดย Antonio Stradivari เมื่อปี ค.ศ. 1720 ความโดดเด่นคือทาด้วยสีแดง เห็นว่าได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคสมัยนั้น, ตอนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้น เจ้าของคือ Elizabeth Pitcairn ทายาทธุรกิจ PPG ที่ปู่ทวดซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิดตอนอายุ 16 ประมูลเมื่อปี 1990 ด้วยราคา $1.7 ล้านเหรียญ ซึ่งก็ได้มีการตรวจสอบพบว่า สีแดงดังกล่าวมาจากไวน์ Burgundy ไม่ใช่แบบเดียวกับที่หนังนำเสนอ
Elizabeth Pitcairn (เกิดปี 1973) เธอเป็นนักไวโอลินด้วยนะครับ แต่ก็มิได้โด่งดังระดับเดียวกับ Bell
François Girard (เกิดปี 1963) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Canadian เกิดที่ Quebec โตขึ้นเข้าเรียน University of Quebec in Montreal ยังไม่ทันจบออกมาตั้งสตูดิโอ กำกับหนังสั้น, Music Videos, ภาพยนตร์เรื่องแรก Cargo (1990) ตามด้วยแจ้งเกิดกับ Thirty Two Short Films About Glenn Gould (1993) ร้อยเรียงชีวิตของนักเปียโนอัจฉริยะ Glenn Gould
ด้วยความคลั่งไคล้ในดนตรีคลาสสิก และทัศนคติที่เชื่อว่า ‘Making film is making music’. ร่วมงานกับเพื่อนสนิท Don McKellar พัฒนาบทภาพยนตร์ The Red Violin โดยใช้ไวโอลินคือจุดหมุน ดำเนินไปด้วยระยะทาง และระยะเวลา ที่จะค่อยๆมีความกระชั้นชิดปัจจุบันขึ้นเรื่อยๆ
Girard และ McKellar นำเรื่องราวดังกล่าวไปยื่นเสนอหลายสตูดิโอใน Hollywood ก็มีหลายแห่งให้ความสนใจแต่แลกด้วยข้อแม้ อาทิ ต้องพูดภาษาอังกฤษเท่านั้น, ถ่ายทำในอเมริกาเท่านั้น ฯ จนสุดท้ายได้ Rhombus Media มอบทุนสร้างประมาณ $10 ล้านเหรียญ ให้อิสระความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ จะพูดกี่ภาษา ถ่ายทำมุมไหนของโลก ขอให้สร้างเสร็จก็แล้วกัน
เริ่มต้นที่ Cremona, Kingdom of Italy ค.ศ. 1681 (พูดภาษา Italian)
เรื่องราวของ Anna Rudolfi (รับบทโดย Irene Grazioli) ภรรยาของนักสร้างเครื่องดนตรีชื่อดัง Nicolò Bussotti (รับบทโดย Carlo Cecchi) ร้องขอให้คนใช้ Cesca ช่วยทำนายอนาคตของลูกในครรภ์ แต่เนื่องจากมิสามารถทำได้ (คงเพราะต้องให้เด็กเป็นคนเลือกไพ่ ไม่ใช่แม่เลือกให้) เลยอาสาทำนายอนาคตของเธอแทน โดยไพ่ใบแรกที่จับได้คือ The Moon แปลว่าชีวิตจะมียั่งยืนยาวนาน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะกลับเสียชีวิตหลังคลอดลูกชาย กระนั้นสามีก็ได้นำเลือดมาผสมทาสีไวโอลินชิ้นเอกที่ตั้งใจสร้างไว้ให้ของขวัญวันเกิด (นี่ก็แปลว่าจิตวิญญาณของเธอต่างหากที่มีชีวิตยั่งยืนยาวนาน หาใช่เรือนร่างกายตนเองไม่)
เกร็ด: ไพ่ Tarot ชุดนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในหนังโดยเฉพาะ สังเกตจากภาพในไพ่ จะพบเห็น ธงชาติจีน, ปีศาจมีบริวารคนเดียว (จริงๆต้องมีสอง) ฯ
ณ Vienna, Austria ค.ศ. 1793 ไพ่ The Hanged Man กลับหัว (พูดภาษา German กับ French)
ไวโอลินสีเลือดได้รับการบริจาคให้สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ได้ถูกส่งต่อมาเรื่อยๆจนถึงเด็กชาย Kaspar Weiss (รับบทโดย Christoph Koncz) อัจฉริยะทางดนตรี แต่มีหัวใจค่อนข้างอ่อนแอ เพราะบาทหลวงที่คอยดูแลพบเห็นเลยตระหนักได้ ติดต่อครูสอนดนตรี Georges Poussin (รับบทโดย Jean-Luc Bideau) ทำการอนุเคราะห์พาออกเดินทางสู่ Vienna เสี้ยมสั่งสอนจนมีฝือมือเก่งกาจ ขณะกำลังจะแสดงต่อหน้า Prince Mannsfeld ทรุดล้มลงสิ้นลมหายใจ ด้วยเหตุนี้เลยนำกลับไปฝังยังโบสถ์รับเลี้ยงเด็กกำพร้า พร้อมไวโอลินคู่กาย
Christoph Koncz (เกิดปี 1987) เป็นนักดนตรีอัจฉริยะ ฉายแววเล่นไวโอลินเป็นตั้งแต่อายุ 4 ขวบ สองปีถัดมาได้รับโอกาสเข้าเรียน Vienna University of Music ตามด้วย Music Universities of Vienna แสดงหนังเรื่องนี้ตอนอายุ 9-10 ขวบ พออายุ 12 ปี ได้รับเชิญออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก ปัจจุบันประจำอยู่ Vienna Philharmonic แต่เหมือนจะไม่ได้รับการจดจำเท่าตอนยังเป็นเด็กอีกแล้วละ
ณ Oxford, England ช่วงปลายทศวรรษ 1890s ไพ่ The Devil (พูดภาษาอังกฤษกับ Romani)
Frederick Pope (รับบทโดย Jason Flemyng) บังเอิญได้ยินเสียงไวโอลินของชาว Gypsy ที่เข้ามาปักหลักพักอาศัยอยู่ในเขตบ้านของเขา (ได้รับส่งต่อมาเรื่อยๆจาก หัวขโมยสมบัติหลุมฝังศพ) เพื่อขอแลกไวโอลินดังกล่าว ชักชวนพวกเขาเข้าร่วมรับฟังคอนเสิร์ตการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจของตนเอง
Pope ตกหลุมรักกับ Victoria Byrd (รับบทโดย Greta Scacchi) นักเขียนสาวที่ช่วงแรกๆก็ทุ่มเทกายใจให้เขา ระหว่างร่วมรักพลันสร้างแรงบันดาลใจให้กัน แต่เมื่อเธอลาจากไปรัสเซีย ทำให้ท้อแท้สิ้นหวังหมดอาลัย แค่เพียงสัปดาห์เดียวเลยต้องหาคู่ใหม่ หญิงสาวพลันด่วนกลับมาพบเห็นเข้า ยิงปืนถูกคอของไวโอลิน ส่วน Pope ไม่นานหลังจากนั้นก็ฆ่าตัวตาย
แซว: เนื่องจาก Flemyng ไม่ใช่นักไวโอลิน ช็อต Close-Up แบบนี้ย่อมไม่สามารถโชว์ลีลาพริ้วนิ้วให้มีความสมจริงได้ ด้วยเหตุนี้ผู้กำกับเลยให้ Joshua Bell แอบซ่อนหลบอยู่ด้านหลัง แล้วใช้มือซ้ายกดจับไวโอลินแทน มีเรียกเทคนิคนี้ว่า ‘Octopus method’
ณ Shanghai, สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงปลายทศวรรษ 1960s ไพ่ Justice (พูด Mandarin)
หลังจาก Pope เสียชีวิต ไวโอลินตกทอดสู่นักเดินทางชาวจีนมุ่งสู่ Shanghai ตั้งโชว์อยู่ร้านขายของเก่า จนแม่ซื้อเป็นของขวัญให้ลูกสาว Xiang Pei (รับบทโดย Sylvia Chang) โตขึ้นกลายเป็นครูสอนดนตรี แต่ขณะนั้นเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติทางวัฒนธรรม อะไรที่เป็นของยุโรปต่างชาติจักถูกทำลายสิ้นซาก ด้วยความรักอาลัยต่อไวโอลิน จึงแอบส่งมอบให้ Zhou Yuan (รับบทโดย Liu Zifeng) เป็นผู้เก็บรักษาจนเขาเสียชีวิต
เป็นความท้าทายของหนังอย่างยิ่งที่จะขออนุญาตรัฐบาลจีน ให้อนุญาติถ่ายทำ Cultural Revolution ที่ Shanghai เห็นว่าทีมงานเดินทางไปกลับถึง 7 ครั้ง ก่อนอนุญาตให้ถ่ายทำ ใช้เวลาเพียง 5 วันเท่านั้น และมีตำรวจยืนคุมเข้มรักษาความปลอดภัย (เพราะฉากเดินขบวนต้องส่งเสียงสนับสนุนการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง เลยกลัวการจราจลจะเกิดขึ้น)
ณ Montréal, Canada ปี 1997 ไพ่ Death กลับหัว (พูดภาษาอังกฤษกับ French)
Charles Morritz (รับบทโดย Samuel L. Jackson) นักอนุรักษ์/ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องดนตรี เดินทางถึง Montréal เพื่อตรวจสอบเครื่องดนตรีทั้งหลายที่ส่งตรงมาจากรัฐบาลจีน เพื่อให้ทำการประมูลหารายได้ เมื่อพบเห็นไวโอลินสีแดงคาดคิดว่านี่ย่อมต้องคือไวโอลินเลือดในตำนานที่ตนติดตามหามาแสนนาน ทำการตรวจสอบจนแน่ใจ และพยายามหาวิธีการลักขโมยเพื่อนำมาครอบครองเป็นเจ้าของส่วนตน
ถ่ายภาพโดย Alain Dostie สัญชาติ Canadian ขาประจำของผู้กำกับ Girard, แม้หนังจะมีการแบ่งแยกออกเป็นศตวรรษ/ทศวรรษ แต่กลับเลือกใช้โทนสีสัน ไดเรคชั่นลักษณะถ่ายภาพคล้ายคลึงกันทั้งหมด จริงๆมันก็ไม่ผิดอะไรนะ เพราะทำให้ทุกสิ่งอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียว แค่รู้สึกมันขาดความสร้างสรรค์ไปสักหน่อย
ถึงกระนั้นการถ่ายภาพก็มีจุดเด่นอื่น อาทิ การเลือกใช้มุมกล้องแปลกๆ, ค่อยๆเคลื่อนเข้าไปหานักดนตรี Cross-Cutting เปลี่ยนไปเรื่อยๆจนถึงคิวของ Kaspar Weiss, ถ่ายหมุนรอบตัว 360 องศา Frederick Pope ขณะทำการแสดงคอนเสิร์ต ฯ
โดดเด่นมากๆ เห็นจะเป็นการใช้ SnorriCam ถ่ายภาพ Medium Shot ของนักเล่นไวโอลิน เปลี่ยนคน/พื้นหลัง Cross-Cutting ไปเรื่อยๆ แสดงถึงการเดินทาง/ส่งต่อผู้เป็นเจ้าของไวโอลินเลือด
เกร็ด: SnorriCam (บางครั้งเรียกว่า Chestcam, Bodymount Camera, Bodycam, Bodymount) เป็นกล้องที่จะมีอุปกรณ์ติดตัวกับนักแสดง ขณะเดินหรือทำอะไรก็จะเห็นภาพเคลื่อนไหวไปตามนั้น ในมุมมอง Point-Of-View (POV) ผลลัพท์ที่ออกมาชวนให้เวียนหัว เกิดอาการโคลงเคลง} หนังเรื่องแรกๆที่มีการใช้ SnorriCam คือ Mean Streets (1973)
ภาพขณะ Frederick Pope นอนอ่านจดหมายของ Victoria Byrd ในอ่างอาบน้ำ เห็นว่านำแรงบันดาลใจจากภาพวาด La Mort de Marat or Marat Assassiné หรือ The Death of Marat (1793) ผลงานของ Jacques-Louis David (1748 – 1825) ศิลปินเอกแห่งยุคสมัย Neoclassical Style
โดยภาพวาดดังกล่าวคือผู้นำคณะปฏิวัติ (French Revoultion) ชื่อ Jean-Paul Marat ถูกยิงเสียงชีวิตสิ้นลมในอ่างน้ำวันที่ 13 กรกฎาคม 1793 อันเป็นชวนเหตุสำคัญให้ความรุนแรง(ของการปฏิวัติ)เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ตัดต่อโดย Gaétan Huot เคยร่วมงานผู้กำกับ Girard เรื่อง Thirty Two Short Films About Glenn Gould (1993), ต้องถือว่าเป็นส่วนบ้าระห่ำที่สุดของหนัง เพราะมีการกระโดดไปมา อดีต-ปัจจุบัน ดำเนินเรื่องคู่ขนาน วนซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบหลายมุมมอง
เบื้องต้นของการทำความเข้าใจ คือให้ทราบถึงช่วงเวลาของหนัง ทั้งหมด 5 องก์ ประกอบด้วย
– Cremona ปี 1681
– Vienna ปี 1793
– Oxford ปลายทศวรรษ 1890s
– Shanghai ปลายทศวรรษ 1960s
– Montréal ปี 1997
หนังจะทำการเล่าเรื่องเริ่มจาก Cremona ปี 1681 เปิดไพ่ Tarot นำร่องสู่เรื่องราว เมื่อจบสิ้นองก์นั้นๆจะกระโดดไป Montréal ปี 1997 พบเห็นตัวละครที่มาเข้าร่วมประมูลไวโอลินเลือด จักมีความสัมพันธ์บางอย่างกับเรื่องราวนั้น เสร็จแล้ววนลูบกลับไปที่จุดเริ่มต้นเปิดไพ่ Tarot ใบถัดไป ทั้งหมด 4 ครั้ง
– [สัมพันธ์กับ Cremona] Ruselsky ผู้ชนะการประมูลราคา $2.4 ล้านเหรียญ, เป็นนักไวโอลินที่มาทดลองเล่นช่วงท้ายๆ เหมือนตั้วใจจะซื้อเป็นของขวัญแก่หลานสาว (นี่ย้อนรอยกับไวโอลิน Red Mendelssohn ที่เป็นแรงบันดาลใจของหนัง)
– [สัมพันธ์กับ Vienna] กลุ่มบาทหลวง (น่าจะจาก Austria ที่ล่วงรู้ถึงตำนานของไวโอลินเลือด) ใช้วิธีโทรศัพท์ทางไกล แต่เพราะทุนไม่เยอะเท่าไหร่ยอมแพ้เป็นรายแรกๆ
– [สัมพันธ์กับ Oxford] Nicolas Olsberg ชายหนุ่มผู้หลงใหลในดนตรีของ Frederick Pope มาสายเกือบไม่ทัน ต่อว่า Taxi เป็นต้นเหตุ ประมูลเป็นคู่แข่งรองสุดท้ายก่อนยอมพ่ายแพ้
– [สัมพันธ์กับ Shanghai] Madame Ming มากับชายสูงวัยสวมแว่นหนาเตอะ ดูแล้วน่าจะเป็นลูกชายของ Xiang Pei เข้าร่วมประมูลเพราะเป็นคนทำให้ไวโอลินของแม่สูญหายไป
– [สัมพันธ์กับ Montréal] Charles Morritz ความสัมพันธ์แท้จริงกับไวโอลินเลือดนั้นคลุมเคลือ น่าจะเป็นความคลั่งไคล้หลงใหลเป็นการส่วนตัวเสียมากกว่า
สำหรับคนที่ยังสับสน
– Prologue เริ่มต้นที่ Cremona ขณะ Nicolò Bussotti ยังเป็นเด็กฝึกหัดเรียนทำไวโอลิน -> กระโดดมา Montréal แนะนำให้รู้จัก Charles Morritz ->
– เปิดไพ่ Tarot ใบแรก -> เล่าเรื่องที่ Cremona -> กระโดดมา Montréal แนะนำให้รู้จัก Ruselsky ->
– เปิดไพ่ Tarot ใบสอง -> เล่าเรื่องที่ Vienna -> กระโดดมา Montréal แนะนำให้รู้จักกลุ่มบาทหลวง (แต่หลวงพี่อยู่ Austria โทรศัพท์ทางไกลมา) ->
– เปิดไพ่ Tarot ใบสาม -> เล่าเรื่องที่ Oxford-> กระโดดมา Montréal แนะนำให้รู้จัก Nicolas Olsberg ->
– เปิดไพ่ Tarot ใบสี่ -> เล่าเรื่องที่ Shanghai-> กระโดดมา Montréal แนะนำให้รู้จัก Madame Ming และชายแก่สวมแว่นหนาเตอะ ->
– เปิดไพ่ Tarot ใบห้า -> เล่าเรื่องที่ Montréal -> Flashback ย้อนไป Cremona เล่าถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสีเลือด -> กลับมา Montréal ในปฏิบัติการโจรกรรม ->
– Epilogue ตอนจบกลับไปที่ Cremona
ส่วนตัวมองการตัดต่อ Non-Linear ลักษณะนี้ มีความยุ่งยากซับซ้อนเกินไปสักนิด โดยเฉพาะไพ่ Tarot เอาจริงๆก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลย! ใช้ตัวละครเข้าร่วมประมูลที่ Montréal แล้วทำการย้อนอดีต Flashback เล่าที่มาที่ไปของพวกเขาเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่เมื่อผู้กำกับเลือกกระโดดไปมาในช่วงระหว่าง Cremona <-> Montréal ผมจึงขอเรียกการตัดต่อลักษณะนี้ว่า ‘Yo Yo’ ก็แล้วกันนะ
เกร็ด: นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของวัตถุ ส่งต่อจากคนสู่คน ไล่ย้อนไปเท่าที่พอนึกออก อาทิ Tales of Manhattan (1942), La Ronde (1950), The Earrings of Madame De… (1953), The Yellow Rolls-Royce (1964), The Phantom of Liberty (1974), Slacker (1991) ฯ
เพลงประกอบโดย John Corigliano (เกิดปี 1938) คีตกวี สัญชาติอเมริกัน มีผลงานหลากหลายทั้ง Symphony, Concerto, Chamber Music, Vocal, Choral สำหรับภาพยนตร์มีทั้งหมด 3 เรื่อง Altered States (1980), Revolution (1985), The Red Violin (1998)
Corigliano แต่งเพลงขึ้นก่อนโปรดักชั่นหนังเริ่มต้นขึ้นจนเสร็จสรรพ (หนังทั้งเรื่องใช้ Original Score) แล้วติดต่อ Joshua Bell ผู้เป็นตัวเลือกในอุดมคติของเขา (ยกย่องว่า ‘an aristocrat as a violinist’) ซึ่งได้เข้ามาช่วยเหลือขัดเกลาบทให้มีความกลมกล่อมลงตัวขึ้น และ Bell ยังมีบทบาทสำคัญในระหว่างโปรดักชั่น แสดงแทนในหลายๆฉากทีเดียว
ส่วนใหญ่ของเพลงประกอบมีลักษณะของ Chaconne บทเพลงบรรเลงของฝรั่งเศสที่ได้รับความนิยมมากในยุค Baroque ที่ประเทศสเปนและอิตาลี ช่วงศตวรรษที่ 17 มักมีจังหวะค่อนข้างเชื่องช้า มีการแปรแปลงที่ไร้โครงสร้างแน่นอน และมีเบสยืนพื้นประกอบ ท่วงทำนองมักสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นออกมาได้อย่างทรงพลัง บทเพลงโด่งดังสุดของแนวนี้คือ Bach: Partita No. 2 in D minor, BWV 1004
บทเพลงแรกที่เสียงเดี่ยวไวโอลินของ Joshua Bell โดดเด่นขึ้นมาอย่างทรงพลัง ขนลุกขนพอง คือขณะที่ Nicolò Bussotti ทาสีแดงให้กับไวโอลิน วินาทีนั้นราวกับว่าเขากำลังบรรเลงท่วงทำนองดังกล่าวด้วยตนเอง เต็มไปด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากภรรยาที่สูญเสียชีวิตจากไป
บทเพลงที่เด็กชาย Kaspar Weiss บรรเลงด้วย Tempo จังหวะช้าๆ ค่อยๆเร็วขึ้นเรื่อยๆ นี่ต่อให้คนฟังเพลงคลาสสิกไม่เป็น ย่อมสามารถรับรู้ถึงพรสวรรค์ของผู้เล่นได้อย่างแน่นอน
ส่วนตัวค่อนข้างชื่นชอบบทเพลง The Gypsies; Journey Across Europe มากเป็นพิเศษ เพราะผมเองก็ถือเป็น Gypsy คนหนึ่ง ชื่นชอบการเดินทางผจญภัย เปลี่ยนถิ่นที่อยู่ไปเรื่อยๆ และบทเพลงนี้สามารถสะท้อนความบิดบูดเบี้ยว ผิดเพี้ยน แตกต่างจากลีลาการเล่นไวโอลินแบบปกติ ชางมีความสนุกสนานเร้าใจ มัวเมามันเรื่อยเปื่อยลัลล้า ชีวิตไม่ต้องแคร์อะไร
จริงๆเพลงนี้น่าจะตั้งชื่อว่า ‘Moment of inspiration’ ไฮไลท์การแสดงของ Frederick Pope คลุ้มคลั่งวิกลจริต ผสมผสานทเพลง The Gypsies เล่าที่มาที่ไปของไวโอลินชิ้นนี้ที่ตนเองได้พบเจอ จากนั้นร่วมรักกับแฟนสาว Victoria Byrd ช่างมีความสุขสำราญล้ำถึงขีดสุดแห่งจินตนาการ
Morritz’s Theme คือบทเพลงที่พรรณาความคลุ้มคลั่งไคล้หลงใหลในไวโอลินสีเลือดของ Charles Morritz รับรู้ได้ทันทีตั้งแต่พบเจอกันครั้งแรก พยายามต้องการทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ตนเองมีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าของสิ่งล้ำค่าชิ้นนี้ (โดยไม่สนถูกผิดอะไร)
หลังเสร็จจากหนังเรื่องนี้ Corigliano ได้ทำการเรียบเรียงบทเพลงทั้งหมด รวบรวมให้กลายเป็นคอนเสิร์ต ตั้งชื่อว่า The Red Violin: Chaconne for Violin and Orchestra ได้รับความช่วยเหลือจาก Bell ในการเดี่ยวไวโอลินอีกเช่นกัน
ไวโอลิน ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มี ‘Passion’ ที่สุดในโลก เสียงอันแหลมคมแสบแก้วหู บาดจิตบาดใจบาดเข้าไปลึกถึงภายใน สั่นสะท้านรวดร้าวราน โหยหวนทุกข์ทรมาน, สีแดง/เลือด หมายถึงชีวิต จิตวิญญาณ รวมเข้ากันแล้วกลายเป็นสิ่งสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ เป้าหมายสูงสุด ที่มนุษย์ต่างโหยหา ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
เพราะไวโอลินเป็นวัตถุสิ่งของ อายุยืนยาวหลายร้อยปี มีความคงที่ทางรูปมิสามารถแปรเปลี่ยนได้ (นอกจากเสื่อมสภาพ หรือเกิดอุบัติเหตุ) หนังจึงใช้การเปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลาอายุกับชีวิตคน
– แรกเริ่มสร้างเสร็จสิ้น เปรียบดั่งทารกน้อยแรกเกิด (ลูกของ Nicolò Bussotti)
– เติบโตขึ้นเทียบเท่าเด็กชาย Kaspar Weiss มีอัจฉริยภาพความสามารถโดดเด่น
– ฉายแววโด่งดังกับวัยรุ่น/ผู้ใหญ่เต็มตัวของ Frederick Pope
– เริ่มมีอายุ อยู่ในช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน ตรงกับยุคสมัยปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีน ตัวละคร Xiang Pei เปลี่ยนมือมาเป็น Zhou Yuan
– และเมื่อเริ่มโรยราชราภาพ เทียบกับบุคคลผู้ชนะการประมูล Ruselsky แก่หงักเลยทีเดียว แต่จิตวิญญาณของมันกลับราวได้ถือกำเนิดใหม่โดย Charles Morritz
The Red Violin ไม่ใช่แค่เรื่องราวของการเดินทาง/ส่งต่อไวโอลินสีเลือด จากรุ่นสู่รุ่น คนสู่คน สถานที่ ระยะเวลา แต่ยังคือแนวคิดโหยหาสิ่ง ‘สมบูรณ์แบบ’ ของมนุษย์ที่พบเจอได้ทั่วไป แต่การจะได้มาครอบครองเป็นเจ้าของนั้น จำต้องเสียสละแลกกับบางสิ่งอย่าง สำคัญเลอค่าที่สุดของตนเองเสมอ
– Nicolò Bussotti ต้องการสร้างไวโอลินที่มีความสมบูรณ์แบบ แลกมากับชีวิตภรรยาที่แทบไม่เคยเอาใจดูแล
– Kaspar Weiss เด็กชายผู้มีหัวใจอ่อนล้า เพราะอยากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เลยต้องแลกมาด้วยชีวิตของตนเองเช่นกัน
– Frederick Pope แรงบันดาลใจแลกมากับการเสียสละ เมื่อมิอาจได้ความรักคืนตอบสนอง ก็จำต้องเข่นฆ่าตัวตาย
– Xiang Pei เมื่อต้องเลือกระหว่างไวโอลินกับชีวิตตนเอง เธอตัดสินใจเสียสละปล่อยวาง มอบสิ่งของล้ำค่าสุดในชีวิตให้กับคนอื่นแทน
– Charles Morritz โหยหาสิ่งสมบูรณ์แบบ ใช้วิธีการอันชั่วร้ายสลับสับเปลี่ยนให้ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ
– Ruselsky ใช้เงินมหาศาลสูญไป แต่แลกมากลับของปลอมไร้ค่า (นี่แปลว่า เงินซื้อสิ่งทรงคุณค่าทางจิตใจไม่ได้)
คงเฉกเช่นเดียวกับผู้กำกับ François Girard ที่โหยหาความสมบูรณ์แบบในผลงานของตนเอง สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อนำเสนอแนวคิด ไม่ว่าใคร-อยู่แห่งหนไหน-ยุคสมัยอะไร ล้วนมีต้องการสร้างสรรค์บางสิ่งอย่างอันทรงคุณค่า เหนือล้ำกาลเวลา คงอยู่เป็นอมตะชั่วนิจนิรันดร์
ฉายรอบปฐมทัศน์นอกสายการประกวด เทศกาลหนังเมือง Venice ได้รับการยืนปรบมือหลายนาที ตามด้วยหลายๆเทศกาลหนัง Toronto International Film Festival, London Film Festival, Tokyo International Film Festival (คว้ารางวัล Best Artistic Contribution Award)
ด้วยทุนสร้างสูงถึง $10-15 ล้านเหรียญ (กลายเป็นภาพยนตร์ทุนสร้างสูงสุดของประเทศแคนาดาขณะนั้น) คงไม่ได้คาดหวังทุนคืนสักเท่าไหร่ ทำเงินในอเมริกา $10 ล้านเหรียญ, แคนาดา $3.37 ล้านเหรียญ, ส่วนประเทศอื่นๆก็น้อยนิดนัก
– คว้ารางวัล Oscar: Best Music, Original Score
– เข้าชิง Golden Globe: Best Foreign Language Film
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบคลั่งไคล้ภาพยนตร์เรื่องนี้มากสุด ไม่ต้องบอกหลายคนก็น่าจะล่วงรู้ได้ นั่นคือบทเพลงประกอบ ทั้งหมดเป็น Original Score ของ John Corigliano และลีลาเดี่ยวไวโอลินของ Joshua Bell ตราตรึงไปถึงขั้วหัวใจ
แต่หนังก็มิได้สมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่ เพราะวิธีการเล่าเรื่องลึกลับซับซ่อนเงื่อนจนเกินไป และบัดซบสุดๆก็การแสดงของ Samuel L. Jackson มันจะหื่นกระหายไปถึงไหน
แนะนำคอเพลงคลาสสิก ช่างทำเครื่องดนตรี ชื่นชอบไวโอลิน รู้จัก Joshua Bell ไม่ควรพลาดเลย!, หลงใหลหนังแนวดราม่า อิงประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องด้วยมุมมองสิ่งของ กาลเวลาเคลื่อนผ่าน และแฟนพันธุ์แท้ Samuel L. Jackson ห่วยจริงไหมก็ให้ท้าพิสูจน์
จัดเรต 15+ กับความรุนแรงนานับประการ ที่ไวโอลินตัวนี้เผชิญหน้าฟันฝ่า
Leave a Reply