The Remains of the Day

The Remains of the Day (1993) British : James Ivory ♥♥♥♥

Anthony Hopkins รับบทพ่อบ้าน (Butler) ผู้อุทิศตัวให้กับนายจ้าง ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความสมบูรณ์แบบโดยไม่สนอะไรอื่น แต่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง-สอง คฤหาสถ์หลังนี้กลายเป็นสถานที่สุมไฟชั้นดีสำหรับบุคคลผู้ฝักใฝ่เยอรมัน-นาซี จนเมื่อทุกสิ่งอย่างมอดไหม้ภายในจิตใจ สิ่งที่หลงเหลือคือ ‘เถ้าถ่านแห่งวารวัน’ เขาจะยังคงยืนยันไม่สนอะไรอื่นได้อีกหรือ?

เมื่อปี 2017, Kazuo Ishiguro ผู้เขียนนิยาย The Remains of the Day (1989) เพิ่งได้รับรางวัล Nobel Prize in Literature ด้วยคำสรรเสริญที่ว่า

“who, in novels of great emotional force, has uncovered the abyss beneath our illusory sense of connection with the world”.

แม้จะเกิดที่ Nagasaki เมื่อปี 1954 แต่พออายุได้ 5 ขวบ ครอบครัวอพยพสู่ Guildford, Surrey เพราะพ่อทำงานให้กับ National Institute of Oceanography ครึ่งชีวิตแรกไม่เคยหวนกลับประเทศอีกเลย, วัยเด็กชื่นชอบการเขียนและร้องเพลง เรียนจบเกียรตินิยม Bachelor of Arts เอกภาษาอังกฤษและปรัชญา จาก University of Kent at Canterbury ต่อด้วยปริญญาโท Master of Arts เอก Creative Writing ที่ University of East Anglia โดยมีวิทยานิพนธ์คือนิยายเรื่องแรก A Pale View of Hills (1982) คว้ารางวัล Winifred Holtby Memorial Prize, มุ่งมั่นเอาดีด้านนี้ต่อด้วย An Artist of the Floating World (1986) คว้ารางวัล Whitbread Prize และผลงานลำดับที่สาม The Remains of the Day (1989) คว้ารางวัล Booker Prize

ถึง Ishiguro จะไม่เคยหวนกลับบ้านเกิดจนกระทั่งปี 1989 แต่นิยายสองเรื่องแรกของเขากลับจินตนาการถึงญี่ปุ่น

“I grew up with a very strong image in my head of this other country, a very important other country to which I had a strong emotional tie… In England I was all the time building up this picture in my head, an imaginary Japan”.

เรื่องแรก A Pale View of Hills (1982) เล่าในมุมมองของหญิงชาวญี่ปุ่นวัยกลางคนที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ขังตัวเองอยู่ในห้องแบบไม่สนโลกภายนอก วันนั้นลูกสาวมาเยี่ยมเยือนเลยหวนระลึกความหลังเมื่อครั้งยังสาว ขณะนั้นอาศัยอยู่ญี่ปุ่น

An Artist of the Floating World (1986) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่น เรื่องราวของ Masuji Ono จิตรกรสูงวัยที่กำลังหวนระลึกความทรงจำสมัยอดีต ความสำเร็จที่เคยได้รับ ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง อันมีผลกระทบให้ภาพวาดของเขาเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

สังเกตว่าทั้งสองผลงานล้วนมีลักษณะเกี่ยวกับความทรงจำ โหยหาอดีตที่เคยยิ่งใหญ่ ปัจจุบันร่วงโรยราหรือมีหลายๆสิ่งเปลี่ยนแปลงไป ทั้งที่มองเห็นได้จากโลกภายนอกและสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ

ส่วนตัวไม่เคยอ่านผลงานของ Kazuo Ishiguro แต่เท่าที่หาข้อมูลมานี้ก็รู้สึกได้ว่าเป็นโคตรนักเขียนคนหนึ่ง ใส่จิตวิญญาณของตนเองลงไปในผลงานอย่างโดดเด่นชัด เรียกได้ว่าระดับ ‘ศิลปิน’ และหลังจากรับชม The Remains of the Day (1993) พบเห็นมิติอันซับซ้อนของเรื่องราว ไม่ใช่แค่เบื้องหน้าที่ตามอง แต่หลายอย่างหลบซ่อนเร้นกองอยู่ภายใน คอหนังรุ่นใหม่คงรู้สึกอึดอัดอืดอาดยืดยาดเกินไป แต่กับคนสามารถสัมผัสถึงได้ เชื่อว่าคงขนลุกขนพอง มิอาจเพิกเฉยวางตัวเป็นกลางได้อีกต่อไป

ภาพรวมของหนังถือว่าสมบูรณ์แบบหมดจรดเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่ติดว่าก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อยมีอีกโคตรผลงานให้เปรียบเทียบ The Age of Innocence (1993) ของผู้กำกับ Martin Scorsese ที่ก็เกี่ยวกับบุคคลผู้ทุ่มเททุกสิ่งอย่างให้กับตำแหน่งหน้าที่การงาน สำคัญกว่าความต้องการของจิตใจ แต่ตอนนี้ผมบอกไม่ได้ว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมกว่า (คือไม่ได้ดู The Age of Innocence มานานมากแล้ว แค่ระลึกได้ว่ามีลักษณะค่อนข้างคล้ายคลึงกันเท่านั้นเอง)

บุคคลแรกที่ให้ความสนใจนิยายเรื่องนี้คือผู้กำกับ Mike Nichols หลายๆคนอาจคุ้นเคยกับผลงานดังอย่าง Who’s Afraid of Virginia Woolf? (1966) หรือ The Graduate (1967) หลังได้ลิขสิทธิ์มา มอบหมายให้ Harold Pinter ดัดแปลงบทภาพยนตร์ แต่ภายหลังเมื่อโปรเจคเปลี่ยนมือไปยัง Merchant Ivory Productions ผู้กำกับ James Ivory มอบหมายให้ขาประจำ Ruth Prawer Jhabvala ทำการปรับปรุงแก้ไขบทอย่างมาก เมื่อ Pinter รับทราบการเปลี่ยนแปลง เลยขอไม่มีชื่อปรากฎบนเครดิต

James Ivory (เกิดปี 1928) ผู้กำกับสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Berkeley, California โตขึ้นเข้าเรียน University of Oregon School of Architecture and Allied Arts จบวิจิตรศิลป์ ตามด้วยปริญญาโทที่ University of Southern California School of Cinematic Arts สาขาภาพยนตร์, ได้รู้จักกับโปรดิวเซอร์สัญชาติอินเดีย Ismail Merchant เมื่อปี 1964 ร่วมกันก่อตั้งสตูดิโอ Merchant Ivory Production จนถึงปี 2005 รวมเวลา 44 ปี เป็นคู่ขา(คู่รัก)ที่ร่วมงานกันยาวนานสุดในวงการภาพยนตร์ (บันทึกโดย Guinness World Records), เข้าชิง Oscar: Best Director สามครั้ง ไม่เคยได้รางวัล A Room with a View (1985), Howards End (1992), The Remains of the Day (1993) แต่เพิ่งมาคว้า Oscar: Best Adapted Screenplay จาก Call Me by Your Name (2017)

ถึงเป็นเกย์แต่ไม่ใช่คนปกปิด เปิดเผยแบบไม่สนข้อครหาสังคมสมัยนั้น (ที่ยังไม่เปิดรับ LGBT เท่าที่ควร) กระนั้น Ivory ก็มีความเข้าใจลึกซึ้งในสิ่งที่มนุษย์มักปกปิดหลบซ่อนอยู่ภายใน ดังนั้นภาพยนตร์ที่มีลักษณะเบื้องนอกราบเรียบสงบนิ่ง แต่จิตใจว้าวุ่นปั่นป่วน จึงเป็นแนวถนัดสร้างความคลุ้มคลั่งให้เกิดขึ้น

Ivory มีโอกาสอ่านนิยาย The Remains of the Day ช่วงระหว่างถ่ายทำ Mr. & Mrs. Bridge (1990) ที่ Kansas City เกิดความสนใจอยากดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ขึ้นมาทันที ในตอนแรกเมื่อรับรู้ว่า Harold Pinter กำลังดัดแปลงบทให้ Mike Nichols เกิดความผิดหวังเล็กน้อย แต่เมื่อทราบข่าวผู้กำกับถอนตัว เลยรีบเสนอหน้าเข้าไป และด้วยความสำเร็จของ Howards End (1992) พอดิบพอดี เลยได้รับโอกาสสานต่อโปรเจคนี้

ช่วงปี 1958 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง, Mr. James Stevens (รับบทโดย Anthony Hopkins) หัวหน้าพ่อบ้านประจำ Darlington Hall ให้กับอดีตสมาชิกสภาสัญชาติอเมริกัน Mr. Jack Lewis (รับบทโดย Christopher Reeve) กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการคนใช้ ได้รับจดหมายจากอดีตแม่บ้าน Miss Sarah Kenton (รับบทโดย Emma Thompson) ที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่ก่อนหน้าสงครามโลกปะทุขึ้น ขณะนั้นเจ้าของคฤหาสถ์ยังเป็น Lord Darlington (รับบทโดย James Fox) ตัดสินใจออกเดินทางสู่ West Country เพื่อชักชวนกลับมาร่วมงาน ระหว่างนั้นก็หวนระลึกถึงอดีตความประทับใจของเธอที่ตราตรึงเขาอย่างมาก

เกร็ด: แม้ว่านิยาย The Remains of the Day จะคือเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด แต่ก็มีส่วนจริงเป็นแรงบันดาลใจให้ Lord Darlington จากกลุ่มขุนนางอังกฤษที่เข้าข้าง/สนับสนุนเยอรมันในช่วงต้นทศวรรษ 30s อาทิ Lord Londonderry, Oswald Mosley

เกร็ดสอง: นิยาย The Remains of the Day ได้รับการแปลไทยในชื่อ เถ้าถ่านแห่งวารวัน โดยนาลันทา คุปต์

Sir Philip Anthony Hopkins (เกิดปี 1937) นักแสดงภาพยนตร์/โทรทัศน์/ละครเวที สัญชาติ Welsh เกิดที่ Margam, Glamorgan สมัยเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือเท่าไหร่ สนใจงานศิลปะ วาดรูป เล่นเปียโน ตอนอายุ 15 มีโอกาสพบเจอเกิดความประทับใจใน Richard Burton เลยสมัครเข้า Royal Welsh College of Music & Drama จากนั้นเป็นทหารสองปี ย้ายสู่ London เรียนต่อยัง Royal Academy of Dramatic Art จนได้รับโอกาสแสดงละครเวทีที่ Palace Theatre, Swansea ไม่นานนักพบเจอโดย Laurence Olivier ชักชวนมาเข้าร่วม Royal National Theatre และกลายเป็น Understudy

แม้จะประสบความสำเร็จในวงการละครเวที แต่ Hopkins กลับเบื่อหน่ายในการแสดงบทบาทซ้ำๆหลายรอบ เลยเบี่ยงเบนความสนใจมาสู่วงการภาพยนตร์/โทรทัศน์ เริ่มมีชื่อเสียงจาก The Lion in Winter (1968), A Bridge Too Far (1977), The Elephant Man (1980), กลายเป็นตำนานกับ The Silence of the Lambs (1991) คว้า Oscar: Best Actor, ผลงานเด่นๆตามมา อาทิ Bram Stoker’s Dracula (1992), The Remains of the Day (1993), Nixon (1995), Amistad (1997), The Mask of Zorro (1998), Meet Joe Black (1998), Thor (2011) ฯ

เทคนิคของ Hopkins ที่ใช้ในการแสดง จะมีการซักซ้อมบทพูดให้บ่อยมากครั้งที่สุด (เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า สูงสุดน่าจะเกิน 200 รอบ) จนกว่าประโยคจะมีความลื่นไหลออกจากปากอย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับไม่ได้ครุ่นคิดอะไร ‘do it without thinking’

รับบท Mr. James Stevens หัวหน้าพ่อบ้าน ผู้อุทิศตัวให้กับนายจ้างด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดี เสียสละอุทิศตน ปฏิบัติการงานด้วยความสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ โดยไม่สนอะไรอื่นนอกจากหน้าที่ของตนเอง วางตัวเป็นกลางในทุกสถานการณ์ พยายามไม่ก้าวก่าย แสดงความคิดเห็นหรืออารมณ์ให้ใครพบเห็น ชื่นชอบหลงใหลในนิยายรักโรแมนติก แต่กลับปกปิดกั้นจิตใจตนเองไม่ให้เปิดประตูหน้าต่างออกรับรู้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

หลายคนคงติดตา Hopkins จากบทบาท Hannibal Lecter เรื่องนี้ก็ไม่เชิงลบภาพลักษณ์นั้นออกทั้งหมด ยังคงลุ่มลึก สงบนิ่ง มาดเนี๊ยบ ดูเหมือนฆาตกรโรคจิต แค่ว่าจะไม่มีการแสดงออกให้เห็นว่าตัวละครมีความวิปริต ทั้งนี้ยังมีเพิ่มเติมคืออารมณ์โดดเดี่ยว อ้างว้าง มืดมน สับสน โหยหาอดีตที่ลึกๆแล้วคงมีความภาคภูมิใจสุขสำราญกว่า ปัจจุบันกลายเป็นเพียงเถ้าถ่านมอดไหม้ไม่ลงเหลืออะไร

Hopkins เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า มีโอกาสพูดคุย เฝ้าสังเกต และได้รับคำแนะนำจาก Cyril Dickman พ่อบ้านเกษียนแล้วจากพระราชวัง Buckingham Palace ประสบการทำงานมากว่า 50 ปี ให้ทั้ง King George VI และ Queen Elizabeth II

“The butler said there was nothing to being a butler, really, when you’re in the room, it should be even more empty”.

Dame Emma Thompson (เกิดปี 1959) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Paddington, London ในครอบครัวนักแสดงพร้อมหน้า แน่ละว่าลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น เรียนจบเอกภาษาอังกฤษจาก Newnham College, Cambridge เข้าร่วมกลุ่ม Comedy Troupe เปิดการแสดงที่โรงละคร Footlights เป็นสมาชิกหญิงคนแรก ทั้งยังได้เป็นรองประธาน ต่อมามีผลงานโทรทัศน์ ต่อด้วย West End, miniseries ทำให้รู้จักแต่งงานกับ Kenneth Branagh, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Tall Guy (1989), Henry V (1989), Howards End (1992) ** คว้า Oscar: Best Actress, The Remains of the Day (1993), In the Name of the Father (1993), Sense and Sensibility (1994), Love Actually (2003), Saving Mr. Banks (2013) ฯ

Thompson เคยให้สัมภาษณ์ถึงเทคนิคการแสดงของตนเอง บอกว่าเป็นคนไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเกิดจากสันชาตญาณโดยธรรมชาติ แต่ก็ครุ่นคิดเริ่มต้นจากภายในแล้วกลั่นออกมา … นี่เรียกว่าอัจฉริยะได้เลยนะ

“I am an instinctive actress. I don’t have technique because I never learnt any. I do the cerebral bit before I start. Then I just let it be. I allow whatever rises to rise naturally. You are tricking your subconscious. I work from the inside out”.

เกร็ด: ตอนที่ Mike Nichols ยังคุมบังเหียรโปรเจคนี้ได้เลือก Meryl Streep ให้รับบทนำ แต่เมื่อผู้กำกับถอนตัวเธอก็เลยบอกปัดปฏิเสธตาม (เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกครั้งตอน Saving Mr. Bank ที่กลายเป็น Thompson ได้รับบทไปเช่นกัน)

รับบท Miss Sarah ‘Sally’ Kenton แม่บ้านผู้เฉลียวฉลาด รอบรู้ เก่งกาจด้านการจัดการ ช่างสังเกต มีสายตา/รสนิยมในเรื่องความสวยความงาม แรกๆด้วยนิสัยตรงไปตรงมาทำให้ไม่ค่อยเป็นที่พึงพอใจต่อ Stevens สักเท่าไหร่ แต่สักพักก็ต้องยินยอมรับในความสามารถที่มิอาจหาใครอื่นมาเทียบแทน ลึกๆแล้วเธอคงมีใจให้เขา พูดแบบเก้ๆกังๆเรียกร้องความสนใจ แต่สุดท้ายก็รู้ตัวว่าคงไม่มีโอกาสสุขสมหวังเลยร่ำลาจากไป หวนระลึกเมื่อวันคืนเคลื่อนผ่าน พบเจอหน้าอีกครั้งเสียดายจริงๆที่มิอาจย้อนกลับไป

ผมคิดว่าเธอคงอยากหวนย้อนกลับไปอยู่ใกล้ชิด Stevens แน่ๆ ไม่เช่นนั้นจะเขียนจดหมายส่งหาแล้วทิ้งความหวังให้กับเขาทำไม แค่ความบังเอิญเป็นสิ่งไม่เข้าใครออกใคร วันนั้นพอดีที่รับรู้ถึงลูกสาวตนเองตั้งครรภ์ ความรักของแม่ย่อมมีมากกว่า และเสียสละให้ได้กับความสุขส่วนตน

ความเป็นตัวของตนเองของ Thompson สร้างลักษณะเฉพาะให้กับตัวละครของเธอ เริ่มต้นมาคล้ายพ่อแง่แม่งอน ขุ่นเคืองคับข้องขัดแย้งอยู่เรื่อยไป แต่หลังจากพ่อของ Stevens เสียชีวิต ทั้งคู่มองตาแทบจะเข้าใจตรงกันทุกสิ่ง เว้นเพียงเรื่องของความรักที่ต่างปกปิดเก้กังไม่ยอมเปิดเผยต่อกัน นั่นทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งแสดงออกซึ่งความไม่เข้าใจ ร่ำร้องไห้เจ็บปวดรวดร้าวระทม คนเรามันจะโง่งมไปได้ถึงขนาดไหนกัน!

แซว: ถึงปีนี้ Thompson จะได้เข้าชิง Oscar ทั้งสาขา Best Actress และ Best Supporting Actress แต่ที่แห้วหมดก็เพราะปีก่อนเพิ่งคว้ารางวัลมา เลยถูกมองข้ามโดยสิ้นเชิง

ถ่ายภาพโดย Tony Pierce-Roberts สัญชาติอังกฤษ ขาประจำของ Ivory เข้าชิง Oscar: Best Cinematography สองครั้งเรื่อง A Room with a View (1985), Howards End (1991)

หนังตระเวรถ่ายทำตามสถานที่ต่างๆมากมาย ไม่ได้ปักหลังอยู่คฤหาสถ์หลังใดหลังหนึ่ง
– Dyrham Park สำหรับฉากด้านหน้าทางเข้าคฤหาสถ์ Darlington Hall
– Powderham Castle สำหรับบันได ห้องโถง ห้องดนตรี ห้องนอน
– Corsham Court สำหรับห้องสมุด ห้องอาหาร
– Badminton House ส่วนของคนใช้, เรือนกระจก
– Weston-super-Mare, Somerset เมืองริมทะเลที่ Stevens พบเจอกับ Miss Kenton และนั่งดูไฟสว่างยามเย็น
– Hop Pole, Limpley Stoke ผับที่ Stevens ค้างคืนระหว่างเดินทาง
– George Inn, Norton St Philip สถานที่ที่ Miss Kenton กินเหล้ากับว่าที่สามี
ฯลฯ

เรื่องราวของหนังเป็นการเล่าจากความทรงจำของ Stevens ในช่วงแรกๆเราจึงเห็นภาพอดีตห้องโถงทางเดินเต็มไปด้วยผู้คน/รูปภาพติดผนัง ก่อนค่อยๆเฟดจางหายเหลือเพียงความว่างเปล่า, ช็อตนี้เป็นการมองผ่านกระจกตรงประตู แทนได้ด้วยมุมมองแห่งความทรงจำ

ว่าไปในส่วนสำหรับคนรับใช้เอง ก็มีการแบ่งแยกระดับชนชั้นไม่ต่างจากเจ้าขุนมูลนาย ไล่เรียงก็ตั้งแต่ Butler, Housekeeper, Under-Butlers, Footmen, Housemaids, Under-Housemaids, The Cook, The Scullery Boys, The Gardeners, Grooms, Gamekeepers และ Servants of the Servants

ให้ข้อสังเกตกับอุปกรณ์ประดับผนังกำแพง เขากวางเป็นของสัตว์ป่า แสดงถึงชนชั้นฐานะของกลุ่มคนรับใช้นี้ มีความต้อยต่ำเดรัจฉานเมื่อเทียบกับเจ้าขุนมูลนาย

เรื่องราวของ Mr William Stevens หรือ Mr Stevens, Sr (รับบทโดย Peter Vaughan) พ่อของ Stevens อดีตคงเป็นพ่อบ้านมือฉมัง ผ่านพบเจอมาด้วยประสบการณ์ชีวิต แต่ด้วยความที่วัยเริ่มโรยราพึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้แล้ว เจ็บป่วยออดๆแอดๆใกล้วันตาย กลายเป็นภาระให้กับลูกตนเองเสียมากกว่า

การมีอยู่ของตัวละครนี้แฝงนัยยะมากกว่า
– อย่างแรกคือชื่อหนัง The Remains of the Day ช่วงวัยสุดท้ายในชีวิตของเขา ที่ไม่ค่อยได้สร้างประโยชน์อะไร แถมเป็นภาระให้กับผู้อื่นต้องคอยปกป้องดูแล
– พ่อ-ลูก สะท้อนกันและกันอยู่เสมอ, Stevens, Sr ทำการโหยหาวันวานที่ทำงานเป็นพ่อบ้านมาตลอดชีวิต อีโก้สูงส่งไม่ยอมอยากลดตัวลงทำงานอื่น ขนาดเป็นลมทรุดล้มยังกำแน่นยึดติดไม่ยอมปล่อม ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นทำให้ Stevens มุ่งมั่นอุทิศตนในการงาน ปิดประตูหน้าต่างหัวใจไม่ยอมเปิดออก แสดงอารมณ์ภายในให้คนอื่นเห็น
– สะท้อนหนังทั้งเรื่องที่คือการโหยหาอดีตอันแสนหวาน ปัจจุบันเป็นเพียง เถ้าถ่านแห่งวารวัน

ตัวประกอบที่ถือว่าสร้างสีสันสุดของหนังคือ Hugh Grant แม้จะบทบาทไม่เยอะเท่าไหร่ แต่เจ้าตัวยกเลยว่า ‘this picture was the best film that I has ever made.’ รับบท Reginald Cardinal ลูกทูนหัวของ Lord Darlington เป็นคนมีความกระตือรือล้นที่จะสร้างตนให้เป็นที่ยินยอมรับในสังคม แต่เปรียบแล้วก็เหมือนงานอดิเรกชื่นชอบสัตว์น้ำ ก็แค่ปลาตัวเล็กๆในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ พยายามแหวกว่ายขึ้นมาหายใจ แต่สุดท้ายกลับตายโง่ๆจากการเป็นทหารในช่วงสงครามโลก

นี่เป็นฉากการสนทนาที่สะท้อนหนังทั้งเรื่อง ลึกล้ำคมคาย และมันก็ตลกมากด้วย! Lord Darlington ฝากให้ Stevens ไปบอก Reginald Cardinal ว่าตนเองไม่ว่างจะเข้าร่วมงานแต่งงานในฐานะพ่อทูนหัว แต่แทนจะพูดกันตรงๆกลับใช้การพูดถึงนก ผึ้ง เป็ด ห่าน การผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ เบี่ยงเบนไปไกลแสนไกลจนใครกันจะไปล่วงรู้ความตั้งใจ แต่เสมือนว่าตอนจบฉากนี้ Reginald จะเข้าใจซะงั้นนะ!

ซึ่งความเข้าใจของ Reginald กลายเป็นครอบจักรวาล! นี่น่าจะคือชนวนเหตุให้เขาเกิดความสนใจสถานการณ์โลกภายนอก อันทำให้ช่วงครึ่งหลังหวนกลับมาคฤหาสถ์ Darlington ในฐานะนักข่าวแอบล่วงรู้ความลับบางอย่าง พูดคุยกับ Stevens ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับโลกภายนอก … กลับตารปัตรที่ว่าพ่อบ้านคนนี้แม้เป็นคนพูดบอกเรื่องการชื่นชมธรรมชาติ ตนเองกลับหาได้สนใจอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์โลกทั้งนั้น

Dupont d’Ivry (รับบทโดย Michael Lonsdale) คงเป็นท่านทูตจากฝรั่งเศส ที่ก็ไม่รู้มีปัญหาอะไรกับเท้า/รองเท้า บีบรัดแน่นจนต้องร้องขอให้ถอดออก แช่น้ำผสมเรซิน โรยเกลือ ไม่รู้จะช่วยได้หรือเปล่า

เท้าเป็นของต่ำ ในบริบทนี้ย่อมแทนถึงประชาชนคนชั้นล่าง ทศวรรษนั้นกำลังพยายามบีบเร่งรัด ต้องการโค่นล้มอำนาจของขุนนางชนชั้นสูง เรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียม (ทั้งประชาธิปไตย/ฟาสซิสต์/คอมมิวนิสต์ คือความพยายามโค่นล้มชนชั้นผู้นำเหมือนกันหมด) อาการเจ็บปวดทรมานจนมิอาจทนได้ แสดงถึงความใกล้ช่วงเวลาที่อดีตกำลังจะถึงจุดสิ้นสุด

ฉากโต๊ะอาหารของบรรดานักการทูตยุโรป (และอเมริกัน) ทุกคนต่างคือชนชั้นสูงผู้ดีมีตระกูล ยังคงต้องการถือมั่นในอำนาจบารมีของตนเอง บนโต๊ะยังคงใช้เทียนไขเป็นแหล่งกำเนิดแสง แสดงถึงความล้าหลังอ่อนหัดสิ้นดี โลกได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปถึงไหนต่อไหนแล้วยังไม่รู้ตัวกันอีก

นี่คือช่วงเวลาแห่งความมืดมิดสนิทภายในจิตใจของ Stevens เพราะ Miss Kenton คือคนที่บอกข่าวร้ายการสูญเสียของพ่อให้เขาทราบ กล้องถ่ายย้อนแสงทำให้เห็นภาพทั้งสองมืดมิดสนิท ไร้ซึ่งน้ำตาหรือการแสดงออกทางอารมณ์ เพราะฉันยังคงติดงานอยู่ หมดธุระเมื่อไหร่จะรีบไป

เพราะความที่แอบอ่านนิยายรักโรแมนติก เลยจำต้องปิดผ้าม่านและเปิดไฟดวงน้อยนิด นี่เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ Stevens คือความลับหลบซ่อนไว้ภายในจิตใจของเขาจริงๆ ไม่ต้องการเปิดเผยออก แค่โชคไม่ดีถูกค้นพบโดย Miss Kenton ที่ก็อึ้งทึ่งไปเลยเมื่อรับรู้ ซึ่งก็ทำให้เธอมีทัศนคติต่อเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ฉากนี้ถือว่าเป็นการอธิบายตัวตนความสนใจของ Stevens ได้เป็นอย่างดี ถูกซักสามคำถามเกี่ยวกับการเมือง เลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ สนแต่เพียงหน้าที่การงานภายในคฤหาสถ์หลังนี้ของตนเองเท่านั้น ซึ่งประโยคตบท้ายของผู้ถาม สะท้อนถึงแนวคิดการผูกขาดทางชนชั้น (ของยุโรป)

“this nation’s decisions be left to our good man here”.

ไฮไลท์การแสดงของ Emma Thompson คือฉากนี้ หลังจากเธออนุญาตให้ลูกน้องของตนเองลาออกไปแต่งงานได้ ค่ำคืนนั้นระหว่างสนทนากิจวัตรกับ Stevens ใบหน้าของเธออาบด้วยแสงไฟ(แห่ง Passion)พริ้วไหวไปมา (เดี๋ยวมืดเดี๋ยวสว่าง) เหม่อล่องลอยไปไกลเพ้อฝันอยากพบเจอความรักหนุ่ม-สาวแบบนั้นมาก ขณะคนใกล้ตัวสุดที่เธอชื่นชอบกลับเพิกเฉยไม่พยายามรับรู้สนใจ นั่นทำให้เธอขอว่าค่ำคืนนี้แค่นี้ก่อนได้ไหม แต่เขากลับแสดงความไม่พึงพอใจ พูดบอกอย่างสุภาพ เช่นนั้นเราไม่ควรคุยกันก่อนนอนแบบนี้อีกเลย ทำให้เธอปี๊ดแตก พรุ่งนี้ขอลาพักชั่วคราว หงุดหงิดคับข้องหัวเสียเป็นอย่างมาก

Miss Kenton พยายามพูดเรียกร้องความสนใจต่อ Stevens แต่เขากลับปิดกั้นทุกสิ่งอย่าง จนในที่สุดก็มิอาจอดรนทนต่อไปไม่ได้ ใบหน้าของเธอค่อยๆเคลื่อนถอยเข้าสู่เงามืดมิด แล้วหลบเข้าไปในห้องร่ำร้องไห้โศกเศร้าเสียใจ ผิดหวังน่าจะที่สุดของชีวิตแล้วกระมัง

ทั้งๆที่ในชีวิตของ Stevens ไม่เคยทำผิดพลาดอะไร กลับเดินสะดุดทำขวดไวน์ตกแตก นี่เป็นการสะท้อนความว้าวุ่นที่หมกมุ่นอยู่ภายในจิตใจของเขา เพราะไม่ยินยอมเปิดเผยตัวตนความต้องการแท้จริงออกต่อ Miss Kenton เมื่อเธอขอร่ำราจากไปแต่งงาน มันจึงเจ็บปวดรวดร้าวคลุ้มคลั่งภายใน แต่ก็ฝืนกลั้นไว้ไม่แสดงออกทางสีหน้าอารมณ์

ด้วยโทนสีหม่นๆของห้องเก็บไวน์ใต้ดิน มอบสัมผัสอันยะเยือกเย็นยา สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในของตัวละครที่หลบซ่อนไว้อย่างดีเยี่ยม

ทำไมคนที่นี่ถึงชอบยามเย็นเสียเหลือเกิน? นั่นเพราะแสงสว่างจากหลอดไฟ ราวกับโลกใบใหม่ที่เข้ามาแทนความมืดมิดยามรัตติกาล มนุษย์ไม่จำเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง จมอยู่กับความหนาวเน็บทุกๆค่ำคืนอีกต่อไป

นี่เป็นการสะท้อนวิวัฒนาการโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ Stevens ยังคงจมปลักอยู่กับโลกใบก่อน จับจ้องมองอย่างโหยหา แต่ก็ไม่คิดไขว่คว้ามาครอบครองเป็นเจ้าของ

ฉากสุดท้ายของหนัง เล่าเรื่องขณะที่ Jack Lewis กลายมาเป็นเจ้าของคฤหาสถ์คนใหม่ ทุกคนกำลังวุ่นๆเพื่อจัดเตรียมสถานที่ให้พร้อม นกตัวหนึ่งเข้ามาในห้อง (ตีปิงปอง) ต่างพยายามขับไล่ให้มันออกไปทางหน้าต่าง สำเร็จแล้ว Stevens ค่อยๆปิดลงกลอน ไม่อนุญาตเปิดรับใครอื่นเข้ามาภายใน

ถ้าเปรียบคฤหาสถ์หลังนี้ดั่งจิตใจคน (หรือตัวตนของ Stevens) การขับไล่นกที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนนอก ปิดประตูหน้าต่างลงกลอนสนิท ปฏิเสธไม่ยอมรับให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง, ซึ่งยังเป็นการสะท้อนสภาพสังคมของชาวอังกฤษ เพราะคิดว่าตนเองเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรเป็นถึง ‘สหราชอาณาจักร’ ปัจจุบัน(นั้น)ก็ยังครุ่นว่าคงเป็นอยู่ และพยายามปิดกั้นไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก

ตัดต่อโดย Andrew Marcus, หนังใช้การเล่าเรื่องผ่านการเดินทางของ Mr. James Stevens หลังจากได้รับจดหมายจาก Mrs Sarah ‘Sally’ Benn ตัดสลับไปมากับการหวนระลึกความทรงจำในอดีต ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสามช่วงใหญ่ๆ
– เริ่มต้นออกเดินทาง = ตอนที่พ่อ Stevens, Sr. ยังมีชีวิตอยู่ = Lord Darlington จัดการประชุมครั้งสำคัญเพื่อให้ความช่วยเหลือสาธารณรัฐไวมาร์ (ชื่อใหม่ของจักรวรรดิเยอรมัน หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) ให้ได้รับการยอมรับจากประเทศฝั่งยุโรป
– รถเสีย ค้างคืนยังผับแห่งหนึ่ง สนทนากับชายแปลกหน้า = เริ่มสนิทสนมจนการจากไปของ Miss Sarah Kenton = Lord Darlington พยายามหนุนหลังให้การช่วยเหลือสนับสนุน Nazi, Germany แต่ไม่นานนักก็เริ่มรู้ตัวว่าเข้าข้างฝ่ายผิด
– พบเจอกับ Mrs Sarah Benn = การมาถึงของ Jack Lewis

ด้วยวิธีการเล่าเรื่องดังกล่าว ทำให้ผู้ชมล่วงรู้ถึงเป้าหมายปลายทางของหนัง เกิดความใคร่อยากรู้สาเหตุผล อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Miss Kenton เลิกเป็นแม่บ้านในคฤหาสถ์ของ Lord Darlingtong ซึ่งระหว่างทางที่มีการตัดกลับมาปัจจุบัน ก็มักยั่วด้วยบทสนทนาอันน่าพิศวงอีกเช่นกัน ตัวตน/การกระทำของเจ้านาย คือสิ่งที่พ่อบ้านควรใคร่สนใจด้วยหรือเปล่า?

พบเห็นอยู่สองสามครั้งที่มีใช้การเทคนิคซ้อนภาพ เพื่อรวบเร่งรัดนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ดำเนินผ่านไปอย่างรวดเร็ว อาทิ Stevens กล่าวสุนทรพจน์ความสำคัญของการทำงานต่อทุกคน ซ้อนภาพขณะคนใช้/แม่บ้าน เร่งทำขัดถู เช็ดเครื่องเงิน ตัดแต่งกิ่งไม้ เตรียมพร้อมสำหรับจัดการประชุมครั้งสำคัญที่กำลังมีขึ้น

เพลงประกอบโดย Richard Robbins (1940 – 2012) สัญชาติอเมริกัน ขาประจำสังกัด Merchant Ivory ได้เข้าชิง Oscar: Best Original Score สองครั้งจาก Howards End (1992) และ The Remains of the Day (1993)

ลักษณะของบทเพลงมีความนุ่มนวล ลุ่มลึกลับ มอบสัมผัสหลอนๆที่หลบซ่อนอยู่ภายใน ได้ยินแล้วรู้สึกขนหัวลุกชูชัน บ้างเสียวสันหลังเย็นวาบ สะท้อนเข้ากับเรื่องราวของหนังได้อย่างกลมกล่อม

Franz Schubert ประพันธ์บทเพลง Sei Mir Gegrüsst (ภาษาเยอรมันแปลว่า Greeting, ทักทาย) พร้อมคำร้องจาก Friedrich Rückert ในหนังขับร้องโซปราโนโดย Ann Murray ซึ่งเธอก็โชว์ลูกคอเอง แต่เพราะหาฟังใน Youtube ไม่ได้ เลยนำฉบับขับร้องโดย Bernarda Fink ไพเราะเพราะพริ้งกว่าด้วยมั่งนะ

Blue Moon (1934) แต่งโดย Richard Rodgers กับ Lorenz Hart ในหนังบรรเลงโดยวง The Hollywood Band ด้วยสัมผัสของ Jazz ที่มอบความคาดหวังสุดพิเศษ ดังขึ้นช่วงท้ายเมื่อ Stevens หวนกลับมาพบเจอ Miss Sally/Mrs Benn ในร้านอาหารแห่งหนึ่ง กล้องแพนผ่านลานเต้นลีลาศ ก่อนเคลื่อนมาจบที่โต๊ะของพวกเขา ช่างมีความโรแมนติกเสียเหลือเกิน

Ending Song มอบสัมผัสที่หม่นหมองคลุมเคลือ แต่ก็ยังมีประกายความหวังระยิบระยับแพรวพราวดังขึ้นบ้าง อย่างน้อยบทเรียนจากเศษขี้เถ้าถ่านนี้ น่าจะเสี้ยมสอนคนให้รู้จักเฝ้ามองเห็นสิ่งต่างๆรอบข้างตนบ้าง ซึ่งแม้เราอาจพบเจอทั้งความสวยงามและนรกบนดิน ก็อย่างได้กักขังตนเองให้อยู่ในโลกอันมืดมิดตลอดชั่วนิจนิรันดร์

เบื้องหน้าของ The Remains of the Day ท้าทายให้ผู้ชมครุ่นคิดว่า หน้าที่การทำงานของพ่อบ้าน/คนรับใช้ ควรจักอุทิศตนเพื่อเจ้านายแบบหลับหูหลับตา ไม่จำเป็นต้องสนใจว่า แท้จริงแล้วเขาจะเป็นคนดีชั่ว กระทำการถูกผิด ต่อสังคม ประเทศชาติ หรือเปล่าอย่างไร? และขณะเดียวกันตัวเขาที่ไม่เคยใคร่สนใจ วางตัวเป็นกลางตลอดเวลา จำเป็น/สมควรไหม ต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นจากการกระทำของนายจ้าง (ถึงไม่ได้สมรู้ร่วมคิด แต่ถือเป็นผู้สนับสนุน/ส่งเสริม/เห็นดีเห็นงามคล้อยตามด้วย)

ในส่วนลึกๆของหนัง มีหลายชั้นที่ซ้อนทับไว้, หนึ่งคือเรื่องของการหลบซ่อนความรู้สึก ปกปิดตัวเองไม่รับรู้ทุกสิ่งอย่างจากโลกภายนอก ทั้งต่อพ่อ ผู้หญิงคนที่สนิทสุด Miss Kenton และยังสังคม/โลกภายนอก ซึ่งเมื่อทุกสิ่งอย่างได้สูญเสีย ล่มสลาย จากไป มันทำให้ Stevens หวนระลึกถึงอดีตด้วยความน่าเสียดาย เพ้อฝันอยากที่จะแก้ไขในปัจจุบัน แต่โชคชะตาก็มิอาจทำให้หวนย้อนกลับคืน อะไรที่มันมอดไหม้เหลือเพียงเศษเถ้าถ่าน ก็คงได้แต่สรรหาฝืนท่อนไม้ชิ้นใหม่ โยนเข้าใส่เปลวเพลิงกองไฟ คาดหวังจะมีโอกาสหลงเหลือบางสิ่ง นอกจากความมอดไหม้ม้วยมรณา

สหราชอาณาจักร เพราะเคยเป็นประเทศมหาอำนาจโลกในยุคสมัยหนึ่ง นั่นก่อให้เกิดความเย่อหยิ่งถือมั่นทะนง ยึดติดกับอดีตเมื่อครั้นตนเองยังเทียมทานไร้ผู้ต่อต้าน นั่นทำให้ปัจจุบัน(นั้น) เมื่อโลกมีการปรับเปลี่ยนแปลงพัฒนาก้าวกระโดดไปข้างหน้า พวกเขากลายเป็นหมาหัวเน่ายืนมองตาปริบๆ ถูกเปลวเพลิงมอดไหม้เหลือเพียงเศษขี้เถ้าถ่าน มองย้อนหวนระลึกถึงวารวัน แล้วยังปกปิดกั้นไม่คิดเปิดประตูหน้าต่างออกยอมรับอะไรใหม่ๆเข้าสู่ตนเอง

สำหรับความสนใจของผู้กำกับ Ivory คงมองประเด็นสามเส้าระหว่าง Stevens-Lord Darlington-Miss Kenton มาก่อนเลย ความรู้สึกที่อยากแสดงออกแต่จำต้องปกปิดกั้นไว้ อันกลายเป็นชนวนเหตุขัดข้องแย้ง จนสุดท้ายส่งผลกระทบต่อโชคชะตากรรมอันแตกต่างออกไป
– Stevens โหยหาอาลัยในอดีต อยากที่จะหวนย้อนนำวันวานกลับคืนมา แต่สุดท้ายทำได้แค่เริ่มต้นใหม่
– Lord Darlington มิอาจทำจิตทำใจกับความผิดพลาดของตนเองได้ สุดท้ายตรอมใจลาจากโลกนี้ไป
– Miss Kenton แม้จะหวนระลึกโหยหาถึงอดีต แต่ปัจจุบันพบเจอบางสิ่งอย่างมีคุณค่าสำคัญทางใจมากกว่า เลยต้องก้าวเดินหน้ามิอาจหวนย้อนถอยหลังกลับคืน

ในมุมของผู้เขียนนิยาย Kazuo Ishiguro คงเป็นความโหยหาอดีตของตนเอง เพ้อฝันจินตนาการถึงบ้านเกิดที่จากมาเมื่อครั้น 5 ขวบปี ช่างเลือนลางจดจำความอะไรไม่ได้ แต่ถือว่านั่นคือโลกเพ้อฝันในอุดมคติ, คงประมาณว่าตอนนั้นอาจจะร้องไห้งอแงไม่อยากย้ายมาอยู่อังกฤษ มันเลยกลายเป็นความทรงจำตราฝังใจ ให้ต้องพูดเอ่ยถึงในลักษณะคล้ายๆกันแทบทุกผลงานของตนเอง

และในมุมของความอึดอัดคับข้องต่อขนบวิถีวัฒนธรรมแตกต่างตรงกันข้าม (ระหว่างญี่ปุ่น-อังกฤษ) ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับตัว อยากปิดหูปิดตาไม่รับฟังสนใจโลกภายนอก แต่เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเติบโตขึ้นก็รับรู้ว่านั่นคือสิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างล้วนมีความเชื่องโยงเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันมิอาจตัดขาดกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นมุมไหนในความเข้าใจของตนเอง

รวมๆแล้วเถ้าถ่านแห่งวารวัน คือเรื่องราวการเดินทางสู่อดีตเพื่อค้นหาความทรงจำที่ยังมีชีวิตของตนเอง ปัจจุบัน(นั้น)โลกได้แปรเปลี่ยนไปในมุมมองที่น่าเศร้าสลด ไม่หลงเหลืออะไรทรงคุณค่าให้คำนึงโหยหา ปิดกั้นตัวเองเพราะลึกๆรู้แล้วว่าไม่มีทางหวนย้อนเวลากลับคืน สุขจากอดีตคงไม่มีวันได้รับจากโลกอนาคตที่มืดมิด

ด้วยทุนสร้าง $15 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกา $22.9 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $63.9 ล้านเหรียญ, เข้าชิง Oscar ถึง 8 สาขา กินแห้วไม่ได้สักรางวัล
– Best Picture
– Best Director
– Best Actor (Anthony Hopkins) พ่ายให้กับ Tom Hanks เรื่อง Philadelphia
– Best Actress (Emma Thompson) พ่ายให้กับ Holly Hunter เรื่อง The Piano
– Best Adapted Screenplay
– Best Art Direction-Set Decoration
– Best Costume Design
– Best Music, Original Score

ปีนั้นเรื่องที่คว้ารางวัลอย่างเอกฉันท์คือ Schindler’s List (1993) หนังเรื่องนี้เลยเป็นแค่สีสัน ไม่ได้ลุ้นอะไรทั้งนั้น

สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นอย่างมาก คือมุมของเรื่องราวที่สามารถมองหนังได้จากทั้งภายในและภายนอก
– ในมุมของพ่อบ้าน/คนในประเทศ/ชาวเยอรมัน ใครกันจะไปล่วงรับรู้ทุกสิ่งอย่าง หรืออนาคตที่ดำเนินเป็นไป แค่วันเวลาวินาทีนั้น ฉันทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนสุขสมบูรณ์สุดเป็นพอ
– ในมุมของคนนอกมองเข้าไป ล้วนสนเพียงภาพรวมการกระทำ เหมาทุกสิ่งเกี่ยวข้องชั่วร้ายสามานย์ไปหมด ทั้งๆที่ก็คนส่วนใหญ่พ่อบ้าน/ประชาชน/ชาวเยอรมัน อาจไม่รู้เห็นเป็นใจอะไรด้วยเลย กลับตกกระไดพลอยโจรร่วมด้วยไปเสียหมด

ความลุ่มลึกล้ำซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเรื่องราว ต้องถือว่ามีความเหมาะกับไดเรคชั่นของ James Ivory เป็นอย่างยิ่ง (ผมคิดว่าเป็นผู้กำกับที่เหมาะสมกว่า Mike Nichols เป็นไหนๆ), อีกทั้งความเนี๊ยบดั่งผืนแผ่นน้ำ การแสดงของ Anthony Hopkins และป้า Emma Thompson ตอนยังสาวจริตจัดจ้านโดยแท้ รวมแล้วถือว่าลงตัวสมบูรณ์แบบ

แนะนำคอหนัง Period Drama สนใจความผู้ดีของประเทศอังกฤษ, ทำงานบริการ/บริกร พ่อบ้าน คนใช้, แฟนๆผู้กำกับ James Ivory และนักแสดงระดับตำนาน Anthony Hopkins, Emma Thompson, ร่วมสร้างสีสันกับ Christopher Reeve, Hugh Grant ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศอันตึงเครียด ซ่อนเงื่อนงำ ปากไม่ตรงกับใจ

TAGLINE | “The Remains of the Day ของผู้กำกับ James Ivory ได้ทำให้ Anthony Hopkins และ Emma Thompson มีชีวิตอยู่ต่ออย่างน่าภาคภูมิใจ”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: