The Revenant

The Revenant (2015) hollywood : Alejandro González Iñárritu ♥♥♥♥

ธรรมชาติวิทยาของมนุษย์ ใครเข่นฆาตกรรมลูกเราก็ต้องติดตามล้างแค้นเอามันคืน! แต่นั่นมันสัจธรรมความจริงเสียที่ไหน เมื่อใดผู้ถูกกระทำเรียนรู้จักการให้อภัย สามารถปลดปล่อยวางอคติ ความหมกมุ่นครุ่นยึดติด สูดลมหายใจเข้า-ออกช้าๆเกิดเป็นสมาธิ จิตวิญญาณก็จักพบเจอความสงบสันติสุขในชีวิต

ชีวิตของผู้กำกับ Iñárritu พานผ่านความรุนแรงมากมายเมื่อครั้นอาศัยอยู่ประเทศบ้านเกิดเม็กซิโก พ่อเคยถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ แม่โดนโจรปล้นทำร้ายร่างกาย ฯลฯ นั่นทำให้พอเขาสร้างภาพยนตร์ ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดัง ตัดสินใจอพยพย้ายครอบครัวสู่สหรัฐอเมริกา

“Coming from a violent country, I don’t find violence funny. And now that the western world is getting to how it feels in my country, to be vulnerable every moment, now violence has to stop being fun”.

– Alejandro González Iñárritu

ฟังดูอาจรู้สึกย้อนแย้งกันเองที่ Iñárritu ให้สัมภาษณ์บอกว่าไม่ชื่นชอบความรุนแรง แต่กลับสร้างภาพยนตร์ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆ เต็มไปด้วยเลือด ความเกรี้ยวกราด หมากัดกัน! ซึ่งคงมีแต่ศิลปินระดับนี้เท่านั้น ถึงสามารถนำเสนอความรุนแรงให้ผู้ชมตระหนักรับรู้สึกว่า เราไม่ควรพานผ่านเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องแว้งกับมัน

The Revenant นำเสนอความกระเสือกกระสนดิ้นรนพยายามของ Hugh Glass เพื่อที่จะติดตามล้างแค้นเอาคืน John Fitzgerald ผู้เข่นฆาตกรรมบุตรชายต่อหน้าต่อตา … เรื่องราวมีเพียงเท่านี้ แต่ความยิ่งใหญ่อลังการของหนังคือโปรดักชั่นงานสร้าง ทุกฉากถ่ายทำจากสถานที่จริง ในสภาพแวดล้อมหนาวเหน็บต่ำกว่าศูนย์องศา

คำถามที่คงเกิดขึ้นภายในจิตใจของใครหลายๆคน ผู้กำกับแม้งบ้าป่าวว่ะ จะไปทนทรมานตนเองทำไม? คุ้มกันแล้วหรือ? เรื่องพรรค์นี้ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล สิ่งที่ผู้กำกับ Iñárritu โหยหาไขว่คว้าคือสิ่งเรียกว่า ‘Pure Cinema’ ความงามบริสุทธิ์ของงานศิลปะ ที่(อาจ)จะทำให้ผู้ชมพานพบเห็นแล้วตระหนักเข้าถึงสัจธรรมความจริงแห่งชีวิต

จะบอกว่า The Revenant (2015) ไม่ใช่เรื่องแรกของความพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนของผู้กำกับ ที่ต้องการท้าทายขีดจำกัดภาพยนตร์ ตั้งคำถาม ‘มนุษย์ vs. ธรรมชาติ’ แรงบันดาลใจของ Iñárritu ประกอบด้วย Andrei Rublev (1966), Aguirre, the Wrath of God (1972), Dersu Uzala (1975), Fitzcarraldo (1982) แถมยังเปรียบเทียบกองถ่ายกับ Apocalypse Now (1979) และผมขอแนะนำเพิ่มเติมกับ Letter Never Sent (1960), Man in the Wilderness (1971), Walkabout (1971) ฯ


ก่อนอื่นขอพูดถึง Hugh Glass (1783 – 1833) นักสำรวจชื่อดัง สัญชาติอเมริกัน เลื่องลือนามกับการบุกเบิก Missouri Territory ครั้งหนึ่งสามารถต่อสู้เอาชนะหมี Grizzly ได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงถูกลูกน้องสองคนทอดทิ้งให้ตาย หลังจากกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาตัวรอด เลยติดตามเพื่อจะล้างแค้นเอาคืน แต่ก็ไม่ได้เข่นฆาตกรรมพวกเขานะครับ แค่หวนกลับไปเผชิญหน้าและให้ได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

เรื่องราวของ Glass ได้กลายเป็นปรัมปรา เรื่องเล่า บทกวี The Song of Hugh Glass (1915), ภาพยนตร์เรื่อง Man in the Wilderness (1971) และนวนิยาย The Revenant: A Novel of Revenge (2002) แต่งโดย Michael Punke (เกิดปี 1964) นักเขียนสัญชาติอเมริกัน

เกร็ด: นวนิยาย The Revenant แค่อ้างอิงตำนานของ Glass แล้วแต่งเติมเสริมรายละเอียดเข้าไปใหม่หมด นำจากประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียน Punke ที่ชื่นชอบท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร

โปรดิวเซอร์ Akiva Goldsman ไม่รู้ไปแว่วนวนิยาย The Revenant จากใครไหน ติดต่อขอลิขสิทธิ์ดัดแปลงสร้างภาพยนตร์กับ Punke ล่วงหน้าตั้งแต่สิงหาคม ค.ศ. 2001 ก่อนวางขายจัดจำหน่ายเสียอีก! มอบหมายให้ David Rabe ดัดแปลงบท ได้ผู้กำกับ Park Chan-wook ให้ความสนใจ และเล็งนักแสดงนำ Samuel L. Jackson

แต่หลังจาก Park ถอนตัวออกไป โปรเจคเลยขึ้นหิ้งอยู่นานหลายปี กระทั่ง ค.ศ. 2010 นักเขียน Mark L. Smith ทำการดัดแปลงบทหนังใหม่ ติดต่อได้ผู้กำกับ John Hillcoat นำแสดงโดย Christian Bale แต่ไม่นาน Hillcoat ก็ถอนตัวออกไป กระทั่งบทหนังพานผ่านมาถึงมือ Alejandro González Iñárritu ตกลงเซ็นสัญญากำกับ สิงหาคม ค.ศ. 2011

Alejandro González Iñárritu (เกิดปี 1963) ชื่อเล่น Negro ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์ สัญชาติ Mexican เกิดที่ Mexico City คนสุดท้องจากพี่น้อง 7 คน เมื่ออายุ 16 ปี ทำงานในเรือขนส่งสินค้าข้ามมหาสมุทร Atalantic จึงมีโอกาสเปิดโลกกว้าง ท่องเที่ยวยุโรป แอฟริกา (ทริปแรกคือ Barcelona) สองปีถัดมาเรียนต่อสาขาสื่อสาร Universidad Iberoamericana, จบแล้วได้เป็นนักจัดรายการวิทยุ สถานี WFM ต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ โฆษณา สร้างหนังสั้น ซีรีย์โทรทัศน์ และภาพยนตร์เรื่องแรก Amores perros (2000)

ความสนใจของ Iñárritu ต่อเรื่องราวชีวิตของ Hugh Glass คือ

“How would a man be shaped by that experience? What’s going on in the mind of somebody who has the will, the endurance, and the resilience to survive? What makes people survive and fight? What is that? And how would a man be transformed and shaped by nature?”

– Alejandro González Iñárritu

ความล่าช้าของโปรเจคเกิดขึ้นจากสองปัจจัย อย่างแรกคือคอยการแก้ไขปรับปรุงบทกับ Smith และเมื่อได้นักแสดงนำ Leonardo DiCaprio ต้องรอคิวต่อจาก The Wolf of Wall Street (2013) ทำให้ Iñárritu ตัดสินใจหนีไปกำกับ Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) ซึ่งพอเสร็จจากเรื่องนั้นก็เริ่มต้นโปรดักชั่นเรื่องนี้ต่อโดยทันที

ประมาณปลายปี ค.ศ. 1823, Hugh Glass (รับบทโดย Leonardo DiCaprio) ทำงานเป็นไกด์ออกล่าขนสัตว์ ยังดินแดนตะวันตกที่ไม่มีใครล่วงรู้จัก วันหนึ่งถูกโจมตีโดยหมี Grizzly ได้รับบาดเจ็บสาหัส หัวหน้ากลุ่มมอบหมายให้ John Fitzgerald (รับบทโดย Tom Hardy) และ Jim Bridger (รับบทโดย Will Poulter) เฝ้ารอคอยวาระสุดท้ายแล้วกลบฝังตามประเพณี แต่ Fitzgerald กลับทรยศหักหลังโดยการเข่นฆ่ากรรม Hawk (รับบทโดย Forrest Goodluck) บุตรชายของ Glass ที่เป็นลูกครึ่ง-Pawnee แล้วหลอกล่อ Bridger ว่ากำลังถูกโจมตีจากชนเผ่าพื้นเมืองทำให้ทอดทิ้งเขาไว้เบื้องหลัง ตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุม ด้วยเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตติดตามล้างแค้นเอาคืนให้สาสม!


Leonardo Wilhelm DiCaprio (เกิดปี 1974) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Los Angeles, California เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ ได้รับคัดเลือกแสดงรายการเด็ก Romper Room แต่ถูกไล่ออกเพราะไปสร้างความวุ่นวายให้ผู้อื่น หลังจากนั้นมีผลงานโฆษณา ซิทคอม ซีรีย์ The New Lassie (1989-92), ภาพยนตร์เรื่องแรก Parenthood (1989), สมทบ Poison Ivy (1992), This Boy’s Life (1993), แจ้งเกิดโด่งดัง What’s Eating Gilbert Grape (1993), The Basketball Diaries (1995), Romeo + Juliet (1996), พลุแตกกับ Titanic (1997), กลายเป็นขาประจำของ Martin Scorsese ตั้งแต่ Gangs of New York (2002), และคว้า Oscar: Best Actor เรื่อง The Revenant (2005)

รับบท Hugh Glass ไกด์นำทางผู้รอบรู้ในพื้นที่เป็นอย่างดี ก่อนหน้านี้แต่งงานภรรยาชาวพื้นเมือง Pawnee หลังถูกฆาตกรรม ทั้งชีวิตหลงเหลือเพียงบุตรชายเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่เพราะความลูกครึ่งผิวเหลืองเลยไม่ค่อยได้รับความยินยอมรับจากใคร คนเป็นพ่อเลยพยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อปกป้อง แต่โชคชะตานำพาให้ต้องพบเห็นเขาถูกฆาตกรรมต่อหน้าต่อตา เก็บเอาความโกรธเกลียดเคียดแค้นสะสม แม้ร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัสก็ยังพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรน จนในที่สุด…

“Every single day of this movie was difficult. It was the most difficult film I’ve ever done.”

– Leonardo DiCaprio

ความท้าทายของ Leo ในบทบาทนี้ ไม่ใช่แค่ความอดทนต่อสภาพอากาศหนาวเหน็บจนป่วยไข้ขึ้นหลายครั้ง หรือแบกเสื้อคลุมขนสัตว์หนักเกือบๆ 100 ปอนด์ (=45 กิโลกรัม) แต่คือการแสดงที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีหน้า ท่าทาง แทบจะไร้บทพูดสนทนา (เพราะถูกหมีตบคอ พูดดังมากไม่ได้) โดยเฉพาะฉากพบเห็นลูกชายถูกเข่นฆาตกรรม โกรธจนเลือดขึ้นหน้า นั่นคือพลังที่แปรสภาพเป็นแรงผลักดันให้ยังชีวิตอยู่ได้จนกว่าแค้นชำระเสร็จสิ้น

ผมว่าผู้ชมส่วนใหญ่น่าจะตระหนักได้ว่า บทบาทนี้ของ Leo ไม่ใช่การแสดงยอดเยี่ยมที่สุด แต่เพราะพี่แกพลาด Oscar: Best Actor หลายครั้งมากๆแล้ว มันจึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ๆไปเถอะ! ด้วยเหตุนี้ปลายปีเลยแทบเอกฉันท์ทุกสถาบัน กวาดเรียบ 32 รางวัล ปิดแคมเปญเกมล้อเลียน Leo’s Red Carpet Rampage (LINK: เล่นเกม)

เกร็ด: Leo เป็นมังสวิรัติตั้งแต่ปี 1992 แต่เรื่องนี้เพราะเนื้อปลอมมันดูไม่สมจริง เลยขอให้ผู้กำกับโยนของจริงมา กัดเข้าไปคำหนึ่งก็แทบอาเจียนออกมา แต่เพื่อความสมจริงก็ละเว้นไว้ครึ่งเดียวเท่านั้น


Edward Thomas Hardy (เกิดปี 1977) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ เกิดที่ Hammersmith, London แม่เป็นจิตรกร พ่อเขียวนวนิยายตลก ตั้งแต่เด็กมีความชื่นชอบหลงใหลการแสดงของ Gary Oldman โตขึ้นเข้าเรียนยัง Richmond Drama School ตามด้วย Drama Centre London, เมื่ออายุ 21 ชนะการประกวด The Big Breakfast’s Find Me a Supermodel จนมีโอกาสแสดงมินิซีรีย์ Band of Brothers (1998), ภาพยนตร์เรื่องแรก Black Hawk Down (2001), Star Trek: Nemesis (2002), Layer Cake (2004), โด่งดังระดับนานาชาติกับ Inception (2010), Tinker Tailor Soldier Spy (2011), The Dark Knight Rises (2012), Mad Max: Fury Road (2015), Dunkirk (2017) ฯ

รับบท John Fitzgerald ชายผู้มีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ต้องการกระทำสิ่งสนองความพึงพอใจส่วนตนเองเท่านั้น ไม่ชอบรับฟังความครุ่นคิดเห็นใคร ถึงมิใช่ศัตรูกับ Hugh Glass แต่เล็งเห็นโอกาสทำเงิน เลยขันอาสาเฝ้ารอคอยวาระโอกาสสุดท้าย จากนั้นเมื่อลวดลายครามออก เข่นฆาตกรรม Hawks และปล่อยทิ้งให้ตาย สุดท้ายคาดคิดไม่ถึงวาระกรรมจะติดตามทัน

ตัวเลือกแรกของ Iñárritu คือ Sean Penn เคยร่วมงานกันตอน 21 Grams (2003) แต่จนแล้วจนรอดไม่สามารถหาเวลาว่างได้ Leo เลยเสนอแนะ Tom Hardy นำบทไปให้อ่านแต่เจ้าตัวไม่ใครสนใจ พูดจาเกลี้ยกล่อมจนยินยอมตกลง ถึงกระนั้นความล่าช้าของหนัง ทำให้ Hardy พลาดโอกาสเล่น Splinter Cell [เรื่องนี้ถึงปี 2019 ก็ยังไม่ได้สร้างสักที] และ Suicide Squad (2016) [ได้กลายเป็น Venom (2018) แทน]

ผมละโคตรชื่นชอบความไม่เข้าพวกของ Hardy โดยแท้! ทำตัวไม่แคร์หยี่ร่าต่อสิ่งใดๆ คอยยียวน ก่อกวน พูดจาปั่นหัว (ราวกับอยากรีบเร่งถ่ายทำให้เสร็จๆ จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นต่อ) ให้ความรู้สึกคล้ายๆตัวละคร Tom Berenger จากเรื่อง Platoon (1986) ต้องชมเลยว่านั่นคือการแสดงอันทรงพลัง ผู้ชมเกิดความหงุดหงิดรำคาญ หมอนี่มันจะพาล มักมาก เห็นแก่ตัวไปถึงไหน!

แซว: Leo ท้าพนัน Hardy เชื่อมั่นว่าจะได้เข้าชิง Oscar แน่ๆ หลังจากประกาศรายชื่อเข้าชิง ผู้แพ้สักข้อความ “Leo Knows All” ตรงกล้ามแขนขวา


ถ่ายภาพโดย Emmanuel Lubezki หรือ Chivo ตากล้องยอดฝีมือสัญชาติ Mexican เพื่อนสนิทร่วมรุ่นเดียวกับ Cuarón เจ้าของสามรางวัลติด Oscar: Best Cinematography ประกอบด้วย Gravity (2013), Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) (2014), The Revenant (2015)

เดิมนั้นสถานที่ถ่ายทำตั้งใจไว้เพียงสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แต่ความล่าช้าจากสภาพอากาศ และสภาวะโลกร้อนทำให้หิมะละลายเร็ว ยังไม่ทันเสร็จสิ้นจำต้องอพยพย้ายกองถ่ายไปยังประเทศอาร์เจนติน่า (คนละขั้วโลกเลยนะ!)

ความทะเยอทะยานของ Iñárritu ต้องการถ่ายทำหนังยังสถานที่จริง สภาพอาการหนาวเหน็บอุณหภูมิติดลบ ด้วยแสงธรรมชาติทั้งหมด และหลายช็อตเป็น Long Take นั่นต้องใช้การซักซ้อมตระเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดี เพราะเมื่อเริ่มเดินกล้องจะให้เกิดความผิดพลาดบ่อยครั้งไม่ได้ (ปริมาณเทคโดยเฉลี่ยแค่หลักหน่วย น้อยกว่า Birdman ที่ถ่ายซีนหนึ่ง 20-30 เทค)

Chivo เป็นตากล้องที่ถ่ายภาพย้อนแสงอาทิตย์ได้สวยงามมากๆ มีความช่างสังเกต รับรู้ตำแหน่งมุมมอง และสันชาติญาณเคลื่อนไหวกล้องได้สอดคล้องรับจังหวะนักแสดง ทำให้ภาพที่ออกมาคมชัด ลื่นไหล ดูมีมิติ ชวนให้อึ้งทึ่งอ้าปากค้างแทบทุกช็อตฉาก

ช็อตแรกของหนังเริ่มต้นด้วยสายน้ำ(แห่งชีวิต) เคลื่อนไหลดำเนินไป สะท้อนภาพมนุษย์กับธรรมชาติ พบเห็นอยู่แทบทุกฉากสำคัญๆ ให้การช่วยเหลือ Hugh Glass รอดพ้นจากความตาย และสุดท้ายเรียนรู้จักปล่อยวางความแค้นให้ล่องลอยไปกับธารา

กวาง เป็นสัตว์สง่างามแห่งพงไพร กินพืชเป็นอาหารไม่เคยทำร้ายใคร การที่ Hugh Glass เข่นฆ่ามันตั้งแต่ฉากแรก ราวกับได้กลายเป็นกรรมสนองให้บุตรชายถูกฆาตกรรมกลางเรื่อง (ว่าไป หนังมีลักษณะว่ายเวียนวนอยู่กับกฎแห่งกรรม บ่อยครั้งทีเดียวเลยนะ!)

แซว: เห็นกวางถูกฆ่า ชวนให้นึกถึง The Deer Hunter (1975)

ช็อตแรกของ John Fitzgerald มันช่างยียวนกวนประสาทเสียจริง กำลังปัสสาวะ ยืนบดบังแสงอาทิตย์ พอได้ยินเสียงปืนก็หันมาสถบ เรียกว่าเป็นคนย้อนขัดแย้งต่อทุกสิ่งอย่างพึงปฏิบัติ

ความเจ๋งเป้งของอินเดียแดงบุก คือความตายที่เวียนวน ‘กรรมสนองกรรม’ คนหนึ่งฆ่าศัตรู ถูกศัตรูฆ่า อีกคนมาฆ่าศัตรู ถูกศัตรูฆ่า ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนั้นด้วย Long Take มันช่างงดงาม

ส่วนการหลบหนีขึ้นเรือ ดูเหมือนเป็นการเคารพคารวะ Aguirre, the Wrath of God (1972) อยู่เล็กๆ

ฉากนี้เรียกได้ว่า ‘แกว่งเท้าหาเสี้ยน’ มีอย่างที่ไหนกระชากปืนจาก Hugh Glass โดยปลายกระบอกจ่อเข้าหาตนเอง! นั่นสะท้อนพฤติกรรมของ John Fitzgerald ครุ่นคิดทำอะไรไม่ดูตาม้าตาเรือ ไม่สนใจอะไรนอกจากตัวตนเอง

ผมละชอบแคมเปญล้อเลียน Leo ที่ว่า Oscar Goes To … Grizzly Bear แถมข่าวลือที่ว่าถูกหมีข่มขืน ใครกันมโนเพ้อภพไปได้ไกลถึงขนาดเชียว

เจ้า Grizzly ตัวนี้ เกิดจากสตั๊นแมนสองคนประกอบร่างกัน แล้วใช้ CGI เข้าช่วยเพื่อให้ออกมาดูเหมือนหมีจริงๆ

“In rehearsals, I would wear a blue suit with a bear head which obviously doesn’t make it into the film as the CGI guys paint the bear in. Alejandro G. Inarritu was adamant that the blue bear move just like a real bear would move and it was essential that it had the same nuances that a bear would have. Even though it was a big Smurf bear, it still had to be as authentic as possible.”

– บทสัมภาษณ์ของ  Glenn Ennisหนึ่งในสองสตั๊นแมน

การต่อสู้กับหมี Grizzly มักได้รับการเปรียบเทียบ อารัมบทก่อนสู้จริงกับ John Fitzgerald (เพราะ Tom Hardy มีร่างกายบึกบึนกำยำเหมือนหมี) เข้าข้างหลัง=ทรยศหักหลัง ยิงปืนแต่ยังไม่ตาย สุดท้ายดวลมีดถึงสามารถล้มลง

สภาพอันร่อแร่ โคม่า ใกล้ตายของ Hugh Glass ทำให้เขาเกิดความฝัน/ความทรงจำ/จินตนาการ มี 2-3 ภาพที่น่าสนใจมากๆ

ภาพแรกคือวินาทีที่ภรรยาชาว Pawneen (ชนพื้นเมืองทั่วไป) เสียชีวิต สังเกตหน้าอกของเธอจะมีนกชนิดหนึ่ง (พิราบ?) ดิ้นแทรกตัวและโบยบินออกไป นี่ราวกับคือการแปรสภาพ ‘Transcendence’ จิตวิญญาณได้รับอิสรภาพออกจากร่างกาย นี่เป็นการสะท้อนวิถีความเชื่อชาวอินเดียแดง มนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความตายนั้นไม่สูญแต่คือการเกิดใหม่สู่…

ภาพที่สองขอเรียกว่า พิระมิดโครงกระดูกชาวอินเดียแดง ความตายที่เกิดจากการล่าอาณานิคม เพราะเขาคือคนผิวขาว/หนึ่งในผู้มาบุกรุกรานผืนแผ่นดิน แม้ต่อมาจะกลายเป็นส่วนหนึ่งร่วมวิถีชีวิตกับพวกเขา แต่ถือว่าคือชนวนเหตุให้เกิดหายนะ เข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นัยยะของภาพนี้เสมือนตราบาปที่ฝังใจ Hugh Glass ทำให้ชีวิตเขาเลือกที่จะแบกรับผิดชอบต่อบุตรชาย ทายาทคนสุดท้ายสืบเชื้อสาย Pawneen เมื่อถูกเข่นฆาตกรรมก็เท่ากับหมดสิ้นสูญเชื้อชาติพันธ์ุ มันจึงเป็นความตายที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกเลยละ!

ขอตัดมาฉากนี้ก่อนแล้วกัน, เมื่อพูดถึงการตะเกียกตะกาย(ขึ้นจากหลุม) นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของ Leo ที่ทุ่มเทขนาดนี้ The Wolf of Wall Street (2013) ก็มีฉากเมายาแล้วกลิ้งเกลือกขึ้นรถ นั่นก็คลานสุดเหวี่ยงเหมือนกัน

การฟื้นคืนชีพตะเกียกตะกายขึ้นจากหลุม นี่เปรียบได้กับ ‘การเกิดใหม่’ (ของความเคียดแค้น) ร่างกายจากเต็มไปด้วยบาดแผล อ่อนเรี่ยวแรง ซึ่งจะค่อยๆฟื้นฟูขึ้นเรื่อยๆ (เหมือนการเติบโตจากเด็ก->ผู้ใหญ่)

เพื่อที่จะเอาตัวรอด Hugh Glass ดิ้นรนตะเกียกตะกาย แหวกว่าย [แบบหนังเงียบ Way Down East (1920)] รักษาตนเอง มาจนพานพบเจอ Hikuc (รับบทโดย Arthur Redcloud) ชาวอินเดียแดงที่เต็มไปด้วยความโกรธเกลียดเคียดแค้นเช่นเดียวกัน เลยให้ความช่วยเหลือนำพาออกเดินทางร่วมไปด้วย

มุมกล้องเงยขึ้นนี้ แสดงถึงความมีอำนาจของ Hikuc ที่สามารถทำอะไรก็ได้ต่อ Hugh Glass แต่เขาก็ไม่ได้มาร้ายเมื่อพบเห็นสภาพบาดแผลปางตาย แถมยังยินยอมให้ความช่วยเหลืออีก ซึ่งตัวละครนี้เป็นชาวพื้นเมือง สัญลักษณ์ของธรรมชาติ/โชคชะตา นำพาเขาสู่การเดินทางต่อไป

อีกหนึ่งความฝันที่น่าสนใจของ Hugh Glass เดินมาพบเจอสภาพปรักหักพังของโบสถ์คริสต์หลังหนึ่ง ตามคำอธิบายของ Iñárritu เปรียบได้กับประตูแห่งความตาย ถึงกระนั้น Glass กลับสามารถฟื้นคืนชีพมาอีกรอบ แต่ต้องแลกกับความตายของ Hikuc (ถูกแขวนคอเสียชีวิต)

ฉากกินตับว่าแหยะแล้ว มาเจอควักไส้ม้าแล้วแทรกตัวเข้าไปหลบหนาวช็อตนี้ อ๊วกแตกอ๊วกแตนกันเป็นทิวแถว แต่ทั้งหมดไม่ใช่ของจริงนะครับ คือของปลอมสร้างขึ้นมา แต่มีความแนบเนียนสมจริงมากๆเลยละ!

การหลบซ่อนตัวหนีหนาวในม้า ตีความได้ราวกับทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ Hugh Glass อาการบาดเจ็บดูดีขึ้นเรื่อยๆ (ราวกับธรรมชาติเป็นผู้รักษาเขา)

นี่เป็นอีกช็อตที่ผมชอบมากๆ ‘Fitzgerald kill my son’ แต่ตัวอักษรที่ Hugh Glass แกะสลักนั้นคือบนพื้นน้ำแข็ง/หิมะ เดี๋ยวฤดูหนาวพานผ่านไป ทุกสิ่งอย่างก็จักหลอมละลาย เลือนลางจางหายไป ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น … เฉกเช่นนั้น มนุษย์เราจะโกรธแค้นเคืองโกรธผู้อื่นไปใยมีประโยชน์อันใด

ในที่สุด Hugh Glass ก็มาจนถึง Fort Kiowa พานพบเจอช็อตนี้ถ่ายมุมเงย พบเห็นดวงจันทร์ถูกบดบังอยู่ตรงศีรษะ (แหม! พอไม่มีพระอาทิตย์ Chivo เลยจัดเก็บแสงจันทร์แทน) นี่เรียกได้ว่าความมืดมิดในชีวิต ได้พบเจอหนทางออกเสียที

ผู้ชมอาจไม่ทันสังเกตสักเท่าไหร่ แต่ภาพหิมะถล่มตรงพื้นหลังช็อตนี้ต้องตระเตรียมการอย่างยุ่งยากวุ่นวาย ใช้เครื่องบินปล่อยระเบิดบนยอดเขา Fortress Mountain ณ Alberta, Canada แต่นักแสดงไม่ได้อยู่ในฉากนะครับ บันทึกภาพด้วยเครน เพราะมันมีความเสี่ยงสูง อันตรายมากๆ

Hugh Glass กับ John Fitzgerald เป็นคู่ปรับที่มากด้วยเล่ห์กล สามารถต่อกร ตลบหลัง ห่ำหั้นกันได้อย่างสมศักดิ์ศรี วิ่งลงจากเนินสูงลงมาถึงริมธารน้ำ สังเวียนสุดท้ายของการสู้รบ

ขณะที่มุมกล้องฝั่ง Fitzgerald ถ่ายจากระดับศีรษะ สะท้อนความต้องการมีชีวิต ใช้มันสมองหาวิธีดิ้นรนเอาตัวรอด พูดจาโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมเกลา, ทางฝั่งของ Glass ถ่ายมุมก้มเงยขึ้น อาวุธขวานอยู่ระดับสายตา นี่ก็แปลว่าความต้องการของเขามีเพียง เข่นฆาตกรรม ล้างแค้นเอาคืน ไม่ต้องการให้หมอนี่ดิ้นรนเอาตัวรอดไปไหนได้อีก

ไดเรคชั่น Long Take ของการต่อสู้ สังเกตว่ากล้องจะจับจ้องที่ใบหน้า/ศีรษะของพวกเขา มากกว่าการโฟกัสไปที่อาวุธ หรืออวัยวะที่ถูกแทง ฟัน ก็พอดูเป็นความอาร์ทอย่างหนึ่ง แฝงนัยยะถึงบางสิ่งอย่าง
– เริ่มต้นจาก Glass ตัดนิ้วก้อยนางของ Fitzgerald สะท้อนความสัมพันธ์ที่แตกหักของทั้งคู่ (นิ้วนาง=แต่งงาน, นิ้วก้อย=เกี่ยวก้อยสานสัมพันธ์)
– มีดเฉือนแก้ม Glass ทำลายภาพลักษณ์ใบหน้า เปิดเผยธาตุแท้ตัวตน
– ระหว่าง Glass เอาด้ามขวานรัดคอ Fitzgerald ทิ่มแทงมีดปักเข่า สัญลักษณ์ของการทรยศหักหลัง
– กอดรัดฟัดเหวี่ยงกลิ้งเกลือกไปมา (เหมือนหมี)
– Fitzgerald กัดหู Glass (ไมค์ ไทสัน) สะท้อนถึงการไม่รับฟังคำใดๆของฝ่ายตรงข้าม … น่าจะสื่อถึงทั้งคู่เลยนะครับ ต้องการล้างแค้นฆ่ากันอย่างเดียว ยังไม่ครุ่นคิดให้อภัยใคร
– Fitzgerald ถือมีดด้วยมือตนเอง ถูก Glass บิดหักและปักเข้าไปตรงท้อง นี่เรียกว่า กรรมสนองกรรม ย้อนรอยกระทำของตนเอง
– Fitzgerald ดึงมีดออกมาทิ่มแทงแขน ดูเหมือนการปักไม้กางเขนชำระล้างความผิด
– Glass กวาดขวานเข้าที่ท้องของ Fitzgerald อีกคำรบ เป็นการตอกย้ำความผิด (ต่อคนที่ไม่รู้สึกสำนึก/ไม่ยอมตายสักที)
– Glass ดึงมีดออกมา สวนกลับด้วยการทิ่มแทงด้านหลังเข่า ย้อนแย้งกับที่โดนปักเข่าตอนต้น สะท้อนการเอาคืน/ทรยศหักหลังศัตรูเช่นกัน
– ท้ายสุด Glass ตั้งใจจะบีบคอ Fitzgerald ให้ขาดอากาศหายใจตาย แต่พลันพบเห็นชาวอินเดียแดงอีกฝั่งของสายน้ำ ครุ่นคิดได้เลยปลดปล่อยเขาให้ล่องลอยธาราไป

คราบเลือดบนผืนหิมะ เช่นเดียวกับตัวอักษรแกะสลักที่ผมอธิบายไป เมื่อฤดูหนาวพานผ่าน ทุกสิ่งอย่างหลอมละลาย เลือนลางจางหายไป ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น … ความเคียดแค้นของมนุษย์ก็เฉกเช่นเดียวกัน หลงเหลือเพียงตำนาน/ปรัมปรา/ความทรงจำ บุคคลทั้งสองสุดท้ายก็หมดสิ้นลมหายใจ ตายจากไป ทุกสิ่งอย่างก็หมดสิ้นสูญความหมาย

ลำธารสายนี้สามารถใช้เปรียบเทียบได้กับ โลกนี้-โลกหลังความตาย, โลกมนุษย์-ธรรมชาติ/ชนชาวพื้นเมือง ซึ่งความครุ่นคิดได้ของ Huge Glass

อะไรคือสิ่งที่ Huge Glass พบเห็นในช็อตสุดท้ายของหนังนี้ สังเกตว่าบริเวณโดยรอบข้างถูกทำให้เบลอๆหลุดโฟกัส วินาทีสุดท้ายเหมือนจะหันมาจับจ้องมองกล้อง ‘Break the Fourth Wall’ และตัดภาพดำขึ้น Closing Credit แต่เสียงลมหายใจเข้าออกยังคงดังขึ้น

ผมครุ่นคิดว่าสิ่งที่ Glass พบเห็นครั้งนี้ คือการเข้าถึงธรรมชาติของชีวิต เกิด-ตาย ฆ่าล้างแค้นเสร็จสำเร็จแล้วมีประโยชน์อะไร จนสามารถปลดปล่อยวางจากความยึดติด ซึ่งในมุมของชาวคริสต์คงประได้พบเห็นพระเจ้า (แบบที่ตัวละคร John Fitzgerald เล่าถึงพ่อพบกระรอก และเรียกมันว่า ‘I found God’)

การหันมาจับจ้องมองกล้อง มักมีนัยยะถึงการชักชวนให้ผู้ชมครุ่นคิดตั้งคำถาม ในบริบทนี้คงเป็น คุณได้บทเรียน/ข้อคิดอะไรจากหนัง? ความโกรธเกลียดเคียดล้างแค้น มีประโยชน์อันใดกับชีวิต?

และเสียงลมหายใจแม้เมื่อขึ้น Closing Credit ผมรู้สึกเหมือนการทำสมาธิของผู้กำกับ Iñárritu วิธีการให้จิตสงบ ซึ่งสามารถใช้ในบริบทนี้ ผ่อนคลายความโกรธเกลียดเคียดแค้นให้บรรเทาเบาบางลงได้ จนเกิดความว่างเปล่าขึ้นภายใน

ตัดต่อโดย Stephen Mirrione ขาประจำของ Iñárritu ตั้งแต่ 21 Grams (2003), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Traffic (2000), Good Night, and Good Luck (2005), The Hunger Games (2012) ฯ

หนังมักใช้การดำเนินเรื่องคู่ขนานระหว่าง Huge Glass กับ John Fitzgerald (แต่ส่วนใหญ่เป็นของ Glass) ซึ่งจะมีแทรกเข้ามาในฉากสลบไสลสภาพร่อแร่หรือช่วงเวลาสำคัญๆ คือความทรงจำ/เพ้อฝัน/จินตนาการ ถึงภรรยา บุตรชาย และชีวิตหลังความตาย

ปัญหาของหนังที่ถูกนักวิจารณ์บ่นอุบคือความยาว 156 นาที (นานสุดของ Iñárritu จนถึงปัจจุบัน) ให้เวลากับการเดินทางค้นหาตนเอง ทิวทัศนียภาพกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ถึงเชื่องช้าแต่ก็มีความอลังการ งดงามดั่งบทกวีร้อยกรอง

เพลงประกอบโดย Ryuichi Sakamoto คีตกวีชื่อดังชาวญี่ปุ่น ร่วมมือกับ Alva Noto นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชาวเยอรมัน และเพิ่มเติมโดย Bryce Dessner, รังสรรค์สร้างบทเพลงที่มีสัมผัสอันเย็นยะเยือก เหี้ยมโหดร้ายทารุณ โดยใช้ออเครสต้าเครื่องสายเป็นหลัก แต่ก็ใช่ว่าท้ายที่สุดโลกจะปกคลุมด้วยความมืดมิดตลอดกาล แสงสว่างแม้เพียงประกายไฟ ก็สามารถมอบไออบอุ่นให้พึ่งพิง

จะว่าไปความวูบวาบของบทเพลง เดี๋ยวดังเดี๋ยวเงียบ มอบสัมผัสที่คล้ายกับลมหายใจ เสียงเต้นตุบ-ตับของหัวใจ ก้าวย่างเท้าเดิน ชีวิตที่ดำเนินไป

เสียงเชลโล่กรีดทุ้มต่ำ ตัดกับเสียงเปียโนคลอประกอบ มอบสัมผัสความตื่นตระหนกหวาดหวั่นสั่นสะพรึงกลัวที่หลบซ่อนภายในจิตใจของมนุษย์ เช่นกันกับการเดินทางของ Huge Glass กำลังมุ่งสู่ดินแดน(ทางจิตวิญญาณ)ที่เขาไม่เคยพานพบเจอมาก่อนในชีวิต

เท่าที่ผมสังเกต Soundtrack ของหนัง จะมีการใส่ Sound Effect ที่เป็นเสียงเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนนั้นเป็นผลงานของ Alva Noto) มอบสัมผัสอันเป็นธรรมชาติ สายน้ำ จิ้งหรีดเรไร ฯ

การต่อสู้ครั้งสุดท้าย Final Fight เร้าใจด้วยเสียงรัวกลองโต้ตอบกัน บาดสีด้วยเชลโล่สะท้อนความหวาดสะพรึงกลัวตาย ภายในปั่นป่วนคลุ้มคลั่ง กอดรัดฟัดเหวี่ยง กลิ้งเกลือกไปมา จนกระทั่งวินาทีที่ Hugh Glass เกิดการตรัสรู้ พบเห็น เข้าใจบางสิ่งอย่าง ประสานเสียงออเครสต้าเครื่องสายดังขึ้น การให้อภัย ปลดปล่อยวางจึงบรรลุมรรคผล

มีนักข่าวสัมภาษณ์ถาม Alejandro González Iñárritu ภาพยนตร์ในมุมมองของเขาคืออะไร?

“For me, cinema is the ocean. It’s an infinite, endless form of human expression. The ocean of expression. And it’s enormous. After 120 years of making films, we’re still on the beach – we’re splashing in the shallows, and I believe we have a lot deeper to go”.

ภาพยนตร์คือมหาสมุทรแห่งอารมณ์/การแสดงออก มันช่างกว้างใหญ่ไพศาลไร้จุดจบสิ้น ซึ่ง 120 ปีของวงการ เรายังอยู่แค่ชายหาด เดินเตะคลื่นที่ซัดเข้าหาชายฝั่ง ยังอีกห่างไกลนักจะเข้าถึงส่วนลึกสุดใต้ผืนมหาสมุทร

ความสนใจในภาพยนตร์ของ Iñárritu ถึงขณะสร้าง The Revenant คือการสำรวจสิ่งที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึก ค้นหาเหตุผลแรงผลักดัน/บันดาลใจ ประสบการณ์ชีวิต อะไรบ้างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมแสดงออกมาของมนุษย์

“The Revenant was a way for me to express an extreme human experience through what I call ‘pure cinema’.”

คำว่า Revenant ตามเรื่องเล่าตำนาน Folklore คือผี/โครงกระดูกที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาหลอกหลอนคนเป็น, ต้นคำคือภาษาฝรั่งเศส Revenir แปลว่า Returning/Come Back

ในบริบทของหนัง The Revenant คือการหวนกลับมาล้างแค้นเอาคืน บุคคลผู้กระทำสิ่งชั่วช้าสามาลย์ให้ได้รับการชดใช้คืนอย่างสาสม แต่ถึงกระนั้นท้ายสุดกลับก่อเกิดการตระหนัก ตรัสรู้ เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต นี่ฉันมัวทำบ้าบอคอแตกอะไรอยู่ เข่นฆ่าหมอนี่ไปก็ใช่จะได้ทุกสิ่งอย่างหวนกลับคืนมา

“Revenge, from my personal point of view, is an unwholesome emotion. And I wanted to explore in the film– if revenge is hollow, if your meaning of life is revenge, once you accomplish it, then what is the meaning of life? What is after revenge? Most importantly, the question for me in the film was this: Could revenge really bring back what we’ve lost, what we are looking for? Can it bring it all back?”

การล้างแค้น ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ แรงผลักดันเพื่อให้สามารถต่อสู้ดิ้นรนเอาตัวรอด และอิทธิพลจากภาพยนตร์แนว Western ซึ่งมักเป็นแนวล้างแค้นเอาคืนคนชั่ว นี่สร้างค่านิยมประเภท ‘Revenge is Cool.’ นั่นหาใช่สิ่งถูกต้องเหมาะสมเลยสักนิด

ดูอย่างตัวละคร Huge Glass กว่าที่เขาจะไปถึงจุดสามารถล้างแค้นเอาคืน John Fitzgerald มันช่างเป็นการเดินทางยากลำบากแสนเข็ญ เหน็ดเหนื่อยทุกข์ทรมานสายตัวแทบขาด ตายแล้วฟื้นจะได้อีกสักกี่ค่ำคืน ชีวิตรอดมาได้ถึงขนาดนี้แล้วยังมาทิ้งๆขว้างๆกับความโกรธเคืองแค้น มองไม่เห็นหรือไรว่าเป็นสิ่งโง่เขลาเบาปัญญาแท้!

โลกเราทุกวันนี้รายล้อมไปด้วยความรุนแรงทุกทิศทาง ถูกสื่อสมัยใหม่เสี้ยมสั่งสอนปลูกฝังกล่อมเกลาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อไม่สามารถลบเลือนออกจากชีวิตประจำวันได้แล้ว สิ่งสำคัญสุดที่ควรตระหนักเข้าใจให้ได้ก็คือ ทุกสิ่งอย่างล้วนมีผลกระทบที่เท่าเทียม ทำร้ายเข่นฆ่าคนอื่นสักวันอาจถูกล้างแค้นเอาคืน สอดคล้องสัจธรรมความจริงที่ว่า ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’

“You cannot deny violence, because we are violent, but every act of violence has a painful consequence no matter what. I think it’s important to remind people of that”.


จากทุนสร้างตั้งต้น $60 ล้านเหรียญ ความล่าช้าเนื่องจากสภาพอากาศ ทำให้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็น $95 ล้านเหรียญ และไต่ไปถึง $135 ล้านเหรียญ (กลายเป็นภาพยนตร์ระดับ Blockbuster)

ผมมองว่าเพราะพลังดาราของ DiCaprio การันตีรางวัล Oscar: Best Actor ช่วยพยุงหนังทั้งเรื่องให้สามารถทำเงินในสหรัฐอเมริกา $183.6 ล้านเหรียญ รวมทั่วโลก $533 ล้านเหรียญ กำไรแบบไม่มีใครคาดคิดถึง!

เข้าชิง Oscar 12 สาขา คว้ามา 3 รางวัล
– Best Picture
– Best Director ** คว้ารางวัล
– Best Actor (Leonardo DiCaprio) ** คว้ารางวัล
– Best Supporting Actor (Tom Hardy)
– Best Cinematography ** คว้ารางวัล
– Best Film Editing
– Best Production Design
– Best Costume Design
– Best Sound Editing
– Best Sound Mixing
– Best Makeup and Hairstyling
– Best Visual Effects

เกร็ดรางวัล:
– Iñárritu กลายเป็นผู้กำกับสัญชาติ Mexican คนแรกคว้า Oscar: Best Director ตัวที่สอง, และเป็นคนที่สามคว้ารางวัลสองปีติด ถัดจาก John Ford และ Joseph L. Mankiewicz
– Lubezki กลายเป็นตากล้องคนแรกคว้า Best Cinematography สามครั้งติด
– มีเพียงสามครั้งที่หนังคว้า Best Director, Best Actor แต่พลาด Best Picture อีกสองเรื่องคือ The Informer (1935) และ The Pianist (2002)
– หนังถูกตัดสิทธิ์เข้าชิง Best Original Score เพราะถูกมองว่าเป็นการรวบรวม/เรียบเรียงบทเพลงจากผู้แต่งมากกว่าหนึ่งคน!

ส่วนตัวชื่นชอบหนังมากๆ ประทับใจงานภาพสวยๆ การแสดงสุดตราตรึงของ Leonardo DiCaprio และ Tom Hardy แต่ค่อนข้างเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายในความเยิ่นเย้อยืดยาว หาจังหวะผ่อนคลายไม่ได้เลยสักนิด

แนะนำคอหนัง Survival ต่อสู้กับธรรมชาติ ผจญภัยสู่ความหนาวเหน็บ, นักปรัชญา ตั้งคำถามชีวิต เป้าหมายการล้างแค้น, ชื่นชอบนวนิยาย สนใจชีวประวัติของ Hugh Glass, งานภาพสวยๆของ Emmanuel Lubezki, เพลงประกอบของ Ryuichi Sakamoto, แฟนๆผู้กำกับ Alejandro González Iñárritu และสองนักแสดงนำ Leonardo DiCaprio, Tom Hardy ไม่ควรพลาด

จัดเรต 18+ กับเลือด ความรุนแรง การแก้แค้น และสภาพอากาศอันหนาวเหน็บเย็นยะเยือก

คำโปรย | การแก้แค้นของ The Revenant อลังการหนาวเหน็บไปถึงขั้วหัวใจ
คุณภาพ | น็-ถึงขั้วหัวใจ
ส่วนตัว | ชื่นชอบมากๆ

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: