The Right Stuff

The Right Stuff (1983) hollywood : Philip Kaufman ♥♥♥♥

เริ่มต้นจาก Chuck Yeager นักบินคนแรกของโลกที่สามารถทำความเร็วเกินเสียง Supersonic (Mach 1) ตามด้วยการรวมทีมนักบินอวกาศรุ่นบุกเบิกของสหรัฐอเมริกา Mercury Seven เพื่อแข่งขันช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจโลกในช่วงสงครามเย็น, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”

“And as I was sayin’, whoever controls the high ground of space controls the world”.

– Lyndon B. Johnson ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ‘สามผู้ยิ่งใหญ่’ ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ได้รับการจับตามอง ว่าจะนำพาโลกใบนี้เคลื่อนหมุนไปในทิศทางใด
– ขณะที่สหราชอาณาจักร ประสบปัญหาภายในขั้นรุนแรง เมื่อประเทศในเครือจักรภพ/เมืองขึ้นทั้งหลายที่เคยยึดมาในช่วงล่าอาณานิคม ค่อยๆทะยอยตีตนออกห่าง รวมพลกันลุกฮือเข้ายึดอำนาจ เรียกร้องทวงคืนอิสรภาพเสรีให้กับตนเอง เป็นเหตุให้อังกฤษค่อยๆหมดพิษสงเขี้ยวเล็บราชสีห์
– สหรัฐอเมริกับ กับสหภาพโซเวียต ก็ค่อยๆเริ่มแตกคอ เกิดความหวาดระแวงต่อกันและกัน ดั่งสำนวนที่ว่า ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ กลายมาเป็นสงครามเย็น ยุคสมัยแห่งการสาดโคลนเทสี แบ่งพรรคพวกฝักฝ่ายซ้าย-ขวา ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ อะไรที่ศัตรูทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้! เลียนแบบ แข่งขัน ทุ่มไม่อั้น เพื่อให้ฝั่งตนได้รับชัยชนะเป็นมหาอำนาจโลก

The Right Stuff คือภาพยนตร์ที่นำเสนอสหรัฐอเมริกาในฐานะมือรองบ่อน ‘อันดับสอง’ ช่วงขณะการแข่งขันเดินทางสู่ห้วงอวกาศ ตามหลังสหภาพโซเวียตในทุกๆกระบวนท่า แต่เพราะความต้องการได้รับชัยชนะเท่านั้น ‘หัวเราะทีหลังดังกว่า!’ จึงทุ่มทำทุกสิ่งอย่างเพื่อรนก้นไล่หลังให้ทันท่วงที แล้วคาดหวังจะสามารถเลี้ยวแซงทางโค้งสุดท้าย พุ่งเข้าเส้นชัยคว้าอันดับหนึ่งแทนที่!

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าโคตรเจ๋งมากๆของหนังเรื่องนี้ คือการไม่ยอมทอดทิ้ง Chuck Yeager (รับบทโดย Sam Shepard) วีรบุรุษในช่วงครึ่งชั่วโมงแรก แต่แค่เพียงไม่กี่เดือนปีหลังจากนั้น ค่อยๆถูกหลงลืมเลือนทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง ทุกๆก้าวย่างใหม่ของโลกจะหวนกลับไปให้พบเห็นปฏิกิริยาสีหน้าอารมณ์ จนเกิดความเข้าใจตัวตนแท้จริงของปีศาจ สิ่งที่คอยกั้นขวางทางมันคือข้อจำกัดภายในจิตใจเราเอง!

ต้นฉบับของ The Right Stuff คือหนังสือบันทึกเรื่องราวกึ่งๆสารคดี รวบรวมโดย Tom Wolfe (1930 – 2018) นักหนังสือพิมพ์ Journalist สังกัด Rolling Stone ที่หลังจากได้รับมอบหมายทำข่าว Apollo 17 เกิดความลุ่มหลงใหลในจุดเริ่มต้นของนักบินอวกาศ ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโครงการ Mercury Seven สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง นักบิน ภรรยา ฯ รวบรวมเสร็จสิ้นตีพิมพ์ 1979 กลายเป็น Best-Selling โดยทันที

ความสำเร็จล้นหลามของหนังสือเล่มนี้ ได้รับการติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยสองโปรดิวเซอร์ Robert Chartoff และ Irwin Winkler ทำการมอบหมาย William Goldman (Butch Cassidy and the Sundance Kid, All the President’s Men) พัฒนาดัดแปลงบท ติดต่อของบประมาณได้จาก United Artists สูงถึง $20 ล้านเหรียญ มองหาผู้กำกับอย่าง Michael Ritchie, John Avildsen, ก่อนลงเอยที่ Philip Kaufman แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธบทของ Goldman เพราะสอดไส้ประเด็นรักชาติ ‘Patriotism’ มากจนเกินงาม

ความขัดแย้งเห็นต่างทำให้ Goldman ถอดตัวออกไป และช่วงขณะเดียวกันกับความล้มเหลวย่อยยับเยินของ Heaven’s Gate (1980) ส่งผลกระทบต่อภาพยนตร์ทุนสูงทุกเรื่องในทศวรรษนั้น United Artists เลยต้องลอยแพหนังเรื่องนี้ แต่โชคยังดีได้สตูดิโอใหม่ The Ladd Company เข้ามาโอบอุ้มด้วยทุนสร้างน้อยกว่าเดิมเล็กหน่อย

Philip Kaufman (เกิดปี 1936) ผู้กำกับ/เขียนบท สร้างภาพยนตร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Chicago, Illinois ในครอบครัวเชื้อสาย Jews อพยพจาก German สมัยเรียนสนิทสนม William Friedkin ชื่นชอบไปดูหนังฉายควบด้วยกัน โตขึ้นเข้าเรียนสาขาประวัติศาสตร์ University of Chicago ทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่สักพัก ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนมาเป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องแรก Goldstein (1964) เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Cannes คว้ารางวัล Prix de la Nouvelle Critique (New Critics Prize), ผลงานเด่นๆถัดมา อาทิ Invasion of the Body Snatchers (1978), The Right Stuff (1983), The Unbearable Lightness of Being (1988) ฯ

เมื่อไม่สามารถหานักเขียนรับงาน Kaufman เลยตัดสินใจดัดแปลงบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง นำเอาส่วนของ Chuck Yeager ที่ถูก Goldman ตัดทิ้งไป กลับเข้ามาใส่เติมเต็มเรื่องราว

“If you’re serious about tracing where the future – read: space travel – began, its roots lay with Yeager and the whole test pilot-subculture. Ultimately, astronautics descended from that point”.

“I didn’t want to make a film entirely about astronauts. I thought Yeager was the one who truly had ‘the right stuff’.”

– Philip Kaufman

เริ่มต้นตุลาคม 1947 ที่ Muroc Army Air Field, California ครั้งแรกของการทดสอบเครื่องบิน Bell X-1 ด้วยความเร็วเหนือเสียง Captain Chuck Yeager (รับบทโดย Sam Shepherd) อาสาโดยไม่รับค่าเหนื่อยมากไปกว่าเงินเดือนปกติ ทำสถิติเป็นคนแรกที่บิน Supersonic (หรือ Mach 1, 343 m/s)

6 ผ่านไป Muroc Army Air Field เปลี่ยนชื่อเป็น Edwards Air Force Base สถานที่ทดสอบการบินเลื่องชื่อเสียงโด่งดังสุดในอเมริกา ดึงดูดนักบินเก่งๆให้เดินทางมาเสี่ยงชีวิต ท้าพิสูจน์ ‘The Right Stuff’ ว่าตนเป็นผู้กล้า คนจริง!

4 ตุลาคม 1957, สหภาพโซเวียต ได้ส่งดาวเทียม Sputnik 1 ขึ้นสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จ สร้างความแตกตื่นให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา นำโดยรองประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson สั่งการให้ระดมพล ก่อตั้งองค์กร NASA เพื่อต่อสู้แข่งขัน ‘Space Race’ กับรัสเซีย สร้างโครงการชื่อ Mercury Seven รวบรวมเจ็ดยอดฝีมือ ผู้ผ่านการทดสอบอันเหี้ยมโหดร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อกลายเป็นหนูทดลองนักบินอวกาศ ชุดแรกของประเทศ

ผมคงไม่เขียนครบทุกคน แต่จะขอยกเฉพาะตัวละครเด่นๆ อาทิ
– John Glenn นักบินอวกาศคนแรกที่สามารถโคจรรอบโลกได้สำเร็จ แม้จะไม่ครบตามโปรแกรมที่วางไว้ ถือว่ายังโชคดีสามารถหวนกลับสู่ผืนผิวโลกอย่างปลอดภัย ในทีม Mercury Seven เหมือนว่า Glenn จะมีสถานะผู้นำกลุ่ม คงเพราะเคยออกรายการโทรทัศน์ จึงมีวาทะ ฝีปาก สร้างภาพเก่ง (ตรงกันข้ามกับภรรยา พูดติดๆอ่างๆ ขาดความกล้าถ้าไม่ได้มีเขาอยู่เคียงข้าง) ซึ่งตัวจริงหลังออกจาก NASA สมัครและเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภารัฐ Ohio, รับบทโดย Ed Harris ที่ขอทดสอบหน้ากล้องสองครั้งเพื่อยืนยันว่าตนเองเหมาะสม และนี่เป็นบทบาทแจ้งเกิดแรกของเขาเลย
– Alan Shepard นักบินอวกาศคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่ได้ออกเดินทางสู่อวกาศ (และยังได้ไปเหยียบ/ตีกอล์ฟบนดวงจันทร์กับ Apollo 14) เป็นคนพูดไม่เยอะ แต่ศักยภาพทางร่างกายเข้มแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม และสิ่งที่เขาทำจริงๆระหว่างรอคอยขึ้นบิน คือปัสสาวะลงในชุดอวกาศ, รับบทโดย Scott Glenn ด้วยรูปร่างอันกำยำบึกบึน กล้ามโต เลยมักได้รับบททหารหาญ เก่งกาจด้านสู้รบทำสงคราม อาทิ Nashville (1975), Apocalypse Now (1979), The Hunt for Red October (1990) ฯ
– Gus Grissom นักบินอวกาศคนที่สอง แม้ไม่มีใครล่วงรู้ว่าเขาเป็นต้นเหตุผิดพลาดให้กระสวยอวกาศจมลงสู่มหาสมุทรหรือเปล่า แต่ก็ได้รับความเชื่อมือไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพบโศกนาฎกรรมจากเหตุการณ์ระเบิด Apollo 1, รับบทโดย Fred Ward นักแสดงสัญชาติอเมริกันที่ไปแจ้งเกิดยังอิตาลี กลับมาประกบ Clint Eastwood เรื่อง Escape from Alcatraz (1979), ทั้งๆภาพลักษณ์ดูเป็นคนพึ่งพาได้มากสุด กลับประสบพบแต่ความโชคร้ายนับครั้งไม่ถ้วนจริงๆ
– Gordon Cooper ถือเป็นนักบินอวกาศคนสุดท้ายของ Mercury Seven ที่ได้บินเดี่ยวในโปรแกรมนี้ รอยยิ้มกว้างทำให้ดูพึ่งพาไม่ได้เท่าไหร่ และพี่แกผลอยหลับจริงๆก่อนจะได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ, รับบทโดย Dennis Quaid เมื่อตอนวัยละอ่อน รอยยิ้มของพี่แกช่างโลกสวยมากๆ หลงตัวเอง เอาเข้าจริงก็พึ่งพาไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่โชคชะตาถือว่าเข้าข้างแบบสุดๆเลย

ทิ้งท้ายกับ Samuel Shepard Rogers III (1943 – 2017) นักแสดง/นักเขียน/ผู้กำกับ ภาพยนตร์/ละครเวที สัญชาติอเมริกัน นิตยสาร New York Magazine ยกย่องว่าคือ ‘the greatest American playwright of his generation.’, เกิดที่ Fort Sheridan, Illinois ในครอบครัวครูและชาวนา โตขึ้นเรียนจบทำงานเลี้ยงสัตว์อยู่แถวๆ Mt. San Antonio College ทำให้ได้รู้จัก Samuel Beckett ดนตรี Jazz และ Abstract Expressionism ตัดสินใจตามทัวร์ออกท่องอเมริกาสู่ New York ได้รับโอกาสกลายเป็นนักเขียนบทละคร Off-Off-Broadway, สำหรับบทบาทในวงการภาพยนตร์ ได้รับคัดเลือกแจ้งเกิดกับ Days of Heaven (1978) ตามมาด้วยผลงานเด่นๆอย่าง Resurrection (1980), The Right Stuff (1983), August: Osage County (2013), Mud (2013) ฯ

รับบท Chuck Yeager ชื่อจริง Charles Elwood Yeager ทหารอากาศ นักทดสอบการบิน บุคคลแรกที่ควบคุมเครื่อง Bell X-1 ด้วยความเร็ว Mach 1.07 ที่ความสูง 45,000 ฟุต (13,700 เมตร) วันที่ 14 ตุลาคม 1947

เกร็ด: Yeager ได้รับติดต่อให้มาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำด้านเทคนิค แถมยังนำพา Sam Shepard ที่กลัวความสูง ขึ้นบินด้วยตนเอง

เมื่อตอนที่ NASA ส่งคนเพื่อติดตามหาอาสาสมัครเป็นหนูทดลองในโครงการสำรวจอวกาศ Yeager เป็นคนแรกๆที่แสดงทัศนคติต่อต้านไม่เห็นด้วย

“Anybody that goes up in the damn thing is gonna be Spam in a can”.

ระหว่างที่เขาพบเห็นความสำเร็จของคนอื่นๆ เริ่มแสดงความอิจฉาออกมาเล็กๆ

“I’ll tell you something, it takes a special kind of man to volunteer for a suicide mission, especially one that’s on TV”.

และเมื่อมาเริ่มระลึกรู้ตัวได้ภายหลัง ทุกสิ่งอย่างก็สายเกินไปแล้ว ชื่อของ Chuck Yeager กลายเป็นอดีตที่แทบไม่มีใครจดจำได้ เขาจึงต้องการทำบางสิ่งอย่างเพื่อพิสูจน์ตนเอง ลักลอบขับยาน Lockheed NF-104A ตั้งใจจะไปให้สูงเหนือกว่าชั้นบรรยากาศโลก แต่ก็ประสบความล้มเหลวตกลงมา ยังโชคดีสามารถเอาตัวรอดตายกลับมาได้

ขอบฟ้าแค่เอื้อมกลายเป็นสิ่งที่เขามิสามารถก้าวข้ามผ่าน แต่ไม่ใช่ปีศาจตนไหนที่กีดกั้นขวาง มันคือโลกทัศนคติของตัวเขาเอง ถ้าตอนนั้นไม่แสดงความโง่ขลาดเขลาออกมา ป่านนี้คงอาจไปไกลถึงดวงจันทร์แล้วก็ได้!

การแสดงของ Sam Shepard แม้ไม่ได้มีบทอะไรมากมาย แต่สีหน้าสายตาอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมา ช่างทรงพลังขนหัวลุกพอง เกือบๆจะยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตแล้วละ! เริ่มต้นจากความใฝ่ฝันทะเยอทะยาน แปรสภาพเป็นหยิ่งยโสโอหัง ต่อมาค่อยเริ่มรู้สึกตัว สุดท้ายเต็มไปความเจ็บปวดรวดร้าวทุกข์ทรมาน แสนสาหัสทั้งกายใจ

ถ่ายภาพโดย Caleb Deschanel (พ่อของนักแสดงดัง Emily/Zooey Deschanel) เข้าชิง Oscar: Best Cinematography ทั้งหมด 5 ครั้ง The Right Stuff (1983), The Natural (1984), Fly Away Home (1996), The Patriot (2000), The Passion of the Christ (2004),

เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำยังสถานที่จริง ทีมงานจึงตะเวนหาสถานที่ใกล้เคียงแถวๆ San Francisco, ฐานทัพการบินที่ถูกทิ้งร้าง Hamilton Air Force Base, ทะเลทราย Mojave Desert,

ขณะที่ฉากการบิน/ปล่อยจรวด ล้วนเกิดจากการจำลองสร้างโมเดลขึ้นมาในสตูดิโอ ใส่ Special Effect หมอกควัน, ก้อนเมฆ, ประกายไฟ ฯ ทุกอย่างดูช่างมีความสมจริงอย่างยิ่งยวด

งานภาพของหนังมีความหลากหลายพอสมควร
– หลายครั้งเป็นภาพขาว-ดำ หรือด้วยฟีล์ม 16mm และปนด้วย Archive Footage เช่น John F. Kennedy, ความล้มเหลวของการส่งยานอวกาศ ฯ
– งานศพถ่ายย้อนแสงยามเย็น (เห็นเพียงสีส้ม-ดำ)
– ห้องประชุมมีการจัดแสง-เงา ควันบุหรี่ มีความนัวร์ ลึกลับ ด้านมืดของสหรัฐอเมริกา
– ฉากในบาร์สาดแสงสี ฟุ้งด้วยควัน ราวกับอยู่ในความเพ้อฝัน
– ที่ผมชื่นชอบสุดก็หมวกของนักบินอวกาศ เวลาอยู่ใน Cockpit มักสะท้อนแสงสีจากปุ่มแป้นกด และดวงอาทิตย์จากภายนอกสาดส่องเข้ามา

กับคนที่ช่างสังเกตจะพบว่า
– ช่วงแรกๆ ภาพขณะการบิน Bell X-1 จะมีความโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียน ถ่ายทำในระยะค่อนข้างประชิดใกล้ แวบเดียวเท่านั้นที่เครื่องบินเคลื่อนตัดหน้าผ่านไปอย่างรวดเร็ว
– แต่เมื่อเริ่มไปออกสู่อวกาศ พบเห็นเครื่องบิน/จรวดเคลื่อนออกไปอย่างเชื่องช้า ระยะภาพจะค่อนข้างห่างไกล ประมาณว่าเกินอาจเอื้อที่บุคคลธรรมดาทั่วไปจะสามารถไขว่คว้าถึงแล้วกระมัง

Kaufman มอบหมายหน้าที่ตัดต่อถึง 5 คน Glenn Farr, Lisa Fruchtman, Stephen A. Rotter, Douglas Stewart และ Tom Rolf ร้อยเรียงฟุตเทจจำนวนมากมายมหาศาล ได้ความยาว 192 นาที

โดยปกติแล้ว ผู้ชมมักมองหาพระเอกในภาพยนตร์ก่อน ซึ่งพอพบเห็น Chuck Yeager ก็ย่อมครุ่นคิดไปว่าหมอนี่อย่างแน่นอน แต่เรื่องราวของเขากับการบิน Mach 1 เป็นเพียงอารัมภบทเท่านั้น พระเอกตัวจริงคือสมาชิก Mercury Seven ทั้งหมด 7 คน ซึ่งจะทะยอยแนะนำตัว เข้าสู่กระบวนการทดสอบ ได้รับเลือก และปฏิบัติภารกิจไล่เรียงกันมา (ตามความสำคัญ) ซึ่งระหว่างนั้นก็จะมีตัดกลับไปหา Yeager บางครั้งคราว เพื่อพบเห็นปฏิกิริยาสีหน้า อารมณ์ของตัวละครที่พบเห็นเพื่อนฝูงได้ดี แต่ตนเองกลับจมปลักอยู่กับที่
– องก์แรก อารัมภบท, Chuck Yeager ขี่ม้าแข่งกับภรรยา, บิน Mach 1 สำเร็จเป็นคนแรก
– องก์สอง แนะนำสมาชิกของ Mercury Seven, ผ่านกระบวนการคัดเลือกสรร, ระหว่างรอวันปฏิบัติภารกิจ
– องก์สาม บินสู่ห้วงอวกาศ ครั้งแรกโดย Alan Shepard ตามด้วย Gus Grissom และ John Glenn
– องก์สี่ ปัจฉิมบท, ตัดกลับไป Chuck Yeager พยายามโบยบินไปให้พ้นขอบฟ้าแต่มิอาจทำสำเร็จ, Gordon Cooper นักบินอวกาศคนสุดท้ายของ Mercury Seven ทะยานพ้นขอบฟ้า (นี่เรียกว่า ‘หัวเราะทีหลังดังกว่า’ ตามเสียงบรรยายก็ยังได้)

เพลงประกอบโดย Bill Conti หรือ William Conti นักแต่งเพลงสัญชาติอเมริกัน ผลงานเด่น อาทิ Rocky (1976), An Unmarried Woman (1978), For Your Eyes Only (1981), The Right Stuff (1983), Bad Boys (1983), Broadcast News (1987) ฯ

สไตล์ของ Conti เน้นบทเพลงบรรเลงแนว March ปลุกขวัญ สร้างกำลังใจ ให้เกิดความฮึกเหิม ภาคภูมิ และมีกลิ่นอายรักชาติ ‘Patriotism’ แฝงอยู่พอสมควร รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจาก Gustav Holst: The Planets และ Tchaikovsky: Violin Concerto in D major, Op. 35

สำหรับบทเพลง Mach I เมื่อแปลงเป็นเสียงสังเคราะห์ ฟังดูเป็นสัมผัสแห่งโลกอนาคต ความสำเร็จที่ขณะนั้นไม่เคยมีใครกระทำได้ชัยมาก่อน มันช่างระยิบระยับงดงามตระการตาเสียเหลือเกิน … แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ อีกไม่กี่เดือนปีก็ตกยุคล้าหลังอย่างเร็ววันเสียเหลือเกิน

Yeager’s Triumph สิ่งที่ Yeager กระทำสำเร็จ ไม่ใช่การต่อสู้เอาชนะปีศาจที่กั้นขวางตัวเขากับขอบฟ้าห้วงอวกาศ แต่คือการพิสูจน์ตัวเอง ยังคงเป็น ‘The Right Stuff’ ผู้เอาตัวรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นอกจาก Original Soundtrack ยังมีบทเพลงคุ้นๆหู ดังจากวิทยุ เครื่องเล่นเพลง ประกอบคลอพื้นหลัง อาทิ
– Faraway Places ขับร้องโดย Margaret Whiting
– Tennessee Waltz ขับร้องโดย Patti Page
– Wheel Of Fortune Wake Up Little Susie ขับร้องโดย The Everly Brothers
– I Got A Rocket In My Pocket ขับร้องโดย Jimmy Lloyd
– Wheel Of Fortune ขับร้องโดย Kay Starr
– The Wayward Wind ขับร้องโดย Gogi Grant
– Good Golly Miss Molly ขับร้องโดย Little Richard
ฯลฯ

สหรัฐอเมริกา ประเทศแห่งความฝัน (American Dream) ดินแดนอุดมคติของบุคคลผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จ สามารถใช้ศักยภาพตนเองไขว่คว้าแสวงหา ซึ่งถ้ามันโดดเด่นดีมากพอ เริ่มต้นขึ้นก่อน ‘อันดับหนึ่ง’ ก็จักได้รับการยกย่อง สรรเสริญ เชิดชูเกียรติประวัติ ให้เป็นที่ภาคภูมิพึงพอใจต่อตนเองและมวลชน

การเป็นได้เพียง ‘อันดับสอง’ ย่อมสร้างความไม่ประสงค์พอใจ ประหนึ่งพ่ายแพ้หมดรูปโดยสิ้นเชิง จักถูกหลงลืม มองข้าม เฉดส่ง ไม่สนหัว ราวกับหมาหัวเน่าไร้ตัวตนในประวัติศาสตร์

แต่อเมริกาก็ชื่นชอบเรื่องราว ‘โอกาสสอง’ เพราะการแข่งขันมักไม่เคยถึงสิ้นสุด ความทะเยอทะยานเพ้อฝันของมนุษย์ก็เช่นกัน! แม้ครั้งแรกจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เมื่อได้รับโอกาสแก้ตัว จะสร้างความผิดหวังให้เกิดขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด แทบทุกคนในชาติจักพร้อมกันเป็นขวัญกำลังใจ เพื่อความยิ่งใหญ่มหาอำนาจเจ้าโลก ครอบครองเป็นเจ้าของมงกุฎหนึ่งอันเดียว ต้องสวมใส่โดยคนในประเทศชาติเราเท่านั้น

The Right Stuff ในมุมมหภาคคือเรื่องราวการพิสูจน์ตัวเองของสหรัฐอเมริกา พวกเขาเป็นฝ่ายตามหลังสหภาพโซเวียตโดยไม่ทันรู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน แต่ใช่ว่าจะนิ่งนอน ชะล่า ยินยอมแพ้แต่โดยง่าย ทุ่มเทกำลังทุกสรรพในการแข่งขันมุ่งหน้าสู่ห้วงอวกาศ เพื่อจักสามารถพิสูจน์ให้ทุกประเทศรับรู้ว่า ข้านี่แหละของจริง มหาอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้

จริงอยู่ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มักถูกมองว่าคือ ‘โปร อเมริกา’ ออกแนวชวนเชื่อ รักชาติ ‘Patriotism’ แต่เราก็สามารถตีความในมุมของมนุษยชาติ ต่อการต่อสู้/แข่งขัน/ก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดทางร่างกาย จิตใจ ความเชื่อ รวมถึงโลกทัศนคติที่ถูกฉุดเหนี่ยวรั้วไว้ภายใต้สนามแรงโน้มถ่วง เพราะเมื่อใดใครก็ตามสามารถก้าวข้ามผ่านขอบเขตขีดจำกัด หลุดออกนอกสู่ความเวิ้งว้างว่างเปล่า หันกลับมาก็จักพบเห็นบางสิ่งอย่างอันทรงคุณค่า อนาคตเปิดกว้างออกสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จักสิ้นสุด

และเมื่อถึงจุดๆนั้นๆ สิ่งสำคัญสุดที่หนังคงอยากฝากเอาไว้ โปรดอย่าหลงลืมนักบุกเบิก บุคคลรุ่นแรกๆผู้มีความอาจหาญกล้า เสี่ยงอันตราย ท้าความตาย พวกเขาคือคนบ้าเสียสติแตกในยุคสมัยนั้น กระทำสิ่งไร้สาระ ดูเหมือนมิได้มีความคุ้มค่า คุณประโยชน์อะไรเลย แต่เมื่อมันสำเร็จเสร็จ และได้เปิดประตูสู่โลกใหม่ คำเรียก ‘วีรบุรุษ’ มันช่างยิ่งใหญ่ล้นฟ้า ตราบจนกว่าที่มนุษย์ยังมีความสามารถในการเรียนรู้จดจำ

ด้วยทุนสร้างสูงถึง $17 ล้านเหรียญ แม้เสียงตอบรับจะดีล้นหลาม แต่ทำเงินได้เพียง $21.1 ล้านเหรียญ ขาดทุนย่อยยับเยิน แม้ไม่เลวร้ายเท่า Heaven’s Gate (1980) แต่ก็ทำให้สตูดิโอ The Ladd Company ล้มละลายลงทันที

เข้าชิง Oscar ถึง 8 สาขา คว้ามา 4 รางวัล
– Best Picture
– Best Supporting Actor (Sam Shepard)
– Best Cinematography
– Best Film Editing ** คว้ารางวัล
– Best Art Direction – Set Decoration
– Best Sound ** คว้ารางวัล
– Best Effects, Sound Effects Editing ** คว้ารางวัล
– Best Music, Original Score ** คว้ารางวัล

หนังถูก SNUB สองสาขา คือ Best Director และ Best Adapted Screenplay และถ้าไม่ขาดทุนย่อยยับเยิน ผมว่ามีโอกาสสูงมากที่จะคว้า Oscar: Best Picture ตัดหน้า Terms of Endearment (1983)

เกร็ด: สมัยนั้น Oscar ยังไม่มีสาขา Best Special Effect หรือ Best Visual Effect แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ตัวเต็งอยู่ดี เพราะปีนั้นมี Star Wars: Episode VI – Return of the Jedi (1983) คว้ารางวัล Special Achievement Award

ผมละอยากให้หนังมีภาคต่อมากๆ นำเสนอโครงการ Gemini และ Apollo จนปิดฉากการแข่งขันสู่ห้วงอวกาศ แล้วทุกครั้งตัดกลับมาเห็นสีหน้าปฏิกิริยาของ Sam Shepard มันคง… แต่ก็ได้เพียงแค่เพ้อฝัน (จริงๆถ้าหนังประสบความสำเร็จ ก็อาจมีแนวโน้มเป็นไปได้อยู่นะ)

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นตำหนิข้อด้อย คือการแทรกใส่ Comedy ให้กับบุคคลไม่น่าขบขำอย่าง ปธน. Dwight D. Eisenhower หรือรอง ปธน. Lyndon B. Johnson แต่ผมว่ามันแสดงออกถึงความเป็น ‘อเมริกัน’ ชัดเจนดีออกนะ กล้าที่จะ ‘Satire’ เสียดสีล้อเลียนตัวเอง คงคือลายเซ็นต์ผู้กำกับด้วยกระมัง ไม่ให้หนังเครียดจริงจังมากเกินไป

“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ได้รับความรู้เชิงประวัติศาสตร์ การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาก็เรื่องหนึ่ง, แต่สิ่งป็นสาระน่าสนใจมากๆ คืออีกด้านหนึ่งของเหล่าวีรบุรุษ สะท้อนออกมาผ่านคำพูดของภรรยานักบิน Glennis Yeager

“The government can spend all kinds of money teaching you how to be a fearless test pilot, but they don’t spend a god-damned thing teaching you how to be the fearless wife of a fearless test pilot”.

ใครอยากเป็นนักบินอวกาศ ชื่นชอบท้องฟ้าดาราศาสตร์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์, คอหนัง Epic Drama, แฟนๆผู้กำกับ Philip Kaufman, นักแสดง Ed Harris, Scott Glenn, Sam Shepard ไม่ควรพลาด

จัดเรต 13+ กับความเครียด กดดัน ลุ้นระทึก เสี่ยงอันตราย

TAGLINE | “The Right Stuff ของผู้กำกับ Philip Kaufman คือความลงตัวในทุกๆด้านของการเริ่มต้นสำรวจอวกาศ แต่ออกฉายผิดที่ผิดเวลาไปเสียหน่อย”
QUALITY | RARE
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: