The River

The River (1951) French : Jean Renoir ♥♥♥♥

(15/8/2019) คงคา คือสายน้ำแห่งชีวิต และเป็นจิตวิญญาณของชาวอินเดีย ได้รับการค้นพบโดย Jean Renoir ทำการวาดภาพระบายสีด้วย Technicolor งดงามวิจิตรราวกับภาพวาด Impressionism

ประเทศอินเดีย ในสายตาชาวตะวันตกช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 คือดินแดนแห่งความลึกลับ พิศวง เต็มไปด้วยการผจญภัย ซึ่งรับอิทธิพลจากวรรณกรรมของ Rudyard Kipling (1865 – 1936) อาทิ The Man Who Would Be King (1888), Gunga Din (1890), The Jungle Book (1894) ฯ

ภาพยนตร์เรื่องแรกๆที่เกี่ยวกับอินเดีย อาทิ The Lives of a Bengal Lancer (1935), Elephant Boy (1937), The Drum (1938), Gunga Din (1939) มักมีลักษณะสะท้อนถึง ‘อาณานิคม’ แห่งสหราชอาณาจักร (British Raj) หรือไม่ก็เรื่องราวการผจญภัย เพ้อฝันแฟนตาซีในมุมมองชาวตะวันตก ไม่ได้ใคร่สนใจนำเสนอวิถีชีวิต วัฒธรรม ความเป็นมาชนท้องถิ่นสักเท่าไหร่

The River (1951) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไม่ใช่แค่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1945 แต่ยังหลังการประกาศอิสรภาพของอินเดีย หลุดพ้นจากอาณานิคมแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1947 นั่นเองถึงค่อยทำให้ชาวตะวันตกเริ่มมองประเทศนี้ในมุมที่ต่างออกไป

จะเรียกว่าเทรนด์คงไม่ใช่ แต่หลังจาก The River (1951) มีปรมาจารย์ผู้กำกับหลากหลายคนทีเดียว มุ่งหน้าสู่อินเดียเพื่อสร้างภาพยนตร์ สารคดี โดยได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องนี้
– สารคดี India: Matri Bhumi (1959) กำกับโดย Roberto Rossellini
– สารคดี Phantom India (1969) และ Calcutta (1969) กำกับโดย Louis Malle
– Gandhi (1982) กำกับโดย Richard Attenborough
– A Passage to India (1984) ผลงานสุดท้ายของ David Lean
– The Darjeeling Limited (2007) กำกับโดย Wes Anderson
ฯลฯ

“The River and The Red Shoes are the two most beautiful color films ever made”.

– Martin Scorsese

ขณะที่ The Red Shoes (1948) ถ่ายทำทั้งหมดในสตูดิโอ, The River (1951) ออกเดินทางไปยังประเทศอินเดีย ถ่ายทำจากสถานที่จริง (เกือบทั้งหมด) ผลลัพท์จับต้องได้จึงมีสัมผัสที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง ซึ่งโดยส่วนตัวก็บอกไม่ได้ว่าเรื่องไหนงดงามกว่า แต่ก็เกือบๆเห็นด้วยกับ Martin Scorsese แล้วละว่า ทั้งสองเรื่องนี้มีการใช้ประโยชน์จากกระบวนการสี Technicolor ได้สวยสดตระการตาจริงๆ

มันอาจโดยไม่รู้ตัว เพราะผู้กำกับ Jean Renoir และหลานชาย Claude Renoir (ที่เป็นตากล้อง) ต่างรับเอาอิทธิพลจากปู่ Pierre-Auguste Renoir (1841 – 1919) จิตรกรเอกสัญชาติฝรั่งเศส ผู้นำยุคสมัยงานศิลปะ Impressionist พวกเขาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการแต่งแต้มเติมสีสันให้ออกมาสวยสดเหนือธรรมชาติเล็กๆ และเนื้อเรื่องราวเกี่ยวกับความทรงจำสุดแสนประทับใจของเด็กหญิงสาว ต่อช่วงเวลารักแรกเมื่อแย้มบาน

จะว่าไปผู้กำกับ Renoir ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานสร้างไม่เสร็จ Partie de campagne (1936) [แต่ก็ได้กลายเป็นหนังสั้น] ตลบอบอวลด้วยกลิ่นอาย Impressionist ใครสนใจก็ลองติดตามหามารับชมดูนะครับ


The River (1946) คือนวนิยายกึ่ง-อัตชีวประวัติของ Rumer Godden นักเขียนสัญชาติอังกฤษ ระหว่างที่เธอใช้ชีวิตอยู่ยัง British Raj ช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (หนังปรับเปลี่ยนช่วงเวลามาเป็น หลังสงครามโลกครั้งที่สองแทน)

Margaret Rumer Godden (1907 – 1998) แม้จะเกิดที่ Eastbourne, Sussex แต่ไปเติบโตยัง Narayanganj, British Raj (ปัจจุบันคือประเทศ Bangladesh), บิดาทำงานบริษัท Brahmaputra Steam Navigation Company ซึ่งหลังจากเธอเรียนจบ(ที่อังกฤษ) มาเปิดโรงเรียนสอนการเต้นที่ Calcutta ระหว่างนั้นเริ่มเขียนนวนิยาย บทกวี และหนังสือเด็ก ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ Black Narcissus (1939), An Episode of Sparrows (1956), The Greengage Summer (1958), In This House of Brede (1969) ฯ

เกร็ด: ขณะที่ The River นำเสนอเรื่องราวในช่วงเวลารักแรกเมื่อแย้มบานสู่วัยสาว, Black Narcissus สะท้อนวิกฤตความต้องการทางเพศของตนเองช่วงวัยผู้ใหญ่

Kenneth McEldowney โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เดิมทีเป็นนายหน้าค้าที่ดิน และเปิดกิจการร้านขายดอกไม้ วันหนึ่งเกิดความเบื่อหน่ายในคำบ่นของภรรยา นักประชาสัมพันธ์สังกัดสตูดิโอ MGM พูดท้าทายให้สร้างภาพยนตร์เรื่องที่ดีกว่า เลยตัดสินใจขายทิ้งทุกสิ่งอย่าง นำเงินมาลงทุนสร้าง The River ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จล้นหลาม (ประชดภรรยาสำเร็จ) หวนกลับมาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ข้องแว้งเกี่ยวกับภาพยนตร์อีกตลอดชีวิต!

McEldowney มีความชื่นชอบนวนิยาย The River เป็นการส่วนตัว หลังจากได้ลิขสิทธิ์จาก Rumer Godden มอบหมายให้ Jean Renoir ที่ขณะนั้นเพียงพอแล้วกับ Hollywood แม้ไม่เคยรับรู้จักอินเดียมาก่อน แต่ก็แสดงความสนใจอยากเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ตนเอง

Jean Renoir (1894 – 1979) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montmartre, Paris ลูกชายคนรองของจิตรกรชื่อดัง Pierre-Auguste Renoir เติบโตขึ้นโดยการเลี้ยงดูของแม่เลี้ยง Gabrielle Renard ตั้งแต่เด็กพาเขาไปรับชมภาพยนตร์จนเกิดความชื่นชอบหลงใหล ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารม้า (French Cavalry) ถูกยิงที่ขาทำให้พิการ เลยเปลี่ยนมาเป็นนักขับเครื่องบินลาดตระเวน ระหว่างพักรักษาตัวเลยมีโอกาสนั่งดูหนังซ้ำแล้วซ้ำอีกของ Charlie Chaplin, D. W. Griffith, Erich von Stroheim นำเงินจากการขายภาพวาดของพ่อมาซื้อกล้อง ถ่ายทำหนังเงียบจนมีโอกาสได้นำออกฉาย เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก La chienne (1931), Boudu Saved From Drowning (1932), Le Crime de Monsieur Lange (1935), โด่งดับระดับนานาชาติครั้งแรกกับ La Grande Illusion (1937), และกลายเป็นตำนานเรื่อง La Règle du Jeu (1939)

ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเยอรมันบุกรุกรานฝรั่งเศส ผู้กำกับ Renoir ตัดสินใจมุ่งสู่สหรัฐอเมริกา สร้างภาพยนตร์ยัง Hollywood อยู่หลายเรื่อง อาทิ Swamp Water (1941), This Land Is Mine (1943), The Southerner (1945) ** เข้าชิง Oscar: Best Director, Diary of a Chambermaid (1946) ฯ แต่ภาพรวมกลับไม่ค่อยประสบความสำเร็จทำเงินสักเท่าไหร่ ซึ่งหลังจาก The Woman on the Beach (1947) ขาดทุนย่อยยับเยิน (และสงครามสิ้นสุดลงแล้วพอดี) เลยตัดสินใจจะหวนกลับยุโรป แต่ก่อนหน้านั้นแวะเวียนไปท่องเที่ยวอินเดียก่อน

Renoir ดัดแปลงบทภาพยนตร์โดยค่อนข้างเคารพต้นฉบับ แต่ก็ได้เพิ่มเติมตัวละคร Melanie ลูกครึ่งอินเดีย (พ่อเป็นชาวอังกฤษผิวขาว) เพื่อสร้างอีกมุมมองสะท้อนวิกฤตการค้นหาตัวตนเอง ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้แต่ง Rumer Godden ชื่นชมหนังอย่างออกนอกหน้า และตำหนิด่ากราดฉบับดัดแปลง Black Narcissus (1947) หาความสมจริงมิได้


Harriet (รับบทโดย Patricia Walters) อาศัยอยู่กับครอบครัว ณ ริมแม่น้ำคงคา, British Raj บิดาทำธุรกิจโรงงานปอ (Jute Mill) มีน้อง 4 คน และเพื่อนสาวรุ่นราวคราวเดียวกันอีกสอง สาวผมแดง Valerie (รับบทโดย Adrienne Corri) และลูกครึ่งอินเดีย Melanie (รับบทโดย Radha Burnier)

การมาถึงของ Captain John (รับบทโดย Thomas E. Breen) ทหารผ่านศึกที่ขาพิการข้างหนึ่ง สร้างความลุ่มหลงใหล ตกหลุมรักแรกพบให้สามสาวแรกรุ่น พยายามอย่างยิ่งจะเกี้ยวพาราสี แก่งแย่งชิงเพื่อครอบครองเป็นเจ้าของ
– Harriet เพราะดูอ่อนวัยสุดในสามสาว แถมหน้าตาก็ไม่สวยเท่าไหร่นัก เลยพยายามใช้ความเฉลียวฉลาด แต่งบทกวี เรื่องสั้น หวังใช้มัดเกี่ยวหัวใจเขา
– Valerie สาวผมแดง ถือว่าสวยสุดในสามสาว นิสัยแก่นแก้ว แรดร่าน เต็มไปด้วยมารยาหญิง พบเห็นโอกาสก็เร่งรี่ตรงเข้าไปหา ไม่ปล่อยให้เขามีเวลาทันตั้งตัว
– Melanie ครุ่นคิดว่าความเป็นลูกครึ่งคงสวยสู้ Valerie ไม่ได้แน่ เลยตัดสินใจเป็นตัวของตนเอง สวมใส่ส่าหรี จับจ้องมองเงียบๆอยู่ห่างๆ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตัว แต่ทุกครั้งที่ได้พูดคุยสนทนา เธอจักแสดงความเข้าใจตัวตน ธาตุแท้ ความรู้สึกนึกคิดของเขาได้อย่างเฉียบคมคาย

เพราะทุนสร้างที่น้อยนิด ทำให้ต้องคัดเลือกนักแสดงมือสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ได้แพ็กคู่สามี-ภรรยา Esmond Knight กับ Nora Swinburne ร่วมออกเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนยังประเทศอินเดีย

Esmond Knight (1906 – 1987) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ คุ้นหน้าคุ้นตากับผลงาน Henry V (1944), Black Narcissus (1947), Hamlet (1948), The Red Shoes (1948), รับบทพ่อ ตาบอดข้างหนึ่งจากสงคราม (Knight ก็ตาบอดข้างหนึ่งจริงๆจากสงครามเช่นกัน) วันๆหมกมุ่นอยู่กับโรงงานปอ จนมองไม่เห็นปัญหาของลูกๆสักเท่าไหร่

Nora Swinburne (1902 – 2000) นักแสดงสัญชาติอังกฤษ ผลงานเด่นๆ อาทิ Quo Vadis (1951), Helen of Troy (1956) รับบทแม่ ผู้เป็นที่รักของลูกๆ เข้าใจความต้องการของพวกเธอแทบทุกสิ่งอย่าง แต่ส่วนใหญ่จะเห็นนั่งอยู่บนเก้าอี้ ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงลุกเดินไปไหน (กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่หก)

Thomas E. Breen (1924 – 2000) บุตรชายแท้ๆของ Joseph Breen (ผู้นำกองเซอร์ Hays Code แห่งสหรัฐอเมริกา) อาสาสมัครทหารช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับบาดเจ็บต้องตัดขาขวาทิ้งระหว่างการสู้รบที่ Guam จับพลัดจับพลูได้รับเลือกแสดง The River บทบาท Captain John ออกเดินทางมายังดินแดนไกลโพ้นอินเดีย เพื่อหลบลี้หนีความทุกข์ทรมานจากการถูกสงสารเห็นใจ แต่นั่นก็แค่การไม่ยินยอมรับความจริง ลวงหลอกตนเองไปวันๆ และแม้ถูกเกี้ยวพาราสีจากสาวๆทั้งสาม ก็มิได้ใคร่ครอบครองเป็นเจ้าของใคร ใช้ชีวิตให้หมดสิ้นไปวันๆเท่านั้นเอง

เกร็ด: ความตั้งใจแรกสุดของผู้กำกับ Renoir อยากได้ Marlon Brando ให้มารับบท Captain John แต่เหมือนจะเรียกค่าตัวสูงไปหน่อยเลยไม่เพียงพอจ่าย

Patricia Walters (1936-) เกิดที่ Calcutta ได้รับชักชวนมาคัดเลือกนักแสดง แต่คงไม่ได้ชื่นชอบมากนักเลยไม่มีผลงานอื่นติดตามมา รับบท Harriet เป็นเด็กเฉลียวฉลาด มีความเข้าใจตั้งแต่แรกแล้วว่า Captain John ชื่นชอบใครมากสุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพยายามแสวงหาโอกาส สอดรู้สอดเห็น ใช้ศักยภาพสามารถที่มีอยู่ด้านการแต่งกลอน สร้างเรื่องราว เรียกร้องให้เกิดความชื่นชอบประทับใจ

Adrienne Corri (1930 – 2016) นักแสดงสัญชาติ Scottish ก่อนหน้านี้ได้รับบทสมทบเล็กๆ The Romantic Age (1949) ซึ่งความสำเร็จของ The River ทำให้แจ้งเกิดโดยทันที มีผลงานติดตามมามากมาย, รับบท Valerie สาวผมแดงที่พอหมายตา Captain John พยายามอ่อยเหยื่อ ชักจูงจมูก ใช้มารยาหญิงยั่วเย้ายวน เพื่อหวังแก่งแย่งชิง ให้ได้มาครอบครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

Radha Burnier (1923 – 2013) เกิดที่ Adyar แม้จะแจ้งเกิดกับ The River แต่เธอไม่ได้คิดจะเอาดีด้านนี้ ต่อมาเข้าร่วมองค์กร Theosophical Society ไต่เต้าจนได้เป็นประธาน Theosophical Society Adyar และยังเคยทำงานเลขาธิการกระทรวงการสังคมของอินเดียอยู่ระยะเวลาหนึ่ง, บทบาท Melanie ช่างเต็มไปด้วยความลึกลับพิศวง เธอแอบตกหลุมรัก Captain John เฉกเช่นเดียวกับเพื่อนสาวทั้งสอง แต่วัฒนธรรมอินเดียไม่ได้เสี้ยมสอนให้ผู้หญิงแรกร่าน แสดงออกความต้องการ แต่ถึงรักนวลสงวนตัวก็ยังสามารถมัดใจชายได้จากการพูดคุยสนทนาไม่กี่ครั้ง และหนังยังเพิ่มฉากความเพ้อฝัน ให้เธอได้แสดงความสามารถด้านการเต้น ช่างงดงาม อ่อนช้อย เต็มเปี่ยมด้วยพลัง ตราตรึงประทับใจยิ่งนัก!


ถ่ายภาพโดย Claude Renoir (1913 – 1993) ลูกของพี่ชายผู้กำกับ Jean Renoir ร่วมงานกันมาตั้งแต่ Toni (1935), ผลงานเด่นอื่นๆ อาทิ The Mystery of Picasso (1956), The Crucible (1957), Barbarella (1968), The Spy Who Loved Me (1977)

ความที่ผู้กำกับ Renoir ไม่เคยเดินทางไปยังอินเดียมาก่อน ตัดสินใจเลือกสถานที่อ้างอิงจากนวนิยายคือ Calcutta, West Bengal ซึ่งพอมาถึงก็ได้รับการแนะนำให้รู้จัก Satyajit Ray ขณะนั้นทำงานออกแบบโฆษณา (Graphic Designer) และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งชมรม Calcutta Film Society อาสานำพาออกค้นหาสถานที่ถ่ายทำ คอยช่วยเหลือเบื้องหลัง สังเกตการทำงานของมืออาชีพ … สร้างแรงบันดาลใจให้ Ray กลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

The River เป็นผลงานเรื่องแรกของสอง Renoir ถ่ายทำด้วยฟีล์มสี Technicolor ซึ่งก็ได้ทดลองผิดลองถูกกันอยู่นานทีเดียว ทำอย่างไรถึงให้สีสันออกมาเข้มข้นในระดับที่ต้องการ
– อย่างแรกคือ พวกเขาต้องเพิ่มความสว่างเข้าไปในฉากอย่างมาก (คงเป็นข้อจำกัดของกล้องยุคสมัยนั้นกระมัง)
– แต่ถึงอย่างนั้น ผลลัพท์จากล้างฟีล์มออกมายังไม่เป็นที่พึงพอใจ ทดลองกันในห้องแลปอยู่ห้าเดือน มีการลงสี/เพิ่มความเข้ม เพื่อให้ภาพมีความสวยสดเด่นชัดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ผลข้อหลัง ทำให้งานภาพของ The River ราวกับภาพวาด Impressionist ถูกแต่งแต้มให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (และคงไม่มีเรื่องไหนเสมอเหมือน)

Rangoli ศิลปะการวาดภาพตกแต่งที่นิยมในประเทศอินเดีย ด้วยทราย ผงสี หรือน้ำแป้งสาลี ลงบนพื้นขาวหรือพื้นสี มักใช้ตกแต่งหน้าบ้านตามงานเทศกาลต่างๆ หมายถึงการต้อนรับขับสู้อย่างอบอุ่นจากเจ้าบ้าน หรือเจ้าภาพต่อแขกที่มาเยี่ยมเยือน พบเห็นกันมากในเทศกาล Diwali

เกร็ด: Rangoli มาจากศัพท์คำว่า Rang หมายถึง สี, Aavalli หมายถึง แถวของสี, ว่าไปก็คล้ายๆการทำ Mandala ของชาวทิเบต

มันอาจไม่ใช่ความจงใจ แต่ก็ดูเหมือนเป็นความจงใจ เราสามารถแบ่งหนังออกเป็น ภายนอก-ภายในรั้วบ้าน

การถ่ายทำภายนอกบ้าน แทบจะไม่พบเห็นสีสันใดๆ อย่างช็อตนี้ภาพคนงานชาวอินเดียแบกหามกระสอบปอขึ้นจากเรือ ปรากฎเพียง ขาว-น้ำตาล-ดำ ช่างดูจืดชืด แห้งแล้ง ไร้ความสดชื่น ชีวิตชีวา และทั้งหมดถ่ายทำจากระยะ Long Shot

ผิดกับภายในบ้านที่จะเต็มไปด้วยความหลากหลายทางสีสัน ต้นไม้เขียวขจี เสื้อผ้าแดง-เขียว-เหลือง-ฟ้า แลดูมีความสดชื่น ชีวิตชีวา เด็กๆวิ่งเล่นกันไปมา จับจ้องมองออกไปภายนอกด้วยความใคร่ฉงนสงสัย (แต่ไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ออกไป)

ในคัมภีร์รามายณะ กล่าวว่าเมื่อพระรามสู้รบกับเหล่าอสูร (ราวัน) จนมีชัยแล้ว ก็ได้เดินทางกลับพร้อมพระลักษณ์และพระนางสีดาชายาแห่งพระองค์ มาถึงกรุงอโยธยาวันแรม 13 ค่ำของเดือนอัศวินันท์ ตามปฏิทินจันทรคติฮินดูชนที่เรียกว่า ‘กฤษณปักษ์’ ชาวเมืองต้อนรับด้วยการเฉลิมฉลอง จุดประทัดและเทียนสว่างไสวไปทั้งเมือง เกิดเป็นเทศกาล Diwali หรือเทศกาลแห่งแสงสว่าง ซึ่งต่อมายังถือกันว่าคือวันขึ้นปีใหม่ของชาวอินเดียอีกด้วย

Diwali เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดสำหรับผู้นับถือศาสนาฮินดู เชน และซิกข์, กร่อนมาจากสันสกฤต ทีปวาลี (Deepavali หรือ Dipavali) แปลว่า แถวของตะเกียง [Deep หมายถึง ตะเกียง, Vali หมายถึง แถว] ซึ่งมาจากการจุดตะเกียงดินเล็กๆจำนวนมากข้ามคืนยามราตรี เพื่อแสดงถึงความดีที่สามารถเอาชนะความชั่ว ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ในรอบปีเพื่อรอรับพระนางลักษมี พระชายาของพระศิวะ ที่เชื่อกันว่าจะมาเยี่ยมบ้านฮินดูชนในวันนี้ ขณะที่การจุดประทัดก็เพื่อขับไล่ความชั่วร้าย และเป็นช่วงเวลาหาซื้อของขวัญโดยเฉพาะขนมหวานและผลไม้แห้ง มาแลกเปลี่ยนกันระหว่างเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน

เทศกาลนี้จะเฉลิมฉลองด้วยกัน 5 วัน (แต่รัฐทางใต้จะเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น)
– วันแรกจะเริ่มต้นด้วย Dhanteras บูชาพระลักษมี ตามวัฒนธรรมอินเดีย เชื่อว่าบุคคลผู้มั่งคั่งพิจารณาว่าเป็นผลบุญจากการกระทำในอดีตที่เรียกว่า ‘กรรม’
– วันที่สองเรียกว่า Choti Diwali ตามตำนานกล่าวว่า พระกฤษณะทรงสังหารอสูรร้ายที่ชื่อว่า นรกสูร (Narakasura) และเป็นวันที่ทำพิธีบูชาเทวีลักษมีและพระราม มีการบูชาพระแม่กาลี เทพีแห่งความแข็งแกร่ง
– วันที่สาม ถือเป็นวันสุดท้ายแห่งปีตามปฏิทินจันทรคติ ทุกบ้านจะมีการจุดตะเกียงให้สว่างไสว (ตะเกียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้)
– วันที่สี่ เป็นวันแรกของปีใหม่ทางจันทรคติ เรียกว่า Padwa ตามตำนานกล่าวว่าเป็นวันที่พระกฤษณะเอาชนะพระอินทร์ เทพเจ้าแห่งสายฝนและสรวงสวรรค์ได้ในวันนั้น โดยการยกภูเขาโควรรณธนะ (Govardhana) ขึ้นช่วยเหลือผู้คนให้รอดจากน้ำท่วม
– และวันที่ห้า เรียกว่า Bhaiduj (บ้างก็เรียกว่า Yama Dwitiya) เป็นวันที่พี่น้องชายหญิงจะมาเชื่อมความสัมพันธ์ให้แนบแน่นแฟ้น เหมือนกับที่พระนางยมี สวดขอพรให้พระเชษฐา พระยม เทพเจ้าแห่งความตาย โดยพี่สาวหรือน้องสาวจะสวดมนต์ให้น้องชายหรือพี่ชายของตน ส่วนพี่ชายหรือน้องชายก็จะให้ของขวัญเป็นการตอบแทน และทำอาหารรับประทานร่วมกัน

ทุกคนพยายามที่จะชักชวน Captain John ให้ลุกขึ้นมาเต้นรำด้วย … แต่กลับไม่มีใครครุ่นคิดถึงขา/ความพิการของเขาเลย
– Harriet เกือบจะได้แล้ว ถ้าไม่งอนตุ๊บป่องเพราะถูกเรียกว่า ‘Little Kid’
– Melanie ก็เกือบจะได้เต้นเหมือนกัน แต่เพลงจบเสียก่อนเลยตัดสินใจไม่เต้นแล้ว
– Valerie มาจากไหนไม่รู้ไม่สนใจ ดึงลากตัว Captain John บีบบังคับให้ต้องเต้นกับตนเอง

ความน่าสนใจของช็อตนี้ อยู่ดีๆ Captain John เดินหลบออกมาจากห้องโถง ไม่ใช่เพราะเหนื่อยหรืออย่างไร แต่เขาไม่เคยชินกับแสงสว่างและความสุข หวนกลับมาความมืดที่เยือกเย็น หยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ และกำลังจะถูก Valerie เข้ามาฉุดกระชากลากกลับเข้าไปในงาน

สำหรับ Melanie เพราะเธอคือลูกครึ่ง Anglo-Indian แต่ก็ไม่มีจุดยืนระหว่างกลาง เลยตัดสินใจโอบรับความเป็นอินเดีย สวมใส่ชุดประจำชาติสาหรี่ (Saree) นี่แหละการเป็นตัวของตนเองมากที่สุด

เริ่มต้นเพราะฉากนี้เลยทำให้ผมตกหลุมรัก Melanie เธอสามารถเป็นตัวของตนเอง มีความครุ่นคิดอ่านเฉพาะตัว และไม่ถูกความเป็นตะวันตกครอบงำกลืนกิน

“A film about India without elephants and tiger hunts”.

– Jean Renoir

มุมมองชาวตะวันตกต่อประเทศอินเดีย ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่องนี้ มักจักมีช้าง และล่าเสือ ผู้กำกับ Renoir จงใจประชดประชันเล็กๆด้วยการให้พูดเอ่ยถึง ‘ถ้ามีเวลาว่างจะพาไปล่าเสือ’ แต่สุดท้ายหลงเหลือเพียงแค่แขกเป่าปี่เรียกงูเห่า เท่านั้นเอง

ใครๆคงบอกได้ว่า งู คือสัตว์อันตราย พิษสงรอบกาย ไม่ควรสุงสิงชิดใกล้ แต่เด็กชาย Bogey เพราะความไม่รู้ประสี ไร้เดียงสา พบเห็นว่าเป็นสัตว์น่าสนใจ จึงต้องการครอบครองเป็นเจ้าของ สุดท้ายถูกแว้งฉกกัด พานพบเจอความตาย… นัยยะของเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงชาวตะวันตกที่ไร้เดียงสาต่อวัฒนธรรมตะวันออก ไม่ได้พยายามรับเรียนรู้ ทำความเข้าใจ อยู่ดีๆก็เข้ามาครอบครองเป็นอาณานิคม สักวันหนึ่งย่อมไม่ต่างจากเด็กชาย ถูกฉกแว้งกัด พานพบกับความล่มสลาย

ห้องแห่งความลับใต้บันไดของ Harriet ถูกดักด้วยตาข่ายจับปลา ภายในซ่อนเร้นด้วยสิ่งมีค่าที่สุดในชีวิตของเธอ นั่นคือหนังสือจดบันทึกเรื่องราว บทกลอน ภาพวาดคลีโอพัตรา ด้านบนน่าจะพระกฤษณะและพระนางราธา (ล้อกับเรื่องราวที่เธอจะเล่าต่อไป)

ถือว่าเป็นความพยายามของ Harriet เปิดเผยความลับ/ห้องหับหัวใจของตนเองให้ Captain John ได้รู้จักพบเห็นตัวตนแท้จริง … แต่เหมือนว่าขณะนั้นเขากำลังสนใจนางเอกขี่ม้าขาวมากกว่า

ผมว่าผู้ชมคงดูออกไม่ยากว่าสามสาวต่างตกหลุมรัก Captain John แต่สำหรับ Harriet และ Valerie ในช่วงแรกๆน่าจะมองไม่ออกว่า Melanie ก็แอบซุ่มมองอยู่ห่างๆเช่นกัน (เพราะเธอแทบไม่แสดงออกใดๆออกมาเลย)

ถึงแม้ว่า Harriet จะแสดงอาการโกรธเกลียด ไม่พึงพอใจต่อ Valerie (เรื่องที่ฉกแย่งชิง Captain John ไปจากตนเอง) แต่ก็ยังห้อยโหนชิงช้าเล่นด้วยกันช็อตนี้ สะท้อนถึงการแข่งขัน (เรื่องความรัก) ที่ยังแกว่งไกว ไม่รู้ผลแพ้ชนะ

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในภาพยนตร์เกี่ยวกับอินเดีย คือการเต้นระบำพื้นบ้าน แต่ผมไม่แน่ใจชื่อเรียก Kathak หรือ Manipuri เพราะแต่ละรัฐ/ภาค ก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป, ซึ่งเรื่องราวของหนังนี้ พระนางราธา (Radha) เต้นเพื่อแสดงความรักให้กับพระกฤษณะ (Krishna) เฉลิมฉลองงานแต่งงานของพวกเขา

เท่าที่ผมสังเกตจากท่วงท่าภาษาการเต้น
– กวาดมือชี้ลงพื้น เป็นการแสดงความเคารพ นอบน้อม
– ยกขึ้นชี้ฟ้า เทิดทูนเหนือเกล้า
– สองมือวางเคียงข้างหน้าอก ราวกับถืออะไรบางอย่างอยู่ นั่นน่าจะคือหัวใจของตนเอง ที่จะส่งมอบให้ชายคนรัก
– กวาดมือสองข้างไปรอบตัว คือปริมาณมากมายมหาศาลจะอุทิศให้

เกมโยนห่วงของ Valerie สังเกตว่าครั้งสุดท้ายของพวกเขา ไม่มีใครสามารถรับของกันและกันได้ ซึ่งอุบัติเหตุที่เหมือนจะเป็นความจงใจของ Captain John เพื่อแสดงออกด้านอ่อนแอของตนเองออกมา ให้หญิงสาวผู้ไม่เคยยี่หร่า ย้ำเตือนสติ ตระหนักให้รับรู้ว่าตนเองไม่สามารถที่จะก้าวเดิน สานความสัมพันธ์นี้ต่อไปได้

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ Captain John ทำให้สามสาวพยายามแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นอีกครั้ง ก่อนที่ผู้ชนะในดงกล้วย จะคือ Valerie ที่พอ Harriet พบเห็น บรรยายออกมาอย่างหลงตัวเอง

“It was my first kiss but recieved by another”.

พิธีศพของ Bogey จะมีขณะหนึ่งที่ขบวนศพ เดินก้าวข้ามผ่านสะพานไม้แห่งนี้ ซึ่งแบ่งระหว่างชุมชนอินเดีย-บ้านของชาวอังกฤษ สะท้อนถึงการออกเดินทาง(ของเด็กชาย) สู่โลกหลังความตาย

Holi (แปลว่า การส่งท้ายปีเก่า) เทศกาลแห่งสีสันของชาวฮินดู จัดขึ้นปีละสองวันช่วงเดือนมีนาคม ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลอง สาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนาน (คล้ายๆสงกรานต์บ้านเราที่เล่นสาดน้ำ) ฝุ่นผงสีที่ใช้สาดนั้น ทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น ฯ อันเป็นนัยบ่งบอกถึงการสิ้นสุดฤดูหนาว ก้าวย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเชื่อว่า เป็นการปัดเป่าขับไล่สิ่งชั่วร้าย แต่จะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าถึงเที่ยงเท่านั้น ตอนบ่ายแยกย้ายไปอาบน้ำ ตกเย็นจักออกมาพบปะสังสรรค์ แจกขนมหวาน สวมกอดกัด บางทีก็เรียกว่า ‘เทศกาลแห่งมิตรภาพ’

มีตำนานมากมายเกี่ยวกับเทศกาลนี้ แต่ที่เชื่อกันมากสุดเห็นจะเป็น การเฉลิมฉลองของพระวิษณุ สามารถต่อสู้เอาชนะนางมาร Holika แล้วจับมาแผดเผาจนมอดไหม้ตาย ซึ่งวันก่อนการสาดสีจะมีการก่อกองไฟเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีไปจากจิตใจ

เมื่อ Captain John จากไปแล้ว ส่งจดหมายมาหาสามสาว สวมชุดสามสีสัน อ่านจบก็ไม่ได้ใคร่สนใจอะไร (เพราะเขาไม่ได้อยู่ที่นี่ให้พวกเธอได้เกี้ยวพาราสีอีกต่อไป) ค้นพบเจอเรื่องราวอะไรใหม่ๆ แม่คลอดลูกคนที่หก เกิดมาเป็นหญิงสาว … พ่อช่างไร้น้ำยาเสียจริง!

ช็อตสุดท้ายของหนังเจ๋งมากๆเลยนะ กล้องค่อยๆเคลื่อนเลื่อนจากสามสาว จากนั้น Overhead Shot พบเห็นด้านหลังคือแม่น้ำคงคา ก่อนจบลงด้วยบทกลอนสุดแสนไพเราะ

“The day ends. The end begins”.

ปกติแล้วนักตัดต่อขาประจำของผู้กำกับ Renoir จะคือศรีภรรยา Marguerite Renoir แต่หลังจากอพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกา ก็ปรับเปลี่ยนหน้าไปเรื่อย เรื่องนี้มาลงเอยกับ George Gale เป็นผลงานแรกแจ้งเกิด

หนังดำเนินเรื่องผ่านมุมมองตัวละคร Harriet ผ่านเสียงบรรยายของเธอเองในวัยผู้ใหญ่ (ให้เสียงโดย June Hillman) ซึ่งได้กลายเป็นนักเขียนนวนิยายเล่มนี้

เรื่องราวดำเนินไปในระยะเวลาประมาณครึ่งปี เริ่มต้นที่ Diwale (เดือน 10-11) จบสิ้นยัง Holi (เดือน 3) ระหว่างการมาถึงของ Captain John ถูกเกี้ยวพาราสีโดยสามสาว Harriet, Valerie และ Melanie

หลายครั้งเสียงบรรยายจะแนะนำพาผู้ชมให้พบเห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรมชาวอินเดีย ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งจะมีการร้อยเรียงภาพต่างๆนานา เคลื่อนคล้อยไหลต่อเนื่องด้วยเทคนิค Cross-Cutting สถานที่สวยๆมากมาย

เพลงประกอบโดย M. A. Partha Sarathy, ผมหารายละเอียดบุคคลนี้ไม่ได้เลยนะ

แน่นอนว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับอินเดีย ย่อมต้องใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านอินเดีย อาทิ เครื่องสาย Sitra, กลอง Tabla, ปี่ Pungi ฯลฯ เพื่อสร้างสัมผัส กลิ่นอายประเทศอินเดีย มีความคลาสสิกที่ราวกับได้สร้างโลกแห่งความเพ้อฝันให้ชาวตะวันตก เพราะส่วนใหญ่สมัยนั้นคงไม่มักคุ้นหูสักเท่าไหร่อย่างแน่นอน

ส่วนวงดนตรีอินเดียในฉากการเต้นของ Melanie ประกอบด้วย 5 เครื่องดนตรี ร้องนำ-ตีฉิ่ง (Taal), ขลุ่ย Bansuri, เครื่องสาย Tampura, กลอง Mridangam, อีกคนที่อยู่ด้านหลัง เหมือนจะเล่นไวโอลิน, ส่วน Melanie สวมกำไลข้อเท้ามีคำเรียกว่า Ghugroo

(ถ้าผมเข้าใจอะไรผิดก็บอกได้นะครับ)

“This was Jean Renoir’s first picture after his American period, his first in color, and he used Rumer Godden’s autobiographical novel to create a film that is, really, about life, a film without a real story that is all about the rhythm of existence, the cycles of birth and death and regeneration, and the transitory beauty of the world”.

– Martin Scorsese

The River ใช้การเปรียบเทียบแม่น้ำคงคา ดั่งสายธาราแห่งชีวิตที่เคลื่อนไหล พานพบเจอเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย สุข-ทุกข์ หัวเราะ-ร้องไห้ อะไรๆล้วนบังเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครสามารถหักห้ามกาลเวลาให้หยุดดำเนินไปข้างหน้า

เรื่องราวความรักแรก(พบ)ของสามสาว ลงเอยด้วยการไม่มีคำตอบว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ใครได้ลงเอยกับ Captain John (หรือไม่มีใคร) แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนเลยผ่าน เหตุการณ์ดังกล่าวหลงเหลือเพียงความทรงจำเลือนลาง ภาพแห่งความ’ประทับใจ’ ตราตรึงไว้ทรวงใน คงไม่มีใครหลงลืมเลือนได้โดยง่าย

และเนื่องเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นครั้งแรกจริงๆที่ชาวตะวันตกยุคสมัยนั้น จักได้มีโอกาสพานพบเห็น เรียนรู้จักวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของชนชาวอินเดีย ซึ่งอาจสร้างความประทับใจ ‘First Impression’ รักแรกพบให้บังเกิดขึ้นกับใครหลายๆคน

สำหรับผู้กำกับ Jean Renoir ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าสะท้อนตัวตนเองหลายอย่างทีเดียว
– ระหว่างการเกิด-ตาย นั่นคือชีวิตที่ยังคงดำเนินไป
– Captain John ในสภาพขาขาด (Renoir ไม่ประสบความสำเร็จใน Hollywood) ต้องการหลบลี้หนีเอาตัวรอดจากความอับอายขายขี้หน้า (มาสร้างภาพยนตร์เรื่องใหม่ไกลถึงประเทศอินเดีย)
– Melanie เป็นลูกครึ่งอังกฤษ-อินเดีย (Renoir ขณะนั้นถือสองสัญชาติ ฝรั่งเศส-อเมริกัน) กำลังจะตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง (สุดท้ายเลือกกลับฝรั่งเศส)

ขณะที่ Harriet ถือเป็นตัวแทนของผู้แต่งนวนิยาย Rumer Godden ซึ่งเธอก็ได้เข้ามาช่วยขัดเกลาบทหนัง ทำให้ Renoir ไม่สามารถแทนตนเองเข้าไปในตัวละครนี้ได้ เช่นกันกับ Valerie เป็นตัวแทนของความดื้อรั้น อยากทำอะไรก็ต้องให้ได้ดั่งใจ นี่ทำให้ผมนึกถึงโปรดิวเซอร์ Kenneth McEldowney ที่ต้องการพิสูจน์ตนเองให้ภรรยา สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งเดียวในชีวิต ได้รับจุมพิตแรกแห่งความสำเร็จ แล้วก็เกิดความพึงพอใจ เพียงพอ และก็จบสิ้นกัน

การได้พบเห็นพานผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ผมครุ่นคิดว่าส่งผลกระทบต่อผู้กำกับ Renoir อยู่ไม่น้อยเลยนะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสามารถมองได้ว่าเป็นการรำพันถึงชีวิต เกิด-ตาย ทุกสิ่งอย่างสูญสลายแล้วเริ่มต้นใหม่ ว่ายวนเวียนดั่งวัฏจักร มันอาจน่าตื่นเต้นสำหรับครั้งแรกของเด็กๆ แต่ผู้ใหญ่วัยชราเช่นเขา มันช่างน่าเบื่อหน่าย อ่อนเปลี้ยเพลียแรง แทบจะหมดสิ้นกำลังใจ และความหวังที่จะยังหายใจอยู่ต่อ


เข้าฉายเทศกาลหนังเมือง Venice ในปีที่การแข่งขันดุเดือดมากๆ (Ace in the Hole, Rashômon, Diary of a Country Priest, The Lavender Hill Mob, A Streetcar Named Desire) ยังสามารถคว้ารางวัล International Award

ถึงผมจะไม่ค่อยชอบเนื้อเรื่องราวที่มีแค่ หญิงสาวแรดร่านหาชายหนุ่ม แต่นั่นสะท้อน ‘ความประทับใจ’ รักแรกพบต่อประเทศอินเดีย ก่อเกิดความลุ่มหลงใหลในวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานภาพที่สวย-สด-ใส กลิ่นอายดนตรีพื้นบ้าน จุดประกายการเดินทาง สักครั้งในชีวิตอยากไปเยี่ยมเยือนผืนแผ่นดินแห่งจิตวิญญาณนี้สักครา

The River ไม่ใช่เพียงแค่เปิดประตูฝั่งตะวันตกเปิดสู่โลกตะวันออกเท่านั้นนะครับ ในทิศทางกลับกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อให้เกิดสองตำนานของอินเดีย Satyajit Ray และ Subrata Mitra จากที่ปรึกษา/ผู้ช่วยงานสร้าง กลายมาเป็นผู้กำกับ-ตากล้องขาประจำ สี่ปีให้หลังสร้างผลงานโลกตะลึง Pather Panchali (1955) นำเสนอประเทศอินเดียในสายตาชาวอินเดีย แต่กลับยิ่งใหญ่ทรงคุณค่าระดับสากล

จัดเรตทั่วไป ดูได้ทุกเพศวัย

คำโปรย | ความงดงามของ The River ยังคงสวยสดใส น่าประทับใจเหมือนตอนที่ Jean Renoir เริ่มวาดภาพระบายสี 
คุณภาพ |
ส่วนตัว | ชื่นชอบ


The River

The River (1951) : France – Jean Renoir

(5/4/2016) อีกหนึ่งผลงานของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสในตำนาน Jean Renoir ที่มาถ่ายทำถึง India เรื่องราวของหญิงสาว 3 คนที่ตกหลุมรักชายหนุ่มคนเดียวกัน เป็นหนังแนว Romantic ที่มีความสวยงาม นี่คือ 1 ใน 10 หนังเรื่องโปรดของ Martin Scorsese การันตีด้วยอันดับ 127 ของนิตยสาร Sight & Sound

ในบรรดาหนังเรื่องโปรดของ Martin Scorsese จะมี 2 เรื่องที่มักพูดคู่กันเสมอ คือ The River (1951) กำกับโดย Jean Renoir และ The Red Shoes (1948) กำกับโดย Michael Powell และ Emeric Pressburger ซึ่ง Marty บอกว่า สองเรื่องนี้คือหนังสีที่สวยที่สุด “the two most beautiful color films ever made.” ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ แต่ความชอบส่วนบุคคลไม่ใช่สิ่งที่เราควรไปแย้งความชอบเขา ความสวยงามที่ Marty ว่า คือความแปลกใหม่ เพราะเขาได้ดูหนังทั้งสองเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก สมัยที่หนังสีเพิ่งจะเริ่มมีมาไม่นานนัก The River อาจจะไม่ได้มีสีสันที่ฉูดฉาด แต่มีความแปลกแตกต่าง เป็นภาพที่คนยุโรป/อเมริกาไม่เคยเห็นมาก่อน การเลือกอินเดียที่ตอนนั้นเปรียบเหมือนป่าอเมซอน ดินแดนลึกลับที่คนส่วนมากแค่เคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นยังไง หนังเรื่องนี้ทำให้ Marty ตระหนักถึงความเป็นกบในกะลาของตัวเอง และได้พบว่าภาพยนตร์เป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องราว หรือสิ่งที่ผู้คนไม่เคยเห็นมาก่อน มันเลยดูสวยงาม และตื่นตาตื่นใจมาก

Jean Renoir ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอพยพหนี Nazi ไปอยู่อเมริกาทำงานอยู่ hollywood หลายปี หนังของเขาได้รับคำวิจารณ์ดีบ้างเลวบ้างผสมกันไป หลังสงครามจบก็ออกจาก hollywood หนังเรื่องถัดไปคือ The River เขาออกหาทุนสร้างเอง และได้ Kenneth McEldowney ผู้หลงรักในนิยายเรื่องนี้ออกทุนสร้างให้ นิยายเขียนโดย Rumer Godden เธอเป็นนักเขียนชาวอังกฤษเติบโตขึ้นที่ India นิยายที่ดังๆของเธอนอกจาก The River แล้วก็ยังมีเรื่อง Black Narcissus ที่ได้ดัดแปลงเป็นหนังด้วยเช่นกัน Godden ร่วมกับ Renoir ในการดัดแปลงบทจากนิยายให้กลายเป็นบทภาพยนตร์ เมื่อดัดแปลงเสร็จ Renoir มีความต้องการให้การถ่ายทำหนังใช้สถานที่จริงเท่านั้น เขาจึงเดินทางไปที่ India และได้พบกับ Satyajit Ray ที่ช่วยพาไปหาสถานที่ คัดเลือกนักแสดง และกลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

การคัดเลือกนักแสดง ความตั้งใจแรกของ Renoir คือ Marlon Brando ในบท Capt.John แต่หนังไม่มีทุนเยอะขนาดนั้น จึงได้ Thomas E. Breen ซึ่งแม้การแสดงอาจจะไม่ดีมาก แต่เพราะเขาขาขาดจริงๆ เราจึงรู้สึกเข้าใจตัวละครนี้ผ่านความรู้สึกจริงๆของเขาได้ Breen เล่น The River เป็นหนังเรื่องสุดท้าย คงเพราะความพิการทำให้ไม่สามารถแสดงหนังได้อีก สำหรับนักแสดงคนอื่นๆ Renoir เลือกใช้นักแสดงที่ไม่ค่อยดังเท่าไหร่อย่าง Nora Swinburne กับ Esmond Knight นี่ถือว่าได้แพ็กคู่เลยเพราะทั้งสองเพิ่งแต่งงานกัน และได้เล่นหนังบทสามีภรรยากันด้วย Arthur Shields หลังจากเล่นหนังเรื่องนี้เขาก็มีชื่อเสียงขึ้น ทำให้ได้โอกาสรับบทใหญ่ๆ ประกบดาราดังอย่าง The Quiet Man (1952) ของ John Ford ประกบ John Wayne

สำหรับนักแสดงเด็กหญิงทั้ง 3 Patricia Walters ในบท Harriet เธอเล่นหนังแค่เรื่องเดียวเท่านั้น Adrienne Corri ในบท Valerie หลังจากนี้เธอไม่ถือว่าดังเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เป็นตัวประกอบ เคยได้รับบทใน A Clockwork Orange ของ Stanley Kubrick และ Radha Burnier รับบท Melanie หญิงสาวลูกครึ่งอังกฤษอินเดีย เธอเคยมีการแสดงมาก่อนหน้านั้นในอินเดีย และนี่คือหนังเรื่องสุดท้าย

ทำไมถึงเป็นเด็กหญิง 3 คนนี้ที่ตกหลุมรักผู้ชายคนเดียวกัน คนหนึ่งอายุยังไม่เยอะมาก หน้าตาโอเค พยายามทำตัวฉลาดๆด้วยการเขียนบทกลอน ชอบแต่งเรื่องราว คนที่สองโตขึ้นมาหน่อย ไม่ค่อยฉลาดนัก แต่มีความกล้าและสวยกว่า คนสุดท้ายเป็นลูกครึ่ง มีความสวยงามที่ยั่วยวน แต่ปกปิดทุกอย่างไว้ ขาดความมั่นใจในตัวเอง และไม่ชอบเปิดเผยความคิดความรู้สึกของตนออกมา ผมว่า 3 ตัวละครนี้สามารถเปรียบได้กับผู้หญิง 3 ประเภท คนหนึ่งกล้าได้กล้าเสีย, คนหนึ่งลังเล รอจังหวะ, อีกคนก็แอบ ที่พวกเธอสนใจผู้ชายคนเดียวกัน คงเพราะ มันไม่มีผู้ชายคนอื่นเลยในหนัง กับหญิงสาววัยแรกรุ่นความสนใจของพวกเธอมีแค่ตกหลุมรักกับชายในฝันเท่านั้น นี่คงเป็นความจงใจของคนเขียนนิยายนะครับ ที่แสดงให้เราเห็นความโลกแคบที่เหมือนกบในกะลาของหญิงสาว พวกเธออยู่ในกำแพงบ้าน(ที่มีคนเฝ้าประตู) ที่โลกภายนอกดูแปลก แตกต่าง อันตราย ไม่ปลอดภัย พวกเธอไม่เคยย่างกรายออกไปด้วยตัวเอง ได้แต่มองลอดผ่านรั่ว มีแค่บางคนที่กล้ากระโดดปีนป่ายรั้วเข้าออกเท่านั้น เราจะเห็นหนังใช้ Harriet เป็นตัวดำเนินเรื่อง และเธอเป็นเสียงบรรยายในหนัง(ตอนโต)ด้วย, Valerie เป็นคนเดียวที่ได้จูบ Capt.John, ส่วน Melanie เธอก็เล่นตัวไปเรื่อย ไม่รู้เธอคิดอะไรกับกับ Capt.John กันแน่ และที่ตลกคือ สุดท้ายแล้วทั้งสามไม่มีใครได้ลงเอยกับ Capt.John ทั้งนั้น

Capt.John เป็นตัวละครที่สูญเสียบางอย่างไปกับสงคราม ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่จิตใจด้วย เขาเป็นชายหนุ่มที่เพิ่งโตขึ้นจากวัยรุ่น แต่ได้ผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกแก่ขึ้นมาก ความทรงจำพวกนั้นทำให้เขาไม่ได้สังเกตหรือสนใจเด็กหญิงสามคนที่แสดงใคร่ ยั่วยวนออกมา แต่เพราะพวกเธอแสดงการเรียกร้องความสนใจอย่างสุดๆ ทำให้เขาเห็นว่าพวกเธอต้องการอะไร กระนั้นเขาก็ไม่สามารถให้สิ่งที่พวกเธอต้องการได้ ตัวละครนี้ผมไม่แน่ใจ Renoir เปรียบเหมือนกับตัวเองหรือเปล่า สไตล์หนังของเขาก่อนไป hollywood เราจะเห็นหนังเกี่ยวกับการต่อต้านสงครามที่มีสาสน์ลึกๆแฝงอยู่เสมอ หนังเรื่องนี้มี Capt.John ที่แสดงถึงบาดแผลของสงครามต่อผู้คน ผมลองเปรียบตัวละครนี้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม เด็กหญิงทั้งสามเป็นประเทศโลกที่ 3 ถ้าประเทศเหล่านี้นี้มีบางสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศอื่นๆได้ ก็จะถูกรุกเร้าให้สานความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะทางการทูต การค้า ฯ ทั้งเปิดเผย ปกปิด บางประเทศก็รีๆรอๆ กั๊กๆ ผมคงไม่วิเคราะห์ลึกลงไปกว่านี้นะครับ ลองมองหาคำตอบกันเอง ในช่วงท้ายเมื่อ Capt.John จากไป จดหมายที่ส่งมามันก็ไม่มีความหมายอะไรต่อพวกเธอแล้ว มันเหมือนว่าแท้จริง Capt. John เป็นแค่ของเล่นฆ่าเวลาของพวกเธอ เมื่อเขาไม่อยู่ตรงนั้นแล้วมันจึงไม่มีค่าอะไรอีก น่าสงสารแทน Capt. John นะครับ ที่ได้มาเจอกับหญิงสาวเกรียนๆแบบนี้

ในบรรดาผู้หญิง 3 ประเภทนี้ ผมชอบ Melanie มากที่สุด ไม่ใช่เพราะเธอสวยเข้ม หน้าตาดูดีนะครับ แต่ข้างในจิตใจคน มีบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงควรจะพูดหรือแสดงออกมา ตัวละครนี้ถึงจะเป็นลูกครึ่ง แต่ก็หมายถึงประเทศอินเดียด้วย เพราะเธอเลือกจะใส่ชุดสาหรี่ (Saree) ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของอินเดีย ใครดูหนัง bollywood มาเยอะๆก็จะเข้าใจวัฒนธรรมของผู้หญิงอินเดีย ที่ส่วนมากจะเป็นคล้ายๆกับ Melanie นี่แหละ เสน่ห์ของการพูดน้อยคือความลุ่มลึก มันอาจจะมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลแฝงอยู่ก็ได้ แต่ความลึกลับนี้มันดึงดูน่าค้นหาเสียจริง กระนั้นผู้หญิงประเภทนี้ก็มีข้อเสียนิดนึง ตรงที่พอเธอไม่พูดอะไรที่อยู่ในใจออกมา เวลามีปัญหากันก็เรื่องใหญ่เลย เพราะเราจะไม่รู้ว่าสิ่งที่คาใจพวกเธออยู่นั้นคืออะไรกันแน่ ถ้าหาคำตอบได้ก็โชคดีไป ถ้าไม่ละก็ …

ถ่ายภาพโดย Claude Renoir มีศักดิ์เป็นหลานของ Jean Renoir หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังภาพสีเรื่องแรกของ Jean Renoir และหนังสีเรื่องแรกของ India ด้วย นอกจากการเล่นสีสวยๆในหนังแล้ว เรามักจะไม่ค่อยเห็นการเคลื่อนกล้องเท่าไหร่ มีไม่กี่ฉากเท่านั้น มันทำให้ผมนึกถึงหนังของ Ozu ที่ใช้ภาพเล่าเรื่องโดยเคลื่อนกล้องให้น้อยที่สุด ให้ตัวละครเดินเข้าออกฉาก มากกว่าการเคลื่อนไหวตามตัวละคร เหตุผลของการทำแบบนี้ก็เพื่อให้คนดู ‘เห็น’ ภาพว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้ให้รู้สึกไปกับตัวละคร เสียงบรรยายก็เพื่ออธิบายเรื่องราว เราจะรู้ว่าเสียงบรรยายคือเสียงของ Harriet ซึ่งมองได้ว่าหนังเรื่องนี้คือภาพความทรงจำของเธอสมัยเด็กที่ได้พบกับรักครั้งแรก และคู่แข่งความรักของเธอ

หลังจากถ่ายเสร็จ Renoir นำหนังกลับไปตัดต่อที่อเมริกาโดย George Gale และเพลงประกอบประพันธ์โดย M. A. Partha Sarathy ฉากเต้นของ Radha กลายเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมาก ประเพณี Diwale และ Holi ก็เช่นกัน เพราะเป็นสิ่งแปลกใหม่ ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เสียงเครื่องดนตรี เสียงฉิ่งฉับ กลองแขก sitar ท่าทางการเต้นที่งดงาม ชดช้อยไปตามจังหวะ วัฒนธรรมที่แปลกตา ประเพณีที่แปลกใหม่ ไม่เพียงแค่เปิดโลกทัศน์ให้ผู้ชมฝั่งตะวันตก แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับหลายคนสนใจโลกฝั่งตะวันออกมากขึ้น

The River คือสายน้ำแห่งชีวิต แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านใจกลางของอินเดีย วิถีชีวิตของคนอินเดียจากอดีตจนถึงปัจจุบันยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ เกิด-แก่ เจ็บ-ตาย ประเพณีต่างๆ Diwale, Holi ต่างก็มีส่วนเกี่ยวกับแม่น้ำทั้งนั้น เรื่องราวในหนังเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต หญิงสาวตกหลุมรักและอกหัก ในช่วงเวลา 1 ปี อะไรๆเปลี่ยนไป แต่ก็มีหลายสิ่งที่ยังเหมือนเดิม นั่นคือสายน้ำยังคงไหลอย่างไม่หยุด เหมือนกาลเวลาที่ไม่มีวันหยุดและไม่สามารถหยุดได้ ชีวิตก็เช่นกัน จะหยุดก็ต่อเมื่อเราสิ้นใจไปจากโลกไปเท่านั้น

การตายของ Bogey ถือว่าน่าตกใจไม่น้อย กระนั้นเชื่อว่าหลายคนคงวิเคราะห์ได้ว่า Bogey คือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา และงูเห่าก็เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย นี่เป็นความคิดของคนตะวันตกนะครับ เราคนเอเชียฝั่งตะวันออกจะสามารถมองฉากนี้ได้อีกแบบ พุทธเราจะบอกว่างูคือลูกหลานของพญานาค ซึ่งงูไม่ใช่สัญลักษณ์ของความชั่วร้ายแน่ๆ ในหนังถ้าเด็กชายไม่ไปแหย่งู เขาคงไม่ตาย มันคือการไปเบียดเบียนผู้อื่นให้เกิดความทุกข์ ผลลัพท์คือจะถูกเบียดเบียนกลับ โชคร้ายของเขาคือต้องตาย มันคือกรรมของเด็กชายที่ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ กรรมนี้ได้แค่ปล่อยให้มันเป็นไปเหมือนสายน้ำ ถึงคราคนจะตายมันก็ต้องตาย ไม่มีทางห้ามได้

คนดูสมัยใหม่ อาจจะไม่ประทับใจกับหนังมากเท่ากับคนสมัยก่อน บางคนอาจจะไม่ชอบเลยเสียด้วยซ้ำ เพราะหนังไม่มีอะไรที่ใหม่หรือน่าจดจำนัก แต่อย่าไปคิดว่าแปลกที่ตัวเองมองไม่เห็นคุณค่าของหนังเรื่องนี้นะครับ เพราะเราไม่ได้เกิดมาในยุคโรงหนังฉายแต่หนังขาว-ดำ ประเทศอินเดียเป็นเหมือนอเมซอน ดินแดนลี้ลับที่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นยังไง การได้เห็นภาพวัฒนธรรม ผู้คนหน้าตาแปลกๆ วิธีชีวิตที่แตกต่าง ภาพสีสวยสดใส ดนตรีที่แปลกหู หนังเรื่องนี้ทำให้คนสมัยนั้นอึ้ง ทึ่ง อย่างประหลาดใจ โลกเรามีแบบนี้อยู่ด้วยหรือ! สมัยนี้คงไม่มีใครพูดถึงอินเดียว่าเป็นดินแดนลี้ลับอีกแล้วนะครับ ภาพสีก็เป็นสิ่งพบเห็นได้ทั่วไป กระนั้นถ้าให้ไม่บอกไว้ก่อนว่านี่เป็นหนังปี 1951 เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะคิดว่านี่เป็นหนังยุค 60s-70s เพราะภาพหนังนั้นล้ำยุคมากๆ นี่แสดงถึงความล้ำหน้าของหนัง ณ ขณะนั้นที่เป็นอมตะมาอยู่หลายปี แต่ความล้ำยุคก็ถึงเวลาตกสมัย แต่อย่าเรียกมันว่า ล้าหลังเลย ให้เรียกว่า ‘คลาสสิค’ จะดีกว่านะครับ

ผมแนะนำหนังเรื่องนี้กับคอหนังคลาสสิค หนังเก่าๆ แฟนหนัง Jean Renoir ห้ามพลาด หนังเรื่องนี้พูดภาษาอังกฤษ แต่จัดเป็นหนังฝรั่งเศสเพราะผู้กำกับเป็นชาวฝรั่งเศสนะครับ จัดเรต PG ดูได้ทุกเพศทุกวัย

คำโปรย : “The River อีกหนึ่ง masterpiece ของ Jean Renoir กับการเปิดโลกทัศน์ของชาวตะวันตกต่อประเทศ India ที่มีความสวยงาม ไพเราะ ที่แตกต่างในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต คนสมัยนี้อาจจะไม่ประทับใจอะไรกับหนังมาก แต่มันคือความคลาสสิคที่กลายเป็นอมตะ”
คุณภาพ : SUPERB 
ความชอบ : LIKE

1
Leave a Reply

avatar
1 Comment threads
0 Thread replies
0 Followers
 
Most reacted comment
Hottest comment thread
0 Comment authors
Top 12 Martin Scorsese Favorite Films | RAREMEAT BLOG Recent comment authors

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
newest oldest most voted
Notify of
trackback

[…]  The River (1951)  : Jean Renoir ♥♥♥ […]

%d bloggers like this: