The Road Home (1999) : Zhang Yimou ♥♥♥♡
นี่คือ The Wizard of Oz (1939) ที่ทำการหวนระลึกถึงช่วงเวลาแห่งสีสัน อดีตอันทรงคุณค่า ประเทศจีนเคยเต็มเปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ปัจจุบันหลงเหลือเพียงความหนาวเหน็บ เยือกเย็นชา แต่อนาคตเมื่อทั้งสองช่วงเวลาเวียนมาบรรจบ กลับสร้างความอบอุ่นขึ้นภายใน, คว้ารางวัล Silver Bear: Jury Grand Prix (ที่สอง) จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
รับชมพานผ่าน 15 นาทีแรก ผมมีความเอะใจว่าหนังต้องการสื่อว่า อดีตงดงามกว่าปัจจุบัน (ฉากปัจจุบันถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ แต่การย้อนอดีตกลับเต็มไปด้วยแสงสีสันสวยสดใส) ซึ่งสะท้อนถึงทัศนะของจางอี้โหมว ผู้หลงใหลในเรื่องราวพื้นเมือง ศิลปะโบร่ำราณ เต็มไปด้วยอคติต่อช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76)
แต่ 15 นาทีสุดท้ายของหนังได้ทำให้ผมปรับเปลี่ยนความคิดเห็นต่อหนังโดยสิ้นเชิง เมื่อภาพซ้อนทับระหว่างอดีต-ปัจจุบัน แสดงถึงอนาคตกำลังไปได้สวยของประเทศจีน รัฐบาลพยายามสร้างค่านิยมให้คนรุ่นใหม่ รู้จักทะนุถนอมประวัติศาสตร์ ฟื้นฟูหลายๆสิ่งอย่างที่เคยถูกทุบทำลายในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และพัฒนาชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญมั่งคั่ง ยิ่งใหญ่เทียบเท่านานาอารยะ
The Road Home (1999) ไม่ใช่หนังต่อต้านรัฐบาล (anti-govermemt) แบบที่นักวิจารณ์ตะวันตกว่าไว้ ออกไปทางชวนเชื่อชาตินิยม (pro-China) โดยใช้เรื่องราวระหว่างบิดา-มารดา (ชื่อหนังภาษาจีน 我的父亲母亲 อ่านว่า หว่อเตอ ฟู่ชิน (คุณพ่อ) หมู่ชิน (คุณแม่) แปลว่า My Father and Mother) ในช่วงเวลาแรกพบเจอ-ตกหลุมรัก-พลัดพรากจาก บังเกิดความซาบซึ้ง ประทับใจ ธารน้ำตาหลั่งไหล (Tearjeaker) สำนึกในคุณค่าของอดีต ธำรงรักษาขนบประเพณี ศิลปะวัฒนธรรมที่เคยมีมาให้ยั่งยืนสืบไป
แซว: ยุคสมัยนี้ประเทศจีนกลายเป็นชาติคลั่งวัฒนธรรมไปแล้วนะครับ (มันช่างกลับตารปัตรกับช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) จนหลายคนรู้สึกเหมือนถูกยัดเยียด บีบบังคับ ใครไม่ทำอะไรเพื่อท้องถิ่นก็จะถูกสังคมตำหนิต่อว่า … เวียนวนดั่งวัฎจักร เดี๋ยวรัก-เดี๋ยวเกลียด
จางอี้โหมว, Zhang Yimou (เกิดปี 1951) ตากล้อง/นักแสดง ผู้กำกับภาพยนตร์ เกิดที่ซีอาน, เมืองหลวงของมณฑลส่านซี บิดาเป็นนายทหารในกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีน (National Revolutionary Army) หรือพรรคก๊กมินตั๋ง ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก หลังความพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี 1949 ทำให้ครอบครัวตกที่นั่งลำบาก มีเพียงลุงกับพี่ชายเลือกอพยพสู่ไต้หวัน ส่วนตัวเขาต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง
ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) จางอี้โหมวต้องออกจากโรงเรียนมาเป็นกรรมกรแรงงานอยู่สามปี ตามด้วยโรงงานปั่นฝ้ายอีกเจ็ดปี เวลาว่างก็เขียนภาพวาด หาเงินซื้อกล้อง ค้นพบความหลงใหลด้านการถ่ายรูป จนกระทั่งสถาบัน Beijing Film Academy เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่เมื่อปี 1978 แม้อายุเกินกว่าเกณฑ์ แต่ได้รับอนุญาติจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะชื่นชอบประทับใจผลงานถ่ายภาพ เลยอนุญาตให้เข้าศึกษาเป็นกรณีพิเศษ
เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับมอบหมายทำงานยัง Guangxi Film Studio ในฐานะตากล้อง One and Eight (1983), Yellow Earth (1984), เมื่อหมดสัญญาเดินทางกลับบ้านเกิดที่ซีอาน ได้รับการชักชวนจาก วูเทียนหมิง (Wu Tianming) เข้าร่วม Xi’an Film Studio ถ่ายภาพ/แสดงนำ Old Well (1987) และกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก Red Sorghum (1988) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin
ช่วงระหว่างการถ่ายทำ Not One Less (1999) ผู้กำกับจางอี้โหมวได้รับคำแนะนำจากผู้ช่วยส่วนตัว อ่านนวนิยายเรื่อง 纪念 (1998), ชื่อภาษาอังกฤษ Remembrance รวบรวมสิบหกเรื่องสั้นของครูบ้านนอก (ตั้งแต่เดินทางมาถึงต่างจังหวัด จนกระทั่งพิธีศพหลังเสียชีวิต) แต่งโดยเปาฉี (นำจากประสบการณ์ส่วนตัว) เกิดความประทับใจในหลายๆเรื่องราว จึงรีบติดต่อหาโดยทันที!
เปาฉี, Bao Shi (เกิดปี 1959) นักเขียนนวนิยายชาวจีน เกิดที่เมืองจ้าวตง มณฑลเฮย์หลงเจียง, ช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรมถูกส่งไปใช้แรงงานเกษตรกรรม จากนั้นกลายมาเป็นครูสอนหนังสือ แล้วผันตัวมาทำงานบรรณาธิการ ตีพิมพ์บทความ เรื่องสั้น เมื่อได้รับการติดต่อจากผู้กำกับจางอี้โหมว ก็ตรงไปที่กองถ่ายของ Not One Less (1999) โดยทันที!
ความที่ต้นฉบับนวนิยาย Remembrance (1998) มีถึงสิบหกเรื่องสั้น ย่อมไม่สามารถดัดแปลงเนื้อหาทั้งหมดสู่ภาพยนตร์ เปาฉีจึงทำการปรับแก้ไข เลือกเรื่องราวที่น่าสนใจ พัฒนาบทร่างถึง 3 ฉบับ ก่อนมาโฟกัสเรื่องราวความรักระหว่างครูบ้านนอก ลั่วชางหยู (บิดา) กับหญิงสาวคอกนา เจ้าได๋ (มารดา) โดยเล่าผ่านจินตนาการของบุตรชาย ลั่วหยูเช็ง (หรือจะมองว่าคือความทรงจำของเจ้าได๋ ก็ได้เช่นกัน)
เกร็ด: ทั้งภาพยนตร์และนวนิยาย Remembrance (1998) ต่างได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในมหาวิทยาลัยของไต้หวัน สำหรับศึกษาวิถีชีวิตชนชาวจีนยุคสมัยก่อน
ลั่วหยูเซ็ง (รับบทโดย ซุนหงเลย์) หลังได้รับแจ้งข่าวการเสียชีวิตของบิดา เดินทางกลับจากเมืองใหญ่สู่บ้านเกิดยังชนบท รับฟังข้อเรียกร้องมารดาต้องการให้มีพิธีแบกศพกลับบ้าน แต่นั่นเป็นประเพณีโบร่ำราณที่ไม่มีใครสืบสานต่อมานาน (ล้มเลิกไปตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) ด้วยเหตุนี้จึงมีค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่ว แถมต้องว่าจ้างคนจากต่างหมู่บ้านให้มาช่วยแบกหาม (เพราะคนหนุ่มสาวต่างเดินทางไปทำงานในเมืองใหญ่กันหมด) ระหว่างนั้นเมื่อพบเห็นภาพถ่ายสมัยแต่งงานของพ่อและแม่ ทำให้เขาครุ่นคิดจินตนาการถึงอดีต จากเรื่องเล่าเคยได้รับฟังมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก
เจ้าได๋ (รับบทโดย จางจื่ออี๋) คือสาวสวยประจำหมู่บ้าน ตกหลุมรักแรกพบครูหนุ่ม ลั่วชางหยู (รับบทโดย เจิ้งเฮา) ที่อาสามาสอนหนังสือยังชนบทห่างไกล บรรดาชาวบ้านทั้งหลายต่างพร้อมใจกันต้อนรับขับสู้ ร่วมกันสร้างอาคารหลังใหม่ไว้ใช้เป็นโรงเรียน เธอจึงพยายามหาโอกาสมาตีสนิทชิดใกล้ ใช้เสน่ห์ปลายจวักดึงดูดให้เขาหลงใหล แต่ครั้งหนึ่งเมื่อถูกทางการเรียกตัว จำต้องออกเดินทางกลับเมืองใหญ่ เขาเลยให้สัญญาว่าวันหนึ่งจะหวนกลับมา หญิงสาวเฝ้ารอคอยแล้วคอยเล่า เดินเวียนวนอยู่ตรงถนนทางเข้าหมู่บ้าน ไม่สนสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ ร่างกายเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และในที่สุดวันนั้นก็มาถึงจึงได้ครองคู่แต่งงานตราบจนความตายพลัดพรากแยกจาก
ตัดกลับมาปัจจุบัน ลั่วหยูเซ็งตระหนักว่ามิอาจปฏิเสธคำร้องขอของมารดาได้ลง ไปพูดคุยผู้ใหญ่บ้านพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกสิ่งอย่าง ระหว่างพิธีแบกศพกลับบ้าน มีลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับการสั่งสอนจากครูลั่วชางหยู เดินทางมาร่วมงานมากมาย ผลัดกันแบก ผลัดกันหาม ไม่มีใครยินยอมรับค่าจ้างสักคนเดียว! ทั้งหมดนี้ทำด้วยความตั้งใจ เคารพรัก แสดงความขอบพระคุณที่ได้มอบโอกาสแห่งความสำเร็จ ซึ่งเงินที่ได้รับกลับคืนมา ลั่วหยูเซ็งมอบให้ผู้ใหญ่บ้านสำหรับเติมเต็มความฝันสุดท้ายของบิดา สร้างอาคารเรียนเพื่อรอต้อนรับครูคนใหม่ที่กำลังออกเดินทางมา
จางจื่ออี๋, 章子怡 (เกิดปี 1979) หนึ่งในสี่ ‘Four Dan’ นักแสดงหญิงสัญชาติจีน เกิดที่กรุงปักกิ่ง ฝึกฝนการเต้นรำตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากนั้นเข้าโรงเรียน Beijing Dance Academy เคยคว้ารางวัลชนะเลิศ National Youth Dance Championship จึงมีโอกาสออกรายการโทรทัศน์ แสดงโฆษณา สามารถเข้าเรียนต่อ Central Academy of Drama และต้องตาแมวมองของผู้กำกับจางอี้โหมว แจ้งเกิดโด่งดังจากภาพยนตร์ The Road Home (1999) ติดตามด้วย Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000), Rush Hour 2 (2001), Hero (2002), 2046 (2004), House of Flying Daggers (2004), Memoirs of a Geisha (2005), Forever Enthralled (2009), The Grandmaster (2013) ฯลฯ
รับบทเจ้าได๋ สาวสวยประจำหมู่บ้าน แม้ไร้ซึ่งการศึกษาแต่มีความต้องการที่แน่วแน่มั่นคง ตกหลุมรักแรกพบครูหนุ่มลั่วชางหยู พยายามทำทุกสิ่งอย่างเพื่อสร้างความสนใจ ใช้เสน่ห์ปลายจวักดึงดูดจนเขาลุ่มหลงใหล แต่ช่วงเวลาที่ต้องพลัดพรากจาก เธอเต็มไปด้วยความหวาดกลัวว่าชายคนรักจะไม่หวนกลับคืนมา เฝ้ารอคอยอย่างไม่ลดละ ดื้อรั้นถึงขนาดต้องการก้าวออกเดินทางจะไปให้ถึงเมืองใหม่ โชคยังดีสามารถเอาตัวรอดชีวิต และท้ายสุดทั้งสองก็ได้ครองคู่รักแท้ตราบจนวันตาย
ใครที่เคยรับชมผลงานอื่นๆของจางจื่ออี๋ คงมักคุ้นกับภาพลักษณ์หญิงแกร่ง เข้มแข็ง ‘ตัวเล็กพริกขี้หนู’ ไม่ยินยอมอ่อนข้อให้บุรุษ แต่เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้คือผลงานเรื่องแรกแจ้งเกิด (ในฐานะบทนำ) เธอเคยให้สัมภาษณ์บอกว่ายังไม่รับรู้ตัวด้วยซ้ำว่าทำอะไรอยู่ สิ่งแสดงออกจึงมีความเป็นธรรมชาติ เต็มไปด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์ ไม่ว่าจะรอยยิ้มหรือคราบน้ำตา ล้วนคือตัวตนแท้จริง ไม่มีดัดจริต ปรุงปั้นแต่งประการใด
I was just 19, and I wasn’t sure what I was doing, to be honest. So for me, this film is very precious. It really recorded who I was as a person. When the character in the film cries, or is happy, or embarrassed, that’s me — my true young self. Now, at my age, I don’t think I could create a performance like this.
บทสัมภาษณ์จางจื่ออี๋ กล่าวถึงภาพยนตร์แจ้งเกิดโด่งดัง The Road Home (1999)
พัฒนาการด้านการแสดงของจางจื่ออี๋ แทบเป็นไปในทิศทางเดียวกับนักแสดงรุ่นพี่กงลี่ (จนได้รับฉายา ‘กงลี่น้อย’) คือจากเคยรับบทตัวละครมีความใสซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสา เมื่อเริ่มมีประสบการณ์ชีวิต เรียนรู้จักวิถีในวงการบันเทิง ก็แสดงจริตจัดจ้าน แรดร่าน เน้นบทบาทที่แสดงความเข้มแข็งของอิสตรี สร้างภาพลักษณ์ขึ้นใหม่จนไม่หลงเหลือเจ้าได๋อีกต่อไป!
นี่คือบทบาทของจางจื่ออี๋ที่ผมชื่นชอบมากสุด! เพราะความน่ารัก ตัวตนเอง เล่นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เสแสร้งดัดจริต ปรุงปั้นแต่งพฤติกรรมใดๆ แม้มารยาหญิงเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ดื้อรั้นเอาใจ แต่ความรักมั่นคง พร้อมทุ่มเทเสียสละทุกสิ่งอย่าง นั่นคือหญิงสาวในอุดมคติที่หาแทบไม่ได้แล้วในปัจจุบัน … เธอเองก็บอกว่าถ้าให้กลับไปแสดงแบบนั้น ปัจจุบันไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน!
ถ่ายภาพโดย โฮ่วหยง, Hou Yong (เกิดปี 1960) ตากล้อง/ผู้กำกับรุ่นห้า สำเร็จการศึกษาจาก Beijing Film Academy เมื่อปี 1982 เริ่มต้นร่วมงานผู้กำกับเทียนจวงจวง The Horse Thief (1986), The Blue Kite (1993), และผู้กำกับจางอี้โหมวเรื่อง Not One Less (1999), The Road Home (1999), Hero (2002) ฯลฯ
หลังเสร็จจากถ่ายทำ Not One Less (1999) ผู้กำกับจางอี้โหมวก็เริ่มต้นโปรดักชั่น The Road Home (1999) ต่อโดยทันที! เลือกใช้สถานที่เดียวกับตอนถ่ายทำ The Story of Qiu Ju (1992) ยังหมู่บ้าน Shiyaocun อำเภอ Baoji จังหวัดซีอาน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี (ตั้งแต่ To Live (1994)) ที่หวนกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิด … ไม่ต่างจากเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้
การแบ่งแยกปัจจุบันใช้ภาพขาว-ดำ อดีตใช้ฟีล์มสี เป็นการแสดงทัศนคติอย่างตรงไปตรงมาของผู้กำกับจางอี้โหมว ว่าเห็นอดีตงดงามทรงคุณค่ากว่าปัจจุบัน! ลักษณะคล้ายๆ The Wizard of Oz (1939) เมืองแคนซัสที่น่าเบื่อหน่ายถ่ายทำด้วยภาพขาว-ดำ ส่วนดินแดนมหัศจรรย์อ๊อซใช้ฟีล์มสีสันสวยสดใส สถานที่แห่งการผจญภัย สนุกสนานร่าเริง เบิกบานด้วยรอยยิ้ม
ภาพแรก-สุดท้ายของหนัง แม้เป็นถนนหนทาง ‘The Road Home’ แต่กลับมีลักษณะแตกต่างตรงกันข้ามเหมือนหยิน-หยาง ภาพขาวดำ-ฟีล์มสี, เส้นทางปกคลุมด้วยหิมะ-ท้องทุ่งกว้างใหญ่, มอบสัมผัสหนาวเหน็บ-อบอุ่นใจ, การเดินทางด้วยรถรา-เจ้าได๋กำลังออกวิ่งไปตามทาง
- การเดินทางกลับบ้านของบุตรชายลั่วหยูเซ็ง นอกจากเพื่อร่วมงานศพบิดา ยังเป็นการหวนรำลึกถึงสู่อดีต ค้นหารากเหง้าของตนเอง
- เจ้าได๋กำลังออกวิ่งตามทาง สื่อถึงการมุ่งสู่อนาคต เพราะเมื่ออดีต-ปัจจุบันซ้อนทับ ดำเนินมาบรรจบ จักนำสู่ความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด
ผมเลือกนำสองช็อตนี้ที่สามารถมองเห็นโปสเตอร์ฟุตบอล (Dennis Bergkamp ตอนอยู่ Arsenal, อีกคนน่าจะ Ronaldo ตอนอยู่ Inter Milan เมื่อปี 1999) และภาพยนตร์ Titanic (1997) ที่ก็ทำรายได้ถล่มทลายในประเทศจีนขณะนั้น … ทั้งสองโปสเตอร์นี้แฝงนัยยะถึงอิทธิพลตะวันตกที่กำลังค่อยๆแพร่กระจาย ซึมซับเข้าสู่วิถีชีวิตชนชาวจีน
แซว: เรื่องราวความรักเรือล่มใน Titanic (1997) สามารถสะท้อนถึงความรัก(จนฝ่ายหนึ่งตายจากไป)ระหว่างเจ้าได๋กับลั่วชางหยู ได้เช่นกันนะครับ
วินาทีของการเริ่มต้นย้อนอดีต (Flashback) กล้องค่อยๆเคลื่อนเข้าหาภาพถ่ายของบิดา-มารดา (แนวคิดคล้ายๆ ข้างหลังภาพ) จากนั้น Cross-Cutting สู่เส้นทาง ‘The Road Home’ ที่เต็มไปด้วยแสงสีสัน ผู้ชมจะรู้สึกเหมือนตื่นขึ้นจากฝันร้าย มีความสดชื่น ผ่อนคลาย ชีวิตชีวา
การมาถึงโดยรถเทียมม้า ยุคสมัยนั้นถือเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ แสดงถึงความสูงศักดิ์ (ในมุมมองของชาวบ้าน) เพราะบุคคลนั้นถือคือผู้เสียสละนำวิชาความรู้มาสร้างอนาคตให้ลูกๆหลานๆ พวกเขาจักได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเก่าก่อน
เสียงบรรยายประกอบการย้อนอดีตของลั่วหยูเซ็ง มักพูดเน้นย้ำว่ารับฟังเรื่องเล่าทั้งหลายเหล่านี้จากมารดา และพยายามชี้แนะนำให้ผู้ชมรับรู้ว่าในอดีตเคยมีประเพณีโน่นนี่นั่น เพราะปัจจุบัน(นั้น)ได้ถูกลบลืมเลือน สาปสูญหายไปจากวิถีปฏิบัติมาเนิ่นนาน (ตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) ยกตัวอย่าง
- หญิงสาวไม่ควรพูดคุยกับชายหนุ่ม ทำได้แค่แอบจับจ้องมอง อยู่ห่างออกไปเท่านั้น! ทั้งยังไร้สิทธิ์เลือกคู่ครองของตนเอง ต้องได้รับอนุญาตจากครอบครัวเสียก่อน (เริ่มแต่งงานตั้งแต่อายุ 13-14 ปี)
- เมื่อก่อสร้างบ้าน/อาคารหลังใหม่ จะต้องประดับคานหลังคาด้วยผืนผ้าสีแดง สัญลักษณ์ของความโชคดีมีชัย และถักทอโดยหญิงสาวสวยสุดในหมู่บ้าน
- ระหว่างคนหนุ่มกำลังก่อสร้างบ้าน/อาคารหลังใหม่ สาวๆจะต้องทำอาหารมาให้บริการแต่พวกเธอก็ต้องอยู่ห่างๆ เพื่อไม่ให้รับรู้ว่าใครเป็นผู้รับประทานอาหารจานนั้นของตน
ฯลฯ
เมื่อลั่วชางหยูเดินทางมาถึง ก็ได้รับการต้อนรับจากแทบทุกคนในหมู่บ้าน ขณะที่สาวๆได้เพียงจับจ้องมองอยู่ห่างๆ ภาพช็อตนี้คนหนุ่มๆต่างเข้าไปรุมห้อมล้อม พูดคุยทักทาย แนะนำตัวให้รู้จัก แต่ที่น่าทึ่งก็คือแสงอาทิตย์สีเหลืองทองอร่าม (ไม่น่าใช่ Golden Hour คงใช้ฟิลเลอร์ให้ได้แสงสีดังกล่าว) สาดย้อนแสงสว่างเข้ามาในภาพ มอบสัมผัสช่วงเวลาที่สวยสดงดงาม ความประทับใจแรกพบเจอของเจ้าได๋
หลังจากนี้หนังจะเต็มไปด้วยช็อต Close-Up บ่อยครั้งที่เจ้าได๋แอบจับจ้องถ้ำมองลั่วชางหยู พยายามทำตัวไม่ประเจิดประเจ้อ (เพราะขัดต่อขนบประเพณียุคสมัยนั้น) ซึ่งเขาก็มักหันมองย้อนกลับด้วยสายตาลุ่มหลงใหล ประทับใจความงดงามของเธอ เพียงแรกสบตาก็ตระหนักว่าอีกฝั่งฝ่ายคือคู่ชีวิตของตน
ยุคสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่เมื่อชาย-หญิง แรกพบเจอ รู้สึกถูกโชคชะตา แล้วจะมีโอกาสครองคู่แต่งงาน เพราะคนส่วนใหญ่ยังเชื่อในประเพณีคลุมถุงชน หนุ่มๆมากมายคงเคยมาสู่ขอเจ้าได๋ แต่เธอเป็นหญิงสาวที่เอาแต่ใจ แถมได้รับการหนุนหลังจากมารดา อายุสิบแปดเลยยังครองตัวเป็นโสด (โดยปกติผู้หญิงต่างจังหวัด อายุ 13-14 ก็แต่งงานมีคู่ครองกันแล้วนะครับ)
ในหนังจะมีการทอผ้าทั้งหมดสามครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่นำมาตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่ยังมีนัยยะถึงวิถีความเชื่อ ขนบประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นมีมาแต่โบราณกาล ที่ปัจจุบันได้ถูกทำลาย เปลี่ยนแปลง สูญหายแทบหมดสิ้นในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
- ครั้งแรก ทอผ้าสี…(ไม่แน่ใจว่าสีขาวหรือเปล่านะ เพราะช่วงขณะนั้นถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ) เพื่อนำมาห่อโลง ระหว่างพิธีแบกศพกลับบ้าน
- ครั้งสอง (ย้อนอดีต) ทอผ้าสีแดง เพื่อนำมาพันคานเพดานโรงเรียน ถือเป็นสิริมงคลสำหรับการขึ้นบ้านหลังใหม่
- ครั้งสาม (ย้อนอดีต) ทอผ้าสีขาว ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าเพื่ออะไร แต่สามารถสะท้อนสภาวะทางจิตใจหญิงสาว เต็มไปด้วยความห่วงโหยหา ครุ่นคิดถึงชายคนรัก ถึงขนาดได้ยินเสียงแว่วนึกว่าเขาหวนกลับมาแล้ว
อาหารการกินก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเก็บรักษา เพราะแต่ละท้องถิ่นก็จะมีเมนู สูตรอาหาร รสชาติที่แตกต่างกันไป โลกยุคสมัยใหม่มีแต่ความรวดเร็ว รีบร้อน ‘Fast Food’ อาหารสำเร็จรูปจากต่างชาติ กำลังค่อยๆเข้ามาแก่งแย่ง ทำลายวัฒนธรรมพื้นบ้านด้วยเช่นเดียวกัน
แซว: ผมค่อนข้างชื่นชอบมุมกล้องตำแหน่งนี้ เพราะจงใจไม่เห็นว่าใครเลือกจานของเจ้าได๋ สร้างความคลุมเคลือแบบไม่ให้เธอสูญเสียความเชื่อมั่นใจในตนเอง (คือถ้าผู้ชมเห็นว่าเป็นคนอื่นได้ไปจะรู้สึกผิดหวังและเสียดาย แต่เมื่อไม่รู้ว่าใครจึงไม่บังเกิดปฏิกิริยาอารมณ์ใดๆ)
เมื่อถึงคราวที่ลั่วชางหยูจะมารับประทานอาหารยังบ้านของเจ้าได๋ เธอตื่นแต่เช้าเข้าครัว แสดงฝีมือเสน่ห์ปลายจวัก เฝ้ารอคอยให้คุณครูที่รักเดินทางมาถึง ภาพสโลโมชั่นเพื่อเน้นย้ำช่วงเวลาแห่งความทรงจำ หญิงสาวก้าวออกมายืนตรงประตู แสงสว่างช่างดูเจิดจรัสจ้ากว่าปกติ ก้มศีรษะลงนิดๆ พร้อมรอยยิ้มฉ่ำ บิดมือม้วนตัว แสดงทีท่ากระอิดกระออด ระริกระรี้ กล้องค่อยๆเคลื่อน/ซูมเข้าหา เหมือนชักชวนให้สามีมาร่วมรัก (มากกว่ารับประทานอาหารเสียอีกนะ!) และที่โคตรน่าฉงนคือฟักทองลูกใหญ่ๆ กระเทียม พริกไทย ประดับฉากนี้ได้เหมือนภาพวาดงานศิลปะ … ตรงไหนกัน?
จางจื่ออี๋ น่ารักสุดๆก็ฉากนี้นะครับ!
เมื่อพบเห็นเจ้าได๋ทำเกี๋ยว (Dumplings) ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ To Live (1994) ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ของความสิ้นเปลือง สูญเสียเปล่า เด็กชายยูจินไม่มีโอกาสได้กินสักชิ้น! … คาดไม่ถึงว่าจะหนังเรื่องนี้จะใช้นัยยะแฝงเดียวกัน หญิงสาวอุตส่าห์ตั้งใจทำอย่างดี แต่ชายคนรักกลับไม่มีโอกาสได้รับประทาน เพราะเขาถูกทางการเรียกตัวให้เดินทางกลับเมืองใหญ่
แซว: ถ้าพบเห็นแป้งต้ม (Dumplings) ในภาพยนตร์เรื่องไหนของผู้กำกับจางอี้โหมว คาดเดาสิ่งกำลังจะเกิดขึ้น/นัยยะความหมายได้เลยละ!
นี่เป็นช็อตที่มีความหมายคลาสสิกมากๆ เส้นทางที่เจ้าได๋เดินไป-กลับ ซ้อนภาพด้านหน้า-หลัง เวียนวนซ้ำไปซ้ำมา ทุกวี่ทุกวัน เพื่อเฝ้ารอคอยการกลับมาของชายคนรัก และติดตามตากิ๊ฟหนีบผมที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอย … แล้ววันหนึ่งความทุ่มเทพยายามของเธอก็สัมฤทธิ์ผล
เหมือนการที่ผู้กำกับจางอี้โหมว และบรรดาผู้กำกับรุ่นห้า ต่างพยายามสรรค์สร้างภาพยนตร์ที่เน้นจุดขายด้านศิลปะ ขนบประเพณีพื้นบ้าน แสดงทัศนคติต่อต้านช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม เรื่องแล้วเรื่องเล่า ยาวนานมาตั้งแต่ 80s จนขณะนั้นเกือบๆสองทศวรรษ ประเทศจีนกำลังก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ ที่ความเพ้อใฝ่ฝันของพวกเขาได้รับการตอบสนองสักที!
กิ๊บหนีบผมที่ตกหล่นหาย และถ้วยกระเบื้องที่แตกร้าว สื่อถึงช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (1966-76) ที่สิ่งของล้ำค่าสำหรับชนชาวจีนได้ถูกทุบทำลาย สูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนพานผ่าน วันหนึ่งเจ้าได๋ค้นพบเจอกิ๊บหนีบผม (หล่นอยู่ตรงหน้าบ้าน) ถ้วยกระเบื้องได้รับการซ่อมแซมปะติดปะต่อเหมือนใหม่ (ด้วยวิธีการน่าทึ่งไม่น้อย) หมายถึงเรายังสามารถฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ให้หวนกลับมางดงามทรงคุณค่าได้อีกครั้ง
เช่นเช่นเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าได๋และลั่วชางหยู แม้มีช่วงเวลาที่ต้องพลัดพรากแยกจาก แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถหวนกลับมาพบเจอ ครองคู่รัก แต่งงาน อาศัยอยู่ร่วมกันจนฝั่งฝ่ายหนึ่งใดร่ำลาจากโลกนี้ไป
ผู้กำกับจางอี้โหมวใช้ ‘ฤดูกาล’ ที่ผันแปรเปลี่ยน สื่อแทนพัฒนาการความสัมพันธ์ และความรู้สึกภายในตัวละคร
- เจ้าได๋แรกพบเจอลั่วชางหยู น่าจะพอดิบพอดีกับฤดูใบไม้ผลิ (Spring) เกี้ยวพาราสีกันตลอดหน้าร้อน (Summer)
- เมื่อถึงตอนพลัดพรากจาก สังเกตจากสีของใบไม้น่าจะฤดูใบไม้ร่วง (Autumn)
- การมาถึงของฤดูหนาว (Winter) มอบความหนาวเหน็บถึงขั้วหัวใจ เมื่อไหร่ชายคนรักจะหวนกลับคืนมา
สีขาวโพลนของหิมะ (และผ้าสีขาว) สามารถแทนความว่างเปล่าภายในจิตใจของหญิงสาว ไม่สามารถครุ่นคิดทำอะไรอื่น ทุกวันคืนเพียงเฝ้ารอคอยการกลับมาของชายคนรัก (จะมองเป็นความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของตัวละครก็ได้นะครับ)
ช่วงระหว่างพิธีแบกศพกลับบ้าน มีไดเรคชั่นการนำเสนอที่น่าอึ้งทึ่งมากๆ ผู้ชมสามารถมองเห็นขบวนแห่จากทั้งระยะไกล (Extreme-Long Shot) และผู้คนกำลังก้าวเดินประชิดใกล้ (Medium Shot) ในภาพช็อตเดียวกัน ด้วยเทคนิคซ้อนภาพ (Double Exposure)
แล้วมันยังมีช็อตที่ถ่ายจากด้านหน้าขบวนแห่ ซ้อนภาพจากข้างหลัง! มันอาจไม่ได้ดูสวยงาม (บางคนอาจสังเกตไม่ออกด้วยซ้ำ) แต่แฝงนัยยะเกี่ยวกับช่วงเวลาอดีต-ปัจจุบัน สองสิ่งขั้วตรงข้ามกำลังเกิดการซ้อนทับกัน!
นี่เป็นอีกช็อตซ้อนภาพที่น่าอึ้งทึ่งเช่นเดียวกัน เจ้าได๋ยามแก่ชราซ้อนทับใบหน้าตนเองเมื่อครั้นยังสวยสาว ในเหตุการณ์ที่เวียนวนหวนกลับมาเกิดขึ้น จากชายคนรักลั่วชางหยู ส่งต่อให้กับบุตรชายลั่วหยูเซ็ง ถึงเขาจะไม่ได้เป็นครูตามบิดา แต่จิตวิญญาณความเป็นครูก็ไม่เคยเสื่อมคลายลงไป
หลายคนอาจตีความจากภาพนี้ว่า เจ้าได๋กำลังหวนรำลึกถึงอดีต และออกวิ่งไปตามความทรงจำที่สวยงาม แต่ถ้าเราครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ช่วงปัจจุบันทั้งหมดในหนัง สังเกตว่าประเพณีที่เคยถูกลบเลือน สูญหาย (ในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) พิธีแบกศพ ทอผ้า ฯ ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ บุตรชายยินยอมทำตามคำเรียกร้องของมารดา (และการมาร่วมงานของลูกศิษย์ลูกหามากมาย) นั่นแสดงถึงจิตสำนึก คนรุ่นใหม่เริ่มรับรู้เห็นคุณค่าของอดีต
ด้วยเหตุนี้ผมเลยมองการทับซ้อนระหว่างอดีต-ปัจจุบัน คือการมุ่งสู่อนาคตที่สองช่วงเวลามาบรรจบ ซ้อนทับ และสามารถดำเนินต่อไปวันข้างหน้าร่วมกันได้ในที่สุด! (นั่นคือประเพณีวัฒนธรรมจากอดีต(ที่ดีงาม) ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตชาวจีนอีกครั้ง!)
ตัดต่อโดย Zhai Ru (1963-2006) เจ้าของฉายา ‘Golden Scissors’ โด่งดังจากการร่วมงานผู้กำกับจางอี้โหมว อาทิ Not One Less (1999), The Road Home (1999), Hero (2002) ฯ
ดำเนินเรื่องผ่านมุมมองและจินตนาการของบุตรชายลั่วหยูเซ็ง ช่วงระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดยังชนบทต่างจังหวัด เพื่อมาร่วมงานศพของบิดา เพ้อฝันถึงเรื่องราวในอดีต จุดเริ่มต้นความรักของพ่อ-แม่ ลั่วชางหยู-เจ้าได๋ พร้อมเสียงบรรยาย(โดยลั่วหยูเซ็ง)ที่มักเน้นย้ำว่ารับฟังจากเรื่องเล่าของมารดา (ด้วยเหตุนี้มุมมองในขณะย้อนอดีต จึงใช้สายตาของเจ้าได๋เป็นหลัก)
- ลั่วหยูเซ็งเดินทางกลับบ้านเกิดยังชนบทต่างจังหวัด
- พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้านถึงข้อเรียกร้องของมารดา ต้องการให้มีทำพิธีแบกศพกลับบ้าน
- หลังจากโน้มน้าวมารดาไม่สำเร็จ พบเห็นภาพถ่ายของพวกเขาเมื่อครั้งยังหนุ่ม-สาว จึงครุ่นคิดทบทวน จินตนาการถึงอดีต
- (Flashback) ย้อนอดีตจากจินตนาการของลั่วหยูเซ็ง
- เจ้าได๋แรกพบเจอตกหลุมรักลั่วชางหยู
- ระหว่างกำลังสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เจ้าได๋พยายามใช้เสน่ห์ปลายจวักเพื่อสร้างความยั่วเย้ายวน ให้เขาลุ่มหลงใหล (แต่ก็ไม่รู้ใครรับประทานจานของเธอ)
- เมื่อโรงเรียนเปิดการสอน เจ้าได๋พยายามหาหนทางเข้าชิดใกล้ลั่วชางหยู จนเขาพบเห็นแล้วบังเกิดความสนใจ
- เมื่อถึงคราวรับประทานอาหารที่บ้านของเจ้าได๋ จึงใช้เสน่ห์ปลายจวัก ครานี้สามารถทำให้เขาลุ่มหลงใหลเธอขึ้นมาจริงๆ
- ลั่วชางหยูถูกทางการเรียกตัวเข้าเมืองใหญ่ ให้คำสัญญาจะหวนกลับมา เจ้าได๋จึงเฝ้ารอคอยอย่างไม่ลดละ
- เมื่อเลยวันครบกำหนดสัญญา เธอต้องการก้าวออกเดินทางสู่เมืองใหญ่ แต่ท่ามกลางพายุหิมะตกหนักจึงไปไหนได้ไม่ไกล
- เมื่อฟื้นคืนสติก็ยินดีปรีดาที่เขาหวนกลับ แต่ก็แค่ระยะเวลาสั้นๆเพราะหลังจากนั้นต้องกลับไปรับโทษทัณฑ์อีกสองปีกว่า ถึงได้ปล่อยตัว และทั้งสองก็ครองคู่อยู่ร่วมตราบจนวันตาย
- หวนกลับมาปัจจุบัน พิธีแบกศพกลับบ้าน และอนาคตหลังจากนี้
- ลั่วหยูเซ็งตัดสินใจทำตามคำร้องของมารดา เข้าไปพูดคุยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมออกค่าใช้จ่ายทุกอย่างสำหรับเตรียมการ
- ระหว่างกำลังแบกศพกลับบ้าน มีลูกศิษย์ลูกหามาเข้าร่วมพิธีมากมาย ผลัดกันแบก ผลัดกันหาม ไม่มีใครยินยอมรับค่าจ้างสักหยวนเดียว
- ผู้ใหญ่บ้านเล่าถึงความฝันสุดท้ายของลั่วชางหยู ต้องการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เงินที่หลงเหลือเลยร่วมบริจาคสมทบทุน
- เพื่อตอบสนองความต้องการของมารดา ลั่วหยูเซ็งเลยเปิดห้องเรียน สอนหนังสือเด็กๆ ก่อนเดินทางกลับเมืองใหญ่ (เคยเพ้อฝันเป็นครูสอนหนังสือ แต่ภายหลังกลับแปรเปลี่ยนความตั้งใจ)
เรื่องราวของหนังในช่วงย้อนอดีต (Flashback) มีเนื้อหาที่เบาบางมากๆ แต่กลับสามารถยืดยาวเกือบๆเต็มชั่วโมง นั่นเพราะลีลาตัดต่อของ Zhai Ru ที่มักสลับไปมาระหว่างภาพพบเห็น-ใบหน้าของเจ้าได๋ นำเสนอปฏิกิริยาอารมณ์หญิงสาว ในแทบทุกๆเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการสร้างความสนิทสนมให้ผู้ชม ตกหลุมรักตัวละคร และส่งกำลังใจให้สมหวังทุกความปรารถนา
ส่วนไฮไลท์การตัดต่อต้องยกให้ช่วงท้ายตอนจบ เมื่อบุตรชายลั่วหยูเซ็งทำตามคำร้องขอมารดา เปิดห้องเรียนสอนเด็กๆท่องอ่านหนังสือ แล้วมีการซ้อนทับทั้งภาพและเสียง เมื่อครั้นบิดาลั่วชางยูเคยทำการสอนสั่งนักเรียนในอดีต, หลายคนตีความฉากนี้ถึงการหวนรำลึก ‘Remembrance’ ยกย่องอดีตมีความสวยสดงดงามกว่าปัจจุบัน แต่ผมกลับครุ่นคิดเห็นต่างออกไปถึงสองช่วงเวลาได้มาบรรจบ และกำลังดำเนินสู่อนาคต โลกใบใหม่!
เพลงประกอบโดย Na Risong (เกิดปี 1968, ที่โฮฮอต เขตการปกครองมองโกเลียใน) เริ่มเรียนไวโอลินตั้งแต่อายุ 4 ขวบ, เปียโนตอน 11 ขวบ, พออายุ 13 ปี ได้เข้าศึกษายัง Central University for Nationalities ติดตามด้วย Central Conservatory of Music ค้นพบความหลงใหลในดนตรียุโรปและอเมริกัน (American Pop Music) ใช้ชื่อในวงการ Sanbao มีผลงานทั้งเพลงป็อป ประกอบภาพยนตร์ อาทิ Not One Less (1999), The Road Home (1999) ฯ
บทเพลงส่วนใหญ่ของหนังใช้เครื่องดนตรีสากลตะวันตก จัดเต็มวงดนตรีออเคสตร้า เพื่อสร้างบรรยากาศ ‘เหมือนฝัน’ จินตนาการจากเรื่องเล่าความทรงจำ อดีตที่แสนงดงาม เต็มไปด้วยแสงสีสัน สว่างสดใส แต่ก็มอบสัมผัสอันเวิ้งว่างเปล่า โหยหาห่างไกล เพราะเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นพานผ่านไปแล้ว ไม่มีวันหวนย้อน(อดีต)ให้กลับคืนมาเหมือนเก่า
ต้องยืนปรบมือให้กับ Sanbao แต่งเพลงได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ซาบซึ้งตรึงใจ จดจำง่ายตั้งแต่ครั้งแรกได้ยิน โดยเฉพาะ Main Theme จะดังซ้ำไปซ้ำมาในแทบทุกสถานการณ์ จนช่วงท้ายก็เหมือนความสัมพันธ์ตัวละคร ไม่ต้องการพลัดพรากจากลา ธารน้ำตาเล็ดไหลรินออกมา จดจำช่วงเวลาอันทรงคุณค่านี้ไว้ตราบจนนิรันดร์
เพราะพิธีแบกศพกลับบ้าน คือประเพณีท้องถิ่นมีมาแต่โบราณกาล บทเพลง Funeral เลยเลือกใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน ขลุ่ยจีน บรรเลงแทนท่วงทำนองหลักของ Main Theme เพื่อมอบสัมผัสโหยหาอาลัย จิตวิญญาณล่องลอยไป (ขณะที่คนตายวิญญาณล่องลอยออกจากร่าง, ส่วนคนเป็นจักมีสภาพเหม่อลอย เหมือนคนสูญเสียจิตวิญญาณ)
เส้นทางรักนิรันดร์ (ชื่อไทย) คือบทกวีรำพันถึงอดีต ความทรงจำ จินตนาการคนรุ่นใหม่ต่อเรื่องราวความรักของบิดา-มารดา ตั้งแต่แรกพบเจอ ตกหลุมรัก มีเหตุให้ต้องพลัดพรากจาก สามารถหวนกลับมาครองคู่แต่งงาน และอาศัยอยู่ร่วมกันตราบจนอีกฝั่งฝ่ายม้วยมรณา
ความรู้สึกที่ผู้ชมส่วนใหญ่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้ คือความงดงาม ซาบซึ้ง ตราตรึงในความสวยสดงดงามของอดีต แม้คนรุ่นใหม่ไม่เคยมีชีวิตพานผ่านช่วงเวลาดังกล่าว (ไม่มีการระบุช่วงเวลาทศวรรษไหน คาดการณ์น่าจะประมาณยุค 50s-60s ก่อนการปฏิวัติทางวัฒนธรรม) แต่จักบังความโหยหา ใคร่ครวญ เพ้อใฝ่ฝันถึง อยากมีโอกาสได้พบเจอรักแท้บริสุทธิ์ ซื่อสัตย์มั่นคง ยินยอมใช้ชีวิตครองคู่ตราบชั่วนิรันดร์
อดีตที่หนังพยายามนำเสนอนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของความรักบิดา-มารดา สังเกตให้ดีจะพบเห็นเต็มไปด้วยขนบประเพณี วิถีชีวิตที่ผิดแผกแตกต่างจากปัจจุบัน (ค.ศ. 1999) เพราะประเทศจีนมีเหตุการณ์ปฏิวัติทางวัฒนธรรมช่วงระหว่าง 1966-76 ซึ่งทำการทุบทำลายอดีต (เพื่อสร้างอนาคตใหม่) สิ่งต่างๆเหล่านั้นจึงสูญหายมลายสิ้น หลงเหลืออยู่เพียงในความทรงจำของคนเก่าก่อน เล่าสู่กันฟังให้คนรุ่นหลัง
ตั้งแต่ผลงานเรื่องแรกๆของจางอี้โหมว มักซุกซ่อนเร้นใจความต่อต้านคอมมิวนิสต์ (Anti-Communist) เต็มไปด้วยอคติต่อช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม มาจนกระทั่งภาพยนตร์ Not One Less (1999) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล (แต่เรื่องนี้ก็ยัดไส้ได้อย่างแนบเนียนสุดๆ) คาดว่าคงเริ่มพบเห็นความจริงจังต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ในส่วนศิลปะวัฒนธรรมมีการออกนโยบายส่งเสริมสนับสนุน ฟื้นฟูสิ่งเคยสูญเสียหายไปจากทศวรรษนั้น แม้ไม่ใช่ทุกสิ่งอย่างจักสามารถหวนกลับคืนมา แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตใหม่ อดีตและปัจจุบันสามารถดำเนินเคียงข้างกันไป … นี่ถือเป็นครั้งแรกๆที่ผมรู้สึกว่า จางอี้โหมวไม่ได้แสดงอคติอันเกรี้ยวกราดต่อรัฐบาล/พรรคคอมมิวนิสต์ ตรงกันข้ามเหมือนจะชื่นชมในการเปลี่ยนแปลงนี้เสียด้วยซ้ำ!
The Road Home (1999) ชื่อหนังหมายความตรงๆถึงเส้นทางกลับบ้าน หรือคือการเดินทางหวนกลับสู่จุดเริ่มต้น = จางอี้โหมวกลับไปสร้างภาพยนตร์ที่ซีอาน (บ้านเกิดของผู้กำกับ) นับตั้งแต่ Shanghai Triad (1995) = ประเทศจีนกำลังก้าวสู่ยุคสมัยฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม (อะไรเคยสูญเสียเมื่อครั้นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม กำลังจะหวนกลับมาอยู่ในกระแสหลักอีกครั้ง)
ถ้าพูดถึงประเด็นความรัก ภาพยนตร์เรื่องนี้ย่อมสะท้อนอุดมคติหญิงสาวในความต้องการของจางอี้โหมว หลังผิดหวังต่อการเลิกรากับกงลี่ (ที่ไม่ได้มีความซื่อสัตย์จริงใจแบบเจ้าได๋เลยสักนิด!) คงเริ่มมองหาความสัมพันธ์ครั้งใหม่ และกำลังจะได้พบคู่แท้ (แบบเจ้าได๋เปะๆเลยนะ) อีกไม่นานเกินรอ
อดีตในความทรงจำของจางอี้โหมว ถือว่าเต็มไปด้วยแสงสีสัน มีความสวยสดใส กระทั่งปัจจุบันนี้ (เมื่อปี 1999) เขาก็เริ่มมองเห็นถึงอนาคตใหม่ ประเทศจีนกำลังมุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาที่น่าสนใจ … นี่เฉพาะในส่วนศิลปะวัฒนธรรมเท่านั้นนะครับ! แง่มุมอื่นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ก็ยังเห็นจัดเต็มในการวิพากย์วิจารณ์ แสดงความครุ่นคิดเห็น ซุกซ่อนเร้นอย่างมิดชิดภายใต้ภาษาภาพยนตร์
หนังเข้าฉายในประเทศจีนช่วงตุลาคม 1999 จากนั้นส่งเข้าร่วมงานเทศกาลหนังเมือง Berlin ปี 2000 พ่ายรางวัล Golden Bear ให้ภาพยนตร์ Magnolia (1999) ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson แต่ยังสามารถคว้ามาที่สองมาปลอบใจ
- Silver Berlin Bear: Jury Grand Prix (ที่สอง)
- Prize of the Ecumenical Jury: Competition (ในสายการประกวด)
ความสวยงามของทิวทัศน์ อดีตที่เต็มไปด้วยแสงสีสันของหนัง สวมควรค่าอย่างยิ่งแก่การบูรณะ สแกนคุณภาพ 4K แต่คงต้องต่อแถวรอคิวอีกสักพักใหญ่ๆ ปัจจุบันสามารถหารับชมออนไลน์ทั่วๆไป Netflix ก็มีฉายอยู่นะ
ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังในความเรียบง่าย ไม่ได้มีอะไรให้ต้องครุ่นคิดมากมาย ภาพสวยๆเพลงไพเราะ จางจื่ออี๋กำลังน่ารักน่าชัง แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมความผิดหวังต่อตัวผู้กำกับอยู่เล็กๆ เพราะเนื้อเรื่องราวที่ค่อนข้างจืดจาง มุ่งเน้นการบีบเค้นคั้นน้ำตา (Tearjerker) ผมรู้สึกว่ายัดเยียด JERK (แปลว่า งี่เง่า) มากเกินไปสักหน่อย!
แนะนำคอหนังรักโรแมนติก กุ๊กกิ๊กหวานแหวว บีบเค้นคั้นน้ำตา (Tearjearker) ภาพสวย-เพลงเพราะ, แนะนำโดยเฉพาะตากล้อง ช่างถ่ายภาพ ชื่นชมความงดงามของทิวทัศน์สวยๆ ชนบทต่างจังหวัด, แฟนๆผู้กำกับจางอี้โหมว และนักแสดงจางจื่ออี๋ ในบทบาทแจ้งเกิดโด่งดัง
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply