La Règle du Jeu (1939) : Jean Renoir ♠♠♠♠♠
(9/2/2018) คำว่า Game ในวงการอาหารมักคือกระต่าย หรือสัตวปีกที่ได้จากการล่า ซึ่งชื่อหนัง The Rules of the Game อาจแปลได้ว่ากฎแห่งการเล่นเกม/ล่าสัตว์ แต่ใจความของภาพยนตร์เรื่องนี้จริงๆแล้ว คือการสะท้อนตีแผ่เสียดสี จำลองวิถีโลกทั้งใบ ความไร้สาระของสังคมชั้นสูง และความบอบบางของผู้คนชนชั้นล่าง, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เพราะช่วงนี้มีเหตุการณ์ข่าวใหญ่หนึ่ง มหาเศรษฐีเมืองไทยถูกจับขณะเข้าป่าล่าสัตว์ ผมมาครุ่นคิดว่า จะมีภาพยนตร์เรื่องไหนสามารถสะท้อนความเห็นแก่ตัว ไร้สามัญสำนึก นำเสนอออกมาได้ทรงพลังอลังการที่สุด … ก็มานึกถึง The Rules of the Game ภาพยนตร์ Masterpiece ได้รับการยกย่องอันดับ 1 ตลอดกาลของประเทศฝรั่งเศส (ถ้าทั่วโลกก็มักเป็นที่สองรองจาก Citizen Kane) แม้จะไม่ใช่เข้าป่าล่าสัตว์ แต่การยิงกระต่ายน้อยที่แสนบริสุทธิ์ไร้เสียงสา และมีเรื่องราวสะท้อนความน่าอัปลักษณ์ของสังคมชั้นสูงสมัยก่อน น่าจะถือว่าใกล้เคียงกับสิ่งกำลังเกิดขึ้นนี้ที่สุดแล้วกระมัง
กระนั้นการจะรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เกิดความเข้าใจ มีความยากระดับมากที่สุด (Veteran Level) ต้องใช้ประสบการณ์อย่างสูงถึงจะมองเห็นเข้าใจ สัมผัสซึ้งถึงความสวยงามในทุกกระเบียดวินาที ผมเองดู The Rules of the Game มาสามสี่รอบก่อนหน้านี้ บอกเลยว่าจนปัญญาที่จะตรัสรู้ แต่ก็พอรู้ได้ถึงอะไรบางอย่างสุดแสนเลอค่า
หวนกลับมารับชมครานี้ คิดว่ามีความเข้าใจประมาณ 70% ของหนัง แต่ก็น่าจะเพียงพอนำเสนอความยิ่งใหญ่ให้ใครๆหลายคนที่ส่ายหัว ได้เห็นประกายแสงเล็กๆ ส่องสว่างผ่านน้ำขุ่นโคลนตม งอกเงยขึ้นเหนือน้ำได้สักนิดก็ยังดี
Jean Renoir (1894 – 1979) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Montmartre, Paris ลูกชายคนรองของจิตรกรชื่อดัง Pierre-Auguste Renoir เติบโตขึ้นโดยการเลี้ยงดูของแม่เลี้ยง Gabrielle Renard ตั้งแต่เด็กพาเขาไปรับชมภาพยนตร์จนเกิดความชื่นชอบหลงใหล ไม่ชื่นชอบการเรียน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัครเป็นทหารม้า (French Cavalry) ถูกยิงที่ขาทำให้พิการ กระเผกไปมาเลยนั่งดูหนังซ้ำแล้วซ้ำอีกของ Charlie Chaplin, D. W. Griffith, Erich von Stroheim นำเงินจากการขายภาพวาดของพ่อมาซื้อกล้อง ถ่ายทำหนังเงียบจนมีโอกาสได้นำออกฉาย เริ่มประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงจาก La chienne (1931), Boudu Saved From Drowning (1932), Le Crime de Monsieur Lange (1935), โด่งดับระดับนานาชาติครั้งแรกกับ La Grande Illusion (1937) คว้ารางวัล Best Artist Ensemble จากเทศกาลหนังเมือง Venice แถมยังเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่เข้าชิง Oscar: Best Picture, และผลงานได้รับการยกย่องว่าเป็น Masterpiece คือ La Règle du Jeu (1939)
เกร็ด: ภาพของ Jean Renoir วัยเด็ก วาดโดย Pierre-Auguste Renoir แม้จะถือปืน แต่เขาไม่เคยชื่นชอบการฆ่าล่าสัตว์แม้แต่น้อย
จากความสำเร็จของ La Grande Illusion (1937) และผลลงานเรื่องถัดๆมา ทำให้ Renoir มีเงินมากพอจะก่อตั้งบริษัทของตนเอง ตั้งชื่อว่า Nouvelle Édition Française (NEF) เมื่อปี 1938 เลียนแบบสตูดิโอ United Artists ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1919 (โดย Charlie Chaplin, Douglas Fairbanks, D.W. Griffith และ Mary Pickford) เพื่อสร้างภาพยนตร์อิสระ โดยไม่ต้องพึ่งตรงต่อโปรดิวเซอร์หน้าเลือดหรือสตูดิโอใหญ่
เกร็ด: กระนั้น The Rules of the Game กลับคือภาพยนตร์เรื่องแรกเรื่องเดียวของสตูดิโอนี้ เพราะใช้ทุนสร้างมหาศาลสูงสุดของฝรั่งเศสขณะนั้น แต่ขาดทุนย่อยยับเยิน แถมยังโดนแบนห้ามฉายอีก!
หลังเสร็จจาก La Marseillaise (1938) ผู้กำกับ Renoir มีความสนใจสร้างภาพยนตร์ Comedy เพราะเริ่มรับรู้สถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรป สงครามใกล้กำลังปะทุเข้ามา จึงต้องการสร้าง ‘happy dream’ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความพักผ่อนคลาย พัฒนาบทภาพยนตร์ตั้งชื่อว่า Les Millions d’Arlequin รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินยุค Classical French อาทิ Pierre de Marivaux, Pierre-Augustin Caron de Beaumarchais, โดยเฉพาะบทละครเรื่อง Les Caprices de Marianne (1833) เขียนโดย Alfred de Musset ถือเป็นแรงบันดาลใจหลักของหนัง
เกร็ด: Les Caprices de Marianne (แปลว่า The Moods of Marianne) เป็นเรื่องราววุ่นๆของ 4 ตัวละคร ภรรยาผู้ไร้เดียงสา (Marianne), สามีขี้หึง (Claudio), ชู้หนุ่มอาภัพรัก (Coelio) และเพื่อนสนิทจอมจุ้นจ้าน (ชื่อ Octave), สามารถแทนพวกเขาเข้ากับตัวละครหลักๆในหนังได้เลย และไคลน์แม็กซ์ลงเอยตอนจบแบบเดียวกันเปะ
เสร็จจากสร้างภาพยนตร์อีกเรื่อง La Bête Humaine (1938) จึงเริ่มเดินหน้าโปรเจคนี้ ร่วมพัฒนาบทกับ Carl Koch (1892 – 1963) นักเขียน/ผู้กำกับ สัญชาติเยอรมัน สามีของ Lotte Reiniger [ผู้สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง The Adventures of Prince Achmed (1926)] พวกเขาได้พบเจอกันตอน Renoir ไปถ่ายทำ La Grande Illusion ที่ประเทศ Germany และยังช่วยทำวีซาให้ทั้งสองอพยพหนีออกมาจาก Nazi, ซึ่งหนังเรื่องนี้ Koch ยังรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้กำกับอีกด้วย
“[My] ambition when I made the film was to illustrate this remark: we are dancing on a volcano.”
– Jean Renoir
สไตล์การทำงานของ Renoir เป็นผู้กำกับที่ชื่นชอบการ ‘improvise’ เปลี่ยนแปลงแก้ไขระหว่างถ่ายทำอยู่ตลอดเวลา บางฉาก 40-50 เทค ไม่ใช่ต้องการความสมบูรณ์แบบ หรือเพราะนักแสดงเล่นไม่ดี แต่เมื่อครุ่นคิดอะไรใหม่เพิ่มได้ (บทสนทนา, ไดเรคชั่น ฯ) ก็จะแทรกใส่เข้าไปทันที นั่นทำให้เทคก่อนหน้าที่ถ่ายมาใช้ไม่ได้โดยอัตโนมัติ กระนั้นทุกฉากจะมีพัฒนาการความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา
เรื่องราวของนักบินข้ามทวีป André Jurieux (รับบทโดย Roland Toutain) ตกหลุมรักหญิงสาวชั้นสูง Christine (รับบทโดย Nora Gregor) แต่งงานแล้วกับสามี Robert (รับบทโดย Marcel Dalio) [มีชู้คือ Geneviève de Marras (รับบทโดย Mila Parély)] เพียงเพราะไม่ได้มาต้อนรับเขาที่สนามบิน ทำให้ชายหนุ่มท้อแท้สิ้นหวังอยากจะฆ่าตัวตาย เพื่อนสนิท Octave (รับบทโดย Jean Renoir) จึงต้องออกปากจะขอให้เขาได้รับเชิญมายังคฤหาสถ์ La Colinière, Sologne เพื่อร่วมกิจกรรมล่าสัตว์ และงานเลี้ยงสังสรรค์
สำหรับกลุ่มคนใช้/ชนชั้นล่าง Lisette (รับบทโดย Paulette Dubost) คนรับใช้สาวของ Christine แต่งงานแล้วกับสามีที่เป็น Gamekeeper (คนดูแลสัตว์ที่เลี้ยงไว้สำหรับการล่า) ชื่อ Edouard Schumacher (รับบทโดย Gaston Modot) แต่พวกเขาก็ไม่ได้สวีทโรแมนติกอะไรกันนัก จนกระทั่งเธอได้พบกับ Marceau (รับบทโดย Julien Carette) ที่เป็นพรานดักกระต่าย ได้รับการว่าจ้างจาก Robert ให้มาทำงานในบ้าน ซึ่งระหว่างที่พวกเขาพรอดรักกันก็ถูก Edouard พบเห็นจับได้ มาดหวังต้องการใช้ปืนส่องกระบานฆ่าให้ตาย แต่กลับ…
รวมแล้วตัวละครหลักๆของหนังมีทั้งหมด 8 คน สามารถแบ่งออกได้เป็น
ชนชั้นสูง
– Robert ไฮโซเชื้อสาย Jews เจ้าของคฤหาสถ์ La Colinière, สามีของ Christine, มีชู้รักคือ Geneviève
– Christine หญิงสาวไฮโซที่มาจากประเทศ Austria, ภรรยาของ Robert
– Geneviève de Marras หญิงสาวไฮโซชู้รักของ Robert
ชนชั้นกลาง
– André Jurieux นักขับเครื่องบิน ตกหลุมรัก Christine
– Octave เพื่อนสนิทของ Christine มองเธออย่างลูก/น้องสาว แต่เบื้องลึกก็อยากเป็นคนรัก
ชนชั้นล่าง
– Lisette คนใช้ส่วนตัวของ Christine ภรรยาของ Edouard ชู้รักของ Marceau
– Edouard Schumacher เป็น Gamekeeper สามีของ Lisette
– Marceau พรานดักสัตว์ ขัดรองเท้า, ชู้รักของ Lisette
เรื่องราวความสัมพันธ์รัก-ชู้สาว ของชนชั้นสูง จะสะท้อนคล้ายคลึงกับเรื่องราวความรัก-ชู้สาว ของชนชั้นล่าง
– Adultery: Robert แต่งงานแล้วกับ Christine แต่เป็นชู้รักกับ Geneviève
– Adultery: Lisette แต่งงานแล้วกับ Edouard แต่เป็นชู้รักกับ Marceau
– Hidden Love: André ทะเยอทะยานตกหลุมรัก Christine แต่สุดท้ายก็ถูก…จากไป
– Hidden Love: Octave แม้ทะเยอทะยานรักกับ Christine แต่ก็ถูก Lisette พูดโน้มน้ามจนเหตุการณ์ตอนท้าย เขาจึงตัดสินใจจากไปเช่นกัน
– Sismance: Christine แม้จะไม่ชอบ Geneviève แต่ก็เหนี่ยวรั้งให้เธออยู่จนงานเลี้ยงจบ
– Bromance: Edouard อยากฆ่า Marceau แทบตาย สุดท้ายเป็นพันธมิตรเพื่อออกล่า
สำหรับนักแสดง ตอนแรก Renoir ต้องการยกชุดทีมงานที่เคยร่วมงานจาก La Bête Humaine แต่แทบทุกคน Fernand Ledoux, Simone Simon, Jean Gabin ต่างหาข้ออ้างติดอย่างอื่นกันหมด สุดท้ายเลยยกชุดใหม่มาเลย
Marcel Dalio ชื่อเดิม Israel Moshe Blauschild (1899 – 1983) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris มีเชื้อสาย Romanian-Jewish เข้าเรียนการแสดงที่ Paris Conservatoire โด่งดังกับละครเวที ประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์เรื่อง Pépé le Moko (1937), La Grande Illusion (1937), The Rules of the Game (1939) ฯ รับบท Robert มหาเศรษฐีไฮโซเจ้าของคฤหาสถ์ La Colinière เป็นคนขี้อิจฉาริษยา แต่งงานกับ Christine ไม่ได้ด้วยรักแต่เพื่อธำรงฐานะทางการเงิน ลักลอบมีชู้กับ Geneviève ไม่ใช่ภรรยาไม่รู้แต่เพราะเขายืนกรานว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ ชื่นชอบสะสมของเล่นตุ๊กตาไขลาน กล่องเพลง เคลื่อนไหวได้เฉพาะเมื่อถูกสั่งกำหนดมาเท่านั้น (นัยยะสื่อถึงเป็นคนชอบควบคุม ชักใย บงการผู้อื่น)
Nora Gregor ชื่อเดิม Eleonora Hermina Gregor (1901 – 1949) เกิดที่ Gorizia, Austria-Hungary (ปัจจุบันประเทศ Italy) เชื้อสาย Jews เข้าสู่วงการภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคสมัยหนังเงียบ รับงานละครเวทีควบคู่ไปด้วย เห็นว่าเป็นนักแสดงที่โด่งดังมากในประเทศ เพราะสามีคนที่สองลักลอบเป็นชู้จนได้แต่งงานกับเจ้าชาย Ernst Ruediger von Starhemberg แห่ง Austrian แต่ภายหลังต้องอพยพลี้ภัยสู่ฝรั่งเศสผ่าน Switzerland เมื่อปี 1938 เพื่อสามีได้เข้าร่วมกลุ่ม Free French เลยได้มีโอกาสแสดง The Rules of the Game (1939), รับบท Christine หญิงสาวไฮโซจากประเทศ Austrian แต่งงานคงด้วยเรื่องเงินเป็นหลัก (เหมือนชีวิตจริงของ Gregor มากๆ) แต่ด้วยความใสซื่อบริสุทธิ์โดยไม่รู้ตัวเอง เผลอทำให้ชายหนุ่ม André Jurieux เคลิ้บหลงใหลต้องการครองรัก ในขณะที่ความต้องการแท้จริง (แต่เหมือนพูดไปงั้นๆ) ชื่นชอบเพื่อนสนิท Octave สุดท้ายจะได้ครองคู่กับใครนะ…
เห็นว่าระหว่างถ่ายทำ Renoir พบว่าตัวเองไม่ประทับใจการแสดงของ Gregor แม้แต่น้อย ในตอนแรกที่เลือกเพราะความดูดีมีระดับเหมือนไฮโซคนชั้นสูง (และเพราะ Simone Simon เรียกค่าตัวสูงเกินไป) ภายหลังเลยพยายามลดตัดทอนบทบาทของเธอลงพอสมควร, โดยส่วนตัวก็รู้สึกว่าเป็นการแสดงไม่ค่อยดีเท่าไหร่จริงๆนะ เก้งๆก้างๆ เหมือนคนแสดงไม่เป็นมากกว่าบริสุทธิ์ใสซื่อไร้เดียงสา แถมดูแก่เกินวัยไปนิดนึงด้วย ได้ดีเพราะสามีล้วนๆเลยสินะ
Mila Parély นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris สืบเชื้อสายมาจาก Polish โด่งดังจากการรับบทพี่สาว Belle เรื่อง La Belle et la Bête (1946) และอีกไฮไลท์ก็คือ The Rules of the Game (1939), รับบท Geneviève de Marras คนรักไฮโซของ Robert ชื่นชอบของสะสมจากประเทศจีน/เอเชีย แต่ตัวเองกลับกำลังเรียนประวัติศาสตร์อเมริกัน (อินเดียแดง) หลังจากถูกชู้บอกเลิกตั้งใจจะจากงานเลี้ยงไปแล้ว แต่ได้รับการเหนี่ยวรั้งโดยมิตรภาพของ Christine ภายหลังกลายเป็นบ้าเสียสติแตก กรี๊ดร้องลั่นบ้านจนต้องปิดขังล็อคห้อง
Roland Toutain (1905 – 1977) นักแสดง สตั๊นแมนสัญชาติฝรั่งเศส แม้มีผลงานการแสดงกว่า 50 เรื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นสมทบ มีงานอดิเรกเป็นนักบิน ได้รับการจดจำสูงสุดก็บทบาทจากหนังเรื่องนี้ (เห็นว่าขับเครื่องบินเข้าฉากเองด้วยนะ), รับบท André Jurieux นักบินผู้โหยหายในรัก ทั้งๆที่เป็นฮีโร่ของชาติแต่กลับทำตัวเหมือนเด็กไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ทั้งนี้เพราะความที่เขากลายเป็นคนมีชื่อเสียง เลยมีโอกาสได้รับเชิญจากคนชั้นสูงให้ร่วมพบปะสังสรรค์ แต่ความเพ้อฝันทะเยอทะยานของเขาก็ต้องสะดุดลงด้วยเงื้อมมือของคนชนชั้นล่าง
เดิมนั้น Octave มอบให้ Pierre Renoir พี่ชายแท้ๆของผู้กำกับรับบท เพราะความล่าช้าของโปรเจคทำให้ติดงานแสดงละครเวทีที่รับปากไว้ก่อนแล้ว พูดคุยขอ Michel Simon แต่ไม่ว่าง สุดท้าย Jean Renoir เลยตัดสินใจเล่นบทนี้เอง, Octave คือ ‘Sad Crown’ ชายร่างท้วมเพื่อนตั้งแต่สมัยเด็กของ Christine เดินทางมาอยู่ฝรั่งเศสด้วยกัน เคยตกหลุมรักหลงใหลแต่ปัจจุบันคิดกับเธอแบบน้อง/ลูกสาว กระนั้นในใจลึกๆยังอยากได้มาครอบครอง มีโอกาสพบเจอรู้จักกับ André Jurieux เพราะความที่เกือบตายรอดมาได้เลยตัดสินใจยอมช่วยเหลือ แถมยังตัดสินใจผลักดันในช่วงท้ายเพราะถูกโน้มน้าวให้คิดว่าตนเองไม่คู่ควร แต่ก็ทำให้ชายหนุ่มพบกับ…
ก็ไม่ใช่ว่า Jean Renoir จะเป็นนักแสดงยอดฝีมือเก่งกาจอะไร สังเกตเห็นว่าตัวละครมีการปั้นแต่งเป็นอย่างมาก ดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเสียเท่าไหร่ (แต่ฉากกระแทกอารมณ์ถือว่าใช้ได้เลยนะ ก็ยังดูดีกว่า Gregor) แม้โปรดิวเซอร์ของหนังจะไม่ค่อยประทับใจการแสดงของเขาเท่าไหร่ ขอให้ตัดบทตัวเองออกไป แต่เรื่องอะไรจะยินยอม เพราะนี่เป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญมากยิ่งเลยละ
Paulette Dubost (1910 – 2011) นักแสดงหญิงสัญชาติฝรั่งเศส เริ่มอาชีพการแสดงละครเวทีตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ที่ Paris Opera สู่วงการภาพยนตร์ในยุคหนังพูด ชอบรับบทเล็กๆในหนังของ Marcel Carné, Jean Renoir, Max Ophüls เว้นแต่ The Rules of the Game (1939) เป็นการทำงานนานสุดในชีวิตของเธอถึง 4 เดือน, รับบท Lisette สาวใช้ของ Christine เพ้อฝันอยากเป็นคนไฮโซแบบนั้นบ้าง กึ่งๆเลียนแบบพวกเขาด้วยการแต่งงานแต่ไม่ค่อยสนใจสามี (ถ้าเรื่องมากก็จะบอกเลิกแบบไม่ละอาย) พบเจอตกหลุมรักแรกพบสบตากับ Marceau แทบจะกลืนกิน แอบใช้ทุกจังหวะโอกาสเพื่อเคล้าเคลียรอเลีย พอถูกจับได้ก็พยายามเหนี่ยวรั้งสุดฤทธิ์ นี่ทั้งกับ Edouard และ Octave
Gaston Modot (1887 – 1970) นักแสดงหน้าบึ้งสัญชาติฝรั่งเศส เกิดที่ Paris อาศัยอยู่ที่ Montmartre ได้พบเจอรู้จักกับ Picasso และ Modigliani เข้าสู่วงการด้วยการเป็นนักแสดงหนังเงียบ โด่งดังกับ L’Âge d’Or (1930), Sous les toits de Paris (1930), Pépé le Moko (1937), The Rules of the Game (1939), Les enfants du paradis (1945) ฯ, รับบท Edouard Schumacher ผู้เป็น Gamekeeper และสามีของ Lisette อดรนทนไม่ได้เมื่อพบเห็นคนแหกกฎเกณฑ์ทางสังคม โดยเฉพาะ Marceau ไม่ใช่แค่การลักลอบวางกับดัก แต่ยังแอบเป็นชู้กับภรรยาของตนเองด้วย ซึ่งไคลน์แม็กซ์ของหนัง เขาเป็นผู้ยิง … เสมือนเป็นการสะท้อนถึงหน้าที่ ควบคุมไม่ให้คนต่างชนชั้นไต่เต้าขึ้นสูงเกินวิทยฐานะของตนเอง
Julien Carette (1897 – 1966) นักแสดงสัญชาติฝรั่งเศส ที่เคยร่วมงานกับ Renoir หลายครั้ง อาทิ Grand Illusion (1937), La Marseillaise (1938), La Bête Humaine (1938), รับบท Marceau จากนายพรานวางกับดัก ไต่เต้าได้ทำงานในคฤหาสถ์ พบเจอตกหลุมรักแรกพบ Lisette หลงใหลคลั่งไคล้ปานจะกลืนกิน แต่เมื่อถูกสามีของเธอไล่ล่าติดตาม ก็วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเกือบเอาตัวไม่รอด แต่แปลกที่ภายหลังพวกเขากลายเป็นเพื่อนกัน (คงเพราะตกงาน แฟนทิ้งเหมือนกัน เลยรับรู้เข้าใจหัวอกกันเอง)
หนังถ่ายทำในลักษณะ Chronology ไล่เรียงลำดับไปเรื่อยๆ ซึ่งในเรื่องการกำกับนักแสดง Renoir บอกว่าเขาไม่ได้ต้องทำอะไรมากนัก เริ่มต้นคือกำหนดตำแหน่งทิศทาง การเคลื่อนไหวของพวกเขาเสียก่อน จากนั้นให้อิสระอยากแสดงออกอย่างไรก็ปลดปล่อยมา หรือคิด improvise บทสนทนาของตนเองก็ย่อมได้
ถ่ายภาพโดย Jean Bachelet ขาประจำคนหนึ่งของผู้กำกับ Renoir ผลงานเด่นๆอาทิ The Crime of Monsieur Lange (1936), The Rules of the Game (1939) ฯ
ฉากภายนอกถ่ายทำที่ Chateau de la Ferté-Saint-Aubin, Sologne ใช้แทน La Colinière เลือกสถานที่นี้เพราะพ่อของเขา (Pierre-August Renoir) เคยบอกว่า ‘รู้สึกเสียดาย ที่ไม่สามารถถ่ายทอดความสวยงามของสถานที่นี้ออกมาได้’, ส่วนฉากภายในถ่ายทำที่ Pathé Studios, Joinville
ของเล่นที่ถือเป็นไฮไลท์ของหนัง คือเลนส์ Deep-Focus แบบสั่งทำพิเศษ ทำให้สามารถมองเห็นภาพคมชัดไม่ว่าจะลึกไกลขนาดไหน นี่รวมถึงการเคลื่อน/แพนกล้องที่มีแทบจะตลอดเวลา ไม่มีวินาทีไหนที่ทุกสิ่งหยุดนิ่ง ไร้เสียงพูดก็จะเติมเต็มไปด้วย Sound Effect ดังลั่นสนั่นหวั่นไหว
นี่น่าจะเป็นช็อตการทดลอง Deep-Focus ระยะไกลสุดของภาพ สมัยนั้นก็คงชัดสุดได้แค่นี้แหละ
กล่องถ่ายภาพยุคสมัยก่อน ทั้งใหญ่ทั้งหนัก แต่หนังเรื่องนี้กลับมีการเคลื่อนไหวราวกับ Hand-Held ยกถือเดินตามได้ ผมไปเจอภาพเบื้องหลังหนึ่งอธิบายวิธีการถ่ายทำได้แทบทุกสิ่งอย่าง
กล้องถูกวางบนรถเลื่อนที่สร้างมาพิเศษ ทำให้สามารถเคลื่อนไหว (Tracking Shot) ปรับตำแหน่งทิศทาง (มุมก้ม, มุมเงย) หรือผู้กำกับยืนมองด้านหลังกล้อง เห็นภาพที่จะถ่ายทำได้ง่ายขึ้น (สมัยนั้นยังไม่มีจอ Monitor ด้วยนะครับ ต้องนำฟีล์มไปล้าง แล้วฉากด้วยเครื่องโปรเจคเตอร์ ถึงจะเห็นสิ่งที่ถ่ายทำไป) แต่กระนั้นยังก็ต้องถือว่า เต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบากมากทีเดียว
หลายครั้งทีเดียวที่มีการใช้กระจกสะท้อนภาพตัวละคร สำหรับนัยยะของช็อตนี้ สะท้อนถึงความเพ้อฝันของ Lisette ที่ถึงเป็นเพียงคนใช้สาว แต่อยากจะกลายเป็นไฮโซแบบเจ้านาย Christine (นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีการพูดเอ่ยออกมา แต่สะท้อนให้เข้าใจได้ผ่านไดเรคชั่นนี้ของหนัง)
สำหรับ Robert ผู้หลงใหลในตุ๊กตาและกล่องเพลง เห็นว่าแรกสุดผู้กำกับเขียนให้ตัวละครนี้หลงใหลในดนตรีและสะสมงานศิลปะ แต่ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามตัวตน ภาพลักษณ์ของนักแสดง
ตัวละคร Robert และนักแสดง Marcel Dalio มีเชื้อสาย Jews ซึ่งภาพเคียงคู่กับหุ่นสีดำตัวนี้มีเป็นการเปรียบเทียบ Racism
– ในยุโรป พวกนาซีรังเกียจต่อต้านชาว Jews
– ในอเมริกา คนผิวขาวรังเกียจต่อต้านคนผิวสี
สำหรับ Geneviève ผู้หลงใหลในประวัติศาสตร์จีน/เอเชีย พบเห็นรูปปั้นพระพุทธรูป ช็อตนี้ยืนข้างๆน่าจะปางเทศนา (แซว: จริงๆน่าจะเลือกปางห้ามญาติ น่าจะตรงกับหนังทั้งเรื่องมากกว่า)
แต่ฉากนี้มีอีกช็อตหนึ่งที่น่าสนใจ (ผมขี้เกียจแคปมา) คือใบหน้าของ Robert จะเคียงข้างกับเศียรพระ (มีแค่เศียร) นั่นอาจสะท้อนถึงความสูงส่ง ชนชั้นสูง ที่มีแต่หัว? ไร้ตัวตน
เพราะความผิดหวังในรักของ André Jurieux เหมือนจะจงใจขับรถตกข้างทาง ทำเอา Octave ตกใจเกือบตาย สนทนาพร่ามกันยาวเหยียดหลายนาที, เริ่มต้นฉากนี้ ภาพถ่ายมุมเงยค้างไว้ได้ยินแต่เสียง สักพักทั้งสองจะเดินเข้ามาหยุดยืนตำแหน่งนี้แล้วโต้เถียงกันต่อ -> ตัดไปที่มุมเงยใบหน้าของ Octave -> สลับด้าน มุมเงยใบหน้าของ André -> ตัดกลับมาเห็นภาพมุมนี้อีกครั้ง วนสลับไปมา
มิตรภาพระหว่างสองคน เปรียบเสมือนดอกไม้ที่เบ่งบาน,
ช็อตลักษณะนี้พบเห็นบ่อยครั้งในหนัง ใช้วัตถุเป็นสิ่งเปรียบเทียบเรื่องราวที่เกิดขึ้น สร้างสัมผัสใน(ฉาก)คล้ายกับบทกวี Poetry ทำให้หนังถูกจัดว่าเป็นแนว Poetic Realism
คงเป็นความจงใจอย่างยิ่งยวดในช็อตนี้ ให้ปากของตัวละครอยู่ตรงปลายลำโพงของเจ้าเครื่องคล้ายวิทยุนี้ ราวกับว่าเขาต้องการเปล่งเสียงอะไรบางอย่างออกมา
มองเห็นด้านหลงไวๆ นกในกรง คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่ามีนัยยะถึงอะไร
บังเอิญมาสะดุดตากับช็อตนี้ เพราะฮวยจุ้ยกระจกเงาขนาดใหญ่ด้านหลัง ดันไปสะท้อนเท้าของตัวละครเข้า ย่อมมีนัยยะถึงระดับชนชั้นของตัวละคร, จริงๆถ้าตีความจากฉากนี้ Octave จะเสมือนว่าเป็นคนชนชั้นล่างของสังคม แต่เขาอาจใช้ความทะเยอทะยาน (ช็อตนี้เหมือนเอาปากจ่อลำโพงเงยขึ้น) จนทำให้มีสถานะเหมือนคนชนชั้นกลางที่สูงกว่า (แต่ไม่ใช่ชนชั้นสูงอย่างแน่นอน) นั่นเป็นสิ่งที่สังคมยังยินยอมรับได้อยู่
การมาถึงของ André Jurieux ยังคฤหาสถ์ La Colinière ผมละขำคิกๆกับช็อตนี้, Christine พยายามพูดกลบเกลื่อนกับแขกเหรื่อว่าไม่มีอะไรในกอไผ่กับ André แต่ไอ้สองคนที่ยืนข้างหลังนี่สิ ทำกระซิบกระซาบ สังเกตว่าพวกเขาคือบุคคลผู้คอยผลักดันคนข้างหน้าอยู่ด้วย
– หนุนหลัง André คือ Octave (เพื่อนที่พามา)
– ส่วนฝั่ง Christine ด้านหลังคือ Robert (สามี)
ด้านหลัง ราวกับพวกเขาบรรลุข้อตกลงที่พูดคุยต่อรองกันในฉากก่อนหน้านี้ด้วย
ฉากการใช้ Deep-Focus ที่ได้รับการพูดถึงกล่าวขานมากสุด คือในห้องโถงทางเดิน มีความคมชัดเจนตั้งแต่ต้นถึงสุดปลาย, ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาจับจ้องว่า ใคร-ทำอะไร-ที่ไหน-อย่างไร แค่รับรู้ถึงความสับสนวุ่นวายอลม่านที่เกิดขึ้นได้ก็เพียงพอแล้ว
เนื่องจากผู้กำกับ Jean Renoir เป็นคนธรรมะธรรมโม ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีทัศนคติต่อกิจกรรมนี้ว่ามีความโหดเหี้ยมชั่วร้าว ‘Cruel’ แต่เพราะ Sequence การล่าสัตว์จำเป็นต้องฆ่าจริงๆ (ไม่เช่นนั้นจะสามารถถ่ายทอดความสมจริงได้ขนาดนี้หรอกหรือ) มอบหมายให้สองผู้ช่วยกองสอง André Zwobada กับ Henri Cartier-Bresson ถ่ายทำทั้งฉาก
มีการใช้ Fast Lens ที่เหมาะกับการเคลื่อนแพนกล้องเร็วๆ และตัดต่อแบบ Rapid Editing (หรือ Fast Cutting) เพื่อไม่ให้ผู้ชมพบเห็นการตายของสัตว์แล้วเกิดความคลื่นไส้รับไม่ได้ กระนั้นเจ้ากระต่ายตัวสุดท้าย เน้นๆแบบขนลุกขนพอง ถูกยิง หางสั่นดิกๆ ก่อนหยุดนิ่งหมดสิ้นลมหายใจ
เกร็ด: ประมาณว่า กระต่าย/นก ถูกฆ่าไปประมาณร้อยกว่าตัว
สำหรับช็อตนี้ ผมละอยากเปรียบเจ้าต้นไม้ที่มีรูปล่าเหมือนมนุษย์นี้ว่า ‘เปรต’ เสียจริง
สำหรับชุดการแสดง แต่ละเรื่องก็มีนัยยะสื่อความหมายอะไรบางอย่าง
– การแสดงเต้นบทเพลง Ach, du lieber Augustin (แปลว่า Oh, you dear Augustin) และ En revenant de la revue (แปลว่า Returning from the Journal) [กลับจากการล่าสัตว์] หมีเป็นสัตว์ที่ถูกกลั่นแกล้งเหมือนกระต่ายไม่ผิดเพี้ยน
– ตุ๊กตาไล่ฝนและโครงกระดูกในบทเพลง Camille Saint-Saëns: Danse macabre, Op.40 คือการหลอกหลอนผู้ชม สะท้อนความ ‘Horror’ ในเรื่องราวของหนัง (ถึงมันจะดูตลกน่าขบขันมากกว่า แต่เป็นสัมผัสทางความเข้าใจที่ผู้กำกับนำเสนอออกมา)
– ร้องเล่นเต้นของเหล่าชายไว้หนวด บทเพลง Francis Salabert: Nous avons l’vé l’pied (แปลว่า We have seen the foot.) มีภาพลักษณ์คล้ายกับ Rabbi พระผู้นำของชาว Jews (Rabbi มันสะกดคล้าย Rabbit อยู่นะ)
– โชว์เครื่องเพลงขนาดใหญ่ของ Robert ราวกับวง Orchestra ที่เขาสามารถควบคุมทุกสิ่งอย่างได้ด้วยตนเองเพียงคนเดียว (เผด็จการเบ็ดเสร็จ)
และการเล่นแสงไฟฉาย/สป็อตไลท์ ในช็อตนี้ก็เจ๋งมากๆเช่นกัน (ยังเป็นในการแสดงชุดตุ๊กตาไล่ฝนและโครงกระดูกอยู่) สาดส่องไปมา กล้องเคลื่อนไหวแพนไป-กลับ เห็น Edouard อยู่ประตูหนึ่ง ขณะที่ Lisette กับ Marceau กำลังจะกลืนกินกันอีกประตูหนึ่ง
สำหรับฉากที่ผมชื่นชอบสุดในหนังคือซีนนี้ Edouard ติดตามไล่ล่า Marceau ถือปืนจ่อวิ่งเข้ามาในห้อง จะเห็นแขกเหรื่อทั้งหลาย ต่างยกมือขึ้นปางห้ามญาติยอมแพ้ กล้องทำการแพนหมุน 180 องศา ไล่ไปเห็นฝูงชนต่างค่อยๆทะยอยยกมือขึ้นตามราวกับเล่นเวฟ/คลื่นมนุษย์ (ที่กองเชียร์ในสนามชอบเล่นกัน)
เจ๋งสุดคือ Marceau กำลังแอบย่องหลบอยู่ที่ปลายสุดของการแพนกล้อง
นี่เป็นอีกช็อต Deep-Focus ที่เจ๋งมากๆ แถมมีลักษณะสะท้อนกันราวกับกระจกเงา
– ห้องด้านหน้า André พูดคุยกับ Robert
– ห้องด้านหลัง Lisette ยืนคุยกับ Octave
หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมขึ้น ฉากท้ายๆของหนังช็อตนี้ ผู้คนต่างเฮโลกันออกมาข้างนอก ราวกับกำลังจะคัดกรองว่าใครจะสามารถเข้าไปในบ้าน/โลกไฮโซใบนี้ได้ โดยบุคคลผู้ยืนอยู่บันไดชั้นบนสุดคือ Robert (ตัวแทนของคนชนชั้นสูง) ระหว่างบันไดคืิือ Edouard (ผู้ควบคุมกฎ) และเหล่าบุคคลด้านล่าง ที่พอได้รับการเชื้อเชิญ ช็อตสุดท้ายของหนังจึงหลงเหลือแต่ภาพเงา (ไร้ตัวตน) ของพวกเขาเดินเข้าประตูคฤหาสถ์หลังนี้
ไดเรคชั่นของการถ่ายทำ จะพบว่ามีหลายสิ่งอย่างเกิดขึ้นนอกเหนือภาพที่ปรากฎเห็น ซึ่งด้วยลักษณะการถ่ายทำ Long-Take นักแสดงอาจวิ่งวนจากด้านหนึ่ง หลบหลังกล้อง แล้วไปโผล่อีกด้านหนึ่งอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ราวกับว่ากล้องคือตัวละคร/สายตาหนึ่ง ที่เพียงแค่ได้จับจ้องมองเห็นบางส่วนต่อหน้า ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นขณะนั้น แต่เราก็สามารถประติดประต่อจิ๊กซอว์ให้เข้าส่วนกันเองได้
ตัดต่อโดย Marguerite Renoir ภรรยาของผู้กำกับที่ไม่เคยแต่งงาน (แต่เปลี่ยนมาใช้นามสกุลสามีแทนเลย), ฉบับแรกสุดของหนังความยาวกว่า 3 ชั่วโมง ตัดทอนเหลือ 113 นาทีออกฉายรอบปฐมทัศน์เดือนมิถุนายน 1939 ซึ่งพอเสียงตอบรับย่ำแย่ เลยตัดออกอีกหลายครั้งจนฉบับสุดท้ายเหลือเพียง 85 นาที (ปรากฎได้ผลลัพท์ย่ำแย่กว่าเดิมเสียอีก)
หนังไม่ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองใครคนหนึ่ง สามารถเหมารวมได้ทุกตัวละครหลัก อาศัยใช้ชีวิตดำเนินไปในคฤหาสถ์ La Colinière ระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็ม, ซึ่งไฮไลท์จริงๆอยู่ที่วันออกล่าสัตว์ ตอนเช้าไปยิงกระต่าย กลางคืนมีงานเลี้ยงปาร์ตี้สังสรรค์ และไคลน์แม็กซ์หลังเที่ยงคืนก่อนตะวันขึ้นฟ้าสาง
สำหรับเพลงประกอบ เห็นว่าการถ่ายทำ La Bête Humaine เป็นแรงบันดาลใจให้ Renoir สนใจในดนตรีคลาสิก โดยเฉพาะ Baroque เลือกเพลงดังจากอดีต มอบหมายให้ Joseph Kosma กับ Roger Désormière เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงบทเพลง
“Little by little, my idea took shape and the subject got simpler. I kept living on baroque rhythms, and after a few more days, the subject became more and more precise.”
โดยบทเพลงแรกของหนัง Opening Credit เลือก Mozart: Dreizehn deutsche Tänze, K. 605, No. 1 (หรือ German Dances) นี่เป็นสไตล์ Baroque ที่ให้สัมผัสของความหรูหราไฮโซอลังการ สะท้อนความเป็นสังคมชนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี
อีกบทเพลงคลาสสิกที่ขอนำเสนอคือ Camille Saint-Saëns: Danse macabre, Op.40 ที่ใช้ในฉากการแสดงชุดตุ๊กตาไล่ฝนและโครงกระดูก นี่เป็นบทเพลงสะท้อนความเชื่อเก่าแก่ของชาวฝรั่งเศส เกี่ยวกับความตาย/โครงกระดูกในทุกๆเทศกาล Halloween จะลุกขึ้นมามีชีวิต เต้นรำ (คล้ายๆแบบที่พบเห็นในหนังเลยละ)
สำหรับบทเพลงคำร้อง เลือกเอา En revenant de la revue (1886) แปลว่า Returning from the Journal, กลับจากการเดินทาง แต่งทำนองโดย Louis-César Desormes คำร้องโดย Leon Garnier
ทำนองและคำร้องมีลักษณะปลุกใจให้เกิดความฮึกเหิมยินดี พูดถึงชัยชนะที่ได้รับกลับมา และร่วมกันเฉลิมฉลองความสำเร็จดังเกล่า
สำหรับ Sound Effect ของหนัง ได้รับการยกย่องว่ามีความสมจริงมากๆในสมัยนั้น เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเทคนิคการผสมเสียง หรือปรับระดับความดังได้ ทั้งหมดเกิดจากการบันทึกพร้อมกันหมด ไม่ก็ Sound-on-Film เท่านั้น
– ฉากแรกของหนัง ที่นักข่าวสาวพยายามแทรกตัวท่ามกลางฝูงชน เพื่อไปสัมภาษณ์ André Jurieux ให้สัมผัสอยู่ท่ามกลางผู้คนหมู่มากจริงๆ และยังสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับระหว่างการสนทนานั้นได้
– ฉากล่ากระต่าย ‘เสียงปืนที่ดั่งลั่น ตัวฉันนั้นแทบสิ้นใจ’
– งานเลี้ยงปาร์ตี้สังสรรค์ ทั้ง Soundtrack ผสมกับเสียงสนทนา ตะโกนโหวกเหวก กรี๊ดลั่น และเสียงปืน
Sensitive hearts, faithful hearts,
Who shun love whither it does range,
Cease to be so bitter:
Is it a crime to change?
If Cupid was given wings,
Was it not to flitter?– Beaumarchais’ Le Mariage de Figaro (IV, 10)
กลอนบทนำนี้ เป็นการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรัก ไฉนถึงมีทั้งคนจิตใจมั่นคงแท้ และอ่อนไหวแปรเปลี่ยน ผิดหรือเปล่าที่มนุษย์แสดงออกต่าง แล้วใครกันเป็นผู้กำหนดควบคุม? ฤาถ้าเป็นกามเทพ การกระทำของเขาคงช่างที่ไร้ค่ามากๆ
นี่เป็นบทกลอนที่สะท้อนเรื่องราวความรักอันสุดแสนวุ่นวายของหนังเรื่องนี้ มีทั้งคนที่ศรัทธาเชื่อในรักแท้จริงมั่น (Geneviève de Marras, André Jurieux, Edouard Schumacher), เจ้าชู้ประตูดิน ปลิ้นปล้อน แสดงออกมาชัดเจน (Robert, Lisette) และอีกพวกยังไงใครก็ได้เอาหมด (Christine, Octave, Marceau)
เราสามารถนำแนวคิดนี้ไปเปรียบเทียบกับอะไรก็ได้ ทั่วโลก ทุกแนวคิด ครอบจักรวาลเลย อาทิ
– ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้เข้าร่วมสงครามฝ่ายสัมพันธมิตร, อักษะ, บางประเทศเคยอยู่ฝ่ายอักษะ (เช่น ประเทศไทย) พอญี่ปุ่นต้องถอนกำลังออกไป ประกาศแปรพักตร์เข้าพวกกับพันธมิตร
– ประชาธิปไตย-คอมมิวนิสต์
– ขวาจัด-ซ้ายจัด, เสรีนิยม-อนุรักษ์นิยม, Democrat-Republican
ฯลฯ
ผู้กำกับ Renoir ให้คำนิยายภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า
“a reconstructed documentary, a documentary on the condition of a society at a given moment.”
มุ่งเน้นสะท้อนแนวคิด/ทัศนคติที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น อันมีอิทธิพลจากคนชนชั้นสูง มองประชาชนชั้นกลาง-ล่าง เหมือนกระต่าย/นก มิได้มีคุณค่าชีวิตอะไรมากมาย ซ้ำร้ายเมื่อจำนวนมากเกินไปยังสร้างความวุ่นวายให้ต้องเสียเวลาเข่นฆ่ากำจัดทำลายทิ้งอีก
ขณะเดียวกับความสนใจของพวกเขา เต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้ไร้สาระมากมาย สร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนหลากหลาย เล่นแง่แม่งอน ซื่อตรง ทรยศหักหลัง ฯ ทั้งหมดนี้ราวกับ ‘เกม’ ที่ไม่มีใครชอบเดินตามกฎกติกานัก แต่ถ้าไม่มีคนทำอะไรเกินตัว ย่อมไม่มีผู้พ่ายแพ้หรือชัยชนะ
“You see, in this world, there is one awful thing, and that is that everyone has his reasons.”
คำพูดของ Octave ประโยคนี้ สะท้อนความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ทุกคนออกมา ทุกเหตุผลคือข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นทั้งนั้น (แม้มันจะดีเลิศประเสริฐศรี หรือทำอะไรเพื่อผู้อื่นก็ตาม) เพราะเมื่อมีคนหนึ่งได้ผลประโยชน์ ใครสักคนในโลกย่อมต้องเป็นผู้สูญเสีย
“the world is made up of cliques … Each of these cliques has its customs, its mores, indeed, its own language. To put it simply, each has its rules, and these rules determine the game.”
ในทัศนะของผู้กำกับ Renoir โลกใบนี้สร้างขึ้นโดยกลุ่มคน พรรคพวกพ้อง ซึ่งแต่ละที่ล้วนมีระเบียบแบบแผนวัฒนธรรม ภาษา ประเพณี ความเชื่อ ซึ่งเป็นตัวกำหนด ‘กฎเกณฑ์’ ของการดำรงชีวิตร่วมกัน
“the victim, who, trying to fit into a world in which he does not belong, fails to respect the rules of the game”
ใครก็ตามที่พยายามแทรกตัวเข้าไปอยู่ในโลก/สังคม กลุ่มเหล่านั้น แต่กลับไม่เคารพกฎกติกาของพวกเขา มักจะกลายเป็นผู้แพ้ เลวร้ายก็คืออาจสูญเสียสิ้นชีวิต
‘กฎระเบียบ’ จึงเสมือนว่าเป็นผู้ร้ายของหนังเรื่องนี้ ที่พยายามควบคุมบีบบังคับให้มนุษย์ทุกคนต้องก้มหัว ปฏิบัติตาม แสดงออกในสิ่งที่อยู่ภายใต้ เพราะเมื่อไหร่ละเมิดหรือแค่ชะโงกศีรษะออกมา ก็อาจถูกประหารตัดคอ ชำระโทษโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่าได้
ค่อนข้างชัดเจนเลยละครับว่า Renoir เป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ เพราะนี่เป็นระบอบเดียวเท่านั้นในโลกที่มีแนวคิดเสมอภาคเท่าเทียม (แม้ในทางปฏิบัติจะไม่ใช่ก็เถอะ) ไม่ได้ถูกแบ่งแยกด้วยระบอบชนชั้น อันเป็นสิ่งที่เขาแสดงทัศนะออกมาในหนังเรื่องนี้
เสียงตอบรับย่ำแย่ตอนออกฉาย เพราะประเทศในยุโรปขณะนั้นกำลังเข้าสู่สภาวะสงคราม ผู้คนต้องการภาพยนตร์ที่สร้างความฮึกเหิมกำลังใจ ไม่ใช่ในเชิงเสียดสีต่อต้าน ทำให้ต้องฉายควบกับสารคดีประวัติศาสตร์ชาติ (Patriotic Documentary) ผู้ชมส่วนใหญ่ส่งเสียงโห่รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เลวร้ายถึงขนาดมีคนจุดไฟเผาโรงหนัง พอถึงเดือนตุลาคม 1939 ก็ถูกแบนห้ามฉายในฝรั่งเศส (เพราะสงครามโลกเกิดขึ้นแล้ว) ซ้ำร้ายหนักเมื่อฟีล์ม Negative ต้นฉบับที่เก็บไว้ถูกระเบิดลงทำลายเสียหายย่อยยับ หลังสงครามจบปี 1946 หลงเหลือพบเจอเพียงฉบับ 85 นาทีที่เก็บไว้เมื่อนำไปฉายเทศกาลหนัง
ความล้มเหลวในเสียงตอบรับของหนังเรื่องนี้ ทำให้ Renoir หมดสิ้นหวังในประเทศของตนเอง
“so depressed me that I resolved to either give up the cinema or to leave France.”
ตอนที่ Nazi บุกเข้ายึดครองกรุง Paris เมื่อเดือนพฤษภาคม 1940 ทำให้ Renoir ตัดสินใจบินตรงสู่อเมริกา ยังได้รับโอกาสสร้างภาพยนตร์ Hollywood หลายเรื่องทีเดียว ก่อนท่องโลกไปอินเดียถ่ายทำ The River (1951) และหวนคืนสู่ยุโรปสร้าง The Golden Coach (1953), French Cancan (1954) ฯ
กระนั้นโดยไม่รู้ตัว นิตยสาร Sight & Sound เมื่อปี 1952 จัดอันดับ The Rules of the Game ติดอันดับ 10 (ร่วม) ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล (ครั้งแรก)
เมื่อปี 1956 ด้วยความกระตือรือล้นของ Jean Gabarit และ Jacques Marechal สองผู้ก่อตั้ง Societe des Grands Films เพื่อบูรณะฟื้นฟูภาพยนตร์ที่สูญเสียหายหรือถูกทำลายไป The Rules of the Game คือภาพยนตร์เรื่องแรกของสตูดิโอ หลังจากได้ค้นพบกล่องเก็บฟีล์มภาพยนตร์จำนวนมากมายรอดพ้นจากการถูกระเบิดลง ด้วยคำแนะนำของผู้กำกับ Renoir สามารถรวบรวมตัดต่อหนังใหม่ได้ความยาว 106 นาที
และปี 1959 เมื่อผู้กำกับ Renoir รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ถึงกับหลั่งน้ำตาออกมา บอกว่ามีเพียงฉากเดียวเท่านั้นที่ขาดหายไป
“there is only one scene missing in this re-construction, a scene that isn’t very important. It’s a scene with me and Roland Toutain that deals with the maids’ sexual interest.”
หลังออกฉายในเทศกาลหนังเมือง Venice ปีนั้น ถึงเริ่มได้รับการยกย่องโดยถ้วนทั่วทันทีว่าคือ Masterpiece แห่งวงการภาพยนตร์
และสิ่งที่ทำให้หนังกลายเป็นอมตะเหนือกาลเวลา คือเรื่องราวที่สะท้อนทัศนคติของสังคม ที่ไม่ว่าจะยุคสมัยนั้นก็ยังคงต้องมีแบ่งชนชั้น (สูง-กลาง-ต่ำ) วรรณะ (ผู้ปกครอง-อยู่ใต้การปกครอง) ฐานะ (ร่ำรวย-ยากจน) มันเลยเป็นความจริงคลาสสิกที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
จากที่ไม่เคยรับรู้สึกอะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง มองเห็นความสวยงามระดับ Masterpiece ไร้ซึ่งวินาทีสูญเสียเปล่า เกิดการตกหลุมรักหลงใหล เคลิบเคลิ้มคลั่งไคล้ อยากที่จะนั่งดูซ้ำวนไปมาอีกหลายๆรอบ เพื่อสูดอากาศ ซึมซับจิตวิญญาณของโลกทั้งใบนี้
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงอาจดูไม่รู้เรื่อง ทำความเข้าใจไม่ได้ แต่ให้ใช้จิตวิญญาณรับสัมผัส คุณเกิดอารมณ์เช่นไรเมื่อต้องเห็นภาพสิ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์ทั้งหลาย ถูกเข่นฆ่ายิงเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา ถ้าไม่ใช่ความระรื่นสะใจ นั่นแหละที่เรียกว่า ‘สามัญสำนึก’ ทางมโนธรรม
แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งคอหนัง Art-House ชื่นชอบ Poetic Realism, นักเรียน ผู้สร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะผู้กำกับ ศึกษาไดเรคชั่นการทำงาน, นักปรัชญา นักกวี ชื่นชอบดนตรี/งานศิลปะยุค Baroque, และแฟนๆผู้กำกับ Jean Renoir ไม่ควรพลาด
จัดเรต 15+ กับความตายของสิ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์ และการกระทำอันไร้สาระของตัวละครทั้งหลาย
TAGLINE | “The Rules of the Game ของผู้กำกับ Jean Renoir ได้จำลองสร้างโลกทั้งใบ และบัญญัติกฎของการอาศัยอยู่”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
The Rules of the Game (1939)
(4/12/2015) การตีความหนังมี 2 ประเภท คือ ประเภทที่เราสามารถตีความได้ตรงตัว ผู้กำกับสื่อสารกับผู้ชมผ่านทางภาพยนตร์ด้วยแนวคิด การแสดง ตามองค์ประกอบที่มี ส่วนมากหนังประเภทนี้คนดูจะเข้าใจได้ตรงกับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ และหนังอีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทที่ต่อให้เราตีความยังไง ก็แทบไม่มีโอกาสตรงกับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอเลย วันนี้ผมจะมานำเสนอ The Rules of the Game (La Règle du jeu) นี่เป็นหนังที่ผมไม่ชอบเสียเลย แต่ก็ยอมรับว่านี่เป็นหนังที่มีศิลปะขั้นสูงมากๆ ที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้
Jean Renoir เป็นผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ผลงานของเขาเริ่มตั้งแต่ยุคบุกเบิกภาพยนตร์ ตั้งแต่หนังเงียบ ขาว-ดำ ไปจนถึงยุคภาพสี เขาเป็นผู้กำกับนักทดลอง ที่ได้นำนวัตกรรม ความคิดใหม่ๆเข้ามาบุกเบิกวงการภาพยนตร์ ไม่แปลกที่หนังเรื่องนี้จะได้รับการจัดอันดับจาก Sight & Sound ในอันดับที่สูงมากๆ แทบทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคนั้น สำหรับคนดูยุคปัจจุบัน ถ้าไม่บอกว่ามีอะไรบ้าง ยังไงก็แทบจะไม่รู้เลยละครับ เพราะหนังสมัยใหม่แทบทุกเรื่อง ได้รับอิทธิพลมาจากหนังเรื่องนี้ทั้งนั้น ตอนผมดู The Rules of the Games ครั้งแรก บอกเลยว่าผมมองไม่ออกเลยว่าหนังเรื่องนี้มันยอดเยี่ยมระดับนั้นได้ยังไง ผิดกับ Vertigo, Citizen Kane หรือ Tokyo Story ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นมากๆ เป็นงานศิลปะที่ปัจจุบันหาผู้กำกับที่จะสร้างงานศิลปะแบบนั้นแทบไม่ได้แล้ว แต่กับ The Rules of the Game ความคลาสสิกของมันคือความ modern ที่ผู้กำกับสมัยใหม่ยังใช้อยู่โดยไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่า การทำแบบนั้น จุดเริ่มต้นมาจากหนังเรื่องนี้
การจะดูหนังเรื่องนี้ให้เข้าใจ คุณต้องตีความสารในหนังเป็นนามธรรม เช่นว่า เราเห็นภาพกระต่าย เป็นฉากคนยิงกระต่าย การดูแบบไม่คิดอะไรก็คือคนยิงกระต่าย แต่การตีความในเชิงนามธรรมนั้นจะไม่จบแค่นี้ คนยิงกระต่ายสื่อถึงอะไรได้บ้าง การฆ่าคน, กระต่ายคือผู้บริสุทธิ์, การยิงไม่ใช่แค่การฆ่า แต่ยังเป็นทำร้าย ข่มขืน หลอกลวง หลอกล่อ, คนที่ยิ่ง สื่อถึง ผู้มีอำนาจ, ผู้อยู่เหนือกฎหมาย, ผู้ปกครอง, ผู้สูงอายุกว่า, ผู้นำประเทศ ฯ ผมเชื่อว่าพอถึงจุดนี้คนทั่วไปคงคิดว่า เห้ย อะไรมันจะขนาดนั้น ใช่ครับ นี่คือ Jean Renior คุณต้องตีความหนังประมาณนี้ถึงจะสามารถเข้าใจสารที่เขาสื่อมาในหนังได้ ผมเคยเป็นคนดูประเภทที่ เห็นคนยิงกระต่ายเป็นแค่คนยิงกระต่าง ดูหนังเรื่องนี้จนจบแล้วก็ คนยิงกระต่าง … ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ไม่เห็นสนุกอะไร ผมเรียกว่าข้อจำกัดในการรับรู้ของคนเรามันต่างกันนะครับ คือถ้าเราไม่มีความสามารถในการรับรู้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับผู้สร้างสื่อหรือสารนั้น คุณก็จะไม่มีวันเข้าใจอะไรที่เขาสื่อเลย ณ จุดนั้นเราคงวิจารณ์ได้แค่ว่า อืม… หนังสนุกนะ หรือ หนังห่วยว่ะ ได้แค่นั้น แต่ถ้าคุณสามารถเข้าใจสารที่เขาสร้างออกมาได้ การวิจารณ์จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ผมดู The Rules of Games นี่ก็รอบที่ 3 แล้ว รอบนี้ผมก็ยังไม่เข้าใจสารที่ Jean Renoir ต้องการสื่อมาในหนังเลยนะครับ มาลองวิเคราะห์ดูก็เพราะ ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในยุคสมัยนั้น ที่เป็นพื้นฐานให้ Reno สร้างหนังเรื่องนี้ เขาอิงเรื่องราวกับอะไรบางอย่างที่ถ้าผมไม่ลองหาข้อมูลอ่านดู ก็ไปไม่ถึงจุดนั้นเลย
ย่อหน้านี้ผมจะเล่าถึงการตีความในมุมมองของคนที่ไม่รู้อะไรก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้นะครับ นี่เป็นหนังที่จิกกัดสังคมชั้นสูงของคน (ฝรั่งเศส) พวกเขาใช้เวลาว่างไปกับเรื่องไร้สาระ เช่น ขับเครื่องบินข้ามแอตแลนติกเพื่อเรียกร้องความสนใจ (จีบสาว) พอสาวไม่มาก็โวยวาย, กิจกรรมยิงกระต่าย เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ถ้ามองกระต่ายเป็นคนที่ไร้เดียงสา (innocent) ที่ถูกคนชั้นสูงกดขี่ ทำร้าย เป็นเหมือนสังคมในยุคนั้น และเรื่องราวช่วงท้ายๆ หญิงสาวที่ร่านราคา ใครที่ตอบสนองความต้องการเธอได้ก็ไปกับเขาหมด เปรียบเหมือนพวกคนที่สนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาคนอื่นฉันไม่สนใจ ปัญหาของฉันใหญ่คับโลกา
ใครดูหนังเรื่องนี้แล้วตีความได้แบบที่ผมเล่า ก็ถือว่าท่านเป็นคนปกติที่สามารถดูหนังประเภทนี้ได้นะครับ คือสามารถคิดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังได้ ว่าเปรียบได้กับอะไร เพราะอะไร สารที่ออกมาสื่อได้อะไร แต่การตีความแบบนี้ถือว่า “ไม่ถูกต้อง” สำหรับสิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอเลยนะครับ
สิ่งที่ Renoir ต้องการสื่อในหนังเรื่องนี้ ช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนชั้นสูงในหนังเปรียบเหมือนผู้นำประเทศได้นำประเทศเข้าสู่สงคราม โดยการต่อสู้คือการยิงกระต่าย การรบราฆ่าฟันคือเอาคนบริสุทธิ์มากมายมาต่อสู้กัน ช่วงท้ายอย่างหญิงสาวร่านราคะ เปรียบเหมือนผู้นำประเทศ(อเมริกา) ที่เหมือนนกสองหัว เอาใจฝ่ายที่เหนือกว่า ณ จังหวะนั้นใครจะชนะสงครามก็สนับสนุนฝ่ายนั้น แต่ถ้าประเทศนั้นจะแพ้ก็ถอนกำลังหนีทันที หนังจบด้วยการตายของใครบางคน เทียบก็คือสงครามจบลงพร้อมกับความย่อยยับของประเทศๆหนึ่ง
จะเห็นว่าการตีความของผมมัน “คนละเรื่อง” เลยนะครับ นี่เป็นการตีความหนังประเภทที่ 2 ที่ผมเกริ่นมาในย่อหน้าแรก ว่าต่อให้เราตีความยังไง ก็ไม่มีทางที่จะได้คำตอบตรงกับที่ผู้กำกับต้องการสื่อ มากที่สุดคือใกล้เคียง เพราะเราไม่สามารถเข้าไปในหัวของผู้กำกับได้ถ้าเขาไม่ออกมาพูดว่าเขาคิดอะไรถึงนำเสนอแบบนั้น จริงๆถ้าบอกว่า นี่เป็นหนังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับสงคราม พูดไปก็แทบไม่มีใครเชื่อนะครับ เพราะหนังไม่ได้มีการพูดถึงสงครามแม้แต่น้อยเลย แต่ใช่ครับ นี่เป็นหนังสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับสงคราม
แน่นอนว่าหนังแนวนี้มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ หนังตามเทศกาลหนังมักจะเป็นหนังแนวประเภทนี้นะครับ หนังของ อภิชาติพงศ์ ก็ประมาณนี้แหละ ที่ดูไม่เข้าใจเพราะไม่รู้ว่าที่เราเข้าใจนั้นตรงกับที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอหรือเปล่า แต่นี่คือมนต์เสน่ห์ของภาพยนตร์นะครับ หนังที่แต่ละคนตีความหมายไปคนละอย่างกัน ยิ่งมากแบบมาก หมายความว่าหนังมันเข้าถึงคนได้กว้างกว่า ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องเข้าใจได้ตรงกัน
มาพูดถึงองค์ประกอบของหนังบ้างดีกว่า นี่เป็นหนังเรื่องแรกๆของโลกที่ใช้การแพนกล้องไปมา และเล่น Long-Take นะครับ คือฉากๆหนึ่งพูดกับ 3-4 นาที โดยไม่มีการตัดไปฉากอื่น เทคนิคนี้ถ้าพูดในสมัยปัจจุบันคงไม่รู้สึกอะไรกันเท่าไหร่ นักแสดงเก่งๆเขาสามารถท่องจำบทยาวๆหลายหน้าได้สบายๆอยู่แล้ว แต่ให้คิดดูสมัยก่อนนะครับ การถ่าย Long Take ไม่ง่ายเลย เพราะขนาดฟีล์มมีจำกัดมาก แถมผู้กำกับชอบใช้การถ่ายแบบ Depth Focus อีก คือ ภาพทุกมิติคมชัดเท่ากัน กล้องประเภทนี้จำกัดความยาวของฟิล์มอีกนะครับ ยาวสุดก็ 4-5 นาที แต่ก็ต้องเผื่อไว้ตัดสเลท สั่งคัทอีก ได้ 3-4 นาทีต่อซีนก็ยาวมากๆแล้ว เทคนิคการถ่ายของ Jean Renoir คือ ตัวแสดงเริ่มเดินเปิดประตูแรก แล้วเดินๆๆ กล้องแพนตาม จากนั้นก็เจอกับนักแสดงคนที่ 2 คุยกัน จอดกล้องค้างไว้ เดินออกมาแล้วเดินต่อไปเจอนักแสดงคนที่ 3 กล้องแพนตาม ลักษณะจะประมาณนี้ครับ ที่สมัยนั้นเรียกว่า long-take
การกำกับ long-take สมัยนั้นถือว่าแปลกใหม่มาก เพราะโดยปกติแล้วในฉากๆหนึ่งจะมีตัวละครไม่มาก ผู้กำกับสามารถกำกับได้เลยว่าให้ใครทำอะไรในฉากนั้น แต่กับ The Rules of the Game ผมรู้สึกว่าฉากหนึ่งจะมีนักแสดงประมาณสิบกว่าคน เดินไปเดินไป เดี๋ยวคนนี้ไปทางนี้ เดี๋ยวคนนั้นไปทางนั้น เดี๋ยวสองคนนั้นคุยกัน วุ่นวายมากครับในฉากๆนึง แต่นี่แหละครับคือความสุดยอด เพราะผู้กำกับจะต้องกำกับทุกตัวละคร เพราะบทหนัง ส่วนมากจะโฟกัสที่ตัวดำเนินเรื่องเท่านั้น เหตุการณ์ การกระทำของตัวประกอบมักจะไม่ค่อยมีในบท (หรือมันอาจจะมีเขียนไว้ก็ได้นะครับ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน) นี่เป็นหน้าที่ผู้กำกับล้วนๆเลยว่าจะออกแบบให้ตัวละครมีบทยังไง
เคดดิตการถ่ายภาพ ต้องยกให้ Jean Bachelet เลยนะครับ เขาเป็นตากล้องคู่บุญของ Jean Renoir เลย ส่วนการตัดต่อ Marguerite Renoir ไม่ต้องเดากันก็น่ารู้ แต่เธอไม่เคยแต่งงานกับ Jean Renoir นะครับ (อยู่ด้วยกันเลย) และนักเขียนบท Carl Koch ในยุคก่อนสงครามโลกนี่ก็ได้เขานี่แหละที่ช่วยขัดเกลาบทที่ Renoir เขียน
หนังเรื่องนี้ฉายปี 1939 ตอนหนังออกฉายก็โดนสับเละเลยละครับ เพราะฉากยิงกระต่ายนี่มันสะเทือนอารมณ์มากๆ เห็นว่า Renoir ไม่ได้ถ่ายฉากพวกนี้เลยนะครับ เขาขอให้คนอื่นถ่ายให้ เพราะไม่อยากที่จะต้องฆ่ากระต่ายจริงๆ ฉากนี้มันสะท้อนภาพที่ทหารยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์ … จะว่าไปถ้าผมดูหนังเรื่องนี้ในสมัยนั้น การตีความหนังมันอาจจะออกมาแบบนี้ Renoir คาดหวังไว้ก็ได้นะครับ … มันเลยไม่แปลกที่จะโดนทางการแบน เพราะมันสะเทือนวงการทหารรุนแรงมาก หลังจากถูกแบนก็ถูกทำลาย ตอนถูกแบน เห็นว่า Renoir ตัดต่อหนังใหม่ด้วย ให้ลดความรุนแรงลง แต่ก็ไม่ช่วยเท่าไหร่ สุดท้ายแผ่นฟีล์มที่ฉายก็หายหมด นึกว่าจะหมดโอกาสแล้วที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังมีคนที่เก็บเอาไว้ มา restore film ใหม่ ประมาณ 20 ปีหลังหนังฉาก โดย Renoir ก็ได้เข้ามาช่วยตรวจสอบการ restore นี้ด้วย ให้หนังยังคงรักษาความถูกต้องที่เขาเคยนำเสนอไว้
ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่า หนังเรื่องนี้มันคือศิลปะประเภทที่ ไม่ใช่ว่าคนดูทุกคนจะสามารถเข้าใจได้ และใช่ว่าทุกคนจะชอบ แต่นี่เป็นผลงานที่มีคุณค่า ในแง่ศิลปะ ความสวยงาม และความแปลกใหม่ในวงการภาพยนตร์ ถึงผมจะเข้าใจหนังเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่ได้เพิ่มความชอบในหนังเรื่องนี้เลยนะครับ ผมกลับรู้สึกยิ่งเหินห่าง เพราะการตีความของเรามันห่างไกลความ “จริง” ที่หนังต้องการนำเสนอมาก ผมเชื่อว่า Renoir ไม่ได้ต้องการให้คนดูหนังของเขาตีความหนังได้ห่างไกลจากสิ่งที่เขาสื่อมากขนาดนี้ ถ้าผมเองไม่ได้พยายามเอาตัวเองเข้าไปในหัวของ Renior ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาต้องการสื่ออะไรออกมาได้นะครับ
ถ้าเปรียบกับเพลงคลาสสิคแล้ว ผมจะชอบการตีความประเภทที่ว่า “ตีความตามแนวคิดต้นตำหรับ ในวิธีการของฉัน” มากกว่า “ตีความตามแนวคิดของฉัน ในวิธีการของฉัน” นะครับ ประโยคนี้น่าจะชัดเจนนะครับว่าผมชอบหนังเรื่องนี้หรือเปล่า
สุดท้าย ผมเชื่อว่าทุกคนมีคำถามเมื่อหนังจบ The Rules of the Game มันคืออะไร … ผมขอตอบในแนวคิดของผมนะครับ ว่ามันคือ กฏของผู้ชนะ ในหนังมันไม่ได้พูดกฏอะไรเลย นอกจากตอนยิงกระต่าย แต่ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงหลังจากยิงกระต่าย เราจะพอเห็นได้ครับว่า ตัวละครในหนังเปรียบเหมือนกับผู้นำประเทศต่างๆ ที่แต่ละประเทศมีความต้องการ ความสนใจที่ต่างกัน บ้างสนใจแต่ความสะดวกสบายของตนเอง บ้างสนใจแต่ผลประโยชน์ คนที่เสียประโยชน์ก็ตามทวงเอาผลประโยชน์คืน มันดูวุ่ยวาย สับสน เละเทะไปหมด เหมือนว่ามันไม่มีกฎอะไรที่จะสามารถควบคุมแต่ละกลุ่มได้ แต่ไม่ใช่ครับ ผู้ชนะเท่านั้นที่จะสามารถออกกฏสั่งให้ผู้แพ้ทำตามเงื่อนไขของตนเองได้ …. ความหมายของชื่อหนังในการตีความของผมคือ กฏของผู้ชนะ …. บอกไว้ก่อนว่าความคิดของผมอาจจะไม่จำเป็นต้องตรงกับท่านนะครับ ท่านอาจจะมีแนวคิดอื่น ก็ไม่ผิด แนวคิดผมก็ไม่ผิด และก็อาจไม่ถูกด้วย นี่คือเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ ที่ไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิด คุณจะคิดยังไงกับหนังก็ได้ นี่คือสุดยอดหนังครับ!
คำโปรย : “The Rules of the Game หนังของ Jean Renoir เป็นหนังที่มีความเป็นศิลปะที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่คนทุกคนจะเข้าใจ และตีความได้ตรงกับที่ผู้กำกับนำเสนอ แต่ความลึกล้ำนี้เป็นแม่พิมพ์ต้นฉบับของหนังทุกเรื่องในยุคปัจจุบัน”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : SO-SO
Leave a Reply