The Runner (1984) : Amir Naderi ♥♥♥♥
เด็กชายถูกทอดทิ้งอยู่บริเวณเมืองท่าติดอ่าวเปอร์เซีย ต้องหาหนทางต่อสู้ดิ้นรน ทำงานหาเลี้ยงชีพรอดด้วยตนเอง ใช้การวิ่งคือนัยยะเชิงสัญญะ ฉันจะดำเนินชีวิตต่อไปได้ไกลแค่ไหน มีโอกาสถึงเป้าหมายเส้นชัยหรือไม่
The Runner (1984) ถือเป็นเสาหลักไมล์ต้นแรกของวงการภาพยนตร์อิหร่าน ภายหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง Iranian Revolution (1978-79) หรือเรียกว่า post-Revolutionary เพราะได้ทำการลบล้างแนวคิดการดำเนินเรื่อง ‘narrative film’ มาเป็นลักษณะของ ‘essay film’ ซึ่งมีความผิดแผกแปลกต่างจากวิถีทางในอดีต และเรื่องราวนำเสนอผ่านมุมมองเด็กชาย พบเห็นการเข้ามาถึงของเครื่องบิน เรือลำใหญ่ สัญลักษณ์ของโลกยุคสมัยใหม่ (Modernity)
รับชมฉบับบูรณะของหนัง จะยิ่งทำให้พบเห็นความงดงามระดับวิจิตรศิลป์ ทั้งการถ่ายภาพ ตัดต่อ กลิ่นอาย Neorealism แฝงนัยยะเชิงสัญลักษณ์ของการแหวกว่าย ปีนป่าย ปั่นจักรยาน ออกวิ่งติดตามขบวนรถไฟ เรือลำใหญ่ และเครื่องบิน สัมผัสถึงความลุ่มลึกล้ำที่ไม่ใช่แค่เหนือกาลเวลา แต่ยังทรงคุณค่าระดับมาสเตอร์พีซแห่งวงการภาพยนตร์
ในชาร์ท Asian Cinema 100 Ranking ของเทศกาลหนังเมืองปูซาน The Runner (1984) ติดอันดับ 83 อาจดูไม่สูงเท่าไหร่ แต่ภาพยนตร์ติดชาร์ทนี้ก็ถือว่าไม่ธรรมดาแล้วนะครับ!
Amir Naderi (เกิดปี 1946), امیر نادری ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติ Iranian เกิดที่ Abadan เมืองท่าทางตอนใต้ของอิหร่าน ตั้งแต่เด็กมีความสนใจการถ่ายรูปและภาพยนตร์ หลงใหลผลงานภาพนิ่งของ Henri Cartier-Bresson และกลุ่มเคลื่อนไหว Italian Neorealist, โตขึ้นเดินทางสู่ Tehran ทำงานเป็นตากล้อง มีโอกาสถ่ายภาพนิ่งให้ภาพยนตร์ Qeysar (1969), Hassan, the Bald (1970), กำกับผลงานเรื่องแรก Khodahafez Rafigh (1971), โด่งดังจาก Sazdahani (1973), Tangsir (1973) ฯลฯ
สำหรับ دونده อ่านว่า Davandeh แปลว่า The Runner มีจุดเริ่มต้นจากผู้กำกับ Naderi ต้องการบันทึกภาพวิถีชีวิตของเด็กกำพร้า เติบโตขึ้นมาบริเวณเมืองท่าติดอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf) พยายามนำไปเสนอของบประมาณจากสตูดิโอ สถานีโทรทัศน์ แต่ไม่เคยได้รับการตอบอนุมัติ
จนกระทั่งได้ยินข่าวว่าสถาบัน Institute for the Intellectual Development of Children and Young Adults (IIDCYA) กำลังมองหาโปรเจคเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จึงนำบทหนังไปยื่นเสนองบประมาณ ในตอนแรกคณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าพล็อตธรรมดาเกินไป ไม่มีความน่าสนใจ แต่หลังจากพยายามปรับแก้ไขอยู่หลายๆครั้ง Behrouz Gharibpour (เกิดปี 1950), بهروز غریبپور นักเขียน/ผู้กำกับละครเวทีและหุ่นเชิด (Persian Puppet Theatre) เลยให้คำแนะนำสิ่งที่ควรแก้ไขปรับปรุง
Mr. Amir Naderi proposed the initial scenario of ‘The Runner’ which was rejected on TV, twice to the committee, which was also rejected by the committee. And everyone said it was weak. But it was clear that Mr. Naderi thought of pictures in his mind. I was also a serious opponent of this script. But the last time he presented the script, I told the other committee that the problem with this script is these things, and I wrote them down and told Mr. Naderi to tell him that this movie can be made in a much better way, and if he finds this way, then will be usable.
Behrouz Gharibpour
แม้ว่า Gharibpour จะร่วมพัฒนาบทหนังจนได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของ IIDCYA แต่ผู้กำกับ Naderi เมื่อตอนถ่ายทำก็แทบไม่ได้สนใจรายละเอียดเหล่านั้นสักเท่าไหร่ เลือกสรรค์สร้างผลงานที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของตนเอง … นั่นเพราะ Gharibpour มาจากสายการละคอน พัฒนาเรื่องราวในลักษณะของ ‘narrative story’ แต่ผู้กำกับ Naderi ต้องการนำเสนอผ่านภาพถ่าย การตัดต่อ สื่อสารด้วยภาษาภาพยนตร์ในลักษณะ ‘essay film’
เกร็ด: สถาบัน IIDCYA เคยอนุมัติทุนสร้างภาพยนตร์ดังๆอย่าง The Traveller (1974), Where Is the Friend’s Home? (1987), Bashu, the Little Stranger (1989), And Life Goes On (1992), Children of Heaven (1998) ฯลฯ
เรื่องราวมีพื้นหลังยัง Bandar Abbas, بندر عباس (แปลว่า Port of Abbas) ชื่อเล่น The Crab Port เมืองท่าของจังหวัด Hormozgan ติดอ่าวเปอร์เซีย ชายฝั่งทางตอนใต้ของอิหร่าน
เด็กชาย Amiro อายุประมาณ 11-12 ปี ถูกครอบครัวทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง จำต้องหาหนทางดิ้นรนเอาตัวรอดด้วยตนเอง เริ่มจากขุดคุ้ยกองขยะ เก็บค้าของเก่า ต่อด้วยว่ายน้ำเก็บขวด ขายน้ำดื่มเย็นๆ และกลายเป็นเด็กขัดรองเท้า เมื่อเริ่มมีเงินเหลือเก็บก็มักหาซื้อนิตยสารที่มีรูปเรือ เครื่องบิน เพ้อฝันว่าสักวันจะได้รับโอกาสขึ้นไปทำงานบนนั้น
จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อค้านิตยสารพูดคุยสอบถาม ทำไมโตป่านนี้ถึงยังอ่านหนังสือไม่ออก? นั่นกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาสมัครเข้าโรงเรียน ต้องการอ่านออกเขียนได้ มีโอกาสอย่างคนทั่วๆไป แม้หนังจะจบลงแค่การท่องพยัญชนะ 32 ตัวอักษรเปอร์เซีย แต่ Amiro ก็แสดงออกว่าจะไม่ย่นย่อท้อแท้ จนกว่าวิ่งถึงเป้าหมายเส้นชัย
ถ่ายภาพโดย Firooz Malekzadeh (เกิดปี 1945), فیروز ملکزاده ตากล้องสัญชาติ Iranian เคยร่วมงานผู้กำกับ Bahram Beyzai เมื่อครั้นถ่ายทำหนังสั้น Safar (1972), ผลงานเด่นๆ อาทิ The Traveler (1974), Stranger and the Fog (1976), The Runner (1984), The Mare (1986), Bashu, the Little Stranger (1989) ฯลฯ
ประสบการณ์จากเคยเป็นช่างภาพนิ่งของผู้กำกับ Naderi ทำให้งานภาพมีความประณีต ละเมียดไม งดงามระดับวิจิตรศิลป์ ตั้งแต่การจัดวางองค์ประกอบ ทิศทางมุมกล้อง เล่นกับระยะใกล้-ไกล ขยับเคลื่อนไหล ซูมเข้า-ออก ทั้งยังใช้เพียงแสงธรรมชาติ ปรับแต่งโทนสีสันให้มีความซีดๆ ดูเหือดแห้งแล้ง และยังใช้สัญลักษณ์น้ำ-ไฟ ที่ขัดย้อนแย้ง แฝงนัยยะความหมายบางอย่าง
แม้หนังจะมีกลิ่นอาย Neorealist จากการถ่ายทำยังสถานที่จริง ด้วยแสงธรรมชาติ และใช้เพียงนักแสดงสมัครเล่น แต่ผมกลับไม่รู้สึกถึงความเป็นธรรมชาติของหนังสักเท่าไหร่! เพราะทุกช็อตฉากล้วนปรุงปั้นแต่ง ดูสวยงามเกินไป … แต่มันก็ไม่ได้ผิดหลักเกณฑ์อะไรนะครับ องค์ประกอบ Neorealist ถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว!
เด็กชาย Amiro ชอบโบกไม้โบกมือ ตะโกนโหวกเหวก (ล้อกับภาพยนตร์ Tarzan ที่เคยรับชม) ส่งเสียงเรียกเรือและเครื่องบิน สิ่งสร้างความลุ่มหลงใหล ใคร่สนใจอย่าง ‘overwhelming’ เพ้อใฝ่ฝันว่าสักวันจะมีโอกาสขึ้นไปทำงาน ใช้ชีวิตอยู่บนนั้น ก้าวออกไปจากดินแดนโกโรโกโสแห่งนี้
ผมรู้สึกว่า The Runner (1984) เป็นภาพยนตร์ที่มีความใกล้เคียงชีวประวัติผู้กำกับ Naderi เพราะใช้ชีวิตวัยเด็ก เติบโตยังเมืองท่าติดอ่าวเปอร์เซีย สิ่งที่เขาพบเห็นย่อมสร้างอิทธิพลให้กับชีวิตแบบเดียวกับเด็กชาย Amiro … จะว่าไปชวนให้ผมนึกถึงผู้กำกับ Jacques Demy อยู่เล็กๆ
หนังเต็มไปด้วยสารพัดการแข่งขันของเด็กๆ ซึ่งสามารถเรียกตามชื่อหนัง ‘The Runner’ พบเห็นการวิ่งแข่ง ปีนป่าย ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ฯ โดยผู้ชนะเข้าถึงเส้นชัยคนแรก มักได้รับรางวัลคือเครื่องดื่ม น้ำอัดลม และก้อนน้ำแข็งสำหรับดับกระหายคลายร้อน
การแข่งขันเหล่านี้มักแทรกคั่นช่วงระหว่างเปลี่ยนอาชีพของ Amiro เพื่อสื่อถึงการต่อสู้ดิ้นรน ‘ชีวิตคือการแข่งขัน’ ไล่ล่าวิ่งตามความฝัน เพื่อสักวันจะได้ไปถึงเป้าหมายเส้นชัยชนะ
ผลงานของผู้กำกับ ‘auteur’ มักต้องหาหนทางกล่าวอ้างอิงถึงภาพยนตร์ที่ชื่นชอบโปรดปราน นอกจากพบเห็นนิตยสารจากร้านขายหนังสือข้างทาง ยังมีกล่าวถึง Tarzan และท่าทางเดินเลียนแบบ Charlie Chaplin
เกร็ด: ผมลองค้นข้อมูลดูเล่นๆนิตยสาร Sight & Sound หน้าปก Orson Welles พบเจอว่าคือฉบับเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1975 (แต่หนังฉายปี 1984)
ชัยชนะจากการวิ่งแข่งครั้งสุดท้าย ถ้วยรางวัลคือก้อนน้ำแข็ง (ท่าดีใจของเด็กชายช่างมีความเว่อวังอลังการ!) ซึ่งเป็นสิ่งข้ดย้อนแย้งกับภาพเปลวไฟลุกโชติช่วงด้านหลัง หลายคนคงพยายามครุ่นคิดนัยยะเกี่ยวกับความร้อน vs. เยือกเย็น, การแข่งขันที่เข้มข้น เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น (ดั่งเปลวเพลิงที่ลุกโชติช่วง) แล้วชัยชนะทำให้ดับกระหายคลายร้อน จิตใจสงบเย็นลง ฯ
แต่ผมมองว่าหนังต้องการนำเสนอการผสมผสานสองสิ่งขั้วตรงข้าม ยกตัวอย่าง อิทธิพลจากโลกตะวันตก(น้ำแข็ง)กำลังแผ่ปกคลุมมาถึงดินแดนทะเลทรายในตะวันออกกลาง(เปลวเพลิง) อันจะก่อให้เกิดการผสมผสาน เติมเต็มกันและกัน จนกลายเป็นอันหนึ่งเดียวกัน
ภาพสุดท้ายของหนังพบเห็น Amiro กำลังท่องพยัญชนะ 32 ตัวอักษรเปอร์เซีย พร้อมๆเครื่องบินกำลังทะยานขึ้นสู่ท้องฟากฟ้า นี่คือสัญลักษณ์จุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ความรู้หนังสือจะเป็นสิ่งทำให้เด็กชายสามารถติดปีกโบยบิน ไปได้ไกลกว่าการวิ่งอยู่บนพื้นดิน
ผมเห็นด้วยว่าการศึกษามีความสำคัญ คือจุดเริ่มต้นให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ มีโอกาสพบเห็นโลกกว้าง ก้าวข้ามผ่านความยากจน สามารถกระทำสิ่งเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน แต่การรู้หนังสือไม่ใช่ทุกสิ่งอย่าง! ใบปริญญาก็เพียงแค่กระดาษใบหนึ่ง สมัยก่อนคนจบ ป.4 ก็สามารถประสบความสำเร็จ มันอยู่ที่ตัวเราเองมีความมุมานะ ทุ่มเทพยายามสักเพียงไหน (ผมมองว่าสิ่งนี้อาจสำคัญกว่าการอ่านออกเขียนได้อีกนะ!)
ตัดต่อโดย Bahram Beizai ผู้กำกับภาพยนตร์/ละครเวทีชื่อดัง เจ้าของผลงาน Downpour (1972), Bashu, the Little Stranger (1989) ฯลฯ
หนังดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของเด็กชาย Amiro หลังจากถูกทอดทิ้งให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพียงลำพัง เริ่มจากขุดคุ้ยกองขยะ เก็บค้าของเก่า ต่อด้วยว่ายน้ำเก็บขวด ขายน้ำดื่มเย็นๆ กลายเป็นเด็กขัดรองเท้า และท้ายสุดคือตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียน ต้องการพูด-อ่าน-เขียน ได้รับโอกาสเหมือนคนทั่วไป
- อาชีพแรกขุดคุ้ยกองขยะ เก็บค้าของเก่า แต่มักไม่ค่อยพบเจออะไร ทั้งเสียเวลา ได้เงินมาเพียงน้อยนิด
- ได้รับการชักชวนให้ว่ายน้ำออกทะเล เก็บขวดแก้ว(ที่ซัดมาเกยตื้น)ไปขาย แต่แค่วันแรกก็มีความขัดแย้งเพื่อนฝูง แถมแถวนั้นฉลามชุกชุม
- เลยเปลี่ยนมาเป็นขายน้ำดื่มเย็นๆ แม้ราคาแค่เหรียญเดียวกลับยังถูกคดโกง และยังมีโจรคอยดักปล้นน้ำแข็งกลางทาง
- กลายมาเป็นเด็กขัดรองเท้า อาชีพที่ต้องใช้ทักษะฝีมือ เลยไม่ต้องกลัวการถูกคดโกง แต่เด็กชายกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวขโมย (ทั้งๆไม่ได้ทำอะไร)
- และท้ายสุดตัดสินใจสมัครเข้าโรงเรียน ต้องการพูด-อ่าน-เขียน จนสามารถท่องพยัญชนะ 32 ตัวอักษรเปอร์เซีย
แม้ว่าอาชีพการงานจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่แทบทุกครั้ง Amiro มักหวนกลับหาเพื่อนๆ ร่วมวิ่งแข่งขัน ปั่นจักรยาน ไล่ติดตามขบวนรถไฟ ฯ โดยผู้ชนะมักได้รางวัลเป็นเครื่องดื่ม น้ำอัดลม และไคลน์แม็กซ์คือก้อนน้ำแข็ง (ดูราวกับถ้วยรางวัล) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ดิ้นรน มุ่งสู่เป้าหมายปลายทาง เติมเติมความเพ้อใฝ่ฝันของตัวละคร
เพื่อสร้างสัมผัส Neorealist หนังจึงไม่มีการใช้บทเพลงประกอบ (Soundtrack) แต่จะเป็นลักษณะของ ‘Diegetic music’ ได้ยินเด็กๆขับร้อง-เล่น (บนขบวนรถไฟ) หรือดังจากวิทยุ/เครื่องกระจายเสียง (บาร์ริมท่าเรือ) มีทั้งท่วงทำนอง Jazz, บทเพลงดังๆอย่าง Louis Armstrong: What A Wonderful World, Frank Sinatra: Around The World ฯลฯ
The Runner (1948) นำเสนอเรื่องราวการต่อสู้ของเด็กชายที่ถูกทอดทิ้ง แต่เขาไม่ต้องการเป็นคนพ่ายแพ้ เลยตัดสินใจลุกขึ้นออกวิ่ง กระทำสิ่งเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ไต่เต้าจากล่างขึ้นบน แม้จุดสูงสุดของหนังจะแค่เพียงสามารถท่องพยัญชนะ 32 ตัวอักษรเปอร์เซีย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความมุมานะ ทุ่มเทพยายาม ต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเส้นชัย
นักวิ่ง ‘The Runner’ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้แข่งขัน เพื่อสามารถกระทำสิ่งเติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน ไม่ใช่แค่ธำรงชีพรอดในสังคม แต่มุ่งมั่นต้องการให้ถึงจุดสูงสุด คว้าชัยชนะด้วยเรี่ยวแรงพละกำลัง ทุกสิ่งอย่างที่ฉันพึงมี ดูสิว่าจะไปได้ไกลสักเพียงไหน
A runner is someone who is in competition with people or with forces and must give all his breath and energy to surpass them.
Behrouz Gharibpour
แนวคิดดังกล่าวค่อนข้างจะมีความเป็นตะวันตก (Westernization) ผิดแผกแตกต่างจากวิถีโลกตะวันออก(กลาง) นี่แสดงให้เห็นอิทธิพล(ของตะวันตก)ที่กำลังแผ่ปกคลุมมาถึงอิหร่าน และกำลังนำพาประเทศก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ (Modernity) … นี่ถือเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย post-Revolutionary ได้เป็นอย่างดี
ตั้งแต่จักรยาน รถยนต์ รถไฟ เรือลำใหญ่ และเครื่องบิน ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องยนต์กลไก (Machinery) ยุคสมัยอุตสาหกรรม (Industrial) หรือโลกยุคสมัยใหม่ ซึ่งต้องนำเข้าจากชาติตะวันตก สามารถสร้างความสะดวกสบาย มองดูหรูหรา สามารถแบ่งแยกชนชั้นฐานะ (แสดงถึงความร่ำรวยของผู้เป็นเจ้าของ) สิ่งเหล่านี้จักสร้างอิทธิพลต่อเยาวชน คนรุ่นใหม่ ใคร่อยากได้อยากมี พยายามต่อสู้ดิ้นรน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อครอบครองวัตถุเหล่านี้
น้ำกับไฟ ถือว่าเป็นสองสิ่งขั้วตรงกันข้าม ก็คล้ายๆโลกตะวันออก-ตก เอเชีย-ยุโรป คนขาว-ผิวสี ฯลฯ ในยุคสมัยนั้นเริ่มเกิดการผสมผสาน กำลังจะกลายเป็นอันหนึ่งเดียว สะท้อนแนวคิดร่วมสมัย (Contemporary) ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เฉกเช่นเดียวกัน!
ผู้กำกับ Naderi เกิดและเติบโตยังเมืองท่าริมอ่าวเปอร์เซีย แม้ไม่ได้ต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนเด็กชาย Amiro แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีกลิ่นอายชีวประวัติ ด้วยการบันทึกภาพวิถีชีวิต อิทธิพล ความหลงใหลคลั่งไคล้ที่มีต่อชาติตะวันตก … ไม่น่าแปลกใจที่ผู้กำกับ Naderi ตัดสินใจอพยพย้ายสู่สหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990s
หลังจากเข้าฉายในอิหร่าน ปีถัดมาก็ตระเวนไปตามเทศกาลหนัง Venice, London (นอกสายการประกวด) ได้เสียงตอบรับอย่างดีล้นหลาม บางเทศกาลก็สามารถคว้ารางวัลอย่าง …
- Nantes International Film Festival คว้ารางวัล Grand Prix
- Melbourne International Film Festival คว้ารางวัล International Jury Prize
ปัจจุบันหนังได้รับการบูรณะโดย Iranian National Cinema แล้วเสร็จสิ้นเมื่อปี 2019 คุณภาพ 4K เข้าฉายปฐมทัศน์เทศกาล Fajr International Film Festival สามารถหาซื้อ Blu-Ray จัดจำหน่ายโดยค่าย Elephant Films
ส่วนตัวมีความชื่นชอบหนังอย่างมากๆ สัมผัสถึงความประณีต ละเมียดไม งดงามระดับวิจิตรศิลป์ รู้สึกเพลิดเพลินผ่อนคลาย เต็มไปด้วยนัยยะเชิงสัญญะ ท้าทายการครุ่นคิดวิเคราะห์ เป็นกำลังใจให้เด็กชาย สามารถวิ่งไปถึงเป้าหมาย ได้รับชัยชนะสุดยิ่งใหญ่
แนะนำคอหนัง Art House ชื่นชอบการครุ่นคิดวิเคราะห์, หลงใหล Neorealist บันทึกภาพวิถีชีวิต การต่อสู้ดิ้นรน อิหร่านภายหลังการปฏิวัติ, นักคิด นักปรัชญา นักเขียนนวนิยาย เพลิดเพลินบทกวีภาพยนตร์, โดยเฉพาะบุคคลผู้กำลังท้อแท้สิ้นหวัง ประสบความพ่ายแพ้ หรือสูญเสียเป้าหมายชีวิต The Runner (1984) อาจสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมา ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายไปได้
จัดเรตทั่วไป รับชมได้ทุกเพศวัย
Leave a Reply