The Salesman (2016) : Asghar Farhadi ♥♥♥♡
ถ้าใครสักคนทำร้ายคนที่คุณรักจนปางตาย ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร มีความตั้งใจหรือเปล่า คุณจะยอมให้อภัยได้หรือเปล่า
ทีแรกผมตั้งใจจะดูหนังเรื่อง Death of a Salesman (1951) ที่ดัดแปลงจากบทละครเวทีของ Arthur Miller ที่เป็นการแสดงละครเวที (play within film) ในหนังก่อนจะเขียนบทความนี้แต่ยังหาโอกาสไม่ได้ เพราะอยากจะเปรียบเทียบเรื่องราวว่ามีความใกล้เคียงกันขนาดไหน เพราะเท่าที่เห็นใน The Salesman นำเสนอเฉพาะส่วนละครเวทีที่สะท้อนกับเหตุการณ์หลักๆของหนัง อันชวนทำให้เกิดข้อสงสัย ว่าหนังดัดแปลงนำเรื่องราวของ Death of a Salesman มาทั้งหมดเลยหรือเปล่า
[เขียนขึ้นหลังจากรับชม Death of a Salesman], สิ่งที่ Asghar Farhadi นำมาใช้ในหนังถือว่าไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย แค่ดึงบางฉากมาใช้ ทิ้งใจความสำคัญของบทละครไว้ทั้งหมด ไม่มีความเกี่ยวเนื่องอะไรกันเลย, เราสามารถเรียก The Salesman ว่าเป็นบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นใหม่ แค่อาจมีบทละคร Death of a Salesman เป็นแรงบันดาลใจเท่านั้น
ถือเป็นโชคล้วนๆของหนังเรื่องนี้ ผมมองว่าการได้ Oscar: Best Foreign Language Film ปีนี้มา เป็นเหตุผลเรื่องของการเมืองล้วนๆ เพราะตัวเต็งจริงๆอาทิ Elle (2016), The Handmaid (2016) หลุดโผถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้เข้าชิง เหลือเพียง Toni Erdmann (2016) ที่เป็นคู่แข่งหลัก แต่เพราะหนังค่อนข้างเข้าถึงยากสักหน่อยจึงหมดโอกาสลุ้น ซึ่งเหตุผลสำคัญคือการแบนบอยคอตไม่เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Oscar ของผู้กำกับ Asghar Farhadi ทำให้คณะกรรมการ Academy ต่างเทใจเทคะแนนให้ เพื่อเป็นการตอกหน้าประธานาธิบดี Donald Trump ในความไม่เห็นด้วยเรื่องการแบนเข้าประเทศของ 7 ชาติมุสลิม
Asghar Farhadi (เกิดปี 1972) ผู้กำกับ/เขียนบท Second New Wave ของประเทศอิหร่าน มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก Dancing in the Dust (2003) กวาดรางวัลระดับนานาชาติมากมาย, กับผลงานที่ถือว่าเป็น Masterpiece คือ A Separation (2011) คว้ารางวัล Golden Bear จากเทศกาลหนังเมือง Berlin และคว้า Oscar: Best Foreign Language Film
สไตล์ของ Farhadi มักนำเสนอวิถีชีวิต ชุมชน สังคม วัฒนธรรมของชาวอิหร่านยุคใหม่ เรื่องราวมักเป็นความขัดแย้งทางแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อ โดยใส่หลักศีลธรรม ศาสนาเข้าไปเป็นประเด็นโต้แย้ง และมักจะทิ้งปริศนาตอนจบให้ผู้ชมขบคิดค้นหาหนทางออกด้วยตนเอง
The Salesman เป็นเรื่องของสามีภรรยา Emad กับ Rana ทั้งสองมีเป็นนักแสดงละครเวที กำลังเตรียมเปิดการแสดงเรื่อง Death of a Salesman ขณะเดียวกันได้เช่าห้องพักใหม่ ที่เจ้าของห้องคนก่อนเป็นหญิงโสเภณี มีผู้ชายมากมายแวะเวียนเข้ามาหาที่ห้องพักนี้, วันหนึ่งด้วยความเข้าใจผิด ภรรยา Rana เปิดประตูห้องทิ้งไว้ เพราะคิดว่าเป็นสามีกำลังกลับเข้าบ้าน แต่กลายเป็นใครก็ไม่รู้ที่พอคนๆนั้นรู้ตัว เกิดอาการสติแตกใช้กำลังทำร้ายเธออาการสาหัส เมื่อ Emad กลับมาบ้านรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้น เขาจึงออกไล่ล่าหาตัวผู้ร้าย เพื่อที่จะ…
นำแสดงโดย Shahab Hosseini รับบท Emad สามี ตอนกลางวันทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือ (ภาพลักษณ์) ส่วนตอนเย็นเป็นนักแสดงละครเวที (สวมหน้ากาก), Emad เป็นคนเลือดร้อนวู่วาม ภายในปั่นป่วนอย่างรุนแรงเมื่อเห็นภรรยาถูกทำร้าย มีความต้องการแก้แค้นเอาคืนให้สาสม ความเกรี้ยวกราดที่สะสมอยู่ภายในพร้อมปะทุระเบิดออกมา คืนหนึ่งเมื่อมันเหลืออดจริงๆ เขาได้ระเบิดเป็นคำพูดหยาบคายออกมาในขณะกำลังแสดงละครเวที … ลูกผู้ชายที่ดีเขาไม่ทำแบบนี้กันนะครับ
Hosseini เป็นนักแสดงมากฝีมือที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในอิหร่านและระดับโลก ร่วมงานกับ Farhadi มาตั้งแต่ About Elly (2008), A Separation (2011) ที่ทำให้ได้รางวัล Silver Bear: Best Actor, สำหรับ The Salesman (2016) ถ่ายทอดความเลือดร้อน เจ็บแค้นของตัวละครออกมาได้อย่างสมจริง ผ่านสีหน้า ท่าทาง คำพูด ลุ่มลึกเสียจนทำให้ได้รางวัล Best Actor จากเทศกาลหนังเมือง Cannes, นี่ต้องถือว่า Hosseini กลายเป็นนักแสดงยอดฝีมือระดับโลกไปแล้ว
Taraneh Alidoosti รับบท Rana ภรรยา เธอเป็นคนใจเย็น เก็บกดคิดมาก ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบวุ่นวายกันใคร, ถึงเธอจะเป็นผู้ฟาดเคราะห์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่กลับไม่ถือโทษโกรธเคือง สามารถให้อภัยผู้อื่นได้ จริงอยู่คนแบบนี้ถือว่านิสัยดี แต่การแสดงออกของเธอไม่ใช่อย่างนั้น ปากบอกว่าให้อภัย แต่ใจในมัวแต่คิดอะไรอยู่ก็ไม่รู้ เกิดเป็น Trauma ความหวาดระแวงที่ฝังลึกในใจ
Alidoosti เป็นนักแสดงหญิงมากฝีมืออีกคนของอิหร่าน ได้รับการโหวตจากคนในประเทศให้เป็น ‘best actress of the decade’ ซึ่งหนังเรื่องนี้ทำให้เธอมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ, ความเจ็บปวดทางร่ายกาย ถ่ายทอดออกมาทางสีหน้า และท่าทางที่อ่อนล้า ความสับสน รู้สึกผิด โทษตัวเองว่าคือสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ ถ้าเพียงตอนนั้นฉันระแวดระวังทำอะไรให้รอบคอบ เหตุการณ์ความวุ่นวายนี้คงไม่เกิดขึ้น
สำหรับนักแสดงที่เป็นผู้ร้ายของหนัง ผมไม่สปอยแล้วกันว่ารูปลักษณ์เป็นยังไง ในตอนแรกก็ไม่ยอมรับผิด แต่เมื่อถูกจับได้หลักฐานคาหนังคาเขา ก็อ้างว่าไม่ได้ตั้งใจ เรียกว่าแถถึงที่สุดเหมือนหมาจนตรอก พอถึงจุดนั้นก็เรียกท่าไม้ตายออกมา อันจะทำให้คุณลังเลไม่แน่ใจว่า ควรทำดังที่พระเอกตั้งใจจะทำหรือเปล่า
ผมไม่เห็นใจผู้ร้ายคนนี้เลยนะครับ แต่ถ้าผมเป็นพระเอกแล้วภรรยาบอกว่า ปล่อยเขาไปเถอะ ณ จุดนั้นก็จะยอมปล่อยไป เพราะบุคคลที่ควรเป็นผู้ตัดสินหมอนี่ ควรคือผู้ที่ถูกกระทำร้าย ถ้าเธอสามารถให้อภัยได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอาเรื่องไปมากกว่านี้ แต่ถ้าไม่จะเอาเรื่องอะไรยังไงค่อยว่ากันอีกที … แต่หนังไม่ได้เป็นอย่างนี้นะครับ อยากรู้ไปหาคำตอบเอาเอง
ถ่ายภาพโดย Hossein Jafarian ที่เคยร่วมงานกับ Abbas Kiarostami เรื่อง Through the Olive Trees (1994) และร่วมงานกับ Farhadi เรื่อง Fireworks Wednesday กับ About Elly, สไตล์ของ Jafarian ได้รับการเปรียบเทียบกับ Gordon Willis (The Godfather Trilogy) ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการถ่ายความมืดและการจัดแสง Low-key
แน่นอนว่าความโดดเด่นอยู่ที่การจัดแสงสี โดยเฉพาะในฉากละครเวที Death of a Salesman ผมไม่ค่อยแน่ใจชื่อเรียกสถาปัตยกรรมที่ใช้เท่าไหร่ รูปลักษณะเสาเหล็กวางเรียงรายเกะกะเก้งก้างเหมือนเป็นโครงสร้างอะไรสักอย่าง คลับคล้ายกับจิตใจของตัวละครที่ไม่ได้มีรูปร่างตัวตนอะไร, ส่วนแสงนีออนด้านหลัง สะท้อนสีสันด้านมืดของจิตใจมนุษย์ (สังเกตว่าป้ายจะมี Hotel, Casino, Bar, Bowling ฯ)
สังเกตว่า ระเบียงห้องเช่าของพวกเขาก็มีลักษณะคล้ายๆกับเวทีการแสดง มีลักษณะตรงข้ามกัน กลางวัน/กลางคืน, สว่าง/มืด, ภายนอก/ภายใน
นอกจากนี้ความโดดเด่นของงานภาพคือ การเก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ การเคลื่อนไหวกล้อง ตำแหน่งการจัดวางและทิศทางการเคลื่อนไหว ล้วนมีนัยสำคัญในฉากนั้นๆ เช่นตอนย้ายบ้าน มีการถ่ายภาพจากพื้นเห็นพวกเขาขณะยกของขึ้นบันได, บางช็อตจะกลับกัน ถ่ายจากด้านบนมองลงไปข้างล่าง
ตัดต่อโดย Hayedeh Safiyari, หนังมีการเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างการแสดงละครเวที ตัดสลับกับชีวิตจริงของสองนักแสดง ซึ่งมีความใกล้เคียงกันมาก สะท้อนกันแทบทุกเรื่อง บางครั้งละครเวทีทิ้งคำใบ้ไว้ก่อน (เกิดก่อน) บางครั้งเกิดขึ้นในชีวิตจริงก่อน แล้วค่อยไประบายใส่การแสดง (เกิดหลัง)
เราสามารถมองได้ว่า ชีวิตจริง=ละครเวที ต่างกันที่ไม่ต้องแต่งหน้าทำผมสวมใส่หน้ากาก และความเจ็บปวดในชีวิตจริงรุนแรงสาหัสกว่าการแสดงนักต่อนัก, ตอนจบของละครเวที การตายของ Salesman แม้หนังจะไม่ได้บอกสาเหตุให้ทราบว่าเพราะอะไร ผมเองก็ไม่รู้ แต่คิดว่าเปรียบเหมือนจิตใจด้านหนึ่งของพระเอกได้ตายจากไป ซึ่งสะท้อนกับเหตุการณ์ชีวิตจริงตอนจบ ที่เขาได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับคนที่ทำร้ายภรรยา อันทำให้บางอย่างในจิตใจของเขาได้สูญสลายตายจากไป
การเล่าเรื่องใช้มุมมองของ Emad เป็นหลักเปรียบดั่งผู้ชม สิ่งที่เราเห็นเขาก็รับรู้เช่นนั้น ถือเป็นการจำกัดการรับรู้เรื่องราว เวลาเขาคิดตัดสินใจอะไร ผู้ชมมักจะเห็นคล้อยตามไปด้วย, นี่ทำให้เกิดความใคร่รู้ต้องการคำตอบอย่างมากว่า แท้ที่จริงมีอะไรเกิดขึ้น (หนังจงใจสร้างความคลุมเคลือ เพื่อไม่ให้ผู้ชมคิดตัดสินจากข้อเท็จจริง Fact แต่เป็นการคาดการณ์ล้วนๆ Assumed) มันแอบน่ารำคาญพอสมควร เพราะภรรยาแสร้งทำเป็นหลงลืม ส่วนตัวร้ายก็โกหกปลิ้นปล้อนไม่ยอมพูดความจริง มันก็เลยไม่รู้ว่าความจริงแท้เป็นเช่นไร
จุดเด่นของการตัดต่อคือความรวดเร็วฉันไว ถือเป็นหนึ่งในลายเซ็นต์ของหนัง Farhadi ที่ชอบตัดกระโดดไปมา ASL (Average Shot Length) ค่อนข้างต่ำ ทำให้หนังมีความกระชับ ใส่รายละเอียดได้เพิ่มขึ้นในเวลาเท่าเดิม นี่เป็นการสร้างอารมณ์ให้กับหนังลักษณะหนึ่ง เหมือนดั่งลมหายใจที่ถ้าเร็วๆถี่ๆ มันจะทำให้เลือดสูบฉีดหัวใจเต้นแรงขึ้น เกิดความตื้นเต้นระทึกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, กับหนังเรื่องนี้ผมรู้สึกยังระทึกน้อยกว่า A Separation อยู่มากนะครับ เรื่องนั้นหายใจได้ไม่ทั่วท้องเลยละ
เพลงประกอบโดย Sattar Oraki จะถือว่าหนังไม่มีเพลงประกอบก็ได้ เพราะดนตรีที่ได้ยินมาจากขณะแสดงละครเวทีเท่านั้น (วงดนตรีประกอบการแสดง) นี่เรียกว่าเป็นเพลงในฉาก ไม่ได้ใช้ประกอบเรื่องราวหรือสร้างอารมณ์ใดๆให้กับหนัง
กับมนุษย์ทั่วไป เมื่อถูกกระทำร้ายโดยไม่รู้อิโน่อิเน่ ย่อมต้องมีความต้องการตอบโต้เอาคืน โดยไม่สนสาเหตุที่ถูกกระทำเพราะอะไร หรือใครเป็นผู้กระทำ, สิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามนำเสนอ คือต้องการให้มีสติครุ่นคิดใตร่ตรอง คนผู้นั้นอาจเป็นคนรู้จัก/ไม่รู้จัก เป็นอุบัติเหตุโดยไม่ได้ตั้งใจ แม้ไม่มีใครที่จะรับรู้ข้อเท็จจริงได้ แต่ถ้าผู้ถูกกระทำเอาแต่ใจเลือดร้อนฝ่ายเดียว ไม่รับฟังไม่เชื่อ ปิดหูปิดตาไม่สนใจอะไร มันอาจส่งผลอันเลวร้ายเกิดขึ้นตามต่อมาก็ได้
หนังแบ่งแนวคิดออกเป็นสองฝั่ง ตามตัวละคร Emad กับ Rana
– สามี Emad ผู้เลือดร้อน ต้องการแก้แค้นเอาคืนหัวชนฝา แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน จะได้ฝังใจไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก
– ภรรยา Rana ผู้ใจเย็น ไม่ต้องการให้มีปัญหาใดๆ ยกโทษให้อภัยกับผู้ก่อเหตุครั้งนี้
สองคนนี้ถือว่ามีความสุดโต่งในความต้องการของตนเอง ไม่มีใครยอมกัน ก็อยู่ที่ผู้ชมเองแล้วละ ว่าจะมองฝั่งไหนถูกฝั่งไหนผิด แต่ถ้าคุณคิดว่าไม่ทั้งสองฝั่ง ตอนจบหนังยังได้นำเสนออีกแนวทางเพิ่มขึ้นมาด้วย ผมไม่ขอสปอยว่าคืออะไร ลองคิดไตร่ตรองด้วยตนเอง ก็น่าจะสามารถมองเห็นได้ ซึ่งคือตอนจบแนวทางคำตอบของหนัง
“มีอะไรในโลกที่มนุษย์ไม่สามารถให้อภัยกันได้หรือเปล่า?” คำตอบคือไม่มีนะครับ ต่อให้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าคนรัก ฆ่าลูกฆ่าหลาน หรือกระทั่งฆ่าคุณเอง ตายไปก็ยังสามารถอโหสิกรรมไม่ถือโทษโกรธเคืองได้อยู่ เพราะถ้าเรามัวคิดแต่จะล้างแค้นเอาคืน เรื่องมันจะไม่จบแค่ภพชาตินี้ ต่อเนื่องยาวออกไปไม่รู้จักจบจักสิ้น ฉันฆ่าพ่อนาย พอลูกโตขึ้นก็หวนกลับมาล้างแค้นฆ่าพ่อฉัน กลายเป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่แบบนี้ จนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถเริ่มให้อภัยแกกัน วงจรนี้ก็ไม่มีวันจบสิ้น
กับเหตุการณ์ในหนังมันจะมีคนอีกกลุ่มย้อนแย้งมาว่า ถ้าไม่แสดงอะไรตอบโต้กลับไป ปล่อยไว้มีแต่จะเหลิงได้ใจไม่รู้จักสำนึก นี่ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวเท่านั้น ต้องคิดถึงคนอื่นในสังคมบ้างสิ ไม่ใช่สักแต่จะยกโทษให้อภัยอย่างเดียว, ความต้องการของ Emad สามารถมองนอกเหนือจากการแก้แค้นก็จุดนี้นะครับ คือคนทำผิดก็สมควรรับโทษ แต่การสำเร็จโทษด้วยศาลเตี้ยหรือความพึงพอใจของตนเอง นี่ไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ในสมัยปัจจุบันแล้ว (ผมเลยมองว่า Emad คิดได้ไม่พ้นจุดที่เรียกว่าการแก้แค้น)
กับชื่อหนัง The Salesman หลายคนคงคาดหวังว่า หนังเกี่ยวกับขายอะไรสักอย่าง แต่ไม่เลย เป็นเพียงชื่อเรียกสั้นๆของละครเวที Death of a Salesman (เหมือนว่าสิ่งที่เขาขายคือ จิตวิญญาณแลกกับการแก้แค้น), ในฝรั่งเศสจะชื่อว่า Le Client แปลว่า The Customer ที่ต้องเปลี่ยนเพราะปีนั้นดันมีหนังชื่อ The Salesman เข้าฉายพอดี ไม่ต้องการให้สับสน
ใน Death of a Salesman พระเอกไม่ได้ขายอะไรนะครับ เป็นเรื่องของ Salesman สูงวัยที่ชีวิตกำลังตกอัพ จากความเพ้อวาดฝัน American Dream ที่ไม่ได้กลายเป็นจริง จบที่การรับความจริงไม่ได้เสียชีวิต (น่าจะฆ่าตัวตาย), โดยคำว่า Salesman มีนัยยะเป็นการเปรียบเทียบกับชีวิตมนุษย์ อยากได้อะไรก็ต้องซื้อขายแลกมา (แบบ Salesman) ไม่มีอะไรในโลกที่ได้มาด้วยความเพ้อฝันฟรีๆ
หนังเรื่องนี้ใส่ประเด็นการเมืองเข้ามาพอสมควรตามสไตล์ของหนังจากประเทศอิหร่าน นี่ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์ กับละครเวทีก็ต้องมีการตรวจสอบโดยกองเซ็นเซอร์ก่อนที่จะให้ผู้ชมทั่วไปรับชม (เมืองไทยไม่ถึงระดับนี้มั้งนะ) นี่มีนัยยะไม่ใช่แค่ละครเวทีนะครับ มีย่อหน้าหนึ่งที่ผมบอกไป ชีวิตจริง=ละครเวที การเซ็นเซอร์ละครเวทีก็เท่ากับการเซ็นเซอร์ชีวิตจริง (แต่มันเซ็นเซอร์อะไร ลองไปคิดต่อเอาเองนะครับ ให้คำใบ้หนึ่งว่า ฉากอาบน้ำแต่ใส่เสื้อโค้ดปกปิดมิดเลย น่าหัวร่อมาก) นี่คือสังคมของคนอิหร่านในปัจจุบัน
ทิ้งท้ายเป็นคำแนะนำสำหรับคนเลือดร้อนแบบพระเอกในหนัง ไปหัดนั่งสมาธิให้จิตเกิดความปล่อยวางบ้างก็ได้นะครับ มันจะทำให้คุณสงบขึ้น เวลาตอนเลือดขึ้นหัวหรือเจอเหตุการณ์อันน่าตื่นตะหนกคาดไม่ถึง จะทำให้คุณมี’สติสัมปชัญญะ’อยู่กับตัวเอง, เจ้าสตินี้แหละที่จะทำให้คุณสามารถ’คิด’อย่างรอบคอบ กระทำอย่างใจเย็น และให้อภัยกับผู้อื่นได้ทุกเหตุการณ์
หนังฉายในเทศกาลหนังเมือง Cannes ได้มา 2 รางวัล
– Best Actor (Shahab Hosseini)
– Best Screenplay
และสามารถคว้ารางวัล Oscar ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมมาครองได้ โดย Anousheh Ansari นักบินอวกาศหญิงสัญชาติอิหร่านคนแรก เป็นตัวแทนของผู้กำกับอ่านสุนทรพจน์ที่เตรียมไว้
It’s a great honor to be receiving this valuable award for the second time. I would like to thank the members of the academy, my crew in Iran, my producer, Amazon, and my fellow nominees.
I’m sorry I’m not with you tonight. My absence is out of respect for the people of my country and those of other six nations whom have been disrespected by the inhumane law that bans entry of immigrants to the US. Dividing the world into the “us” and “our enemies” categories creates fear. A deceitful justification for aggression and war. These wars prevent democracy and human rights in countries which have themselves been victims of aggression. Filmmakers can turn their cameras to capture shared human qualities and break stereotypes of various nationalities and religions. They create empathy between us and others. An empathy which we need today more than ever.
ส่วนตัวแค่ชอบหนังเรื่องนี้ เพราะรู้สึกว่า Farhadi ดึงเอาบทละคร Death of a Salesman มาใช้ได้ไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย ทิ้งใจความสำคัญของเรื่องราวนั้นไว้ แล้วสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่เอง นี่ทำให้คนที่เคยรับชมชื่นชอบต้นฉบับ จะรู้สึกผิดหวังไปเต็มๆ
กับคนที่ยังไม่เคยดู Death of a Salesman ถือว่าโชคดีไปนะครับ อาจสามารถชื่นชอบหนังเรื่องนี้ได้อย่างเต็มอิ่ม แต่กลับคนที่เคยรับชมมาแล้วเตรียมใจไว้สักหน่อยนะครับ
เมื่อเทียบกับหนังของ Farhadi เรื่องอื่น อาทิ A Separation (2011) ต้องถือว่านี่เป็นผลงานที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไม่สามารถสร้างอารมณ์ให้ถึงจุดสูงสุด และตอนจบกลับนำเสนอทางเลือกให้กับผู้ชม (คือปกติหนังของ Farhadi จะไม่เสนอแนะวิธีการตรงๆ หรือผลลัพท์จากการตัดสินใจแบบนี้ มักจะปล่อยให้ผู้ชมไปครุ่นคิดตัดสินปัญหาด้วยตนเอง) กระนั้นหนังถือว่ามีความทะเยอทะยานที่น่าสนใจ แม้ผมจะมองว่าน่าผิดหวัง แต่การนำบทละครเวทีชื่อดังของอเมริกามาปรับประยุกต์เข้ากับเรื่องราวของประเทศตน นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นกันง่ายๆ
แนะนำกับผู้ชื่นชอบหนังดราม่ารางวัล แฝงข้อคิดชีวิต ของผู้กำกับ Asghar Farhadi, และผู้สนใจเรียนรู้วิถีชีวิตชนชั้นกลางของประเทศอิหร่าน, ส่วนคนที่เคยดู/อ่าน Death of a Salesman มาก่อน ไม่แนะนำเท่าไหร่ แต่ถ้าอยากเห็นว่าหนังนำอะไรมาใช้บ้าง ก็ลองรับชมดูเองนะคับ
จัดเรต 15+ กับความแนวคิดบางอย่าง และความรุนแรงต่อผู้สูงวัย
Leave a Reply