The Scarlet Empress (1934) hollywood : Josef von Sternberg ♥♥♥♥

(4/3/2022) เรื่องราวกึ่งชีวประวัติ จักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย (Catherine the Great) ตั้งแต่อภิเสกสมรสจนขึ้นครองราชสมบัติ ประทับอยู่พระราชวังเต็มไปด้วยรูปปั้น สัตว์ประหลาดหน้าตาอัปลักษณ์ และเรื่องราวความรักที่สุดแสนสัปดล จนสามารถเรียกได้ว่า Gothic Masterpiece

จะมีพระราชวังแห่งหนไหนบนโลก ประดับตกแต่งด้วยรูปปั้น Gargoyles, ประตูบานใหญ่ต้องใช้หลายคนผลักเปิดออก, หัวกระโหลก โครงกระดูกวางอยู่บนโต๊ะอาหาร ฯลฯ นี่มันขุมนรกชัดๆ

The Scarlet Empress (1934) เป็นภาพยนตร์ที่นำเรื่องราวอ้างอิงประวัติศาสตร์ (กึ่ง)อัตชีวประวัติของ Catherine the Great จักรพรรดินีแห่ง Russian Empire มาเล่าประกอบพื้นหลัง แต่รายละเอียดอื่นๆล้วนเป็นการตีความตามจินตนาการผู้กำกับ Josef von Sternberg โดยซุกซ่อนเร้นนัยยะความสัมพันธ์(ระหว่างตนเอง)ต่อสตูดิโอใน Hollywood

เมื่อรับชมคราก่อน ผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่า The Scarlet Empress (1934) ได้รับการยกย่อง Masterpiece อย่างไร? (เป็นผลงานเรื่องแรกของ von Sternberg ที่เพิ่งเคยรับชมด้วยไง) แต่หลังจากเรียนรู้อะไรๆมากขึ้น สะสมประสบการณ์ภาพยนตร์ ตระหนักถึงข้อจำกัดยุคสมัย และมีโอกาสเชยชมผลงานอื่นๆของผู้กำกับ von Sternberg ถึงตอนนี้ก็พอจะเข้าถึงคุณค่าความงดงามทางศิลปะของหนังเรื่องนี้ได้สักที

ความมาสเตอร์พีซของ The Scarlet Empress (1934) คือการออกแบบงานสร้าง สถาปัตยกรรมแบบ Gothic ในลักษณะที่คลุ้มคลั่ง บ้าระห่ำ สร้างบรรยากาศเรียกว่า ‘hyperrealist’ เพื่อสะท้อนพฤติกรรมวิปลาส ความรักสุดแสนสัปดล ถ้าเป็นงานศิลปะจะมีคำเรียก Expressionist (ไม่ใช่ Fantasy เพราะเรื่องราวของหนังอ้างอิงจากเหตุการณ์จริง) เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก เปิดเผยสิ่งซุกซ่อนเร้นภายในจิตใจ (ทั้งของผู้สร้างและตัวละคร)

ทุกรูปปั้นในหนังล้วนมีนัยยะความหมาย สามารถเทียบแทนถึงตัวละครที่อยู่ร่วมช็อต (สะท้อนสถานะ ตัวตน อารมณ์ขณะนั้น) บางครั้งก็ดูกลมกลืนจนแยกแยะไม่ออก (ว่ารูปปั้นหรือนักแสดง) ผมรวบรวมเอาหลากหลายภาพ(ที่ขี้เกียจอธิบาย)มาไว้ตรงนี้แล้วกัน

Josef von Sternberg ชื่อเดิม Jonas Sternberg (1894 – 1969) ผู้กำกับสร้างภาพยนตร์สัญชาติ Austrian-American เกิดที่ Vienna, Austria-Hungary ในครอบครัวเชื้อสาย Orthodox Jewish อพยพสู่อเมริกาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่ก็ยังไปๆกลับๆจนกระทั่งอายุ 14 ถึงปักหลักอยู่ New York City, พออายุ 17 ปีเข้าทำงานยัง World Film Company เริ่มต้นเป็นเด็กส่งของ ทำความสะอาด ซ่อมแซมฟีล์มหนัง ทั้งยังรับหน้าที่เป็นฉายภาพยนตร์ (film projectionist) กระทั่งการมาถึงของโปรดิวเซอร์ William A. Brady ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นผู้ช่วยตัดต่อ พิมพ์ข้อความ (Title Card), ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อาสาสมัครทหารเข้าร่วม Signal Corps จึงมีโอกาสถ่ายทำสารคดีข่าว, หลังจากนั้นได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ Emile Chautard สรรค์สร้าง The Mystery of the Yellow Room (1919), และสรรค์สร้างภาพยนตร์เรื่องแรก The Salvation Hunters (1924) ด้วยทุนสร้างเพียง $4,800 เหรียญ (ถือเป็นหนัง Indy เรื่องแรกๆของโลก) 

เพราะความเรื่องมาก เอาแต่ใจ ไม่พึงพอใจการทำงานก็เดินออกกองถ่าย นั่นทำให้ Sternberg ระหองระแหงอยู่ใน Hollywood จนไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม จนกระทั่งได้รับโอกาสจากโปรดิวเซอร์ B. P. Schulberg แห่ง Paramount Pictures ว่าจ้างทำงานฝ่ายเทคนิค ที่ปรึกษาด้านการถ่ายภาพ แล้วโชคก็เข้าข้างเมื่อถูกมอบหมายให้ถ่ายซ่อม Children of Divorce (1927) เปลี่ยนแปลงจากเดิมประมาณครึ่งเรื่อง จากคุณภาพกลางๆกลายเป็นประสบความสำเร็จล้นหลาม สร้างความประทับใจจนมอบอิสรภาพสรรค์สร้างภาพยนตร์ ‘เรื่องแรก’ ที่ไม่ถูกควบคุมครอบงำโดยใคร

ความสำเร็จอันล้นหลามอย่างคาดไม่ถึงของ Underworld (1927) ทำให้ Paramount Pictures จับเซ็นสัญญาระยะยาวโดยมอบอิสรภาพเต็มที่ในการสรรค์สร้างผลงาน ติดตามมาด้วย The Last Command (1928), The Docks of New York (1928), การมาถึงของยุคหนังพูดก็ยังประสบความสำเร็จกับ The Blue Angel (1930) ได้ค้นพบเจอ Marlene Dietrich ชักนำพามา Hollywood แจ้งเกิดกับ Morocco (1930)

แม้เสียงตอบรับจาก Blonde Venus (1932) จะค่อนข้างก่ำกึ่ง แต่ผู้กำกับ von Sternberg ก็เริ่มต้นโปรดักชั่นภาพยนตร์เรื่องต่อไปโดยทันที ได้แรงบันดาลใจจากไดอารี่ของ Catherine the Great เรียบเรียงโดยนักเขียน Manuel Komroff กลายเป็นบทภาพยนตร์โดย Eleanor McGeary

Catherine the Great ชื่อเดิม Sophie of Anhalt-Zerbst (1729 – 1796) จักรพรรดินีนาถแห่งรัสเซีย (ครองราชย์ 1762-96, ระยะเวลา 34 ปี) ทรงเป็นเจ้าหญิงชาวเยอรมัน ประสูติที่ Stettin, Pomerania ราชอาณาจักร Kingdom of Prussia (ปัจจุบันคือ Szczecin, Poland) ช่วงระหว่างสงคราม 7 ปี Seven Years’ War (1756–63) เพื่อเชื่อมกระชับสัมพันธไมตรีกับ Russian Empires ในรัชสมัย Empress Elizabeth จึงส่งเจ้าหญิง Sophie ไปอภิเสกสมกับ Peter III แห่งราชวงศ์โรมานอฟ แล้วขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระสวามี หลังเหตุการณ์รัฐประหาร และถูกปลงพระชนม์ชีพ ค.ศ. 1762

เกร็ด: หลายคนอาจครุ่นคิดว่าหนังได้รับอิทธิพลจาก The Rise of Catherine the Great (1934) กำกับโดย Paul Czinner ที่เพิ่งออกฉายเมื่อต้นปี 1934 แต่ความเป็นจริง The Scarlet Empress (1934) เริ่มต้นโปรดักชั่นก่อนหน้าเสียอีก (ตั้งแต่ปลายปี 1932) แต่ความล้าช้า(จากความเรื่องมาก Perfectionist ของผู้กำกับ von Sternberg)ทำให้สร้างเสร็จภายหลัง


Marie Magdalene ‘Marlene’ Dietrich (1901 – 1992) นักแสดงหญิงสัญชาติ German เกิดที่ Berlin ในครอบครัวชนชั้นกลาง ตั้งแต่เด็กร่ำเรียนไวโอลินวาดฝันเป็นนักดนตรี แต่พอได้รับอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อมือเลยต้องล้มเลิกความตั้งใจ โตขึ้นมุ่งสู่วงการแสดง เริ่มจากเป็นนักร้องคอรัส รับบทเล็กๆในภาพยนตร์ The Little Napoleon (1923) มีผลงานในยุคหนังเงียบหลายเรื่องแต่ไม่ประสบพบเจอความสำเร็จ จนกระทั่งผลงานหนังพูดเรื่องแรก The Blue Angel (1930) แล้วออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นคู่ขาประจำ Josef von Sternberg ร่วมงานกันทั้งหมด 7 ครั้ง

เมื่อครั้นยังเป็นเจ้าหญิง Sophie ชอบที่จะเบิกตาโพลง อ้าปากค้าง เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น ระริกระรี้ กระสันต์ซ่าน เมื่อถูกส่งไปแต่งงานยัง Russian Empire เต็มไปด้วยความคาดหวังจะพบเจ้าชายรูปหล่อในฝัน แต่กลับถูก Count Alexey Razumovsky หักอก หลอกลวง นั่นเพราะ Grand Duke Peter เป็นคนสติไม่สมประกอบ (half-wit) วันๆเอาแต่เที่ยวเล่นสนุกสนาน มีเพียงสาวรับใช้ Elizaveta Vorontsova คอยวิ่งเก็บของเด็กเล่นให้

หลังแต่งงานกลายเป็นเจ้าหญิง Catherine ก็ยังคงแก่นแก้ว ชอบวิ่งเล่นสนุกสนาน ไม่ได้ใคร่สนใจปรนปรนิบัติรับใช้สวามี Grand Duke Peter ทำให้จักรพรรดินีนาถ Elizabeth เรียกตัวมาฝึกฝน เรียนรู้งานบ้านงานเรือน รับใช้ตนเองในกิจการต่างๆ ทำให้เธอพบเห็นความลับที่ซุกซ่อนเร้นไว้มากมาย รวมถึงความสัมพันธ์กับ Count Alexey Razumovsky นั่นทำให้เจ้าหญิงเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเข้าใจวิถีของโลกใบนี้

และเมื่อจักรพรรดินีนาถ Elizabeth เสด็จสวรรคต พระสวามีขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ Peter III ทำให้ราชินี Catherine เลิกเบิกตาโพลง อ้าปากค้าง เปลี่ยนมาเริดเชิดหน้าชูตา ใช้ชีวิตอย่างไม่ยี่หร่า หวาดกลัวเกรงผู้ใด ใช้มารยาหญิงสานความสัมพันธ์ผู้บัญชาการทหาร ตีสนิทสนักบวช เลือกข้างนักการเมือง เพื่อถึงวันรัฐประหารล้มล้างอำนาจ จักได้มีกองทัพและสามารถยึดครองบังลังก์โดยไม่มีผู้ใดปฏิเสธต่อต้าน

ในบรรดาหนังของ von Sternberg ผมรู้สึกว่า The Scarlet Empress (1934) นำเสนอวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของ Dietrich หลากหลายระดับที่สุดแล้ว (แต่นี่ยังไม่ใช่บทบาทยอดเยี่ยมที่สุดของ Dietrich นะครับ) ตั้งแต่ทำตัวเหมือนเด็กน้อย ระริกรี้ ไร้เดียงสา ค่อยๆเรียนรู้สะสมประสบการณ์ เผชิญหน้าช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง (จากหน้ามือเป็นหลังมือ) จนสามารถเติบโตเป็นหญิงสาว และกลายเป็นจักรพรรดินีที่ใครต่อใครสามารถยินยอมศิโรราบแทบเท้า (Charisma ของ Dietrich คือเสน่ห์อันยั่วเย้า มารยาหญิงที่ทำให้ใครต่อใครตกหลุมรัก จนได้รับการสนับสนุนจากคนทุกระดับ)

หลายคนอาจมีภาพจำของ Dietrich ถึงความแรดร่าน สายตาจิกกัด เต็มไปด้วยมารยาหญิง สวยสังหาร ‘femme fatale’ อาจรู้สึกผิดหวัง/คาดไม่ถึงกับช่วงที่เธอเล่นเป็นเจ้าหญิง Sophie และเจ้าหญิง Catherine แต่ผมกลับชื่นชอบประทับใจมากๆ เพราะนั่นคือการพลิกบทบาท ตัวละครขั้วตรงข้ามของตนเอง แสดงถึงศักยภาพของเธอที่สามารถเล่นได้ทุกบทบาท ดึงดูดใครต่อใคร ลุ่มหลงใหลในเสน่ห์ ‘enchanted’ ราวกับต้องมนต์ ยินยอมศิโรราบแทบเท้า

น่าเสียดายที่ความเรื่องมาก เรียกร้องความสมบูรณ์แบบของ von Sternberg เริ่มทำให้ Dietrich อดรนทนไม่ไหว กลายเป็นความขัดแย้ง รอยแผลเป็นในใจ ต่อจากนี้คงมิอาจร่วมงานกันอีก แต่จดแล้วจนรอด von Sternberg ก็สามารถโน้มน้าวจนได้สรรค์สร้าง The Devil is a Woman (1935) … กลายเป็นผลงานที่ Dietrich โปรดปรานที่สุดในชีวิต


John Davis Lodge (1903-85) นักแสดง ผู้ว่าการรัฐ Connecticut และนักการทูต สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Washington D.C. ตระกูลของ Lodge เป็นนักการเมืองมาหลายรุ่น ตัวเขาเองร่ำเรียนจบกฎหมาย ทำงานทนายอยู่ระยะหนึ่งก่อนออกมาเป็นนักแสดงภาพยนตร์ ละครเวที ผลงานเด่นๆ อาทิ Little Women (1933), The Scarlet Empress (1934), The Little Colonel (1935) ฯ อาสาสมัครทหารเรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วผันตัวมา ส.ส. ลงสมัครในนามพรรค Republican

รับบท Count Alexey Razumovsky ผู้ดีรัสเซียที่อ้างว่าจงรักภักดีต่อจักรวรรดิรัสเซีย แต่ด้วยรูปลักษณ์หล่อเหลา หนวดเคราน่าหลงใหล จึงกลายเป็นชู้รักใคร่ของ Empress Elizabeth ถึงอย่างนั้นยังพยายามเกี้ยวพาราสีเจ้าหญิง Sophie/Catherine จนกระทั่งเมื่อพระองค์กลายเป็นราชินี จึงถูกเอาคืนกลับอย่างสาสม

ผมละยอมใจกับหนวดของ Lodge (ไม่รู้ของจริงหรือปลอม) สามารถเสน่ห์ให้ตัวละครได้อย่างน่าหลงใหล เพียงแรกพบเจอเจ้าหญิง Sophie ก็ตกหลุมรักใคร่ พยายามใช้มารยาของตนเองในการเกี้ยวพา ลวงล่อหลอก เพื่อหวังจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ … เป็นบทบาทที่กลับตารปัตรตรงกันข้ามกับ Marlene Dietrich ซึ่งเมื่อความจริงถูกเปิดโปง โชคชะตากรรมช่วงท้ายจึงได้รับผลกรรมอย่างสาสม

จะว่าไปถ้า Lodge เอาจริงเอาจังด้านการแสดง น่าจะกลายเป็น ‘sex symbol’ ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก ทั้งหล่อเหลา ดูเฉลียวฉลาด บุคคลิกภาพผู้นำ แต่คงตระหนักว่าอาชีพนี้คงไม่จีรัง เต็มไปด้วยการสร้างภาพ เลยหันไปทำประโยชน์ต่อสาธารณะ ใช้ความรู้ร่ำเรียนมาให้คุ้มค่าดีกว่า


Louise Dresser ชื่อจริง Louise Josephine Kerlin (1878-1965) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ Evansville, Indiana บิดาเป็นวิศวกรรถไฟ จากไปตอนอายุ 15 ปี ทำให้เธอต้องออกมาทำงานเป็นนักร้อง นักเต้นไนท์คลับ จากนั้นร่วมออกทัวร์ (vaudeville) ในชื่อ ‘Louise Dresser and Her Picks’ กระทั่งมีโอกาสแสดงละครเวที Broadway, ภาพยนตร์เรื่องแรก The Glory of Clementina (1922), มีชื่อเสียงจาก The Eagle (1925), A Ship Come In (1928), Mammy (1930), The Scarlet Empress (1934) ฯ

รับบทจักรพรรดินี Elizaveta Petrovna (1709-62) ขึ้นครองราชย์หลังพระสวามี Ivan VI สิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 1741 (จนถึงปี 1762, รวมระยะเวลา 21 ปี) พระองค์เป็นจอมเผด็จการ มีมักมาก เอาแต่ใจ ไหนจะต้องเผชิญหน้าสงครามเจ็ดปี แถมมีพระโอรส Grand Duke Peter สติไม่สมประกอบเท่าไหร่ ต้องมองหาพระชายาที่สามารถทำปฏิบัติคำสั่งโดยไม่ตอบโต้เถียงขัดแย้งใดๆ ตัดสินใจเลือกเจ้าหญิง Sophie จากดินแดนห่างไกล แม้ผิดหวังเล็กๆที่เธอคนนี้มีนิสัยแก่นแก้วดื้อรั้น แต่หลังจากประสูติพระโอรส ก็คงหมดหายห่วง สวรรคตอย่างไร้กังวล

อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบถึง Olivia Colman จากบทบาทคว้า Oscar: Best Actress เรื่อง The Favourite (2018) ต่างเล่นเป็นราชินี/จักรพรรดินีขี้เหงา เอาแต่ใจ ฝีปากจัดจ้าน มักมากในกามคุณ ไม่รู้เอาเวลาไหนปกครองบ้านเมือง … คือทั้ง Dresser และ Colman มีความยอดเยี่ยมในระดับพอๆกันเลยละ (Colman อาจโดดเด่นกว่าเพราะรับบทนำ ส่วน Dresser แม้เพียงนักแสดงสมทบ ก็ยังจัดจ้านไม่เบา)

น่าเสียดายนิดๆที่หนังนำเสนอตัวละครนี้เพียงด้านมุมเดียว จักรพรรดินีจอมเผด็จการ แทบไม่มีใครไหนทำอะไรถูกใจพระองค์เลยสักอย่าง เป็นเหตุให้ต้องขึ้นเสียง ใส่อารมณ์ แสดงความไม่พึงพอใจ หน้าตาบูดเบี้ยวยังกะตูด แต่ฉากที่ผมชื่นชอบมากๆกลับคือขณะสอนเชิงในห้องนอน ตักเตือนความสัมพันธ์ระหว่าง Catherine กับ Count Razumovsky ถ้าเธอไม่อยากเป็นคู่แข่ง(ด้านความรัก)กับฉัน พร้อมรอยยิ้มกริ่มเล็กๆที่พร้อมกำจัดศัตรูไม่ว่าใครให้พ้นภัยพาล

I wouldn’t advise you to become my rival.

Empress Elizaveta Petrovna

Sam Jaffe (1891 – 1984) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New York ครอบครัวชาว Jews อพยพมาจาก Russia วัยเด็กอาศัยอยู่ที่ Greenwish Village อพาร์ทเม้นท์เดียวกับเด็กชาย John Huston ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนสนิท แต่ก็ไม่ได้ร่วมงานกันบ่อยนัก ภาพยนตร์เรื่องแรก The Scarlet Empress (1934), ผลงานเด่นๆ อาทิ Lost Horizon (1937), Gunga Din (1939), The Day the Earth Stood Still (1951), Ben-Hur (1959) ฯ

รับบท Grand Duke Peter พระโอรสของจักรพรรดินี Elizabeth มีความผิดปกติทางสมอง สติไม่สมประกอบสักเท่าไหร่ (half wit) วันๆชอบวิ่งเล่นทำตัวเหมือนเด็กไร้เดียงสา เป็นเหตุให้มักถูกตำหนิต่อว่า ไม่เคยได้รับความอบอุ่นจากพระมารดา เลยสนิทสนมคบชู้กับสาวรับใช้ Elizaveta Vorontsova แต่ถูกบีบบังคับให้ต้องแต่งงานเจ้าหญิง Sophie ที่ไม่เคยแลเหลียวให้ความสนใจ (ไม่รู้เคยร่วมรักหลับนอนด้วยกันรึป่าว) กระทั่งขึ้นครองราชย์จักรพรรดิ Peter III ชีวิตได้รับอิสรภาพ ไม่ถูกกดขี่ข่มเหงอีกต่อไป ใช้อำนาจอย่างไร้กฎกรอบ ขีดจำกัด เข่นฆ่าประหารชีวิตประชาชนอย่างสนุกสนาน เหลือเหลือเพียงกำจัดราชินี Elizabeth แต่เมื่อเวลานั้นมาถึงกลับถูกรัฐประหาร และโดนลอบปลงพระชนม์

ผมจ้องอยู่นานว่าใคร มักคุ้นเหลือเกินว่าเคยพบเห็นที่ไหน พอดูเครดิต Sam Jaffe ก็ร้องอ๋อหมอนี่เอง! เป็นบทบาทแนวถนัด ทำตัวเอ๋อเหรอ หน้าตาเหลอหลา ทรงผมยุ่งๆไม่เคยหวี วันๆเอาแต่ยิ้มร่า คนบ้าบอเสียสติแตก แค่ปรากฎภาพแรกก็สร้างความตกตะลึง คาดไม่ถึง หัวใจตกหล่นไปอยู่ตาตุ่ม (ถ้าคนไม่เคยรับรู้มาก่อน ย่อมมีความคาดหวังสูงแบบกับเจ้าหญิง Sophie พอพบเห็นเจ้าชายครั้งแรกก็จะรู้สึกห่อเหี่ยว สิ้นหวังลงทันที!)

ความสุดยอดของ Jaffe ไม่ใช่แค่การแสดงสีหน้าทาทางบ้าๆบอๆของตัวละคร แต่ยังซุกซ่อนเร้นความผิดปกติที่มากกว่าแค่ร่างกาย จิตใจถูกพระมารดากระทำร้าย ขาดความรัก ความอบอุ่น แถมถูกบีบบังคับให้แต่งงาน ซึ่งหลังจากจักรพรรดินี Elizabeth เสด็จสวรรคต ฉากเล็กๆที่จักรพรรดิ Peter III พูดต่อหน้าพระศพ ระบายความอึดอัดอั้น โกรธเกลียดเคียดแค้น อำนาจทั้งหมดต่อจากนี้จะเป็นของฉันแต่เพียงผู้เดียว

Where is all your power? It’s mine now.

Peter III

ถ่ายภาพโดย Bert Lawrence Glennon (1893-1967) ตากล้อง/ผู้กำกับ สัญชาติอเมริกัน อดีตนักบินขับไล่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากนั้นทำงานห้องแลป Keystone and Famous Players ตามด้วย Clune Film Corporation แล้วกลายมาเป็นตากล้อง เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ปี 1915, ผลงานเด่นๆ อาทิ The Ten Commandments (1923), Underworld (1927), The Last Command (1928), Morning Glory (1933), The Scarlet Empress (1934), เข้าชิง Oscar: Best Cinematography สามครั้งจาก Stagecoach (1939), Drums Along the Mohawk (1939) และ Dive Bomber (1941)

ออกแบบศิลป์ (Art Direction) โดย Hans Dreier (1885-1966) สัญชาติ German เคยทำงานอยู่ UFA Studios ก่อนย้ายติดตาม Ernst Lubitsch เดินทางมา Hollywood ตั้งแต่ปี 1923 แล้วปักหลักอยู่ Paramount Pictures, เคยเข้าชิง Oscar 23 ครั้ง คว้ามา 3 รางวัลจาก Frenchman’s Creek (1944), Samson and Delilah (1950) และ Sunset Boulevard (1950)

ทั้ง Glennon และ Dreier ต่างเป็นเพื่อนสนิทขาประจำของผู้กำกับ von Sternberg เข้าใจความต้องการ ไดเรคชั่นถ่ายทำ นั่นคือมุ่งเน้นสร้างบรรยากาศ เต็มไปด้วยหมอก ควันบุหรี่ โดดเด่นเรื่องจัดแสง-เงา เพื่อสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร จนกลายเป็นต้นแบบหนังนัวร์ (film noir)

เพิ่มเติมสำหรับ The Scarlet Empress (1934) คือการทำรูปปั้นนักบวช แกะสลักสัตว์ประหลาด Gargoyles (ปั้นโดย Peter Ballbusch) และภาพวาดฝาผนัง (โดย Richard Kollorsz) เพื่อประดับตกแต่งพระราชวัง Moscow Kremlin ให้ดูอัปลักษณ์ พิศดาร ราวกับหน้าต่างมีหูประตูมีช่อง ไม่รู้สึกถึงความปลอดภัย รายล้อมรอบด้วยภยันตราย ใครบางคนจับจ้องมอง หลอกหลอน น่าหวาดสะพรึง ราวกับปราสาทในขุมนรก


ขณะที่ชื่อหนัง ชื่อนักแสดง ทีมงาน ผู้กำกับ ทั้งหมดเขียนด้วยตัวพิมพ์เล็ก (catherine II ก็ยังตัวพิมพ์เล็ก) แต่จะมีชื่อหนึ่งเดียวเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด ปรากฎคนแรกสุด ADOLPH ZUKOR PRESENTS ซ้อนทับโลโก้ a Paramount Picture มันจะสื่อถึงอะไรอย่างอื่นได้ละครับ!

แซว: ตรงหน้า the cast จะตบท้ายด้วยว่า and a supporting cast of 1000 players ใครทันมองเห็นก็จะเตรียมตัว เฝ้ารอคอยพบเห็นความยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างของหนังโดยทันที!

เด็กหญิงที่รับบทเจ้าหญิง Sophie ก็คือ Maria Riva (เกิดปี 1924) บุตรสาวแท้ๆของ Marlene Dietrich กับผู้กำกับ Rudolf Sieber แต่งงานกันตั้งแต่ปี 1923 ไม่เคยหย่าร้าง แต่ก็แทบไม่เคยอาศัยอยู่ร่วมกัน

ตั้งแต่ที่ Dietrich เดินทางสู่ Hollywood เมื่อปี 1930 ก็พาบุตรสาววัย 5 ขวบติดตามมาด้วย แต่ด้วยความที่ต้องออกไปทำงานตลอดเวลา จึงว่าจ้างผู้ดูแล (Governess) ไม่ยินยอมให้เข้าโรงเรียนหรือออกไปไหน แวะเวียนมากองถ่ายหนังบ้างบางครา จนกระทั่งปลายทศวรรษ 30s มารดาถึงปล่อยให้เข้าโรงเรียนประจำ Brillantmont International School, ประเทศ Switzerland

จริงๆแล้ว Riva อายุเกินตัวละครไปพอสมควร แต่ทีมงานไม่สามารถหานักแสดงเด็กที่หน้าเหมือน Dietrich เลยตัดสินใจใช้บุตรสาวของเธอ เข้าฉากที่เพียงแค่นอนอยู่บนเตียงไม่ได้ลุกเดินไปไหน … แต่จริตเหมือนมารดามากๆ

แม้จะเป็นฉากเล็กๆกลับเต็มไปด้วยรายละเอียดน่าสนใจ Sophie ถือเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด รับรู้ว่ามารดาจะสั่งให้คนรับใช้เก็บทิ้งของเล่น ตุ๊กตา แต่เธอก็แอบซุกซ่อนไว้ตัวหนึ่งใต้หมอน เมื่อทุกคนจากไปถึงค่อยหยิบมาโอบกอด ด้วยเหตุนี้เมื่อเติบโตขึ้นเป็นสาว เธอจึงยังชอบทำตัวแก่นแก้ว เอาแต่ใจ (เหมือนเด็กน้อย) เพื่อต่อต้านคำสั่งของมารดา (เป็นปมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กนี้)

ติวเตอร์/อาจารย์ของ Sophie เล่านิทานก่อนนอนถึงความเหี้ยมโหดร้ายของจักรวรรดิรัสเซีย Peter the Great, Ivan the Terrible (ผมเคยเขียนถึงภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ไปแล้วนะ) จินตนาการภาพการทรมาน ประหัดประหารชีวิต Iron Maiden กีโยติน เผาให้ตกตายทั้งเป็น ฯลฯ นำเสนอเหมือนกำลังเปิดอ่านหนังสือ (เป็นเทคนิคที่ผมก็ไม่รู้ว่าทำได้อย่างไรในยุคสมัยนั้น)

ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายก่อนหน้าการบังคับใช้ Hays Code เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นนะครับ จึงรอดพ้นเซนเซอร์ทั้งภาพเปลือย การทรมาน ความรุนแรง และประหัดประหารชีวิต (กฎของ Hays Code คือห้ามจัดแสดงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้)

จบนิทานก่อนนอนด้วยภาพชายคนหนึ่งห้อยต่องแต่ง ถูกทำให้กลายเป็นลูกตุ้มระฆัง โยกไปก็โยกมา แล้วตัดภาพขณะ Sophie กำลังโยกชิงช้าในลักษณะเดียวกัน! นี่เป็นการนำเสนอ Montage ที่น่าสะพรึงกลัวมากๆ เพราะสื่อว่าเรื่องราวในนิทานก่อนนอน (ที่เต็มไปด้วยการทรมาน เข่นฆ่าคนตาย) คือความบันเทิงของเด็กหญิง ได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน หัวเราะร่า

ก่อนจะกลายเป็นจักรพรรดินีที่ใครๆต้องก้มหัว ศิโรราบแทบเท้า เด็กหญิง Sophie จำต้องถอนสายบัว ทำความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ญาติพี่น้องทั้งหมดรอบห้อง ซึ่งผู้กำกับ von Sternberg จงใจนำเสนอในลักษณะ ‘black comedy’ สร้างความขบขัน ล้อเลียนการกระทำที่เสียเวลา ไร้สาระ ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่หลายครั้ง … กิจกรรมเล็กๆนี้ สามารถสื่อถึงความยึดถือมั่นในขนบกฎกรอบของคนยุคสมัยนั้น

และสังเกตขณะ Sophie ถอนสายบัวบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ กล้องจะเคลื่อนเลื่อนผ่านโคมระย้าเหนือศีรษะ ราวกับจะสื่อถึงว่านี่คือพิธีการของชนชั้นสูง ผู้ดีมีสกุล เรียกมันว่า ‘มารยาททางสังคม’ ของคนมีสัมมาคารวะ

แม้ว่า Count Alexey Razumovsky เดินทางมารับตัว Sophie แต่เจ้าหญิงกลับไม่รับโอกาสพูด ออกเสียง แสดงความคิดเห็น หรือมีปฏิกิริยาใดๆ (ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวจัดแจงให้ทุกสิ่งอย่าง) จนกระทั่งเมื่อได้รับอนุญาตซักถาม ก้าวประชิดตัวท่านเคานท์ แสดงความอยากรู้อยาเห็นถึงรูปลักษณ์เจ้าชาย(ที่กำลังจะเข้าพิธีอภิเสกสมรสด้วย) สังเกตว่าแสงสว่างตรงนั้นจะมีความเจิดจรัส สว่างกว่าปกติ … ลองเปรียบเทียบสองช็อตนี้ดูก็แล้วกันนะครับ

ของที่ระลึกจาก Count Alexey Razumovsky ล้วนเกี่ยวกับสิ่งสร้างความอบอุ่นทางกาย เพื่อต่อสู้สภาพอากาศอันหนาวเหน็บของจักรวรรดิรัสเซีย

  • ไปป์สูบบุหรี่ สูบแล้วลุ่มร้อนทรวงใน มอบให้บิดา Prince August
  • เสื้อคลุม ถุงมือ สิ่งสำหรับปกคลุมเรือนร่างกายของ Sophia
  • และหม้อเก็บความร้อนยกให้มารดา

This pipe is for you, Prince August. These sables are to keep your shoulders warm. These gloves are to keep your hands warm. This robe is to keep your feet warm. These hot water bottles… to keep Mother warm.

Count Alexey Razumovsky

สำหรับโคลสอัพใบหน้าเจ้าหญิง Sophie ดวงตาจะเบิกโพลง อ้าปากค้าง แสดงถึงความใคร่อยากรู้อยากเห็น แสงสว่างสาดส่องจากหลายทิศทาง แต่มีความสว่างจร้าด้านบนศีรษะ สื่อถึงกำลังจินตนาการภาพของเจ้าชาย(ในฝัน) ถ้าเป็นจริงตามท่านเค้านท์ว่าไว้ การแต่งงานคงสมบูรณ์แบบที่สุดเลยละ

ตราแผ่นดินตั้งแต่สมัยจักรวรรดิรัสเซียมาจนถีงปัจจุบัน (เว้นว่างช่วงสหภาพโซเวียต ที่เปลี่ยนมาใช้ค้อนและเคียวเกี่ยวข้าว) คืออินทรีสองหัว เพื่อสื่อถึงอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล โดยศีรษะแต่ละข้างจะหันไปทางซ้ายและขวา หมายถึงการปกปักษ์ดูแลดินแดนรัสเซียทั้งหมด ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ส่วนไม้คทาหมายถึงอำนาจ และลูกโลกประดับกางเขนหมายถึงนิติบัญญัติ

หนังนำตราแผ่นดินรัสเซีย มาใช้เป็นต้นแบบบังลังก์จักรพรรดิได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ (ชวนให้นีกถีงบังลังก์ดาบของ Game of Thrones อยู่ไม่น้อยเลยละ) แต่อินทรีทั้งสองหัวกลับจับจ้องมายังพระที่นั่ง (สะท้อนความเห็นแก่ตัวของจักรพรรดิ/จักรพรรดินี หาได้ใคร่สนใจความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์สักเท่าไหร่) ส่วนด้านหลังคือภาพวาดนักบุญ สื่อถืงศาสนาที่คอยค่ำจุนจักรวรรดิ ส่งเสริมสนับสนุน ให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์

การปรากฎตัวของ Grand Duke Peter เริ่มต้นจากสุนัขนำทาง คนรับใช้ผิวสี ชู้รัก (นั่งลงข้างๆ) และเจ้าชายก้าวเดินออกมา สวมชุดคุลมขนสัตว์ ทำตาพองโต แสยะยิ้มกว้าง หาได้มีรูปหล่อเหลา ดูยังไงก็ไม่สมประกอบเลยสักนิด!

จะว่าไป Peter และ Sophia ต่างมีความละม้ายคล้ายกันมากๆ ถูกมารดาคาดหวังเติบโตขี้นต้องกลายเป็นจักรพรรดิ/ราชินี พยายามบีบบังคับให้ต้องสูญเสียความเป็นเด็กตั้งแต่ยังเล็ก แต่พอทั้งสองเติบโตขี้นต่างยังคงมีความเหมือนเด็ก ชื่นชอบการละเล่นสนุกสนาน เฝ้ารอคอยวันที่จักรพรรดินีเสด็จสวรรคต ก็จักได้รับอิสรภาพ ทำทุกสิ่งอย่างตามใจปรารถนาสักที

ปฏิกิริยาของเจ้าหญิง Sophia มูลค่ามหาศาลยิ่งนัก! ตาพองโต อ้าปากค้าง ตกตะลีงงันจนไม่รู้จะแสดงสีหน้าอะไรออกมา ผู้ชมก็เฉกเช่นเดียวกัน เกิดอาการผิดหวัง คาดไม่ถีง จิตใจตกลงไปอยู่ตาตุ่ม (ผู้ชมรู้สีกเช่นไร ตัวละครก็เฉกเช่นนั้นแล)

สังเกตว่าช็อตนี้มีการทำให้ภาพฟุ้งๆ สว่างจร้า ใบหน้าขาวโพลนกว่าปกติ และแสงไฟสะท้อนในดวงตาของ Sophia ราวกับเธอกำลังจะร่ำร้องไห้ออกมา

ผมมองการออกแบบประตูบานใหญ่ ต้องใช้หลายคนผลักเปิดออก สื่อถีงความต้องการปกปิด ซุกซ่อนเร้นอะไรบางอย่างในพระราชวัง ไม่ต้องการให้คนนอกรับรู้ เข้ามาพบเห็นความจริง ที่เต็มไปด้วยความอัปลักษณ์ วิปลาส ผิดพิศดาร … แต่ด้วยภาพวาดนักบวช และรูปปั้นมากมาย กลับให้ความรู้สีกเหมือน ‘หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง’ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนไหนล้วนถูกจับจ้องมอง ใครบางคนคอยสอดส่อง ไร้ความเป็นส่วนตัว สถานที่ปลอดภัย ไม่อะไรเป็นความลับได้ทั้งนั้น

เก้าอี้แทบทุกตัวในหนัง ต้องรูปลักษณะบุคคลแสดงท่าทาง อากัปกิริยาต่างๆ ซี่งสามารถสะท้อนตัวตน/สถานะขณะนั้น/อารมณ์ความรู้สีกจากภายใน (อย่างใดอย่างหนี่งหรือหลายอย่างก็ได้) อย่างช็อตนี้เจ้าหญิง Sophie นั่งลงท่ามกลางรูปปั้นชายชรารายล้อมถีง 4 ตน! สามารถสื่อถีง

  • ความแห้งเหี่ยวสิ้นหวังของ Sophie (เมื่อได้แรกพบเจอเจ้าชาย) ภายในรู้สีกแก่ชราภาพลงหลายปี เหมือนรูปปั้นผู้อาวุโสเหล่านี้
  • การสูญเสียอิสรภาพ ชีวิตต่อจากนี้จะถูกล้อมหน้าล้อมหลัง คนรับใช้ บอดี้การ์ด ไร้ซี่งความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป
  • ขนบกฎกรอบ ธรรมเนียมประเพณีที่มีความเก่าแก่แต่โบราณกาล เหมือนผู้อาวุโสเหล่านี้ที่ห้อมล้อมรอบ ครอบงำหญิงสาว/คนรุ่นใหม่ ทำให้ไม่สามารถครุ่นคิดตัดสินใจทำอะไรๆด้วยตนเอง

แซว: รูปปั้นพวกนี้ทำให้ผมระลึกถึงหุ่นทหารดินเผา ในสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ยุคสมัยนั้นเชื่อว่าเป็นการนำความยิ่งใหญ่เกรียงไกรไปสู่ชาติภพหน้า

ชุดแต่งงานของ Sophie มีการตระเตียมที่ยุ่งยาก วุ่นวาย อะไรก็ไม่รู้ระโยงระยางเหมือนหยากไย่ ไม่รู้กระโปรงหรือผ้าคลุมศีรษะที่มีความเยิ่นยาว (ต้องให้สาวใช้หลายคนช่วยกันจัดแต่ง) สามารถสื่อถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาเนิ่นยาวนาน ยังต้องยืดและถือปฏิบัติ มิอาจปรับเปลี่ยนแปลงอะไรได้ทั้งนั้น

เช่นกับกับหมวกแต่งงาน ครอบศีรษะของ Sophie เพียงใบหน้าที่สามารถยื่นออกมา นอกนั้นต้องปกปิด ซุกซ่อนเร้น ไม่มีอวัยวะส่วนไหนเปิดเผยออกสู่สาธารณะ สะท้อนเข้ากับพระราชวังแห่งนี้ สร้างให้ยิ่งใหญ่อลังกาย มองจากภายนอกดูดี แต่ข้างในนั้นกลับ…

พิธีอภิเสกสมรสแม้จะมีความยิ่งใหญ่ รายละเอียดอลังการ แต่ผู้กำกับ von Sternberg กลับโฟกัสเพียงโคลสอัพใบหน้าของ Sophie (ที่กำลังจะกลายเป็นเจ้าหญิง Catherine) ตัดสลับ Count Alexey Razumovsky ราวกับโลกนี้มีเพียงเราสอง ครองคู่ เอ่ยคำสัญญารัก ไม่ใคร่สนใจอะไรใครอื่น (แม้แต่พระสวามีที่กำลังร่วมอยู่พิธี ยังถูกบาทหลวงบดบังจากมุมกล้องนี้)

ถึงผมจะบอกว่าหนังให้ความสนใจหลักๆเพียงใบหน้าสองชู้รัก แต่ตลอดทั้ง Sequence มีลำดับการนำเสนอที่สมบูรณ์แบบมากๆ (Macro -> Micro -> Macro) เริ่มจากถ่ายภาพมุมกว้าง เก็บบรรยากาศโดยรอบ กล้องค่อยๆเคลื่อนผ่านจักรพรรดินี มายังแท่นพิธี จากนั้นค่อยโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ตัดสลับไปมาจนพอพิธีใกล้สิ้นสุด ค่อยกลับมาถ่ายภาพมุมกว้าง เคลื่อนเลื่อนถอยหลัง พานผ่านจักรพรรดินี และสิ้นสุด Sequence

งานเลี้ยงที่มาจากขุมนรก พบเห็นโครงกระดูก ซุปเลือดเดือดปุๆ เศษซากสัตว์ เน่าเปื่อยผุผอง ฯลฯ ทั้งฉากนี้ไม่ได้แค่สร้างบรรยากาศสยดสยอง ขนลุกขนพอง หรือสะท้อนรสนิยมแปลกๆของชนชั้นสูง ราชวงศ์ จักพรรดินี แต่ยังแฝงนัยยะถึงการได้มาของสิ่งเหล่านี้ ล้วนจากภาษีของประชาชน ที่ต้องอดรนทนทุกข์บากลำบาก สูญเสียหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ แรงกาย กว่าจะได้รับผลตอบแทน ท้องอิ่มหนำสักมื้อ

มันอาจดูเป็นความขบขันเล็กๆที่ Empress Elizabeth หยิบคทาผิดเป็นโครงกระดูก แต่มันแฝงนัยยะถีงการใช้อำนาจนิติบัญญัติ ที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนหรือจักรวรรดิรัสเซีย เพียงเพื่อสนองความต้องการ พีงพอใจ สุขส่วนตนเท่านั้น หยิบคว้าอะไรได้ก็พร้อมออกคำสั่ง ไม่สนถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี ประการใดๆทั้งนั้น

นี่เป็นช็อตที่ใช้แทนการร่วมหอลงโลง ค่ำคืนแรกระหว่างเจ้าหญิง Catherine กับ Grand Duke Peter ด้วยการให้รูปปั้นจักรพรรดินีกะปิดกะเปิดผ้าคลุม พบเห็นเรือนร่างเปลือยเปล่า ไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้า ขณะที่อีกรูปปั้น(ที่อาจแทนด้วย Peter)ได้แต่แหงนเงย จับจ้อง ถ้ำมอง … ราวกับว่าเจ้าชายไม่ได้กระทำอะไรเจ้าหญิง (นี่แค่ความเห็นส่วนตัวนะครับ)

หนี่งสัปดาห์หลังพานผ่านพิธีอภิเสกสมรส แต่เจ้าหญิง Catherine ยังคงระริกระรี้ แรดร่าน (ทำตัวเหมือนยังเป็นเด็กน้อย บริสุทธิ์ผุดผ่อง) วิ่งไล่ติดตามสาวรับใช้ ก่อนถูกฉุดรั้งโดย Count Alexey Razumovsky พยายามเกี้ยวพาราสี พูดพร่ำถีงความรักที่มีให้ แต่สังเกตว่าเขาอยู่ได้เพียงตำแหน่งชั้นล่าง ขณะที่เธอกำลังก้าวขี้นบันไดใน 3 ระยะ

  • ตีนบันได สะท้อนถีงความสัมพันธ์เริ่มต้นที่ยังเท่าเทียม สามารถจับมือเหนี่ยวรั้งเธอไว้
  • เมื่อเจ้าหญิงก้าวขี้นบันได ระยะทาง ความเหินห่างจาก Count Razumovsky ก็เริ่มเพิ่มขี้นเรื่อยๆ แต่เขายังพยายามโน้มน้าว ชักจูงจมูก
  • กระทั่งเมื่อเจ้าหญิงขี้นถีงชั้นบน ต้องชะโงกลงมาสนทนากับ Count Razumovsky ที่มิอาจเอื้อมมือไขว่คว้า (ไม่สามารถอยู่ร่วมช็อตเดียวกันอีกต่อไป) แค่โยนล็อกเก็ตให้เก็บไว้ต่างหน้า

ตำแหน่งบนบันไดของ Catherine สะท้อนวิทยฐานะที่ค่อยๆเพิ่มสูงขี้น (จากคนนอกสู่เจ้าหญิง ราชินี และจักรพรรดินี) รวมถีงระยะห่างความสัมพันธ์กับ Count Razumovsky มิอาจครองคู่อยู่ร่วมรักกันอย่างเปิดเผย

บันไดที่เต็มไปด้วยรูปปั้นหน้ามนุษย์ ออกแบบให้เป็นเสา คาน มองมุมหนี่งคือรากฐานของประเทศ ตัวแทนบุคคลผู้เสียสละ (รูปปั้นที่มีธนูปักเต็มตัว) เชื่อว่าได้ทำประโยชน์ ถือเทียน มอบแสงสว่าง/อนาคตให้แก่บ้านเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับถูกย่ำเหยียบจากบรรดาชนชั้นผู้นำ สำหรับไต่เต้า ก้าวขี้นบันได ไปให้ถีงจุดสูงสุด แล้วถือครอบครองเป็นเจ้าของทุกสรรพสิ่งอย่างในผืนแผ่นดินนี้

สาวรับใช้กำลังแต่งตัวเจ้าหญิง Catherine ระหว่างทิ้งตัวลงบนเตียงเพื่อสวมกระโปรงสุ่มไก่ หัวข้อสนทนาขณะนั้นคือใครต่อใครในพระราชวังแห่งนี้ล้วนแอบมีชู้รัก (ที่ต้องซุกซ่อนไว้ใต้กระโปรง) ไม่เว้นแม้แต่จักรพรรดินี … ช็อตนี้สังเกตความใหญ่ของกระโปรงสุ่มไก่ แทบบดบังใบหน้านักแสดง เหมือนจะสื่อแทนถีงความสำคัญของการมีชู้รัก (ในสถานที่แห่งนี้) ไม่ใช่แค่ตอบสนองตัณหาราคะ ยังคือเส้นสาย ฝั่งฝ่าย ฐานอำนาจ (ยิ่งมีชู้รัก/ผู้สนับสนุนมากเท่าไหร่ ราชบัลลังก์ก็จะเข้มแข็งแกร่ง มั่นคง ไม่สั่นคลอนโดยง่าย)

นัยยะของกระโปรงสุ่มไก่ สะท้อนโลกทัศนคติยุคสมัยนั้น หญิงสาวต้องถูกควบคุมครอบงำ อยู่ภายใต้กฎกรอบ (ในกระโปรงคลอบ) ไร้ซี่งอิสรภาพ ความยืดหยุ่นในการทำสิ่งโน่นนี่นั่น แบกรับภาระอันหนักอี้งในการมีบุตร (ลักษณะอ้วนๆบวมๆของสุ่มไก่ สื่อถีงการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน)

ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย Travis Banton (1894–1958) ทำงานในสังกัด Paramount Pictures โดดเด่นกับชุดที่ดูหรูหรา ฟุ่มเฟือย แฟชั่นชนชั้นสูง ก่อนหน้านี้เคยร่วมงานผู้กำกับ von Sternberg เรื่อง Shanghai Express (1932)

แม้มารดาถูกส่งตัวกลับไปแล้ว แต่เจ้าหญิง Catherine ยังคงได้รับการตวาดจาก Empress Elizabeth ด้วยเหตุนี้ฉากต่อมาเธอจึงพยายามต่อสู้ขัดขืน ด้วยการแอบมาหา Count Alexey Razumovsky เพื่อหวังจะกระทำสิ่งชั่วร้าย ขัดต่อพระประสงค์จักรพรรดินี แม้หนังไม่ได้นำเสนออะไรไปมากกว่าการกอดจูบ ทิ้งตัวลงบนกองฟาก แต่อากัปกิริยาของตัวละคร ล้วนสื่อถึงการร่วมรัก เพศสัมพันธ์

  • จับเชือกแล้วโยกหมุนไปมา (เหมือนท่วงท่า Woman on Top)
  • หยิบฟางใส่ปากแล้วโดนชักออก ก็เลยหยิบอันใหม่คาบไว้แล้วก็ถูกดึงออก ซ้ำอยู่หลายครั้ง (เหมือนการทำ Oral Sex)

ถ้าไม่ได้มองเรื่อง Sex การคาบฟางสามารถสื่อถึงความต้องการทำในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ (หรือจะมองว่า เรียกร้องความสนใจก็ได้เช่นกัน) แต่กลับถูกกีดกัน ขัดขวาง ดึงออกจากปาก ซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งเมื่อเธอกลายเป็นราชินี Catherine แม้ดูไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่มีใครไหนหาญกล้าดึงฟางจากพระโอษฐ์อีกต่อไป

การเจาะรู แอบถ้ำมองเข้ามาในห้องพระมารดาของ Grand Duke Peter อาจดูไม่มีเหตุผลสักเท่าไหร่ แต่การกระทำดังกล่าวสามารถสื่อถึงสิ่งที่จักรพรรดินีต้องการบอกต่อเจ้าหญิง Catherine ให้จับจ้องมองสิ่งกำลังจะบังเกิดขึ้นต่อไป ลงไปเปิดประตูลับ และพบเห็นบุคคลที่คือชู้รักของพระองค์เอง

Empress Elizabeth สอบถามเจ้าหญิง Catherine ว่ามีความสัมพันธ์อะไรกับ Count Alexey Razumovsky? นี่คือช็อตปฏิกิริยา โคลสอัพใบหน้าดูมืดหม่น ขุ่นมัว แสงสว่างสาดส่าดส่องจากด้านหลังศีรษะ สะท้อนจิตใจที่ปกคลุมด้วยความมืดมิด บังเกิดอาการขลาดหวาดกลัว เลยปฏิเสธพูดตอบความจริง ส่ายหัวบ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้มีความรู้สึกใดๆต่อเขา

ผมโคตรไม่เข้าใจว่าทำไม่ใช้รูที่ Grand Duke Peter อุตส่าห์เจาะไว้สำหรับถ้ำมองชายคนนั้น! กลับเป็นการซ้อนภาพเจ้าหญิง Catherine ยืนอยู่ด้านหลังประตูลับ แสดงปฏิกิริยาสีหน้าตื่นตกใจ หวาดสะพรึงกลัว รู้สึกเหมือนถูกทรยศหักหลัง ค่อยๆก้าวลงบันไดทีละขั้น สภาพจิตใจกำลังตกต่ำ ความมืดปกคลุมครอบงำใบหน้า แสงสลัวๆส่องผ่านบางครั้งให้เห็นถึงความหมดสิ้นหวัง

จากนั้นโยนทิ้งล็อกเก็ต (ของ Count Alexey Razumovsky) ออกมาทางหน้าต่าง พบเห็นมันเกี่ยวกิ่งไม้ ค่อยๆตกต่ำลงเรื่อยๆจนถึงพื้นดินด้านล่าง (นัยยะเดียวกับการเดินลงบันได) แต่อาจเพราะความรักที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง เจ้าหญิง Catherine จึงออกมาค้นหายังสวนแม้ยามรัตติกาล ถูกพบเจอโดยผู้หมวดทหารยาม ปฏิเสธเชื่อคำว่าเธอคือเจ้าหญิง

ในระหว่างเจ้าหญิง Catherine ออกมายังสวนยามรัตติกาลนี้ ใบหน้าแทบทุกช็อตของเธอล้วนปกคลุมด้วยความมืดมิด (ถ่ายย้อนแสง) มองอะไรไม่ค่อยเห็น สามารถสื่อถึงสภาพจิตใจที่ตกต่ำ ชอกช้ำ หมดสิ้นหวังอาลัย พยายามมองหาแสงสว่างแห่งความหวัง แล้วก็ได้พบเจอใบหน้าทหารยามที่ค่อนข้างคมชัด เลยยินยอมปล่อยตัวปล่อยใจ โถมเข้าไปโอบกอด และสามารถทอดทิ้งล็อกเก็ต (ของ Count Alexey Razumovsky) ทำใจลาจากชู้รักคนเก่าได้สักที

ใครๆก็น่าจะบอกได้ว่าบุตรชายของ Catherine ไมใช่สายเลือดของ Grand Duke Peter แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ตัวละครไหนจะยินยอมพูดบอก หนังก็จงใจสร้างความคลุมเคลือ แต่สามารถค้นพบคำตอบจากใบหน้า (ของ Catherine) ที่อยู่ด้านหลังมุ้งช็อตนี้ ช่างมีความบิดเบี้ยว เลือนลาง ทุกสิ่งอย่างต่อจากนี้กำลังเกิดการปรับเปลี่ยนแปลง ไม่มีอีกแล้วเจ้าหญิงผู้ใสซื่อบริสุทธิ์ ทำตาโต อ้าปากหวอ เพราะเธอได้ค้นพบเป้าหมาย ความทะเยอทะยาน พร้อมทำทุกสิ่งอย่างเพื่อให้ไปถึงปลายทางนั้น

จากของเด็กเล่นของ Grand Duke Peter หรือความเพ้อฝันของเด็กหญิง Sophie เมื่อทั้งสองเติบโตขึ้น ล้วนสามารถกลับกลายมาเป็นเหตุการณ์บังเกิดขึ้นได้จริง หนึ่งในนั้นก็คือให้ทหารล้อมรอบใครคนหนึ่ง ทำเหมือนต้องการกำจัดศัตรู โค่นล้มอำนาจ ราชบังลังก์ ถึงอย่างนั้นเจ้าหญิง Catherine กลับไม่มีความหวาดกลัวเกรงใดๆ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่พระสวามีจะกล้าท้าทายอำนาจของพระ Empress Elizabeth

ล้อกับตอนต้นที่ขณะเจ้าหญิง Sophie แกว่งไกวชิงช้า, ขณะนี้เจ้าหญิง Catherine กำลังสวมผ้าปิดตา วิ่งเล่นไล่จับ(กับชู้รัก) ใช้ชีวิตอย่างสนุกหรรษา เคียงคู่ขนานกับการสิ้นพระชมน์ของ Empress Elizabeth สื่อตรงๆถึงความปลื้มปีติยินดี ที่พระจักรพรรดินีได้เสด็จสวรรคตสักที!

Grand Duke Peter เฝ้ารอคอยช่วงเวลานี้มาแสนยาวนาน เมื่อพระมารดาเสด็จสวรรคต ก็ตรงเข้าไปยังห้องเก็บพระศพ กล้องถ่ายผ่านเชิงเทียน รายล้อมด้วยหมอกควัน ทหารด้านหลังไม่ต่างจากหุ่นปั้น สร้างบรรยากาศน่าขนลุกขนพอง สถานที่แห่งความตาย ก่อนร่ายถ้อยคำพรรณา แสดงสีหน้ายิ้มกริ่ม ชีวิตได้รับอิสรภาพ ต่อจากนี้จะไม่ถูกกดขี่ข่มเหงจากใครอีกต่อไป

There you are, you old crow. Dead as a doornail at last. What have you got to say about it? Open your mouth if you can. In another week, it’ll be full of ice. In another month, not a soul will mourn for you. In another year, you’ll be forgotten. Where is all your power? It’s mine now. Do you hear me? Take it away from me if you can. It’s my turn now.

Grand Duke Peter

เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ Emporer Peter III นั่งบนราชบัลลังก์ ก็ปรากฎภาพซ้อนกับการประกาศใช้พระราชอำนาจในทางมิชอบ กลายเป็นเผด็จการ ทรราชย์ ร้อยเรียงภาพที่เจ้าหญิง Sophia เคยเพ้อฝันเมื่อตอนต้นเรื่อง มาขณะนั้นทุกสิ่งอย่างได้บังเกิดขึ้นจริง! สร้างความหวาดสะพรึงกลัวไปทั่วทุกสารทิศ ประชาชนโกรธรังเกียจ เริ่มตระเตรียมการทำรัฐประหารในอีกไม่ช้านาน

ระหว่างที่ Emporer Peter III กำลังเถลิงราชสมบัติอยู่นั้น ราชินี Catherine ก็เอาเวลาไปสานสัมพันธ์ทหาร ข้าราชบริพาร ชนชั้นผู้น้อย ทำตัวเหมือนหอยเม่น (เหมือนชุดที่สวมใส่นี้) ที่พร้อมจะเกาะแก่งใครต่อใคร ทิ่มแทงถ้าได้รับอันตราย แต่รสชาติเนื้อในนั้นอร่อยเหาะสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ลิ้มลอง

เมื่อกลายเป็นราชินี Catherine ก็ถึงเวลาเอาคืน Count Alexey Razumovsky ด้วยวิธีการเสี้ยมสอน ย้อนรอยในลักษณะเดียวกับที่ตนเคยได้รับ ตั้งแต่คาบฟางในปาก (ใครกันจะกล้าหยิบออกมา) และสั่งให้ไปเปิดประตูลับ พบเห็นบุคคลที่เป็นชู้รัก นั่นสร้างความตระหนัก สาแก่ใจ กรรมใดใครก่อ หมดสิ้นสภาพท่านเค้านท์รูปหล่อ ไม่สามารถซื้อใจเธอได้อีกต่อไป

Something for the poor, You Majesty?

Archimandrite Simeon Todorsky

จุดแตกหักระหว่าง Emporer Peter III vs. ราชินี Catherine เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร ต่างประทับอยู่คนละฟากฝั่ง การมาถึงของพระอธิการเรียกร้องขอสิ่งอย่างมอบให้คนยากไร้ กล้องจะค่อยๆเคลื่อนไหลไล่ระดับการบริจาค ขณะที่ราชินีพร้อมถอดเครื่องประดับทุกสิ่งอย่าง จักรพรรดิกลับไม่ยินยอมมอบอะไรสักอย่าง แถมเชื่อว่าจักรวรรดิรัสเซียไร้ซึ่งคนยากจน!

การเผชิญหน้าระหว่าง Emporer Peter III vs. ราชินี Catherine

  • Emporer Peter III มีเพียงอำนาจที่สามารถพูดสั่ง ปลดตำแหน่ง ดึงยศออกจากบ่า
  • ขณะที่ราชินี Catherine มี(ตัวแทน)ประชาชนยืนขวาง ทำหน้าที่เป็นกันชน และคอยปกป้องผู้เบื้องหลัง

ความน่าสนใจของช็อตนี้ยังคือด้านหลังบานประตูขนาดใหญ่ พบเห็นภาพวาดเจ้าชาย(มั้งนะ)สวมชุดเกราะสีขาว ควบคู่ม้าเพื่อเข้าร่วมการสู้รบ ซึ่งคงสามารถสื่อถึงการต่อสู้ เผชิญหน้า สะท้อนเข้ากับเหตุการณ์ขณะนี้อย่างตรงตัว

จากความขัดแย้งบนโต๊ะอาหาร นำไปสู่เหตุการณ์จราจล ประท้วงต่อต้าน และทำรัฐประหาร นำเสนอด้วยการร้อยเรียงชุดภาพ Montage แล้วใช้การซ้อนภาพผสมกับ Cross-Cutting เห็นว่าส่วนหนึ่งนำจากภาพยนตร์ The Patriot (1928) ของผู้กำกับ Ernst Lubitsch พร้อมใส่ดนตรีจังหวะรุกเร้า สร้างความตื่นเต้น ลุ้นระทึก มันอาจดูสับสนอลม่านไปบ้าง แต่แค่เข้าใจจุดประสงค์ของฉากนี้ก็เพียงพอแล้วละ

การดึงเชือก เคาะระฆัง เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่พบเห็นหลายครั้งในหนัง อาทิ

  • ลูกตุ้มมนุษย์ ทำให้เด็กหญิง Sophie ตื่นขึ้นจากฝัน และเติบโตเป็นหญิงสาว
  • เจ้าหญิง Catherine จับเชือกเหนือศีรษะแล้วหมุนตัวในคอกม้า ขณะเกี้ยวพาราสี Count Alexey Razumovsky สื่อถึงการต่อสู้ขัดขืน ไม่ต้องการถูกควบคุมครอบงำ บีบบังคับ ทำตามคำสั่งใครอีกต่อไป
  • หลังจากคลอดบุตรชาย เจ้าหญิง Catherine ก็เปลี่ยนแปลงไปราวกับคนละคน
  • การสวรรคตของ Empress Elizabeth คือจุดเปลี่ยนผู้ปกครองประเทศ
  • และขณะทำรัฐประหาร เปลี่ยนแปลงประมุขอีกเช่นกัน

ช็อตนี้นำเสนอการลอบปลงพระชมน์ Emporer Peter III โดยใช้เสารูปทรงไม้กางเขนบดบังสิ่งบังเกิดขึ้นด้านหลัง และจะมีขณะที่มือสองข้างกางออกเหมือนพระเยซูคริสต์ (ขณะถูกตรึงกางเขน) สื่อถึงการสวรรคตของพระองค์ เป็นการเสียสละเพื่อจักรวรรดิรัสเซีย

ภายหลังการปลงพระชมน์ Emporer Peter III คณะรัฐประหารก็ควบขี่ม้าเข้ามาในพระราชวัง ย่ำเหยียบบันไดที่เต็มไปด้วยรูปปั้นบรรพบุรุษ (สื่อถึงรากฐานของประเทศชาติคือประชาชน) มาจนถึงห้องโถงบัลลังก์ แหวนเงยหน้าเห็นภาพวาดบนเพดาน พระเยซูคริสต์บนสรวงสวรรค์ทำสัญลักษณ์มือ ‘I love you’ เล่นเอาหนึ่งในอัครสาวกยกมือขึ้นกุมขมับ

ทั้งๆการได้ขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดินี Catherine จะต้องแลกมาด้วยรัฐประหาร ลอบปลงพระชมน์สวามี เรียกว่ามือเปื้อนเลือดแดงฉาน (The Scarlet Empress) แต่พระองค์กลับสวมชุดขาว และยังเข้าสำนวนนารีขี่ม้าขาว สื่อถึงวิรสตรีที่ช่วยกอบกู้ประเทศชาติให้รอดพ้นจากหายนะครั้งใหญ่

แปลกที่แม้เป็นการประกาศชัยชนะ แต่รอยแสยะยิ้มกลับจอมปลอม ดูหลอกลวง พยายามแหกกว้างให้เห็นฟัน นี่สามารถตีความได้หลากหลายมากๆ อาทิ มารยา(หญิง)ของจักรพรรดินี Catherine ใช้ทุกกลวิธีเพื่อให้ได้ขึ้นครองราชบัลลังก์, เป็นการสร้างภาพเพื่อปกปิดสิ่งอัปลักษณ์ ความวิปราสในราชสำนัก, ชัยชนะจอมปลอมของการทำรัฐประหาร เพียงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ฯลฯ

ตัดต่อโดย Josef von Sternberg และ Sam Winston

ความที่หนังมีเนื้อหากึ่งอัตชีวประวัติ การดำเนินเรื่องจึงมี Time Skip มากพอสมควร ตั้งแต่เจ้าหญิง Sophie เดินทางสู่จักรวรรดิรัสเซียกลายเป็นเจ้าหญิง Catherine ตามด้วยราชินี Catherine ก่อนจบลงด้วยขึ้นครองราชย์จักรพรรดินี Catherine นำเสนอเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ ด้วยเทคนิค Cross-Cutting และใช้ Title Card แทนคำอธิบายเหตุการณ์บังเกิดขึ้นโดยย่อ

  • การเดินทางของเจ้าหญิง Sophie
    • เริ่มต้นเมื่อครั้นยังเด็ก ถูกคาดหวังว่าโตขึ้นจะต้องการเป็นราชินี
    • พอโตขึ้นเป็นสาวได้รับการหมั้นหมายแต่งงานเจ้าชายแห่งจักรวรรดิรัสเซีย
    • ช่วงเวลาแห่งการออกเดินทาง พานผ่านสถานที่ต่างๆ
    • เมื่อมาถึงพระราชวัง Moscow Kremlin ตกตะลึงงันในสภาพของ Grand Duke Peter
  • ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ของเจ้าหญิง Catherine
    • พิธีอภิเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิง Sophie กับ Grand Duke Peter
    • ความแก่นแก้วของเจ้าหญิง Catherine แม้เข้าพิธีอภิเสกสมรสเรียบร้อยแล้ว
    • เรียนรู้พิธีการจากจักรพรรดินี Elizabeth จนกระทั่งได้รับรู้เห็นความจริงบางอย่าง
  • ประสบการณ์เสี้ยมสอนพระราชินี Catherine
    • การสวรรคตของจักรพรรดินี Elizabeth
    • แผนการ/มารยาหญิงของพระราชินี Catherine
    • ความแตกหักระหว่างพระราชินี Catherine กับจักรพรรดิ Peter III
    • การรัฐประหาร ลอบปลงพระชนม์ และขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ Catherine II

การเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยหนังเงียบมาเป็นหนังพูด ทำให้กระแสนิยมต่อ Title Card ลดน้อยลงจนแทบหมดสูญสิ้น แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับยังเลือกใช้วิธีนำเสนอดังกล่าว เพราะข้อจำกัดยุคสมัยนั้น ยังไม่มีการใช้เสียงพูดบรรยาย หรือเล่าเรื่องย้อนอดีต (เพิ่งมาได้รับความนิยมอย่างจริงจังก็เมื่อ Citizen Kane (1941))


สำหรับเพลงประกอบไม่มีขึ้นเครดิต ทั้งหมดเป็นการรวบรวมบทเพลงคลาสสิกชื่อดัง จากคีตกวีลือนาม อาทิ Pyotr Ilyich Tchaikovsky, Felix Mendelssohn, Richard Wagner ฯ เรียบเรียงปะติดปะต่อขึ้นใหม่โดย W. Franke Harling และ John Leipold

วิธีการของหนัง จะนำบทเพลงคลาสสิกเหล่านั้นมาตัดต่อ เลือกเฉพาะท่อนที่มีความสอดคล้องเนื้อเรื่องราวขณะนั้นๆ แล้วปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน (ไม่ได้นำทั้งบทเพลงใส่ลงมาในหนังทั้งหมดนะครับ) ยกตัวอย่าง Opening Credit เริ่มต้นได้ยินโหมโรงจากบทเพลง Tchaikovsky: Symphony No.4 in F Minor, Op.36 เพียงจบท่อนแรกก็จะเปลี่ยนมาเป็น Mendelssohn: A Midsummer Night’s Dream, Op.61 แทบคนละโทนอารมณ์ แต่สามารถนำมาสอดคล้องปะติดต่อกันได้อย่างลื่นลงตัว

  • Tchaikovsky: Symphony No.4 in F Minor, Op.36 (1877)
  • Tchaikovsky: 1812 Overture in E Flat, Op.49 (1880)
  • Tchaikovsky: Marche Slave, Op. 31 (1876)
  • Mendelssohn: Rondo Capriccioso in E Op.14
  • Mendelssohn: A Midsummer Night’s Dream, Op.61 (1843)
  • Wagner: Die Walküre (1856)
  • Anton Rubinstein: Kamennoi-Ostrow, No. 17

สังเกตว่าบทเพลงใช้ประกอบหนัง ทั้งหมดประพันธ์ขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 19th ขณะที่พื้นหลังเรื่องราวอยู่ช่วงศตวรรษที่ 18th ซึ่งสองยุคสมัยนี้มีสไตล์เพลงที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก

  • เรื่องราวของหนังคาบเกี่ยวระหว่าง Baroque (1580–1750) และยุค Classical (1750–1820)
  • บทเพลงที่ใช้อยู่ในยุคสมัย Romantic (1800–1910)

ความแตกต่างของยุคสมัยเพลง สามารถเปลี่ยนแปลงบรรยากาศหนังจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เลยนะครับ ถ้าใช้ดนตรียุค Classical มันจะมีไร้ความตื่นเต้น อารมณ์ร่วม รุกเร้าใจ ผิดกับบทเพลงยุค Romantic ที่สร้างสัมผัสให้ผู้ชมเข้าถึงความรู้สึกภายในจิตใจโดยง่ายกว่า (ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับหนัง ที่มีลักษณะเป็น Expressionist)

เกร็ด: ผมเพิ่งรับรู้ว่า Josef von Sternberg มีความสามารถด้านไวโอลิน เป็นผู้ประพันธ์ท่วงทำนองที่ใช้ในฉากงานเลี้ยงหลังพิธีแต่งงาน และให้นักไวโอลินจาก Los Angeles Symphony Orchestra เป็นคนบรรเลงเล่นสด (ยืนอยู่เคียงข้างเจ้าหญิง Catherine)


มองผิวเผิน The Scarlet Empress นำเสนอเรื่องราวการเดินทางของเจ้าหญิงแห่งเยอรมัน Sophie มุ่งสู่จักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิรัสเซีย Catherine II เริ่มต้นจำต้องเรียนรู้ ปรับตัว หาวิถีทางเอาตัวรอด (ในราชสำนัก) พบเจออุปสรรค ความผิดหวัง ทั้งยังต้องอดรนทนต่อพฤติกรรมเผด็จการของ Empress Elizabeth และที่สุดคือครุ่นคิดแผนกำจัดพระสวามี Emperor Peter III เพื่อปูทางก้าวสู่จุดสูงสุดแห่งอำนาจ

การได้เป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย ราชินี หรือพระราชา คงเป็นความเพ้อฝันของใครหลายคน ครุ่นคิดว่าชีวิตคงเลิศหรูสุขสบาย ไม่ต่างจากเทพนิยายเพ้อฝัน แต่ในโลกความจริงภายในราชวงศ์ ราชสำนัก ล้วนเต็มไปด้วยการแก่งแย่ง เลียแข้งเลียขาผู้มีอำนาจ แบ่งแยกฝั่งฝ่ายซ้าย-ขวา พยายามสร้างภาพภายนอกให้ดูดี ซุกซ่อนเร้นความคดโกงคอรัปชั่น พร้อมคิดคดทรยศหักหลังได้ตลอดเวลา

ผู้กำกับ von Sternberg จึงนำเสนอด้านมืดของแนวความคิดดังกล่าว เลือกจักรวรรดิรัสเซียซึ่งถือเป็นขั้วตรงข้ามสหรัฐอเมริกา (ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน) ออกแบบพระราชวัง Moscow Kremlin ให้สะท้อนความอัปลักษณ์ของผู้พักอาศัย มีความมักมาก บ้าอำนาจ สนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ ไม่คำนึงถึงถูก-ผิด ชอบ ชั่ว-ดี มโนธรรมหรือศีลธรรม เพราะชนผู้นำเหล่านั้นล้วนมีอำนาจล้นฟ้า และคือผู้กำหนดกฎกรอบทางสังคมทั้งหมด

แต่เอาจริงๆผมกลับไม่รู้สึกว่าผู้กำกับต้องการนำเสนอใจความต่อต้านสหภาพโซเวียต/จักรวรรดิรัสเซีย หรือระบอบการปกครองสมบูรณายาสิทธิราช (absolute monarchy) เราสามารถมองการเดินทางเจ้าหญิง Sophie ก็คือตัวแทนของ von Sternberg ตั้งแต่เริ่มมาถึง Hollywood สถานที่ที่เคยคาดหวัง เพ้อฝัน แต่แท้จริงนั้นไม่ต่างจากพระราชวัง Moscow Kremlin เต็มไปด้วยสิ่งอัปลักษณ์ พรรคพวกพ้อง สตูดิโอต่างๆสนเพียงกอบโกยผลประโยชน์ ถึงอย่างนั้นเขาก็ค่อยๆเรียนรู้ ปรับตัว ค้นพบวิถีทางเอาตัวรอด สามารถสรรค์สร้างภาพยนตร์ด้วยวิสัยทัศน์ส่วนตน ประสบความสำเร็จจนได้รับการยกย่อง นับหน้าถือตาจากผู้คน

รอยยิ้มช็อตสุดท้ายของจักรพรรดินี Catherine สะท้อนความเข้าใจของผู้กำกับ von Sternberg ถึงจุดสูงสุดในวงการภาพยนตร์ว่าเป็นสิ่งจอมปลอม ลวงหลอกตา หาได้สวยเลิศหรูทรงคุณค่า เพราะมันต้องแลกมากับการสูญเสียสละสิ่งต่างๆมากมาย ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จ ครั้งถัดมาก็อาจล้มเหลวเละตุ้มเปะ ไม่มีอะไรบนโลกที่จีรังยั่งยืน มั่นคงตลอดกาล

หนังมี Working Title หลายชื่อทีเดียว Her Regiment of Lovers, Catherine II, Catherine the Great (อะไรก็ได้ที่ไม่ซ้ำกับ The Rise of Catherine the Great) ก่อนมาลงเอย The Scarlet Empress ที่แม้ผู้ชมจะไม่มีโอกาสพบเห็นสีแดง (เพราะหนังถ่ายทำด้วยฟีล์มขาว-ดำ) แต่สามารถสื่อถึงการต่อสู้ ความตาย หรือคือการที่เจ้าหญิงจะสามารถกลายเป็นจักรพรรดินี ต้องรอคอยหลังการสวรรคตของ Empress Elizabeth จากนั้นทำรัฐประหาร ปลงพระชมน์สวามี Emperor Peter III เรียกว่ามือทั้งสองข้างต่างแปดเปื้อน โชกเลือด เหี้ยมโหดอํามหิต

เกร็ด: เท่าที่ผมหาข้อมูลของ Catherine the Great ไม่ได้เคยมีฉายา The Scarlet Empress คาดคิดว่าคงเป็นชื่อที่หนังครุ่นคิดตั้งขึ้นมา แล้วผู้คนมากมายจึงเริ่มเรียกกล่าวขาน


ด้วยทุนสร้างสูงถึง $900,000 เหรียญ พร้อมการทำงานที่ล่าช้ากว่ากำหนด พอนำออกฉายเสียงตอบรับค่อนข้างย่ำแย่ แถมยังไม่สามารถทำเงินอีกต่างหาก (ไม่มีรายงานรายรับ) เรียกว่าล้มเหลวย่อยยับเยิน กลายเป็นรอยบาดหมางระหว่าง von Sternberg กับสตูดิโอ Paramount Pictures ที่ใกล้ถึงวันแตกหัก

เพียงกาลเวลาเท่านั้นที่ทำให้หนังได้รับคำยกย่องสรรเสริญ ในความคลุ้มคลั่ง บ้าระห่ำ โดยเฉพาะงานสร้างและบรรยากาศ ‘hyperrealist’ ที่มีความเฉพาะตัว งดงามทรงคุณค่าทางศิลปะ

Here is a film so crammed with style, so surrounded by it and weighted down with it, that the actors peer out from the display like children in a toy store. The film tells the story of Catherine the Great as a bizarre visual extravaganza, combining twisted sexuality and bold bawdy humor as if Mel Brooks had collaborated with the Marquis de Sade.

นักวิจารณ์ Roger Ebert ยกให้เป็น Great Movie

The Scarlet Empress (1934) มักได้รับการเปรียบเทียบกับ The Rise of Catherine the Great (1934) ของผู้กำกับ Paul Czinner ที่ออกฉายปีเดียวกัน แต่ได้เสียงตอบรับแตกต่างตรงกันข้าม (เมื่อตอนออกฉายค่อนข้างประสบความสำเร็จทำกำไร แต่กาลเวลาทำให้คุณภาพเสื่อมถดถอยลงมาก) นำเสนอในลักษณะ Drama Period/Costume Period เหมือนบันทึกรายละเอียดประวัติศาสตร์ทั่วๆไป ผมเคยดูได้สิบนาทีก็เกิดความเบื่อหน่าย(เลยไม่ทนดูต่อให้จบ) เผื่อใครสนใจลองหามาเปรียบเทียบกันนะครับ จะเห็นความแตกต่างราวกับฟ้า-เหว

ผมไม่แน่ใจว่าหนังได้รับการบูรณะแล้วหรือยัง แต่รวบรวมอยู่ใน Boxset ของ Criterion Collection ชื่อว่า Dietrich & von Sternberg in Hollywood มีทั้งหมด 6 เรื่อง คุณภาพถือว่ายอดเยี่ยม คมชัด ดีที่สุดแล้วกระมัง

ในบรรดาผลงานของ von Sternberg & Dietrich ภาพยนตร์เรื่องนี้ The Scarlet Empress (1934) อาจไม่ใช่ที่ผมชื่นชอบที่สุด (เรื่องโปรดปรานยังคงคือ Shanghai Express (1932)) แต่ก็ตระหนักถึงความมักใหญ่ ทะเยอทะยาน โคตรความคิดสร้างสรรค์ จุดสูงสุดของการร่วมงาน

จะว่าไป เราไม่จำเป็นต้องครุ่นคิดเข้าใจความหมายของรูปปั้น ก็สามารถซึมซับบรรยากาศหนังได้ระดับหนึ่ง (ปั้นออกมาได้อัปลักษณ์ขนาดนั้น ผู้ชมน่าจะสัมผัสถึงความหลอกหลอน น่าสะพรึงกลัวได้อยู่แล้ว) แต่ถ้าคุณสามารถครุ่นคิดถึงนัยยะซ่อนเร้น มันจะทำให้เข้าถึงคุณค่าทางศิลปะอย่างลึกซึ้ง และตระหนักถึงความมาสเตอร์พีซอย่างถ่องแท้

แนะนำโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปั้น นักออกแบบ แฟชั่นดีไซน์เนอร์ ทำงานศิลปะทุกแขนง นี่คือภาพยนตร์ที่จะทำให้คุณคลุ้มคลั่งน้ำแตก! คอหนังโกธิค หลงใหลบรรยากาศที่ดูหลอกหลอน รายล้อมด้วยความอัปลักษณ์, แฟนคลับ Josef von Sternberg & Marlene Dietrich ห้ามพลาดเด็ดขาด!

จัดเรต 15+ กับบรรยากาศหลอนๆ ความระริกระรี้ของตัวละคร และเรื่องราวสุดสัปดล

คำโปรย | The Scarlet Empress ขุมนรกของผู้กำกับ Josef von Sternberg ที่มีราชินี Marlene Dietrich ปกครองใต้หล้า
คุณภาพ | โกธิค-ร์พี
ส่วนตัว | ตื่นตาตื่นใจ


The Scarlet Empress

The Scarlet Empress (1934) hollywood : Josef von Sternberg 

(25/10/2016) หนัง Expressionist สุดประหลาดของผู้กำกับ Josef von Sternberg กับเรื่องราวกึ่งชีวประวัติของ จักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย (Catherine the Great) ตั้งแต่แต่งงานจนขึ้นครองราชย์สมบัติ ปกครองจักรวรรดิรัสเซียทั้งหมดในศตวรรษที่ 18 นำแสดงโดย Marlene Dietrich

ความสุดประหลาดของหนังเรื่องนี้ จะมีพระราชวังแห่งไหนบนโลก ประดับตกแต่ง เต็มไปด้วยรูปปั้น Gargoyles, ประตูบานใหญ่ต้องใช้หลายคนผลักถึงจะเปิดออก, หัวกระโหลก โครงกระดูกวางบนโต๊ะอาหาร ฯ นี่มันไม่ใช่พระราชวังแล้ว นรกชัดๆ

The Scarlet Empress เป็นหนังที่นำเรื่องราวประวัติศาสตร์ ของจักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย มาเล่าเป็นพื้นหลัง แล้วองค์ประกอบอื่นๆ เป็นการตีความตามแนวคิด จินตนาการของผู้กำกับ

ถือว่าเป็น Common Sense ที่ทุกคนควรจะเข้าใจเองได้นะครับ ว่าพระราชวังปกติทั่วไปในโลก ไม่ได้มีความแปลกประหลาดแบบที่ผมเล่ามา นี่เป็นสิ่งที่สมัยก่อนเรียกว่า Expressionist การตีความตามแนวคิด ความรู้สึกของผู้กำกับ, แต่อาจมีคนสงสัยว่า ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ Fantasy/Dark Fantasy แบบ La Belle et la bête (1946) หรอกหรือ?, คำตอบคือ จะมองแบบนั้นก็ได้ แต่จุดที่ต่างกัน คือ The Scarlet Empress อ้างอิงมาจากเรื่องราว เหตุการณ์จริง ส่วน Beauty and the Beast สร้างขึ้นจากจินตนาการทั้งหมด มันเลยเป็นคำเรียกที่ต่างกันระหว่าง Expressionist กับ Fantasy

Josef von Sternberg ผู้กำกับชาว Jewish สัญชาติ Austria-Hungary อพยพย้ายมาอยู่อเมริกาและกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคหนังเงียบ (โดยการชักชวนของ Charlie Chaplin), ปี 1930 ได้รับการชักชวนให้ไปทำหนังที่ประเทศ German (ได้ทำหนังพูดเรื่องแรกของ Germany ชื่อ The Blue Angel-1930) และได้ค้นพบ Marlene Dietrich ที่ต่อมากลายเป็น นักแสดงขาประจำคู่ใจของเขา, Sternberg เคยได้เข้าชิง Oscar: Best Director 2 ครั้งจากหนังเรื่อง Morocco (1930), Shanghai Express (1932) และได้กำกับหนังเรื่อง The Last Command (1928) ที่ทำให้ Emil Jannings คว้า Oscar: Best Actor คนแรกของโลก

ผมยังไม่เคยดูหนังเรื่องอื่นของ Sternberg แต่คิดว่าสไตล์ของเขาคงได้อิทธิพลมาจาก German Expressionism ที่ขึ้นชื่อลือชาในการออกแบบ สร้างบรรยากาศหนังให้มีโทนอึมครึม สยอง น่ากลัว แบบหนังเรื่อง The Cabinet of Dr. Caligari (1920), Nosferatu (1922), Metropolis (1927) ฯ

เรื่องราวของ จักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย พระนามเดิมโซเฟีย (Princess Sophie Friederike Auguste von Anhalt-Zerbst-Dornburg) สืบเชื้อสายราชวงศ์อาณาจักรปรัสเซีย (Kingdom of Prussia) ช่วงระหว่างสงคราม 7 ปี เพื่อเชื่อมกระชับสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิรัสเซีย ของพระจักรพรรดินีนาถเอลิซาเบธ จึงได้ส่งเจ้าหญิงโซเฟีย เพื่อไปแต่งงานกับ เจ้าชายปีเตอร์ที่ 3 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ

Marlene Dietrich ในการร่วมงานครั้งที่ 5 กับ Josef von Sternberg รับบทเจ้าหญิงโซเฟีย/แคทเธอรีน, ตอนต้นเรื่องเธอเป็นเด็กหญิงแรกรุ่นไร้เดียงสา ที่กำลังได้แต่งงานกับเจ้าชายว่าที่จักรพรรดิแห่งรัสเซีย แววตาของเธอพองโต บริสุทธิ์ ใคร่รู้ใคร่เห็นตลอดเวลา ซึ่งพอได้พบกับเจ้าชายตัวจริงก็เป็นอันต้องผิดหวัง เพราะไม่ใช่ดั่งที่ตนวาดฝัน ได้ยินมาแม้แต่น้อย, ซึ่งเมื่อเจ้าชายได้ขึ้นครองราชย์ ท่าทางการแสดงของ Dietrich ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นคนเย่อหยิ่ง ก้าวร้าว กร้านกระด้าง เพราะได้เรียนรู้ เข้าใจวิถีของโลก เธอรวบรวมสมัครพรรคพวก เตรียมพร้อมที่จะยึดอำนาจกลายเป็นจักรพรรดินีปกครองรัสเซียทั้งหมด

ผมชอบชุดสุ่มไก่ของเจ้าหญิงโซเฟียมาก นี่เป็นแฟชั่นในยุคนั้น แต่ก็มีความหมายแฝงในหนัง, ชุดมีโครงสร้างที่พอสวมใส่ชุดเข้าไปแล้ว จะเห็นกระโปรงบานใหญ่ แต่ที่ข้างในแท้จริงจะกลวงๆ คือภาพของผู้นำสมัยก่อน ที่ถึงยิ่งใหญ่แต่ข้างในกลวงโบ๋ (เป็นแฟชั่นที่เห็นแล้วทรมานแทนผู้หญิงมาก ฮิตกันไปได้ยังไงชุดสุ่มไก่)

Sam Jaffe รับบท Grand Duke Peter ที่ภายหลังกลายเป็น จักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย, Sternberg ตีความจักรพรรดิพระองค์นี้ว่ามีจิตไม่ปกติ เหมือนเป็นคนบ้า ด้วยทรงผมกระเซอะกระเซิง ดาวตาพองโต ยิ้มเห็นฟันปลอมตลอดเวลา (นึกว่า Johnny Depp) มีนิสัยประหลาดชอบเล่นกับทหารหุ่นปั้นขนาดเล็ก และชอบเจาะรูแอบดูแอบฟัง สอดรู้สอดเห็นผู้อื่น, เมื่อเจ้าชายปีเตอร์ได้ครองราชย์สมบัติเป็น จักรพรรดิปีเตอร์ ก็ทรงบริหารจักรวรรดิแบบตามอำเภอใจ สร้างความไม่พอใจให้ทั้งกองทัพ ประชาชน ขุนนางชาวรัสเซีย แม้แต่แคทเธอรีนด้วย พอเมื่อถึงขีดสุด หลังครองราชย์ได้เพียง 6 เดือน ก็ถูกยึดอำนาจ แล้วถูกปลงพระชนม์ในคุก

Louise Dresser รับบท จักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย พระมารดาของเจ้าชายปีเตอร์ แต่เพราะความที่ไม่ทรงโปรดในพระราชโอรส จึงต้องการเร่งแต่งงาน บังคับให้มีพระราชนัดดา (หลาน) สืบสกุล ซึ่งปีเตอร์กับแคทเธอรีน ถึงจะไม่ค่อยถูกคอกัน แต่ก็ได้มีพระโอรสสนองพระองค์ชื่อ พอล ที่ต่อมาได้ก็ครองราชย์ต่อจากพระมารดาแคทเธอรีน กลายเป็น จักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย, จักรพรรดินีเอลิซาเบธ มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการ เรื่องมาก เอาแต่ใจ และมีความต้องการทางเพศค่อนข้างสูง นี่เป็นโรคที่ติดต่อสู่แคทเธอรีน ที่พอได้เห็น ได้เข้าใจ ก็ทำแบบเดียวกับกับพระองค์ แจกจ่ายความสำราญของตนให้ชายหนุ่ม นายทหารไม่เว้นหน้า

เกร็ด: Louise Dresser คือ 1 ใน 3 นักแสดงหญิงที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Actress ครั้งแรกของโลก น่าเสียดายไม่ได้รางวัล

อีกคนที่ต้องพูดถึงคือ John Davis Lodge ในบท Count Alexey Razumovsky ผู้หล่อเหลา เป็นคนไปรับองค์หญิงโซเฟียจากปรัสเซีย ให้มาแต่งงานกับเจ้าชายปีเตอร์ เขาพยายามคบชู้กับเธอ แต่เพราะตนมีชู้กับจักรพรรดินีเอลิซาเบธอยู่แล้วถูกจับได้ ทำให้กรรมตามสนองตนเอง เมื่อจักรพรรดินีเอลิซาเบธสวรรคต ก็ถูกแคทเธอรีนผลักไสในรูปแบบเดียวกัน

ถ่ายภาพโดย Bert Glennon (Stagecoach-1939) ถือว่าโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดแสง ในฉากที่ทุกสิ่งอย่างดูอัปลักษณ์ น่าเกลียดน่ากลัว มืดมิด แต่มีแสงสว่างหนึ่งส่องฉาบใบหน้า Marlene Dietrich ให้เปร่งประกาย โดดเด่น ดุจนางฟ้าในขุมนรก

แม้ส่วนใหญ่การถ่ายภาพจะใช้การตั้งกล้องไว้เฉยๆ แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหว ก็มีลีลาที่น่าสนเท่ห์ เลื่อนซ้าย/ขวาแบบตรงไปตรงมา (ใช้รถลาก) บางทีก็แทรกเข้าไปราวกับเป็นตัวละครหนึ่งของหนัง ฯ มีการถ่ายผ่านผ้าผืนบางๆ นี่คงเปรียบกับภายนอกภายใน ระหว่างจิตใจมนุษย์ ที่เหมือนมีอะไรบางๆคั่นอยู่

ออกแบบงานสร้างโดย Hans Dreier -ย้ำเตือนอีกครั้งว่า หนังออกแบบพระราชวังของรัสเซีย ตามความรู้สึกนึกคิด จินตนาการของผู้กำกับนะครับ ไม่ได้อ้างอิงจากประวัติศาสตร์จริงๆ- บรรยากาศที่น่ากลัวสยดสยองนี้ คือมุมมองของคนสมัยก่อนต่อจักรวรรดิรัสเซีย ว่าเป็นพวกป่าเถื่อน โหดเหี้ยม อันตราย ไร้อารยธรรม การที่เจ้าหญิงโซเฟีย ต้องไปอยู่สถานที่แห่งนี้ ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็น ซึ่งหลังจากที่กลายเป็นจักรพรรดินี ก็สามารถพัฒนาประเทศแห่งนี้ให้มีความยิ่งใหญ่ (แต่หนังไปไม่ถึงจุดนั้นนะครับ จบแค่ขึ้นครองราชย์สำเร็จ)

รูปปั้นปนาลี หรือ การ์กอยล์ (gargouille) [ในหนังออกแบบและปั้นโดย Peter Ballbusch] ความหมายทางสถาปัตยกรรมหมายถึง หินที่แกะเป็นรูปอัปลักษณ์ (grotesque) ยื่นออกไปจากสิ่งก่อสร้างลักษณะเป็นรางและมีช่องให้น้ำจากหลังคาไหลห่างจากตัวสิ่งก่อสร้าง, ในภาษาฝรั่งเศส gargouille แปลว่าคอหอย, และภาษาละติน gurgulio, gula แปลว่า กลืน ซึ่งคล้ายเสียงน้ำไหลในท่อ

Gargoyles เป็นรูปสลักตามมุมต่างๆ ของสถาปัตยกรรมแบบ Gothic ในยุโรป โดยมากจะสลักเป็นรูปมังกรหรือปีศาจในท่วงท่าต่างๆ ชาวยุโรปยุคกลางเชื่อว่า Gargoyles เมื่อตอนกลางวันจะเป็นรูปสลัก ตกกลางคืนจะกลายร่างเป็นมังกรบินไปทั่วเมือง ทั่วหมู่บ้าน เพื่อปกป้องดูแลมิให้มีสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เข้ามารังควาน, Gargoyles จึงเป็นรูปปั้นเชิงสัญลักษณ์ ที่มีความหมายเป็นตัวแทนของนรกและความชั่วร้าย ให้มนุษย์ผู้พบเห็นตระหนัก และหันมากระทำความดี จักได้ไม่ตกนรกกลายเป็นแบบ Gargoyles

ตัดต่อโดย Josef von Sternberg และ Sam Winston หนังใช้มุมมองของเจ้าหญิงโซเฟีย/แคทเธอรีน เป็นหลักตลอดทั้งเรื่อง แต่จะตัดให้เห็นเฉพาะช่วงเวลาสำคัญๆ, การเล่าเรื่องใช้รูปแบบของหนังเงียบ คือมีตัวอักษร (Title Card) ขึ้นบรรยายอย่างยาว แล้วจะเป็นภาพเคลื่อนไหวประกอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นถัดจากนั้น

ผมดูหนังมาก็เยอะนะ แต่เพิ่งเคยเห็นการนำเสนอรูปแบบนี้เป็นเรื่องแรก ขอเรียกว่า ‘กึ่งหนังเงียบ’ (Semi-Silent film), สมัยนั้นภาพยนตร์เสียง (Talkie) แม้จะเริ่มแพร่หลาย ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ยังถือว่าอยู่ในช่วงแรกๆ ของการทดลองของเล่นใหม่ มันคงไม่แปลกที่จะยังมีผู้กำกับเชื่อมั่นในรูปแบบวิธีการเดิมของหนังเงียบ ที่พอเข้าสู่ยุคหนังพูด ก็ยังคงใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบเดิม แค่ใส่เสียงเพิ่มเข้ามา, ผมแนะนำให้คุณลองปิดเสียงประกอบของหนังไปเลย เชื่อว่าก็ยังสามารถรับชมเข้าใจได้แม้ไม่รู้ตัวละครพูดอะไร เพราะบทพูดของตัวละคร หาได้สลักสำคัญต่อหนังแม้แต่น้อย หนังยังคงใช้ภาพเล่าเรื่อง เป็นภาษาภาพยนตร์ชัดเจนกว่าภาษาพูดเสียอีก

มีการตัดต่อเล่าเรื่องนิทานก่อนนอน (ตอนเจ้าหญิงโซเฟียยังเด็ก) กับภาพที่หนังใส่เข้ามา ผมขยี้ตาทีหนึ่งแล้วคลิกย้อนกลับไปดูอีกรอบ เห้ย! … แต่ละภาพที่ใส่มามัน S&M ทั้งนั้นเลยนี่หว่า ตอนดูหนังใครรู้สึกทะแม่งๆตั้งแต่ฉากนี้ ก็ให้รู้เลยว่า ลางสังหรณ์คุณเยี่ยมมาก เพราะนี่คือใจความที่แอบแฝงอยู่ในหนัง และฝังลึกอยู่ในจิตใจของโซเฟียด้วย

เพลงประกอบโดย Bernhard Kaun, หนังที่สร้างหลังจาก King Kong (1933) จะมีการใส่เพลงประกอบตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ทุกฉากที่ไม่มีบทพูด จะมีเพลงประกอบดังขึ้นเสมอ, กับหนังเรื่องนี้ มีเพลงประกอบที่อลังการในระดับที่ยุคสมัยนั้นทำได้ และมีการเล่นรับส่งจังหวะกับตัวละคร เช่น ต้นเรื่อง ตอนที่เจ้าหญิงโซเฟียกล่าวทักทาย-อำลา พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ที่ต้องถอนสายบัวและจุมพิตที่มือ เพลงประกอบก็จะเล่นรับส่งจังหวะกับเธอ (เพลงประกอบคงแต่งขึ้นหลังการตัดต่อเป็นแน่) ผมมองว่าเป็น gag ของหนังนะครับ ให้เราหัวเราะหึๆ เป็นการขับเน้น และเสียดสีอะไรบางอย่างด้วย

โลกใบนี้ที่ Sternberg สร้างขึ้น ว่ากันตามตรง ก็มีเพียง Marlene Dietrich เท่านั้นที่เจิดจรัสจ้าอยู่ภายใน เธอเป็นไม่ใช่แค่นางเอกหรือนักแสดงนำ แต่คือสัญลักษณ์ของแสงสว่าง คุณธรรม สิ่งเลอค่า เพชรแท้, แต่มันเป็นไปได้ยังไงกันที่หญิงสาวตัวคนเดียวนี้จะเจิดจรัสอยู่ในดินแดนที่มืดมิดสนิทแห่งนี้? คำตอบคือ เธอก็มีมุมมืดของตัวเองเช่นกัน ที่เก็บซ่อน แอบไว้ในส่วนลึกของจิตใจ (ผู้ชมก็ต้องสังเกต วิเคราะห์ มองหาดูเองว่าคืออะไร) ซึ่งเธอก็หาวิธี หนทางระบายด้านมืดของตัวเองนี้ออกไปเรื่อยๆ จนเหลือแต่สิ่งสวยงาม เจิดจรัสจ้า, คนส่วนใหญ่มักมองเห็นแต่ด้านสว่างของเธอ แต่ไม่เคยสนใจ เข้าใจว่า ต้องแลกอะไรบ้างกว่าที่จะสว่างได้ขนาดนั้น

ประเด็นแฝงเรื่อง Sex และ S&M (Sadist & Masochist) คือคำตอบด้านมืดของตัวละคร และหนังเรื่องนี้นะครับ ทุกสิ่งอย่าง การออกแบบ ความมืดมิด แสงสว่าง ด้วยแฝงด้วยความ Erotic ที่สะท้อนสันดานดิบของมนุษย์ มันไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย ทุกอย่างเกิดจากความต้องการ ถึงปากจะอ้างว่าสวยงาม แต่ในทางปฏิบัติ ก็ไม่ต่างจากความรุนแรงโหดร้ายของสงคราม มีคนสุขก็ต้องมีคนทุกข์ ก่อนจะมี แคทเธอรีนมหาราชินี ก็ต้องมี ปีเตอร์ที่ 3 ผู้เลวร้าว

หนังยังสะท้อนสิ่งที่อยู่ข้างในใจของผู้กำกับ Sternberg ออกมาด้วย, ผมดูในชีวประวัติของทั้งสอง Sternberg แต่งงานทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ระหว่างที่เขากำกับหนังของ Dietrich ไม่ได้แต่งงานอยู่กินกับใคร ส่วน Dietrich ในชีวิตมีรักเดียว อยู่กินกับสามีคนเดียว, มันเป็นเรื่องยากที่จะหนุ่มสาวสองคนนี้ จะเป็นแค่เพื่อนร่วมงาน เพราะสิ่งที่สะท้อนออกมาจากหนัง เหมือนว่าในใจของ Sternberg ขณะนั้นมีภาพของ Dietrich เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เจิดจรัสจ้า รอบข้างคือตัวประหลาด (หรือเป็นรักข้างเดียวหว่า?) เบื้องหลังจริงๆของทั้งคู่ เป็นยังไงใครจะไปรู้ แต่ร่วมงานกันทั้งหมด 6 ครั้ง มันต้องมีอะไรในกอไผ่บ้างสิน่า

The Scarlet Empress คือหนัง mainstream เรื่องสุดท้ายของ Hollywood ก่อนที่ Hays Code จะบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ซึ่งแม้หนังจะพยายามเลี่ยงฉากจูบต่อหน้ากล้อง แต่ก็มีฉากห้อยหัว โป๊เปลือย ความซาดิส (S&M) ที่เห็นอยู่แวบๆ ขนาดว่า Catholic Legion of Decency ตราหน้าหนังว่า ‘ศีลธรรมอันน่ารังเกียจ’ (morally objectionable)

ส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้ แม้จะไม่ชอบการออกแบบฉากที่ให้ความรู้สึกประหลาดๆ แต่แนวทางกำกับของ Sternberg ที่ทำให้ Marlene Dietrich โดดเด่น เฉิดฉาย ท่ามกลางขุมนรกยังมีนางฟ้า นี่ทำให้หนังเจิดจรัส ส่องแสงสว่างจ้า ไม่ใช่แค่ในหนัง แต่ยังในจิตใจของผมด้วย

แนะนำกับคนชื่นชอบงานออกแบบสไตล์ Expressionist ที่เกินจริง (hyperrealist) บรรยากาศหลอนๆเหมือนดูหนังแนวสยองขวัญ, และแฟนหนัง Marlene Dietrich ไม่ควรพลาด

ถ้าคุณเป็นนักประวัติศาสตร์ ต้องการรู้จัก แคทเธอรีนมหาราชินี แนะนำให้ไปหาหนังเรื่องอื่นดูดีกว่านะครับ

จัดเรต 13+ กับบรรยากาศที่หลอนๆ สยองๆ และแฝงความรุนแรง

TAGLINE | “The Scarlet Empress ของ Josef von Sternberg มีการออกแบบที่สุดแปลกประหลาด และ Marlene Dietrich ที่เฉิดฉายเหมือนนางฟ้าในหมู่มาร”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: