The Searchers (1956) : John Ford ♥♥♥♥♡
(8/1/2018) แม้บทบาทของ John Wayne จะเต็มไปด้วยความรังเกลียดชัง Racism หยามเหยียดชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง แต่สิ่งที่เขาออกค้นหาไม่ใช่แค่หลานสาวที่ถูกลักพาตัว แต่ยังคือจิตวิญญาณ และการไถ่โทษของตนเอง, ผลงาน Masterpiece ของผู้กำกับ John Ford ทรงอิทธิพลที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการภาพยนตร์ ความสวยงามของ Technicolor ช่างตราตรึงยิ่งนัก “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
เชื่อว่าหลายคนที่มีโอกาสได้รับชม The Searchers (1956) จะส่ายหัวแบบมึนๆ ไม่เห็นหนังมันจะสนุกตรงไหน แค่ภาพสวยอย่างเดียวทำไมถึงได้รับการยกย่อง ติดชาร์ทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอันดับสูงๆมากมายเต็มไปหมด? จริงๆมันมีคำอธิบายความยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้เยอะมากๆ แต่ขอเลือกเหตุผลที่น่าจะสร้างความเข้าใจง่ายสุดก่อน นั่นคือเพราะเป็นเรื่องที่’ทรงอิทธิพล’ต่อผู้กำกับ และวงการภาพยนตร์มากที่สุดเรื่องหนึ่ง เอาแค่ภาพสี ทิวทัศนียภาพสวย ก็เป็นอิทธิพลให้ Lawrence of Arabia (1962), The Good, The Bad and the Ugly (1966), Star Wars (1977), Paris, Texas (1984) ฯ มากมายนับไม่ถ้วน
กระนั้น The Searchers ไม่ได้มีดีแค่ภาพสวยอลังการอย่างเดียวเท่านั้น ไดเรคชั่นของผู้กำกับ John Ford, เรื่องราวแอบแฝงนัยยะซ่อนเร้น และการแสดงของ John Wayne ที่เหมือนจะธรรมดาทั่วไป แต่มีมิติลุ่มลึกล้ำที่สุดในชีวิต
John Ford ชื่อดิม John Martin ‘Jack’ Feeney (1894 – 1973) ผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เกิดที่ Cape Elizabeth, Maine พ่อและแม่เกิดที่ประเทศ Ireland อพยพย้ายมาอยู่อเมริกาช่วงปี 1872 พบเจอแต่งงานกันปี 1875 มีลูกทั้งหมด 11 คน โดยเขาเป็นลูกคนที่ 10 แต่น้องคนสุดท้องเสียชีวิตตอน 2 ขวบ ทำให้กลายเป็นลูกคนเล็กของครอบครัว หนึ่งในพี่ชาย Francis Feeney มีความสามารถด้านการแสดง ออกเดินทางกับคณะทัวร์ Vaudeville กรุยทางมาถึง Hollywood ใช้ชื่อว่า Francis Ford เป็นหนึ่งในนักแสดงหนังเงียบระดับตำนานเรื่อง The Birth of a Nation (1915), น้องคนเล็กตัดสินใจเดินตามพี่ไปติดๆ เลือกใช้ชื่อการแสดงเปลี่ยนตามเป็น John Ford เริ่มต้นจากเป็นผู้ช่วยพี่ชาย, Stuntman, นักแสดงสมทบ แล้ว Universal จับเซ็นสัญญาให้กลายเป็นผู้กำกับ ผลงานหนังสั้นเรื่องแรก The Tornado (1917) [สูญหายไปแล้ว] ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงกับ The Iron Horse (1924), Three Bad Men (1926) มีผลงานหนังพูดเรื่องแรก Mother Machree (1928) เป็นการร่วมงานครั้งแรกกับ John Wayne แต่ไม่มีชื่อขึ้นเครดิต
Ford เข้าชิง Oscar: Best Director ทั้งหมด 5 ครั้งได้มา 4 รางวัล จาก The Informer (1935), Stagecoach (1939)*ครั้งเดียวที่พลาดรางวัล, The Grapes of Wrath (1940), How Green Was My Valley (1941)**เรื่องเดียวที่คว้า Best Picture, The Quiet Man (1952)
ช่วงทศวรรษ 50s เมื่อภาพยนตร์ Western เริ่มไม่ได้รับความนิยมใน Hollywood ผู้กำกับ Ford หันเหความสนใจไปสร้างหนังแนวอื่นอยู่หลายปี สามเรื่องล่าสุดก็คือไตรภาค Cavalry Trilogy ประกอบด้วย Fort Apache (1948), She Wore a Yellow Ribbon (1949) และ Rio Grande (1950) หวนกลับมาครั้งนี้เดิมพันค่อนข้างสูงทีเดียว เพราะเล็งเห็นอนาคตกับเทคโนโลยีภาพสี Technicolor และของเล่นใหม่กับ VistaVision ขนาดภาพ Widescreen (16:9)
เลือกดัดแปลงนิยายเรื่อง The Searchers (1954) แต่งโดย Alan Brown Le May (1899 – 1964) นักเขียนนิยาย/บทภาพยนตร์ ขาประจำของ Cecil B. DeMille, มอบหมายให้ Frank Stanley Nugent (1908 – 1965) จากนักข่าว/นักวิจารณ์ Freelance ได้พบเจอรู้จักกับ Ford โดยบังเอิญที่ Mexico ถูกชะตาร่วมงานกันตั้งแต่ Fort Apache (1948)
มีนักวิจารณ์แนะนำว่าเรื่องราวของ The Searchers อาจได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 1836 เด็กหญิงอายุ 9 ขวบ Cynthia Ann Parker ถูกลักพาตัวโดยนักรบอินเดียนแดงที่ Fort Parker, Texas เธอใช้ชีวิต 24 ปีอยู่กับ Comanches ขนาดว่าได้แต่งงานกับ War Chief มีลูกด้วยกันสามคน ได้รับการช่วยเหลือแบบไม่ค่อยเต็มใจนัก จากลุงของเธอ James W. Parker ร่วมกับ Texas Rangers ที่ใช้เวลาทั้งชีวิตออกตามหาหลานสาวจนพบ
พื้นหลังเริ่มต้นปี 1868 ที่ West Texas, Ethan Edwards (รับบทโดย John Wayne) เดินทางมาเยี่ยมน้องชาย Aaron ครั้งแรกหลังจากสิ้นสุดสงครามกลางเมือง (American Civil Wars) พบเจอหลานๆเติบใหญ่จดจำแทบไม่ได้ วันถัดมา Rev. Capt. Samuel Johnson Clayton (รับบทโดย Ward Bond) แวะเวียนมารวบรวมสมัครพรรคพวก Rangers ออกเดินทางไปตรวจสอบความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้น ก่อนพบว่าเป็นแผนการของอินเดียนแดง Comamche ล่อลวงพวกเขาออกนอกพื้นที่ เพื่อทำการปล้นสนม ฆ่าเผาทำลายบ้านของ Aaron และลักพาตัวหลานสาว Lucy กับ Debbie ด้วยเหตุนี้ Ethan ตั้งปณิธานอย่างแน่แน่ว จะต้องออกติดตามหาพวกเธอทั้งสองให้พบเจอ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
John Wayne ชื่อเดิม Marion Mitchell Morrison (1907 – 1979) นักแสดงภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา ชอบให้เพื่อนๆเรียกว่า Duke เกิดที่ Winterset, Iowa พ่อเป็นทหารผ่านศึก American Civil War ส่วนแม่มีเชื้อสาย Scottish, Irish โตขึ้นเคยสมัครเป็นทหารเรือแต่สอบไม่ผ่าน ได้ทุนเข้าเรียน University of Southern California สาขากฎหมาย จากการเป็นนักกีฬาทีมฟุตบอล แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องถอนตัวหมดสิทธิ์ได้ทุนจำต้องออกกลางคัน แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากโค้ช ทำให้ได้รู้จักกับนักแสดง Tom Mix และผู้กำกับ John Ford เข้าสู่วงการภาพยนตร์ เริ่มงานจากเป็น Prop Boy, Stuntman, ตัวประกอบ ฯ มีชื่อขึ้นเครดิตเรื่องแรก Words and Music (1929), ผู้กำกับ Raoul Walsh เห็นแววเลยจับมาแสดงนำใน The Big Trail (1930) ใช้ทุนสร้างมหาศาลแต่ทำเงินไม่ได้ Flop ดับสนิท ทำให้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาต้องหันไปเล่นหนังเกรด B ส่วนใหญ่เป็น Cowboy Western หลายสิบเรื่อง จนกระทั่ง Ford จับมาแสดงใน Stagecoach (1939) กลายเป็น Superstar โดยพลัน
Wayne กับ Ford มีผลงานร่วมกันทั้งหมด 18 เรื่อง ตั้งแต่ Mother Machree (1928) จนถึง Donovan’s Reef (1963) โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนังแนว Western อาทิ Stagecoach (1939), Fort Apache (1948), Rio Grande (1950), The Searchers (1956), The Man Who Shot Liberty Valance (1962), How the West Was Won (1962) ฯ
เกร็ด: Wayne เข้าชิง Oscar สาขาการแสดง 2 ครั้ง Sands of Iwo Jima (1949), True Grit (1969)**ได้รางวัล
รับบท Ethan Edwards ชายผู้เกลียดอินเดียนแดงเข้าไส้ เพราะในอดีตเคยเข่นฆ่าล้างครอบครัวของตนเองสูญสิ้น แม้แต่ Martin Pawley (รับบทโดย Jeffrey Hunter) เด็กชายที่เก็บมาจากแคมป์อินเดียนแดง แม้จะเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งในแปดก็ไม่เว้น ความรุนแรงทวีขึ้นสูงสุดเมื่อครอบครัวของน้องชายถูกเข่นฆ่าอย่างเลือดเย็น หลานสาวสองคนโดนลักพาตัว จึงตั้งสัตย์กับตัวเองไม่ว่ายังไงก็ต้องค้นหาพวกเธอให้ค้นพบ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลักปี มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะออกติดตามค้นหา และการที่เด็กสาวเติบโตขึ้นในวิถีของ Comamche ย่อมทำให้กลายเป็นคนของอินเดียนแดง ไม่มีทางหวนกลับคืนมามีชีวิตแบบปกติได้ ซึ่งเมื่อถึงคราพวกเขาได้พบเจอกันอีกครั้ง ความต้องการของ Ethan จึงเปลี่ยนแปลงไป เหมือนต้องการฆ่าเธอให้ตายเพื่อจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ก็ถูกขัดขวางสุดตัวโดย Martin ที่ร่วมออกเดินทางกันไปโดยตลอด
อะไรกันที่ทำให้ Ethan หมกหมุ่นอยู่กับการออกเดินทางค้นหาหลานสาวของตนเอง หลายปีผ่านไปก็ไม่ยอมเลิกรา? ใคนก็ตามที่สังเกตเห็นหรือครุ่นคิดตามได้ ต้องถือว่าเป็นโคตรของนักดูหนังเลยนะ เพราะผมเคยค้นหาอ่านเจอตอนรับชมครั้งก่อน มาคราวนี้เลยสังเกตอย่างตั้งใจถึงเห็นว่า จริงว่ะ! สีหน้าสายตาของ Ethan ที่มีต่อ Martha Edwards (รับบทโดย Dorothy Jordan) ภรรยาของน้องชาย จับจ้องแทบจะทุกอิริยาบท ภาษากายมันแบบต้องเคยชื่นชอบคอ ตกหลุมรักกันมาก่อนแน่ และมีความเป็นไปได้ว่าเรื่องราวโชคชะตาของทั้งสอง อาจสะท้อนกับเรื่องราวของ Martin กับ Laurie Jorgensen (รับบทโดย Vera Miles) แค่ว่าคนที่ Martha ตกหลุมรักคือน้องชายของตนเอง พี่ชายเลยจำยอมหลีกทางให้โดยสันติ และด้วยเหตุนี้ที่ Ethan ไม่ยอมกลับบ้านหลังสงครามจบ เหมือนจะไปเข้าร่วม Mexican Revolutionary War อยู่หลายปี เพราะไม่ต้องการหวนกลับมาพบเจออดีตคนรักกับสามีของเธอ
ซึ่งเมื่อเรื่องราวของหนังดำเนินมาถึง Martha ถูกเข่นฆ่า (และอาจโดนข่มขืนด้วย) จึงสร้างความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียดเข้ากระดูกดำ การกระทำหลายๆอย่างต่อจากนั้นล้วนเป็นผลกระทบจากอารมณ์นี้ทั้งสิ้น อาทิ ยิงตาอินเดียนแดงที่ถูกฝังรอวันตาย, ฉากต่อสู้ข้ามแม่น้ำ หลังจากได้ชัยชนะแล้วก็ยังกราดยิงไม่สนใจ, ขับไล่ฝูงวัวให้หนีไป เพื่อให้ Comamche ขาดอาหารหิวตาย ฯ
มันมีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า Debbie Edwards หลานสาวคนเล็กของ Martha อาจเป็นลูกชู้ของเธอกับ Ethan แต่ขอหยุดความมโนไว้ตรงนี้แล้ว ใครอยากจะครุ่นคิดต่อก็ตามสบาย
การแสดงของ Wayne ช่างดูเหมือนคนไม่แคร์ ยี่หร่าต่ออะไรทั้งนั้น ภาพลักษณ์สบายๆที่ใครๆต่างคุ้นเคยจดจำได้เป็นอย่างดี แต่ไม่น่าเชื่อว่าลึกๆแล้วกลับมีบางสิ่งอย่างแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ มันช่างเข้ากับตัวละครเสียเหลือเกิน
ซึ่งเมื่อถึงวินาทีไคลน์แม็กซ์ของหนัง การเผชิญหน้าระหว่าง Ethan กับ Debbie จะเข่นฆ่าแกงหรือทำอะไร นี่เป็นวินาทีที่ผู้ชมจะอึ้งทึ่งประหลาดใจ คาดคิดไม่ถึง ขนาดว่านักวิจารณ์ชื่อดังสัญชาติอเมริกัน Roger Ebert ยกย่องวินาทีนี้ว่า ‘treasures of the cinema’
เกร็ด: บทบาท Ethan Edwards ของ John Wayne ได้รับการยกย่องติดอันดับ 87 จาก ‘100 Greatest Performances of All Time’ ของนิตยสาร Premiere เมื่อปี 2006
เกร็ด 2: John Wayne ได้รับชื่อเรียกจากชาวพื้นเมือง Navajos แปลว่า The Man With The Big Eagle เพราะครั้งหนึ่ง เด็กสาวของเผ่านี้ป่วยหนักโรคปอดบวม Wayne ที่เดินทางมาด้วยเครื่องบินส่วนตัว อาสาพาไปส่งโรงพยาบาลใกล้ที่สุด นี่ถือเป็นการเคารพยกย่องคนนอกอย่างสูงส่งของชาวอินเดียนแดงเลยนะ
แซว: วันหนึ่งระหว่างถ่ายทำ ผู้กำกับ Ford ถูกแมงป่องฉกเข้าให้ โปรดิวเซอร์แสดงความหวาดหวั่นวิตกต่อ Wayne กลัวว่าถ้าผู้กำกับเป็นอะไรไปจะเกิดเรื่องวุ่นวายใหญ่โต เขาเลยเสนอตัวเข้าไปตรวจสอบดู ออกมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม “It’s OK. John’s fine, it’s the scorpion that died.”
Jeffrey Hunter ชื่อเดิม Henry Herman McKinnies Jr. (1926 – 1969) นักแสดงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ New Orleans, Louisiana, ตั้งแต่เด็กมีความสนใจกีฬา การแสดง จัดรายการวิทยุ เรียนจบสมัครเป็นทหารเรือ ประจำหน่วยสื่อสาร (Communication Division) ปลดประจำการออกมาเข้าเรียนสาขาวิทยุและการสื่อสาร Northwestern University จับพลัดจับพลู เป็นหนึ่งในนักแสดงตัวประกอบ Julius Caesar (1950) เข้าตาโปรดิวเซอร์ Darryl F. Zanuck เซ็นสัญญาระยะยาวกับสตูดิโอ Fox แม้จะมีผลงานอยู่เรื่อยๆแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ จนกระทั่ง The Searchers (1956) ถึงได้แจ้งเกิดเต็มตัว ผลงานเด่นอื่นๆอาทิ King of Kings (1961) รับบท Jesus Christ, Temple Houston (1963), รับบท Captain Christopher Pike ใน Pilot Episode ของ Star Trek (1964)
รับบท Martin Pawley เด็กชายผู้รอดชีวิตจากแคมป์อินเดียนแดงที่ Ethan บังเอิญพบเจอ นำมาฝากฝังให้ Aaron กับ Martha เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ แม้จะมีเชื้อสายเพียงเศษเสี้ยว 1 ใน 8 แต่ก็ได้รับการปฏิบัติจากลุงบุญธรรมอย่างเย็นชาไม่เห็นหัว กระนั้นตัวเขากลับมีจิตสำนึกกตัญญูรู้คุณคน ต้องการร่วมออกเดินทางค้นหา Debbie อย่างถึงที่สุด แม้นั่นอาจทำให้เขาพลาดโอกาสแต่งงานกับ Laurie ก็ตามที
ความหมกมุ่นของ Martin แม้ไม่ได้มีแรงจูงใจระดับเดียวกับ Ethans แต่สิ่งที่ค้นพบระหว่างการเดินทางปีแรกๆ คือรับรู้ว่าลุงคนนี้เกลียด Comanche เข้าไส้ขนาดไหน ถ้านานวันเข้า Debbie กลายเป็นอินเดียนแดงไปแล้วมันอาจมีโศกนาฎกรรมคาดไม่ถึงเกิดขึ้นเกิดขึ้น ตัวเขาจึงจำเป็นต้องอดรนทนฝืนอยู่ต่อเพื่อปกป้องน้องสาว เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่จะตอบแทนบุญคุณครอบครัว Edwards เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ได้
เดิมนั้นผู้กำกับ Ford ต้องการให้ Fess Parker รับบทนี้ แต่ไม่สามารถขอยืมตัวจาก Walt Disney เลยกลายเป็นส้มหล่นใส่ Hunter ที่แม้จะอายุ 29 ปี แต่ยังค่อนข้างหน้าเด็กรับบทวัยรุ่นหนุ่มอายุ 17-18 ได้สบายๆ
การแสดงของ Hunter ลดอายุตัวเองกลายเป็นเด็กน้อยยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม เมื่อไหร่ทำอะไรด้วยตนเองมักเกิดความผิดพลาดไปหมด เพราะชีวิตยังขาดประสบการณ์ต้องเรียนรู้อีกมาก ต้องคอยเดินวิ่งตามหลังผู้อื่นอยู่เรื่อยๆ กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ค่อยๆเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีความคิดอ่านเป็นของตนเอง ถึงจุดตัดสินชี้ขาดชะตาชีวิต ก็มีความกล้าหาญแน่แน่ว รับผิดชอบหน้าที่การกระทำของตนเองอย่างลูกผู้ชายอกสามศอก
Vera June Miles (เกิดปี 1929) เกิดที่ Boise City, Oklahoma, จากนางงามรัฐ Miss Kansas คว้าอันดับสาม Miss American กรุยทางสู่ Hollywood เริ่มจากเป็นนักแสดงตัวประกอบ โดดเด่นกับ The Searchers (1956), Psycho (1960), The Man Who Shot Liberty Valance (1962) ฯ
รับบท Laurie Jorgensen หญิงสาวที่ตกหลุมรัก Martin Pawley มาตั้งแต่สามขวบ โตขึ้นตั้งใจจะแต่งงานอยู่กินร่วมกัน แต่เขากลับออกเดินทางแบบไร้จุดหมายไม่คิดจะหวนกลับมาสักที หลายปีผ่านไปตัดสินใจแต่งงานกับ Charlie McCorry (รับบทโดย Ken Curtis) ก็ไม่รู้โชคชะตาดลบันดาลอะไรให้อดีตคนรักหวนกลับมาขณะกำลังจะเข้าพิธีพอดี แล้วนี่ฉันจะทำยังดี??
มีช็อตหนึ่งค่อนข้างน่าพิศวงทีเดียว ขณะที่ Laurie มอบม้าของตนเองให้กับ Martin แม้คำพูดจาของเธอจะเป็นเชิงตัดพ้อต่อว่า แต่ขณะเดินตรงเข้าหน้ากล้องไม่พบเห็นท่าทีของความเศร้าโศกเสียใจ ดูเหมือนกระหยิ่มยิ้มภาคภูมิใจเสียมากกว่า แต่กระนั้นมันด้วยเหตุผลที่คนรักเลือกยึดถือมั่นในคุณธรรมประจำใจนะหรือ?? ช่างเป็นการแสดงสีหน้าที่แปลกประหลาดดีแท้
Natalie Wood ชื่อเดิม Natalia Nikolaevna Zakharenko (1938 – 1981) นักแสดงหญิงสัญชาติอเมริกัน เกิดที่ San Francisco, California ในครอบครัวเชื้อสาย Russian กลายเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ในหนังเรื่อง Miracle on 34th Street (1947), โด่งดังกลายเป็นตำนานกับ Rebel Without a Cause (1955), Splendor in the Grass (1961), West Side Story (1961) ฯ
รับบท Debbie Edwards ตอนโต แม้จะมีความคิดถึงครอบครัวอยากกลับบ้าน แต่คงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีเหมือนลูกแท้ๆ ทำให้จิตใจของเธอค่อยๆซึมซับกลายเป็นอินเดียนแดงทีละเล็กทีละน้อย กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็ยังจดจำพี่ชายกับลุงของตนได้ เมื่อหวนมาพบเจอ ต้องการช่วยเหลือให้พวกเขาหลบหนีเอาตัวรอด แม้รู้ว่าอาจต้องเสี่ยงกับการถูกฆ่าก็ตาม
Wood รับบทนี้ตอนอายุย่างเข้า 17 ปี ยังเรียนอยู่ก็จริง แต่ค่อนข้างเกินวัยไปนิด (ตัวละครน่าจะอายุ 14-15) ทุกสุดสัปดาห์ Wayne กับ Hunter จะไปรับถึงหน้าโรงเรียน สร้างความวุ่นวายปั่นป่วนให้กับเด็กๆที่นั่นเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับเด็กหญิงที่รับบท Debbie ตอนเด็กคือ Lana Wood (เกิดปี 1946) น้องสาวแท้ๆของ Natalie โตขึ้นเธอได้รับบท Bond Girl เรื่อง Diamonds Are Forever (1971)
ผู้กำกับ Ford ขึ้นชื่อเรื่องอารมณ์ร้ายรุนแรง ชอบขึ้นเสียงตำหนิต่อว่านักแสดงทุกคน จะเด่นจากที่ไหนมาก็โดนดี แต่มีคนหนึ่ง Patrick Wayne ลูกชายคนโตของ John Wayne ที่รับบท Lt. Greenhill กลับไม่เคยถูกด่าทอต่อว่าสักประโยค นั่นสร้างความหวาดกลัวตื่นตระหนกให้เขาอย่างยิ่ง เคยให้สัมภาษณ์บอกว่า
“Everyone had their day in the barrel, but I was always spared that. Which was good and bad. And I had my real father standing there watching me in the scene. I wasn’t acting scared; I was scared.”
ถ่ายภาพโดย Winton Hoch (1905 – 1979) จากนักวิจัยแลป Technicolor ผันตัวกลายเป็นตากล้องภาพยนตร์เมื่อปี 1936 ร่วมงานผู้กำกับ Ford ครั้งแรกเรื่อง 3 Godfathers (1948), คว้า Oscar: Best Cinematography, Color ถึง 3 ครั้งจาก Joan of Arc (1948), She Wore a Yellow Ribbon (1949), The Quiet Man (1952)
ถึงพื้นหลังของหนังจะคือ Texas แต่สถานที่ถ่ายทำคือ Monument Valley, Arizona-Utah บริเวณคุ้นเคยของผู้กำกับ Ford ใช้มาตั้งแต่ Stagecoach (1939) นอกจากนี้ยังเดินทางต่อไปถึง Mexican Hat ที่ Utah, Bronson Canyon ใน Griffith Park ที่ Los Angeles ฯ
ช็อตแรกของหนังที่กลายเป็นตำนานโดยทันที ประตูบ้านเปิดออก ภายในมืดสนิท ค่อยๆเคลื่อนกล้องออกสู่แสงสว่างภายนอก เห็นไกลริบๆชายคนหนึ่งกำลังควบขี่ม้าเข้ามาใกล้, เราจะพบเห็นภาพลักษณะนี้หลายครั้งทีเดียวในหนัง ซึ่งก็จะสื่อความหมายแตกต่างออกไป เฉพาะกับช็อตนี้สามารถตีความได้ว่า คือการก้าวเดินออกมาจากความมืดสู่แสงสว่าง (จากหนังภาพขาว-ดำ ออกสู่ หนังภาพสี กว้างใหญ่ไพศาล)
จดจำช็อตนี้ไว้ให้ดีนะครับ บ้านอยู่ฝั่งขวาของภาพ ทุกคนหันมองไปทางซ้าย เราจะเห็นตรงกันข้ามภาพนี้อีกครั้งตอนหนังใกล้จบ
เรื่องความสวยงามของการถ่ายภาพ คงไม่มีอะไรต้องบรรยายมากมาย นำช็อตที่ได้รับการพูดถึงกล่าวขวัญมาแนะนำกัน
บรรดา Texas Ranger ขี่ม้าเรียงแถวตอนอยู่ใกล้หน้าจอ ขณะที่อินเดียนแดงเห็นอยู่ไกลลิบๆ จากทั้งสองฝั่งคู่ขนาน กำลังตีวงล้อมเข้ามาเพื่อต้อนให้จนมุมไร้ทางออก
นี่ต้องเป็นช็อตที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับ David Lean ในการถ่ายทำ Lawrence of Arabia (1962) อย่างแน่ๆ เป็นการคำนวณจังหวะได้พอดีเปะมากๆ เมื่อพระอาทิตย์ลอยอยู่ตำแหน่งระดับเดียวกับตัวละครที่เดินผ่านหน้าไป
มีหลายฉากทีเดียวที่ถ่ายทำในสตูดิโอ อย่างหิมะตกฉากนี้ หาความแนบเนียนไม่ได้เสียเท่าไหร่ มุมกล้องถ่ายให้เห็นก้านกิ่งไม้ปรากฎอยู่เกะกะทั้งเบื้องหน้าหลังตัวละคร นี่เป็นช็อตที่สะท้อนชะตาชีวิตของทั้งคู่ คล้ายหยากไย่พันกันยั้วเยี้ย ติดกัปดักไร้ทางออก
ใครมองไม่เห็น Debbie ในพื้นหลังฉากนี้ จะถูกตราหน้าว่า ‘ตาถั่ว’ โดยแท้ แต่ถ้าคุณช่างสังเกตกว่านั้นก่อนที่เธอจะเริ่มออกวิ่งปรากฎตัวออกมา เราจะเห็นศีรษะของเธออยู่นิดๆหลบซ่อนอยู่ด้วยนะ
ไม่ใช่ว่าหนังจะมีแค่ฉากตอนกลางวันเท่านั้น แต่ทั้งหมดจะถ่ายทำด้วยฟิลเลอร์ Day for Night ให้สีและสัมผัสที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง (คือมันถ่ายตอนกลางคืนไม่ได้นะครับ เพราะแถวนั้นไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงเลย จะเอาแสงสว่างมาจากไหน!)
ฉากไคลน์แม็กซ์ของหนัง ถ่ายออกมาจากถ้ำเห็นภายในดำมืดสนิท นี่มันสอดคล้องล้อกับช็อตแรกของหนังเลยนะ!
นี่เป็นวินาทีแห่งการตัดสินใจของ Ethan จะเลือกที่จะเป็นคนบ้านป่าเมืองเถื่อนฆ่าหลานสาวของตนเอง หรือปลดปล่อยเธอไป, ช็อตนี้ถ่ายออกมาจากในถ้ำธรรมชาติ ตรงกันข้ามกับประตูบ้านที่มนุษย์สร้าง สะท้อนถึงสันดานความป่าเถื่อนของจิตใจมนุษย์ แต่นี่จะเป็นสิ่งที่ตัวละครเลือกหรือเปล่า?
นี่เป็นช็อตท้ายๆของหนัง สะท้อนมุมมองตรงกันข้ามกับที่แนะนำไปตอนต้น บ้านอยู่ทางซ้าย ทุกคนหันมองไปทางขวา, นัยยะของฉากนี้คือการมองโลกที่กลับตารปัตร เปลี่ยนข้าง แตกต่างไปจากเดิมของตัวละครหรือผู้ชม
แต่ทั้งๆที่ทุกคนเดินเข้ามาในบ้านอย่างสงบสุขใจ กลับมีเพียง Ethan ที่หันหลังเดินออกจากจากบ้านก่อนประตูปิดขึ้นข้อความ The End
ตลอดทั้งเรื่อง Ethan แสดงความเกรี้ยวกราดโกรธเกลียดแค้นต่อชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงอย่างออกนอกหน้า แม้ภายหลังจะเริ่มยินยอมรับในตัว Martin (ที่มีเศษเสี้ยว 1 ใน 8 อินเดียนแดง) และฉากไคลน์แม็กซ์เลือกที่จะนำพา Debbie กลับบ้าน แต่มิได้หมายความว่าตัวเขาจะสามารถให้อภัย Comanche ได้ทุกคนชนเผ่า ซึ่งช็อตสุดท้ายนี้ประหนึ่งว่าได้เลือกหันหลังปิดประตูให้กับอนาคตของตนเอง ไร้ซึ่งที่อยู่จุดยืนในโลกยุคใหม่ที่ทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียม
ตัดต่อโดย Jack Murray อีกหนึ่งขาประจำของ John Ford ที่มีผลงานเด่นคือ The Quiet Man (1952) กับ The Searchers (1956),
ดำเนินเรื่องโดยใช้มุมมองของ Ethan หรือจะมองว่าในสายตาของ Martin ก็ยังได้ เว้นแต่กึ่งกลางพอดีของหนัง คงเพื่อไม่ให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายเกินไป Intermission สร้างสีสันด้วยการเล่าผ่านจดหมายฉบับเดียวที่ Martin เขียนถึง Laurie ซึ่งเธอจะเป็นผู้อ่านจดหมายด้วยตนเอง ปรากฎเป็นภาพ Flashback ย้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านมาแล้ว เมื่อจบลงก็จะหวนกลับไปในมุมมองของทั้งสองดำเนินต่อไปจนถึงตอนจบ
เวลา เป็นสื่งที่ดำเนินผ่านไปเร็วมากๆ มีลักษณะของ Time Skip/Time Jump กระโดดไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ผู้ชมจะไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าผ่านไปแล้วนานเท่าไหร่ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างระหว่างนั้น นำเสนอเฉพาะเบาะแสหรือช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ ตัดขณะเรื่อยเปื่อยไร้สาระไม่สำคัญทิ้งไปหมดสิ้น
ยังคงเพราะด้วยข้อจำกัดของ Hays Code ยุคสมัยนั้น ทำให้หนังไม่สามารถนำเสนอฉากการต่อสู้รบฆ่าฟันกันตายให้เห็นได้ เต็มที่คือภาพคนยิงปืน ตัดไปเห็นผู้ถูกยิงม้วนกลิ้งตกจากหลังม้า แต่ส่วนใหญ่จะใช้การตัดข้ามทิ้งไปเลย แล้วนำเสนอผลลัพท์ที่เกิดขึ้น อาทิ ตอนครอบครัว Aaron ถูกอินเดียนแดงเข่นฆ่าล้างเผาบ้าน, การทำลายล้างแคมป์อินเดียนแดงของทหารม้า, หรือฉากไคลน์แม็กซ์ ยังแทบไม่มีอะไรนอกจากการขี่ควบม้าเข้าประจัญบาน ฯ นี่ถือเป็นความคลาสสิกของหนังยุคนี้
เพลงประกอบโดย Max Steiner เว้นแต่ Title Song แต่งโดย Stan Jones, มีความหวานแหวว ไพเราะเสนาะหู ให้อารมณ์หวนระลึกคิดถึง (Nostalgia) แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า Soundtrack ไม่ตราตรึงเท่ากับบทเพลงคำร้อง
บทเพลง Ethan Returns เริ่มต้นด้วยพิณดีดคลอเบาๆ ตามด้วยไวโอลินประสานเสียงสุดหวานแหวว เกิดความสุขล้น อิ่มเอิบหัวใจ เมื่อได้พบเห็นเพื่อนเก่าที่ห่างหายหน้าตาไปนานหลายปี หวนคืนกลับบ้านอีกครั้ง ตามด้วย Harmonica และทรัมเป็ต ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมันก็ได้ผ่านไปแล้ว นี่จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่
สำหรับบทเพลงคำร้องชื่อ The Searchers แนว Country, Western แต่งโดย Stan Jones ขับร้องโดยวง Sons of the Pioneers (1933-ปัจจุบัน) นักร้องรุ่นแรกน่าจะเสียชีวิตไปหมดแล้วนะครับ กลายเป็นชื่อวงนี้ต่างหากที่กลายเป็นตำนานจนถึงปัจจุบัน
เริ่มต้นด้วยคำร้องตั้งคำถาม
What makes a man to wander?
What makes a man to roam?
What makes a man leave bed
and board, and turn his back on home?
ก่อนที่จะจบด้วยคำตอบ ออกค้นหาหัวใจและจิตวิญญาณ แต่ก็เกิดคำถามต่อไป แล้วมันอยู่ตรงไหนละ??
A man will search his heart and soul,
Go searching way out there,
His peace of mind he knows he’ll find,
But where, oh Lord, Lord where?
นี่ถือเป็นบทเพลงที่อธิบายใจความสำคัญ ชื่อหนังได้อย่างตรงตัวทีเดียว
The Searcher คือเรื่องราวของการออกเดินทางค้นหา ที่ไม่ว่าจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานแค่ไหน จักต้องให้สำเร็จค้นพบเจอจนได้
ใจความหน้าหนัง: Ethan ออกเดินทางร่วมกับ Martin เป้าหมายคือค้นหาหลานสาว Debbie ที่ถูกลักพาตัวโดยอินเดียนแดนผู้ป่าเถื่อนชั่วร้าย ซึ่งเมื่อพบเจอก็ขึ้นอยู่ว่า เธอได้กลายเป็นอินเดียนแดงไปแล้วหรือยัง
นัยยะ: คือการออกค้นหาจิตวิญญาณ หรือคุณค่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ว่ายังมีหลงเหลืออยู่ในจิตใจของ Ethan หรือเปล่า? จะมองว่า Debbie คือแสงสว่างสุดท้ายของเขาก็ยังได้ เพราะทั้งชีวิตโกรธเกลียดอาฆาตแค้นชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเป็นอย่างยิ่ง ต้องการกำจัดเข่นฆ่าทำลายล้างให้สิ้นซาก ถ้าสามารถให้อภัยได้อย่างน้อยสัก 1-2 คน (Martin + Debbie) ก็เหมือนว่าตัวเขาจะได้ค้นพบเจอความสงบสุขของชีวิตเสียที
สิ่งที่ Ethan ต้องแลกมาเพราะความโกรธเกลียดเคียดแค้นชาวพื้นเมืองอินเดียนแดง คือชีวิตอันไร้ซึ่งความสงบสุขสมหวัง ต้องออกเดินทางล่องลอยเรร่อนเรื่อยเปื่อยไร้เป้าหมายปลายทาง จมปลักอยู่กับอดีตความทุกข์ทรมานแสนสาหัส มิสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือหยุดอยู่นิ่งกับที่ได้ตราบจนวันตาย
Martin กับ Debbie ถือเป็นตัวละครขั้วตรงข้าม
– Martin มีเสี้ยวเป็นอินเดียนแดง เติบโตขึ้นในครอบครัวคนผิวขาว ทำให้เรียนรู้จักวัฒนธรรม มีความกตัญญูรู้คุณคน หาได้ชั่วร้ายเหมือนบรรพบุรุษของตนเอง
– Debbie ลูกสาวคนผิวขาวถูกลักพาตัว เติบโตขึ้นในครอบครัวอินเดียนแดง แต่ก็มิได้มีความชั่วร้ายปะปนแฝงอยู่ในจิตใจ
นัยยะของสองตัวละครนี้ต่างสะท้อนว่า บุคคลผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอินเดียนแดง ใช่ว่าจะมีความชั่วช้าเลวต่ำทรามเหมือนกันหมด อย่างที่ใครๆครุ่นคิดเข้าใจกัน, ซึ่งนี่เป็นสิ่งแม้แต่ตัวละคร Ethan ยังสามารถรับรู้เข้าใจได้ แต่ก็ไม่ค่อยอยากยินยอมรับสักเท่าไหร่
สำหรับผู้กำกับ Ford ตั้งแต่สร้างภาพยนตร์แนว Western ก็มักถูกวิจารณ์เสียๆหายๆ กับประเด็นที่มักทำให้ภาพลักษณ์ชาวอินเดียนแดงในสายตาของผู้ชม ตีความไปในเชิงบ้านป่าเมืองเถื่อน ชั่วร้ายนานับประการ แต่ตัวเขาซึ่งทำงานอยู่กับชาวพื้นเมือง Navajos มาโดยตลอด รับรู้ข้อเท็จจริงตรงนี้อย่างถ่องแท้ และรู้สึกผิดอย่างมากกับตนเองที่ไร้จิตสำนึกในจุดนี้
การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถมองได้ว่าคือพยายามครั้งแรกๆที่จะไถ่โทษตัวเอง ด้วยการนำเสนอเรื่องราวความน่ารังเกียจของตัวละครอย่างสุดขั้ว (ซึ่งก็แทนด้วยตัวเขาเองนะแหละ) แล้วตอนจบหันหลังปิดประตู ยอมรับเลยว่า คงไม่มีใครในสังคมจะอยากยกโทษให้อภัย กระนั้นเริ่มต้นขอแค่ได้พูดว่า ‘ขอโทษ’ เสียก่อนก็ยังดี
ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ Ford ก็พยายามอย่างสุดกำลังที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดของตนเอง มอบบทบาทให้ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงที่ไม่ใช่แค่ความชั่วร้ายเพียงอย่างเดียว อาทิ Cheyenne Autumn (1964) นำเสนอประวัติศาสตร์เรื่องราวความโหดร้ายของรัฐบาลอเมริกาที่กระทำต่อชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงในช่วง Northern Cheyenne Exodus หรือ Cheyenne War (1878 – 1879)
กระนั้นด้วยความลึกล้ำซับซ้อนของความตั้งใจนี้ ตอนออกฉายยังมิอาจเข้าได้ถึงผู้ชมได้ เลวร้ายยิ่งกว่า มองหนังเป็นการแสดงความรังเกียจเดียจฉันท์ชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงที่รุนแรงสุดขั้ว นั่นทำให้ด้วยทุนสร้างที่สูงถึง $3.75 ล้านเหรียญ เลยทำเงินได้เพียง $4.8 ล้านเหรียญ และทำให้หนังถูกมองข้ามจากหลายๆสถาบันในช่วงเทศกาลรางวัลสิ้นปีโดยสิ้นเชิง
กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อมีการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาล เริ่มจาก
– Sight & Sound: Critic’s Poll ปี 1982 ติดอันดับ 11
– Sight & Sound: Critic’s Poll ปี 1992 ติดอันดับ 5
– Sight & Sound: Critic’s Poll ปี 2002 ติดอันดับ 11
– Sight & Sound: Critic’s Poll ปี 2012 ติดอันดับ 7
– Sight & Sound: Director’s Poll ปี 2012 ติดอันดับ 48
– AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 1998 ติดอันดับ 96
– AFI: Greatest American Films Of All Time ปี 2007 ติดอันดับ 12
– Cahiers du cinéma: Top 100 of all time ติดอันดับ 10
– ติดอันดับ All-TIME 100 Movies นิตยสาร TIME
Jean-Luc Godard ขณะนั้นยังเป็นนักวิจารณ์ของ Cahiers du cinéma ยกย่องหนังเรื่องนี้อันดับ 4 ภาพยนตร์อเมริกันในยุค Talkie ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ที่สุด [เป็นรองจาก 1) Scarface, 2) The Great Dictator, 3) Vertigo] โดยเฉพาะตอนจบยกย่องให้เทียบเท่ากับขณะ ‘Ulysses being reunited with Telemachus’ ในมหากาพย์ The Odyssey
อิทธิพลของภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากความสวยงามของงานภาพแล้ว ในส่วนของเนื้อเรื่องที่เป็นการออกค้นหา ‘จิตวิญญาณ’ ของตนเอง ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้กำกับดังอย่าง Steven Spielberg, Martin Scorsese อาทิ Taxi Driver (1976), Close Encounters of the Third Kind (1977), Hardcore (1979), The Emerald Forest (1985) ฯ แม้แต่อนิเมชั่นเรื่อง The Lion King (1994) ก็ยังเป็นการออกค้นหาตัวตนของตนเอง
ผมเคยรับชม The Searchers ครั้งแรกเมื่อครั้นนานมาแล้ว จดจำได้ว่าไม่ค่อยมีความชื่นชอบประทับใจหนังเสียเท่าไหร่ สองปีก่อนหวนกลับมาดูเพื่อเขียนบทความนี้ อึ้งทึ่งไปเลยเมื่อค้นพบความสวยงามที่แอบแฝงซ่อนเร้าไว้ รับรู้คุณค่ามากยิ่งกว่าแค่ภาพถ่ายอันตราตะลึง
สำหรับครานี้แม้จะพบเห็นข้อตำหนิของหนังมากมาย แต่เมื่อรับรู้ความตั้งใจของผู้กำกับก็สามารถมองข้ามให้อภัยทุกสิ่งอย่าง ยังคงชื่นชอบหลงใหลคลั่งไคล้ มองว่าคือ Masterpiece ผลงานเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดของ John Ford และ John Wayne มีความเป็นส่วนตัวที่สุดของพวกเขา
“ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” ถึงผมคิดว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะไม่สามารถเข้าถึงใจความสำคัญของหนังที่เป็นการ ‘ไถ่โทษ’ หรือการค้นหาตัวตนเอง แต่หลังจากอ่านจบบทความนี้ คงแจ้งกระจ่างในเหตุผล รับรู้ถึงความอลังการลึกซึ้งได้แน่
แนะนำกับคอหนัง Cowboy Western, ชื่นชอบทิวทัศนียภาพถ่ายสวยๆ ท้องทะเลทรายกว้างใหญ่ไพศาล, แฟนๆผู้กำกับ John Ford และนักแสดงคู่บุญ John Wayne ไม่ควรพลาด
จัดเรต 13+ กับความ Racism ของตัวละคร
TAGLINE | “The Searchers คือการออกเดินทางเพื่อค้นหาวิธีไถ่โทษตนเองของผู้กำกับ John Ford โดยมี John Wayne เป็นตัวตายตัวแทน”
QUALITY | RARE-GENDARY
MY SCORE | LOVE
The Searchers 1956
(18/12/2015) John Ford กับหนึ่งในหนัง Western ระดับตำนานที่ไม่พูดถึงไปไม่ได้ กับ The Searchers หนึ่งในหนังยุค Golden Era นำแสดงโดย John Wayne ที่ว่ากันว่าเป็นเป็นการแสดงที่ดีที่สุดของ Wayne เลย
พูดถึง John Wayne ก่อนแล้วกัน ถ้าใครคอหนัง Western แล้วไม่รู้จัก John Wayne นี่ไม่ใช่แล้ว Wayne แสดงในหนัง Western ถึง 80 กว่าเรื่อง ในนั้นมีหนังระดับตำนานมากมาย ที่กำกับโดย John Ford ก็หลายเรื่อง เช่น Red River, Stagecoach ว่ากันว่า John Wayne เป็นคนที่ประสำความสำเร็จใน Boxoffice มากที่สุดคนหนึ่งในยุคก่อนที่จะมีการเก็บสถิติเป็นตัวเลขจริงจัง เป็นรองเพียง Clark Gable เท่านั้น ก่อนหน้าที่เขาจะดัง ก็เล่นหนังเกรด B มาเยอะ ทำเงินบ้างเจ๊งบ้าง แต่เรื่องที่ทำให้เขาดังพลุแตกที่สุดก็คือ Stagecoach ไว้ผมจะมาเล่าเมื่อตอนรีวิว Stagecoach นะครับ สำหรับ The Searchers นี่เป็นหนังที่เขาและ Ford ได้ทำการทดลองอะไรๆด้วยกันเยอะทีเดียว ซึ่งผลที่ออกมาทำให้ตัวละครของ Wayne นั้นมีมิติลึกกว่าที่เห็นจากในหนังมาก แรงจูงใจที่ทำให้เขาออก “ตามหา” หลานสาวในเรื่องมีคนวิเคราะห์ไว้อย่างลึกซึ้งอย่างมาก ผมตามอ่านแล้วก็บอกว่าคิดไม่ถึงจริงๆ แต่ก็รู้สึกได้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าจริง
สำหรับ John Ford เขาได้เชื่อว่าเป็น American Director โดยแท้ เพราะหนังที่เขาทำนั้นมีความเป็น American สูงมาก ทั้งเนื้อเรื่อง แนวคิด และวิธีการ บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยชอบเฮียแกนะครับ เพราะความที่หนังพี่แกมัน American ชัดเจนมากๆ หนังของพี่แกส่วนใหญ่ก็จะนำเสนอมุมมองอเมริกันชน ที่มองว่าตัวเองเหนือกว่าคนชาติอื่นๆ ในหนังอาจจะไม่ได้พูดแบบนี้ตรงๆ แต่ผมดูหลายๆเรื่องแล้วรู้สึกแบบนี้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นลูกรัก Academy Awards มาก เป็นผู้กำกับที่ได้รางวัล Best Director มากที่สุดถึง 4 ครั้ง
John Ford ถือว่าเป็นนักบุกเบิกคนหนึ่ง เขาเริ่มกำกับมาตั้งแต่หนังเงียบ หนังขาว-ดำ และหนังสี หนังยุคเก่าๆของเขาหลายเรื่องสูญหายไป แต่เรื่องสำคัญๆก็ยังเก็บไว้อย่างดี ในยุค 1950 เป็นยุคที่เขาทิ้งงานหนังประเภท Western ไปนานพอสมควร The Searchers เป็นหนังเรื่องเดียวที่ Ford สร้างในยุคนั้น ด้วยความที่ช่วงนั้น Western ฮิตมาก ใครๆก็สร้าง Western ออกมาจนเกลื่อน คงเป็นเหตุผลที่ Ford ไม่อยากสร้างหนัง Western ช่วงนั้น และเขาคงเลี่ยนด้วย เพราะสร้างมาหลายเรื่องแล้ว ตอนที่สร้าง เพราะเขายังไม่เคยสร้างหนัง Western ที่เป็นภาพสี เรื่องนี้ถือว่าจัดเต็มมากๆ เป็นหนังที่ถือว่ามีการถ่ายภาพออกมาได้สวยมากๆที่สุดเรื่องหนึ่ง
Winton C. Hoch เขาเป็น Lab Technical ที่ต่อมาเมื่อมีฟีล์มสี เขาก็ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพ เขาร่วมงานกับ Ford หลายเรื่อง แต่ The Searchers คือเรื่องสุดท้ายที่ทั้งสองทำด้วยกัน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ก็ได้เป็นถึง President ของ American Society of Cinematographers สำหรับ The Searchers นี่เป็นหนังที่มีการถ่ายภาพ Widescreen Landscape ที่สวยงามมากๆ ถึงขนาด David Lean ได้แรงบันดาลใจจากงานถ่ายภาพเรื่องนี้ ในการสร้าง Lawrence of Arabia ผมเห็นว่า The Searchers ออก Blu-Ray มาแล้วนะครับ แนะนำให้หา Blu-Ray ดูเลย เพราะความละเอียดของ Blu-ray ทำให้เราเห็นความสวยงามของ Landscape ยิ่งขึ้นไปอีก
การตัดต่อ Jack Murray เป็นนักตัดต่อขาประจำของ John Ford ผมชอบการตัดฉาก Action ของเขานะครับ เร็ว ตื่นเต้น เร้าใจมาก ตั้งแต่ Stagecoach แล้ว ผมสังเกตว่าหนังเรื่องนี้มีการทดลองเทคนิคการตัดต่อด้วย เช่นช่วงหนึ่งที่ทำการตัดสลับฉากกันระหว่างสองสถานที่ โดยใช้จดหมายเป็นการเล่าเรื่อง ว่ากันว่า John Ford แทบจะไม่เคยย่างเท้าเข้าห้องตัดต่อเลยนะครับ เป็นงานของ Jack Murray ล้วนๆ แสดงว่าช่วงเหตุการณ์ที่ผมเล่ามาเป็นการทดลองของ Murray เองที่จะตัดต่อแบบนั้น นี่แสดงถึงความสุดยอดในการกำกับของ Ford ด้วย ที่ทำให้งานของ Murray ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้กำกับนั่งข้างๆคอยกำกับตอนตัดต่อ แต่ก็เชื่อว่ามีนักตัดต่อไม่กี่คนในโลกเท่านั้นที่จะสามารถมีอิสระในการตัดต่องานโดยไม่พึ่งผู้กำกับได้ขนาดนี้
งานเพลง เป็นของ Max Steiner คนนี้ผมเคยพูดถึงแล้วตอน Casablanca นะครับ ใน The Searchers เราสามารถคาดหวังความอลังการของเพลงประกอบได้ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่า Lawrence of Arabia แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประพันธ์เพลงกับ Widescreen Landscape
ผมข้ามเรื่องบทมาเพื่อพูดยาวๆตรงนี้นะครับ Frank S. Nugent เป็นคนเขียนบท The Searchers ดัดแปลงมาจากนิยายของ Alan Le May เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียแดง การต่อสู้ ล้างแค้น แย่งชิง โดยฝั่งพระเอกจะเป็นฝ่ายตามหาหลานสาวที่ถูกอินเดียแดงจับไป หน้าหนังอาจจะไม่มีอะไร มองเผินๆนี่เป็นหนังแนว Western ทั่วๆไป กลางทะเลทรายแดงของ Texas แต่เมื่อวิเคราะห์มองลึกเข้าไป มีคนที่เปรียบเทียบการลักพาตัวของอินเดียแดงนี้เหมือนการถูกข่มขืน … เอาว่าผมคงไม่พูดถึงจุดนั้น ที่ผมอยากพูดถึงคือแรงจูงใจของการค้นหามากกว่า ที่เป็นถึงกระทั่งชื่อหนังเลย ในหนังฉาบหน้าด้วยความคิดที่ว่า พระเอกเป็นเหมือนลุงของเด็กหญิงที่ถูกลักพาตัวไป แต่มันอาจจะมากว่านั้น มันไม่มีการพูดถึงอะไรไปมากกว่านี้ในหนัง แต่สายตา การแสดงออก มันไม่ใช่แค่พระเอกจะตามหาหลานสาว แต่เป็นการแก้แค้นพวกอินเดียแดงที่มาทำร้ายคนที่เขารัก ในหนังน้องพระเอก เมียของน้องพระเอก และหลานสาวคนโตถูกฆ่า ฟังดูมันก็เป็นเหตุผลสมควรที่จะทำให้พระเอกเกลียดอินเดียแดง แต่การแสดงออกหลายๆอย่าง เช่น สายตาที่พระเอกมองต่อเมียของน้องพระเอก มันเหมือนว่านี่ต่างหากที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้พระเอกเคียดแค้นอินเดียแดงขนาดนี้ มีคนวิเคราะห์ว่า หลานสาวอาจจะไม่ใช่หลาน แต่เป็นลูกของพระเอก … อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกว่า มันไม่มีหลักฐานหรือการพูดถึงอะไรแบบนี้ในหนังเลย แต่กลับมีนักวิเคราะห์ นักวิจารณ์หนังจำนวนมากที่พูดเชิงๆนี้ไว้ เพราะหนังได้แฝงการกระทำบางอย่างของตัวละครเอาไว้ ให้ผู้คนได้ขบคิดแบบจริงจัง ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว John Ford และ Frank S. Nugent ได้คิดอะไรแบบนี้ไว้จริงหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าสุดยอดครับ ทั้งคนสร้าง และคนวิเคราะห์ ผมดูแบบผ่านๆ มาอ่านบทวิเคราะห์พวกนี้แล้ว โอ้! เป็นไปได้สูงทีเดียว
ยังไงก็ลองไปหาดูนะครับ ต้องแบบ Blu-Ray ด้วยนะ จะได้เต็มอิ่มกับความสวยงามของงานภาพ เนื้อเรื่อง งานเพลงและการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆของ John Wayne
คำโปรย : “The Searchers ผลงานกำกับของ John Ford กับการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ John Wayne ภาพ Landscape ของหนัง Western เรื่องนี้เป็นตำนานที่สวยงาม อลังการมาก เพลงประกอบที่ยิ่งใหญ่ และเนื้อเรื่องที่เคลือบแฝงไปด้วยอะไรที่คาดไม่ถึง”
คุณภาพ : LEGENDARY
ความชอบ : LOVE
[…] The Searchers (1956) : John Ford ♥♥♥♥♡ […]
[…] The Searchers (1956) : John Ford ♥♥♥♥♡ […]