The Secret of Kells (2009) : Tomm Moore, Nora Twomey ♥♥♥♥
ตราตะลึงไปกับความงดงามระดับวิจิตรของตำนาน Celtic Mythology เรื่องราวต้นกำเนิด Book of Kells หรือ Book of Columba หนังสือพระวรสารที่จารึกด้วยภาษาละตินรูปแบบอักษรวิจิตร เนื้อหาประกอบด้วยสี่ฉบับพันธสัญญาใหม่ จดบันทึกจารึกโดยนักบวชชาว Kells ในช่วงประมาณ ค.ศ. 800, แม้จะได้แค่เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature แต่ก็ทำให้สตูดิโอสัญชาติไอร์แลนด์ Cartoon Saloon ได้รับการจับตามองจากทั่วโลก
ผมเกิดความใคร่สนใจอนิเมชั่นเรื่องนี้ตั้งแต่มีโอกาสรับชม Song of the Sea (2014) ประทับใจในวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ Tomm Moore และสตูดิโอ Cartoon Saloon ที่รับอิทธิพลเต็มๆจาก Studio Ghibli จนสามารถเรียกได้ว่า ‘Ireland Ghibli’ แต่อาจต้องดูกันยาวๆว่า Moore จะสามารถยิ่งใหญ่ระดับเดียวกับ Hayao Miyazaki หรือเปล่า (ขณะที่ผู้กำกับร่วมอีกคน Nora Twomey วิสัยทัศน์ของเธอก็แทบไม่ต่างอะไรกับ Isao Takahata)
หลังจากได้รับชมต้องบอกเลยว่าไม่ผิดหวังสักนิด ลึกๆแล้วรู้สึกชื่นชอบ The Secret of Kells มากกว่า Song of the Sea เสียอีกนะ ความงดงามละเอียดอ่อนระดับวิจิตรพอๆกัน แต่มีบางสิ่งอย่างที่ทำให้ร้องว๊าว ตราตะลึง ประทับใจมากยิ่งกว่า
คิดว่าสิ่งนั้นคือ Book of Kells หรือจะเรียกว่าคัมภีร์ไบเบิ้ลของชาว Celtic ที่จารึกหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ในรูปแบบอักษรวิจิตร, จริงๆผมก็ไม่รู้จักหรอกนะว่าคืออะไร มีอยู่จริงหรือเปล่าในประวัติศาสตร์ แต่หลังจากได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลก็ทำให้ทึ่งไปเลยละ สร้างโดยศิลปินยอดฝืมือแห่งยุค ผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาแรงกล้าในคริสต์ศาสนา
“The great gospel book of Columcille, the holiest relic of the western world”.
มิน่าละชาวไอร์แลนด์ถึงเกิดศรัทธามั่นคงในคริสต์ศาสนาอย่างแรงกล้าจนถึงปัจจุบัน เพราะความงดงามระดับวิจิตรของ Book of Kells ราวกับคัมภีร์ที่พระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นก็ไม่ปาน, เห็นแค่รูปดูไม่น่าเชื่อถือ เลยนำคลิปมาให้ดูเลยดีกว่า
พูดถึง Book of Kells และตำนาน Celtic Mythology จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับ Moore บอกว่านี่เป็นสิ่งที่ชาวไอร์แลนด์แทบทุกคนรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี เพราะคือวิชาประวัติศาสตร์บังคับเรียน เคยเป็นสัญลักษณ์บนเหรียญ/ธนบัตร (ก่อนเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินยูโร) แม้แต่ในชีวิตประจำวันตามผับบาร์ ผนังกำแพง ลวดลายรอยสัก หลายๆอย่างยังคงได้รับความนิยมอย่างสูง
“It’s everywhere here, almost to the point where I suspect people do not appreciate it. Before the Euro we had ‘Book of Kells’ designs on our coins, our bank notes. Every Irish Pub has Celtic knotwork on its walls, and the tattoos are everywhere! Irish crafts people often incorporate knotwork and symbols from our manuscript tradition into their work as well”.
ว่าไปก็คล้ายๆเมืองไทยเรา ที่พุทธศาสนาแทรกซึมฝังลึกอยู่ในทุกสิ่งอย่าง รากฐานของสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง ทัศนคติความคิดอ่าน และวิถีชีวิตประจำวันทั่วๆไป โดยไม่รู้ตัวเกิดความเข้าใจเช่นนี้ ทำเอาผมอยากไปเที่ยวประเทศไอร์แลนด์สักครั้งในชีวิตก็ยังดี
แซว: ภาพยนตร์หลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับไอร์แลนด์ นำเสนอประเทศนี้ได้น่าอยู่มากๆเลยนะ อาทิ The Quiet Man (1952), Ryan’s Daughter (1970), Once (2006), The Wind that Shakes the Barley (2006), Brooklyn (2015) ฯ
Thomas ‘Tomm’ Moore (เกิดปี 1977) นักอนิเมเตอร์ วาดอนิเมชั่นสัญชาติ Irish เกิดที่ Newry, Northern Ireland แต่ไม่นานครอบครัวย้ายมาปักหลังยัง Kilkenny, Republic of Ireland ด้วยความสนใจเกี่่ยวกับภาพยนตร์ตั้งแต่เด็ก เข้าร่วมกลุ่ม Young Irish Film Makers ที่ Kilkenny ต่อมามุ่งสายอนิเมชั่นที่ Ballyfermot College of Further Education, Dublin
Nora Twomey (เกิดปี 1971) นักเขียน ผู้กำกับ อนิเมเตอร์สัญชาติ Irish เกิดที่ Cork City, Republic of Ireland ตอนเด็กไม่ได้ใคร่สนใจเรียนหนังสือนัก ไม่ทันจบตอนอายุ 15 ออกมาใช้แรงงานที่โรงงานใกล้บ้าน ต่อมาสมัครเข้าเรียนหลักสูตรอนิเมชั่น Ballyfermot College, Dublin จบออกมาเริ่มทำงานที่ Brown Bags Film เพราะความเป็นรุ่นพี่ของ Tomm Moore ร่วมกับอีกสองคน Paul Young และ Ross Murray ก่อตั้งสตูดิโอ Cartoon Saloon เมื่อปี 1999
จุดเริ่มต้นของ The Secret of Kells เกิดจากความสนใจของ Moore ก่อนเรียนจบ ได้แรงบันดาลใจจากผลงาน Masterpiece ที่สร้างไม่เสร็จของ Richard Williams เรื่อง The Thief and the Cobbler (1993) และล่าสุดอนิเมชั่นจากสตูดิโอ Disney เรื่อง Mulan (1998) ทำให้เกิดความสนใจใน ‘Tradition Art’ ผสมผสานงานศิลปะที่เป็นพื้นบ้านท้องถิ่นเข้ากับภาพยนตร์อนิเมชั่น ซึ่งประเทศไอร์แลนด์ก็มีวัฒนธรรม Celtic ในยุค Medieval และหนังสือ Book of Kells ที่ยังไม่ค่อยได้เผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลกนัก
“I guess the story surrounding ‘The Book of Kells’ made perfect sense as a hook, and I began to look at the legends and history surrounding it. We knew there was a movie in there, even if it seemed unlikely at first glance”.
Moore ใช้เวลาปีสุดท้ายที่ Ballyfermot College พัฒนาบทร่างแรกและทำตัวอย่างอนิเมชั่นเพื่อนำไปเสนอหาทุน ครั้งหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมชมสตูดิโอ Cartoon Movie, Berlin พบเจอกับ Didier Brunner ขณะนั้นเป็นโปรดิวเซอร์กำลังคุมโปรเจค The Triplets of Belleville (2003) อาสาจัดหารวมทุนสร้างให้สูงถึง 6 ล้านยูโร โปรเจคจึงเริ่มเดินหน้าเดือนตุลาคม 2005
เพราะความที่ทุนสร้างมาจากหลายแหล่งหลากประเทศ Ireland, Belgium, France, Hungary ผู้กำกับ Moore เรียกการผจญภัยสร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ว่า ‘Epic Adventure’
– ที่สตูดิโอ Cartoon Saloon คือศูนย์กลางการออกแบบ พื้นหลัง และร่างภาพ Animation ประมาณ 20 นาที
– Walking the Dog Studio ของประเทศ Belgium หลักๆคือทำอนิเมชั่นสามมิติ และมีสองมิติอีกประมาณ 20 นาที
– Digital Graphics หลักๆคือการลงสี และทำสามมิติให้บางส่วน
– Blue Spirit ที่ Angouleme, France ทำส่วนพื้นหลังเพิ่มเติม และ Flash Animation
– ประมาณ 40 นาทีของอนิเมชั่นสองมิติที่ Kecskemet Film Studios ประเทศ Hungary
– Lightstar Studios ประเทศ Brazil รับจ็อบ In-Between
– ตัดต่อ ออกแบบเสียงที่สตูดิโอ Piste Rouge, ฝรั่งเศส
– และบันทึกเพลงประกอบ/รวมรวมทุกสิ่งอย่าง กลับมาที่ Kila, Ireland
ในส่วนของบทภาพยนตร์ Moore ถือว่าเป็นตัวตั้งตี ขณะที่ Twomey ช่วยค้นหาข้อมูลและเสนอแนวคิด แต่พอได้โปรดิวเซอร์เป็นชาวฝรั่งเศสให้คำแนะนำว่า ควรพัฒนาเรื่องราวที่มีความเป็นสากล จะได้ผู้ชมที่หลากหลายขึ้น จึงติดต่อให้ Fabrice Ziolkowski นักเขียนสัญชาติ French-American ถือว่าเป็นคนนอกไม่ใช่ชาว Irish เข้ามาช่วยขัดเกลาจนได้ผลลัพท์น่าพึงพอใจอย่างยิ่งทีเดียว
เรื่องราวของ Brendan (พากย์เสียงโดย Evan McGuire) เด็กชายอายุ 12 ปี อาศัยอยู่กับลุง Cellach (พากย์เสียงโดย Brendan Gleeson) ผู้เป็น Abbey of Kells กำลังหมกมุ่นอยู่กับการสร้างกำแพงสูงเพื่อป้องการการโจมตีของชาวเหนือ Vikings
วันว่างๆของ Brendan เรียนรู้ฝึกหัดการเขียนอักษรวิจิตร หลงใหลในเรื่องเล่าของ Brother Aidan (พากย์เสียงโดย Mick Lally) ผู้ริเริ่มสร้าง Book of Iona ที่อ้างว่าสามารถทำให้ความมืดกลับกลายเป็นแสงสว่าง ซึ่งเมื่อถึงวันที่ Aidan เดินทางมาถึง Kells พร้อมแมวขาว Pangur Bán เด็กชายแสดงความใคร่สนใจอยากรู้อยากเห็น จนถูกโน้มน้าวชักจูง แต่มีสองสิ่งที่เขาต้องสรรหาจากป่านอกกำแพงเมือง
อย่างแรกคือเมล็ดโอ๊ก (Oak Apple, Oak Gall) เพื่อนำมาทำน้ำหมึกที่สามารถใช้เขียนลงบนหนังสือ ระหว่างทางที่เด็กชายเข้าไปหลงป่าทำให้พบเจอ Aisling (พากย์เสียงโดย Christen Mooney) เธอเป็นแฟรี่ (Forest Fairy) ช่วยเหลือจากฝูงหมาป่า และนำทางสู่ยอดไม้ มองเห็นทุกสรรพสิ่งอย่างโดยรอบอาณาบริเวณ
อีกสิ่งหนึ่งคือคริสทัล Eye of Colm Cille (คล้ายๆกับแว่นขยาย ทำให้มองเห็นรายละเอียดเล็กๆของอักษรวิจิตรได้) ที่ต้องหาจากการเข้าไปต่อสู้กับ Crom Cruach ในมุมมืดของป่า สถานที่ซึ่งแม้แต่ Aisling มิกล้าเข้าใกล้
แม้ Brendan จะได้ทั้งสองสิ่งจำเป็นในการสานต่อ Book of Iona แต่เขากลับถูกลุง Cellach กักขังไว้ในห้อง เพราะคิดว่าหนังสือนั่นคงไม่มีประโยชน์อะไรถ้ามิสามารถป้องกันการรุกรานจากพวก Vikings ได้สำเร็จ เวลาผ่านไปและวันแห่งโชคชะตานั้นได้ก้าวย่างมาถึงอย่างโหดเหี้ยมร้าย
การออกแบบตัวละคร มีลักษณะ/ลวดลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ล้วนแฝงนัยยะความหมายบางอย่าง
– Brendan ตัวยังเล็กกระเปี๊ยก แต่มีความสมส่วน ศีรษะกลม เน้นโทนสีน้ำตาล และพบเห็นเท้าวางอยู่บนพื้น (นัยยะสื่อถึง ความยังสามารถออกเดินทางเรียนรู้มุ่งสู่เป้าหมาย ขณะที่คนอื่นไม่เห็นเท้าแล้ว คือการปักหลักมั่นคงที่ โยกย้ายไปไหนไม่ได้)
– บาทหลวง 4 คนที่เหลือนี้ ถือเป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ ตัวเล็กแก่สุดหนวดยาวจากจีน, หนวดดกดำเหมือนแขก, ลำตัวศีรษะเหลี่ยมคงอังกฤษ และสุดท้ายอ้วนกลมใหญ่ผิวดำจากแอฟริกา
Abbot Cellach ชายผู้มีเรือนร่างสูงยาวหลังค่อม สะท้อนถึงทัศนวิสัยอันสูงส่ง เป็นผู้นำชุมชน Kells แต่ในช็อตนี้ถือว่ายืนคับแคบแน่นเต็มหน้าต่าง มิสามารถขยับเขยื้อนไปไหนซ้ายขวาขึ้นลงได้ นี่สะท้อนถึงสำนวน ‘น้ำเต็มแก้ว’ คือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติความคิดอ่านของตนเองได้ (จนกว่าจะพบเจอโศกนาฎกรรมความสูญเสียเข้ากับตนเอง)
ผิดกับกระเป๊ยก Brendan ขนาดลำตัวเขายังเล็กเตี้ย มีช่องว่างอีกเยอะให้เติบโตเติมเต็ม น้ำในแก้วยังว่างสามารถรินเทใส่ได้อีกเยอะ
เจ้าเหมียว Pangur Bán คือชื่อแมวที่อยู่ในบทกวีเก่าแก่ของชาว Irish แต่งโดยบาทหลวง Reichenau Abbey ผู้มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 9 แปลเป็นภาษาอังกฤษดังนี้
Pangur, white Pangur, How happy we are
Alone together, scholar and cat
Each has his own work to do daily;
For you it is hunting, for me study.
Your shining eye watches the wall;
My feeble eye is fixed on a book.
You rejoice, when your claws entrap a mouse;
I rejoice when my mind fathoms a problem.
Pleased with his own art, neither hinders the other;
Thus we live ever without tedium and envy.
แฟรี่สาว Aisling (ภาษา Irish แปลว่า Dream Vision) คือชื่อ Sub-Genre ของบทกวี Irish (ที่ขึ้นต้นด้วย Is- ลงท้ายด้วย -Sh) คิดค้นขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 17, ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนเด็กสาวผิวขาว ผมยาวพริ้วไหว (สะท้อนถึงชีวิตที่ยืนยาวล่องลอย ผ่านอะไรๆมามากแต่เหมือนไม่รับรู้เรื่องอะไรทั้งนั้น) เคลื่อนไหวว่องไวราวกับจิตวิญญาณ แปลงร่างเป็นหมาป่าสีขาวควบคุมตัวอื่นได้ มีหน้าที่ชี้ชักนำทาง ช่วยเหลือชีวิต Brendan นับครั้งไม่ถ้วน และพากลับบ้านให้ถึงปลอดภัย
Sequence แรกของอนิเมะคือ Brendan วิ่งไล่จับห่านเพื่อดึงขนมาใช้เขียนหนังสือ, ฉากนี้นอกจากเป็นการแนะนำพื้นหลัง/วิถีชีวิตของชาว Kells ยังมีนัยยะถึงการไล่ล่าติดตามหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตภายภาคหน้า สะท้อนกึกก้องกับใจความสำคัญของอนิเมะ ที่ก็เป็นการออกเดินทางค้นหา/สร้างสิ่งมั่นคงยั่งยืนให้กับมวลมนุษยชาติ
ในห้องของ Abbot Cellach เต็มไปด้วยรายละเอียดขีดๆเขียนๆ แผนผังจำลองกลไกพิมพ์เขียว เพื่อใช้สำหรับก่อสร้าง Kells ให้อยู่รอดปลอดภัยจากการโจมตีของพวก Vikings, เหล่านี้คือองค์ความรู้ที่เป็นรูปธรรม ป้องกันการรุกรานจากภยันตรายภายนอกร่างกาย มาด้วยวิวัฒนาการที่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไร
สิ่งน่าสนใจมากๆของช็อตนี้คือบริเวณหน้าต่าง แสงที่สาดส่องเข้ามาเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม และเงาของ Cellach ทอดยาวสุดปลายแสง ถ้าเปรียบห้องหับนี้ราวกับมันสมองของมนุษย์ หน้าต่างจะคือดวงตา(แห่งสมอง) เห็นแสงสว่างความหวังเล็กๆที่สาดส่องมาถึงเท่านั้น
สถานที่ที่ Brendan พบเจอกับ Aisling ครั้งแรก อยู่บนก้อนหินที่มีลวดลายแกะสลัก นั่นคือหินแกรนิต Turoe Stone ในบริเวณ Fairy Fort สถานที่พบเจอได้ทั่วไปในไอร์แลนด์ ตำนานเล่าว่าคือทางเข้าสู่โลกของ Fairy World ก็ถือว่าเหมาะสมกับ Aisling ที่เป็น Forest Fairy
การจะเริ่มเขียน Book of Kells จำเป็นอย่างยิ่งที่ Brendan ต้องผ่านสองด่านเพื่อทดสอบกาย-ใจ ว่าพร้อมหรือไม่ที่จะคือผู้ถ่ายทอดคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า
ด่านทดสอบแรกไม่ยากนัก คือความกล้าหาญที่จะก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตนเอง เริ่มต้นด้วยการเดินเข้าไปในป่า (ที่ถูกสั่งห้าม) เผชิญหน้ากับหมาป่า ชนะใจ Aisling ปีนต้นไม้สูงใหญ่ (ไม่เคยปีนสูงขนาดนี้มาก่อน) จนเมื่อมาถึงยอด ลืมตาพบเห็นทุกสิ่งอย่างไกลสุดลูกหูตา และเมล็ดโอ๊กสำหรับนำไปทำน้ำหมึก อยู่ไม่ไกลจากตำแหน่งนี้นัก
เจ้าเมล็ดโอ๊ก (Oak apple, Oak Gall) ได้รับการนำมาสกัดทำเป็นน้ำหมึกสีม่วง-ดำ หรือน้ำตาล-ดำ ตั้งแต่สมัยโบราณกาล ไกลสุดที่ค้นพบประมาณศตวรรษที่ 4 จากคัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับเก่าแก่ที่สุดในโลก
ถ้าเปรียบวิหารทรงครึ่งวงกลมนี้กับศีรษะมนุษย์ (รูปร่างก็คล้ายๆกันอยู่นะ) วินาทีที่การทำน้ำหมึกจากเมล็ดโอ๊กเสร็จสิ้น จะเกิดควันสีเขียวโพยพุ่งกระจายไปทั่ว นี่ราวกับความคิด/จินตนาการ/เพ้อฝัน ที่กำลังฟุ้งซ่าน รอการเรียบเรียบเขียนวาดให้กลายเป็นอักษรลงในหนังสือ Book of Kells และเพราะเจ้าหมอกควันแห่งความคิด/สติปัญญาอันนี้แหละ ที่ทำให้ Brendan และ Aidan สามารถเอาตัวรอดจากพวก Vikings หลบหนีออกมาได้
ด่านสองสำหรับ Brendan คือการมุ่งสู่ด้านมืดมิดที่อยู่ในจิตใจของตนเอง ต่อสู้กับ Crom Cruach ที่กลายร่างเป็นงูใหญ่ Ouroboros ยืดขยายยาวได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งชัยชนะของเด็กชายเกิดจากการขีดเส้นล้อมกรอบเป็นวงกลม ใช้สติปัญญาควบคุมความชั่วร้ายมิให้เพ่นพ่านฟุ้งกระจายออกนอกรัศมีจิตใจของตนเอง ซึ่งวินาทีที่เขามองผ่าน Eye of Colm Cille จะพบเห็นงูกินหาง มุมมองความชั่วร้ายเมื่อมันดิ้นหนีไปไหนไม่ได้ ก็จักเวียนวนกัดกินอยู่กับตัวมันเอง
เกร็ด: Crom Cruach คือพระเจ้าองค์หนึ่งในความเชื่อ pre-Christian ของชาวไอร์แลนด์ ที่ชื่นชอบการสังเวยชีวิตมนุษย์
ด้านมืด/ความชั่วร้ายที่เกาะกินอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ เป็นสิ่งที่ไม่มีวันสูญหายหมดสิ้นไป (ในความเชื่อของหลายๆตำนาน) วิธีการเดียวเท่านั้นคือควบคุม ขีดเส้นกำหนดขอบเขต กดดันภายในกฎกรอบ มิให้ออกมาเพ่นพร่านสร้างความวุ่นวายต่อโลกภายนอก
สิ่งที่ Brendan ได้รับมาจากชัยชนะครั้งนี้คือ Eye of Colm Cille เปรียบได้กับมุมมองที่จะทำให้เขาเห็นโลกทัศน์ความเป็นจริง ก็เหมือนช็อตนี้เมื่อเอาชนะ Crom Cruach ได้แล้ว มองจากมุมคนนอกก็จะเห็นเพียงเนื้อในของมัน แค่งูกินหาง ไม่ใช่งูขนาดยาวเฟื้อยไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่จะสามารถไขกลอนที่คุมขัง Brendan ภายใต้หอคอยแห่งสติปัญญา มีเพียงจิตวิญญาณที่เป็นอิสระของแมวขโมย Pangur Bán มันถูกเวทย์มนตราของ Aisling เสกให้ล่องลอยโบยบิน กระทำสิ่งที่เรือนร่างกายของมนุษย์มิอาจกระทำได้
ฉากนี้มองเป็นลักษณะเชิงสัญลักษณ์จะเข้าใจง่ายกว่า, Brendan พบเจอเป้าหมายชีวิตของตนเอง คือการเป็นนักจารึก Book of Kells แม้ร่างกายจะถูกคุมขัง แต่จิตใจ/วิญญาณของเขา มันส่งเสียงเรียกร้องดังกึกก้อง จนมิสามารถมีอะไรหักห้ามปรามได้อีก (ประมาณว่า ไม่มีอะไรหักห้ามความต้องการของหัวใจได้)
เมื่อพวก Vikings ทำลายประตูเมือง Kells กำลังบุกรุกเข้ามาทำลายทุกสิ่งอย่าง งานภาพเปลี่ยนลักษณะไปโดยสิ้นเชิง หลงเหลือเพียงสามสีคือ ขาว-ดำ-แดง ซึ่งสามารถสื่อได้ถึง
– ดำ คือความชั่วร้าย (แทนด้วยฝั่ง Viking)
– ขาว คือความบริสุทธิ์ (แทนด้วยประชาชนผู้ไร้เดียงสา)
– แดง คือเลือด และสัญลักษณะของความตาย
จากห้องของ Abbot Cellach ที่เคยมืดมิดเย็นยะเยือก เมื่อ Brendan นำหนังสือ Book of Kells ที่เสร็จสำเร็จมาส่งมอบให้ พบเห็นแสงสว่างสีทองเรืองรอง ยุคทองแห่งโลกใหม่กำลังเข้าใกล้มาถึง
เรื่องราวเล่าในมุมมองของ Brendan น่าจะจากช่วงวัยที่เริ่มจำความได้ วันที่ Brother Aidan เดินทางมาถึง Kells ค่อยๆทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไป แทรกเข้ามาด้วยภาพจินตนาการและย้อนอดีต (Flashback) และหลายครั้งเพื่อให้เวลาเคลื่อนเลยผ่านอย่างรวดเร็วไว ใช้เทคนิคภาพประกอบเพลง หรือตัวละครเดินผ่านภาพสามเฟรมที่วางต่อกัน
เผื่อคนไม่เข้าใจลักษณะของการเดินผ่านภาพสามเฟรม คือการแบ่งหน้าจอออกเป็นสามส่วนด้วยพื้นหลังแตกต่างกัน ตัวละครเดินจาก 1 -> 2 -> 3 แสดงถึงช่วงเวลา/สถานที่ ดำเนินต่อเนื่องไปในช็อตเดียว
เพลงประกอบโดย Bruno Coulais (เกิดปี 1957) สัญชาติฝรั่งเศส ผู้ได้รับฉายา ‘Danny Elfman of France’ ผลงานเด่น The Chorus (2004), Coraline (2009), Song of the Sea (2014) ฯ ร่วมงานกับวงดนตรี Kíla เพื่อสร้างสรรค์ดนตรีพื้นเมือง Irish Folk Music
เสียงระยิบระยับของระฆังราว ตามด้วยเครื่องเป่า Tin Whistle (เครื่องดนตรีพื้นบ้านของ Irish) ได้สร้างโลกอีกใบให้กับ Kells ราวกับหลุดเข้าไปยังดินแดนแห่งความเพ้อฝันจินตนาการ งดงามระดับวิจิตร
บทเพลง Aisling Song ขับร้องโดย Christen Mooney (ก็คนที่พากย์ Aisling นะแหละ) มีเนื้อความถึง บางสิ่งอย่างที่เฉพาะเพียงจิตวิญญาณ สามารถเคลื่อนไหวล่องลอยไป กระทำในสิ่งร่างกายมิอาจสำเร็จลงได้
นี่เป็นบทเพลงที่ราวกับเวทย์มนต์ของ Aisling เพื่อดึงเอาวิญญาณของเจ้าแมวขาว Pangur Bán ล่องลอยไปให้ช่วยเหลือ Brendan ออกจากห้องขังได้
บทเพลงไพเราะที่สุดในอนิเมะเรื่องนี้ The Book of Kells, เมื่อ Kells ถูก Vikings ทำลายหมดสิ้นสภาพ เริ่มต้นด้วยเดี่ยวเครื่องสาย Fiddle (ไวโอลินขนาดเล็ก) เต็มไปด้วยความโหยหวนล่องลอยหมดสิ้นหวัง ตามด้วยประสานเสียงและเครื่องเป่า Bassoon? ค่อยๆเคลื่อนเข้ามาราวกับว่านั่นคือแสงสว่างที่อยู่ห่างไกลลิบ จากนั้นประมาณวินาที 3:15 เมื่อเสียงคีย์บอร์ดไล่รัวๆดังขึ้น ทำนอง Fiddle แปรเปลี่ยนกลายเป็นความปลื้มปีติยินดี นั่นคือวินาทีที่ Abbot Cellach ผู้ท้อแท้หมดสิ้นอาลัยหวังในชีวิต ได้มีโอกาสพบเจอ Brendan ตอนโต รับมอบหนังสือ Book of Kells เสร็จสำเร็จสักที นั่นแหละคือความหวังของมวลมนุษยชาติ
สิ่งที่คือความลับของ The Secret of Kells คือเด็กชาย Brendan ที่หลังจากผ่านสองด่านทดสอบกาย-ใจ เรียนรู้จักความดี-ชั่ว สูง-ต่ำ ขาว-ดำ Aisling-Crom Cruach ครอบครองดวงตาเห็นธรรม กลายเป็นผู้จารึกอักษรวิจิตรให้กับ Book of Iona ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Book of Kells
กำแพง เปรียบได้กับสิ่งปกป้องอันตรายทางกาย ศัตรูผู้รุกรานที่เต็มไปด้วยความชั่วช้าสามาลย์ เข่นคร่าทำลายชีวิตผู้คนในช่วงเวลาหนึ่งมากมายมหาศาล แต่นั่นหาใช่สิ่งมั่นคงยั่งยืน เพราะต่อให้กำแพงสูงใหญ่โตแข่งแกร่งขนาดไหน ก็มิอาจต้านทานความโหยกระหายด้านมืดของมนุษย์ผู้ไร้อารยธรรมลงได้
ผิดกับหนังสือเล่มหนึ่งที่คือองค์ความรู้ แสงสว่างแห่งธรรม คัมภีร์ไบเบิ้ลรวบรวมคำสอนของพระเยซูคริสต์ นั่นคือสิ่งที่จะเป็นแนวทางแบบอย่างให้กับมนุษย์ในการดำรงชีพใช้ชีวิต กำแพงภายในจิตใจที่สามารถป้องกันความเลวชั่วร้ายมิให้เข้ามารุกรานภายในได้อย่างมั่นคงถาวร มิมีสิ่งใดใต้หล้าสามารถพังทำลายให้พ่ายแพ้ เอาชนะได้ทุกศัตรูไม่เว้นแม้แต่พวก Vikings
“the book that turns darkness into light”
ประโยคนี้มีความหมายเชิงสัญลักษณ์นามธรรมมากกว่าจับต้องได้รูปธรรม เพราะ Book of Kells หรือหนังสือพระวรสาร คัมภีร์ไบเบิ้ล คือสิ่งที่ชาวคริสต์เปรียบเสมือนบทบัญญัติแบบแผน แนวทางในการดำรงชีวิตให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธา เมื่อปฏิบัติตามแล้วก็มิมีอะไรใต้หล้าทั้งชาตินี้ชาติหน้าให้หวาดกลัวเกรง ตายไปย่อมมุ่งสู่สรวงสวรรค์ กลับคืนสู่อ้อมอกพระเจ้าผู้สร้าง
มันคือวิสัยทัศน์ล้วนๆของสองผู้กำกับ Tomm Moore, Nora Twomey สร้างอนิเมชั่นเรื่องนี้ด้วยการผสมผสานจินตนาการ ปรัมปรา Celtic วัฒนธรรมพื้นบ้าน Irish จนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม แค่ความงดงามทางด้านศิลป์เพียงอย่างเดียว ก็สามารถกลบส่วนด้อยของพล็อตเรื่องราวไปโดยสิ้นเชิง
สิ่งที่โดยส่วนตัวชื่นชอบอนิเมชั่นเรื่องนี้มากๆ คือความน่าฉงนของหนังสือ Book of Kells อันเป็นจุดเริ่มต้นของงานศิลป์งดงามระดับวิจิตร เปรียบได้ไม่ต่างกับศิลาจารึก วัตถุโบราณ มรดกทางประวัติศาสตร์ ‘National Treasure’ ล้ำค่าสุดของชาว Irish ศูนย์กลาง/จิตวิญญาณของคนทั้งประเทศเลยก็ว่าได้
แนะนำคออนิเมชั่นสองมิติ แนวผจญภัย เกี่ยวกับตำนานเทพนิยาย Celtic Mythology, จิตรกร นักวาดภาพ หลงใหลงานศิลป์สวยๆ, แฟนๆสตูดิโอ Cartoon Saloon ไม่ควรพลาด
จัดเรต PG เพราะความเหี้ยมโหดป่าเถื่อนของพวก Vikings
Leave a Reply