The Secret of NIMH

The Secret of NIMH (1982) hollywood : Don Bluth ♥♥♥♡

ในยุคตกต่ำหลังการจากไปของนาย Walt Disney มีนักอนิเมเตอร์ 11 คน นำโดย Don Bluth ไม่พึงพอใจวิสัยทัศน์ของผู้บริหารอย่างรุนแรง ลาออกมาก่อตั้งสตูดิโอใหม่ สร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรก The Secret of NIMH หนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนที่ถูก Disney มองข้ามไม่สนใจ แม้ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ได้สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นกับวงการ

หลังการเสียชีวิตของนาย Walt Disney เมื่อปี 1966 และทีมงาน/นักอนิเมเตอร์รุ่นบุกเบิกต่างทะยอยเกษียณตัวเอง ไม่ก็สิ้นอายุไขจากลาโลกไปด้วยกัน ผู้บริหารผลัดเปลี่ยนมือ สตูดิโอจำต้องปรับเปลี่ยนทิศทางใหม่ในการบริหารงาน ช่วงทศวรรษ 70s นำโดย Card Walker (1971–1977) และ Ron W. Miller (1978–1983) เลือกวิธีมักง่ายเข้าว่า เน้นผลิตภาพยนตร์คนแสดง ขณะที่อนิเมชั่นเนื่องจากใช้งบประมาณและระยะเวลาสูงขึ้นเรื่อยๆ เลยหาหนทางตัดทอนต้นทุนลดคุณภาพ/ปริมาณของงานลง แม้หลายเรื่องยังคงประสบความสำเร็จทำเงิน แต่ก็ได้ทำให้จิตวิญญาณของสตูดิโอค่อยๆเสื่อมคลายมนต์ขลังลง

สังเกต: ภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Disney ในช่วงทศวรรษดังกล่าวจะไม่มีแนว Musical เลยสักเรื่อง เพราะการแต่งเพลงพร้อมตัวละครร้องเล่นเต้น มันสิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่า อาทิ The Many Adventures of Winnie the Pooh (1977), The Rescuers (1977), The Fox and the Hound (1981), The Black Cauldron (1985), The Great Mouse Detective (1986)

Donald Virgil Bluth (เกิดปี 1937) ผู้กำกับ นักอนิเมเตอร์สัญชาติอเมริกัน เกิดที่ El Paso, Texas วัยเด็กของเขาขี่ม้าเข้าเมืองเพื่อไปดูภาพยนตร์ของ Disney ที่บ้านก็เต็มไปด้วยหนังสือการ์ตูนทุกเล่มที่หาได้ โตขึ้นเข้าเรียน Brigham Young University, Utah จบออกมาได้งานที่ Walt Disney Production เป็นผู้ช่วยนักอนิเมเตอร์ John Lounsbery ตอนสร้าง Sleeping Beauty (1959) แต่ก็ตัดสินใจอยู่เพียงสองปีออกมาสมัครร่วมภารกิจของ LDS Church เผยแพร่ศาสนาสู่ประเทศอาร์เจนติน่า (คงประมาณอยากท่องโลกกว้าง) หลังกลับมาเข้าเรียนต่อสายวรรณกรรม แล้วหางานเป็นนักอนิเมเตอร์เข้าร่วม Filmation จนได้หวนกลับสู่อ้อมอก Disney เมื่อปี 1971 มีผลงานอย่าง Robin Hood (1973), The Many Adventures of Winnie the Pooh (1977), The Rescuers (1977), เลื่อนขั้นมาเป็นผู้กำกับอนิเมชั่น Pete’s Dragon (1977)

แต่หลังจากนั้นเมื่อเริ่มทำอนิเมชั่นขนาดสั้น Banjo the Woodpile Cat เป็นโปรเจคส่วนตัว นำไปเสนอผู้บริหารขณะนั้น Ron W. Miller (ลูกเขยของนาย Walt Disney) เพื่อที่จะขอทุนสร้างให้กลายเป็นขนาดยาว แต่กลับถูกบอกปัดปฏิเสธไม่แม้แต่จะคิดรับชม นั่นสร้างความหัวเสียให้อย่างมาก รวบรวมสมัครพรรคพวกได้ 11 คน ลาออกมาก่อตั้งสตูดิโอของตนเอง Don Bluth Productions

ความขัดแย้งของ Bluth กับผู้บริหาร Disney ไม่ได้เริ่มต้นที่การปฏิเสธรับชม Banjo the Woodpile Cat (แต่คือชนวนสำคัญที่ทำให้ระเบิดเวลาทำงาน) ไล่ย้อนก็เมื่อการเข้ามาบริหารงานของ Miller ด้วยวิสัยทัศน์อาทิ ลดปริมาณงานของนักอนิเมเตอร์ลง ต้องการให้แค่ตัวละครขยับปากพูดเพียงอย่างเดียวแทนเคลื่อนไหวด้วยภาษากาย, จำกัดการวาดเลเยอร์ระดับพื้นหลัง จนภาพแทบมองไม่เห็นมิติความลึก, ไม่สนับสนุนการทำ Musical Animation ที่เป็นจุดขายของสตูดิโอมานมนาน ฯ

เช่นกันวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Mrs. Frisby and the Rats of NIMH (1971) แต่งโดยอดีตนักข่าว Robert C. O’Brien (1918 – 1973) ผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียนเพราะตาเป็นต้อหินขับรถไปทำงานไม่ได้, เมื่อหนังสือเล่มนี้ผ่านตานักเขียนของสตูดิโอ Ken Anderson นำมาแนะนำให้ Bluth มองหาเส้นสายที่รู้จัก ซึ่งก็ได้นำเสนอต่อหัวหน้าทีมอนิเมเตอร์ Woolie Reitherman แต่กลับแสดงทัศนะสตูดิโอคงไม่สนใจเพราะ

“We’ve already got a mouse [named Mickey Mouse,] and we’ve done a mouse movie [called The Rescuers]”.

ขณะเดียวกันเมื่อ Bluth นำหนังสือเล่มนี้ไปให้นักอนิเมเตอร์อื่นๆในสังกัด บรรดาคนที่เห็นชอบเกิดความสนใจ ต่างลาออกมาเข้าร่วม Don Bluth Productions ทั้งหมดทั้งสิ้น

สำหรับทุนสร้างได้คนเคยรู้จักร่วมงาน James L. Stewart อดีตผู้บริหารของ Disney ก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งกับทิศทางของบริษัทเก่า ออกมาตั้งสตูดิโอของตนเองชื่อ Aurora Productions เลยนำโปรเจคนี้ไปเสนอ ได้รับทุนสร้างประมาณ $7 ล้านเหรียญ ต่ำกว่าโปรดักชั่นปกติของ Disney อย่างเยอะ แถมมีระยะเวลาสร้างเพียง 30 เดือน น้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง เห็นว่าปั่นงานกันสัปดาห์ละกว่าร้อยชั่วโมง ไม่หลับไม่นอน ค่า O.T. ไม่ได้ เพื่อให้โปรเจคแห่งฝันนี้สร้างเสร็จสำเร็จ

เรื่องราวของ Mrs. Brisby (พากย์เสียงโดย Elizabeth Hartman) แม่หม้ายหนูนา ด้วยความเป็นห่วงใยลูกชายคนเล็ก Timmy ป่วยเป็นโรคปอดบวม (Pneumonia) เดินทางไปขอยารักษาจาก Mr. Ages (พากย์เสียงโดย Arthur Malet) กำชับหนักหนาห้ามเคลื่อนออกไปไหนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ แต่เพราะขณะนั้นบริเวณที่เธออาศัยอยู่ ณ ฟาร์ม Fitzgibbons กำลังใกล้ถึงช่วงเวลาไถพรวนดินเริ่มต้นทำเกษตรกรรม สรรพสัตว์จำต้องรีบย้ายหนีหาถิ่นที่อยู่ใหม่ เธอจึงขอคำแนะนำจาก The Great Owl (พากย์เสียงโดย John Carradine) แนะนำให้แสวงหาความช่วยของ Nicodemus (พากย์เสียงโดย Derek Jacobi) นั่นทำให้ได้รับรู้ความจริงบางอย่างเกี่ยวกับ NIMH และสาเหตุการเสียชีวิตเยี่ยงวีรบุรุษของสามี สุดท้ายแล้วจะสามารถปกป้องบ้านและลูกๆของตนเองได้สำเร็จหรือไม่

ก่อนจะเริ่มทำอนิเมชั่น ใช้การคัดเลือกนักพากย์ให้เหมาะกับตัวละคร (ทำการบันทึกเสียงก่อน ค่อยนำไปทำอนิเมชั่น เพื่อให้สามารถขยับปากได้ตรงกับคำพูด) เพราะทีมงานตัดสินใจติดต่อเลือกนักแสดงมีชื่อ เพื่อจะเป็นจุดขายได้ด้วย
– Elizabeth Hartman (1943 – 1987) ในบท Mrs. Brisby เลือกจากความประทับใจของโปรดิวเซอร์จากเรื่อง A Patch of Blue (1965) น้ำเสียงของเธอมีความอ่อนนุ่มนวล สั่นเล็กๆแสดงถึงความหวาดหวั่นกลัว แต่มีความเข้มแข็งหนักแน่นเด็ดเดี่ยว ต่อให้ต้องเสี่ยงตายขอแค่ให้ลูกรักได้ปลอดภัยก็เพียงพอแล้ว
– Dom DeLuise (1933 – 2009) นักแสดงขาประจำของ Mel Brooks ด้วยความประทับใจ The End (1978) ให้พากย์เสียงอีกา Jeremy จอมเฟอะฟะ ไม่รู้จักกาละเทศะ อยากจะพัวพันกับทุกสิ่งอย่าง แต่มิสามารถเอาตัวรอดจากเงื่อนไขง่ายๆได้, ในวรรณกรรมต้นฉบับ ตัวละคร Jeremy แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย แต่ทีมนักเขียนเพิ่มเติมหลายๆฉากเข้ามาสร้างสีสันให้เรื่องราว แต่เหตุผลรองรับหนักๆเพื่อสะท้อนความจุ้นจ้านของใครบางคน (ก็ไม่รู้ว่าใครนะครับ) ที่นอกจากจะช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ยังมาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้กับพวกเราอีก
– ไฮไลท์ของนักพากย์คือ John Carradine (1906 – 1988) โคตรนักแสดงหนัง Horror ที่ขณะนั้นวัย 75 สภาพร่อแรเมามาย มาถึงสตูดิโอตอนบ่ายๆ บันทึกเสียง The Great Owl อย่างทรงพลังครั้งเดียวผ่าน ปฏิเสธเทคสองเพราะเชื่อว่า นั่นคือยอดเยี่ยมที่สุดแล้วในศักยภาพของตนเอง

เกร็ด: เดิมนั้นตัวละครชื่อ Mrs. Frisby (จากวรรณกรรมเรื่อง Mrs. Frisby and the Rats of NIMH) แต่เพราะมันตรงกับชื่อสินค้าจานบิน Frisbee ของบริษัท Wham-O ติดต่อขอไปแล้วก็ไม่ยินยอมอนุญาตให้ใช้ เลยทำให้ต้องเปลี่ยนเป็น Mrs. Brisby ซึ่งก็สร้างปัญหาให้ทีมงานพอสมควร เพราะนักพากย์บางคนไม่สะดวกกลับมาให้เสียง เลยต้องใช้เทคนิคของ Sound Edited ตัดเอาเสียง ‘B’ มาแทรกใส่ตรง ‘F’ สมัยนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะ

เป้าหมายของสตูดิโอ Don Bluth Productions ที่ตีตัวออกห่างสตูดิโอ Disney ก็เพื่อหวนคืน/ดึงเอาศักยภาพของ Tradition Animation จากยุคสมัย ‘Golden Era’ ออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพที่สุด และการทดลองเพื่อสานต่อยอดจะได้เริ่มต้นขึ้นจากตรงนั้น

เทคนิคที่พบเห็นได้ตั้งแต่ช็อตแรกของอนิเมะ คือการใช้ Back Light สาดส่องจากด้านหลังเครื่อง Rotoscoping ในบริเวณลงสีด้วย Color Gel ทำให้เห็นเปลวเทียนมีความเปร่งประกายสว่างไสว ‘glow’ ขึ้นมา, เราสามารถพบเห็นภาพลักษณะนี้ได้อยู่เรื่อยๆ อาทิ โลโก้ชื่ออนิเมะ, ดวงตาของ The Great Owl กับ Nicodemus, สร้อยคอของ Mrs. Brisby ฯ

นอกจากนี้มีการใช้เทคนิค Visual Effect ทางภาพยนตร์มากมาย อาทิ การซ้อนภาพ, แพนนิ่ง, ซูมเข้า-ออก ฯ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพนิ่งแต่ก็มักมีการซ้อนกันหลายชั้น จนเห็นเป็นมิติลึกเข้าไป

ช็อตนี้คือการซ้อนภาพเข้าไป ไม่ใช่วาด Mrs. Brisby ให้อยู่ภายในสร้อยคอนั้น

การจะได้มาซึ่ง Sequence นี้ เกิดจากการออกแบบสร้างเครื่อง Multiplane Camera ชนิดพิเศษ (สั่งมาสองเครื่อง) เพื่อให้สามารถซ้อน Layer ของภาพได้หลายๆชั้น จนเห็นราวกับว่าภาพมีมิติลึกเข้าไปอย่างไร้ขอบเขต

นี่คือ Sequence ที่ผมยกให้เลยว่าคือ Masterpiece ตอนที่สร้อยคอของ Mrs. Brisby เปร่งประกายเรืองแสง มันเริ่มจากแดงแปร๊ดเรืองรองกลายเป็นสีทอง (ราวกับแปลงร่างเป็นซุปเปอร์ไซย่า) ทำให้ทุกสิ่งอย่างเจิดจรัสจ้าในทุกทิศทาง

ตัดต่อโดย Jeffrey C. Patch, เรื่องราวเริ่มต้นด้วยมุมมองของ Nicodemus เฝ้าติดตามสังเกต Mrs. Brisby แม่หม้ายหนูที่เขารู้สึกติดหนี้บุญคุณล้นพ้น ต้องการให้ความช่วยเหลือแต่มิอาจอยู่ดีๆเสนอหน้าเข้าไปได้ ลุ้นระทึกให้กำลังใจจนกระทั่งเมื่อพวกเขาพบเจอกัน ข้อเท็จจริงจากอดีตจึงได้รับการเปิดเผยด้วย Flashback จากนั้นดำเนินต่อไปข้างหน้าด้วยมุมมองของ Mrs. Brisby จนถึงจุดจบ

การผจญภัยของ Mrs. Brisby เริ่มต้นที่พบเจอ Mr. Ages เพื่อขอคำปรึกษาแนะนำ ได้รับยาเพื่อรักษาอาการป่วยของ Timmy แต่ด้วยข้อแม้ต้องไม่ออกนอกบ้านเป็นระยะเวลาสามสัปดาห์, ห้องของ Mr. Ages ช่างดูน่าตื่นตาตื่นใจ เต็มไปด้วยสีสันของเล่น เทคโนโลยีล้ำความเป็นหนูมากมาย สะท้อนถึงความเฉลียวฉลาดรอบรู้ทรงภูมิ และด้วยชื่อ Ages กับรูปลักษณ์สูงวัย นี่หมายถึงประสบการณ์ชีวิตเสี้ยมสั่งสอนให้กลายเป็นปราชญ์(แห่งหนู)

จะว่าเพื่อนคงไม่ใช่ อีกาดำ Jeremy พบเจอครั้งแรกพัวพันโยงใยติดอยู่กับเชือกดิ้นไม่หลุด นี่สะท้อนถึงความเสือก/จุ้นจ้าน เสนอหน้าเข้าหาความวุ่นวายด้วยเรื่องที่ไม่ใช่ของตน สติปัญญาไม่สูงนัก ถูกคำพูดชักจูงเกลี้ยกล่อมสักหน่อยก็หลงคล้อยทำตาม ทั้งเรื่องแทบไม่มีประโยชน์ใดๆนอกจากตอนพา Mrs. Brisby ไปหา The Great Owl

แต่ใช่ว่าเราไม่ควรมีเพื่อนแบบนี้นะครับ คือในบางครั้งคนประเภทนี้ก็มีประโยชน์พึ่งพาได้ แต่สถานการณ์อื่นๆก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือจัดการ ขับไล่แบบไม่เสียมารยาท นั่นต้องด้วยลีลาและไหวพริบอย่างยิ่งเลย

เพราะความที่มิสามารถพาลูกน้อย Timmy ออกไปไหนมาไหนได้ Mrs. Brisby จึงออกเดินทางไปปรึกษา The Great Owl หาทางช่วยเหลือ แม้นกฮูกจะขึ้นชื่อเรื่องจับหนูกินเป็นอาหาร แต่ที่เธอเอาตัวรอดมาได้เพราะไปหาตอนกลางวัน ดวงตาของมันส่องแสงเรืองรอง พูดง่ายๆก็คือมองอะไรไม่เห็น แค่อย่าให้ถึงตอนตะวันตกดินก็แล้วกัน เมื่อนั้นทุกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจะกลายเป็นเหยื่อของมันทั้งหมด

นกฮูกผู้ยิ่งใหญ่ตัวนี้ เป็นตัวแทนของศัตรูคู่อาฆาต ปกติจะพึ่งพาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น (เพราะจะถูกฆ่าทันที) แต่ถ้ารู้จักเลือกช่วงเวลาอ่อนแอ (ขณะตามองไม่เห็น) ก็สามารถกลายเป็นที่ปรึกษาไว้ใจได้โดยทันที … ว่าไปไม่ต่างอะไรจากอีกาดำ Jeremy แต่ก็ตรงกันข้ามที่ว่า หนึ่งไร้พิษภัย แต่นกฮูกมันตัวอันตราย

นี่ก็เช่นกันกับราชาหนู Nicodemus ผู้มีทั้งท่วงท่า ลีลาเคลื่อนไหว สำเนียงภาษาพูด ดวงตาส่องแสงเรืองรองไม่ต่างจาก The Great Owl ทั้งยังพูดเอ่ยถึงหนี้บุญคุณต่อ Mr. Brisby เลยยินยอมให้คำแนะนำ/ช่วยเหลือ Mrs. Brisby เท่าที่ตนเองจะสามารถทำได้

ผมมาคิดว่าสองผู้ยิ่งใหญ่ The Great Owl และ Nicodemus อาจจะสื่อแทนถึงนาย Walt Disney ชายผู้ราวกับมีพลังเวทย์มนต์ขลัง เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกล (ดวงตาส่องแสงเรืองรอง) ทั้งยังเคยเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ชี้ชักนำทางให้ผู้กำกับ Don Bluth เลือกเดินเส้นทางเป็นผู้กำกับสร้างอนิเมชั่น

สร้อยคอเป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฎอยู่ในวรรณกรรมต้นฉบับ ผู้กำกับ Bluth ให้คำอธิบายถึงความหมายว่า

“The amulet was a device, or symbol, to represent the internal power of Mrs. Brisby. … In many ways, it was an extension of Mrs. Brisby … a visual extension of an internal (and harder to show in a film) power.”

พูดง่ายๆก็คือตัวแทนของจิตใจ Mrs. Brisby ที่สามารถเปล่งประกาย แสดงพลังออกมาจากนามธรรมให้กลายเป็นรูปธรรมจับได้ช่วยเหลือลูกๆของตนเองได้ในช่วงท้าย

การต่อสู้ระหว่าง Justin (พากย์เสียงโดย Peter Strauss) และ Jenner (พากย์เสียงโดย Paul Shenar) รายหลังคือผู้คร่าชีวิตนาย Walt Disney Nicodemus และกำลังต้องการยึดครองเป็นเจ้าของสตูดิโอ Disneyรังที่ให้อยู่เป็นของตนเอง แต่สุดท้ายเมื่อดวลดาบพ่ายแพ้ ตั้งใจจะทำร้ายเข้าข้างหลัง ถูกพวกเดียวกันที่ไปทรยศเขาก่อน เขวี้ยงดาบสั้นปักกลางหลังตกลงมาตายค่าที่ (จะหักหลังคนอื่น ตนเองเลยถูกแทงหลังคืนสนอง)

Sequence การต่อสู้นี้ ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Adventures of Robin Hood (1938) และ The Vikings (1958) เห็นว่าทีมอนิเมเตอร์ ใช้เป็นแบบอย่างท่วงท่าการต่อสู้แบบตรงๆเลยละ

เพลงประกอบโดย Jerry Goldsmith ร่วมกับ National Philharmonic Orchestra, นี่เป็นผลงานเพลงประกอบอนิเมชั่นเรื่องแรกของ Goldsmith ที่เจ้าตัวบอกว่าทั้งยากทั้งท้าทาย แตกต่างจากงานปกติทั่วไปเพราะต้องใช้จินตนาการค่อนข้างสูง มีเพียงภาพวาดร่างๆกับเรื่องราว และกำหนดเวลาเปะๆว่าต้องกี่นาที/วินาที

เกร็ด: เพราะความประทับใจในการร่วมงานครั้งนี้ของ Goldsmith และผู้กำกับ Bluth จึงได้แนะนำให้รู้จัก Steven Spielberg ได้มีผลงานร่วมกันเรื่อง An American Tail (1986)

บทเพลงของ Goldsmith ได้ช่วยแต่งแต้มสรรสร้างโลกใบนี้ขึ้นมา ให้กลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยสิ่งลึกลับพิศวง มองจากภายนอกช่างดูอันตรายไม่เป็นมิตร แต่ภายในหลบซ่อนด้วยบางสิ่งอย่าง ‘ความลับ’ ที่เมื่อได้รับรู้ ก็จะพบเจอความสวยงามที่ราวกับได้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์

บทเพลง Flying Dreams แต่งคำร้อง(ขับร้อง Ending Song)โดย Paul Williams ขับร้องโดย Sally Stevens นี่คือตอนที่ Mrs. Brisby ขับร้องกล่อม Timmy เข้านอน เพื่อจะบอกว่าแม่พร้อมเสียสละทำทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก จะได้มีอนาคต ความเพ้อฝัน เติบโตขึ้นสามารถโบยบินเป็นอิสระ ไม่ต้องหวาดวิตกกังวลใดๆ

Moving Day คือบทเพลงที่ Jerry Goldsmith มีความชื่นชอบประทับใจมากๆ เพราะเขาทำงานร่วมกับ David Horten ผู้ออกแบบเสียง (Sound Design) ซึ่งในฉากวันย้ายบ้าน สองสิ่งนี้จะผสมผสานเข้ากันอย่างทรงพลัง รถไถที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา Mrs. Brisby พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องบ้านและลูกน้อยที่ตนรัก

NIHM หรือ National Institute of Mental Health, สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ เอาจริงๆไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการทดลองสัตว์แม้แต่น้อยเลยนะ แต่เราสามารถมองในเชิงสัญลักษณ์เปรียบเทียบ บุคคลเข้ารับการรักษาคือผู้ป่วยจิตเวช ถ้าสามารถกลับออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติในสังคมได้ ย่อมมีมุมมองโลกทัศน์ความคิดอ่านแตกต่างจากคนปกติทั่วไป ซึ่งนั่นสะท้อนกับบรรดาหนูทดลองทั้งหลายในอนิเมชั่นเรื่องนี้ พวกมันมีความเฉลียวฉลาดระดับมนุษย์ และต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้แตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น (ต้องการยกระดับให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการไม่ขโมยอาหาร หรือไฟฟ้าจากเจ้าของฟาร์ม แบบที่เคยๆกระทำกันอยู่จนติดนิสัย)

นัยยะนี้สื่อถึงทีมอนิเมเตอร์ทั้ง 11 ของสตูดิโอ Don Bluth Productions หลังจากเคยทำงานในสถาบัน Disney เมื่อถึงจุดๆหนึ่งสามารถหลบหนีออกมาปักหลักสร้างถิ่นฐาน แต่ในช่วงแรกๆยังต้องเกาะผู้อื่นเพื่อดิ้นรนเอาตัวรอด จนกระทั่งตอนจบเมื่อทุกสิ่งอย่างพร้อมสรรพ ก็จักสามารถก้าวเดินสู่บ้านหลังใหม่ โลกใบที่พวกเขาสามารถพึงพาตนเองได้ (โดยไม่ต้องพึ่งใคร)

ผมแอบใคร่สงสัยเล็กๆนะว่า Don Bluth เปรียบตนเองกับ Mr. Jonathan Brisby วีรบุรุษผู้เสียสละตนเองเพื่อส่วนรวม หรือ Justin ผู้ขัดขืนต่อ Jenner ต่อสู้เอาชนะ และนำพาผองพวกหนูสู่ถิ่นที่อยู่ใหม่ Thorn Valley คือมันก็พอทำความเข้าใจได้ทั้งสองแนวคิดเลย

ในมุมของ Mrs. Brisy เอาจริงๆเธอไม่ได้ใคร่อยากรับรู้เห็นอะไรเกี่ยวกับ NIMH แม้แต่น้อย สนใจเพียงแค่หาวิธีทางทำบางสิ่งอย่างเพื่อช่วยเหลือลูกรักให้หายดีเอาตัวรอด เมื่อมิสามารถพาออกเดินทางย้ายหนีไปไหนไม่ได้ ก็ย้ายบ้านมันเสียเลย! ด้วยความช่วยเหลือจากผู้อื่นไม่ได้ ก็จากเงื้อมมือตนเองนี่แหละ

“ความเสียสละทุ่มเทแรงกายใจของแม่ นั่นคือปาฏิหารย์ที่สามารถกระทำได้ทุกสิ่งอย่างเพื่อลูก”

มองในแง่สาระข้อคิดของอนิเมชั่นเรื่องนี้ เพราะชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ Mrs. Brisy จำต้องคบเพื่อนไม่เอาอ่าวอย่าง Jeremy, ขอความช่วยเหลือจากศัตรู The Great Owl นี่รวมถึง Jenny ก็ยินยอมให้การช่วยเหลือ แม้มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในก็ตามเถอะ, แต่ถึงกระนั้นเมื่อถึงจุดไม่มีใครสามารถให้การช่วยเหลือได้อีกต่อไป ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ จึงคือหนทางสุดท้ายในทุกๆสถานการณ์

‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ราวกับคำรำพันของผู้กำกับ Don Bluth เมื่ออดีตเคยหลงใหลใน Disney ปัจจุบันนั้นไม่สามารถเป็นได้ดั่งใจ ก็เลยออกมาสร้างสตูดิโอใหม่พึ่งพาตนเองย่อมสมหวังดังประสงค์

สรุปแล้วความลับของ NIMH คืออะไร? ใจความของอนิเมะก็คือ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้บรรดาหนูทดลองทั้งหลายมีสติปัญญาระดับมนุษย์, ขณะที่นัยยะแฝง ต้องการสื่อถึงสตูดิโอ Disney บอกว่าขณะนั้นมีบางสิ่งอย่างชั่วร้าย/คอรัปชั่น ซ่อนเร้นอยู่ภายใน

ถึงกระนั้น Disney เป็นสตูดิโอที่ฆ่าไม่ตาย เมื่อผ่านพ้นยุคตกต่ำของ Ron W. Miller การเข้ามา Take Over ของตระกูล Sid Bass ดึงเอา Michael Eisner อดีต CEO ของ Paramount Picture และ Frank Welles จาก Warner Bros. ก่อให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรครั้งใหญ่ ทางฝั่งอนิเมชั่นมีชื่อเรียกยุคสมัยนั้นว่า Disney Renaissance สร้างผลงานอมตะอย่าง The Little Mermaid (1989), Beauty and the Beast (1991), Aladdin (1992), The Lion King (1994), Pocahontas (1995), The Hunchback of Notre Dame (1996), Hercules (1997), Mulan (1998) และ Tarzan (1999) เรียกได้ว่า Second Golden Age ยุคทองครั้งที่สองแห่งวงการอนิเมชั่น ยิ่งใหญ่ไม่ย่อหย่อนกว่าตอนนาย Walt Disney ยังมีชีวิตอยู่

ด้วยทุนสร้างประมาณ $7 ล้านเหรียญ ทำเงินในอเมริกาได้เพียง $14.6 ล้านเหรียญ แทบจะไม่ได้กำไรคุ้มค่าความทุ่มเทที่สูญเสียไป ทำให้หลังฉายไม่นานสตูดิโอ Don Bluth Productions ยื่นขอล้มละลาย

ความล้มเหลวไม่ทำเงินของ The Secret of NIMH ทั้งๆได้รับเสียงวิจารณ์ดีเยี่ยมล้นหลาม ถูกมองว่าเกิดจากสตูดิโอผู้จัดจำหน่าย ในตอนแรกคือ MGM ซึ่งผู้บริหารให้ความสนใจอย่างมาก แต่เพราะความล่มจมขาดทุนย่อยยับของภาพยนตร์เรื่อง Heaven’s Gate (1980) ทำให้ต้องยื่นขอล้มละลาย แล้วถูกอุ้มโดย United Artist ผู้บริหารใหม่ไม่ใคร่สนใจอนิเมชั่นเรื่องนี้มัก ไร้ซึ่งการโปรโมทใดๆ ออกฉายเพียง 700 กว่าโรง เลื่อนโปรแกรมฉายจากปลายสิงหามาต้นกรกฎา อันแน่นไปด้วยหนังอย่าง E.T. the Extra-Terrestrial, Rocky III, Star Trek II: The Wrath of Khan, Poltergeist, Annie และ Blade Runner ใครกันจะใคร่รับชม

กระนั้นอนิเมชั่นเรื่องนี้ก็ได้กระแส Cult ตามมา เมื่อกลายเป็น VHS, LaserDisc เดือนแรกยอดขายกว่า 25,000 ก็อปปี้ สมัยนั้นถือว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม และพอฉายทางโทรทัศน์ก็ได้รับความนิยมยิ่งๆขึ้นไปอีก แต่มันก็สายเกินไปแล้วสำหรับสตูดิโอ Don Bluth Productions ที่ต่อมาปรับเปลี่ยนโฉมใหม่กลายเป็น Bluth Group ดิ้นรนเอาตัวรอดต่อไป

ส่วนตัวแค่ชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้ ตระการตาในเทคนิคสุดคลาสสิก อนิเมชั่นมีความลื่นไหลมากๆ แต่หงุดหงิดใจกับอีกาพูดมากไร้กาละเทศะ เรื่องราวซับซ้อนเว่อเกิ้น และการผสมผสานแฟนตาซีกับไซไฟ ไม่ค่อยกลมกลืนเสียเท่าไหร่

แนะนำคออนิเมชั่น หลงใหลในงานภาพสไตล์ Disney (แต่ไม่ใช่จาก Disney), ชื่นชอบแนวผจญภัย แฟนตาซีผสมไซไฟ, สอดแทรกปรัชญาการใช้ชีวิต, เพลงประกอบเพราะๆของ Jerry Goldsmith, และประทับใจผลงานของผู้กำกับ Don Bluth ไม่ควรพลาด

จัดเรต PG เพราะบรรยากาศอันน่าหวาดสะพรึงกลัว และนิสัยบางตัวละครแย่เกิ้น

TAGLINE | “The Secret of NIMH คือตัวแทนกลุ่มกบฎของผู้กำกับ Don Bluth ที่แยกตัวจาก Disney แม้มีความสว่างเจิดจรัสจร้า แต่ยังห่างชั้นอยู่ไกลมากโข”
QUALITY | SUPERB
MY SCORE | LIKE

Leave a Reply

avatar

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

  Subscribe  
Notify of
%d bloggers like this: